ถ้อยคำจาก ′หมู่บ้านแดง′

หนังสือพิมพ์มติชนรายวันหยิบยืมบทรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่ตีแผ่หมู่บ้านคนเสื้อแดงที่หนองหูลิง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

หลังจากนั้นก็พบว่าหมู่บ้านคนเสื้อแดงมีอยู่ทุกที่ทุกทาง จึงถือโอกาสที่ข่าวคราวกำลังน่าสนใจ ขอความช่วยเหลือจากผู้สื่อข่าวที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลเข้าไปถามไถ่

ทำไมจึงเป็นหมู่บ้านคนเสื้อแดง

คำตอบที่ได้รับมาจากปากคำของชาวบ้าน น่าบันทึกไว้

ร.ต.ต.กมลศิลป์ สิงหสุริยะ ประธานกลุ่มเสื้อแดงอุดรธานี ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงแห่งแรกในประเทศไทย บอกว่า “หมู่บ้านเสื้อแดง” เกิดขึ้นจากการที่กลุ่มคนเสื้อแดงที่ไปรวมตัวเรียกร้องประชาธิปไตยที่ กรุงเทพฯ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียุบสภา แต่นายกฯไม่ยุบ คนที่ชุมนุมถูกปราบปราม

เขาให้สัมภาษณ์แบบนี้ แม้รัฐบาลจะบอกว่าไม่ได้ปราบปราม แต่เขารู้สึกว่าถูกปราบปราม

พอยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แกนนำถูกจับ ชาวบ้านที่เหลือมาคุยกัน และตั้งให้ ร.ต.ต.กมลศิลป์เป็นประธาน

เกิดความคิดไปสำรวจหาหมู่บ้าน พบมีคนเสื้อแดงอยู่ 60-70 เปอร์เซ็นต์ แล้วมาจัดทำกิจกรรมตั้งเป็นหมู่บ้านเสื้อแดงขึ้น

วันที่ 15 ธันวาคม 2553 ไปทำกิจกรรมที่บ้านหนองหูลิง อำเภอเมืองอุดรธานี และถือโอกาสปักป้ายหมู่บ้านเสื้อแดง

การรวมตัวของคนเสื้อแดง มีจุดยืน 3 ข้อ

1. เรียกร้องประชาธิปไตยที่ถูกต้องและเต็มใบ

2. ขอความเป็นธรรมให้ปล่อยแนวแนวร่วมที่ถูกคุมขังอยู่ทั่วประเทศ

3. ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับมาบริหารประเทศ

หลังจากนั้นผู้สื่อข่าวได้ติดตามต่อไปโดยพบว่าหมู่บ้านเสื้อแดงมีอยู่ในหลายๆ จังหวัด

ที่จังหวัดขอนแก่น นายชัชวาล ต้นกันยา ชาวบ้านหมู่บ้านเสื้อแดง บอกว่า คนในหมู่บ้านมีทั้งสิ้น 300 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่เป็นคนเสื้อแดง

สมาชิกกลุ่มคนเสื้อแดงมีมาตรฐานเดียว รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ช่วยเหลือคนในชนบท สามารถจับต้องได้ ขณะที่รัฐบาลปัจจุบันเป็นแบบสองมาตรฐาน

ที่จังหวัดมหาสารคาม นายพงษ์ศักดิ์ แก่นสุวรรณ ผู้ใหญ่บ้านหนึ่งใน 3 หมู่บ้านเสื้อแดง เล่าว่า หมู่บ้านเสื้อแดงเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มคนที่มี อุดมการณ์ทางการเมืองเหมือนกัน

ถือเป็นสิทธิของแต่ละคนหรือกลุ่มบุคคลมากกว่า

เช่นเดียวกับนายผจญศักดิ์ ศรีเพียวงศ์ รองนายก อบต.หัวขวาง อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ที่บอกว่า หมู่บ้านเสื้อแดงเป็นเพียงสัญลักษณ์ความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง

เป็นความเคลื่อนไหวที่มีจุดประสงค์เดียวกับหมู่บ้านที่หนองหูลิง อุดรธานี

อ่านดูอย่างผิวเผินอาจไปหลงติดอยู่กับตัวคน คือ คุณทักษิณ

แต่ลองอ่านความคิดชาวบ้านที่มีต่อคุณทักษิณดูสิครับ

รัฐบาลทักษิณช่วยคนชนบท สามารถจับต้องได้

ช่วยคนจน คนชนบท รัฐบาลอภิสิทธิ์เขาก็บอกว่าทำอยู่

แต่ “สามารถจับต้องได้” นี่เป็นความรู้สึกครับ

เป็นความรู้สึกที่สร้างขึ้นมาไม่ได้ง่ายๆ

แต่พอสร้างขึ้นมาได้แล้ว ก็ยากจะลบเลือน

ถ้อยคำจาก “หมู่บ้านแดง” พอจะทำให้พรรคการเมืองและนักการเมืองมีแรงบันดาลใจอะไรบ้างไหม?

ที่มา : มติชนรายวัน 14 มิถุนายน 2554
โดย : นฤตย์ เสกธีระ

 


โลกประณาม

ไม่แปลกใจเลยกับการจัดอันดับเสรีภาพสื่อไทยที่ถูกลดชั้นจากกลุ่ม “กึ่งเสรี” ไปอยู่ในกลุ่ม “ไม่เสรี”

กลุ่มฟรีดอมเฮาส์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นองค์กรติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก

เปิดเผยรายงานผลสำรวจเสรีภาพสื่อมวลชน ใน 196 ประเทศประจำปี 2554 เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกเมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา

ระบุว่าเสรีภาพสื่อในประเทศไทยปีนี้ร่วงตกไปอยู่อันดับ 138

อยู่โซนเดียวกับ พม่า อิรัก เกาหลีเหนือ คิวบา โซมาเลีย และอัฟกานิสถาน

เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ไทยถูกประณามว่าเป็นกลุ่มประเทศไร้เสรีภาพด้านสื่อ

เพราะผลจากการที่รัฐบาลยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปิดกั้นสื่อประเภทออนไลน์

และผลกระทบจากเหตุไม่สงบทางการเมือง โดยการสลายม็อบแดงเดือนพ.ค.ปีที่แล้วจนมีผู้เสียชีวิต 91 ศพ บาดเจ็บกว่า 2 พันคน

นาย เดวิด เจ. เครเมอร์ ผอ.ฟรีดอมเฮาส์ ระบุว่า “มีสิ่งน่าเป็นห่วงในปีนี้ หลังจากสถานการณ์ปิดกั้นเสรีภาพสื่อในประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่ หรือชาติที่ประชาธิปไตยเปราะบางอย่างเม็กซิโก ฮังการี และไทยลดลงไปมาก”

ความจริงการคุกคามเสรีภาพสื่อมวลชนในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมาก็ปรากฏต่อสายตาคนไทยด้วยกันอยู่แล้ว

ยกตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุดคือการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพรอยเตอร์ชาวญี่ปุน และนายฟาบิโอ โปเลนกิ ช่างภาพอิสระชาวอิตาลี

ที่ตกเป็นเหยื่อการกระชับพื้นที่ของรัฐบาลด้วยกระสุนจริง

และยังมีนายไชยวัฒน์ พุ่มพวง ช่างภาพชาวไทยที่ถูกกระสุนปืนทาโวร์ยิงขาจนได้รับบาดเจ็บสาหัส

การคุกคามเสรีภาพในไทยในช่วงเวลานั้นไม่ได้ครอบคลุมแค่สื่อเท่านั้น

ประชาชนก็โดนลิดรอนเสรีภาพด้วยเช่นกัน

นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือบ.ก.ลายจุด โดนจับ ขังเพราะไปผูกผ้าแดงที่แยกราชประสงค์

นายนที สรวารี ก็โดนจับเพียงเพราะไปยืนตะโกนที่แยกราชประสงค์ว่า “ที่นี่มีคนตาย”

นักเรียนชั้น ม.5 ที่เชียงรายถูกตำรวจดำเนินคดี เพราะไปถือป้ายประท้วงว่า “ผมเห็นคนตายที่ราชประสงค์”

แม่ค้าโดนจับดำเนินคดีเพราะขายรองเท้ามีรูปใบ หน้ามาร์ค-เทือก

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประชาชนที่ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ

ฉะนั้น ไม่ประหลาดใจเลยว่า ทำไมทั่วโลกถึงประณามรัฐบาลนี้

ที่มา : ข่าวสด 6 พ.ค. 2554
คอลัมน์ : เหล็กใน


ความเห็นต่างคืออาชญากรรม!

เรื่องสถาบันเบื้องสูงกลายเป็นประเด็นทางการ เมืองและประเด็นทางสังคมไทยอีกครั้ง หลังจากทหารออกมาตบเท้าแสดงพลังสนับสนุนผู้บัญชาการทหารบกในการปกป้องสถาบัน พร้อมกับคำสั่งให้สนธิกำลังของรองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภาย ใน (รอง ผอ.กอ.รมน.) ตรวจสอบการหมิ่นสถาบันทางสถานีวิทยุชุมชน เว็บไซต์ และอินเทอร์เน็ต เพื่อให้แจ้งเบาะแสและข้อมูลการละเมิดสถาบันไปยังกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) และตำรวจ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ขณะที่ กอ.รมน. อ้างถึงการส่งทหารลงพื้นที่ต่างๆขณะนี้ว่าเพื่อทำความเข้าใจ เผยแพร่การเทิดทูนสถาบัน และสร้างความรักความสามัคคี ซึ่งเป็นแนวทางการสนับสนุนการเลือกตั้งเหมือนปี 2550 ทั้งที่ผู้นำกองทัพออกมาแถลงยืนยันจะไม่ยุ่งเกี่ยวใดๆกับการเมืองและการ เลือกตั้ง ยกเว้นในฐานะประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

หลังจากนั้นไม่กี่วันการสนธิกำลังระหว่าง กอ.รมน. กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) และตำรวจท้องที่ เข้าตรวจค้นสถานีวิทยุชุมชนที่เข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายและดำเนินการโดยไม่ได้ รับอนุญาต 13 แห่งในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลเมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา รวมทั้งตรวจสอบการโพสต์ข้อความต่างๆทางเว็บไซต์

การใช้อำนาจรัฐไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือทหารจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่าง มากว่าเหมือน “ดึงฟ้าต่ำ” และกำลังทำให้สถาบันเสื่อมเสีย และแบ่งแยกแผ่นดิน แบ่งแยกประชาชน

โดยเฉพาะช่วงที่กำลังจะมีการยุบสภาและเลือกตั้งมีคำถามเรื่องความเหมาะสม และเป็นการเลือกปฏิบัติหรือ 2 มาตรฐานหรือไม่ เพราะการดำเนินการกับวิทยุชุมชนซึ่งรู้ดีว่าเป็นสื่อของคนเสื้อแดงว่าเข้า ข่ายกระทำผิดกฎหมาย เพราะออกอากาศโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็ต้องดำเนินการกับวิทยุชุมชนทุกแห่งในความผิดเดียวกัน

แต่ถ้าเป็นความผิดที่อาจเข้าข่ายหมิ่นสถาบันเบื้องสูงต้องให้เป็นไปตาม กระบวนการยุติธรรมและศาลตัดสิน อย่างที่นายสุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ชี้ว่าใบอนุญาตวิทยุชุมชนที่ลงทะเบียนกว่า 6,000 แห่งนั้นเป็นปัญหามายาวนาน โดยทั้งหมดจะได้ใบอนุญาตทดลองออกอากาศ 300 วัน แต่ไม่มีใครได้ใบอนุญาตจริงๆ เพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และ กสทช. ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ โดยมีข่าวว่าเพิ่งให้ใบอนุญาตได้เพียง 16 ราย

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นการใช้ช่องว่างทางกฎหมายที่ถูกสร้างขึ้นมาไป ควบคุมความเห็นและอุดมการณ์ที่แตกต่าง เป็นการใช้อำนาจรัฐเหมือนเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ซึ่งครั้งนั้น คปส. ได้รายงานเรื่อง “การแทรกแซงวิทยุชุมชนภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองประเทศไทย ความเห็นต่างคืออาชญากรรม” โดยหลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้มีการปิดวิทยุชุมชน 47 สถานี ผู้เกี่ยวข้องกับวิทยุชุมชนถูกออกหมายจับและดำเนินคดี 49 ราย สถานีถูกขึ้นบัญชีดำอีก 84 แห่ง

แต่ครั้งนี้นายจุติพงษ์ พุ่มมูล เลขาธิการชมรมสื่อมวลชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับ กสทช. เจ้าหน้าที่ตำรวจ และ กอ.รมน. ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามกฎหมายอาญา มาตรา 157 และรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 เพราะเห็นว่าเป็นการเลือกปฏิบัติกับผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาล หากเห็นว่ามีเนื้อหารายการพาดพิงให้ใครเสียหายสามารถใช้สิทธิฟ้องร้องได้ ไม่ใช่มาปิดสถานี

ขณะที่ น.ส.สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มนิติราษฎร์ ออกมาประณามการปิดเว็บไซต์และวิทยุชุมนุมว่าเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการ แสดงความคิดเห็นของประชาชน

“การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ขาดความชัดเจน แม้แต่การปิดสถานีวิทยุชุมชนก็เข้าข่ายกระทำผิดหลายอย่าง ข้ออ้างที่ใช้ปิดส่วนมากคือไม่ได้รับอนุญาตกับหมิ่นเบื้องสูง ถ้าจะเอากันตามนี้ถามว่ามีสถานีอื่นอีกมากทำไมไม่ดำเนินการ แต่กลับกระทำในสิ่งที่สังคมสงสัยว่าเลือกปฏิบัติ ใช้กฎหมายหลายมาตรฐาน หากจะใช้ข้ออ้างนี้ต้องทำกับทุกสถานีให้เท่าเทียมกันเพื่อความยุติธรรม”

น.ส.สาวตรีจึงเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันพูดถึงประเด็นนี้ให้อยู่ในกระแส ไปเรื่อยๆ เพื่อให้เกิดการรับรู้ร่วมกันว่ามีการกระทำ 2 มาตรฐานเกิดขึ้นจริง ผู้เกี่ยวข้องจะได้รีบแก้ไข หากปล่อยให้เรื่องผ่านไปเฉยๆจะทำให้กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ คนใช้กฎหมายจะไม่มีประสิทธิภาพ ควรจะมีการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อใหม่ทั้งหมดเพื่อให้เกิดความ ชัดเจน

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงต้องถามทั้งรัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะกองทัพว่าประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยหรือเผด็จการ!

ที่มา : โลกวันนี้ 2 พ.ค. 2554 โดย กฤตภาค


ปิดวิทยุแดงอีก 2 สถานี นิติราษฎร์ชี้เลือกปฏิบัติ-2มาตรฐานชัดเจน

ตำรวจเข้าตรวจค้นยึดอุปกรณ์ออกอากาศวิทยุชุมชน คนเสื้อแดงใน กทม. เพิ่มอีก 2 สถานี เลขาธิการชมรมสื่อมวลชนเพื่อประชาธิปไตยบุกกองปราบปรามแจ้งดำเนินคดีทีมตรวจ ยึดปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ยันทุกสถานีมีใบอนุญาตทดลองออกอากาศ นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ชี้ใช้กฎหมาย 2 มาตรฐานเลือกปฏิบัติเฉพาะกลุ่ม ระบุข้ออ้างไม่มีใบอนุญาต หมิ่นสถาบันไม่ใช้กับสถานีเครือข่ายอื่นที่ไม่ได้เป็นเสื้อแดง เรียกร้องประชาชนกระจายข่าวให้สังคมรับรู้ความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นจริง จี้ปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับสื่อทั้งหมดเพื่อความชัดเจน ดีเอสไอมาแปลกแจ้งแกนนำ นปช. เลื่อนรายงานตัวคดีหมิ่นสถาบัน เพราะต้องสอบเพิ่มเพื่อความเป็นธรรม อัยการคาดสัปดาห์หน้ารู้ผลถอนประกันแกนนำกี่คน

หลังเข้าตรวจค้นและยึดอุปกรณ์ออกอากาศของสถานีวิทยุชุมชนที่เป็นแนวร่วม คนเสื้อแดงไปแล้ว 13 สถานีเมื่อวันที่ 26 เม.ย. ที่ผ่านมา ล่าสุดตำรวจได้เข้าตรวจค้นยึดอุปกรณ์และแจ้งดำเนินคดีเพิ่มอีก 2 สถานีคือ คลื่น 89.85 เมกะเฮิรตซ์ สถานีคนไทยหัวใจเดียวกัน ย่านเขตสายไหม และคลื่น 91.75 เมกะเฮิรตซ์ สถานีชมรมเสียงคนไทย เขตลาดพร้าว กทม. โดยทั้ง 2 สถานีไม่มีการขัดขวางการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ แต่มีคนเสื้อแดงไปเฝ้าสังเกตการณ์อยู่หลายคน

แจ้งเอาผิดทีมปิดวิทยุเสื้อแดง

ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) นายจุติพงษ์ พุ่มมูล เลขาธิการชมรมสื่อมวลชนเพื่อประชาธิปไตย เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และตำรวจสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ที่เข้าตรวจค้นและยึดอุปกรณ์สถานีวิทยุของคนเสื้อแดง ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามกฎหมายอาญา มาตรา 157 และรัฐธรรมนูญ มาตรา 45

เลือกปฏิบัติเฉพาะฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล

นายจุติพงษ์กล่าวว่า ที่ต้องเข้าแจ้งความดำเนินคดีเพราะเห็นว่าเป็นการเลือกปฏิบัติกับผู้ที่มี ความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาล หากเห็นว่ามีเนื้อหารายการพาดพิงให้ใครเสียหายสามารถใช้สิทธิฟ้องร้องได้ ไม่ใช่มาปิดสถานี

“เป็นการเลือกปฏิบัติที่ชัดเจน เพราะเลือกปิดเฉพาะสถานีของคนเสื้อแดง ไม่แตะสถานีอื่น ทั้งที่ผู้ดำเนินการต่างมีใบอนุญาตทดลองออกอากาศเพื่อเตรียมความพร้อมจาก กสทช. ถูกต้อง นอกจากแจ้งความดำเนินคดีแล้วจะไปยื่นเรื่องต่อศาลปกครองให้ยกเลิกคำสั่งและ การกระทำของเจ้าหน้าที่ในครั้งนี้ด้วย”

นักวิชาการชี้คุกคามสิทธิเสรีภาพ

น.ส.สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร กล่าวถึงกรณีที่เริ่มมีการปิดเว็บไซต์ต่างๆมากขึ้นอีกครั้งว่า เป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

“การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ขาดความชัดเจน แม้แต่การปิดสถานีวิทยุชุมชนก็เข้าข่ายกระทำผิดหลายอย่าง ข้ออ้างที่ใช้ปิดส่วนมากคือไม่ได้รับอนุญาตกับหมิ่นเบื้องสูง ถ้าจะเอากันตามนี้ถามว่ามีสถานีอื่นอีกมากทำไมไม่ดำเนินการ แต่กลับกระทำในสิ่งที่สังคมสงสัยว่าเลือกปฏิบัติ ใช้กฎหมายหลายมาตรฐาน หากจะใช้ข้ออ้างนี้ต้องทำกับทุกสถานีให้เท่าเทียมกันเพื่อความยุติธรรม”

ปลุกกระแสให้สังคมรับรู้กระทำมิชอบ

น.ส.สาวตรีเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันพูดถึงประเด็นนี้ให้อยู่ในกระแสไป เรื่อยๆ เพื่อให้เกิดการรับรู้ร่วมกันว่ามีการกระทำ 2 มาตรฐานเกิดขึ้นจริง ผู้เกี่ยวข้องจะได้รีบแก้ไข หากปล่อยให้เรื่องผ่านไปเฉยๆจะทำให้กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ คนใช้กฎหมายจะไม่มีประสิทธิภาพ ควรจะมีการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อใหม่ทั้งหมดเพื่อให้เกิดความ ชัดเจน

ดีเอสไอแจ้ง นปช. เลื่อนรับข้อกล่าวหา

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่แจ้งต่อแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน 18 รายที่ถูกออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาหมิ่นสถาบันจากการปราศรัยเมื่อ วันที่ 10 เม.ย. ออกไปจากนัดหมายเดิมในวันที่ 2-4 พ.ค. เนื่องจากอัยการได้สั่งให้ดีเอสไอสอบสวนเพิ่มเติมบางประการเพื่อให้เกิดความ เป็นธรรม

ด้าน พ.ต.ท.ถวัล มั่งคั่ง ผู้อำนวยการสำนักคดีอาญาพิเศษ 2 ดีเอสไอ ได้นำเอกสารถอดเทปปราศรัยของนายจตุพร พรหมพันธุ์ และแกนนำ นปช. รวม 9 คน ชุดใหม่มามอบให้อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 แล้ว หลังจากอัยการสั่งให้ถอดเทปใหม่ เนื่องจากของเดิมไม่ชัดเจน ข้อความไม่ต่อเนื่อง อาจทำให้เข้าใจความหมายผิด

สัปดาห์หน้ารู้ผลถอนประกัน

นายรุจ เขื่อนสุวรรณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 กล่าวว่า ของเดิมมีบางช่วงบางตอนขาดหายไป อาจทำให้เข้าใจความหมายที่ต้องการจะสื่อผิด จึงให้ไปถอดเทปมาใหม่ ซึ่งของใหม่ที่ส่งมาเท่าที่ดูมีเพิ่มเติมจากเดิมเล็กน้อย จากนี้จะพิจารณารายละเอียดของข้อความอีกครั้ง เพื่อดูเจตนาการปราศรัยของแกนนำ นปช. ไม่เกินสัปดาห์หน้าน่าจะมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้

อัยการชี้เจตนาให้ศาลตัดสิน

“ต้องดูภาพรวมทั้งหมดว่าที่ดีเอสไอบอกว่าร่วมกันกระทำความผิดนั้นเป็น อย่างไร เพราะบางคนอาจไม่ได้อยู่บนเวทีตลอด พูด 5 นาทีแล้วลง คนที่พูดต้องดูว่าเข้าข่ายยุยงปลุกปั่นหมิ่นสถาบันที่กระทบต่อความมั่นคง หรือไม่ หากไม่เข้าข่ายก็ไม่ถอนประกัน แต่หากเข้าข่ายผิดเงื่อนไขศาลต้องยื่นถอนประกัน ซึ่งศาลจะเป็นผู้ตัดสิน อัยการมีหน้าที่แค่ชี้ให้เห็นเจตนาของแกนนำในการปราศรัย” นายรุจกล่าวและว่า การกล่าวพาดพิงสถาบันแม้จะไม่ชัดเจนว่าพูดยุยุงให้ประชาชนเกิดความกระด้าง กระเดื่อง แต่หากกล่าวแล้วกระทบสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของชาติ ทำให้ประชาชนรู้สึกแบ่งแยกก็เข้าข่ายผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนดไว้ โดยมุ่งหมายให้เกิดความสมานฉันท์ ลดความขัดแย้งแตกแยก

“ถวัล” บ่นส่งหลักฐานเพิ่ม 3 ครั้ง

ด้าน พ.ต.ท.ถวัลกล่าวว่า การยื่นหลักฐานเพิ่มครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 น่าจะครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว เพราะเป็นหลักฐานทั้งหมดที่ได้มาจากทหาร ตำรวจ และการสอบพยานบุคคลที่ไปรับฟังการปราศรัย

ที่ดีเอสไอ นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมนเกด หรือน้องเกด อัคฮาด อาสาสมัครพยาบาล 1 ใน 6 ศพที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนารามเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่เพื่อสอบถามความคืบหน้าของคดี

แม่ “น้องเกด” ถามความคืบหน้าคดี

นางพะเยาว์กล่าวว่า ลูกสาวเสียชีวิตใกล้ครบ 1 ปีแล้วแต่คดีไม่มีความคืบหน้า ยังไม่สามารถหาตัวคนผิดมาลงโทษได้ ซึ่งเหมือนกับการตายของประชาชนอีก 89 ศพที่ไม่มีความคืบหน้าที่ครอบครัวต่างอยากรู้ข้อเท็จจริงจากการสืบสวน

พ.ต.ท.ธรณินทร์ คลังทอง พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ที่รับผิดชอบคดี 6 ศพในวัดปทุมวนาราม ชี้แจงว่า คดียังอยู่ระหว่างการสอบสวน หากมีความคืบหน้าจะเสนอให้อธิบดีดีเอสไอแถลงต่อสื่อมวลชน

ทั้งนี้ นอกจากนางพะเยาว์แล้ว รศ.ดร.วรพล พรหมิกบุตร อดีตคณบดีคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้ายื่นเรื่องสอบถามความคืบหน้าคดีผู้เสียชีวิต 89 ศพเช่นกัน

ที่มา : โลกวันนี้ 29 เมษายน 2553


ความจริงบนฝาผนัง

“การสืบสวนสอบสวนคดีผู้ชุมนุมเสียชีวิตเมื่อ เดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 เป็นไปอย่างล่าช้า แม้จะมีรายงานหลุดออกมาค่อนข้างแน่ชัดว่าการเสียชีวิตของประชาชนบางส่วนเป็น น้ำมือของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ผู้เกี่ยวข้องไม่ได้ดำเนินการต่อให้เกิดความชัดเจน ทั้งนี้ เรื่องนี้ควรเป็นคดีพิเศษที่พนักงานสอบสวนต้องร่วมกับอัยการดำเนินการให้ แล้วเสร็จภายใน 60 วัน แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทำงานมานานกว่า 6 เดือนแล้ว และยังดำเนินการผิดขั้นตอน เพราะส่งเรื่องกลับไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไม่ได้ส่งเรื่องให้อัยการตามที่กฎหมายระบุ”

ดร.จารุพรรณ กุลดิลก นักวิชาการอิสระ ยืนยันว่า ดีเอสไอทำผิดขั้นตอนกระบวนการสอบสวน และยังเข้าข่ายขัดขวางกระบวนการยุติธรรมอีกด้วย เพราะพฤติกรรมของดีเอสไอและรัฐบาลดูเหมือนมีเจตนาที่จะไม่ให้การสังหารโหด 91 ศพเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คนเสื้อแดงจึงต้องหาช่องทางต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทางคณะกรรมการสิทธิมนุษย ชนของสหประชาชาติ หรือนำเรื่องฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ

ต้นแบบยุติธรรมสองมาตรฐาน

ดร.จารุพรรณระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยถือว่าล้าหลังมาก ถูกตีตราว่าเป็นรัฐทหาร เนื่องจากที่ผ่านมามีการใช้กฎหมายหลายมาตราที่อนุญาตให้ทหารเอาอาวุธสงคราม ออกมาบนถนนในการไล่ล่าสังหารประชาชน เมื่อเทียบกับชาติอื่นๆ หากเราหันกลับไปเป็นรัฐทหารจะยิ่งทำให้ประเทศล้าหลังมากขึ้น ประชาชนจะไม่มีสิทธิมีเสียงและถูกปิดกั้นในทุกเรื่อง กองทัพจะเข้ามามีบทบาทเหนือรัฐบาล ทำให้ต่างชาติขาดความเชื่อมั่นมากขึ้นไปอีก

“ทุกวันนี้ต่างชาติมองว่าเราเป็นประเทศต้นแบบของกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน ซึ่งในวงการวิชาการต่างประเทศนำเรื่องในประเทศไทยไปเป็นกรณีศึกษา ทั้งเรื่องการใช้อำนาจของกองทัพ เรื่องรัฐบาลบริหารผิดพลาดล้มเหลวแต่ยังอยู่ในอำนาจได้ เรื่องการสังหารหมู่ประชาชนโดยไม่ต้องมีคนรับผิดชอบ และเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่ไร้มาตรฐาน เรื่องนี้นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ในยุโรปและอเมริกาต่างนำไปเป็นกรณีศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอับอาย”

ฮิวแมนไรท์วอทช์เตรียมเปิดรายงาน

ด้านนายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหรือฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำประเทศ ไทย กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำรายงานประจำปี 2554 ของฮิวแมนไรท์วอทช์ โดยเฉพาะการตรวจสอบการสลายการชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ว่าขณะนี้รายงานคืบหน้ากว่าร้อยละ 80 โดยสำนักงานใหญ่ที่สหรัฐอยู่ระหว่างการเขียนรายงาน คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ใกล้เคียงกับรายงานชั่วคราวของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ยังมุ่งเน้นการตรวจสอบปัญหาความรุนแรงทางการเมืองไม่ว่า ฝ่ายไหนจะเป็นผู้กระทำ

“เนื้อหาของรายงานเท่าที่เสร็จมีความตรงไปตรงมา โดยจะไล่ไปตามเงื่อนเวลาของแต่ละเหตุการณ์ ตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน การกระทำของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงไม่ว่าจะเป็นทหารหรือตำรวจ รวมถึงการกระทำของคนชุดดำ ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มถูกพูดถึงทั้งสิ้น”

ในรายงานยังพูดถึงการพยายามหาทางอย่างสันติวิธีแต่ล้มเหลว โดยได้วิเคราะห์ว่าความล้มเหลวเกิดจากอะไรกันแน่ รวมทั้งบทบาทและการเสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง รวมทั้งการใช้อำนาจของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ใครเป็นผู้มีอำนาจสั่งการ ซึ่งจะทำให้เห็นความชัดเจนในหลายเรื่อง

ชี้ชัดใครต้องรับผิดชอบอย่างไร

นายสุนัยกล่าวว่า รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ชี้ให้เห็นว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นความรับผิด ชอบของทุกฝ่าย ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเพียงฝ่ายเดียว เพื่อให้ทุกฝ่ายมีสำนึกและตระหนักในสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่ชี้หน้าคนอื่นว่าต้องเป็นผู้รับผิดชอบ โดยต้องมีการดำเนินคดีทั้ง 3 กลุ่ม ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ ผู้กำหนดนโยบาย และฝ่ายคนเสื้อแดงกลุ่มไหน หรือคนชุดดำที่แท้จริงเป็นใคร ต้องเปิดโปงออกมา ทุกกลุ่มต้องถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อให้มีการดำเนินคดีอย่าง เหมาะสมและตรงไปตรงมา ไม่ให้เกิดข้อครหาได้

“ถ้าแต่ละฝ่ายยังไม่รับผิดก็ไม่มีทางเกิดความสมานฉันท์ปรองดองได้ ดังนั้น แต่ละฝ่ายต้องยอมรับก่อนว่าฝ่ายตัวเองมีคนผิดด้วย ประเด็นนี้มีความสำคัญในแง่การจะเปลี่ยนทัศนคติของสังคม เพราะที่ผ่านมาสังคมไทยมีปัญหาอย่างหนึ่งคือความผิดของตัวเองจะไม่รับ จะโทษคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ทัศนคติอย่างนี้ทำให้ความขัดแย้งไม่สิ้นสุด เพราะฝ่ายตัวเองทำอะไรก็ได้ไม่ผิด แต่ฝ่ายตรงข้ามต้องเอาให้ตายไปข้างหนึ่ง เช่น ปล่อยให้ติดคุกยาวนานไปเลย ดังนั้น การแก้ปัญหาความขัดแย้งจะต้องเปลี่ยนทัศนคติตรงนี้ให้ได้”

ดีเอสไอยังหมกเม็ดเดิมๆ

ดังนั้น กรณีที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ จะแถลงข่าวความคืบหน้าการสรุปสำนวนคดี 89 ศพ ซึ่งขยายเวลาการสอบสวนที่ต้องแล้วเสร็จตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2553 โดยอ้างว่าต้องการสอบสวนข้อเท็จจริงให้ละเอียดรอบคอบมากที่สุด แม้ทุกฝ่ายจะใจจดใจจ่อว่าผลการสอบสวนจะออกมาอย่างไร แต่ก็ผิดหวังตั้งแต่ยังไม่แถลง เพราะนายธาริตออกตัวว่าในเบื้องต้นดีเอสไอยังไม่สามารถชี้ชัดว่าอาวุธปืนที่ ใช้เป็นของฝ่ายใด เนื่องจากขณะที่มีเหตุปะทะนั้นทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีอาวุธในลักษณะเดียวกัน จึงยากที่จะระบุว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐหรือคนเสื้อแดง แต่อาวุธที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้นำออกมาใช้ปฏิบัติการแน่นอนคือระเบิดเอ็ม 79 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากระเบิดเอ็ม 79 หลายราย

ขณะที่ พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน พนักงานสอบ สวนคดีก่อการร้าย ดีเอสไอ ได้ตอบข้อซักถามของคณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา โดยเฉพาะการตาย 13 รายนั้น พอเชื่อได้ว่าเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งในจำนวนนั้น 3 ศพอยู่ในวัดปทุมฯ ผู้เสียชีวิตที่เขาดิน 1 ศพ ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละ และช่างภาพชาวญี่ปุ่น นอกจาก 13 ศพซึ่งไม่พบปลอกกระสุน จึงสรุปว่าน่าจะเสียชีวิตจากกระสุนความเร็วสูงเจาะเข้าที่ร่างกาย

“การตายของชาวญี่ปุ่นแม้จะระบุว่าน่าเชื่อว่าเป็นการกระทำจากทหาร แต่ก็ยังไม่ทราบว่าใครเป็นคนยิง ส่วนที่พบปลอกกระสุนหัวเขียวตกอยู่ในวัดปทุมฯ จากการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานบนสกายวอล์ก มีทหาร 5 นายยอมรับว่ายิงเข้ามาในวัดปทุมฯจริง แต่ยังหาไม่ได้ว่า 1 ใน 5 ใครเป็นคนยิง ขณะนี้อยู่ในขั้นการพิสูจน์และสอบสวน”

ส่วนข้อสงสัยว่าทำไมไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 150 วรรค 3 มาแต่ต้น พ.ต.ท.พเยาว์ชี้แจงว่า เพราะมีปัญหาในข้อกฎหมายซึ่งไม่ให้อัยการสั่งฟ้องคดีอาญาหากการชันสูตรพลิกศพไม่เสร็จ จึงต้องย้ายเรื่องส่งไปให้ตำรวจชันสูตรพลิกศพหรือสอบสวนหาหลักฐานเพิ่มเพื่อให้ส่งอัยการจึงจะสามารถสั่งฟ้องได้

มาตรฐานคณะกรรมการสิทธิฯ

ดังนั้น คนเสื้อแดงจึงแทบไม่มีความหวังที่จะได้ความยุติธรรมหรือความจริงเพื่อเอาตัว “ฆาตกร” ไม่ว่าจะเป็น “คนสั่งฆ่า” หรือ “คนฆ่า” มาลงโทษ เพราะแนวโน้มผลการสอบสวนของดีเอสไอหรือตำรวจก็ยังลักปิดลักเปิด การต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมในประเทศก็ดูมืดมน นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธาน นปช. จึงเตรียมยกระดับการต่อสู้ในคดี 91 ศพ โดยจะฟ้องไปยังศาลระหว่างประเทศในวันที่ 31 มกราคมนี้ รวมทั้งจะประสานกับญาติช่างภาพชาวญี่ปุ่นให้มาร่วมฟ้องร้องด้วย

เพราะแม้แต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมการเคารพและการ ปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน ผ่านมากว่า 9 เดือนก็ยังเพิกเฉยกับผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” แต่กรณี 7 คนไทยที่ถูกกัมพูชาจับกุม คณะกรรมการสิทธิฯได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการอย่างรอบคอบและ ปกป้องสิทธิและเสรีภาพของคนไทยทั้ง 7 คนตามหลักสิทธิมนุษยชน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองอย่างเคร่ง ครัด ทั้งจะดำเนินการติดตาม ตรวจสอบข้อเท็จจริงและความคืบหน้าในการดำเนินการของรัฐบาลและหน่วยงานที่ เกี่ยวข้อง พร้อมรายงานให้สาธารณชนทราบเป็นระยะๆ

แต่เหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ที่รัฐบาลสั่งให้ทหารใช้อาวุธสงครามครบมือและปรากฏภาพมือปืนซุ่มยิงประชาชน ที่เรียกร้องประชาธิปไตยจนมีผู้เสียชีวิตถึง 91 ศพ และบาดเจ็บ พิการเกือบ 2,000 คน ยังไม่นับรวมผู้ที่หายสาบสูญนั้น คณะกรรมการสิทธิฯ กลับเงียบเป็นเป่าสาก ซึ่งแสดงถึง “สองมาตรฐาน” และเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน

ดินแดนที่ “เกือบไม่มี” เสรีภาพ

เช่นเดียวกับเมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมาที่องค์กร Freedom House จัดอันดับ “เสรีภาพในโลก” ปรากฏว่าประเทศไทยยังคงถูกจัดอยู่ในประเภทของ “ประเทศที่มีเสรีภาพเพียงบางส่วน” ติดต่อกันเป็นเวลา 4 ปี ส่วนสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพของประชาชนยังอยู่ในลำดับเดิม ซึ่ง Freedom House ระบุว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เสรีภาพของพลเรือนลดลงอย่างต่อเนื่อง ในหลายปีที่ผ่านมา แต่ Freedom House ไม่ได้ประณามรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และการกระทำอย่างรุนแรงของกองทัพ

เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า Freedom House มีความใกล้ชิดเป็นพิเศษกับรัฐบาลสหรัฐ การจัดอันดับเรื่องประชาธิปไตยและเสรีภาพจึงมักถูกมองว่ายังมีอคติ หรือพยายามไม่ประณามประเทศที่เป็นมิตรกับสหรัฐ แม้จะปกครองด้วยระบอบเผด็จการหรือมีผู้นำทรราชในคราบประชาธิปไตยก็ตาม

อย่างที่ Kenneth Bollen นักรัฐศาสตร์ ได้วิจารณ์ Freedom House ว่ามักจะผ่อนปรนกับเผด็จการที่เป็นมิตรกับรัฐบาลสหรัฐ โดยให้ดูการจัดลำดับเสรีภาพในเวเนซุเอลาว่าหากประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ สังหารผู้ชุมนุมกว่า 90 รายบนท้องถนนกรุงคารากัส หรือใช้กฎหมายฉุกเฉินอย่าง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินแบบรัฐบาลไทย ผู้นำเวเนซุเอลาคงถูกสหรัฐถล่มยับเยินแน่นอน เพราะที่ผ่านมาแม้เวเนซุเอลาไม่มีการสังหารโหดอย่าง “เหตุการณ์เมษา-พฤษภา” ไม่มีการไล่ล่าและกดขี่ข่มเหงประชาชน แต่ยังถูกลดความน่าเชื่อถือโดย Freedom House และถูกโจมตีโดยสื่อต่างๆภายใต้อิทธิพลของรัฐบาลสหรัฐอย่างต่อเนื่อง

ทั้งที่ก่อนหน้านี้องค์กรสื่อไร้พรมแดนได้ทำรายงานระบุว่าประเทศไทย ปัจจุบันไม่ต่างกับ “รัฐทหาร” และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนจัดลำดับเรื่อง “สิทธิทางการเมือง” อยู่ในลำดับเดียวกับประเทศบูร์กินาฟาโซ, บุรุนดี, สาธารณรัฐแอฟริกากลาง, แกมเบีย, ยูกันดา, กินี, อิรัก, โคโซโว, คีร์กีซสถาน, เลบานอน ฯลฯ

ส่วนเรื่อง “สิทธิพลเรือน” อยู่ในลำดับเดียวกับประเทศอาร์เมเนีย, บังกลาเทศ, โคลอมเบีย, คอโมโรส, ติมอร์ตะวันออก, ฟิจิ, กัวเตมาลา, กินีบิสเซา, ฮอนดูรัส, โคโซโว, ไลบีเรีย, มาดากัสการ์, มาลาวี, ยูกันดา และแซมเบีย ฯลฯ

ระบอบประชาธิปไตยของไทยจึงเป็นแค่ “ประชาธิปไตยจอมปลอม” ที่น่าอับอายอย่างยิ่งในสายตาประชาคมโลก

ความจริงที่ถูกปิดกั้น

ดังนั้น รัฐบาลอภิสิทธิ์ภายใต้กองทัพและกลุ่มอำมาตย์จึงต้องพยายามปิดกั้นข่าวสารของ คนเสื้อแดงเพื่อจะบอกความจริงกับประชาชนและประชาคมโลก แม้แต่การแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์แค่เดือนละครั้งที่แยกราชประสงค์ก็ยังมี ความพยายามไม่ให้คนเสื้อแดงปิดกั้นใช้พื้นที่ในการชุมนุมเรียกร้องความ ยุติธรรม เพราะทุกครั้งที่มีการชุมนุมก็จะเป็นข่าวไปทั่วโลกว่าประเทศไทยยังหมกเม็ด และแช่แข็งเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต”

แน่นอนว่าคนเสื้อแดงจำนวนมากที่มาชุมนุมย่อมทำให้ผู้ประกอบธุรกิจในย่าน ราชประสงค์เดือดร้อนและน่าเห็นใจจนต้องเรียกร้องขอความเป็นธรรมเช่นกัน แต่ไม่ใช่ออกมาเพราะมีเลศนัยหรือใบสั่งให้ทำ เพราะคนไทยทุกคนก็ต้องยอมรับความจริงว่าหากไม่มีคนตายถึง 91 ศพ และบาดเจ็บ พิการเกือบ 2,000 คน ก็ไม่มีการกลับมาชุมนุมที่แยกราชประสงค์ หากบ้านเมืองมีความยุติธรรมก็ไม่มีการชุมนุมของคนเสื้อแดง

ในทางตรงข้ามผู้ประกอบธุรกิจย่านราชประสงค์ควรหันมาสนับสนุนคนเสื้อแดง เพื่อให้ความจริงปรากฏว่าใครกันแน่ที่เผาบ้านเผาเมือง คนฆ่าคนเผาเป็นคนเดียวกันกับคนที่เข้าไปกระชับพื้นที่จนเป็นที่เรียบร้อย แล้วหรือเปล่า?

เพราะกว่า 9 เดือนที่ผ่านมาการชันสูตรพลิกศพ 91 ศพก็ยังถูกแช่แข็ง ขณะที่ดีเอสไอก็แถลงแต่วลีเดิมๆ ไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นคนฆ่า ทั้งที่ผลการชันสูตรพลิกศพมีรายละเอียดทั้งวิถีกระสุนและลักษณะของกระสุน การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ หลักฐานภาพถ่าย คลิปวิดีโอ และพยานบุคคลมากมาย แต่กลับกล่าวหาว่าคนเสื้อแดงฆ่ากันเอง และยัดเยียดข้อหา “ก่อการร้าย” ให้อีก

เมื่อเทียบเคียงกรณี “กัปตันการบินไทย” ที่ถูกยิงบนทางด่วนเพียงแค่เรื่องของแสงไฟหน้ารถ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความรุนแรงที่น่าตกใจของสังคมไทย แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เวลาเพียงไม่กี่วันก็สามารถรู้คนกระทำผิด เช่นเดียวกับกรณี “สาวซีวิคอายุ 17 ปี นามสกุลดัง” ที่ขับชนรถตู้บนทางด่วนโทลล์เวย์จนมีคนตายถึง 9 ราย หากผู้เสียชีวิตไม่ใช่คนระดับดอกเตอร์ที่เป็นมันสมองของชาติและนักศึกษา สถาบันมีชื่อเสียงก็คงไม่เป็นข่าวใหญ่ให้กระแสสังคมและ Social Net-work กระแสสังคมออนไลน์ กดดันให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งทำคดีอย่างรวดเร็วและยุติธรรม

และเมื่อหันมามองเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ที่มีการใช้กำลังทหารนับหมื่นพร้อมอาวุธสงครามปราบปรามและสังหารคนเสื้อ แดงอย่างเลือดเย็น จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า และยังใช้อำนาจรัฐพยายามปิดกั้นเพื่อไม่ให้เป็นข่าวอีก

ถึงขนาดที่สถานทูตญี่ปุ่นต้องนำรัฐมนตรีของญี่ปุ่นและญาติช่างภาพญี่ปุ่น มาประท้วงและเรียกร้องความยุติธรรมอย่างสุภาพ หรือกรณีน้องสาวช่างภาพอิตาลีที่ถูกยิงตายที่กล้าปฏิเสธคำเชิญของรัฐบาลไทย ไม่สนใจที่จะมาร่วมงานเทศกาลเฉลิมฉลองสำคัญในประเทศไทย โดยผู้มีอำนาจของไทยได้กระทำเพียงเพื่อพยายามสร้างภาพ แต่แท้จริงคือการกลบเกลื่อนและปิดกั้นรายละเอียดการสังหารโหดซึ่งข่าวถูก ประจานไปทั่วโลก แต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์และดีเอสไอที่รับผิดชอบคดีกลับทำเหมือนคนหูหนวกเป็น ใบ้ ไม่มีคำตอบใดๆ

ความจริงบนฝาผนัง

จึงไม่แปลกที่การเคลื่อนไหวเรียกร้องความยุติธรรมของคนเสื้อแดงจะถูกปิด กั้นทุกวิถีทาง รวมทั้งหลักฐานต่างๆจะถูกเก็บกวาดจนเกือบไม่เหลือให้เป็นหลักฐานที่จะระบุ ว่าใครเป็นฆาตกร แต่ที่สุดแล้วเชื่อว่าไม่มีใครหนีความจริงและกฎแห่งกรรมได้

แม้ความจริงจะไม่ปรากฏในสื่อต่างๆในประเทศไทย แต่ก็ปรากฏตามสื่อต่างๆไปทั่วโลกอย่างชัดเจนว่า “ใครเป็นฆาตกร”

ในขณะที่เครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) ที่ถือเป็นแหล่งข้อมูลที่มิอาจปิดกั้นและหยุดยั้งได้ ได้เข้ามาทำหน้าที่แทนสื่อกระแสหลัก (ปักขี้เลน) ของไทยที่มิอาจเสนอความจริงได้ หรือทำได้แบบปิดตาข้างหนึ่ง

ขณะเดียวกันสื่อสาธารณะที่คาดไม่ถึง อย่างเช่นตามฝาผนังห้องน้ำสาธารณะ กำแพงรั้ว เสาไฟฟ้า ตอม่อ ตึกร้าง ก็ปรากฏข้อความที่อ่านแล้วต้องสะอึก!

สิทธิเสรีภาพในการพูด อ่าน เขียน และแสดงออกถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับ แต่ถูกสอดไส้ด้วยกฎหมายสารพัดที่ปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน

วันนี้สื่อไทยจึงทำได้เพียงสะท้อนภาพจิตรกรรมจากฝาผนังโบสถ์ ซึ่งปรากฏภาพ “โดเรมอน” “โนบิตะ” หรือแม้แต่ “หลินปิง” สอดแทรกไว้กับพุทธประวัติให้เป็นที่ครึกโครม

ศิลปินสะท้อนสังคม ซ่อนจินตนาการและความรู้สึกสอดแทรกไว้ตามผนังโบสถ์ได้

คนเสื้อแดงหรือผู้ได้รับการกดขี่ด้วยความยุติธรรม 2 มาตรฐานย่อมมีสิทธิแสดงออกผ่านสื่อสาธารณะที่มิอาจควบคุมได้

“โดเรมอน” เป็นแค่การ์ตูนจากจินตนาการ

“หลินปิง” เป็นเพียงเดรัจฉานน่ารัก

แต่สื่อไทยโดยเฉพาะโทรทัศน์ยังพร้อมนำเสนอให้เป็นที่ครึกโครมมากกว่าข่าวคนเสื้อแดง
หรือสื่อไทยมองเห็นคนเสื้อแดงเป็น “ไพร่” ต่ำต้อยไร้ค่ากว่าตัวการ์ตูนและสัตว์เดรัจฉาน?

เกือบ 100 ศพที่ต้องสังเวยชีวิตบนถนนราชดำเนินและราชประสงค์ รวมถึงเกือบ 2,000 ชีวิตที่พิการ บาดเจ็บจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิต กำลังถูกอำนาจอำมหิตปิดข่าวและบิดเบือนให้เลือนลืม…เหมือนเหตุการณ์มากมาย ในประวัติศาสตร์ที่จางหายไปกับลมหายใจที่หยุดนิ่ง…

นับแต่บัดนี้อย่าได้แปลกใจหาก จิตรกรรมฝาผนังมิได้มีเพียงแต่ในวัดในโบสถ์…อาจปรากฏไปทั่วทั้งแผ่นดิน จะทำเป็นลืมไม่ได้อีกแล้ว!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6  ฉบับ 295 วันที่ 22-28 มกราคม พ.ศ. 2554 หน้า 16-17 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน