ใบตองแห้งออนไลน์: มันส์พะยะค่ะ! (มันส์โคตรโคตร)

มันส์พะยะค่ะ มันส์หยดติ๋ง มันส์โคตรโคตร มันส์ chip หาย… ผมอุทานเป็นภาษาวัยรุ่นหลากยุค เมื่อเห็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาสัมภาษณ์พิเศษกับช่อง 5 ช่อง 7 อย่างที่ไทยโพสต์เอาไปพาดหัวตรงเป้าว่า “เลือกเพื่อสถาบัน ผบ.ทบ.ปลุกล้มก๊วนคนชั่ว”

แม้ไก่อูจะพยายามแก้ต่างว่า ผบ.ทบ.ไม่ได้สนับสนุนพรรคไหน หรือต่อต้านพรรคไหน แต่ชาวบ้านเขาไม่ได้กินแกลบนะครับ ฟังแล้วไม่ได้ต่างกันเลยกับ กนก รัตน์วงศ์สกุล เขียนลงเฟซบุคว่า “อย่าให้พวกเผาเมืองยึดประเทศไทย”

เพราะ พล.อ.ประยุทธ์พูดอย่างที่แปลเนื้อหาได้ชัดเจนว่า “อย่าให้พวกล้มเจ้ายึดประเทศไทย” ซึ่งเมื่ออนุมานตาม “ผังล้มเจ้า” ของ ศอฉ.ที่ทำให้ไก่อูกลายเป็นไก่เนื้อแดงดินประสิว ท่านจะหมายถึงใครอีกเล่า ถ้าไม่ใช่มวลชนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยที่ยืนตรงข้ามพวกท่านมาตลอดตั้งแต่ รัฐประหาร

แถมท่านยังออกมาพูดตอนที่พรรคเพื่อไทยนำลิ่วในโพลล์ จน ปชป.ดิ้นพล่าน และต้องมีขบวนการเตะตัดขาต่างๆ นานา

แถมท่านยังออกมาพูดวันเดียวกับที่สุเทพ เทือกสุบรรณ เข้าไปพบ แต่ไก่อูยังอ้างหน้าตาเฉยว่าไม่ได้ไป

โธ่ๆๆๆ จะให้ชาวบ้านเชื่อใครระหว่างไก่อูกับนักข่าว ในเมื่อเดาะยกบทกวี “เพียงหวังจักเฟื่องฟุ้ง หรือจึงมุ่งมาศึกษา…” ไก่อูยังปล่อยกระต๊ากๆ เต็มกองทัพบก ว่าเป็นพระราชนิพนธ์ ร.6 ทั้งที่เป็นบทกวีของนเรศ นโรปกรณ์ เขียนไว้ก่อนปี 2500 ก่อนถูกจับเข้าคุกยุคเผด็จการสฤษดิ์ในข้อหาคอมมิวนิสต์

ให้ตาย อับอายขายขี้หน้าไปทั้งสถาบัน จปร.น่าจะเรียกตัวกลับไปติววิชาวรรณคดีไทยใหม่ ขืนปล่อยไประวังขวัญใจสาวเฟซบุคจะบอกว่า “สาวเอยจะบอกให้” เป็นงานเขียนของหลวงวิจิตรวาทการ

ขวัญใจจริตตก
สถานการณ์การเลือกตั้งมาถึงวันนี้ ต้องซูฮกยกนิ้วให้ยุทธศาสตร์การหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ว่าซูดด…ยอดจริงๆ ครับ จากที่เสื้อแดงประณามรัฐบาล ปชป.ฆ่าประชาชน เป็นร่างทรงอำมาตย์ ครบรอบปีพฤษภาอำมหิต พรรคเพื่อไทยกลับพลิกไปหาเสียงด้วยการชูนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และชูคำขวัญ “ไม่คิดแก้แค้นแต่จะแก้ไข” พร้อมกับเปิดตัวยิ่งลักษณ์ ซึ่งพร้อมทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นร่างทรงพี่ชาย อีกด้านเป็นผู้หญิงที่อ่อนโยนนิ่มนวล ไม่ก้าวร้าวเหมือนทักษิณ แสดงท่าทีพร้อมจะ “ปรองดอง” เพื่อความสงบ

ตอนแรกผมก็หงุดหงิด บ่นว่าทำไมไม่พูดเรื่อง “โค่นอำมาตย์” คืนประชาธิปไตย คืนความเป็นธรรม แก้รัฐธรรมนูญ ปฏิรูปศาล ปฏิรูปกองทัพ ฯลฯ แต่อย่างว่า ผมไม่ใช่นักการเมือง พรรคเพื่อไทยมองออกว่าสิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องการในวันนื้คือ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและความสงบ

เรื่องแก้เศรษฐกิจ ที่จริงนโยบายพรรคเพื่อไทยก็ไม่โดดเด่นอะไร เพียงแต่ ปชป.อยู่มาสองปีกว่า โชว์ความไร้ประสิทธิภาพจนชาวบ้านเขาเบื่อหน่ายแล้ว

พรรคเพื่อไทยแค่หาเสียงไปเรื่อยๆ ไม่ต้องทำอะไรมาก ทุกอย่างก็เข้าล็อก เป็นไปตามสัจธรรมที่พวกพันธมิตรรู้ซึ้ง จนทำป้ายประชดชีวิต “เลือกพรรคไหนก็แพ้ทักษิณ” (Vote No เสียดีกว่า แม้แต่ยอดมนุษย์อุลตร้าแมน ก็ยังรู้ว่าสู้ทักษิณไม่ได้ จึงต้อง Vote No)

พอโพลล์นำลิ่ว กระแสขึ้น ทุกอย่างก็มาเอง แต่แทนที่พรรคเพื่อไทยจะเป็นฝ่ายเริ่มต้น ฝ่ายตรงข้ามกลับเริ่มก่อน ตั้งแต่แก้วสรร-หมอตุลย์ ซึ่งพอโผล่มาในช่วงที่เพื่อไทยติดลมบนซะแล้ว ในสายตาสาธารณะ ก็กลับถูกมองว่า “ตามรังควาน” “เล่นไม่เลิก” และกลับไปทำให้ยิ่งลักษณ์ได้คะแนนสงสารเห็นใจมากขึ้น

ปชป.ก็ดิ้นพล่าน โดยเฉพาะเมื่อเจอยุทธการอันกล้าหาญชาญชัยของมวลชนเสื้อแดง ไปชูป้าย 91 ศพ และ “ของแพง” “ดีแต่พูด” อยู่กลางมวลชนประชาธิปัตย์ ทำเอาขวัญใจจริตนิยมจิตตก ปรี๊ดแตก เหลือเชื่อว่านายกฯ ผู้ดีอังกฤษศิษย์ออกซ์ฟอร์ด ไปยืนโต้วาทีเอาชนะคะคานชาวบ้านอยู่กลางตลาด

“พี่ผู้ชายที่มายกป้ายดีแต่พูด ผมเข้าใจว่าคงไม่มีลูกจึงไม่ได้เรียนฟรี มีคุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยายหรือเปล่า เพราะรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุครบถ้วนทุกคนแล้ว”

โห แปะ แปะ แปะ ขอปรบมือให้ ท่านนายกฯ รูปหล่อ ชนะการดีเบทขาดลอย สง่างามเหลือเกิน

เท่านั้นไม่พอ ไม่รู้ว่ามีปมอะไรในใจนักหนา แทนที่จะเก๊กหน้าหล่อไปเดินหาเสียงกับแม่ยก กลับเอาเวลาไปเขียนความในใจลงเฟซบุค เขียนออกมา 3 ภาค เป็นเรื่องทั้ง 3 ภาค โดยเฉพาะภาค 2 ที่ทำให้ชุมพล ศิลปอาชา ออกมาสวนว่า ถ้าไม่โดนบีบโดย “พลังที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้” ก็คงไม่ร่วมรัฐบาลกับประชาธิปัตย์

ถึงแม้ชุมพลออกมาขอโทษและกลบเกลื่อน แต่ใครจะเชื่อ ในเมื่อชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า “พลังที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้”

จำได้ไหมครับก่อนหน้านี้อภิสิทธิ์ก็บอกว่าทำตามที่บรรหารต้องการทุกอย่าง ยกเว้นอย่างเดียว ไม่ได้พาลูกเมียไปเที่ยวบึงฉวาก ตกลงจะพูดจาหามิตรหรือจะโต้วาทีเอามันปาก โง่หรือแกล้งฉลาด ไม่เข้าใจ

เอ้า พอเลขา กลต.ออกมาแถลงกรณียิ่งลักษณ์ ทั้งกรณ์ ทั้งมาร์คก็เต้น เรื่องถูกผิดโต้กันได้ แต่ทำไมต้องไปกล่าวหาเขาว่าทำตามโพล ทำงานให้เข้าตาใครบางคน หรือเตือนว่าข้าราชการต้องวางตัวเป็นกลาง ทั้งที่ตลอด 2 ปีกว่า เลขา กลต.ก็ทำงานกับ รมว.คลังมาด้วยดี

ทำใจให้กว้างกว่าอวัยวะมดบ้างสิครับ ทำอย่างนี้มันแสดงว่าพวกคุณหมกมุ่นกับเรื่องเอาผิดยิ่งลักษณ์ มัวแต่ลุ้นแก้วสรร-หมอตุลย์ มากกว่าจะสู้กันในสนามเลือกตั้งอย่างแฟร์ๆ

ท้ายที่สุด พอเห็นว่าหมดทางสู้ วอร์รูมพรรคประชาธิปัตย์ก็กำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ ปลุกเรื่อง “เผาบ้านเผาเมือง” ปลุกเรื่องนิรโทษกรรมทักษิณ แบบนี้จะเหลืออะไร้ ยิ่งเข้าทางเข้าไปใหญ่ เพราะมันแปลว่าพวกคุณนั่นแหละไม่ยอมให้สังคมสงบ

แต่เชื่อได้เลยว่า 2 สัปดาห์โค้งสุดท้าย สงครามข่าวสารจะเข้มข้น วันก่อนกรุงเทพธุรกิจก็พาดหัวถล่มนโยบายจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทย พวกขาประจำที่แอบแฝงอยู่ในคราบสื่อ นักวิชาการ หรือผู้มีชื่อเสียงทางสังคม จะทยอยกลับออกมาแสดงบทบาท เช่น คืนก่อน บรรเจิด สิงคะเนติ ก็ออกมาให้สัมภาษณ์รายการเจิมศักดิ์ แบบคุยกันเองเออออกันเองแล้วก็หันไปต้าน Vote No

ถ้าเพื่อไทยชนะ ประยุทธ์ต้องลาออก
หันกลับไปที่กองทัพ พรรคเพื่อไทยพลิกกลยุทธ์ ยิ่งลักษณ์ขอเข้าพบ ผบ.ทบ.แน่นอน ทบ.ปฏิเสธอย่างมีเหตุผล เพราะจะยอมให้พรรคใดพรรคหนึ่งเข้าพบก็น่าเกลียด

ยกเว้นสุเทพเข้าพบ ซึ่งข่าวทุกสำนักยืนยันว่าจริง เพียงแต่อาจจะผิดไปหน่อยเรื่องเวลา คือสุเทพไปพบหลังจาก ผบ.ทบ.ให้สัมภาษณ์พิเศษแล้ว (นี่แก้ต่างให้นะครับ) แต่ข่าวก็บอกว่า สุเทพกับ พล.อ.ประยุทธ์พบกันอยู่บ่อยๆ

แม้ยิ่งลักษณ์ไม่ได้เข้าพบ แต่อย่าลืมว่าภาพที่ออกไปทางสาธารณชนคือ “นารีขี่ม้าขาว” ยื่นมือเสนอไมตรี ทบ.ไม่รับก็ไม่เป็นไร แต่กลับตามมาด้วยการแจ้งจับผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทยว่าข่มขู่ ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของ ฉก.315

เรื่องนี้เหตุเกิดตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.นะครับ แต่ไหง ทบ.เพิ่งขุดขึ้นมาก็ไม่ทราบ

เรื่องที่ไก่อูเล่าให้ฟังแล้วไม่ใช่ผมไม่เชื่อ แต่ขำ คือถ้าเป็นเราชาวบ้านตาดำๆ มีลูกน้องนักการเมืองมาเลิกชายเสื้อให้ดูปืน เขาเรียกว่าข่มขู่ เป็นใครก็กลัวหัวหด แต่นี่เป็นทหารอาวุธครบมือกับรถฮัมวี่ ฉะนั้นไอ้การที่ลูกน้องนักการเมืองเลิกชายเสื้อให้ดูปืน มันไม่ใช่ข่มขู่ ภาษานักเลงเขาเรียกว่า “กรูไม่กลัวเมริง”

นักเลงแถวบ้านผมยังบอกว่าน่านับถือหัวจิตหัวใจมัน เจ๋งจริงๆ มีแค่ปืนสั้น ยังบังอาจไป “ข่มขู่ขัดขวางการปฏิบัติงาน” ของทหารทั้งหมู่

แล้วผมก็ไม่เข้าใจ ฉก.ปราบยาเสพย์ติดประสาอะไร ขี่รถฮัมวี่ตระเวนไปในหมู่บ้านชานเมืองให้ผู้คนแตกตื่น ยาเสพย์ติดมันวางแผงขายอยู่ข้างถนนหรือครับ ถึงคิดจะทะเล่อทะล่าเข้าไปจับง่ายๆ

ตอนนั้น ผบ.ทบ.ก็ทำท่าแข็งกร้าว ยอมไม่ได้ ถ้าใครขวาง จะส่งกำลังเพิ่มเป็นชุดละ 50-100 นาย ดูซิว่าจะมีใครมาล้อมทหารอีกหรือเปล่า ใครขัดขวางอาจจะมีส่วนร่วมกับพ่อค้ายาเสพย์ติด

เออ แปลกดีนะครับ ยกทหารเข้าไปตั้งเป็นร้อย ยังกะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ต้องแจ้งให้ กกต.ทราบด้วย ทหารมีอำนาจทำได้ถึงขนาดนี้ ก็น่าจะทำเสียทุกหมู่บ้านในประเทศไทย รวมทั้งหมู่บ้านเสื้อแดงด้วย ผมเพียงแต่สงสัยว่าที่ท่านบอกว่าทำมาตั้งแต่ก่อนยุบสภา เคยจับคนค้ายาเสพย์ติดได้มั่งหรือเปล่า เพราะถ้าเข้าไปทำให้ชาวบ้านแตกตื่นอย่างนี้ คนขายยาก็หนีหมด เผลอๆ จะจับได้แต่คนขายยาใส่เสื้อแดง

“ผมให้เกียรติท่านมาโดยตลอด ช่วงเวลาที่ผ่านมา จะเห็นว่า ผมสงบปากสงบคำไปเยอะ พยายามสร้างบรรยากาศที่ดีในการเลือกตั้ง เพื่อให้ทุกคนมีความสุขในการเลือกตั้ง อยากจะโฆษณาอะไรก็ว่ากันไป แต่ถ้าท่านมาพาดพิงทหาร และมารังแกทหาร ผมรับไม่ได้”

สงบปากสงบคำที่ไหนกัน เพราะไม่กี่วันถัดมาก็ออกอากาศทั่วประเทศ อ้างว่ามีกลุ่มบุคคลไม่หวังดี ทำให้กองทัพมีปัญหากับประชาชน สถานการณ์ภายนอกกดดันกองทัพ กองทัพถูกรังแก ฯลฯ ขอความเป็นธรรมให้กองทัพ

ผมฟังแล้วไม่เข้าใจ ท่านพูดเหมือนกับกองทัพอยู่เฉยๆ เป็นสุภาพบุรุษ ไม่เคยไปยุ่งกับใคร ก็ไอ้ความปั่นป่วนวุ่นวายวิกฤตทั้งหลายที่เกิดขึ้น มันเกิดเพราะกองทัพทำตัวเป็นโจรปล้นประชาธิปไตยเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ใช่หรือ จนบัดนี้ยังไม่เคยมีผู้นำเหล่าทัพรายไหนขอโทษประชาชน ขอขมาว่าทำผิดไปแล้ว จะไม่ทำอีก จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีก เห็นแต่ลอยหน้าลอยตายืนกรานว่าตัวเองทำถูกทุกอย่าง ทำเพื่อปกป้องชาติราชบัลลังก์ แล้วก็บานปลายมาจนต้องเดินตามแผนบันได 4 ขั้นตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร กระทั่งปราบปรามประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาอำมหิต

ผมยังมองคนในแง่ดี ผมคิดว่าท่านเสียใจจริง ท่านไม่อยากให้มีคนตาย แต่ท่านจะโทษใครล่ะ อย่าเอาแต่โทษคนอื่น กองทัพก่อกรรมแล้วก็ต้องรับ พวกคุณผิดมาตั้งแต่รัฐประหารแล้วก็ต้องรับผลพวงที่เกิดขึ้น เหมือนที่ในหลวงตรัสว่ากลัดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรกมันก็ผิดหมด

ไก่อูอ้างว่าท่านไม่ได้พูดให้ประชาชนไม่เลือกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แล้วที่ท่านเรียกร้องไม่ให้เลือกคนทำผิดกฎหมาย คนที่ใช้กริยาไม่เหมาะสม ท่านหมายถึงใครล่ะ นอกจากพรรคเพื่อไทยซึ่งมีแกนนำ นปช.สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อยู่สิบกว่าคน ซึ่งท่านพูดเป็นนัยอยู่แล้วก่อนหน้านี้ว่าให้มาสู้กันตามกระบวนการของกฎหมาย

ท่านเรียกร้องให้เลือกเพื่อสถาบัน โดยพูดถึงคดีหมิ่นและข้อเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 ท่านพูดถึง อ.ใจ พูดถึงจักรภพ แม้ท่านไม่พูดถึงจตุพร พรหมพันธ์ คนฟังก็เข้าใจได้ จตุพร พรหมพันธุ์ ผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้สิสต์ พรรคเพื่อไทย ซึ่งท่านเองเป็นคนให้นายทหารพระธรรมนูญไปแจ้งจับ จนวันนี้ก็ยังถูกคุมขังไม่ได้ประกัน

ฉะนั้นที่ท่านเรียกร้องให้เลือกเพื่อสถาบัน ก็ไม่มีทางตีความเป็นอื่นไปได้ นอกจากบอกให้ไม่เลือกพรรคเพื่อไทย

แต่ทั้งหมดนี้ ผมขำอยู่อย่าง คือท่านคิดว่าท่านเป็นใคร ถึงได้พูดออกทีวี แล้วคิดว่าจะมีคนดู แล้วคิดว่าจะมีคนฟังคนเชื่อท่าน ท่านเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิตมาจากไหน (สมัยนี้ ต่อให้เป็นปราชญ์ราชบัณฑิตคนเขาก็ยังไม่ฟังเลย) ท่านเป็นคนดีมีจิตใจสูงส่งมาจากไหน ก็แค่หัวหน้าส่วนราชการ ที่เลื่อนขั้นมาตามลำดับ ไม่ใช่สิ ข้ามลำดับด้วยซ้ำ เพราะถ้าไม่มีรัฐประหาร 49 ป่านนี้อย่างเก่งท่านก็เป็นแค่ผู้ช่วย ผบ.ทบ. เผลอๆ อาจเป็นแค่ที่ปรึกษากองทัพบกหิ้วกระเป๋าเจมส์บอนด์ใบเดียวไปทำงาน

ประชาชนเขามีความจำเป็นอะไรต้องฟังท่าน ต้องเชื่อท่าน ถ้าอย่างนั้น ประชาชนจำเป็นต้องฟังต้องเชื่อปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงไอซีที ปลัดกระทรวงเกษตร ฯลฯ ด้วยไหม (แล้วทำไมหัวหน้าส่วนราชการอื่นๆ ไม่มีสิทธิออกทีวีเรียกร้องให้ประชาชนเลือกคนดีบ้าง)

ไอ้ที่คนเขาฟังท่าน ก็เพียงเพราะเขาอยากรู้ท่าทีของผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งมีปืน มีรถถัง มีกำลังพล (และมีรถฮัมวี) ที่มีศักยภาพพอจะแทรกแซงการเลือกตั้ง หรือพอจะล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้

นั่นคือสิ่งที่ทูตานุทูตที่เสวนากันอยู่บ้านทูตนอรเวย์เขาฟัง นั่นคือสิ่งที่สำนักข่าวต่างประเทศเขาฟัง

ฉะนั้นคำพูดของท่านจึงไม่มีผลกระทบต่อคะแนนเสียง อาจส่งผลลบด้วยซ้ำ แต่ที่สำคัญคือส่งผลต่อความหวาดวิตกของประชาชนว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยได้รับเลือกเข้ามามากที่สุด ตามมติมหาชน กองทัพก็อาจเข้าไปแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาลอีก และจะส่งผลให้บ้านเมืองไม่สงบ หรือถ้าพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลได้ กองทัพก็จะเป็นหอกข้างแคร่ และทำให้ประเทศยิ่งวิกฤต อย่างที่บรรดานักลงทุนต่างชาติเขาวิตกกังวลกันอยู่

ท่านพูดแล้วจึงต้องรับผิดชอบนะครับ เพราะท่านพูดออกมาขนาดนี้แล้ว ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล เขาก็มีสิทธิที่จะเชิญท่านหิ้วกระเป๋าเจมส์บอนด์ไปนั่งประจำสำนักนายก รัฐมนตรี อย่างมีความชอบธรรมด้วย

ยิ่งไปกว่านั้นคือการที่ท่านพูดเรื่องสถาบัน อ้างสถาบัน เข้ามาชักจูงโน้มน้าวให้ประชาชนเลือกไม่เลือก (ทั้งที่ กกต.ออกระเบียบห้ามพรรคการเมืองหาเสียง แต่ ผบ.ทบ.กลับเอาสถาบันมาหาเสียงหน้าตาเฉย) ถ้าสมมติว่าผลการเลือกตั้งออกมาวันที่ 3 ก.ค.แล้วพรรคเพื่อไทยยังชนะถล่มทลาย landslide ได้คะแนนเสียงใกล้เคียงครึ่ง ท่านจะแปลความหมายว่าอย่างไร แปลว่าคนครึ่งประเทศไม่เอาสถาบันอย่างนั้นหรือ เปล่าเลย-ไม่ใช่ เพราะคนส่วนใหญ่เขาไม่ได้คิดอย่างท่าน เรื่องสถาบันก็อยู่ส่วนสถาบัน นี่คนเขาเลือกพรรคการเมืองเพื่อเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และคืนความสงบ คืนความยุติธรรมให้สังคม ท่านต่างหากที่เอาสถาบันมาขีดแบ่ง

ฉะนั้นถ้าคืนวันที่ 3 ก.ค.ผลออกมาว่าพรรคเพื่อไทยชนะเกินครึ่ง ท่านควรจะเก็บกระเป๋าเขียนใบลาออกได้เลย แสดงความรับผิดชอบอย่างลูกผู้ชายชาติทหาร ทั้งรับผิดชอบต่อสถาบัน และเสียสละตัวเองเพื่อความสงบสุขของสังคม

หรือถ้าพรรคเพื่อไทยได้ใกล้เคียงครึ่งแล้วจัดตั้งรัฐบาลได้ ท่านก็ต้องรับผิดชอบอยู่ดี

ไม่ต่างกับที่กนกต้องรับผิดชอบ คือคุณจะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างไรก็ได้ แต่กลับไปแสดงในเนชั่นทีวี (หรือมหาวิทยาลัยโยนกทีวี-ฮิฮิ) ไม่ควรมาออกจอทีวีของรัฐอีก

เรื่องมาตรา 112 ผมไม่ทราบว่าท่านพูดเพื่ออะไร เพราะถ้าจะมีการแก้ไขกฎหมาย ก็เป็นเรื่องของรัฐสภา ไม่ใช่เรื่องของกองทัพ ที่จะต้องมาเสนอความเห็น ถ้าบอกว่าเป็นหน่วยงานหนึ่ง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือกรมส่งเสริมการส่งออก ก็ควรเสนอความเห็นได้ด้วยเช่นกัน เพราะสถาบันไม่ใช่ของกองทัพ สถาบันเป็นของทุกคน

อย่างไรก็ดี ต้องขอขอบคุณท่าน ผบ.ทบ.ที่ช่วยยกประเด็นโต้แย้งเรื่องควรจะแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 หรือไม่ ให้กลายเป็นประเด็นระดับชาติ เพราะนี่เป็นครั้งแรกนะครับ ที่เรื่องมาตรา 112 ได้ออกทีวีช่อง 5 ช่อง 7 ไปทั่วประเทศ เราพูดกันมานาน แต่ก็ยังอยู่เฉพาะในแวดวงนักคิดนักเขียนนักวิชาการ อยู่แค่ในเว็บไซต์ แต่ท่านช่วย “จุดพลุ” ให้เป็นประเด็นดีเบทระดับชาติ ขอขอบพระคุณยิ่ง

เพียงแต่ท้วงติงอีกนิดเดียว ที่ท่านพูดถึง อ.ใจ และจักรภพ ทั้งสองคนเขายังไม่มีความผิดนะครับ ศาลยังไม่ได้ตัดสิน เขาแค่หลบหนีเพราะเกรงจะไม่ได้ประกันและเกรงจะมีภัยคุกคาม

สรุปแล้วผมเลยไม่ทราบว่าท่าน ผบ.ทบ.ออกมาพูดเพื่ออะไร หรือถูกใครกดดันให้ออกมาพูด แต่ท่านพูดแล้วไม่ได้เป็นผลดีทั้งต่อตัวเองและต่อสถานการณ์ บอกแล้วไงครับ พรรคเพื่อไทยเขาวางยุทธศาสตร์อย่างฉลาด แสดงท่าทีพร้อมจะปรองดอง แล้วปล่อยให้ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามออกมาเต้นเอง ออกมาเต้น เอ้า! ออกมาเต้น (เด็ดขาดลีลาไปเล้ย)

เอาแค่ที่ท่านประกาศว่าจะให้ กอ.รมน.ดูแลสื่อสองขั้วที่ยั่วยุ ก็โดนสนธิ ลิ้ม ไล่ไปลงนรกแล้ว (ขณะที่ทักษิณห้ามพรรคเพื่อไทยตอบโต้ อยู่เฉยๆ เก็บคะแนนไปเรื่อยๆ)

เห็นเกมอย่างนี้แล้วผมถึงได้ร้องว่ามันส์พะยะค่ะ มันส์สุดสุด มันส์โคตรโคตร มัน chip หาย แล้วคอยดูต่อไปว่าจะดิ้นกันอย่างไรอีก

เชื่อได้เลยว่า เดี๋ยวจะต้องมีบุคคลระดับสูงกว่าประยุทธ์ ออกมาเรียกร้องให้เลือกคนดี เลือกเพื่อสถาบันอีก

อดรนทนไม่ได้กันนักก็เรียงหน้าออกมาเล้ย

ที่มา : ประชาไท
โดย : ใบตองแห้งออนไลน์

 


จาตุรนต์ ฉายแสง แนะท่าทีพลเอกประยุทธ์ จันโอชา

นายจาตุรนต์  ฉายแสง  ประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย เขียนข้อความแสดงความคิดเห็น และแนะนำพลเอกประยุทธ์  จันโอชา ผู้บัญชาการทหารบก ทั้งท่าทีเรื่องการส่งกำลังทหารลงพื้นที่ เพื่อปราบปรามยาเสพติด  หมู่บ้านเสื้อแดง  และการให้สัมภาษณ์ของพันเอกสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก  โดยมีเนื้อหาดังนี้

“เห็นข่าวผบ.ทบ.ฮึ่ม พท.รังแกทหารแล้ว  อยากจะให้คำแนะนำผบ.ทบ.สักหน่อย เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อตัวผบ.ทบ.เอง  และอาจเป็นผลดีต่อบรรยากาศทางการเมือง

อ่านคำสัมภาษณ์ของคุณประยุทธ์แล้วรู้สึก ว่า  ท่านคงลืมไปว่าท่านเป็นผบ.ทบ.อยู่ไม่ใช่หัวหน้ากลุ่มก๊วนอะไรที่จะบอกว่ายอม ไม่ได้ หยามไม่ได้อย่างนั้น

ท่านบอกว่าส่งทหารไป 2 คนแล้วถูกกดดัน ก็เลยจะส่งไป 50 คนหรือ 100 คน ถามว่าจะส่งไปทำไม จะส่งไปปราบยาเสพติดหรือปราบผู้สมัครรับเลือกตั้ง

ถ้าส่งไปปราบยาเสพติด จะไม่กระโตกกระตากไปหน่อยหรือ และยังต้องถามด้วยว่าท่านจะไปกันในหน้าที่อะไร ไปทำแทนตำรวจหรือ ทำไมไม่ใช้ตำรวจปราบยาเสพติด

ถ้าผู้สมัครรับเลือกตั้งทำผิดกฎหมาย  ทำไมคนของท่านไม่ไปแจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดี หรือว่าจะเป็นการเสียเหลี่ยม หรือไม่เชื่อถือกฎหมาย

การแสดงออกของผบ.ทบ. จึงเข้าลักษณะข่มขู่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทำให้เสียบรรยากาศทางการเมืองและทำให้คนอาจรู้สึกว่าท่านวางตัวไม่เป็นกลางได้

จึงอยากแนะนำท่านว่าก่อนจะพูดอะไร  ควรคิดเสียให้รอบคอบ ท่านเป็นคนโผงผาง ตรงไปตรงไปตรงมา แต่ก็ต้องคำนึงด้วยว่าพูดแล้วคนจะรู้สึกอย่างไร

อีกเรื่องคือ  ที่ท่านผบ.ทบ.พูดถึงหมู่บ้านสีแดง ที่ท่านว่าไม่ผิดกฎหมาย  แต่อยากให้ทบทวน อยากให้ไทยมีสีเดียว ก็เป็นสิทธิ์ของท่านที่จะแสดงความเห็น แต่ก็เป็นสิทธิ์ของประชาชนที่จะเรียกหมู่บ้านของตัวเองเป็นสีอะไรก็ได้ตราบใดที่ไม่ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย

บังเอิญว่าแกนนำคนเสื้อแดงเขา ก็ลงสมัครเลือกตั้งกันอยู่ พอแสดงความเห็นอะไรในทางไม่ชอบสีแดง คนก็อาจมองว่าท่านไม่เป็นกลางอีกก็ได้

หมู่บ้านสีแดงมีกี่หมู่บ้าน ผมไม่ทราบ แต่ไม่มีข้อมูลว่าพวกเขาทำอะไรผิดกฎหมาย เห็นแต่หมู่บ้านสีเหลืองอยู่แถวทำเนียบรัฐบาลน่าจะไม่ถูกกฎหมาย

หมู่บ้านสีเหลืองที่มีอยู่เพียงหมู่บ้าน เดียวนี้ ท่านผบ.ทบ.จะว่ายังไง นอกจากทำผิดกม.แล้วทำผิดกม. ยังยุให้ท่านไปรบกับกัมพูชาอยู่ทุกวันด้วย

ผมอยากแนะนำให้ผบ.ทบ.ปรามโฆษกกองทัพบกเสียบ้าง อย่าปล่อยให้มาต่อปากต่อคำกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง จนเหมือนตั้งตัวเป็นศัตรูกับบางพรรคไปแล้ว

คุณสรรเสริญมีสิทธิ์แสดงความเห็นทางการเมือง จะโต้กับใครก็ได้ แต่ท่านผบ.ทบ.แน่ใจหรือว่าเขาควรจะโต้ในฐานะโฆษกของกองทัพบก กองทัพเห็นตามเขาหรือ

เมื่อโฆษกไม่เป็นกลางทางการเมือง คนเขาอาจคิดว่ากองทัพไม่เป็นกลางทางการเมือง ท่านไม่ควรเอาอย่างนายกฯอภิสิทธิ์ กับเทพไท ที่พูดอะไรไม่ตรงกันทุกวัน

เรื่องสุดท้ายที่อยากแนะนำ  คือการวางตัวเป็นกลางและไม่แทรกแซงในการจัดตั้งรัฐบาล อยากแนะนำให้ท่านทำให้ชัดเจนเสียแต่วันนี้  ไม่ต้องรอหลังเลือกตั้ง

ที่คนเขาห่วงกันทั่วบ้านทั่วเมือง ก็คือหากพรรคที่ได้เสียงมากแล้ว  อาจไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล พูดกันตรงๆก็คือเขากลัวการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจและกองทัพ

เรื่องนี้คนในต่างประเทศและชาวไทยในต่างประเทศก็วิตกกันทั้งนั้น ทำให้เขาไม่เชื่อมั่นต่อเมืองไทยของเรา เมืองไทยที่ท่านอยากให้เป็นสีเดียวนี่แหละ

ผมจึงเสนอว่าให้ท่านทำเหมือนตอนที่ประกาศว่าจะไม่ทำรัฐประหารนั่นแหละ แต่ให้ออกมาพูดพร้อมกันว่าจะไม่แทรกแซงในการจัดตั้งรัฐบาล

ควรแถลงด้วยว่าจะไม่อนุญาตให้พรรคการเมืองใช้สถานที่ของกองทัพบกในการจัดตั้งรฐบาลอีกแล้ว

เรื่องแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาลนี้ ไม่ใช่พูดกันลอยๆ เห็นคุณชุมพล  ก็เพิ่งให้สัมภาษณ์ไม่ใช่หรือ ก็ชัดอยู่แล้วว่าคราวที่แล้วมีการแทรกแซง บีบบังคับ

ครั้งที่แล้วที่ผมได้ยินจากปากผู้นำพรรคการเมืองบางท่าน ก็คือเขาบอกว่าผู้นำทหารขู่เขาว่าถ้าไม่ย้ายไปสนับสนุนปชป. ก็จะทำรัฐประหาร   ครั้งนี้ท่านผบ.ทบ.ควรประกาศเสียว่าจะไม่ทำอีก

นอกจากนั้น ก็ขอให้ท่านเพิ่มความสุขุมมากขึ้นในการออกความเห็นต่างๆ อย่างน้อยในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งเพื่อไม่ให้ถูกมองว่าท่านไม่เป็นกลาง”

ที่มา : VOICE TV


ปลดใครกันแน่

แม้ไม่ตรงเป้านัก แต่ข้อเรียกร้องของ ส.ส.ประชาธิปัตย์จากสามจังหวัดภาคใต้ต่อปฏิบัติการทางทหารของกองทัพ (จนถึงกับให้ปลด ผบ.ทบ.) ก็เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ที่ ส.ส.เห็นเป็นหน้าที่ของตน ในการตรวจสอบและเสนอแนะปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่นี้…ต่อสาธารณชน

ส.ส. อาจเคยทำเช่นนี้มาแล้วเป็นการภายใน เช่นเจรจากับหัวหน้าพรรคในฐานะนายกรัฐมนตรี แต่ ส.ส.ในฐานะบุคคลจะมีพลังได้สักเท่าไร หากไม่มีสาธารณชนหนุนหลัง ดังนั้นไม่ว่าข้อเสนอของ ส.ส.จะเป็นอย่างไร นโยบายของรัฐในการจัดการกับความไม่สงบในภาคใต้จึงเหมือนเดิมตลอดมา กล่าวคือ ยกเรื่องทั้งหมดให้กองทัพเป็นผู้จัดการแต่ผู้เดียว

ปัญหาในสามจังหวัดภาคใต้ไม่ใช่ปัญหาทางทหาร แม้ว่าจำเป็นต้องใช้กำลังทหารจัดการในบางมิติของปัญหา แต่ทหารไม่มีทั้งความชำนาญหรือความสามารถจะจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้

ปัญหาหลักของภาคใต้คือการแข็งข้อต่ออำนาจรัฐของประชาชนส่วนหนึ่ง โดยใช้วิธีการทางทหารในการต่อสู้กับรัฐ ก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมาก

ในท่าม กลางความวุ่นวายของสถานการณ์ ปัญหาที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ก็เข้าผสมโรง โดยใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือมากขึ้น เช่น ปัญหายาเสพติด, การค้าของเถื่อน และการแย่งชิงทรัพยากร ทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐเอง ทั้งนี้เพราะอำนาจรัฐอ่อนแอลง และเพราะความระแวงระหว่างต่อกันย่อมมีสูงในทุกฝ่าย

แต่การแข็งข้อต่อ อำนาจรัฐนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะมีคนหัวรุนแรงกลุ่มหนึ่งก่อความไม่สงบขึ้น แต่เป็นเพราะมีเงื่อนไขอีกหลายอย่าง ทั้งทางวัฒนธรรม, การเมือง, เศรษฐกิจ และการปกครองที่ทำให้คนกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จ ตราบเท่าที่ไม่จัดการกับเงื่อนไขดังกล่าว ถึงจะใช้กำลังทหารสักเท่าไร ก็ไม่สามารถนำความสงบกลับคืนมาได้

ยิ่งไปกว่านี้ อาจยิ่งทำให้สถานการณ์ความรุนแรงบานปลายมากขึ้นไปอีก เพราะในสถานการณ์ที่ไม่ชัดแจ้งว่าศัตรูคือใคร วิธีการทางทหารกลับยิ่งเพาะศัตรูให้กล้าแข็งมากขึ้น แนวร่วมที่อยู่ห่างๆ ก็จำเป็นต้องเข้าไปขอความคุ้มครองกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ราษฎรธรรมดากลัวภัยจากการปราบปรามก็เช่นเดียวกัน รวมถึงคนที่ได้เห็นญาติมิตรของตนถูก “ปฏิบัติการ” อย่างไม่เป็นธรรม ย่อมมีใจเอนเอียงไปสนับสนุนผู้ก่อความไม่สงบ

ในขณะที่เงื่อนไขต่างๆ ซึ่งควรได้รับการแก้ไขก็ไม่ได้ถูกแก้ไข

นับตั้งแต่เกิดความไม่สงบระลอกใหม่เมื่อต้นปี 2547 เป็นต้นมา ไม่มีรัฐบาลชุดใดคิดถึงการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนสักรัฐบาลเดียว ฉะนั้น นโยบายหลักของทุกรัฐบาลจึงเหมือนกัน นั่นก็คือปฏิบัติการทางทหาร ซึ่งอาจทำโดยตำรวจหรือทหารก็ตาม

รัฐบาลทักษิณเคยตั้งคณะกรรมการ สมานฉันท์ฯ ซึ่งได้ศึกษาถึงเงื่อนไขที่รัฐไทยสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น และได้เสนอทางแก้หลายอย่าง แต่รัฐบาลทักษิณแทบไม่ได้นำเอาข้อเสนอใดไปปฏิบัติอย่างจริงจังเลย

ข้อเสนอเหล่านี้ล้วนเป็นข้อเสนอที่ทำได้ยากในทางการเมือง เช่นการเข้าไปแทรกแซงให้มีการจัดสรรทรัพยากรท้องถิ่นอย่างเป็นธรรม โดยไม่ปล่อยให้ทุนเข้าไปแย่งชิงจับจอง โดยอาศัยอำนาจรัฐเพียงฝ่ายเดียว หรือใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมในกรณีกล่าวหาว่าราษฎรบุกรุก อุทยาน, ป่า หรือชายฝั่ง โดยไม่ยอมให้มีการพิสูจน์สิทธิกันด้วยกระบวนการซึ่งเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

จะผลักดันให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้ ต้องมีเจตนารมณ์ทางการเมืองอย่างแรงกล้า ที่จะโน้มน้าวสาธารณชนให้คล้อยตาม จึงจะทำให้รัฐบาลมีพลังต่อสู้กับระบบราชการซึ่งไม่ต้องการสูญเสียอำนาจ และต่อสู้กับทุนซึ่งต้องการใช้ช่องโหว่ในการหากำไรกับทรัพยากรท้องถิ่น

แม้แต่รัฐบาลทักษิณซึ่งสามารถกุมคะแนนเสียงในสภาได้อย่างท่วมท้น ก็ไม่กล้ามีเจตนารมณ์ทางการเมืองที่จะขจัดเงื่อนไขต่างๆ อันเป็นเหตุให้ผู้ก่อความไม่สงบจะใช้เพื่อแสวงหาความสนับสนุนจากประชาชน

รัฐบาลประชาธิปัตย์ซึ่งไม่เคยเปลี่ยนแปลงมาหลายยุคหลายสมัย ยิ่งไม่กล้าจะมีเจตนารมณ์ทางการเมืองใดๆ คงปล่อยให้การจัดการปัญหาด้วยวิธีการทางทหารต่อไป ซ้ำยังเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับการทำงานของกองทัพขึ้นไปอีก เพราะตัวได้อำนาจมาจากการแทรกแซงของกองทัพ ไม่ว่าทหารจะเรียกร้องอะไร นับตั้งแต่งบประมาณ, อาวุธยุทโธปกรณ์ หรืออำนาจที่ไม่ต้องตรวจสอบจากกฎหมายใดๆ ก็พร้อมจะยกให้หมด

หลายปีที่ผ่านมา เกิดประโยชน์ปลูกฝังขึ้นแก่กองทัพในนโยบายปล่อยทหารให้จัดการแต่ผู้เดียวนี้

เคยมีความพยายามของคนบางกลุ่มในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ ที่จะถ่วงดุลอำนาจจัดการของทหารในภาคใต้ ด้วยการตั้งหน่วยงานผสมระหว่างพลเรือนและทหารขึ้น เป็นผู้อำนวยการแก้ปัญหาภาคใต้ แต่หน่วยงานดังกล่าวแม้จะถูกตั้งขึ้นตามกฎหมายในภายหลัง ก็ไม่มีอำนาจหรือความพร้อมใดๆ ที่จะปฏิบัติงานดังกล่าวได้

ทุกบาททุกสตางค์ที่ทุ่มลงไปเพื่อแก้ปัญหาภาคใต้ จึงทุ่มลงไปแก่ปฏิบัติการทางทหารโดยสิ้นเชิง

ผลของการแก้ปัญหาด้วยการ “ปราบ” ท่าเดียวนี้เป็นอย่างไร?

ความไม่สงบก็ยังดำเนินต่อไปเป็นรายวันเหมือนเดิม เพียงแต่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเป็นสัญญาณบางอย่าง ซึ่งแปลว่าสถานการณ์ดีขึ้น หรือเลวลงก็ไม่ทราบได้

เช่นเจ้าหน้าที่ บ้านเมือง สามารถบอกได้ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น เป็นฝีมือของอาร์เคเคกลุ่มใด มีใครเป็นแกนนำ การที่เจ้าหน้าที่สามารถบอกได้เช่นนี้ อย่างน้อยก็แปลว่าเจ้าหน้าที่มีความรู้เกี่ยวกับศัตรูมากขึ้น แต่ไม่จำเป็นว่าสิ่งที่เจ้าหน้าที่บอกนั้นจะเป็นจริง การทำบัญชีรายชื่อผู้ต้องสงสัยนั้น หน่วยงานฝ่ายความมั่นคงของรัฐรู้จักทำมานานแล้ว และหลายครั้งด้วยกันก็มักจะผูกชื่อในบัญชีนี้เข้ากับการละเมิดกฎหมายที่จับ ผู้กระทำผิดไม่ได้อยู่เสมอ

ในกรณีภาคใต้ปัจจุบัน ไม่รู้ชัดว่าการจับ “แพะ” ตามบัญชีรายชื่อยังทำอยู่หรือไม่ ควรที่จะมีการตรวจสอบคดีในศาลว่าผู้ถูกกล่าวหาเหล่านี้ได้รับการยกฟ้องเป็น สัดส่วนเท่าไร อีกประการหนึ่งที่ต้องเข้าใจด้วยก็คือ ผู้ถูกจับเหล่านี้จำนวนมากถูกจับภายใต้กฎอัยการศึกหรือ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ชะตากรรมของเขาจึงน่าอเนจอนาถยิ่งกว่าผู้ต้องหาธรรมดา เพราะอาจถูกลงโทษไปแล้วโดยยังไม่ได้ขึ้นศาล (เช่นถูกบังคับให้เข้าค่ายอบรม) และหากมีคำสารภาพก็น่าสงสัยว่าจะเชื่อถือได้มากน้อยเพียงไร

สรุปก็คือ ไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่า การที่เจ้าหน้าที่สามารถระบุตัวบุคคลได้ เมื่อเกิดเหตุก่อการร้าย นับเป็นความสามารถที่สูงขึ้นด้านการข่าวใช่หรือไม่

บางคนกล่าวว่า ความถี่ในการก่อการร้ายลดลง แต่กลับมีความรุนแรงมากขึ้นในแต่ละกรณี ข้อที่น่ารู้มากกว่า ไม่ใช่ความร้ายแรงของปฏิบัติการเท่ากับการวิเคราะห์เพื่อดูว่า ปฏิบัติการของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบนั้น ต้องการการจัดองค์กรที่ขยายตัวและสลับซับซ้อนขึ้นมากน้อยเพียงไร หากพวกเขาปฏิบัติการถี่น้อยลง แต่กลับมีความสามารถในการจัดองค์กรได้ดีขึ้นกว่าเดิม สถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้น่าวิตกมากขึ้นอย่างแน่นอน

แม้แต่สมมุติให้การทหารสามารถแก้ปัญหาความไม่สงบได้ เชื้อของการเคลื่อนไหวเพื่อลดอำนาจรัฐไทยก็ยังอยู่เหมือนเดิม แล้ววันหนึ่งก็จะเกิดความไม่สงบขึ้นอีกอย่างไม่ต้องสงสัย

การที่ ส.ส.ประชาธิปัตย์ในสามจังหวัดภาคใต้กล้าออกมาเสนอความเห็นให้ปลด ผบ.ทบ.นั้น เป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะแสดงว่าพวกเขาให้ความสนใจกับสถานการณ์ที่ประชาชนในพื้นที่ต้องเผชิญ อยู่ แต่ที่จริงแล้ว นอกจากข้อเสนอนี้ ส.ส.ยังได้เสนอทางแก้หรือปัญหาที่ไม่ได้แก้ในพื้นที่อีกหลายอย่าง ซึ่งกลับไม่เป็นที่สนใจของสื่อมากนัก การที่พวกเขาไม่พูดเรื่องนี้ในพรรคเสียก่อน ก็เพราะเป็นเรื่องใหญ่เสียจนต้องได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชน มิฉะนั้นการเคลื่อนไหวของเขาก็ไม่บังเกิดผล พรรคประชาธิปัตย์น่าจะกลับมาทบทวนตนเองว่า เหตุใด “พรรค” ซึ่งควรเป็นกลไกการต่อรองด้านนโยบายที่มีพลังมากกว่า ส.ส.ในฐานะเอกบุคคล จึงไม่สามารถทำหน้าที่ของตนได้ และไม่ถูกเลือกใช้มาแต่ต้น

อย่างไรก็ตาม ความล้มเหลวของกองทัพในการแก้ปัญหาที่กองทัพไม่มีสมรรถนะจะแก้ได้นี้ ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ไกลเกินคาด ถึงจะเปลี่ยน ผบ.ทบ.คนใหม่อย่างไร กองทัพก็จะยังล้มเหลวเหมือนเดิม สิ่งที่ ส.ส.น่าจะเรียกร้อง จึงน่าจะเป็นการเรียกร้องให้ปลดนายกฯมากกว่า เพราะนายกฯเท่านั้นที่จะแก้ไขปรับปรุงเงื่อนไขทางการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม, กระบวนการยุติธรรม ฯลฯ ในภาคใต้ได้ นายกฯคนใดที่สัมปทานให้กองทัพไปทำสิ่งเหล่านี้แต่ผู้เดียว ไม่ควรจะดำรงตำแหน่งต่อไป

ที่มา : มติชนออนไลน์
โดย : นิธิ เอียวศรีวงศ์

 


“ปิดล้อม-ซ้อม-วิสามัญฯ” … “ผมยอมแล้ว ทำไมมาทำผมอีก” แม่ทัพ 4 ลั่น อย่าแค่กล่าวหา

เปิดศักราช 2554 มาได้ 2 เดือน   มีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่เกิดขึ้นหลายครั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุการณ์ที่ทำให้ฝ่ายความมั่นคง “เสียหาย” และ “เสียหน้า” มากที่สุด คือเหตุคนร้ายบุกโจมตีฐานปฏิบัติการกองร้อยทหารราบที่ 15121 ( ร้อย ร.15121) หรือฐานพระองค์ดำ ที่ ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อค่ำวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา

เพราะนอกจากจะทำให้กำลังพลต้องพลีชีพไปถึง 4 นาย รวมทั้งนายทหารระดับผู้บังคับกองร้อย ร.อ.กฤช คัมภีรญาณ แล้ว คนร้ายยังปล้นชิงอาวุธปืนไปได้อีกจำนวนหนึ่งด้วย

การปล่อยให้อาวุธปืนไปอยู่ในมือของคนร้าย เท่ากับเสียหาย “สองเด้ง” เพราะนอกจากฝ่ายทหารจะต้องสูญเสียทรัพย์สินของทางราชการแล้ว อาวุธร้ายแรงยังไปตกอยู่ในมือของฝ่ายตรงข้าม สามารถนำกลับมาประหัตประหารทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้อีก นับครั้งไม่ถ้วน

อย่างไรก็ดี ความเสียหายที่ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงกันมากนัก เพราะเป็นข่าวลับๆ และไม่ค่อยมีคนอยากพูดถึงเท่าไหร่ โดยเฉพาะในยุคที่ “อำนาจทหาร” แผ่ปกคลุมอย่างกว้างขวางในประเทศนี้ก็คือ ผลสะเทือนจากการใช้ปฏิบัติการ “ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม” เพื่อติดตามไล่ล่ากลุ่มคนร้ายที่ก่อเหตุอุกอาจในลักษณะ “เหยียบจมูก” กองทัพ ด้วยการบุกโจมตีฐานทหาร

เพราะผลแห่งปฏิบัติการที่มีอยู่ 3 ประการ คือ 1.จับกุมผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยได้ 2.เกิดการยิงปะทะกันและฝ่ายผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยเสียชีวิตในที่เกิด เหตุ ที่เรียกว่า “วิสามัญฆาตกรรม” และ 3.มีเรื่องร้องเรียนซ้อมทรมานผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมหรือควบ คุมตัว ได้ทำให้เกิดผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งในพื้นที่ โดยเฉพาะในข้อ 2 และข้อ 3

เพราะแม้แต่ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 เองก็เคยพูดเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า การก่อเหตุของคนร้ายมีเป้าหมายเพื่อยั่วยุให้ฝ่ายความมั่นคงใช้ปฏิบัติการ โต้กลับอย่างรุนแรงและนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน ฉะนั้นจะไม่มีการกระทำใดๆ ที่ผิดกฎหมายเพื่อตอบโต้ฝ่ายคนร้ายอย่างเด็ดขาด

แต่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในห้วงเดือนเศษที่ผ่านมา น่าสนใจว่ารัฐโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงกำลังเดินสู่ “หลุมพราง” ที่ฝ่ายคนร้ายขุดล่อเอาไว้ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจหรือไม่?

วิสามัญฆาตกรรม…ผล สะท้อนกลับร้ายแรงเกินคาด

หลังเหตุการณ์คนร้ายบุกโจมตีฐานพระองค์ดำ สังหารกำลังพล และปล้นอาวุธปืนไปจำนวนหนึ่ง เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2554 ต้องยอมรับว่าฝ่ายความมั่นคงได้จัดกำลังรุกไล่ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมแบบถี่ยิบ

หลายๆ ครั้งมีเหตุการณ์ยิงปะทะ และการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยตามมา

เท่าที่ปรากฏเป็นข่าวในทางเปิด รวบรวมได้อย่างน้อย 3 เหตุการณ์ วิสามัญฆาตกรรมรวม 4 ศพ ได้แก่

26 ก.พ. หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 33 จัดกำลังเข้าติดตามจับกุมบุคคลเป้าหมาย บริเวณพื้นที่บ้านโคกแมแน หมู่ 3 ต.มะนังตายอ อ.เมือง จ.นราธิวาส และได้ยิงปะทะกับกลุ่มผู้ต้องสงสัยเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบ ผลการปะทะฝ่ายผู้ต้องสงสัยเสียชีวิต 2 ราย ซึ่งจากการตรวจสอบประวัติของเจ้าหน้าที่ พบว่าทั้งคู่มีหมายจับในคดีความมั่นคง

11 ก.พ. หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 ได้สนธิกำลังกับทหารพราน ออกลาดตระเวนเพื่อพิสูจน์ทราบพื้นที่เขตรอยต่อ ต.สุวารี อ.รือเสาะ กับ ต.ตะปอเยาะ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส หลังได้รับแจ้งข่าวสารว่ากลุ่มก่อความไม่สงบได้เคลื่อนไหวอยู่ในบริเวณดัง กล่าว และได้เกิดการยิงปะทะกับกลุ่มผู้ต้องสงสัยที่บ้านสุไหงบาตู หมู่ 5 ต.ลูโบะสาวอ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ทำให้ฝ่ายผู้ต้องสงสัยเสียชีวิต 1 ราย ยึดปืนที่สูยหายไปจากฐานพระองค์ดำได้ 2 กระบอก

11 ก.พ.เช่นกัน หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 30 สนธิกำลังทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง เข้าปิดล้อมตรวจค้นและพิสูจน์ทราบแหล่งพักพิงของกลุ่มก่อความไม่สงบ บริเวณสวนยางพาราบ้านบือแนรายอ หมู่ 5 ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และเกิดการยิงปะทะกับกลุ่มผู้ต้องสงสัย ทำให้ฝ่ายผู้ต้องสงสัยเสียชีวิต 1 ราย พร้อมยึดอาวุธปืนเอ็ม 16 ที่ถูกปล้นจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 ได้ 1 กระบอก

ทั้งนี้ไม่นับปฏิบัติการที่ไม่มีความสูญเสีย แต่สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยและผู้ต้องหาได้อีกหลายสิบคน

ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญก็คือ “การวิสามัญฆาตกรรม” ไม่ใช่ปฏิบัติการที่ถูกกฎหมาย แม้จะมีการยิงต่อสู้จากฝ่ายผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหา หรือจะเรียกว่า “คนร้าย” ก็ตาม เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 150 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ต้องให้พนักงานอัยการเข้ามาทำสำนวนไต่สวนการตายเพื่อให้ศาลมีคำสั่งในเบื้อง ต้นก่อน เพื่อถ่วงดุลการทำสำนวนของพนักงานสอบสวนปกติ ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งโดยสภาพมักอยู่ร่วมปฏิบัติการด้วย

เฉพาะกรณีที่พิสูจน์ได้ว่าการตายเกิดจากการ “ป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย” หรือ “มิได้กระทำการรุนแรงเกินกว่าเหตุ” เท่านั้น เจ้าหน้าที่ที่กระทำการ “วิสามัญฆาตกรรม” จึงไม่มีความผิด หรือไม่ต้องรับโทษ

แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานความมั่นคงมักมีท่าทีหรือส่งสัญญาณสนับสนุนให้ มีการวิสามัญฆาตกรรม เพราะบางหน่วยงานได้นำมานับรวมเป็น “ผลงาน” ของหน่วยด้วย เช่น คำให้สัมภาษณ์ของผู้บังคับบัญชาระดับสูงนายหนึ่งระบุว่า “ยอดจับกุมผู้ต้องหา จับได้ทั้งหมด 4,866 หมาย เป็นหมาย ป.วิอาญา 1,625 หมาย พ.ร.ก. 3,235 หมาย จับตาย (วิสามัญฆาตกรรม หรือเสียชีวิตจากการปะทะ) 133 ราย 364 หมาย…”

ขณะที่การวิสามัญฆาตกรรมที่ไม่ชัดเจนว่าเป็นการป้องกันตัวโดยชอบ หรือกระทำการพอสมควรแก่เหตุหรือไม่ ได้กลายเป็น “เงื่อนไข” ให้ฝ่ายก่อความไม่สงบใช้ในการสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์เพื่อแก้แค้น เห็นได้จากการทิ้งใบปลิวหลังการฆ่า ซึ่งก็มีหลายต่อหลายครั้งที่ปรากฏเหตุการณ์ดังว่านี้

แม่ทัพภาคที่ 4 เองก็เพิ่งเปิดแถลงข่าวหลังเหตุการณ์ไล่ฆ่าชาวบ้านไทยพุทธอย่างต่อเนื่องใน ช่วงเดือนที่ผ่านมาว่า “สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะเป็นความต่อเนื่องจากการที่เจ้าหน้าที่ได้วิสามัญ ฆาตกรรมผู้ที่ก่อคดีหลายคดีในพื้นที่เมื่อ 2-3 วันก่อนหน้า ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นกลุ่มเดียวกัน เป็นการกลับมาแก้แค้น เอาคืน” (แถลงเมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ค่ายสิรินธร)

นี่คือความน่ากลัวของการ “วิสามัญฆาตกรรม” ที่หาใช่ความสำเร็จไม่ แม้จะเข้าใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานว่าต้องเสี่ยงอันตราย แต่ทุกๆ ปฏิบัติการจำเป็นต้องยึดหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในพื้นที่อ่อนไหวเช่นนี้ เพื่อป้องกันการสร้าง “เงื่อนไข” อื่นๆ ตามมา ซึ่งหลายๆ ครั้งส่งผลร้ายแรงเกินคาด

ร้องเรียน “ปิดล้อม-ซ้อมทรมาน” ระวังได้ไม่คุ้มเสีย!

ดังที่เกริ่นเอาไว้ในตอนต้นว่า ปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมของเจ้าหน้าที่ สามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยได้เป็นจำนวนมาก และผลสะเทือนระลอกใหม่ที่ตามมาก็คือ ข้อร้องเรียนเรื่องซ้อมทรมาน

จากรายงานขององค์กรภาคประชาสังคมหลายองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ในพื้นที่ ระบุตรงกันว่า ได้รับการร้องเรียนจากญาติผู้เสียหายและผู้เสียหายเองว่า ในระหว่างถูกควบคุมตัวเบื้องต้นในฐานะ “ผู้ต้องสงสัย” ตามกฎหมายพิเศษ ได้แก่ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) มีการกระทำในลักษณะซ้อมทรมานเพื่อให้ยอมรับสารภาพหลายกรณี

ข้อมูลที่เป็น “เรื่องร้องเรียน” สรุปได้ดังนี้

1.มีการเปิดฐานปฏิบัติการบางแห่งเป็นสถานที่ควบคุมตัวเบื้องต้นก่อน ส่งต่อตามขั้นตอน และในสถานที่ดังกล่าวมีการร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่บางรายปฏิบัติการในลักษณะ ละเมิดสิทธิมนุษยชน

2.การจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยบางรายเป็นผลมาจากคำซัดทอดของบุคคลที่ เจ้าหน้าที่จับกุมตัวมาก่อนหน้านี้ โดยไม่มีหลักฐานอื่นใดประกอบ และสุ่มเสี่ยงว่าจะเป็นการซัดทอดเพราะถูกข่มขู่

3.ญาติไม่สามารถเข้าเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวได้ทันที โดยเฉพาะช่วง 2-3 วันแรกของการควบคุมตัว โดยมีญาติของผู้ถูกควบคุมตัว 4 รายยืนยันข้อมูลนี้

4.เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ญาติเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวแบบส่วนตัว แต่ระหว่างการเยี่ยมจะมีเจ้าหน้าที่นั่งเฝ้าด้วยตลอด

5.มีข้อร้องเรียนว่ามีการทำร้ายร่างกายและละเมิดสิทธิมนุษยชนรูปแบบ ต่างๆ เพื่อให้ผู้ถูกควบคุมตัวยอมรับสารภาพ หลายรายได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระแล้ว แต่อีกหลายรายยังถูกควบคุมตัวอยู่

6.การเข้าตรวจค้นจับกุมมีพฤติการณ์ใช้ความรุนแรง เช่น พังประตูบ้าน หรือใช้วาจาข่มขู่ญาติผู้ถูกควบคุมตัว เป็นต้น

7.เมื่อมีเรื่องร้องเรียนถึงผู้บังคับบัญชาระดับสูงผ่านองค์กรภาค ประชาสังคม ซึ่งบางกรณีปรากฏเป็นข่าวในสื่อทางเลือกหลายแขนง ปรากฏว่ามีความพยายามของเจ้าหน้าที่บางส่วนเพื่อขอโทษผู้เสียหาย และขอให้เรื่องจบ

แหล่งข่าวซึ่งเป็นบุคคลที่ทำงานในภาคประชาสังคมและได้รับเรื่องร้อง เรียนจากชาวบ้านโดยตรง กล่าวว่า ได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวบางราย ได้ยินคำพูดที่ว่า “ผมยอมแล้ว ทำไมมาทำผมอีก” ซึ่งคำพูดนี้หมายความว่ายอมให้จับแล้วทำไม่มาทำร้ายเขาอีก

“เรื่องนี้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงหลายท่านก็ทราบดีว่ามีเหตุการณ์ เกิดขึ้นจริง และให้เหตุผลว่าเจ้าหน้าที่โมโหหรือบันดาลโทสะเนื่องจากสูญเสียเพื่อนไป (จากเหตุการณ์โจมตีฐานทหาร) แต่ปัญหาคือเมื่อยอมรับแล้วจะมีมาตรการอย่างไรต่อไปเพื่อป้องกันไม่ให้เกิด กรณีเช่นนี้อีก เพราะผลที่ตามมาคือการสร้างเงื่อนไขในพื้นที่อย่างไม่รู้จบ” แหล่งข่าวระบุ

แม่ทัพ 4 ลั่นขอให้บอก อย่าแค่กล่าวหา

ด้าน พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ถ้ามีการซ้อมทรมานเกิดขึ้นจริงให้บอกมาว่าคนไหนที่โดน และที่บอกว่าญาติไปร้องเรียนกับองค์กรภาคประชาสังคมนั้น อยากขอให้ญาติมาหาและบอกกับตนเลยว่าคนไหนที่กระทำการ รับรองว่าจะจัดการให้อย่างเด็ดขาด เพราะที่ผ่านมายืนยันว่าได้ทำตามนโยบายอย่างเคร่งครัด

“ขอให้บอกมา แล้วจะดำเนินการอย่างเด็ดขาดแน่นอน แต่เมื่อมาบอกเช่นนี้ว่ามีการร้องเรียนแต่ไม่รู้คนไหน ก็ถือว่าแย่และภาพพจน์เจ้าหน้าที่ก็เสียหาย” พล.ท.อุดมชัย ระบุ

ขณะที่ พ.ต.อ.สุชาติ อัศวจินดารัตน์ ผู้กำกับการ สภ.ระแงะ จ.นราธิวาส กล่าวว่า ไม่ทราบเรื่องที่มีการร้องเรียนเลยจริงๆ และส่วนตัวมั่นใจว่าไม่น่าจะมีการซ้อมทรมานเกิดขึ้น เพราะทุกหน่วยดูแลผู้ถูกควบคุมตัวอย่างดีและเคร่งครัดตามนโยบายมาตลอด

ทั้งหมดนี้คือ ความเคลื่อนไหวหลังคนร้ายบุกโจมตีฐานทหาร ซึ่งดูเหมือนทางการจะยังหนีไม่พ้น “กับดัก” แบบเดิมๆ

ที่มา : มติชนออนไลน์ 2 มีนาคม 2554
โดย : ทีมข่าวอิศรา

 


คำเตือน!! ควรบริโภคก่อนวันหมดอายุ

“แม้ว่าต่อมาวันที่ 21 เมษายน 2553 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะมีมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุมครั้งที่ 43/2553 เห็นชอบให้ผู้ร้องในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรค การเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 93 กระบวนการดังกล่าวข้างต้นเป็นการตรวจสอบภายในองค์กร และเป็นเพียงการยืนยันการปรับบทบังคับใช้กฎ หมายให้ชัดเจนภายในองค์กรที่ยังคงต้องอยู่ภายในบังคับตามระยะเวลาที่ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 93 วรรค 2 กำหนดว่าต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2552 อันเป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเสียงข้างมากในการพิจารณารายงาน ของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนชุดที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติแต่งตั้งนาย อิสระ หลิมศิริวงศ์ เป็นประธานในครั้งแรก และถือว่าเป็นวันที่ความปรากฏต่อผู้ร้องในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองด้วย

เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ในวันที่ 26 เมษายน 2553 จึงพ้นระยะเวลา 15 วันตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคของผู้ถูกร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ชอบที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาวินิจฉัยคำร้องในประเด็นอื่นอีกต่อไป ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยโดยเสียงข้างมาก 4 ต่อ 2 ว่ากระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีนี้จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในกรณีอื่นอีกต่อไป ให้ยกคำร้อง”

ทันทีที่มีคำวินิจฉัยของตุลาการศาลธรรมนูญก็เกิดการวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ในแง่มุมต่างๆ เพราะคดียุบพรรคประชาธิปัตย์กรณีใช้เงินกองทุน 29 ล้านบาทผิดวัตถุประสงค์ถือเป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะอาจทำให้กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ 2 ชุดต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี รวมทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

ข้อกฎหมายกับข้อเท็จจริง

แม้ตามหลักกฎหมายสากลการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ผิดที่ พิจารณากระบวนการอันได้มาซึ่งข้อเท็จจริง การสอบสวนและการยื่นคำร้องว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เมื่อวินิจฉัยแล้วเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายและยกคำร้องจึงไม่มีการวินิจฉัยใน แง่ของข้อเท็จจริง

แต่นางสดศรี สัตยธรรม กกต. ยืนยันว่าไม่ได้ละเลยเรื่องกำหนดเวลาแต่อย่างใด แต่มีการตีความเรื่องหมดอายุความ โดยเห็นว่านายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. ที่ออกความเห็นในการประชุมครั้งแรกให้ยกคำร้องในคดีดังกล่าวนั้น ที่ประชุมได้สอบถามว่าเป็นความเห็นในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองหรือไม่ ซึ่งนายอภิชาตยืนยันว่าเป็นการออกความเห็นในฐานะประธาน กกต. จึงให้ตั้งคณะกรรมการสอบเพิ่มในกรณีนี้ และใช้เวลาในการสอบ 3 เดือน จนถึงวันที่ 12 เมษายน 2553 จึงสอบเสร็จและเสนอกลับมาว่าสมควรฟ้องร้องให้มีการยุบพรรค ซึ่งนายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญจึงเสนอให้มีการลงมติร่วม กันของ กกต.

การนับอายุความจึงไม่ใช่วันที่ 17 ธันวาคม 2552 อย่างที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทั้ง กกต. ยึดบรรทัดฐานจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้คำวินิจฉัยที่ 18-19 และ 22/2550 เรื่องยุบพรรคธัมมาธิปไตย พลังธรรม และพรรคธรรมชาติ เรื่องการใช้เงินกองทุนสนับสนุนพรรคการเมืองผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งศาลวินิจฉัยประเด็น 15 วันตามมาตรา 65 วรรค 2 พ.ร.บ.พรรคการเมือง 2541 ที่ว่าคำว่า “ความปรากฏต่อนายทะเบียน” หมายถึงอะไ

เช่นเดียวกับนายธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการ กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง ยืนยันว่า กกต. ยึดหลักข้อกฎหมายและคำวินิจฉัยที่ผ่านมา 3 ครั้งของศาลรัฐธรรมนูญ จึงเห็นว่าความผิดปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองคือ วันที่ 12 เมษายน 2553 นายทะเบียนจึงมีความเห็นและลงมติให้ยื่นคำร้องต่อศาล

“เรื่องเงื่อนไข 15 วันเรารู้มาโดยตลอด ไม่ใช่ไม่รู้ อีกทั้งยังได้ยึดหลักคำวินิจฉัยของศาลเป็นแนวทางมาโดยตลอด และคดีนี้ถือว่ายังไม่ขาดอายุความถ้าตามแนวปฏิบัติเดิมที่ศาลเคยวินิจฉัยไว้ อีกทั้งเรื่องนี้มีเพียงตุลาการท่านเดียวที่เห็นว่าคดีหมดอายุความเกินเวลา 15 วันตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนตุลาการอีก 3 คนเห็นในประเด็นอื่นที่เราถือว่ายอมรับได้ ยืนยันว่าทำอย่างถูกต้อง รอบคอบ และเต็มที่ ไม่รู้สึกถอดใจหรือหมดกำลังใจ”

อ่านคำวินิจฉัยส่วนตัว

ด้านนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กลับไม่ต้องการโต้แย้งกับ กกต. เรื่องอายุความ เพราะถือว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ทำคำวินิจฉัยไปแล้ว และจะเป็นการตอบโต้กันไม่รู้จักจบ แต่จะเปิดโอกาสให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์ได้ ในฐานะเป็นคนตัดสินคดีจำเป็นต้องรับฟังและนำไปวิเคราะห์วิจัยกันต่อไป ไม่ใช่ออกมาโต้เถียงกันทุกเรื่อง แต่หากข้อมูลคลาดเคลื่อนก็จำเป็นจะต้องออกมาชี้แจง

นายจรัญระบุว่า หากสังคมต้องการฟังความคิดเห็นขององค์คณะอยากแนะนำให้ไปอ่านในคำวินิจฉัย ส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะข้อมูลที่ออกมาคลาดเคลื่อนมาก คณะตุลาการทั้ง 6 คนทำการบ้านมาทุกประเด็น ไม่มีใครรู้ธงคำตอบของตุลาการแต่ละคนมาก่อนล่วงหน้า เมื่อลงมติทีละประเด็น และเมื่อประเด็นข้อกฎหมายไม่ผ่าน การลงมติในข้ออื่นๆจึงไม่ทำ

กองทัพหนุน

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการและนักกฎหมายตั้งข้อสงสัยเรื่องอายุความคล้ายกันว่า หากคำร้องตกไปเพราะยื่นเกินกำหนด 15 วัน ทำไมศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่ชี้ขาดเรื่องนี้ตั้งแต่แรก ทำไมปล่อยให้มีการต่อสู้คดีและนำสืบนานนับปี

ขณะที่สำนักข่าวบีบีซีวิเคราะห์ทำนองเดียวกันว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการยื่นคำร้องไม่ถูกต้องแล้วทำไมต้องมีการไต่สวน คดีนานหลายเดือน ประเด็นนี้จึงอาจทำให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลโกรธแค้นได้

ด้านสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า คำตัดสินดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายเคลือบแคลงใจ โดยเฉพาะฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลที่เชื่อว่ามี 2 มาตรฐาน แต่มีบางฝ่ายเชื่อว่าคนในกองทัพที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์คงไม่ยอมให้มี การยุบพรรคแน่นอน

ส่วนสำนักข่าวเอพีเห็นว่า แม้พรรคประชาธิปัตย์และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะรอดพ้นจากวิบากกรรมครั้งนี้ แต่จะนำไปสู่แรงกดดันต่อศาลรัฐธรรมนูญมากขึ้น โดยเฉพาะคดีเงินบริจาค 258 ล้านบาท เช่นเดียวกับสำนักข่าวรอยเตอร์วิเคราะห์ว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์มีกองทัพสนับสนุน แม้จะมีปัญหาด้านเสถียรภาพก็ตาม

2 มาตรฐาน

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แม้จะยังสงสัยเรื่องนายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องเรื่องนี้เกินเวลา 15 วัน แต่ยังขาดคำอธิบายว่าทำไมถึงนับแบบนี้ และมีผลให้คำร้องตกไปยิ่งต้องอธิบาย อย่างไรก็ตาม เห็นว่าข้อบกพร่องในกระบวนการไม่น่าจะส่งผลให้เรื่องเป็นโมฆะหรือตกไปทุก เรื่อง

เช่นเดียวกับนายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า กรณีคดีมหาชน คดีปกครอง คดีศาลรัฐธรรมนูญ และคดีการเมือง หากเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนไม่ควรเคร่งครัดหรือนำมาบังคับใช้เรื่องอายุความ เหมือนกรณีศาลปกครองรับคดีที่ชาวบ้านฟ้องจำนวนมาก ซึ่งพ้นอายุความแล้ว แต่เพื่อประโยชน์ของสังคมและสาธารณชนศาลก็รับฟ้อง

นายเจษฎ์ โทณะวณิก อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า หากศาลรัฐธรรมนูญชี้แจงเรื่อง 15 วันไม่ชัดเจนก็เหมือนกับการเลี่ยงเนื้อหา และทำให้เกิดคำถามตามมาว่าทำไมกรณีนี้ไม่ผิด ทำไมกรณีนี้เลินเล่อได้ แล้วทำไมตอนพิจารณาคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่เป็นแบบนี้ ทำให้มีการนำไปเทียบกับพรรคอื่นๆก่อนหน้านี้ที่ถูกตัดสินยุบพรรค ซึ่งล้วนพิจารณาโดยเนื้อหาทั้งหมด

นายอัษฎางค์ ปาณิกบุตร นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ กลับรู้สึกกลัวนักกฎหมาย เพราะสามารถหาทางออกได้แทบทุกประเด็น ขนาดยังไม่ได้พิจารณาเลยว่าถูกหรือผิด แต่กลับหาช่องทางและวินิจฉัยได้เก่ง จึงต้องดูว่าต่อไปสังคมจะมองอย่างไร

คำวินิจฉัยโมฆะ

แต่ที่น่าสนใจคือความเห็นของนายจุมพล ณ สงขลา อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่าองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหลือเพียง 6 คนนั้นตัดสินคดีนี้ไม่ได้ เพราะการตัดสินต้องมีเสียงชี้ขาด เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้องค์คณะมี 15 คน หรือ 9 คน เพื่อให้องค์คณะตัดสินเป็นเอกฉันท์ หาเสียงข้างมากได้

“รู้ได้อย่างไร ยังไม่ฟังคำแถลงการณ์ ยังไม่พิจารณาคดี คุณหาเสียงข้างมากได้อย่างไร ขอย้ำว่าองค์คณะตุลาการต้องมีเสียงชี้ขาดเด็ดขาด”

นายจุมพลฟันธงว่า ถ้าพิจารณาในแง่กฎหมายจริงๆ การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ต้องถือเป็นโมฆะ ใช้ไม่ได้

เพื่อไทยยื่นถอดถอน

การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้จึงไม่เพียงสร้างความเคลือบแคลง สงสัยให้แก่ประชาชนทั่วไป ยังอาจทำให้เห็นว่าสังคมไทยทำอะไรผิดแต่ไม่ถูกลงโทษ หากสามารถนำเทคนิคทางกฎหมายมาใช้ ถ้าเป็นความผิดทั่วไปไม่อาจปฏิเสธว่ามีเรื่องอำนาจและการวิ่งเต้นที่ไม่ชอบ ด้วยกฎหมายมากมาย แต่ไม่ควรเกิดกับคดีที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของบ้านเมือง คดีปกครอง หรือคดีการเมือง

ด้านนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เห็นว่าการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ถือว่าทำผิดอย่างมาก เพราะต้องชี้ประเด็นสาระของเนื้อหาว่าผิดหรือไม่ผิดแล้วค่อยยกฟ้องเนื่องจาก คดีหมดอายุความ เพื่อทำให้ประชาชนไม่มีข้อกังขา ยิ่งมีคลิปวิดีโอแพร่ออกมายิ่งทำให้มีคนเชื่อว่าศาลยืนข้างพรรคประชาธิปัตย์ แต่มีอคติกับพรรคเพื่อไทยและ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้นไปอีก

ขณะที่พรรคเพื่อไทยเตรียมหารือกันจะฟ้องร้องเพื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐ ธรรมนูญทั้ง 6 คน เช่นเดียวกลุ่ม 24 มิถุนาเพื่อประชาธิปไตยประกาศจะเข้าแจ้งความกับกองปราบปรามให้ดำเนินคดีกับ กกต. ตามมาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเตรียมรวบรวมรายชื่อประชาชน 20,000 รายชื่อเพื่อยื่นถอดถอน กกต. และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เห็นว่า คำวินิจฉัยทำให้กระทบกระเทือนต่อระบบมากกว่าคำตัดสินยุบพรรคประชาธิปัตย์ เสียอีก และยังเป็นการทิ้งปมปัญหาให้กับ กกต. เรื่องความน่าเชื่อถืออีกด้วย จึงคิดว่าจากนี้ไปผู้คนจำนวนไม่น้อยอาจจะไม่หวังพึ่งระบบของประเทศอีก และอาจเกิดวิกฤตทางการเมืองอย่างรุนแรง เกิดความขัดแย้งวุ่นวายมากขึ้น

ขณะเดียวกันสังคมต้องออกมาเรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งคณะลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบ เนื่องจากไม่มีความชอบธรรมในการพิจารณาคดี 258 ล้านบาท หรือคดีอื่นๆอีกแม้แต่น้อย ศาลรัฐธรรมนูญมีผลต่อการล้มรัฐบาล ปลดนายกรัฐมนตรีโดยการเปิดพจนานุกรมยุบพรรคการเมือง ทั้งยังมีกรณีคลิปฉาวที่คนในสังคมยังเคลือบแคลงสงสัยอีก

“ขอย้ำว่าหากในระยะยาวจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรแก้เรื่องที่มาของ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ถูกต้องกว่านี้ และสามารถตรวจสอบได้มากกว่าปัจจุบัน วันนี้คงไม่มีใครคิดใช้ความรุนแรงต่อศาล หรือทำร้ายศาล ซึ่งผมก็ไม่เห็นด้วย แต่ต้องเปิดโอกาสให้มีการวิพากษ์วิจารณ์และโต้แย้งทางความคิด”

ยุคมืดองค์กรอิสระ

กรณีศาลรัฐธรรมนูญและ กกต. จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามีผลกระทบต่อองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอย่างหลีกเลี่ยง ไม่ได้ เพราะองค์กรอิสระถือเป็นองค์กรของรัฐที่มีสถานะพิเศษ ซึ่งได้รับหลักประกันให้สามารถปฏิบัติภารกิจหน้าที่ได้โดยอิสระ ปลอดพ้นจากการแทรกแซงขององค์กรรัฐอื่น หรือสถาบันการเมืองอื่น รวมทั้งอยู่เหนือกระแสและการกดดันใดๆที่เกิดขึ้นภายในสังคมในช่วงเวลาใดเวลา หนึ่ง

องค์กรอิสระจึงเป็นองค์กรตรวจสอบสำคัญในระบอบประชาธิปไตย ผู้เข้ามาสู่อำนาจจึงต้องไม่ฝักใฝ่ทางการเมืองฝ่ายใด ไม่มีอคติ ไม่ลำเอียงเพราะรัก โลภ โกรธ หลง กลัว ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรมและชอบธรรม

ปรากฏว่านับตั้งแต่มีการตั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญปี 2540 องค์กรอิสระหลายองค์กรถูกวิพากษ์ วิจารณ์ว่าถูกแทรกแซงโดยผู้มีอำนาจทางการเมืองและผู้มีอำนาจรัฐ โดยเฉพาะองค์กรอิสระที่มีอำนาจ เช่น กกต. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งยังมีปัญหาการทุจริตต่อหน้าที่จนศาลตัดสินลงโทษ เช่น ป.ป.ช. และ กกต. บางชุด

การแทรกแซงองค์กรอิสระจึงมีตั้งแต่กระบวนการสรรหาผู้จะเข้าสู่อำนาจ ซึ่งพรรคการเมืองและกลุ่มอำนาจต่างๆจะส่งคนของตนเข้ามา หลังจากนั้นจะมีการล็อบบี้กรรมการสรรหาจนถึงขั้นตอนของวุฒิสภา เมื่อได้เป็นกรรมการหรือตุลาการในองค์กรอิสระแล้วก็ใช้อำนาจเงินและอำนาจรัฐ ให้วินิจฉัยตามที่ต้องการโดยการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ต่างๆ

ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร องค์กรอิสระถูกกล่าวหาว่ารัฐบาลใช้อำนาจรัฐแทรกแซงและไม่มีความยุติธรรม จนกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นหนึ่งในข้ออ้างการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

แต่องค์กรอิสระหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกมองว่าเป็นร่างทรงของเผด็จการหรือสืบทอดอำนาจเผด็จการ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างเลวร้ายกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 เพราะมีการตั้งพวกพ้องเข้ามาคุม นอกจากนี้ยังใช้อำนาจคณะรัฐประหารกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งยาวนานกว่าปรกติ โดยอาศัยบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 299 เช่น กกต. ให้ดำรงตำแหน่งไปอีก 5 ปี ป.ป.ช. ให้ดำรงตำแหน่งเกือบ 6 ปี

เปลี่ยนขาวเป็นดำได้

“ถ้าคนรู้กฎหมายจริงจะรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ถ้าต้องไปช่วยคนอื่นแล้วไม่ถูก ซึ่งทำได้ กฎหมายสามารถทำให้ขาวเป็นดำ ดำเป็นขาวได้ ถ้าคนไม่มีคุณธรรม อันนี้ต้องระวัง”

คำพูดของนายอักขราทร จุฬารัตน อดีตประธานศาลปกครองสูงสุด สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่ากระบวนการยุติธรรมนั้นเป็นอันตรายอย่างไร หากศาลหรือตุลาการไม่สุจริตเที่ยงธรรม หรือถูกนำไปเป็นเครื่องมือสำคัญของฝ่ายการเมืองและกลุ่มอำนาจต่างๆใช้ทำลาย ล้างฝ่ายตรงข้ามได้

อย่างคำว่า “ตุลาการภิวัฒน์” ที่ทำให้ศาลถูกดึงเข้ามาแก้ปัญหาการเมืองเพื่อทำให้สังคมเกิดความยุติธรรม และเสมอภาคกันอย่างแท้จริง แต่ที่ผ่านมากลับมีการนำกระบวนการยุติธรรมไปบิดเบือนเพื่อเป็นเครื่องมือของ ผู้มีอำนาจทางการเมือง จนเกิดวิกฤตศรัทธากับฝ่ายตุลาการอย่างร้ายแรง จน “ตุลาการภิวัฒน์” กลายเป็น “ตุลาการพิบัติ”

เหมือนกรณีศาลรัฐธรรมนูญที่กำลังถูกท้าทายทั้งเรื่องของ “คลิปฉาว” และการวินิจฉัยคดีต่างๆ โดยเฉพาะคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถูกถามถึงจริยธรรม และคุณธรรม เพราะประชาชนชักไม่แน่ใจว่าอะไรขาว อะไรดำ อะไรผิด อะไรถูก อะไรดี อะไรชั่ว คำว่า “คนดี” ดีจริงหรือไม่ อย่างไร? หรือเป็น “คนดี” สำหรับใคร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือตุลาการไหนๆ ใครจะกล้ารับประกันว่าเป็น “คนดี” กว่าปุถุชนจริงหรือไม่?

แม้แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเองยังไม่มีคำตอบ มีแต่เหตุผลทางข้อกฎหมายที่คลุมเครือว่ายึดอะไรเป็นบรรทัดฐาน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยในประเด็นเดียวกันแต่กลับ วินิจฉัยอีกแบบหนึ่ง จนมีคำถามว่าเป็นการใช้เทคนิคทางกฎหมาย หรือใช้การวินิจฉัยอย่างสุจริตเที่ยงธรรมตามหลักกฎหมาย

เพราะหากกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถตัดสินชี้ขาดได้ว่าใครเป็นคนดี ใครเป็นคนชั่ว ใครทำผิด ใครทำถูก ก็เท่ากับเป็นยุคมืดของบ้านเมือง เหมือนรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า อำนาจประชาธิปไตยเป็นของประชาชน แต่กลับถูกกลุ่มเผด็จการและนักการเมืองฉ้อฉลแย่งอำนาจไป แล้วอ้างอำนาจเผด็จการเป็นอำนาจที่ชอบธรรม ซึ่งเหมือนเป็นการดูถูกและตบหน้าประชาชน

แต่วันนี้ประชาชนไม่ได้กินหญ้า จึงเริ่ม “ตาสว่าง” และรู้ดีว่าอะไรขาว อะไรดำ อะไรถูก อะไรผิด ใครเป็นคนดี ใครเป็นคนชั่ว ใครเป็นผู้บริสุทธิ์ ใครเป็นฆาตกร

ความจริงที่หนีไม่พ้นก็คือ ไม่มีผู้มีอำนาจใดหรือรัฐบาลใดอยู่ได้หากประชาชนไม่ต้องการ!

ไม่ใช่มีแต่ “คดี” เท่านั้นที่มีวันหมดอายุ!

“สรรพสิ่ง” ล้วนมีวันหมดอายุ…“คน” ก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่ายากดีมีจนหรือชนชั้นใด…ล้วนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น

..เพียงแต่มิได้ระบุ “วันหมดอายุ” ล่วงหน้าไว้ข้างกล่อง (ใส่ศพ) เท่านั้น!!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 288 วันที่ 4-10 ธันวาคม พ.ศ. 2553 หน้า 16 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน