เสียงส่วนใหญ่คือความถูกต้อง

ในระบอบประชาธิปไตย เสียงส่วนใหญ่คือความถูกต้อง คือเสียงสวรรค์ แต่พวกเผด็จการทรราชพยายามบิดเบือนสัจธรรมข้อนี้อยู่เสมอ เรามายืนยันความถูกต้องกันเถิด

เสียงส่วนใหญ่คือสัจธรรม หรือสัจธรรมยืนอยู่ข้างคนส่วนใหญ่ การตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ย่อมไม่ผิดพลาด ย่อมถูกต้องเสมอ ในกรณีของผู้เขียนซึ่งประกอบอาชีพเป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินนั้น วิธีการประเมินค่าทรัพย์สินสำคัญวิธีหนึ่งก็คือ การเปรียบเทียบตลาด (Market Comparison Approach) ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินต้องหาข้อมูลให้เพียงพอ ซึ่งเมื่อหาพบแล้ว เราก็จะทราบได้ว่าในตลาดมีระดับราคาที่เรียกว่า “ช่วงชั้นราคาตลาด” (Zone of Market Prices) หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ “หั่งเส็ง” หรือ “หั่งเช้ง” ที่คนส่วนใหญ่ซื้อบ้านในราคาตลาด (Market Prices) ราคานั้นก็จะสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง (Market Value) ของทรัพย์สินที่เราประเมินซึ่งอาจแตกต่างไปบ้างตามลักษณะเฉพาะของทรัพย์สิน

พฤติกรรมตลาด (Market Behavior หรือ Market Practices) ในท้องตลาด เป็นผู้กำหนดราคาตลาด ซึ่งสะท้อนจากความเป็นไปได้ทั้งทางกายภาพ ตลาด การเงิน และกฎหมาย เช่น ในท้องถิ่นหนึ่ง ๆ ที่ดินที่เป็นที่นากับที่ดินที่เป็นสวนยางพารา หรือที่ดินที่มีระบบชลประทานกับที่ดินที่ไม่มี หรือที่ดินที่ถือครองเป็นโฉนดกับที่เป็น สปก.4-01 ย่อมมีราคาที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนตามพฤติกรรมตลาด อย่างไรก็ตามในตลาดที่ไม่สมบูรณ์ (Imperfect Market) กลไกตลาดอาจถูกบิดเบือนไปได้ในบางขณะสั้น ๆ แต่ไมใช่ตลอดไป

อาจกล่าวได้ว่าเมื่อมีตลาด ก็จะมีราคา เพราะตลาดเป็นแหล่งสังเคราะห์อุปสงค์และอุปทานให้ออกมาเป็นราคาตลาด ถ้าเราไม่ฟังเสียงตลาดหรือคนส่วนใหญ่ เราก็จะไม่สามารถทราบราคาที่แท้จริงได้

มีตัวอย่างว่า ครั้งหนึ่งก้อนหินจากดวงจันทร์ถูกขโมยหายไปจากองค์การนาซา ปรากฏว่าหินก้อนนี้มีราคา 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่มีราคาเช่นนี้ก็เพราะมีพฤติกรรมตลาดที่แน่ชัดที่ผ่านการซื้อขายมาหลายต่อ หลายครั้งในตลาด จนสามารถทราบได้นั่นเอง นักวิทยาศาสตร์ประเทศอื่นคงไม่สามารถไปดวงจันทร์ได้โดยง่าย แต่ก็อยากได้หินมาทดลองทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นจึงมีระบบตลาดของหินดวงจันทร์เกิดขึ้น นี่แสดงให้เห็นว่า พฤติกรรมตลาดเป็นตัวกำหนดมูลค่าทรัพย์สิน

อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงอาจมีข้อมูลที่สูงหรือต่ำผิดปกติ (Outliers) อยู่บ้าง ซึ่งย่อมเป็นความผิดพลาด (Errors) ที่อธิบายได้ หรือยังอธิบายไม่ได้ อันเป็นผลมาจากการจดบันทึกหรือเก็บข้อมูลมีความคลาดเคลื่อน มีตัวแปรพิเศษ หรือกลุ่มตัวอย่างแตกต่างไปจากกลุ่มส่วนใหญ่จริง เช่น จากการเก็บข้อมูลในจำนวนที่เพียงพอพบว่า ปกติบ้านแบบเดียวกันในย่านนี้ มีราคา 1 ล้านบาท บวก/ลบ 10% แต่มีบางคนซื้อเพียง 5 แสนบาท เพราะเป็นบ้านเก่าที่ทรุดโทรม หรือมีคนฆ่าตัวตายในบ้าน คนเลยกลัว  ในทางตรงกันข้าม บางคนก็อาจซื้อในราคา 2 ล้านบาท เพราะจำเป็นต้องซื้อหรือเพราะความไม่รู้ เป็นต้น เราจึงต้องร่อนเอาข้อมูล Outliers เหล่านี้ออกก่อนการวิเคราะห์และประมวลผล ไม่เช่นนั้นก็จะถือเป็นข้อมูลขยะ ถ้าเราเอาขยะเข้ามาวิเคราะห์  เราก็จะได้ขยะออกมา (Garbage In, Garbage Out).

ในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าไม่ให้สาวกยึดมั่นในพระพุทธองค์ แต่ให้ยึดมั่นในพระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทนหลังพระองค์ปรินิพพาน ในสมัยพุทธกาลและหลังจากนั้นมาอีกนับร้อย ๆ ปี ก็ไม่มีการสร้างพระพุทธรูป แม้แต่พระวินัยบางข้อ ถ้าที่ประชุมสงฆ์เห็นควรละเว้นแก้ไข พระองค์ก็อนุญาตให้ทำได้  นี่แสดงว่าพระพุทธองค์ยอมรับปัญญา และความเป็นอิสระของคณะสงฆ์ส่วนใหญ่ นอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังปฏิเสธการแบ่งชั้นวรรณะ เห็นคนเท่าเทียมกัน ทรงบวชจัณฑาลเป็นพระสงฆ์ จึงนับว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งประชาธิปไตย และจึงถูกทำลายหรือไม่ก็ถูกควบคุมให้อยู่ใต้อาณัติของวรรณะพราหมณ์และวรรณะ กษัตริย์เรื่อยมา

บางคนอ้างผิด ๆ ว่าเสียงส่วนใหญ่ก็ตัดสินใจผิดพลาดได้ เช่น กรณีการเถลิงอำนาจของนาซี เยอรมนี โดยอ้างว่าฮิตเลอร์ก็มาจากการเลือกตั้ง แต่ในความเป็นจริงก็คือ การเลือกตั้งในปี 2476 ดังกล่าว นาซีไม่ได้ชนะด้วยเสียงส่วนใหญ่ นาซีได้คะแนนเสียงเพียง 44% เท่านั้น ทั้งนี้ยังเป็นการเลือกตั้งสกปรก รวมทั้งการทำลายคู่แข่งของฮิตเลอร์ และแม้นาซีจะชนะการเลือกตั้งใน 33 จาก 35 เขตเลือกตั้ง ก็เป็นการชนะด้วยเสียงที่ได้มากที่สุดแต่ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่อยู่ดี โดยสรุปแล้วในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เป็นเรื่องของปุถุชน ทุกคนรู้เท่าทันกัน เสียงส่วนใหญ่ย่อมถูกต้องเสมอ ไม่มีใครโง่กว่าใคร เราจึงเชื่อมั่นในเสียงส่วนใหญ่ได้

อย่างไรก็ตาม “กฎทุกกฎย่อมมีข้อยกเว้น” เช่น เสียงส่วนใหญ่ของโจรย่อมใช้ไม่ได้ เพราะในความเป็นจริง โจรก็ยังเป็นคนส่วนน้อยในสังคม ในเชิงเทคนิควิทยาการ เช่น การสร้างจรวดไปดวงจันทร์ เราจะถือเสียงส่วนใหญ่ไม่ได้ เราต้องถามผู้รู้ หรือเรื่องความเชื่อแต่เดิมว่าโลกแบน ถ้าให้ประชาชนผู้ไม่รู้วิทยาการออกเสียงในสมัยโบราณว่าโลกกลมหรือแบน ส่วนใหญ่ก็ต้องออกเสียงว่าโลกแบน เป็นต้น

ด้วยข้อยกเว้นเหล่านี้ พวกเผด็จการทรราชจึงนำมาบิดเบือน สร้างความสับสนด้วยการอุปโลกน์ตนเป็นผู้นำ เป็นผู้รู้ เป็นอภิชนเหนือคนอื่น และข่มว่ามหาชนเป็นคนโง่ ถูก “ฟาดหัวด้วยเงิน” ได้โดยง่าย ไร้สามารถ ขาดศักยภาพในการตัดสินใจ จำเป็นต้องมีผู้ยิ่งใหญ่ที่สวรรค์ส่งมาเพื่อนำทางให้อยู่เสมอ ๆ การบิดเบือนเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อให้ท้ายพวกเผด็จการทรราชมาทำการรัฐประหาร แล้วมาควบคุมประชาชน แต่เมื่อเข้ามาแล้ว ก็มาโกงกิน

ดังเช่นที่เห็นตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ สามทรราช รสช. หรืออาจรวม คมช. ด้วยก็ได้ มีใครเชื่อบ้างว่ารัฐบาลสุรยุทธ์และรัฐมนตรีเหล่านั้นใสสะอาดกว่ายุคอื่น ในยุคเผด็จการทรราชมักมีการโกงกินมากกว่าพวกนักการเมืองพลเรือนเพราะขาดการตรวจสอบและเพราะมักอ้างตนมีคุณธรรมเหนือผู้อื่น

เผด็จการทรราชยังใช้อำนาจเขียนประวัติศาสตร์บิดเบือนต่าง ๆ นานา เช่น เมื่อจะโค่นล้มรัฐบาล ป. พิบูลสงคราม ก็กล่าวหาว่ารัฐบาลดังกล่าวโกงเลือกตั้ง ทั้งที่การโกงกันเพียงบางส่วนจากทั้งสองฝ่าย และอาจเป็นการสร้างสถานการณ์การโกงเพื่อก่อรัฐประหาร ในสมัย 6 ตุลาคม ก็หาว่านักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเพื่อตอกย้ำความชอบธรรมของคณะรัฐประหาร ก็จัดแสดงนิทรรศการอาวุธในธรรมศาสตร์ที่สนามไชย ซึ่งผู้เขียนในฐานะนักศึกษาผู้ร่วมชุมนุมคนหนึ่งเชื่อว่าไม่เคยมีอาวุธ สงครามเช่นนั้น หาไม่ตำรวจ ทหารและกลุ่มฝ่ายขวาที่บุกเข้าไปคงต้องเสียชีวิตกันมากมายไปแล้ว

ประชาชนมักถูกมองว่าเป็นแค่ “ฝุ่นเมือง” หรือ “ปุถุชน” (บุคคลผู้มีกิเลสหนา) แต่ในความเป็นจริง ปุถุชนหรือสามัญชนนี่แหละคือเจ้าของประเทศตัวจริง ไม่ว่าชนชั้นปกครองจากชาติใด ราชวงศ์ใด หรือลัทธิใดมาครอบครอง สามัญชนก็ยังอยู่สร้างชาติ รักษาความเป็นชาติ เช่นที่เห็นได้ในประวัติศาสตร์จีน เกาหลี หรือล่าสุดในสมัยสงครามเวียดนามที่มีเพียงประชาชนระดับบนที่มีฐานะและโอกาส ที่ดีกว่าที่หลบหนีออกนอกประเทศเพื่อความอยู่รอดส่วนตัว ดังนั้นเราจึงต้องตระหนักถึงคุณค่าของมวลมหาประชาชน ดังบทกวีที่ว่า

ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า  ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาบสูญ
ไม่มีใครล้ำเลิศน่าเทิดทูน  ประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป
เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่  ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่
เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ  ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

หมายเหตุ: ผู้เขียน เขียนบทความนี้ขึ้นเพื่อแสดงคารวะถึงเกียรติศักดิ์ของสามัญชนที่มักถูกมองข้าม หยามหมิ่น  ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาที่จะให้บทความนี้เป็นผลบวกหรือลบต่อการเมืองฝ่ายใด และที่ผ่านมาและจากนี้ไป ผู้เขียนก็ไม่ได้คิดไปรับใช้การเมืองฝ่ายใด

ที่มา : มติชนออนไลน์ 14 มิถุนายน 2554
โดย : ดร. โสภณ พรโชคชัย


“ชำนิ-ณัฐวุฒิ” สองแนวคิดประชาธิปไตย!

เมื่อวันที่ 1 และ 2 มิถุนายน 2554 ถ้าใครได้ดูรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ ช่วงเจาะข่าวเด่น ของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ทางไทยทีวีสีช่อง 3 คงจะมีความคิดเห็นและความรู้สึกคล้ายดิฉัน… ผู้ร่วมรายการในวันนั้นได้แก่ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย…

โดยประเด็นที่ทั้งสองดวลกันนั้นไล่ไปตั้งแต่เรื่องของแนวทางการปรองดอง การเกิดรัฐประหาร 19 กันยา รวมถึงการเลือกตั้ง…

ในที่นี้จะขอพูดถึงเพียงประเด็นของการเลือกตั้งเท่านั้น ความตอนหนึ่งว่า

“…การเลือกตั้งครั้งนี้ ทุกคนต้องเห็นร่วมกันว่าจะเป็นจุดนับหนึ่งในการสร้างสันติ คือปล่อยให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์ ยุติธรรม แล้วผลการเลือกตั้งเป็นอย่างไรต้องเคารพเจตนารมณ์ของประชาชน จะต้องไม่มีคำพูดว่าเพื่อไทยชนะถึงยังไงก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล ที่คุณชำนิพูดไม่ปฏิเสธว่าใครรวมเสียงข้างมากได้ตั้งรัฐบาล นี่ถูกต้อง แต่ไม่ถูกกับสถานการณ์ในประเทศไทย เวลานี้ประชาชนต้องการการเลือกตั้ง แล้วอยากให้รู้แพ้รู้ชนะในสนาม ใครชนะเป็นรัฐบาลไปก่อน เมื่อเป็นรัฐบาลแล้วก็สร้างกระบวนการปรองดองแล้วมาว่ากันใหม่…”

คุณณัฐวุฒิยังเห็นว่าพรรคอันดับหนึ่งต้องตั้งรัฐบาลได้ พูดตรงไปตรงมามีพรรคเดียวเท่านั้นถ้าพรรคเดียวชนะจะไม่ได้ตั้งรัฐบาลคือพรรคเพื่อไทย.. ชาติไทยพัฒนาชนะ ภูมิใจไทยชนะ ประชาธิปัตย์ชนะ ได้เป็นรัฐบาลหมด โดยคุณชำนิแย้งว่า “…ถ้าเพื่อไทยชนะก็ตั้งรัฐบาล แต่ประชาธิปัตย์จะไม่ตั้งแข่งได้อย่างไร คุณเกิน 251 หรือเปล่า ถ้าคุณเกิน 251 ผมก็ไม่แข่ง จะไปแข่งได้อย่างไรในเมื่อผมมี 249 ถ้าวันนี้ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากก็เป็นความชอบธรรมของสภา เพราะฉะนั้นปัญหาอยู่ที่เมื่อเลือกตั้งจบแล้ว กลัวอย่างเดียว เวลาคนอื่นจะตั้งรัฐบาลทุกเสื้อจะออกมาขัดขวาง เคลื่อนไหวอีก ดังนั้น ต้องยอมรับตรงนี้ก่อน…”

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า “คุณชำนิว่าอะไรก็แล้วแต่มันอยู่ที่ใครสามารถรวมได้เกินครึ่ง หลักอยู่ตรงนี้ อีกฝั่งต้องยอมรับ” นายชำนิตอบว่า “แน่นอน ถูกต้องครับ”

และเมื่อคุณสรยุทธถามสรุปชี้ให้ชัดไปอีกว่า “…คุณณัฐวุฒิบอกว่าพรรคการเมืองอันดับหนึ่งคือเสียงประชาชนบอกว่าคุณเป็น รัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์กำลังบอกว่าใครก็ตามที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้เกิน ครึ่งในสภานั่นคือเสียงประชาชนให้เป็นรัฐบาล มันคนละหลักใช่ไหมครับ” คุณชำนิตอบว่า “ถูกต้อง เราเลือกผู้แทนนี่ครับ”

นอกจากเวทีนี้แล้ว ขอยกข้อมูลจากเว็บไซต์ในโลกอินเทอร์เน็ตที่ยังมีคนตั้งกระทู้เกี่ยวกับ เรื่องดังกล่าว มีผู้ใช้ Username ว่า “ทนทำใจ” ให้ความเห็นว่า “…ฟัง 5 รอบ ต้องขอบคุณสรยุทธเปิดช่องให้ณัฐวุฒิสอนประชาธิปไตย ชอบใจ…  อยากให้คนใหญ่ๆและอยากใหญ่ครอบประเทศได้เก็บไปคิดประชาธิปไตยเป็นอย่างไร และกองทัพควรอยู่อย่างไร กองทัพอเมริกายิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ผู้ยิ่งใหญ่ในกองทัพอเมริกาไม่เคยยึดอำนาจ ไม่เคยประกาศตนเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ และศาลอเมริกาก็ไม่เคยรับองค์รัฏฐาธิปัตย์ดังเช่นประเทศเล็กๆอย่างประเทศ ไทย…”

หรือผู้ใช้ Username ว่า “คนคนนึงในประเทศ” ให้ความเห็นว่า “…ประเทศไทยจะสงบได้ต้องเริ่มจากการได้รัฐบาลที่มาอย่างขาวสะอาดและเป็น สุภาพบุรุษ พรรคที่ได้เสียงรองควรรักษามารยาททางการเมือง ไม่แย่งจัดตั้งรัฐบาลก่อน ควรให้พรรคที่ได้เสียงข้างมากลองพยายามจัดตั้งก่อน และต้องไม่มีขบวนการใดๆเข้ามาแทรกแซงขัดขวางไม่ให้พรรคที่ได้เสียงข้างมาก จัดตั้งรัฐบาลได้ แล้วห้ามมีการชุมนุมไม่ว่าในกรณีใดๆทั้งสิ้น ถึงแม้จะเป็นสิทธิของบุคคลในประเทศประชาธิปไตยก็ตาม ใครออกมาชุมนุมหลังการเลือกตั้งถือว่าไม่รักแผ่นดิน ไม่รักประเทศไทย ปล่อยทุกอย่างให้เป็นกลไกของการปกครองและกฎหมาย…”

ดูคุณณัฐวุฒิดวลนโยบายกับคุณชำนิวันนั้นแล้วขอบอกว่ามันหยดติ๋ง หมดกังวลเลยค่ะ ไม่ใช่เพราะคุณณัฐวุฒิปากดีตีสำนวนเก่งนะคะ แต่เพราะว่าคุณณัฐวุฒิยึดมั่นและแม่นหลักการประชาธิปไตยต่างหาก อีกฝ่ายพายเรือตะแคงออกทะเลเลยค่ะ

ประชาธิปไตย แปลตรงตัวคืออำนาจที่ประชาชนเป็นใหญ่ ประเทศประชาธิปไตยทั้งโลกเค้ายึดหลักการที่ว่า การเลือกตั้งลงคะแนนโดยประชาชนเป็นจุดเริ่มเป็นฐานล่างของอำนาจประชาธิปไตย

เมื่อเกิดปัญหาใดๆขึ้นในประเทศก็ใช้รัฐสภาที่มาจากอำนาจประชาชนเป็น เครื่องมือแก้ปัญหา ไม่ใช่เอะอะก็อ้างนู่นอ้างนี่เพื่อมาละเมิดอำนาจของประชาชนโดยใช้กำลังทหาร ที่คุณณัฐวุฒิเรียกว่า “กองกำลังทราบฝ่าย”

คุณชำนิคะ ในฐานะเพื่อนเก่าเรารู้จักกัน ฉันว่าคุณกลับใต้ไปคิดอ่านทบทวนต่อมสำนึกทางชนชั้นของคุณใหม่เถอะค่ะ เรามันไพร่ประเทศราชด้วยกันทั้งนั้น…

คุณณัฐวุฒิคะ ขอจับมือหน่อยค่ะ ขอบใจนะคะที่ช่วยกันอธิบายอะไรง่ายๆให้ง่ายขึ้นไปอีก

ฉันคิดว่าคุณชำนิเธอคงเข้าใจความหมายของคำว่าประชาธิปไตยขึ้นมามั่งแล้วล่ะค่ะ!

ที่มา : โลกวันนี้ 8 มิถุนายน คอลัมน์ โต๊ะกลมระดมความคิด
โดย : แขลดา วงศ์กสิกร


ธาตุแท้

เชื่อว่าประชาชนจำนวนมากคงรู้สึกเบื่อหน่ายและ อึดอัดกับพฤติกรรมของหลายพรรคการเมืองขณะนี้ที่วนเวียนอยู่กับเรื่องของ อำนาจและผลประโยชน์ว่าพรรคใดจะได้เป็นรัฐบาล และพรรคใดจะได้ร่วมรัฐบาล แทนที่จะเอานโยบายมาเสนอประชาชนให้ชัดเจนไปเลยว่าหากเป็นรัฐบาลจะทำอะไรก่อน และหลังบ้าง หากทำไม่ได้ก็ประกาศให้ชัดเจนไปเลยว่าจะแสดงสปิริตทางการเมือง ไม่ว่าจะลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองหรือยุบสภาเลือกตั้งใหม่ตามระบอบ ประชาธิปไตย

โดยเฉพาะการหาเสียงในลักษณะใส่ร้ายป้ายสีต่างๆ รวมถึงการออกมาเคลื่อนไหวของเครือข่ายพลเมืองคัดค้านนิรโทษกรรมคอรัปชั่น ทักษิณ (คนท.) ที่นำโดยนายแก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน (กลุ่มคนเสื้อหลากสี) นำข้อมูลเข้าร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และอัยการ เพื่อให้สอบสวนคุณสมบัติ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 พรรคเพื่อไทย ว่าแจ้งเท็จต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้การเท็จต่อ คตส. และเบิกความเท็จต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 46,000 ล้านบาท ซึ่งหลังศาลมีคำพิพากษายังไม่มีหน่วยงานใดเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนิน การ

อย่างไรก็ตาม คนจำนวนไม่น้อยตั้งคำถามว่าทำไมนายแก้วสรรและพวกจึงออกมาเคลื่อนไหวในขณะนี้ แม้นายแก้วสรรจะอ้างว่าเป็นการกระทำเพื่อแผ่นดิน ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็ยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับพรรคประชาธิปัตย์ แต่มีคำถามว่าทำไม คนท. จึงสอดรับกับพรรคประชาธิปัตย์ที่โจมตี น.ส.ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยเรื่องการนิรโทษกรรมและแผนบันได 4 ขั้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณเตรียมฟ้องร้องพรรคประชาธิปัตย์ว่านำข้อมูลเท็จมาใส่ร้ายป้ายสี เช่นกัน

เช่นเดียวกับนายอภิสิทธิ์ที่เขียนบันทึกเผยแพร่ทางเฟซบุ๊คว่า เกือบ 20 ปีบนเส้นทางการเมืองยึดมั่นในอุดมการณ์การเมืองระบอบประชาธิปไตย จึงเคารพเสียงของประชาชนที่จะตัดสินใจว่าต้องการให้ประเทศไปทางไหน และพรรคใดเป็นรัฐบาล

จึงมีคำถามถึงนายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ว่า แล้วทำไมจึงประกาศจะจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคเพื่อไทย แม้พรรคประชาธิปัตย์ได้จำนวน ส.ส. เป็นอันดับ 2 ก็ตาม โดยอ้างรัฐธรรมนูญที่ให้ถือเสียงข้างมากในสภานั้น เท่ากับพรรคประชาธิปัตย์และนายอภิสิทธิ์ไม่เคารพเสียงของประชาชนหรือไม่ หากยึดตามเสียงข้างมากของประชาชนที่ต้องถือว่ามีเจตจำนงให้พรรคการเมืองที่ ได้อันดับ 1 เป็นรัฐบาล แม้จะชนะไม่เกินกึ่งหนึ่งก็ตาม ซึ่งนายอภิสิทธิ์น่าจะตอบได้ดีว่าระหว่างเสียงของนักการเมืองกับเสียงของ ประชาชนนั้นใครมีความชอบธรรมกว่ากัน

ที่มา : โลกวันนี้รายวัน 8 มิถุนายน 2554


วิกฤตการเมืองไทยกับบทบาทของกองทัพ

วิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้มีความยุ่งยากมาก ประการหนึ่ง เพราะปฏิกิริยาของฝ่ายอนุรักษนิยม หรือกลุ่มผู้ต้องการรักษาระเบียบสังคมและการเมืองแบบเดิม สามารถอิงสัญลักษณ์อำนาจจากสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีอำนาจด้านกายภาพจากกองทัพ บวกแรงสนับสนุนจากบางส่วนของสังคมและชนชั้นกลางเมืองเป็นตัวหนุนช่วย

ยุทธศาสตร์หนึ่งที่ฝ่ายอนุรักษนิยมใช้ คือ ทำให้ขบวนการทางการเมืองของฝ่ายตรงกันข้าม ที่ต้องการระเบียบใหม่ ไร้ความชอบธรรม เช่น สร้างวาทกรรมว่า ไร้การศึกษา คิดเองไม่เป็น ถูกชักจูงหรือถูกซื้อได้ง่ายๆ

แต่มีงานวิจัยเชิงประจักษ์หลายชิ้น เช่น จากกลุ่มอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จุฬาฯ ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ที่ญี่ปุ่น และที่สหรัฐอเมริกา ที่ชี้ให้เห็นว่าประชาชนต่างจังหวัด และที่อพยพมาทำงานในเมือง มีความตื่นรู้ทางการเมืองที่เป็นระบบ ความตื่นรู้นี้ได้บังเกิดและสะสมมาเป็นเวลานานแล้ว โดยเฉพาะนับตั้งแต่หลัง 14 ตุลา 2516 พวกเขาสามารถคิดเอง ทำเองได้ หาทางเข้าถึงข่าวสารข้อมูลต่างๆ หลายรูปแบบด้วยตัวเองด้วย ดังนั้น พวกเขาจึงรู้เรื่องเมืองไทย และรายละเอียดเกี่ยวกับชนชั้นกลางในเมือง มากกว่าที่ชนชั้นกลางในเมืองจะรู้เกี่ยวกับพวกเขาเสียอีก ประชาชนที่ตื่นรู้เหล่านี้ ต้องการเปลี่ยนระเบียบสังคมและการเมืองเสียใหม่ ให้เป็นประชาธิปไตย และให้พวกเขาได้รับการยอมรับอย่างมีศักดิ์ศรีในฐานะเป็นพลเมืองไทยที่ทัด เทียมกับชนชั้นกลางในเมือง

นักวิชาการชาวญี่ปุ่นรายหนึ่ง หลังจากศึกษาประวัติศาสตร์และสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน จึงมีข้อสรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ความยุ่งเหยิงทางการเมืองปัจจุบัน เป็นขั้นตอนหนึ่งของพัฒนาการประชาธิปไตยของสังคมไทย ประเทศไทยกำลังประสบกับความเจ็บปวดของการเกิดใหม่ เมื่อระบบการเมืองของไทยพร้อมที่จะก้าวขั้นต่อไปข้างหน้า”

แต่เมืองไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้ลำบาก ถ้าไม่มีการยอมรับว่าสังคมเปลี่ยนไปแล้ว และสถาบันต่างๆ ต้องปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงด้วย

สถาบันหนึ่งที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และยังมีบทบาททำให้การก้าวไปข้างหน้า หยุดชะงักได้ด้วยการทำรัฐประหาร การใช้ความรุนแรง และการต่อต้านหลายรูปแบบ ก็คือ สถาบันกองทัพ

นับจากรัฐประหาร 2549 ห้าปีผ่านมานี้แล้ว กองทัพไทยได้ขยายบทบาทในสังคมมากขึ้นมาก จนกล่าวกันหนาหูว่า ถ้ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากกองทัพจะอยู่ไม่ได้

แต่กระนั้น ก็ไม่มีใครถกเถียง หรือตั้งคำถามว่า การที่ทหารมีบทบาทสูงขึ้นดีหรือไม่ดี ? มีผลพวงต่อพัฒนาการของสังคมและการเมืองอย่างไร? และแนวโน้มในอนาคตคืออะไร ?

ที่ว่ากองทัพมีบทบาทสูงขึ้นและขยายขอบเขตนั้น มีอะไรเป็นรูปธรรม ?

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนประการหนึ่ง คือ งบประมาณกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ระหว่างปี 2550 ถึงปี 2552

หากเปรียบเทียบระหว่างประเทศต่างๆ โดยดูสัดส่วนของงบทหารเป็นร้อยละของ GDP สหรัฐในฐานะพี่ใหญ่ของโลก สูงถึงร้อยละ 4 ไทยก็สูงคือร้อยละ 1.8 เทียบเคียงได้กับจีนที่ร้อยละ 2.0 มากกว่าเยอรมนีพี่ใหญ่ของ EU ที่เพียงร้อยละ 1.3 อินโดนีเซียที่ร้อยละ 1.0 และญี่ปุ่นที่เพียงร้อยละ 0.9

หากดูอัตราส่วนของจำนวนทหาร 1 คน ต่อประชากร 1,000 คน (ตัวเลขรวมทหารนอกประจำการและกลุ่มไม่เป็นทางการที่เรียกว่า militia) ของสหรัฐ คือ ทหาร 7.9 คนต่อประชากร 1,000 คน สหราชอาณาจักร 6 คน เยอรมนี 5 คน อินโดนีเซีย 4.1 คน ญี่ปุ่น 2.2 คน

แต่ของไทย ทหาร 10 คน ต่อประชากร 1,000 คน นับว่าสูงมาก จำเป็นอะไรหนักหนาที่จะต้องมีอัตราส่วนทหารถึง 10 คน ต่อประชากร 1,000 คน ?

ประการต่อมา มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญหลังปี 2549 เรื่องกระบวนการโยกย้ายภายในเหล่ากองทัพ ก่อนปี 2549 โผทหารจะถูกพิจารณาโดยนายกรัฐมนตรีก่อนเสนอให้ทรงลงพระปรมาภิไธย นับจากปี 2551 พ.ร.บ. กระทรวงกลาโหมมีการแก้ไข ทำให้โผทหารประจำปี อยู่ในกำกับของกองทัพอย่างสิ้นเชิง บทบาทของนายกฯกระทำผ่าน รมต.กลาโหม ซึ่งถ้า รมต.กลาโหมมาจากฝ่ายทหาร (เช่น อดีตนายพล) หมายความว่าการแต่งตั้งโยกย้ายประจำปี รวมทั้งการแต่งตั้ง ผบทบ. เหล่าทัพต่างๆ จะเป็นเรื่องภายในของกองทัพทั้งสิ้น โดยเป็นเอกเทศจากรัฐบาลพลเรือนอย่างแท้จริง

อดีตนายพลท่านหนึ่งอธิบายว่า นายกฯจะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้สนองพระบรมราชโองการเท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยสวนทางกับแนวโน้มของประเทศประชาธิปไตยพัฒนา แล้วอย่างสิ้นเชิง ที่รัฐบาลจะเป็นผู้กำกับโผทหาร

ประการต่อมา ในประเทศประชาธิปไตยทั่วไป บทบาทของผู้นำฝ่ายทหารมีจำกัด แต่ของไทยผู้นำฝ่ายทหารมีบทบาทสูง และใส่หมวกหลายใบ

มีรายงานในหน้าหนังสือพิมพ์ตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วง 4-5 อาทิตย์ที่ผ่านมา ผบ.ทบ. แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อบ่อยมากในหลายเรื่อง (The Nation, April 24, 2011) เช่น เสนอความเห็นว่ารัฐบาลควรมีนโยบายต่างประเทศเกี่ยวกับกัมพูชา ไปทางไหน

ให้คำแนะนำแก่ผู้ออกเสียงเลือกตั้งว่า เลือกตั้งเพื่อปกป้องพระมหากษัตริย์ และออกมาเลือกตั้งมากๆ จะช่วยปกป้องพระมหากษัตริย์และประชาธิปไตย

ออกคำสั่งให้มีการปิดเว็บไซต์เพิ่มขึ้นด้วยเหตุผลทางการเมือง รวมทั้งให้ทหารในสังกัดแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

เมื่อวันที่ 16 พ.ค. นี้เอง ผบ.ทบ.ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอ.รมน. เสนอให้ยกระดับ กอ.รมน. เป็นทบวงด้านความมั่นคงภายในเหมือนกับ Homeland security department ที่สหรัฐ ที่ตั้งขึ้นมาหลังเหตุการณ์ 9/11 เพื่อต่อต้านการก่อการร้าย (Bangkok Post, May 16, 2011) ซึ่งเมื่อดำเนินการไปในขณะนี้กำลังถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าใช้งบฯมากเกินความ จำเป็น ในการแสวงหาข้อมูล หรือดำเนินการเพื่อป้องกันการก่อการร้าย ได้ใช้วิธีการขัดกับหลักการปกป้องเสรีภาพส่วนบุคคลในรัฐธรรมนูญ แม้กระทั่ง อาจเปิดจดหมายของใครก็ได้ ด้วยเหตุผลของความมั่นคง

ในรายงานกล่าวว่า ผบ.ทบ.ไทยต้องการขยายขอบข่ายงานของ กอ.รมน.ทั้งบุคลากร และงบประมาณด้วย เพื่อจัดการกับการที่ประเทศถูกคุกคามแบบใหม่ๆ และทบวงนี้จะดูแลปัญหาด้านภัยพิบัติจากธรรมชาติ ปัญหาภาคใต้ และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

ผบ.ทบ.ได้เสนอความคิดเห็นนี้กับอดีตนายกฯ (อภิสิทธิ์) แล้ว และอดีตนายกฯก็แสดงความเห็นชอบ

ผบ.ทบ.จึงสั่งการให้มีคณะทำงานเพื่อศึกษาวางแผน และเตรียมเสนอโครงการนี้กับรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง

ทำไมจึงจะต้องขยาย กอ.รมน. รวมทั้งบุคลากร และงบประมาณ ถึงขนาดจะตั้งเป็นทบวงใหม่ ซึ่งขณะนี้งบฯทหารเองก็มากเกินความจำเป็นแล้ว ประชาชนผู้เสียภาษีควรจะมีบทบาทรับรู้และอภิปรายเรื่องนี้ จะมาตกลงกันระหว่าง ผบ.ทบ. และอดีตนายกฯแบบนี้ใช้ได้หรือ ?

เป็นที่ชัดเจนว่าทหารเป็นองค์ประกอบของผู้รักษาระเบียบเก่า ได้ประโยชน์จากระเบียบเก่า อีกทั้งยังเป็นองค์ประกอบของความยุ่งยากในการแสวงหาทางออกให้กับความขัดแย้ง ทางการเมืองโดยสันติวิธี

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมไทยจะต้องมีการอภิปรายกันถึงการขยายบทบาทของ ทหารในสังคมไทยว่าดีหรือไม่ดี ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างไร ? อำนาจของ ผบ.ทบ. ที่ดูเหมือนล้นฟ้าขณะนี้ควรถูกจำกัดให้อยู่ระดับใด?

ที่มา : มติชนออนไลน์ 1 มิถุนายน 2554
โดย : ผาสุก พงษ์ไพจิตร


1 ปี พฤษภาอำมหิต-“ณัฐวุฒิ” เตือนขบวนเสื้อแดงไม่ใช่แค่ “รวมกันเฉพาะกิจ”

ผ่านไปแล้ว 1 ปีในเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นใจกลางเมือง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก หลังจากเจ้าหน้าที่้้เข้าปฏิบัติการกระชับพื้นที่ ซึ่งมีกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงมารวมตัวกันปักหลักอยู่ที่สี่แยกราชประสงค์

นับจำนวนศพผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น ตั้งแต่คนแรกจนถึงคนสุดท้ายที่สิ้นใจ รวม 93 ศพ อีก 2 พันกว่าคนบาดเจ็บ ถูกจองจำนับร้อย หลบลี้หนีหลายสิบคน และอีกนับหมื่นต้องบอบช้ำทางจิตใจ

มีการจัดกิจกรรมรำลึกถึงเหตุการณ์จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ครบรอบ 1 เดือน จนกระทั่งครบ 1 ปี  แม้คนตายไม่อาจฟื้นมาร่วมได้ แต่คนเป็นไม่ว่าจะญาติพี่น้องพ่อแม่ลูก กลายเป็นตัวแทนเข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง ขึ้นมาปรากฏตัวอยู่แถวหน้าของเวที ร่วมต่อสู้เรียกร้องเพื่อคนตาย

การต่อสู้ของคนเสื้อแดงจึงเริ่มเข้มข้นและเข็มแข็งขึ้นโดยภาคประชาชน ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงให้หลุดพ้นจากวังวนความรุนแรง ซึ่งเป็นบทเรียนที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่เหมือนไม่มีใครจำได้

ภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 53  ที่ปรากฏแก่สายตาของผู้ที่ได้เผชิญกับตัวเอง ถึงนาทีนี้ก็คงลืมไม่ลง แม้เจ็บปางตาย ถูกกักขังในเรือนจำ แต่คนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยยังคงหยัดยืนลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องกับ ขบวนการประชาชนอีกครั้ง

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ถูกกวาดต้อนให้กลับบ้าน ท่ามกลางเสียงปืน เสียงระเบิด ร่างคนเจ็บคนตายทยอยผ่านเข้ามาศพแล้วศพเล่า จนแกนนำบางคนไม่อาจจะยืนหยัดต่อสู้ขึ้นปราศรัยกับผู้ชุมนุมได้อีกต่อไป หายตัวไปตั้งแต่เมื่อไร ไม่มีใครทราบได้   และมีเพียงแกนนำไม่กี่คนที่กล้าขึ้นเวทีไปกล่าวอำลาเวทีประกาศยุติการชุมนุม ในขณะที่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่พร้อมจะสู้ แต่เมื่อหัวสั่งถอยหางก็ต้องยอมถอน แม้จะไม่เต็มใจนัก

เหตุการณ์ในครั้งนั้น “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” คือ แกนนำคนสุดท้ายที่ยังสามารถขึ้นเวทีกล่าวกับผู้ชุมนุมให้ล่าถอยกลับบ้าน เมื่อประเมินกำลังดูแล้วว่าไม่อาจต้านทานฝ่ายที่เหนือกว่าด้วยประการทั้งปวง ได้ “ณัฐวุฒิ ” ให้เล่าถึงวินาทีประกาศยุติการชุมนุม ขอให้คนเสื้อแดงกลับบ้านในวันที่  19 พ.ค.ว่า

คนสูญเสียมากและเราเห็นว่าเขาพร้อมจะฆ่า คนเป็นพันคน เราไม่อยากให้มีความสูญเสียอะไรอีก ทั้งที่สูญเสียมาแล้ว เห็นชัดเจนว่าเขาไม่เสียดายชีวิตประชาชน เราก็ต้องหยุด  ต้องเอาตัวไปให้เขาขัง ถึงจะเป็นการหยุด ถ้าหยุดแล้วโดยหลบไปหมด มันก็คือไม่หยุด แต่ถ้าหยุด คือ การเอาไปคุมขัง ส่วนหนึ่งเห็นว่าต้องหนีก็หลบไปไม่ว่ากัน

**แกนนำทิ้งมวลชนไว้ข้างหลังจึงเข้ามอบตัวเพราะกลัวโดนสไนเปอร์

“ที่เสี่ยงตาย มันเสี่ยงกว่าวันนั้นหลายครั้ง ผมหลบออกไปเจรจาในวันที่มืดหมดทั้งกรุงเทพฯก็ทำมาแล้ว กลับเข้ามาก็เสี่ยงออกไปเจรจาก็เสี่ยง  ทีแรกคุยกับ ส.ว.ค่ำวันที่ 18 พ.ค. จะหยุดอยู่แล้ว เพราะบอกว่าจะมีการเจรจาวันที่ 19 พ.ค. แต่กลับไม่มีการเจรจาจริง พอไม่ใช่อย่างนั้นกลายเป็นการฆ่ากันอย่างรุนแรง มันมีการสูญเสียมากขึ้นๆ กว่าจะมาถึงแกนนำคนไม่รู้ต้องตายอีกเท่าไร มันจึงต้องยุติ เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสีย เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องเอาชีวิตมาแลกกับความอำมหิต ไม่รู้ต้องแลกอีกเท่าไร”

**แกนนำหนีเอาตัวรอดหรือเปล่า

“ไม่ครับ ถ้าพวกผมไม่เข้ามอบตัว เขาจะมองว่า สถานการณ์ไม่หยุดลง จะลุกล่า เข้ามาเพื่อจับตัวแกนนำ เพราะมันก็เกิดขึ้นตลอดทั้งวันนั้น ขนาดมอบตัวยังยิงเพิ่มอีก 6 ศพในวัด ถ้ากำลังเจ้าหน้าที่เพิ่มเข้ามา พวกผมหายไปหมดแล้ว มวลชนก็ ไม่รู้อะไรแล้วจะให้ขึ้นไปประกาศได้อย่างไรว่า ” พี่น้องผมหนีก่อน”  ถ้าหลบไปเลยมวลชนก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น  นึกว่าแกนนำถูกอุ้มไปแล้ว มวลชนก็ต้องไปปะทะกับทหารมากขึ้นไปอีก พอตายกันมากๆก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร สุดท้ายจะเกิดการฆ่ากันมหาศาล เพราะเขาไม่คิดว่า นั่นเป็นการหยุด เพราะพวกผมยังไม่ยุติ”

**การมอบตัวคิดว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุด

คือประกาศว่า หยุดแล้ว เดินเข้าไปตารางเพื่ออธิบายว่าเราได้ยุติแล้ัว ถูกขัง 6 เดือน ยังไม่รู้เลยว่าไปมอบตัวแล้วจะเจออะไรบ้าง ไม่รู้ว่าจะเอาไปขังหรือไปยิง ในสถานการณ์แบบนั้นที่เสธ.แดง(พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล) ถูกยิงหัวกลางถนน จะมั่นใจหรือว่าคืนนั้นจะปลอดภัย ไม่มีอะไรอธิบายเรื่องความปลอดภัยได้เลยในตอนนั้น

**ขบวนการต่อสู้ของมวลชนเสื้อแดงระหว่างการเลือกตั้ง ?

มวลชนเสื้อแดงก็จะต่อสู้ให้ชนะการเลือก ต้ั้ง เพราะเขาเห็นแล้วว่า มีแต่รัฐบาลของประชาชนเท่านั้นที่จะให้ความเป็นธรรมและให้ความจริง ต่อสังคมกับเรื่องที่เกิดขึ้น ที่จะเยียวยาผู้บาดเจ็บล้มตายที่เกิดขึ้น ตราบใดที่รัฐบาลไม่ได้เป็นของประชาชนก็เป็นปัญหานี้มาตลอด

“ขบวนประชาชนเติบโตตลอดเวลา วันหนึ่งประชาชนอาจจะเห็นว่าเราเล็กเกินไป กว่าที่จะยืนอยู่ข้างหน้า แต่ผมก็จะเข้าไปในขบวน เพราะมันไม่ใช่การต่อสู้ของผม มันเป็นการต่อสู้ของประชาชน หน้าที่ ของผม คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ประชาชนเติบโตและได้ชัยชนะ  ถ้าเขาชนะ ผมก็ชนะด้วย ในวันที่เขาชนะ ผมอยู่ตรงไหน ไม่ใช่ปัญหาของเรา ปัญหาของเราวันนี้ คือ มีการลิดลอนสิทธิเสรีภาพ มีความไม่เสมอภาคเท่าเทียม”

**มีความพยายามจะช่วยคนที่ยังติดอยู่ในคุกมั้ย

“ยื่นประกันไปแล้ว ที่จังหวัดอุบลราชธานียกมือไหว้ศาลกันกลางบัลลังก์ศาลก็ทำมาแล้วบอกว่าพี่ น้องผมที่นั่งอยู่ 20 กว่าคน พวกเขาไม่ใช่อาชญากรแต่เป็นผู้ถูกกระทำทางการเมือง จึงต้องออกมาต่อสู้ ถ้าไม่มีเหตุบ้านการเมือง คนพวกนี้เป็นชาวไร่ ชาวนา ชาวบ้าน คนธรรมดา แต่สถานการณ์บีบบังคับให้เขาต้องมาสู้ ไปยื่นก็หลายครั้งไม่รู้จะทำยังไงแล้ว

ชาวบ้านหัวใจยิ่งใหญ่มาก การต่อสู้เป็นการต่อสู้ที่แท้จริง ผม ไม่รู้ว่าฝ่ายเผด็จการในประเทศนี้ประเมินขบวนการเสื้อแดงไว้อย่างไร แต่ผมอยากจะบอกว่า คุณกำลังเจอของจริง เจอคู่ต่อสู้ที่ไม่เคยเจอมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 6 ตุลาคม  และ14ตุลาคม   เป็นขบวนการต่อสู้รวมกันเฉพาะกิจ แต่ครั้งนี้ไม่ใช่แค่นักศึกษา มันลึกลงไปถึงระดับตำบล หมู่บ้าน แล้ววันนี้คนเสื้อแดงนั่งรถรถโรลส์รอยซ์ คนไม่มีรองเท้าใส่ก็มี แต่คนพวกนี้ใส่เสื้อสีเดียวกันแล้ว มีจิตวิญญาณต่อสู้กัน”

วันนี้สถานการณ์มันเดินไปถึงขั้นที่ว่า รู้ไหมว่าวันนี้ประชาชนต่อสู้กับใคร   ขบวน การนี้มันค่อยๆเติบโต วันหนึ่งอาจเติบโตจนไม่ต้องการใครมายืนแถวหน้าอีกต่อไป แต่ต้องการคนที่เดินร่วมกันไปเป็นขบวนแล้วนำพาไปสู่ชัยชนะได้ การเยียวยา แน่นอนว่าถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล  ต้องเรียกร้องกันต่อ เสนอว่ามอบเงินเยียวยาให้แก่ผู้เสียชีวิตรายละ 10 ล้าน รวม 91 ชีวิต เป็นเงิน 900 กว่าล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับงบประมาณใช้ในการจัดการกับผู้ชุมนุมใช้เงินไปกว่า 6 พันล้านบาท มันไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำไป

“วันนี้ประเทศจะให้ตกอยู่ในฝันร้าย แล้วเป็นฝันดีของประชาชนไม่ได้  ฝันร้ายของประชาชนคือ เมื่อไหร่ก็ตามที่ประชาชนออกมาต่อสู้จะตายทุกที กลายเป็นบาดแผลในประวัติศาสตร์ รบกันทีมาร้องไห้ทีก็จบ  ฉะนั้นเราต้องนำพาประเทศไทยให้พ้นจากสถานการณ์นี้ ต้องหยุดการฆ่า ด้วยการทำความจริงให้ปรากฏ ไม่เช่นนั้นจะตายกันอีก”

ไม่ได้บอกว่าต้องอาฆาตแค้นไล่ล่ากันตลอด ชีวิต ถ้าไม่รับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่อธิบาย สังคมมันจะกลายเป็นแผลอักเสบ ไม่มีวันรักษา คนถูกฆ่าตายกลางเมืองหลวงเกือบร้อยคน คิดว่าจะไม่เกิดอะไรขึ้นหรือ มันไม่ใช่สมัยโบราณที่ใครชนะเป็นคนเขียนประวัติศาสตร์  ถ้าคิดว่าประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยผู้ชนะขอให้คิดใหม่ วันนี้ประวัติศาสตร์ของผู้แพ้อยู่ในเฟซบุ๊ค อยู่ในเว็บไซต์  ทีวีดาวเทียม วีซีดี และอื่นๆอีกมากมาย ถ้าจะมาอธิบายว่า ฆ่าไปก่อนแล้วค่อยมาเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ วันนี้ประวัติศาสตร์ของผู้แพ้กำลังไล่ล่าความอำมหิตของผู้ชนะอยู่เหมือนกัน

วันนี้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีไม่สำคัญเท่ากับเป็นนายกรัฐมนตรีของไทย ระหว่างของประชาชนกับอำมาตย์ ฝ่ายอำมาตย์ได้กวาดต้อนพรรคการเมืองหมดแล้ว เหลือพรรคเพื่อไทยเพียงพรรคเดียว  “ผมไม่มีทางเลือกอื่น” ณัฐวุฒิกล่าวทิ้งท้ายถึงการเดินเข้าสู่สนามเลือกตั้ง

ที่มา : มติชนออนไลน์ 19 พฤษภาคม 2554
โดย : ชฎา ไอยคุปต์