สัญญาณเข้มจาก ‘ป๋าเปรม’ ‘อภิสิทธิ์’ ได้ต่อตั๋วอำนาจ

เปลี่ยน พ.ศ. ใหม่แต่การเมืองไม่เปลี่ยน หลังสิ้นเสียงนับถอยหลัง 10-0 ก้าวเข้าสู่ปีใหม่ หลายเรื่องประเดประดังเข้าหารัฐบาล โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวขบวน

ความกดดันที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลหากจะนับนิ้วดูก็มีหลายเรื่อง

หนึ่งคือเรื่องที่คนไทย 7 คน ถูกทหารกัมพูชาจับตัวไปขึ้นศาลข้อหาบุกรุกดินแดน เข้าพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ชื่อนายพนิช วิกิตเศรษฐ์

ช็อตเด็ดในคลิปวิดีโอที่นายพนิชพูดผ่านกล้อง “อย่าให้ใครรู้ เรื่องนี้นายกฯรู้คนเดียว” ทำให้นายอภิสิทธิ์จำนนด้วยข้อเท็จจริง ต้องยอมรับว่ารับรู้การเดินทางไปชายแดนของนายพนิช

เรื่องคนไทย 7 คนถูกจับมีการตั้งคำถามเกิดขึ้นหลายประเด็น เพราะถูกนำไปผูกโยงกับการนัดชุมนุมใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อ ประชาธิปไตยในวันที่ 25 มกราคมนี้ เพื่อกดดันให้รัฐบาลยกเลิกเอ็มโอยูที่ทำไว้กับเขมร ซึ่งเป็นการชุมนุมแบบค้างคืน ไม่ชนะไม่เลิก

มีคนตั้งคำถามว่างานนี้ใครหลอกใครให้ไปถูกจับ เพราะคณะของนายพนิชประกอบไปด้วยคนของพันธมิตรฯที่แปลงร่างไปเป็นกลุ่มคนไทย หัวใจรักชาติ และคนของสำนักสันติอโศกที่แนบแน่นอยู่กับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ

มุมหนึ่งก็อย่างที่นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ ออกมาโวยวายว่ามีนายทหารวางแผนหลอกให้นายวีระ สมความคิด หนึ่งในแกนนำกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ ถูกทหารเขมรจับ เพราะรู้ว่างานนี้ต้องติดคุกแน่ เนื่องจากไม่ใช่การถูกจับข้อหารุกล้ำดินแดนเป็นครั้งแรก

หลอกไปถูกจับเพื่อลดทอนกำลังการชุมนุมในวันที่ 25 มกราคม เพราะถ้านายพนิชเดินทางไปดูปัญหาที่ดินจากข้อเรียกของประชาชนจริงอย่างที่ฝ่ายรัฐบาลกล่าวอ้าง ทำไมไม่นำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปด้วย และทำไมต้องเป็นนายพนิชที่มีสถานะเป็นแค่ ส.ส.กทม. ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่อะไรเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาโดยตรง

มุมหนึ่งคนฟากรัฐบาลมองว่างานนี้หลงเหลี่ยมพันธมิตรฯ เพราะคลิปวิดีโอที่บันทึกเอาไว้ตลอดการเดินทางเป็นการจงใจเอามาเปิดเผยเพื่อดิสเครดิตนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะประโยคเด็ดที่ว่า “นายกฯรู้คนเดียว” เป็นการทำเพื่อปั่นกระแสการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 25 มกราคม

เรื่องนี้กว่าหนังสือจะมาอยู่ในมือท่านก็คงรู้ผลแล้ว และหากผลออกมาอย่างที่เป็นข่าวคือนายพนิชจะรอดกลับมาประเทศไทยคนเดียวก็ยิ่ง เข้าทางพันธมิตรฯ

ประเด็นร้อนที่สองที่รัฐบาลต้องเจอคือ แรงกดดันต่อคนเสื้อแดงที่นัดชุมนุมใหญ่กันในวันที่ 9 มกราคม ที่จะมากันมากขึ้นหลังจากศาลปฏิเสธการประกันตัว สวนกับที่รัฐบาลพยายามบอกสังคมว่าต้องการให้มีการประกันตัวเพื่อสร้างความ ปรองดอง

การยื่นประกันตัวครั้งนี้เป็นความพยายามครั้งที่ 3 หลังจากที่แกนนำถูกจับกุม ครั้งแรกศาลยกคำร้อง อุทธรณ์คำสั่งก็ยืนยันยกคำร้อง รอจนรัฐบาลเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เอาความเห็นของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่ง ชาติ (คอป.) ไปยื่นขอประกันตัวใหม่ก็ยังไม่ได้รับอนุญาต แม้แต่ นพ.เหวง โตจิราการ กับนายก่อแก้ว พิกุลทอง 2 แกนนำที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไม่ได้คัดค้านการประกันตัวศาลก็ยังไม่อนุญาต

การชุมนุมในวันที่ 9 มกราคมคงเข้มข้นขึ้น เพราะคนเสื้อแดงมีข้อสงสัยว่าทำไมคนที่ถูกจับในข้อหาเดียวกันอย่างนายวีระ มุสิกพงศ์ จึงได้รับอนุญาตประกันตัวอยู่คนเดียว ทำไมนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำอีกคน จึงไม่ถูกถอนประกันตัวทั้งที่ดีเอสไอยื่นถอนประกันแล้วหลายครั้ง

อะไรคือมาตรฐานการพิจารณาให้หรือไม่ให้ประกันตัว

เรื่องร้อนอีกประเด็นหนึ่งคือ เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง โดยเฉพาะเรื่องระบบเลือกตั้ง เมื่อพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคการเมืองอื่นไม่เห็นชอบกับข้อเสนอลด ส.ส.เขต จาก 400 คน เหลือ 375 คน เพิ่ม ส.ส.บัญชีรายชื่อจาก 80 คน เป็น 125 คน มีเพียงพรรคประชาธิปัตย์ที่ยืนกระต่ายขาเดียวเห็นด้วยกับเรื่องนี้ เมื่อถึงเวลายกมือกันในสภาอาจถึงขั้นแตกหัก โหวตกันคนละทิศละทางจนสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลได้

แต่เดชะบุญในช่วงที่สารพัดปัญหารุมเร้าก็มีตัวช่วยออกมาค้ำยันขาเก้าอี้ให้นายอภิสิทธิ์

คอการเมืองรู้ดีว่าภาพที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ออกมาต้อนรับนายอภิสิทธิ์ถึงบันไดประตูหน้าบ้านและยืนคุยกันอยู่นานสองนาน เพื่อให้ช่างภาพหนังสือพิมพ์ ช่างภาพทีวี.บันทึกภาพมีนัยทางการเมืองอย่างลึกซึ้ง เพราะช่วงที่ผ่านมาไม่ว่าใครไปพบมักไม่มีภาพปรากฏตามสื่อ

เซียนการเมืองฟันธงว่านี่คือการส่งสัญญาณว่ายังให้การสนับสนุนนาย อภิสิทธิ์อยู่ ใครก็ตามที่คิดจะล้มนายอภิสิทธิ์ไม่ว่าด้วยวิธีการใดให้คิดเสียใหม่

เชื่อว่าหลังภาพเข้าพบป๋าปรากฏ พรรคร่วมรัฐบาลคงเสียงอ่อยลงไปเยอะ ขณะที่พันธมิตรฯและทหารบางกลุ่มที่คิดจะทำอะไรกันคงต้องทบทวนท่าที

“อภิสิทธิ์” ก็รอดไปได้ตามเคย

แหม…ช่าง “อภิสิทธิ์” จริงๆ

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6  ฉบับ 293 วันที่ 8-14 มกราคม พ.ศ. 2554 หน้า 8 คอลัมน์ จับกระแสการเมือง โดย ลอย ลมบน

 


ศาลที่เคารพ ถึงเวลาที่จะต้องตั้งหลัก ตั้งลำกันแล้ว

โดย : ยิ่งยศ สุขวงศ์
ที่มา : มติชนออนไลน์ 17 พ.ย. 2553

ติดตามอ่านข่าว คลิปฉาว เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์มาตลอด แล้วก็ยิ่งเห็นการหลงทางเละเทะของคนที่ตกเป็นข่าว ออกมาแก้ตัวให้เป็นขี้ปากว่า “เป็นการตากหน้ามาแถลงข่าว” เป็นการ “ออกหน้าแทนเพื่อน”

อ่านแล้วใจหนึ่งก็ปลงว่าถึงคราวซวย อีกใจก็อดสงสารไม่ได้ในความสัมพันธ์ที่ผู้เขียนมีส่วนรู้จักกับตุลาการศาล นี้บางคน (ไม่ใช่คนที่เป็นข่าว) ในฐานะ “น้อง” ที่ตุลาการรุ่นพี่เพื่อนซี้กันเขาพาออกงานฝากฝัง “น้องเล็ก” ตอนที่เป็นผู้พิพากษาฝึกหัด ให้ได้ร่วมวงเล่นเทนนิสด้วยกัน

ในสนามเทนนิสที่ผู้เขียนเป็นนายสนามอยู่นั้น มีผู้พิพากษาทุกศาลทั้งแพ่ง อุทธรณ์ ฎีกา มาร่วมวงคับคั่ง เพราะเราเลือกเอาวันหยุดราชการเสาร์ อาทิตย์ วันนักขัตฤกษ์ เป็นวันนัด จากเช้ามืดถึงเที่ยงวัน เป็นที่สนุกสนานครื้นเครงเป็นอันดี แถมมีนายทหารใหญ่ นายตำรวจใหญ่มาร่วมวง กลายเป็นวงเสวนาที่มีความน่ารัก น่านับถือ เมื่อระดับ “บิ๊กๆ” เขาคุยกัน ให้เกียรตินอบน้อมถ่อมตนให้แก่กัน

ติดตาติดใจในความนอบน้อมถ่อมตนของเหล่าท่านตุลาการนั้นๆ ตลอดมา และให้ความเอ็นดูแก่ผู้พิพากษาที่อ่อนอาวุโสกว่า ที่เขาจะยกยอให้เรียกขานว่า “พี่”

แล้วพี่คนนี้ก็เป็นคนพูดจาโผงผาง จนเป็นที่เกรงใจในความเสียงดัง ที่พวกน้องๆ เขาจะแปลความหมาย “เดี๋ยวพี่เขาด่าเข้าให้”

สิ่งที่เตือนเหล่าน้องๆ เป็นสำคัญ ก็คือ…”อย่าไปเล่นกอล์ฟเป็นอันขาด” ให้อรรถาธิบายว่า “กอล์ฟมันประกบติดตัว พูดคุยกันได้เป็นชั่วโมง แล้วค่ากรีนมันก็แพงกว่าค่าสนามเทนนิสเป็น 1,000 กว่าบาท โดยนิสัยของคนไทยเรา เมื่อได้คบหามีไมตรีต่อกัน ช่วยเหลือเจือจานออกค่ากรีนให้เป็นประจำ แถมยังมีการเลี้ยงจากเดิมพันที่ได้ในการพนันแต่ละหลุม แกล้งแพ้ให้มีเงินติดกระเป๋ากลับบ้านกระชับชิดถึงปานนี้ มีหรือที่จะคงความเป็นไม้บรรทัดอยู่ได้

ใครบางคนจะซึม ซับ…เสียใจกลายเป็นปลาสวยในตู้ที่เลี้ยงไว้อวดโชว์บารมี มีปลาราคาแพงที่ผู้เลี้ยงมีสิทธิที่จะขายต่อ เมื่อผู้ซื้อทุ่มไม่อั้น…ใครบางคนจะกลับตัวเลิกเป็นปลาสวยในตู้ก็ยังไม่ สายนะเออ

จำได้ว่าเคยเขียนบทความเตือนเรื่อง “สองมาตรฐาน” ที่เป็นคำพูดยอดฮิต ที่ปลุกระดมให้ชุมนุม ให้เกลียดชังล้มล้างรัฐบาล ให้มีการเลือกตั้งใหม่ ว่าให้ใช้หลักกฎหมายในการโต้แย้ง

นั่นก็คือ “ผู้กล่าวหาต้องเป็นผู้พิสูจน์” แล้วก็ไม่เห็นมีใครทำตาม ทำเหมือนคนมีแผล วัวสันหลังหวะ กลัวความจริงจะไปเปิดเผยในชั้นการให้การในศาล ทำเสียตอนแรกๆ คำนี้ก็ไม่มีใครพล่อยๆ พูดเป็นคำตลาด

มาคราวนี้มันหนักหนาสาหัสถึง ขนาดไม่ขี่ม้าเลียบค่ายให้เสียเวลา

ปล่อยหมัดเด็ดกันตรงๆ เพื่อดิสเครดิตศาล ให้เห็นว่ามีการวิ่งเต้น แทรกแซงศาล

ทำไมไม่ทำให้ เห็นว่า “เป็นการละเมิดอำนาจศาล”

สั่งให้ผู้กล่าวหาพิสูจน์ออกมาว่า “คลิปดังกล่าวมีอยู่จริง เป็นของจริง ไม่ใช่ของปลอม ตัดต่อ มันก็หนีไม่พ้นอยู่ดี ที่จะต้องมีการไล่บี้ไปถึงต้นตอตัวจริง… “มีอยู่จริง” จากนั้นก็มาพิสูจน์ว่า “เป็นของจริง” ไม่มีการตัดต่อทำเสียอย่างนี้ก็จะไม่ถูกเหน็บแนม ตากหน้า ออกหน้า เพราะมันจะเป็นการบังคับให้ต้องไปหามา ไม่ใช่โยนหน้าที่ให้ ตามที่กล่าวหากัน

เว็บต่างๆ ในอินเตอร์เน็ตนั้น ใครก็ทำขึ้นมาได้ แพร่หลายกว่าหนังสือพิมพ์หมื่นเท่าพันทวี

 


คำสอนของอาจารย์สัญญา แด่ผู้พิพากษาตุลาการทั้งหลาย

ที่มา : มติชนออนไลน์ 16 พฤศจิกายน 2553
โดย : สมลักษณ์ จัดกระบวนพล

ท่านได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นเลิศ ปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงตรง อิสระ ปราศจากอคติใดๆ ตามแนวปรัชญาที่ว่า “จงให้ความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที”

เมื่อเอ่ยชื่อ “ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์” ไม่มีบุคคลใดในประเทศไทยโดยเฉพาะนักกฎหมายจะไม่รู้จักท่าน อาจารย์เคยดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา อันเป็นตำแหน่งสูงสุดฝ่ายตุลาการ

เคยเป็นนายกรัฐมนตรี อันเป็นตำแหน่งสูงสุดทางฝ่ายบริหาร

ทั้งยังเคยเป็นรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ อันเป็นตำแหน่งสูงทางฝ่ายนิติบัญญัติ

นอกจากนั้นในทางวิชาการ ท่านเคยเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งยังเคยเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

และสิ่งสูงสุดในชีวิตของท่าน คือการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไว้วางพระราชหฤทัย โปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรี แล้วต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี และปฏิบัติหน้าที่แทบเบื้องพระยุคลบาทในตำแหน่งนี้ตราบจนถึงแก่อสัญกรรม

อาจารย์สัญญาเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขตุลาการ บิดาของท่านเป็นเนติบัณฑิต (สยาม) รุ่นแรก และรับราชการเป็นผู้พิพากษา เมื่ออาจารย์เข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษา ท่านเป็นตุลาการที่เป็นแบบอย่างที่ดีของตุลาการทั้งหลาย ทั้งในด้านความรู้ความสามารถและแนวคิด

ท่านได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นเลิศ ปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงตรง อิสระ ปราศจากอคติใดๆ ตามแนวปรัชญาที่ว่า “จงให้ความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที”

อาจารย์สัญญาเป็นผู้ริเริ่มให้มีการอบรมผู้ ช่วยผู้พิพากษา ผู้ที่ผ่านการสอบคัดเลือกเป็นผู้พิพากษาได้จึงต้องเป็นผู้ช่วยพิพากษา ผ่านการอบรมเสียก่อนจึงจะโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้พิพากษา เมื่อ 40 ปีมาแล้ว

ผู้เขียนผ่านการสอบคัดเลือกเป็นผู้พิพากษาได้ จึงต้องเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาก่อน คือ ผู้ช่วยผู้พิพากษา รุ่น 13 ผู้เขียนได้พบอาจารย์สัญญา เมื่อท่านมาให้การอบรมเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้พิพากษา ผู้เขียนจดจำคำสอนของท่านและนำมาเป็นหลักปฏิบัติตั้งแต่เป็นผู้พิพากษามาจน ถึงได้ปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ ป.ป.ช. คำสอนที่อยู่ในหัวใจของผู้เขียนก็คือ

“ผู้พิพากษาต้องเป็นผู้มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมแต่ความบริสุทธิ์ยุติธรรมนั้น ไม่ใช่เราคิดว่าตัวเรา (ผู้พิพากษา) มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่ต้องให้บุคคลทั่วไปเขาเชื่อว่าเราบริสุทธิ์ยุติธรรมจริง”

ความระแวงสงสัยในเรื่องความบริสุทธิ์ยุติธรรม หากเกิดขึ้นแก่ผู้พิพากษาตุลาการแล้ว ใช่จะทำให้สังคมนั้นปั่นป่วนหวั่นไหวเท่านั้น แม้แต่ฝ่ายผู้พิพากษาตุลาการเองก็จะเกิดความลำบากในการทำหน้าที่ด้วย

เพราะการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาตุลาการต้องขึ้นอยู่กับความศรัทธาของบุคคล หากเกิดความระแวงในความบริสุทธิ์ยุติธรรมเสียแล้ว จะวินิจฉัยสั่งการอะไรออกไป ก็ไม่เกิดความศรัทธาเชื่อถือ การทำงานของผู้พิพากษาตุลาการจะเป็นไปโดยลำบากเป็นอย่างยิ่ง หรืออาจกล่าวได้ว่าเกิด “วิกฤตศรัทธา”

โดยขออ้างอิงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเมื่อผู้เขียนดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดศาลหนึ่ง มีคหบดีของจังหวัดนั้นมาเชิญผู้เขียนและผู้พิพากษาในศาลนั้นไปร่วมงานแซยิด ของบิดาของเขาซึ่งก็จัดขึ้นทุกปี และในปีก่อนนั้นผู้เขียนและผู้พิพากษาก็เคยไปร่วมงาน

แต่ในปีดังกล่าวมีเหตุการณ์ไม่ปกติ เพราะบุตรชายของคหบดีผู้นั้นเป็นจำเลยอยู่ที่ศาลในคดีฆ่าผู้อื่น ผู้เขียนเป็นเจ้าของสำนวนคดีนี้ ระหว่างรอฟังคำพิพากษาก็ได้รับเชิญไปร่วมงาน ผู้เขียนต้องปฏิเสธการไปร่วมงาน แต่ก็อธิบายให้ผู้เชิญทราบว่า ถ้าผู้เขียนและผู้พิพากษาในศาลไปร่วมงานดังกล่าว และแม้ทั้งสองฝ่ายจะมีความบริสุทธิ์ใจเพียงใด แต่คู่ความอีกฝ่ายตลอดจนบุคคลทั่วไป เขาจะเชื่อหรือว่าเราบริสุทธิ์ยุติธรรมจริง หากเห็นว่าผู้ตัดสินคดีนี้ไปนั่งรับประทานอาหารอยู่กับฝ่ายจำเลย

คหบดีผู้นั้นก็ดีเหลือเกิน เพราะเข้าใจและไม่ได้แสดงความไม่พอใจแม้แต่น้อย คดีนั้นเป็นที่สนใจของประชาชนในจังหวัด ถึงกับมีผู้กล่าวกันว่า “จะดูซิว่า คนรวยจะมีสิทธิติดคุกหรือไม่”

ขอเรียนว่าคดีดังกล่าว ผู้เขียนและองค์คณะผู้พิพากษา พิพากษาจำคุกบุตรชายของคหบดีที่มาเชิญผู้เขียน เพราะพยานหลักฐานในสำนวนชัดเจน

อาจารย์สัญญามีคติยึดถือประจำใจว่า

“อันงานของตุลาการนั้นอะไรจะมาสำคัญกว่าจิตใจที่บริสุทธิ์ ยุติธรรมเป็นไม่มี ความรู้ความสามารถและความละเอียดรอบคอบนั้น เป็นความสำคัญอย่างมากจริงอยู่แต่ความบริสุทธิ์ยุติธรรมจากจิตใจเป็นความ สำคัญอย่างยิ่ง งานตุลาการเป็นงานอิสระใครจะมาบังคับความเห็นเราไม่ได้ ฉะนั้น งานตุลาการจึงเป็นงานต้องไว้ใจตัวเองว่าเรามีความบริสุทธิ์ยุติธรรมโดยถ่อง แท้และมั่นคง และคนเราเมื่อไว้ใจตัวของตัวเองได้แล้ว ก็ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรมใดๆ ทั้งสิ้น ดั่งนี้เขาผู้นั้นแหละย่อมเป็นตุลาการที่สมบูรณ์”

เมื่ออาจารย์สัญญา ได้รับเชิญเป็นวิทยากรอบรมผู้ช่วยผู้พิพากษา ท่านเคยให้คติเตือนใจที่มีคุณค่ายิ่งแก่ผู้ช่วยพิพากษา เพื่อยึดถือในการครองตนและประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมในการอบรมครั้งหนึ่ง อาจารย์แนะนำวิธีที่จะช่วยให้ผู้พิพากษาวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้อย่างถูกต้อง เป็นธรรมว่า

“ต้องทำจิตให้เป็นกลาง หมายความว่า ทำจิตใจให้ว่าง เวลาคิดเรื่องงานหรือนั่งบัลลังก์ จิตของเราต้องประภัสสร คือแจ่มใสสว่างจ้า ไม่มีโลภ ไม่มีโกรธ ไม่มีหลง… แต่บางทีก็มีมารมาผจญ ผมเองก็เคยถูกผจญเหมือนกัน ถูกเข้าแล้วก็คิดว่าเป็นอย่างไรก็เป็นไป ถึงจะต้องออกก็ออก เมื่อเราเห็นอย่างนี้ว่ายุติธรรรม แม้จะกระทบกับการเมือง เป็นอย่างไรก็เป็นกัน ถ้านึกได้อย่างนี้ แสดงว่าจิตว่าง การที่ผู้พิพากษามีจิตมั่นคงผ่องใส ปราศจากอคติ และไม่รวนเรไปในทางหนึ่งทางใด จะทำให้ปฏิบัติหน้าที่อิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีอย่างเป็นธรรมมากขึ้น”

นอกจากจะยึดมั่นในจริยธรรม เป็นแบบฉบับของผู้พิพากษาตุลาการ ที่สมควรยึดถือและปฏิบัติตามแล้ว ท่านยังเป็นปรมาจารย์วางหลักในการเรียบเรียงคำพิพากษา

เช่นในการวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นเจ้าพนักงานหรือไม่ อาจารย์สัญญาวางหลักไว้ว่า

“การที่จะถือว่าบุคคลใดเป็นเจ้าพนักงานนั้น จะต้องพิจารณาโดยจำกัด เพราะความเป็นเจ้าพนักงานนั้น มิใช่จะก่อให้เกิดหน้าที่ต้องรับผิดเมื่อตนกระทำผิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลอื่นอีกด้วย กล่าวคือ เมื่อบุคคลใดกระทำการบางอย่างต่อบุคคลซึ่งถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เช่น ขัดคำสั่งหรือขัดขวาง แม้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด ถ้ากระทำต่อบุคคลที่มิใช่เจ้าพนักงาน กฎหมายทางฝ่ายอาญายังบัญญัติเอาการกระทำนั้นเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ต่าง หากเป็นพิเศษด้วย ซึ่งบุคคลธรรมดาสามัญจะอ้างเอาเช่นนั้นไม่ได้ ฉะนั้น การที่จะถือว่าผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานหรือไม่นั้น จึงต้องมีความสำคัญที่จะต้องพิจารณาดูว่าผู้นั้นได้รับการแต่งตั้งให้เป็น เจ้าพนักงานตามกฎหมายหรือมิใช่ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ผู้ใดจะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ผู้นั้นจะต้องได้รับการแต่งตั้งโดยถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการแต่งตั้งข้า ราชการให้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ หรือมิฉะนั้นก็ต้องเป็นผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งหน้าที่ซึ่งมีกฎหมายระบุไว้โดย เฉพาะเจาะจงให้ถือเป็นเจ้าหน้าที่”

คำสอนของอาจารย์สัญญานี้ สำหรับผู้เขียน นอกจากจะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษาแล้ว ยังเป็นหลักที่นำมาใช้เมื่อปฏิบัติหน้าที่กรรมการ ป.ป.ช.ด้วย

ผู้เขียนเห็นว่าผู้ที่มีความรู้ด้านกฎหมายดียอดเยี่ยม ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้พิพากษาตุลาการที่ดีเสมอไป หากไม่มีความเป็นอิสระ

อาจารย์สัญญากล่าวถึงความมีอิสระของคนเป็นผู้พิพากษาตุลาการว่า

“การที่ผู้พิพากษามีจิตมั่นคง ผ่องใส ปราศจากอคติ และไม่รวนเรไปในทางหนึ่งทางใด จะทำให้ปฏิบัติหน้าที่อิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีอย่างเป็นธรรมมากขึ้น ถ้าเรามีจิตที่แข็งแกร่งอยู่ในบังคับบัญชาของเรา เป็นเหล็กกล้า เป็นจิตของตุลาการแล้ว อะไรๆ ก็ไม่สำคัญเลย คนอื่นเขาจะเห็นหรือไม่เห็น ผู้บังคับบัญชาจะยกย่องหรือไม่ยกย่อง ก.ต. ท่านจะให้ 2 ขั้นหรือไม่ให้ก็ไม่เป็นไร ความยุติธรรมไม่มีเสื่อมเสีย ติดตัวอยู่ตลอดไป อย่างน้อยที่สุดใจเรายังเบิกบานภาคภูมิใจ ไม่ต้องเกรงกลัวอะไรหรือผู้ใดทั้งสิ้น นี่ถือความเป็นอิสระ ไม่ใช่อิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีเท่านั้น แต่อิสระในใจของตน คุณลองคิดดูเป็นจริงได้ไหมหรือเพ้อฝัน ผมขอยืนยันว่าเป็นจริงได้ คุณต้องลองทำดูก่อนจึงจะเห็นจริง ถ้าจิตของคุณมั่นคงเป็นเหล็กกล้าเบิกบาน ประภัสสร ผ่องใส ว่างและมั่นคง ทุกสิ่งทุกอย่างจะมาเอง ทั้งความดี ทั้งโชคลาภ มีความสุขในครอบครัว และดูคนด้วยความเต็มหน้าเต็มตา ชีวิตทั้งชีวิตจะดีไปด้วย บรรพตุลาการของเรามีตัวอย่างให้เห็นมากมายที่ท่านทำได้อย่างนี้”

คำสอนของอาจารย์สัญญาที่ผู้เขียนเห็นว่าสุดยอดที่ผู้พิพากษาต้องจดจำอย่าได้ หลงลืมเป็นอันขาดก็คือ “ศาลยุติธรรมจะอยู่ได้ด้วยการเคารพนับถือของคนทั้งหลาย ปัจจุบันเขายังเคารพศาลอยู่ เมื่อครั้งผมเป็นรัฐบาลมีข้อกฎหมายที่เขาถกเถียงกันใหญ่โต แต่ลงท้ายมีคนบอกว่า เรื่องนี้ความจริงศาลฎีกาท่านตัดสินแล้วว่าเป็นอย่างไร ข้อถกเถียงเงียบทันที หลายคนเขายังเคารพศาลอยู่เพราะฉะนั้นพวกคุณจะต้องรักษาความดีอันนี้ไว้ให้ เขานับถือต่อไป ถ้ามีเรื่องทุจริตเกิดขึ้นมาทีไร พวกผู้พิพากษาที่เกษียณไปแล้วก็เสียอกเสียใจกันใหญ่ ไม่น่าเลยศาลจะเป็นอย่างนี้ ทำได้อย่างไร ทำลายสถาบันป่นปี้หมด นี้แหละครับไม่ใช่ความรังเกียจจะแรงเฉพาะเพื่อนคุณ ผู้บังคับบัญชา ครูบาอาจารย์ มันแรงไปทุกตุลาการแม้จะออกไปแล้ว”

เป็นที่น่าสังเกตว่า คำสอนของอาจารย์สัญญา จะกล่าวถึงตัวผู้พิพากษาตุลาการทั้งในด้านการปฏิบัติ การวางตัว แนวความคิด และจิตวิญญาณของการเป็นผู้พิพากษาตุลาการ หากพิจารณาคำสอนของอาจารย์ให้ดี จะจับหลักได้ว่าเมื่อมีเหตุวิกฤตศรัทธาเกิดขึ้นแก่ผู้พิพากษาตุลาการ

ผู้พิพากษาตุลาการต้องตรวจสอบตัวเอง ทั้งแนวความคิดและการปฏิบัติตัว ว่ามีข้อบกพร่องอย่างไร จึงทำให้สังคมเสื่อมศรัทธา

เพราะการแก้ไขตัว เราเองนั้น น่าจะทำได้ง่ายกว่าที่จะให้บุคคลอื่นเขาแก้ไขพฤติกรรมของเขา

ยกเว้นท่านจะแน่ใจว่าได้ปฏิบัติตนถูกต้องครบถ้วนตามคำสอนของอาจารย์สัญญาแล้ว แต่ก็ยังมีคนกล่าวหาท่านอยู่อีก


น้ำท่วมศาล

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข 6 – 12 พฤศจิกายน 2553 หน้า 18-19
คอลัมน์ เรื่องจากปก
โดย ทีมข่าวรายวัน

“คณะกรรมการได้สรุปไปด้วยว่านายวิรัชมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ทำไม่ถูกไม่ควร ไปพบกับนายพสิษฐ์ และที่เขาถามนำก็ไม่ควรตอบให้เกี่ยวพันโยงใยถึงขนาดนั้น เพราะรู้อยู่แล้วว่านายพสิษฐ์เป็นเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่ตัวเองเป็นทีมกฎหมายของพรรคยิ่งไม่ควรไป เพราะผูกโยงกันอยู่ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเกิดผลกระทบต่อพรรค ทำให้คนรู้สึกคลางแคลงใจสับสนในพรรคว่าเป็นอย่างไรกันแน่ ส่วนบทลงโทษจะกระทบต่อตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคของนายวิรัชหรือไม่นั้นอยู่ ที่ดุลยพินิจของหัวหน้าพรรคที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับพรรคข้อที่ 79 คือการตักเตือนหรือภาคทัณฑ์”

นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.ตาก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีนายวิรัช ร่มเย็น ส.ส.ระนอง ปรากฏตัวในคลิป และหารือกับนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยจะให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายก-รัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตัดสินใจดำเนินการต่อ

ขณะที่ นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ อ้างว่าเป็นกระบวนการทำลายความน่าเชื่อถือของ ศาลรัฐธรรมนูญ และกล่าวหาว่าพรรคเพื่อไทยพยายามสร้างกระแสว่าหากไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ เช่นเดียวกับพรรคการเมืองอื่นที่ถูกยุบไปก่อนหน้านี้จะเป็น 2 มาตรฐาน โดยเฉพาะนายจาตุรนต์ ฉายแสง ที่ออกมาแสดงจุดยืนสอดรับว่ามีการพิจารณา 2 มาตรฐาน และเรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลาออกทั้งคณะ เพื่อสร้างกระแสสังคมให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ความจริงในมุมมืด?

ผลการสอบสวนของพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่ได้ทำให้คนทั่วไปแปลกใจที่ระบุว่า นายวิรัชไม่ผิดและมีโทษ เบาหวิว ทั้งที่คำพูดในคลิปเชื่อมโยงถึงคดียุบพรรคประชาธิปัตย์โดยตรง และนายวิรัชยอมรับว่าได้พบกับนายพสิษฐ์หลายครั้งก่อนหน้านี้

เช่นเดียวกับผลการสอบสวนของศาลรัฐธรรมนูญที่มีนายสนิท จรอนันต์ ที่ปรึกษาสำนัก งานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีคลิปการหารือของคณะตุลาการศาลรัฐ ธรรมนูญในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์หลุดออกไปเผยแพร่ต่อสาธารณชน เปิดเผยว่า จะสรุปผลการสอบให้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป คณะกรรมการทำได้แค่การประมวลเรื่องราวว่ามีใครเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง หากมีเจ้าหน้าที่ของศาลเข้าไปเกี่ยวข้องต้องดำเนินการภายในตามกระบวนการทาง วินัย ส่วนทางตำรวจก็สอบสวนหาว่าใครเป็นคนทำคลิปและนำไปเผยแพร่ แม้แต่นายพสิษฐ์ยังสรุปไม่ได้ว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่

ดังนั้น ผลการสอบสวนคลิปฉาวของพรรคประชาธิปัตย์และศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้ตอบข้อ กังขาหรือข้อสงสัยของสังคมว่ามีการพยายามใช้อำนาจทางการเมืองแทรกแซงศาลรัฐ ธรรมนูญหรือไม่ และตุลาการศาล รัฐธรรมนูญยังเป็นองค์กรที่มีความสุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่

เพราะคลิปที่ถูกเผยแพร่ 2 ชุดคือ ชุดแรก 5 ตอน เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม และชุดที่สอง 3 ตอน เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม กลายเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่อาจทำลายศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันตุลาการให้หมดความ น่าเชื่อถือจากประชาชน โดยเฉพาะคลิปชุดที่ 2 ยิ่งตอกย้ำความขัดแย้งและพฤติกรรมไม่เหมาะสมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะจริงหรือเท็จอยู่ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า “จะทำความจริงให้ปรากฏ” หรือปกปิดความจริง และปล่อยให้เรื่องเงียบหายไปเอง โดยเพิกเฉยต่อความเชื่อถือและศรัทธาของประชาชน

ปฏิรูปหรือยุบทิ้ง?

เสียงที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปศาลทั้งระบบจึงดังมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญที่มีการเสนอให้ยุบทิ้งเพื่อไม่ให้ศาลต้องถูกครหาว่า เป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมือง แม้แต่ตุลาการจำนวนไม่น้อยต้องการให้ดึงศาลกลับมา เพราะไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง หรือศาลฎีกาแผนกคดี อาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทาง การเมือง ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือเกี่ยวข้องกับการเมืองได้ เพราะรัฐ ธรรมนูญบัญญัติให้ใช้อำนาจหน้าที่กับองค์กรของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ยังมีผลไปถึงเรื่องสิทธิ เสรีภาพของประชาชนและการควบคุมตรวจสอบต่างๆ

โดยเฉพาะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สุดและเด็ดขาด มีผลผูกพันบุคคล องค์กร และหน่วยงานของรัฐทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ จึงต้องยอมรับผลกระทบจากทุกฝ่าย

ตุลาการจึงต้องมีจรรยาบรรณ โดยเฉพาะความสุจริตเที่ยงธรรม ต้องไม่มีแม้แต่ความอคติ หรือความชอบ ความเกลียดชังส่วนตัว เพื่อยืนหยัดในความถูกต้อง ต้องพร้อมถูกตรวจสอบและถูกยื่นถอดถอนจากวุฒิสภา

วิกฤตศาลรัฐรรมนูญขณะนี้จึงส่งผลกระทบต่อตุลาการทั้งระบบ หลังจากก่อนหน้านี้มีการวิพากษ์วิจารณ์ “ตุลาการภิวัฒน์” ที่กล่าวหา 2 ประมุขศาลว่าเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทำให้บ้านเมืองวิกฤตและกลายเป็น “ตุลาการวิบัติ” ขณะนี้

ชาวเน็ตจวกเละ

วิกฤตหรือความเสื่อมที่เกิดขึ้นกับศาลรัฐธรรมนูญยังดูได้จากกระแสสังคม ชาวเน็ตที่แห่เข้าชมคลิปฉาว 3 ตอนใหม่หลังจากถูกเผยแพร่ไม่กี่วัน ปรากฏว่ามียอดเข้าชมหลายหมื่นครั้ง แถมโพสต์จวกเละว่าถ้าบทสนทนาเป็นความจริงก็ถือเป็นความเสื่อมเสียอย่างยิ่ง กับกระบวนการยุติธรรม บางคนเชื่อว่าตุลาการไม่มีอิสระ ถูกอำนาจมืดแทรกแซง และเรียกร้องให้ลาออก แต่มีบางกลุ่มโพสต์ให้กำลังใจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและนายอภิสิทธิ์ให้ทำงาน ต่อไป

อย่างผู้ใช้นาม TheFlukemon ระบุว่า “ผมไม่สนใครถ่ายคลิป ใครปล่อยคลิป ผมสนใจแต่ที่เขาพูดในคลิป 3 คลิปนี้ไม่จัดฉาก ถามเองตอบเองแน่ ฟังเขาพูดก็รู้แล้ว” bestbuysiam ระบุว่า “โดนเต็มๆ บอกตรงๆ เลยว่าควรปลดได้แล้ว ถ้าไม่ปลดแสดงว่าสมรู้ร่วมคิดกัน เผด็จการมันเป็นแบบนี้นี่เอง” genotype1000 ระบุว่า “วันนี้สื่อกระแสหลักไม่ใช่สื่อที่เป็นกลางอีกต่อไป สื่อที่เห็นแก่ผลประโยชน์ไม่สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ ยุคนี้สื่อซื้อได้ถ้ามีเงินและปืน” kazilong ระบุว่า “ศาลประเทศนี้เป็นอย่างนี้นี่เอง สงสารประ- เทศนี้จริงๆ” DonXedoza ระบุว่า “นี่เพียงแค่ซ้อมละครเรื่อง “น้ำท่วมฟ้า ปลากินดาวเท่านั้นแหละ”

songthai ระบุว่า “มันชัดเจนแล้วว่าพวกมันเป็นพวกเดียวกันหมดอย่างที่เขาว่ากันจริงๆด้วย นี่แหละหนอมือที่มองไม่เห็นที่คอยบงการประเทศไทยที่คุณสมัครว่าไว้ อำมาตย์ครอบงำชาติหมด แล้ว” และข้อความว่า “เป็นกลางยังไง คนทั่วประเทศตาสว่างแล้ว พูดมาได้พวกมัน!!! อย่างโน้นอย่างนี้ เรียกฝ่ายโจทก์คือพรรคเพื่อไทยว่าพวกมัน เรียก ส.ส.เพื่อไทยว่าไอ้ตู่!! เหอๆ แถมยังเตรียมอีกเพียบ แต่แหกหมดแล้วครับ เจอแฉไปอีกรอบ!!! นี่แหละคนที่ คมช. ตั้งขึ้นมา” bundit1180 ระบุว่า “พระบิดาแห่งกฎหมายไทยเคยสอนไว้ว่า เอ็งกินเหล้าเมายาไม่ว่าหรอก…แต่อย่ากินสินบาทคาดสินบน ลืมหรือยังท่านระพีฯสอนไว้น่ะ”

ถามหาความรับผิดชอบ

แม้วันนี้จะมีเสียงเรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลาออกทั้งคณะ แต่พรรคประชาธิปัตย์ที่มีนายอภิ-สิทธิ์เป็นหัวหน้าไม่อาจปฏิเสธความรับผิด ชอบได้เช่นกัน หาก “ความจริง” ในคลิปไม่ปรากฏหรือยังคลุมเครือ แค่การตำหนินายวิรัชมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมเท่านั้น ทั้งที่นายวิรัชเป็นฝ่ายกฎหมายของพรรคและเป็น ส.ส. หลายสมัย จึงมีวุฒิภาวะมากพอที่จะรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก ก่อนหน้านี้มีกรณีนายทศพล เพ็งส้ม ส.ส.นนทบุรี พรรค ประชาธิปัตย์ ที่เป็นทีมกฎหมายของพรรคไปรับเอกสารจากเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญนอกสถานที่ ว่ามีเบื้องหลังอะไรหรือไม่ แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้คือความไม่เหมาะสม

กรณีคลิปฉาวคดียุบพรรคประชาธิปัตย์จึงอาจมองได้ทุกแง่มุม ไม่ใช่จะระบุทันทีว่าเป็นพรรคการ เมืองฝ่ายตรงข้าม แต่ไม่ว่าจะเป็นฝีมือของฝ่ายใด ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่าไม่ได้เป็น “โสเภณี” ที่ใครจะซื้อหรืออยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่มใดที่จะสั่งได้

ขณะเดียวกันมีเสียงเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์แสดงความรับผิดชอบด้วยการยุบ สภาและเลือกตั้งใหม่ เพราะไม่ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ออกมา อย่างไรก็มีข้อกังขาและถูกโจมตีทั้งจากฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยแน่นอน

หากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตัดสินไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์จะมีกระแสการเมือง และกระแสสังคมกดดันศาลรัฐธรรมนูญจนอาจมีคนบางกลุ่มถือโอกาสสร้างสถานการณ์ ให้ลุกลามบานปลาย และนำไปสู่ข้ออ้างให้กองทัพทำรัฐประหารได้

รัฐบาลเน่า-ผู้นำหมดสภาพ?

โดยเฉพาะการโจมตีถึงภาวะความเป็นผู้นำของนายอภิสิทธิ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นหลายครั้งว่ามีภาวะความเป็นผู้นำที่จะบริหารบ้านเมืองหรือ ไม่ ไม่ใช่แค่เชื่องช้าและไม่เด็ดขาด แต่ยังเต็มไปด้วยข่าวการทุจริตคอร์รัปชันมากมาย ปัญหายาเสพติดและแก๊งมาเฟียก็เต็มบ้านเต็มเมือง แม้แต่ปัญหาสลากขายเกินราคาและเจ้ามือหวยเถื่อนที่เคยประกาศจะกวาดล้างอย่าง เด็ดขาดก็แก้ไม่ได้ ทั้งยังมอมเมาประชาชนโดยให้พิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาลเพิ่มอีกถึง 18 ล้านฉบับ จึงเหมือนการส่งเสริมมาเฟียกองสลากและเจ้ามือหวยเถื่อนที่มีเงินหมุนเวียน นอกระบบนับหมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนมีสีและนักการเมือง

อย่างที่ พล.ต.ต.วิสุทธิ์ วานิชบุตร รองผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี เปิดโปงการโยกย้ายนายตำรวจที่ไม่เป็นธรรม เพราะตนไปขัดแย้งกับเจ้ามือหวยเถื่อน บ่อนการพนัน และการค้าน้ำมันเถื่อน รวมถึงนักการเมืองใกล้ชิดนายกรัฐมนตรีชื่อ “สระอิ สระอา” จึงถูกกลั่นแกล้ง ทั้งยังโจมตีคนใกล้ชิดนายอภิสิทธิ์ว่าเป็น “วอลเปเปอร์เน่า” ที่ทำให้คนในบ้านติดโรค ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งคณะกรรมการตรวจสอบด้านวินัยกับ พล.ต.ต.วิสุทธิ์ นอกจากนี้นายศิริโชคยังเตรียมฟ้อง พล.ต.ต.วิสุทธิ์อีกด้วย

การออกมาพูดความเน่าเฟะในระบบราชการและ การเมืองจึงอาจทำให้ พล.ต.ต.วิสุทธิ์ตายเหมือน “จ่าเพียร” (พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา) ที่ก่อนหน้านี้ก็ออกมาร้องขอความเป็นธรรมกับนายอภิสิทธิ์แต่ถูกเพิกเฉยจน เสียชีวิตในที่สุด

ความจริงกับโจร?

บ้านเมืองขณะนี้จึงเหมือนอยู่ภายใต้แดนสนธยาที่ไม่ใช่แค่ 2 มาตรฐาน แต่หลายมาตรฐาน เพราะแม้แต่กระบวนการยุติธรรมที่ตุลาการเคยเป็นเสาหลักยังสั่นคลอน และถูกตั้งคำถามถึงความสุจริตเที่ยงธรรม

ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องตรวจสอบเพื่อค้นหา “ความจริง” มาพิสูจน์ต่อประชาชน ไม่ใช่พยายามปิดบังข้อมูลและเบี่ยงเบนประเด็นไปที่ผู้เผยแพร่คลิป ซึ่งมีแต่จะทำให้สังคมกังขาและไม่เชื่อมั่น

อย่างที่นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่าต้องทำความจริงให้ปรากฏเท่านั้นจึงจะยุติวิกฤตและเรียกความเชื่อ มั่นของศาลรัฐธรรมนูญกลับคืนมาได้

ไม่ใช่แค่จับผู้เผยแพร่คลิปเท่านั้น แต่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเนื้อหาในคลิปนั้นจริงหรือเท็จ ไม่ใช่ใช้คำพูดหักล้างและกล่าวหาใครเป็น “โจร” หรือ “คนผิด” แต่ทั้งหมดอยู่ที่ “ความจริง” ที่จะให้ความยุติธรรมอย่างแท้จริง

“ตุลาการ” วันนี้กำลังอยู่ท่ามกลางพายุและอุทกภัยที่โหมกระหน่ำ…กำลังจะจมแหล่มิจมแหล่…

ธรรมชาตินั้นช่างโหดร้ายในยามที่เกิดภัยพิบัติ แต่เมื่อสืบสาวราวเรื่องย้อนกลับไปก็จะพบว่า “มนุษย์” นั่นเองที่โหดร้ายกับธรรมชาติ ทำลาย “สมดุล” ของธรรมชาติ จึงถูกธรรมชาติ “เอาคืน”

“กฎแห่งกรรม” โดยแท้… บุ๋ง…บุ๋ง…บุ๋ง…!!

 


อย่าให้เรื่อง ‘อื้อฉาว’ เงียบหายไป

ที่มา : หนังสือพิมพ์โลกวันนี้ 5 พฤศจิกายน 2553
โดย : ด๊อกเตอร์ทอง

วันนี้ดูเหมือนเรื่องน้ำท่วมจะเข้ามากลบเรื่อง “อื้อฉาว” ต่างๆไปอย่างสนิท ทั้งเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องของการเลือกตั้งใหม่ที่คนถูกแขวนยัง “คิดนาน” ให้คำตอบแก่สังคมไม่ชัดเจนว่าจะลงเลือกตั้งใหม่หรือไม่ อย่างไร ทั้งที่เป็นเรื่องง่ายมากหากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในสังคมที่เจริญแล้ว

ดูเหมือนว่า “มาตรฐานว่าด้วยจริยธรรม คุณธรรม” ของคนในสังคมของเราแม้จะป่วยการพูดกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าได้เลยเวลาของการ ทบทวนแก้ไขอะไรให้ดีขึ้นมาเนิ่นนานเต็มที แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าเราจะสามารถปรับเปลี่ยนนิสัยใจคอของคนของเราให้ เกิดความมีจิตสำนึกต่อสาธารณะได้ทัดเทียมคนอื่นเขาได้เมื่อไร

ทำให้เห็นว่าหนทางที่เหลืออยู่เพียงประการเดียวในขณะนี้ เพื่อช่วยกันทำให้สังคมของเรายืนหยัดอยู่ต่อไปได้ ก็ต้องทำให้เรื่องที่ต้องควานหาคนผิดมาลงโทษหลายเรื่องที่เคยดังกระหึ่มก่อนหน้านี้ ไม่ให้เงียบหายไปจากความทรงจำของ คนในสังคม

เพราะหลายครั้งที่คนไทยถูกกล่าวหาว่า “ลืมง่าย” ทั้งที่เชื่อว่าลึกๆแล้วคนไทยไม่ใช่ว่าลืมง่าย แต่คนไทย “ให้อภัยคนง่าย” และไม่คิดผูกใจเจ็บกับใครถ้าไม่จำเป็น ตรงนี้มีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง หากเราให้อภัยและเมตตาคนที่ควรให้อภัย สังคมก็จะผาสุก ดำรงชีวิตกันอย่างปลอดภัยไร้ปัญหา

แต่การผ่อนปรนหรือประนีประนอมกับคนที่ยากต่อการแก้ไข ปรับเปลี่ยนให้เป็นคนดีของสังคมบางกลุ่ม บางพวก ย่อมไม่เกิดผลดีหรือจะเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมดีขึ้นมาได้ เพราะขนาดมีกฎบัตรกฎหมายกันอย่างชัดเจนคนเหล่านี้ก็ไม่เคยกลัวเกรง เพราะเชื่อมั่นในฤทธิ์เดชแห่งอำนาจที่ตัวเองถือครองอยู่เป็นหลักใหญ่

ถึงวันนี้เราอาจต้องนับหนึ่งกับหลายองค์กรที่อาจจำเป็นต้องทบทวนบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบว่าสมควรที่จะต้องทุ่มเทเงินทองงบประมาณเพื่ออุดหนุนเจือจานกันต่อไปหรือไม่ ด้วยเงินงบประมาณแผ่นดินซึ่งเป็นเงินของประชาชน ไม่ใช่ว่าจะมอบให้ใครหรือผู้หนึ่งผู้ใดนำไปใช้จ่ายได้อย่างไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ตอบแทนอย่างคุ้มค่าได้

หากเรายังมีองค์กรที่ต้องปรับเปลี่ยนหรือเคลื่อนย้ายถ่ายเทให้ถูกต้อง เหมาะสมอย่างไรก็จำเป็นต้องทำ และคนในองค์กรเองก็ต้องเข้าใจและยอมรับได้ จะต้องไม่คิดว่าการโยกย้ายเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องผิดปรกติ เพราะความเป็นข้าราชการเป็นเรื่องปรกติที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนได้อย่าง เหมาะสมอยู่เสมอ

ความจริงองค์กรอิสระหลากหลายองค์กรที่จะต้องได้รับการทบทวนบทบาทหน้าที่ ส่วนมากเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบคนอื่น แต่ปรากฏว่ามักเกิดคำถามที่น่าสนใจตลอดเวลาว่า “ใครกันจะเป็นคนทำหน้าที่ตรวจสอบองค์กรเหล่านั้น (who guards the guardian)”

นั่นคือสิ่งที่น่ากังวล เพราะทุกวันนี้เรามอบอำนาจให้องค์กรอิสระหลายองค์กรมีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากล้นกระทั่งทำให้คนในองค์กรเองอาจเข้าใจผิดคิดว่าอำนาจนั้นคือสิ่งที่ผูกติดกับองค์กร หรือมีความอิสระกระทั่งไม่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมคนรอบข้าง

สิ่งเหล่านี้ถือว่าอันตรายอย่างยิ่งต่อการพัฒนาองค์กรอิสระหลายองค์กรใน ระยะยาว เพราะปัญหาเกี่ยวกับ “ทัศนคติ” มุมมองความเชื่อเมื่อลองได้หยั่งรากลึกจะสร้างปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “วัฒนธรรมองค์กร” ที่เราคงได้เห็นบางองค์กรที่เกิดปัญหาคล้ายๆกัน เช่น “องค์กรตำรวจ” ที่คนในองค์กรยึดติดกับอำนาจอย่างเคยตัว โดยเฉพาะคนที่มีอำนาจในองค์กร นี่เพียงแค่องค์กรเดียวก็ทำให้สังคมสับสนวุ่นวายพอแล้ว

“พอเถิดครับ ขอให้เชื่อว่าหากทุกคนรู้จักพอ ก็จะช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมทางสังคมและการบริหารจัดการให้ดีขึ้นมาได้”