พูดเอาหล่อ

ช่วงค่ำวันจันทร์ที่ผ่านมา ถ้าใครดูทีวีช่อง 11 อาจนึกว่ารายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์” ฟื้นคืนชีพ

ทั้งที่เป็นการแถลงเกี่ยวกับการตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนฯ ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา 10 พ.ค.เป็นต้นไป

ในมาตรา 3 และมาตรา 4 ของพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว บัญญัติให้มีการเลือกตั้งใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 3 ก.ค.อย่างที่หลายคนรู้กันแล้ว

ในการแถลง นอกจากนายกฯอภิสิทธิ์ จะชี้แจงเหตุผลการยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ เพื่อต้องการให้ประเทศไทยเริ่มต้นเดินหน้า หลังจมปลักอยู่ในวิกฤตซ้ำซ้อนมากว่า 6 ปี

นายกฯอภิสิทธิ์ ยังถือโอกาสนี้สาธยายผลงานด้านต่างๆ ของรัฐบาลที่ดำเนินการมา 2 ปีเศษนับแต่เข้ามาบริหารประเทศต้นปี 2551

ไม่ว่าการแก้ปัญหาคนว่างงาน ปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะด้านการส่งออก การท่องเที่ยว และการฟื้นฟู ตลาดหลักทรัพย์ การเริ่มต้นนโยบายเรียนฟรี

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โครงการประกันรายได้เกษตรกร การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ปัญหายาเสพติด ปัญหาคอร์รัปชั่น ปัญหาค่าครองชีพ การเพิ่มค่าแรง

นายกฯอภิสิทธิ์ ยังพยายามจะบอกว่าแม้ปัญหาส่วนใหญ่ดังกล่าวยังแก้ไขไม่สำเร็จ หรือผลงานบางอย่างยังไม่อยู่ในขั้นน่าพอใจ

แต่รัฐบาลชุดนี้ได้เริ่มต้นปูพื้นฐานนโยบาย อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาให้สำเร็จลุล่วงในอนาคตไว้แล้ว

ส่วนหลักในการบริหารบ้านเมือง นายกฯอภิสิทธิ์ บอกว่าจากวันนี้ไปการเมืองการปกครองไทย ต้องยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย

ต้องไม่เดินออกนอกเส้นทางรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

ทั้งหมดนี้สรุปเอาจากถ้อยแถลงของนายกฯอภิสิทธิ์ เมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมาแบบคร่าวๆ ซึ่งหลายคนฟังแล้วถึงกับเคลิ้มไปเลยทีเดียว

แต่กับคนที่มีชีวิตอยู่ในโลกความเป็นจริงโดยเฉพาะบรรดาประชาชนระดับหาเช้ากินค่ำ

ฟังแล้วคงรู้ดีว่าอะไรคือความจริง อะไรคือความไม่จริง

เนื่องจากในช่วง 2 ปีเศษที่ผ่านมา การกระทำต่างหากคือเครื่องพิสูจน์รัฐบาลชุดนี้อย่างประจักษ์ชัดที่สุด

เศรษฐกิจดีจริงหรือไม่ การเมืองเป็นประชา ธิปไตยจริงหรือไม่

เพียงคำพูดเอาหล่อเอาเท่แค่ไม่กี่คำ อย่านึกว่าประชาชนเขาจะเชื่อ

ที่มา : ข่าวสดรายวัน 12 พฤษภาคม 2554
คอลัมน์ : เหล็กใน


อย่า”งมงาย”

ออกมาปฏิเสธพัลวันรัฐบาลถือฤกษ์ 27 เม.ย.นี้ยุบสภา นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ยืนยันว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่เคยไปดูฤกษ์ดูวันเวลายุบสภา

หลังพรรคเพื่อไทยออกมาปูดข่าวนี้ อ้างว่ามีส.ส. ประชาธิปัตย์ให้ข้อมูลว่า ถ้ายุบสภา 27 เม.ย.นี้ นายอภิสิทธิ์จะมีโอกาสกลับมาเป็นนายกฯ อีกรอบ

หลายคนอาจไม่เชื่อว่านายอภิสิทธิ์ ซึ่งมีดีกรีนักเรียนนอกจบเกียรตินิยมจากออกซ์ฟอร์ด เป็นนักการเมืองหัวทันสมัยอัพเดตเฟซบุ๊กตลอดเวลา จะงมงายแบบนี้

แต่ถ้าย้อนกลับไปดูช่วง 2 ปีที่นายอภิสิทธิ์เข้ามาเป็นรัฐบาล

มีการปรับฮวงจุ้ยทำเนียบไปแล้วไม่ต่ำกว่า 5-6 ครั้ง

ปี 2553 นำต้นไทรกับต้นปาล์มยะวา 70 ต้นมาปลูกบริเวณตึกไทยคู่ฟ้าและตึกสันติไมตรี

เชื่อว่าเสริมดวงชะตา สร้างความเข้มแข็งให้รัฐบาล

ก่อนปรับเปลี่ยนใหม่อีกครั้ง เพราะซินแสติงว่าไม่ถูกหลัก

ต่อมาไม่นานก็มีปรับอีก นำกระถางต้นโกสนไปตั้งไว้ที่สนามหญ้าหน้าตึกไทยฯ นำเสาธงสีทองไปตั้งตามประตูทำเนียบ

พอปี 2554 ก็เชิญซินแสมาปรับฮวงจุ้ยทำเนียบอีกครั้ง นำกระถางใส่มะขามกับบานบุรีอย่างละ 7 ต้นมาตั้งไว้ที่ประตู 7

เชื่อว่าเสริมชะตา สร้างความน่าเกรงขาม

นำตู้อัญมณีไปวางไว้ในห้องทำงานนายกฯ และที่พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเสริมบารมีทั้งนายกฯ ทั้งพรรค

ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ไม่งมงายเลยหรือ!?

ที่จริงแล้วรัฐบาลในอดีตก็มีการปรับฮวงจุ้ยกันให้เห็น แต่รัฐบาลชุดนี้ดูเหมือนว่าจะปรับเยอะไปหน่อย

ต้องรอดูว่าวันยุบสภาจะเป็น 27 เม.ย. นี้หรือเปล่า

ว่าไปแล้ว จะยุบวันที่เท่าไหร่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ

แต่การจะชนะเลือกตั้ง กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งหรือไม่ มันอยู่ที่ผลงานที่ผ่านมามากกว่า

และผลงานของนายอภิสิทธิ์ก็ประจักษ์ต่อสังคมไปแล้ว

ไม่เคยแสดงความรับผิดชอบต่อการสลายม็อบแดง 91 ศพบาดเจ็บอีก 2 พันคนเลย

ยิ่งสะท้อนถึงความบกพร่องทางความคิดเรื่อง ประชาธิปไตยของรัฐบาลเข้าไปอีก

ยิ่งสร้างความแตกแยกในบ้านเมืองเข้าไปใหญ่

การแก้ปัญหาเศรษฐกิจก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า ข้าวยากหมากแพง แถมยังสร้างหนี้มหาศาล

ล่าสุดก็ความอืดอาดล่าช้าในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ทั้งแผ่นดินไหวภาคเหนือ น้ำท่วมภาคใต้

กว่ารัฐบาลจะขยับก็พินาศไปไม่รู้เท่าไหร่แล้ว

ผลงานเหล่านี้จะเป็นตัวชี้วัดว่าพรรคประชาธิปัตย์จะมีโอกาสกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งหรือไม่

จะเสริมดวงหรือพึ่งไสยศาสตร์ก็ช่วยอะไรไม่ได้

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ 31 มีนาคม 2554
คอลัมน์ : เหล็กใน

 


ยุบสภา.. หรือลาออก

วันนี้ (28 กุมภาพันธ์ 2554) เป็นวันที่ www.pub-law.net เปิดให้บริการมาครบ 10 ปี โดยเราเปิดตัววันแรกในวันที่ 1 มีนาคม 2554  ปีแรกเรามีผู้ใช้บริการประมาณ 20,000 กว่าครั้งแต่ในปีที่ผ่านมาคือปี 2553 เรามีผู้เข้าใช้บริการตลอดทั้งปีประมาณ 950,000 ครั้ง ผมต้องขอขอบคุณผู้ใช้บริการทุกคนที่ให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทาง วิชาการของผมตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา คงจำกันได้นะครับว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วการเข้าถึงระบบ internet ในบ้านเราไม่ได้ง่ายดายเหมือนเช่นในวันนี้ ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ มีมากมายแต่เราก็สามารถฟันฝ่ามาได้ ผมขอขอบคุณเพื่อนนักวิชาการทุกคนที่ช่วยกรุณาส่งบทความมาร่วมกับเรา ขอขอบคุณสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญและสมาคมกฎหมายมหาชนแห่งประเทศไทยที่กรุณาจัด พิมพ์หนังสือ “รวมบทความกฎหมายมหาชนจากเว็บไซต์ www.pub-law.net เล่ม 1 ถึงเล่ม 9  เพื่อแจกจ่ายให้กับนิสิตนักศึกษา ประชาชนและห้องสมุดต่าง ๆ  รวมทั้งขอขอบคุณสื่อมวลชนทุกแขนงที่นำบทบรรณาธิการและบทความจาก www.pub-law.net ไปเผยแพร่ต่อ และท้ายที่สุด ขอขอบคุณทีมงานทั้งในอดีตและปัจจุบันทุกคนที่เป็นส่วนสำคัญในการทำให้ http://www.pub-law.net พัฒนากลายมาเป็นเว็บไซต์กฎหมายมหาชนที่ดีที่สุดและสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย ในวันนี้ครับ

เมื่อวันครบรอบ 5 ปีของเราคือปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ผมเขียนบทบรรณาธิการครั้งที่ 128 โดยใช้ชื่อว่า “ทักษิณ…….ออก ไป” ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลา “ขาลง” ของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร ที่คนไทยเริ่มแบ่งเป็น 2 ขั้วคือขั้วที่เอาและขั้วที่ไม่เอา พ.ต.ท.ทักษิณฯ ในบทบรรณาธิการครั้งนั้นผมได้ตั้งประเด็นไว้ 2 ประเด็นด้วยกันคือ ใครจะมาแทน “ทักษิณ” และ “คนที่มาแทน “ทักษิณ” จะพาสังคมกลับเข้าไปสู่ปัญหาเดิมที่ “ทักษิณ” เคยเจอมาหรือไม่” ซึ่ง 5 ปีผ่านไป เราก็คงเห็นชัดแล้วนะครับว่าอะไรเป็นอะไร ในบทบรรณาธิการครั้งนั้นผมได้พูดถึงปัญหาที่เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับ ปี พ.ศ. 2540 โดยเฉพาะกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ ยังไม่ได้ผล ทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันตามมามากมายซึ่งผมก็ได้เสนอให้มีการแก้ไข รัฐธรรมนูญใหม่เพื่อแก้ปัญหาของประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่กี่เดือนต่อมา ก็เกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ขึ้น รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ถูกฉีกทิ้งและเราได้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 มา แต่ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นจากช่วงเวลาที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ใช้บังคับก็ยังคงอยู่ต่อไป

5 ปีผ่านไป ไม่มีอะไรดีขึ้นเลยจากการรัฐประหาร จากการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และจากการมีรัฐบาลใหม่ที่มีคนสนับสนุนกันมาก

กุมภาพันธ์ 2554 แม้จะแตกต่างไปจากกุมภาพันธ์ 2549 อยู่บ้างโดยเฉพาะในเรื่อง กระแสของการ “ไล่” นายกรัฐมนตรีที่ยังปลุกไม่ขึ้น แต่สภาพปัญหาที่อยู่รอบ ๆ รัฐบาลนั้นไม่แตกต่างกันเท่าไรนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการทุจริต คอร์รัปชันและการเลือกปฏิบัติครับ

ผมคงไม่พูดเรื่องทุจริตคอร์รัปชันเพราะมีคนพูดกันมากเหลือเกินและจนบัดนี้ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนสักเรื่องหนึ่ง แต่ผมอยากจะมองดูปัญหาอื่นที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรามากกว่า  เริ่มจากปัญหา ภายในประเทศก่อน ก็อย่างที่ทุกคนทราบดีว่าในวันนี้ สังคมของเราแตก แยกอย่างมาก มีการแบ่งเป็นพวก แบ่งเป็นฝ่าย แบ่งเป็นสีอย่างชัดเจน ไม่มีใครเรียกพวกเสื้อเหลืองหรือพวกเสื้อแดงว่า เป็นคนไทยที่มีความเห็นพ้องหรือเห็นต่างจากรัฐบาล เห็นเรียกแต่พวกเสื้อเหลืองพวกเสื้อแดงกันทั้งเมือง

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่คนไทยแบ่งออกเป็นพวกเป็นฝ่ายในวันนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบันมีส่วนเป็นอย่างมากครับ เริ่มมาจากเดิมเมื่อรัฐบาลชุดนี้ยังเป็นฝ่ายค้านอยู่ในสภาก็ออกมาเล่นการ เมืองนอกสภา เมื่อได้เป็นรัฐบาลในช่วงแรกก็ตั้งหน้าตั้งตา “จัดการ” รัฐบาลชุดก่อนทุกวิถีทางจนในบางครั้งดู ๆ แล้วก็ออกจะ “มากเกินไป” เสียด้วยซ้ำ  นอกจากนี้แล้ว ยังมีการใช้มาตรการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางกฎหมาย ทางทหาร ทางตำรวจและทางอื่น ๆ ห้ามการชุมนุม สกัดการชุมนุมและสลายการชุมนุมของ “ฝ่ายตรงข้าม” ซึ่งเราคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่านี่คือส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายชัดเจนขึ้น  ปัจจุบัน รัฐบาลเริ่มมีปัญหากับฝ่ายที่เคยเป็น “พันธมิตร” มาแล้ว ปัญหาเริ่มรุนแรงขึ้น เชื่อได้ว่าหาก “จุดไฟติด” รัฐบาลคงอยู่ไม่ได้เช่นเดียวกับรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร ที่ถูกไล่อยู่ทุกวัน  วันนี้ เริ่มได้ยินเสียง “อภิสิทธิ์……. ออกไป” บนเวทีการชุมนุมของคนเสื้อเหลืองกันบ้าง แล้วนะครับ  แม้จะมีคนไม่มากแต่เท่าที่ผมทราบคนที่ติดตามดู ASTV ก็ยังมีจำนวนมากอยู่และหัวข้อในการสนทนาของคนจำนวนหนึ่งก็มาจาก “ข้อมูล” ที่ได้จากการดูการฟัง ASTV นั่นเองครับ  ส่วนเสื้อแดงนั้น ดูไปแล้วมีพัฒนาการไปในทางที่เป็นระบบมากขึ้น การชุมนุมแต่ละครั้งมีกำหนดเวลาที่แน่นอน มีเส้นทางที่แน่นอน มีจุดหมายที่แน่นอน ประเด็นที่นำมาใช้เรียกร้องในการชุมนุมก็เป็นประเด็นที่เป็นเหตุเป็นผลมาก ขึ้น เช่น ความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี การทุจริตคอร์รัปชัน  นอกจากนี้ เสื้อแดงก็ยังมีความกล้ามาก ขึ้น กล้าชุมนุมหน้าศาลอาญาและศาลฎีกาเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมและเรียกร้องให้ แก้ปัญหาสองมาตรฐาน

การเมืองในประเทศจึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองด้วยความระมัดระวังว่า จะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคตครับ

ส่วนปัญหาภายนอกประเทศนั้น ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของเรายังคงเป็นปัญหาหนักและต่อเนื่องตลอดเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าทหารจะซื้ออาวุธมากขนาดไหน เราก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ รัฐบาลเองก็ไม่ได้ให้ความสนใจกับเรื่องดังกล่าวมากมายนัก เห็นได้จากการที่ไม่ มีรัฐมนตรีคนใดเลยเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องดังกล่าวโดยตรง มีระเบิดทีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงก็ให้ข่าวที ใน ฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ผมอยากทราบว่า ปัญหาที่แท้จริง ของภาคใต้คืออะไรและจะต้องทำอย่างไรพี่น้องประชาชนของเรา ที่นั่นถึงจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างสงบปลอดภัยครับ ถ้าตอบไม่ ได้ก็อย่าเป็นรัฐบาลเลยนะครับ !!!  ส่วนปัญหาไทย กับกัมพูชานั้นยิ่งแย่ใหญ่ เรื่องลุกลามบานปลายจนกลายเป็นข้อขัดแย้งทั้งภายนอกและภายในประเทศไปแล้ว เหตุเกิดขึ้นเพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครัฐบาลกับพันธมิตร “เสื้อ เหลือง” ถูกจับไปขังคุกกัมพูชา  ต่อมาก็กลายเป็นการ “สู้ รบ” กันระหว่างทหารทั้ง 2 ประเทศ  ในตอนต้นที่มีการสู้รบกันนั้น ผมนึกว่าจะได้เห็น “แสนยานุภาพ” ของทหารไทยและอาวุธของเราแล้ว เพราะเห็นตอนเสื้อแดงชุมนุมในกรุงเทพมหานครเมื่อปีที่ผ่านมา ทหารใหญ่ของเราก็ออกมา “ขึงขัง” กันเหลือเกิน เอาเป็นเอาตายกับพี่น้องร่วมชาติ แต่พอมีปัญหากับกัมพูชาซึ่งเป็น “หนามยอกอก” ของไทยมาตลอด ทำไมทหารใหญ่ถึงไม่ “นำทัพ” ไป “ออกศึก” ก็ไม่ทราบนะครับ จริง ๆ ในประวัติศาสตร์ของการทำสงครามหรือการสู้รบเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติ ส่วนใหญ่แล้วพวกขุนศึก แม่ทัพนายกองระดับสูงก็จะ “นำทัพ” ออกไปสู้รบกันทั้งนั้น ไม่ใช่ลูกน้องออกไปรบแล้วนั่งบัญชาการอยู่ในห้องแอร์ ก็น่าเสียดายที่เห็นบทบาทของทหารใหญ่แต่เพียงการ “จัดการ” กับพี่น้องร่วมชาติ !!!  ส่วนแสนยานุภาพทางอาวุธนั้น ผมไม่ทราบว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเราเสียเงินไปกับการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เท่าไร (สื่อมวลชนช่วยกรุณาหาข้อมูลมาให้ประชาชนดูหน่อยนะครับ) แต่พอมีปัญหาเกิดขึ้น อาวุธส่วนใหญ่ก็มีปัญหา ขนาดเครื่องบินขับไล่ยังมีเอาไว้ตกเวลาซ้อมแล้วจะไปสู้กับใครเขาได้ครับ !!!

น่าสงสารประเทศไทยจริง ๆ  บุคคลที่มีอำนาจจำนวนหนึ่งพยายามที่จะทำอะไรไม่ทราบกับพี่น้องประชาชนของ เราแต่กับผู้ที่มารุกรานเรากลับทำอะไรไม่ได้เลย

ปัญหาทั้ง 2 ประการจึงเป็นปัญหาหนักสำหรับกลไก ในวันนี้ที่จะกำหนดทิศทางของตัวเองว่าจะทำอย่างไรต่อไป !!!  จะยุบสภาเพื่อหนีปัญหาหรือจะอยู่ต่อเพื่อ หาทางแก้ปัญหาครับ !!!

มีกระแสเรียกร้องให้ยุบสภา นายกรัฐมนตรีเองก็บอกว่าจะยุบสภาในเร็ววันนี้ นักการเมืองหลายคนก็ออกมาพูดถึงเรื่องการยุบสภา แต่จริง ๆ แล้วการ ยุบสภาคือสิ่งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทยหรือไม่ ?

กระแสยุบสภามีที่มาจากการแก้รัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้ง ผมได้พูดไว้แล้วหลายครั้ง รวมทั้งในบทบรรณาธิการครั้งก่อนหน้านี้ว่า ประเทศ ชาติและประชาชนไมได้อะไรเลยจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เพราะการ แก้ไขรัฐธรรมนูญแบบนี้ไม่ได้แก้ปัญหาของประเทศที่มีอยู่เลย การยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ แม้ระบบจะเปลี่ยนกลับไปเป็นของเดิม แต่ผมก็ค่อนข้างมั่นใจเต็มร้อยว่าเราคงได้คนเดิมเข้ามา เพราะฉะนั้นจะยุบสภาไปทำไมครับ

ในวันนี้ ปัญหาของประเทศชาติมีอยู่มาก เป็นที่รับรู้กันอยู่ว่ามีความแตกแยกระดับสูงในสังคม มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย มีปัญหาเศรษฐกิจ มีปัญหาเงินเฟ้อ มีปัญหาชายแดน มีปัญหากัมพูชา การยุบสภาแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่คงไม่ ใช่วิธีการแก้ปัญหาเหล่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ในแง่จิตวิทยา การยุบสภาอาจดีกว่าการอยู่เฉย ๆ แล้วไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้เลย เพราะความสนใจของผู้คนในช่วงเวลา 3 เดือน คงไปอยู่ที่การเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาล เสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ก็คงลดน้อยลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหาจะลดน้อยลงไปด้วย และนอกจากนี้ เมื่อเกิดรัฐบาล ใหม่ ความแตกแยกในสังคมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ก็จะกลับมาอีก เสื้อเหลืองสนับสนุนรัฐบาลก็หมายความว่าเสื้อแดงคงคัดค้าน ในทางกลับกัน เสื้อแดงสนับสนุนรัฐบาล เสื้อเหลืองก็คงคัดค้านเช่นกัน ความวุ่นวายก็ยังคงมีอยู่ต่อไป ปัญหาก็ยังคงมีอยู่ต่อไปไม่มีวันจบ

แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น อย่างน้อย ก็เพื่อพยายามแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ

ในความเห็นส่วนตัวของผมนั้น หากนายกรัฐมนตรีตัดสินใจ เลือกใช้วิธียุบสภา มีปัญหาตามมาแน่นอนครับ เรื่องแรกก็คือ กติกาในการเลือกตั้งที่ควรจะต้องให้รัฐสภาเป็นคนแก้ไขกฎหมายประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ให้สอด คล้องกับระบบเลือกตั้งที่ถูกรัฐธรรมนูญแก้ไข การเลือกให้ คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ในการเลือกตั้งแทนที่จะให้ รัฐสภาเป็นคนวางเกณฑ์เป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำเป็นอย่างยิ่ง ดังที่ผมได้แสดงความเห็นไว้ในบทบรรณาธิการครั้งก่อนหน้านี้แล้ว นอกจากนี้แล้ว การเลือกตั้งก็ต้องเสียเงินมากมายหลายพันล้านบาทเพื่อ ให้คนแบบเดิม ๆ  เข้ามาใหม่ และไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ต้องถูกต่อต้านอยู่แล้ว เนื่องจากสังคมยังคงแตกแยกแบ่งเป็นฝ่ายอยู่

ผมจึงขอเสนอให้นายกรัฐมนตรีลาออกครับ ผมคิดว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย หากนายกรัฐมนตรีลาออกแล้วเราได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มีท่าทีปรอง ดองและเป็นมือประสานเข้ามาสร้างความ ปรองดองอย่างจริงจัง แก้ปัญหาสองมาตรฐานที่ค้าง คาใจผู้คนจำนวนมากให้เรียบร้อย มีคำตอบสำหรับความสูญเสียที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาการชุมนุมเมื่อพฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา มีนโยบายที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม สามารถปฏิบัติได้เกี่ยวกับการสร้างรัฐสวัสดิการ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ส่วนรัฐสภาก็รีบเร่งจัดทำ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ ซึ่งควรใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเสร็จและมีความชัดเจนแล้วว่า ปัญหาของประเทศคลี่คลายลงไปในทางปรองดอง ค่อยคิดเรื่องการยุบสภาครับ

ผมไม่หวังว่า ข้อเสนอผมจะมีผู้เห็นด้วย แต่อยากจะขอกล่าวไว้  ณ ที่นี้ว่า หากนายกรัฐมนตรีตัดสินใจเลือกวิธียุบสภาและพรรคประชาธิปัตย์ได้กลับมาเป็น รัฐบาล ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีครับ เพราะจากที่ปรากฏอยู่ในเวลานี้ ทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงต่างก็ไม่เอานายกรัฐมนตรีคนนี้เหมือน ๆ กัน ยุบสภาไปแล้ว เลือกตั้งเข้ามาใหม่ นายกรัฐมนตรีคนเดิม เราก็คงต้องอยู่กับปัญหาเดิมๆ ต่อไปครับ

ลองพิจารณาดูด้วยว่า การลาออกอาจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่อย่างน้อยก็จะช่วยประหยัดงบประมาณ ของประเทศในการเลือกตั้ง แล้วก็อาจแก้ปัญหาได้ก็ได้นะครับ

ไม่ลองก็ไม่รู้นะครับ!!!

ในสัปดาห์ที่เรามีอายุครบ 10 ปี เรามีบทความมานำเสนอถึง 5 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นตอนที่สองของบทความเรื่อง “กรณีศึกษา – case study คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕/๒๕๕๓ (กรณียุบพรรคประชาธิปัตย์) ตอนที่ 2” ที่เขียนโดย ศาสตราจารย์ ดร. อมร จันทรสมบูรณ์  บทความที่สองเป็นบทความเรื่อง “ระบบ กึ่งรัฐสภาเพื่อการพัฒนาประเทศตามแนวเสนอของ ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์” ที่เขียนโดย คุณมนูญ โกกเจริญพงศ์ นิติกรชำนาญการพิเศษ กรมบังคับคดี  บทความที่สามเป็นบทความที่เขียนโดย คุณ ชำนาญ จันทร์เรือง เรื่อง “ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค” บทความที่สี่ “เกร็ดแนวคิดจากกฎหมายนิวเคลียร์ของประเทศเขาเพื่อ กฎหมายนิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้าประเทศเรา” ที่เขียนโดยคุณ กนกศักดิ์  ทองพานิชย์  นักกฎหมายอาวุโส สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ  ส่วนบทความสุดท้าย  “ส.ว.สรรหา ต้องลาออกก่อนสมัครเข้ารับการสรรหาในครั้งใหม่หรือไม่?” เป็นบทความที่เขียนโดย ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย  แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆบทความครับ

พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม 2554

ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์

 


ยุบสภา-เลือกตั้งใหม่หนีอภิปราย-ยืดเกมถึงสิ้นปี?

สถานการณ์ในยกปลายของเกมทางอำนาจที่งวดเข้ามา เรื่อยๆ นับเป็นเรื่องน่าสนใจต่อการวิเคราะห์และเฝ้ามอง…หนทางข้างหน้าจะมีอะไร เกิดขึ้น? มีจำพวกที่เป็นเกมสอดแทรกคั่นเวลาสลับฉากหรือเปล่า? หรือถ้าหากรัฐบาลจะยุบสภาเพื่อเปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชักจะพูดแบบถี่และหนาหูมากขึ้น หลายคนสงสัยว่าหากเรื่องยุบสภาจะมีจริง จะเกิดขึ้นตอนไหนกันแน่น่ะ?

แม้นายกรัฐมนตรีพยายามส่งสัญญาณย้ำเรื่อง “ถ้าเศรษฐกิจดี สถานการณ์บ้านเมืองคลี่คลาย ก็รับรองมีความเป็นไปได้สำหรับการยุบสภา แล้วจัดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งน่าจะตกอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน” แต่การย้ำพูดค่อนข้างเป็นประจำ อาจจะเพราะความเข็ดหลาบจำของคนมีประสบการณ์จากนิทานอีสปเรื่อง “เด็กเลี้ยงแกะ” จึงทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีทัศนคติกระเดียดไปข้างไม่ค่อยเชื่อถือคำพูดของ นายก รัฐมนตรี เนื่องจากที่ผ่านมาก็เห็นท่านพูดหลายเรื่อง แทบทุกประเด็นที่เกิดขึ้นจริงก็สวนทางกับคำพูดและคำมั่นสัญญาที่ให้เอาไว้ พูดอย่างหนึ่ง แต่เรื่องที่เกิดขึ้นยังอาจเป็นอีกอย่างก็ได้?

โดยเฉพาะในข้อเท็จจริงของเงื่อนไข “เศรษฐกิจที่ดีขึ้นกับความสงบเรียบร้อย” ทั้ง 2 เรื่องนี้ก็น่าหนักใจจริงๆ ไม่รู้จะเอาอะไรมาเป็นเครื่องชั่งตวงวัดเหมือนกัน

สรุปแล้วเมื่อถึงที่สุดรายการที่เศรษฐกิจจะดีขึ้นกับสถานการณ์สงบเรียบ ร้อย คงหนีไม่พ้นการอธิบายเหตุผล และหาจุดหมายอ้างอิงกันแบบตามใจชอบ? ตรงนี้หมายถึงว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นก็คงขึ้นกับการแถลงและอ้างอิงเหตุผลตัวเลข จากรัฐบาลเป็นสำคัญ? แม้กระทั่งสถานการณ์ที่คลี่คลาย ข้อนี้ย่อมไม่แตกต่างจากข้อแรกคือ ต่างก็ล้วนเป็นเหตุผลซึ่งแล้วแต่รัฐบาลจะจัดให้? พร้อมทั้งเอาเหตุผลมาอธิบายเกี่ยวกับ “ความดีขึ้น” ซึ่งโดยข้อเท็จจริงอาจไม่เป็นไปเช่นนั้นก็ได้…

ทรรรศนะเช่นนี้แม้จะเป็นประเภทเข็ดเขี้ยวหรือเข็ดขยาด ก็ต้องถือว่ามีเหตุผลอยู่ไม่น้อยที่พวกเขาต่างยึดถือหรือเชื่อกันไปเช่น นั้น? มิใช่จะมีเพียงกลุ่มที่คิดเช่นนี้ ซึ่งยังสงสัยแล้วไม่ค่อยเชื่อว่าจะมีการยุบสภา และการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง? เป็นเพียงการสร้างกระแสคำพูดในเชิงปลอบประโลมใจเพื่อลดและคลายความกดดันของ พวกเรียกร้องประชาธิปไตย

เป็นหลุมพรางอีกจังหวะของรัฐบาลนี้?

มิใช่เพียงเท่านั้น กลุ่มความคิดที่ใกล้เคียงกันยังคาดหมายไว้ว่า ถ้าผูกเรื่องการยุบสภาและการเลือกตั้งให้ขึ้นอยู่กับคำอธิบายของรัฐบาล “ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้นและสถานการณ์บ้านเมืองคลี่คลาย” หากเอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นเงื่อนไขจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม?

จะเป็นรัฐบาลเองหรืออำนาจสิ่งใดที่คอยค้ำจุนอยู่เบื้องหลังก็ไม่ใช่จะ เล่นยากเย็นอะไรนัก เพราะถ้าไม่อยากให้มีการยุบสภา ไม่ให้เลือกตั้ง ก็สามารถทำอะไรก็ได้ ซึ่งไม่ยากเย็นเลยสำหรับเทคนิคของเกมในประเทศไทย…

จัดคนใส่เสื้อสีตามใจชอบออกมาก่อม็อบ ข้อนี้คงไม่ได้หมายถึงม็อบสันติอโศกกับบทบาทการนำของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เท่านั้น? มีอีกสารพัดกลยุทธ์เยอะแยะตาแป๊ะไก๋ ของแบบนี้เด็กอมมือยังรู้เลย กระทั่งเกิดนายหมูนายแมวที่ไหนก็ได้ไปวางระเบิดเข้าสักตูม ผลที่ออกมานั้นสามารถแถลงเป็นตุเป็นตะ

สถานการณ์ที่ปรกติก็กลายเป็นซีเรียสจนต้องใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ หรืออาจจะต้องอิงสถานการณ์ให้มีเหตุผลสำหรับการยก พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกมาใช้อีกก็ได้ทั้งนั้น ข้อนี้คงไม่จำเป็นว่ารัฐ บาลจะเขียนสคริปหลอกชาวบ้านขึ้นมา กลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลซึ่งจับมือดมกันไม่ได้ พวกเหล่านี้คงมีอยู่แล้ว ศักยภาพก็เหลือเฟือสำหรับปฏิบัติการปอกกล้วยเข้าปาก?

ฟังดูแนวสันนิษฐานอย่างนี้ก็มีเหตุผลอยู่ไม่น้อย จะปิดหูไม่รับฟังเห็นจะไม่ได้เหมือนกัน สรุปแล้ว “โอกาสที่จะไม่ยุบสภา-ยังไม่เลือกตั้ง” มีเงื่อนไขแห่งความเป็นไปได้ในระดับไม่ควรประมาท ซึ่งถ้าเกมนี้เป็นจริงสำหรับฝ่ายที่กระทำนั้นอาจคิดว่า “ถึงอย่างไรคนไทยยังเชื่อถือคำพูดของนายอภิสิทธิ์อยู่เหมือนเดิม” หากเหตุการณ์เป็นไปเช่นนั้นย่อมเท่ากับเป็นเทคนิค “ยืดเกม” โดยรัฐบาลก็ยังมีอายุเหลือตามกติกาจนถึงสิ้นปี 2554 โน่นแน่ะ…

เรื่องความหนากับดื้อบอดตาใส และพฤติกรรมหูทวนลม ข้อนี้ยังไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรที่ทุกคนในคณะรัฐบาล “เล่นได้อยู่แล้ว” เป็นบทถนัดเสียด้วย?

กระนั้นก็ตามถ้าเกมเป็นไปอย่างที่เขียนถึง คงมีคำถามของความเป็นไปไม่ได้อยู่เหมือนกัน

ได้แก่ สถานการณ์การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งรอจ่อคิวอยู่ข้างหน้า นับตั้งแต่วันเปิดสภา ทางพรรคฝ่ายค้านยื่นเรื่องได้ทันที ส่วนจะล่อกันวันไหนคงขึ้นอยู่กับอีกเกมที่ประธานสภาจะจัดให้ลงตัว

เมื่อเอาแนวของการมองปัญหาเรื่องศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจมาเป็นตัวหักลบ การวิเคราะห์ และมองสถานการณ์จึงมีความแย้งกันอยู่ โดยเฉพาะเรื่องเปิดประเด็นเฉพาะรายการ 89 หรือ 91 ศพ น่าจะสั่นคลอนทั้งรัฐบาลกับผู้ที่เกี่ยวข้องไปตามๆกัน? ด้วยเหตุผลเช่นนี้จึงมีมุมมองซึ่งต่างออกไป

คาดหมายว่ารัฐบาลควรจะชิ่งหนีศึกอภิปรายและการขุดแฉ ทางออกตรงนี้เห็นจะลงเอยรีบยุบสภาก่อนฝ่ายค้านยื่นอภิปราย…

ทั้งสองแนวของการวิเคราะห์ล้วนต่างมีเหตุผล ใครจะเลือกเชื่อรับฟังแนวทางไหนขอให้ใช้วิจารณญาณเอาเถอะในการรับชม และรับฟังเกมละครทางอำนาจของสังคมไทย…มีข้อสังเกตว่าทุกครั้งของการตัดสิน ใจได้เสียใหญ่ๆ เครือข่ายอำนาจก็มักจะสร้างสภาพแวดล้อมการข่าวให้อึมครึม และสับสนโดยข้อมูลเช่นนี้แหละ?

ที่มา : โลกวันนี้ 22 ธันวาคม 2553
โดย : ปราบ-ธิปู โบกทิวธวัช

 


สมองหมาปัญญาควาย!

“ยุบสภา” ดีกว่า “ปฏิวัติรัฐประหาร”!

คำพูดของ “หล่อหลักลอย” กลายเป็นปริศนา “น้ำเน่า” ที่ “สัตว์การเมือง” ผวากันเป็นแถว เพราะส่วนใหญ่กลัวจะไม่ได้กลับมาชูคอในสภาอันทรงเกือก

เพราะถ้า “ล้มกระดาน” ไม่เพียงเหนื่อยทั้งกาย เหนื่อยทั้งใจแล้ว ยังหมายถึง “กระสุน” ที่จะใช้สู้อีกด้วย แม้ในพื้นที่ที่เป็น “ของตาย” อย่างภาคใต้บ้านเราของ “สะตอลายคราม” ทั้งหลาย ก็ต้องใช้เวลาเดินเช้าจดค่ำเช่นกัน

ยิ่งในพื้นที่ที่มีการห้ำหั่นกันสุดๆ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคเหนือ หรือภาคอีสานนั้น วันนี้คำว่า “เก๋า” หรือ “เขี้ยวลากดิน” อาจไม่ได้ช่วยเท่ากับเรื่องของ “สี” ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้

เรื่องของ “สี” ยังเป็นประเด็นให้ฮาไปทั่วโลก เมื่อ “บิ๊กตู่” ซึ่งประกาศว่าไม่มีสี นอกจาก “สีธงไตรรงค์” แต่กลับสั่งห้ามครอบครอง จำหน่ายจ่ายแจกวัตถุที่ปรากฏความหมายที่ยั่วยุและสร้างความแตกแยกในพื้นที่ ที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉกฉวย ในระหว่างการชุมนุมของ “ไพร่ไม่มีเส้น” เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ขณะที่ “เทพอุนจิ” น้ำลายส่วนตัว “หล่อหลักลอย” ก็กระดิกหางรับทันทีว่า ถ้า “สะตอ” ได้เป็นใหญ่อีกครั้ง อาจจะให้สภาอันทรงเกือกออกกฎหมา (ย) เรื่องห้ามการใส่เสื้อแดงชุมนุมเด็ดขาด  ถ้าฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 5 ปี และปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความคิดของ “เทพอุนจิ” นั้นไม่มีใครแปลกใจ เพราะหลายคนเคยชินแล้วกับเพลง “สมองหมาปัญญาควาย” ของ “กล้วย วงแสตมป์”!

ที่แปลกใจคือความคิดของ “บิ๊กตู่” โผล่ออกมาได้อย่างไร เพราะการชุมนุมของ “เด็กเส้นสีเหลือง” นั้น “บิ๊กตู่” ไม่ได้ชี้แจงแถลงไขแต่อย่างใด

คนเดือดเนื้อร้อนใจจึงหนีไม่พ้น “หล่อหลักลอย” ที่กลัวหน้าหมดหล่อ ต้องออกมาแก้แทนว่าเพราะห่วงใยการหมิ่นสถาบัน จึงต้องเข้มงวดกวดขัน เพื่อไม่ให้นำไปสู่ความแตกแยกมากขึ้น

ไปๆมาๆหรือทั้งไปทั้งกลับก็กลายเป็น “แดงทำอะไรก็ผิด เหลืองทำอะไรไม่ผิด” อย่างข้อหา “ผู้ก่อการร้าย” ทั้งที่แดงและเหลืองก็มีข้อหาเดียวกัน แต่ “แดงติดคุก เหลืองไม่ติดคุก”

วันนี้ “ไพร่ไม่มีเส้น” จึงได้แต่ฮา เพราะแม้แต่ “รองเท้าแตะ” ยังเป็นภัยต่อความมั่นคง!

แถมวันดีคืนดีบ้านใครมีสัญลักษณ์ “แดง” เต็มบ้าน ก็อาจถูก “ศูนย์อับเฉา” จับขังคุกในฐานะ “ก๊วนล้มสถาบัน” อีก

ที่สำคัญวันนี้ยังไม่รู้เลยว่าใครใหญ่และมีอำนาจกว่ากัน ระหว่าง “หล่อหลักลอย” กับ “บิ๊กตู่”!

ทั้งที่บ้านเมืองไม่ได้อยู่ภายใต้ “วงจรอุบาทว์” แต่ “บิ๊กตู่” ทำอะไร คิดอะไร มีแต่คนเกรงอกเกรงใจ

ขณะที่ “หล่อหลักลอย” คิดอะไร ทำอะไร มีแต่คนขับไล่ไสส่ง ไม่ใช่แค่ “ไพร่ไม่มีเส้น” กับ “เด็กเส้น” เท่านั้น แม้แต่ภายใน “แก๊งโจรสลัด” ยังเห็น “หล่อหลักลอย” เป็นแค่เสาตอม่อ “โฮปเวลล์” ที่นับวันจะยืนตายซากโด่เด่อยู่กลางเมือง!

ที่มา : โลกวันนี้ 23 พฤศจิกายน 2553