ธิดาเขียน “จากใจคนไทยถึงอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตอนที่1 นกน้อยในกรงทอง

นายแพทย์สลักธรรม โตจิราการ เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกของนางธิดา ถาวรเศรษฐ มารดา ที่เขียนถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยใช้ชื่อจดหมายว่า “จากใจคนไทย ถึง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตอนที่ 1 นกน้อยในกรงทอง ” ซึ่งเป็นการเขียนหลังจากที่ นางธิดา อ่านบันทึกเปิดใจฉบับต่าง ๆ ของนายอภิสิทธิ์ โดยระบุว่า จากบันทึก 4 ฉบับ ทำให้เข้าใจลักษณะนิสัยของนายอภิสิทธิ์ ได้ดีมากยิ่งขึ้น

นี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่เขียนจดหมายถึงคนคนเดียว แต่ขอเขียนแทนประชาชนคนไทยจำนวนหนึ่ง(เป็นจำนวนมาก) อ่านจดหมายสื่อสารของ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เขียนจากใจถึงคนไทยทั้งประเทศ ฉบับที่ 1 ถึงฉบับที่ 4 ขอให้เขียนต่อไปให้มากๆ คนไทยจะยิ่งรู้จักธาตุแท้ของท่านมากยิ่งขึ้น

ความจริงไม่ใช่ความผิดของคุณอภิสิทธิ์ทั้งหมด เพราะคุณอภิสิทธิ์ เป็นตัวแสดงที่ถูกทำให้มารับหน้าที่ นายกรัฐมนตรีในเวลานี้ อันเป็นตัวละครสำคัญ ในช่วงเวลาที่สังคมไทยกำลังเกิดการขัดแย้งรุนแรง ระหว่างชนชั้นนำในระบอบอำมาตยาธิปไตยกับประชาชนไทย พรรคการเมืองตัวแทนฝ่ายอนุรักษ์นิยมจึงต้องเป็นรัฐบาลให้ได้ และเป็นให้ยาวนานที่สุด เพื่อรักษาอำนาจในการปกครองไว้ในมือของชนชั้นนำในระบอบอำมาตยาธิปไตย โดยกองทัพของชนชั้นนำในระบอบอำมาตยาธิปไตยเช่นกัน

และเมื่อพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีหัวหน้าพรรคชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ถูกดึงขึ้นมาต่อสู้เทียบเคียงกับทักษิณ ชินวัตร โดยเชื่อว่า สดกว่า หนุ่มกว่า มีการศึกษาสูงแบบผู้ดีอังกฤษ คุณอภิสิทธิ์ จึงกลายเป็นตัวเอกของเวทีรัฐสภาและมีบทบาทเป็นนายกรัฐมนตรีในฐานะตัวแทน ชนชั้นนำ ในระบอบอำมาตยาธิปไตย ที่เขาคิดว่าเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดแล้ว เช่นเดียวกับเหตุการณ์การตั้งนายกฯสุรยุทธ จุลานนท์

จากภูมิหลังของครอบครัวที่จัดเป็นคนชั้นสูงในสังคม โดยฐานะทางชนชั้น การศึกษาตามแบบฉบับชั้นดีเลิศของอังกฤษ ผ่านโรงเรียนและมหาวิทยาลัยของชนชั้นสูงอังกฤษ การมีสภาวะแวดล้อมของกลุ่มอนุรักษ์นิยม สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจสังคมไทยในมิติอื่น ยกเว้นมิติของกลุ่มคนในหมู่พวกและชนชั้นตนเท่านั้น

ตามที่คุณอภิสิทธิ์ อ้างถึงคนที่เชียร์ให้กำลังใจคุณอภิสิทธิ์ให้(ทน)อยู่ในฐานะนายกฯต่อไป และไม่พอใจถ้าคุณอภิสิทธิ์ไปเจรจากับคนเสื้อแดง หรือดูเหมือนอ่อนข้อเมื่อประกาศจะยุบสภาก่อนเวลาสิ้นสุดแท้จริง เช่น “อย่าเสียใจ อย่ายุบสภา อย่าลาออก ท่านนายกฯทำดีที่สุดแล้ว” หรือ “อย่าลาออก พวกมันยิงกันเอง” คุณอภิสิทธิ์อ้างว่า “ได้รับกำลังใจจากประชาชนจำนวนมาก ที่ส่งข้อความเข้าโทรศัพท์มือถือของผม เป็นแรงใจให้ผมมีความเข้มแข็ง ยืนหยัดต่อสู้เพื่อบ้านเมืองของเรากลับสู่ความสงบให้ได้และข้อความอีกมากมาย ที่ส่งมาให้กำลังใจ เป็นเสมือนน้ำทิพย์ชโลมใจที่อ่อนล้าของผม ให้กลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง”

หรือบางตอนที่เขียนว่า “ผมท้อไม่ได้ และผมไม่มีสิทธิ์ถอย เพราะถ้าทำอย่างนั้นก็เท่ากับว่าผมทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน”

ปัญหาของคุณอภิสิทธิ์ก็คือ การอยู่ในสภาวะแวดล้อม ในแวดวงของประชาชนกลุ่มที่จำกัด แวดวงบริเวณยอดของรูปปิรามิด แห่งสังคมไทย ไม่ได้สัมผัสกับประชาชนแห่งฐานปิรามิดที่เป็นรากหญ้า รากฐานของสังคม ในอดีตแม้จะเป็นนักการเมืองที่ลงหาเสียงในกรุงเทพมหานครฯ แต่ก็เป็นการหาเสียงกับคนเมืองเฉพาะส่วนเท่านั้น ทั้งเป็นเวลาที่อ่อนวัยและไม่มีความรับผิดชอบใดๆ การสัมผัสประชาชน จึงเป็นคนละบรรยากาศกับในปัจจุบันที่เป็นนายกรัฐมนตรีท่ามกลางกลุ่มคาว เลือด ศพ ของประชาชนมือเปล่าที่ถูกฆ่า และเสียงตะโกนจากคุกที่คุมขังประชาชน โดยใช้เพียงการตั้งข้อหารุนแรงปราศจากหลักฐานใดๆ

เมื่อต้องลงสู่ท้องถนน เพราะต้องออกหาเสียงช่วยลูกพรรคทั่วราชอาณาจักร ได้สัมผัสกับประชาชนทั่วไปในสถานการณ์ใหม่ หลังการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง จึงต้องเผชิญความจริงที่ว่า มีประชาชนเคืองแค้น ถามหาความรับผิดชอบในเหตุการณ์ปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนในปีที่ผ่านมา หรือมีแววตาแสดงออกถึงความเกลียดชัง มีการถือป้าย “ดีแต่พูด” แสดงออกเช่นนี้อยู่ทั่วไป แม้แกนนำ นปช. ไม่ว่าจะเป็นคุณณัฐวุฒิ หรือดิฉันเอง ได้ขอร้องมวลชนคนเสื้อแดงว่าไม่ควรขัดขวางการหาเสียง แต่ก็มีสิทธิอันชอบธรรมในการทวงถามความยุติธรรมและความรับผิดชอบในฐานะที่คุณเป็นนายกรัฐมนตรี

ด้านหนึ่งก็คงจะกระทบกระเทือนจิตใจของคุณอภิสิทธิ์พอสมควร จึงเขียนในเฟซบุ๊ค จากใจอภิสิทธิ์ถึงคนไทยทั้งประเทศ อีกด้านหนึ่งก็แสดงการเคืองแค้นอย่างรุนแรงของคุณอภิสิทธิ์ที่โต้เถียงประชาชนไม่ลดละ

ยุทธศาสตร์การหาเสียงด้วยการเสนอนโยบายที่ลอกจากพรรคอื่นๆ ก็เปลี่ยนมาเป็นการโจมตีคนเสื้อแดง และรุกไล่โจมตีผู้สมัครหมายเลข 1 เพื่อไทย ในข้อหาเชื่อมโยงกับคุณทักษิณ ชินวัตร ท่วงทำนองนี้คล้ายกับตอนจัดการคุณทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลของพรรคพลังประชาชน คือเป็นท่วงทำนองของผู้เป็นรอง รุกไล่โจมตีผู้มีพลังมากกว่า นี่แสดงถึงความวิตกจริตอย่างหนักของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเอง วาทกรรม “เผาบ้านเผาเมือง” จึงถูกนำมาใช้เป็นหลักในการกล่าวอ้างกับประชาชนว่าคนเสื้อแดงที่เป็นผู้ สมัครในพรรคคู่แข่ง คือผู้เผาบ้านเผาเมือง หลังจากวาทกรรม ล้มเจ้า ที่นำมากล่าวหาคนเสื้อแดง ถูกเยาะเย้ยด้วยผังล้มเจ้าเหลวไหล ที่เอามาอ้างเป็นเหตุให้จัดเป็นคดีพิเศษจัดการกับคนส่วนต่างๆ และแกนนำคนเสื้อแดง การแสดงออกของจดหมายจากใจอภิสิทธิ์ถึงคนไทยทั้งประเทศ ที่เขียนออกมาจนถึงปัจจุบัน(21มิ.ย. 54 ) จำนวน 5 ฉบับแล้วนั้น ล้วนแสดงออกถึงการพยายามแก้ตัวในสถานการณ์ต่าง ๆ กัน

ในฉบับแรก ตอนที่1 การเมืองสลับขั้ว สู่เส้นทางนายกรัฐมนตรี ก็จะเป็นการแก้ตัวเรื่องที่มาของรัฐบาลที่จัดตั้งในค่ายทหาร

ตอนที่ 2 กฏเหล็ก 9 ข้อ สู่บรรทัดฐานใหม่ทางการเมือง ก็บรรยายในลักษณะอวดตัวและเหยียบย่ำพรรคร่วม แนวทาง 9 ข้อ ก็อ้างพระบรมราโชวาท เพื่อนำมาใช้อวดตัวในด้านความซื่อสัตย์สุจริต และความล้ำเลิศอื่นๆ

ฉบับที่ 3 ก็แก้ตัวในเหตุการณ์ 10เมษายน 2553 และฉบับที่ 4 แก้ตัวเรื่อง 91ศพ สังเวยความต้องการใคร

ทั้ง 4 ฉบับ ลักษณะร่วมกันคือ เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น การเลือกพูดเอาเหตุผลที่เข้าข้างตน โจมตีคนอื่นด้วยวาทกรรมที่มาจากข้อมูลที่ไม่ใช่เรื่องจริง การแก้ตัว ปฏิเสธความรับผิดชอบ และกล่าวโทษผู้เป็นคู่ต่อสู้ทางการเมือง โดยอาศัยการพูดที่ไม่คำนึงถึงหลักฐานข้อเท็จจริงทั้งปวง ที่จริงเป็นการทำลายคุณอภิสิทธิ์ ทำลายพรรคประชาธิปัตย์เอง เพราะเวลา1ปีที่ผ่านมา หลักฐานข้อมุลที่ชัดเจนได้ปรากฏในสังคม ประชาชนรับรู้ และพิพากษาไปแล้ว นี่ก็จะไปจัดปราศรัยใหญ่ที่สี่แยกราชประสงค์ในวันที่ 23 มิย 54.นี้ ก็ทำไม่ไม่จัดเอาในวันที่ 19 มิย 54 ไปเสียเลย จะได้เป็นการจัดงานรำลึกฉลองการปราบปรามประชาชนครบรอบ 1 ปี 1เดือน ถือเป็นการกล่าวกับวิญญาญวีรชนว่า เห็นไหม พวกแกตายฟรี ๆ พวกข้ายังอยู่ดี เป็นนายกรัฐมนตรีจนถึงบัดนี้”

โดย ธิดา ถาวรเศรษฐ ใน ไทยอีนิวส์
22 มิถุนายน 2554


เปลี่ยนคู่ต่อสู้

สงสัยกันไปทั่วว่า ทุกวันนี้นายกฯ อภิสิทธิ์ และรองนายกฯ เทพเทือก ตอบโต้คดี 91 ศพด้วยการปลุกกระแส “เผาบ้านเผาเมือง” อยู่ทุกวี่ทุกวัน ร่ายยาวในเฟซบุ๊กอีกต่างหาก

แต่กระแสก็ไม่ขึ้น

ความหวังที่จะปลุกให้คนกรุงเทพฯ รำลึกถึงภาพอาคารศูนย์การค้าถูกเผาไหม้ เพื่อหวาดกลัวเสื้อแดงและเพื่อไทย

ทำมาตั้งนานไม่เห็นจะได้ผล

แล้วทำไมจึงคิดว่า การเปิดเวทีปราศรัยที่แยกราชประสงค์แค่วันเดียว จะพลิกกระแสได้!

พูดทุกวัน สัมภาษณ์ทุกวัน เฟซบุ๊กก็เอา กลายเป็นมุขแป๊ก แล้วการปราศรัยไม่กี่ชั่วโมง จะทำอะไรได้

จึงนำมาสู่ข้อสงสัยว่า มีใครคิดอะไรซ่อนเร้นกับพื้นที่ราชประสงค์หรือไม่!?

นักวิเคราะห์การเมือง เขากาปฏิทินเอาไว้ 2 วัน

วันที่ 21 มิ.ย. บรรดา 4 เสือกกต.ที่จู่ๆ ขยันไปดูงานต่างประเทศ จะกลับตามกำหนดหรือไม่

เพราะจากนั้นอีก 4-5 วัน ต้องจัดเลือกตั้งล่วงหน้าแล้ว

วันที่ 23 มิ.ย. การเปิดปราศรัยใหญ่ที่แยกราชประสงค์ จะนำไปสู่สถานการณ์อะไรหรือไม่

ไม่ว่ามองมุมไหน ไม่เห็นว่าการปราศรัยราชประสงค์นั้น จะหวังผลเรื่อง “เนื้อหา” ได้

ในเมื่อเนื้อหานั้น พร่ำพูดอยู่ทุกวันแล้ว แต่ไม่ได้ผล หรือต้องการอะไรอยู่ลึกๆ เห็นจะต้องติดตามกันต่อไป

จึงนับเป็น 2 วัน ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษในช่วงโค้งสุดท้าย

มีนักวิชาการจำนวนมาก แสดงความเห็นต่อยุทธศาสตร์ยุทธวิธีในช่วงสุดท้ายของประชาธิปปัตย์ ที่เล่นแต่เรื่องเผาบ้านเผาเมืองลูกเดียวว่า ไม่ใช่การเมืองที่สร้างสรรค์อย่างชัดแจ้ง

การประกาศตัวจะเข้ามาบริหารบ้านเมือง ต้องชูเน้นนโยบาย มาตรการแก้ไขทุกด้าน แต่นี่ทุ่มเทแตกหักกับสงครามเสื้อแดง

อาจารย์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ นักรัฐศาสตร์รุ่นใหม่บอกว่า นี่เท่ากับเป็นการลดระดับนายกฯอภิสิทธิ์

คือ ลดจากที่สู้กับยิ่งลักษณ์เพื่อชิงตำแหน่งนายกฯ กลับลงมาสู้กับณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แทน

เป็นมุมมองที่ต้องยกนิ้วให้ แต่พูดกันตรงๆ สู้เรื่อง 91 ศพกับณัฐวุฒินั้นก็ลำบาก

นายกฯ อยากไปพูดที่ราชประสงค์ ทั้งที่ตอนเกิดเหตุอยู่ในราบ 11 ขณะที่ณัฐวุฒิเขากินนอนอยู่ตรงนี้จริงๆ!!

แล้วที่นายกฯอ้างอิงการรักษาบ้านเมืองเอาไว้ให้ได้นั้น มีคำตอบที่ดีกว่าจากณัฐวุฒิ

“ไม่มีผู้ปกครองคนใดจะรักษากฎหมายด้วยการทำลายชีวิตประชาชน”

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ 21 มิถุนายน 2554
คอลัมน์ : ชกไม่มีมุม
โดย : วงค์ ตาวัน


ความจริง.. บนโลกไซเบอร์

“ยุทธศาสตร์ 2 ขา 5 เขต เราเพิ่มเขตที่ 5 คือเขตที่อยู่ในโลกไซเบอร์…พี่น้องต้องเข้าไปต่อสู้ในเขตนี้ด้วย”

นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน ปราศรัยกับคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2554 ที่ครบรอบ 1 ปีของการชุมนุมใหญ่ “นปช. แดงทั้งแผ่นดิน” ที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนตามยุทธศาสตร์ 2 ขา 5 เขต คือขาหนึ่งต่อสู้ในสภา อีกขาอยู่ในถนนต่อสู้กับคนเสื้อแดง ส่วน 5 เขตคือ 1.ในชนบท 2.ในเมือง 3.ในกรุงเทพฯ 4.ในต่างประเทศ และ 5.ในโลกไซเบอร์

แต่อุปสรรคสำคัญคือระบอบที่ล้าหลังอย่าง “ระบอบอำมาตย์” ทั้งๆที่เศรษฐกิจไทยเป็นทุนนิยมแล้ว แต่เมื่อศูนย์อำนาจการเมืองการปกครองและศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจอยู่ในกรุงเทพฯ ดังนั้น สนามการต่อสู้ที่จริงจังและแตกหักจึงอยู่ในกรุงเทพฯ คนเสื้อแดงจึงต้องปักหลักต่อสู้ในเขตกรุงเทพฯ

“ตาสว่าง” ไม่ต้อง “ปากสว่าง”

ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน กล่าวถึงยุทธวิธีเคลื่อนไหวของ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน โดยขึ้นกล่าวปราศรัยเป็นครั้งแรกหลังจากถูกจองจำกว่า 9 เดือนว่า ต้องสอดรับกับสถานการณ์ โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น นปช. แดงทั้งแผ่นดิน ทุกคนต้องทำตัวเป็นผู้ปฏิบัติงานในสนามเลือกตั้งของฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ใช่หัวคะแนนเหมือนในอดีต โดยคนเสื้อแดงจะปูพรมทั่วทุกอณูพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อไปอธิบายหลักการ แนวคิดเรื่องประชาธิปไตย ไปติดอาวุธทางความคิด ติดอาวุธทางปัญญาให้ประชาชน จนประชาชนเกิดความเข้าใจว่าทำไมต้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

“สิ่งที่ผมได้ยินตอนอยู่ในเรือนจำคือคำว่าตาสว่าง ไม่รู้ใครเขาพูดกัน แต่ผมได้ยินพี่น้องบอกว่าตาสว่างๆๆ ถามว่าพี่น้องตาสว่างแล้วผมสว่างไหม ผมก็สว่าง เมื่อประชาชนตาสว่างก็จะไม่มีใครสามารถซ่อนตัวอยู่ในมุมมืดได้อีกต่อไป ประเด็นคือเมื่อตาสว่างแล้วเราจะทำอย่างไรต่อ พี่น้องที่เคารพครับ สำหรับผมที่จะพูดคุยกับพี่น้องในฐานะที่เราเดินต่อสู้ในเวทีกลางแจ้ง เราต่อสู้อย่างเปิดเผย เราต่อสู้อย่างตรงไปตรงมาตลอดแบบนี้ ผมอยากจะบอกกับพี่น้องว่า ตาสว่างแต่บางทีปากไม่ต้อง สว่างก็ได้ครับ ตาสว่างไม่จำเป็นว่าปากต้องสว่าง ในบางสถานการณ์เสียงกระซิบมันได้ผลกว่าเสียงตะโกนครับ”

สงครามข่าวสาร

นายณัฐวุฒิยอมรับว่าเจ็บปวดที่ถูกขัง 9 เดือน แต่เทียบไม่ได้กับการบาดเจ็บล้มตายของพี่น้องเสื้อแดงที่วันนี้ยังถูกกล่าว หาเป็นผู้ก่อการร้ายและล้มสถาบัน กรณีโลกอาหรับก็ทำให้วันนี้สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงโบกพัดให้คนเสื้อแดงที่ เจ็บปวดจากการต่อสู้มีความรู้สึกสดชื่นตื่นตัวขึ้นมาอีกครั้ง เฉกเช่นคนทั่วโลกที่กำลังต่อสู้กับอำนาจเผด็จการเพื่อให้ได้ประชาธิปไตย แม้ในลิเบียยังลูกผีลูกคน

“ท่านเห็นไหมว่าสถานการณ์การต่อสู้ของเราอยู่ในระนาบใกล้เคียงกับ สถานการณ์ของเขาเหมือนกัน แล้วเดาไม่ถูกว่าประชาชนประเทศไหนจะถึงเส้นชัยแห่งประชาธิปไตยก่อนกัน แต่สิ่งที่ผมมั่นใจได้ก็คือ ไม่มีประชาชนในประเทศใดๆจะยอมศิโรราบต่ออำนาจของผู้เผด็จการอีกแล้ว นี่คือสิ่งที่ผมมั่นใจ”

อย่างไรก็ตาม นายณัฐวุฒิยืนยันว่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดงจะเป็นไปอย่างสันติวิธี แม้จะต้องต่อสู้ทั้ง “มือที่มองไม่เห็น” อำนาจพิเศษ และอำนาจมืดต่างๆที่พูดไม่ได้ แต่คนเสื้อแดงต้อง “ตาสว่าง” รู้แจ้งเห็นจริงเพื่อต่อสู้ให้ได้ชัยชนะ

โดยเฉพาะในโลกไซเบอร์ที่นางธิดาให้พี่น้องคนเสื้อแดงเข้าไปต่อสู้ในเขต นี้ด้วย เพราะวันนี้โลกไซเบอร์กลายเป็นสนามต่อสู้สำคัญของคนทั้งโลกที่ใช้ทวงอำนาจ จากคนส่วนน้อยคืน อย่างกระแสประชาธิปไตยในโลกอาหรับที่เกิดจากโลกไซเบอร์ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊คหรือทวิตเตอร์

เช่นเดียวกับขบวนการเสื้อแดงจะต้องสู้ต่อไปเรื่อยๆ มีการชุมนุมเดือนละ 2 ครั้งจนกว่าจะได้รับความยุติธรรมและมีผู้รับผิดชอบ 91 ศพที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” การรณรงค์ของกลุ่ม “ไม่เอา 112” เพื่อไม่ให้นำกฎหมายหมิ่นเบื้องสูงมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือกรณี “วิกิลีกส์” ที่นำข้อเท็จจริงและเบื้องหลังสถานการณ์ต่างๆในโลกและประเทศไทยออกมาเปิดเผย

ความจริงเผาบ้านเผาเมือง

โดยเฉพาะเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ที่วันนี้ยังไม่มีคำตอบว่าใครเป็น “ฆาตกร” หรือ “ใครสั่งฆ่าประชาชน” รวมทั้งใครที่เผาบ้านเผาเมือง แต่ในโลกไซเบอร์นั้นกลับสามารถค้นหาทั้งภาพถ่าย คลิปวิดีโอ ข่าว และความคิดเห็นทุกแง่ทุกมุมได้ แม้จะถูกปิดกั้นจากอำนาจรัฐหรือผู้นำเผด็จการก็ตาม

โลกไซเบอร์จึงเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด โดยเฉพาะการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและประชาธิปไตยซึ่งไม่มีใครปิดกั้นได้ ประชาธิปไตยจึงถูกส่งผ่านทางโลกไซเบอร์ ซึ่งมีพลานุภาพน่ากลัวไม่น้อยไปกว่าสึนามิถล่มประเทศญี่ปุ่น

อย่างกรณีเผาเซ็นทรัลเวิลด์ที่อภิปรายอย่างดุเดือดในสภานั้น หลักฐานมากมายก็นำมาจากโลกไซ-เบอร์ที่มีการนำไปเผยแพร่ ซึ่งสื่อกระแสหลักหรือสื่อทั่วไปไม่นำเสนอหรือไม่กล้านำเสนอ อย่างการชี้แจงของตัวแทนผู้บริหารของเซ็นทรัลเวิลด์ต่อคณะกรรม-การติดตาม สถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา ที่มีนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ เป็นประธานว่า มีคนกลุ่มหนึ่งพยายามลอบเผาห้างหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากมีหน่วยรักษาความปลอดภัยคอยป้องกันเหตุจำนวนหลายร้อยคน หลังจากคนเสื้อแดงมอบตัวแล้วกลุ่มคนดังกล่าวพร้อมอาวุธครบมือได้เข้ามาภายใน เซ็นทรัลเวิลด์จนสามารถบีบให้หน่วยรักษาความปลอด ภัยยอมจำนนและสามารถเผาได้สำเร็จ โดยมีวิดีโอบันทึกภาพกลุ่มคนที่วางเพลิงไว้ด้วย

สอดคล้องกับนายสุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ ประ-ธานกรรมการบริหารบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล ที่ให้สัมภาษณ์หลังเกิดการเผาห้างไม่ถึง 2 เดือนว่า ห้างมีวอร์รูมตั้งแต่เดินขบวนที่มีเจ้าหน้าที่ประจำตลอด 24 ชั่วโมง มีผู้บริหารระดับหนึ่งประจำอยู่เพื่อประเมินสถานการณ์ก่อนรายงานตรงถึงผู้ บริหารระดับสูงได้ตลอดเวลา วอร์รูมจึงมีข้อความถึงผู้บริหารตลอดทุก 10 นาที หรือทุกครึ่งชั่วโมงแล้วแต่ความเคลื่อนไหว

ซักฟอกผ่านโลกไซเบอร์

แม้แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ 9 รัฐมนตรี ก็ยังมีการตอบโต้ผ่านโลกไซเบอร์ โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ตอบโต้นายอภิสิทธิ์ที่ชี้แจงนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ในฐานะหัวหน้าทีมอภิปราย ฝ่ายค้าน เรื่องหนี้สาธารณะว่ารัฐบาลต้องกู้เงินมาฟื้นฟูเศรษฐกิจที่พรรคเพื่อไทยก่อ เอาไว้ และยืนยันว่ามีหนี้น้อยกว่ายุค พ.ต.ท.ทักษิณ โดย พ.ต.ท.ทักษิณทวิตว่า

“ได้ฟังคุณอภิสิทธิ์ตอบคุณมิ่งขวัญในสภาแล้วรู้สึกว่าน้องยังเด็กเหลือเกิน นักการเมืองที่ดีต้องพูดความจริงต่อประชาชนครับ ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน”

พ.ต.ท.ทักษิณยังทวิตต่อว่า สมัยตนรับหนี้มาจากรัฐบาลประชาธิปัตย์ 2 ก้อนใหญ่ๆคือ 1.หนี้กองทุนฟื้นฟูที่เกิดจากการขายทรัพย์ที่เอามาจากสถาบันการเงินล้มแบบ โง่ๆให้กับโกลด์แมน ซาคส์, เลห์แมน บราเธอร์ส และจีอี แคปปิตอล ที่ได้ราคาไม่ถึง 20% ของต้นทุนทรัพย์สิน แถมยังช่วยไม่ให้ฝรั่งเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีก หนี้ก้อนนี้ประมาณ 700,000 ล้านบาท หนี้ก้อนที่ 2 กู้มาจากโครงการมิยาซาวา, ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี), ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประมาณ 600,000 กว่าล้านบาท ซึ่งหนี้ไอเอ็มเอฟประมาณ 400,000 ล้านบาท ใช้ไปหมดแล้ว รัฐบาลนายอภิสิทธิ์เข้ามาจึงถือโอกาสกู้เงินเพื่อหวังผลทางการเมืองและมีการ คอร์รัปชัน ทำให้หนี้สูงขึ้นเป็นลำดับ

“ขอแนะนำว่าให้ยอมรับและบอกว่าจะให้ความสนใจเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น จะใช้เงินที่กู้มาให้เกิดประโยชน์กว่านี้ จะปล่อยให้โกงน้อยลง จะไม่ให้เกิดการกักตุนสินค้าและตามมาด้วยการขึ้นราคาแบบนี้อีก ผมว่าดูจะเป็นผู้ใหญ่กว่า ได้รับความเห็นใจกว่า บอกประชาชนไปเลยครับว่าผมกำลังเรียนรู้งานอยู่ อีกหน่อยผมก็เก่งเองครับ”

“จาตุรนต์” ทวิตถล่มซ้ำ

เช่นเดียวกับนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย ในฐานะทีมวอร์รูมติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งมีแกนนำพรรคและสมาชิกบ้านเลขที่ 111 คอยประเมินผลการอภิปราย ก็ทวิตข้อความตอบ โต้นายอภิสิทธิ์เรื่องหนี้ว่า พรรคไทยรักไทยทำให้หนี้ที่พรรคประชาธิปัตย์สร้างไว้ลดลงอย่างมากและรวดเร็ว

“คุณอภิสิทธิ์ไปเอาตัวเลขหนี้สาธารณะมาจากไหน และยังตัดตอนประวัติศาสตร์มาพูด ลักไก่เอาแบบไม่น่าเชื่อ เรื่องตัวเลขหนี้สาธารณะเป็นอย่างไรก็เรื่องหนึ่ง แต่หนี้ตอนไหนมากกว่าตอนไหนไม่ใช่ประเด็น จะจับให้มั่นคั้นให้ตายต้องรวบรวมเรื่องใหญ่ๆที่คุณอภิสิทธิ์ไม่ตอบหรือตอบ ไม่ได้มาแสดงให้เห็น แล้วจะพบว่าคุณอภิสิทธิ์สอบตกแน่ แต่ผมขอไม่ทำเองนะครับ เรื่องหนี้สาธารณะคุณอภิสิทธิ์คิดผิดถนัดที่มาคุยว่าหนี้สมัยตัวเองน้อยกว่า สมัยคุณทักษิณ ทั้งๆที่เรื่องนี้เป็นจุดแข็งที่สุดของคุณทักษิณ และเป็นจุดอ่อนที่สุดของคุณอภิสิทธิ์”

ปชป. รัวทวิตแจงประชาชน

ในวันเดียวกันทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ได้เขียน ข้อความลงทวิตเตอร์ โดยใช้ชื่อว่า “@democratTH” สรุปประเด็นการชี้แจงของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นข้อความสั้นๆอย่างต่อเนื่อง ทวิตเตอร์ไทยคู่ฟ้า “Thaikhufa” ของรัฐบาลก็โพสต์ข้อความรวมถึงรายงานความเคลื่อนไหวต่างๆของนายอภิสิทธิ์และ รัฐมนตรีที่ชี้แจงในการอภิปรายทันทีในแต่ละประเด็นแบบนาทีต่อนาทีทีเดียว

วอร์รูมกองทัพ

แม้แต่กองทัพบกก็ตั้งวอร์รูม โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เปิดเผยว่า วอร์รูมเป็นแค่การติดตามสถานการณ์ทางทหาร ซึ่งกองทัพบกมีงานทุกวันอยู่แล้ว มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบติดตามสถานการณ์รอบประเทศ 24 ชั่วโมง มี 7 กองกำลังทำงาน แต่หากมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับทหารถามเข้ามาก็ตอบไปเท่านั้น เพราะการทำงานของทหารเป็นผู้ปฏิบัติเท่านั้น

อย่างเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่กองทัพเข้าไปรับผิดชอบก็ทำตามคนที่สั่งการโดยชอบตามกฎหมายคือรัฐบาล ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายอภิสิทธิ์ที่ระบุว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ฝ่าฝืน บทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายสั่งการทหารเข่นฆ่าประชาชนนั้น เรื่องการใช้กำลังทหารไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง ประชาชนต้องแยกให้ออก เพราะเจ้าหน้าที่ทหารเลี่ยงคำสั่งไม่ได้ กฎหมายคือกฎหมาย ความรับผิดชอบมีอยู่แล้ว ถ้าสั่งการมาแล้วชอบด้วยกฎหมายก็ต้องปฏิบัติ จะปฏิบัติอย่างไรให้เกิดความปลอดภัยต้องใช้ความระมัดระวัง โดยยืนยันว่าช่วงกระชับพื้นที่ทหารทำตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาล ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ กลุ่มเสื้อแดงมีสิทธิเลี่ยงพื้นที่อันตรายได้แต่กลับหันมาสู้กับกฎหมาย

การเมืองบนโลกไซเบอร์

โลกไซเบอร์จึงกลายเป็นพื้นที่การตอบโต้การอภิปรายไม่ไว้วางใจระหว่างฝ่าย ค้านกับรัฐบาลที่ดุเดือดไม่น้อยกว่าในสภา และยังอาจได้ข้อเท็จจริงหรือข้อมูลที่ชัดเจนกว่าการอภิปรายในสภา เพราะไม่ถูกขัดจังหวะจากบรรดาองครักษ์พิทักษ์นาย หรือเป็นข้อมูลจากผู้รู้จริง ซึ่งทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยก็มีการตั้งวอร์รูมขึ้นมาต่อสู้กัน

วันนี้โลกไซเบอร์จึงมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆในเวทีการเมืองและการ เคลื่อนไหวต่างๆของภาคประชาชน แม้แต่การก่ออาชญากรรมและก่อการร้ายต่างๆ เหมือนทีวี.ออนไลน์ที่ขณะนี้คนไทยหลายสิบล้านคนเลือกดูแทนทีวี.เสรีหรือสื่อ หลักที่มีการนำเสนอที่อยู่ในกรอบและมอมเมา

อาชญากรรมหรือการเมือง

นิตยสาร The Economist ฉบับวันที่ 2 กรก-ฎาคม 2552 ได้เคยวิเคราะห์การเมืองบนโลกไซเบอร์ของไทยว่าเหมือนกับจีน เพราะทั้ง 2 ประเทศคอยอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย แต่โลกไซเบอร์ในจีนกลับเป็นสมรภูมิระหว่างเสรีภาพในการพูดและการเซ็นเซอร์ เช่นเดียวกับไทยที่แม้จะมีเสรีมากกว่าสื่อกระแสหลักที่ขาดความกล้า แต่การตรวจสอบก็ทำมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้สกัดกั้นเว็บไซต์มากกว่า 8,300 เว็บ โดยอ้างว่าผิดกฎหมายหมิ่นเบื้องสูง สำนักงานตำรวจแห่งชาติปิดเว็บเพจมากกว่า 32,000 หน้า ด้วยข้อหาต่างๆกันเมื่อปี 2550 แม้แต่ยูทูบยังโดนปิดกั้นเป็นเวลานานหลายเดือนหากเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ถูกใจ ผู้มีอำนาจ

The Economist ยังกล่าวถึงขบวนการ “ไล่ล่าแม่มด” บนโลกไซเบอร์ว่า เบื้องหลังคือการเมืองที่เป็น กลุ่มต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณจนกระทั่งเกิดการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งเหมือนการปล้นอำนาจโดยฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มีกองทัพ ตุลาการ และชนชั้นสูงอยู่เบื้องหลัง โดยใช้กลุ่มเสื้อเหลืองออกหน้าการขับไล่ โดยอ้างว่า พ.ต.ท.ทักษิณและพวกพยายามทำลายสถาบันเบื้องสูง จนในที่สุดนายอภิสิทธิ์ก็ได้เป็นรัฐบาล พร้อมตั้งคำถามว่าเรื่องนี้เป็นการเมืองหรืออาชญากรรม

“ทักษิณ” ใช้โลกไซเบอร์สู้

อย่างไรก็ตาม หลังจากต้องพ่ายแพ้ด้วยโลกไซเบอร์จากการส่งต่อข่าวอย่างเป็นระบบจากกลุ่มต่อ ต้าน โดยไม่สนว่าข่าวนั้นจะจริงหรือเท็จอย่างไร พ.ต.ท.ทักษิณ ก็พลิกกลับมาใช้โลกไซเบอร์เป็นจุดแข็งมาโดยตลอดในการต่อสู้เพื่อเรียกร้อง ความยุติธรรมให้กับตนเองเช่นกันนับตั้งแต่ต้องออกไปอยู่นอกประเทศ ซึ่งต้องยอมรับว่าการวิดีโอลิ้งค์หรือโฟนอินหรือทวิตข้อความของ พ.ต.ท.ทักษิณเข้ามายังคนเสื้อแดงหรือในเหตุการณ์สำคัญๆหลายครั้งนั้นมีผลต่อ สังคมไทยไม่น้อย

ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวหาและโจมตีของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์หรือกลุ่ม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ต.ท.ทักษิณก็จะใช้โลกไซเบอร์คอยตอบโต้ ทำให้ยังอยู่ในกระแสข่าวทั้งในประเทศไทยและการเมืองโลก

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ก็วางยุทธศาสตร์ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งใหม่ ผ่านโลกไซเบอร์มานานแล้ว รวมทั้งเว็บไซต์ของนายอภิสิทธิ์และนายกรณ์ที่ถือเป็นฐานเสียงสำคัญที่สร้าง ภาพและคะแนนนิยมของนายอภิสิทธิ์และนายกรณ์ให้กับคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ไม่ เคยรู้ข่าวจากแหล่งอื่นเพราะรับข่าวสารจากโลกไซเบอร์อย่างเดียวเท่านั้น

โลกไซเบอร์กับประชาธิปไตย

นายยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในการเสวนาเปิดตัวหนังสือ “สื่อออนไลน์ BORN TO BE DEMOCRACY” ว่าแม้ไม่แน่ ใจว่าสื่อออนไลน์จะเป็นประชาธิปไตยโดยตัวเอง แต่ก็น่าจะเป็นเครื่องมือนำไปสู่ประชาธิปไตยมากกว่า หรือเรียกว่า born to become democracy

นอกจากนี้ยังมีคำถามเกี่ยวกับสื่อออนไลน์ ซึ่งผู้คนมักมองเห็นพลังและแง่บวกในการสร้าง “พื้นที่สาธารณะ” อย่างไร้พรมแดน ถึงที่สุดก็ไม่ได้ต่างอะไรกับโลกออฟไลน์ พรมแดนทางออนไลน์ที่ยังมีเรื่องของภาษาหรือกฎกติกาในเว็บต่างๆที่คนจะมีส่วน ร่วมกำหนดกฎเกณฑ์ในสังคมออนไลน์ได้อย่างไร และไม่ให้รัฐก้าวล่วงมาได้มากน้อยแค่ไหน

สื่อออนไลน์หรือโลกไซเบอร์จึงต้องมีความเท่าเทียม เป็นของกระฎุมพีที่ขยายพื้นที่เพื่อสื่อสารทาง การเมือง ช่วยให้คนฉุกคิด เข้าใจถึงการสื่อสารอื่นๆในโลกความจริง ซึ่งต้องสร้างสังคมประชาธิปไตยในโลกออฟไลน์ให้เป็นจริงขึ้นมาเพื่อจะได้ ประชาธิปไตยในโลกออนไลน์ เพราะพื้นที่ออนไลน์กับออฟไลน์มันเกี่ยวกัน อย่างรัฐก้าวล่วงเข้ามาในพื้นที่ออนไลน์ก็ทำให้คนอึดอัด

ขณะที่นายสมบัติ บุญงามอนงค์ บ.ก.ลายจุด แกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง กล่าวถึงระยะแรกเริ่มของพฤติกรรมคนที่แสดงออกมาทางอินเทอร์เน็ตว่า เหมือนคนที่ออกมาจากคุก จนวันนี้คนก็ยังพูดเรื่องนี้ อินเทอร์เน็ตหรือโลกไซเบอร์จึงให้สิทธิคนอื่นๆในการด่าคนในที่สาธารณะได้ นอกเหนือจากนักข่าว นักเขียน ซึ่งสื่อหนังสือพิมพ์อายุสั้นแค่วันเดียว รายสัปดาห์ก็ 1 สัปดาห์ แต่อินเทอร์เน็ตอยู่นานได้

ดังนั้น วันนี้โลกไซเบอร์จึงเหมือนโลกของประชาธิปไตย ซึ่งปัญหาและเรื่องราวมากมายนั้นสื่อออฟไลน์เสนอไม่ได้หรือไม่กล้านำเสนอ อย่างกรณีวิกิลีกส์ที่สื่อกระแสหลักของไทยจำใจเซ็นเซอร์ตัวเอง แต่คนไทยกลับสามารถรับรู้ชนิด “คำต่อคำ” ผ่านทางโลกไซเบอร์หรืออินเทอร์เน็ตได้

โลกไซเบอร์จึงทำให้คนจำนวนมากได้ “ตาสว่าง” รู้ว่าอะไรจริง อะไรเท็จ ใครทำดี ใครทำชั่ว ใครเป็นฆาตกร ใครเป็นผู้บริสุทธิ์?

แม้ในสภาจะเต็มไปด้วยน้ำลายที่มีแต่การโกหกตอแหล แต่ก็ไม่อาจปกปิด “ความจริง” ในโลกไซเบอร์ได้ว่า ใครคือฆาตกรสังหารโหด 91 ศพและไอ้โม่งตัวจริงที่เผาบ้านเผาเมือง

“กรรมออนไลน์” บนโลกไซเบอร์ จึงรวดเร็วทันใจกว่า “กรรมติดจรวด”

ใครก่อกรรมอะไรไว้…ได้เวลาชดใช้กรรมในชาตินี้…ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 303 วันที่ 19-25 มีนาคม พ.ศ. 2554 หน้า 16-17 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน



ค้นหาความจริง

การสังหารโหด 91 ศพ และมีผู้บาดเจ็บพิการเกือบ 2,000 คน ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ผ่านมาแล้วเกือบ 1 ปีแล้ว กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็ยังไม่มีผลการสอบสวนอะไรคืบหน้านอกจากออกมาแถลงให้ดูเป็นพิธี แต่ที่น่าผิดหวังและน่าวิตกอย่างยิ่ง คือการแถลงหลักฐานใหม่ในคดีการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโต ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่น ว่าอาจเกิดจากกระสุนปืนอาก้า ซึ่งไม่มีใช้ในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่

แต่กรณีของช่างภาพญี่ปุ่นก็เป็นเพียงแค่คนเดียวในจำนวน 91 ศพที่ยังถูกแช่แข็ง ซึ่งประชาคมโลกต่างเฝ้าติดตามว่าในที่สุดผลการสอบสวนจะออกมาอย่างไร และสามารถนำคนผิดมาลงโทษได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม กรณีนายมูราโมโตได้สะท้อนให้เห็นปัญหาของเจ้าหน้าที่รัฐและกระบวนการ ยุติธรรมในไทยที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบและถูกประณามไปทั่วโลกว่าประเทศ ไทยยังมีสภาพเหมือนรัฐทหาร ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

การค้นหาความจริงเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” จึงเป็นไปได้น้อยมาก หากรัฐบาลและกองทัพที่เป็นคู่กรณียังมีอำนาจและไม่ยอมให้คณะกรรมการอิสระ ระหว่างประเทศเข้ามาสอบสวน แม้ที่ผ่านมาคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่ง ชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน จะมีความคืบหน้าไม่น้อยและออกมาเคลื่อนไหวต่างๆ แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายรัฐและกองทัพในการตรวจสอบค้นหาความจริง

ที่สำคัญ คอป. และสังคมไทยต่างรู้ความจริงว่าใครเป็น “ฆาตกร” แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เหมือนบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป มีกฎหมายก็เลือกปฏิบัติและ 2 มาตรฐาน สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่กลัวความจริงและพร้อมจะปิดหูปิดตาเพื่อให้ตัวเอง ได้อยู่อย่างสุขสบาย แม้พี่น้องร่วมชาติจะถูกย่ำยีและเข่นฆ่าอย่างอำมหิตและเลือดเย็นก็ตาม

แม้ในที่สุดเหตุการณ์ครั้งนี้จะไปยุติที่การนิรโทษกรรมก็ตาม แต่ต้องไม่ปิดบังหรือบิดเบือนความจริง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์อำมหิตโหดเหี้ยมเช่นนี้ขึ้นอีก เพราะวันนี้ประชาชนที่บริสุทธิ์ก็ยังถูกกล่าวหา กลั่นแกล้ง และไล่ล่าจากผู้มีอำนาจรัฐ เพราะฆาตกรและพวกพ้องกลัวว่าสังคมจะรู้ความจริงและถูกลงโทษตามกฎหมาย ซึ่งมีโทษถึงประหารชีวิต

เหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” จึงไม่ใช่เป็นแค่ประวัติศาสตร์ แต่ต้องทำให้ทุกฝ่ายนำไปเป็นบทเรียนและอุทธาหรณ์ที่จะไม่ให้เหตุการณ์เล้ว ร้ายเช่นนี้เกิดขึ้นอีก เหมือนการปฏิวัติรัฐประหารที่จะต้องหมดสิ้นไปจากสังคมไทยได้แล้ว โดยคนผิดจะต้องถูกลงโทษไม่ว่าจะสีอะไรก็ตาม

ที่มา : โลกวันนี้ 4 มีนาคม 2554


ความยุติธรรมไม่มืดมน!

นายฮันส์-พีเทอร์ โคล รองประธานลำดับที่ 2 ศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่มาร่วมประชุมเกี่ยวกับเรื่อง “The Protection of Human Rights through the International Criminal Court as a Contribution to Constitutionalization and Nation-Building” เมื่อวันที่ 23 มกราคม ซึ่งจัดโดย German-Southeast Asian Center of Excellence for Public Policy and Good Governance (CPG) และสถานทูตเยอรมนี กล่าวถึงกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เตรียมนำคดี 91 ศพในเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศว่า จะทำได้ต่อเมื่อประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นภาคีของศาลอาญาระหว่างประเทศ ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ได้เป็นภาคี เพียงแต่ลงนามในธรรมนูญกรุงโรมเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2545 เท่านั้น ยังไม่มีการให้สัตยาบัน

แม้ประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีแล้วก็ตาม หากประเทศภาคีมีการดำเนินการไต่สวนตามกระบวนการยุติธรรมแล้วศาลอาญาระหว่าง ประเทศก็จะไม่เข้าไปก้าวล่วง ซึ่งนายโคลชี้แจงกับแกนนำ นปช. ที่เข้าพบแล้วว่ามีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับขอบเขตอำนาจของศาลอาญาระหว่าง ประเทศ

แต่มีกรณีประเทศที่ไม่ได้เป็นภาคีแล้วถูกตัดสินโทษโดยศาลอาญาระหว่าง ประเทศ เช่น กรณีประเทศซูดาน ซึ่งศาลอาญาระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาคดีโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 13 (ข) ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งให้อำนาจพิจารณาคดีได้ในกรณีที่คดีอาชญากรรมนั้นได้รับการเสนอต่ออัยการ โดยคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ภายใต้หมวด 7 ของกฎบัตรสหประชาชาติ

อย่างไรก็ตาม นายโคลยังตั้งข้อสังเกตกรณีประเทศไทยยังไม่ให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรมอาจ เป็นเพราะสหรัฐทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ จึงทำให้ประเทศต่างๆที่ได้รับความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจและทางทหารจาก สหรัฐไม่ให้สัญญาณ เพราะกลัวสหรัฐจะงดหรือลดความช่วยเหลือดังกล่าว

โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐ เหมือนกรณีตัดสินใจส่งนายวิคเตอร์ บูท นักค้าอาวุธชาวรัสเซีย ไปดำเนินคดีที่สหรัฐ จนรัฐบาลรัสเซียไม่พอใจและกล่าวหาว่าเป็นการแลกผลประโยชน์ระหว่างประเทศไทย กับสหรัฐ ซึ่งภายหลังเว็บไซต์วิกิลีกส์ได้นำเอกสารลับมาเปิดเผยว่าสหรัฐพยายามใช้ อิทธิพลอย่างไรในเรื่องนี้

ดังนั้น ข่าวการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงที่จะยื่นเรื่องต่อคนของศาลอาญาระหว่าง ประเทศจึงถือว่าหมดความหวังไปโดยปริยาย เพราะตามข้อเท็จจริงตามกฎบัตรของศาลอาญาระหว่างประเทศจะเข้ามาพิจารณาคดีได้ ใน 3 กรณีเท่านั้นคือ 1.ประเทศนั้นให้สัตยาบันต่อ Rome Staue แล้ว 2.ประเทศนั้นยังไม่ได้ให้สัตยาบันต่อ Rome Staue แต่ลงนามรับอำนาจศาล และ 3.มติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติขอให้ศาลมีอำนาจในการพิจารณาคดีใน ประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งประเทศไทยไม่ได้เข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่งใน 3 นี้ข้อเลย

แม้จะมีประเทศหรือคณะมนตรีความมั่นคงส่งเรื่องนี้เข้าไปก็เป็นไปได้ยาก อีกเช่นกัน เพราะเชื่อว่าสหรัฐจะออกมาคัดค้าน กรณีเสื้อแดงจึงอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่มีการส่งตัวนายวิคเตอร์ บูท ไปสหรัฐก็เป็นได้

ส่วนกรณีให้อัยการยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ยื่นฟ้องไปตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 ก็คงตกไปในที่สุด เหมือนที่นายโคลให้ความเห็นว่าคนเสื้อแดงต้องเลิกความหวังแบบลมๆแล้งๆ เพราะไม่อยู่ในขอบเขตของศาลอาญาระหว่างประเทศ

เรื่องนี้นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ให้ความเห็นเช่นเดียวกับนายโคลว่าประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบัน แม้แต่กรณีนักข่าวชาวญี่ปุ่นและนักข่าวชาวอิตาลีจะนำไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ระหว่างประเทศก็ต้องมีความผิดใน 4 ฐานความผิด ได้แก่ 1.มีความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 2.มีความผิดต่อมนุษยชาติ เช่น กรณีเขมรแดง 3.มีความผิดเป็นอาชญากรสงคราม และ 4.มีความผิดฐานเข้าไปรุกราน เช่น กรณีสหรัฐเข้าไปรุกรานอิรัก ซึ่งสหรัฐไม่ได้มีมติเห็นชอบธรรมนูญกรุงโรมจึงไม่เข้าข่าย

กรณี 91 ศพจึงไม่เข้าทั้ง 4 ฐานความผิดที่จะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศได้ จึงเหลือทางเดียวคือต้องต่อสู้ตามกระบวนการกฎหมายภายในประเทศ แม้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจะคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐในการ ปฏิบัติหน้าที่ไว้เกือบทุกด้านก็ตาม

แม้รัฐบาลอภิสิทธิ์จะอ้างว่าการชุมนุมของ นปช. เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย เพราะมีการชุมนุมปิดกั้นในทางสาธารณะ มีกลุ่มผู้ก่อการร้ายแฝงตัว แต่การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและใช้อำนาจสั่งการให้กองทัพดำเนินการปราบปรามผู้ชุมนุมอย่าง เบ็ดเสร็จเด็ดขาด หรือที่เรียกว่ากฎหมาย “พญาแร้ง” นั้นต้องไปต่อสู้กันทางกฎหมายว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

หากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นไปโดยไม่ชอบก็เท่ากับกระบวนการสั่งใช้กฎหมายเป็นโมฆะ การสั่งการให้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมโดยใช้อาวุธยิ่งเป็นการใช้อำนาจโดย ไม่ชอบ ซึ่งเท่ากับนายอภิสิทธิ์และผู้เกี่ยวข้องในศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุก เฉิน (ศอฉ.) ขณะนั้นถือว่ากระทำผิดกฎหมายทางอาญาทั้งสิ้น ถือเป็นตัวการในการกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) มีโทษประหารชีวิตสถานเดียว

นอกจากนี้ยังมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 296 และมาตรา 298 ซึ่งมีโทษจำคุกและปรับเช่นกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีและ ศอฉ. ไม่สามารถอ้างอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้

เช่นเดียวกับคณะรัฐมนตรีต้องร่วมรับผิดในเรื่องนี้ด้วย เพราะสั่งให้ประกาศใช้ พ.ร.ก. ดังกล่าวเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในสหรัฐอเมริกาจะใช้คำว่า Do Process ในกระบวนการกฎหมายและการบริหารของฝ่ายบริหารของรัฐ รวมทั้งกระบวนการยุติธรรมนั้นจะต้องมีการดำเนินการมาจากกฎหมายที่ใช้โดยชอบ

ดังนั้น เมื่อรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นกฎหมายโดยไม่ชอบแล้ว กระบวนการทั้งหมดที่อ้างว่าเป็นกระบวนการยุติธรรมและการใช้กำลังและอาวุธ สงครามสลายการชุมนุมจึงไม่มีภูมิคุ้มกันจากกฎหมายที่ไม่ชอบที่ประกาศ

โทษในทางอาญาที่มีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติโดยชัดแจ้ง แม้ขณะนี้รัฐบาลจะอยู่ในอำนาจและกระบวนการยุติธรรมยังไม่อาจดำเนินการเพื่อ ดำเนินคดีได้ก็ตาม แต่เมื่อรัฐบาลนี้พ้นจากตำแหน่งไป ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องเตรียมใจที่จะต้องถูก ดำเนินคดีในข้อหาร้ายแรง ซึ่งมีอายุความ 20 ปี

คนเสื้อแดงที่เรียกร้องความยุติธรรมจึงไม่ใช่จะมืดมนหรือหมดความหวัง อย่างสิ้นเชิง แม้วันนี้นายอภิสิทธิ์อาจรู้สึกว่าสิ่งเลวร้ายต่างๆหมดไปแล้ว แต่ในความเป็นจริงยากจะลบความจริงที่เกิดขึ้นและฝังอยู่ในใจไปตลอดชีวิตว่า เป็น “นายกฯร้อยศพ”

อย่างที่คำพูดของ “ฮิบราฮัม ลินคอนส์” ประธานาธิบดีของสหรัฐ ที่ว่า

“ประชาธิปไตยคือระบบการปกครองของประชาชนโดยประชาชนและเพื่อประชาชน โดยที่คุณอาจจะสามารถโกหกคนทุกคนได้บางเวลา คุณอาจสามารถโกหกคนบางคนได้ตลอดเวลา แต่คุณไม่สามารถที่จะโกหกคนทุกคนได้ตลอดเวลา”

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 296 วันที่ 29 มกราคม –  4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 หน้า 14 คอลัมน์ สามแยกสามแพร่ง โดย คุณศรี สามแยก