แรงจริงๆ!! ยิ่งลักษณ์

“เราพูดกันอยู่เหมือนกันว่าขอให้พี่น้องเสื้อ แดงระวัง เพราะยิ่งเราอยากได้ชัยชนะ เราก็ต้องยิ่งระวังมากขึ้น ก็อาจมีบางคนที่ไม่ได้เป็นเสื้อแดงและปลอมเข้ามาเป็นเสื้อแดงเพื่อมาทำสิ่ง เลวร้าย นี่คือความรุนแรงอย่างหนึ่ง”

นางฐิติมา ฉายแสง ผู้สมัคร ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคเพื่อไทย ยอมรับว่าเป็นห่วงเรื่องคนเสื้อแดงที่ยังออกมาต่อต้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ พรรค ประชาธิปัตย์ เพราะอาจนำไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทยได้ ยิ่งพรรคเพื่อไทยได้เสียงข้างมากและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะกลุ่มอำนาจเก่าหรือ “มือที่มองไม่เห็น” ต้องสกัดกั้นทุกวิถีทาง

“ความจริงแล้วเราไปทำอะไรได้ยากเหมือนกัน เพราะเราไม่ได้อยู่ในฝ่ายที่มีอำนาจอะไรเลย เราเป็นฝ่ายที่น่าจะเรียกว่าถูกกระทำ เราก็ปกป้องตัวเองแค่เพียงว่าเราเองอย่าไปทำผิด อย่างที่พูดกับพรรคพวกเพื่อนฝูงว่าพวกเรารู้การเมืองมาก แต่บางทีเราไปตายน้ำตื้น กฎหมายง่ายๆเราควรจะรู้ คือเราเป็นฝ่ายป้องกันตัวเองอยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่มีสิทธิที่จะไปรุกเขา หรือจะไปห้ามปรามเขา เราไม่มีอำนาจตามนั้น”

นางฐิติมาพูดถึงกระแสโจมตี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยกับนายอภิสิทธิ์ว่าเป็นโคลนนิ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่าเป็นโคลนนิ่งที่นำสิ่งดีๆมาให้ประเทศไทย และดีกว่า “โคลนนิ่งอำมาตย์” ที่จ้องแต่ปฏิวัติรัฐประหารที่ทำให้ประเทศชาติยิ่งถอยหลังเข้าคลอง

“แดง-แม้ว” ดิสเครดิตเพื่อไทย

ความเห็นของนางฐิติมาถึง “มือที่มองไม่เห็น” เพื่อสกัดพรรคเพื่อไทยไม่ให้เป็นรัฐบาล โดยเฉพาะการใช้กลไกรัฐหรือกระบวนทางกฎหมายนั้น จึงสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งที่ผ่านมากว่า 2 สัปดาห์พรรคประชาธิปัตย์พยายามนำเรื่องนิรโทษกรรมให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณและแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อ ต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินคดีข้อหา “ก่อการร้าย” และ “ล้มเจ้า”

รวมถึงกรณีคนเสื้อแดงส่วนหนึ่งชูป้ายประณามและขับไล่นายอภิสิทธิ์ระหว่าง หาเสียงมาโจมตีพรรคเพื่อไทย ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ความเห็นว่าหากแค่ชูป้ายและขับไล่ก็ไม่ถือว่ากระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง แต่นายอภิสิทธิ์ ก็แสดงความไม่พอใจและถากถางกลับว่าต้องรอให้ หัวร้างข้างแตกก่อนหรืออย่างไรจึงจะมีความผิด

“แดงเทียม” จ้องป่วน!

อย่างไรก็ตาม แกนนำ นปช. และพรรคเพื่อไทยก็ขอร้องให้คนเสื้อแดงเลิกการต่อต้านดังกล่าว ทั้งยังวิตกว่าอาจมีการสวมรอยนำ “แดงเทียม” เพื่อสร้างสถานการณ์ใส่ร้ายป้ายสีพรรคเพื่อไทยเพื่อนำไปฟ้องร้องให้ยุบพรรค เพื่อไทย

อย่างที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้สมัคร ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. กล่าว ถึงคนเสื้อแดงว่า ไม่มีความจำเป็นที่คนเสื้อแดงจะต้องทำเช่นนั้นหรือล้มการเลือกตั้ง เพราะทุกคนต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ทั้งขณะนี้ก็มีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกมาต่อต้านนาย อภิสิทธิ์อยู่แล้ว ตรงกันข้ามคนเสื้อแดงต้องระวังไม่ให้ตกเป็นแพะให้ฝ่ายตรงข้ามนำไปสร้าง สถานการณ์แทรกซ้อนขึ้นมาได้ คนเสื้อแดง ตัวจริงจึงไม่ไปปั่นป่วนการเลือกตั้ง แต่ที่น่าวิตกคือ “แดงเทียม” ที่บางพรรคถนัดทำเรื่องแบบนี้

ฟ้อง “สุเทพ”-ยุบ ปชป.

ส่วนกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 17 และ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทยเป็นผู้ก่อการร้าย แม้ต่อมาจะบอกว่าไม่ได้หมายถึงผู้สมัครพรรคเพื่อไทยทุกคนเป็นผู้ก่อการร้าย แต่ให้ประชาชนได้ตั้งข้อสังเกตและพิจารณาว่าในบรรดาผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อประมาณ 22 คนนั้น บางคนมีพฤติกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องการก่อการร้าย เผาบ้านเผาเมืองอย่างชัดเจน เช่น นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องการใส่ร้าย แต่คนไทยทั้งประเทศเห็นภาพการกระทำของคนกลุ่มนี้ว่ากระทำการอย่างไม่กลัว เกรงกฎหมายบ้านเมือง ประกาศชักชวนให้คนไปเผาบ้านเมือง เผาศาลากลาง และชักชวนคนไปปล้นทรัพย์ ซึ่งมีการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน และสื่อก็นำข่าวไปเผยแพร่ทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ ซึ่งตนก็เก็บรวบรวมหลักฐานเหล่านี้ไว้ทั้งหมด

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เดินทางมายื่นหนังสือที่สำนักงาน กกต. เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ให้ตรวจสอบการกระทำของนายสุเทพว่าเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 53 (5) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง กรณีกล่าวหาใส่ร้าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายจตุพร นายณัฐวุฒิ นายเหวง โตจิราการ และผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งทำให้เสียความนิยมในพรรคและตัวผู้สมัคร

ด้านนายณัฐวุฒิกล่าวว่า จะติดตามความคืบหน้าว่า กกต. จะดำเนินการกับนายสุเทพอย่างไร เพราะการกล่าวหาใส่ร้ายผู้สมัครและพรรคการเมืองในช่วงหาเสียงเลือกตั้งมี ความผิดถึงขั้นยุบพรรค ถือว่าคำพูดของนายสุเทพได้นำพิษภัยมาสู่พรรคตัวเอง ที่สำคัญการต่อสู้ในคดียังไม่ถึงที่สุด

ยื่นฟ้อง “ธาริต” กระทำโดยมิชอบ

นอกจากนี้นายณัฐวุฒิยังกล่าวถึงกรณีที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เตรียมเรียกแกนนำ นปช. 19 คน ไปรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 112 และ 116 ว่าด้วยความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ โดยการล่วงละเมิดต่อสถาบันในวันที่ 2 มิถุนายน และจะสั่งให้ทั้ง 19 คนไปรายงานตัวต่อศาลอาญาในวันเดียวกันเพื่อยื่นคำร้องขอฝากขังพร้อมคัดค้าน การประกันตัว เพราะผู้ถูกกล่าวหาหลายคนมีรายชื่อตรงกับผังขบวนการล้มเจ้าของศูนย์อำนวยการ แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่เคยนำมาร้องทุกข์กับดีเอสไอก่อนหน้านี้ว่าเป็นการรับส่งลูกเป็นทอดกับนาย สุเทพ การกระทำของนายธาริตจึงขัดต่อกฎหมาย เพราะศาลก็พิจารณาว่าพวกตนไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว

“นี่เป็นการกระทำตามมาตรา 57 ของกฎหมายเลือกตั้ง ที่ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายกระทำการ ใดๆเพื่อเป็นคุณเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง เพราะการกระทำของนายธาริต กระทำโดยมิชอบ”

นายณัฐวุฒิกล่าวว่า การเร่งรีบแจ้งข้อกล่าวหาของนายธาริตในช่วงเลือกตั้งทำให้ดูเหมือนว่าพรรค เพื่อไทยเต็มไปด้วยพวกละเมิดสถาบัน จึงถือเป็นการใส่ร้ายที่จะมีผลต่อคะแนนเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยจึงจะยื่นฟ้องนายธาริตต่อ กกต. เช่นกัน

ส่วนนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธาน นปช. เห็นว่าดีเอสไอใช้อำนาจไม่ถูกต้อง ทั้งการจับกุมแกนนำ นปช. เข้าคุกก็ไม่ใช่ทางออกที่จะทำให้บ้านเมืองสงบสุข หากไม่มีแกนนำ กลุ่มคนเสื้อแดงที่มีอยู่ทั่วประเทศก็จะกระจัดกระจายไม่มีคนคุม เมื่อมีการชุมนุมตามสถานที่ต่างๆ ก็อาจเสี่ยงต่อความรุนแรง ดีเอสไอควรมองภาพรวมปัญหาของประชาชนในขณะนี้ว่าต้องการอะไร

“ธาริต” ขู่อาจฟ้องกลับ

ขณะที่นายธาริตออกมาตอบโต้นายณัฐวุฒิที่ระบุว่าตนออกหมายเรียกแกนนำ นปช. ให้มารับทราบข้อกล่าวหาคดีละเมิดสถาบันว่ามีการรับลูกและสั่งการเป็นทอดๆว่า แกนนำ นปช. กระทำผิดกฎหมายบ้านเมืองในคดีก่อการร้าย ซึ่งอัยการได้ส่งฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลแล้ว นอก จากนี้ยังมีคดีคู่ขนานคือกระทำเข้าข่ายผิดกฎหมาย ดีเอสไอก็จำเป็นต้องดำเนินคดี แกนนำ นปช. จึงไม่ควรมาติติงเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเป็นข้าราชการประจำทำหน้าที่บังคับใช้ กฎหมาย โดยไม่ดูว่าใคร เป็นผู้ก่อเหตุหรือต้นเหตุของการละเมิดกฎหมายบ้านเมือง ถ้าดีเอสไอไม่ทำแล้วใครจะทำ ซึ่งดีเอสไอทำหน้าที่รักษากฎหมายตามปรกติ

นายธาริตกล่าวถึงความรู้สึกของตนเองว่า ขณะนี้มีปรากฏการณ์แปลกๆ คือเมื่อใครกระทำผิดกฎหมายจะหันไปลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เพื่อให้มีเอกสิทธิ์คุ้มครองทางการเมือง โดยเฉพาะคดีก่อการร้ายมีให้เห็นแล้ว ผู้ที่เป็นจำเลยในคดีหลายคนด้วยกัน อาจทำให้การดำเนินคดีมีปัญหาได้ ในฐานะที่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายยืนยันว่าทำงานตามหน้าที่และไม่ได้ท้าทาย ฝ่ายการเมือง ตราบใดที่ยังมีหน้าที่อยู่ก็จะทำหน้าที่ต่อไป ไม่ได้รู้สึกท้อแท้หรือหวาดกลัวคำขู่หรือคำวิจารณ์ แต่อยากเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอคนอื่นๆด้วย

“ถือเป็นการวิพากษ์ที่รุนแรงว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง ยืนยันว่าไม่เคยรับออเดอร์จากฝ่ายการเมืองหรือรัฐบาลปัจจุบัน เราทำตามหน้าที่ ซึ่งคงไม่ฟ้องร้องดำเนินคดี แต่ถ้ามีการก้าวล่วงหรือละเมิดมากไปกว่านี้ ผมอาจพิจารณาดำเนินการทางกฎหมายก็ได้”

ยิ่งลักษณ์ฟีเวอร์!

ระยะเวลาแค่ 2 สัปดาห์ของการเปิดตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นคู่ชกนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ กระแสการเมืองก็พุ่งไปที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์แทบทุกการเคลื่อนไหว หรืออาจเรียกว่า “ยิ่งลักษณ์ฟีเวอร์” ก็คงไม่ผิด ไม่ใช่กระแสโจมตีเรื่องส่วนตัวที่พรรคประชาธิปัตย์นำมาโจมตีตั้งแต่วันแรก หรือกรณีจะนำ พ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้านเกิดอย่างไร ซึ่งถือเป็นกระแสที่ท้าทาย น.ส.ยิ่งลักษณ์อย่างมากว่าเหมาะสมและมีความสามารถที่จะเป็น “นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย” หรือไม่

แม้แต่โพลสำนักต่างๆก็ได้ผลสำรวจคล้ายกันว่าพรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส. มากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ไม่มีความมั่นใจว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ ทั้งที่คนส่วนใหญ่ต้องการให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทยก็ตาม

อย่างกรุงเทพโพลล์ที่สำรวจความคิดเห็นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน เขตกรุงเทพฯระหว่างวันที่ 20-22 พฤษภาคม พบว่าพรรคเพื่อไทยได้คะแนนนิยมมากที่สุด 25% พรรคประชาธิปัตย์ 14% แต่อีก 52% ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคใด ส่วนคำถามที่ว่าอยากได้ใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ปรากฏว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ 26.9% นายอภิสิทธิ์ 17.4% อีก 49.2% ยังไม่แน่ใจ

ขณะที่พรรคเพื่อไทยเปิดเผยโพลของพรรคช่วงเดือนพฤษภาคมก่อนการเปิดตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่าคะแนนของพรรคพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะ ความล้มเหลวของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยประเมินเบื้องต้นว่า ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จะได้ 60-65 ที่นั่ง ส.ส.เขต ภาคเหนือ จะได้ 53-57 ที่นั่ง ภาคอีสาน 93-107 ที่นั่ง ภาคกลาง 35 ที่นั่ง กรุงเทพฯ 12-15 ที่นั่ง และภาคใต้ 5 ที่นั่ง รวมทั้งหมดมากถึง 260-270 ที่นั่ง

“ยิ่งลักษณ์” แรงจริง แต่…?

เสียงสนับสนุนที่ดีวันดีคืนของพรรคเพื่อไทยและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ยิ่งทำให้พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มอำนาจที่ไม่ต้องการให้ พรรคเพื่อไทยมีอำนาจยิ่งหากลยุทธ์ต่างๆมาสกัดกั้นให้ได้มากที่สุด ซึ่งก็มีแต่วาทกรรมเก่าๆที่ประชาชนเองก็เบื่อหน่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ หรือคดีของคนเสื้อแดง

ส่วนจุดอ่อนที่จะดิสเครดิต น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ยังวนเวียนอยู่กับเรื่องส่วนตัว เรื่องในอดีต ขณะที่พื้นที่สื่อทุกสำนัก (ยกเว้นสื่อรัฐ) กลับเกาะติด น.ส.ยิ่งลักษณ์ทุกเรื่อง ทุกฝีก้าว ไม่ใช่แค่วิสัยทัศน์ทางการเมืองหรือความรู้ความสามารถว่าสู้นายอภิสิทธิ์ได้ หรือไม่ แต่ยังนำเสนอนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์ตามแทบไม่ทัน

ที่สำคัญแม้แต่การหาเสียงของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็กลายเป็นสีสันทางการเมืองที่ประชาชนอยากรู้และเห็นบรรยากาศ ที่แท้จริง ตรงข้ามกับพรรคประชาธิปัตย์แม้จะมีนายอภิสิทธิ์ที่ถือว่ามีแม่ยกพ่อยกไม่ น้อย แต่กลับไม่มีสีสันอะไรใหม่นอกจากคำพูดหาเสียงเดิมๆว่าไม่ได้เป็นรัฐบาลหุ่น เชิดที่ล้มเหลว หรือดีแต่พูด

อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะได้เป็นรัฐบาลหรือ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี หากพรรคเพื่อไทยไม่ได้ ส.ส. เกินกึ่งหนึ่ง หรือ 250 เสียงขึ้นไป ก็คงไม่สามารถส่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรีได้ และพรรคเพื่อไทยแม้จะได้เสียงมากที่สุดก็ไม่มีทางได้เป็นรัฐบาล

อย่างที่นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย กล่าวอย่างเชื่อมั่นว่า แม้พรรคเพื่อไทย จะได้ ส.ส. มากที่สุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ไม่ได้เป็นนายก รัฐมนตรี เพราะไม่สามารถฝืนกระแสสังคมได้ เนื่องจากจะทำให้เกิดความแตกแยกเหมือนเมื่อครั้งที่ พ.ต.ท.ทักษิณผลักดันนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงคิดว่า พ.ต.ท.ทัก-ษิณอาจตัดสินใจเปลี่ยนตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นบุคคลอื่น แต่ยอม รับว่าการชู น.ส.ยิ่งลักษณ์ขึ้นมาในขณะนี้ทำให้กระแสและคะแนนของพรรคเพื่อไทยเพิ่มขึ้น

ในขณะที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เชื่อว่าบุคลิกของ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะชนะใจประชาชน เพราะเก่งและเรียนรู้ได้เร็ว มีความจริงใจ มีสปิริต คำถามอะไรตอบได้หมด ไม่ปิดบังความจริง แต่สุดท้ายก็อยู่ที่ประชาชนจะตัดสินเอง

สังเวียนเลือกตั้งครั้งนี้จึงไม่ธรรมดา เพราะไม่ใช่แค่สงครามครั้งสุดท้ายของ พ.ต.ท.ทักษิณเท่านั้น แต่ยังเป็นการต่อสู้ระหว่าง “พลังประชาชนบริสุทธิ์” กับ “อำนาจพิเศษอำมหิต”

จึงไม่แปลกแม้พรรคเพื่อไทยจะชนะคะแนน แต่เป็นไปได้ว่า…พรรคประชาธิปัตย์จะถูกชูมือให้เป็นผู้ชนะฟาวล์อีกครั้ง!!?

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 312 วันที่ 28 พฤษภาคม – 3 มิถุนายน พ.ศ. 2554 หน้า16
คอลัมน์ : ฟังจากปาก
โดย : ทีมข่าวรายวัน


ประกาศิต “ทักษิณ” จัดแถวเพื่อไทย จัดบัญชีดำ+บัญชีแดง+พรรคร่วม ชำระบัญชีแค้น !!

ผู้ทำบัญชีผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย กำหนดชะตากรรมคนทั้งพรรค

ต้นตำรับ 3 บัญชีของพรรคไทยรักไทย ที่มีทั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ-ส.ส. เขต และบัญชีชื่อรัฐมนตรี ถูกนำมาดัดแปลงปรับใช้

ในยุคเพื่อไทยยังคงใช้แนวทาง 3 บัญชี แต่จัดแบ่งประเภทใหม่

บัญชีแรก-ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แบ่งเป็น 4 ระดับ ระดับแรกมาจากกลุ่ม ส.ส.ตัวจริงได้เข้าสภาผู้แทนฯแบบปลอดภัย อยู่ในลำดับที่ 1-60

ระดับที่ 2 อยู่ในลำดับที่ 61-70 ให้แต่งตัวเป็นว่าที่รัฐมนตรี

ระดับที่ 3 ถูกบรรจุอยู่ในลำดับที่ 71-80 เตรียมตัวเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี-เลขานุการรัฐมนตรี และตำแหน่งในฝ่ายบริหาร

ระดับสุดท้าย เป็นลำดับที่มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้เข้าสภาผู้แทนฯ ถูกใส่ชื่ออยู่ในแถวที่ 81-125 แต่ได้รับการันตีพิเศษสายตรงจาก “ทักษิณ” ระบุถึงรูหูโทรศัพท์ว่า ลำดับที่ 120-125 มีสิทธิ์เป็น “รัฐมนตรี”

ทั้งนี้ แกนนำที่ได้รับ “สายตรง” จาก “ทักษิณ” มีทั้งชื่อ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ที่ได้เลื่อนมาอยู่ในลำดับที่ 6 นายบัณฑูรย์ สุภัควณิช อดีต ผอ. สำนักงานงบประมาณ ที่เดิมไม่มีรายชื่อขยับมาอยู่ลำดับที่ 13 ขณะที่ นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ อดีต รมช.พาณิชย์ จากเดิมลำดับเกิน 80 ได้ขยับขึ้นมา อยู่ลำดับที่ 18 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมช.คลัง สุดท้ายมีชื่ออยู่ลำดับที่ 124

บัญชีที่ 2-บัญชี “ส.ส.เสื้อแดง” มี การเสนอชื่อเพื่อพิจารณาไว้ 22 ชื่อ ได้รับการพิจารณาทั้งตัวจริง-ภรรยา-ลูกและตัวแทน ถูกบรรจุไว้ในลำดับที่ปลอดภัย

แม้มีบัญชีที่สลับ-ซุกซ้อนหลายชั้น ทำให้เกิดการต่อรองหลายรอบ แต่ในที่สุด “บัญชีแดง” จึงถูกจัดเต็มก่อนบัญชีอื่น ๆ

บุคคลในเวทีแดงและเครือญาติรวม 20 คน ได้อยู่ในระดับ “เซฟโซน”

ทั้งนี้ แกนนำคนเสื้อแดงนั้นมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.พท. 15 คน ได้แก่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ลำดับที่ 8, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ลำดับที่ 9, น.พ.เหวง โตจิราการ ลำดับที่ 19, นางรพิพรรณ พงศ์เรืองรอง ภรรรยานาย อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง อยู่ในลำดับที่ 27, น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ลูกสาว พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง อยู่ในลำดับที่ 42, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท ลำดับ 46, นางเยาวนิตย์ เพียงเกษ ภรรยานายอดิศร เพียงเกษ ลำดับ 47

นายก่อแก้ว พิกุลทอง ลำดับที่ 54, น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก นักวิชาการ คนเสื้อแดง บุตรสาว พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 56, นายวิเชียร ขาวขำ ลำดับ 60, นางอุดมรัตน์ อาภรณ์รัตน์ ภรรยา พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ลำดับที่ 66, นายชินวัฒน์ หาบุญพาด ลำดับที่ 72, นายชนะศักดิ์ อัตถาวงศ์ น้องชายนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ลำดับ 77, นาย เพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล แกนนำเชียงใหม่ 51 ลำดับที่ 86, นายธนกฤติ ชะเอมน้อย หรือวันชนะ เกิดดี ลำดับ ที่ 105

ขณะที่ “บัญชีแดง” ได้รับการปูนบำเหน็จ แต่กลุ่มนักการเมืองบางสาย ถูกจับยัดไว้ใน “บัญชีดำ”

บัญชีที่ 3-บัญชี “ส.ส.สีดำ” เป็น รายชื่อ ส.ส.กบฏที่ถูกจดรายการไว้ มีบทลงโทษ แบ่งเป็น 2 ระดับ

ระดับแรก เป็นกลุ่ม ส.ส.ที่เคยลาออกจากกรรมการบริหารพรรค และเป็นกลุ่มที่มีความใกล้ชิด-ชัดเจนกับ กลุ่ม “มิ่งขวัญ-บิ๊กจิ๋ว”

บทลงโทษสำหรับพวก “บัญชีดำ” คือทุกคนต้องเขียนใบลาออก พร้อมลงนาม-เซ็นชื่อไว้ แต่ไม่ลงวันที่ พร้อม เขียนข้อความระบุไว้ด้วยว่า “ผม-ดิฉัน มีปัญหาการทำงานกับพรรค พร้อมที่จะลาออก โดยไม่ได้ถูกกดดัน หรือถูกขับออกจากพรรค”

บทลงโทษระดับที่ 2 ส.ส.กบฏต้องลงไปผจญภัยในการเลือกตั้งระดับเขต และไม่มีสิทธิ์เป็นรัฐมนตรี

“ถ้าใช้ฐานเสียง ระบบสัดส่วนเดิม 48% จาก ส.ส. ทั้งหมด เพื่อไทย จะได้ 60 คน รวมกับ ส.ส.ระบบเขตอีกประมาณ 187 คน คาดว่าจะได้ ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 247 คน เท่ากับสมัยเลือกตั้งยุคไทยรักไทย” แกนนำเพื่อไทยกล่าว

ผลโพลลับของเพื่อไทยมียอดส่วนใหญ่มาจากความนิยมในนโยบายหัวหอก 2 ลำดับแรก คือ กองทุนหมู่บ้าน เครดิตชาวนา

และแม้แกนนำสายเสื้อแดงในพรรคจะพยายามเข้าไปมีบทบาทในพรรค ด้วยการเป็นผู้นำในการปราศรัยในเวทีหาเสียงเลือกตั้ง

แต่ “คน” กลับถูกลดบทบาท แต่จะเพิ่มพื้นที่ให้กับ “แผ่นซีดี” ที่เป็นเสียงของ “ทักษิณ” ที่บันทึกเสียง ไว้ในวันเปิดนโยบาย 23 เมษายน 54 แทน

คาดว่าจะมีการแจกจ่ายซีดี-เสียงทักษิณประมาณ 2 แสนแผ่นทั่วประเทศ

นอกจากนี้ แคมเปญนโยบายหาเสียงยังมีระดับการปราศรัย 3 ระดับ คือ ระดับประเทศ ระดับภาค และ ระดับเขต

ทั้งทักษิณและเพื่อไทยจึงไม่มีโจทย์อื่นนอกจากสมการคณะรัฐมนตรีที่มาจาก 2 พรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น

สูตรรัฐบาลที่บวก-ลบ-คูณ-หาร โดย “ทักษิณ” จึงมีทั้ง

สูตรแรกเพื่อไทย + ชาติไทยพัฒนาของบรรหาร ศิลปอาชา

สูตรที่ 2 เพื่อไทย + ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน

และ สูตรที่ 3 เพื่อไทย + ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน + ชาติไทยพัฒนา

โดย สรุปทุกสูตรมีเพื่อไทย + เสียงได้จากทุกพรรค ยกเว้นพรรคภูมิใจไทยของ “เนวิน ชิดชอบ” เท่านั้นที่ถูกกา ดอกจัน-ขีดเส้นใต้ไว้ล่วงหน้าให้อยู่ฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น

ยุทธศาสตร์แรกของเพื่อไทยจึงหมายตาพรรค “บรรหาร ศิลปอาชา” ไว้ล่วงหน้า และรวมกันตั้งรัฐบาลได้ ไม่น้อยกว่า 350 เสียง

แหล่งข่าวคนใกล้ชิด “ทักษิณ” สรุปว่า “หากเพื่อไทยได้เกิน 250 เสียง ทุกพรรคเป็นไปได้หมด แต่ยังยกเว้นพรรคเนวิน”

สอดคล้องกับแหล่งข่าวที่ใกล้ชิด “บรรหาร” บอกสูตรการจัดรัฐบาลว่า “หากเพื่อไทยชนะเกิน 10 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนาจะไปร่วมจัดรัฐบาลด้วย แต่ถ้าหากเพื่อไทยชนะไม่ถึง 10 เสียง เราจะอยู่ในที่ตั้ง ใครมาติดต่อเราก็รับร่วมรัฐบาลด้วย”

ทั้งบัญชีแดง-บัญชีดำ-บัญชีรัฐมนตรี และบัญชีพรรคร่วมรัฐบาล ล้วนอยู่ในมือ “ทักษิณ ชินวัตร” แต่เพียงผู้เดียว

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ 25 พฤษภาคม 2554


หุ่นเชิดอำมาตย์ VS โคลนนิ่งทักษิณ

“ผมบอกเลยว่าไม่ใช่นอมินี แต่เรียกได้เลยว่าเป็นโคลนนิ่งของทักษิณ ผมโคลนนิ่งการบริหารให้ตั้งแต่เรียนจบใหม่ๆ สไตล์การทำงานเหมือนผม รับการบริหารจากผมได้ดีที่สุด อีกข้อสำคัญหนึ่งก็คือ การที่คุณยิ่งลักษณ์ซึ่งเป็นน้องสาวผมมานั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค สถานะนั้นสามารถตัดสินใจแทนผมได้เลย เยสออร์โนนี่พูดแทนผมได้เลย”

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับ “โพสต์ทูเดย์” ที่ประเทศบรูไนถึง เหตุผลที่เลือก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวแท้ๆ เป็นผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรคเพื่อไทย เพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และยังสอดคล้องกับสโลแกน พรรคเพื่อไทยในการหาเสียงครั้งนี้ว่า “คิดใหม่ ทำใหม่อีกครั้ง” และ “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ”

“สุเทพ” เย้ยเหมือนหนังตะลุง

ทันทีที่พรรคเพื่อไทยเปิดตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์อย่างเป็นทางการ พรรคประชาธิปัตย์ก็ใช้เรื่องส่วนตัวโจมตีทันที โดยเฉพาะนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ถากถางและเย้ยหยันว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นเหมือนหนังตะลุงที่จะทำอะไรก็ต้องรอคำสั่งทางโทรศัพท์จาก พ.ต.ท.ทักษิณ

“คุณยิ่งลักษณ์ ประชาชนคงหลับตาแล้วนึกไม่ค่อยออกว่าถ้าเป็นนายกฯแล้วจะแก้ปัญหาประเทศอย่างไร หรือต้องทำงานไปคอยฟังเสียงโทรศัพท์ทางไกลตลอดเวลาว่าจะวิพากษ์ว่าอย่างไร มันเหมือนหนังตะลุง ทำงานยาก ทำให้เสียเปรียบมาก มีส่วนที่ได้เปรียบอย่างเดียวคือ พรรคนั้นเงินเยอะ มีวิชาเทพ วิชามาร ชำนาญศึก ขนาดถูกยุบพรรคมาแล้ว 2 หนที่เขาจับได้ ยังมีที่จับไม่ได้อีกนะ ที่จับไม่ได้ก็มีเยอะ ถือเป็นความช่ำชองที่ได้เปรียบ ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของประเทศ ประชาชนที่เลือกตั้งต้องชั่งใจอย่างหนัก”

จี้ถามนิรโทษกรรม

โดยเฉพาะกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณประกาศจะกลับประเทศไทยปลายปีนี้ทั้งที่ยังมีคดีติดตัวนั้น นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ถือโอกาสถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ถึงขั้นตอนการเข้าสู่การล้างความผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณว่าจะมีขั้นตอนอย่างไรโดยไม่ต้องรับผิด และมีแนวทางในการป้องกันไม่ให้สังคมเกิดความวุ่นวายอย่างไร เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์แถลงในการเปิดตัวว่าจะอาศัยหลักนิติธรรมให้บ้านเมืองเดินไป ข้างหน้า ซึ่งขัดแย้งกับที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พูดว่าจะออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะการจะออกกฎหมาย ล้างความผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณจะทำให้ประชาชนไม่เห็นด้วย และบ้านเมืองจะเกิดความวุ่นวาย

เช่นเดียวกับนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า สิ่งที่เป็นห่วงมากที่สุดคือกระบวนการที่จะล้างความผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะพรรคเพื่อไทยพยายามทำมาถึง 2 ปีแล้ว โดยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ปราศรัยหรืออธิบายกระบวนการล้างความผิดที่จะไม่ให้เกิดความ วุ่นวายได้อย่างไร

ด้านนายบุญยอด สุขถิ่นไทย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โจมตี น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ประกาศว่าจะมุ่งแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ไม่ใช่คิดแก้แค้นว่า เป็นเพียงการสร้างภาพเหมือนเป็นผู้ถูกกระทำ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ควรใช้คำพูดนี้ แต่ควรไปถามผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เผาเมือง เช่น ญาติของทหารที่เสียชีวิต และผู้ค้าย่านราชประสงค์ว่าจะไม่แก้แค้นหรือไม่ การออกมาพูดอย่าง นี้ถือว่าดูถูกคนไทยเกินไป คนไทยไม่ใช่คนลืมง่าย

ไม่คิดแก้แค้น แต่คิดแก้ไข

การนำเรื่องนิรโทษกรรมให้กับ พ.ต.ท. ทักษิณมาใช้โจมตีนั้น ความจริง น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้แถลงข่าวตั้งแต่วันที่ปรากฏตัวครั้งแรกแล้วว่า พ.ต.ท.ทักษิณต้องได้รับการปฏิบัติเหมือนประชาชนทั่วไป โดยยึดหลักนิติธรรม อีกทั้งพรรคเพื่อไทยคงไม่ให้ตนทำเพื่อคนคนเดียวเช่นกัน แต่ต้องคำนึงถึงทุกคนและประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ทั้งยืนยันว่าการเข้าสู่การ เมืองครั้งนี้เพราะต้องการรับใช้ประชาชน แก้ความทุกข์ยากของประชาชน สร้างความปรองดองและมองข้ามความขัดแย้ง

“ไม่คิดแก้แค้น แต่คิดแก้ไข ดิฉันพร้อมที่จะรับการพิสูจน์ต่อสาธารณชนภายใต้กติกาและมารยาทที่เป็นธรรม”

เป็นคำแถลงของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่น่าจะตอบคำถามและสอนมวยให้กับพรรคประชาธิปัตย์ที่มุ่ง แต่โจมตีเรื่องส่วนตัว และพยายามตอกย้ำให้กลุ่มเกลียด พ.ต.ท.ทักษิณออกมาเป็นแนวร่วม ซึ่งนายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ประชาชนก็เซ็ง เพราะในอดีตนายบรรหาร ศิลปอาชา ก็เคยโดนมาแล

ประชาธิปัตย์ไม่ใช่สุภาพบุรุษ

ขณะที่นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล กรรมการที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ย้อนถามพรรคประชาธิปัตย์ที่พยายามดิสเครดิตโดยขุดคุ้ยเรื่องส่วนตัวว่า คนที่ขุดคุ้ยก็ตายตั้งแต่ยังไม่เกิด เพราะสังคมไทยรู้ดี เมื่อออกมาก็ถูกเบรกกันเป็นแถว คิดว่ามันไม่ใช่สุภาพบุรุษด้วย อยากเห็นทุกฝ่ายเคารพในความเป็นคน และเคารพที่มาที่ไปของแต่ละคน ควรปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ ให้ประชาชนตัดสินใจ ถ้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ชนะเลือกตั้งแล้วจะทำอะไรตามอำเภอใจคงทำได้ยาก เพราะวันนี้การเมืองเปลี่ยนไปแล้ว การเมืองภาคประชาชนแข็งแรง ในอดีตที่ผ่านมาเห็นแล้วว่ารัฐบาลทำอะไรไม่ถูกต้องและประชาชนไม่เอาด้วย รัฐบาลก็ไม่สามารถไปต่อได้

นายสมศักดิ์ย้ำว่า ไม่มีใครทำลายสถาบันการเมืองได้ดีเท่ากับคนในสถาบันการเมืองทำกันเอง อย่าดูถูกประชาชน อย่าคิดว่าประชาชนไม่รู้ เขาแยกแยะได้ ถ้าฝ่ายการเมืองมาสาวไส้ตอแยกันเองจะเป็นอันตรายต่อระบอบ “อย่าไปกลัวเงาของ พ.ต.ท.ทักษิณ อย่าไปกลัวกับเหตุการณ์ที่ไม่เกิดขึ้น ขอให้เชื่อในพลังของประชาชนที่จะชี้นำประเทศได้ดีกว่าพรรคการเมือง”

จุดอ่อน “ยิ่งลักษณ์”?

ด้าน พ.ต.ท.ทักษิณยอมรับว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังมีจุดอ่อนหรือข้อด้อย คืออาจขาดการปรับตัวให้เข้ากับการเมือง โดยเฉพาะการเมืองไทยที่มีลักษณะเฉพาะ คือเป็นการเมืองที่ทำลายผู้นำ มีผู้นำคนแล้วคนเล่าถูกทำลายให้ล้มลง แต่เชื่อว่าหากความปรองดองเกิดขึ้นปัญหานี้จะเบาบางลง เพราะทุกฝ่ายอยากเห็นความปรองดองจริง มีการแก้รัฐธรรมนูญแล้วความปรองดองน่า จะเกิดขึ้นได้ และการเมืองจะปรกติ ยิ่งเป็นผู้หญิง และไม่มีพื้นฐานด้านการเมือง ไม่เคยมีความแค้น ส่วนตัวกับใคร ไม่มีความชอบส่วนตัวกับการเมือง ฝ่ายไหน ยิ่งช่วยให้สะดวกที่จะเข้าไปพูดคุยหารือ กับทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดความปรองดอง ซึ่งความเป็นผู้หญิงจะเป็นจุดแข็ง และตอนนี้ได้เดินสายพูดคุย คือเริ่มทำงานปรองดองแล้วด้วยซ้ำไป

“เมื่อไม่มีใจเขาก็เป็นกลางที่จะเข้าไปพูดคุยกับทุกฝ่ายให้เกิดความ ปรองดอง สถานะความเป็นผู้หญิงจะไปขอความปรองดองจากทุกฝ่าย ไปพูดจา ไปพบปะคนได้โดยไม่มีการแบกอคติทางการเมืองไว้”

“อภิสิทธิ์” ท้าดีเบต “ยิ่งลักษณ์”

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้หนีไม่พ้นการต่อสู้ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรค เพื่อไทย โดยนายอภิสิทธิ์กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์หนีไม่พ้นที่จะต้องถูกนำมาเปรียบเทียบและถูกโจมตีทั้งเรื่อง ส่วนตัวและความรู้ความสามารถ ซึ่งไม่อาจปฏิเสธว่านายอภิสิทธิ์มีประสบการณ์ทางการเมืองมากกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยเฉพาะการเป็นนักพูดที่ยากจะหาผู้ต่อกรได้ จึงไม่แปลกที่ทั้งนายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ต่างออกมาเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ “ดีเบต” หรือแสดงวิสัยทัศน์กับนายอภิสิทธิ์

แต่พรรคเพื่อไทยออกมาคัดค้านและประณามพรรคประชาธิปัตย์ว่ายังมีพฤติกรรม แบบการเมืองรุ่นเก่าเต่าล้านปี ต้องการใช้สำนวนโวหารเป็นอาวุธประหัตประหารผู้อื่นในทางการเมือง แทนที่จะเอาผลงานมาแข่ง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์สามารถเอาผลงานกว่า 2 ปีที่ผ่านมามาหาเสียงหากคิดว่าประชาชนยอมรับ ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย เห็นว่าสิ่งที่นายอภิสิทธิ์พูดนั้นเหมือนมวยออกอาการ พอจะแพ้ก็วิ่งเข้าใส่เพื่อแลกหมัด หวังจะแลกเพื่อน็อก น.ส.ยิ่งลักษณ์

นอมินีอำมาตย์ “ดีแต่พูด”

ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่มแนว ร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการท้าดีเบตว่า เพราะพรรคประชาธิปัตย์มั่นใจว่านายอภิสิทธิ์ได้เปรียบอย่างมากหากเทียบกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่กลับไม่สงสารคนไทยที่กว่า 2 ปี นายอภิสิทธิ์ดีแต่พูด เมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้วยังจะหาเวทีพูดอีก ซึ่งคนไทยเห็นตัวตนของนายอภิสิทธิ์หมดแล้ว

ส่วนที่นายสุเทพบอกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นหุ่นเชิดของ พ.ต.ท.ทักษิณนั้นเพราะไม่ยอมรับความจริงว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความรู้ความสามารถ และประสบความสำเร็จในการบริหารองค์กรระดับ หมื่นล้าน ซึ่งมีสติปัญญาเป็นของตัวเอง หรือถ้ามองในมิติบริหารถือเป็นอาจารย์นายอภิสิทธิ์ ยิ่งบวกกับความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณมาผสมยิ่งมีความลงตัวที่จะนำประเทศออกจากวิกฤตเศรษฐกิจและสังคม

“ดีกว่านายอภิสิทธิ์ที่เป็นหุ่นเชิดของอำนาจนอกระบบ แต่ไม่มีต้นทุนความสามารถเลย เมื่อเข้าสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีก็มีสภาพและข่าวทุจริตอย่างที่เห็น ผมจึงขอให้สโลแกนใหม่ว่าเลือก น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้นโยบาย พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ถ้ารักนายสุเทพ นายเนวิน ให้เลือกนายอภิสิทธิ์ ผมเชื่อว่าประชาชนจะพิจารณาได้”

นายณัฐวุฒิยังท้าพรรคประชาธิปัตย์ว่า ถ้าเห็นว่านายอภิสิทธิ์เก่งกาจสามารถ เป็นที่รักของประชาชนเหลือเกิน มั่นใจและแน่จริงก็อย่าโกงผู้หญิงแล้วกัน อย่าใช้อำนาจนอกระบบโกงคะแนนเลือกตั้งและแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาล ทำลายเจตนารมณ์ของประชาชน

“ไฮแจ๊ค” จนชาติป่นปี้

การไล่ถล่ม น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่าเป็น “นอมินี” ของ พ.ต.ท.ทักษิณจึงน่าจะเป็นหอกที่กลับมาทิ่มแทงนายอภิสิทธิ์และพรรคประชา ธิปัตย์มากกว่า เพราะไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารจนได้ฉายา “รัฐบาลเทพประทาน” สะท้อนให้เห็นชัดเจนถึงการเป็น “นอมินี” หรือ “หุ่นเชิด” ให้กลุ่มอำนาจนอกระบบหรือกลุ่มอำมาตย์

ด้านนายเสนาะ เทียนทอง ที่เข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มั่นใจว่าคนไทยไม่ได้โง่ ตอนนี้พรรคเพื่อไทยกำลังจะทำงานใหญ่และจะได้เป็นรัฐบาล แต่สงสาร น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาในจุดนี้ เพราะรัฐบาลนี้ทำอะไรไม่เป็น นอกจากกู้อย่างเดียว

“ผมเป็นผู้จัดการรัฐบาลมาหลายสมัย แต่ไม่เคยเห็น ครม. ไหนอนุมัติโครงการวันเดียวเป็นแสนล้านบาท ผมยังมีฤทธิ์อยู่ และเชื่อว่าจะพาลูกหลานไปสู่จุดหมายที่ตั้งเอาไว้ได้ เพราะขณะนี้ได้ประสานกับหลายฝ่ายเอาไว้พอสมควร ที่มีคนบอกว่าพรรคเพื่อไทยมีอุปสรรค ไม่ว่าจะได้เสียงเท่าไรก็ไม่ได้เป็นรัฐบาลนั้น ต่อไปนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะตั้งแต่มีการไฮแจ๊คปล้นกันกลางแดดจนทำให้ประเทศชาติเสียหายป่นปี้ ทำให้มั่นใจได้ว่าพรรคเพื่อไทยจะเข้ามาบริหารประเทศอีกสมัย และคิดว่าอาจจะเป็นพรรคเดียวก็ได้”

หุ่นเชิดอำมาตย์ VS โคลนนิ่งทักษิณ

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่เฉพาะคนไทยที่ถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญว่า จะทำให้การเมืองไทยเดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยต่อไปได้หรือไม่เท่านั้น แต่ประชาคมโลกก็ติดตามและเฝ้ามองว่าในที่สุดประเทศไทยจะสามารถหลุดพ้นจาก “วงจรอุบาทว์” การปฏิวัติรัฐประหารได้หรือไม่

เพราะความขัดแย้งไม่ได้อยู่แค่การแย่งชิงอำนาจในระบบของพรรคการเมืองว่า ใครจะได้เป็น รัฐบาล แต่ยังเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยที่วันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ “โคลนนิ่งทักษิณ” เป็นตัวแทน ส่วนกลุ่มอำนาจเดิมหรือกลุ่มอำมาตย์ มีนายอภิสิทธิ์เป็น “นอมินี” หรือ “หุ่นเชิด”

อย่างที่นายแอนดรูว์ วอล์คเกอร์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ให้ความเห็นว่า การเลือก น.ส.ยิ่งลักษณ์ถือว่าเป็นย่างก้าวที่กล้าหาญและเป็นทางเลือกที่ดีมากๆ แม้เสี่ยงอย่างยิ่งที่จะถูกมองว่าเป็นการส่งมอบอำนาจของตระกูลชินวัตร แต่สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์และพวกพ้องกลัวที่สุดคือการลงแข่งขันกับ พ.ต.ท.ทักษิณในสนามเลือกตั้ง

ดังนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ พ.ต.ท.ทักษิณยืน ยันว่าเป็น “โคลนนิ่ง” ไม่ใช่ “หุ่นเชิด” จึงเป็นคนที่มีความสามารถและตัดสินใจได้เองทุกอย่าง ไม่เหมือนนายอภิสิทธิ์ที่ถูกมองว่าเป็น “นอมินี” หรือ “หุ่นเชิด” ของกลุ่มอำมาตย์ที่ “ดีแต่พูด” ไม่มีผลงานชัดเจนเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากนี้ยังไม่กล้าแตะต้องแม้แต่รัฐมนตรีร่วมรัฐบาลที่ถูกกล่าวหาสารพัดว่า ทุจริตคอร์รัปชัน

การเลือกตั้งครั้งนี้จึงถือเป็นการตัดสินใจของคนไทยทั้งประเทศว่าจะกล้า เปลี่ยนแปลงประเทศโดยเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งให้ได้เสียงแบบถล่มทลายไปเลยหรือ ไม่ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ไม่ว่าจะเป็น “หุ่นเชิดอำมาตย์” หรือ “โคลนนิ่งทักษิณ” ความขัดแย้งในบ้านเมืองก็จะยุติไปเอง

เพราะในสังคมประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงนั้น ประชาชนย่อมมีสิทธิเลือกผู้ปกครองของตัวเอง

ไม่จำเป็นต้องพึ่งเสียงสวรรค์จากที่ไหน!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 311 วันที่  21 – 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 หน้า 16 – 17
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
โดย : ทีมข่าวรายวัน


นักวิชาการออสเตรเลียวิเคราะห์เลือกตั้งไทย อาจไม่ใช่ “ยิ่งลักษณ์” แต่เป็น “ทักษิณ” ปะทะ “อภิสิทธิ์”

“แอนดรูว์ วอล์คเกอร์” นักวิชาการประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ได้เขียนบทความชื่อ “อภิสิทธิ์ ปะทะ ทักษิณ” ลงเผยแพร่ในเว็บล็อก “นิว มันดาลา” (นวมณฑล) มติชนออนไลน์ขออนุญาตแปลสรุปความบทงานเขียนดังกล่าว มานำเสนอดังต่อไปนี้

การที่พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ในฐานะผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่ออันดับที่ 1 ของพรรค ส่งผลให้สนามเลือกตั้งของประเทศไทยเดินทางมาถึงยังจุดที่ควรจะเป็น

นี่อาจไม่ใช่การปะทะกันระหว่าง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” กับ “ทักษิณ ชินวัตร” เสียทีเดียว แต่ การเลือกตั้งครั้งนี้ก็นำพาประเทศไทยมาสู่จุดที่ใกล้เคียงที่สุดของ “การเผชิญหน้าครั้งประวัติศาสตร์” ซึ่งถูกก่อรูปขึ้นในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

ทักษิณ ชินวัตร มีอิทธิพลครอบงำการเมืองไทยมาร่วมหนึ่งทศวรรษ ในสนามเลือกตั้ง เขาคือนักการเมืองที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากประชาชน เท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา การเผชิญหน้ากับพรรคประชาธิปัตย์ในการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งหลังสุดของ ทักษิณเมื่อปี พ.ศ. 2548 พรรคไทยรักไทยของเขาสามารถเอาชนะพรรคประชาธิปัตย์ไปได้อย่างถล่มทลาย

เช่นเดียวกันกับผู้นำทางการเมืองทั่วไป ทักษิณมี “จุดเปราะบาง” ของตนเอง ทว่า กลุ่มพลังทางการเมืองต่างๆ ที่แสดงจุดยืนต่อต้านเขาในปี พ.ศ.2548 และ 2549 ก็มิได้ใช้สติปัญญาและความอดทนอดกลั้นในการสลายอำนาจของอดีตนายกฯ ผู้นี้ ผ่านมรรควิธีทางการเลือกตั้ง

พรรคประชาธิปัตย์ได้ปฏิเสธที่จะใช้โอกาสของตน เอง เมื่อทักษิณทำตามข้อเรียกร้องของพวกเขา ด้วยการประกาศยุบสภาและจัดให้มีเลือกตั้งใหม่อย่างทันทีทันใดในเดือนเมษายน 2549

การบอยค็อตต์การเลือกตั้งครั้งนั้นของพรรคประชาธิปัตย์ อาจถือเป็นส่วนหนึ่งของการกรุยทางไปสู่การรัฐประหารโดยกองทัพในอีก 5 เดือนต่อมา

ด้วยเหตุนี้ “ความจริงประการสำคัญ” ของการเมืองไทยร่วมสมัย จึงได้แก่ การที่ทักษิณคือนายกรัฐมนตรีผู้ชนะการเลือกตั้งทั่วไปถึง 3 ครั้ง ซึ่งต้องถูกบีบบังคับให้หลุดออกจากตำแหน่งด้วยกลไกการรัฐประหารที่ผิดกฎหมาย โดยกองทัพ อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้คนจำนวนมากในประเทศไทย  สิทธิธรรมที่ทักษิณได้รับจากการเลือกตั้งยังคงดำรงอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง

พรรคประชาธิปัตย์ยังมีอาการหวาดกลัวทักษิณในการแข่งขันอีกหนึ่งสนามที่พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับอดีตนายกฯ ผู้นี้

โดยความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรต่างๆ พรรคประชาธิปัตย์และเครือข่ายดังกล่าวพยายามทำทุกวิถีทางที่จะธำรงรักษาอำนาจของตนเองเอาไว้

การรัฐประหาร 19 กันยา เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ก่อนจะตามมาด้วยการยุบพรรคการเมือง, การห้ามผู้ที่เคยร่วมงานทางการเมืองกับทักษิณเข้ามาทำงานการเมือง, การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งสามารถถูกนำไปใช้บ่อนทำลายกระบวนการตัดสินใจผ่านบัตรเลือกตั้งของ ประชาชนได้, การตัดสินลงโทษทักษิณ ผ่านหนึ่งในคดีความปลีกย่อยว่าด้วยการละเมิดกฎหมายของเขา, ตลอดจนการลงโทษยึดทรัพย์อดีตนายกฯ เนื่องจากเขาประสบความสำเร็จในการมีส่วนทำให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยมีอัตราการ เจริญเติบโตพุ่งสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์ยังต้องพบกับศึกหนักระดับเข็นครกขึ้นภูเขา ในการเลือกตั้งปี พ.ศ.2550 นักการเมืองผู้มีบุคลิกเป็นสุภาพบุรุษอย่างอภิสิทธิ์ ต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งขันผู้เป็นนักการเมืองที่มักถูกมองว่ามีบุคลิกภาพ น่ารังเกียจอย่าง “สมัคร สุนทรเวช” ประชาธิปัตย์อาจมีผลงานน่าพอใจ หากพิจารณาจากจำนวน ส.ส.ระบบสัดส่วน แต่ก็ต้องพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิงหากพิจารณาผลงานของพวกเขาจากจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็น “ตัวแทน” ของทักษิณ ได้ดีกว่าสมัคร เพราะยิ่งลักษณ์ปรากฏตัวในที่สาธารณะโดยไม่ปริปากพูดจามากนัก และที่สำคัญไปกว่านั้น คือ เธอมิได้เป็นผู้มีประสบการณ์ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยอันยาวนานและผันผวน และมิได้เป็นนักการเมืองอิสระที่คาดเดาการตัดสินใจต่างๆ ได้ยาก เหมือนกับสมัคร

ยิ่งลักษณ์เป็น “ผู้หญิง” ของทักษิณอย่างชัดเจน  เธอแตกต่างจากสมัครตรงที่ เธอเป็นสัญลักษณ์อย่างสมบูรณ์แบบซึ่งสื่อถึงความปรารถนาให้เกิดการเปลี่ยน แปลงในระดับ “รุ่นอายุคน” (เจเนอเรชั่น) ของทักษิณ, ความเป็นสตรีเพศอันอ่อนโยนของเธอได้ช่วยขับเน้นถึงความต้องการของทักษิณที่ จะแสดงออกให้ผู้คนเห็นถึงอำนาจอันแข็งแกร่งของเขา, ภูมิหลังทางเศรษฐกิจของเธอเป็นดังเสียงสะท้อนถึงวิถีซีอีโอของทักษิณ, การประสบความสำเร็จทางธุรกิจของเธอกระตุ้นให้สังคมระลึกถึงความทะเยอทะยาน ที่ทักษิณบ่มเพาะปลูกฝังเอาไว้ และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ก็คือ เธอมีนามสกุล “ชินวัตร”

ดังนั้น ในแง่มุมทางการเมืองแล้ว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงมีสถานะประดุจดัง “เสื้อคลุม” ซึ่งทำหน้าที่ห่อหุ้มเรือนร่างของทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นพี่ชาย เอาไว้

รัฐบาลประชาธิปัตย์สามารถโจมตียิ่งลักษณ์ได้ตามที่พวกเขาต้องการ ในประเด็นที่ว่าเธอเป็นตัวแทนของทักษิณ

แต่ประเด็นดังกล่าวก็ถือเป็น “จุดใหญ่ใจความสำคัญ” ของการเมืองไทยเช่นกัน

การเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 3 กรกฎาคม จะถือเป็นการแข่งขันอันชวนระทึกใจอย่างยิ่ง หากอภิสิทธิ์ชนะ เขาจะสามารถกล่าวอ้างได้ว่าตนเองได้รับสิทธิธรรมบางประการจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ในภาวะเช่นนั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คงจะต้องกล่าวอ้างถึงสิทธิธรรมดังกล่าวอย่างระมัด ระวัง หากพิจารณาถึง “โซ่ตรวน” จำนวนมากมายที่ถูกใช้เหนี่ยวรั้งกักกันบรรดานักการเมืองฝ่ายตรงข้ามพรรคประ ชาธิปัตย์ในชั่วระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเกมการเมืองไทย มิใช่สนามการแข่งขันที่มีความยุติธรรมแท้จริงแต่อย่างใด

แต่อย่างน้อยที่สุด ชัยชนะของอภิสิทธิ์ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554  ก็ย่อมเป็นการบีบให้พรรคเพื่อไทยต้องกลับไป “คิดใหม่” เกี่ยวกับศักยภาพของแบรนด์ “ทักษิณ”

แต่ถ้ายิ่งลักษณ์ชนะ สังคมไทยก็จะย้อนกลับไปยังปี พ.ศ.2548 เพียงแต่เป็นบรรยากาศของ 6 ปีที่แล้ว ซึ่งมีความแตกแยกทางการเมืองปรากฏชัดเจนมากขึ้น และภาวะสุญญากาศของอำนาจเชิงสัญลักษณ์ได้เปิดช่องให้สังคมไทยมีโอกาสพิจารณา ถึง “อนาคต” ของตนเอง

ชัยชนะที่ตระกูลชินวัตรได้รับ จึงอาจนำไปสู่ฉากแห่งช่วงเวลาอันน่าสนใจของประเทศไทยอย่างแท้จริง

ที่มา : มติชน 21 พฤษภาคม 2554


มือที่มองเห็น! พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร

“เชื่อเถอะครับ คำพูดของกองทัพ ของทหารเชื่อถือได้ เชื่อเถอะ ไม่มีใครหรอกที่จะก้าวล่วงเข้าไปดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ไม่ว่าจะกดดัน ผลักดัน ไปแอบอิง หรือให้อิงแอบ เพื่อทำให้ผิดวัตถุประสงค์ของประชาชน เชื่อเถอะ เสียงของท่านแต่ละเสียงมีคุณค่าต่อประเทศไทยในอนาคต ผมยืนยันอีกครั้ง ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. ผู้แทน ผบ.ตร. ว่าไม่ยุ่งเกี่ยว”

พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) สร้างความประหลาดใจให้กับคนทั้งประเทศ เมื่อนำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ที่ปรึกษา สบ 10 ในฐานะตัวแทน พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) แถลงยืนยันว่าทหารไม่ปฏิวัติ ไม่มีรัฐบาลภายใต้มาตรา 7 และหลังการเลือกตั้งก็ไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร

พล.อ.ทรงกิตติยังให้หยุดเอากองทัพมาอ้าง หยุดเอากองทัพมาแนบ และหยุดผลักกองทัพออกจากประชาชน ให้การเมืองดำเนินไปบนแนวทางการเมือง กองทัพจะรักษาเกียรติ และเป็นที่มั่นใจของประชาชน เพราะเป็นคนของประชาชน “เราคือประชาชน เรารู้หน้าที่ของเราว่าต้องทำอะไร ควรจะเว้นจากทำอะไร หากมีหน่วยใดเคลื่อนย้ายกำลังโดยไม่ได้รับคำสั่งคือกบฏ ถ้ามีทหารกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดไปเกี่ยวข้องทางการเมืองหรือไปกดดันก็ร้องเรียนมา หากมีมูลจะทำการสอบสวน”

ปฏิวัติเงียบ!

อย่างไรก็ตาม การออกมาแถลงข่าวดังกล่าวทำ ให้หลายฝ่ายยิ่งเชื่อว่ามีคนบางกลุ่มต้องการทำการปฏิวัติรัฐประหารจริง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ผบ.ทบ. และ ผบ.ทอ. จะยืนยันว่าไม่มีการปฏิวัติรัฐประหารแน่นอนก็ตาม แต่ไม่มีใครเชื่อ เพราะแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ชุมนุมมานานถึง 3 เดือน ได้เรียกร้องชัดเจนว่าขอให้ใช้วิธีใดก็ได้เพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้ง และปิดประเทศชั่วคราว 3-5 ปี เพื่อปฏิรูปการเมืองและล้างนักการเมืองที่มีพฤติกรรมชั่วออกไปให้หมด

โดยเฉพาะนางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง เปิดเผยว่า มีกลุ่มที่พยายามทำการปฏิวัติรัฐประหารจริง แต่เป็นปฏิวัติเงียบ ขนาดวางตัวผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไว้แล้ว

ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน ก็ยืนยันว่ามีกลุ่มนายทหารที่ต้องการปฏิวัติเงียบจริง ซึ่งรู้ความเคลื่อนไหวตั้งแต่ยังอยู่ในเรือนจำ โดยคนหน้าแหลมฟันดำคนเดิมอยู่เบื้องหลัง แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากหลายภาคส่วน เนื่องจากไม่มั่นใจว่าหากมีการยึดอำนาจแล้วจะสำเร็จหรือไม่ จึงคิดจะปฏิวัติเงียบตามที่นางสดศรีออกมาเปิดเผย โดยอดีตรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี

เกียรติยศที่อัปยศ

เช่นเดียวกับที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. ตั้งข้อสังเกตที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพออกมาแถลงข่าวยืนยันไม่ปฏิวัติว่า ทุกครั้งก่อนการปฏิวัติมักมีการออกมาแถลงข่าวในลักษณะดังกล่าว เช่น รัฐประหารปี 2549 ยืนยันว่ามีความพยายามเดินเกมปฏิวัติเงียบและปฏิวัติจริง เพราะมีผลการสำรวจความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์จะแพ้พรรคเพื่อไทยทั้งหมด ยกเว้นพื้นที่ภาคใต้ จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดแนวคิดทำการปฏิวัติขึ้นมา

นายจตุพรเห็นว่า ถ้าทำตามที่แถลงจริงก็ขอให้ทหารทำหน้าที่ของตนเองให้ดีก่อน แต่หากใครต้องการเล่นการเมืองก็ขอให้ลาออกจากตำแหน่งมาลงการเมือง ทหารต้องไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาด อย่ามาเกาะติดพื้นที่ หรือบล็อกแกนนำ หรือเป็นกรรมการนับคะแนน รวมไปถึงไม่ให้ทหารมาติดตามนักการเมือง ซึ่งกลุ่มคนเสื้อแดงจะจัดชุดลงไปในแต่ละหมู่บ้าน หากพบทหารลงพื้นที่ปลุกระดมและใส่ร้ายให้เกิดความเกลียดชังเพื่อไม่ให้เลือก พรรคเพื่อไทย ก็จะจับส่งหรือร้องเรียนไปยัง กกต.

คำแถลงของผู้นำเหล่าทัพจึงเป็นสัญญาณที่ดีของการเมือง แม้หลายฝ่ายยังไม่เชื่อ แต่เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ ซึ่งวันนี้ประชาชนทั้งประเทศก็รับรู้แล้ว แต่ประชาชนจะเชื่อข่าวลือหรือการปล่อยข่าวหรือไม่อยู่ที่ผู้นำกองทัพ ซึ่งข้อบังคับกระทรวงกลาโหมระบุชัดเจนว่า ทหารต้องไม่ดำเนินการใดๆทางการเมือง แต่กองทัพก็ไม่อาจปฏิเสธว่าการปฏิวัติรัฐประหารที่ผ่าน มาเกือบทุกครั้ง หัวหน้าคณะที่ทำการปฏิวัติรัฐประหารออกมายืนยันเช่นนี้ แม้แต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งไม่ใช่แค่การโกหกตอแหลประชาชน แต่ยังทำลายเกียรติยศของกองทัพและสร้างความอัปยศให้กับประเทศชาติอีกด้วย

ประชาชนคือผู้ตัดสิน

การแสดงจุดยืนที่ชัดเจนของผู้นำกองทัพครั้งนี้จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะ ทำให้ประชาชนมั่นใจว่ามีการเลือกตั้งแน่นอน แม้หลายฝ่ายยังเชื่อว่ามี “อำนาจนอกระบบ” เข้ามาเกี่ยวข้องก็ตาม แต่อย่างน้อยก็เป็นการต่อสู้ตามครรลองประชาธิปไตยที่ให้ประชาชนเป็นผู้ ตัดสิน ไม่ว่าประชาชนจะสีอะไรหรือเลือกข้างใด

แม้การเลือกตั้งไม่ได้หมายความว่าจะยุติความขัดแย้งทางการเมือง แต่ปัญหาการเมืองจะไม่มีการเข่นฆ่าประชาชนอย่างที่ผ่านมา เพราะไม่ว่าพรรคการเมืองใดได้เป็นรัฐบาลก็เป็นเรื่องของการเมือง ไม่ใช่รัฐบาลที่จัดตั้งกันในค่ายทหาร เป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากฉันทามติของประชาชน และเป็นรัฐบาลที่กล้าเข่นฆ่าประชาชนเพื่อให้มีอำนาจอยู่ต่อไป อย่างที่นายณัฐวุฒิแถลงเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2554 หลังจากได้รับประกันตัวว่า

“เราร่วมต่อสู้กันมาตั้งแต่หลังปี 2549 สิ่งที่เราอยากเห็นมากที่สุดคือ ให้บ้านเมืองนี้เป็นประชาธิปไตย สิ่งที่เราอยากเดินไปถึงที่สุดคือ ผืนแผ่นดินนี้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง…ต้องการแค่ศักดิ์ศรีความเป็น มนุษย์โดยสมบูรณ์เท่านั้น ผู้มีอำนาจให้สิ่งนั้นไม่ได้ แต่กลับหยิบยื่นความตายให้เราเพียงเพราะต้องการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ผู้ต้องรับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมในครั้งนี้คือ ผู้ลงมือ ผู้สั่งการ และผู้อยู่เบื้องหลัง เราไม่คาดคิดว่าผู้มีอำนาจจะอำมหิตถึงเพียงนั้น ไม่คาดคิดไม่ใช่เพราะรู้ไม่ทัน แต่ไม่คาดคิดเพราะที่ผ่านมาเรารักเขามากเกินไป ความรักทำให้คนตาบอด แต่ความตายทำให้คนตาสว่าง แล้วจะไม่มีวันหลงลืมความตายของประชาชน ไม่มีวันลืมความสูญเสียของผู้บริสุทธิ์ ตรงกันข้าม เราจะลืมตามองไปทุกมุมมืดเพื่อดูใครก็ตามที่ซ่อนตัวอยู่ ให้เขารู้ว่าเรารู้แล้ว ตาสว่างแล้วทั้งแผ่นดิน”

คำพูดของนายณัฐวุฒิสะท้อนให้เห็นชัดเจนถึงแนวทางการต่อสู้ของคนเสื้อแดง ว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เสียงข้างมากหรือประชาธิปไตยแค่ 4 วินาที แต่ต้องให้ประเทศชาติก้าวพ้นจากการครอบงำของอำนาจนอกระบบหรือกลุ่มอำมาตย์ ที่อ้างประชาธิปไตยแบบไทย เพื่อกลบเกลื่อนประชาธิปไตยอย่างอารยประเทศที่ยึดมั่นในหลักสิทธิเสรีภาพและ ความเสมอภาคอย่างแท้จริง ไม่ใช่ประชาธิปไตยในคราบเผด็จการ

ประชาธิปไตยคือพื้นที่อิสระ

“ตราบใดที่เราไม่มีประชาธิปไตย เราก็ไม่สามารถลงมือถกเถียง และลองผิดลองถูกอย่างเป็นรูปธรรมในการใช้พื้นที่อิสรเสรีของประชาธิปไตยได้”

แม้แต่นายใจ อึ๊งภากรณ์ นักวิชาการสัญชาติไทยอังกฤษ อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ขณะนี้ลี้ภัยอยู่ในสหราชอาณาจักร เพราะถูกแจ้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็เรียกร้องให้คนเสื้อแดงสู้ตามระบอบประชาธิปไตย แม้จะมีจุดร่วมแตกต่างกัน แต่ไม่ใช่ไม่เข้าใจประชาธิปไตย ต่อต้านการเลือกตั้ง ซึ่งมีแต่จะทำให้การเมืองไทยกลับไปสู่สภาพเดิมก่อนรัฐประหาร 19 กันยาฯ

นายใจยังชี้ว่า สังคมไทยผ่านวิกฤตการเมืองมาหลายปี ผ่านการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของคนเสื้อแดง ผ่านการสูญเสียทั้งสิทธิและเลือดเนื้อจากนักการเมืองและทหารที่มือเปื้อน เลือด ตอนนี้ประชาชนไทยจำนวนมากต้องการแก้ปัญหาใหญ่ๆในสังคมไทย เช่น ปัญหานักโทษการเมือง ปัญหากฎหมายเผด็จการ ปัญหากระบวนการยุติธรรม 2 มาตรฐาน ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เรื้อรัง และไม่ให้มีการทำรัฐประหารขึ้นอีก

“สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่ๆที่ท้าทายอำนาจอำมาตย์ ขบวนการเสื้อแดงต้องชูประเด็นเหล่านี้และตั้งคำถามยากๆกับนักการเมืองทุก พรรค รวมถึงพรรคเพื่อไทยด้วย เราต้องมีส่วนสำคัญในการกำหนดวาระทาง การเมืองของการเลือกตั้ง และข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องของเราต้องแหลมคมพอที่จะทนทานต่อการแพ้การเลือก ตั้งของพรรคเพื่อไทย คือต้องเป็นข้อเรียกร้องที่เราใช้เคลื่อนไหวต่อไปได้ไม่ว่าใครจะชนะการเลือก ตั้ง”

ระบอบคณาธิปไตย

แต่ประชาธิปไตยที่มาจากประชาชนและเพื่อประชาชนอย่างที่คนเสื้อแดงต่อสู้ ก็คงไม่ได้มาง่ายๆอย่างที่ศาสตราจารย์เบเนดิก แอนเดอร์สัน นักวิชาการประวัติศาสตร์ที่ศึกษาสังคมและการเมืองไทยได้ปาฐกถา “มองอนาคตการเมืองไทยผ่านสายตาคนนอก” ที่จัดโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และสาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อไม่นานมานี้ว่า การเมืองไทยเหมือนกับระบบการเมืองในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ที่ยังมีลักษณะ “กึ่งประชาธิปไตย” หรือ “คณาธิปไตย” ซึ่งระบอบคณาธิปไตยจะตั้งมั่นอยู่ได้ต้องมีความเชี่ยวชาญในการควบคุมระบบการ เลือกตั้ง แต่ต้องไม่มีฝ่ายค้านเป็นกลุ่มก้อน ให้ ส.ส. ย้ายพรรคกันง่ายและรวดเร็วเวลามีการจัดตั้งรัฐบาลผสม อย่างการจัดตั้งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์เพื่อต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณและระบอบทักษิณ

ที่สำคัญกลุ่มคณาธิปไตยมักเป็นกลุ่มเครือญาติ ลูกหลานที่ไปโรงเรียนเดียวกัน มีธุรกิจเกี่ยวโยงกัน แต่งงานเกี่ยวดองกัน รวมทั้งมีค่านิยมและผลประโยชน์ร่วมกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่แข่งขันกันเอง ชิงดีชิงเด่นกัน แม้บางครั้งจะแข่งขันกันอย่างดุเดือด แต่ไม่ได้หมายความว่าคนพวกนี้จะตัดขาดจากคนกลุ่มอื่นๆอย่างสิ้นเชิง พวกเขามีความยืดหยุ่นพอที่จะดูดคนอื่นที่เป็นกึ่งคนนอกกลุ่มเข้ามา แต่ต้องวางอยู่บนเงื่อนไขที่พวกเขาตั้งขึ้นเท่านั้น

ศาสตราจารย์แอนเดอร์สันจึงมองการต่อสู้ของคนเสื้อแดงกับอนาคตการเมืองไทย ว่า เหมือนคำพูดอมตะของ “กรัมชี” มาร์กซิสต์ชาวอิตาเลียนผู้ยิ่งใหญ่ ที่ว่า “เมื่อสิ่งที่เก่าแก่ไม่ยอมตาย และสิ่งใหม่ดิ้นรนที่จะเกิด ย่อมเกิดอสุรกายขึ้น”

แต่อนาคตการเมืองไทยจะคาดหวังจากชนชั้นกลางหรือกระฎุมพีในกรุงเทพฯไม่ได้ เหมือนการชุมนุม 14 ตุลาคม 2516 อย่างกล้าๆกลัวๆ แต่แล้วก็หันหลังให้ขบวนการนักศึกษาเมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คนชั้นกลางเหล่านี้เคยสนับสนุนนโยบายประชานิยมยุคต้นๆของรัฐบาลทักษิณ แต่ไม่นานก็หันหลังให้แล้วมาสนับสนุนกลุ่มเสื้อเหลืองกันอย่างมากมาย

“กระฎุมพีชาวกรุงเทพฯก็ไม่ต่างจากกระฎุมพีชาวมะนิลา กัวลาลัมเปอร์ สิงคโปร์ และจาการ์ตาสักเท่าไร ขี้ขลาด เห็นแก่ตัว ไร้วัฒนธรรม คลั่งบริโภค และไม่เคยมีภาพอนาคตของประเทศอยู่ในหัว”

เลือกตั้งชี้ชะตา “อภิสิทธิ์-ทักษิณ”

แม้สถานการณ์การเมืองไทยวันนี้จะปฏิเสธอำนาจของกลุ่มอำมาตย์และกองทัพไม่ ได้ แต่การออกมาแถลงของผู้นำเหล่าทัพก็คงไม่มีใครกล้าหรือบ้าพอที่จะทำการ ปฏิวัติรัฐประหารในขณะนี้ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เองก็รู้ดี และต้องปรับตัวเพื่อใช้การเลือกตั้งมาต่อสู้กับกลุ่มพันธมิตรฯที่พยายาม เรียกร้องให้มีการใช้ “อำนาจพิเศษ” หรืออำนาจนอกระบบ

โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ต่างก็ต้องต่อสู้จนถึงที่สุดเพื่อให้ได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องอำนาจและผลประโยชน์ของตนเองและพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น แต่ต้องไม่ให้ถูกดำเนินคดีในฐานะ “ฆาตกร” ในเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” เช่นเดียวกับผู้นำกองทัพที่รับผิดชอบในศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)

อย่างที่นายสุเทพจัดพิมพ์หนังสือ “ประเทศไทยของเรา อย่าให้ใครเผาอีก” ออกมาแจกจ่ายขณะนี้ เพื่อต้องการยืนยันว่าการใช้กำลังทหารนับหมื่นพร้อมอาวุธสงครามสลายคนเสื้อ แดงนั้น เป็นการปฏิบัติตามหลักสากลทุกอย่าง แต่ผู้ชุมนุมแย่งอาวุธและนำมาต่อสู้กับทหาร รวมทั้งยิงพวกเดียวกันเอง

ในหนังสือที่ส่วนใหญ่เป็นคำที่เคยอภิปรายในสภายังชี้ว่า เจ้าหน้าที่แม้มีอาวุธในมือ แต่ไม่กล้ายิง “ไอ้โม่งชุดดำ” เพราะกลัวประชาชนจะถูกลูกหลง ทั้งยังระบุว่า คนเสื้อแดงวางแผนเผาสถานที่สำคัญทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เพื่อสร้างความวุ่นวาย ชิงอำนาจทางการเมือง หาทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณที่เป็นนัก โทษหนีคดีไม่ต้องรับโทษ เมื่อมีผู้เสียชีวิตและเผาบ้านเผาเมืองแล้วกลับโยนความผิดให้กับกองทัพและ รัฐบาล และยังทิ้งท้ายให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาติดคุก และ พรรคเพื่อไทยนำไปรณรงค์ต่อสู้ในการเลือกตั้งแทน

การเลือกตั้งครั้งนี้จึงมีความสำคัญอย่างมากกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มอำนาจที่สนับสนุนที่จะต้องรักษาอำนาจไว้ ให้ได้

ขณะที่พรรคเพื่อไทยต้องการขึ้นมาเป็นรัฐบาล ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ต้องการกลับประเทศ ด้านคนเสื้อแดงต้องการให้ได้ประชาธิปไตยที่แท้จริง รวมทั้งเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บพิการในเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต”

“ทักษิณ” กับพรรคเพื่อไทย

เช่นเดียวกับที่การประชุมของพรรคเพื่อไทยขาดไม่ได้ที่จะมีการโฟนอินของ พ.ต.ท.ทักษิณ รวมทั้งการกำหนดผู้ที่จะเป็น “นายกรัฐมนตรี” หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณได้เตือนสมาชิกพรรคเพื่อไทยในเรื่องนี้ว่า

“วันนี้ผมเลยต้องพูดให้ชัดๆ อย่างที่พูดไว้ในทวิตเตอร์ 9 ข้อ จงอย่าบิดเบือนคนไม่มีความสามารถให้ประชาชน เพราะเราโตมาได้ด้วยประชาชน แม้จะถูกย่ำยีแค่ไหน ถูกยุบพรรคมากี่ครั้ง ประชาชนก็ยังให้การสนับสนุน ก็ยังรู้ว่าเป็นพรรคผม คนที่จะเป็นนายกฯต้องยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ตัวเอง ไม่ใช่พูดเก่งอย่างเดียว วันนี้โลกเปลี่ยนไปเยอะ พูดเก่งอย่างเดียวทำอะไรไม่ได้ คุณสมบัติสำคัญที่สุดของคนที่จะเป็นนายกฯคือต้องรักประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้ว ไม่ต้องห่วง ผมดูเองเมื่อถึงเวลา แต่ตอนนี้ผมยังไม่ได้ตัดสินใจ ผมต้องคิดหน้าคิดหลังให้มากๆ และผมเป็นนักสู้ ประชาชนให้โอกาสขนาดนี้ผมต้องกลับไปตอบแทนแน่นอน”

คำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ออกมาจากพรรคเพื่อไทยเป็นการแสดงให้เห็นว่ายังมีบทบาทอย่าง มากกับการเมืองไทย แม้แต่การกำหนดคนที่จะขึ้นมาเป็น “นายกรัฐมนตรี” คนต่อไป ดังนั้น การเลือกตั้งเร็วๆนี้จึงจะเป็นการต่อสู้กันอย่างดุเดือด และไม่ใช่ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น แต่ยังเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับกลุ่มอำ-มาตย์ ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2551 ที่ทุกฝ่ายต่างก็มีเดิมพันถึงชีวิต

“ทักษิณ” คัมแบ็ก!

อย่างไรก็ตาม แม้พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งก็ไม่ได้หมายความว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะกลับมาได้ทันที ต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองกับผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญและกองทัพ ซึ่งถ้ากลับมาได้จริงอาจเป็นปลายปี 2554 และต้องต่อสู้คดีในฐานะผู้ต้องหาตามกระบวนการยุติธรรมอีกด้วย

อย่างไรก็ดี บรรดาโหรมีการพยากรณ์ดวงชะตาของ พ.ต.ท.ทักษิณทั้งในแง่ดีและแง่ร้าย อย่างนายวิโรจน์ กรดนิยมชัย นักโหราศาสตร์ยูเรเนียน พยากรณ์ว่า ดวงชะตาของ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นส่วนหนึ่งที่มาจากบิดา จึงต้องดูดวงบิดา ซึ่งในหนังสือ “ตาดูดาว เท้าติดดิน” นั้น พ.ต.ท.ทักษิณพูดถึงบิดาตัวเองว่า “สิบกว่าปีที่ผ่านมาพ่อไม่เหลืออะไรเลย ในวาระสุดท้ายในชีวิตของพ่อ ทักษิณต้องพาพ่อไปอยู่ที่ จ.นนทบุรี แล้วพ่อก็ตาย โดยที่ไม่เหลืออะไรให้ลูกหลานไว้สืบทอดเลย”

ขณะที่นายวารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ โหรชื่อดังแห่งสำนักสุขิโต จ.เชียงใหม่ ยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณยังไม่หมดวิบากกรรม และไม่มีทางได้กลับมามีอำนาจอีก ทั้งยังยืนยันว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่เป็น “พระเอกขี่ม้าขาว” อักษรย่อคือ “ป.ปลา” ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี จะเข้ามาทำให้ประเทศกลับสู่ความสงบ ซึ่งอาจจะหมายถึง ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ที่เพิ่งเปิดตัวเล่นการเมืองขณะนี้ หรือนายทหารอักษร ป.ปลา ซึ่งมี 2 คนคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ด้าน “หมอนิด” นายกิจจา ทวีกุลกิจ ที่เคยชี้ว่า นายอภิสิทธิ์มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ดวงดีไม่นานจึงเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ไม่ครบเทอม รวมทั้งดวงพรรคประชาธิปัตย์ว่าตกต่ำจนอาจถึงขั้นปิดปรับปรุงรื้อพรรคใหม่ เพราะดวงชะตาถึงจุดฆาตนั้น พยากรณ์ว่า ดวงชะตาของ พ.ต.ท.ทักษิณหลังจากปี 2554 ถึงปี 2556 จะมีรัศมีแห่งบารมียิ่งใหญ่ และจะกลับมาครองประเทศอีกแน่นอน

การเมืองหลังสงกรานต์จึงทั้งดุเดือดและร้อนระอุเหมือนนางสงกรานต์ปีนี้ ที่นางกิริณีเทวี ทรงพาหุรัตน์ ทัดดอกมณฑา แก้วมรกตเป็นอาภรณ์ ภักษาหารถั่ว งา พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จนั่งมาบนหลังช้าง ซึ่งไม่ใช่แค่ชี้ชะตา “อภิสิทธิ์” และ “ทักษิณ”

แต่ยังเป็นการต่อสู้ระหว่าง “อำนาจนอกระบบ” ของ “มือที่มองไม่เห็น” กับ “มือที่มองเห็น” ที่ชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร”!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 306 วันที่ 9-22 เมษายน พ.ศ. 2554 หน้า 16 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน