“เสื้อแดง” กลับมาพร้อม “รอยแผลเก่า”

การรวมตัวกันของคนเสื้อแดงเริ่มตั้งแต่ต้นปี 54  จำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมมีความหนาแน่นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อวันที่ 9 มกราคม เป็นการนัดชุมนุมครั้งแรกหลังจากที่มีการยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปรากฎว่าจำนวนคนมหาศาลหลั่งไหลลงไปเดินบนนถนนราชดำริ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ อย่างเนืองแน่

การรวมตัวของกลุ่มคนเสื้อแดงในรอบนี้มีทั้งคนเก่า คนใหม่ กลุ่มเดิมกลุ่มอื่นๆ ที่เข้าร่วมแสดงพลังในทิศทางเดียว แม้จะไม่ใช่เป้าหมายเดียวกันทั้งหมด แต่เส้นทางที่คนกลุ่มนี้เดินไปยอมย้อมตัวเป็นสีแดง เดินขบวนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย แสดงความไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาล และการเรียกร้องเพื่อคนที่สูญเสียในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อ แดง เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม ที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และผู้ชุมนุมต้องหนีตายกระจัดกระจายแตกกระเจิดกระเจิง หลบกระสุน ระเบิด กลับภูมิลำเนา เพื่อรอวันที่จะกลับมาใหม่และกลับมาจริงๆ กลับมาพร้อมรอยแผลเก่ารอยบอบช้ำที่รัฐได้ประทับตรึงไว้ในความทรงจำของคน เสื้อแดง “ยากจะลืม” ในชั่วลูกหลานรุ่นนี้ได้

ความคับแค้นใจ อึดอัดใจ ความไม่พอใจ ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความรู้สึกไม่เท่าเทียมกัน ถูกระบายลงบนแผ่นป้ายต่างๆและจำนวนคนที่ร่วมเดินขบวน เพื่อแสดงออกทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนจะใช้เรียกร้องจาก รัฐบาล ในฐานะพลเมืองที่มีสิทธิเสรีภาพทำได้

เมื่อประตูสิทธิเสรีภาพถูกเปิดออก มวลชนพรั่งพรูออกมาอีกครั้ง เป็นการรวมตัวกันอย่างมีพลังและแรงขับเคลื่อนมหาศาล หลังจากถูกกดด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พร้อมกับข้อเรียกร้องที่มีมากกว่าการขอให้ “ลาออก-ยุบสภา” แต่เป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลชดใช้ และรับผิดชอบการกระทำที่รุนแรงกับประชาชนจนถึงขั้นเสียชีวิต รวมทั้งการกักขังอิสรภาพผู้คนอีกจำนวนมากและการบริหารประเทศ

ล่าสุดในการชุมนุมเมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา มีประชาชนคนเสื้อแดงจำนวนมากที่ออกมาเคลื่อนไหว เดินขบวนจากแยกสี่แยกราชประสงค์เดินเท้าขับรถมุ่งสู่ถนนราชดำเนิน ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าวในช่วงเที่ยงๆถึงบ่ายตั้งเวทีปราศรัยจนถึงเที่ยง คืน  จำนวนคนและรถยังคงหนาแน่นเต็มถนนราชดำเนินทั้งสองฝั่ง ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงงานเลิกแยกย้ายกันกลับบ้าน

จากการสอบถามประชาชนคนเสื้อแดงที่เข้าร่วมการชุมนุมในครั้งนี้มีทั้ง คนกรุงเทพฯและคนต่างจังหวัดอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ หรือคนต่างจังหวัดในส่วนภูมิภาค แม้จะต้องเดินทางไปกลับวันเดียว ไม่ได้ตีตั๋วนอนค้างแรมกลางถนน แต่พวกเขายังคงรวมกลุ่มกัน เหมารถ ลงขัน จ่ายค่าน้ำมันเพื่อมาแสดงพลังว่า เสื้อแดงไม่ได้หลบลี้หนีจากไปไหน ตราบใดที่ข้อเรียกร้องไม่บรรลุผลพวกเราก็จะเรียกร้องต่อไปเรื่อยๆ ดูเหมือนว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงมีแนวร่วมในขบวนการต่อสู้เพิ่มขึ้นไปอีก รวมทั้งกลุ่มคนที่ไม่พอใจการบริหารของรัฐบาลได้เข้ามาร่วมขบวนกันอย่างกลม กลืนเพิ่มขนาดก้อนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีทางที่รัฐจะมองข้าม “ก้อนแดง” ก้อนใหญ่นี้ได้

โดย : ชฎา ไอยคุปต์ ผ่าน มติชน ออนไลน์

 


รายงาน ความจริงหลังลูกกรง: หลังยกเลิกใช้พรก. ยังมีนักโทษพรก.ฉุกเฉินจองจำในคุกอยู่

ตอนที่ถูกตัดสินจำคุก 1 ปี เหตุการณ์มันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก เขาไม่มีเวลาคิดอะไรเลย ไม่มีทนายความ ไม่มีโอกาสคุยกับญาติพี่น้อง แต่ในความโชคร้ายนั้น ก็มีความโชคดีอยู่บ้างที่ เขาบอกว่า เขายังมีชีวิตอยู่ และเขายืนยันว่า หากมีโอกาสเขาจะเข้าร่วมชุมนุมแน่นอน

โดย สมัชชาสังคมก้าวหน้า
18 มกราคม 2554

แม้ว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะประกาศยกเลิกการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯใน กรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ ให้กับประชาชน ในปี 2554 ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯผู้ซึ่งไม่มีวาจาสัตย์ ได้ลั่นวาจาไว้

แต่การยกเลิกการประกาศใช้พรก.ฉุกเฉินเป็นเรื่องเดียว ตลอดระยะเวลาเกือบ 2ปี ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่นายอภิสิทธิ์ ได้กระทำตามที่ตนเองพูดแล้วก็ตาม

แต่เมื่อสำรวจสภาพความเป็นจริงที่ เกิดขึ้นหลังการประกาศยกเลิกการใช้พรก.ฉุกเฉิน กลุ่มสมัชชาสังคมก้าวหน้าและ ศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายการชุมนุมเม.ย.- พ.ค.2553 (ศปช.) พบว่า ในความเป็นจริง ยังคงมีชาวเสื้อแดงที่ติดคุกเพราะการประกาศใช้พรก.ฉุกเฉินของรัฐบาลอยู่อีก จำนวนหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำคลองเปรม แดน 8

ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ได้มีความจริงใจในการยกเลิกการใช้พรก.ฉุกเฉิน อย่างแท้จริง นักโทษเสื้อแดงที่ติดคุกอยู่ข้างใน เขามีความเห็นว่า หากรัฐบาลจริงใจต่อประชาชนแล้ว หลังยกเลิก การประกาศใช้พรก.ฉุกเฉิน รัฐบาลจะต้องปล่อยนักโทษในข้อหาฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉินทันที หรือรัฐบาลจะต้องไม่ดำเนินคดีต่อประชาชน ในข้อหา กระทำการฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉิน

อภิวัฒน์ เกิดนอก เป็นหนึ่ง ในตัวอย่างของ ข้อเท็จจริงข้างต้นนี้ เขาอายุ 29 ปี รูปร่างสันทัด ผิว ดำแดง เป็นชาวอำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น เกิดและเติบโตอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น มีอาชีพ ทำนา และหากมีเวลาว่าง เขาก็จะไปตระเวณแข่ง ชกมวย ตามงานวัดต่างๆเพื่อหาเงิน

เขาเล่าให้คณะของเราฟังว่า เขาติดตามข่าวสารของเสื้อแดงมานาน และ ก่อนหน้าวันที่ 17 พฤษภาคม 2553 เขาไม่เคยมาร่วมชุมนุมกับเสื้อแดงที่กรุงเทพฯเลย

เขาเล่าถึงสาเหตุที่เขามาร่วมชุมนุมว่า ก่อนหน้าวันที่ 17 พฤษภาคม 2553เขาอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ได้ยินข่าวทางโทรทัศน์และวิทยุ ประกาศว่า คนเสื้อแดง เป็นผู้ก่อการร้าย และครอบครองอาวุธ กับพยายามทำลายความสงบของบ้านเมือง ข่าวสารที่ได้รับฟัง จากทีวีและวิทยุ แตกต่างจากชาวเสื้อแดงแถวบ้านที่ไปร่วมชุมนุมแล้วกลับมาเล่าให้เขาฟังที่หมู่บ้าน และเขาก็มีความรู้สึกว่าฝ่ายรัฐบาลใส่ร้ายป้ายสี เสื้อแดงมาก ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องทำให้เขาไม่สามารถอยู่บ้านเฉยๆ ได้

ในเช้าวันที่ 17 พฤษภาคม 2553 เขาจึงเดินทางออกจากหมู่บ้าน มุ่งหน้าไปยัง ศาลากลางจังหวัดขอนแก่นโดยยืมเงินค่ารถคนในหมู่บ้าน จำนวน 100 บาท เขาเดินทางมาถึง ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ในช่วงสายๆๆ และเมื่อเดินทางมา เขาเห็นกลุ่มคนเสื้อแดงขนาดย่อมจำนวนประมาณ 200 กว่า มายืนชุมุนมกันที่ หน้าศาลากลางจังหวัด และทุกคนต่างร้อนรนกังวลถึงสถานการณ์ที่ได้ยินข่าวจากทางกรุงเทพฯ บริเวณนั้น มีการพูดโทรโข่งเป็นครั้งคราว ส่วนมากก็จับกลุ่มกัน พูดกันถึงสถานการณ์ทางกรุงเทพฯ

เขาไปนั่งฟังการชุมนุมย่อย และฟังข่าวลือต่างๆนานา อาทิเช่น ทางทหารตั้งด่านสกัดไม่ให้ชาวเสื้อแดงเข้ากรุงเทพฯ และหากฝ่าฝืนทหารจะจับ

อภิวัฒน์เองต้องการไปช่วยเสื้อแดงที่ราชประสงค์ เขาหวังเพียงอย่างเดียวว่า ถ้าคนไปเยอะๆ อาจจะช่วยอะไรได้บ้าง เขาจึงตัดสินใจที่จะเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อไปช่วยเสื้อแดงที่ราชประสงค์ ซึ่งเมื่อมีคนรู้ว่าเขาจะไป ก็มีคนบริจาคค่ารถให้เขา 500 บาท

ตอนเวลาประมาณ 2 ทุ่มกว่าของคืนวันที่17 พฤษภาคม 2553 อภิวัฒน์ พร้อมกับชาวเสื้อแดงคนอื่นๆที่เขาไม่เคยรู้จักกันเลย รวม 4 คน จึงนั่งรถโดยสารปรับอากาศเดินทางออกจากขอนแก่น โดยมีจุดมุ่งหมายคือ ต้องเข้าไปช่วยคนที่ราชประสงค์ให้ได้

เขาเล่าติดตลกว่า สุดท้ายที่เขาอยากไปกลับไม่ได้มีโอกาสเข้าไป แต่ที่เขาไม่ต้องการ กลับได้ไป ระหว่างการเดินทาง เขาและเสื้อแดงที่มาด้วยกัน ได้คุยกันไม่มาก ไถ่ถามกันแต่เพียงว่า มาจากอำเภออะไร และเมื่อไปถึงจะพากันไปช่วยกันทำอะไร

คณะของเขาเดินทางมาถึงหมอชิตใหม่ตอนราวๆตี 3- 4 ของวันที่ 18 พฤษภาคม 2553 และเรียกแท็กซี่ไปส่งที่แยกราชประสงค์ คนขับรถแท็กซี่ ขับมาถึงตรงแยกสามเหลี่ยมดินแดง แจ้งต่อคณะของเขาว่าไปได้สุดทางแค่ สามเหลี่ยมดินแดง เนื่องจากทหารซุ่มยิงเต็มไปหมด

ทั้งหมดจึงพากันอยู่แถวสามเหลี่ยมดินแดง ซึ่งขณะนั้นมีกลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนประมาณ 100 กว่าคน รวมตัวกันเขาจำได้เลาๆ ว่า ที่นั่นมีเวที ปราศรัย ขนาดย่อยด้วย และคนแถวนั้นไม่ใส่เสื้อสีแดงเลย

เขาและคณะที่มาด้วยกันต่างแยกย้ายกันหาที่นอนที่นั่งแถวๆ นั้น ตอนเช้าเวลาประมาณ 6 โมงกว่า เขาจึงว่าจ้างวินมอเตอร์ไซค์ให้ไปส่งที่ราชประสงค์ ส่วนเสื้อแดงที่มาด้วยกันนั้นมีคนหนึ่งได้เรียกมอเตอร์ไซค์เข้าไปก่อนหน้าเขา โดยคันของเขา ขี่ตามกันไปติดๆ

เขาจำได้ว่า คันข้างหน้านั้น คนที่เข้าไปก่อน เข้าไปได้ ส่วนตัวของเขานั้น เมื่อเข้าไปในซอยรางน้ำ ก็เจอด่านทหารตั้งอยู่ ทหารก็เรียกให้เขาหยุด เขาก็ลงจากรถมอเตอร์ไซค์ ๆก็ขี่ออกไป มีทหารนายหนึ่ง เรียกเขามาถาม และก็ค้นตัวเขา ทหารค้นเจอแต่บัตรประชาชน กับบัตรนปช. แดงทั้งแผ่นดิน

อภิวัฒน์ เล่าต่อไปว่า ทหารที่ค้นตัวเขา ไม่ได้ซ้อมและทำร้ายร่างกายแต่อย่างใด ทหารถามเขาว่าจะเขาไปไหน เขาบอกว่า จะเข้าไปหาเสื้อแดงที่ราชประสงค์ ทหารก็ถามเขาว่าจะเข้าไปทำไม เขาก็บอกว่า เขาจะเข้าไปชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ทหารก็ให้เขานั่งรออยู่แถวนั้น และมีการประสานกันระหว่างทหารว่า จะทำอย่างไรกับกรณีของเขา สักครู่ก็มีทหารมาแจ้งเขาว่าให้รอไปก่อน และบอกกับเขาอีกว่า จะส่งเขากลับบ้านที่ต่างจังหวัด

อภิวัฒน์ บอกว่า หลังจากที่ทหารบอกว่าจะส่งเขากลับบ้านเขาก็รอคอยต่อไป เขาจำได้ว่ารอนานพอสมควร เขาไม่ทราบว่าระหว่างประสานงานกันเกิดปัญหาอะไรขึ้นไม่อาจรู้ได้ อีกสักพักใหญ่ ทหารจึงควบคุมตัวเขาไปที่สน.พญาไท เขาถูกขังที่ สน.พญาไท 1 คืน ตำรวจแจ้งข้อหาเขาและเขาก็รับสารภาพ และต่อมาเช้าวันที่19 พฤษภาคม 2553 ตำรวจก็ส่งเขาไปที่ศาลแขวงดุสิต

เมื่อมาถึงศาลแขวงดุสิต ผู้พิพากษาก็อ่านคำฟ้องให้เขาฟัง บอกว่าพนักงานอัยการ กล่าวหาเขาว่า “ฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่มีอำนาจ ซึ่งห้ามบุคคล ซึ่งมีพฤติการณ์หรือน่าเชื่อว่าเข้ามามีส่วนร่วมในการชุมนุม เพื่อกระทำการกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยของประชาชน เข้ามาในพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง” ซึ่งคำฟ้องของพนักงานอัยการมีข้อความว่า

“เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2553 จำเลยนี้ได้ร่วมกันบังอาจจะเข้าไปร่วมชุมนุมที่แยกราชประสงค์ อันเป็นเขตพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ตั้งด่านตรวจ ห้ามบุคคลเข้าร่วมชุมนุม จำเลยได้เดินอยู่ในซอยรางน้ำมุ่งไปเข้าถนนราชปรารภ จึงเรียกให้หยุดแล้วตรวจค้นพบบัตรประจำตัว นปช.แดงทั้งแผ่นดิน จำนวน 1ใบ และยอมรับว่าจะไปร่วมชุมนุมที่แยกสามเหลี่ยมดินแดงและแยกราชประสงค์จริง จึงจับกุมตัวจำเลยนี้ไว้ได้ การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจ ซึ่งห้ามบุคคลใดซึ่งมีพฤติการณ์หรือน่าเชื่อว่าเข้ามามีส่วนร่วมในการชุมนุม เพื่อกระทำการกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยของประชาชนเข้ามาใน พื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย”

นอกจากนี้ ศาลยังได้อธิบายให้เขาฟังด้วยว่า เจ้าพนักงานจับจำเลยนี้ได้พร้อมด้วย 1.หนังสติ๊ก 1 อัน 2.ลูกแก้ว 8 ลูก ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด เป็นของกลาง

เมื่อผู้พิพากษาอ่านให้เขาฟังและถามเขาว่าจะรับสารภาพหรือปฎิเสธ เขาก็บอกว่ารับสารภาพครับ เขาเล่าให้ คณะของเราในภายหลังทราบว่า ที่เขารับสารภาพ ก็เพราะว่า ก็เขาตั้งใจจะเข้าไปแยกราชประสงค์จริงๆ จึงไม่ประสงค์ต่อสู้คดี อย่างมากก็แค่รอลงอาญา เพราะเขาไม่เคยทำผิดมาก่อน อีกทั้งคดีของเขานั้นแค่ฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉิน เท่านั้น

แต่การณ์กลับไม่เป็นอย่างที่เขาคิดไว้ โดยคดีนี้ ศาลพิพากษาว่า เขามีความผิดตามฟ้อง การกระทำความผิดของเขาในขณะที่บ้านเมืองมีความวุ่นวายเกิดเหตุจลาจล อันเป็นการส่อแสดงว่า จำเลยไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง ทั้งเป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีต่อประชาชนทั่วไป เป็นการทำลายความสงบสุขของประเทศ จึงเห็นควรลงโทษสถานหนัก จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กี่งหนึ่งคงจำคุก 1 ปี

อภิวัฒน์ ยืนยันว่า เขามีบัตรนปช.แดงทั้งแผ่นดินจริง แต่เขาไม่มีหนังสติ๊กและลูกแก้ว ตามที่อัยการกล่าวหาเขา

เขาเล่าว่าตอนที่เขาถูกตัดสินจำ คุก 1 ปี เหตุการณ์มันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก เขาไม่มีเวลาคิดอะไรเลย ไม่มีทนายความ ไม่มีโอกาสคุยกับญาติพี่น้อง แต่ในความโชคร้ายนั้น ก็มีความโชคดีอยู่บ้างที่ เขาบอกว่า เขายังมีชีวิตอยู่ และเขายืนยันว่า หากมีโอกาสเขาจะเข้าร่วมชุมนุมแน่นอน

หลังจากนั้น เขาก็ถูกส่งมาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และต่อมาเขาก็ถูกย้ายมาที่เรือนจำคลองเปรม ตอนที่อยู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ฯเขาบอกว่ามีชาวเสื้อแดงติดคุกอยู่หลายคน และพอย้ายมาที่เรือนจำคลองเปรม เขาก็เจอชาวเสื้อแดงที่ติดคุกอยู่ด้วยจำนวนมาก

อภิวัฒน์ เล่าอีกว่า เมื่อตอนที่เขามาอยู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯใหม่ๆนั้น มีคนเอาเอกสารใบแต่งทนายความ มาให้เขาลงชื่อแต่งตั้ง เขาก็ได้เซ็นใบแต่งทนายความให้ แต่เขาไม่เคยพบเห็นทนายความเลย คดีของเขาไม่มีการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ดังนั้นคดีของเขาจึงถึงที่สุดแล้ว แต่เขาไม่ทราบว่าเหตุใดจึงไม่มีการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาทั้งๆที่เขาได้ซ็นใบ แต่งตั้งทนายความให้แล้ว

นี่คือเรื่องราวชีวิตของนักโทษการเมืองคนหนึ่ง ที่ชื่อ นายอภิวัฒน์ เกิดนอก ชาวเสื้อแดงจากจังหวัดขอนแก่น ที่มาติดคุกอยู่ในกรุงเทพมหานคร ห่างไกลจากญาติพี่น้องของเขา ขณะนี้ ถูกขังอยู่ที่ เรือนจำคลองเปรม แดน 8 มาเป็นระยะเกือบ 8 เดือนเต็ม

เขาถูกขังกับเพื่อนๆ ชาวเสื้อแดงอีก 8 คน ทางสมัชชาสังคมก้าวหน้า ขอเชิญชวนพี่น้องชาวเสื้อแดง เขียนจดหมายให้กำลังใจการต่อสู้ของเพื่อนๆที่ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ และหากชาวเสื้อแดงคนใดจะสิ่งของใดๆไปให้ทางไปรษณีย์ ไม่ต้องส่งไปเนื่องจากทางเรือนจำให้ส่งได้ เฉพาะธนาณัติธรรมดาเท่านั้น โดยส่งไปที่

1. นายกฤษณะ ธัญชยพงศ์ (แดน 8 ) จำคุก 1ปี ขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ แต่ศาลไม่อนุญาต
2. นายแสวง กงกันยา (แดน 8 ) จำคุก 1 ปี 12 เดือน คดีถึงที่สุดแล้ว
3. นายสุระชัย พริ้งพงษ์ (แดน 8 ) จำคุก 1 ปี ขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ แต่ศาลไม่อนุญาต
4. นายสุรชัย เพ็ชรพลอย ( แดน 8 ) จำคุก 1 ปี คดีถึงที่สุดแล้ว
5. นายอภิวัฒน์ เกิดนอก (แดน 8 ) จำคุกคุก 1 ปี คดีถึงที่สุดแล้ว
6. นายอำนวย ชัยเสนสุข (แดน 8 ) จำคุก 1 ปี คดีถึงที่สุดแล้ว
7. นายเอกสิทธิ์ แม่นงาม (แดน 8 ) จำคุก 1 ปี คดีถึงที่สุดแล้ว
8. นายจีระวัช แซ่วี (แดน 4 ) ติดคุก 1 ปี คดีถึงที่สุดแล้ว

ส่ง ไปที่ เรือนจำกลางคลองเปรม 33/2 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900



หมื่นล้าน!?

ครม.มีมติให้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินไปเรียบร้อยแล้ว

ในฐานะคนไทยคนหนึ่งก็ต้องดีใจเป็นธรรมดา รู้สึกว่าหายใจคล่องขึ้น โล่งอก ไม่อึดอัดเหมือนก่อนหน้านี้

เพราะพ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ใช้กันมายาวนาน 7-8 เดือน ผู้ที่รับประโยชน์ไปเต็มๆ คือรัฐบาล

มีโล่ป้องกันตัว มีอำนาจเหลือเฟือ

หากพูด ถึงประชาชนทั่วไป ซึ่งไม่ใช่คนเสื้อแดง ยังรู้สึกว่าไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย กลับถูกพ.ร.ก.พิเศษตัวนี้ละเมิดสิทธิเสรีภาพเสียด้วยซ้ำ!

เศรษฐกิจก็ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและอ้อม

ภาพการ บังคับใช้กฎหมายพิเศษที่แพร่ออกไปทั่วโลก ทำให้เมืองไทยไม่แตกต่างไปจากประเทศเผด็จการ ถูกมองว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนรุนแรงอันดับต้นๆ

โดยเฉพาะ 91 ศพก็เป็นผลพวงของกฎหมายพิเศษตัวนี้

การยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินไปได้ เท่ากับเป็นบุญของคนไทยทั้งประเทศ

ฉะนั้น รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ควรยกเอาเรื่องการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นความดีความชอบของตัวเอง!!

แต่ สิ่งที่ต้องจับตากันให้ดี คือผลที่จะตามมาหลังเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังศอฉ.หมดหน้าที่ รัฐบาลต้องใจกว้าง เปิดให้มีการตรวจสอบการทำงานของศอฉ.ในช่วง 7-8 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก

คืองบประมาณของศอฉ.

ความจริงหลังสลายม็อบแดงที่ราชประสงค์ไม่นาน เคยมีการเรียกร้องให้ตรวจสอบงบประมาณของศอฉ.

ตอนนั้นก็มีข่าวแว่วๆ ออกมาว่าช่วง 2-3 เดือนหลังเหตุการณ์ 19 พ.ค. น่าจะมีการใช้งบฯ ไป 4-5 พันล้านบาท!

แบ่งคร่าวๆ เป็นเบี้ยเลี้ยงทหารเกือบ 2 หมื่นนาย

ค่ายุทโธปกรณ์ พูดประสาชาวบ้านคือค่ากระสุนปืนนั่นละ ยังมีค่าน้ำมัน ค่าอาหาร ค่าจิปาถะอีกจำนวนมาก

ขนาดค่าตัวโฆษกที่ออกมานั่งแถลงข่าว ยังต้องจ่ายให้เป็นพิเศษ

แต่ตอนนี้ล่วงเลยจากเหตุการณ์ 19 พ.ค.มา 7-8 เดือนแล้ว

คาดการณ์ตัวเลขกลมๆ งบศอฉ.น่าจะเฉียดๆ หมื่นล้าน!

ตรงนี้แหละที่รัฐบาลโดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ต้องออกมาแจงสี่เบี้ย เอาตัวเลขมากางกันให้เห็นชัดๆ เอาเงินภาษีประชาชนไปใช้อะไรบ้าง

จะมัวแต่พูดว่าอยากปรองดองอย่างเดียวไม่พอ

มันต้องโปร่งใสด้วย!

ที่มา : ข่าวสดรายวัน 24 ธันวาคม 2553
คอลัมน์ : เหล็กใน

 


คุกมีไว้ขัง..คนเสื้อแดง?

การปล่อยตัวนางออง ซาน ซู จี หลังการเลือกตั้งในพม่าเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แม้กองทัพพม่าจะยังมีบทบาทชี้เป็นชี้ตายในรัฐบาลต่อไป หรือการเลือกตั้งของพม่าจะไม่เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ แต่การปล่อยตัวนางออง ซาน ซู จี เป็น อิสรภาพก็ถือเป็นสัญญาณการปรองดองที่สำคัญยิ่งของพม่า

ที่สำคัญที่สุดคือท่าทีของนางออง ซาน ซู จี เองก็ปรารถนา การปรองดอง เพื่อร่วมสร้างประชาธิปไตยในพม่าและไม่ถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก

“ได้โปรดอย่าละทิ้งความหวัง ไม่มีเหตุผลที่พวกเราจะถอดใจ ถึงแม้ว่าคุณจะไม่สนใจการเมือง แต่การเมืองก็จะมาหาคุณเอง”

คำพูดของนางออง ซาน ซู จี ไม่ได้แสดงออกถึงความรุนแรง แต่เหมือนกดดันให้รัฐบาลพม่าต้องพิจารณาข้อเรียกร้องที่ให้ปล่อยตัวนักโทษ การเมืองกว่า 2,000 คนโดยเร็ว และยังทำให้ประชาคมโลก โดยเฉพาะประเทศอาเซียนกลับมาจับตามองประชาธิปไตยในประเทศไทยอีกครั้ง เพราะเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ที่ใช้กำลังทหารหลายหมื่นคนพร้อมอาวุธสงครามสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วม ประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 91 ศพ และบาดเจ็บ พิการเกือบ 2,000 คนนั้น นอกจากประชาคมโลกและองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างประณามรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงแล้ว ยังใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินไล่ล่าและจับกุมคนเสื้อแดงอย่างต่อ เนื่อง

รัฐไทยล้มเหลว-เผด็จการ?

รัฐบาลไทยวันนี้จึงถูกจัดอันดับประเทศที่เป็นเผด็จการหรือมีปัญหาด้าน สิทธิมนุษยชนไม่แตกต่างจากรัฐบาลพม่า อย่างที่กลุ่มผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนจัดอันดับเสรีภาพสื่อไทยประจำปี 2553 ประเทศไทยอยู่ที่ 153 จากทั้งหมด 178 ประเทศ และติดกลุ่ม 10 ประเทศที่สื่อตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้าย ประชาชนถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงสื่อและข้อมูลข่าวสาร

ประชาคมโลกยังจัดว่าประเทศไทยเป็นรัฐที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง (Failed State) และมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือการก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ อย่างนิตยสารฟอเรนจ์ โพลิซี ของสหรัฐจัดอันดับประเทศที่ล้มเหลวเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยพิจารณาจากดัชนีชี้วัด 12 ประการ อาทิ สภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคงและสิทธิมนุษยชน ความขัดแย้งทางการเมืองและสังคม การเปลี่ยนแปลงรัฐบาล กลไกของรัฐในการบริหารประเทศ ปรากฏว่าประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับ 89 จากทั้งหมด 177 ประเทศ

ขณะที่เมื่อต้นปี 2553 องค์กรระหว่างประเทศ Freedom House รายงานว่าประเทศไทยไม่สามารถ ถูกจัดไว้ในกลุ่มประเทศที่มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย เพราะมีการแทรกแซงกระบวนการทางการเมืองโดยกลุ่มทหาร และประเทศไทยก็ติดอันดับต้นๆของประเทศที่มีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน

ดีเอสไอหมกเม็ด?

โดยเฉพาะการแถลงผลสืบสวนของกรมสอบ สวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในการเสียชีวิตของทหาร ตำรวจ และประชาชนจากเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” จำนวน 89 ศพ ที่ไม่มีความชัดเจนและคลุม เครือ อีกทั้งยังมีความพยายามทำให้เกิดความสับสนในคดี โดยกล่าวหาว่าคนเสื้อแดงฆ่ากันเอง และยังระบุอีกว่ามี 12 รายที่เป็นการกระทำของคนเสื้อแดง แต่กลับไม่สามารถระบุตัวได้ชัดเจน โดยอ้างว่าเป็น “ไอ้โม่งชุดดำ” ที่วันนี้ก็ยังไม่สามารถจับได้แม้แต่คนเดียว แต่กลับกล่าวหาและตั้งข้อหาคนเสื้อแดงเป็น “ผู้ก่อการร้าย” เรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ดีเอสไอก็ไม่กล้าเปิดเผยข้อมูลการปฏิบัติการของศูนย์อำนวยการแก้ไข สถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และกองทัพแก่สาธารณะให้ร่วมตรวจสอบว่ามีการใช้กำลังทหารอย่างไร ใช้อาวุธเท่าไร อย่างไร และสมควรแก่เหตุหรือไม่ ซึ่งศพทุกศพที่เกิดขึ้นจะต้องทำการชันสูตรพลิกศพและไต่สวนการตายตาม ป.วิ.อาญา ม.150 ไม่ใช่เลือกเฉพาะเป็นบางกรณีดังที่ดีเอสไอเสนอ อีกทั้งมีรายงานข่าวว่าดีเอสไอและ ศอฉ. ไม่ยอมให้ความร่วมมือ ต่อคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อ การปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร อดีต อัยการสูงสุด เป็นประธาน ที่นายอภิสิทธิ์เป็นคนตั้งขึ้นเอง

ศปช. ตอกกลับดีเอสไอ

ขณะที่ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เมษายน-พฤษภาคม 2553 (ศปช.) และกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เม-ษายน-พฤษภาคม 2553 เรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวคนเสื้อแดงชั่วคราว เพราะถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ แม้แต่ในคดีอาญาก็ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด

โดยเฉพาะการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินและตั้งข้อหาร้ายแรงที่หลายกรณีเกินความเป็นจริง เหวี่ยงแห และขาดพยานหลักฐานที่มีน้ำหนัก ทั้งยังพบว่าการจับกุมมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิมนุษยชนสากล ไม่ได้เป็น ไปตามกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งบางกรณี ที่ถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมหรือหลอกให้สารภาพ

นอกจากนี้ ศปช. ยังระบุว่าการแถลงข่าวของดีเอสไอกรณี 89 ศพนั้นเป็นการให้ข่าวที่ไม่ชัดเจน คลุมเครือ และก่อให้เกิดความสับสน ซึ่งดีเอสไอควรแถลงให้ชัดว่าสำนวนคดีแต่ละเหตุการณ์นั้นเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ประชาชนจำนวนมากถูกอาวุธปืนความเร็วสูงหรือ สไนเปอร์ยิงเสียชีวิตแล้วหลักฐานต่างๆนั้นหายไป ทั้งที่สไนเปอร์เป็นอาวุธที่มีใช้เฉพาะในกองทัพและหน่วยงานของรัฐบางแห่ง เท่านั้น รวมทั้งปรากฏภาพและคลิปวิดีโอชัดว่ามีทหารใช้สไนเปอร์ในปฏิบัติการ “กระชับวงล้อม” จริง ทำไมการพิสูจน์หาพยานหลักฐานในช่วงนี้ถึงหายไป

“นับตั้งแต่ศอฉ. ใช้กำลังทหารเข้า “ขอคืนพื้นที่” และ “กระชับวงล้อม” การควบคุมดูแลพื้นที่ใน กทม. โดยเฉพาะบริเวณที่ชุมนุมของ นปช. นั้นอยู่ภายใต้ความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ทั้งหมด ดังนั้น ศพทุกศพที่เกิดขึ้นจะต้องทำการชันสูตรพลิกศพและไต่สวนการตายตาม ป.วิ.อาญา ม.150 ไม่ใช่เลือกเฉพาะเป็นบางกรณีดังที่ดีเอสไอเสนอ”

ดีเอสไอเลือกปฏิบัติ?

ศปช. ยังชี้ว่าหลังเหตุการณ์ผ่านมาถึง 6 เดือน การสืบสวนสอบสวนของดีเอสไอมีความคืบหน้าชัดเจนเฉพาะคดีที่รัฐบาล ศอฉ. และดีเอสไออ้างมาตลอดว่าเป็นฝีมือของฝ่าย นปช. หรือฝ่ายสนับสนุนเท่านั้น แต่คดีที่สาธารณะสงสัยว่าทหารหรือเจ้าหน้าที่เป็นผู้กระ-ทำให้ประชาชนเสีย ชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากกลับไม่มีความชัดเจนใดๆเลย ขณะที่การดำเนินคดีกับแกนนำ นปช. ในข้อหาก่อการร้ายนั้น ตามสำนวนฟ้องแกนนำ นปช. ถูกกล่าวหาโดยเชื่อมโยงว่ามีส่วนทำให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่เสียชีวิตทั้ง 89 ศพ

“ปัญหาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า การทำงานของดีเอสไอเลือกที่จะมุ่งไปที่การสนับสนุนการดำเนินคดีต่อแกนนำ นปช. และหวังสร้างความชอบธรรมทาง การเมืองให้แก่รัฐบาล-ศอฉ. เป็นด้านหลักมากกว่าที่จะดำเนินการอย่างเที่ยงธรรมในทุกกรณีที่มีการเสีย ชีวิต”

ดังนั้น ศปช. จึงตั้งคำถามว่าดีเอสไอทำการสืบสวนสอบสวนอย่างสุจริตเที่ยงธรรมจริงหรือไม่ โดยเฉพาะอธิบดีดีเอสไอมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงต่อเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” เนื่องจากอธิบดีดีเอสไอมีบทบาทสำคัญใน ศอฉ. มาโดยตลอด ซึ่งหากการสืบสวนสอบสวนพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำให้ประชาชนเสีย ชีวิต ศอฉ. ก็จะตกเป็นจำเลยด้วย

อย่างไรก็ตาม นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ออกมายืนยันว่า รายละเอียดของแต่ละสำนวนคดีเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และไม่เคยมีหน่วยงานไหนแถลง การเปิดเผยก็ทำไม่ได้ ถือเป็นเรื่องสำคัญในคดีทั้งที่สำนวนอาจส่งผลกระทบต่อตัวพยานด้วย โดยเฉพาะที่ประชาชนถูกอาวุธปืนความเร็วสูงยิงเสียชีวิตนั้นก็มีข้อมูลอยู่ใน สำนวนการสอบสวน ไม่ได้หายไปไหน แต่ดีเอสไอเพิ่งแถลงเพียง 18 ศพ ส่วนที่เหลือพนักงานสอบสวนจะแถลงให้ทราบทั้งหมดสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้

“ศอฉ.-ดีเอสไอ” โคตรใหญ่?

นอกจากนี้อธิบดีดีเอสไอยังแถลงว่า จะขอคัด ค้านการประกันตัวนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. หลังปิดการประชุมสภา เพราะก่อนหน้านี้นายเมธี อมรวุฒิกุล พยานในความคุ้มครองของดีเอสไอ ได้ร้องว่าถูกนายจตุพรข่มขู่ ทำให้ดีเอสไอต้องดำเนินการตามกฎหมาย โดยเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ดีเอสไอทำหนังสือแจ้งถึงสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) แล้ว

ทั้งที่หลายฝ่ายต้องการสร้างความปรองดองและเรียกร้องให้ปล่อยแกนนำ นปช. และคนเสื้อแดง แต่นายธาริตกลับต้องการให้จับกุมนายจตุพร เช่นเดียวกับบทบาทของ ศอฉ. ที่ควรจะค่อยๆลดลง แต่ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ก็ยังออกมาแถลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เห็นว่านายอภิสิทธิ์ไม่มีความจริงใจที่จะสร้างความปรองดอง แต่กลับพยายามใช้อำนาจข่มขู่ฝ่ายตรงข้ามอยู่เช่นเดิม

เช่นเดียวกับกรณีที่ ศอฉ. ใช้อำนาจเรียกให้บุคคลต่างๆมารายงาน รวมทั้งควบคุมธุรกรรมทางการเงิน โดยอ้างว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายนั้น จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับการก่อการร้าย แต่ ศอฉ. ก็ไม่เคยขอโทษหรือยอมรับผิดต่อการกระทำดังกล่าวเลย และยังส่งผลกระทบต่อภาพพจน์ของกองทัพอีกด้วย

ศอฉ. ยังออกหมายเรียกให้ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ไปรายงานตัว ซึ่ง พ.อ.อภิวันท์ตอบโต้ทันทีว่าเป็นการข่มขู่คุกคามฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าในช่วงสมัยประชุมจะออกหมายเรียกไม่ได้ แต่ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอให้ที่ประชุม อนุมัติให้ไปพบตามหมายเรียก อย่างไรก็ตาม พ.อ.อภิวันท์พร้อมจะเดินทางไปพบ ศอฉ. ที่สโมสรกองทัพบกเป็นการส่วนตัว เพื่อจะถามว่าเรียกเพื่ออะไร

“นี่คือการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม การออกหมายเรียกนี้ก็ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา และไม่ได้ระบุรายละเอียดว่าให้ไปพบใคร”

“อภิสิทธิ์” หักดิบ “ประวิตร”

นอกจากมีรายงานข่าวว่านายอภิสิทธิ์ไม่รับข้อเสนอของ ศปช. และ คอป. แล้วยังเพิกเฉยต่อหนังสือที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ. ได้เสนอให้นายอภิสิทธิ์ในฐานะประธาน ศอฉ. พิจารณาอนุญาตให้ประกันตัวแกนนำ นปช. ทั้งหมดชั่วคราว ซึ่งเป็นจดหมายที่นายวีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช. มีถึง พล.อ.ประวิตร มีรายงานข่าวว่านายอภิสิทธิ์อ้างว่าต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของศาลและกฎหมาย แต่นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีการส่งเรื่องถึงนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นอำนาจของ ศอฉ. ที่จะดำเนินการเรื่องให้ข้อมูล จึงไม่เกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรี

แต่ก่อนหน้านี้นายอภิสิทธิ์ยอมรับว่ามีการยื่นเรื่องร้องเรียนมาจริง แต่จำไม่ได้ว่ามาจากกลุ่มไหน แล้วนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาใน ศอฉ. เท่าที่ทราบ พล.อ.ประวิตรสรุปว่าเรื่องนี้เป็นอำนาจของศาล จะทำได้หรือไม่อยู่ที่ศาล แต่ถ้ารายงานมาถึงจริงก็สั่งดำเนินการทุกเรื่อง อย่างกรณีนายคณิตทำหนังสือมาก็สั่งการให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณาความเป็นไป ได้ ความถูกต้อง และความเหมาะสมไปแล้ว

จึงมีคำถามว่าถ้านายอภิสิทธิ์แสดงความจริงใจที่จะสร้างความปรองดองจริง ไม่ใช่ปรองดองแค่ปาก ก็ต้องออกมาแถลงให้ชัดเจนว่ามีการสั่งการอย่างเป็นทางการให้ทุกฝ่ายที่ เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้รับไปปฏิบัติโดยเร็วที่สุดว่ามีความคืบหน้าถึงไหน แล้ว โดยเฉพาะบทบาท ของ ศอฉ. ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำให้ประชาชนเสีย ชีวิตและบาดเจ็บ ไม่ใช่ยังใช้อำนาจที่จะเรียกใครก็ได้ให้มารายงานตัว หรือออกมาแถลงในทำนองข่มขู่ต่างๆ

ต้องเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เช่นเดียวกับกรณีที่ศาลอาญาอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว 3 ผู้ถูกคุมขังเนื่องจากเหตุการณ์ชุมนุมทาง การเมืองเมษายน-พฤษภาคม 2553 คือนายธีรเดช สังขทัต นายสมหมาย อินทนาคา และนายบุญยฤทธิ์ โสดาคำ โดยกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ยื่นประกันตัวและใช้กองทุนยุติธรรมวางหลักทรัพย์ ค้ำประกัน ต่อมาวันที่ 11 พฤศจิกายน นายอภิสิทธิ์เชิญนายสมหมายและนายบุญยฤทธิ์เข้าพบที่รัฐสภาและนำมาเป็นผลงาน ตามนโยบายสร้างความปรองดอง ทั้งยังมีรายงานข่าวว่าถูกเจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาลบังคับให้เขียนจดหมายขอบ คุณนายกรัฐมนตรีอีกนั้น

ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล อาจารย์สถาบันประชากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะกรรมการ ศปช. ได้ตั้งข้อสังเกตว่าที่นายอภิสิทธิ์ย้ำว่าผู้ที่ถูกคุมขังเป็นการดำเนินการ ตามกฎหมาย รัฐบาลเพียงแต่พิจารณาช่วยเหลือเป็นรายกรณีตามนโยบายปรองดองนั้น ศปช. กลับสำรวจพบว่าหลายกรณีเป็นการจับกุมที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตาม รัฐธรรมนูญ รวมทั้งหลักสิทธิมนุษยชน หลายกรณีจับกุมแบบเหวี่ยงแห ไม่มีพยานหลักฐานหนักแน่นพอ หรือตั้งข้อหารุนแรงเกินจริง หลายกรณีผู้ที่ถูกจับกุมถูกทำร้ายทรมาน ได้รับการปฏิบัติไม่เหมาะสม และถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมหรือหลอกล่อให้รับสารภาพ

“ปัญหาเหล่านี้มีต้นเหตุสำคัญมาจากการที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การที่กลไกของรัฐเข้ามาช่วยเหลือผู้ที่ถูกคุมขังเป็นสิ่งที่รัฐบาลจำเป็น ต้องรับผิดชอบต่อปัญหาที่สืบเนื่องมาจากการกระทำของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ เอง รัฐบาลไม่ควรสำคัญผิดว่าเป็นผลงานปรองดอง และขอเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินทันที” ดร.กฤตยากล่าว

อย่าปรองดองแค่ปาก?

ดังนั้น การเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งให้ปล่อยผู้บริสุทธิ์หรือปล่อยตัวชั่วคราวแกนนำ นปช. และคนเสื้อแดงกว่า 200 คนที่ถูกคุมขังมานานกว่า 6 เดือนนั้น จึงถือว่าเป็นการเริ่มต้นการปรองดองอย่างแท้จริง ไม่ใช่ปรองดองแค่ปากอย่างที่นายอภิสิทธิ์พยายามเลี่ยงบาลีอยู่ทุกวันนี้

เพราะแม้แต่ข้อเสนอของ คอป. ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาเอง ซึ่ง คอป. ได้พูดคุย ปรึกษาหารือ และรับฟังความคิดเห็นจากบุคคล กลุ่มบุคคล องค์กร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมทั้งหน่วยงานและองค์กรจากต่างประเทศยังทำบันทึกถึงนายอภิสิทธิ์ให้ปล่อย นักโทษการเมืองโดยเร็ว ซึ่งสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวและสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวเป็น สิทธิพื้นฐานของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาที่ได้รับการยอมรับเป็นสากลนั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 40 (7) ก็กล่าวถึง “สิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว” ตามมาตรา 39 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่า “ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิด”

และตาม “หลักยกประโยชน์แห่งความสงสัย” ที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 ระบุว่า การเอาตัวผู้ถูกกล่าวหาไว้ในความควบคุมหรือในอำนาจรัฐเป็นการจำกัดสิทธิของ ผู้ถูกกล่าวหา นอกจากจะกระทบต่อเสรีภาพของบุคคลอันเป็นสิทธิพื้นฐานแล้ว ยังกระทบถึงโอกาสในการต่อสู้คดี และส่งผลกระทบต่อครอบครัวและญาติพี่น้องของผู้ถูกกล่าวหาอีกด้วย

“คอป. เห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการปล่อยชั่วคราวแกนนำบางส่วนที่ถูก ควบคุมตัวไว้ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อหรือสนับสนุนความรุนแรงในระหว่างการชุมนุม โดยตรง เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านั้นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำแนวทางสันติวิธี มาใช้ในการแสวงหาทางออกให้กับบ้านเมือง การปล่อยตัวหรือการปล่อยชั่วคราวแกนนำดังกล่าวจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ จะส่งสัญญาณว่าทุกฝ่ายให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับกระบวนการสร้างความ ปรองดองในชาติ นอกจากนี้ยังเป็นการลดกระแสความเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมไม่มีความเป็นธรรม ต่อผู้ถูกกล่าวหา อันเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ความไม่เชื่อถือในระบบการปกครองของรัฐอันอาจ สร้างความร้าวฉานและความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นใหม่อีกด้วย”

ยุบ ศอฉ.-พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ความปรองดองจึงเกิดไม่ได้ตราบใดที่นายอภิสิทธิ์ยังไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินและปล่อยตัวแกนนำ นปช. และคนเสื้อแดงเพื่อให้ต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมปรกติตามข้อเสนอของ คอป. นอกจากนี้ฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทยยังเรียกร้องให้ยุบ ศอฉ. และ พ.ร.ก.ฉุก เฉินโดยเร็วที่สุด เพราะถือว่าหมดความชอบธรรมแล้ว ที่สำคัญการปิดบังหรือยื้อข้อเท็จจริงเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ยิ่งกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศไทยในฐานะประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชา ชาติ จนกลายเป็น “ตัวตลก” ของประชาคมโลกไปแล้ว

ยิ่งรัฐบาลเผด็จการพม่าให้อิสรภาพแก่นางออง ซาน ซู จี องค์กรสิทธิมนุษยชนและประชาคมโลกก็กลับมามองประเทศไทยและ “กระชับพื้นที่” นายอภิสิทธิ์ ซึ่งไม่สามารถปิดบังความจริง หรือใช้วาทกรรม อ้าง “นิติรัฐ-นิติธรรม” จอมปลอมกักขังและไล่ล่าคนเสื้อแดงได้อีกต่อไป เพราะจะยิ่งประจานตัวนายอภิสิทธิ์ว่าไม่ใช่นักการเมืองประชาธิปไตย แต่เป็น “ผู้นำทรราช” ที่รับใช้ “เผด็จการ”

โดยเฉพาะการชันสูตร 6 ศพในวัดปทุมวนาราม ดีเอสไอก็ยอมรับว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐหรือทหารเกี่ยวข้อง ดังนั้น ยิ่งรัฐบาลยื้อเวลาและไม่สรุปผลการชันสูตรพลิก ศพก็จะมีแต่เสียงประณาม “คนสั่งฆ่ายังลอยหน้า คนฆ่า ยังลอยนวล” ที่นับวันจะดังมากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่คุกกลับขังคนเสื้อแดงที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและประชาธิปไตย

แทนที่จะมีไว้ขัง “คนชั่วและฆาตกร”!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6  ฉบับ 287 วันที่ 27 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม พ.ศ. 2553 หน้า 16-17 คอลัมน์ เรื่องจากปกโดย ทีมข่าวรายวัน

 


ลดกระหน่ำตายฟรี เจ็บฟรี ขังฟรี! อภินันทนาการ จาก ศอฉ. ดีเอสไอ และรัฐบาลเทพประทาน

“ในกรณีที่ตำรวจทำสำนวนชันสูตรพลิกศพเสร็จแล้ว และมีกรณีใดต้องนำไปสู่การไต่สวนโดยศาล หากได้ข้อยุติว่าการเสียชีวิตรายใดเกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่แล้ว คดีจะถูกส่งกลับมาที่ดีเอสไอตามกฎหมาย และหากพบว่าเจ้าพนักงานได้ปฏิบัติราชการตามหน้าที่ไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น ป้องกันโดยสมควรแก่เหตุ หรือเหตุอื่นใดที่อ้างได้ตามกฎหมาย จะได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิด แต่ไม่ตัดสิทธิตามกฎหมายที่ทายาทของผู้ตายจะเรียกร้องค่าเสียหายจากหน่วยงานได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีที่เหลือทั้งหมดดีเอสไอจะเร่งสรุปและแถลงให้ทราบเป็นรายสัปดาห์ จนกว่าจะครบ 89 ศพ ให้หมดภายในเดือนนี้”

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงผลสืบสวนคดีผู้เสียชีวิตของทหาร ตำรวจ และประชาชนจากเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พร้อมกับ พ.ต.อ.

ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีการเสียชีวิต 89 ศพ เป็นคดีพิเศษที่ดีเอสไอรับไว้ 254 คดี และฟ้องศาลไปแล้ว 54 คดี แยกเป็น 4 ฐานความผิดคือ ก่อการร้าย ขู่บังคับรัฐบาล ทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งการกระทำต่ออาวุธยุทธ ภัณฑ์ของทางราชการและวางเพลิงเผาทรัพย์ ซึ่งไม่ได้ผิดจากที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะการกล่าวหาคนเสื้อแดงฆ่ากันเอง โดยระบุว่าคดีคนร้ายยิงอาวุธเอ็ม 79 และคดีดักซุ่มยิงตามสถานที่ต่างๆที่มีผู้เสียชีวิต 12 รายนั้นเป็นการกระทำของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน ทั้งสิ้น

“เสื้อแดง” ฆ่า “ร่มเกล้า”

เช่นดียวกับการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ทหาร 5 นาย เมื่อวันที่ 10 เมษายน ได้แก่ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ส.อ.อนุพนธ์ หอมมาลี ส.ท.อนุพงษ์ เมืองอำพัน พลทหารภูริวัฒน์ ประพันธ์ พลทหารสิงหา อ่อนทรง และผู้บาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่งนั้น ดีเอสไอระบุว่าเกิดจากการกระทำของกลุ่ม นปช. และกลุ่มเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันให้การสนับสนุน คือนักรบดำ

ส่วนการสังหารโหด 6 ศพที่วัดปทุมวนารามฯที่มีทั้งพยานบุคคลและภาพปรากฏชัดเจนนั้น ดีเอสไอยอมรับว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง แต่ยังแทงกั๊กว่าการเสียชีวิตมีการปะทะกันระหว่างกองกำลังไม่ทราบฝ่ายกับทหาร จึงต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนต่อตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 แต่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็ต้องนำคดีกลับมาที่ดีเอสไออีกครั้ง หากเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องดูว่าปฏิบัติโดยชอบตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งพอที่จะคาดเดาได้ล่วงหน้าว่าไม่ว่าผลจะสรุปออกมาอย่างไร เจ้าหน้าที่รัฐก็แทบไม่มีโอกาสผิด เพราะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินในที่สุด

มือถือสาก ปากถือศีล

การแถลงของดีเอสไอจึงสอดคล้องกับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ที่ปราศรัยก่อนหน้านี้ว่า “เสื้อแดงฆ่ากันเอง” เช่นเดียวกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายก รัฐมนตรี ที่ยืนยันเสียงแข็งเหมือนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและประธานศูนย์อำนวย การแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่สั่งปฏิบัติการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงว่าไม่เคยสั่งฆ่าประชาชน ทั้งยังโยนความผิดให้ “กลุ่มโรนิน” หรือ “ไอ้โม่งชุดดำ”

เช่นเดียวกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก ที่เคยประกาศว่าพร้อมรับผิดชอบหากสั่งฆ่าจริงและมีหลักฐานมายืนยัน ซึ่งวันนี้ดีเอสไอแถลงผลการสอบสวนส่วนหนึ่งแล้วว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องในการสังหารหมู่ 6 ศพที่วัดปทุมวนารามฯ พล.อ.อนุพงษ์จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร หรือจะเลี่ยงบาลีว่าเป็นการปฏิบัติโดยชอบตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และไม่ได้เป็นผู้สั่ง แต่นายอภิสิทธิ์สั่ง

“จตุพร” แฉทหารยิง “ร่มเกล้า”

อย่างไรก็ตาม นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. ได้แถลงโต้ผลสอบสวนของดีเอสไอที่แยกการเสียชีวิต 89 ศพเป็น 3 กลุ่ม แต่ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าแต่ละคนเสียชีวิตอย่างไร โดยเฉพาะ พ.อ.ร่มเกล้าที่ระบุว่าอาจเกิดจากกลุ่มโรนินหรือนักรบดำนั้น นายจตุพรยืนยันว่ามีพยานบุคคลเป็นอดีตทหารผ่านศึกที่ร่วมชุมนุมกับคนเสื้อ แดงบอกว่า พ.อ.ร่มเกล้าถูกยิงจากแถว 3 ของกลุ่มทหาร เป็นการยิงแนวราบ ซึ่งเป็นจังหวะที่ พ.อ.ร่มเกล้าลุกขึ้นยืนพอดี ไม่ได้ยิงจากมุมสูงใดๆทั้งสิ้น จนกระทั่งคนเสื้อแดงคนนี้เข้าไปช่วย แต่กลับถูกยิงจนเป็นอัมพฤกษ์ และยังเห็นทหารจากแถว 3 เข้ามายิง พ.อ.ร่มเกล้าซ้ำอีก อยากถามว่าข้อมูลเหล่านี้ดีเอสไอได้สอบสวนหรือไม่ และยังทราบเบื้องหลังว่าก่อนที่ดีเอสไอจะออกมาแถลงมีหลายคนไปล็อบบี้แต่ไม่ สำเร็จ เพราะข้อเท็จจริงปรากฏชัด เวลานี้หลายคนในรัฐบาลและกองทัพก็อยู่อย่างไม่เป็นสุข

นายจตุพรยังกล่าวถึงการสรุปสำนวนว่า การเสียชีวิตของประชาชนและสื่อต่างประเทศอาจเกิดจากการกระชับพื้นที่ของทหาร ถือเป็นการยอมรับว่าการปฏิบัติการของทหารทำให้มีผู้เสียชีวิต รวมทั้งกลุ่มที่ 3 ที่ระบุว่ายังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าเสียชีวิตจากสาเหตุใด ทำให้ยังไม่สามารถสรุปสำนวนหรือยุติการสอบสวนได้ ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าการขอเวลาสอบสวนสาเหตุผู้เสียชีวิตเป็นเวลา 45 วันของนายธาริตนั้นเป็นเพียงการต้มคนไทยและรัฐบาลญี่ปุ่น ในเมื่อดีเอสไอยังไม่สามารถสรุปสาเหตุของผู้เสียชีวิตทั้ง 91 ศพได้ เท่ากับว่ากระบวนการยุติธรรมเบื้องต้น ตั้งแต่ดีเอสไอส่งฟ้องไปเป็นการฟ้องเท็จ อัยการสูงสุดที่ยื่นฟ้องต่อศาลก็เท่ากับว่าเอาสำนวนเท็จไปฟ้องเท็จต่อศาล จึงถือว่าทั้ง 2 หน่วยงานมีพฤติกรรมปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา

“ผมจะรอให้ดีเอสไอแถลง หากแถลงตามสำนวนที่ได้ตามข่าวมาเมื่อไรจะแจ้งความดำเนินคดีกับนายธาริตและอัยการสูงสุด ข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จะได้รู้กันว่าดีเอสไอกับอัยการสูงสุดจะติดคุกได้หรือไม่ หากนายธาริตจะแถลงขอให้แถลงด้วยว่าทั้งนายธาริตและ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีดีเอสไอ เบิกจ่ายเงินค่าใช้จ่ายการทำคดีคนเสื้อแดงไปกี่ ร้อยล้าน แล้วตัวนายธาริตเบิกกี่ครั้ง อย่างไรบ้าง พวกผมรู้หมด ไม่ได้สิ้นไร้ไม้ตอกในดีเอสไอ แต่ตอนนี้ยังไม่อยากบอก จะรอให้นายธาริตสารภาพเอง เหมือนตอนเรื่องหมอนวดหมายเลข 161”

นปช. ฟ้อง “อภิสิทธิ์-ศอฉ.”

เช่นเดียวกับคำฟ้องนายอภิสิทธิ์และ ศอฉ. รวม 14 คนในคดีสังหาร 91 ศพเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่ นปช. ได้ยื่นต่ออัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ มีรายละเอียดเหตุการณ์และหลักฐานทั้งภาพถ่าย คลิปวิดีโอ และคำให้การของพยานบุคคลจำนวนมาก โดยระบุว่ามีการใช้กำลังทหาร อาวุธจริงและกระสุนจริงในการสลายม็อบแดง ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักสากล จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ทั้งยังมีคำให้การของพยานหลายรายที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม เช่น พยานปากที่ 6 และพยานปากที่ 9 ระบุถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ศพในวัดปทุมวนารามฯ ซึ่งเป็นเขตอภัยทาน เป็นเหตุให้ น.ส.กมนเกด อัคฮาด นายมงคล เข็มทอง และนายอัครเดช แก้วขัน ซึ่งเป็นอาสาพยาบาล ถูกยิงเสียชีวิตขณะกำลังช่วยเหลือผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บ

พยานปากที่ 18 ซึ่งเป็นคนเสื้อแดงระบุว่า โดนยิงเข้าที่ข้อเท้าขวาจนกระจุยขณะหลบอยู่ในสวนลุมพินีเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม

พยานปากที่ 19 ระบุว่า โดนยิงเข้าที่หัวไหล่ซ้ายจนต้องกระโดดหนีลงน้ำในสวนลุมพินี พอขึ้นจากน้ำก็โดนยิงซ้ำที่น่องซ้าย ก่อนถูกจับส่งตัวไปขังในเรือนจำในที่สุด

พยานปากที่ 20 ระบุว่า ได้ยิงธนูใส่ทหาร แต่โดนทหารยิงตอบโต้ด้วยกระสุนปืนจริงที่บริเวณซอยงามดูพลี โดยพยานรายนี้ระบุด้วยว่า เห็นประชาชนถูกยิงเสียชีวิต 6 ราย ในจำนวนนี้เป็นแม่ค้าอายุ 50 ปี ชายหนุ่มอายุ 30 ปี และมีชายคนหนึ่งถูกยิงตายขณะใช้กล้องโทรศัพท์มือถือบันทึกภาพเหตุการณ์

ในรายงานยังมีรายละเอียดเหตุการณ์ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ “เสธ.แดง” ถูกสไนเปอร์ยิงเสียชีวิตขณะยืนให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม บริเวณสวนลุมพินี

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานภาพถ่าย เป็นภาพถ่ายเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงทั้งในวันที่ 10 เมษายน ที่สี่แยกคอกวัวและถนนดินสอ การสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ รวมทั้งภาพถ่ายศพ “น้องเกด-กมนเกด อัคฮาด” อาสาพยาบาลที่โดนยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนารามฯพร้อมคนอื่นๆ 6 ศพ ที่มีภาพชายในเครื่องแบบถือปืนยาวอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสเล็งไปที่วัดปทุมวนารามฯ

ภาพถ่ายเหตุการณ์นายฟาบิโอ โปเลงกี นักข่าวชาวอิตาลี ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม โดยในภาพมีชายคนหนึ่งเข้าไปหยิบกล้องถ่ายรูปจากศพนายฟาบิโอแล้วหลบหนีไป

เอกสารของฮิวแมนไรท์วอทช์ที่เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกเขตกระสุนจริง และตำหนิรัฐบาลไทยไม่ปฏิบัติตามหลักพื้นฐานของการใช้กำลังตามกฎหมายสหประชา ชาติ

“หุ่นน้องเกด” ตั้งวัดปทุมฯ

โดยเฉพาะการสังหารโหด 6 ศพที่วัดปทุมวนารามฯนั้น เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมนเกด อัคฮาด หรือน้องเกด พยาบาลอาสา 1 ใน 6 ศพที่ถูกยิงเสียชีวิตในเขตอภัยทานวัดปทุมวนารามฯ ได้ทำบุญและจัดกิจกรรมรำลึกบริเวณสี่แยกราชประสงค์ เพื่อทวงความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิต ซึ่งไม่มีความคืบหน้าในการหาตัวคนฆ่าและคนสั่งการ นอกจากนี้ครอบครัวยังเตรียมสร้างหุ่นขี้ผึ้งน้องเกดสูงเท่าตัวจริง เพื่อนำไปตั้งบริเวณที่น้องเกดเสียชีวิต

ขณะที่นายณัทพัช อัคฮาด น้องชายน้องเกด จะเชิญนายสมบัติ บุญงามอนงค์ บ.ก.ลายจุด และแกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ร่วมจูง “แพะ” บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิในวันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายนด้วย

คอป. จี้ปล่อยคนเสื้อแดง

ด้านคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธาน สรุปข้อเสนอแนะ 5 ข้อเกี่ยวกับสิทธิพื้นฐานของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาสืบเนื่องจากเหตุการณ์ ความรุนแรงเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 เพื่อเสนอนายอภิสิทธิ์เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ให้ตัดสินใจปล่อยนักโทษการเมืองโดยเร็ว เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการปรองดอง แต่นายอภิสิทธิ์กลับโยนอำนาจการตัดสินใจนี้ไปให้กระทรวงยุติธรรมและเป็น อำนาจของศาล ทั้งอ้างว่าเมื่อตัดสินใจอย่างไรต้องมีคำตอบให้กับสังคม เพราะมีผู้ต้องขังจำนวนมากและต้องใช้เวลาพอสมควร

“นายคณิตระบุตั้งแต่ต้นว่าหลายเรื่องไม่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงได้ แต่เป็นเหมือนกระแสหรือความรู้สึก ถ้าเราเพิกเฉยทั้งหมดอาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงได้ จึงจำเป็นต้องรับฟังตรงนี้แล้วมาดู แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำในสิ่งที่สวนทางกับข้อเท็จจริง จึงต้องตรวจสอบว่าคนที่ถูกคุมขังมีเจตนาอย่างไร และเขาออกมาแล้วจะเป็นอย่างไร เราต้องอย่าลืมว่าที่ผ่านมามีกรณีนายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำ นปช. ที่ได้รับการประกันตัวออกมาก็ไม่มีปัญหาใดเกิดขึ้น ทั้งนี้ ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย สมมุติว่าศาลให้ปล่อยตัวคนเหล่านี้ชั่วคราวก็ต้องถูกดำเนินคดีต่อไป แต่รัฐจะดูว่าควรเริ่มช่วยเหลือผู้ถูกคุมขังที่มีความผิดเล็กน้อย และมองแล้วว่าเขาไม่น่าจะเป็นปัญหาหลังจากออกมา แต่ถ้าใครที่ออกมาแล้วจะเป็นปัญหา ศาลไม่น่าจะปล่อยตัวอยู่แล้ว อีกทั้งคนที่เป็นแกนนำและมีความผิดสูงคงจะยิ่งยาก”

ทวงบุญคุณแทนขอโทษ

คำพูดของนายอภิสิทธิ์จึงสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าไม่มีความจริงใจที่จะ สร้างความปรองดองเลย แต่ใช้คำพูดเพื่อสร้างภาพตลอดเวลาว่าเป็นนักการเมืองที่ยึดมั่นในระบอบ ประชาธิปไตย อย่างกรณีรัฐบาลพม่าปล่อยตัวนางออง ซาน ซู จี ผู้นำฝ่ายค้านพม่า ซึ่งนายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ชื่นชมรัฐบาลทหารพม่าว่าเป็นเรื่องที่ดีและนำไป สู่กระบวนการปรองดองแห่งชาติ และเป็นก้าวสำคัญไปสู่ประชาธิปไตยของพม่า แต่กลับไม่ละอายตัวเองที่ถูกประณามจากประชาคมโลกว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่าง ร้ายแรง และยังคุมขังคนเสื้อแดงหลายร้อยคนโดยไม่มีความผิด จนประเทศไทยถูกจัดอันดับใกล้เคียงกับประเทศพม่าไปแล้วอีกด้วย

เช่นเดียวกับกรณีกระทรวงยุติธรรมระบุว่า ได้หาทางช่วยประกันตัวคนเสื้อแดงที่ถูกจับเพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจำนวน 180 คน และสามารถประกันได้เพียง 3 คนนั้น แต่นายอภิสิทธิ์ได้เอามาโฆษณาชวนเชื่อทันทีว่าเป็นการยืนยันว่ารัฐบาลให้ ความสำคัญกับเรื่องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน และมีความพยายามสร้างความปรองดอง

นอกจากนี้นายอภิสิทธิ์ยังจัดฉากสร้างภาพ ด้วยการนำคนเสื้อแดงที่ได้รับการประกันตัว 2 รายมาที่ทำเนียบรัฐบาลคือ นายสมหมาย อินทนาคา อายุ 32 ปี และนายบุญยฤทธิ์ โสดาคำ อายุ 24 ปี โดยอ้างว่าเพื่อต้องการขอความร่วมมือ เมื่อได้รับการประกันตัวจากกองทุนของรัฐแล้วขอให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการประกันตัวอย่างเคร่งครัด ไม่เช่นนั้นจะต้องถูกคุมขังอีก และศาลมีแนวโน้มจะไม่อนุญาตให้ประกันตัวรายอื่นๆ ทั้งที่คนเสื้อแดงที่ถูกคุมขังฟรีถึง 6 เดือนล้วนเป็นเหยื่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่รัฐบาลประกาศใช้

ที่สำคัญทั้งคู่ยืนยันว่าไม่ได้ร่วมการชุมนุมกับคนเสื้อแดงเลย โดยนายสมหมายระบุว่า เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมได้ไปตามเพื่อนที่ร่วมชุมนุมกลับบ้าน เพราะเห็นว่าสถานการณ์เริ่มไม่ปลอดภัย ช่วงเดินทางกลับผ่านสวนลุม ไนท์บาซาร์ เจอด่านทหารและถูกจับกุมข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่งเข้าเรือนจำทันทีโดยไม่มีการสอบสวนใดๆ ซึ่งนายสมหมายพยายามขอประกันตัวด้วยตัวเองมาตลอดตั้งแต่ถูกคุมขังใหม่ๆ หลังจากศาลตัดสินจำคุก 1 ปีจึงได้ยื่นอุทธรณ์ ก่อนที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจะเข้ามาช่วยเหลือเรื่องการให้ประกันตัวในภายหลัง ไม่ได้เกี่ยวกับ “บุญคุณ” หรือความช่วยเหลือของนายอภิสิทธิ์เลย

นอกจากนี้นายนที สรวารี แกนนำกลุ่มอิสรชนคนเดินทาง ยังออกมาเปิดโปงพฤติกรรมของรัฐบาลว่า เหยื่อ 2-3 รายที่ได้รับการปล่อยตัวออกมากลับโดนเจ้าหน้าที่ทำเนียบฯ บังคับให้เขียนจดหมายขอบคุณนายกรัฐมนตรีอีก

เหยื่อ 2 รายจึงเหมือนตกนรกซ้ำซาก เพราะไม่เพียงถูกขังคุกฟรีแล้ว ยังถูกทวงบุญคุณและต้องเขียนจดหมายชื่นชมคนที่สั่งขังตัวเองอีก ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากคนเสื้อแดงอีกนับร้อยคน ที่ตกเป็นผู้ต้องขังในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และที่น่าเศร้าใจคือ ในจำนวนนั้นมีนักศึกษา 3 คนถูกจับขังที่เรือนจำมหาสารคาม ซึ่งนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ได้ไปพูดคุยถึงในคุก ซึ่งนักศึกษาทั้ง 3 คนยืนยันว่าไม่ได้เป็นคนเสื้อแดง และไม่ได้ไปร่วมชุมนุมใดๆ แต่กลับโดนจับเพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถูกขังคุก 6 เดือนทั้งที่ไม่มีความผิด

ตายฟรี-ขังฟรี-เจ็บฟรี

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นายอภิสิทธิ์จะไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของ คอป. แต่พยายามอ้างเรื่องนิติรัฐและนิติธรรม ทั้งที่ใช้ พร.ก.ฉุกเฉินที่ไม่ต่างกับกฎหมายเผด็จการที่ใช้ข่มขู่และไล่ล่าฝ่ายตรงข้ามจนทุกวันนี้ อย่างที่ ศอฉ. ประกาศห้ามกลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุม แต่กลับเพิกเฉยกับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ

ขณะที่ก่อนหน้านี้นายคณิตได้แนะนำการเริ่มต้นง่ายๆว่า หากนายอภิสิทธิ์มีความจริงใจที่จะสร้างความปรองดอง จะต้องกล่าวคำ “ขอโทษ” กับเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการสังหารหมู่ก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งรัฐบาลต้องคิดและดำเนินการเอง แต่จนวันนี้คำ “ขอโทษ” ก็ไม่เคยออกจากปากนายอภิสิทธิ์หรือผู้นำกองทัพเลย ตรงข้ามกลับพยายามสร้างความชอบธรรมและบิดเบือนว่าไม่ได้เป็นคนสั่งฆ่า

ผลสรุปของดีเอสไอจึงสรุปว่า “ไม่สรุป” เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งที่ยิ่งเห็นชัดเจนมากขึ้นๆคือการพยายาม “ซื้อเวลา” เพื่อให้รัฐบาลอยู่ได้นานที่สุด และให้ประชาชนลืมเลือนเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ให้เป็นแค่ประวัติศาสตร์ โดย “คนเสื้อแดง” คือ “คนพิเศษ” ที่ได้รับอภินันทนาการจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยิ่งกว่า “ลด แลก แจก แถม” ด้วยการมอบสิทธิพิเศษ… “ตายฟรี ขังฟรี และเจ็บฟรี”

สังคมไทยวันนี้ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ มีแต่แสงไฟประลัยกัลป์ที่พร้อมจะแผดเผาศัตรูฝ่ายตรงข้ามอย่างเมามัน

ตราบใดที่ “คนสั่งยังลอยหน้า คนฆ่ายังลอยนวล” อย่าหวังว่าจะได้เห็นความสงบสุข สามัคคีปรองดองในชาตินี้!

โชคดีที่มี “อภิสิทธิ์” เป็นนายกฯตั้งแต่อายุ 46 ปี

เวรกรรมจริงๆ ประเทศไทย!!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 286 วันที่ 20 – 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 หน้า 16 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน