ลืมหน้าที่

กําลังสนุกสนานอยู่กับการ ‘ตบเท้า’

จู่ๆ ก็ ‘งานเข้า’ แบบไม่ทันตั้งตัว เมื่อเกิดเหตุการณ์ทหารไทยปะทะกับทหารกัมพูชา ตามแนวชายแดนบริเวณปราสาทตาควาย และปราสาทตาเมือนธม อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์

เป็นการปะทะระลอกล่าสุดนับตั้งแต่เกิดการสู้รบด้านชายแดน จ.ศรีสะเกษ ใกล้ปราสาทเขาพระวิหาร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ตามข่าวว่าทหารสองฝ่ายยิงถล่มกันด้วยกระสุนปืนใหญ่นับร้อยนัด

นอกจากพื้นที่ จ.สุรินทร์ อันเป็นศูนย์กลางการปะทะ กระสุนปืนใหญ่จากฝ่ายกัมพูชายังปลิวมาตกในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ติดกันอีกด้วย

ทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ต้องเร่งอพยพประชาชนหลายหมื่นคนออกจากพื้นที่ ให้พ้นจากรัศมีปืนใหญ่

เบื้องต้นผลจากการปะทะ 2 รอบเมื่อเช้าวันศุกร์ต่อเนื่องวันเสาร์ ทหารไทยพลีชีพแล้วอย่างน้อย 4 นาย และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก

ยังไม่มีใครรู้ว่าการปะทะหนนี้จะกินเวลากี่วัน

แต่ถ้ายุติเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น เพื่อไม่ให้ความสูญเสียของทั้งสองฝ่ายเพิ่มเติมมากไปกว่าที่เกิดขึ้นแล้ว

จากภาคอีสานย้ายลงมาที่ภาคใต้ ช่วงเวลาใกล้กันเกิดเหตุกลุ่มโจรใต้ลอบวางระเบิดถล่มรถปิกอัพทหาร ขณะออกลาดตระเวนในพื้นที่ อ.รามัน จ.ยะลา

ใช้อาวุธปืนสงครามกราดยิงซ้ำทำให้ทหารยศสิบเอก พลีชีพไป 1 นาย บาดเจ็บอีก 4 นาย

กรณีของสิบเอกภาคใต้ได้รับการนำเสนอเป็นข่าวแต่ไม่ใหญ่นัก อาจเพราะเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นรายวัน จนคนไทยไม่ว่าภาคไหนๆ ล้วนชาชิน

เพราะตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ไฟใต้ปะทุตั้งแต่ต้นปี 2547

8 ปีเต็มกับงบประมาณกว่า 1.45 แสนล้านบาท แต่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น เกิดความรุนแรงสรุปรวมแล้วเกือบ 12,000 ครั้ง

มีผู้เสียชีวิตไปแล้วประมาณ 4,500 ราย

ในจำนวนนี้เป็นทหารราว 300 ราย ตำรวจในจำนวนใกล้เคียงกัน ส่วนที่เหลือเกือบ 4,000 ชีวิตเป็นของประชาชนในพื้นที่

ไม่มีใครรู้เช่นกันว่าตัวเลขสถิติความสูญเสียนี้จะจบลงตรงไหนและเมื่อไหร่

ในขณะที่ผู้รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหามัวเอาเวลาไปแสดงออกทางการเมือง

ละเลยหน้าที่แท้จริงของตนเอง

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ 25 เมษายน 2554
คอลัมน์ : เหล็กใน


เบื้องหน้าเบื้องหลังพันธมิตรฯ-รัฐบาลอภิสิทธิ์

เป็นที่น่าสนใจว่าในวันนี้กลุ่มการเมืองที่โจมตีและแสดงความเป็นปฏิปักษ์มากที่สุดกับรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับไม่ใช่กลุ่มเสื้อแดง แต่กลายเป็นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือฝ่ายเสื้อเหลือง ที่นำโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ดังคำกล่าวตอนหนึ่งของนายสนธิเมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมาว่า

“ผมยังไม่เคยเห็นนายกฯคนไหนโกหกเท่านายกฯคนนี้ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกฯที่ปลิ้นปล้อนที่สุด แต่นายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯที่โกหกมากที่สุด นอกจากเขาจะใช้วิชามารเรื่องข่าวแล้ว เขายังฝันว่าเราจะมีอยู่แค่หยิบมือเดียว แต่เขาเข้าใจผิด ที่ผ่านมาเราไม่ได้สู้เพื่อประชาธิปัตย์ แต่เราสู้เพื่อชาติบ้านเมือง เมื่อเราสู้เพื่อชาติบ้านเมืองพี่น้องก็ออกมาเอง ไม่ต้องขอร้องแม้แต่นิดเดียว”

กลุ่มพันธมิตรฯนั้นจัดตั้งขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 เพื่อต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในขณะนั้น มีความสัมพันธ์ที่ดีมากกับพรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ ดังนั้น ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2549 ทั้งสองฝ่ายต่างก็ร่วมกันเสนอขอใช้มาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อขอรัฐบาลพระราชทาน จากนั้นทั้งสองฝ่ายก็ร่วมมือกันต่อมาจนนำมาสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549

เมื่อมีการเลือกตั้งเดือนธันวาคม พ.ศ. 2550 สมาชิกฝ่ายพันธมิตรฯหลายคนก็ลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคประชาธิปัตย์ เช่น นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายประพันธ์ คูณมี นายสำราญ รอดเพชร นายพิเชฐ พัฒนโชติ เป็นต้น จากนั้นฝ่ายพันธมิตรฯและพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังคงร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดอีก ครั้งใน พ.ศ. 2551 เมื่อฝ่ายพันธมิตรฯเป็นแกนนำสำคัญในการต่อต้านรัฐบาลพรรคพลังประชาชนภายใต้ การนำของนายสมัคร สุนทรเวช ขณะที่ฝ่ายพันธมิตรฯเข้ายึดทำเนียบรัฐบาล และต่อมาเข้ายึดสนามบินนานาชาติ พรรคประชาธิปัตย์ก็แสดงท่าทีสนับสนุนเสมอมา

ดังนั้น จึงถือได้ว่าทั้งฝ่ายพันธมิตรฯ และพรรคประชาธิปัตย์ต่างก็เป็นกลไกคนละด้าน ของฝ่ายอำมาตยาธิปไตยในการทำลายหลักการประชาธิปไตยในสังคมไทย ซึ่งผลจากการเคลื่อนไหวของฝ่ายพันธมิตรในครั้งนั้น ก็เปิดทางให้พรรคประชา ธิปัตย์ได้อาศัยคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชนของศาลรัฐธรรมนูญและกลไกฉ้อฉลทางรัฐสภาให้ได้เป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาล และทำให้นายอภิสิทธิ์ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในที่สุด นายอภิสิทธิ์ก็ตอบแทนฝ่ายพันธมิตรฯเป็นอย่างดี เช่น การตั้งให้นายกษิต ภิรมย์ ที่ร่วมกับฝ่ายพันธมิตรฯ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น

หลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายพันธมิตรฯกับพรรคประชาธิปัตย์กลับ เริ่มห่างเหินกัน ฝ่ายพันธมิตรฯถือว่าได้รับประโยชน์จากการเคลื่อนไหวล้มรัฐบาลพลังประชาชนไม่ คุ้มค่า ขณะที่ฝ่ายนายอภิสิทธิ์ได้ประโยชน์เต็ม นอกจากนี้ฝ่ายพันธมิตรฯยังเป็นปฏิปักษ์กับบางปีกในพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะปีกของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ถูกโจมตีเสมอว่าเป็นผู้ร่วมมือของนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำจากพรรคภูมิใจไทย ต่อมาฝ่ายพันธมิตรฯจึงตั้งพรรคการเมืองของตนเองคือ พรรคการเมืองใหม่ ซึ่งตั้งในวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2552 และเริ่มส่งผู้สมัครในการเลือกตั้งท้องถิ่นกรุงเทพมหานครในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2553 แต่กระนั้นสื่อของฝ่ายพันธมิตรฯก็ยังมิได้โจมตีนายอภิสิทธิ์มากนัก นอกจากเรื่องที่นายอภิสิทธิ์อ่อนแอไม่จัดการกับฝ่ายเสื้อแดงให้เด็ดขาดพอ

จนกระทั่งเมื่อนายวีระ สมความคิด นำคณะ 7 คน ไปสำรวจชายแดนเขมรและถูกจับกุมในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ในคณะนั้นมีนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมไปด้วย ซึ่งยังเป็นปริศนา เนื่องจากนายพนิชน่าจะเดินทางไปโดยความรับรู้ของนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม กรณีนายวีระและคณะถูกจับดำเนินคดีในกัมพูชานี้เอง กลายเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการเสื้อเหลืองในการเปิดฉากการชุมนุมกดดันรัฐบาลอภิสิทธิ์ โดยเริ่มจากกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติที่นำโดยนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ และนายการุณ ใสงาม ได้เริ่มปักหลักชุมนุมเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2554 บนถนนพิษณุโลก หน้าทำเนียบรัฐบาล และยังคงชุมนุมต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้ โดยมีสมณะโพธิรักษ์นำกำลังกองทัพธรรมเข้าร่วมสนับสนุน

ที่น่าสนใจคือ ในวันที่ 18 มกราคม นายไชยวัฒน์พร้อมทั้ง พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ได้นำประชาชนราว 1,000 คน ไปถวายฎีกาที่สำนักพระราชวัง ในกรณีรัฐบาลนายอภิสิทธิ์สมคบกับรัฐบาลต่างชาติ อันเป็นเหตุทำให้ไทยเสียดินแดน

ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554 กลุ่มพันธมิตรฯจึงได้จัดการชุมนุมใหญ่ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ และยังชุมนุมต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันแม้จะมีประชาชนเข้าร่วมไม่มากนัก โดยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ แถลงว่า เป้าหมายในการชุมนุมคือ การกดดันรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ให้ดำเนินการตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือ 1.ให้ประเทศไทยถอนตัวออกจากการเป็นคณะกรรมการมรดกโลก 2.ยกเลิกเอ็มโอยู 2543 และ 3.ผลักดันชาวกัมพูชาออกไปจากแผ่นดินไทย

แต่ที่น่าสังเกตคือ การชุมนุมของฝ่ายพันธมิตรฯ ครั้งนี้ไม่ได้ร่วมกับฝ่ายคนไทยหัวใจรักชาติ และใช้สื่อคนละสื่อกัน เพราะฝ่ายคนไทยหัวใจรักชาติที่หน้าทำเนียบรัฐบาลนั้นไม่ได้ออกถ่ายทอดทางเอเอสทีวีเลย แต่ไปถ่ายทอดทางช่อง 13 สยามไท ที่มี พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน เป็นประธาน นอกจากนี้ทั้ง 2 ฝ่าย ออกข่าวแสดงการไม่ยอมรับกันอย่างชัดเจน กลุ่มพันธมิตรฯก็ไม่ได้ตั้งข้อเรียกร้องที่จะกดดันเรื่องการปล่อยตัวนายวีระเลย

ดังนั้น การเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อเหลืองครั้งนี้ไม่ได้มีความเป็นเอกภาพมากเช่น ครั้งก่อน และมิตรเก่าของฝ่ายพันธมิตรฯอีกหลายคนที่ยังร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ เช่น นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นต้น ไม่ได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวในครั้งนี้

ประเด็นสำคัญคือ ในการชุมนุมยืดเยื้อครั้งนี้ ฝ่ายคนไทยหัวใจรักชาติและกลุ่มพันธมิตรฯต้องการบรรลุเป้าหมายอะไรกันแน่ หรือที่มากกว่านั้นก็คือ ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยที่เป็นผู้สนับสนุนฝ่ายพันธมิตรฯต้องการอะไรกับการเคลื่อน ไหวครั้งนี้ ต้องการบีบรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ให้ไปกดดันกัมพูชาปล่อยตัวนายวีระและ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ที่ถูกศาลตัดสินจำคุกไปแล้ว หรือต้องการที่จะสร้างสถานการณ์ตึงเครียดตามชายแดนเพื่อนำไปสู่สงคราม ระหว่างไทยกับกัมพูชา

ถ้าเกิดสงครามเช่นนั้นแล้ว ฝ่ายพันธมิตรฯและผู้อยู่เบื้องหลังฝ่ายพันธมิตรฯ และกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติจะได้อะไร?

ดูเหมือนว่าเป้าหมายที่แท้จริงของฝ่ายพันธมิตรฯ น่าจะอยู่ที่การเมืองภายในประเทศมากกว่า เพราะฝ่ายพันธมิตรฯ เป็นกลุ่มสำคัญที่ไม่ต้องการการเมืองแบบที่มีการเลือกตั้ง เนื่องจากไม่ว่าพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์จะชนะเลือกตั้ง ฝ่ายพันธมิตรฯ ล้วนไม่ได้รับประโยชน์ การเคลื่อนไหวครั้งนี้จึงเป็นการเริ่มเปิดฉากที่จะสร้างสถานการณ์อันนำมาสู่การก่อรัฐประหาร หรือนำมาซึ่งรัฐบาลแห่งชาติ หรือรัฐบาลพระราชทาน ซึ่งจะเป็นทางออกทางการเมืองที่ดีสำหรับฝ่ายพันธมิตรฯ

ดังนั้น ระเบียบวาระของฝ่ายพันธมิตรฯจึงไม่อาจจะสนับสนุนได้ เพราะฝ่ายพันธมิตรฯปลุกชาตินิยมและต่อต้านรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ในฐานะขั้นตอนที่จะนำไปสู่การล้มเลิกประชาธิปไตย ขณะที่ฝ่ายประชาชนคนเสื้อแดงต่อต้านรัฐบาลนายอภิสิทธิ์เพื่อนำไปสู่การรื้อฟื้นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ในภาวะเช่นนี้ขบวนการคนเสื้อแดงจึงควรทำหน้าที่เป็นคนดู ไม่ร่วมและไม่สนับสนุนพันธมิตรฯ และปล่อยให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ไปแก้ปัญหาเอง การที่ทั้งสองฝ่ายอ่อนกำลังทั้งคู่จึงเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายประชาชน และลดอำนาจของฝ่ายอำมาตยาธิปไตยที่อยู่เบื้องหลัง

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 299 วันที่ 19-25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 หน้า 9 คอลัมน์ ถนนประชาธิปไตย โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ


ไพ่สุดท้าย‘อภิสิทธิ์’‘ยุบ’ก่อน‘ยึด’

“ให้นายอภิสิทธิ์ลาออกจากตำแหน่งเพื่อเปิด โอกาสให้บุคคลที่มีความสามารถ กล้าหาญ เข้ามาบริหารราชการแทน พิจารณาตัวเองด้วยการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ กล้าหาญ กล้าตัดสินใจในการปกป้องดินแดนและอธิปไตยของชาติ มุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในชาติให้หมดสิ้น มีวุฒิภาวะ และมีความเป็นผู้นำที่ซื่อสัตย์ต่อชาติ ต่อประชาชน ไม่โกหกหลอกลวงประชาชน มีคุณธรรม ศีลธรรม เข้ามาบริหารชาติบ้านเมืองต่อไป”

แถลงการณ์ยกระดับการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อวัน ที่ 5 กุมภาพันธ์ เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหากัมพูชาที่รุกล้ำและยึด ครองดินแดนไทย ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดและเกิดการปะทะกันจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ แทนที่จะปกป้องดินแดนและอธิปไตยของชาติ กลับกระทำการในลักษณะสมยอมจำนน หรือมีพฤติกรรมยอมรับการเข้ายึดครองและรุกล้ำดินแดนไทยของกัมพูชา

นอกจากนี้ยังระบุว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่าง ประเทศ ตลอดจนคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ล้วนมีพฤติกรรมสมคบกันทำให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรไทยต้องตกอยู่ภาย ใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา ทำลายเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของประเทศชาติและประชาชนไทย ก่อความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อชาติและแผ่นดินไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้ราชอาณาจักรไทยต้องเสียดินแดนให้แก่กัมพูชาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน

เปลี่ยนแผนเพราะม็อบเหี่ยว!

อย่างไรก็ตาม การยกระดับการเคลื่อนไหวไปยังสถานที่สำคัญต่างๆในวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ เพื่อกดดันนายอภิสิทธิ์นั้น พันธมิตรฯได้ประกาศเปลี่ยนแผนเป็นการเคลื่อนคาราวานนำสิ่งของไปมอบให้กับ ทหารในพื้นที่อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีษะเกษ หลังจากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 9-23 กุมภาพันธ์ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ 7 เขตคือ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตวัฒนา เขตราชเทวี เขตวังทองหลาง เขตปทุมวัน และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย พร้อมตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) โดยมี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นผู้อำนวยการ

“จะคลี่คลายสถานการณ์ให้เรียบร้อยให้ได้” พล.ต.อ.วิเชียรประกาศงานแรกของ ศอ.รส. โดยออกมาตรการห้ามเข้าถนนสายสำคัญรอบทำเนียบรัฐบาล และจะเจรจาให้กลุ่มพันธมิตรฯเปิดเส้นทางสัญจรตามปรกติ หากไม่ยอมจะดำเนินการเคลื่อนย้ายคนและสิ่งของออกจากพื้นที่ตามข้อบังคับใช้ กฎหมาย โดยจะใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก 20 กองร้อย เป็น 50 กองร้อย แต่หากพื้นที่ใดมีสถานการณ์ความวุ่นวายก็จะประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯเพิ่มเติม เช่น บริเวณศาลอาญา ซึ่งกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จะชุมนุมกันในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ซึ่งนายสุเทพไฟเขียวให้เพิ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เต็มที่

อย่างไรก็ตาม รายงานของฝ่ายความมั่นคงและรัฐบาลยังเชื่อว่ากลุ่มพันธมิตรฯจะมีการเคลื่อน ไหวเพื่อยกระดับกดดันรัฐบาล แต่เพราะจำนวนผู้ชุมนุมยังไม่มากพอจึงต้องปรับแผน ซึ่งอาจสร้างเงื่อนไขให้เกิดสถานการณ์ที่จะทำให้มวลชนออกมาร่วมมากขึ้น จึงต้องมีการเตรียมพร้อม 100% ทั้งกำลังตำรวจและทหาร เพราะในทางการข่าวของเจ้าหน้าที่สืบทราบว่าทางกลุ่มพันธมิตรฯจะไม่ประกาศ ชัดเจนบนเวทีว่าจะไปไหนในวันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้ แต่ได้ใช้การพูด “ปากต่อปาก” ซึ่งคาดว่าอาจมีการปิดล้อมอาคารรัฐสภาก็เป็นได้

แต่ฝ่ายพันธมิตรฯกลับมองว่าการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯเท่ากับสะท้อนถึง “ความไม่มั่นคง” ของรัฐบาล จึงจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษเพื่อให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจ “เคลียร์พื้นที่” และอ้างสถานการณ์ความมั่นคงจัดการกับผู้ชุมนุมอย่างเด็ดขาดทันทีที่ผู้ ชุมนุมมีปฏิกิริยาตอบโต้ แม้จะเสี่ยงต่อสถานการณ์ที่อาจลุกลามจนนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหาร หรือมีการใช้ “อำนาจพิเศษ” เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลอย่างแถลงการณ์ของพันธมิตรฯก็ตาม

ปูดสุมหัวรัฐประหาร!

แม้ผู้นำกองทัพจะออกมาปฏิเสธกระแสข่าวการปฏิวัติรัฐประหาร แต่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส. สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. ที่อ้างว่ามีบุคคลกลุ่มหนึ่งวางแผนรัฐประหาร โดยหารือที่จังหวัดเพชรบูรณ์และโรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และมีการหารือกันที่บ้านไฮโซเจ้าของเหมืองแร่จังหวัดภูเก็ตที่มีความใกล้ชิด กับกลุ่มอำมาตย์ ทั้งยังอ้างถึงนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เสนาธิการทหารบก พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร อดีตผู้ช่วย ผบ.ทบ. และนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ โดยมีคำขวัญในการหารือว่า “ใช้มวลชนปฏิวัติ เปลี่ยนแปลง การปกครอง”

“เหลืออย่างเดียวที่บรรดาคณะผู้วางแผนยึดอำนาจยังตกลงกันไม่ได้คือจะให้ ใครเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะกลุ่มหนึ่งสนับสนุน พล.อ.ป.ปลา ที่โหรวารินทร์เคยทำนายไว้ว่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี และกลุ่มที่สองสนับสนุนนายสุรเกียรติ์ ที่ผมออกมาพูดเรื่องนี้เพราะไม่ต้องการให้บ้านเมืองถลำลึกไปมากกว่านี้”

นายจตุพรกล่าวอีกว่า การพูดคุยเหมือนบรรยากาศที่บ้านนายปีย์ก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทั้งยังเปิดเผยภายหลังว่าก่อนการปะทะระหว่างไทยกับกัมพูชา 2 วัน มีนายทหารยศ “พันเอก” ที่เจื้อยแจ้วอยู่ในขณะนี้ไปพูดกับเพื่อนๆว่าอีก 2 วันจะยิงเขมรและเกิดเหตุปะทะขึ้นจริง จึงตั้งคำถามว่าใครเป็นคนสั่งการให้นำรถแทรกเตอร์เข้าไปบริเวณวัดแก้วสิกขา คีรีสวาระจนเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดการปะทะ เหมือนสอดรับกับการปลุกกระแสคลั่งชาติในขณะนี้ที่ต้องการจะนำไปสู่การรัฐ ประหาร

“อภิสิทธิ์” ใช้โวหารสู้!

แม้นายสุรเกียรติ์และนายสนธิจะออกมาปฏิเสธ แต่นายสนธิยังปล่อยข่าวว่าเดินทางไปคูเวตเพื่อร่วมมือกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โค่นล้มรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ซึ่งนายสนธิระบุว่า นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กับนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เป็นคนปล่อยข่าว ซึ่งนายเทพไทก็ออกมาปฏิเสธทันทีเช่นกันและให้นายสนธิแก้ข่าว ไม่เช่นนั้นอาจฟ้องนายสนธิเป็นคนแรก ทั้งที่ตั้งใจจะไม่ฟ้องใครเลย

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ก็ตั้งคำถามถึงคำพูดของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ ที่ว่าการชุมนุมของพันธมิตรฯทุกครั้งจะไม่จบด้วยดีว่า มองไม่เห็นว่าการปฏิวัติจะช่วยประเทศได้อย่างไร เพราะปฏิวัติทุกครั้งมีบาดแผลตกค้างทุกครั้ง กระบวนการเสื้อแดงก็เป็นบาดแผลที่ยังไม่จบจากครั้งที่แล้ว ลองไปถามคนที่ต้องทำงานหลังการปฏิวัติดูว่าเหนื่อยแค่ไหน จึงเข้าใจยากว่าทำไมจึงมีข้อเรียกร้องอย่างนี้

“ถึงบอกว่าถ้าไม่ชอบรัฐบาลนี้ก็อีกไม่กี่เดือนจะไปเลือกตั้งกันแล้ว แต่ถ้าไม่เชื่อในกระบวนการการเลือกตั้งอีก แล้วเชื่อประชาธิปไตยแบบไหน ถ้าไม่เชื่อประชาธิปไตยอีก ก็ถามว่าคุณจะอยู่ในโลกนี้ยุคนี้อย่างไร มีคนพูดว่ารัฐประหาร ไม่รัฐประหารอย่างไร”

จึงเห็นได้ชัดเจนว่านอกจากนายอภิสิทธิ์ไม่กลัวการกดดันของกลุ่มพันธมิตรฯ แล้ว ยังใช้ทุกโอกาส ทุกเวทีเพื่อตอบโต้และสร้างภาพการเป็นนักการเมืองที่เชื่อมั่นในระบอบ ประชาธิปไตยและพร้อมจะยุบสภา ซึ่งเหมือนการดิสเครดิตพันธมิตรฯไปโดยปริยายว่ายังมีความคิดอิงแอบอำนาจ เผด็จการ อย่างที่ พล.ต.จำลองตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า ที่ออกมาชุมนุมก็เพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 เท่านั้น ส่วนใครจะปฏิวัติหรือใครจะมาเป็นรัฐบาลไม่ได้สนใจ แต่ถ้ามาแล้วทำไม่ถูกต้อง พันธมิตรฯก็ต้องออกมาอีก

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ก็สร้างภาพเรื่องยุบสภาโดยใช้โวหารเดิมๆ อย่างในงานสัมมนา ASEAN-CLSA Forum ซึ่งมีนักการเงินการธนาคารทั้งในและต่างประเทศ โดยยืนยันว่าพร้อมให้มีการเลือกตั้งภายในช่วงครึ่งปีแรกนี้ เพราะขณะนี้เศรษฐกิจถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เหลือเพียงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะพิจารณาวาระ 3 ในวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ และต้องแน่ใจว่าการเลือกตั้งไม่มีความรุนแรง โดยก่อนหน้านี้นายอภิสิทธิ์ได้แถลงกับผู้สื่อข่าวว่าพร้อมคืนอำนาจให้ ประชาชนอยู่แล้ว ส่วนฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้วบอกว่ารัฐบาลจะทอดเวลา ยุบสภา นั้นก็อยากให้ยื่นมาเร็วๆ รีบอภิปรายให้จบๆไป จะได้ยุบสภาได้ เพราะการจัดทำงบ ประมาณกลางปี 2554 เดือนมีนาคมก็เสร็จแล้ว จึงไม่มีเงื่อนไขเรื่องการจัดทำงบประมาณปี 2555 มาเกี่ยวข้อง อย่างนั้นมันไม่จบ

แม้นายสุเทพจะออกมาพูดภายหลังว่ารัฐบาลไม่ถึงทางตัน ยังสามารถแก้ไขปัญหาได้ และหวังว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามปฏิทินที่กำหนดไว้ก็ตาม แต่นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และ ส.ส.มหาสารคาม พรรคภูมิใจไทย เชื่อว่านายอภิสิทธิ์ส่งสัญญาณว่าพร้อมยุบสภานานแล้วหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 เพราะขณะนี้ปัจจัยทุกอย่างครบหมดแล้ว โดยเชื่อว่าจะยุบสภาไม่เกินเดือนเมษายนนี้

“ปฏิวัติ” เพราะดื้อด้าน

ด้านนายประพันธ์ คูณมี หนึ่งในโฆษกการชุมนุมพันธมิตรฯ ตอบโต้นายอภิสิทธิ์ว่า ใส่ร้ายพันธมิตรฯผ่านสื่อให้เข้าใจผิดว่า พล.ต.จำลองและพันธมิตรฯเรียกร้องให้มีการปฏิวัติ ทั้งที่ พล.ต.จำลองเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกหากทำหน้าที่ไม่ได้ จึงพูดว่าจบไม่สวย แต่นายอภิสิทธิ์กลับบิดเบือนใส่ร้าย ไม่เคารพสิทธิและไม่ฟังความเห็นของประชาชน นายอภิสิทธิ์ไม่ยอมแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองและไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งที่เคยประกาศว่านักการเมืองต้องมีจิตสำนึกสูงกว่าสำนึกทางกฎหมาย ดังนั้น หากรัฐบาลถูกปฏิวัติจริงก็เป็นเพราะดื้อด้านไม่สนใจประชาชน

นอกจากนี้มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยการประเมินสถานการณ์ทางการ เมืองของแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ โดยยก 4 เหตุการณ์คือ การชุมนุมของพันธมิตรฯ การชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง กรณีพิพาทระหว่างทหารไทย-กัมพูชา และการพิจารณารัฐธรรมนูญวาระที่ 3 รวมถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นมีผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 3 อย่างคือ ยุบสภา การปฏิวัติ และนายกรัฐมนตรีลาออก ซึ่งนายอภิสิทธิ์ยืนยันว่าทางเลือกมีทางเดียวคือประกาศยุบสภาเท่านั้น ไม่เช่นนั้นจะเสี่ยงกับการเกิดการปฏิวัติ

ส่วน พล.ต.จำลองก็ยืนยันว่ารัฐบาลมี 2 ทางเลือกคือ ลาออก หรือสลายการชุมนุม แต่จะกลับมาใหม่จนกว่าจะได้ชัยชนะ ไม่ว่าจะประกาศใช้กฎหมายใดก็ตามกระแสข่าวการปฏิวัติรัฐประหารเป็นไปได้ทั้ง นั้น และตนก็เชื่อด้วย เพราะการเมืองประเทศไทยยังไม่มั่นคง ขอย้ำว่าพันธมิตรฯไม่ได้เปิดทางให้มีการปฏิวัติ แต่หากเกิดขึ้นจริงก็ไม่สามารถห้ามได้ เพราะพันธมิตรฯไม่มีอำนาจไปห้ามได้

“ขณะนี้ประเทศไทยเหมือนคนไข้ที่กำลังป่วยร้ายแรง เราไม่เลือกแพทย์แผนปัจจุบันหรือหมอฝังเข็มที่จะมารักษาเรา แต่ต้องเป็นหมอที่สามารถรักษาโรคเราได้ ทั้งในเรื่องการสูญเสียดินแดนอธิปไตย และปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ว่าจะมาจากกระบวนการใด”

ยกระดับเปิดทาง “ปฏิวัติ”!

สถานการณ์การเมืองขณะนี้ การปฏิวัติรัฐประ-หารเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะทุกฝ่ายรู้ดีว่าการปฏิวัติรัฐประหารของไทยนั้น ที่ผ่านมาในอดีตส่วนใหญ่เกิดจากการยื้อแย่งอำนาจทางการเมืองระหว่างทหารและ พลเรือน หรือเพราะทหารสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์ โดยทหารจะอ้างเรื่องความมั่นคง การปก ป้องสถาบันเบื้องสูง และการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมือง แต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นการจัดฐานอำนาจของกลุ่มอำมาตย์กับกลุ่มทุนเก่าหลังจากถูกกลุ่มทุนใหม่ แย่งชิงไป ไม่ได้เป็นไปตามอุดมการณ์การเมือง โดยอ้างเรื่องความมั่นคง และอิงแอบสถาบันเบื้องสูง ซึ่งกลุ่มพันธมิตรฯและพรรคประชาธิปัตย์รู้ดี

ดังนั้น จะเกิดการปฏิวัติรัฐประหารหรือไม่จึงอยู่ที่ว่า “อีแอบ” จะเลือกฝ่ายใดให้ขึ้นมารับใช้ และกดปุ่มไฟเขียวเมื่อไร โดยมีกองทัพเป็น “ยักษ์สีเขียว” ถือกระบอง เพราะกองทัพไทยไม่ได้ให้คำปฏิญาณว่าจะปกป้องรักษารัฐธรรมนูญ หรือให้ปฏิเสธคำสั่งของผู้บังคับบัญชา แม้คำสั่งนั้นจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดสิทธิเสรีภาพ และความเป็นมนุษย์ของประชาชน

อย่างวลีอมตะของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่ว่า “รัฐบาลเป็นแค่จ๊อกกี้ แต่ไม่ใช่เจ้าของคอกม้า” ซึ่งขัดกับหลักประชาธิปไตยอย่างชัดเจน กองทัพไทยจึงไม่ใช่กองทัพของประชาชนและรัฐบาล แต่เป็นทาสรับใช้ “เจ้าของคอกม้า”

ไล่ไปเรื่อยๆจนกว่าจะปฏิวัติ!

“การผลักดันให้ยกระดับการต่อสู้ เดือดร้อนประชาชนคนอีสานใต้นับหมื่นราย ผมนึกถึงที่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดว่า ถ้าท่านตายก็ไม่อยากตายด้วยความโง่จากสงครามที่คนอื่นก่อ นี่คือสงครามของคนที่ไม่ได้อยู่ชายแดนก่อ คนก่อคือคนอยู่เมืองหลวง ใช้การเมืองเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองร่วมกับการที่ในประเทศเองก็มีความแตก แยกมาก จนอาจนำไปสู่การปฏิวัติได้ บ้านเมืองจะยิ่งจมดิ่งไปกว่านี้”

นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหา-วิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นเรื่องชายแดน และกระแสชาตินิยมกรณีพิพาทไทย-กัมพูชา ซึ่งถูกชูขึ้นมาตั้งแต่ปี 2551 เพื่อต่อต้านและล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างเสียม โป๊ย กั๊ก แล้วใช้ประเทศเป็นข้ออ้าง ซึ่งปลุกระดมได้ง่าย

“การปลุกกระแสในขณะนี้ก็เพื่อขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ไล่ไปเรื่อยๆ ก็จะมีการยึดอำนาจ แล้วก็จะไม่มีประชาธิปไตย คนที่ไม่อยากใช้วิถีประชาธิปไตย คือคนไม่อยากเลือกตั้ง เพราะลงเลือกตั้งไปก็ไม่ได้สักที เลยรอเอาส้มหล่น ก็ไม่รู้ว่าส้มจะหล่นที่ใคร แต่เคยเห็นคนรุ่นเดียวกับผมได้ส้มหล่นไปหลายคน”

ชิงยุบสภาก่อนปฏิวัติ!

ดังนั้น นายอภิสิทธิ์จึงรู้ดีว่าถ้าไม่ชิงยุบสภาโดยเร็วก็ยิ่งเสี่ยงที่จะเกิด ปฏิวัติรัฐประหาร หรือมี “อำนาจพิเศษ” ให้ลาออก เพื่อจัดตั้ง “รัฐบาลเฉพาะกาล” ซึ่งกลุ่มผู้มีอำนาจจะอ้างเข้ามาเพื่อแก้ไขสถานการณ์บ้านเมืองเหมือนเมื่อ ครั้งกลุ่มพันธมิตรฯขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ โดยอ้างเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน ความแตกแยก และการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง

การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯจึงไม่มีอะไรซับซ้อน เพียงแต่ไม่มีใครรู้ชัดเจนว่า ขณะนี้ “อีแอบ” ที่มีอำนาจที่แท้จริงนั้นตัดสินใจอย่างไรกับการเมืองไทย ไม่ใช่ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจตามระบอบประชาธิปไตย

แม้แต่สำนักข่าวรอยเตอร์ยังรายงานว่า สาเหตุการปะทะกันระหว่างไทยกับกัมพูชายังคลุมเครือ แต่นักวิเคราะห์มองว่า สาเหตุอาจมาจากพวกนายพลสายเหยี่ยวในกองทัพไทยและกลุ่มพันธมิตรฯที่ปลุกกระแส ชาตินิยม พยายามโค่นล้มรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ หรือพยายามสร้างเงื่อนไขเพื่อให้เกิดการรัฐประหารอีกครั้ง และล้มการเลือกตั้ง

ไม่เช่นนั้นกลุ่มพันธมิตรฯคงจะไม่ประกาศยกระดับขับไล่นายอภิสิทธิ์ให้ตาย กันไปข้างหนึ่ง แม้แต่การโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. อย่างรุนแรง อาจเป็นละครฉากใหญ่ หลายฝ่ายจึงเชื่อว่ากลุ่มพันธมิตรฯกำลังสร้างเงื่อนไขเพื่อเปิดประตูสู่การ ปฏิวัติรัฐประหารมากกว่าให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งไม่มีผลดีใดๆกับกลุ่มพันธมิตรฯเลย โดยเฉพาะพรรค การเมืองใหม่ที่ไม่มีโอกาสได้ ส.ส. แม้แต่คนเดียว

อย่างแถลงการณ์ของพันธมิตรฯที่ระบุชัดเจนว่า ต้องการเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความรู้ความ สามารถ กล้าหาญ กล้าตัดสินใจที่จะปกป้องดินแดนและอธิปไตยของชาติ มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันให้หมดสิ้น มีวุฒิภาวะ และมีความเป็นผู้นำ ซื่อสัตย์ต่อชาติ ต่อประชาชน ไม่โกหกหลอกลวงประชาชน มีคุณธรรม ศีลธรรม เข้ามาบริหารชาติบ้านเมืองต่อไป

คนที่พันธมิตรฯต้องการจึงมีแค่ “พระเอกขี่ม้าขาว” ซึ่งจะโผล่ออกมาตาม “กลไกหรืออำนาจพิเศษ” จาก “มือที่มองไม่เห็น” ไม่ว่าจะผ่านทางกองทัพหรือตุลาการภิวัฒน์ก็ตาม

จากเหตุการณ์ปะทะกันที่ชายแดนไทย-กัมพูชาโดยไม่มีความชัดเจนในสาเหตุ บวกกับการเคลื่อน ย้ายกำลังและการประชุมกันในที่รโหฐานของบรรดาบิ๊กๆทั้งหลายที่ถูกปูดออกมา เป็นระลอก สอดประสานกับ “ม็อบมีเส้น” ที่แม้จะ “หะรอมหะแรม” แต่กลับมีกำลังภายในจนทำให้ “รัฐบาลเส้นใหญ่ผัดซีอิ๊ว” ฉวยโอกาสประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯคุมการชุมนุมของคนเสื้อแดงไปในคราวเดียวกัน ย่อมแสดงถึงความหวั่นไหวของนายกรัฐมนตรีเบบี๋ที่สามารถเปลี่ยนสนามการค้าให้ เป็น “สนามรบและสนามเด็กเล่น” ได้ในคราวเดียวกัน

“การยุบสภาเพื่อหนีการถูกยึดอำนาจ” จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ล้านเปอร์เซ็นต์

ยุบสภาดีกว่า โดนปฏิวัติแน่นอน

บ๊ายบาย… เบบี๋มาร์ค!!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 298 วันที่ 12 – 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 หน้า 16
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
โดย : ทีมข่าวรายวัน



พันธมิตรฯ กำลังคิดอะไร?

ก่อนจะเข้าบทความ ผู้เขียนมีความเห็นจากนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการไทยประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในสิงคโปร์ ฝากถึงลูกไทยรักชาติชาวอีสานที่อยู่ในกองกำลังติดความรู้เพื่อต่อสู้กับกอง ทัพธรรมหรือพวกลูกจีนรักชาติว่า

“คนจนไม่ได้โง่อย่างที่นายกฯอภิสิทธิ์เข้าใจ พวกเขารู้สึกว่าหากไม่มีการกระจายอำนาจทางการเมืองและความมั่นคงอย่างเป็น ธรรม ปัญหาที่ไทยกำลังเผชิญก็จะยังไม่จบ”

นี่เป็นการวิพากษ์ของนักวิชาการชาวต่างประเทศที่มองประเทศไทย

กรณีคนไทย 7 คนถูกทางการกัมพูชาจับกุมตัวในข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อไป และอาจกลายเป็นประเด็นที่กระทบถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้เมื่อกลุ่ม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกโรงแสดงบทบาท และคงจะไม่หยุดการเคลื่อนไหวจนกว่าคนไทยทั้ง 7 คนจะได้รับการปล่อยตัว

การเคลื่อนไหวดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ทางคือ การเคลื่อนไหวโดยแกนนำพันธมิตรฯอย่างพลตรีจำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ซึ่งใช้การอภิปรายแสดงความคิดเห็นผ่านเวทีสาธารณะและเอเอสทีวีโจมตีความ เชื่องช้าของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในการดำเนินการเรื่องคนไทยที่ถูกจับกุม

แต่การเดินสายแสดงความคิดเห็นโดยผ่านเวทีสาธารณะของคณะพันธมิตรฯได้สร้าง ความสับสนในกลุ่มผู้ฟังพอสมควรว่าผู้พูดต้องการพูดเรื่องอะไรแน่ ระหว่างการทวงคืนเขาพระวิหารหรือเขตแดนที่ทับซ้อน และการนำคนไทยกลับมา

จากการขึ้นเวทีที่จังหวัดขอนแก่นทำให้เห็นว่าขณะที่วิทยากรแต่ละคนบรรยาย ให้ความรู้เรื่องเส้นเขตแดน โดยเฉพาะนายเทพมนตรี ลิมปพยอม ซึ่งพันธมิตรฯยกย่องให้เป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างยิ่งนั้น ได้แสดงภูมิรู้อย่างลึกซึ้งจนผู้ฟังซึ่งเป็นประชาชนทั่วไปไม่เข้าใจนัก จนกลายเป็นรอฟังแต่ว่าประโยคไหนที่พูดถูกใจและโยงถึงคนไทยที่ถูกจับกุมอย่าง ไรก็จะยกมือตบขึ้นมาสักครั้ง

หากต้องเดินสายทำความเข้าใจกับพันธมิตรฯทั่วประเทศ นายเทพมนตรีคงต้องเหนื่อยมากกว่านี้อีกหลายเท่า

ขณะที่อีกทางหนึ่งเป็นการเคลื่อนไหวโดยกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติที่นำโดย นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ และกลุ่มสันติอโศก ใช้การชุมนุมแสดงพลัง แต่คงยังต้องการแนวร่วมอีกมาก เนื่องจากเมื่อทางกลุ่มประกาศจะยกพลไปชุมนุมบริเวณจังหวัดสระแก้ว ตรงจุดที่คนไทยทั้ง 7 คนถูกจับกุมตัวไปนั้น กลับได้รับการต่อต้านจากคนไทยในบริเวณดังกล่าวอย่างหนัก เพราะเห็นว่าการชุมนุมจะกระทบต่อการทำมาหากินของผู้คนในบริเวณนั้นทั้งคนไทย และคนกัมพูชา และเมื่อประกาศว่าจะชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลก็ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ ควร จนในที่สุดต้องประกาศระดมพลและปิดถนน สร้างความเดือดร้อนให้คนกรุงเทพฯ จึงจะได้รับความสนใจจากรัฐบาลบ้าง

จึงเกิดคำถามตามมาเป็นทอดๆว่าพันธมิตรฯกำลังต้องการอะไร ทวงคืนเขาพระวิหาร ทวงดินแดนที่ถูกทับซ้อน หรือทวงคนไทยที่ถูกจับกุมไป หากต้องการทุกเรื่องที่กล่าวมา พันธมิตรฯต้องการดำเนินการโดยลำพังเพราะเชื่อมั่นในศักยภาพของตน หรือต้องการให้รัฐบาลดำเนินการ

และหากต้องการให้รัฐบาลดำเนินการ เหตุใดต้องแทรกแซงการทำงานของรัฐบาลโดยที่ไม่ใส่ใจว่าขณะนี้กระบวนการ พิจารณาของศาลกัมพูชาและการประสานงานจากฝ่ายรัฐบาลไทยได้ดำเนินการไปอย่างไร แล้ว และไม่ใส่ใจว่าการกระทำดังกล่าวจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างไร มุ่งแต่จะเรียกร้องในสิ่งที่ต้องการเท่านั้น

และยังมีคำถามเกิดขึ้นอีกว่าการที่คนไทยทั้ง 7 คนถูกจับกุมตัวไปนั้นเป็นความตั้งใจของใครก็ตาม เพื่อจุดประเด็นให้คนไทยหันมาสนใจเรื่องเขตแดนที่ทับซ้อน อันจะนำมาซึ่งการรวมตัวแสดงพลังของพันธมิตรฯและประชาชนคนไทยอื่นๆ เพื่อเรียกร้องดินแดนไทยที่ถูกกัมพูชายึดครอง รวมทั้งเขาพระวิหารอีกหรือไม่

แม้พลตรีจำลองจะออกมาปฏิเสธในเรื่องดังกล่าว แต่อย่าลืมว่ากว่าครึ่งของผู้ที่ถูกจับไปเป็นสมาชิกของสันติอโศก ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับพลตรีจำลอง และเป็นสาเหตุให้นายไชยวัฒน์ต้องจัดตั้งกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติออกมาชุมนุม เพื่อหวังกดดันรัฐบาลให้ช่วยเหลือคนเหล่านั้นโดยเร็วที่สุด

คำตอบคงได้ทราบในวันที่ 25 มกราคม ซึ่งจะมีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ จึงขอประกาศให้พันธมิตรฯที่ต้องการจะไปชุมนุมกรุณาทำความเข้าใจตนเองให้ถูก ต้องว่าจะไปร่วมชุมนุมเพื่อเรียกร้องในเรื่องใด ทวงคืนดินแดนเขาพระวิหาร หรือเรียกร้องให้ปล่อยตัวคนไทยทั้ง 7 คน เพราะแกนนำของท่านอาจพูดทั้ง 2 ประเด็นปนกันจนท่านสับสนได้

สงสารก็แต่นายกฯอภิสิทธิ์ที่จนบัดนี้คงยังไม่แน่ใจว่ามีพันธมิตรร่วม อุดมการณ์หรือฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกันแน่ และสามารถขอความช่วยเหลือได้เพียงใด ในเมื่อเวลาใดที่พันธมิตรฯพอใจว่ารัฐบาลทำตามที่ตนต้องการก็จะสนับสนุน แต่หากไม่เป็นที่พอใจก็จะรุมวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอย่างไม่มีชิ้นดี

อยากเห็นพรรคการเมืองใหม่เป็นรัฐบาลบ้าง จะสามารถแสดงฝีมือสมดังที่ออกมาวิพากษ์รัฐบาลอย่างที่เป็นอยู่นี้ได้หรือไม่

ฝากถึงนายไชยวัฒน์และกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติที่กำลังชุมนุมที่หน้า ทำเนียบรัฐบาลในเวลานี้ด้วยว่า หากรักชาติจริงควรหาวิธีในการช่วยเหลือชาติอย่างสร้างสรรค์ ดีกว่าการมาชุมนุมแสดงพลังแบบไร้ทิศทางและไร้ความคิดเช่นนี้ ไปทำความเข้าใจกับพลตรีจำลองและนายสนธิให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วยว่า ต้องการอะไรกันแน่ เพราะสิ่งที่พันธมิตรฯทำอยู่นี้ไม่ใช่แยกกันเดินแล้วรวมกันตี แต่เป็นแยกกันเดินและแยกกันตี จะไปมีพลังเรียกร้องความสนใจจากรัฐได้อย่างไร

แถมยังทำให้คนเสื้อแดงได้หัวเราะกันอีกด้วย

ที่สำคัญอย่าใช้ชื่อกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติเลย เพราะฟังดูแล้วกลายเป็นว่าคนไทยที่รักชาติมีเพียงคนกลุ่มเล็กๆเพียงกลุ่ม เดียว คนไทยที่เหลือไม่มีใครรักชาติเลยหรือ คนไทยที่รักชาติจริงคงไม่ทำร้ายประเทศชาติ สร้างความร้าวฉานให้เกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้านแน่ หากอยากใช้ชื่อนี้ขอให้ถามคนไทยที่เหลือด้วยว่าอนุญาตหรือไม่

ผู้เขียนก็เป็นคนไทยภาคอีสานและมีหัวใจรักชาติเหมือนกัน แต่ไม่ใช่รักชาติแบบที่ต้องหาเรื่องกับเพื่อนบ้านแน่

ก่อนจบบทความในวันนี้ ใคร่ขอฝากถึงบรรณาธิการข่าวของสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง ไม่ว่าจะเป็นฟรีทีวี.หรือเคเบิลทีวี.ที่มีการนำเสนอข่าว ไม่ว่าจะเป็นช่อง 11 ของกรมประชาสัมพันธ์ เอเอสทีวี สปริงนิวส์ หรือวอยซ์ทีวี ขอให้ตรวจสอบการอ่านข่าวของผู้ประกาศข่าวทั้งหลายด้วย เนื่องจากหลายครั้งพบว่ามีการอ่านออกเสียงผิดบ้าง ทั้งชื่อบุคคลและชื่อสถานที่ เว้นวรรคคำผิดบ้าง โดยที่ผู้อ่านข่าวไม่สนใจแก้ไขให้ถูก ถูๆไถๆอ่านไป แสดงถึงความอ่อนด้อยในการใช้ภาษาไทย ทำให้ผู้ฟังเสียอรรถรสในการรับทราบข้อมูลต่างๆที่สนใจ หากยังปล่อยทิ้งไว้จะทำให้ประชาชนไม่สนใจจะติดตามข่าวสารใดๆจากสถานีของท่าน อีกด้วย เรื่องนี้จึงไม่สมควรละเลยอย่างยิ่ง

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 295 วันที่ 22-28 มกราคม พ.ศ. 2554 หน้า 12 คอลัมน์ หอคอยความคิด โดย วิษณุ บุญมารัตน์


กู้ชาติติงต๊อง

หลายคนอ่านข่าวคำกล่าวปราศรัยของ นายกฯ ฮุนเซน แล้วมีความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่า ปฏิบัติการรัฐบาลไทยในการ ‘ขอคืน’ ตัวนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ และคณะ 7 คนไทยจากฝ่ายกัมพูชานั้น ใครเคยคิดว่าเป็นเรื่องง่าย เห็นทีต้องเปลี่ยนความคิดใหม่

โดยเฉพาะท่าทีแข็งกร้าวของนายกฯ ฮุนเซน ที่ระบุตอนนี้เรื่องทั้งหมดอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นกรุงพนมเปญแล้ว

“ไม่มีใครเรียกร้องให้ปล่อยตัวได้”

ไม่ว่าส.ส.พรรคเพื่อไทย เกลอเก่าอย่างทักษิณ หรือแม้แต่องค์การนานาชาติ

นายกฯ กัมพูชายังเตือนรัฐบาลไทยและกลุ่มคนไทยที่กำลังเคลื่อนไหวออกแถลงการณ์โจมตีกัมพูชา ให้หยุดการกระทำดังกล่าวเสียถ้าไม่อยากให้สถานการณ์ในภายภาคหน้ายุ่งยากไปกว่านี้ และขอให้เคารพกระบวนการศาลของกัมพูชา

“อย่ามาพูดข่มขู่ว่าให้ปล่อยทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข”

ประโยคหลังนี้เข้าใจว่านายกฯ ฮุนเซน ต้องการสื่อไปถึงนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยตรง

เพราะถ้ายังจำกันได้ นายกฯ อภิสิทธิ์ เป็นคนประกาศกร้าวใส่ทางกัมพูชาก่อนในตอนแรกว่า จะต้องปล่อยตัว 7 คนไทยโดยไม่มีเงื่อนไข

เชื่อว่าตอนนั้นนายกฯ อภิสิทธิ์ ไม่ทันได้รอบคอบ รู้คิด ว่าตนเองกำลังตกเป็นเหยื่อให้คนไทยบางกลุ่มที่วางแผนไว้ตั้งแต่แรก

ต้องการนำเรื่องนี้มาขยายผลจุดชนวนกระแสคลั่งชาติบ้าๆ บอๆ อย่างที่เคยทำมาตลอดในประเด็นปราสาทเขาพระวิหาร โดยไม่สนใจว่าพฤติกรรมการยุยงให้รัฐบาลที่ตนเองมีส่วนปลุกปั้นขึ้นมา นำพาประเทศชาติเข้าสู่สมรภูมิการสู้รบกับเพื่อนบ้านนั้น จะสร้างความเดือดร้อนเสียหายให้ประชาชนโดย เฉพาะที่อยู่อาศัยตามแนวชายแดนอย่างไรบ้าง

ยังดีที่สังคมไทยมีเหตุมีผลเพียงพอ รู้จักรักชาติรักแผ่นดินในทางที่ถูกต้อง กระแสกู้ชาติติงต๊องก็เลยปลุกไม่ขึ้น

แล้วถ้าหากใครจะควานหาความมีสติของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่ยังพอมีหลงเหลืออยู่บ้าง หลังผ่านเหตุการณ์สลายม็อบเสื้อแดงจนมือเปื้อนเปรอะไปหมด ก็จะพบว่ารัฐบาลยัง ‘บ้องตื้น’ ไม่พอที่จะเห็นดีเห็นงามกับคำยุยงให้รบเช้ารบเย็นของคนกลุ่มนี้

ส่วนคนกลุ่มนี้จะใช่กลุ่มที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มพันธมิตรหรือไม่ คงไม่ต้องบอก

ที่มา : ข่าวสด 13 มกราคม 2553
คอลัมน์ : เหล็กใน