สัมพันธ์ไทย – ซาอุดิฯ

สัมพันธ์ไทย – ซาอุดิ
ที่มา : โลกวันนี้ 27 กันยายน 2553
โดย อัคนี คคนัมพร

ดูๆเรื่องการสละตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการ ตำรวจแห่งชาติของ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม จะกลายเป็นเรื่องวีรกรรมยิ่งใหญ่สำหรับวงการตำรวจไทยไปเสียแล้ว

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ชมไม่ขาดปาก

พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ยกย่องเป็นตัวอย่างที่ดี

พี่น้องไทยมุสลิมที่ได้วีซ่าไปแสวงบุญก็รู้สึกซาบซึ้ง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ครางด้วยความโล่งใจว่าสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบียจะกลับคืนสู่สภาพปรกติได้

ผู้เขียนมองปรากฏการณ์ในเมืองไทยประเด็นนี้ว่าเป็นปรากฏการณ์ศรีธนญชัยชัดแจ้ง

เหตุอะไรจึงกล่าวเช่นนั้น

คำตอบคือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอด 2 สัปดาห์แห่งการแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมคิด เป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นพยับแดด เป็นมายาภาพ ที่ฉายให้เห็นความล้มเหลว ความไร้การบริหารของงานตำรวจนั่นเอง

เทียบเคียงให้เห็นก็คือ เรื่องของจ่าเพียร แห่งจังหวัดยะลานั่นเอง

จ่าเพียรหรือ พ.ต.อ.สมเพียร หรือสุดท้ายคือ พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ผู้โด่งดังและได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษของตำรวจมาก่อนหน้านี้ เขาเป็นคนทำงานดี กล้าหาญ แต่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงเท่าที่ควร

ก็สุเทพกับอภิสิทธิ์นั่นแหละ จะเป็นใครไปเสียอีก

จนกระทั่งเขาตาย สายเสียแล้วจึงค่อยมายกย่องให้ความสำคัญกัน

พูดอย่างนี้พอจะเห็นภาพหรือยัง?

เรื่องของ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม นั้นสาระอยู่ที่ว่าเขาเป็นจำเลยในคดีอาญา ต้องหาว่าร่วมกันฆ่านักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย แต่ผู้บังคับบัญชาระดับสูง และ ก.ตร. ทำบอดตาใสแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งหลักคือ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5

จุดมุ่งหมายก็คือ เพื่อกำราบปราบปรามคนเสื้อแดง

การแต่งตั้งแบบนี้ทางซาอุดีอาระเบียเขาไม่พอใจ เขามองว่ารัฐบาลไทยทำปากว่าตาขยิบ สัมพันธภาพระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบียที่ลดลงมาเหลือขั้นอุปทูตจึงเย็นชาต่อไปอีก

ครั้นมาปีนี้ คุณสมคิดก็โชคดีได้รับการสนับสนุนให้เติบโตขึ้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเราไม่ยี่หระหรือไม่อินังขังขอบกับความรู้สึกของซาอุฯเลย

เขาก็แสดงท่าทีให้รู้ด้วยการโยกการออกวีซ่า

พี่น้องมุสลิมของเราก็ออกมาโวยวาย เพราะกลัวจะไปแสวงบุญไม่ได้ อีกทั้งยังนึกไม่ออกว่าซาอุฯจะมีมาตรการใดออกมามากกว่านั้น ซึ่งจะเป็นผลให้ความสัมพันธ์เสื่อมลงไปอีก

ทั้งหมดนี้รัฐบาลไทยไม่เคยสำนึก

นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพไม่เคยออกมารับความจริง (ตามวิสัยของคนทำอะไรไม่ผิด) ก.ตร. เองก็ไม่เคยสำเหนียก

ดีที่ พล.ต.ท.สมคิดเขาคิดเองเป็น

เขาก็เลยประกาศสละตำแหน่ง ผู้ช่วย ผบ.ตร.

ทาง ก.ตร. ได้โอกาสก็มาปรับเปลี่ยนตำแหน่งให้ใหม่จากผู้ช่วย ผบ.ตร. ไปเป็นจเร ซึ่งจะแปลว่าเสมอตัว หรือสูงขึ้น หรือว่าจะตกต่ำลงก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ก็ทำให้อุปทูตซาอุฯพอใจระดับหนึ่ง

แล้วก็เลยเปิดให้มีการทำวีซาต่อตามปรกติ

ทำวีซ่าต่อตามปรกติ หมายความว่าเป็นเรื่องที่เขาให้โควตาแก่มุสลิมไทยและออกวีซ่าให้อยู่แล้ว หรือมีแผนงานจะออกให้อยู่แล้ว ก่อนที่จะมาผิดเส้นกันเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ถามว่าแล้วนี่จะเคลมเป็นผลงานของใครที่ไหน?

เป็นผลงานของนายอภิสิทธิ์ หรือ-ไม่ใช่

เป็นผลงานของนายสุเทพ หรือ-ไม่ใช่

เป็นผลงานของ ก.ตร. หรือ ก็ไม่ใช่อีก

ทั้ง 3 นามที่กล่าวมานี้ ล้วนแต่เป็นผู้สร้างปัญหาขึ้นมาทั้งสิ้น และยังไม่เคยสำนึก สำเหนียก ในความที่ตนจะต้องรับผิดชอบกันเลย

พล.ต.ท.สมคิดต่างหากที่คลายปัญหานี้ ด้วยการประกาศสละตำแหน่ง ผู้ช่วย ผบ.ตร. ซึ่งเขาก็รับความดีส่วนนี้ไปอย่างไม่มีใครคัดง้างได้

แต่ความเป็นจำเลยและความเป็นต้นเหตุแห่งปัญหาแท้จริงยังคงอยู่

แล้วสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯที่ใครบางคนโม้แบบศรีธนญชัยว่าจะดีขึ้นนั้น มันจะดีขึ้นตรงไหน

ดีขึ้นตรงมุสลิมไทยได้วีซ่าไปแสวงบุญน่ะหรือ อย่างนี้เขาเรียกว่าเท่าทุนครับท่านสารวัตร


กรณีซาอุดีอาระเบีย ศึกษา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บทเรียน “กัมพูชา”

กรณีซาอุดีอาระเบีย ศึกษา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บทเรียน “กัมพูชา”
ที่มา : ข่าวสดรายวัน 23 กันยายน พ.ศ. 2553 หน้า 6

ถามว่าตอนที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจรัฐบาลกัมพูชา ไทยโกรธหรือไม่

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คงตอบได้ชัดถ้อยชัดคำว่าโกรธ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ คงตอบได้ชัดถ้อยชัดคำว่าโกรธ นายกษิต ภิรมย์ คงตอบได้ชัดถ้อยชัดคำว่าโกรธ

ทั้งๆ ที่เป็นเรื่อง “ภายใน” ของ “กัมพูชา” โดยแท้

เพียงแต่เพราะว่า คนที่ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจรัฐบาลกัมพูชาเป็นพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เท่านั้นแหละ

เพราะว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องคำพิพากษาจากศาลสถิตยุติธรรมไทย

เพราะว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นคนที่มีคดีค้างคาอยู่เป็นจำนวนมากและถูกกล่าวหาหลายเรื่อง นับแต่สถานการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นต้นมา

แล้วกรณี พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม จะไม่ให้ทางซาอุดีอาระเบียมีความเห็นบ้างหรือ

เป็นความจริงที่การจะแต่งตั้งให้ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ดำรงตำแหน่งอะไรก็เป็นการภายในของระบบราชการไทย

เป็นเรื่องที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) ดำเนินการตามระเบียบ

เป็นเรื่องที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) จำเป็นต้องปฏิบัติตาม

เช่นเดียวกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะนายกรัฐมนตรี

กระนั้น หากลองเอาใจของซาอุดีอาระเบียในกรณีของ พล.ต.ท. สมคิด บุญถนอม มาใส่ใจรัฐบาลในกรณีของกัมพูชาแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจ ก็อาจจะทำให้มีความเข้าใจได้มากยิ่งขึ้น

เข้าใจความรู้สึกของรัฐบาล ไทยในกรณีกัมพูชาแต่งตั้ง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เข้าใจความรู้สึกของรัฐบาลซาอุดีอาระเบียในกรณีเราเลื่อนชั้นให้ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม

เพราะ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ทำอะไรสะเทือนใจซาอุดีอาระเบียก็รับรู้กันอยู่มิใช่หรือ

เรื่องทั้งหมดนี้อย่าไปโทษซาอุดีอาระเบียเหมือนกับที่ที่ประชุม ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์พยายามจะให้เกิดขึ้น

อย่าไปโทษพรรคเพื่อไทย

อย่า ไปโทษแม้กระทั่ง นายพิเชษฐ สถิรชวาล ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย

ต้องโทษรัฐบาลนั่นแหละที่ปล่อยให้เรื่องผ่านเลยมาถึงระดับนี้ได้

รู้กันอยู่ว่า พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ตกเป็นจำเลยในคดีอุ้มฆ่านักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย ไม่เพียงแต่มิได้มีการพักราชการ หากแต่วันดีคืนดียังเลื่อนจากผบช.ภาค 5 เป็น ผู้ช่วยผบ.ตร.

เมื่อมีเสียงท้วงติงอย่างนุ่มนวลกลับเรียงแถวกันออกมา ตอบโต้ แม้ซาอุดีอาระเบียออกแถลงการณ์ถึงฉบับที่ 4 ก็ยังไม่ยอมรับฟัง

ทำไปทำมาสถานการณ์อาจบานปลายถึงระดับแถลงการณ์สุดท้ายจากซาอุดีอาระเบีย

หากไม่เข้าใจเรื่อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ก็ขอให้นึกถึงเรื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

น่าเสียดายที่พรรคประชาธิปัตย์ถนัดอย่างยิ่งในการชี้นิ้วกล่าวหาฝ่ายอื่น แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ตนและพวกตนก่อขึ้นก็ตาม การแก้ไขปัญหาจึงเพิ่มความยากลำบากเป็นทวิ-ทวีคูณ นี่ย่อมสะท้อนกึ๋น ของการบริหารจัดการแห่งพรรคประชาธิปัตย์โดยแท้



น้ำผึ้งหยดเดียว..แน่ๆ

น้ำผึ้งหยดเดียว..แน่ๆ
ที่มา : ข่าวสดรายวัน 23 กันยายน พ.ศ. 2553
คอลัมน์ : เหล็กใน

มีข่าววงในพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่าบรรดาส.ส. ของพรรค ชักไม่สบายใจกับกรณีแต่งตั้ง พล.ต.ท. สมคิด บุญถนอม ขึ้นมาอย่างจริงจังแล้ว เพราะส่อเค้าจะเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” กลายเป็นปัญหาลุกลามใหญ่โต

เนื่องจากทางการซาอุฯ เริ่มส่งสัญญาณผ่านการขอวีซ่าไปร่วมงานแสวงบุญ ชักมีปัญหาติดขัด วีซ่าไม่ออก ด้วยเหตุผลที่ใครฟังแล้วก็ต้องรู้ว่าไม่ปกติ

ท่าทีของ นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรองนายกฯ สุเทพ เทือกสุบรรณ ต่อปัญหานี้ ต้องใช้คำว่า “ดื้อ” สุดๆ

คล้ายๆ นายอภิสิทธิ์แสดงออกมาหนหนึ่งแล้ว ตอนตั้งหน้าตั้งตาจะผลักดัน พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ

คราวพล.ต.อ. ปทีปก็เข้าใจได้อย่างหนึ่งว่า เป็นเรื่องภายในล้วนๆ จริงๆ คนเป็นถึงนายกรัฐมนตรี คงจะรู้สึกว่า ทำไมฉันจะดันผบ.ตร.ตามที่ใจอยากไม่ได้

แต่กรณีของผู้ช่วยผบ.ตร.นี้ ปัญหาต่างกันมาก เพราะคราวนี้มันชักกลาย เป็นการกระทบกระทั่ง ระหว่างไทยกับซาอุฯ ไม่ได้ขีดวงจำกัด ชี้แจงกันไป ชี้แจงกันมา ในหมู่คนไทยด้วยกันเท่านั้น

ไม่น่าเชื่อว่า นายอภิสิทธิ์จะลืมตระหนักไปอย่างหนึ่ง ซาอุฯ ไม่ใช่ประเทศที่เราจะเอาอะไรไปข่มเขาได้

ปัญหาจากคดีฆ่าทูตซาอุฯ เพชรซาอุฯ อะไรพวกนี้ ซาอุฯ ไม่เคยแสดงให้เราเห็นหรอกหรือ? ว่าเขาสามารถสั่งแบนแรงงานไทย แบบไม่สนใจไยดีใดๆ ทั้งสิ้น

ที่เคยแห่ไปขุดทองกันมั่งคั่งกลับมา กลายเป็นเรื่องราวเก่าๆ ในอดีต ไม่มีต่อไปอีกแล้ว

ยิ่ง ฯพณฯ ทั้งสอง เอาแต่ชูกฎระเบียบเป็นหลัก ย้ำแต่คำจะชี้แจงต่อไปให้เข้าใจ กับ อ้างถึงการแปลเอกสารที่ยังไม่แล้วเสร็จ

ซึ่งถามจริง อุปทูตซาอุฯ ฟังภาษาคนไม่รู้เรื่องหรือ? ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางของระเบียบการโยกย้ายของไทยหรือ? ไม่ต้องไปเสียเวลาแปล หรือเอาแต่อ้างเรื่องการแปลเลย ทางซาอุฯ รู้ยิ่งกว่ารู้ อะไรเป็นอะไร เขาแค่เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนของเขา ซึ่งสูญเสียไปในประเทศไทย และการเรียกร้องนั้นก็ไม่เกินเลย ในเมื่อมันเป็นคดีอยู่ในศาลอาญาอยู่ ไม่ใช่เรื่องพูดกล่าวหากันลอยๆ

พล.ต.ท.สมคิดจะเป็นคนผิดหรือผู้บริสุทธิ์ ขึ้นอยู่กับการตัดสินของศาลในบั้นปลาย ซึ่งมีถึง 3 ศาล แต่เบื้องต้นนี้ เขาเรียกกันว่าคดี “มีมูล”

นาทีนี้จึงน่าวิตกอย่างยิ่งกับท่าทีรัฐบาล

ขนาดแรงงานไทย เขายังเล่นไม้แข็งกับเรามาแล้ว แล้วกรณีผู้แสวงบุญไปร่วมพิธีฮัจญ์ จะเกิดอะไรขึ้น?


สนิมเกิดจากภายใน

สนิมเกิดจากภายใน
ที่มา : ข่าวสดรายวัน 21 กันยายน พ.ศ. 2553
บทบรรณาธิการ

ความสัมพันธ์ทางการทูตที่เสื่อมทรามลงระหว่างซาอุดีอาระเบียกับไทย สะท้อนให้เห็นถึงการขาดความเข้าใจในความหนักเบาของสถานการณ์และปัญหาของ รัฐบาลอีกครั้ง

ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเพียงการปิดแผนกวีซ่าของสถานทูตก็ดี หรือรุนแรงถึงขั้นการระงับความสัมพันธ์ทาง การทูตชั่วคราวก็ดี เมื่อเกิดขึ้นแล้วยากที่จะฟื้นคืนกลับให้เป็นปกติได้โดยง่าย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศลุ่มๆ ดอนๆ มาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี ก็ยิ่งจะต้องระมัด ระวังว่า ถ้าไม่มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาให้ทุเลาลง

ก็อย่าซ้ำเติมให้ปัญหารุนแรงยิ่งขึ้น

ในแง่หนึ่ง ความสัมพันธ์ที่เสื่อมทรามลงกับซาอุดีอาระเบียก็มิได้แตกต่างจากการจัดการปัญหาการเมืองภายในประเทศ

เพราะแทนที่จะตระหนักว่าตนเองก็เป็นหนึ่งใน”คู่ขัดแย้ง” ที่จะต้องระมัดระวังความคิด การกระทำ และคำพูดของตนเอง มิให้ไปเติมเชื้อไฟของความขัดแย้งความไม่พอใจให้รุนแรงยิ่งขึ้น

รัฐบาล ซึ่งด้านหนึ่งก็ป่าวประกาศเรียกหาความปรองดอง ก็ใช้ทั้งกลไกอำนาจและการประชาสัมพันธ์ กดดันบีบคั้นประชาชนที่ถูกจัดให้เป็น”ฝ่ายตรงข้าม”

แม้กระทั่งผู้บริสุทธิ์ที่เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ รวมไปถึงญาติพี่น้องที่ออกมาทวงถามความเป็นธรรม

ก็มิได้รับความเป็นธรรมที่ทวงถาม

ไม่เพียงแต่ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด หรือขาดความตั้งใจและความสามารถในการจัดการกับปัญหาเท่านั้น ในทางตรงกันข้ามรัฐบาลยังแสดงให้เห็นถึงสนใจที่มุ่งไปแต่ประเด็นการเมือง การเลือกตั้งมากกว่าอย่างอื่น จนพร้อมที่จะหลับตาข้างหนึ่งให้กับการทุจริตและการใช้อำนาจที่ปราศจากความชอบธรรม ไม่ว่าจะเป็นในกรณีของการจัดสรรงบประมาณ ไปกระทั่งถึงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการที่ขัดต่อหลักเกณฑ์และคุณธรรม

ความไร้ประสิทธิภาพที่มาพร้อมกันกับความพยายามทุกรูปแบบที่รักษาอำนาจไว้กับตัวให้นานที่สุด โดยมิได้คำนึงถึงความเสียหายต่อสังคม

เป็นปัญหาที่จะบ่อนเซาะทำลายรัฐบาลเอง


ย้อนรอยคดีอัลรูไวลี่ : ตัวชี้วัดสัมพันธภาพไทย-ซาอุดีฯ

ย้อนรอยคดีอัลรูไวลี่ : ตัวชี้วัดสัมพันธภาพไทย-ซาอุดีฯ
ที่มา : มติชนออนไลน์ 21 กันยายน พ.ศ. 2553
โดย : ศราวุฒิ อารีย์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบียกลับมา เป็นกระแสที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษอีกครั้ง หลังจากมีการแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 (ผบช.ภ.5) ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีการหายตัวของนายมูฮัมมัด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดีฯ ในปี พ.ศ.2533 ขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.) การแต่งตั้งดังกล่าวถูกมองว่าอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีฯ ที่กำลังจะดีวันดีคืนหลังจากผ่านช่วงเวลาแห่งความหมางเมินตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา อันเกิดจากเหตุการณ์ในกรณีต่างๆ

หากย้อนอดีตไปลำดับ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานคือ การที่เจ้าหน้าที่ทูตซาอุดีฯถูกลอบสังหารกลางเมืองกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2532 โดยตำรวจไทยไม่สามารถที่จะสืบสวนจับคนร้ายมาดำเนินคดีได้

ต่อมาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 คนร้ายได้ลงมือฆ่าเจ้าหน้าที่การทูตซาอุดีฯอีก 3 ศพ รวดในเวลาเดียวกัน รวมทั้งหมดเป็น 4 ศพ แต่ตำรวจไทยก็ไม่สามารถจับคนร้ายตัวจริงมาลงโทษได้ มีการจับตัวผู้ต้องหามาสอบสวนเหมือนกัน แต่ก็ผิดตัว

ในเดือนเดียวกัน นายมูฮัมมัด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดีฯ ได้หายตัวไปอย่างลึกลับ ต่อมาจึงมีการจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลชุดหนึ่ง ข้อหา “อุ้ม” นายอัลรูไวลี่ไปเค้นข้อมูล เพราะเชื่อเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการตายของเจ้าหน้าที่การทูตของซาอุดีฯ

กรณี นี้ทำให้ทางการซาอุดีฯไม่พอใจอย่างยิ่ง จนถึงขั้นลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต ออกข้อจำกัดเกี่ยวกับแรงงานไทย ห้ามประชาชนเดินทางมาประเทศไทย และลดระดับความร่วมมือระดับสูงในทุกด้านลงมาอยู่ระดับต่ำสุด

ความสัมพันธ์ระหว่างไทย- ซาอุดีฯไม่ได้เลวร้ายลงเพียงเพราะคดีฆาตกรรมเท่านั้น แต่ยังเกิดจากกรณีที่คนงานไทย นายเกรียงไกร เตชะโม่ง ที่ไปทำงานในวังของเจ้าชายซาอุดีฯ ลักลอบโจรกรรมเพชรกลับประเทศอีกด้วย ตำรวจไทยไม่สามารถติดตามเพชรของกลางหลายรายการกลับส่งคืนให้ซาอุดีฯ ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะเพชรบลูไดมอนด์เม็ดใหญ่สุด

หนักหนาสาหัสไปอีก เมื่อของกลางในส่วนที่ติดตามกลับมาได้ ยังมีการเอาไปปลอมแปลงก่อนเอาไปคืนให้ซาอุดีฯอีก

ทั้งหมดจึงเป็น เรื่องของ “เหตุซ้ำกรรมซัด” ที่สร้างความอึดอัดเจ็บแค้นต่อซาอุดีฯอย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งกรณีฆาตกรรมนักการทูต กรณีเพชรซาอุดีฯ และกรณีการอุ้มฆ่า “อัลรูไวลี่” หากถามว่ากรณีใดสำคัญที่สุดที่ทางการไทยต้องรีบคลี่คลายเป็นลำดับแรก เราคงต้องกลับมาพิจารณาถึงลักษณะต้นตอของแต่ละกรณีปัญหา

1.กรณี ฆาตกรรมนักการทูตซาอุดีฯ ลักษณะปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ไทยโดยตรง เพราะเกิดจากต้นตอความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ เป็นความสัมพันธ์ที่เลวร้ายลงระหว่างอิหร่าน-ซาอุดีฯ อันเกิดจากการที่ซาอุดีฯได้เข้าสลายม็อบในช่วงพิธีฮัจญ์เมื่อ ปี 2530 จนทำให้ชาวอิหร่าน (ผู้ก่อม็อบประท้วงรัฐบาลสหรัฐฯ และอิสราเอล) ตายไปกว่า 200 คนและบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดเหตุลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่ทูตซาอุดีฯ ไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่ยังเกิดขึ้นในอีกหลายๆ ประเภท

2. กรณีลักลอบขโมยเพชรซาอุดีฯ ลักษณะปัญหานี้เกิดจากการกระทำผิดของปัจเจกบุคคล ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นคนไทย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลไทยจะรู้เห็นเป็นใจด้วยในทางกลับกัน การที่เพชรซาอุดีฯถูกลักขโมยอย่างไม่ยากนัก ก็สะท้อนให้เห็นถึงความหละหลวมของระบบการรักษาความปลอดภัยของทางซาอุดีฯเอง ด้วย ฉะนั้น จึงต้องยอมรับสภาพและรับผิดชอบร่วมกัน แต่เจ้าหน้าที่ไทยก็ทำผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัยจนได้ เมื่อทางซาอุดีฯจับได้ว่ารายการเพชรบางส่วนที่ส่งคืนเป็นของปลอม

3.คดี อุ้มฆ่าอัลรูไวลี่ กรณีนี้ถือเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ไทยโดยตรง เพราะแทนที่เราจะเชื่อมโยงการฆาตกรรมนักการทูตซาอุดีฯ กับกรณีความขัดแย้งระหว่างอิหร่าน-ซาอุดีฯ เรากลับเข้าใจว่าการตายของนักการทูตซาอุดีฯ เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องการจัดส่งแรงงานไทยไปซาอุดีฯ จนนำไปสู่การ”อุ้ม” “อัลรูไวลี่” ไปกักขังไว้และบีบบังคับให้สารภาพผิด แต่ท้ายที่สุดก็นำไปสู่การเสียชีวิตของนักธุรกิจซาอุดีฯ ผู้นี้อย่างเป็นปริศนา

ฉะนั้น กรณีอัลรูไวลี่จึงมีความสำคัญที่สุดเมื่อเทียบกับกรณีอื่นๆ เพราะการที่ไทยไม่สามารถจับคนฆ่าเจ้าหน้าที่ทูตซาอุดีฯ และไม่สามารถนำเพชรของกลางที่ถูกขโมยมาให้ซาอุดีฯได้ทั้งหมดนั้น ถือเป็นความไม่มีประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานฝ่ายที่เกี่ยวข้องของ ไทย แต่การ “อุ้มฆ่า” อัลรูไวลี่ถือเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ไทยโดยตรงที่ยากจะให้อภัยได้

หาก มองจากมุมของซาอุดีฯเอง คดีอัลรูไวลี่ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะ

ประการ แรก อัลรูไวลี่เป็นหนึ่งในสมาชิกของราชวงศ์อัล-สะอุด แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย พูดง่ายๆ คือเป็นเชื้อพระวงศ์ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของประเทศ

ประการที่สองคือ ในธรรมเนียมปฏิบัติของระบบชนเผ่าอาหรับนั้น การถูกทำร้ายจนตายของสมาชิกถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องมีการชดใช้ด้วยชีวิตต่อชีวิต (หรืออาจเจรจาชดเชยเป็นสินไหม) ในอดีตความขัดแย้งส่วนตัวจนถึงระดับที่เอาชีวิตกันระหว่างสมาชิกของ 2 ชนเผ่า อาจเป็นสาเหตุให้เกิดสงครามนองเลือดที่ยื้อเยื้อเลยทีเดียว การตายหรือการหายตัวไปของอัลรูไวลี่จึงกลายเป็นกรณีที่สร้างความเจ็บแค้นต่อสมาชิกชนเผ่าคนอื่นๆ ที่เขาสังกัดอยู่

ประการสุดท้าย การหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยของอัลรูไวลี่ก่อให้เกิดประเด็นยุ่งยากทางหลักการศาสนาต่อครอบครัวของเขาทันที เพราะการไม่รู้แน่ชัดว่าเขาตายหรือยัง ทำให้การแบ่งมรดกให้หมู่เครือญาติไม่สามารถกระทำได้ นอกจากนั้น หากภรรยาของเขาต้องการแต่งงานใหม่ เธอก็ไม่สามารถทำได้เช่นกันจนกว่าจะถึงเวลาที่กรอบศาสนากำหนด

ฉะนั้น นอกจากครอบครัวของอัลรูไวลี่จะต้องทุกข์ระทมกับการรอคอยข่าวความคืบหน้าของอัลรูไวลี่แล้ว พวกเขาเหล่านั้นยังต้องเผชิญกับปัญหามากมายในเรื่องกฎหมายมรดกและครอบครัว

ทั้งหมดนี้เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ไทย

เป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้วที่คดีอัลรูไวลี่ไม่มีความคืบหน้าให้เห็นเป็นรูปธรรม จนกระทั่งต้นเดือนมกราคม 2553 (ก่อนหมดอายุคดีความเพียง 1 เดือน) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI สั่งฟ้อง 5 ผู้ต้องหา อันประกอบไปด้วย พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผบช.ภาค 5 และพวกอีก 4 คน ในคดีร่วมกันฆ่านายมูฮัมมัด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดีฯ ที่หายตัวไปอย่างลึกลับเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน จนทำให้หลายฝ่ายมองว่า ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดีฯ อาจเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี บางฝ่ายมองไกลไปถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ไทยจะได้รับจากการจัดส่งแรงงาน ธุรกิจการท่องเที่ยว ฯลฯ

จนดูเหมือนว่าความคืบหน้าในคดีอัลรูไวลี่จะ เป็นตัวชี้วัดผลประโยชน์ของไทยที่จะได้จากซาอุดีฯในอนาคต

แต่แล้ว ความหวังดังกล่าวก็ดูเหมือนจะไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ เมื่อมีการแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ขึ้นไปเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.) ทั้งๆ ที่เป็นผู้ต้องหาคดีอัลรูไวลี่ และคดียังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาในชั้นศาล จนทำให้รัฐบาลซาอุดีฯออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจกรณีการแต่งตั้งดังกล่าว โดยส่วนหนึ่งของแถลงการณ์อ้างว่า ตามมาตรา 95 ของพ.ร.บ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ตำรวจคนใดถ้ายังมีคดีความติดตัวไม่เป็นที่สิ้นสุด จะต้องถูกออกจากราชการไว้ก่อน

ความเป็นไปดังกล่าวทำให้หลายฝ่าย ต้องออกมาเตือนรัฐบาลถึงความสัมพันธ์ที่ไทยมีกับซาอุดีฯ ว่าอาจจะเลวร้ายลงจนถึงขั้นต้องตัดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน จากที่เคยลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยมานาน

ฉะนั้น การตัดสินใจกรณีการเลื่อนตำแหน่งของ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ของรัฐบาลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีฯ แต่ไม่ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะตัดสินใจอย่างไร ก็ควรพิจารณาถึงผลประโยชน์และภาพลักษณ์กระบวนการยุติธรรมของชาติให้มากๆ

ที่สำคัญอีกประการคือ ซาอุดีฯไม่ได้มีสถานะเหมือนกับประเทศเล็กประเทศน้อยอื่นๆ เพราะซาอุดีฯเป็นประเทศชั้นนำที่มีอิทธิพลเหนือประเทศมุสลิมอีกกว่า 50 ประเทศ เป็นประเทศผู้ก่อตั้งองค์การการประชุมอิสลาม เป็นพันธมิตรแนบแน่นกับสหรัฐ

เป็นประเทศที่มีน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลก

เป็นหนึ่งในประเทศผู้บริจาคที่ใหญ่ที่สุดในโลก

และเป็นประเทศที่ตั้งของเมืองอันประเสริฐของชาวมุสลิมทั่วโลกถึง 2 แห่ง นั้นคือนครมักก๊ะฮฺและนครมะดีนะฮฺ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ชาวมุสลิมทั่วโลก หวังที่จะได้ไปประกอบพิธีฮัจญ์อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต รวมถึงมุสลิมในประเทศไทยด้วย