ประชาธิปัตย์ ‘นอมินีอีลิต’?

ตั้งแต่พรรคเพื่อไทยประกาศตัวผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บรรยากาศทางการเมืองก็ร้อนแรงขึ้นมาทันที โดยเฉพาะจากฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ที่พากันใช้ความถนัดจัดเจนหรือพฤติกรรม เดิมๆออกมากล่าวหา ตั้งแต่ประวัติส่วนตัว รวมถึงข้อกล่าวหาสำคัญเรื่องเป็น “นอมินี” ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์มีสถานะเป็นตัวแทนของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แถมยังกล่าวหาว่าเข้าสู่การเลือกตั้งเพื่อจะนำ พ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้านเป็นด้านหลักอีกด้วย

ความจริงปัญหาเรื่องนอมินีถือเป็นคำกล่าวที่ถูกต้อง แต่ต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่าในภาวะความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน สาเหตุหลักคือกลุ่มผู้มีอำนาจที่แท้จริงต่างก็ใช้นอมินี หากพูดกันตรงไปตรงมากล่าวหาว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ พรรคประชาธิปัตย์เองก็ต้องยอมรับด้วยว่าเป็นนอมินีของกลุ่มอีลิต แล้วยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความเลวร้ายยิ่งกว่าอีก เพราะได้อำนาจมาจากการยึดอำนาจโดยตรง และใช้วิธีการฉ้อฉลจากอำนาจปากกระบอกปืน บังคับให้นักการเมืองบางส่วนร่วมจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร

ตรงข้ามกับพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นนายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หรือท้ายสุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ หากมองว่าเป็นนอมินีทั้งพรรคเพื่อไทยหรือพลังประชาชนในอดีตก็ทำเพื่อเจ้าของ พรรคตัวจริงคือ พ.ต.ท.ทักษิณซึ่งเป็นฝ่ายถูกกระทำ จึงต้องอาศัยช่องว่างตามกระบวนการประชาธิปไตยเข้าสู่อำนาจโดยประชาชนเป็นผู้ เลือกเข้ามา

ดังนั้น ลักษณะการเป็นนอมินีจึงไม่เหมือนกัน พรรคประชาธิปัตย์เป็นนอมินีให้พวกกลุ่มน้อยที่อยากมีอำนาจ โดยมีอำนาจจากกระบอกปืนมาบังคับ ขณะที่พรรคเพื่อไทยต้องการให้ประชาชนเป็นผู้เลือก แต่จะเพราะเข้าอกเข้าใจในเนื้อหาหรือนโยบายของพรรคหรือไม่ก็ต้องพิจารณาใน บริบทการเป็นนอมินีด้วย

การจะมองปัญหาหรือวิเคราะห์เรื่องดังกล่าวจึงต้องเข้าใจรากเหง้าความขัด แย้งทางการเมืองที่ผ่านมาก่อน หากมองแค่ปรากฏการณ์หรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็ไม่อาจสรุปได้ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดมาตลอด 4 ปีนั้นอาจสรุปได้ว่าเบื้องลึกแล้วเป็นความขัดแย้งและแก่งแย่งผลประโยชน์กัน ของกลุ่มทุนเก่าที่มีอำนาจทางการเมืองมาก่อน แต่พ่ายแพ้กลุ่มทุนใหม่อย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจหรือการเมือง เมื่อกลุ่มทุนเก่าสู้ไม่ได้จึงหันไปขอความร่วมมือจากกลุ่มอีลิต ซึ่งเผอิญผลประโยชน์ตรงกันทั้งด้านอุดมการณ์ เศรษฐกิจ และการเมือง จึงเป็นปัญหาที่สั่งสมมาจนเกิดความรุนแรงและแบ่งข้างแยกสีจนปัจจุบัน

ต้นเหตุความขัดแย้งเพราะกลุ่มทุนเก่าไม่ยอมใช้แนวทางประชาธิปไตยต่อสู้ เมื่อปี 2549 กลุ่มทุนเก่าจึงใช้วิธีการเถื่อนและดิบสำหรับสังคมศิวิไลซ์คือทำรัฐประหาร ซึ่งโง่พออยู่แล้ว แต่ที่เลวกว่านั้นคือตั้ง “ผู้เฒ่า” ที่ไม่มีความสามารถมาบริหารประเทศในยุคโลกาภิวัตน์ เวลา 1 ปีกว่าจึงมีแต่ความเสื่อม จนต้องมีการเลือกตั้งใหม่โดยไม่มีการแก้ปัญหาด้านโครงสร้างอำนาจเลย

ครั้นพรรคพลังประชาชนได้อำนาจ กลุ่มอำนาจเดิมก็ไม่พอใจ จึงคิดแบบโง่ๆ ซ้ำซาก ระดมมวลชนมาเป็นเครื่องมือต่อสู้และให้กองทัพแสดงความขัดขืนหรือหลีกเลี่ยง จะปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รวมถึงใช้ระบบตุลาการภิวัฒน์ ซึ่งท้ายสุดก็กินเนื้อและทำลายสถาบันตุลาการ แม้จะสามารถทำให้นายสมัครและนายสมชายต้องหมดสภาพนายกรัฐมนตรีก็ตาม เพื่อให้รัฐบาลนอมินีบริหารบ้านเมืองต่อ

ยุคของนายอภิสิทธิ์จึงถูกมองว่าเป็นรัฐบาลนอมินีที่สืบทอดอำนาจการทำรัฐ ประหาร 2549 และเป็นนอมินีกลุ่มอีลิตที่ไม่สนใจจะลงเลือกตั้ง ไม่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย จึงใช้เครื่องมือทางกองทัพและสร้างวาทกรรม “ล้มเจ้า” มาทำลายฝ่ายตรงข้าม เพราะรู้ดีว่าสังคมไทยอ่อนไหวมากกับเรื่องนี้และมีอานุภาพร้ายแรงเหมือนใน ยุคนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ที่ถูกกระทำจนได้ผลมาแล้ว

แต่เมื่อผลที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปอย่างที่ต้องการ เพราะประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารและเรียนรู้จากระบบสารสนเทศใหม่ๆมากขึ้น จึงเข้าใจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี การใส่ร้ายป้ายสีก็เสื่อมความขลังจนหมดสิ้น เหมือนเสียงตะโกนในอากาศที่ว่างเปล่า คนส่วนใหญ่รู้ว่าพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงไม่ได้ล้มเจ้า แต่มีความเคารพเทิดทูนและอยากให้ระบอบพระมหากษัตริย์เทียบเคียงได้อย่าง อังกฤษหรือญี่ปุ่น

กลุ่มนอมินีที่รวมหัวกันระหว่างทหารปัญญาทึบ เผด็จการ และบรรดานักวิชาการที่แวดล้อมพรรคประชาธิปัตย์ คือการพยายามสร้างวาทกรรมเพื่อทำให้ประชาชนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้อง ประชาธิปไตยและความเป็นธรรมมีสภาพเป็น “ผู้ก่อการร้าย” เพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้กำลังปราบปราม ซึ่งเป็นจุดผิดพลาดที่พรรคประชาธิปัตย์เองก็คาดไม่ถึง เพราะบ้านเมืองยังมีเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีกลุ่มผู้ก่อการร้ายจากภายนอกชักจูงให้คนไทยมุสลิม ก่อการร้าย แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถแก้ปัญหาและจับแกนนำได้จริงๆได้เลย จึงเรียกกลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้เพียง “ผู้ก่อความไม่สงบ” หรือ “เหตุการณ์ความไม่สงบ” ไม่ใช่ “การก่อการร้าย”

แต่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังผิดพลาดอีกเมื่อมีการสังหารประชาชนถึง 91 ศพในเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภา” ซึ่งสื่อต่างประเทศ รวมถึงรัฐบาลญี่ปุ่นและอิตาลีต่างก็จี้ให้รัฐบาลไทยเร่งผลการสอบสวนการเสีย ชีวิตของผู้สื่อข่าวของตน เพราะมีทั้งภาพข่าว คลิปวิดีโอ และพยานชัดเจนว่ามีการใช้กำลังทหารปราบปรามและทำให้ประชาชนเสียชีวิตอย่าง ไร้เหตุผล

วันนี้คนไทยทุกคนจึงต้องคิดอย่างละเอียดรอบคอบว่าระหว่างความเป็นนอมิ นีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับความเป็นนอมินีของพรรคประชาธิปัตย์นั้นแตกต่างกันอย่างไร รัฐบาลที่มาจากปากกระบอกปืนกับรัฐบาลที่มาจากประชาชน ใครดีใครเลวกว่ากัน อำนาจพิเศษที่คุ้มหัวแล้วยังเข่นฆ่าประชาชนอีก?

พรรคประชาธิปัตย์จึงน่าจะเลิกพูดคำว่า “นอมินี” ได้แล้ว หรือแม้แต่การขุดคุ้ยเรื่องส่วนตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ขึ้นมานั้น ในที่สุดก็จะสะท้อนกลับไปที่พรรคประชาธิปัตย์ว่าใครเลวกว่า!!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 312 วันที่ 28 พฤษภาคม – 3 มิถุนายน พ.ศ. 2554 หน้า 10
คอลัมน์ : ทหารใหม่วันนี้
โดย : ชายชาติ ชื่นประชา


เชื่อดีมั้ย!?

“วันแรกทำได้ทันที”เป็นสโลแกนใหม่เอี่ยมถอดด้ามที่พรรคประชาธิปัตย์ใช้เป็น 1 กลยุทธ์ หาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้

ประเด็นหลักของนโยบายนี้ ต้องการ “ขาย” ความพร้อมของพรรค

พยายามชี้ให้เห็นว่าหาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2

จะสานต่อนโยบายเดิมๆ ที่เคยทำไว้เมื่อ 2 ปีครึ่งที่ผ่านมาได้ทันที

แบบว่าลงมือทำให้เห็นผลได้เลยในวันที่สภาโหวตให้นั่งเก้าอี้นายกฯ

ฟังแบบนี้ก็เกิดข้อสงสัยขึ้นมาทันที

ถ้านายอภิสิทธิ์ได้เป็นนายกฯ อีกครั้ง (จริงๆ)

จะแก้ปัญหาข้าวยากหมากแพงได้ในวันแรกเลยเหรอ

ยังจะคงนโยบายไข่ชั่งโลอยู่หรือเปล่า

จะเลิกเอาเงินกองทุนน้ำมันไปโปะราคาดีเซลอีกหรือไม่

ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะกลับมาสงบสุขทันทีหรือไม่

ราคาพืชผลการเกษตรจะได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรม ชาวบ้านปากมูนจะได้รับการชดเชยเยียวยาหรือเปล่า

นโยบายเรียนฟรีจะได้รับการแก้ไขหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาก็ฟรีไม่จริง

ปัญหายาเสพติดจะได้รับการปัดเป่าให้ทุเลาเบาบางลงหรือไม่

เรื่องน้ำท่วมซ้ำซากสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ นโยบายไม่ชัดเจน ไม่เป็นรูปธรรม

ยังมีอีกหลายคำถามที่ยังคงคาใจพี่น้องประชาชน

ที่สำคัญ ยังมีคำถามจากคนเสื้อแดงด้วยว่าวันแรกที่นายอภิสิทธิ์ได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง

จะคืนความยุติธรรมให้ 92 ศพเหยื่อสลายม็อบแดงได้ทันทีหรือเปล่า

จะหาตัวคนสั่งปราบปรามประชาชนมาลงโทษได้จริงๆ หรือ

ผู้บาดเจ็บเกือบ 2 พันคนจะได้รับการเยียวยาหรือเปล่า

บ้านเมืองจะเกิดความเสมอภาค มีความปรองดอง

แล้วยังจะ 2 มาตรฐานอีกหรือไม่

เพราะตลอดระยะเวลา 1 ปีเต็มๆ ที่ผ่านมา คนเสื้อแดง ไม่เคยได้รับคำตอบตรงนี้เลย

แล้วยังตั้งข้อสงสัยแบบคนไทยทั่วไปอีกว่า

นโยบายหาเสียงของนายอภิสิทธิ์เมื่อ 2 ปีก่อน ที่เคยชูสโลแกน “99 วันทำได้จริง”

ซึ่งก็มีผลปรากฏชัดเจนต่อสาธารณะแล้วว่านายอภิสิทธิ์ทำไม่ได้จริง

2 ปีครึ่งผ่านไปแล้วปัญหายังสุมท่วมหัวอยู่

จนเป็นที่มาของวลีกระหึ่มเมือง “ดีแต่พูด”

ขนาดนโยบาย “99 วัน” ยังทำไม่ได้เลย

แล้วยังจะเชื่อนโยบาย “วันแรก” ได้หรือ!?

ที่มา : ข่าวสด ออนไลน์ 23 พฤษภาคม 2554



ขายยาก

เห็นอาการของวุฒิสภาตอนประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ “กฎหมายลูก” 3 ฉบับ ก็นึกว่าจะมีการยื้อการดึงเอาไว้ แต่สุดท้ายทั้ง 3 ฉบับก็ผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาเรียบร้อย

รอส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาว่าจะมีบทบัญญัติขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือ ไม่ หากไม่มีปัญหานายกฯนำทูลเกล้าฯเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

หลังจากนั้นนายกฯคงจะทูลเกล้าฯพระราชกฤษฎีกายุบสภา รอการโปรดเกล้าฯต่อไป

ที่ถามกันมาตลอดว่า ตกลงจะมีเลือกตั้งหรือเปล่า เพราะเกิดสถานการณ์หวิวๆ ขึ้นหลายรอบหลายระลอกเหลือเกิน

ตอนนี้ก็ดูจะเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น

ถ้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ก็จะเป็นการต่อสู้ระหว่าง 2 พรรคการเมืองคู่แค้น คือ ประชาธิปัตย์ กับเพื่อไทย เป็นมวยคู่เอก

นอก นั้นเป็นการต่อสู้ของพรรคอันดับรองๆ ลงไป ตั้งแต่ ภูมิใจไทย ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ชาติไทยพัฒนา ฯลฯ และอาจจะมีพรรคใหม่ๆ งอกขึ้นตามสถานการณ์อีก 2-3 พรรค

สำหรับพรรคใหญ่ 2 พรรค กว่าจะรอดมาถึงสังเวียนเลือกตั้งได้ อยู่ในสภาพสะบักสะบอม

พรรคประชาธิปัตย์ แม้จะเป็นแกนนำรัฐบาล แต่ผลงานที่ผ่านมายังอวดอ้างได้ไม่เต็มปาก

การแก้ไขปัญหาปากท้องยังไม่เข้าตา ทั้งน้ำมันปาล์ม สินค้าราคาแพง การช่วยเหลือน้ำท่วม ตั้งแต่ภาคกลาง อีสาน ไปจนถึงภาคใต้

กรรมการพยายามกดคะแนนให้แล้ว ยังร่อแร่

ส่วนพรรคเพื่อไทย ตอนแรกทำท่ามาแรง กี่โพลๆ คะแนนนำลิ่ว

พักเดียวงานเข้า เจอมรสุมเข้าไป 3-4 ลูกติดๆ ทำเอาระส่ำระสายไปเหมือนกัน

พรรคระดับนี้ต้องเสนอคนเป็นนายกฯ แต่ควานแล้วควานอีก ไม่มีใครเอา

ทั้งโดนบล็อคบ้าง “กลัว” บ้าง

ตอนนี้ไปดึงเอา พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก จากพรรคเพื่อแผ่นดินมา

เริ่มมีเสียงเรียก “นายกฯประชา” ยังไม่รู้ว่าสักพักจะเจออะไรอีก

สถานการณ์ของ 2 พรรคใหญ่เป็นแบบนี้ ทำให้พรรครองๆ ฝันถึง “ส้มหล่น” ได้เหมือนกัน

คำว่ารองๆ อาจฟังดูไม่สำคัญ แต่ที่จริงสำคัญเอาเรื่องอยู่

เพราะถ้า 2 พรรคใหญ่ ไม่ได้เสียงเกินครึ่ง ตั้งรัฐบาลพรรคเดียวไม่ได้ ก็จะต้องหันมาใช้บริการพรรคอันดับรองๆ เหล่านี้ ตั้ง “รัฐบาลผสม”

แต่สำหรับพรรคใหญ่ รัฐบาลผสมเที่ยวนี้จะไม่ง่ายอีกแล้ว

ถ้าเพื่อไทยเข้าป้ายก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง ปชป.เข้าก็เป็นอีกปัญหา

นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ น่าจะรู้ดีกว่าใครว่าพรรคร่วมรัฐบาลเขาบ่นว่ายังไง

ถ้าจะต้องร่วมงานกันอีก อาจจะเกิดเงื่อนไขเรื่องตัวนายกฯขึ้นมาให้ผู้จัดการรัฐบาลได้ปวดหัวเล่นอีกก็ได้

เลือกตั้งครั้งนี้ จึงต้องเตรียม “นโยบาย” ไว้ขาย ไว้โฆษณาหาเสียงให้มากๆ เข้าไว้

เพราะ “ตัวบุคคล” มีแนวโน้ม “ขายยาก”

ที่มา : คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 27 เมษายน 2554
โดย : วรศักดิ์ ประยูรศุข


ปลดใครกันแน่

แม้ไม่ตรงเป้านัก แต่ข้อเรียกร้องของ ส.ส.ประชาธิปัตย์จากสามจังหวัดภาคใต้ต่อปฏิบัติการทางทหารของกองทัพ (จนถึงกับให้ปลด ผบ.ทบ.) ก็เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ที่ ส.ส.เห็นเป็นหน้าที่ของตน ในการตรวจสอบและเสนอแนะปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่นี้…ต่อสาธารณชน

ส.ส. อาจเคยทำเช่นนี้มาแล้วเป็นการภายใน เช่นเจรจากับหัวหน้าพรรคในฐานะนายกรัฐมนตรี แต่ ส.ส.ในฐานะบุคคลจะมีพลังได้สักเท่าไร หากไม่มีสาธารณชนหนุนหลัง ดังนั้นไม่ว่าข้อเสนอของ ส.ส.จะเป็นอย่างไร นโยบายของรัฐในการจัดการกับความไม่สงบในภาคใต้จึงเหมือนเดิมตลอดมา กล่าวคือ ยกเรื่องทั้งหมดให้กองทัพเป็นผู้จัดการแต่ผู้เดียว

ปัญหาในสามจังหวัดภาคใต้ไม่ใช่ปัญหาทางทหาร แม้ว่าจำเป็นต้องใช้กำลังทหารจัดการในบางมิติของปัญหา แต่ทหารไม่มีทั้งความชำนาญหรือความสามารถจะจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้

ปัญหาหลักของภาคใต้คือการแข็งข้อต่ออำนาจรัฐของประชาชนส่วนหนึ่ง โดยใช้วิธีการทางทหารในการต่อสู้กับรัฐ ก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมาก

ในท่าม กลางความวุ่นวายของสถานการณ์ ปัญหาที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ก็เข้าผสมโรง โดยใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือมากขึ้น เช่น ปัญหายาเสพติด, การค้าของเถื่อน และการแย่งชิงทรัพยากร ทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐเอง ทั้งนี้เพราะอำนาจรัฐอ่อนแอลง และเพราะความระแวงระหว่างต่อกันย่อมมีสูงในทุกฝ่าย

แต่การแข็งข้อต่อ อำนาจรัฐนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะมีคนหัวรุนแรงกลุ่มหนึ่งก่อความไม่สงบขึ้น แต่เป็นเพราะมีเงื่อนไขอีกหลายอย่าง ทั้งทางวัฒนธรรม, การเมือง, เศรษฐกิจ และการปกครองที่ทำให้คนกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จ ตราบเท่าที่ไม่จัดการกับเงื่อนไขดังกล่าว ถึงจะใช้กำลังทหารสักเท่าไร ก็ไม่สามารถนำความสงบกลับคืนมาได้

ยิ่งไปกว่านี้ อาจยิ่งทำให้สถานการณ์ความรุนแรงบานปลายมากขึ้นไปอีก เพราะในสถานการณ์ที่ไม่ชัดแจ้งว่าศัตรูคือใคร วิธีการทางทหารกลับยิ่งเพาะศัตรูให้กล้าแข็งมากขึ้น แนวร่วมที่อยู่ห่างๆ ก็จำเป็นต้องเข้าไปขอความคุ้มครองกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ราษฎรธรรมดากลัวภัยจากการปราบปรามก็เช่นเดียวกัน รวมถึงคนที่ได้เห็นญาติมิตรของตนถูก “ปฏิบัติการ” อย่างไม่เป็นธรรม ย่อมมีใจเอนเอียงไปสนับสนุนผู้ก่อความไม่สงบ

ในขณะที่เงื่อนไขต่างๆ ซึ่งควรได้รับการแก้ไขก็ไม่ได้ถูกแก้ไข

นับตั้งแต่เกิดความไม่สงบระลอกใหม่เมื่อต้นปี 2547 เป็นต้นมา ไม่มีรัฐบาลชุดใดคิดถึงการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนสักรัฐบาลเดียว ฉะนั้น นโยบายหลักของทุกรัฐบาลจึงเหมือนกัน นั่นก็คือปฏิบัติการทางทหาร ซึ่งอาจทำโดยตำรวจหรือทหารก็ตาม

รัฐบาลทักษิณเคยตั้งคณะกรรมการ สมานฉันท์ฯ ซึ่งได้ศึกษาถึงเงื่อนไขที่รัฐไทยสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น และได้เสนอทางแก้หลายอย่าง แต่รัฐบาลทักษิณแทบไม่ได้นำเอาข้อเสนอใดไปปฏิบัติอย่างจริงจังเลย

ข้อเสนอเหล่านี้ล้วนเป็นข้อเสนอที่ทำได้ยากในทางการเมือง เช่นการเข้าไปแทรกแซงให้มีการจัดสรรทรัพยากรท้องถิ่นอย่างเป็นธรรม โดยไม่ปล่อยให้ทุนเข้าไปแย่งชิงจับจอง โดยอาศัยอำนาจรัฐเพียงฝ่ายเดียว หรือใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมในกรณีกล่าวหาว่าราษฎรบุกรุก อุทยาน, ป่า หรือชายฝั่ง โดยไม่ยอมให้มีการพิสูจน์สิทธิกันด้วยกระบวนการซึ่งเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

จะผลักดันให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้ ต้องมีเจตนารมณ์ทางการเมืองอย่างแรงกล้า ที่จะโน้มน้าวสาธารณชนให้คล้อยตาม จึงจะทำให้รัฐบาลมีพลังต่อสู้กับระบบราชการซึ่งไม่ต้องการสูญเสียอำนาจ และต่อสู้กับทุนซึ่งต้องการใช้ช่องโหว่ในการหากำไรกับทรัพยากรท้องถิ่น

แม้แต่รัฐบาลทักษิณซึ่งสามารถกุมคะแนนเสียงในสภาได้อย่างท่วมท้น ก็ไม่กล้ามีเจตนารมณ์ทางการเมืองที่จะขจัดเงื่อนไขต่างๆ อันเป็นเหตุให้ผู้ก่อความไม่สงบจะใช้เพื่อแสวงหาความสนับสนุนจากประชาชน

รัฐบาลประชาธิปัตย์ซึ่งไม่เคยเปลี่ยนแปลงมาหลายยุคหลายสมัย ยิ่งไม่กล้าจะมีเจตนารมณ์ทางการเมืองใดๆ คงปล่อยให้การจัดการปัญหาด้วยวิธีการทางทหารต่อไป ซ้ำยังเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับการทำงานของกองทัพขึ้นไปอีก เพราะตัวได้อำนาจมาจากการแทรกแซงของกองทัพ ไม่ว่าทหารจะเรียกร้องอะไร นับตั้งแต่งบประมาณ, อาวุธยุทโธปกรณ์ หรืออำนาจที่ไม่ต้องตรวจสอบจากกฎหมายใดๆ ก็พร้อมจะยกให้หมด

หลายปีที่ผ่านมา เกิดประโยชน์ปลูกฝังขึ้นแก่กองทัพในนโยบายปล่อยทหารให้จัดการแต่ผู้เดียวนี้

เคยมีความพยายามของคนบางกลุ่มในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ ที่จะถ่วงดุลอำนาจจัดการของทหารในภาคใต้ ด้วยการตั้งหน่วยงานผสมระหว่างพลเรือนและทหารขึ้น เป็นผู้อำนวยการแก้ปัญหาภาคใต้ แต่หน่วยงานดังกล่าวแม้จะถูกตั้งขึ้นตามกฎหมายในภายหลัง ก็ไม่มีอำนาจหรือความพร้อมใดๆ ที่จะปฏิบัติงานดังกล่าวได้

ทุกบาททุกสตางค์ที่ทุ่มลงไปเพื่อแก้ปัญหาภาคใต้ จึงทุ่มลงไปแก่ปฏิบัติการทางทหารโดยสิ้นเชิง

ผลของการแก้ปัญหาด้วยการ “ปราบ” ท่าเดียวนี้เป็นอย่างไร?

ความไม่สงบก็ยังดำเนินต่อไปเป็นรายวันเหมือนเดิม เพียงแต่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเป็นสัญญาณบางอย่าง ซึ่งแปลว่าสถานการณ์ดีขึ้น หรือเลวลงก็ไม่ทราบได้

เช่นเจ้าหน้าที่ บ้านเมือง สามารถบอกได้ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น เป็นฝีมือของอาร์เคเคกลุ่มใด มีใครเป็นแกนนำ การที่เจ้าหน้าที่สามารถบอกได้เช่นนี้ อย่างน้อยก็แปลว่าเจ้าหน้าที่มีความรู้เกี่ยวกับศัตรูมากขึ้น แต่ไม่จำเป็นว่าสิ่งที่เจ้าหน้าที่บอกนั้นจะเป็นจริง การทำบัญชีรายชื่อผู้ต้องสงสัยนั้น หน่วยงานฝ่ายความมั่นคงของรัฐรู้จักทำมานานแล้ว และหลายครั้งด้วยกันก็มักจะผูกชื่อในบัญชีนี้เข้ากับการละเมิดกฎหมายที่จับ ผู้กระทำผิดไม่ได้อยู่เสมอ

ในกรณีภาคใต้ปัจจุบัน ไม่รู้ชัดว่าการจับ “แพะ” ตามบัญชีรายชื่อยังทำอยู่หรือไม่ ควรที่จะมีการตรวจสอบคดีในศาลว่าผู้ถูกกล่าวหาเหล่านี้ได้รับการยกฟ้องเป็น สัดส่วนเท่าไร อีกประการหนึ่งที่ต้องเข้าใจด้วยก็คือ ผู้ถูกจับเหล่านี้จำนวนมากถูกจับภายใต้กฎอัยการศึกหรือ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ชะตากรรมของเขาจึงน่าอเนจอนาถยิ่งกว่าผู้ต้องหาธรรมดา เพราะอาจถูกลงโทษไปแล้วโดยยังไม่ได้ขึ้นศาล (เช่นถูกบังคับให้เข้าค่ายอบรม) และหากมีคำสารภาพก็น่าสงสัยว่าจะเชื่อถือได้มากน้อยเพียงไร

สรุปก็คือ ไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่า การที่เจ้าหน้าที่สามารถระบุตัวบุคคลได้ เมื่อเกิดเหตุก่อการร้าย นับเป็นความสามารถที่สูงขึ้นด้านการข่าวใช่หรือไม่

บางคนกล่าวว่า ความถี่ในการก่อการร้ายลดลง แต่กลับมีความรุนแรงมากขึ้นในแต่ละกรณี ข้อที่น่ารู้มากกว่า ไม่ใช่ความร้ายแรงของปฏิบัติการเท่ากับการวิเคราะห์เพื่อดูว่า ปฏิบัติการของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบนั้น ต้องการการจัดองค์กรที่ขยายตัวและสลับซับซ้อนขึ้นมากน้อยเพียงไร หากพวกเขาปฏิบัติการถี่น้อยลง แต่กลับมีความสามารถในการจัดองค์กรได้ดีขึ้นกว่าเดิม สถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้น่าวิตกมากขึ้นอย่างแน่นอน

แม้แต่สมมุติให้การทหารสามารถแก้ปัญหาความไม่สงบได้ เชื้อของการเคลื่อนไหวเพื่อลดอำนาจรัฐไทยก็ยังอยู่เหมือนเดิม แล้ววันหนึ่งก็จะเกิดความไม่สงบขึ้นอีกอย่างไม่ต้องสงสัย

การที่ ส.ส.ประชาธิปัตย์ในสามจังหวัดภาคใต้กล้าออกมาเสนอความเห็นให้ปลด ผบ.ทบ.นั้น เป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะแสดงว่าพวกเขาให้ความสนใจกับสถานการณ์ที่ประชาชนในพื้นที่ต้องเผชิญ อยู่ แต่ที่จริงแล้ว นอกจากข้อเสนอนี้ ส.ส.ยังได้เสนอทางแก้หรือปัญหาที่ไม่ได้แก้ในพื้นที่อีกหลายอย่าง ซึ่งกลับไม่เป็นที่สนใจของสื่อมากนัก การที่พวกเขาไม่พูดเรื่องนี้ในพรรคเสียก่อน ก็เพราะเป็นเรื่องใหญ่เสียจนต้องได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชน มิฉะนั้นการเคลื่อนไหวของเขาก็ไม่บังเกิดผล พรรคประชาธิปัตย์น่าจะกลับมาทบทวนตนเองว่า เหตุใด “พรรค” ซึ่งควรเป็นกลไกการต่อรองด้านนโยบายที่มีพลังมากกว่า ส.ส.ในฐานะเอกบุคคล จึงไม่สามารถทำหน้าที่ของตนได้ และไม่ถูกเลือกใช้มาแต่ต้น

อย่างไรก็ตาม ความล้มเหลวของกองทัพในการแก้ปัญหาที่กองทัพไม่มีสมรรถนะจะแก้ได้นี้ ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ไกลเกินคาด ถึงจะเปลี่ยน ผบ.ทบ.คนใหม่อย่างไร กองทัพก็จะยังล้มเหลวเหมือนเดิม สิ่งที่ ส.ส.น่าจะเรียกร้อง จึงน่าจะเป็นการเรียกร้องให้ปลดนายกฯมากกว่า เพราะนายกฯเท่านั้นที่จะแก้ไขปรับปรุงเงื่อนไขทางการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม, กระบวนการยุติธรรม ฯลฯ ในภาคใต้ได้ นายกฯคนใดที่สัมปทานให้กองทัพไปทำสิ่งเหล่านี้แต่ผู้เดียว ไม่ควรจะดำรงตำแหน่งต่อไป

ที่มา : มติชนออนไลน์
โดย : นิธิ เอียวศรีวงศ์

 


‘ประชาธิปัตย์’ ลอกเลียน ‘ประชานิยม’

รัฐบาลปัจจุบันกำลังสนใจบริหารจัดการเรื่องของเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์ของตนเองมากกว่าจะคำนึงถึงข้อเท็จจริงทางสังคม การเมือง และความเปลี่ยนแปลงสังคมโลก ว่าในวันนี้เศรษฐกิจโลกมีลักษณะเป็นเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งประเทศต่างๆก็ยอมรับกันดีว่าเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบอินเทอร์เน็ตมีความเกี่ยวพันและส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกส่วนของสังคม ไม่เพียงแต่เรื่องการเมือง แต่รวมไปถึงมิติเศรษฐกิจ การเมือง และการศึกษาด้วย แต่รัฐบาลประชาธิปัตย์ไม่จัดการอะไรเลยเกี่ยวกับการรับมือเศรษฐกิจใหม่ดังกล่าว หากแต่ยังวังวนอยู่กับการออกนโยบายเศรษฐกิจเพื่อตอบสนองการดำรงอยู่ทางการเมืองเพียงแค่นั้น

นโยบายของรัฐบาลนายมาร์คแห่งประชาธิปัตย์ที่ออกมาในปัจจุบัน จึงมีลักษณะเลียนแบบนโยบายประชานิยมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ เพราะที่ถูกต้องแล้วหากมองว่าเศรษฐกิจยุคใหม่หรือเศรษฐกิจใหม่ที่โลกกำลังเผชิญอยู่นั้นแต่ละประเทศต่างปรับตัวกันไปหมดแล้ว เพราะลักษณะของเศรษฐกิจที่ต้องอาศัยฐานความรู้และระบบดิจิตอลในการทำธุรกรรม หรือทำการผลิต การกระจายสินค้าและบริการ รวมถึงความสัมพันธ์กับลูกค้า เป็นต้น

นอกจากนั้นฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจใหม่ที่ควรคำนึงต้องขึ้นอยู่กับข่าวสาร ข้อมูลและสารสนเทศทั้งมวล ดังนั้น เศรษฐกิจในปัจจุบันจึงขึ้นอยู่กับองค์ความรู้และความคิดเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างงาน เพราะเราคงไม่สามารถที่จะรักษาการผลิตในภาคที่เคยเป็นผู้นำอยู่ได้ เช่น การพึ่งพิงแต่เรื่องภาคการท่องเที่ยวและบริการหรือภาคการเกษตรแบบที่เป็นอยู่ คือการเกษตรที่ไม่มีเทคโนโลยี หรือมีเทคโนโลยีที่ล้าหลัง ผลผลิตต่อไร่ต่ำ และไม่มีการบริหารจัดการในเชิงธุรกิจที่ทันสมัย ซึ่งในบั้นปลายเศรษฐกิจแบบนี้จะเสียเปรียบชาติที่ปรับมือกับเศรษฐกิจใหม่ได้ดีกว่า

รัฐบาลนี้ไม่เคยมองหรือวางแผนระยะยาวในกระบวนการเศรษฐกิจใหม่ที่ต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีการสื่อสารหรือสารสนเทศ การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซอฟต์แวร์ และการบริการที่ส่งมอบด้วยระบบดิจิตอลในทุกขั้นตอน เป็นระบบเศรษฐกิจโลกใหม่ ซึ่งเมืองไทยกำลังจะตกเวที เพียงแค่ระบบการสื่อสารทางโทรศัพท์มือถือประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและเวียดนามก็ไปถึง 3G กันแล้ว แต่ดูเหมือนรัฐบาลประชาธิปัตย์จะไม่สนใจอะไร หรือคิดว่าไม่ใช่ปัญหาของประชาธิปัตย์

ปัญหาของประชาธิปัตย์คือทำอย่างไรจะเป็นรัฐบาลต่อไปได้ รวมถึงทำอย่างไรจะไม่ให้คดีฆ่าคนตายเกือบ 100 ศพถูกนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ

ในภาคอุตสาหกรรมนั้นกระบวนการผลิตต้องเน้นเรื่องของนวัตกรรม องค์ความรู้ และปัจจัยหลักทางเทคโนโลยี ซึ่งเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรกลสู่ระบบดิจิตอล แต่อุตสาหกรรมของไทยแทบจะไม่ได้รับการส่งเสริมด้านนี้จากรัฐไทยเลย ผู้ผลิตหรือนักธุรกิจและนักผลิตของไทยจึงเป็นคนต้องสร้างภาวะเหล่านี้เกิดขึ้นด้วยตนเองเพื่อให้อยู่รอดในการแข่งขัน

ส่วนเรื่องแรงงานนั้นรัฐบาลประชาธิปัตย์ใช้สูตรการคิดแบบเดิมๆ คืออยากให้เกิดการผลิตและการจ้างงานในระดับพื้นที่อย่างเต็มที่ ซึ่งก็ลอกเลียนโครงการประชานิยมของ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่วันนี้ปัญหาเศรษฐกิจใหม่ไม่ใช่แค่การจ้างงานอย่างเต็มที่ แต่ต้องดูเรื่องของค่าจ้างและรายได้ที่ต้องสูงขึ้น นอกจากนี้เรื่องทักษะของแรงงานก็ไม่ใช่มองเฉพาะความชำนาญเฉพาะด้าน แต่ต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่ทักษะแรงงานที่มีความรู้ คือเปลี่ยนจากแรงงานที่มีความชำนาญ หรือเป็น Labor Intensive ไปสู่เรื่ององค์ความรู้เป็น Knowledge based ซึ่งรัฐบาลล้มเหลวมากในเรื่องเหล่านี้ เพราะนโยบายที่ประกาศออกมาไม่ได้นำไปสู่ปัญหาในภาพกว้างที่เป็นทางรอดในอนาคตของรัฐไว้เลย

กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน และกระทรวงพาณิชย์ จะต้องมานั่งจับเข่าคุยกันถึงการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไปสู่ทิศทางดังกล่าวอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ต่างพรรคต่างอยู่ แล้วต่างทำมาหากินหาผลประโยชน์ พรรคพวกปากห้อยก็เน้นแต่ทำโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อทำมาหากินในบริบทของทุนการเมือง โดยไม่สนใจความอยู่รอดของชาติ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็มัวสาละวนอยู่กับการตีกินหาคะแนนเสียงทางการเมืองด้วยการเหยียบบ่าเพื่อนขึ้นไป เช่น ระงับโครงการต่างๆของกระทรวงพาณิชย์ แต่ไม่มีกรอบความคิดระยะยาวเรื่องเศรษฐกิจ เพียงเพื่อสร้างภาพเป็น “คุณชายสะอาด”

สำหรับกระทรวงศึกษาธิการ รัฐบาลอยู่มาจนกว่า 2 ปีก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เอื้ออำนวยหรือตอบสนองการผลิตบุคลากรเพื่อตอบสนองเศรษฐกิจใหม่เลย คงเน้นแต่เรื่องโบราณไร้สาระ เช่น ห้ามฝากเด็ก หรือห้ามเก็บแป๊ะเจี๊ยะ ซึ่งเป็นบริบทแบบเดียวกับคุณชายสะอาดทั้งหลายที่คิดได้เท่านี้

ที่จริงแล้วเรื่องการศึกษาถ้าจะยอมรับข้อเท็จจริงต้องบอกว่าผู้คนที่เกิดมาในสังคมไทยมีความต่างในเชิงโครงสร้าง และโรงเรียนที่มีในสังคมไทยก็มีคุณภาพแตกต่างกัน การเปิดโอกาสให้แค่ทุกคนได้เรียนฟรี ไม่เสียเงินนั้นไม่ได้ช่วยอะไรในระยะยาว เพราะเอาเข้าจริงๆแล้วลูกของคนที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองสูงกว่า ก็มีโอกาสพัฒนาตนเองได้มากกว่า โดยเฉพาะการซื้อเทคโนโลยีที่เหนือกว่าให้ลูกหลานได้เรียนและใช้เครื่องมือ หรือมีเงินส่งไปเรียนซัมเมอร์ที่ต่างประเทศ

ทำอย่างนี้ไปสัก 10 ปี เด็กที่เคยมีความเท่าเทียมกันในอดีต แต่เมื่อเอาการพัฒนาจากเงื่อนไขโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เท่าเทียมกันมาแข่งขันกัน แม้วันสอบมีบรรยากาศที่สุจริตยุติธรรมอย่างไร ลูกคนจนก็แพ้ทั้งปีทั้งชาติ คือการเรียนฟรีไม่ได้ทำให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกันในเชิงโครงสร้างอย่างแท้จริงเลย

ดังนั้น ภาพลวงตาการให้ของฟรีแต่ไม่จัดโครงสร้างให้เท่าเทียมกันอย่างแท้จริงจึงต้องพิจารณาใหม่ เพื่อสุดท้ายทุกคนในสังคมต้องมีโอกาสที่เท่าเทียมกัน โดยรัฐต้องเข้าไปแทรกแซงและอุดช่องว่างเชิงโครงสร้าง เพื่อให้ทุกคนมีความพร้อมในการแข่งขันบนความเท่าเทียมกัน ไม่ใช่มองแค่การให้เปล่าแบบสงเคราะห์อย่างเดียว เช่นที่รัฐบาลประชาธิปัตย์กำลังทำอยู่ขณะนี้

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6  ฉบับ 294 วันที่ 15 – 21 มกราคม พ.ศ. 2554 หน้า 10 คอลัมน์ ทหารใหม่วันนี้ โดย ชายชาติ  ชื่นประชา