‘ประชาธิปัตย์’ ลอกเลียน ‘ประชานิยม’

รัฐบาลปัจจุบันกำลังสนใจบริหารจัดการเรื่องของเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์ของตนเองมากกว่าจะคำนึงถึงข้อเท็จจริงทางสังคม การเมือง และความเปลี่ยนแปลงสังคมโลก ว่าในวันนี้เศรษฐกิจโลกมีลักษณะเป็นเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งประเทศต่างๆก็ยอมรับกันดีว่าเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบอินเทอร์เน็ตมีความเกี่ยวพันและส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกส่วนของสังคม ไม่เพียงแต่เรื่องการเมือง แต่รวมไปถึงมิติเศรษฐกิจ การเมือง และการศึกษาด้วย แต่รัฐบาลประชาธิปัตย์ไม่จัดการอะไรเลยเกี่ยวกับการรับมือเศรษฐกิจใหม่ดังกล่าว หากแต่ยังวังวนอยู่กับการออกนโยบายเศรษฐกิจเพื่อตอบสนองการดำรงอยู่ทางการเมืองเพียงแค่นั้น

นโยบายของรัฐบาลนายมาร์คแห่งประชาธิปัตย์ที่ออกมาในปัจจุบัน จึงมีลักษณะเลียนแบบนโยบายประชานิยมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ เพราะที่ถูกต้องแล้วหากมองว่าเศรษฐกิจยุคใหม่หรือเศรษฐกิจใหม่ที่โลกกำลังเผชิญอยู่นั้นแต่ละประเทศต่างปรับตัวกันไปหมดแล้ว เพราะลักษณะของเศรษฐกิจที่ต้องอาศัยฐานความรู้และระบบดิจิตอลในการทำธุรกรรม หรือทำการผลิต การกระจายสินค้าและบริการ รวมถึงความสัมพันธ์กับลูกค้า เป็นต้น

นอกจากนั้นฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจใหม่ที่ควรคำนึงต้องขึ้นอยู่กับข่าวสาร ข้อมูลและสารสนเทศทั้งมวล ดังนั้น เศรษฐกิจในปัจจุบันจึงขึ้นอยู่กับองค์ความรู้และความคิดเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างงาน เพราะเราคงไม่สามารถที่จะรักษาการผลิตในภาคที่เคยเป็นผู้นำอยู่ได้ เช่น การพึ่งพิงแต่เรื่องภาคการท่องเที่ยวและบริการหรือภาคการเกษตรแบบที่เป็นอยู่ คือการเกษตรที่ไม่มีเทคโนโลยี หรือมีเทคโนโลยีที่ล้าหลัง ผลผลิตต่อไร่ต่ำ และไม่มีการบริหารจัดการในเชิงธุรกิจที่ทันสมัย ซึ่งในบั้นปลายเศรษฐกิจแบบนี้จะเสียเปรียบชาติที่ปรับมือกับเศรษฐกิจใหม่ได้ดีกว่า

รัฐบาลนี้ไม่เคยมองหรือวางแผนระยะยาวในกระบวนการเศรษฐกิจใหม่ที่ต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีการสื่อสารหรือสารสนเทศ การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซอฟต์แวร์ และการบริการที่ส่งมอบด้วยระบบดิจิตอลในทุกขั้นตอน เป็นระบบเศรษฐกิจโลกใหม่ ซึ่งเมืองไทยกำลังจะตกเวที เพียงแค่ระบบการสื่อสารทางโทรศัพท์มือถือประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและเวียดนามก็ไปถึง 3G กันแล้ว แต่ดูเหมือนรัฐบาลประชาธิปัตย์จะไม่สนใจอะไร หรือคิดว่าไม่ใช่ปัญหาของประชาธิปัตย์

ปัญหาของประชาธิปัตย์คือทำอย่างไรจะเป็นรัฐบาลต่อไปได้ รวมถึงทำอย่างไรจะไม่ให้คดีฆ่าคนตายเกือบ 100 ศพถูกนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ

ในภาคอุตสาหกรรมนั้นกระบวนการผลิตต้องเน้นเรื่องของนวัตกรรม องค์ความรู้ และปัจจัยหลักทางเทคโนโลยี ซึ่งเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรกลสู่ระบบดิจิตอล แต่อุตสาหกรรมของไทยแทบจะไม่ได้รับการส่งเสริมด้านนี้จากรัฐไทยเลย ผู้ผลิตหรือนักธุรกิจและนักผลิตของไทยจึงเป็นคนต้องสร้างภาวะเหล่านี้เกิดขึ้นด้วยตนเองเพื่อให้อยู่รอดในการแข่งขัน

ส่วนเรื่องแรงงานนั้นรัฐบาลประชาธิปัตย์ใช้สูตรการคิดแบบเดิมๆ คืออยากให้เกิดการผลิตและการจ้างงานในระดับพื้นที่อย่างเต็มที่ ซึ่งก็ลอกเลียนโครงการประชานิยมของ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่วันนี้ปัญหาเศรษฐกิจใหม่ไม่ใช่แค่การจ้างงานอย่างเต็มที่ แต่ต้องดูเรื่องของค่าจ้างและรายได้ที่ต้องสูงขึ้น นอกจากนี้เรื่องทักษะของแรงงานก็ไม่ใช่มองเฉพาะความชำนาญเฉพาะด้าน แต่ต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่ทักษะแรงงานที่มีความรู้ คือเปลี่ยนจากแรงงานที่มีความชำนาญ หรือเป็น Labor Intensive ไปสู่เรื่ององค์ความรู้เป็น Knowledge based ซึ่งรัฐบาลล้มเหลวมากในเรื่องเหล่านี้ เพราะนโยบายที่ประกาศออกมาไม่ได้นำไปสู่ปัญหาในภาพกว้างที่เป็นทางรอดในอนาคตของรัฐไว้เลย

กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน และกระทรวงพาณิชย์ จะต้องมานั่งจับเข่าคุยกันถึงการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไปสู่ทิศทางดังกล่าวอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ต่างพรรคต่างอยู่ แล้วต่างทำมาหากินหาผลประโยชน์ พรรคพวกปากห้อยก็เน้นแต่ทำโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อทำมาหากินในบริบทของทุนการเมือง โดยไม่สนใจความอยู่รอดของชาติ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็มัวสาละวนอยู่กับการตีกินหาคะแนนเสียงทางการเมืองด้วยการเหยียบบ่าเพื่อนขึ้นไป เช่น ระงับโครงการต่างๆของกระทรวงพาณิชย์ แต่ไม่มีกรอบความคิดระยะยาวเรื่องเศรษฐกิจ เพียงเพื่อสร้างภาพเป็น “คุณชายสะอาด”

สำหรับกระทรวงศึกษาธิการ รัฐบาลอยู่มาจนกว่า 2 ปีก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เอื้ออำนวยหรือตอบสนองการผลิตบุคลากรเพื่อตอบสนองเศรษฐกิจใหม่เลย คงเน้นแต่เรื่องโบราณไร้สาระ เช่น ห้ามฝากเด็ก หรือห้ามเก็บแป๊ะเจี๊ยะ ซึ่งเป็นบริบทแบบเดียวกับคุณชายสะอาดทั้งหลายที่คิดได้เท่านี้

ที่จริงแล้วเรื่องการศึกษาถ้าจะยอมรับข้อเท็จจริงต้องบอกว่าผู้คนที่เกิดมาในสังคมไทยมีความต่างในเชิงโครงสร้าง และโรงเรียนที่มีในสังคมไทยก็มีคุณภาพแตกต่างกัน การเปิดโอกาสให้แค่ทุกคนได้เรียนฟรี ไม่เสียเงินนั้นไม่ได้ช่วยอะไรในระยะยาว เพราะเอาเข้าจริงๆแล้วลูกของคนที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองสูงกว่า ก็มีโอกาสพัฒนาตนเองได้มากกว่า โดยเฉพาะการซื้อเทคโนโลยีที่เหนือกว่าให้ลูกหลานได้เรียนและใช้เครื่องมือ หรือมีเงินส่งไปเรียนซัมเมอร์ที่ต่างประเทศ

ทำอย่างนี้ไปสัก 10 ปี เด็กที่เคยมีความเท่าเทียมกันในอดีต แต่เมื่อเอาการพัฒนาจากเงื่อนไขโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เท่าเทียมกันมาแข่งขันกัน แม้วันสอบมีบรรยากาศที่สุจริตยุติธรรมอย่างไร ลูกคนจนก็แพ้ทั้งปีทั้งชาติ คือการเรียนฟรีไม่ได้ทำให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกันในเชิงโครงสร้างอย่างแท้จริงเลย

ดังนั้น ภาพลวงตาการให้ของฟรีแต่ไม่จัดโครงสร้างให้เท่าเทียมกันอย่างแท้จริงจึงต้องพิจารณาใหม่ เพื่อสุดท้ายทุกคนในสังคมต้องมีโอกาสที่เท่าเทียมกัน โดยรัฐต้องเข้าไปแทรกแซงและอุดช่องว่างเชิงโครงสร้าง เพื่อให้ทุกคนมีความพร้อมในการแข่งขันบนความเท่าเทียมกัน ไม่ใช่มองแค่การให้เปล่าแบบสงเคราะห์อย่างเดียว เช่นที่รัฐบาลประชาธิปัตย์กำลังทำอยู่ขณะนี้

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6  ฉบับ 294 วันที่ 15 – 21 มกราคม พ.ศ. 2554 หน้า 10 คอลัมน์ ทหารใหม่วันนี้ โดย ชายชาติ  ชื่นประชา



จับฉ่าย

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงรายละเอียด “โครงการปฏิบัติการประชาวิวัฒน์” โดยบอกว่าเป็น “ของขวัญปีใหม่” ให้กับประชาชน จำนวน 9 ชิ้น หรือ 9 แผนปฏิบัติการ ซึ่งจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 11 มกราคมนี้ โดยจะใช้งบประมาณ “เพียง” 2,000 ล้านบาท ผ่านรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์ เมื่อวานนี้

จัดเวทีเสร็จสรรพ เกณฑ์ทั้งคนขับรถแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซด์มานั่งฟังการแถลงและวง “เสวนา” กับรัฐมนตรีและข้าราชการทั้งที่เกี่ยวข้องและที่ต้องเสนอหน้าเป็นประจำ (กลัวนายกฯลืม) แถมมีการแต่งเพลงประจำโครงการทำเป็น “มิวซิควีดีโอ” ฟังแล้ว จับใจๆ (อิอิ) เหมือนได้ดูละครกันช่วงเช้าวันอาทิตย์ยังไงอย่างนั้นเลย

ตลอดเวลาการแถลง นายอภิสิทธิ์ ต้องเน้นว่า ไม่เป็นการใช้งบประมาณมากเกินไป และไม่ใช่ “ลด แลก แจก แถม” แต่ฟังไปก็ไม่ได้แตกต่างกับการ “เทกระจาด” หว่านไปทั่วตั้งแต่การ ทำให้ “ผู้ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม” ได้รับสิทธิประโยชน์เจ็บป่วยเสียชีวิต รวมถึงเบี้ยชราภาพ โดยหากพี่น้องประชาชนยอมจ่าย 70 บาทรัฐสมทบ 30 บาท หรือหากจ่าย 100 บาทรัฐสมทบ 50 บาท อย่างหลังนี้จะได้ประกันกรณีชราภาพด้วย

“ของขวัญ” ชิ้นที่สอง จัดสินเชื่อ “พิเศษ” ให้กับแท็กซี่และหาบเร่แผงลอย ตามด้วยชิ้นที่สาม คือ การขึ้นทะเบียนมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จัดทำบัตร ให้เบอร์เสื้อวิน จักรยานยนต์ แจกหมวกนิรภัย ปรับปรุงวิน การทำบัตรจะนำไปสู่การพัฒนาสวัสดิการ และยังมีการเพิ่มจุดผ่อนปรนให้หาบเร่แผงลอย หวังลดรายจ่ายนอกระบบและจะจัดโซนการค้าให้เป็นระบบระเบียบ แต่จะไม่กระทบผู้ใช้ทางเท้า

เรียกว่า “เอาใจ” รากหญ้าเมืองกรุงกันสุดๆ ให้รู้ไปว่า พรรคประชาธิปัตย์ จะไม่ชนะการเลือกตั้งครั้งหน้า!!

ให้ของขวัญข้ามาถึงการนำเงินกองทุนน้ำมัน ตรึงราคาก๊าซแอลพีจี ภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง แต่จะเลิกอุดหนุนภาคอุตสาหกรรม และการลดการจัดเก็บค่าไฟกับผู้ใช้ต่ำกว่า 90 หน่วยแบบถาวร ไม่ใช้เงินภาษี แต่จะปรับการจัดเก็บค่าธรรมเนียม ใครใช้ไฟฟ้ามากก็จ่ายมาก ช่วงหลังรีบ “อ้ำๆอึ้งๆ” ไม่ชัดเพราะกลัวภาคอุตสาหกรรมโวย เลย โบ้ยไปเป็นการปรับสูตร “เอฟที” ต้องตามไปดูอีกทีเรื่องนี้

และ นายอภิสิทธิ์ ก็ย่อมต้องติดใจราคาไข่ ไม่อยากให้ใครว่าได้ว่า “ไข่อภิสิทธิ์แพง” หาทางลดต้นทุนภาคการเกษตร โดยเฉพาะอาหารสัตว์และพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ปรับรูปแบบไข่ไก่ขายโดยการชั่งกิโล ซึ่งจะมีการนำร่องซื้อขายเป็นกิโลฯ เพื่อประหยัดค่าคัดแยกได้ถึง 50 ส.ต.โดยเริ่มทดลองในเขตมีนบุรี เข้าตีฐาน นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส. พรรคเพื่อไทยที่ครองใจชาวบ้านแถวนั้นทันที

ใครบอกว่าไม่หาเสียง ไม่เชื่อๆ!!

ปิดท้ายด้วยตำรวจ “เอาใจ” นายกฯ เพื่อให้นายกฯ “เอาใจ” คนกรุงในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตั้งเป้าลดให้ได้ 20% ใน 6 เดือน เพิ่มกล้องวงจรปิด-บุคลากร บูรณาการทำงาน

ครับ ขอให้กล้อง “ทำงาน” ตอนมีการปล้นการยิงกันที่เกี่ยวข้องกับ “ผู้มีอิทธิพล” ก็จะดี!!

ฟังแล้วก็ต้องบอกว่า เฉยๆ มากๆ ไม่ได้มีวิสัยทัศน์ใหม่ ไม่ได้เป็น “บูรณาการ” แต่ประการใด ใช้ของเก่าผสมผสานกับเป้าหมายทางการเมือง สลายกลุ่มรากหญ้า ฐานเสียงแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซด์ จับมา “จดทะเบียน” แจกผลประโยชน์” และ “จัดตั้ง” เท่านั้น

นโยบาย “หาบเร่แผงลอย” ไม่ต้องถึงระดับ “นายกฯ” ก็ได้ ให้ “ผู้ว่า กทม.” แถลงก็เพียงพอ (ยามที่หาตัวพบ) ตรงกับหน้าที่การงานที่ได้รับเลือกมา และการที่เพิ่มจุดผ่อนผันเป็นนโยบายที่ถูกต้องแล้วหรือ น่าจะจัดที่จัดทางให้เป็นระเบียบ นอกทางเท้า ทำเป็นเวิ้งทำเป็นตลาด ไม่ใช่มาเบียดบังทางคนเดินที่แสนจะแคบอยู่แล้ว บอบังร้านค้า และทำให้ทัศนียภาพไม่สวยงาม แก้ปัญหาอย่างนี้ ไม่ต้องใช้หลักคิดหลักจัดการอะไร หรือคิดแค่ “ปล่อยผี” เท่านั้น เดินหาเสียงสบายใจไม่มีใคร “ด่า”!!

นายกฯ เล่นเอาเรื่องต่างๆมาต่อกันเป็น “แผน” แต่ไม่มี “ภาพรวม” ที่ชัด จะเรียกว่า “ประชานิยม” ยังไม่ได้เลย เพราะไม่ได้มีระบบคิด และไม่มีความ “วิวัฒน์” แต่ประการใด เพราะเมื่อภาพรวมไม่มี ทิศทางไม่ชัด ประชาชนได้อะไร เสียอะไรก็ไม่อธิบาย ที่ทำมาเหมือนเขียน “สคริป” เพื่อทำ มิวสิค” เท่านั้น!!

ที่มา : สุรนันทน์ เวชชาชีวะ

 


วาทกรรม ‘ประชาวิวัฒน์’ ที่ไม่ใช่ ‘ประชานิยม’

ก่อนจะเข้าบทความ ผู้เขียนมีความรู้ให้กับลูกไทยรักชาติชาวอีสาน โดยมีข้อมูลจากนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่มาเป็นวิทยากร ณ มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน) จังหวัดชลบุรีว่า

“การทุจริตในสังคมไทยมีในศาลไทยด้วย และอย่าหวังพึ่งคนดีที่อยู่บ้านอีกเสาก็ตาม อย่าหวังเลย การมีส่วนร่วมของประชาชนชาวไทยจะช่วยพัฒนาประเทศไทยได้”

ใกล้เทศกาลปีใหม่ มีข่าวการให้ของขวัญประชาชนจากรัฐบาลออกมาหลายระลอก โดยเฉพาะเรื่องการขึ้นเงินเดือนให้กับผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานต่างๆของภาค รัฐ ขณะที่ภาคเอกชนเองก็มีข่าวการจ่ายโบนัสตอบแทนเจ้าหน้าที่ของบริษัทแต่ละแห่ง ที่เห็นตัวเลขแล้วแทบหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้งทีเดียว

แล้วรัฐบาลก็เริ่มโยนหินถามทางด้วยการแพลมนโยบายเพื่อประชาชนแนวใหม่ออก มาที่เรียกกันทั่วไปว่านโยบายประชาวิวัฒน์ แต่แนวทางปฏิบัติจะเป็นอย่างไร รัฐบาลจะรอเฉลยวันที่ 9 มกราคมศกหน้า ในเบื้องต้นนี้เป็นเพียงการตรวจสอบปฏิกิริยาของประชาชนที่มีต่อนโยบายนี้ ก่อน

ก็ได้ผลในระดับหนึ่งเมื่อมีเสียงวิพากษ์พอสมควรว่าใช้ชื่อพ้องกับนโยบาย ที่เคยประกาศใช้สมัยอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นการลอกชุดความคิดของคนอื่นมาใช้ เป็นการซื้อเสียงล่วงหน้า ฯลฯ

แล้วในที่สุดก็มีการออกมาแก้ข่าวว่าเรื่องการตั้งชื่อนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยังไม่เห็นด้วยนัก อาจมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง เรื่องการโยนหินถามทางเช่นนี้พรรคประชาธิปัตย์ถนัดนัก

ผู้เขียนมิได้สนใจกับการตั้งชื่อว่าจะพ้องกับของเดิมหรือไม่ อย่างไร แต่สิ่งที่สนใจคือแนวทางการปฏิบัติของนโยบายที่จะออกมาใหม่นี้ลอกเลียนของ เดิม หรือคิดใหม่ทำใหม่ได้จริง สมกับที่มีทีมที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระดับประเทศจำนวนมากอยู่หรือไม่

การขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐไปพร้อมๆกับที่บริษัทต่างๆจ่ายโบนัสประจำปีให้พนักงานของ บริษัท ในขณะที่ประชาชนที่ต้องประกอบอาชีพส่วนตัวไม่สามารถหาเงินที่ไหนมาขึ้นเงิน เดือนให้ตัวเองได้

ทางที่ทำได้ก็คือการขึ้นราคาสินค้า

ผลสุดท้ายคนที่เดือดร้อนก็คือ ลูกจ้างรายวัน และแรงงานที่หาเช้ากินค่ำที่มีรายได้วันละไม่เกิน 200 บาท

เงิน 200 บาทปัจจุบันนี้ท่านคิดว่าครอบครัวหนึ่งๆจะสามารถใช้อะไรได้บ้าง ค่ารถเมล์ของคนทั้งบ้าน ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า ค่ายา เฉพาะแค่ปัจจัยสี่จะพอให้ใช้ได้หรือไม่

แต่นายกรัฐมนตรีจะได้ขึ้นเงินเดือนกว่า 120,000 บาท ให้ ส.ส. และ ส.ว. เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 14 มากขนาดนั้นยังร้องว่าไม่พอ

ที่ไม่พอเพราะไม่พอจ่ายให้หัวคะแนนในพื้นที่?

อยากให้ท่านทดลองใช้เงินวันละ 200 บาทดูบ้าง จะได้ทราบความรู้สึกที่แท้จริงของคนชั้นล่างที่เป็นรากหญ้าของสังคม

การขึ้นเงินเดือนไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ถูกต้อง เพราะรังแต่จะส่งผลให้ข้าวของขึ้นราคาตาม แล้วในที่สุดก็จะเกิดช่องว่างระหว่างผู้มีรายได้มากกับรายได้น้อยมากขึ้นตาม ลำดับ เรื่องนี้ใครไม่ได้เรียนเศรษฐศาสตร์ก็บอกได้

ข้อสังเกตที่ได้จากการขึ้นราคาสินค้าของไทยประการหนึ่งคือ จะละทิ้งเศษสตางค์โดยปัดเป็นเงินเต็มจำนวน ดังนั้น สินค้าในตลาดปัจจุบันจะไม่พบว่ามีราคา 25 สตางค์ 50 สตางค์ หรือ 75 สตางค์ติดอยู่ ทำให้ประชาชนเคยชินกับการจับจ่ายสินค้าราคาเต็ม โดยที่ไม่ทราบเลยว่าราคาเหล่านั้นถูกขูดรีดภาษีมูลค่าเพิ่มเกินกว่าร้อยละ 7 หรือไม่

การขึ้นราคาสินค้าแบบเต็มจำนวน ไม่คิดเป็นเศษสตางค์นี้เองที่มีผลทำให้ราคาของแพงกว่าความเป็นจริง

ไม่เชื่อลองเปรียบเทียบราคาอาหารดูได้ เมื่อก่อนราคาอาหารขึ้นเพียงจานละ 2-3 บาท แต่เดี๋ยวนี้ขึ้นครั้งละ 5 บาท เพราะเนื้อ ผัก เครื่องปรุงต่างๆขึ้นราคาเป็นหน่วยบาท ไม่ใช่หน่วยสตางค์ และนี่จึงส่งผลให้กระทรวงพาณิชย์ต้องออกมาควบคุมราคาอาหารและจัดขายสินค้าธง ฟ้าราคาถูกเป็นระยะ

ผู้เขียนไปขึ้นรถเมล์ที่มาเลเซีย พบว่าเขายังต้องจ่ายค่ารถที่มีหน่วยถึงเศษสตางค์อยู่ และผู้โดยสารต้องหาเงินเตรียมไว้ให้พอเพราะไม่มีทอน ต้องหยอดกระป๋องข้างคนขับด้วยตนเอง คนขับไม่สามารถรับเงินได้ การที่ยังคงใช้เศษสตางค์อยู่ช่วยให้ค่าเงินไม่ขยับขึ้นสูงกว่าความเป็นจริง

หันมาดูบ้านเรา จะเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลล้มเหลวเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ รถเมล์ในกรุงเทพฯรัฐบาลประกาศให้ขึ้นฟรี ทั้งที่ติดป้ายไว้ว่ามาจากภาษีของประชาชน แต่คนในชนบทมีโอกาสได้ใช้บริการหรือไม่ ในเมื่อเขาเหล่านั้นก็เป็นผู้เสียภาษีเช่นเดียวกัน

เหตุใดรัฐบาลจึงไม่ให้คนในต่างจังหวัดขึ้นรถเมล์ฟรีบ้าง ทั้งที่ค่ารถเมล์ในต่างจังหวัดแพงกว่าในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะรถที่วิ่งจากอำเภอหนึ่งไปอีกอำเภอหนึ่ง โดยผู้เขียนเสนอให้รัฐบาลจัดรถเมล์ฟรีระหว่างบางแสน จังหวัดชลบุรี กับกรุงเทพฯบ้าง

การจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจึงไม่ควรมองแต่เฉพาะในกรุงเทพฯที่มีประชากร เพียง 6-7 ล้านคน แต่ควรมองทั้ง 67 ล้านคนทั่วประเทศ เช่น คนยากคนจนจากภาคอีสาน บ้านเกิดของผู้เขียน

นโยบายประชานิยมที่จะได้ผลจริงคือ การจัดรัฐสวัสดิการ เก็บภาษีคนที่มีรายได้มากมาช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย แบ่งปันความสุขในการใช้ชีวิตร่วมกัน สังคมจึงจะเป็นสุข ปัญหาต่างๆจะลดลงได้เอง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอาชญากรรม การค้ายาเสพติด ปัญหาสังคมอื่นๆ เพราะครอบครัวจะมีเวลาให้กันมากขึ้น ไม่ต้องมาพะวงกับการหารายได้เลี้ยงครอบครัว โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย

ขอเพียงแค่คนที่มีรายได้มากรู้จักแบ่งปันให้กับคนมีรายได้น้อย เลิกเรียกร้องเพื่อตนเอง แต่เห็นแก่สังคมมากขึ้น สังคมก็เป็นสุขได้แล้ว

หากรัฐบาลจะนำแนวคิดนี้ไปใช้ก็ไม่ว่ากัน จะได้พูดได้เต็มปากว่าไม่ได้ลอกประชานิยมของเดิมมาแต่อย่างใด ส่วนจะใช้ชื่อให้สวยหรูว่าอย่างไรก็โยนหินถามทางไปเรื่อยๆจนกว่าจะพอใจก็ แล้วกัน

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6  ฉบับ 291 วันที่ 25-31 ธันวาคม พ.ศ. 2553 หน้า 12 คอลัมน์ หอคอยความคิด โดย วิษณุ บุญมารัตน์

 


‘ประชาวิวัฒน์’ ทำคนหลงทาง

หมายเหตุ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล คณะกรรมการที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ได้เขียนบทความ ‘ประชาวิวัฒน์ คิดถึงปัจจุบันหรืออนาคต’ สะท้อนการออกนโยบายประชาวิวัฒน์ของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์

เอ่ยถึง “ประชานิยม” ไม่มีใครไม่รู้จัก

เป็นโครงการที่เน้นแต่เรื่องการลด แลก แจก แถม มุ่งหวังที่ความพึงพอใจของประชาชนผู้รับเป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง เหมาะสม หรือฐานะทางการเงินการคลัง

เพียงแค่เสียงชมอย่างทั่วถึง คะแนนเสียงและผลการเลือกตั้งครั้งต่อไปเท่านี้พอ

โครงการ ประชานิยมต่างๆ มีมานานแล้ว แต่รัฐบาลในยุคที่ผ่านมาเลือกจะนำมาใช้ในบางเรื่อง ไม่พร่ำเพรื่อ เพราะหากมากเกิน อาจส่งผลกระทบต่อสังคมและคนในสังคมได้อย่างง่าย

ที่โด่งดังมากๆ เห็นจะได้แก่โครงการเงินผัน ในรัฐบาลยุค ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แม้ภายหลังจะดำเนินโครงการนี้ในชื่อต่างๆ แต่ไม่โด่งดังเท่า

แต่ที่กล่าวขวัญกันมาก ถึงกับยกย่องให้เป็นเจ้าพ่อประชานิยม เพราะผุดโครงการขึ้นเป็นดอกเห็ด ไม่จำเป็นต้องนึกถึงงบประมาณและฐานะการคลังของประเทศ เพียงแต่ประชาชนส่วนใหญ่พอใจ นั่นคือ นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เจ้าของโครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการพักชำระหนี้ โครงการเอสเอ็มแอล โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค

แทบทุกโครงการได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างมาก

หลายคนบอกว่าไม่เคยได้รับเงินได้รับประโยชน์โดยตรงจากรัฐบาลเช่นนี้มาก่อน

หลายคนบอกว่ารัฐบาลจะเอาเงินมาจากไหนก็ช่าง ขอเพียงแต่ตนได้บ้างก็พอ

โครงการประชานิยม จึงได้รับความพอใจเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับคนที่ไม่พอใจรัฐบาลเพิ่มขึ้นด้วย

คนที่ไม่พอใจเหล่านี้มองว่ารัฐบาลใช้โครงการประชานิยม เป็นเครื่องมือเพื่อปกปิดบางสิ่งบางอย่างไว้ นำเอาขยะของรัฐบาลซุกไว้ใต้พรม

สมัยรัฐบาลทักษิณ เคยสำรวจความคิดเห็นของคนในสังคม บอกโกงก็ได้ ขอเพียงรัฐบาลทำงานให้กับประชาชนได้บ้างก็พอ

ความคิดเห็นเช่นนี้ที่เป็นตัวส่งเสริมแนวคิดประชานิยมให้เพิ่มมากขึ้น

โกงได้ กลายเป็นวัฒนธรรมที่ปลูกฝังให้เยาวชนหลงเพ้อ คลั่งไคล้ในเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ความคิดเห็นของผู้คนที่มีต่อการโกง กลายเป็นวัฒนธรรมที่น่ากลัวของสังคมในอนาคต

บางคนเห็นว่ารัฐกำลังทำลายระบบวินัยการเงิน

บางคนบอกว่ารัฐบาลกำลังสร้างค่านิยมที่ผิด

แล้วรัฐบาลทักษิณก็จากไป

รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาแทนที่ เริ่มตั้งแต่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ คุณสมัคร สุนทรเวช คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ทุกรัฐบาลไม่สามารถก้าวข้ามฝ่าปัญหาในความนิยมของโครงการประชานิยมไปได้

ทุกรัฐบาลจำเป็นต้องมีโครงการในลักษณะนี้อยู่ด้วย เพียงเพื่อบอกให้รู้ว่าเรายืนอยู่ข้างประชาชน เลือกตั้งครั้งหน้า อย่าลืมเลือกคนที่ยืนอยู่ข้างประชาชน

แต่ทุกรัฐบาลยังไม่น่ากลัว ยังเป็นประชานิยมในปริมาณไม่มากนัก

หากแต่พอมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน ที่มี คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ

โครงการประชานิยมต่างๆ กลับเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เคยมี มากกว่ารัฐบาลไหนๆ

ตั้งแต่การต่ออายุโครงการช่วยเหลือประชาชนด้านค่าครองชีพ รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี ไฟฟ้าฟรี น้ำประปาฟรี โครงการเช็คช่วยชาติ โครงการชุมชนพอเพียง โครงการต้นกล้าอาชีพ โครงการไทยเข้มแข็ง โครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ

หลังสุดภายใต้ชื่อ ประชาวิวัฒน์ รัฐบาลยิ่งเข็นโครงการในลักษณะประชานิยมมากขึ้นไปอีก คราวนี้หลายคนว่าไปกันใหญ่ ทั้งขยายเวลารถเมล์ รถไฟ น้ำประปา ไฟฟ้าฟรี โครงการแทรกแซงราคาน้ำมันดีเซล โครงการกองทุนเงินออมแห่งชาติ โครงการบัตรลดหนี้ ขยายเงินกู้กองทุนหมู่บ้าน จัดตั้งหมอหนี้ ขึ้นเงินเดือนให้ฝ่ายต่างๆ

รัฐบาลกำลังเดินตามรอยในสิ่งที่รัฐบาลทักษิณเคยทำ โดยที่บอกให้สาธารณะรู้ว่าตนทำมากกว่า ให้มากกว่า

มีใครบางคนบอกไว้ว่า โครงการประชานิยมเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลในอดีตทำ หรือรัฐบาลปัจจุบันกำลังทำ ทั้งหมดส่งผลให้ทำลายคุณค่าความเป็นคน ทำลายคุณค่าความเป็นมนุษย์ เพราะรัฐบาลอยู่ในฐานะผู้ให้ แต่เป็นการให้ที่ไม่มีเหตุผล

หมอรักษาโรค กำลังฉีดยาให้สังคม แต่น่าเสียดายที่ฉีดยาผิด

ความจริงแล้ว การดำเนินงานตามโครงการในรูปแบบต่างๆ ที่เรียกว่าเป็นประชานิยมนั้นไม่ผิด

แม้จะเรียกชื่อโครงการเหล่านั้นแตกต่างกันออกไป จะเป็นประชานิยม หรือรัฐสวัสดิการ หรือประชาภิวัฒน์ หรือประชาวิวัฒน์

เพราะสำคัญที่สุดคือแก่นของโครงการเหมือนกัน

เน้นที่เงิน การกระจายเงิน โดยเชื่อว่าหากเราสามารถอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบได้มากเพียงไร (โดยไม่คำนึงถึงวิธีการ) จะสร้างความอยู่ดีมีสุขให้คนในสังคมได้อย่างถ้วนหน้า

“เงิน” จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของระบบ

“เงิน” สร้างความอยู่ดีกินดีได้ในสังคม

ลืมคิดไปว่า จริงแล้ว คนสำคัญกว่าเงิน การพัฒนาคนมีความหมายมากกว่าการพัฒนาเงิน การนำเงินเข้าระบบถูกแล้ว แต่ต้องดูถึงวิธีการด้วย

ประธานาธิบดีสหรัฐ จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ เคยกล่าว วาทะไว้ ซึ่งถือเป็นประโยคอมตะสำหรับการพัฒนาจิตใจคนว่า “อย่าถามว่าประเทศชาติจะให้อะไรกับคุณ แต่จงถามว่าคุณจะให้อะไรกับประเทศชาติบ้าง”

การที่รัฐบาลหยิบยื่นแต่เงินให้ประชาชน เท่ากับฝึกให้ประชาชนรอคอยและรู้จักแต่การแบมือขอรัฐบาล

ความหวังของประชาชนจึงขึ้นอยู่กับการให้ของรัฐบาล

รัฐบาลหยุดให้ ประชาชนสิ้นหวัง

ความขยัน มุมานะทำมาหากิน อดออมเพื่อเก็บทรัพย์สินไว้ใช้ในอนาคต ดูจะไม่สอดคล้องกับวิธีการที่รัฐกำลังกระทำอยู่

ดูเหมือนเจตนาดี แต่จริงแล้วกลับสร้างผลร้ายให้ราษฎรมากกว่า แม้จะเป็นผลประโยชน์ของคนหมู่มากก็จริง แต่เป็นเพียงผลประโยชน์เฉพาะหน้าเท่านั้น ระยะยาวกลับไม่ใช่

ไม่ผิดนักหากจะบอกว่ารัฐกำลังได้ชื่อเสียงบางส่วนจากประชาชนเพียงด้านเดียว เหมือนกับคิดว่าตนเองจะเอาตัวรอด แต่ลืมคิดไปว่าประชาชนจะรอดหรือเปล่า

นำเพียงเนื้อปลาให้ แต่ไม่สอนให้รู้จักวิธีตกปลา ชาวบ้านจึงรอคอยแต่เนื้อปลาอยู่ร่ำไป

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อยู่ที่ไหน ความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน หลักคิดของเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แค่เพียงหน้ากระดาษ สิ่งที่รัฐบาลน่าจะนำมาใช้กลับละเลย

ภูมิสังคม ซึ่งหมายถึงภูมิปัญญา และภูมิศาสตร์ อันเป็นสิ่งที่ในหลวงทรงปฏิบัติให้เห็น พร้อมที่จะลอกเลียนแบบได้ แต่กลับไปเต้นตามโลกแห่งความฟุ้งเฟ้อ

เศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่ดูเป็นเรื่องไกลตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

เรื่องที่เราทำได้โดยทันที กลายเป็นเรื่องเพ้อฝัน

หรือรัฐกำลังทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก

ประเทศไทย พื้นที่ส่วนใหญ่คือชนบท และชนบทยังมีหลายสิ่งที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง ชนบทยังมีพื้นที่ที่เราเติมเต็มได้ในหลายเรื่อง

คนในชนบทต้องการโอกาส

โอกาส ของการใช้ประโยชน์ในที่ดิน เพราะมีที่ดินอีกมากที่รกร้างว่างเปล่า การบุกรุกยึดครองของนายทุน ความไม่เสมอภาคของการครอบครองที่ดิน

โอกาส ของการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ ทั้งน้ำท่วม ฝนแล้ง การกำจัดวัชพืช ขุดลอกคูคลองที่ตื้นเขิน การฟื้นฟูและจัดสรรน้ำ อยากใช้น้ำแต่ไม่มีน้ำให้ใช้ ปล่อยทิ้งไว้อาจกลายเป็นสงครามแย่งน้ำ

โอกาสของการลดต้นทุนการผลิต ทั้งเครื่องจักรและสารเคมี ทั้งหมดกลายเป็นปัจจัยสำคัญของการผลิตที่ทำให้ต้นทุนสูงมากขึ้น

โอกาสของการเพิ่มผลผลิต แมลงที่ทำลายพืช รวมถึงโรคพืชหลากหลายรูปแบบ กำลังรอคอยการกำจัดที่ถูกวิธี

โอกาส ในการสร้างตลาด เป็นตลาดที่ถาวรที่รองรับเกษตรกรได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เป็นตลาดแค่ชั่วครั้งชั่วคราว เหมือนการจัดงานมหกรรมสินค้าโอท็อปเพียงปีละครั้ง ไม่ใช่ตลาดของคนแค่หยิบมือเดียว แต่เป็นตลาดของเกษตรกรทุกคน

เราสร้างโอกาสต่างๆ เหล่านี้ได้ หากตั้งใจ

และเราสร้างโอกาสเหล่านี้ได้หากไม่หลงทาง และไม่ตกเป็นทาสของเงินมากกว่าที่ควรจะเป็น

ดูเหมือนรัฐบาลตั้งใจทำงาน และภูมิใจนำเสนอโครงการในรูปแบบประชาวิวัฒน์

เอารัฐบาลชุดทักษิณเป็นตัวตั้ง และพยายามทุกวิถีทางที่จะเอาชนะ เพื่อบอกใครๆ ว่า ดีกว่า ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติและประชาชนมากกว่า

แต่รัฐบาลลืมไปว่ากำลังทำให้ผู้คนในประเทศหลงทาง ลืมมองดูคนอื่น ลืมมองดูสังคม คิดถึงแต่ตัวเอง

ผมเป็นนักการเมือง แม้จะถูกตัดสิทธิ์ แต่รู้ดีว่าเมื่อโดดลงสู่สมรภูมิการเลือกตั้ง ไม่มีใครอยากแพ้ ทุกคะแนนเสียงจึงมีความสำคัญ

สำคัญทั้งต่อชัยชนะและอนาคตทางการเมืองของตน

ถึงจะห่วงชัยชนะ แต่ผมคงไม่ห่วงจนถึงกับลืมนึกถึงอนาคตของประชาชน

คิดแต่คะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่คิดถึงผลประโยชน์ในระยะยาว คิดเพียงแค่ปัจจุบัน แต่ลืมห่วงถึงอนาคต

อนาคตของบ้านเมือง อนาคตของประเทศชาติย่อมขึ้นอยู่กับปัจจุบัน

ปัจจุบันว่าเราต้องการเงินมากน้อยเพียงใด

อย่าให้ผู้คนในประเทศหลงไปกับเงิน และกระแสประชานิยมเลย

ที่มา : ข่าวสดรายวัน 24 ธันวาคม 2553

 


วาทกรรมปลุกผี

วาทกรรมปลุกผี

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 5  ฉบับ 266 วันที่ วันที่ 3 – 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553  หน้า 8
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
โดย : ทีมข่าวรายวัน

“ประชาธิปไตยไทยจะมีความเป็นเผด็จการพันธุ์ ใหม่มากขึ้น รู้สึกว่า ศอฉ. มีพฤติกรรมคล้ายคณะปฏิวัติ เขาจะเรียกใครไปสอบก็ได้ แช่แข็งบัญชีใครก็ได้ เขากักขังคนได้ 7 วัน และต่อเวลาได้ อำนาจของ ศอฉ. น่าเป็นห่วง ซึ่งไม่มีใครตรวจสอบเลย ได้ยินว่า ศอฉ. ใช้เงินมือเติบ ใช้ไปเท่าไรแล้ว ได้ข่าวสมาชิก ศอฉ. ได้สตางค์พิเศษนอกเหนือจากเงินเดือนเป็นรายวัน โฆษก ศอฉ. ได้เงินพิเศษเป็นรายวันหรือไม่ ขอให้ตรวจสอบ บอกมาว่าได้เท่าไร ไม่อย่างนั้นใครจะตรวจสอบ ศอฉ.

บางครั้งตั้งคำถามว่า ถ้าไม่มีกองทัพปัจจุบันรัฐบาลอภิสิทธิ์จะเป็นอย่างไร ถ้าไม่มีรัฐบาล นายกฯชื่ออภิสิทธิ์กองทัพจะเป็นอย่างไร สองคำถามนี้ทำให้เห็นว่าเขาเอื้อกัน พึ่งพาพึ่งพิงกันอย่างแน่นแฟ้นและด้วยดีพอสมควร”

นายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานสัมมนา “แนวโน้มสถานะประชาธิปไตยไทยท่ามกลางความขัดแย้ง” ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยระบุว่าสถานะการเมืองไทยขณะนี้ “พูดยาก เขียนลำบาก และน้ำท่วมปาก” ถ้าใครเห็นต่างจากรัฐบาลจะถูกกล่าวหาว่าเป็นพวก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

แม้แต่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ นักลงทุน นักท่องเที่ยว ทูตานุทูต มูลนิธิ และองค์กรระหว่างประเทศที่สังเกตการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดง ได้แสดงความคิดเห็นจากข้อมูลข่าวสารที่ได้รับโดยตรงมาเปิดเผยยังถูกตำหนิว่า ไม่เข้าใจประเทศไทย มีอคติ ลำเอียง หวังร้าย หรือถูก พ.ต.ท.ทักษิณว่าจ้างมา

เผด็จการอำพราง

ความเห็นของนายฐิตินันท์ไม่ได้แตกต่างจากนักวิชาการ ภาคประชาชน และสื่อต่างประเทศที่วิจารณ์รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะนี้ว่าไม่ต่างอะไรกับรัฐบาลเผด็จการที่ใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งมีอำนาจมากมาย ทั้งคุ้มครองการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งทางอาญา ทางแพ่ง และทางวินัย แม้แต่ตุลาการยังถูกมองว่า ไม่มีอำนาจหรือไม่เข้ามาถ่วงดุลและปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่เกิดจากการใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขต ฉะนั้น พ.ร.ก.ฉุกเฉินจึงไม่ต่างอะไรกับกฎหมายโจราธิปัตย์ของคณะปฏิวัติรัฐประหาร แต่ศาลกลับยอมรับอำนาจเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แม้อำนาจคณะปฏิวัติรัฐประหารจะสิ้นสุดลงไปแล้วก็ตาม

นักวิชาการและภาคประชาชนจึงไม่แปลกใจที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวและข่มขู่ประชาชน รวมถึงฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลตลอดเวลา เพราะอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินสามารถกล่าวหา จับกุม ควบคุมธุรกรรมทางการเงิน หรือเรียกบุคคลใดมาสอบสวนก็ได้ แม้จะไม่มีหลักฐานชัดเจนก็ตาม เพียงแค่รัฐบาลและ ศอฉ. เชื่อหรือสงสัยว่าอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐบาล

โดยเฉพาะการยัดเยียดข้อกล่าวหาผู้ก่อการร้ายหรือล้มสถาบัน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลและ ศอฉ. ใช้สื่อของรัฐและสื่อกระแสหลักให้ข่าวโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนเชื่อและเกลียดชังคนเสื้อแดงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 ที่ ศอฉ. มีคำสั่งให้ทหารพร้อมอาวุธสงครามสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากมาย แม้รัฐบาลจะใช้ถ้อยคำสวยหรูว่า “ขอพื้นที่คืน” ก็ตาม

องค์กรภาคประชาชน นักวิชาการ สื่อต่างชาติ และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ต่างประณามว่าเป็นการฆ่าและทำร้ายประชาชนอย่างโหดเหี้ยม รวมถึงละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ขณะที่นายอภิสิทธิ์ไม่มีทีท่าว่าจะแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองเลย แม้จะถูกกระแสสังคมกดดันจากทั้งภายในและภายนอกอย่างมากมายก็ตาม

“จลาจล” ไม่ใช่ “ก่อการร้าย”

ที่สำคัญข้อกล่าวหา “ผู้ก่อการร้าย” ที่รัฐบาลและ ศอฉ. ใช้กวาดล้างและจับกุมคนเสื้อแดงและฝ่ายตรงข้าม โดยพยายามอ้างถึง “ไอ้โม่งชุดดำ” การเผาศูนย์การค้าและสถานที่ต่างๆกลางกรุงเทพฯนั้น แม้แต่บริษัทประกันภัยก็ไม่ยอมรับและไม่ยอมจ่ายสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย โดยระบุว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นแค่การจลาจล ไม่ใช่การก่อการร้าย

ขณะที่นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐ-มนตรี ก็ไม่สามารถชี้แจงหรืออธิบายความหมายของคำว่า “ผู้ก่อการร้าย” ให้แก่ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ได้ โดยโยนให้ไปชี้ขาดกันที่กระบวนการทางศาล

สอดคล้องกับกรณีที่นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ที่กล่าวถึงการเดินทางไปสหรัฐตามคำเชิญของผู้สนใจปัญหาของประเทศไทย และได้พบปะกับนักวิชาการ นักคิด สื่อมวลชน รวมถึงเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติของสหรัฐว่า มีการพูดคุยถึงข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทั้งยืนยันว่าผู้ที่มาชุมนุมไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย แต่เขามาเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม เช่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณก็ไม่ได้เป็นผู้ก่อการร้าย ซึ่งทางรัฐสภาสหรัฐจะออกมติสนับสนุนการแก้ปัญหาการเมืองไทย โดยการเจรจาและสนับสนุนแผนโรดแม็พของนายอภิสิทธิ์ แต่ไม่ได้รวมถึงเนื้อหาในโรดแม็พ เนื่องจากโรดแม็พของนายอภิสิทธิ์ไม่ใช่แผนปรองดองอย่างแท้จริง แต่เป็นแผนปฏิรูประยะยาวที่ต้องทำอยู่แล้ว โดยเฉพาะการปฏิรูปสื่อ แต่กลับยังมีการปิดเว็บไซต์และวิทยุชุมชนของคนเสื้อแดง

“สิ่งที่ผมคิดว่าประเทศไทยจะปรองดองกันได้ ต้องอาศัยความจริงใจจากรัฐบาล โดยพิจารณายกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน คืนเสรีภาพให้กับผู้ที่โดนตั้งข้อกล่าวหาเรื่องทางการเมือง และให้รีบตั้งข้อกล่าวหาบุคคลที่ถูกคุมขัง ไม่ใช่กักตัวไว้อย่างเดียวโดยที่ยังไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา”

พิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศ

ส่วนการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน และคณะกรรมการสมัชชาเพื่อการปฏิรูปที่มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธานนั้น นายอภิสิทธิ์ได้ลงนามในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิรูป พ.ศ. 2553 มีงบประมาณรองรับปีละ 200 ล้านบาท หากทำงาน 3 ปี ใช้งบ 600 ล้านบาท เพื่อสร้างความฝันปฏิรูปประเทศให้เป็นจริง

ขณะที่ความหมายคำว่า “ปฏิรูป” ก็ครอบจักรวาลคือ “การใดๆ ที่กระทำโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเชิงระบบและโครงสร้างด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบคุณค่าของสังคม ระบบการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ระบบภาษีและการเงินการคลัง ระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา ระบบยุติธรรม ระบบการเมืองและการจัดการภาครัฐ ระบบการสื่อสาร ระบบสุขภาพ ระบบสวัสดิการสังคม และระบบอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การเพิ่มสุขภาวะ ความเข้มแข็ง และความเป็นธรรมในสังคม”

ส่วน “สมัชชาปฏิรูป” หมายความว่า “กระบวนการทางสังคมที่ให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชนและชุมชน ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ และภาครัฐ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างหลากหลายและกว้างขวาง บนฐานของปัญญา ความรู้ และความสมานฉันท์ โดยมีการจัดกระบวนการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การมีข้อเสนอเชิงนโยบายให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติหรือนำไปพิจารณากำหนดเป็นนโยบายสาธารณะสำหรับการปฏิรูปประเทศไทย”

ชาติหน้าไม่แน่?

นิยามการปฏิรูปที่ครอบจักรวาลนั้น แม้แต่นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ยังย้อนถามถึงการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง และคณะกรรมการปฏิรูปเพื่อการปรองดองว่า ชาตินี้ไม่แน่ว่าจะปรองดองกันได้หรือเปล่า และไม่รู้ว่ารัฐบาลตั้งขึ้นมาทำไม ตั้งขึ้นมาเป็นประโยชน์อะไร

เช่นเดียวกับนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ก็ไม่เชื่อว่าการปรองดองจะสำเร็จ ถ้ารัฐบาลต้องการทำให้สำเร็จอาจเสนอเป็น พ.ร.บ.การปรองดองแห่งชาติ หรือเป็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เหมือนสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่เป็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้กลไกรัฐรับเรื่องไปปฏิบัติ

“แต่กรณีนี้ไม่ใช่สถานะทางกฎหมายของการปรองดองไม่มีเลย ถ้านายกฯ ไปหรือเกิดอะไรขึ้นกับรัฐบาลเราไม่มีทางรู้ว่าแผนการปรองดองจะเดิน หน้าต่อไปได้หรือไม่”

หากรัฐบาลมีความจริงใจ อย่างแรกรัฐบาลต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องนิรโทษกรรมคนเสื้อแดงที่อยู่ระหว่างการรับโทษ 300-400 คน ซึ่งมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งที่การกระทำจริงๆไม่มีอะไรผิด แต่ต้องไม่นิรโทษกรรมทั้งแพ็กเกจ ต้องไม่นิรโทษกรรมคนฆ่าประชาชน เพราะแนวโน้มส่วนใหญ่จะเป็นการนิรโทษกรรมหมกเม็ด ขณะเดียวกันการเสียชีวิตหรือการบาดเจ็บต้องนำมาพิสูจน์ให้ชัดเจน ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐทำผิดก็ต้องลงโทษ

“มิสเตอร์คลีน”

ไม่ใช่การสร้างความปรองดองเพื่อต้องการสร้างภาพให้นายอภิสิทธิ์เป็น “มิสเตอร์คลีน” เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีความซื่อสัตย์ทสุจริตและยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย เพราะภาพของนายอภิสิทธิ์ในสายตานักวิชาการ สื่อ และองค์กรภาคประชาชนจำนวนมากนั้นหมดภาวะความเป็นผู้นำไปแล้วนับตั้งแต่มีคำสั่งให้ทหารปราบปรามประชาชน

ที่สำคัญนายอภิสิทธิ์ยังไม่แสดงความรับผิดชอบและไม่ออกมากล่าวคำขอโทษต่อประชาชนเลย แต่กลับพยายามสร้างความชอบธรรมเพื่อให้ตนเองได้อยู่ในอำนาจต่อไปให้นานที่สุด ขณะที่ผลงานของรัฐบาลก็ล้มเหลว ทั้งยังถูกครหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน โดยนายอภิสิทธิ์ไม่กล้าจัดการกับรัฐมนตรีที่มีพฤติกรรมทุจริตตามที่ประกาศกฎเหล็ก 9 ข้อ เพราะกลัวกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล

โคตรประชานิยม

ขณะเดียวกันนายอภิสิทธิ์อาศัยอำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรี อนุมัติงบประมาณมหาศาลขยายเวลานโยบายประชานิยม โดยมีมติต่ออายุมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน ค่ารถเมล์ รถไฟ และค่าไฟฟ้าต่อไปจนถึงสิ้นปี 2553 และเตรียมใช้เป็นมาตรการตลอดชีพ โดยจะปรับเข้าสู่ระบบรัฐวิสาหกิจ แถมยังให้ตรึงราคาก๊าซแอลพีจี-เอ็นจีวี และค่าเอฟที ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณจากเงินภาษีประชาชนกว่า 30,000 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้รัฐบาลอนุมัติให้ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ให้โบนัสข้าราชการ ลดภาษีเงินกู้ แจกเงิน แจกของ ปูพรมสร้างถนนและสาธารณูปโภคต่างๆ หรือแม้แต่พาคณะผู้ว่าราชการจังหวัดและ อบจ. 75 จังหวัดไปทัวร์หรูต่างประเทศ ล้วนแล้วแต่เป็นการผลาญเงินงบประมาณ และเหมือนเป็นการหาเสียงเลือกตั้งล่วงหน้า จนถูกเรียกว่า “โคตรประชานิยม” โดยพยายามขายความฝันลมๆแล้งๆให้ประชาชนเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์สามารถทำให้ประเทศไทยเป็น “รัฐสวัสดิการ” ได้ แทนที่จะแก้ปัญหาที่รากเหง้า คือปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้และชนชั้นในสังคม และความอยุติธรรมของรัฐบาลขณะนี้

แม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังออกมาติงการต่ออายุมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ รวมถึงพยุงราคาก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวีว่าอาจทำให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาดที่อาจส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจได้ แม้จะเป็นความตั้งใจของรัฐบาลในการดูแลค่าครองชีพของประชาชน แต่มาตรการต่างๆไม่ควรใช้นานเกินไป ควรปล่อยให้ระบบเศรษฐกิจไทยเคลื่อนไหวสอดคล้องกับตลาด

ศอฉ. ถลุงงบกว่า 5,000 ล้าน

ไม่ว่านายอภิสิทธิ์จะพยายามสร้างภาพและสร้างความชอบธรรมที่จะอยู่ในอำนาจต่อไปอย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ยังถูกบันทึกว่าเป็น “ผู้นำมือเปื้อนเลือด” อยู่ดี เช่นเดียวกับผู้นำกองทัพที่รับผิดชอบการปฏิบัติการที่ไม่อาจปฏิเสธว่าทหาร ฆ่าและทำร้ายประชาชนได้ เหมือนการทุจริตคอร์รัปชันที่ดูเหมือนจะเงียบหายไป ไม่ว่าจะเป็นไม้ล้างป่าช้า “จีที 200” เรือเหาะ และการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ต่างๆ

แม้แต่ค่าใช้จ่ายของ ศอฉ. ที่คาดว่าจะมีมากกว่า 5,000 ล้านบาท นับตั้งแต่กองทัพเข้ามารักษาความสงบเมื่อวันที่ 12-22 มีนาคม มีค่าใช้จ่ายประมาณ 280 ล้านบาท หรือประมาณวันละ 30-40 ล้านบาท แต่หลังจากขยายเวลาและเพิ่มกำลังพลจาก 50,000 คน เป็น 64,000 คน ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม-30 พฤษภาคม และวันประกาศยกเลิกเคอร์ฟิว รวมยอดค่าใช้จ่ายประมาณ 3,400 ล้านบาท (เฉพาะเบี้ยเลี้ยง) แต่เมื่อรวมการเบิกจ่ายเป็นล็อตๆ ในรูปแบบงบสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็น รวมถึงค่าเชื้อเพลิงและค่าใช้จ่ายย่อยอื่นๆ มียอดค่าใช้จ่ายสูงกว่า 5,000 ล้านบาท และหากยังมีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อคาดว่าค่าใช้จ่ายจะยังมีต่อไป

ดีเอสไอปลุกผีคดีล้มเจ้า

ดังนั้น การคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินจึงไม่ใช่แค่ทำให้นายอภิสิทธิ์สามารถใช้อำนาจได้เยี่ยงรัฐบาลเผด็จการทหารเท่านั้น ยังทำให้นายอภิสิทธิ์และพรรคร่วมรัฐบาลสามารถใช้เงินงบประมาณเพื่อสร้างคะแนนเสียงและกลบเกลื่อนเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันอีกด้วย

แม้แต่แผนปรองดองก็สามารถดึงนายอานันท์และ นพ.ประเวศมาเป็นกันชนให้ได้ อีกด้านหนึ่งรัฐบาลและ ศอฉ. กลับพยายามให้ข่าวเรื่องการก่อการร้ายและการก่อวินาศกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมที่จะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไป

ล่าสุด ศอฉ. ยังมีการพิจารณาคดีล้มเจ้า โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้อำนวยการ ศอฉ. มอบหมายให้นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน โดยมีคำสั่งให้สนธิกำลัง 19 หน่วยงานนำข้อมูลมารวมกันแล้วตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 9 ชุดคือ ชุดการข่าว ชุดเทคโนโลยีสารสนเทศ ชุดการเงิน ชุดคดีการต่างประเทศ ชุดคดีจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ชุดที่ ศอฉ. ตั้งขึ้นมาตรวจสอบ ซึ่งมี 2 ชุด ชุดเลขาธิการ และชุดฝ่ายอำนวยการและสนับสนุน สอบสวนตามแผนผังกลุ่มขบวนการล้มเจ้าที่ ศอฉ. เคยแจกจ่าย

ปลุกผีจนกลัวเงาตัวเอง

ดังนั้น การที่นายสุเทพและ ศอฉ. ยืนยันว่ากรุงเทพฯยังเป็นพื้นที่ล่อแหลมถึง 68 จุด จึงไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยสั่งคุมเข้มคลังน้ำมันตลอด 24 ชั่วโมง หลังเกิดการยิงอาร์พีจีใส่ถังน้ำมันของกรมพลาธิการทหารบก จังหวัดนนทบุรี ซึ่งมีการตั้งคำถาม ศอฉ. ทันทีว่าเป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อจะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปหรือไม่ เพราะถังน้ำมันเป็นถังเปล่า ซึ่งผู้ลงมือต้องรู้ข้อมูลภายในเป็นอย่างดี

รวมทั้งการให้ ศอฉ. ตรวจสอบการระงับธุรกรรมทางการเงินของ 83 บัญชีดำที่เชื่อว่ามีการเคลื่อนไหวส่งท่อน้ำเลี้ยงให้คนเสื้อแดงออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง และการให้ดีเอสไอเดินหน้าคดีล้มเจ้า จึงเหมือนการปูพรมไล่ล่าและกวาดล้างคนเสื้อแดงและฝ่ายตรงข้ามครั้งใหญ่อีกครั้ง แม้ข้อกล่าวหาไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อการร้ายหรือล้มเจ้า จนขณะนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน นอกจากการเอาข้อมูลและหลักฐานต่างๆมาโยงกัน เช่น กรณีไอ้โม่งชุดดำยังไม่สามารถจับตัวได้ มือเผาศูนย์การค้าก็ยังจับไม่ได้

โดยเฉพาะคดีล้มเจ้าที่ถูกนำมาปลุกระดมอีกครั้งนั้นไม่ต่างอะไรกับการปลุกผีขึ้นมาเล่นงานคนเสื้อแดงและฝ่ายตรงข้าม ที่นำรายชื่อมาเชื่อมโยงในแผนผังของ ศอฉ. จนถูกวิพากษ์วิจารณ์และแดกดันให้เป็นนวนิยายรางวัลยอดเยี่ยมแห่งปี

ขณะที่นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในรายชื่อในแผนผัง เขียนบทความประชดนายอภิสิทธิ์ว่าเหมือนเป็นการสร้าง “ภาพละครแขวนคอ” ย้อนไปครั้ง 6 ตุลา ที่กลุ่มขวาจัดใช้กล่าวหานักศึกษาและนำไปสู่การสังหารโหด

เช่นเดียวกับนายไมเคิล มอนติซาโน ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทย สถาบันศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สิงคโปร์ วิจารณ์รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ว่าใช้การข่มขู่โดยอ้างความชอบธรรมในระบบเผด็จการอย่างเบ็ดเสร็จอย่างในอดีต ที่ออกแบบด้วยนโยบายชวนเชื่อสุดโต่ง ซึ่งยิ่งสร้างกระแสความเกลียดชังให้รุนแรงเหมือนเหตุการณ์ในอดีตเมื่อสองหรือสามทศวรรษที่ผ่านมา

วันนี้นายอภิสิทธิ์จึงไม่ต่างอะไรกับการย่ำไปบนซากศพและกองเลือดที่ รัฐบาลและ ศอฉ. ใช้วาทกรรมตอแหลต่างๆสร้างผีร้ายขึ้นมา เพื่อทำลายล้างศัตรูทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นระบอบทักษิณ ขอพื้นที่คืน กระชับวงล้อม ผู้ก่อการร้ายและล้มเจ้า ซึ่งในที่สุดก็จะย้อนกลับเข้าหาตัวเอง

วันนี้นายอภิสิทธิ์จึงเหมือนพยายามหนีเงาตัวเองจากซากศพและกองเลือดของคนเสื้อแดง ซึ่งจับยัดใส่หม้อแลัวเอาผ้ายันต์มาผูกปิดไว้ แต่กลับกลัว “ผีก่อการร้าย” และ “ผีล้มเจ้า” ที่เขียนขึ้นมาเอง ซึ่งจะตามหลอกหลอนนายอภิสิทธิ์ไปจนชั่วลูกชั่วหลาน!