ประเทศไทยกับอุดมการณ์ชาตินิยมจะเดินไปในชุดไหนกัน?

ความจริงเรื่องของการเมืองกับอุดมการณ์ชาติ นิยมเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาเฝ้ามองไปอย่างควบคู่จึงจะทำให้เราเข้าใจ “โดยเฉพาะเมื่อแก่นแท้ของเนื้อหาซึ่งเกี่ยวข้องยังดองเป็นเครือญาติกันอยู่ อย่างสนิทชิดเชื้อ”

จึงกลายเป็นเรื่องของ Politics of nationalism ทั้งชาตินิยมกับการเมืองย่อมมีความสลับซับซ้อนซึ่งเข้าใจไม่ง่ายนัก มีวิวัฒนาการความเป็นมาที่น่าสนใจ…นักวิชาการบางท่านมีความเห็นว่าอาจต้อง มองเรื่องของชาตินิยมในมิติที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อขบวนการเปลี่ยนผ่านจาก สังคมเก่าสู่ความเป็นสมัยใหม่ กรณีนี้ชาตินิยมมักเป็นการแสดงออกถึงความเป็นชุมชนการเมืองที่มีความอิสระ ของตัวเองจากชุมชนการเมืองอื่น คือมีความเป็นเอกราชในความเป็นชาติ ชาตินิยมลักษณะนี้คงเป็นความรู้สึกจงรักภักดีที่สูงสุดของปัจเจกซึ่งมีต่อ รัฐหรือชาติของปัจเจกนั้นๆ

เป็นลัทธิในการสร้างความรักแห่งบุคคลต่อผืนมาตุภูมิ ตลอดจนแรงปรารถนาในความเป็นอิสระทางการเมือง ความมั่นคงปลอดภัย เกียรติภูมิ เป็นสำนึกหรือความรู้สึกในทางจงรักภักดีต่อหมู่ชนที่เป็นชาติพันธุ์เดียวกัน มีภาษาและวัฒนธรรมอันเดียวกัน…

ชาตินิยมตามแบบฉบับที่กล่าวถึงเมื่อเราย้อนไปศึกษาในประวัติศาสตร์ก็ไม่ ใช่เรื่องที่เลวร้ายไปทั้งหมด บ่อยครั้งซึ่งการสถาปนาความเป็นชาติขึ้นมาสามารถเป็นเครื่องมือเพื่อป้องกัน และยับยั้งการรุกรานจากชาติอื่นๆได้ โดยเฉพาะเมื่อมีกรณีของชาติใหญ่ได้สถาปนาตัวเองแล้วใช้ลักษณะตรงนั้นเข้าไป กระทำการย่ำยีรุกรานพวกชาติที่เล็กกว่า ตัวอย่างของลัทธิล่าอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกนับเป็นสิ่งที่เห็นชัดเจน ฉะนั้นพลังของขบวนการชาตินิยมจึงถูกกระตุ้นและสร้างขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับ บรรดาเจ้าอาณานิคมทั้งหลาย แล้วมีการประกาศเอกราชให้เป็นที่ยอมรับในสถานะของตนเองจากนานาชาติ พลังของชาตินิยมยังมีประโยชน์อีกหลายแง่ เอามาใช้สร้างความร่วมมือสำหรับพัฒนาบ้านเมืองเพื่อให้บรรลุถึงสิ่งที่เรียก กันว่าผลประโยชน์แห่งชาติร่วมกันของมวลสมาชิกทั้งหลาย…

อุดมการณ์ชาตินิยมมองในด้านหนึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในตัวเอง เพราะการจะสร้างชาตินั้นยังเป็นขบวนการที่ต้องแสวงหาอัตลักษณ์ประจำตน เอกภาพทางภาษา แต่ขบวนการเหล่านี้ไม่แตกต่างอะไรไปจากมีดสองคม เพราะในการสร้างเอกภาพต่างๆขึ้นมาย่อมเลี่ยงไม่ได้ในอดีตที่ต้องไปยกเลิก ความเป็นลักษณะเฉพาะของคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่หลากหลาย นำสมาชิกเหล่านั้นเอามารวบไว้ในลักษณะของชุมชนทางการเมืองที่ใหญ่กว่า…

ปัญหาที่น่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเกี่ยวพันกับการเมืองและความเป็นชาตินิยมนั้น ได้แก่ มิติของการพัฒนาทางการเมือง ความทันสมัยทางการเมืองย่อมจะเกิดขึ้นมาได้ก็เป็นไปเฉพาะภายใต้เงื่อนไขที่ ประชาชนนั้นมีเจตจำนงร่วมกันภายในชุมชนทางการเมืองหนึ่งๆ โดยเฉพาะภายใต้ชาติบ้านเมืองที่มีความหลากหลาย ตรงนี้เป็นโจทย์ใหญ่ทีเดียวที่จะต้องหาคำตอบในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง ชาตินิยมกับการพัฒนาทางการเมือง ทำอย่างไรสำหรับการก้าวข้ามความแตกต่างเท่าที่มีอยู่ให้ได้?

เรื่องของชาตินิยมเราคงต้องพิจารณาถึงมิติที่มีอยู่จริงสองด้าน แนวคิดของการใช้พลังชาตินิยมเกี่ยวกับการพัฒนาบ้านเมือง ชาตินิยมแนวทางนี้ต้องจัดให้เป็น “ด้านบวก” เป็นชาตินิยมที่ต้องการสร้างเอกภาพ ปลดปล่อยพัฒนาการที่ถูกห้อมล้อมจากเนื้อหาสังคมเก่าเพื่อยกระดับไปสู่การ พัฒนาที่ดีกว่า…

แต่ในอีกด้านแล้วชาตินิยมไม่จำเป็นต้องให้ผลด้านบวกเสมอไป มันกลายเป็นเครื่องมือของการสร้างความรุนแรง กระตุ้นให้เกิดการกดขี่ข่มเหง การนองเลือด เพื่อทำลายล้างระหว่างกันและกัน

ปัญหาชาตินิยมในลักษณะนี้จึงเท่ากับเป็นวิกฤตภายในตัวเอง สามารถกลายเป็นชุดอุดมการณ์ชาตินิยมที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือจากคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเอาไปครอบงำต่อสังคมในวงกว้างด้วยการใช้ข้ออ้างและการโฆษณาชวนเชื่อ สารพัด…

ชาตินิยมที่เป็นปัญหาเช่นนี้มักจะอ้างฉวยโอกาสปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึก บ่อยครั้งชาตินิยมชุดนี้จะถูกดำเนินการโดยรัฐ แต่ก็มิใช่เสมอไป กลุ่มพลังมวลชนอื่นๆก็สามารถหยิบเอามาใช้เป็นเครื่องมือเพื่ออ้างเป็นเหตุผล ในการเคลื่อนไหวเพื่อเป้าหมายทางการเมือง ซึ่งยังอาจตีความให้เป็น “เป้าหมายเชิงอัตวิสัย”

เมื่อเรามองชาตินิยมเป็นด้านบวกและลบ ดังนั้น จะเป็นการฉลาดกว่าหากจะถอยมาตั้งหลักตั้งคำถามถึงแต่ละกิจกรรมที่เคลื่อนไหว และคาบเกี่ยวไปกับ “การอ้างเหตุผลชาตินิยม”

มีนักปราชญ์บางท่านได้ตั้งคำถามสำคัญเกี่ยวกับชาตินิยม เป็นคำถามในมิติของศีลธรรมและปรัชญา ถามว่าชาตินั้นเป็นสิ่งที่สิ้นสุดในตัวเองและมีความสูงสุดกว่าคุณค่าทุกสิ่ง ทุกอย่าง หรือชาติเป็นเพียงคุณค่าหนึ่งที่จะนำไปสู่คุณค่าอื่น คำถามตรงนี้เกี่ยวกับชาตินิยม เราจึงต้องพิจารณาให้รอบด้านไปถึงกาล-เทศะ-บริบทต่างๆ

กรณีความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา แล้วมีการชุมนุมกันอยู่ เราคงต้องสรุปให้เป็น Politics of nationalism และ nationalism เมื่อมองในด้านกาลและเทศะ ตลอดจนบริบทก็เป็นข้อน่าสงสัยที่จะโยงใยคุณค่าอันสูงสุดเท่าที่จะสูงได้ใน อุดมการณ์ชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์ เพื่อหวังผลักดันนำคุณค่าเหล่านี้เข้าไปสู่คุณค่าอื่นใดหรือเปล่า? แม้กระทั่งเป็นเครื่องมือสำหรับหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและระบอบการ ปกครอง ชาตินิยมชุดนี้จึงไม่ได้มีชาติเป็นเป้าหมายสูงสุด? ชาตินิยมชุดปัจจุบันของไทยจึงเป็นปริศนาอย่างยิ่ง?

ที่มา : โลกวันนี้ 5 กุมภาพันธ์ 2554
โดย : เรืองยศ จันทรคีรี

 


7 คนไทยกับกระแสชาตินิยม!

การเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกและสังคมไทยใน ปัจจุบัน ประเด็นของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีอิทธิพลและส่งผลต่อการเปลี่ยน แปลงอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตแล้วทำงานอย่างได้ผล เช่น การปลุกกระแสเรื่องความรักชาติ อาจจะไม่ได้ผลในปัจจุบัน เพราะความรวดเร็วของเทคโนโลยีในวันนี้ทำให้ผู้คนมีความรับรู้ในข้อเท็จจริง รวมถึงแสดงความคิดเห็นออกมาได้อย่างตรงไปตรงมาและรวดเร็ว

ผู้เขียนหมายถึงสิ่งที่กลุ่มอีลิตและคณะพยายามจะใช้กรณี 7 คนไทยที่ถูกรัฐบาลกัมพูชาจับกุมมาเป็นประเด็นเพื่อปลุกกระแสชาตินิยมโดยหวัง ผลต่อวิถีทางการควบคุมอำนาจเบ็ดเสร็จให้ยืนยาวต่อไปนั้นเป็นไปไม่ได้ใน ปัจจุบันแล้ว หรือกลายเป็นกรณี “กระสุนด้าน”

กรณี 7 คนไทยนี้ ผู้เขียนจงใจจะไม่เขียนถึงมานานแล้วตั้งแต่เกิดเหตุ เพราะเกรงจะเป็นปัญหาเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ แต่วันนี้ปรากฏการณ์ต่างๆเริ่มชัดเจน จึงอยากวิเคราะห์เฉพาะส่วนที่เป็นข้อคิดเห็นบางประเด็นคือ โดยนิสัยของฝ่ายการเมืองที่คุมอำนาจรัฐในบริบทสังคมการเมืองไทยแล้ว นักการเมืองไทยมักขี้เบ่ง จะไปไหนต้องมีการแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่ให้มายืนกุมเป้ากางเกง ล้อมหน้าล้อมหลัง ดังนั้น จึงไม่น่าเชื่อว่า 7 คนไทยที่ถูกจับกุมจะลงพื้นที่ไปล่วงหน้าก่อนที่เจ้าหน้าที่รัฐจะมาพินอบ พิเทา เท่ากับผิดวิสัยหรือค้านกับปรากฏการณ์รูปธรรมหรือข้อเท็จจริงทางสังคมการ เมืองไทย

นอกจากนั้นพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นเหมือนเขตที่ตกลงกันไม่ได้ ซึ่งมีหลายแห่งในประเทศไทย คล้ายกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-มาเลเซีย ซึ่ง พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ก็ไม่ได้คิดที่จะไปแบ่งแยกหรือทะเลาะกับมาเลเซียว่าดินแดนของไทยอยู่ตรงไหน คนที่ฉลาดอย่างอดีตนายกฯชาติชายจึงคิดบวก ชวนเพื่อนบ้านหาประโยชน์ร่วมกัน หรือร่วมกันทำให้พื้นที่มีปัญหาเป็นเขตพัฒนาร่วม (Joint Development Area) ท้ายที่สุดไทย-มาเลเซียทำการขุดเจาะและนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน แบ่งสรรความมั่งคั่งกันอย่างพอใจทั้งสองฝ่าย

กรณีพื้นที่ระหว่างไทย-กัมพูชา รัฐบาลทั้งสองต่างสงวนไว้ในความรู้สึกที่ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของตนเอง ทั้งคู่ เมื่อไรที่จะคิดทำให้สมประสงค์ฝ่ายเดียวก็จะเป็นข้อขัดแย้งและไม่มีใครยอม ใคร ในอดีตรัฐไทยจึงทำได้แค่เพียงรอเวลาการเจรจา ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาทั้งคู่ก็จะต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพื้นที่บนสำนึกที่ ว่าเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาแบบ no mans land ซึ่งในทางปฏิบัติหากคนของฝั่งใดฝั่งหนึ่งจะเข้าไปในพื้นที่นั้นก็จะแจ้งเจ้า หน้าที่ของฝั่งตรงข้ามที่เป็นคู่เจรจาและดูแลพื้นที่ดังกล่าวอยู่ ได้ยินหลายครั้งแล้วว่ามีข้าราชการระดับสูงหรือผู้ที่เกี่ยวข้องของไทยแวะ เวียนเข้าออกไปดูพื้นที่เป็นประจำ แต่มีการประสานกันล่วงหน้าจึงไม่เคยเกิดเหตุการณ์พิสดารเหล่านี้

ดังนั้น กรณี 7 คนไทยที่รวมถึงนักการเมืองขี้เบ่งเดินเข้าไปให้เขาจับจึงน่าสังเกต โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามของกลุ่มเครือข่ายทางการเมืองที่พยายามอ้างว่า ดินแดนฝั่งนั้นเป็นพื้นที่ของไทยจึงไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย

คำกล่าวเช่นนี้มีแต่สร้างความขัดแย้งระหว่างประเทศ เพราะมีคนพูดมาก่อนหน้านี้กว่า 30 ปีแล้ว และเห็นว่าไม่มีประโยชน์ จึงปล่อยให้เป็นการทำงานระดับรัฐที่ต้องเจรจา และภาระของรัฐบาลชุดต่างๆที่พยายามกระทำต่อกันอย่างละมุนละม่อม ยกตัวอย่างเทียบเคียงกันก็ต้องยกให้กรณีพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียน่าจะ เป็นหนทางสว่างของวิธีการแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนหรือมีปัญหาระหว่างประเทศ

สรุปแล้ว 7 คนไทยถูกรัฐบาลกัมพูชาจับกุมจึงไม่สามารถก่อให้เกิดกระแสชาตินิยมตามที่กลุ่มอีลิตวาดฝันไว้ อย่างไรก็ตาม คำกล่าวนี้ดูเหมือนจะให้ร้ายกลุ่มอีลิต แต่เมื่อพิจารณาบริบททางการเมืองที่กลุ่มอีลิตเผชิญอยู่ และเลือกใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยเครื่องมือต่างๆมาตลอดนั้น จะพบว่ายิ่งแก้ยิ่งถึงทางตัน แรกเริ่มจากการชิงสุกก่อนห่าม ดื้อรั้นแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยการทำปฏิวัติเมื่อปี 2549 แล้วดันไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่ไปเลือกคนซื่อ สูงอายุ และไร้ความสามารถมาบริหาร เมื่อเปิดให้มีเลือกตั้งจึงพ่ายแพ้กลุ่มเก่า

ดังนั้น เครื่องมือใหม่ที่ดูคล้ายจะมีอารยะก็เข้ามาสู่วงจรทำงาน เช่น ระบบตุลาการวิบัติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญ ล้วนแล้วแต่ทำท่าคล้ายจะเป็นอารยะช่วยกลุ่มอีลิตทำงาน ท้ายที่สุดก็ใช้เครื่องมือของกลุ่มติดอาวุธบีบบังคับให้เกิดการจัดตั้ง รัฐบาลลูกชนชั้นสูงเรียนดี แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือ เด็กคนนี้ทำอะไรไม่เป็น ไร้ความสามารถ แถมต้องพึ่งพิงกลุ่มโจรทางการเมืองที่คอร์รัปชันมากกว่ากลุ่มทักษิณเสียอีก นี่จึงเป็นสถานการณ์ทางตันของกลุ่มอีลิต

ครั้นจะเปิดให้มีการเลือกตั้งก็ประมาทไม่ได้ว่า คนไทยสมัยนี้ฉลาดแล้ว เขาจับได้ไล่ทัน และการลงคะแนนเสียงที่เลือกกลุ่มทุนเดิมก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงินซื้อเสียง อีกต่อไป หากแต่ขึ้นอยู่กับความแค้นฝังใจที่ได้รับการปฏิบัติแบบสองมาตรฐานซ้ำแล้วซ้ำ เล่า

ดังนั้น กลุ่มอีลิตจึงเห็นลางความวิบัติ ทางออกเดียวที่เหลืออยู่สำหรับการครองอำนาจให้ยืดยาวคือ ปลุกกระแสต่างๆ ตั้งแต่กล่าวหาฝ่ายตรงข้ามจะล้มสถาบันและเรื่องคอร์รัปชัน ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพทั้งสองประเด็น ท้ายที่สุดเลยลองปลุกกระแสชาตินิยมดูว่าจะให้เกิดความรุนแรงระหว่างไทยและ กัมพูชา เพื่อเป็นข้ออ้างการกระชับอำนาจไปสู่การปกครองด้วยวิธีนอกระบบ… แต่ก็เป็นกระสุนด้านอีก

อันที่จริงแล้วเหตุการณ์ทางการเมืองของไทยวันนี้ใกล้เคียงกับเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นในประเทศตูนิเซีย ซึ่งประชาชนออกมาประท้วงประธานาธิบดีซีน อัล-อาบิดีน เบน อาลี เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจและการว่างงาน แต่ประธานาธิบดีกลับแก้ปัญหาผู้ประท้วงด้วยการใช้ความรุนแรง ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 50 ราย การกล่าวหายังคล้ายกันคือ ประธานาธิบดีพยายามอ้างว่าผู้ประท้วงมีพฤติกรรมคล้ายผู้ก่อการร้าย ผลสุดท้ายคือ การประท้วงรุนแรงมากขึ้นจนกระทั่งฝ่ายรัฐพ่ายแพ้ ประธานาธิบดีประกาศยุบสภาและลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ

สำหรับเหตุการณ์เมืองไทยวันนั้น แม้จะยังมาไม่ถึง แต่จากความรับรู้ของประชาชน และระบบบาปบุญคุณโทษหรือเวรกรรมที่มีจริง กำลังจะทำให้เคราะห์กรรมต่างๆที่กลุ่มอีลิตและสมุนบริวารสร้างกรรมเอาไว้ ต้องได้รับผลกรรมที่ตัวเองทำไว้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคตอันใกล้นี้  ไม่เชื่อก็ดูแล้วกัน!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 295 วันที่ 22-28 มกราคม พ.ศ. 2554 หน้า 10 คอลัมน์ ทหารใหม่วันนี้ โดย ชายชาติ ชื่นประชา


จากคันธุลีถึงเขาพระวิหาร ‘ไทย-กัมพูชา’ เหยื่อประวัติศาสตร์

จากคันธุลีถึงเขาพระวิหาร ‘ไทย-กัมพูชา’ เหยื่อประวัติศาสตร์
ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 273 วันที่ 21-27 สิงหาคม พ.ศ. 2553 หน้า 11
คอลัมน์ : คิดทวนเข็มนาฬิกา
โดย : ดร.นิเลอมาน นิตา

ภายใต้สถานการณ์ที่ล่อแหลมและตึงเครียด เกี่ยวกับความขัดแย้งกรณีปราสาทพระวิหารตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ยังมีเรื่องที่น่ายินดีอยู่ไม่น้อย… เพราะเริ่มมีนักวิชาการทางประวัติศาสตร์ตั้งต้นที่จะพูดถึงบริบทของความขัดแย้งนอกเหนือไปจากข้อมูลซึ่งตอบโต้กันไปมาอยู่บนพื้นที่ของสื่อ โดยเฉพาะแนวคิด “คลั่งชาติกระหายสงคราม” ที่ไม่น่ามีประโยชน์อะไรกับใคร?

ส่วนใหญ่มีการพูดถึงซึ่งเกี่ยวเนื่อง และเห็นได้ว่าในการอ้างสิทธิเหนือดินแดนของคนไทยปัจจุบันเหนือพระวิหาร เป็นการใช้สภาพภูมิศาสตร์สร้างบรรทัดฐานอ้างความชอบธรรมในการปักปันเขตแดนระหว่างประเทศ แต่คงต้องระลึกไว้เช่นกันว่าข้อพิจารณาว่าด้วยชาติพันธุ์และภาษาก็ถือเป็นเกณฑ์สำคัญในเรื่องนี้ด้วย…

จึงเป็นอีกมุมมองที่ควรนำมาทบทวนเพื่อมิให้ความเข้าใจทุกอย่างต้องไปเบ็ดเสร็จ เพื่อโต้เถียงเฉพาะเรื่องของ “เขตแดน” การนำข้อมูลทางประวัติศาสตร์มาเน้นน้ำหนักเพิ่มขึ้นน่าจะเป็นอีกข้อพิจารณาที่โต้แย้ง “ประวัติศาสตร์บาดแผลฉบับนักล่าอาณานิคมตะวันตกที่กำลังย้อนกลับให้ลดดีกรีของความบาดหมางและเข้าใจคลาดเคลื่อนให้บางเบา”

สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนไว้ว่า “…ในอีสานบริเวณลุ่มแม่น้ำมูล ทิวเขาพนมดงเร็ก ตั้งแต่จังหวัดนครราชสีมา, บุรีรัมย์, สุรินทร์, ศรีษะเกษ จนถึงอุบลฯ เต็มไปด้วยพยานหลักฐานว่าเป็นหลักแหล่งของชาติพันธุ์ในตระกูลมอญ-เขมร โดยเฉพาะที่พิมาย-พนมรุ้งเป็นถิ่นบรรพชนของกษัตริย์กัมพูชาที่สถาปนาอาณาจักรกัมพูชาขึ้นบริเวณทะเลสาบ หรือรู้จักกันทั่วไปในทุกวันนี้ว่านครวัด-นครธม…ในภาคกลางลุ่มแม่น้ำเจ้า พระยาวงศากษัตริย์ที่สถาปนากรุงศรีอยุธยา มีเชื้อสายเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกับวงศ์กษัตริย์ละโว้และเมืองพระนครหลวง (นครธม) เชื่อมโยงถึงวงศ์กษัตริย์กรุงสุโขทัยด้วย ด้วยเหตุนี้เองในราชสำนักกรุงศรีอยุธยาจึงพูดภาษาเขมร ยังมีร่องรอยสำคัญให้เห็นถึงปัจจุบันที่ยกย่องภาษาเขมรเป็น “ราชาศัพท์”…” (มติชน : 13 สิงหาคม 2553)

นั่นเป็นทรรศนะของสุจิตต์ วงษ์เทศ ที่ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ในรุ่นบรรพบุรุษของกัมพูชาและไทย… อาจยกอีกตัวอย่างจากข้อเขียนของ “กิเลน ประลองเชิง” (ไทยรัฐ : 10-11 สิงหาคม 2553) เขาได้ยกผลงานในอดีตของ “ขจร สุขพานิช” นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงอีกคน ซึ่งเคยเขียนลงในหนังสือชุมนุมจุฬาฯเมื่อปี 2503 ไว้ว่า…

“…จารึกต่างๆสมัยแรกเริ่มตั้งกัมพูชา ดินแดนเขาพระวิหารปรากฏนาม “พิณสวัณครามวดี” เจ้านายสตรีที่ครองดินแดนนี้อยู่ บุตรหลานไม่มีนามสกุลเป็นสันสกฤต มีชื่อแต่เด็กๆว่าพง พัน อั๋น อ้าย (แสดงว่าเป็นไทย) วันหนึ่งมีเจ้าชายจากดินแดนจำปาศักดิ์ (สตรึงเตร็ง) มาสู่ขอธิดาของพระนางพิณสวัณครามวดีเพื่ออภิเษกเป็นมเหสี แล้วก็คุมทัพลงไปแย่งดินแดนข้างทะเลสาบ สร้างกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 1345 ทั้ง 2 พระองค์ขึ้นเถลิงกรุงกัมพูชาทรงพระนามว่า “เจ้าชายวรมเทพ” กับ “พระนางกัมพูชาลักษมี” ตั้งแต่นั้นมาชื่อพระนางก็นับเป็นต้นวงศ์กัมพูชา… กระทั่งต่อมาพระญาติใน พระวงศ์ของพระนางก็ครองแผ่นดินอีกหลายองค์ เช่น “พระเจ้าอินทรวรมันที่ 1” และพระราชโอรสคือ “พระเจ้ายะโสธรวรมันที่ 1” จนถึง “พระเจ้าหรรษาวรมันที่ 3”

ราชวงศ์นี้ก็คือ “วงศ์ยะโสธร” ตามชื่อเมืองยะโสธรดั้งเดิมในจังหวัดอุบลราชธานี สร้างกรุงยะโสธรนครธมขึ้นเป็นราชธานี เป็นราชวงศ์ที่ปกครองกัมพูชาในราว 200 ปี…ราชวงศ์ยะโสธรนี้แหละที่สร้างปราสาทพระวิหาร ขจร สุขพานิช จึงตั้งคำถามว่าโดยข้อเท็จจริงที่พอรับฟังได้ บรรพบุรุษของกัมพูชาได้สร้างปราสาทพระวิหารไว้จริง แต่ท่านเป็นบรรพบุรุษเฉพาะกัมพูชาเท่านั้นหรือ?

โดยสรุปสำหรับข้อมูลตรงนี้คือ “ตระกูลพิณสวัณครามวดี” ย่อมถือเป็นบรรพบุรุษในฝ่ายแม่ของคนทั้งด้านกรุงกัมพูชาหรือกรุงสยาม.. นอก จากนั้นในงานของขจร สุขพานิช ยังได้กล่าวถึงราชวงศ์ที่ครองกัมพูชาต่อจากวงศ์ยะโสธรคือ “ราชวงศ์พิมาย” นับตั้งแต่ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” จนถึง “พระเจ้าชัยวรมันที่ 8” นั่นเป็นเหตุการณ์ระหว่าง พ.ศ. 1623-1838

มีข้อน่าสังเกตประการหนึ่งที่แทรกเป็นยาดำเข้าไปบรรเทาเบาบาง “ประวัติศาสตร์บาดแผล” คือมีหลายข้อมูลที่อ้างอิงถึงความเกี่ยวพันในด้านชาติพันธุ์เมื่อยุคโบราณระหว่างไทย-กัมพูชา แม้จะมีการอ้างอิงที่แตกต่าง ไม่มีความชัดเจนไปในข้อมูลเหมือนกันทั้งหมด แต่ทุกๆ หลักฐานต่างล้วนสนับสนุนให้เห็นถึงความมีที่มาที่ไปของหลักแหล่งชาติพันธุ์ซึ่งแยกแยะกันไม่ได้ แม้แต่ยอร์ช เซเดส์ เองยังเคยระบุไว้ว่า “ผู้สร้างเขาพระวิหาร พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ก็เป็นเชื้อสายกษัตริย์ไปจากนครศรีธรรมราช สืบเนื่องมาจากการพบข้อมูลในศิลาจารึกวัดเสมาเมือง อันเป็นจารึกเมื่อ พ.ศ. 1318 โดยพระเจ้าวิษณุที่ 2 หรือพระเจ้าศรีวิชเยนทรราชา..

โดยเหตุโดยผลเท่าที่ควรจะเป็นไปในประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับกัมพูชา มีความซับซ้อนมากกว่าที่เราเคยเข้าใจกันมาก่อน ถ้าหากค้นคว้าศึกษากันจริงจังคงมีข้อมูลจำนวนไม่น้อยที่สามารถเอามาเชื่อมโยงและหาคำตอบได้ว่า “บรรพบุรุษทั้งไทยและกัมพูชาคือใครกันแน่?” แม้แต่ “ผู้ใดเป็นคนสร้างปราสาทพระวิหาร?” ตลอดจนคำตอบเกี่ยวกับ “ขอมคือใครกันแน่?”…

ในงานค้นคว้าของผู้เขียนอาจนำเสนอข้อมูลที่แตกต่างออกไป แต่ไม่ได้แตกต่างไปจากนักวิชาการท่านอื่นๆ เพราะนำไปสู่ความจริงอย่างเดียวกัน ที่ชี้ให้เห็นคำตอบด้านชาติพันธุ์กับภาษาของรุ่นบรรพบุรุษไทย-กัมพูชาที่ร่วมรากและร่วมประวัติศาสตร์ ร่วมบรรพชนมาจากแหล่งเดียวกัน…

มีหลักฐานตั้งแต่ พ.ศ. 977 เมื่อเจ้าชายศรีนเรนทรกับเจ้าชายศรีธนูรักษ์ พระราชโอรสของมหาราชาจันทร์พาณิชแห่งแคว้นเวียงจันทน์ อาณาจักรอ้ายลาว ซึ่งอยู่ในดินแดนของสหราชอาณาจักรคีรีรัฐ ได้ส่งกองทัพเข้าทำสงครามขับไล่ทมิฬโจฬะ ให้ออกไปจากอาณาจักรคามลังกา เจ้าชายศรีนเรนทรนี้เองที่อภิเษกกับเจ้าหญิงแห่งแคว้นอินทปัต (เชื้อสายราชวงศ์ขอม-ทมิฬ) แล้วมีพระราชโอรสที่สำคัญ 2 พระองค์คือ เจ้าชายหิรัญยะ-เจ้าชายศรีราทิตย์ ทั้ง 2 คนนี้คือผู้สร้างปราสาทพนมรุ้งและเกี่ยวกับปราสาทพิมาย ศิลาจารึกหลักที่ K-384 พบในจังหวัดนครราชสีมา จารึกโดยหิรัญยะ ก็มีข้อความสรรเสริญพระราชบิดาของตัวเองได้แก่ “ศรีนเรนทราทิตย์”

กระทั่งต่อมาเจ้าชายศรีราทิตย์ได้นำไพร่พลอพยพไปสร้างปราสาทพระวิหาร ใช้เป็นเมืองนครหลวงชั่วคราวของอาณาจักรคามลังกาใน พ.ศ. 1051 เพราะถูกอาณาจักรอีสานปุระ (ที่นักประวัติศาสตร์สายตะวันตกเรียกเป็น “เจนละ”) ยกทัพใหญ่เข้าโจมตีแคว้นพนมรุ้ง… และมหาราชาศรีทราทิตย์ผู้นี้ก็คือพระราชบิดาของ “มหาอุปราชเจ้าศรีสุริยะ” ซึ่งก็คือสุริยวรมันที่ 1… ข้อมูลตรงนี้จึงเชื่อมต่อไปได้ถึง “คันธุลี” ของสหราชอาณาจักรคีรีรัฐ ที่มีหลายหลักฐาน รวมทั้งหลักฐานจดหมายเหตุของจีนสมัยฮ่องเต้เฮียวหวูเมื่อ พ.ศ. 997 ได้ระบุถึงคันธุลีและพูดถึงพระนามของมหาจักรพรรดิท้าวศรีนเรนทร ที่ส่งคณะราชทูตนำเครื่องราชบรรณาการไปถวาย มีการระบุชื่อราชทูตคือ “คุนเหลียวโต” ซึ่งน่าจะเป็นขุนหลวงโต…

ทั้งหมดนี้จึงเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสหราชอาณาจักรคีรีรัฐ จากลุ่มน้ำตาปีไปจนถึงเขาพระวิหาร และบอกถึงความเกี่ยวข้องของฟูนันที่แม่น้ำโขง กับฟูนันในภาคใต้ตอนบนยุคนั้น… นี่เป็นอีกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ควรค้นคว้ากันต่อไป? ซึ่งยังมีข้อมูลหลักฐานอื่นๆที่มากมายยิ่งกว่านี้?


สวมแว่น “วิชาการ” มอง “เขาวิหาร”

สวมแว่น “วิชาการ” มอง “เขาวิหาร”
ที่มา : ข่าวสดรายวัน ปีที่ 20 ฉบับที่ 7193 วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553 หน้า 3

เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาเรื่อง “มรดกโลกกับปัญหาชายแดน” มีเนื้อหาที่น่าสนใจ ดังนี้


อ.พนัส ทัศนียานนท์ – อ.อัครพงศ์ ค้ำคูณ

พนัส ทัศนียานนท์
อดีต ส.ว.ตาก, อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ.

เท่าที่ได้ติดตามการพูดคุยกันระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กับเครือข่ายประชาชนผู้รักชาติ ถ้าเป็นการโต้วาทีผมคิดว่าฝ่ายรัฐบาลชนะ เพราะนายอภิสิทธิ์ตอบโต้ได้ดี

กรณีบางฝ่ายเสนอให้รัฐบาลยกเลิกเอ็มโอยูปี 2543 ตามหลักเกณฑ์หากต้องการยกเลิกเอ็มโอยูจริง ก็ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำผิดสัญญาในประเด็นสำคัญ จึงจะมีการพิจารณาขอยกเลิกได้

ซึ่งในกรณีที่กัมพูชาให้ประชาชนของตัวเองเข้ามาอยู่ในพื้นที่ทับซ้อน รวมทั้งยังปล่อยให้สร้างถนนด้วยนั้น ในส่วนนี้ถือว่าเป็นการดำเนินการที่ผิดและสามารถขอยกเลิกได้ แต่หากเรายื่นข้อเสนอขอยกเลิกไป กัมพูชาก็คงไม่ยอมรับกับสิ่งที่ตัวเองทำไว้เช่นกัน

ถ้าเรายอมยกเลิกเอ็มโอยูฉบับดังกล่าวก็อาจทำให้เสียประโยชน์ และมีผลสะท้อนกลับมาในภายหลัง

อัครพงศ์ ค้ำคูณ
อาจารย์ประจำสถาบันปรีดี พนมยงค์

นอกจากกรณีเขาพระวิหาร อยากให้รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับมรดกโลกอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะมรดกโลกเขาใหญ่-ดงพญาเย็น ที่ขึ้นทะเบียนมานานแล้ว แต่ขณะนี้พบว่ายังไม่มีการส่งแผนบริหารจัดการพื้นที่ให้คณะกรรมการมรดกโลกแต่อย่างใด

รวมทั้งยังอยากให้รัฐบาลไทยให้ความสนใจในการที่จะเสนอปราสาทเขาพนมรุ้ง และปราสาทพิมาย ที่ กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมประกาศมรดกโลกด้วย

สำหรับการประท้วงของนาย สุวิทย์ คุณกิตติ ด้วยการลงนามไว้ในมติ 5 ข้อนั้น ถือเป็นสิ่งที่ทำให้เรารอดพ้นมาจากการยอมรับแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารของกัมพูชา เพราะเป็นการเซ็นรับทราบเอกสารเท่านั้น คณะกรรมการมรดกโลกยังเปิดช่องให้ฝั่งไทยได้เสนอองค์ประกอบอื่นๆ ของตัวเองเข้าไปด้วย

ส่วนเครือข่ายรักชาติ คุณไม่ได้เป็นเจ้าของชาติฝ่ายเดียว ผมและคนอื่นๆ ก็เป็นเจ้าของชาติด้วย ถ้าการประท้วงดังกล่าวเป็นชนวนทำให้เกิดการสู้รบ ผู้ที่ได้รับผลกระทบก็คงหนีไม่พ้นชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ตามแนวชายแดน ในขณะที่กลุ่มคนที่ออกมาประท้วงก็กลับไปนอนตีพุงที่บ้าน

ตอนแรกที่กลุ่มดังกล่าวไปประท้วงที่หน้ายูเนสโก ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากทำให้คณะกรรมการมรดกโลกนำเรื่องนี้กลับมาพิจารณาอีกครั้ง แต่การที่มาประท้วงในขณะนี้ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง



อ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ – อ.มรกต เจวจินดา ไมยเออร์

พวงทอง ภวัครพันธุ์
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

กรณีพื้นที่ทับซ้อนที่เครือข่ายประชาชนผู้รักชาติและกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขอให้นายกฯ เลิกใช้คำว่าพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร และให้พื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวเป็นของไทยฝ่ายเดียวนั้น

คิดว่าถึงแม้เปลี่ยนชื่อเรียกอย่างไรก็ไม่มีผลในทางกฎหมาย เพราะทั้ง 2 ฝ่ายยังอ้างอธิปไตยเหนือแผ่นดินเดียวกัน เราจะเรียกอย่างไรประเทศกัมพูชาก็ยังเรียกพื้นที่ทับซ้อนอยู่ดี เรื่องนี้ถือเป็นการเล่นคำเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่า

ประกอบกับตอนนี้นายอภิสิทธิ์ ถือว่าถูกฝ่ายชาตินิยมเล่นงาน เพราะตอนอยู่ฝ่ายค้านก็เล่นกับกระแสชาตินิยมมาโดยตลอด พอมาเป็นรัฐบาลก็ประสบปัญหา เพราะมีหลายเรื่องที่เคยพูดไว้ตอนเป็นฝ่ายค้าน แต่เมื่อมาเป็นรัฐบาลก็ทำไม่ได้

สถานการณ์ขณะนี้ ฝ่ายชาตินิยมของไทยในนามกลุ่มประชาชนผู้รักชาติ พยายามผลักดันให้ประเทศไทยไปสู่การเผชิญหน้า เพื่อทำสงครามเพื่อแย่งชิงเขาพระวิหารกลับคืนมา

แต่เชื่อว่าประเทศกัมพูชายังมีไม้เด็ด อาจเสนอให้ศาลโลกตีความเรื่องเขตแดนซ้ำอีกครั้ง หลังจากที่ศาลโลกเคยตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชามาแล้วในปี 2505 ซึ่งประเทศกัมพูชาสามารถเสนอตีความได้ตามลำพัง และเชื่อว่าผลการตีความก็น่าจะออกมาในทางที่เป็นคุณประโยชน์กับกัมพูชามากกว่าไทย เมื่อถึงเวลานั้นประเทศไทยคงไม่เหลือหน้าอีกในเวทีโลก

ส่วนสาเหตุที่ประเทศไทยไม่สามารถยื่นตีความได้อีกนั้น เนื่องจากคดีความเรื่องเขาพระวิหารนั้นหมดอายุความไปแล้ว และที่ผ่านมาประเทศไทยก็ไม่เคยมีการยื่นอุทธรณ์เลย ในขณะที่ฝ่ายชาตินิยมพยายามจะไม่ยอมรับเหตุผลเรื่องของอายุความ แต่พยายามดันทุรังไปสู่การเผชิญหน้าอย่างเดียว

กรณีที่มีการเรียกร้องให้ยกเลิกเอ็มโอยูปี 2543 หากรัฐบาลไทยยกเลิกเอ็มโอยูฉบับดังกล่าว ในอนาคตประเทศไทยจะใช้เอ็มโอยูกับ ประเทศอื่นได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสาธารณประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ที่มีการทำเอ็มโอยูกับไทย เอ็มโอยูดังกล่าวก็มีการพาดพิงแผนที่คล้ายกับเอ็มโอยูปี 2543 ระหว่างไทยกับกัมพูชา หากเป็นเช่นนั้น ทางลาวอาจจะอ้างกรณีหมู่บ้านร่มเกล้า จ.พิษณุโลก ว่าเป็นของเขาเช่นกัน

ที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เซ็นรับมติ 5 ข้อ ในการประชุมกรรมการมรดกโลกที่บราซิล อยากให้ทุกคนตั้งข้อสังเกตกรณีนี้ โดยเฉพาะในมติข้อที่ 4 ที่ระบุถึงการตั้งคณะกรรมการประสานงานร่วมระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ที่มีการเสนอเช่นนี แสดงว่าประเทศกัมพูชาได้เสนอแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทมาก่อนหน้านี้ ตั้งแต่การประชุมเมื่อปี 2552 ที่ประเทศสเปนแล้ว

ส่วนการเรียกร้องให้ถอดปราสาทพระวิหารออกจากการเป็นมรดกโลกนั้น ถือว่าไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ เพราะถ้าถอดจะเป็นเรื่องใหญ่ระหว่างประเทศ และจะทำให้เกิดกระแสชาตินิยมต่อต้านประเทศไทยในกัมพูชา

ในเวลานี้ต้องตั้งคำถามว่า เราจะทำอย่างไรให้ไทยและกัมพูชาอยู่ด้วยกันได้ และจะทำอย่างไรที่ไทยจะรักษาผลประโยชน์ของประเทศไว้ได้

แต่ถ้าเราชาตินิยมมากๆ จะเป็นการทำให้ไทยเสียประโยชน์อย่างเรียกคืนอะไรมาไม่ได้เลย และต่อไปก็จะมีแพะรับบาปที่ถูกตราหน้าในสังคมจำนวนมาก

มรกต เจวจินดา ไมยเออร์
อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มศว.ประสานมิตร

วิธีคิดของประเทศไทยในปัจจุบันค่อนข้างจะต่างกับประเทศไทยในพ.ศ.2505 เพราะเดิมเราต้องพึ่งพิงประเทศสหรัฐอเมริกา แต่หลังการรัฐประหาร พ.ศ.2549 ตอนนี้วิธีคิดเราเปลี่ยนไป เป็นการใช้กรณีนี้แก้เกมภายในประเทศมากกว่า

ในกรณีพื้นที่ที่มีการอ้างอธิปไตยซับซ้อนอยู่นั้น ถ้าเป็นทางการเมืองระหว่างประเทศมันคงไม่น่าจะยุ่งยากในการตัดสินปัญหา แต่บังเอิญกรณีปราสาทพระวิหารในประเทศไทยถูกใช้เพื่อปลุกกระแสชาตินิยมภายในประเทศ กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งต่างพลิกวิกฤตเป็นโอกาส

และเหตุใดเราจึงไม่พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสเหมือนในยุโรป ที่มองข้ามเขตแดนด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจมากกว่า ถ้ามองในแง่นี้ ปราสาทพระวิหารก็ถือเป็นแหล่งรวมศิลปะอีสานใต้และวัฒนธรรมของประเทศกัมพูชา

อย่างไรก็ตาม องค์การยูเนสโกไม่ได้ให้ความสำคัญกับปราสาทอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญกับชุมชนแวดล้อมที่ผ่านกาลเวลามานานและมีคุณค่า รวมถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่ทำให้มรดกโลกมีชีวิตด้วย

อ่านเพิ่มเติม : ปราสาท พระวิหาร เอ็มโอยู 2543 และแผนที่ โดยพวงทอง ภวัครพันธุ์


ชาตินิยมสยาม และชาตินิยมไทย กับกรณีปราสาทเขาพระวิหารมรดกโลก

ชาตินิยมสยาม และชาตินิยมไทย กับกรณีปราสาทเขาพระวิหารมรดกโลก
โดย : ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
ที่มา : Thai E-News

ณ ตอนนี้ ผมกำลังงงๆๆ งวยๆๆ (แกมขำขัน)กับ “ปราสาทเขาพระวิหารมรดกโลก” (ซึ่งกลายเป็นความเมืองระหว่างประเทศหลังจากประชุมที่บราซิเลียของ นรม. และกับ รมต. ของรัฐบาลไทย versus รอง นรม. และ ครม. กัมพูชา Who speaks the truth to each and their own peoples, or none at all ? ครับ หรือไม่มีใครพูด “ความจริง” ทั้งหมดกับประชาชนเลย)

“ต้นตอ” ของปัญหานี้ ขอสรุปเป็นเบื้องต้นว่า สมัยเมื่อเรายังเป็น “สยาม” กับสมัยที่เปลี่ยนเป็น “ไทย” แล้ว ความคิดความอ่านหรือ “ลัทธิชาตินิยม” และ “ความรักชาติ” ของทั้ง 2 ยุคสมัย-ต่างกันมาก ซึ่งก็จะเลยเถิดไปถึงการ “รับ” หรือ “ไม่รับ” แผนที่ “เจ้าปัญหา” แผ่นนั้น

แผนที่แผ่นนี้ มักเรียกกันด้วยชื่อผิดๆและประหลาดๆ โดยนักวิชาการ-นักการทหาร-และสื่อมวลชนฯ ว่า “แผนที่ 1 ต่อ 200,000” (หนึ่งต่อสองแสน !!!???) ซึ่งสร้างความงุนงง-มึนให้กับประชาชนทั่วๆไป

ความจริงชื่อที่แท้จริงของมันก็มี คือ แผนที่ Dangrek ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่าแผนที่ “ดงรัก” หรือ “ดงเร็ก” นั่นเอง (ดูภาพที่นี่)

“แผนที่ดงรัก” ดังกล่าวนี้ รัฐบาลสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของ ร.๕ ซึ่งมีสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ (ต้นสกุลดิศกุล) เป็นมหาดไทย กับมีสมเด็จกรมฯเทววงศ์ (ต้นสกุลเทวกุล) เป็นการต่างประเทศ ได้ “รับรอง” แผนที่แผ่นนั้น และนำมาใช้ในประเทศของเราเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะต้องการรักษา “อธิปไตย” ของสยามส่วนใหญ่ เอาไว้

ครับ ไม่รับก็ไม่ได้ เพราะสมัยนั้น คือ gunboat diplomacy/politics และนี่ก็เป็นหลักฐานหรือเหตุผลเพียงพอที่ทำให้ “ศาลโลก” ที่กรุงเฮก ในปี พ.ศ. 2505 ตัดสินด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 ว่า “ปราสาทพระวิหาร ตั้งอยู่ในอาณาเขต ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา”

แล้วลูกระเบิดทางการเมืองสำหรับสังคมไทย ก็ถูกวางไว้ตั้งแต่สมัยของจอมพลสฤษดิ์ ครั้งกระนั้น

ย้อนกลับไปให้ไกลใน ปวศ. อีก คือ ครั้งเมื่อ “รัฐบาลปีกขวา” ของ “คณะราษฎร” นำโดย “พิบูลสงคราม-วิจิตรวาทการ” เปลี่ยน “สยาม” เป็น “ไทย” เปลี่ยน Siam เป็น Thailand นั่นแหละ ก็ได้เริ่มกระบวนการที่จะไม่รับ “แผนที่ดงรัก” แผ่นนั้น (รวมทั้งไม่รับสนธิสัญญาสมัยสยามกับฝรั่งเศส (ร.ศ. 112) อีกด้วย) นี่ก็นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 หรือสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

สรุป จะเห็นได้ว่าเมื่อประมาณ 100 ปีมาแล้ว รัฐบาลของรัชกาลที่ 5 ในยุคของ “ลัทธิชาตินิยมสยาม” ได้ยอมรับทั้งสนธิสัญญาและแผนที่กับฝรั่งเศส แต่ต่อมาเมื่อ 70 ปีที่แล้ว รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ที่ส่งทอดมายังจอมพลสฤษดิ์) ในยุคของ “ลัทธิชาตินิยมไทย” ไม่ยอมรับ

พอมายุคสมัยนี้ ที่เราๆท่านๆ อาจถูกชี้หน้าถามว่า “เป็นคนไทยหรือเปล่า” สังคมของเราจึงยังย่ำอยู่กับ “ลัทธิชาตินิยมไทย” (ไม่ใช่ “ลัทธิชาตินิยมสยาม”) ดังนั้น ทั้งรัฐบาลปัจจุบันและพันธมิตรร่วมอุดมการณ์ (รวมทั้งนักวิชาการที่ขังตนเองอยู่ใน “เขตแดนรัฐชาติ” อย่าง ดร. อดุล-อ. ศรีศักร) ก็รับช่วงต่อๆกันมาจาก “ลัทธิผู้นำของพิบูลสงคราม-วิจิตรวาทการ-สฤษดิ์-เสนีย์” (จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม) ตกทอดกันมา ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของ “ลัทธิชาตินิยมไทย” ซึ่งถือได้ว่าเป็น “เวอร์ชันแปลง” ของ Thailand มิใช่ “ลัทธิชาตินิยมสยาม” ซึ่งเป็น “เวอร์ชันดั้งเดิม” ของ Siam

บุคคล ระดับ “ผู้นำ” เหล่านั้นไม่ว่าจะเป็น จอมพล-นายกฯ-รมต. นักการเมือง นักการทหาร นักวิชาการ (ที่จำกัดอยู่ในเขตแดนของรัฐ) นักเคลื่อนไหวมวลชน หรือสื่อมวลชนกระแสหลัก ไม่ว่าเป็นภาครัฐ หรือภาค (ที่อ้างว่าเป็น) ประชาชน ไม่ยอม “รับรู้” หรือ “ประสงค์” ที่จะรับรู้ว่า “เสด็จพ่อ ร. ๕ กับสมเด็จกรมเทววงศ์ (กต.) และสมเด็จกรมดำรงฯ” (มท.) ได้ทรงทำอะไรไว้ ได้ทรงกำหนดเขตแดน-ขอบเขต-และเส้นทางเดินของรัฐ “สยาม” กับประเทศข้างเคียงไว้อย่างไร (ที่ในช่วง “หน้าสิ่วหน้าขวาน” เมื่อประมาณระหว่าง พ.ศ. 2436-2450 (1893-1907 อันเป็นจุดสูงสุดของลัทธิอาณานิคมล่าเมืองขึ้น Height of colonialism หรือ 100 ปีมาแล้วนั้น ในห้วงเวลาที่ไม่มี “มหามิตร” ที่สยามคิด (ฝัน) ว่าจะพึ่งพาได้เข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษของพระนางวิกตอเรีย ไม่ว่าจะเป็นรัสเซียของพระเจ้าซาร์ ไม่มีองค์กรระหว่างประเทศอย่าง “สันนิบาตชาติ” หรือ “สหประชาชาติ” หรือ Unesco ฯลฯ ที่จะเข้ามาแทรกแซง) ดังนั้นจึงต้อง “จำยอม” และ “เลยตามเลย”

แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ถึง พ.ศ. 2482 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังที่กล่าวข้างต้น รัฐบาลใหม่ (ปีกขวาของคณะราษฎร)และ/หรือ “ผู้นำใหม่” อย่าง “พิบูลสงคราม-หลวงวิจิตรวาทการ” ก็เปลี่ยน “สยาม” เป็น “ไทย” เปลี่ยน Siam เป็น Thailand แล้วก็เปลี่ยนจินตนาการใหม่ และก็เริ่มสร้างปัญหาใหม่ๆ ส่งทอดต่อๆมา ผ่านนักการทหารบ้าง (อย่างสฤษดิ์) ผ่านนักการเมืองบ้าง (อย่าง ม.ร.ว. เสนีย์) ให้มาเป็นปัญหาอยู่กับเราๆท่านๆจนถึงทุกวันนี้

และเราประชาชนไม่ว่าจะชนชั้นบน-กลาง-ล่าง ก็ต้องรับมรดกอันเลวร้ายทาง ปวศ. (บาดแผล-บกพร่อง) ที่ถูกนำมา “ปลุกผี” และ “ปัดฝุ่น” ทำให้กลายเป็นปัญหาของ “มรดกโลก” นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2551 จากควีเบ็ก ไปเซวีญา ไปบราซิเลีย และก็จะไปบาห์เรน ในปีหน้า 2554

นี่เป็น “โศกนาฏกรรมระดับชาติ” ในยุคสมัยที่เราน่าจะก้าวไปข้างหน้าเพื่อสิ่งใหม่ๆ ที่ดีกว่า เพื่อคนรุ่นใหม่ ไปให้พ้น “อดีตเก่าๆ” ที่ “ล้าหลังและคลุ้มคลั่ง” ไปให้พ้น “ปวศ.บกพร่อง” – “ปวศ.บาดแผล” เดินไปข้างหน้า ตั้งฝันไปให้ไกล ไปให้ถึง “โลกาภิวัตน์-โลกไร้พรมแดน-และประชาคมอาเซียน”

เราไม่เพียงจะต้อง “ปฏิรูป-ปรองดอง-สมานฉันท์-รักสามัคคี” กันกับผู้คนในชาติบ้านเมืองของเราเท่านั้น แต่ยังต้อง “ปฏิรูป-ปรองดอง-สมานฉันท์-รักสามัคคี”กับเพื่อนร่วมภูมิภาค และมนุษยชาติร่วมโลกอีกด้วย

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ป.ล. รัฐธรรมนูญใหม่ของบ้านนี้เมืองนี้ ถ้าไม่เป็น “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม-สยามประเทศ” ก็ “ปฎิรูป-ปรองดอง-สมานฉันท์-รักสามัคคี” กันไม่ได้