1 ใน 10 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลแห่งปี : “บ.ก.ลายจุด” นิ้วกลาง, วันอาทิตย์ และการเมืองสัญลักษณ์ของเสื้อแดง

หลังเหตุการณ์ความรุนแรงกลางเมืองระหว่างเดือนเมษายน ถึง พฤษภาคม 2553 ยุติลง ด้วยการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง มี 90 กว่าชีวิตต้องสูญเสีย หลายชีวิตต้องบาดเจ็บและสูญสิ้นอิสรภาพ ขณะที่อีกหลายคนต้องเดินทางกลับบ้านด้วยความคับแค้นใจ ยิ่งไปกว่านั้นพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองมาจนถึงช่วงเวลาปลายปี 2553 (แต่ห้ามจริงได้หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

แต่ก่อนหน้านั้น ระหว่างการชุมนุมช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมของกลุ่มคนเสื้อแดง ดาวดวงเด่นที่ค่อยๆ จรัสแสงขึ้นมาอย่างน่าสนใจ ก็คือ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ”

จากเด็กใต้ที่เติบโตมาตามวิถีทาง “นักโต้วาที” ประจำรายการโทรทัศน์ “โต้คารมมัธยมศึกษา” จนกลายมาเป็นดาราเงาเสียงของ “ไตรรงค์ สุวรรณคีรี” ในรายการ “สภาโจ๊ก”

ณัฐวุฒิค่อยๆ พัฒนายกระดับตัวเอง มาเป็นแกนนำนปช.ระดับแถวหน้า ที่ได้รับความนิยมจากคนเสื้อแดงอย่างล้นหลามในอันดับต้นๆ จนสามารถดึงดูดผู้ฟังปราศรัยและเหล่าแม่ยกได้นับพันนับหมื่นคน ด้วยลีลาการพูดที่ดุเด็ดเผ็ดร้อน ผสมผสานกับจังหวะจะโคนอันชวนเคลิบเคลิ้มใหลหลง ขณะที่ในด้านเนื้อหา ผู้เข้าถึงข้อมูลเบื้องหลังเวทีเสื้อแดงหลายคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ณัฐวุฒิได้ทำการบ้านศึกษาแนวคิดและประวัติศาสตร์การเมืองมาอย่างหนักหน่วง ดังนั้น เมื่อเขาถ่ายทอดเรื่องดังกล่าวด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย

ณัฐวุฒิจึงกลายสถานะเป็น “ดาวแดง” ที่โดดเด่นที่สุดดวงหนึ่ง

แม้แต่ในแวดวงวิชาการ (ทั้งนักวิชาการไทยและนักวิชาการต่างชาติที่ศึกษาการเมืองไทย) ณัฐวุฒิก็กลายเป็นหนึ่งในแกนนำเสื้อแดงไม่กี่คนที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำปราศรัยครั้งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.2552 ของเขา ซึ่งนักวิชาการบางท่านถึงกับแสดงความเห็นว่า นี่เป็นคำปราศรัยที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัยเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม หลังจากเข้ามอบตัวในวันที่ 19 พฤษภาคม และถูกคุมขังโดยยังไม่ได้รับการประกันตัว บทบาทของแกนนำเสื้อแดงดาวรุ่งอย่างณัฐวุฒิก็ค่อยๆ จางหายไป

แต่ในชั่วระยะเวลาไม่นานนัก “ดาวแดง” รุ่นใหม่อีกดวงก็ค่อยๆ ส่องแสงสว่างอย่างยืนเด่นโดยท้าทาย จากการลุกขึ้นมาต่อสู้ในฐานะพลเมืองที่มีสิทธิเสรีภาพ เขาผู้นั้นก็คือ “สมบัติ บุญงามอนงค์” ผู้มีชื่อเล่นว่า “หนูหริ่ง” และเป็นเจ้าของฉายา “บ.ก.ลายจุด”

จากอดีตประธานมูลนิธิกระจกเงา ที่ผ่านการศึกษาระดับสูงสุดแค่ชั้น ม.6 จากโรงเรียนปทุมคงคา มาสู่การเป็นแกนนำนปช.รุ่น 2 สมบัติกลายเป็นที่รู้จักของสังคมหลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ระหว่างเดินทางไปทำกิจกรรม “วันอาทิตย์สีแดง” เพื่อผูกผ้าแดงที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน และถูกนำไปควบคุมตัวที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 จ.ปทุมธานี

ภายในที่คุมขังนั่นเอง สมบัติได้เขียนจดหมายด้วยหมึกแดงถึงบรรดามิตรสหาย ก่อนที่เนื้อหาของจดหมายฉบับนั้นจะถูกนำไปเผยแพร่ผ่านโลกออนไลน์ ความว่า

“ห้ามฉันพูด ฉันก็จะพิมพ์
ห้ามฉันพิมพ์ ฉันก็จะเขียน
ห้ามฉันเขียน ฉันก็จะยังคิด
หากจะห้ามฉันคิด ก็ต้องห้ามลมหายใจฉัน”

ข้อความดังกล่าวโด่งดังในวงกว้างมากขึ้นเมื่อถูกนำไปขึ้นปกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ พร้อมภาพสมบัติกำลังชู “นิ้วกลาง” (ซึ่งเป็นภาพสมัยที่เขาแสดงจุดยืนเบื่อ “ม็อบพันธมิตร”)

หลังจากนั้นกระแสสังคมหลายส่วนต่างช่วยกันกดดันให้รัฐบาลคืนอิสรภาพ แก่ บ.ก.ลายจุด จนกระทั่งเขาได้ออกมาโบยบินอย่างอิสระอีกครั้ง พร้อมกับสัญลักษณ์ “นิ้วกลาง” ที่กลายเป็น “สัญลักษณ์ทางการเมือง” สำคัญและยอดฮิตของกลุ่มคนเสื้อแดง กระทั่งสมบัติได้กลายเป็นแกนนำในการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ที่น่าจับตามองที่สุด

อันนำมาสู่การถือกำเนิดขึ้นของการเคลื่อนไหวต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย

หลังพ้นเครื่องมือพันธนาการทางด้านกฎหมาย บ.ก.ลายจุด ได้เดินหน้าจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เคลื่อนไหวท้าทาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ทั้งการผูกผ้าแดงที่ราชประสงค์ (กระทั่งป้ายสี่แยกดังกล่าวต้องปลาสนาการไปราวกับสังคมไทยกำลังอยู่ในนวนิยายแนว “สัจนิยมมหัศจรรย์”) หรือทำกิจกรรมประท้วงเชิงสัญลักษณ์ “ที่นี่มีคนตาย” ซึ่งเป็นการแสดงท่าทาง “นอนตายรวมหมู่” แบบเล็กๆ ที่ค่อยๆ แพร่ระบาดไปทั่วเมือง ตั้งแต่ราชประสงค์ สวนลุมพินี ยันอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และต่างจังหวัด

สมบัติเรียกร้องประชาธิปไตย โดยการประกาศตัวว่าเป็น “แกนนอน” ที่มุ่งต่อสู้ในแนวระนาบร่วมกับชาวบ้านเสื้อแดง เพื่อสร้างเสริมฐานรากให้มั่นคง เขามองว่ามวลชนสามารถต่อสู้ได้ด้วยตนเองแม้จะไร้หัวหรือ “แกนนำ” เขายืนหยัดจะขับเคลื่อนขบวนคนเสื้อแดงต่อไป โดยไม่หวังผลในปัจจุบันแต่หวังผลในอนาคต ว่าประชาชนจะมีรากฐานที่มั่นคงพอไปคัดง้างกับอำนาจรัฐที่มีกฎหมายเป็น เครื่องมือ

เมื่อการเคลื่อนไหวเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น สมบัติและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ก็ได้พัฒนาสัญลักษณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มให้ เป็นโลโก้รูป “พระอาทิตย์สีแดง” รวม ทั้งจัดกิจกรรมการเมืองเชิงสัญลักษณ์ทุกวันอาทิตย์ ตลอดจนทุกวันที่ 10 และ 19 ของทุกเดือน เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ทำให้กลุ่มคนเสื้อ แดงและประชาชนเสียชีวิต 91 ศพ และบาดเจ็บหลายพันคน ในวันที่ 10 เมษายน และวันที่ 19 พฤษภาคม

นับจากนั้นกิจกรรมวันอาทิตย์สีแดงได้เพิ่มจำนวนผู้ร่วมชุมนุมมากขึ้น เรื่อยๆ จากกลุ่มเล็กๆ หลักสิบเพิ่มเป็นหลักร้อยหลักพันและหลักหมื่น

ในวันที่ 19 กันยายน 2553 ซึ่งเป็นวันครบรอบ “รัฐประหาร 19 กันยา” สมบัติได้ประกาศจัดกิจกรรมการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ โดยมีฝูงชนทั่วทุกสารทิศมารวมตัวกันเต็มถนนอย่างน่าตื่นตะลึงและติดต่อสื่อสารกันได้อย่างยากลำบาก นอกจากนั้น ยังปรากฏข้อความเชิงสัญลักษณ์จำนวนมากรอบอาคารห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กระทั่ง บ.ก.ลายจุด ซึ่งควบคุมการชุมนุมครั้งนั้นไม่อยู่ ยังต้องเอ่ยปากออกมาเองว่า เขาคงจะไม่ยอมเป็นแม่งานในการจัดการชุมนุมใหญ่อย่างนี้อีกแล้ว

ต่อมาวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็น “วันรัฐธรรมนูญ” และวันครบรอบ 8 เดือน “เหตุการณ์ 10 เมษายน” คนเสื้อแดงต่างก็มารวมตัวชุมนุมกันโดยมิได้นัดหมาย แม้ บ.ก.ลายจุดจะค่อยๆ ลดบทบาทของตนเองในฐานะ “แกนนอน” ผู้มีบทบาทนำในการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ลง แต่นกกระดาษสีแดง ลูกโป่งสีแดง และผ้าแดง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่เขาเป็นคนริเริ่มใช้ ก็แพร่กระจายอย่างกว้างขวางไปทั่วบริเวณสถานที่ชุมนุม

ก่อนหน้านั้น สมบัติมีกำหนดการจัดทอล์กโชว์ “วอน นอน คุก” ในวันที่ 5 และ 6 ธันวาคม แต่ต้องยกเลิกการแสดงในวันที่ 5 เพราะมีผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายคน “ขอร้อง” ให้ยกเลิก

“สมบัติ บุญงามอนงค์” อาจจะเป็นแค่ก้างเล็กๆ ที่คอยทิ่มตำคอของ “รัฐบาล” หรือยิ่งไปกว่านั้นคือ “รัฐไทย” ให้ระคายเคืองเล่นๆ ไม่ว่ารัฐจะพยายามกำจัดอย่างไร ก้างเล็กๆ อันนี้ก็ยังฝังแน่นและไม่สยบยอม รัฐไทยจึงทำได้แค่แสร้งมองผ่านไป และคอยประคับประคองไม่ให้แผลที่ถูกก้างตำอักเสบจนลุกลามกลายเป็นหนอง

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงแค่เรื่องราวของสงครามเชิง “สัญลักษณ์” ระหว่างรัฐไทยกับสมบัติเท่านั้น แต่ “สัญลักษณ์ทางการเมือง” อื่นๆ ที่สมบัติไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มขึ้นโดยตรง (ทว่าอาจเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กลุ่มคนเสื้อแดงได้พบเห็นช่องทางการต่อสู้ แบบใหม่) ซึ่งกำลังแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางรวดเร็วในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาล่ะ

รัฐไทยจะจัดการหรือรับมืออย่างไรดี?

ที่มา : มติชน 31 ธันวาคม 2553

 



Leave a comment