ใครเผา? ใครยิง? ความจริง.. กำลังไล่ล่า…

ใครเผา?…

ภาพที่แพร่สะพัดในเฟซ บุ๊คนับร้อยภาพที่ระบุว่าเป็นบันทึกเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 2553 เพื่อยืนยันว่าเจ้าหน้าที่เข้าคุมสถานการณ์ในห้างเซ็นทรัลเวิลด์ไว้ได้ก่อนจะมีการเผาห้าง โดยก่อนหน้านี้นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็อ้างว่ามีหลักฐานเป็นภาพถ่ายว่าทหารได้ยิงไล่เจ้า ของร้านค้า พนักงาน และยามรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ที่อยู่ภายในห้างให้ออกจากพื้นที่ทั้งหมดก่อนเกิดเหตุเพลิงไหม้

ทหารแค่ถือปืน

แม้ภาพในเฟซบุ๊คไม่สามารถยืนยันว่าเป็นภาพชุดเดียวกันกับที่นายจตุพรอ้างถึงหรือไม่ แต่ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ก็ออกมาปฏิเสธ และชี้แจงว่าภาพทหารที่อยู่ในเหตุการณ์ก่อนเกิดเหตุเผาห้าง เซ็นทรัลเวิลด์ไม่ใช่ภาพใหม่ แต่อาจนำเสนอภาพถ่ายจากอีกมุมหนึ่งมาเผยแพร่ ซึ่งที่ผ่านมามีการนำเสนอหลายครั้งแล้ว และ ศอฉ. ได้ชี้แจงการทำงานของเจ้าหน้าที่ไปแล้วว่าทำอะไร อยู่ที่ไหน ใช้อาวุธลักษณะอย่างไร จึงไม่ต้องตรวจสอบอะไรอีก ส่วนการโพสต์รูปดังกล่าวคงไม่ถือว่าผิดกฎหมาย และเชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบต่อ ศอฉ.

ส่วนภาพที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่ไล่ยิงคนภายในห้างจนบาดเจ็บนั้น พ.อ.สรรเสริญชี้แจงว่า เท่าที่ดูจากภาพไม่พบว่าเจ้าหน้าที่ไล่ยิงอย่างที่เป็นข่าว มีเพียงเจ้าหน้าที่ยืนถือปืนเท่านั้น ซึ่ง ศอฉ. ไม่ปฏิเสธว่าทหารถืออาวุธปฏิบัติภารกิจอยู่ในช่วงนั้น

ทหารคุมห้างก่อนถูกเผา

อย่างไรก็ตาม นายจตุพรได้นำ 4 รปภ. ที่อยู่ภาย ในห้างเซ็นทรัลเวิลด์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมคือ นายเอ (นามสมมุติ) นายเวียน (นามสมมุติ) นายเทียน (นามสมมุติ) และนายพง (นามสมมุติ) มาแถลงยืนยันว่าถูกทหารคุมตัวออกจากห้างก่อนถูกเผา ซึ่งห้างได้จ้างบริษัทรักษาความปลอดภัย 2 แห่งดูแลพื้นที่คือ บริษัท อาร์ทีเอสการ์ด จำกัด ดูแลพื้นที่ด้านนอก ลานจอดรถ และรอบห้างทั้งหมด กับบริษัท จีโฟร์เอส การ์ด จำกัด ดูแลเฉพาะส่วนภายในอาคารทั้งหมด

รปภ. ทั้ง 4 คนระบุสอดคล้องกันว่า ในช่วงเช้าไม่มีเหตุการณ์รุนแรงอะไร แต่หลังจากเวลา 13.00 น. มีเสียงปืนและเสียงระเบิดดังขึ้นเป็นระยะๆ จึงมีคำสั่งให้ รปภ. รอบบริเวณห้างทั้งหมดลงไปอยู่ด้านล่างเพื่อความปลอดภัย โดยปิดล็อกประตูทางเข้าออกห้างทั้งหมด จนเวลา 16.30 น. มีกลุ่มทหารพร้อมอาวุธปืนบุกเข้ามาเคลียร์ในพื้นที่ห้าง สั่งให้นอนหมอบกับพื้น และให้ รปภ. ทุกคนติดบัตรก่อนปล่อยตัวออกไปจากพื้นที่

สตช. ดึงคดีเอาใจรัฐบาล

แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือบันทึกการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนเพิ่มเติมกรณีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมระหว่างวันที่ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งรัฐบาลและกองทัพปฏิเสธมาตลอดว่าไม่ได้ทำร้ายประชาชนและปฏิเสธความรับผิดชอบต่อผู้สูญเสียชีวิต โดยเฉพาะ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก ที่ท้าว่าถ้ามีหลักฐานว่าทหารทำ ร้ายประชาชนก็จะรับผิดชอบนั้น

นายจตุพรระบุว่า ได้รับข้อมูลจากนายตำรวจแตงโมที่รักความเป็นธรรม และทนไม่ได้ที่นายตำรวจใหญ่ระดับนายพลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่รับผิดชอบสำนวนการสืบสวนสอบสวนจากดีเอสไอ เข้าข้างรัฐบาลและกองทัพเพื่อ หวังความก้าวหน้าในชีวิตราชการ ดึงการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพให้ล่าช้า ซึ่ง สตช. ได้รับสำนวนจากดีเอสไอตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 แต่ยังไม่เชิญพนักงานอัยการเข้าร่วมตามที่กฎหมายกำหนด และมีข่าวว่าจะส่งเรื่องกลับมาดีเอสไอใหม่ แทนที่จะส่งเรื่องให้ศาลไต่สวนถึงสาเหตุการตายและผู้ที่ทำให้ตายตามที่กฎหมายกำหนด

ถ้าดึงเรื่องจะทยอยเปิด

นายจตุพรเตือน สตช. ว่าหากยังดึงเรื่องอีกจะทยอยเปิดเผยความจริงถึงสาเหตุการตายในอีกหลายๆ เรื่อง โดยยืนยันว่า ดีเอสไอรู้กระทั่งว่าเจ้าหน้าที่หน่วยใดและนายใดได้รับคำสั่งให้สลายการชุมนุมในพื้นใด ใช้อาวุธประเภทใด ขนาดกระสุนเป็นอย่างไร ซึ่งฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ยอมรับว่าเป็นผู้ใช้อาวุธประจำกายในวันเกิดเหตุจริง มีการเก็บหลักฐานปลอกกระสุนปืน หัวกระสุนปืน รวมทั้งเศษกระสุนปืนในตัวผู้ตายที่เจ้าหน้าที่เบิกจากหน่วยมาใช้คือ หัวกระสุนสีเขียว ซึ่งไม่มีใครใช้กระสุนเช่นนี้ พยานบุคคลที่สอบสวนก็ยืนยันว่าเห็นเจ้าหน้าที่เป็นผู้ยิง แต่เมื่อมีความพยายามถ่วงเวลาจึงขอเปิดเผยข้อมูลบางส่วนที่ได้มา 4 กรณีคือ 1.การตายของประชาชนในวัดปทุมวนารามฯ 2.การตาย ของผู้สื่อข่าวญี่ปุ่น 3.การตายของเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ ดุสิต 4.การตายของพลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ

จนท. ชุดปฏิบัติการวัดปทุมฯ

แม้ข้อมูลของนายจตุพรไม่ได้นำฉบับเต็มมาเปิดเผย แต่ได้สรุปจากสำนวนการสอบสวนของดีเอสไอ ซึ่งนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ก็ยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนสอบสวนจริง แต่เป็นเพียงบางส่วนในสำนวนเท่านั้น ซึ่งดีเอสไอก็ทำงานอย่างตรงไปตรงมาตามหลักฐาน แต่ถ้าทางทหารจะโกรธเคืองก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร โดยข้อมูลของผู้เสียชีวิตที่วัดปทุมฯระบุว่าเสียชีวิตวันที่ 19 พฤษภาคม เวลาประมาณ 18.30 น. บริเวณวัดปทุมฯ ถนนพระราม 1 สาเหตุการตายถูกยิงด้วยอาวุธปืนความเร็วสูง โดยเวลาประมาณ 18.00 น. เจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยได้เข้าปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ (สลายการชุมนุม) บริเวณพื้นที่สี่แยกราชประสงค์ ถนนพระราม 1 หน้าวัดปทุมฯ และบริเวณใกล้เคียง เจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนยิง เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บและมีผู้ถึงแก่ความตายที่บริเวณวัดปทุมฯ ได้แก่ 1.นายรพ สุขสถิตย์ 2.นายอัฐชัย ชุมจันทร์ 3.น.ส.กมนเกด อัคฮาด 4.นายมงคล เข็มทอง 5.นายสุวัน ศรีรักษา และ 6.นายอัครเดช ขันแก้ว

เจ้าหน้าที่ที่เข้าปฏิบัติการมี 2 ชุดคือ เจ้าหน้าที่จากกองพันทหารราบในภาคกลาง เป็นหน่วยกำลังที่รับผิดชอบบริเวณด้านล่างบนถนนพระราม 1 กับเจ้าหน้าที่จากกองพันรบพิเศษหน่วยหนึ่ง นำโดยนายทหารยศ พ.ต. เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการ นำกำลังจำนวน 4 ชุด ปฏิบัติการบนรางรถไฟฟ้าตั้งแต่สถานีสนามกีฬาเพื่อคุ้มกันชุดแรก

รายชื่อเจ้าหน้าที่ทหารที่ใช้อาวุธปืน M16A2 กระสุนปืนขนาด 5.56 มม. เป็นชนิดเอ็ม 855 (M855) หัวกระสุนจะเป็นหัว “สีเขียว” มีรายชื่อดังนี้ 1.จ.ส.อ. (ส) รองหัวหน้าชุดปฏิบัติการ 2.ส.อ. (ภ) 3.ส.อ. (ก) 4.ส.อ. (ช) และ 5.ส.อ. (ว) ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้งห้ายอมรับว่าใช้อาวุธปืนประจำกายยิงเข้าไปในวัดปทุมฯ จริง แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา มีการขออนุมัติเบิกอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนจากหน่วยรบแห่งหนึ่ง ได้แก่ เอ็ม 16 เอ 2 (M16A2) ใช้กระสุนขนาด .223 (5.56 มม.) เป็นกระสุนปืนเอ็ม 855 (M855)

พยานนับสิบเห็นฆ่าโหด

เหตุการณ์ในวัดปทุมฯที่ถือเป็นเขตอภัยทานนั้น มีพยานบุคคลหลายสิบปากเห็นเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธปืนยิงเข้ามาในบริเวณวัด รวมทั้งยิงเข้าไปในเต็นท์พยาบาลขณะที่ยุติการชุมนุมแล้ว ซึ่งเจ้าอาวาสก็ไม่คิดว่าจะมีการฆ่ากันในวัด เพราะได้ทำหนังสือขอชีวิตให้ประชาชนอาศัยวัดเป็นบริเวณที่หลบภัยแล้ว

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานจากพยานบุคคลหลายปากยืนยันว่า เวลา 17.00 น. เศษ มีเสียงปืนดังติดต่อกันหลายนัดมาจากสถานีรถไฟฟ้าสยาม อันเป็นที่ตั้งของหน่วยงานหนึ่งใน กทม. ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและมีผู้ถ่ายภาพไว้ ซึ่งมีการช่วยเหลือบุคคลที่บาดเจ็บคือ นายอัฐชัย ชุมจันทร์ แต่ได้ถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา โดยมีผู้ถ่ายภาพไว้เวลา 17.50 น. วันที่ 19 พฤษภาคม

ขณะที่อาสาพยาบาลช่วยเหลือนายอัฐชัยที่ได้ถ่ายภาพไว้ ในภาพยังมีภาพนายมงคล เข็มทอง อาสาป่อเต็กตึ๊ง ที่เข้ามาช่วยเหลือนายอัฐชัย แต่ไม่นานนายมงคลก็ถูกยิงตายเช่นกัน และต่อมา น.ส.กมนเกด อัคฮาด ก็ถูกกระสุนปืนถึงแก่ความตายในเต็นท์พยาบาล ขณะที่ น.ส.กมนเกดถูกกระสุนนั้น นายอัครเดช ขันแก้ว อาสาพยาบาลอีกคน ได้เข้าไปช่วย แต่ก็ถูกยิงตายในเต็นท์พยาบาลเช่นเดียวกัน

ทุกศพพบหัวกระสุนสีเขียว?

ส่วนนายรพ สุขสถิตย์ และนายสุวัน ศรีรักษา จากการชันสูตรพลิกศพทั้งสองพบเป็นวิถีกระสุนลักษณะ “บนลงล่าง” คือยิงจากรางรถไฟฟ้ามายังด้านล่าง นอกจากนี้ยังพบเศษของกระสุนหัวสีเขียวในศพผู้ตาย ซึ่งปรากฏตามรายงานการตรวจพิสูจน์ของกองพิสูจน์หลักฐานกลางเป็นกระสุนปืน ขนาด .223 (5.56 มม.) เช่นเดียวกับที่พบในศพของนายมงคลที่เข้าช่วยเหลือนายอัฐชัยก็มีวิถีกระสุน ยิงจาก “บนลงล่าง” จากกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) หัวกระสุนสีเขียวเช่นเดียวกัน

สำหรับศพ น.ส.กมนเกดและนายอัครเดช ตามรายงานการตรวจพิสูจน์ของกองพิสูจน์หลักฐานกลางเป็นหัวกระสุนสีเขียวขนาด .223 (5.56 มม.) เช่นกัน โดยมีพยานบุคคลยืนยันว่าเห็นเป็นการยิงจากบนรางรถไฟฟ้าในเวลาประมาณ 18.00 น.

ที่สำคัญคือคำให้การของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ขึ้นไปบนตึกสูงเพื่อถ่ายภาพ ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ขณะถูกเพลิงไหม้นั้นได้ถ่ายภาพเจ้าหน้าที่ของรัฐพร้อม อาวุธปืนยาว อยู่บนรางรถไฟฟ้า ซึ่งมีเสียงปืนดังมาจากทิศทางที่เจ้าหน้าที่ประจำอยู่ และเมื่อประมวลประกอบกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่มาจากหน่วยรบแห่งหนึ่งก็ยอมรับ ว่าหน่วยคุ้มกันแนวราบได้ใช้อาวุธประจำกายยิงเข้ามาในวัดปทุมฯจริง เป็นอาวุธปืนเอ็ม 16 เอ 2 (M16A2) ใช้กระสุนขนาด .223 (5.56 มม.) เป็นกระสุนปืนเอ็ม 855 (M855) ที่มีหัวสีเขียว

ดังนั้น การตาย 6 ศพในวัดปทุมฯจึงยืนยันว่าเจ้าหน้าที่หน่วยดังกล่าวเป็นผู้ยิง มิใช่ผู้ก่อการร้าย

ผลสอบคดียิงผู้สื่อข่าวญี่ปุ่น

สำหรับกรณีนายฮิโรยูกิ มูราโมโต ผู้สื่อข่าวญี่ปุ่นประจำสำนักข่าวรอยเตอร์ ที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เมษายน เวลาประมาณ 21.00 น. บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ ระบุสาเหตุการตายว่ามาจากกระสุนปืนความเร็วสูงไม่ทราบขนาด ยิงเข้าบริเวณหน้าอกซ้ายทะลุกล้ามเนื้อใต้รักแร้ออกต้นแขนขวาด้านหลัง ขณะที่นายฮิโรยูกิกำลังรายงานข่าวอยู่ระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่

คดีนี้มีพยานบุคคลสำคัญคือ นายดาบตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่นอกเครื่องแบบ อยู่ห่างจากนายฮิโรยูกิเพียงประมาณ 1 เมตร และเป็นผู้เข้าไปช่วยประคองตัวนายฮิโรยูกิไว้บนตัก ทำให้เลือดของนายฮิโรยูกิเปื้อนกางเกงยีนส์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจรายนี้ยืนยันทิศทางกระสุนปืนว่าไม่ได้มาจากทางกลุ่มผู้ ชุมนุม ขณะที่พยานสำคัญอีกคนหนึ่งยืนยันว่าเห็นแสงไฟจากปากกระบอกปืนมาจากทางเจ้า หน้าที่ ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารภาพวิดีโอคลิปจากกล้องของนายฮิโรยูกิที่ถ่ายก่อนถูก ยิงเสียชีวิตเวลาประมาณ 20.57 น.

ภาพถ่ายของนายฮิโรยูกิจึงเป็นพยานหลักฐานสำคัญ ซึ่งมีอยู่จำนวน 2 ภาพที่เห็นกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่บริเวณเดียวกัน โดยถ่ายเห็นด้านข้าง ซึ่งจะต้องหันหน้าไปในทิศทางของเจ้าหน้าที่เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ชุมนุม ทิศทางดังกล่าวจึงสอดคล้องกับบาดแผลของผู้ตายตามรายงานการตรวจศพของแพทย์

สำหรับเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่บริเวณถนนดินสอเป็นเจ้าหน้าที่ จากหน่วยงานชายแดนภาคตะวันออก มีนายทหารยศ พ.อ. ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ร่วมปฏิบัติสลายการชุมนุม มีกำลังประมาณ 4 กองร้อย

ศพเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ฝีมือทหาร

เช่นเดียวกับกรณีเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ดุสิตชื่อ นายมานะ อาจราญ เสียชีวิตวันที่ 10 เมษายน เวลาประมาณ 23.30 น. บริเวณสวนสัตว์ดุสิต ในวันเกิดเหตุได้เข้าเวรร่วมกับนายบุญมี แก้วไทรท้วม เฝ้าดูแลที่กรงเต่า หลังออกเวรถูกยิงบริเวณหน้าบ่อเต่า โดยนายบุญมีเป็นผู้เห็นเหตุการณ์และตะโกนให้ช่วยเหลือนายมานะ แต่ขณะวิ่งตะโกนเห็นเจ้าหน้าที่นอนหมอบราบกับพื้นแล้วตะโกนว่า “ถอยออกไป อยากตายหรือไง”

นอกจากนี้ยังมีพยานจากเจ้าหน้าที่ในบริเวณสวน สัตว์ดุสิตเห็นเจ้าหน้าที่ทหารถือปืน โล่ และกระบอง โดยมีเสียงยิงมาจากฝั่งรัฐสภาเป็นระยะ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งให้ข้อเท็จจริงว่า เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการคือกำลังจากจังหวัดนครราชสีมาที่มีนายทหารยศ ร.ท. เป็นผู้ปฏิบัติการ ซึ่งหลักฐานที่พบคือ ปลอกกระสุนปืนเอ็ม 16 จำนวน 2 ปลอก โล่ปราบจลาจลจำนวน 2 อัน กระบองปราบจลาจลจำนวน 3 อัน เสื้อลายพรางระบุชื่อที่อกเสื้อ “บารมี ชีพไธสง” จำนวน 1 ตัว ขณะ ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้ตรวจร่องรอยวิถีกระสุนปรากฏว่าตรงกับลักษณะการถูกยิงของนายมานะ

ตายเพราะพวกเดียวกัน

ส่วนกรณีพลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ ที่เสียชีวิตวันที่ 28 เมษายน เวลา 15.30 น. บริเวณใต้ทางขึ้นโทลล์เวย์ ใกล้อนุสรณ์สถานแห่งชาติ โดยพลทหารณรงค์ฤทธิ์นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า สีแดง ทะเบียน กยษ กจ 683 ถูกยิงที่ศีรษะข้างซ้าย หางคิ้วผ่านทะลุกะโหลกศีรษะ จากรายงานการตรวจศพพบเศษลูกกระสุนปืนในศีรษะเป็นเศษของลูกกระสุนปืนและเศษ แกนลูกกระสุนปืนขนาดประมาณ .223 (5.56 มม.) ที่ใช้กับปืนกลเล็กเอ็ม 16 หรือปืนเอชเค 33 ซึ่งเจ้าหน้าที่เป็นผู้ใช้เท่านั้น

แต่กรณีพลทหารณรงค์ฤทธิ์นั้นที่ผ่านมาฝ่ายทหารปฏิเสธมาโดยตลอด โดยเฉพาะ พ.อ.สรรเสริญพยายามให้ข่าวว่าผู้ก่อการร้ายลอบยิง แต่จากการสืบสวนสอบสวนทั้งตำรวจและทหารในที่เกิดเหตุที่มีอาวุธประจำกายเป็น เอ็ม 16 หรือปืนเอชเค 33 ตั้งเป็นแนวเขตเจ้าหน้าที่นั้น มีพยานบุคคลเห็นเจ้าหน้าที่ผูกผ้าพันคอสีฟ้าจำนวน 2-3 นาย ยืนอยู่บนแนวปืนที่กั้นระหว่างถนนคู่ขนานกับถนนด้านใน นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังยืนยันว่าเสียงปืนที่ยิงพลทหารณรงค์-ฤทธิ์ถึง แก่ความตายมาจากกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่อยู่ทางถนนวิภาวดีรังสิตขาออกด้านคู่ขนาน

จับกุมแบบเหวี่ยงแห

ขณะที่ก่อนหน้านี้คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ได้เปิดเผยถึงการรับคำร้องเรียนการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และจากการเข้าเยี่ยมผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังหรือกักขังจำนวน 422 คน โดยถูกกล่าวหาคดีต่างๆ ได้แก่ วางเพลิงเผาทรัพย์ ร่วมกันพยายามวางเพลิงเผาทรัพย์ ร่วมกันก่อการร้าย ร่วมกันชุมนุมหรือมั่วสุมฝ่าฝืนข้อกำหนดฯ ฯลฯ พบว่าระยะแรกการควบคุมตัวไม่อนุญาตให้มีการติดต่อสื่อสาร ไม่มีโอกาสได้ปรึกษาหารือกับทนายความหรือนำเสนอข้อเท็จจริงในกระบวนการยุติธรรม แต่เป็นการกล่าวหาตั้งข้อสงสัยฝ่ายเดียว

ขณะที่เยาวชนที่เป็นนักศึกษาในเรือนจำคลองเปรมยืนยันว่า ในคืนที่จับกุมเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงขู่ให้รับสารภาพพร้อมของกลางที่จัด ฉากไว้ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตเข้าจับกุมตามภาพถ่าย หรืออาศัยภาพถ่ายในการชุมนุมก่อนหน้านั้น ซึ่งเป็นการจับกุมแบบเหวี่ยงแหโดยไม่แยกระหว่างผู้ร่วมชุมนุมกับผู้ที่ใช้ ความรุนแรง ทั้งยังตั้งข้อหาร้ายแรงตามอำเภอใจอีกด้วย

คำพูดเป็นนาย!

การใช้อำนาจเยี่ยงเผด็จการและหลักฐานการชันสูตรศพส่วนหนึ่งจากจำนวน 91 ศพนั้นระบุชัดเจนว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลและ ศอฉ. ต่างพยายามให้ข่าวและยืนยันตลอดเวลาว่าทหารไม่ฆ่าประชาชน ทั้งยังระบุว่าผู้ที่เสียชีวิตส่วนหนึ่งเกิดจาก “ไอ้โม่งชุดดำ” ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังไม่สามารถจับตัวมาดำเนินคดีได้ แต่กลับกล่าวหาและคุมขังแกนนำเสื้อแดงและคนเสื้อแดงโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมตามปรกติมานานกว่า 6 เดือนแล้ว และยังมีการไล่ล่าและข่มขู่คนเสื้อแดงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

โดยเฉพาะ พล.อ.อนุพงษ์ที่เคยประกาศว่าถ้ามีหลักฐานว่าทหารฆ่าประชาชนก็จะรับผิดชอบ หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ศอฉ. ที่ยืนยันหลายครั้งว่าทหารไม่ได้ฆ่าประชาชนและท้าให้เอาหลักฐานมายืนยัน วันนี้คงต้องถามทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ และ พล.อ.อนุพงษ์ จะยังยืนยันว่า “ไม่ผิด ไม่ได้ทำ ไม่ได้สั่ง” อีกนานแค่ไหน?

เพราะกว่า 6 เดือนที่ผ่านมานายอภิสิทธิ์และผู้เกี่ยวข้องใน ศอฉ. ก็ไม่มีแม้แต่คำ “ขอโทษ” โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ที่เคยเรียกร้องให้รัฐบาลและนักการเมืองต้องมีความรับผิดชอบหรือมีสำนึกทางการเมืองสูงกว่าคนธรรมดา แม้แค่บกพร่องหรือผิดพลาดต่อหน้าที่ ก็ต้องพิจารณาตัวเองโดยไม่ต้องรอให้กฎหมายจัดการ

แต่เหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” มีคนถูกยิงตายถึง 91 ศพ และบาดเจ็บ พิการเกือบ 2,000 คน แต่กลับใส่ร้ายป้ายสีคนเสื้อแดงเป็น “ฆาตกร”

“ความจริงวันนั้น” ได้เริ่มปรากฏชัดขึ้นใน “วันนี้”

ทุกคำถามที่ไม่มีคำตอบจะกลายเป็น “ข้อสงสัย” ที่พุ่งใส่อำนาจรัฐ

“ใครยิงประชาชนผู้บริสุทธิ์?” กำลังถูกเปิดโปงด้วยตำรวจและทหาร “แตงโม”

“ใครเผาเซ็นทรัลเวิลด์?” กำลังถูกขบวนการอำมหิตไล่ล่าทำลายหลักฐานวิดีโอเทปจากกล้องวงจรปิดที่บันทึก ไว้ตลอด 24 ชั่วโมงใช่หรือไม่? การยอมจ่ายเงินประกันภัยด้วยเงื่อนไขว่าต้องยอมรับว่า “เป็นการก่อการร้าย” เท่านั้นเพื่อให้สอดรับกับข้อกล่าวหาว่าเสื้อแดงเป็นผู้ก่อการร้ายคืออภิมหา แบล็กเมล์ใช่หรือไม่?

“กฎหมาย” มีวันหมดอายุความ…แต่ “กฎแห่งกรรม” กำลังไล่ล่า “เงาอำมหิต” ที่มิอาจหนี “สัจธรรม” หรือ “ความจริง” ได้พ้น”

ตราบใดที่ “คนสั่งยังลอยหน้า คนฆ่ายังลอยนวล” ถึงจะนอนตาหลับได้ แต่คงต้องนอนสะดุ้ง เพราะ “ฝันร้าย” ในโสตประสาทจวบจนสิ้นอายุขัย!

เพราะใครๆเริ่มสงสัยแล้วว่า “ใครทำ?”

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6  ฉบับ 289 วันที่ 11 – 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553 หน้า 16-17 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน



One Comment on “ใครเผา? ใครยิง? ความจริง.. กำลังไล่ล่า…”

  1. […] This post was mentioned on Twitter by Siam Parade, a and Siam Parade, ThaiNEWSpace. ThaiNEWSpace said: ใครเผา?ใครยิง?ความจริง..กำลังไล่ล่า…: ใครเผา?… ภาพที่แพร่สะพัดในเฟซ บุ๊คนับร้อยภาพที่ระบุว่าเป็นบันทึกเหตุการณ์ … http://bit.ly/hPyqxG […]


Leave a comment