ซุกข้อเท็จจริง

ซุกข้อเท็จจริง
ที่มา : ข่าวสดรายวัน 12 ตุลาคม 2553 หน้า 6
คอลัมน์ : เหล็กใน

แม้จะเหมือนช้าแต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไร เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ดีเอสไอ กรมราชทัณฑ์ ตำรวจ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ เพื่อเข้าไปตรวจสอบในเรือนจำรวม 17 แห่งทั่วประเทศ

เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงผู้ชุมนุมเสื้อ แดง หรือแม้กระทั่งคนไม่เกี่ยวข้องรวม 175 ราย ที่ถูกคุมขังหลังถูกจับในช่วงการชุมนุมของเสื้อแดง ว่าถูกต้องและชอบธรรมเพียงใด!??

เนื่องจากที่ผ่านมามีเสียงร้องเรียน ของญาติและผู้เกี่ยว ข้องจำนวนมากว่า ‘ทหาร’ที่ในช่วงชุมนุมมีอำนาจล้นฟ้าจากพ.ร.ก.ฉุกเฉิน กวาดต้อนคนจำนวนมากยัดห้องขังโดยไม่สอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน!??

ไม่กี่วันก่อน ‘ข่าวสด’ นำเสนอเรื่องราวของเหยื่อหลายรายที่ถูกขังคุกโดยยังมีข้อสงสัย ไม่ว่าจะเป็น ‘ส.ต.รชต วงศ์ยอด’ หนึ่งในผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย ที่ดีเอสไอควบคุม และฝากขังไว้เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน

นายกฤษณะ ธัญชยพงศ์ และนายสุระชัย พริ้งพงศ์ ที่เข้าร่วมการชุมนุม แล้วถูกจับกุมศาลตัดสินจำคุกคนละ 1 ปี ตอนนี้อยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรม

ส.ต.รชต ถูกระบุว่าเป็นมือขวาของ’เสธ.แดง’ โดย ดีเอสไอ อ้างว่ามีบทบาทอย่างมากระหว่างการชุมนุม!??

แต่ฝ่ายส.ต.รชต ซึ่งเข้าพบตำรวจหลังถูกออกหมายจับยืนยันว่าช่วงชุมนุม เขาฝึกอยู่ในค่ายทหารที่ปราจีนบุรี สลับกับการลงพื้นที่ภาคใต้ โดยมีหลักฐานทั้งหนังสือรับรองจากต้นสังกัด หลักฐานบันทึกการเข้าเวร และอื่นๆ

น่าตกใจว่าจากวันที่ถูกควบคุมตัวจนถึง วันนี้เกือบ 3 เดือนแล้ว แต่ดีเอสไอที่เป็นเจ้าของคดี ยังไม่เคย ไปสอบปากคำพยานของฝ่ายส.ต.รชต แม้แต่ปากเดียว!??

พี่สาวของทหารนายนี้ต้องมาร้องเรียน เพราะน้องชายติดคุกฟรีมานานหลายเดือน

เช่นเดียวกับนายกฤษณะและนายสุระชัย ซึ่งเปิดใจถึงวันที่ถูกจับว่ามีทหารตั้งด่านเรียกตรวจ ก่อนควบคุมตัวพาไปสอบสวนอย่างดุดัน และบังคับให้รับสารภาพ

ทั้งคู่ระบุว่าต้องยอมทำทุกอย่างที่สั่งเพราะกลัวตาย

ผลที่ตามมาก็คือทุกวันนี้ทั้ง 2 คนถูกจองจำอยู่ในคุก

เชื่อว่าในเรือนจำทั่วประเทศมีเหยื่อแบบนี้อีกจำนวนมาก จึงเป็นการดีที่คณะกรรมการร่วมฯ จะเข้าไปสอบข้อเท็จจริง

โดยเฉพาะกับเหยื่อที่ผู้มีอำนาจทั้งทหาร ดีเอสไอ หรือกระทั่งตำรวจ ไม่ได้สอบสวนอย่างรอบด้าน มองเพียงว่าพวกนี้คือกลุ่มเสื้อแดง

จึงจงใจละเลยข้อเท็จจริง หรือถึงขั้นซุกข้อเท็จจริงเอาไว้ ต้องรีบช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด

เพราะเท่ากับส่งผู้บริสุทธิ์เข้าคุก!!!

 


เทียบ “มาตรฐาน” คดีม็อบก่อการร้าย ยึดทำเนียบ-สนามบิน กับปิด “ราชประสงค์”

เทียบ “มาตรฐาน” คดีม็อบก่อการร้าย ยึดทำเนียบ-สนามบิน กับปิด “ราชประสงค์”
ที่มา : ข่าวสดรายวัน ปีที่ 20 ฉบับที่ 7206 วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2553
คอลัมน์ : รายงานปทุมวัน

เป็นความแตกต่างที่เห็นเด่นชัดอย่างยิ่งในการดำเนินคดี “ก่อการร้าย” ระหว่าง กลุ่มพันธมิตรฯ หรือเสื้อเหลือง และกลุ่มนปช. หรือเสื้อแดง

ไม่เพียงเท่านั้นแม้แต่แนวร่วม รวมไปถึงผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเพียงแต่แสดงออกในทางเป็นคุณกับสีใดสีหนึ่ง ก็แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด จนเป็นที่มาของการกล่าวหาเรื่อง “2 มาตรฐาน”

ทั้งที่จะว่าไปแล้วพฤติการณ์ของทั้ง 2 ม็อบนั้น คล้ายคลึงกันอย่างยิ่ง จะต่างก็เพียงความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการก่อม็อบ

ในส่วนของพันธมิตรฯ ชุมนุมอย่างยืดเยื้อมาตั้งแต่ยุคพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ จนเป็นหนึ่งในสาเหตุให้เกิดการปฏิวัติ

หลังการเลือกตั้งใหญ่ปลายปี 2550 พรรคพลังประชาชน ขึ้นมาบริหารประเทศ แต่เพียงไม่นานพันธมิตรฯ ก็ก่อหวอดอีกครั้ง ตอนแรกเข้ายึดทำเนียบรัฐบาล แต่รัฐบาลขณะนั้นไม่สนใจจึงเริ่มเคลื่อนไหวหนักขึ้น โดยล้อมรัฐสภาจนเกิดเหตุวันที่ 7 ตุลาคม 2551 บุกเข้าถล่มสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 สุดท้ายบุกเข้ายึดสนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมือง ก่อนที่จะเกิดกรณียุบพรรคพลังประชาชน

ทำให้ประชาธิปัตย์ขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

แม้จะทำสำเร็จที่โค่นรัฐบาลซึ่งระบุว่าเป็นนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่แกนนำและผู้ชุมนุมบางส่วนก็ถูกดำเนินคดี ในข้อหาก่อการร้ายจากเหตุยึดสนามบิน

ห้วงเวลานี้เองก็เกิดม็อบสีแดงโผล่ขึ้นมา

เดือนเมษายน 2552 สร้างความปั่นป่วนไปทั่วเมืองกรุง ก่อนจะพ่ายแพ้ไปอย่างยับเยิน กระทั่งมารวมตัวอีกครั้งช่วงเดือนมีนาคม 2553

ในครั้งหลังนี้เหมือนเดินรอยตามพันธมิตรฯ ก็ไม่ปาน เริ่มจากการตั้งเวทีสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ก่อนขยายวงมายังแยกราชประสงค์ แล้วจึงเกิดเหตุสลายการชุมนุมจนมีคนเสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

แกนนำถูกแจ้งข้อหาก่อการร้าย เหมือนนพันธมิตรฯ ที่โดนคดีก่อการร้ายสากลยึดสนามบิน

แต่น่าสนใจตรงที่กระบวนการยุติธรรมของไทยใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนก็สามารถสรุปคดีเสื้อแดง ส่งฟ้องแกนนำรวม 19 คน ส่งขึ้นศาลพร้อมข้อกล่าวหาสารพัด รวมไปถึงโยนบาป 91 ศพพ่วงไปด้วย

แต่กลับฝ่ายพันธมิตรฯ ที่ถูกดำเนินคดีตั้งแต่ปลายปี 2551

ผ่านมาเกือบ 2 ปี ถึงวันนี้คดียังอยู่ในชั้นตำรวจเท่านั้น

และที่ยิ่งกว่านั้น แทบทุกหน่วยงานของรัฐเร่งรีบอย่างยิ่งในการเล่นงานแกนนำเสื้อแดง ขณะเดียวกันแทบทุกหน่วยงานของรัฐ กลับเชื่องช้าอย่างยิ่งกับคดีของเสื้อเหลือง ทั้งที่ม็อบทั้ง 2 สีถูกแจ้งข้อหาก่อการร้ายเหมือนกัน!??

กลุ่ม นปช.หรือเสื้อแดง พยายามอย่างยิ่งที่จะเรียกร้องและแสดงให้เห็นถึงปัญหา 2 มาตรฐานทั้งจากรัฐบาลและกระบวนการยุติธรรม แต่รัฐบาลและหน่วยงานอื่นๆ อ้างเป็นเสียงเดียวกันว่าทำตามกฎหมายเหมือนๆ กัน

ทว่าสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ หาใช่เช่นนั้นไม่

ขณะที่คดีพันธมิตรฯ ถูกฝ่ายการเมืองและอื่นๆ กดดันอย่างหนัก ทำให้พนักงานสอบสวน นำโดย พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้ช่วยผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน ทำงานได้อย่างเชื่องช้า

ถึงกระนั้นช่วงเดือนมีนาคม ที่ผ่านมาก่อนที่ม็อบเสื้อแดงจะเริ่มการชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพฯ ก็สามารถสรุปสำนวนหอบเอกสารไปขอหมายจับจากศาลได้

แต่พนักงานสอบสวน ต้องขนสำนวนกลับเมื่อ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการแทนผบ.ตร. ให้ดึงเรื่องกลับ และส่งเรื่องไปให้หน่วยงานด้านกฎหมายพิจารณาสำนวนผู้ต้องหาแต่ละคนอย่างละเอียด!??

ผ่านไปหลายเดือนก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า พล.ต.ท.สมยศ ใช้วิธีออกหมายเรียกผู้ต้องหาให้มาพบ แต่ก็เดินทางมาเพียงส่วนน้อย ขณะที่แกนนำไม่มีใครโผล่มาสักรายเดียว

โดยใช้วิธีส่งทนายมาขอเลื่อนนัดออกไปเรื่อยๆ พร้อมกับร้องไปยังอัยการสูงสุดให้สอบพยานเพิ่มเติมนับพันปาก

ถึงวันนี้คดีก่อการร้ายของพันธมิตรฯ อยู่ในขั้นตอนการออกหมายเรียก และยังไม่แน่ชัดว่าจะจบลงได้เมื่อไหร่

ไม่เพียงเท่านั้นล่าสุดกลุ่ม 40 ส.ว. ซึ่งแต่ละคนแนบแน่นยิ่งกับพันธมิตรฯ เชิญพล.ต.ท.สมยศ มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินคดี พร้อมข้อกล่าวหาต่างๆ โดยเฉพาะกรณี 2 มาตรฐาน!??

กลุ่มส.ว.รุมซักถามและตั้งข้อสังเกตว่า การออกหมายเรียกดังกล่าวอาจไม่ชอบด้วยหลักธรรมาภิบาล เพราะเป็นไปในลักษณะเหวี่ยงแห และการตั้งข้อหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นข้อกล่าวหาที่เกินความจริง

สุดท้ายกลุ่มส.ว.เสนออยากให้ตำรวจโอนคดีไปให้ดีเอสไอทำ โดยอ้างว่าเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกับคดีเสื้อแดง ที่ดีเอสไอรับผิดชอบอยู่

หากดีเอสไอทำคดีพันธมิตรฯ ด้วยบรรทัดฐานเดียวกับเสื้อแดง ถือว่าเป็นเรื่องดีอย่างยิ่ง!??

หากคดีเสื้อเหลืองโอนไปดีเอสไอจริง และใช้บรรทัดฐานเดียวกับคดีเสื้อแดง ก็เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าคดีคงสรุปจบในเวลาอันสั้น และการตายของผู้ชุมนุม 2 รายเมื่อวันที่ 7 ตุลา คม 2551 ก็น่าจะสรุปออกมาอีกแบบหนึ่ง

รวมไปทั้งการขอสอบพยานเพิ่มเติมของพันธมิตรฯ กว่าพันปาก ก็น่าจะยุติลงไปเหมือนที่ทำกับเสื้อแดงเป็นบรรทัดฐาน ทั้งแกนนำก็น่าจะถูกส่งเข้าไปควบคุมตัวในเรือนจำ เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกับแกนนำเสื้อแดง เพราะหากต้องการให้เสื้อเหลืองได้รับบรรทัดฐานเดียวกับเสื้อแดง ในคดีก่อการร้ายเหมือนกัน ทุกขั้นตอนก็สมควรจะเหมือนหรือใกล้เคียงกัน

คดีก่อการร้ายที่แกนนำเสื้อแดงรวม 19 คน ถูกแจ้งและดำเนินการสอบสวนโดยดีเอสไอ เริ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม หลังทหารขนกำลังออกมาปราบผู้ชุมนุมอย่างเด็ดขาดและราบคาบเมื่อวันที่ 19-20 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

แกนนำบางส่วนหลบหนี บางส่วนได้ประกัน แต่ส่วนใหญ่ถูกคุมขังในเรือนจำ เช่นเดียวกับผู้ชุมนุมจำนวนมากที่ถูกขังไว้ในพื้นที่ต่างๆ

ผ่านไปราวๆ 2 เดือนเศษ ดีเอสไอมีกระบวนการสอบสวนที่รวดเร็วและทันอกทันใจอย่างยิ่ง เพราะสามารถสรุปสำนวนส่งให้อัยการช่วงต้นเดือนสิงหาคม ขณะที่กระทรวง ยุติธรรมโดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม ทำหนังสือถึงอัยการสูงสุดเร่งรัดสั่งฟ้องคดีของแกนนำนปช. ก่อนครบกำหนดฝากขังผัดสุดท้าย มิเช่นนั้นต้องปล่อยตัวทั้งหมดออกจากเรือนจำ

พนักงานอัยการพิจารณาสำนวนอยู่ไม่นานก็มีคำสั่งเห็นชอบกับดีเอสไอ ส่งฟ้องแกนนำนปช.รวม 19 คนขึ้นสู่การพิจารณาชั้นศาลเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม หรือก่อนครบกำหนดฝากขังผัดสุดท้ายเพียงไม่กี่วันเท่านั้น!??

หากนี่คือบรรทัดฐานเกี่ยวกับคดีก่อการร้าย ก็น่าจะเป็นบรรทัดฐานของผู้ต้องหาทุกคนในคดีเดียวกันนี้ ไม่ว่าจะเสื้อสีอะไรก็ตาม

รวมถึงบรรทัดฐานของดีเอสไอ และอัยการที่ไม่เห็นด้วยที่จะสอบพยานเพิ่มเติมตามที่ผู้ต้องหาร้องขอ

ยิ่งหากดูถึงคำบรรยายฟ้องของดีเอสไอ และอัยการที่ส่งฟ้องแกนนำนปช.ทั้ง 19 คน หากเสื้อเหลืองหรือกลุ่มส.ว.สายพันธมิตรฯ อยากให้ใช้บรรทัดฐานเดียวกับเสื้อแดง ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นคุณหรือโทษกับพันธมิตรฯ กันแน่

เนื่องจากคำบรรยายฟ้องของดีเอสไอ และอัยการที่มีต่อนปช. คือการโยนความผิดในทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุม ไปสู่แกนนำทั้ง 19 คนอย่างเด็ดขาดยิ่ง

ไม่เว้นแม้แต่ 91 ศพที่สูญเสียคำบรรยายฟ้องก็เชื่อว่าเกี่ยวกับแกนนำทั้งหมด

ในคำบรรยายฟ้องสรุปพฤติกรรมของแกนนำนปช.ทั้ง 19 คนในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย และอื่นๆ

“ตามฟ้อง โจทก์สรุปว่า เมื่อวันที่ 28 ก.พ.-20 พ.ค.2553 ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งหมดได้ยุยงปลุกปั่นประชาชนทั่วราชอาณาจักรไทย ให้เข้าร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลและบังคับขู่เข็ญ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ให้ประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ อ้างว่านายอภิสิทธิ์ มาเป็นนายกฯ โดยมิชอบ และให้ยกเลิกรัฐ ธรรมนูญปี 2550”

“จำเลยได้ร่วมกันจัดการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนหลายหมื่นคน ที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนิน ตั้งแต่สี่แยกคอกวัวถึงสี่แยกมิสกวันและถนนพิษณุโลกจากสะพานชมัยมรุเชฐถึง สี่แยกวังแดง และแยกราชประสงค์ มีการเดินขบวนไปปิดล้อมสถานที่ต่างๆ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง รัฐสภา กรมทหารราบที่ 22 และบ้านพักของนายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรี”

หากใช้บรรทัดฐานเดียวกัน แกนนำพันธมิตรฯ คงย่ำแย่เพราะปลุกปั่นประชาชน และรวมตัวกันเพื่อกดดันให้นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ ลาออก

เช่นเดียวกับการยึดทำเนียบฯ ปิดล้อมรัฐสภา และยึดสนามบิน ของเสื้อเหลือง ก็น่าจะไม่ต่างกันนักกับการยึดสี่แยกราชประสงค์

จะมีที่แตกต่างกันบ้างก็คือ ช่วงม็อบเสื้อแดงเกิดเหตุรุนแรงมากมายยิ่ง ซึ่งในคำฟ้องก็โยนทุกคดีให้กับแกนนำรับเละไปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเหตุยิงเอ็ม 79 หรือระเบิดสถานที่ต่างๆ รวมไปถึงการปะทะ เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่สี่แยกคอกวัว การสลายม็อบเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ที่แยกราชประสงค์ ทำให้มีทหารและประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก คำบรรยายฟ้องก็สรุปว่าเป็นฝีมือของแกนนำและผู้ชุมนุมทั้งสิ้น

ระหว่างคดีก่อการร้ายของเสื้อเหลือง และเสื้อแดง ใช้มาตรฐานเดียวกันหรือไม่

สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ คงตอบคำถามได้อย่างดีแล้ว!??


สันหลังหวะ

สันหลังหวะ
ที่มา : ข่าวสดรายวัน ปีที่ 20 ฉบับที่ 7205 วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2553
คอลัมน์ : เหล็กใน
credit to Octoberist Kontula

สะท้อนภาพได้เด่นชัดอย่างยิ่ง เด่นชัดถึงที่สุด

ไม่ว่าจะเป็นกรณีใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เล่นงานนักเรียน-นักศึกษาที่จ.เชียงราย

ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมาดๆ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับการขัดขวางมิให้นิสิตแสดงออกด้านการเมืองด้วยการชูป้ายประท้วงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ที่เดินทางไปร่วมเสวนางานคณะรัฐศาสตร์

รวมไปถึงการออกคำสั่งจากหน่วยงานด้านการศึกษาไปถึงมหาวิทยาลัยทุกแห่ง ให้จับตากิจกรรมและการแสดงละครการเมืองของนิสิต-นักศึกษา

แม้นายอภิสิทธิ์ รวมไปถึงรัฐบาลจักสามารถปฏิเสธได้เต็มปากเต็มคำว่าไม่เกี่ยวข้อง

เพราะที่เชียงรายเป็นดุลยพินิจของตำรวจ ที่ดำเนินคดีกับเด็กเพียง 5 คนที่ออกมาถือป้ายเงียบๆ อยู่ริมถนน

ในขณะที่ตำรวจนครบาลนิ่งเฉยอย่างยิ่งกับการรวมพลอย่างเอิกเกริกของพันธมิตรฯ ถึง 2 ครั้ง 2 ครา

ส่วนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นดุลยพินิจของอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ในการขัดขวางมิให้นิสิตของตนแสดงออกทางการเมือง

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนิสิต-นักศึกษาในยามนี้ อยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่ไม่ปกติตามระบอบประชาธิปไตย

เพราะการถือป้ายประท้วง หรือการจัดกิจกรรมทางการเมือง เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานรูปแบบหนึ่งของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย

ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการเท่านั้นดอก ถึงจะเป็นข้อยกเว้นมิให้พลังของนิสิต-นักศึกษา หรือประชาชนได้แสดงออกทางการเมือง

เราจึงไม่เห็นภาพข่าวการชูป้ายประท้วงหรือเรียกร้องหาความเป็นธรรมในประเทศพม่า หรือประเทศเผด็จการอื่นๆ

แต่เราจะเห็นข่าวกลุ่มคนยืนชูป้ายประท้วงอยู่เนืองๆ ในประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก

เพราะเหล่านี้คือการแสดงออกรูปแบบหนึ่งเพื่อให้ผู้ปกครองประเทศ หรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบได้สำเหนียกว่าสังคมไม่พอใจในเรื่องใด หรือต้องการอะไร

แม้จะพยายามทำความเข้าใจว่าป้ายที่ชูขึ้นมาทั้งที่เชียงราย หรือที่ม.จุฬาฯ เป็นการถามหาความรับผิดชอบต่อการตายถึง 91 ศพของผู้ชุมนุมเสื้อแดง คงแสลงใจนายอภิสิทธิ์

แต่การขัดขวางหรือกำราบมิให้แสดงออก ก็ไม่ต่างจาก”วัวสันหลังหวะ”

ก็ในเมื่อระบบยุติธรรมทั้งดีเอสไอและอัยการต่างก็โยนบาปให้แกนนำนปช. ว่าเกี่ยวข้องกับการตายของผู้ชุมนุมไปแล้ว ไยต้องหวาดกลัวอีกเล่า

หรือรู้อยู่แก่ใจตัวเองดีว่าผู้เสียชีวิตเหล่านั้น ตายด้วยน้ำมือใคร

จึงไม่ต้องการให้มาสะกิดแผลที่เหวอะอยู่เต็มหลัง!??



อภิ-สิทธัตถะ

อภิ-สิทธัตถะ
คอลัมน์ : เหล็กใน
ที่มา :
ข่าวสดรายวัน วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7189

ชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม สังคม ชนชั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อน การพูด อ่าน เขียน แสดงออก ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะเรื่องละเอียดอ่อนเหล่านี้ ก่อให้เกิดวิกฤตปัญหาร้ายแรง สงคราม และการเข่นฆ่ามามากต่อมาก

วิกฤตประเทศไทยทุกวันนี้ เรื่องชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม สังคม ชนชั้น มีส่วนสำคัญ!ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีประเด็น ไทย-มลายู ไทยกลาง-ยาวี พุทธ-อิสลาม ผู้ปกครอง-ผู้ใต้ปกครอง

เหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิตบนราชดำเนิน และราชประสงค์ ที่มีประเด็น อำมาตย์-ไพร่ กรุงเทพฯ-อีสาน คนชั้นสูง-ชั้นกลาง-ชั้นล่าง หรือสดๆ ร้อนๆ กรณีปราสาทพระวิหาร ที่มีประเด็น ไทย-เขมร ชาตินิยม ศักดิ์ศรี อาณาเขต

ละเอียดอ่อนแค่ไหน อย่างไร รับรู้ รับทราบ สัมผัสกันได้? ต้องยอมรับความจริงว่าเพราะไม่ระมัดระวัง ไม่ละเอียดถี่ถ้วน วิกฤตชายแดนภาคใต้จึงยังยืดเยื้อยาวนาน วิกฤตกลางเมืองหลวงจึงมีคนเจ็บ คนตาย คนเดือดร้อนมากมาย วิกฤตปราสาทพระวิหารจึงระอุคุกรุ่นสุ่มเสี่ยงสงครามระหว่างประเทศ

การพูด อ่าน เขียน แสดงออก ไม่เพียงต้องระมัดระวัง ละเอียดถี่ถ้วน ยังต้องมีสติ ปัญญา เหตุผล รอบรู้ เชี่ยวชาญ ฉลาดเฉลียว และยังต้องละเว้นหลีกเลี่ยงการพาดพิงเชื่อมโยง ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ดังกรณีที่กำลังเป็นเรื่อง เป็นประเด็น

นั่นก็คือ กรณีนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรี วันนี้มีสถานะเป็นคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ประกาศยกย่อง นิยม ชมชอบ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เอาใจช่วยให้การปรองดอง การปฏิรูปประเทศ ประสบความสำเร็จ

ก่อนตบท้ายเรียกเสียงฮือฮา ถ้าทำได้จะกลายเป็น “อภิสิทธัตถะ”!!

เพียงแค่ “อภิสิทธิ์” ย่อมไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่เมื่อสมาสสนธิกลายเป็น “อภิ-สิทธัตถะ” ย่อมเป็นเรื่อง เป็นประเด็น เพราะสิทธัตถะ เป็นพระนามของ “เจ้าชาย” แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ เพราะเจ้าชายสิทธัตถะ ต่อมาทรงเป็นพระศาสดาของโลก

“อภิสิทธัตถะ” จึงสุ่มเสี่ยง หมิ่นเหม่

ไม่ว่านายไพบูลย์จะเจตนาดีแค่ไหน อย่างไร ต้องยอมรับเหตุและผลที่ตามมา เพราะศาสดา เพราะศาสนา

ละเอียดอ่อนมากๆ !?


โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนาย”แม้ว”เปิดแผนแก้ข้อกล่าวหา

โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนาย”แม้ว”เปิดแผนแก้ข้อกล่าวหา
ที่มา : ข่าวสดรายวันวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7186

เป็นทนายที่มีชื่อระดับโลก ว่าคดีความใหญ่ๆ ในหลายประ เทศ แต่คนไทยเพิ่งจะรู้จัก โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ในฐานะทนายส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และที่ปรึกษากฎหมายของกลุ่มนปช. รับว่าจ้างมาทำคดีนี้ได้อย่างไร ตั้งเป้าความสำเร็จแค่ไหน ทำไมรับว่าแต่คดีที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาล รวมถึงข้อกล่าวหาพยายามล้มรัฐบาล รัสเซีย นายโรเบิร์ตให้สัมภาษณ์พิเศษกับข่าวสด ไว้ดังนี้

ประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษาและประสบการณ์การทำงาน

ผมเกิดที่บร็องซ์ นิวยอร์ก แต่เติบโตและศึกษาที่ออนตาริโอ แคนาดา ในช่วงวัยเด็ก ผมได้เดินทางท่องเที่ยวและศึกษาที่แอฟริกาและรัสเซีย ก่อนจะกลับไปศึกษาต่อในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยควีนส์ แคนาดา ผมได้ร่วมหุ้นเปิดสำนักงานกฎหมาย กับคุณดีน พีรอฟฟ์ ในปี 2523 เราได้มีโอกาสทำคดีหลายคดี ตั้งแต่คดีที่เกี่ยวกับกฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศ และคดีทางการเมืองที่มีความซับซ้อน

ประสบการณ์การทำงาน ทางด้านกฎหมายที่โดดเด่น

คดีส่วนใหญ่ที่ผมทำจะเกี่ยวกับการจัดการกับบุคคลที่กระทำความผิดโดยไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย เพราะมีอิทธิพลทางการเมือง จากประสบการณ์ของผม บุคคลที่แสดงกิริยารุนแรงก้าวร้าว มักจะต้องพ่ายแพ้อย่างรวดเร็วเมื่อต้องเผชิญหน้ากับหลักการทางกฎหมาย การทำงานในปีแรก ผมเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจของลูกค้า ซึ่งถูกคุกคามจากบริษัทคู่แข่งที่มีสายสัมพันธ์กับนักการเมืองในไนจีเรีย ครั้งหนึ่งคนเหล่านี้พร้อมกับทีมคุ้มกันอาวุธครบมือได้บุกรุก เข้ามาในห้องพิจารณาคดีและบังคับให้เราถอนคดีความ แต่เราปฏิเสธ

ในช่วงเวลาสำคัญที่ผมทำคดีให้กับนายมิคาอิล คอร์โดคอฟสกี้ ผมถูกจับกุมตอนกลางคืนโดยกลุ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยนอกเครื่องแบบของรัฐบาลรัสเซีย เพียงเพราะผมกล่าวในที่สาธารณะว่า คณะอัยการละเมิดกระบวนการทางกฎหมาย เป็นเพียงเหตุการณ์เด่นๆ บางส่วนที่ยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างเท่านั้น ผมไม่อยากให้ทุกคนเข้าใจผิดว่าเรารับทำคดีประเภทนี้อย่างเดียว เพราะสำนักงานกฎหมายของผมได้พัฒนาประสบการณ์การทำงานทางด้านกฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศเป็นระยะเวลาหลายปี โดยทำงานให้กับกลุ่มธุรกิจต่างๆ ที่ไม่ได้เป็นข่าวในหนังสือพิมพ์เช่นกัน เช่น กลุ่มไพรซ์วอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส (Pricewater house Coopers) และเดอะโฟร์ซีซันส์ โฮเทล แอนด์ รีสอร์ต กรุ๊ป (The Four Seasons Hotel and Resort Group)

คดีความส่วนใหญ่ที่รับทำ เป็นการทำงานให้ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล

จริงๆ แล้วผมไม่ได้เพียงแต่ทำงานให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเท่านั้น ผมทำงานเป็นที่ปรึกษาให้หลายรัฐบาล และหน่วยงานรัฐบาลอีกหลายหน่วยงานที่ประสบกับปัญหาที่ถูกคุกคามจากภาคเอกชน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือผมถูกขอให้ไปช่วยเมื่อมีความอยุติธรรมและไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น ระหว่างผู้มีอำนาจและผู้ที่ไม่มีอำนาจ เป็นที่น่าเสียดายว่าประวัติศาสตร์โลกในปัจจุบัน เต็มไปด้วยบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ชอบยึดถืออำนาจรัฐเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตนเอง และทำลายฝ่ายตรงข้าม ทั้งในภาคการเมืองและธุรกิจ

นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมส่วนใหญ่ผมเลือกจะทำงานให้ฝ่ายตรงข้าม ทางการเมืองในหลายๆ ประเทศ

เข้ามาทำงานให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้อย่างไร

ผมได้ติดตามการบริหารงานของคุณทักษิณอย่างห่างๆ โดยใกล้ชิดมาเป็นเวลาหลายปี เพราะสำนักงานของเราสนใจเรื่องกฎหมายธุรกิจที่กำลังเติบโตในตลาดเอเชียตะวัน ออกเฉียงใต้ต้นปีนี้ผมได้พบคุณทักษิณ และอธิบายว่าการกระทำของรัฐบาลไทยนั้นผิดกฎหมาย และไม่มีความชอบธรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศอย่างไร และเพราะเหตุใด และเราอาจจะสามารถเอาผิดรัฐบาลไทยได้

ผมรับรู้ตั้งแต่แรกว่าคดีนี้มีความยากและซับซ้อน แต่ผมเชื่อมั่นว่าการพยายามหาแนวทางนำประชาธิปไตยกลับสู่ประเทศไทยนั้นคือสิ่งที่ดีและควรทำ

คิดว่าจะประสบความสำเร็จในงานนี้ หรือ ไม่ และใช้เวลานานเท่าไร

สิ่งที่เราร้องขอคือให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามกฎหมายของไทยและพันธกรณีระหว่างประเทศ หากคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี) และผู้นำทางทหารเลือกที่จะไม่ป ฏิบัติตามและใช้นโยบายโดดเดี่ยวประเทศแบบพม่า และคนในประเทศไม่ต้องการเช่นนั้น เราจึงร้องขอให้ประชาคมโลกเห็นว่ามีสิ่งที่ผิดปกติที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยภายใต้การนำของรัฐบาลนี้ และประชาคมโลกสมควรจะรับทราบสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ท้ายที่สุด ประชาชนไทยไม่ว่าเสื้อสีอะไร ต้องการที่จะเห็นประเทศก้าวหน้า มีความเป็นธรรม สงบและประสบความสำเร็จ และสิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประเทศไทยมีระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และมีการจัดตั้งระบบการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อแก้ปัญหาความแตกแยก

ซึ่งเป็นวิธีการเดียวที่จะนำมาซึ่งความเป็นอิสระของสถาบันต่างๆ จากรัฐบาล และสร้างระบบนิติรัฐอันแท้จริงเพื่อนำความยุติธรรมมาให้คนทุกคนไม่ใช่แค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

แผนงานที่จะเดินไปสู่เป้าหมายของงานนี้ ต้องทำอย่างไรบ้าง

เรากำลังเตรียมและประเมินแนวทาง การดำเนินคดีระหว่างประเทศ ผมไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลมากก ว่านี้ได้

สมุดปกขาวเป็น ส่วนหนึ่งของแผนการหรือไม่

สมุดปกขาวเขียนขึ้นเพื่อนำเสนอความจริงอีกด้านหนึ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างความรุนแรงทางด้านการเมืองในปีนี้ และบริบททั่วไปทางการเมือง เพื่อที่จะทำให้เกิดความเข้าใจว่ากลุ่มอำมาตย์จัดการควบคุมให้เกิดการปล้นสิทธิ์การเลือกตั้งไปจากประชาชนชาวไทยอย่างไร เราวางแผนว่าจะมีการจัดพิมพ์และเผยแพร่เอกสารชิ้นนี้อย่างกว้างขวาง สมุดปกขาวจะใช้เป็นพื้นฐานการทำงานของเราในลำดับต่อไป แต่นี่เป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น

ระหว่างดำเนินงานตามแผน พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามามีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง

ผมเป็นหนึ่งในนักกฎหมายที่ทำงานให้คุณทักษิณ และผมได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนแก้ต่างให้กับเหยื่อที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ ดังนั้น ผมเป็นผู้รับผิดชอบต่อคำพูดและการกระทำของผมในกิจกรรมรายวัน ส่วนเรื่องดำเนินการทางกฎหมายที่สำคัญผมปรึกษาและขอความเห็นชอบจากคุณทักษิณ

พ.ต.ท. ทักษิณ ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือวางแผนล้มล้างสถาบัน นี่คือข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงใน ประเทศไทย จะต่อสู้อย่างไร

ข้อกล่าวหาต่อคุณทักษิณดังกล่าวนั้นบิดเบือนไม่มีมูลความจริง คู่แข่งขันทางการเมืองใช้ข้อกฎหมายดังกล่าวกลั่นแกล้งคุณทักษิณ เราขอปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และข้อกล่าวหาที่บิดเบือนอื่นๆ

รัฐบาลไทยวิจารณ์ว่าการทำคดีของ มิคาอิล คอร์โดคอฟสกี้ และของคุณทักษิณคล้ายกัน โดยเฉพาะการโน้มน้าวให้สหรัฐเข้ามามีส่วนเกี่ยว ข้อง คิดอย่างไรกับข้อวิจารณ์นี้

ก่อนอื่นผมขอชี้แจงว่าทั้งสองคดีนี้ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ เพราะทั้งสองประเทศและสถานการณ์ทางการเมืองมีความแตกต่างกันอย่างมาก อย่างที่สองคือ ทีมงานของคุณคอร์โดคอฟสกี้ได้กล่าวว่าการฟ้องร้องนั้นเป็นเรื่องทางการเมืองทั้งหมด เราพ่ายแพ้ทุกศาลในรัสเซีย แต่นั่นทำให้ทั่วโลกได้รับรู้ถึงมะเร็งร้ายของการคอร์รัปชั่นในรัสเซีย ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน และผมคิดว่าการที่ทั่วโลกให้ความสนใจในคดีคอร์โดคอฟสกี้นั้นเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ในการทำงานนี้

คดีนี้ ประเด็นหลักคือเราต้องการเปิดเผยให้เห็นการโฆษณาชวนเชื่อที่ผิดๆ ของเหล่าอำมาตย์ ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่ไม่ชอบระบอบประชาธิปไตย และสนับสนุนการยกเว้นโทษให้แก่ผู้กระทำผิด ผมประสบความสำเร็จในการท้าทายเรื่อง การยกเว้นโทษให้แก่ผู้กระทำผิดนี้ในไนจีเรีย เวเนซุเอลา และอีกหลายประเทศ แต่กระนั้นผมแทบจะไม่เคยเห็นสถานการณ์ทางการเมืองที่ไหนที่คนส่วนใหญ่ของประเทศถูกกดขี่ และปฏิเสธการมีส่วนร่วมทางประชาธิปไตย เพราะโครงสร้างทางกฎหมายที่กดขี่อย่างแท้จริง

เราสามารถกล่าวได้อย่างไม่ต้อง สงสัยเลยว่าคุณทักษิณ คือผู้นำคนเพียงเดียวที่ชนะการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอันแท้จริงในปัจจุบัน และคนที่กล่าวหาคุณทักษิณว่าเป็นผู้ก่อการร้าย คือกลุ่มคนที่ขึ้นสู่อำนาจอย่างไม่มีความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย สิ่งหนึ่งที่ผมต้องการชี้แจงคือการที่ผมเป็นตัวแทนแก้ต่างให้คุณทักษิณและคนเสื้อแดงไม่ได้เป็นการทำร้าย แต่ตรงกันข้าม กลับเป็นการปกป้องประเทศไทยจากกลุ่มคนที่อ้างความเป็นเจ้าของประเทศและไม่ฟังเสียงของคนส่วนใหญ่

ในกรณีของท่าทีที่สหรัฐที่มีต่อรัสเซียนั้น สหรัฐไม่เคยพยายามโดยตรงที่จะปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนในรัสเซีย และยิ่งน้อยมากในกรณีของนายคอร์โดคอฟสกี้

จุดมุ่งหมายในการทำคดีของประเทศไทยนี้ เราไม่ได้ต้องการให้ประเทศอื่นเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศ แม้เราคิดว่าประเทศพันธมิตรควรจะแสดงจุดยืนที่ชัดเจน

จุดมุ่งหมายระยะสั้นคือเราต้องการให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศตนเองและพันธกรณีระหว่างประเทศที่รัฐบาลกำลังละเมิดอยู่ในขณะนี้ ข้อเรียกร้องของเราไม่ได้เป็นสิ่งที่เกินจริง และไม่ควรจะต้องให้ประเทศอื่นเข้า มาแทรกแซงเลย

หากรัฐบาลไทยยังยืนยันที่จะละเมิดข้อกฎหมายเหล่านี้อีกต่อไป ทางเราจะมีการดำเนินการตอบโต้ที่มากกว่านี้