จับฉ่าย

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงรายละเอียด “โครงการปฏิบัติการประชาวิวัฒน์” โดยบอกว่าเป็น “ของขวัญปีใหม่” ให้กับประชาชน จำนวน 9 ชิ้น หรือ 9 แผนปฏิบัติการ ซึ่งจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 11 มกราคมนี้ โดยจะใช้งบประมาณ “เพียง” 2,000 ล้านบาท ผ่านรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์ เมื่อวานนี้

จัดเวทีเสร็จสรรพ เกณฑ์ทั้งคนขับรถแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซด์มานั่งฟังการแถลงและวง “เสวนา” กับรัฐมนตรีและข้าราชการทั้งที่เกี่ยวข้องและที่ต้องเสนอหน้าเป็นประจำ (กลัวนายกฯลืม) แถมมีการแต่งเพลงประจำโครงการทำเป็น “มิวซิควีดีโอ” ฟังแล้ว จับใจๆ (อิอิ) เหมือนได้ดูละครกันช่วงเช้าวันอาทิตย์ยังไงอย่างนั้นเลย

ตลอดเวลาการแถลง นายอภิสิทธิ์ ต้องเน้นว่า ไม่เป็นการใช้งบประมาณมากเกินไป และไม่ใช่ “ลด แลก แจก แถม” แต่ฟังไปก็ไม่ได้แตกต่างกับการ “เทกระจาด” หว่านไปทั่วตั้งแต่การ ทำให้ “ผู้ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม” ได้รับสิทธิประโยชน์เจ็บป่วยเสียชีวิต รวมถึงเบี้ยชราภาพ โดยหากพี่น้องประชาชนยอมจ่าย 70 บาทรัฐสมทบ 30 บาท หรือหากจ่าย 100 บาทรัฐสมทบ 50 บาท อย่างหลังนี้จะได้ประกันกรณีชราภาพด้วย

“ของขวัญ” ชิ้นที่สอง จัดสินเชื่อ “พิเศษ” ให้กับแท็กซี่และหาบเร่แผงลอย ตามด้วยชิ้นที่สาม คือ การขึ้นทะเบียนมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จัดทำบัตร ให้เบอร์เสื้อวิน จักรยานยนต์ แจกหมวกนิรภัย ปรับปรุงวิน การทำบัตรจะนำไปสู่การพัฒนาสวัสดิการ และยังมีการเพิ่มจุดผ่อนปรนให้หาบเร่แผงลอย หวังลดรายจ่ายนอกระบบและจะจัดโซนการค้าให้เป็นระบบระเบียบ แต่จะไม่กระทบผู้ใช้ทางเท้า

เรียกว่า “เอาใจ” รากหญ้าเมืองกรุงกันสุดๆ ให้รู้ไปว่า พรรคประชาธิปัตย์ จะไม่ชนะการเลือกตั้งครั้งหน้า!!

ให้ของขวัญข้ามาถึงการนำเงินกองทุนน้ำมัน ตรึงราคาก๊าซแอลพีจี ภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง แต่จะเลิกอุดหนุนภาคอุตสาหกรรม และการลดการจัดเก็บค่าไฟกับผู้ใช้ต่ำกว่า 90 หน่วยแบบถาวร ไม่ใช้เงินภาษี แต่จะปรับการจัดเก็บค่าธรรมเนียม ใครใช้ไฟฟ้ามากก็จ่ายมาก ช่วงหลังรีบ “อ้ำๆอึ้งๆ” ไม่ชัดเพราะกลัวภาคอุตสาหกรรมโวย เลย โบ้ยไปเป็นการปรับสูตร “เอฟที” ต้องตามไปดูอีกทีเรื่องนี้

และ นายอภิสิทธิ์ ก็ย่อมต้องติดใจราคาไข่ ไม่อยากให้ใครว่าได้ว่า “ไข่อภิสิทธิ์แพง” หาทางลดต้นทุนภาคการเกษตร โดยเฉพาะอาหารสัตว์และพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ปรับรูปแบบไข่ไก่ขายโดยการชั่งกิโล ซึ่งจะมีการนำร่องซื้อขายเป็นกิโลฯ เพื่อประหยัดค่าคัดแยกได้ถึง 50 ส.ต.โดยเริ่มทดลองในเขตมีนบุรี เข้าตีฐาน นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส. พรรคเพื่อไทยที่ครองใจชาวบ้านแถวนั้นทันที

ใครบอกว่าไม่หาเสียง ไม่เชื่อๆ!!

ปิดท้ายด้วยตำรวจ “เอาใจ” นายกฯ เพื่อให้นายกฯ “เอาใจ” คนกรุงในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตั้งเป้าลดให้ได้ 20% ใน 6 เดือน เพิ่มกล้องวงจรปิด-บุคลากร บูรณาการทำงาน

ครับ ขอให้กล้อง “ทำงาน” ตอนมีการปล้นการยิงกันที่เกี่ยวข้องกับ “ผู้มีอิทธิพล” ก็จะดี!!

ฟังแล้วก็ต้องบอกว่า เฉยๆ มากๆ ไม่ได้มีวิสัยทัศน์ใหม่ ไม่ได้เป็น “บูรณาการ” แต่ประการใด ใช้ของเก่าผสมผสานกับเป้าหมายทางการเมือง สลายกลุ่มรากหญ้า ฐานเสียงแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซด์ จับมา “จดทะเบียน” แจกผลประโยชน์” และ “จัดตั้ง” เท่านั้น

นโยบาย “หาบเร่แผงลอย” ไม่ต้องถึงระดับ “นายกฯ” ก็ได้ ให้ “ผู้ว่า กทม.” แถลงก็เพียงพอ (ยามที่หาตัวพบ) ตรงกับหน้าที่การงานที่ได้รับเลือกมา และการที่เพิ่มจุดผ่อนผันเป็นนโยบายที่ถูกต้องแล้วหรือ น่าจะจัดที่จัดทางให้เป็นระเบียบ นอกทางเท้า ทำเป็นเวิ้งทำเป็นตลาด ไม่ใช่มาเบียดบังทางคนเดินที่แสนจะแคบอยู่แล้ว บอบังร้านค้า และทำให้ทัศนียภาพไม่สวยงาม แก้ปัญหาอย่างนี้ ไม่ต้องใช้หลักคิดหลักจัดการอะไร หรือคิดแค่ “ปล่อยผี” เท่านั้น เดินหาเสียงสบายใจไม่มีใคร “ด่า”!!

นายกฯ เล่นเอาเรื่องต่างๆมาต่อกันเป็น “แผน” แต่ไม่มี “ภาพรวม” ที่ชัด จะเรียกว่า “ประชานิยม” ยังไม่ได้เลย เพราะไม่ได้มีระบบคิด และไม่มีความ “วิวัฒน์” แต่ประการใด เพราะเมื่อภาพรวมไม่มี ทิศทางไม่ชัด ประชาชนได้อะไร เสียอะไรก็ไม่อธิบาย ที่ทำมาเหมือนเขียน “สคริป” เพื่อทำ มิวสิค” เท่านั้น!!

ที่มา : สุรนันทน์ เวชชาชีวะ

 


ไอ้โม่งกับอีแอบ!

ไม่รู้ว่าจะออกหัวหรือก้อย หลังจาก “เจ๊ใหญ่ไพร่ไม่มีเส้น” ออกมาแถลงกดดัน “หล่อหลักลอย” ที่เพิ่งมุด “บ้านหลายเสา” มาหมาดๆ ให้ดำเนินคดีทางกฎหมายกับ “ป๋า” พร้อมกับ “ปู่สิทธิ” และ “ลุงอานันท์” เพราะก้าวล่วง “สถาบัน”

เรื่องทั้งหมดตั้งแท่นจาก “วิกิลีกส์” เว็บจอมแฉ ที่เมื่อกลางเดือนธันวาคมออกมาเปิดเผยข้อมูลว่าบุคคลทั้งสามไปเล่นใต้โต๊ะ กับ “อดีตทูตลุงแซม”

อีกทั้ง “เจ๊ใหญ่” ยังจะเดินหน้ายื่นหนังสือต่อ “ศาลอาญาโลก” เพื่อขอให้ส่งผู้แทนมาสังเกตการณ์การพิจารณาคดี “ไพร่ไม่มีเส้น” ที่วันนี้ยังส่อว่าจะถูกคุมยาว โดยให้เหตุผลว่าเกรงจะไม่ได้รับความเป็นธรรมกับกระบวนการยุติธรรมในสยาม

การเคลื่อนไหวครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่การก้าวกระโดดเปิดเกมใหม่เท่านั้น แต่ยังทำให้บรรดา “อีแอบ” ทั้งหลายสะดุ้งเฮือก!

โดยเฉพาะ “หล่อหลักลอย” ที่ต้องปวดหัวและปรับเกมเพื่อรับมือยุทธศาสตร์ของ “เจ๊ใหญ่” ซึ่งเป็นที่รู้กิตติศัพท์กันดีว่าพูดจริงทำจริง

ไม่ได้ “เหวง” หรือ “มาร์ค”!

ส่วนจะเกี่ยวข้องกับการขังยาว “ไพร่เสื้อแดง” หรือไม่นั้นน่าจะเป็น “คนละเรื่องเดียว” เพราะโดยกระบวนการของท่านเปาต้องว่ากันไปตามข้อหาที่อำนาจรัฐตั้งแท่นมา ซึ่งเป็นที่รู้ดีว่าข้อหาถึงขั้น “ประหารชีวิต” ที่ “ดีแต่ไอ” เด็กใต้รักแร้ “หล่อหลักลอย” ยัดให้ “ไพร่ไม่มีเส้น” นั้นเพราะต้องการปิดประตูช่วย “ไพร่ไม่มีเส้น” นั่นเอง

แต่หาก “หล่อหลักลอย” มีความจริงใจจะทำให้ถนนปูด้วยดอกกุหลาบ ไม่ใช่วางตะปูและทุ่นระเบิด ก็มีอำนาจที่จะให้ “ดีแต่ไอ” ทำบันทึกแนบท้ายให้กับ “ท่านเปา” ได้

แต่ถ้าทำเป็น “โง่” เหมือนพวก “กินหญ้า” ก็ไปขอความเห็นหรืออ่านบทความของ “ลุงคณิต” ที่ชี้แจงอย่างละเอียด ทั้งยังออกมาตั้งสมมุติฐานถึงวิกฤต “ศาลพระภูมิ” วันนี้ว่า หากเป็น “ท่านเปา” จะคิดอย่างไร

“ต้องเก็บมาคิดว่าทำไมตัดสินไปแล้วประชาชนถึงไม่เชื่อ ซึ่งผมไม่รู้ว่าเขาเก็บเอามาคิดหรือเปล่า…ความไม่เป็นธรรมไม่ได้เกิดจาก กฎหมาย แต่เกิดจากความไม่เข้าใจของคนบังคับใช้กฎหมายที่ผิดเพี้ยน…เหตุที่เป็น อย่างนี้เพราะพฤติกรรมของคนบังคับใช้กฎหมายที่น่ารังเกียจ คือขี้เกียจ กลัวกระแสบีบคั้นจากสังคมและการเมือง และเสนอตัวรับใช้นักการเมือง”

ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องของ “สถาบัน” ซึ่งวันนี้ “ไพร่ทั้งแผ่นดิน” ได้แต่แหงนหน้ามองไป “เบื้องบน” เพื่อให้สยามกลับมามี “รอยยิ้ม” อีกครั้ง

แม้จะฝันลมๆแล้งๆเหมือน “ประชาวิวัฒน์” ของ “หล่อหลักลอย” ก็ตาม แต่งานนี้ “ไอ้โม่ง” กับ “อีแอบ” ไม่สนุกแน่!

ที่มา : โลกวันนี้ 6 มกราคม 2554

 


วาทกรรม ‘ประชาวิวัฒน์’ ที่ไม่ใช่ ‘ประชานิยม’

ก่อนจะเข้าบทความ ผู้เขียนมีความรู้ให้กับลูกไทยรักชาติชาวอีสาน โดยมีข้อมูลจากนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่มาเป็นวิทยากร ณ มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน) จังหวัดชลบุรีว่า

“การทุจริตในสังคมไทยมีในศาลไทยด้วย และอย่าหวังพึ่งคนดีที่อยู่บ้านอีกเสาก็ตาม อย่าหวังเลย การมีส่วนร่วมของประชาชนชาวไทยจะช่วยพัฒนาประเทศไทยได้”

ใกล้เทศกาลปีใหม่ มีข่าวการให้ของขวัญประชาชนจากรัฐบาลออกมาหลายระลอก โดยเฉพาะเรื่องการขึ้นเงินเดือนให้กับผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานต่างๆของภาค รัฐ ขณะที่ภาคเอกชนเองก็มีข่าวการจ่ายโบนัสตอบแทนเจ้าหน้าที่ของบริษัทแต่ละแห่ง ที่เห็นตัวเลขแล้วแทบหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้งทีเดียว

แล้วรัฐบาลก็เริ่มโยนหินถามทางด้วยการแพลมนโยบายเพื่อประชาชนแนวใหม่ออก มาที่เรียกกันทั่วไปว่านโยบายประชาวิวัฒน์ แต่แนวทางปฏิบัติจะเป็นอย่างไร รัฐบาลจะรอเฉลยวันที่ 9 มกราคมศกหน้า ในเบื้องต้นนี้เป็นเพียงการตรวจสอบปฏิกิริยาของประชาชนที่มีต่อนโยบายนี้ ก่อน

ก็ได้ผลในระดับหนึ่งเมื่อมีเสียงวิพากษ์พอสมควรว่าใช้ชื่อพ้องกับนโยบาย ที่เคยประกาศใช้สมัยอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นการลอกชุดความคิดของคนอื่นมาใช้ เป็นการซื้อเสียงล่วงหน้า ฯลฯ

แล้วในที่สุดก็มีการออกมาแก้ข่าวว่าเรื่องการตั้งชื่อนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยังไม่เห็นด้วยนัก อาจมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง เรื่องการโยนหินถามทางเช่นนี้พรรคประชาธิปัตย์ถนัดนัก

ผู้เขียนมิได้สนใจกับการตั้งชื่อว่าจะพ้องกับของเดิมหรือไม่ อย่างไร แต่สิ่งที่สนใจคือแนวทางการปฏิบัติของนโยบายที่จะออกมาใหม่นี้ลอกเลียนของ เดิม หรือคิดใหม่ทำใหม่ได้จริง สมกับที่มีทีมที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระดับประเทศจำนวนมากอยู่หรือไม่

การขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐไปพร้อมๆกับที่บริษัทต่างๆจ่ายโบนัสประจำปีให้พนักงานของ บริษัท ในขณะที่ประชาชนที่ต้องประกอบอาชีพส่วนตัวไม่สามารถหาเงินที่ไหนมาขึ้นเงิน เดือนให้ตัวเองได้

ทางที่ทำได้ก็คือการขึ้นราคาสินค้า

ผลสุดท้ายคนที่เดือดร้อนก็คือ ลูกจ้างรายวัน และแรงงานที่หาเช้ากินค่ำที่มีรายได้วันละไม่เกิน 200 บาท

เงิน 200 บาทปัจจุบันนี้ท่านคิดว่าครอบครัวหนึ่งๆจะสามารถใช้อะไรได้บ้าง ค่ารถเมล์ของคนทั้งบ้าน ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า ค่ายา เฉพาะแค่ปัจจัยสี่จะพอให้ใช้ได้หรือไม่

แต่นายกรัฐมนตรีจะได้ขึ้นเงินเดือนกว่า 120,000 บาท ให้ ส.ส. และ ส.ว. เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 14 มากขนาดนั้นยังร้องว่าไม่พอ

ที่ไม่พอเพราะไม่พอจ่ายให้หัวคะแนนในพื้นที่?

อยากให้ท่านทดลองใช้เงินวันละ 200 บาทดูบ้าง จะได้ทราบความรู้สึกที่แท้จริงของคนชั้นล่างที่เป็นรากหญ้าของสังคม

การขึ้นเงินเดือนไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ถูกต้อง เพราะรังแต่จะส่งผลให้ข้าวของขึ้นราคาตาม แล้วในที่สุดก็จะเกิดช่องว่างระหว่างผู้มีรายได้มากกับรายได้น้อยมากขึ้นตาม ลำดับ เรื่องนี้ใครไม่ได้เรียนเศรษฐศาสตร์ก็บอกได้

ข้อสังเกตที่ได้จากการขึ้นราคาสินค้าของไทยประการหนึ่งคือ จะละทิ้งเศษสตางค์โดยปัดเป็นเงินเต็มจำนวน ดังนั้น สินค้าในตลาดปัจจุบันจะไม่พบว่ามีราคา 25 สตางค์ 50 สตางค์ หรือ 75 สตางค์ติดอยู่ ทำให้ประชาชนเคยชินกับการจับจ่ายสินค้าราคาเต็ม โดยที่ไม่ทราบเลยว่าราคาเหล่านั้นถูกขูดรีดภาษีมูลค่าเพิ่มเกินกว่าร้อยละ 7 หรือไม่

การขึ้นราคาสินค้าแบบเต็มจำนวน ไม่คิดเป็นเศษสตางค์นี้เองที่มีผลทำให้ราคาของแพงกว่าความเป็นจริง

ไม่เชื่อลองเปรียบเทียบราคาอาหารดูได้ เมื่อก่อนราคาอาหารขึ้นเพียงจานละ 2-3 บาท แต่เดี๋ยวนี้ขึ้นครั้งละ 5 บาท เพราะเนื้อ ผัก เครื่องปรุงต่างๆขึ้นราคาเป็นหน่วยบาท ไม่ใช่หน่วยสตางค์ และนี่จึงส่งผลให้กระทรวงพาณิชย์ต้องออกมาควบคุมราคาอาหารและจัดขายสินค้าธง ฟ้าราคาถูกเป็นระยะ

ผู้เขียนไปขึ้นรถเมล์ที่มาเลเซีย พบว่าเขายังต้องจ่ายค่ารถที่มีหน่วยถึงเศษสตางค์อยู่ และผู้โดยสารต้องหาเงินเตรียมไว้ให้พอเพราะไม่มีทอน ต้องหยอดกระป๋องข้างคนขับด้วยตนเอง คนขับไม่สามารถรับเงินได้ การที่ยังคงใช้เศษสตางค์อยู่ช่วยให้ค่าเงินไม่ขยับขึ้นสูงกว่าความเป็นจริง

หันมาดูบ้านเรา จะเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลล้มเหลวเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ รถเมล์ในกรุงเทพฯรัฐบาลประกาศให้ขึ้นฟรี ทั้งที่ติดป้ายไว้ว่ามาจากภาษีของประชาชน แต่คนในชนบทมีโอกาสได้ใช้บริการหรือไม่ ในเมื่อเขาเหล่านั้นก็เป็นผู้เสียภาษีเช่นเดียวกัน

เหตุใดรัฐบาลจึงไม่ให้คนในต่างจังหวัดขึ้นรถเมล์ฟรีบ้าง ทั้งที่ค่ารถเมล์ในต่างจังหวัดแพงกว่าในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะรถที่วิ่งจากอำเภอหนึ่งไปอีกอำเภอหนึ่ง โดยผู้เขียนเสนอให้รัฐบาลจัดรถเมล์ฟรีระหว่างบางแสน จังหวัดชลบุรี กับกรุงเทพฯบ้าง

การจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจึงไม่ควรมองแต่เฉพาะในกรุงเทพฯที่มีประชากร เพียง 6-7 ล้านคน แต่ควรมองทั้ง 67 ล้านคนทั่วประเทศ เช่น คนยากคนจนจากภาคอีสาน บ้านเกิดของผู้เขียน

นโยบายประชานิยมที่จะได้ผลจริงคือ การจัดรัฐสวัสดิการ เก็บภาษีคนที่มีรายได้มากมาช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย แบ่งปันความสุขในการใช้ชีวิตร่วมกัน สังคมจึงจะเป็นสุข ปัญหาต่างๆจะลดลงได้เอง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอาชญากรรม การค้ายาเสพติด ปัญหาสังคมอื่นๆ เพราะครอบครัวจะมีเวลาให้กันมากขึ้น ไม่ต้องมาพะวงกับการหารายได้เลี้ยงครอบครัว โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย

ขอเพียงแค่คนที่มีรายได้มากรู้จักแบ่งปันให้กับคนมีรายได้น้อย เลิกเรียกร้องเพื่อตนเอง แต่เห็นแก่สังคมมากขึ้น สังคมก็เป็นสุขได้แล้ว

หากรัฐบาลจะนำแนวคิดนี้ไปใช้ก็ไม่ว่ากัน จะได้พูดได้เต็มปากว่าไม่ได้ลอกประชานิยมของเดิมมาแต่อย่างใด ส่วนจะใช้ชื่อให้สวยหรูว่าอย่างไรก็โยนหินถามทางไปเรื่อยๆจนกว่าจะพอใจก็ แล้วกัน

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6  ฉบับ 291 วันที่ 25-31 ธันวาคม พ.ศ. 2553 หน้า 12 คอลัมน์ หอคอยความคิด โดย วิษณุ บุญมารัตน์

 


‘ประชาวิวัฒน์’ ทำคนหลงทาง

หมายเหตุ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล คณะกรรมการที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ได้เขียนบทความ ‘ประชาวิวัฒน์ คิดถึงปัจจุบันหรืออนาคต’ สะท้อนการออกนโยบายประชาวิวัฒน์ของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์

เอ่ยถึง “ประชานิยม” ไม่มีใครไม่รู้จัก

เป็นโครงการที่เน้นแต่เรื่องการลด แลก แจก แถม มุ่งหวังที่ความพึงพอใจของประชาชนผู้รับเป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง เหมาะสม หรือฐานะทางการเงินการคลัง

เพียงแค่เสียงชมอย่างทั่วถึง คะแนนเสียงและผลการเลือกตั้งครั้งต่อไปเท่านี้พอ

โครงการ ประชานิยมต่างๆ มีมานานแล้ว แต่รัฐบาลในยุคที่ผ่านมาเลือกจะนำมาใช้ในบางเรื่อง ไม่พร่ำเพรื่อ เพราะหากมากเกิน อาจส่งผลกระทบต่อสังคมและคนในสังคมได้อย่างง่าย

ที่โด่งดังมากๆ เห็นจะได้แก่โครงการเงินผัน ในรัฐบาลยุค ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แม้ภายหลังจะดำเนินโครงการนี้ในชื่อต่างๆ แต่ไม่โด่งดังเท่า

แต่ที่กล่าวขวัญกันมาก ถึงกับยกย่องให้เป็นเจ้าพ่อประชานิยม เพราะผุดโครงการขึ้นเป็นดอกเห็ด ไม่จำเป็นต้องนึกถึงงบประมาณและฐานะการคลังของประเทศ เพียงแต่ประชาชนส่วนใหญ่พอใจ นั่นคือ นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เจ้าของโครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการพักชำระหนี้ โครงการเอสเอ็มแอล โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค

แทบทุกโครงการได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างมาก

หลายคนบอกว่าไม่เคยได้รับเงินได้รับประโยชน์โดยตรงจากรัฐบาลเช่นนี้มาก่อน

หลายคนบอกว่ารัฐบาลจะเอาเงินมาจากไหนก็ช่าง ขอเพียงแต่ตนได้บ้างก็พอ

โครงการประชานิยม จึงได้รับความพอใจเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับคนที่ไม่พอใจรัฐบาลเพิ่มขึ้นด้วย

คนที่ไม่พอใจเหล่านี้มองว่ารัฐบาลใช้โครงการประชานิยม เป็นเครื่องมือเพื่อปกปิดบางสิ่งบางอย่างไว้ นำเอาขยะของรัฐบาลซุกไว้ใต้พรม

สมัยรัฐบาลทักษิณ เคยสำรวจความคิดเห็นของคนในสังคม บอกโกงก็ได้ ขอเพียงรัฐบาลทำงานให้กับประชาชนได้บ้างก็พอ

ความคิดเห็นเช่นนี้ที่เป็นตัวส่งเสริมแนวคิดประชานิยมให้เพิ่มมากขึ้น

โกงได้ กลายเป็นวัฒนธรรมที่ปลูกฝังให้เยาวชนหลงเพ้อ คลั่งไคล้ในเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ความคิดเห็นของผู้คนที่มีต่อการโกง กลายเป็นวัฒนธรรมที่น่ากลัวของสังคมในอนาคต

บางคนเห็นว่ารัฐกำลังทำลายระบบวินัยการเงิน

บางคนบอกว่ารัฐบาลกำลังสร้างค่านิยมที่ผิด

แล้วรัฐบาลทักษิณก็จากไป

รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาแทนที่ เริ่มตั้งแต่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ คุณสมัคร สุนทรเวช คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ทุกรัฐบาลไม่สามารถก้าวข้ามฝ่าปัญหาในความนิยมของโครงการประชานิยมไปได้

ทุกรัฐบาลจำเป็นต้องมีโครงการในลักษณะนี้อยู่ด้วย เพียงเพื่อบอกให้รู้ว่าเรายืนอยู่ข้างประชาชน เลือกตั้งครั้งหน้า อย่าลืมเลือกคนที่ยืนอยู่ข้างประชาชน

แต่ทุกรัฐบาลยังไม่น่ากลัว ยังเป็นประชานิยมในปริมาณไม่มากนัก

หากแต่พอมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน ที่มี คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ

โครงการประชานิยมต่างๆ กลับเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เคยมี มากกว่ารัฐบาลไหนๆ

ตั้งแต่การต่ออายุโครงการช่วยเหลือประชาชนด้านค่าครองชีพ รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี ไฟฟ้าฟรี น้ำประปาฟรี โครงการเช็คช่วยชาติ โครงการชุมชนพอเพียง โครงการต้นกล้าอาชีพ โครงการไทยเข้มแข็ง โครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ

หลังสุดภายใต้ชื่อ ประชาวิวัฒน์ รัฐบาลยิ่งเข็นโครงการในลักษณะประชานิยมมากขึ้นไปอีก คราวนี้หลายคนว่าไปกันใหญ่ ทั้งขยายเวลารถเมล์ รถไฟ น้ำประปา ไฟฟ้าฟรี โครงการแทรกแซงราคาน้ำมันดีเซล โครงการกองทุนเงินออมแห่งชาติ โครงการบัตรลดหนี้ ขยายเงินกู้กองทุนหมู่บ้าน จัดตั้งหมอหนี้ ขึ้นเงินเดือนให้ฝ่ายต่างๆ

รัฐบาลกำลังเดินตามรอยในสิ่งที่รัฐบาลทักษิณเคยทำ โดยที่บอกให้สาธารณะรู้ว่าตนทำมากกว่า ให้มากกว่า

มีใครบางคนบอกไว้ว่า โครงการประชานิยมเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลในอดีตทำ หรือรัฐบาลปัจจุบันกำลังทำ ทั้งหมดส่งผลให้ทำลายคุณค่าความเป็นคน ทำลายคุณค่าความเป็นมนุษย์ เพราะรัฐบาลอยู่ในฐานะผู้ให้ แต่เป็นการให้ที่ไม่มีเหตุผล

หมอรักษาโรค กำลังฉีดยาให้สังคม แต่น่าเสียดายที่ฉีดยาผิด

ความจริงแล้ว การดำเนินงานตามโครงการในรูปแบบต่างๆ ที่เรียกว่าเป็นประชานิยมนั้นไม่ผิด

แม้จะเรียกชื่อโครงการเหล่านั้นแตกต่างกันออกไป จะเป็นประชานิยม หรือรัฐสวัสดิการ หรือประชาภิวัฒน์ หรือประชาวิวัฒน์

เพราะสำคัญที่สุดคือแก่นของโครงการเหมือนกัน

เน้นที่เงิน การกระจายเงิน โดยเชื่อว่าหากเราสามารถอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบได้มากเพียงไร (โดยไม่คำนึงถึงวิธีการ) จะสร้างความอยู่ดีมีสุขให้คนในสังคมได้อย่างถ้วนหน้า

“เงิน” จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของระบบ

“เงิน” สร้างความอยู่ดีกินดีได้ในสังคม

ลืมคิดไปว่า จริงแล้ว คนสำคัญกว่าเงิน การพัฒนาคนมีความหมายมากกว่าการพัฒนาเงิน การนำเงินเข้าระบบถูกแล้ว แต่ต้องดูถึงวิธีการด้วย

ประธานาธิบดีสหรัฐ จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ เคยกล่าว วาทะไว้ ซึ่งถือเป็นประโยคอมตะสำหรับการพัฒนาจิตใจคนว่า “อย่าถามว่าประเทศชาติจะให้อะไรกับคุณ แต่จงถามว่าคุณจะให้อะไรกับประเทศชาติบ้าง”

การที่รัฐบาลหยิบยื่นแต่เงินให้ประชาชน เท่ากับฝึกให้ประชาชนรอคอยและรู้จักแต่การแบมือขอรัฐบาล

ความหวังของประชาชนจึงขึ้นอยู่กับการให้ของรัฐบาล

รัฐบาลหยุดให้ ประชาชนสิ้นหวัง

ความขยัน มุมานะทำมาหากิน อดออมเพื่อเก็บทรัพย์สินไว้ใช้ในอนาคต ดูจะไม่สอดคล้องกับวิธีการที่รัฐกำลังกระทำอยู่

ดูเหมือนเจตนาดี แต่จริงแล้วกลับสร้างผลร้ายให้ราษฎรมากกว่า แม้จะเป็นผลประโยชน์ของคนหมู่มากก็จริง แต่เป็นเพียงผลประโยชน์เฉพาะหน้าเท่านั้น ระยะยาวกลับไม่ใช่

ไม่ผิดนักหากจะบอกว่ารัฐกำลังได้ชื่อเสียงบางส่วนจากประชาชนเพียงด้านเดียว เหมือนกับคิดว่าตนเองจะเอาตัวรอด แต่ลืมคิดไปว่าประชาชนจะรอดหรือเปล่า

นำเพียงเนื้อปลาให้ แต่ไม่สอนให้รู้จักวิธีตกปลา ชาวบ้านจึงรอคอยแต่เนื้อปลาอยู่ร่ำไป

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อยู่ที่ไหน ความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน หลักคิดของเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แค่เพียงหน้ากระดาษ สิ่งที่รัฐบาลน่าจะนำมาใช้กลับละเลย

ภูมิสังคม ซึ่งหมายถึงภูมิปัญญา และภูมิศาสตร์ อันเป็นสิ่งที่ในหลวงทรงปฏิบัติให้เห็น พร้อมที่จะลอกเลียนแบบได้ แต่กลับไปเต้นตามโลกแห่งความฟุ้งเฟ้อ

เศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่ดูเป็นเรื่องไกลตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

เรื่องที่เราทำได้โดยทันที กลายเป็นเรื่องเพ้อฝัน

หรือรัฐกำลังทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก

ประเทศไทย พื้นที่ส่วนใหญ่คือชนบท และชนบทยังมีหลายสิ่งที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง ชนบทยังมีพื้นที่ที่เราเติมเต็มได้ในหลายเรื่อง

คนในชนบทต้องการโอกาส

โอกาส ของการใช้ประโยชน์ในที่ดิน เพราะมีที่ดินอีกมากที่รกร้างว่างเปล่า การบุกรุกยึดครองของนายทุน ความไม่เสมอภาคของการครอบครองที่ดิน

โอกาส ของการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ ทั้งน้ำท่วม ฝนแล้ง การกำจัดวัชพืช ขุดลอกคูคลองที่ตื้นเขิน การฟื้นฟูและจัดสรรน้ำ อยากใช้น้ำแต่ไม่มีน้ำให้ใช้ ปล่อยทิ้งไว้อาจกลายเป็นสงครามแย่งน้ำ

โอกาสของการลดต้นทุนการผลิต ทั้งเครื่องจักรและสารเคมี ทั้งหมดกลายเป็นปัจจัยสำคัญของการผลิตที่ทำให้ต้นทุนสูงมากขึ้น

โอกาสของการเพิ่มผลผลิต แมลงที่ทำลายพืช รวมถึงโรคพืชหลากหลายรูปแบบ กำลังรอคอยการกำจัดที่ถูกวิธี

โอกาส ในการสร้างตลาด เป็นตลาดที่ถาวรที่รองรับเกษตรกรได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เป็นตลาดแค่ชั่วครั้งชั่วคราว เหมือนการจัดงานมหกรรมสินค้าโอท็อปเพียงปีละครั้ง ไม่ใช่ตลาดของคนแค่หยิบมือเดียว แต่เป็นตลาดของเกษตรกรทุกคน

เราสร้างโอกาสต่างๆ เหล่านี้ได้ หากตั้งใจ

และเราสร้างโอกาสเหล่านี้ได้หากไม่หลงทาง และไม่ตกเป็นทาสของเงินมากกว่าที่ควรจะเป็น

ดูเหมือนรัฐบาลตั้งใจทำงาน และภูมิใจนำเสนอโครงการในรูปแบบประชาวิวัฒน์

เอารัฐบาลชุดทักษิณเป็นตัวตั้ง และพยายามทุกวิถีทางที่จะเอาชนะ เพื่อบอกใครๆ ว่า ดีกว่า ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติและประชาชนมากกว่า

แต่รัฐบาลลืมไปว่ากำลังทำให้ผู้คนในประเทศหลงทาง ลืมมองดูคนอื่น ลืมมองดูสังคม คิดถึงแต่ตัวเอง

ผมเป็นนักการเมือง แม้จะถูกตัดสิทธิ์ แต่รู้ดีว่าเมื่อโดดลงสู่สมรภูมิการเลือกตั้ง ไม่มีใครอยากแพ้ ทุกคะแนนเสียงจึงมีความสำคัญ

สำคัญทั้งต่อชัยชนะและอนาคตทางการเมืองของตน

ถึงจะห่วงชัยชนะ แต่ผมคงไม่ห่วงจนถึงกับลืมนึกถึงอนาคตของประชาชน

คิดแต่คะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่คิดถึงผลประโยชน์ในระยะยาว คิดเพียงแค่ปัจจุบัน แต่ลืมห่วงถึงอนาคต

อนาคตของบ้านเมือง อนาคตของประเทศชาติย่อมขึ้นอยู่กับปัจจุบัน

ปัจจุบันว่าเราต้องการเงินมากน้อยเพียงใด

อย่าให้ผู้คนในประเทศหลงไปกับเงิน และกระแสประชานิยมเลย

ที่มา : ข่าวสดรายวัน 24 ธันวาคม 2553

 


ประชาวิวัฒน์

รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินหน้าเต็มที่กับการกำหนดนโยบายเพื่อ “ซื้อใจ” ประชาชน ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในปีหน้า ส่วนจะเป็นช่วงต้นปีอย่างที่ นายอภิสิทธิ์ มีท่าทีโน้มเอียง และส่งสัญญาณว่าจะ “ยุบสภา” หรือ “ลากยาว” จนสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้หมดวาระในช่วงปลายปี คงต้องติดตามกันต่อไป

ประกอบกับการที่มีบางกลุ่มก้อนในสังคมไทยเชื่อว่าจะไม่มี การเลือกตั้ง ต้องจบด้วยการรัฐประหาร ทั้งมีการเสนอกันใน “ที่ลับๆ” ก็ต้องติดตามกันเช่นกัน

เพราะการเมืองไทยในยุคสมัย “อุ้มสม” เกิดอะไรขึ้นก็ได้ ขอให้ “เพื่อไทย” และ “กลุ่มคนเสื้อแดง” อย่าได้กลับมามีอำนาจเป็นพอ!!

นายอภิสิทธิ์ น่าจะรู้แกวว่า “ประชาธิปไตยแบบครึ่งๆกลางๆ” ที่ส่งให้ตนมีอำนาจนั้น ไม่ค่อยจะมั่นคงสักเท่าใด แต่จะทำอะไรได้ ฝ่าฟันมาได้ถึงสองปี คนล้มตาย 91 ศพ บาดเจ็บนับพัน ยังคงอยู่ในตำแหน่งได้ ก็ต้องเดินหน้าไป พยายามให้มีการเลือกตั้ง และใช้ผลของการเลือกตั้งนั้น บริหารจัดการให้ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้สามารถบอกกล่าวได้ว่ามีความ “ชอบธรรม” มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

และเมื่อถึงจุดที่มีการเลือกตั้งได้จริง การที่ใครจะทำการ “รัฐประหาร” ย่อมต้อง “ฝืนกระแส” ทำให้ความสำเร็จเกิดขึ้นได้ยาก และในที่สุดฝ่ายที่มีอำนาจปัจจุบันก็ต้องบอกว่า ไม่มีใครเป็น “ตัวเลือก” ที่ดีกว่า นายอภิสิทธิ์

แหม..ฟ้าเป็นของนก นายกฯเป็นของ “อภิสิทธิ์” จริงๆ!!

แต่จะเป็นทั้งที ต้องมีนโยบาย จะไปลอกของเก่า 99 วันทำอะไร (ไม่เสร็จ) ก็คงน่าเกลียด บริหารราชการแผ่นดินมาตั้งสองปีแล้ว เห็นทีต้องเปิดตัวนโยบายใหม่สักชุด เอาที่ลงสู่คน “รากหญ้า” จะได้ลบข้อครหาว่า “ประชาธิปัตย์” ดูแลแต่ชนชั้นสูง และชนชั้นกลางในเมืองอย่างเดียว

ต่อจากนี้ พี่น้องวินมอเตอร์ไซด์ พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่ ชาวบ้านลูกหนี้กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ จะได้รับการดูแลอย่างถ้วนหน้าด้วย “ประชาวิวัฒน์” แล้ว..เย้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายกรณ์ จาติกวนิช ประกาศก้อง ให้สัมภาษณ์พิเศษ ตัดหน้า นายกฯเพื่อนรักไปจนมีข่าวว่า ทั้ง นายอภิสิทธิ์ และ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกฯคู่ใจ ที่มีชื่อร่วม “สังฆกรรม” ในนโยบายดังกล่าวด้วย ทำเสียงงงๆว่า มีชื่อนี้ด้วยหรือ และทำไมไม่รอเปิดตัววันที่ 9 มกราคม 2554 เป็นของขวัญปีใหม่พร้อมๆกันไป

เพราะในรายละเอียดนั้น ยังต้องหารือกันให้ลงตัวก่อน ไม่เช่นนั้นจะถูกวิพากษ์วิจารณ์หนัก ซึ่งก็เป็นดั่งว่า เริ่มต้นก็ต้องถูกถล่มถึง “วินัยการเงินการคลัง” ที่สมัยพลพรรคของรัฐบาลชุดนี้เป็นฝ่ายค้านต่างพร่ำวิจารณ์ควันออกหู แต่พอมาเป็นเอง กลับไม่เคยบอกให้ชัดถึงที่มาที่ไปของเงิน เพราะเป็นไปไม่ได้ว่าจะมี “ของฟรี” ในโลกนี้!!

ถึง นายกรณ์ จะบอกว่าไม่ใช้เงินงบประมาณที่มาจากภาษีอากรของรัฐ แต่หากไปใช้เงินของสถาบันการเงินของรัฐ ให้ “เดินตาม” นโยบาย ก็ต้องพิจารณาเรื่องวินัยการเงินการคลังเช่นกัน เพราะหากเสียหายรัฐก็ต้องเป็นผู้เข้าไปรับผิดชอบอยู่ดี

ที่เป็นเหตุผลที่ให้สัมภาษณ์ออกมาว่าการเป็น “ประชาวิวัฒน์” จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงที่เป็นปัญหาของสังคมไทย ซึ่งผมก็เห็นว่าหากเป็นเช่นนั้นจริง ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องไม่ลืมว่า การแจกของแจกเงินนั้นไม่ยั่งยืนถาวร เท่ากับการ “สร้างโอกาส” ให้ประชาชนผู้ประกอบการ “ยืนบนขาตนเอง” ได้ ทั้งสองแนวทางควรควบคู่กันไป

ทั้งการ “ถม” เงิน เพื่อ “ยกฐานะ” นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนนะครับ เดี๋ยวจะหาว่าวิจารณ์รัฐบาลชุดนี้ชุดเดียว

แต่ที่รัฐบาล (ทุกรัฐบาล) ควรตระหนักคือ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนั้น เกี่ยวเนื่องกับความเหลื่อมล้ำ “สองมาตรฐาน” ทางกฎหมายกติกาการอยู่ร่วมกัน และ “โอกาส” ทางเศรษฐกิจ ต้องพัฒนาคู่กับ “ประชาธิปไตย” ทางการเมืองด้วย

ตราบที่คนในสังคมรู้สึกว่ามีการกดขี่ข่มเหง มีการเอารัดเอาเปรียบ และมีการเรียกร้องบนท้องถนน ทวงความเป็น “ประชาธิปไตย” ทวง “ความยุติธรรม” ประชาวิวัฒน์ก็จะเป็นเพียงคำพูดลอยๆ และมาตรการที่ทำให้ “รู้สึกว่าดี” แต่ไม่แก้ปัญหาอย่างแท้จริง

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 21 ธันวาคม 2553