เทศนาเรื่อง “ชิมิ” แด่ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ด้วยรักและผูกพัน
Posted: 15/11/2010 Filed under: Siam Parade | Tags: ชิมิ, ไตรรงค์ Leave a commentที่มา : มติชนรายวัน 12 พฤศจิกายน 2553
ในโลกอันกลมเหมือนผิวมะกรูดของเรานี้ ไม่มีอะไรที่จะสามารถสำแดงความเป็นประชาธิปไตยได้อย่างลึกซึ้งถึงแก่นเท่ากับภาษา
ชิมิ
ในฐานะนักเรียนเศรษฐศาสตร์ ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี อาจจะไม่รู้ถึงวิถีดำเนินแห่งความมีชีวิตของภาษา
อาจจะรู้เพียงในเรื่องของ “สินค้า”
กระนั้น หากศึกษาอย่างถึงแก่นแท้ ไม่ว่าภาษา ไม่ว่าสินค้า ล้วนมิอาจหนีพ้นไปจากวงจรแห่งความชีวิต
ทุกชีวิตย่อมมีการเคลื่อนไหว
เป็นการเคลื่อนไหวนับแต่สินค้าก่อกำเนิดขึ้น มีการลอนช์ผ่านกระบวนการตลาด เพื่อทำให้สินค้าซึ่งไม่มีชีวิตได้มีชีวิต
แบรนด์นั่นเองที่ทำให้สินค้าหนึ่งๆ เกิดและดำรงอยู่อย่างมีชีวิตได้
นับแต่โลกได้ขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจธรรมชาติเข้าไปสู่กระบวนการแห่งเศรษฐกิจสินค้า ก็มีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าสินค้าเกิดขึ้นมากมาย
สินค้าเป็นเช่นนี้ ภาษาก็เป็นเช่นนี้ คือดำเนินไปอย่างมีพลวัต
ไม่มีใครสามารถกำหนดความเป็น ความตาย ให้กับสินค้าหรือภาษาได้ เว้นแต่ตลาด เว้นแต่สังคมจะเป็นเครื่องกำหนด
รัชกาลที่ 4 เคยออกประกาศให้ใช้คำว่า “เยื่อเคย” แทน “น้ำปลา”
ทั้งที่มากด้วยอำนาจ บารมี ในสถานะแห่งพระมหากษัตริย์ แต่ก็ไม่สามารถบังคับให้ “เยื่อเคย” ไปแทนที่ “น้ำปลา” ได้
ทุกวันนี้คนก็ยังใช้คำว่า “น้ำปลา”
มหากวีและมหาปราชญ์อย่าง “น.ม.ส.” เคยสร้างศัพท์ “หมากตีน” เพื่อให้ใช้แทนคำ “ฟุตบอล” ในภาษาอังกฤษ
ทุกวันนี้มีน้อยคนที่อยากจะใช้ “หมากตีน”
เช่นเดียวกับ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เจ้าของนามปากกา “ครูเทพ” ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมชาติ พยายามเสนอคำ “ไม้กุมฝอย” ให้คนใช้แทน “ไม้กวาด”
ทุกวันนี้มีน้อยคนที่อยากจะใช้ “ไม้กุมฝอย” ขณะที่หยิบ “ไม้กวาด” ขึ้นมากวาด ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี เห็นหรือไม่ แม้กระทั่งพระมหากษัตริย์ แม้กระทั่งเสนาบดี แม้กระทั่งมหากวีและมหาปราชญ์ ก็มิอาจบังคับในเรื่องภาษาได้
“ภาษา” จึงเป็นเครื่องทดสอบความเป็นประชาธิปไตยได้อย่างยอดเยี่ยม
เพราะภาษามีชีวิต ดังนั้น วิถีดำเนินแห่งภาษาจึงดำรงอยู่อย่างมีพลวัต มีการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงอย่างไม่ขาดสาย
อนิจจลักษณะ 1 ของภาษา คือ มีเกิด มีตาย
คำว่า จิ๊กโก๋ เคยนิยมใช้เป็นอย่างมากในสมัยหนึ่ง แต่ก็ค่อยๆ กร่อน ค่อยๆ กลาย เหลือเพียงโก๋ และที่สุดก็เลือนลับไป
เลือนลับไปเหมือนคำว่า เต๊าะ เหมือนคำว่า จีบ เหมือนคำว่า สี
ขณะเดียวกัน เพราะว่าภาษามีชีวิต จึงมิอาจแยกออกไปจาก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ต้องไปวิตกกังวลในเรื่องความวิบัติของภาษา
เพราะภาษาดำเนินไปตามภาระหน้าที่ทางประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคสมัย
คำว่าวัฒนธรรมที่บัญญัติขึ้นก็ผิดหลักสมาส คำว่าทัศนาจรก็ผิดหลักสนธิ คำว่าไปซูเปอร์สวยด้วยซุปเปอร์เชลล์ก็ผิดหลักสมาส
แต่คำเหล่านี้ก็ยังดำรงอยู่ เพราะว่าติดปากและได้รับการยอมรับ
ได้รับการยอมรับเหมือนกับคำว่า ฆาตกาม ได้รับการยอมรับเหมือนกับคำว่า ชเลียร์ ซึ่งเป็นการผสานระหว่าง เชียร์ กับ เลีย เป็นการสมาสขึ้นโดยมิได้ขึ้นกับกฎเกณฑ์การสมาสและสนธิใดๆ ทั้งสิ้น
แต่ ณ วันนี้ คำว่า “ชเลียร์” ก็ติดอยู่ 2 ริมฝีปากประชาชน
กล่าวในเรื่องของภาษา สิ่งที่เห็นว่าเป็นการวิบัติ อาจกลับกลายเป็นการอุบัติ ก็ได้
ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ จำเป็นต้องนำเอาเรื่องของสินค้า มาวางเรียงเคียงกับเรื่องของภาษาจึงจะสามารถเข้าใจได้
เข้าใจได้ในความมีชีวิตของภาษา เข้าใจได้ในการดำรงอยู่ของภาษาตามความเป็นจริง