ธิดาเขียน “จากใจคนไทยถึงอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตอนที่1 นกน้อยในกรงทอง

นายแพทย์สลักธรรม โตจิราการ เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกของนางธิดา ถาวรเศรษฐ มารดา ที่เขียนถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยใช้ชื่อจดหมายว่า “จากใจคนไทย ถึง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตอนที่ 1 นกน้อยในกรงทอง ” ซึ่งเป็นการเขียนหลังจากที่ นางธิดา อ่านบันทึกเปิดใจฉบับต่าง ๆ ของนายอภิสิทธิ์ โดยระบุว่า จากบันทึก 4 ฉบับ ทำให้เข้าใจลักษณะนิสัยของนายอภิสิทธิ์ ได้ดีมากยิ่งขึ้น

นี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่เขียนจดหมายถึงคนคนเดียว แต่ขอเขียนแทนประชาชนคนไทยจำนวนหนึ่ง(เป็นจำนวนมาก) อ่านจดหมายสื่อสารของ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เขียนจากใจถึงคนไทยทั้งประเทศ ฉบับที่ 1 ถึงฉบับที่ 4 ขอให้เขียนต่อไปให้มากๆ คนไทยจะยิ่งรู้จักธาตุแท้ของท่านมากยิ่งขึ้น

ความจริงไม่ใช่ความผิดของคุณอภิสิทธิ์ทั้งหมด เพราะคุณอภิสิทธิ์ เป็นตัวแสดงที่ถูกทำให้มารับหน้าที่ นายกรัฐมนตรีในเวลานี้ อันเป็นตัวละครสำคัญ ในช่วงเวลาที่สังคมไทยกำลังเกิดการขัดแย้งรุนแรง ระหว่างชนชั้นนำในระบอบอำมาตยาธิปไตยกับประชาชนไทย พรรคการเมืองตัวแทนฝ่ายอนุรักษ์นิยมจึงต้องเป็นรัฐบาลให้ได้ และเป็นให้ยาวนานที่สุด เพื่อรักษาอำนาจในการปกครองไว้ในมือของชนชั้นนำในระบอบอำมาตยาธิปไตย โดยกองทัพของชนชั้นนำในระบอบอำมาตยาธิปไตยเช่นกัน

และเมื่อพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีหัวหน้าพรรคชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ถูกดึงขึ้นมาต่อสู้เทียบเคียงกับทักษิณ ชินวัตร โดยเชื่อว่า สดกว่า หนุ่มกว่า มีการศึกษาสูงแบบผู้ดีอังกฤษ คุณอภิสิทธิ์ จึงกลายเป็นตัวเอกของเวทีรัฐสภาและมีบทบาทเป็นนายกรัฐมนตรีในฐานะตัวแทน ชนชั้นนำ ในระบอบอำมาตยาธิปไตย ที่เขาคิดว่าเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดแล้ว เช่นเดียวกับเหตุการณ์การตั้งนายกฯสุรยุทธ จุลานนท์

จากภูมิหลังของครอบครัวที่จัดเป็นคนชั้นสูงในสังคม โดยฐานะทางชนชั้น การศึกษาตามแบบฉบับชั้นดีเลิศของอังกฤษ ผ่านโรงเรียนและมหาวิทยาลัยของชนชั้นสูงอังกฤษ การมีสภาวะแวดล้อมของกลุ่มอนุรักษ์นิยม สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจสังคมไทยในมิติอื่น ยกเว้นมิติของกลุ่มคนในหมู่พวกและชนชั้นตนเท่านั้น

ตามที่คุณอภิสิทธิ์ อ้างถึงคนที่เชียร์ให้กำลังใจคุณอภิสิทธิ์ให้(ทน)อยู่ในฐานะนายกฯต่อไป และไม่พอใจถ้าคุณอภิสิทธิ์ไปเจรจากับคนเสื้อแดง หรือดูเหมือนอ่อนข้อเมื่อประกาศจะยุบสภาก่อนเวลาสิ้นสุดแท้จริง เช่น “อย่าเสียใจ อย่ายุบสภา อย่าลาออก ท่านนายกฯทำดีที่สุดแล้ว” หรือ “อย่าลาออก พวกมันยิงกันเอง” คุณอภิสิทธิ์อ้างว่า “ได้รับกำลังใจจากประชาชนจำนวนมาก ที่ส่งข้อความเข้าโทรศัพท์มือถือของผม เป็นแรงใจให้ผมมีความเข้มแข็ง ยืนหยัดต่อสู้เพื่อบ้านเมืองของเรากลับสู่ความสงบให้ได้และข้อความอีกมากมาย ที่ส่งมาให้กำลังใจ เป็นเสมือนน้ำทิพย์ชโลมใจที่อ่อนล้าของผม ให้กลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง”

หรือบางตอนที่เขียนว่า “ผมท้อไม่ได้ และผมไม่มีสิทธิ์ถอย เพราะถ้าทำอย่างนั้นก็เท่ากับว่าผมทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน”

ปัญหาของคุณอภิสิทธิ์ก็คือ การอยู่ในสภาวะแวดล้อม ในแวดวงของประชาชนกลุ่มที่จำกัด แวดวงบริเวณยอดของรูปปิรามิด แห่งสังคมไทย ไม่ได้สัมผัสกับประชาชนแห่งฐานปิรามิดที่เป็นรากหญ้า รากฐานของสังคม ในอดีตแม้จะเป็นนักการเมืองที่ลงหาเสียงในกรุงเทพมหานครฯ แต่ก็เป็นการหาเสียงกับคนเมืองเฉพาะส่วนเท่านั้น ทั้งเป็นเวลาที่อ่อนวัยและไม่มีความรับผิดชอบใดๆ การสัมผัสประชาชน จึงเป็นคนละบรรยากาศกับในปัจจุบันที่เป็นนายกรัฐมนตรีท่ามกลางกลุ่มคาว เลือด ศพ ของประชาชนมือเปล่าที่ถูกฆ่า และเสียงตะโกนจากคุกที่คุมขังประชาชน โดยใช้เพียงการตั้งข้อหารุนแรงปราศจากหลักฐานใดๆ

เมื่อต้องลงสู่ท้องถนน เพราะต้องออกหาเสียงช่วยลูกพรรคทั่วราชอาณาจักร ได้สัมผัสกับประชาชนทั่วไปในสถานการณ์ใหม่ หลังการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง จึงต้องเผชิญความจริงที่ว่า มีประชาชนเคืองแค้น ถามหาความรับผิดชอบในเหตุการณ์ปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนในปีที่ผ่านมา หรือมีแววตาแสดงออกถึงความเกลียดชัง มีการถือป้าย “ดีแต่พูด” แสดงออกเช่นนี้อยู่ทั่วไป แม้แกนนำ นปช. ไม่ว่าจะเป็นคุณณัฐวุฒิ หรือดิฉันเอง ได้ขอร้องมวลชนคนเสื้อแดงว่าไม่ควรขัดขวางการหาเสียง แต่ก็มีสิทธิอันชอบธรรมในการทวงถามความยุติธรรมและความรับผิดชอบในฐานะที่คุณเป็นนายกรัฐมนตรี

ด้านหนึ่งก็คงจะกระทบกระเทือนจิตใจของคุณอภิสิทธิ์พอสมควร จึงเขียนในเฟซบุ๊ค จากใจอภิสิทธิ์ถึงคนไทยทั้งประเทศ อีกด้านหนึ่งก็แสดงการเคืองแค้นอย่างรุนแรงของคุณอภิสิทธิ์ที่โต้เถียงประชาชนไม่ลดละ

ยุทธศาสตร์การหาเสียงด้วยการเสนอนโยบายที่ลอกจากพรรคอื่นๆ ก็เปลี่ยนมาเป็นการโจมตีคนเสื้อแดง และรุกไล่โจมตีผู้สมัครหมายเลข 1 เพื่อไทย ในข้อหาเชื่อมโยงกับคุณทักษิณ ชินวัตร ท่วงทำนองนี้คล้ายกับตอนจัดการคุณทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลของพรรคพลังประชาชน คือเป็นท่วงทำนองของผู้เป็นรอง รุกไล่โจมตีผู้มีพลังมากกว่า นี่แสดงถึงความวิตกจริตอย่างหนักของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเอง วาทกรรม “เผาบ้านเผาเมือง” จึงถูกนำมาใช้เป็นหลักในการกล่าวอ้างกับประชาชนว่าคนเสื้อแดงที่เป็นผู้ สมัครในพรรคคู่แข่ง คือผู้เผาบ้านเผาเมือง หลังจากวาทกรรม ล้มเจ้า ที่นำมากล่าวหาคนเสื้อแดง ถูกเยาะเย้ยด้วยผังล้มเจ้าเหลวไหล ที่เอามาอ้างเป็นเหตุให้จัดเป็นคดีพิเศษจัดการกับคนส่วนต่างๆ และแกนนำคนเสื้อแดง การแสดงออกของจดหมายจากใจอภิสิทธิ์ถึงคนไทยทั้งประเทศ ที่เขียนออกมาจนถึงปัจจุบัน(21มิ.ย. 54 ) จำนวน 5 ฉบับแล้วนั้น ล้วนแสดงออกถึงการพยายามแก้ตัวในสถานการณ์ต่าง ๆ กัน

ในฉบับแรก ตอนที่1 การเมืองสลับขั้ว สู่เส้นทางนายกรัฐมนตรี ก็จะเป็นการแก้ตัวเรื่องที่มาของรัฐบาลที่จัดตั้งในค่ายทหาร

ตอนที่ 2 กฏเหล็ก 9 ข้อ สู่บรรทัดฐานใหม่ทางการเมือง ก็บรรยายในลักษณะอวดตัวและเหยียบย่ำพรรคร่วม แนวทาง 9 ข้อ ก็อ้างพระบรมราโชวาท เพื่อนำมาใช้อวดตัวในด้านความซื่อสัตย์สุจริต และความล้ำเลิศอื่นๆ

ฉบับที่ 3 ก็แก้ตัวในเหตุการณ์ 10เมษายน 2553 และฉบับที่ 4 แก้ตัวเรื่อง 91ศพ สังเวยความต้องการใคร

ทั้ง 4 ฉบับ ลักษณะร่วมกันคือ เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น การเลือกพูดเอาเหตุผลที่เข้าข้างตน โจมตีคนอื่นด้วยวาทกรรมที่มาจากข้อมูลที่ไม่ใช่เรื่องจริง การแก้ตัว ปฏิเสธความรับผิดชอบ และกล่าวโทษผู้เป็นคู่ต่อสู้ทางการเมือง โดยอาศัยการพูดที่ไม่คำนึงถึงหลักฐานข้อเท็จจริงทั้งปวง ที่จริงเป็นการทำลายคุณอภิสิทธิ์ ทำลายพรรคประชาธิปัตย์เอง เพราะเวลา1ปีที่ผ่านมา หลักฐานข้อมุลที่ชัดเจนได้ปรากฏในสังคม ประชาชนรับรู้ และพิพากษาไปแล้ว นี่ก็จะไปจัดปราศรัยใหญ่ที่สี่แยกราชประสงค์ในวันที่ 23 มิย 54.นี้ ก็ทำไม่ไม่จัดเอาในวันที่ 19 มิย 54 ไปเสียเลย จะได้เป็นการจัดงานรำลึกฉลองการปราบปรามประชาชนครบรอบ 1 ปี 1เดือน ถือเป็นการกล่าวกับวิญญาญวีรชนว่า เห็นไหม พวกแกตายฟรี ๆ พวกข้ายังอยู่ดี เป็นนายกรัฐมนตรีจนถึงบัดนี้”

โดย ธิดา ถาวรเศรษฐ ใน ไทยอีนิวส์
22 มิถุนายน 2554


กระสุนที่หายไป ยิงหมดหรือเอาไปไหน

มีข้อมูลอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็น เรื่องใหญ่ แต่สื่อสารมวลชนในบ้านเราไม่ค่อยจะให้ความสนใจกันสักเท่าไรนัก นั่นคือเรื่องของกระสุนปืนที่ถูกเบิกออกจากคลังกรมสรรพาวุธทหารบก เอามาใช้ในช่วงปฏิบัติการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในช่วงเดือนเมษายนและ พฤษภาคมปีที่แล้ว

เรื่องนี้ต้องให้เครดิต พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ที่ใช้เวทีคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ที่ตัวเองนั่งเป็นประธานอยู่สืบทราบข้อมูลที่น่าตกใจว่า ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เบิกกระสุนปืนชนิดต่างๆมาใช้ในช่วงสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงมากถึง 590,000 นัด

ขอย้ำตัวเลขว่า 590,000 นัด

ในจำนวนนี้เป็นกระสุนซ้อมรบ 10,000 กว่านัด ที่เหลือเป็นกระสุนจริงที่ยิงกันเจ็บตายได้จริงๆ

หลังเสร็จสิ้นปฏิบัติการที่เรียกกันอย่างสวยหรูว่าขอคืนพื้นที่ กระชับพื้นที่ มีข้อมูลการส่งคืนลูกปืนที่เบิกออกมาเพียง 400,000 กว่านัด ที่เหลืออีก 100,000 กว่านัด ซึ่งข่าวภายหลังบอกว่าประมาณ 120,000 นัด หายไปไม่ได้ส่งคืน

ที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือ พบข้อมูลว่านอกจากกระสุนปืนชนิดต่างๆที่เบิกมากมายก่ายกองแล้ว ยังมีการเบิกกระสุนปืนซุ่มยิง หรือพูดกันให้ชัดๆคือกระสุนปืนสไนเปอร์ ออกมาจากคลังอาวุธอีกประมาณ 3,000 นัด

ในจำนวนนี้หลังเสร็จสิ้นปฏิบัติการปราบปรามประชาชนแล้ว มีตัวเลขส่งคืนเพียง 480 นัด

ที่เหลืออีก 2,520 นัดหายไปไหน ไปอยู่ในหัวใครหรือไม่ ถึงไม่มีการส่งคืน

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องให้ความสำคัญและติดตาม เพราะถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้องว่ากระสุนมากมายหายไปไหน

ใช้ยิงไปหมดแล้วในปฏิบัติการปราบปรามประชาชน หรือว่ามีคนเล่นแร่แปรธาตุเปลี่ยนทรัพย์สินให้เป็นทุนไปแล้ว หรือว่าเอาเก็บไว้ใช้ปฏิบัติการอื่นๆต่อไป ไม่ว่าคำตอบไหนผู้เกี่ยวข้องต้องชี้แจงออกมาให้ชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องกระสุนปืนสไนเปอร์ยิ่งต้องชี้แจงออกมาให้ได้ว่าทำไม ต้องเบิกเอามาใช้สลายการชุมนุม เพราะขัดกันกับที่ผู้มีอำนาจทั้งหลายชี้แจงก่อนหน้านี้ว่าไม่มีการซุ่มยิง ประชาชนจากที่สูง ทั้งที่มีภาพและคลิปปรากฏเป็นหลักฐานชัดเจนว่ามีการซุ่มยิง

ใครรู้สึกอย่างไรไม่รู้ แต่ผู้เขียนตกใจกับจำนวนกระสุนปืนที่เขาเบิกเอามาใช้กันว่าทำไมถึงได้มากมายมหาศาลถึงเพียงนั้น

การควบคุมฝูงชน ควบคุมประชาชนที่แสดงออกทางการเมือง ไม่มีบ้านเมืองไหนเขาใช้กระสุนจริง แล้วยังมีหน้ามาบอกว่าทำตามหลักสากล

นี่เวลาก็ผ่านมาเกือบปีแล้ว แต่ยังไม่สามารถหาเหตุผลมาอธิบายถึงการเบิกจ่ายกระสุนได้ คงหวังว่าจะให้เรื่องเงียบหายไปเอง

มันก็เหมือนกับการใช้จ่ายงบประมาณของ ศอฉ. ที่จนถึงวันนี้ยังไม่มีการรายงานต่อรัฐสภาว่าใช้ไปกี่บาท กี่สตางค์ ทั้งที่เวลาผ่านมาครบ 1 ปีแล้ว

เรื่องที่เกี่ยวกับ ศอฉ. เรื่องเกี่ยวกับปฏิบัติการสลายการชุมนุม ทำไมช่างมีอะไรสลับซับซ้อนมากมายเหลือเกิน หาความโปร่งใสไม่ได้เลย

ถ้าชี้แจงไม่ได้ก็ไม่ต้องมาเรียกร้องหาความปรองดอง ความสามัคคี

ปัดโธ่! ใครเขาจะอยากปรองดองกับคนที่ถือปืนออกมาไล่ยิง

ที่มา : โลกวันนี้ 25 มีนาคม 2554
โดย : ลอย ลมบน

 


คุกมีไว้ขัง..คนเสื้อแดง?

การปล่อยตัวนางออง ซาน ซู จี หลังการเลือกตั้งในพม่าเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แม้กองทัพพม่าจะยังมีบทบาทชี้เป็นชี้ตายในรัฐบาลต่อไป หรือการเลือกตั้งของพม่าจะไม่เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ แต่การปล่อยตัวนางออง ซาน ซู จี เป็น อิสรภาพก็ถือเป็นสัญญาณการปรองดองที่สำคัญยิ่งของพม่า

ที่สำคัญที่สุดคือท่าทีของนางออง ซาน ซู จี เองก็ปรารถนา การปรองดอง เพื่อร่วมสร้างประชาธิปไตยในพม่าและไม่ถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก

“ได้โปรดอย่าละทิ้งความหวัง ไม่มีเหตุผลที่พวกเราจะถอดใจ ถึงแม้ว่าคุณจะไม่สนใจการเมือง แต่การเมืองก็จะมาหาคุณเอง”

คำพูดของนางออง ซาน ซู จี ไม่ได้แสดงออกถึงความรุนแรง แต่เหมือนกดดันให้รัฐบาลพม่าต้องพิจารณาข้อเรียกร้องที่ให้ปล่อยตัวนักโทษ การเมืองกว่า 2,000 คนโดยเร็ว และยังทำให้ประชาคมโลก โดยเฉพาะประเทศอาเซียนกลับมาจับตามองประชาธิปไตยในประเทศไทยอีกครั้ง เพราะเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ที่ใช้กำลังทหารหลายหมื่นคนพร้อมอาวุธสงครามสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วม ประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 91 ศพ และบาดเจ็บ พิการเกือบ 2,000 คนนั้น นอกจากประชาคมโลกและองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างประณามรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงแล้ว ยังใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินไล่ล่าและจับกุมคนเสื้อแดงอย่างต่อ เนื่อง

รัฐไทยล้มเหลว-เผด็จการ?

รัฐบาลไทยวันนี้จึงถูกจัดอันดับประเทศที่เป็นเผด็จการหรือมีปัญหาด้าน สิทธิมนุษยชนไม่แตกต่างจากรัฐบาลพม่า อย่างที่กลุ่มผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนจัดอันดับเสรีภาพสื่อไทยประจำปี 2553 ประเทศไทยอยู่ที่ 153 จากทั้งหมด 178 ประเทศ และติดกลุ่ม 10 ประเทศที่สื่อตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้าย ประชาชนถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงสื่อและข้อมูลข่าวสาร

ประชาคมโลกยังจัดว่าประเทศไทยเป็นรัฐที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง (Failed State) และมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือการก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ อย่างนิตยสารฟอเรนจ์ โพลิซี ของสหรัฐจัดอันดับประเทศที่ล้มเหลวเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยพิจารณาจากดัชนีชี้วัด 12 ประการ อาทิ สภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคงและสิทธิมนุษยชน ความขัดแย้งทางการเมืองและสังคม การเปลี่ยนแปลงรัฐบาล กลไกของรัฐในการบริหารประเทศ ปรากฏว่าประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับ 89 จากทั้งหมด 177 ประเทศ

ขณะที่เมื่อต้นปี 2553 องค์กรระหว่างประเทศ Freedom House รายงานว่าประเทศไทยไม่สามารถ ถูกจัดไว้ในกลุ่มประเทศที่มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย เพราะมีการแทรกแซงกระบวนการทางการเมืองโดยกลุ่มทหาร และประเทศไทยก็ติดอันดับต้นๆของประเทศที่มีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน

ดีเอสไอหมกเม็ด?

โดยเฉพาะการแถลงผลสืบสวนของกรมสอบ สวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในการเสียชีวิตของทหาร ตำรวจ และประชาชนจากเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” จำนวน 89 ศพ ที่ไม่มีความชัดเจนและคลุม เครือ อีกทั้งยังมีความพยายามทำให้เกิดความสับสนในคดี โดยกล่าวหาว่าคนเสื้อแดงฆ่ากันเอง และยังระบุอีกว่ามี 12 รายที่เป็นการกระทำของคนเสื้อแดง แต่กลับไม่สามารถระบุตัวได้ชัดเจน โดยอ้างว่าเป็น “ไอ้โม่งชุดดำ” ที่วันนี้ก็ยังไม่สามารถจับได้แม้แต่คนเดียว แต่กลับกล่าวหาและตั้งข้อหาคนเสื้อแดงเป็น “ผู้ก่อการร้าย” เรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ดีเอสไอก็ไม่กล้าเปิดเผยข้อมูลการปฏิบัติการของศูนย์อำนวยการแก้ไข สถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และกองทัพแก่สาธารณะให้ร่วมตรวจสอบว่ามีการใช้กำลังทหารอย่างไร ใช้อาวุธเท่าไร อย่างไร และสมควรแก่เหตุหรือไม่ ซึ่งศพทุกศพที่เกิดขึ้นจะต้องทำการชันสูตรพลิกศพและไต่สวนการตายตาม ป.วิ.อาญา ม.150 ไม่ใช่เลือกเฉพาะเป็นบางกรณีดังที่ดีเอสไอเสนอ อีกทั้งมีรายงานข่าวว่าดีเอสไอและ ศอฉ. ไม่ยอมให้ความร่วมมือ ต่อคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อ การปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร อดีต อัยการสูงสุด เป็นประธาน ที่นายอภิสิทธิ์เป็นคนตั้งขึ้นเอง

ศปช. ตอกกลับดีเอสไอ

ขณะที่ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เมษายน-พฤษภาคม 2553 (ศปช.) และกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เม-ษายน-พฤษภาคม 2553 เรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวคนเสื้อแดงชั่วคราว เพราะถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ แม้แต่ในคดีอาญาก็ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด

โดยเฉพาะการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินและตั้งข้อหาร้ายแรงที่หลายกรณีเกินความเป็นจริง เหวี่ยงแห และขาดพยานหลักฐานที่มีน้ำหนัก ทั้งยังพบว่าการจับกุมมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิมนุษยชนสากล ไม่ได้เป็น ไปตามกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งบางกรณี ที่ถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมหรือหลอกให้สารภาพ

นอกจากนี้ ศปช. ยังระบุว่าการแถลงข่าวของดีเอสไอกรณี 89 ศพนั้นเป็นการให้ข่าวที่ไม่ชัดเจน คลุมเครือ และก่อให้เกิดความสับสน ซึ่งดีเอสไอควรแถลงให้ชัดว่าสำนวนคดีแต่ละเหตุการณ์นั้นเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ประชาชนจำนวนมากถูกอาวุธปืนความเร็วสูงหรือ สไนเปอร์ยิงเสียชีวิตแล้วหลักฐานต่างๆนั้นหายไป ทั้งที่สไนเปอร์เป็นอาวุธที่มีใช้เฉพาะในกองทัพและหน่วยงานของรัฐบางแห่ง เท่านั้น รวมทั้งปรากฏภาพและคลิปวิดีโอชัดว่ามีทหารใช้สไนเปอร์ในปฏิบัติการ “กระชับวงล้อม” จริง ทำไมการพิสูจน์หาพยานหลักฐานในช่วงนี้ถึงหายไป

“นับตั้งแต่ศอฉ. ใช้กำลังทหารเข้า “ขอคืนพื้นที่” และ “กระชับวงล้อม” การควบคุมดูแลพื้นที่ใน กทม. โดยเฉพาะบริเวณที่ชุมนุมของ นปช. นั้นอยู่ภายใต้ความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ทั้งหมด ดังนั้น ศพทุกศพที่เกิดขึ้นจะต้องทำการชันสูตรพลิกศพและไต่สวนการตายตาม ป.วิ.อาญา ม.150 ไม่ใช่เลือกเฉพาะเป็นบางกรณีดังที่ดีเอสไอเสนอ”

ดีเอสไอเลือกปฏิบัติ?

ศปช. ยังชี้ว่าหลังเหตุการณ์ผ่านมาถึง 6 เดือน การสืบสวนสอบสวนของดีเอสไอมีความคืบหน้าชัดเจนเฉพาะคดีที่รัฐบาล ศอฉ. และดีเอสไออ้างมาตลอดว่าเป็นฝีมือของฝ่าย นปช. หรือฝ่ายสนับสนุนเท่านั้น แต่คดีที่สาธารณะสงสัยว่าทหารหรือเจ้าหน้าที่เป็นผู้กระ-ทำให้ประชาชนเสีย ชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากกลับไม่มีความชัดเจนใดๆเลย ขณะที่การดำเนินคดีกับแกนนำ นปช. ในข้อหาก่อการร้ายนั้น ตามสำนวนฟ้องแกนนำ นปช. ถูกกล่าวหาโดยเชื่อมโยงว่ามีส่วนทำให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่เสียชีวิตทั้ง 89 ศพ

“ปัญหาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า การทำงานของดีเอสไอเลือกที่จะมุ่งไปที่การสนับสนุนการดำเนินคดีต่อแกนนำ นปช. และหวังสร้างความชอบธรรมทาง การเมืองให้แก่รัฐบาล-ศอฉ. เป็นด้านหลักมากกว่าที่จะดำเนินการอย่างเที่ยงธรรมในทุกกรณีที่มีการเสีย ชีวิต”

ดังนั้น ศปช. จึงตั้งคำถามว่าดีเอสไอทำการสืบสวนสอบสวนอย่างสุจริตเที่ยงธรรมจริงหรือไม่ โดยเฉพาะอธิบดีดีเอสไอมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงต่อเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” เนื่องจากอธิบดีดีเอสไอมีบทบาทสำคัญใน ศอฉ. มาโดยตลอด ซึ่งหากการสืบสวนสอบสวนพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำให้ประชาชนเสีย ชีวิต ศอฉ. ก็จะตกเป็นจำเลยด้วย

อย่างไรก็ตาม นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ออกมายืนยันว่า รายละเอียดของแต่ละสำนวนคดีเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และไม่เคยมีหน่วยงานไหนแถลง การเปิดเผยก็ทำไม่ได้ ถือเป็นเรื่องสำคัญในคดีทั้งที่สำนวนอาจส่งผลกระทบต่อตัวพยานด้วย โดยเฉพาะที่ประชาชนถูกอาวุธปืนความเร็วสูงยิงเสียชีวิตนั้นก็มีข้อมูลอยู่ใน สำนวนการสอบสวน ไม่ได้หายไปไหน แต่ดีเอสไอเพิ่งแถลงเพียง 18 ศพ ส่วนที่เหลือพนักงานสอบสวนจะแถลงให้ทราบทั้งหมดสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้

“ศอฉ.-ดีเอสไอ” โคตรใหญ่?

นอกจากนี้อธิบดีดีเอสไอยังแถลงว่า จะขอคัด ค้านการประกันตัวนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. หลังปิดการประชุมสภา เพราะก่อนหน้านี้นายเมธี อมรวุฒิกุล พยานในความคุ้มครองของดีเอสไอ ได้ร้องว่าถูกนายจตุพรข่มขู่ ทำให้ดีเอสไอต้องดำเนินการตามกฎหมาย โดยเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ดีเอสไอทำหนังสือแจ้งถึงสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) แล้ว

ทั้งที่หลายฝ่ายต้องการสร้างความปรองดองและเรียกร้องให้ปล่อยแกนนำ นปช. และคนเสื้อแดง แต่นายธาริตกลับต้องการให้จับกุมนายจตุพร เช่นเดียวกับบทบาทของ ศอฉ. ที่ควรจะค่อยๆลดลง แต่ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ก็ยังออกมาแถลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เห็นว่านายอภิสิทธิ์ไม่มีความจริงใจที่จะสร้างความปรองดอง แต่กลับพยายามใช้อำนาจข่มขู่ฝ่ายตรงข้ามอยู่เช่นเดิม

เช่นเดียวกับกรณีที่ ศอฉ. ใช้อำนาจเรียกให้บุคคลต่างๆมารายงาน รวมทั้งควบคุมธุรกรรมทางการเงิน โดยอ้างว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายนั้น จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับการก่อการร้าย แต่ ศอฉ. ก็ไม่เคยขอโทษหรือยอมรับผิดต่อการกระทำดังกล่าวเลย และยังส่งผลกระทบต่อภาพพจน์ของกองทัพอีกด้วย

ศอฉ. ยังออกหมายเรียกให้ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ไปรายงานตัว ซึ่ง พ.อ.อภิวันท์ตอบโต้ทันทีว่าเป็นการข่มขู่คุกคามฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าในช่วงสมัยประชุมจะออกหมายเรียกไม่ได้ แต่ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอให้ที่ประชุม อนุมัติให้ไปพบตามหมายเรียก อย่างไรก็ตาม พ.อ.อภิวันท์พร้อมจะเดินทางไปพบ ศอฉ. ที่สโมสรกองทัพบกเป็นการส่วนตัว เพื่อจะถามว่าเรียกเพื่ออะไร

“นี่คือการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม การออกหมายเรียกนี้ก็ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา และไม่ได้ระบุรายละเอียดว่าให้ไปพบใคร”

“อภิสิทธิ์” หักดิบ “ประวิตร”

นอกจากมีรายงานข่าวว่านายอภิสิทธิ์ไม่รับข้อเสนอของ ศปช. และ คอป. แล้วยังเพิกเฉยต่อหนังสือที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ. ได้เสนอให้นายอภิสิทธิ์ในฐานะประธาน ศอฉ. พิจารณาอนุญาตให้ประกันตัวแกนนำ นปช. ทั้งหมดชั่วคราว ซึ่งเป็นจดหมายที่นายวีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช. มีถึง พล.อ.ประวิตร มีรายงานข่าวว่านายอภิสิทธิ์อ้างว่าต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของศาลและกฎหมาย แต่นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีการส่งเรื่องถึงนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นอำนาจของ ศอฉ. ที่จะดำเนินการเรื่องให้ข้อมูล จึงไม่เกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรี

แต่ก่อนหน้านี้นายอภิสิทธิ์ยอมรับว่ามีการยื่นเรื่องร้องเรียนมาจริง แต่จำไม่ได้ว่ามาจากกลุ่มไหน แล้วนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาใน ศอฉ. เท่าที่ทราบ พล.อ.ประวิตรสรุปว่าเรื่องนี้เป็นอำนาจของศาล จะทำได้หรือไม่อยู่ที่ศาล แต่ถ้ารายงานมาถึงจริงก็สั่งดำเนินการทุกเรื่อง อย่างกรณีนายคณิตทำหนังสือมาก็สั่งการให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณาความเป็นไป ได้ ความถูกต้อง และความเหมาะสมไปแล้ว

จึงมีคำถามว่าถ้านายอภิสิทธิ์แสดงความจริงใจที่จะสร้างความปรองดองจริง ไม่ใช่ปรองดองแค่ปาก ก็ต้องออกมาแถลงให้ชัดเจนว่ามีการสั่งการอย่างเป็นทางการให้ทุกฝ่ายที่ เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้รับไปปฏิบัติโดยเร็วที่สุดว่ามีความคืบหน้าถึงไหน แล้ว โดยเฉพาะบทบาท ของ ศอฉ. ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำให้ประชาชนเสีย ชีวิตและบาดเจ็บ ไม่ใช่ยังใช้อำนาจที่จะเรียกใครก็ได้ให้มารายงานตัว หรือออกมาแถลงในทำนองข่มขู่ต่างๆ

ต้องเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เช่นเดียวกับกรณีที่ศาลอาญาอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว 3 ผู้ถูกคุมขังเนื่องจากเหตุการณ์ชุมนุมทาง การเมืองเมษายน-พฤษภาคม 2553 คือนายธีรเดช สังขทัต นายสมหมาย อินทนาคา และนายบุญยฤทธิ์ โสดาคำ โดยกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ยื่นประกันตัวและใช้กองทุนยุติธรรมวางหลักทรัพย์ ค้ำประกัน ต่อมาวันที่ 11 พฤศจิกายน นายอภิสิทธิ์เชิญนายสมหมายและนายบุญยฤทธิ์เข้าพบที่รัฐสภาและนำมาเป็นผลงาน ตามนโยบายสร้างความปรองดอง ทั้งยังมีรายงานข่าวว่าถูกเจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาลบังคับให้เขียนจดหมายขอบ คุณนายกรัฐมนตรีอีกนั้น

ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล อาจารย์สถาบันประชากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะกรรมการ ศปช. ได้ตั้งข้อสังเกตว่าที่นายอภิสิทธิ์ย้ำว่าผู้ที่ถูกคุมขังเป็นการดำเนินการ ตามกฎหมาย รัฐบาลเพียงแต่พิจารณาช่วยเหลือเป็นรายกรณีตามนโยบายปรองดองนั้น ศปช. กลับสำรวจพบว่าหลายกรณีเป็นการจับกุมที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตาม รัฐธรรมนูญ รวมทั้งหลักสิทธิมนุษยชน หลายกรณีจับกุมแบบเหวี่ยงแห ไม่มีพยานหลักฐานหนักแน่นพอ หรือตั้งข้อหารุนแรงเกินจริง หลายกรณีผู้ที่ถูกจับกุมถูกทำร้ายทรมาน ได้รับการปฏิบัติไม่เหมาะสม และถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมหรือหลอกล่อให้รับสารภาพ

“ปัญหาเหล่านี้มีต้นเหตุสำคัญมาจากการที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การที่กลไกของรัฐเข้ามาช่วยเหลือผู้ที่ถูกคุมขังเป็นสิ่งที่รัฐบาลจำเป็น ต้องรับผิดชอบต่อปัญหาที่สืบเนื่องมาจากการกระทำของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ เอง รัฐบาลไม่ควรสำคัญผิดว่าเป็นผลงานปรองดอง และขอเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินทันที” ดร.กฤตยากล่าว

อย่าปรองดองแค่ปาก?

ดังนั้น การเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งให้ปล่อยผู้บริสุทธิ์หรือปล่อยตัวชั่วคราวแกนนำ นปช. และคนเสื้อแดงกว่า 200 คนที่ถูกคุมขังมานานกว่า 6 เดือนนั้น จึงถือว่าเป็นการเริ่มต้นการปรองดองอย่างแท้จริง ไม่ใช่ปรองดองแค่ปากอย่างที่นายอภิสิทธิ์พยายามเลี่ยงบาลีอยู่ทุกวันนี้

เพราะแม้แต่ข้อเสนอของ คอป. ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาเอง ซึ่ง คอป. ได้พูดคุย ปรึกษาหารือ และรับฟังความคิดเห็นจากบุคคล กลุ่มบุคคล องค์กร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมทั้งหน่วยงานและองค์กรจากต่างประเทศยังทำบันทึกถึงนายอภิสิทธิ์ให้ปล่อย นักโทษการเมืองโดยเร็ว ซึ่งสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวและสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวเป็น สิทธิพื้นฐานของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาที่ได้รับการยอมรับเป็นสากลนั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 40 (7) ก็กล่าวถึง “สิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว” ตามมาตรา 39 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่า “ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิด”

และตาม “หลักยกประโยชน์แห่งความสงสัย” ที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 ระบุว่า การเอาตัวผู้ถูกกล่าวหาไว้ในความควบคุมหรือในอำนาจรัฐเป็นการจำกัดสิทธิของ ผู้ถูกกล่าวหา นอกจากจะกระทบต่อเสรีภาพของบุคคลอันเป็นสิทธิพื้นฐานแล้ว ยังกระทบถึงโอกาสในการต่อสู้คดี และส่งผลกระทบต่อครอบครัวและญาติพี่น้องของผู้ถูกกล่าวหาอีกด้วย

“คอป. เห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการปล่อยชั่วคราวแกนนำบางส่วนที่ถูก ควบคุมตัวไว้ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อหรือสนับสนุนความรุนแรงในระหว่างการชุมนุม โดยตรง เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านั้นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำแนวทางสันติวิธี มาใช้ในการแสวงหาทางออกให้กับบ้านเมือง การปล่อยตัวหรือการปล่อยชั่วคราวแกนนำดังกล่าวจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ จะส่งสัญญาณว่าทุกฝ่ายให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับกระบวนการสร้างความ ปรองดองในชาติ นอกจากนี้ยังเป็นการลดกระแสความเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมไม่มีความเป็นธรรม ต่อผู้ถูกกล่าวหา อันเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ความไม่เชื่อถือในระบบการปกครองของรัฐอันอาจ สร้างความร้าวฉานและความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นใหม่อีกด้วย”

ยุบ ศอฉ.-พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ความปรองดองจึงเกิดไม่ได้ตราบใดที่นายอภิสิทธิ์ยังไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินและปล่อยตัวแกนนำ นปช. และคนเสื้อแดงเพื่อให้ต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมปรกติตามข้อเสนอของ คอป. นอกจากนี้ฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทยยังเรียกร้องให้ยุบ ศอฉ. และ พ.ร.ก.ฉุก เฉินโดยเร็วที่สุด เพราะถือว่าหมดความชอบธรรมแล้ว ที่สำคัญการปิดบังหรือยื้อข้อเท็จจริงเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ยิ่งกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศไทยในฐานะประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชา ชาติ จนกลายเป็น “ตัวตลก” ของประชาคมโลกไปแล้ว

ยิ่งรัฐบาลเผด็จการพม่าให้อิสรภาพแก่นางออง ซาน ซู จี องค์กรสิทธิมนุษยชนและประชาคมโลกก็กลับมามองประเทศไทยและ “กระชับพื้นที่” นายอภิสิทธิ์ ซึ่งไม่สามารถปิดบังความจริง หรือใช้วาทกรรม อ้าง “นิติรัฐ-นิติธรรม” จอมปลอมกักขังและไล่ล่าคนเสื้อแดงได้อีกต่อไป เพราะจะยิ่งประจานตัวนายอภิสิทธิ์ว่าไม่ใช่นักการเมืองประชาธิปไตย แต่เป็น “ผู้นำทรราช” ที่รับใช้ “เผด็จการ”

โดยเฉพาะการชันสูตร 6 ศพในวัดปทุมวนาราม ดีเอสไอก็ยอมรับว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐหรือทหารเกี่ยวข้อง ดังนั้น ยิ่งรัฐบาลยื้อเวลาและไม่สรุปผลการชันสูตรพลิก ศพก็จะมีแต่เสียงประณาม “คนสั่งฆ่ายังลอยหน้า คนฆ่า ยังลอยนวล” ที่นับวันจะดังมากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่คุกกลับขังคนเสื้อแดงที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและประชาธิปไตย

แทนที่จะมีไว้ขัง “คนชั่วและฆาตกร”!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6  ฉบับ 287 วันที่ 27 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม พ.ศ. 2553 หน้า 16-17 คอลัมน์ เรื่องจากปกโดย ทีมข่าวรายวัน

 


ปรองดองหลายแนวทาง

ปรองดองหลายแนวทาง
ที่มา : โลกวันนี้รายวัน 15 ตุลาคม 2010
โดย : ด๊อกเตอร์ทอง

การเดินหน้าปรองดองของ เสธ.หนั่นดูเหมือนรัฐบาลเองจะนิ่งนอนใจและมองว่า เสธ.หนั่นในฐานะประธานปรองดองภาค “พิเศษ” คงทำอะไรได้ไม่มากไปกว่าที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ คนจำนวนมากในพรรคเองและผู้เกี่ยวข้องต่างมองเรื่องดังกล่าวเป็นเพียงอีก หนึ่งความพยายามที่คงเหมือนความพยายามที่ผ่านๆมาของหลายๆฝ่าย

เพราะมีความพยายามสร้างการปรองดองกันมากมายหลายทิศทาง แต่ความสำเร็จของการปรองดองมีความซับซ้อนที่มี “เดิมพัน” สูง ยิ่งใครสามารถสร้างความปรองดองได้สำเร็จก็น่าจะมีสิทธิคว้ารางวัลโนเบลได้ ไม่แพ้หลิว เซียวโบ้ นักกิจกรรมการเมืองของจีนคนล่าสุด

แต่จะไปห้ามหรือไปคัดค้านความพยายามของแต่ละฝ่ายคงไม่เหมาะสม ต้องปล่อยให้การดำเนินความพยายามปรองดองเป็นไปอย่างเข้มข้น และคอยดูผลที่จะตามมาว่าจะประสบความสำเร็จอย่างที่คาดหวังหรือไม่ เพราะดูเหมือนในท่ามกลางความปรองดองที่มีขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทางคนของรัฐเอง ในหลายหน่วยงานเองก็พยายามตอกย้ำรอยแยกระหว่างฝักฝ่ายให้ปริแยกออกไปอย่าง ยากต่อการประสานรอยร้าวได้อีก

การออกหมายจับ การไล่ล่า และการออกมากล่าวหากันไปมาผ่าน “สื่อ” ไม่แพ้กับกรณีข่าวคาวของดารานักแสดงที่ยังคงเป็นเรื่องค้างคาใจของคนทั้ง ประเทศในเวลานี้ เป็นเครื่องบ่งชี้ได้ชัดว่าความสำเร็จของการปรองดองเป็นเรื่องที่พูดกันได้ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่าการช่วยเหลือคน งานเหมือง 33 คนที่เพิ่งช่วยให้พ้นออกจากเหมืองที่ถล่มมากว่าสองเดือนได้

กระบวนการดำเนินคดีที่ยังไม่มีความชัดเจน และยังไม่มีทีท่าว่าจะจับกุมผู้บงการได้ รวมทั้งมีแต่ข่าวในทางลบของผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินคดี ไม่ว่าจะเป็นข่าวจริงหรือเป็นเพียง “ข่าวลือ” แต่ก็เท่ากับเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมได้อย่างมี ประสิทธิภาพ

เมื่อกระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถาม ปัญหาที่ตามมาคือความคิดเห็นใดๆที่แม้จะเป็นความประสงค์ดีและความตั้งใจจริง ในการเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ จึงถูกตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับโอกาสและความสำเร็จที่ดูเหมือนมีแต่จะบาน ปลาย มีค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากรไปอย่างสิ้นเปลือง แต่ความคืบหน้าและผลสุดท้ายดูเหมือนจะไม่คุ้มค่าคุ้มการลงทุนลงแรงที่ทุ่มเท กันลงไป

แนวโน้มที่เป็นไปได้ในขณะนี้คือจะทำอย่างไรให้บ้านเมืองสงบสุขโดยไม่จำ เป็นต้องมีการวางเงื่อนไขใดๆเป็นพิเศษ ไม่จำเป็นต้องมีการ “นิรโทษกรรม” เพราะนั่นก็ไม่ใช่ความต้องการของฝ่ายที่ถูกกล่าวหาของแต่ละฝ่ายที่ต่างก็ยืน ยันในจุดยืนนี้มาตลอด

สิ่งที่ทุกฝ่ายดูเหมือนจะเห็นตรงกันและต้องการมากที่สุดคือ ความที่สุดของคดีความที่มีอยู่มากมาย ทั้งความผิดต่อส่วนตัว ต่อสาธารณะ และต่อสังคมส่วนรวมที่คงต้องดำเนินการให้เห็นผล ชี้ถูกชี้ผิดได้จริง คงหมดเวลาในการประนีประนอมหรือการทำงานกันแบบขอไปที หรือเพียงเพื่อซื้อเวลาให้เรื่องยืดยาวออกไปเหมือนละครหลังข่าวของหลายช่อง ทีวี.ในวันนี้ เพราะสิ่งที่ประชาชนต้องการคือความปรองดองอย่างยั่งยืนถาวร ปราศจากนัยทางการเมืองหรือวาระแอบแฝงใดๆที่ฝากมากับการปรองดอง


สิ่งที่อยู่ระหว่างบรรทัดของความปรองดอง

สิ่งที่อยู่ระหว่างบรรทัดของความปรองดอง
โดย : วิษณุ บุญมารัตน์
ที่มา :
โลกวันนี้วันสุข 2-8 ตุลาคม 2553 หน้า 12
คอลัมน์ : หอคอยความคิด

ก่อนจะเข้าบทความมีคำกล่าวของนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ถึง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หรือลูกเจ๊กที่อาศัยแผ่นดินไทยว่า

“ถ้าทุกคนอยากได้ประชาธิปไตยต้องช่วยกัน”

พล.ต.จำลองครับ หยุดทำลายคนไทยได้แล้ว เพราะท่านเป็นลูกจีนรักชาติ อย่าเป็นคนหนักแผ่นดินของไทยเลยครับ?

ระยะนี้ข่าว พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา เดินสายพบผู้นำของทุกสีทุกกลุ่มเพื่อหาทางประสานสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ดูจะเป็นข่าวที่จุดประเด็นให้เกิดเสียงวิพากษ์กันพอสมควร

โดยเสียงวิพากษ์ส่วนใหญ่มองว่า พล.ต.สนั่นทำไปก็เพื่อเตรียมตัวเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปแทนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หากพรรคประชาธิปัตย์ต้องถูกยุบตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ อันเนื่องมาจากการใช้เงินบริจาคให้กับพรรคผิดวัตถุประสงค์

ไม่ว่า พล.ต.สนั่นจะปฏิเสธอย่างไรคงไม่สามารถทำให้นักวิพากษ์การเมืองซึ่งมักมีมุมมองการเมืองในแง่ลบเชื่อถือไปได้

เพราะไม่มีใครเชื่อว่าอยู่ดีๆจะมีคนลุกขึ้นมากระทำตนเป็นกาวใจเดินสายประสานผู้นำทุกสีให้หลอมรวมเป็นสีเดียวกัน สร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคมโดยไม่หวังผลอะไร ประสบการณ์ที่ผ่านมาของสังคมไทยทำให้ต้องเชื่อเช่นนั้น

และด้วยเหตุนี้จึงทำให้แม้จะมีผู้มีบทบาททางการเมืองหลายคนเห็นด้วยกับแนวคิดของ พล.ต.สนั่น แต่ก็ยังสงวนท่าทีที่จะตอบรับเพราะเกรงจะถูกวิพากษ์ว่าเห็นด้วย เพราะมีนัยซ่อนเร้นหวังจะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือมีผลประโยชน์แอบแฝงใดๆ

ผลก็คือสังคมไทยยังไม่สามารถสมานฉันท์ได้อยู่ดี เพราะคนเสื้อแดงยังต้องหาทางเคลื่อนไหวแสดงพลังเรียกร้องสิ่งที่รัฐบาลไม่ยอมให้ นั่นคืออิสระในการแสดงออก

ส่วนคนเสื้อเหลืองก็มุ่งแต่จับผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คนเสื้อแดง และรัฐบาล รวมทั้งผู้นำกัมพูชา ขณะที่รัฐบาลก็น้ำท่วมปาก ทำอะไรไม่ได้เต็มที่ เกรงจะขัดผลประโยชน์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้มีบุญคุณทั้งหลาย

ทำให้การพัฒนาประเทศของไทยในเวลานี้เหมือนกับขับรถเกียร์หนึ่งที่ทำท่าออกตัวแรง แต่ก็พร้อมจะหยุดได้ทุกเมื่อ นั่งอยู่ในรถเลยรู้สึกกระตุกๆพิกล

ทำไมไม่มีใครมองเจตนาของ พล.ต.สนั่นในแง่บวกบ้าง?

หากทุกคนลบอคติที่มุ่งแต่จะวิพากษ์จับผิดผู้ที่อาสาจะมาเป็นกาวใจให้สังคมก็จะเห็นผลดีของการปรองดองสมานฉันท์ที่อาจเกิดขึ้นได้

รวมทั้งอาจเห็นผู้ที่ออกมาสนับสนุนแนวคิดของ พล.ต.สนั่นที่จะสร้างความปรองดองให้สังคมมากขึ้น และนั่นจะทำให้กระบวนการสมานฉันท์ที่เรียกร้องกันมานานเกิดขึ้นได้เสียที

เลิกตั้งแง่เสนอข้อเรียกร้องที่นึกถึงแต่ฝ่ายตน แล้วลองนึกถึงผลประโยชน์ที่ส่วนรวมจะได้รับบ้าง

อย่างไรก็ตาม ในการจะร่วมสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นได้นั้นทุกฝ่ายต้องละทิ้งทิฐิ และอย่ากลัวที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบการกระทำที่ผ่านมาด้วย

บ้านนี้เมืองนี้แม้จะมีประชากรผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย หากแต่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ล้วนเป็นชายมากกว่าหญิง การยืดอกยอมรับความผิดพลาดจากการกระทำที่ผ่านมาก็เป็นสิ่งที่ผู้ชายอกสามศอกควรแสดงออกมิใช่หรือ

สังคมไทยเป็นสังคมที่มีชาวพุทธอยู่เป็นส่วนใหญ่ พุทธศาสนาสอนให้รู้จักให้อภัยผู้ที่ยอมรับความผิดของตนเองอยู่แล้ว ถ้าหากกล้าทำต้องกล้ารับ สังคมพร้อมให้อภัยเสมอ แล้วเริ่มต้นกันใหม่ ประเทศไทยจะได้สงบสุขเสียที

หากยังมีการโยนความผิดไปให้กับบุคคลที่ไม่สามารถหาตัวตนได้ ไม่ว่าจะเป็นคนชุดดำ สไนเปอร์ หรือแม้แต่ผู้เสียชีวิตที่ไม่สามารถลุกขึ้นมาคัดค้านข้อกล่าวหาได้แล้วไซร้ อย่าหวังว่าจะสามารถสร้างความปรองดองได้ พล.ต.สนั่นจะเหนื่อยเปล่ากับการเดินสายสร้างความปรองดอง

เพราะอย่างไรเสียญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตยังต้องการทราบคำตอบจากรัฐบาลว่าใครเป็นผู้สั่งฆ่าและฆ่าญาติพี่น้องของเขาที่เดินทางมาร่วมชุมนุมมือเปล่า ทั้งที่พวกเขาหวังแต่เพียงเรียกร้องประชาธิปไตยและการแสดงออกอย่างเสรี

บางทีการกล้าทำและกล้าออกมารับผิดชอบของรัฐบาล รวมทั้งเพิ่มความสนใจกับผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอาจทำให้ญาติพี่น้องผู้เสียชีวิตพอใจ ส่งผลถึงเสียงสนับสนุนในการเลือกตั้งครั้งต่อไปด้วย

หากยังมัวแต่โยนความผิดให้คนอื่น ซื้อเวลาด้วยการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินควบคุมการแสดงออกของประชาชนเพียงเพื่อต้องการอยู่ให้ครบวาระ

รัฐบาลก็จะได้ยินข่าวการพบวัตถุระเบิดตามที่ต่างๆรายวันแข่งกับข่าวนักเรียนอาชีวะยกพวกตีกัน

และเมื่อถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะได้รับเลือกก็จะมีน้อยลง เพราะประชาชนเห็นแล้วว่าพรรคประชาธิปัตย์ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในการบริหารประเทศ มีกองทัพสนับสนุน และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นกระบอกเสียง (ที่ไว้ใจไม่ค่อยได้)

กระบวนการปรองดองกำลังจะเริ่มต้นหากรัฐบาลออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์การปราบปรามผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงที่ผ่านมาเป็นอันดับแรก

อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะมีความเป็นชายมากน้อยขนาดไหน?

ใครพร้อมจะร่วมกระบวนการปรองดองกับ พล.ต.สนั่น..ยกมือขึ้น!