300 บาทชาติไม่ล่มจม!

ก่อนเข้าบทความมีชาวบ้านจากอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ได้เคยเรียกร้องขอความเมตตาจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่จะให้มีการตั้งสาขาธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่ธาตุพนม จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีความก้าวหน้า ทำให้ชาวธาตุพนมขาดโอกาสที่จะกู้เงินซื้อบ้านหลังแรกในอัตราดอกเบี้ย 0% ส่งผลกระทบให้นโยบายของรัฐบาลดังกล่าวช่วยเหลือเฉพาะคนรวยที่อยู่ในเขตเมือง ที่มีสาขา ธอส. เท่านั้น คนจนต่างจังหวัดที่อยู่ในอำเภอหมดสิทธิ เพราะไม่มีเงินพอที่จะเสียค่ารถเดินทางไปในจังหวัดใหญ่ๆที่มีสาขา

อย่างไรก็ตาม อำเภอธาตุพนมเป็นศูนย์กลางระหว่างจังหวัดนครพนมกับจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งถ้ามีการตั้งสาขาธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่ธาตุพนมจะทำให้ชาวบ้านแถวนั้น มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป็นการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมด้วย

ดังนั้น ชาวธาตุพนมจึงฝากความหวังกับว่าที่นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เคยหาเสียงไว้ที่อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ว่าจะแก้ปัญหาความยากจน ขอให้ท่านรักษาคำพูดด้วย และตอนนี้ชาวบ้านอยากหายจน โดยให้มีการตั้งสาขาธนาคารอาคารสงเคราะห์ขึ้นที่ธาตุพนม ขอให้ว่าที่นายกฯยิ่งลักษณ์ช่วยที ชาวบ้านรอคอย

พรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง หวังจูงใจผู้ใช้แรงงาน ซึ่งปรากฏว่าได้ผล เพราะคะแนนเสียงที่ได้รับอย่างถล่มทลายนั้นส่วนหนึ่งมาจากลูกจ้างผู้ใช้แรงงาน โดยหวังว่าหากพรรคนี้เป็นรัฐบาล ค่าแรงที่ได้รับจะมีการปรับเป็นวันละ 300 บาทอย่างที่หาเสียงไว้จริง

หากเมื่อพรรคเพื่อไทยจะได้เป็นรัฐบาลแล้วกลับมีกระแสที่ออกมาบั่นทอนความมั่นใจของผู้ใช้แรงงานทั้งหลายจากฟากฝั่งของทั้งพรรคการเมืองอื่นๆและผู้ประกอบการเอง ในประเด็นที่ว่าหากมีการขึ้นค่าแรงถึง 300 บาทจริง จะเกิดปัญหาตามมาอย่างมากมาย โดยธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจะเป็นธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น กลุ่มเอสเอ็มอีและกลุ่มโอท็อป ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมจะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร สิ่งทอ อัญมณี เฟอร์นิเจอร์ และรองเท้า โดยผู้ประกอบการในกลุ่มสมาคมต่างๆถึงกับเปรยว่ามีแผนปรับลดแรงงานลงถึงร้อย ละ 15

ขณะที่นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องแรงงานทั้งหลายต่างออกมาขานรับนโยบายนี้ ว่าสามารถกระทำได้ และเมื่อประสานเสียงกันมากเข้า กิจการขนาดใหญ่หลายกิจการก็เริ่มมีเสียงอ้อมแอ้มตอบรับว่าอาจจะกระทำได้ แต่รัฐบาลจะต้องมีนโยบายรองรับเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยให้ชัดเจน

แน่นอนว่าผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนการปรับขึ้นค่าแรงให้กับผู้ใช้ แรงงาน เพราะในการรับรู้ของคนทั่วไป ผู้ใช้แรงงานมีเพียงกลุ่มเดียว คือคนที่ทำงานในบริษัทนั้น ในโรงงานนั้น แล้วรับเงินจากโรงงานหรือบริษัทนั้น แต่ในความเป็นจริงแต่ละโรงงาน แต่ละบริษัท ยังมีการจ้างงานย่อยลงไปอีก เพราะงานหลายอย่างโรงงานไม่สามารถดำเนินการเองได้ จึงมีการจ้างงานแบบ Sub Contract หรือรับเหมาช่วง ที่รับงานไปทำเป็นงวดๆ ค่าแรงจะคิดเป็นรายวัน และการใช้บริษัท Outsource ที่ภาษากฎหมายเรียกว่า นายจ้างรับถือ คือให้มาดำเนินการให้ อย่างเช่น แม่บ้าน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และผู้ดูแลสวน คนกลุ่มหลังนี้ต้องรับเงินจากบริษัทของตนเอง คือบริษัท Outsource จึงไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการจากบริษัทหรือโรงงานผู้จ้าง

จากการได้มีโอกาสพูดคุยกับทั้งพนักงานและอดีตพนักงานของโรงงานหลายแห่ง จึงขอยกตัวอย่างสภาพการจ้างงานของพนักงาน Sub Contract และพนักงาน Outsource ในโรงงานแถวภาคตะวันออกมาแลกเปลี่ยนเล่าสู่กันฟังบ้าง

“ถ้าอยู่ทำงานเพิ่ม ที่โรงงานให้ค่าจ้างเป็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำบวกกับค่าเบี้ยขยัน คิดเป็นรายชั่วโมงๆละ 14 บาท อย่าง 196+14 = 210 บาท ส่วนสวัสดิการอื่นๆก็เหมือนกับพนักงานประจำ ประกันสังคม เงินชดเชย ค่าล่วงเวลาโอที”

“ค่าจ้างตอนแรกได้ 6,000 บาท ค่ารถ 500 บาท เบี้ยขยัน 500 บาท ค่าโทรศัพท์ 500 บาท พอทำไปได้สัก 10 วัน เขาก็บอกว่าไม่ผ่านทดลองงาน ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม เขาก็เลยเปลี่ยนไปให้วันละ 200 บาท เปลี่ยนจากจ้างรายเดือนเป็นรายวันแทน วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ก็หักออก แต่ถ้าเป็นรายเดือนจะนับเสาร์-อาทิตย์ด้วย”

“พวก Outsource บอกว่าไม่พอใช้ ต้องทำโอทีได้ชั่วโมงละ 37 บาท จาก 5 โมงเย็น คูณ 1.5 ก็จะได้ 37 บาท ถ้าไม่มีโอทีก็อยู่ได้แต่จะลำบากหน่อย คือถ้าเราคนเดียวยังพอได้ แต่ยังมีพ่อแม่พี่น้องอีก คนที่มีครอบครัวจะลำบาก”

“เงินเดือนเดือนแรกยังพอมีให้ทางบ้าน 1,000-2,000 บาท ถือว่าเป็นเคล็ดอย่างที่เขาบอก ให้ได้แค่นั้น จากนั้นก็ไม่ได้ให้ เพราะแทบไม่พอใช้แล้ว อนาคตอยากได้เพิ่มมากกว่านี้ พวกสวัสดิการ การคุ้มครองแรงงานอะไรด้วย ก็รู้สึกท้อนะ เพราะมาทำงานเหมือนกัน เหมือนกับพี่ทั่วไป (หมายถึงพนักงานประจำ) แต่ได้เงินน้อย เหมือนแค่ทำงานไปวันๆ”

“ที่บริษัทจ่ายค่าแรงพนักงาน Outsource เป็นรายเดือน แต่ไม่มาก็โดนตัดเงิน คือตั้งเป็นเพดานเงินเดือนไว้เลยว่าเดือนหนึ่งได้กี่บาท ถ้าขาดงานก็จะลดไปเป็นวัน จะไปหักลบในเงินเดือน อย่างเช่น เดือนหนึ่งได้ 7,000 บาท มี 21 วัน ถ้าขาดหนึ่งวันก็จะลดเหลือ 20 วัน 7,000 บาทก็จะถูกลดไป เอา 7,000 หารด้วย 30 วัน คือค่าแรงในหนึ่งวัน”

จะเห็นว่าพนักงาน Outsource อยู่ในสถานะต่ำสุด รองจากพนักงานประจำและพนักงาน Sub Contract เพราะพนักงาน Outsource ได้รับเงินเดือนจากบริษัทของตนเองที่ไปรับงานบริษัทผู้จ้างมาจ่ายให้ตาม อัตราค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐบาลกำหนดเท่านั้น บางบริษัทยังมีการหักหัวคิวด้วย นอกจากนั้นยังไม่มีสิทธิในการจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อเรียกร้องสิทธิของตน เพราะกฎหมายไม่เปิดโอกาส

ถ้ารัฐบาลจะประกาศเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทจริง พนักงาน Outsource จะได้มีโอกาสลืมตาอ้าปากบ้าง มีกำลังใจในการทำงาน ไม่เวียนเข้าเวียนออกกันคนละหลายบริษัทเพียงเพื่อขอให้ได้เงินพอเลี้ยงครอบครัวเท่านั้น ขณะที่เจ้าของและผู้ประกอบการทั้งหลายเปลี่ยนรถขับราคาคันละเจ็ดหลักขึ้นเป็นว่าเล่น

ดังนั้น การที่ผู้ประกอบการทั้งหลายรีบออกมาตีฆ้องตั้งแต่แรกว่าหากขึ้นเงินเดือนให้ กับผู้ใช้แรงงานถึง 300 บาท แล้วจะมีผลกระทบกับธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทยนั้น เป็นเพียงทำให้ผลประกอบการมีกำไรน้อยลง ที่เรียกว่าขาดทุนกำไรเท่านั้น ยังไม่นับว่าเป็นการขาดทุนที่แท้จริงแต่อย่างใด

หากรัฐบาลต้องการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานจริง มิใช่เพียงการหาเสียงเพื่อให้ได้รับเลือกตั้ง ควรพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงและดูแลสวัสดิการผู้ใช้แรงงานให้ดีด้วย เพราะคนกลุ่มนี้ถือเป็นฐานกำลังสำคัญในกิจการต่างๆของประเทศที่ไม่สามารถมอง ข้ามไปได้ บริษัททั้งหลายอาจมีผู้บริหารใช้สมองคิดในการวางแผนต่างๆ แต่จำเป็นต้องอาศัยกลุ่มผู้ใช้แรงงานในการขับเคลื่อนให้นโยบายและการดำเนิน งานเป็นจริงได้ ดังนั้น ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จึงให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงานอย่างมาก

เราใช้นโยบายเน้นการส่งออกมานานแล้ว ทำให้รัฐบาลหลายสมัยมุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการต่างชาติจนละเลย คนในชาติด้วยกัน ถึงเวลาหันกลับมาใช้นโยบายชาตินิยมทางเศรษฐกิจที่ไม่ปิดกั้นประเทศกันได้ แล้ว เรื่องนี้นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายน่าจะให้คำตอบได้

หากประเทศไทยต้องการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วจริงๆ ผู้บริหารควรเสียสละผลประโยชน์ของตนลงบ้างเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม

เงิน 300 บาท ไม่ได้ทำให้คุณจนลงหรอกครับ

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับ 321 วันที่ 30 กรกฏาคม – 5 สิงหาคม 2554  พ.ศ. 2554 หน้า 12
คอลัมน์ : หอคอยความคิด
โดย : วิษณุ บุญมารัตน์


ครม.‘ปู1’เขย่าลงตัว‘ณัฐวุฒิ’โผล่นั่งรัฐมนตรีสำนักนายกฯ

ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเลือกประธานและรองประธาน สภาผ่านฉลุย คาดไม่เกินวันที่ 5 ส.ค. ประชุมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ส่วนคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเริ่มต้นทำงานได้ภายในวันที่ 8 ส.ค. รายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆลงตัวหมดแล้ว “วิชิต” นั่งควบรองนายกฯ รมว.คลัง “ชัจช์” รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง “สุรพงษ์” คุมไอซีที “ยุทธศักดิ์” นั่งว่าการกลาโหม “เฉลิม” กระทรวงยุติธรรม “วรวัจน์” รมว.ศึกษาธิการ “บุญทรง” ดูแลกระทรวงทรัพยากรฯ “วิกรม” ว่าการต่างประเทศ “อนุดิษฐ์” พัฒนาสังคมฯ “วิชาญ-อุดมเดช” ชิงคุมสาธารณสุข “อุไรวรรณ” รัฐมนตรีวัฒนธรรม “จารุพงศ์” ดูแรงงาน “ณัฐวุฒิ” ชื่อโผล่รัฐมนตรีสำนักนายกฯ เพื่อไทยตั้ง “วิทยา” ประธานวิปประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล “หมอชลน่าน” เป็นกระบอกเสียงในทำเนียบ

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรกเมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมาเพื่อเลือกประธานและรองประธานสภาใช้เวลาเพียงแค่ประมาณ 10 นาทีทุกอย่างก็เสร็จสิ้น เนื่องจากแต่ละตำแหน่งมีผู้เสนอชื่อให้เข้าดำรงตำแหน่งเพียงคนเดียวจึงไม่ ต้องมีการลงคะแนนเลือก แค่ใช้จำนวน ส.ส. 20 คนขึ้นไปรับรองรายชื่อที่ถูกเสนอเท่านั้น

คาดวันที่ 5 ส.ค. โหวตเลือกนายกฯ

สำหรับรายชื่อที่ถูกเสนอเป็นไปตามมติพรรคเพื่อไทยคือ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ส.ส.ขอนแก่น ถูกเสนอให้เป็นประธานสภา นายเจริญ จรรย์โกมล ส.ส.ชัยภูมิ เป็นรองประธานสภาคนที่ 1 และนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา เป็นรองประธานสภาคนที่ 2 ขั้นตอนหลังจากนี้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะทำเรื่องกราบบังคมทูล เพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้งต่อไป เมื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้งประธานและรองประธานสภาแล้วจะมีการประชุมสภาเพื่อ เลือกนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าน่าจะภายในวันที่ 4 หรือ 5 ส.ค. นี้

นายสมศักดิ์เปิดเผยหลังการประชุมสภาว่า ตั้งใจแก้ปัญหาสภาล่ม (องค์ประชุมไม่ครบ) ที่เกิดขึ้นบ่อยในสภาชุดที่แล้ว เชื่อว่าจะได้รับความร่วมมือจาก ส.ส. ด้วยดี เพราะการที่ไม่มีการเสนอชื่อแข่งชิงตำแหน่งถือเป็นการส่งสัญญาณว่าทุกคนต้อง การให้เกิดความปรองดอง

“ปู” อยากสรุปรายชื่อ ครม. ให้เร็วที่สุด

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ว่าที่นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่านายวิสุทธิ์จะไม่มีปัญหาในการทำหน้าที่รองประธานสภา แม้จะมีส่วนพัวพันกับคดีระเบิดแมนชั่นที่บางบัวทอง ซึ่งเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง เพราะถือเป็นคนละส่วน

ว่าที่นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการจัดทำรายชื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าเสร็จสิ้นแล้วประมาณ 50% แต่ยังไม่นิ่ง ส่วนตัวอยากเข้าทำหน้าที่ให้เร็วที่สุดเพื่อทำงานให้ประชาชน

“เรื่องคณะรัฐมนตรีเมื่อเข้ารับตำแหน่งนายกฯอย่างเป็นทางการแล้วจะสรุปให้เร็วที่สุด”
ตั้ง “วิทยา” ประธานวิปรัฐบาล

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า พรรคได้เลือกผู้ที่จะทำหน้าที่ในคณะกรรมการประสานงาน (วิป) สภาผู้แทนราษฎรพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว โดยเลือกนายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา เป็นประธานวิปรัฐบาล

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ยังไม่ได้รับการทาบทามจากผู้ใหญ่ในพรรคเรื่องตำแหน่งรัฐมนตรี เข้าใจว่าต้องรอการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการก่อน

“ผมอาจไม่ได้เลยสักตำแหน่งก็ได้ พูดอย่างนี้ไม่ได้น้อยใจเพราะผมเป็นแค่ตัวเล็กๆในพรรค คนข้างนอกอาจจะมองว่าผมมีบทบาทช่วยเหลือพรรคมากในการปราศรัยหาเสียงเลือก ตั้ง แต่คนในพรรคเขามองว่าเป็นแค่สีสันของการหาเสียงเท่านั้น”

เพื่อไทยจอง 30 ตำแหน่ง

สำหรับความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการจัดทำรายชื่อคณะรัฐมนตรี มีรายงานว่า พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลจะได้โควตาทั้งหมด 30 ตำแหน่ง พรรคร่วมรัฐบาลได้ 5 ตำแหน่ง

ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกวางตัวไว้ที่ค่อนข้างลงตัวแล้วในส่วนของพรรคเพื่อไทยประกอบด้วย นายวิชิต สุรพงษ์ชัย เป็นรองนายกรัฐมนตรีควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีด้านสังคม, พล.ต.ท.ชัจช์ กุลดิลก รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง

ส่ง “เฉลิม” คุมกระทรวงยุติธรรม

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอทีซี, พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นางบุญรื่น ศรีธเรศ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายวิกรม คุ้มไพโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, นายต่อพงษ์ ไชยสานต์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ

“ณัฐวุฒิ” โผล่นั่งรมต.สำนักนายกฯ

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, นายวิชาญ มีนชัยนันท์ หรือนายอุดมเดช รัตนเสถียร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นางอุไรวรรณ เทียนทอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม, นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ หรือนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำเสื้อแดง เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

“ชลน่าน” ได้เก้าอี้โฆษกรัฐบาล

ส่วนผู้ที่จะได้รับตำแหน่งค่อนข้างแน่นอนแต่ยังไม่ลงตัวว่าจะอยู่ที่ กระทรวงใด ประกอบด้วย นายศักดา กงเพชร ส.ส.ร้อยเอ็ด นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ประธานภาคอีสาน นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ คนสนิท ร.ต.อ.เฉลิม และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว จะได้เป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล พรรคชาติไทยพัฒนาจะได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และรองนายกรัฐมนตรี พรรคพลังชลได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ส่วนพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินได้ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง

สำหรับรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะมีการนำขึ้นทูลเกล้าฯหลังมีพระบรมราช โองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแล้ว คาดว่าภายในวันที่ 8 ส.ค. นี้

ที่มา : โลกวันนี้ 3 สิงหาคม 2554


“ไว้ใจ-สั่งได้-สายตรง(กว่า)” เหตุล็อก”ขุนค้อน” สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ขึ้นบัลลังก์

สําหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีแล้ว การเลือกตั้ง “3 กรกฎาคม 2554” มีความหมายถึง “ชีวิต”

เพราะ “ผลลัพธ์” ที่ออกมา สามารถเป็นตัวชี้วัด-ตัดสินได้เลยว่า “โอกาส” ที่ “เขา” จะได้กลับประเทศไทยมีมากน้อยแค่ไหน

เมื่อ “พรรคเพื่อไทย” ชนะการเลือกตั้ง และสามารถขึ้นเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ดูเหมือน “โอกาส” หวนคืน “แผ่นดินแม่” จะถูกเปิดกว้างขึ้นทันที

แต่ลำพัง “โอกาส” ที่เปิดกว้าง คงไม่สามารถการันตีได้ว่า “พ.ต.ท.ทักษิณ” จะได้กลับประเทศไทยสมใจอยากหรือไม่

เพราะที่สำคัญกว่าคือการวางเกม “บนกระดานการเมือง” และบรรจงจัด “ขุนพล” ฝ่ายเพื่อไทยลง “ตำแหน่งสำคัญ” ในสารบบการต่อสู้ เพื่อเอื้อต่อการ “ควบคุม” เกมการต่อสู้ และ “สกัด” ช่องทางที่ “ฝ่ายตรงข้าม” จะพลิกเกมขึ้นมาต่อกร

ดังนั้น “ก้าวแรก” ของการวางหมากกระดานการเมืองใน “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ผู้บงการหลักจึงต้องวาง “ตัวหลัก” ที่จะมารับตำแหน่ง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” อันเป็นตำแหน่งสำคัญในการ “ควบคุม” เกมการต่อสู้ในสภา ซึ่งมี “พรรคประชาธิปัตย์” เป็นคู่ต่อสู้ตัวฉกาจ

ที่สำคัญคือตำแหน่ง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ยังเป็น “ตัวละครสำคัญ” ที่ “ฝ่ายตรงข้าม” เคยใช้โค่น “รัฐบาลพลังประชาชน”

โดยเปิดทางให้ “ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวิน” หักประกาศิต “นายใหญ่” พลิกขั้วมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับ “พรรคประชาธิปัตย์” ปล่อยให้ “พรรคเพื่อไทย” ตกเป็น “ฝ่ายค้าน” มานานกว่า 2 ปี

ถือเป็น “บาดแผลคาใจ” ที่ทำให้ “พ.ต.ท. ทักษิณ” เจ็บปวดแสนสาหัส จึงไม่มี “แกนนำเพื่อไทย” คนไหน ต้องการให้เกิดเหตุ “ประวัติ ศาสตร์ซ้ำรอย” ขึ้นอีก

ในยุทธศาสตร์การต่อสู้ของ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” จึงจำเป็นยิ่งที่ “พ.ต.ท.ทักษิณ” จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับ “ขุนพลฝ่ายนิติบัญญัติ”

จึงไม่แปลกหาก “โผประธานสภา” ที่ออกมาตลอดเวลาหลังเสร็จศึกเลือกตั้ง จะปรากฏแต่รายชื่อ ส.ส. ในกลุ่มที่ “พ.ต.ท.ทักษิณ” ไว้เนื้อเชื่อใจ

ทั้ง สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ส.ส.ขอนแก่น อดีตรองประธานสภา ที่ไม่เคยมีพฤติกรรมเอนเอียงเอาใจออกห่างจาก “พรรคเพื่อไทย”

พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ แกนนำคนเสื้อแดง ที่เคยแลกอิสรภาพของตัวเองกับการต่อสู้ของ “คนเสื้อแดง”

หรือแม้แต่ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ยอมเอา “อนาคตการเมือง” ของตัวเองมาผูกไว้กับชะตาของ “พรรคเพื่อไทย”

แต่ละคนล้วนมีระดับดีกรี “ความไว้เนื้อเชื่อใจ” ขั้นสูงสุดในหมู่ “พลพรรคเพื่อไทย” แต่ “ปิดดีล” ที่ชื่อ “สมศักดิ์” ด้วยหลายปัจจัย

“สมศักดิ์” เจ้าของฉายา “ขุนค้อนประกาศิต” ถือว่ามีเหลี่ยมคูทางการเมืองแพรวพราว เคยโชว์ลีลา “รองประธานสภา” ที่ได้รับการยอมรับมาแล้วถึง 2 รอบ

ที่สำคัญคือทันเกม “พรรคประชาธิปัตย์” ที่เชี่ยวชาญกลเกมในสภา

นอกจากนี้ “สมศักดิ์” ยังมีคุณสมบัติเด่นที่สามารถ “สายตรง” ถึง “พ.ต.ท.ทักษิณ” ได้ตลอดเวลาแม้ในยามวิกฤต การันตีได้จาก 2 เหตุการณ์สำคัญคือ

หนึ่งคือ เหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 ที่ “สมศักดิ์” เป็น “แกนนำพรรคเพื่อไทย” ไม่กี่คนที่ปรากฏตัวที่ “ดูไบ” พร้อมข้อเสนอ “ชนะโดยไม่ต้องรบ” แต่ไม่ถูกนำไปปฏิบัติ

สองคือ หลังการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 “สมศักดิ์” เป็น ส.ส.คนแรกๆ ที่ไปปรากฏกายเคียงข้าง “พ.ต.ท.ทักษิณ”

ทว่าจุดสำคัญที่ทำให้ชื่อ “สมศักดิ์” เหนือกว่า “พ.อ.อภิวันท์” หรือ “ยงยุทธ” อย่างชัดเจนก็คือ “กลุ่มผู้สนับสนุน”

แม้ “พ.อ.อภิวันท์” จะได้รับการสนับสนุนจาก “คนเสื้อแดง” และ “ส.ส.เพื่อไทย” หลายคนในพรรค

หรือ “ยงยุทธ” จะได้แรงผลักจาก “เจ๊ใหญ่วัง กทม.”

แต่ไม่สามารถเทียบกับ “สมศักดิ์” ที่ได้รับการสนับสนุนจาก “แกนนำพรรคเพื่อไทย” ใกล้ชิด “พ.ต.ท.ทักษิณ” อย่าง “กลุ่มพิจิตร” ของ เฮียเพ้ง-พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล

ซึ่งเป็น “กลุ่มการเมืองสำคัญ” ที่ “พ.ต.ท. ทักษิณ” ไว้เนื้อเชื่อใจ ถึงขั้นเคยประกาศยกให้เป็น “เพื่อนตาย-เพื่อนแท้” ลำดับต้นๆ มาแล้ว

เฉพาะเมื่อโพรไฟล์เบื้องลึกของ “สมศักดิ์” มีสายสัมพันธ์อันดีกับ “กลุ่มพิจิตร” ภายใต้เครือข่าย “วิศวะจุฬาฯ คอนเนกชั่น” มาช้านาน จึงสามารถรับประกัน “ความไว้เนื้อเชื่อใจ” และ “สายตรง” ได้อีกระดับ

เป็นข้อได้เปรียบสำหรับ “ว่าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร” คนใหม่อย่างยิ่ง!!!

ที่มา : มติชนออนไลน์ 2 สิงหาคม 2554


วิสัยทัศน์ประเทศไทย 2020

พี่น้องชาวไทยที่เคารพรักทุกท่าน

วันเลือกตั้งกำลังจะมาถึง พี่น้องคงอยากจะทราบว่า พรรคการเมืองแต่ละพรรคที่อาสาเข้ามาบริหารประเทศจะนำพี่น้องและประเทศของเรา ไปในทิศทางใด เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจลงคะแนน  ดิฉันจึงขอกราบเรียนเสนอวิสัยทัศน์ปี ค.ศ. 2020 ซึ่ง เป็นปีที่นานาประเทศที่เจริญเขาจะใช้เป็นปีเป้าหมายที่จะพัฒนาประเทศของเขาให้สามารถแข่งขันได้ นั่นคือ ภายใต้การบริหารของพรรคเพื่อไทย ด้วยนโยบายที่นำเสนอในการเลือกตั้งครั้งนี้ หากดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ณ สิ้นปี ค.ศ. 2020  หรือ พ.ศ.  2563 สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นดังนี้

อนาคตของคนไทย 

1. รายได้ประชาชาติของไทย จะอยู่ที่ไม่น้อยกว่า 800,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยคนไทยทั้งหมดจะมีรายได้เหนือเส้นความยากจน คนไทยทุกครอบครัวจะมีบ้านของตนเอง เกษตรกรทุกคนจะมีที่ทำกินเป็นของตนเอง

2. คนไทยจะมีค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 1,000 บาท และเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีขั้นเริ่มต้นที่ 30,000 บาท/เดือน

3. คนไทยจะมีสุขภาพดีถ้วนหน้าและปลอดยาเสพติด รับประทานอาหารปลอดภัย มีสถานพยาบาลที่ทันสมัย และที่ออกกำลังกายทั่วประเทศ

4.  เยาวชนไทยจะมีการศึกษาทั่วถึงทันโลก พรั่งพร้อมด้วยคุณธรรม และจริยธรรม

5. ไทยจะมีจำนวนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเป็น 2 เท่า

เป้าหมายการพัฒนาสู่ความสำเร็จ 

6. การคมนาคมขนส่งในกรุงเทพฯ จะสะดวกยิ่งขึ้น เพราะรถไฟฟ้าจะเสร็จทั้ง 10 สาย มีการสร้างเมืองใหม่ และที่อยู่อาศัยออกไปตามเส้นทางรถไฟฟ้า

7. การคมนาคมขนส่งระบบราง จะครอบคลุมทั้งประเทศ มีทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อมเมืองสำคัญ รถไฟรางคู่ และระบบขนส่งเชื่อมโยงทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จะทำให้ค่าขนส่งสินค้า (Logistic Cost) ของไทยลดลงจากปัจจุบัน 25%

8. จะมีการปรับโครงสร้างการใช้พลังงาน โดยการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานสีเขียวเพิ่มขึ้นเป็น 25% ของพลังงานจากฟอสซิล

9. ประเทศไทยจะเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของเอเชีย ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) จะทำให้เด็กไทยเข้าถึงข้อมูลทั่วโลกได้ พร้อมทั้งระบบการเรียนการสอนจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ  ทุกตำบลจะเป็นตำบลดิจิตอล

10. ไทยจะมีเมืองใหม่ ที่มีการวางผังเมืองมาตรฐานโลก พร้อมเขื่อนกั้นน้ำทะเลและระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ

11. จะเกิดเมืองหลวงภูมิภาคขึ้นหลายแห่ง เนื่องมาจากการกระจายความเจริญ กระจายงบประมาณ กระจายรายได้ กระจายความมั่งคั่งสู่ภูมิภาค

12. ไทยต้องมีบทบาทนำในเวทีโลก คนไทยไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ฐานะใด อาชีพใด ต้องอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มีความภูมิใจในความเป็นไทย

13. ดัชนีการคอรัปชั่นที่ประเมินโดยต่างประเทศจะดีขึ้นกว่าปัจจุบัน ไม่น้อยกว่า 75 %

14. กระบวนการใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม (Rule of Law) จะเป็นมาตรฐานสากล อันจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ และไว้วางใจจากนานาประเทศ ซึ่งจะมีผลดีต่อการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ

อนาคตประเทศไทย

15. ไทยจะเป็นศูนย์กลางการบินของเอเชีย จะมีนักท่องเที่ยวเป็น 30 ล้านคนต่อปี สนามบินทั้งดอนเมือง และอู่ตะเภา จะถูกนำมาใช้เป็นสนามบินสากล

16. ไทยจะเป็นศูนย์กลางการเงิน และการพลังงานของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

17. ไทยจะเป็นศูนย์กลางทางด้านสุขภาพของเอเชีย

18. ไทยจะเป็นศูนย์ผลิตอาหารเลี้ยงโลก “ครัวไทย สู่ครัวโลก” ด้วยอาหารคุณภาพ (From Farm to Table)

19. สินค้าไทยจะเป็นสินค้าที่ทำรายได้จากการสร้างมูลค่า (Value Creation) มากกว่าการขายเพียงวัตถุดิบหรือรับจ้างทำของ

20. ไทยจะเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก แต่เคารพเสรีภาพในการนับถือศาสนาของคนไทย

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเป้าหมายที่ต้องบรรลุ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดเพียงเท่านี้ ซึ่งดิฉันและทีมงานพรรคเพื่อไทยจะอธิบายในวันปราศรัยโค้งสุดท้าย วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม นี้ ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน หัวหมาก ค่ะ

เป้าหมายเหล่านี้จะสำเร็จได้ หากคนไทยต้องมีความสามัคคีปรองดองกัน  ดิฉันจะไม่ทะเลาะกับใคร จะมุ่งมั่นให้วิสัยทัศน์ 2020 เป็นจริงให้ได้ และไม่ใช่จะขอเป็นนายกฯ ถึงปี 2563 เป็นเพียงต้องวางยุทธศาสตร์และลงมือตั้งแต่บัดนี้อย่างต่อเนื่อง

ด้วยความเคารพรัก

ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร
29 มิถุนายน 2554


ไม่ได้อยู่ที่มาร์ค

การหาเสียงเลือกตั้งดำเนินไปอย่างเข้มข้น

ระหว่างทางดูเหมือนจะมีปัญหาที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แก้ไม่ตกอยู่หลายอย่าง

นอกจากคำถาม ‘ใครสั่งฆ่า 91 ศพ’ เข้าใจว่าอีกสิ่งหนึ่งที่นายอภิสิทธิ์อยากหลีกหนีไปให้ไกลทุกครั้งเวลาเดินหาเสียง ก็คือป้าย ‘ดีแต่พูด’

3 คำห้วน สั้น แต่ได้ใจความ

เพราะไม่ว่าจะหาเสียงอย่างไร ด้วยการชูนโยบายสานต่อเรียนฟรี เบี้ยผู้สูงอายุ การประกันราคาพืชผล ฯลฯ หรือนโยบายใหม่ๆ เช่น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไฟฟ้าฟรีถาวร ฯลฯ เมื่อปะทะเข้ากับป้าย ‘ดีแต่พูด’ ทุกอย่างก็ไร้ความหมาย

ล่าสุดยังเกิดปัญหาที่ตัวนายอภิสิทธิ์เองก็คงไม่คาดคิดว่าจะกลายเป็นเรื่องบานปลาย คือข้อเขียนเปิดใจผ่าน ‘เฟซบุ๊ก’

ที่สร้างความไม่พอใจให้กับ นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลที่มีประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ

นายชุมพลเห็นว่าบางประโยคเปิดใจของนายอภิสิทธิ์ เป็นการไม่ให้เกียรติพรรคร่วม

“บอกไปได้อย่างไรว่าที่เลือกพรรคร่วมรัฐบาลเข้ามาเพราะว่าไม่มีตัวเลือก”

แต่จุดที่ทำให้เรื่องบานปลายจริงๆ คือ

“ไม่ใช่พรรคชาติไทยพัฒนาอยากจะร่วมรัฐบาล ถ้าไม่ถูกบีบบังคับก็ไม่ร่วมแน่ เราถูกบีบด้วยพลังที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็ต้องมาร่วม”

การที่ชาติไทยพัฒนาเป็นหนึ่งในพรรคร่วม คำให้สัมภาษณ์ของนายชุมพลจึงเป็นคำให้การต่อประชาชนในฐานะประจักษ์พยาน

ยืนยัน ‘พลังพิเศษ’ ที่อยู่เบื้องหลังการกำหนดโฉม หน้าการเมืองไทยนั้น มีอยู่จริง

ตัดฉากกลับมายังนายอภิสิทธิ์ กรณีที่ตั้งข้อสงสัยเอากับพรรคเพื่อไทยว่า

ทำไมในเมื่อคาดการณ์ว่าจะได้รับเลือกตั้ง 270 ที่นั่ง แล้วยังจะเรียกร้องว่าพรรคอันดับ 1 ต้องจัดตั้งรัฐบาล เพราะถ้าได้เกิน 250 เสียงก็เป็นรัฐบาลได้แล้ว

ถ้าคิดตามสูตรคณิตศาสตร์ทางการเมือง แน่นอนว่าน่าจะเป็นตามที่นายอภิสิทธิ์กล่าว

กระนั้นก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าความพ่ายแพ้ครั้งนี้ไม่ได้หมายถึงประชาธิปัตย์เท่านั้น แต่ยังหมายถึง ‘พลังพิเศษ’ ที่อยู่เบื้องหลังประชาธิปัตย์ ทั้งในรูปของ ‘มือ’ ที่มองเห็นและมองไม่เห็น ต้องแพ้ไปด้วย

ข้อสำคัญจึงไม่ได้อยู่ตรงนายอภิสิทธิ์ยอมรับผลเลือกตั้งได้หรือไม่

แต่อยู่ที่ ‘มือ’ เหล่านั้นต่างหาก ว่าจะยอมรับ ได้หรือไม่

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ 14 มิถุนายน 2554
คอลัมน์ : เหล็กใน