เมื่อข้าพเจ้ามี “อำนาจ”

ไม่รู้ว่าตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพรรคประชาธิปัตย์รอดพ้นจากการยุบพรรคทั้ง 2 คดี

คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รู้สึกอย่างไร

แน่นอนว่าต้อง “ดีใจ” ที่ชนะ

แต่ในส่วนลึกของจิตใจ อยากรู้ว่าคนที่มีพื้นฐานจิตใจดีอย่าง “อภิสิทธิ์” รู้สึก “อาย” บ้างหรือเปล่า??

เหมือนกับตอนที่ตัดสินใจรับตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ทั้งที่รู้ว่ามีการจัดตั้งรัฐบาลในกองทัพ

จะบอกว่ากองทัพไม่ได้ยกมือให้ “สนธิ ลิ้มทองกุล” ไม่ได้ยกมือให้

จะบอกว่าเป็น “นายกรัฐมนตรี” เพราะ ส.ส.ในสภายกมือให้

ก็ “ใช่” ไม่มีใครเถียง

แต่ใจย่อมรู้ว่า “ความจริง” เป็นอย่างไร

รู้ว่ามี “อำนาจนอกระบบ” กดดันพรรคร่วมรัฐบาลให้ย้ายขั้วมาอยู่กับ “ประชาธิปัตย์”

แต่ก็ยังยอมรับตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี”

เหมือน กับครั้งนี้ แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินอย่างไรก็ตาม แต่ “อภิสิทธิ์” ต้องเห็นผังการเงินที่โยกย้ายจากกระเป๋าของ “เมซไซอะ” ไปยังญาติพี่น้องของผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์

และรู้ว่า “ประจวบ สังข์ขาว” นั้นใกล้ชิดสนิทสนมกับคนในพรรคประชาธิปัตย์อย่างไร

“นักเลือกตั้ง” อย่าง “อภิสิทธิ์” ก็คงเข้าใจได้ไม่ยากว่าเงินก้อนนี้ เขาเอาไปทำอะไรในการเลือกตั้ง

และรู้อยู่กับใจว่าการโยกย้ายเงินแบบนี้ถูกต้องหรือเปล่า ??

หรือเรื่อง “ความตาย” ที่ “ราชประสงค์” ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 โดยเฉพาะกรณี 6 ศพในวัดปทุมวราราม

“อภิสิทธิ์” ยืนยันตลอดว่า “ไม่จริง”

ชี้แจงในสภาว่า กระสุนยิงจากแนวราบ ไม่ใช่จาก “บน” ลง “ล่าง”

วันนี้ “ความจริง” ต่างๆ เริ่มชัดเจนขึ้น รวมทั้ง “ความจริง” ในคุก ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และคณะกรรมการชุด “คณิต ณ นคร” เอามาเปิดโปง

อยากรู้จริงๆ ว่า เมื่อเห็นข้อมูลเหล่านี้แล้ว “อภิสิทธิ์” รู้สึกอย่างไร

ไม่รู้ว่าวันนี้ “อภิสิทธิ์” ยังจำภาพของการเมืองไทยและระบอบประชาธิปไตยในความใฝ่ฝัน เมื่อวันที่ลาออกจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาลงรับสมัครเลือกตั้งได้หรือเปล่า

ภาพนั้นเมื่อเทียบกับ “ประชาธิปไตย” ในวันนี้

วันที่มีคนชื่อ “อภิสิทธิ์” เป็นนายกรัฐมนตรี

ยังเป็น “ประชาธิปไตย” เดียวกันหรือไม่

คำถามเหล่านี้ อยากให้ “อภิสิทธิ์” ตอบจากใจของคนชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

ไม่ใช่คนที่เป็น “นายกรัฐมนตรี” ที่ต้องแบก “ความรับผิดชอบ” ทางการเมืองมากมาย

ไม่ต้องบอกใคร แต่บอก “ใจ” ของตัวเอง

ถามช้าๆ ชัดๆ และตอบด้วยใจของคนชื่อ “อภิสิทธิ์” ที่ไม่ใส่ “หัวโขน” อะไรเลย

บางทีการเมืองไทยอาจเปลี่ยนโฉมหน้าครั้งใหญ่ เมื่อ “อภิสิทธิ์” นั่งถามตัวเองอย่างจริงจัง

และตอบตัวเองอย่างจริงใจ

ทำไมเราเปลี่ยนไป????

และเมื่อยอมรับว่าเราเปลี่ยนไป

แล้วทำไมเราไม่เปลี่ยนแปลง

นึกถึงวาทะประวัติศาสตร์ของ “ปรีดี พนมยงค์” อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษอาวุโส เมื่อครั้งหมดอำนาจ

“เมื่อข้าพเจ้ามีอำนาจ ข้าพเจ้าไม่มีประสบการณ์ เมื่อข้าพเจ้ามีประสบการณ์ ข้าพเจ้าไม่มีอำนาจ”

ไม่แน่นักอีก 10 ปีต่อจากนี้เราอาจได้ยินวาทะประวัติศาสตร์ใหม่

“เมื่อข้าพเจ้ามีอุดมการณ์ ข้าพเจ้าไม่มีอำนาจ

…เมื่อข้าพเจ้ามีอำนาจ ข้าพเจ้าไม่มีอุดมการณ์”

ที่มา : คอลัมน์ สถานีความคิด หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 11 ธันวาคม 2553
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1292073777&grpid=&catid=02&subcatid=0207
โดย : สรกล อดุลยานนท์

 


เป็นไปตามที่คาดสำหรับประชาธิปัตย์

เป็นไปตามที่บางฝ่ายคาดการณ์ไว้ว่าพรรคการ เมืองเก่าแก่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ยังคงหนังเหนียวรอดจากการยุบพรรค แต่สิ่งที่ตามมาหลังจากนี้คงหนีไม่พ้นการถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่อง 2 มาตรฐานอีกเช่นเคย

และแล้วคำตัดสินยกฟ้องพรรคประชาธิปัตย์กรณีเงิน 258 ล้านบาทของศาลรัฐธรรมนูญก็ทำให้ฝ่ายที่ยืนอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลพูดขึ้นมาอีก ครั้งว่า “พวกฉันทำอะไรก็ผิด ส่วนคุณทำอะไรก็ไม่เคยผิด” ถ้าจะหยาบหน่อยก็บอกว่า “กูทำอะไรก็ผิด” เสียงเหล่านี้ยังดังกระหึ่มอยู่ในประเทศไทย

ในเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ยังคงหนังเหนี่ยว สามารถรอดพ้นคดียุบพรรคมาได้ถึง 2 ครั้ง ย่อมเป็นที่สะใจของคนที่ตามเชียร์พรรคประชาธิปัตย์ ฉะนั้นเมื่อตัวเองสมหวังแล้วก็อย่าออกมาเยาะเย้ยถากถางอะไรกันอีกเลย ส่วนฝ่ายที่อยากเห็นพรรคประชาธิปัตย์ถูกยุบแต่ว่าไม่สมหวังก็อย่าได้ชิงชังกันต่อไปเลย

การที่พรรคประชาธิปัตย์รอดมาได้ทั้ง 2 กรณี โดยไม่มีการพูดถึงเนื้อหาของคดี ทำให้ชาวบ้านคิดถึงตัวเองว่า ถ้ามีคดีฟ้องร้องแล้วชั้นสอบสวน (ตำรวจ) ทำสำนวนผิดขั้นตอน และศาลไม่พิจารณาคดีจะทำอย่างไร ชาวบ้านจะมีตัวช่วยหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นถือว่าประเทศไทยต้องเสียโอกาสแห่งความปรองดองไปเยอะทีเดียว เพราะทั้ง 2 ครั้งที่พรรคประชาธิปัตย์รอดมาได้เพราะความผิดไปอยู่ที่ กกต.

หลังจากนี้เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญคงออกมาชี้แจงในประเด็นที่มีความเห็นไม่ ฟ้องด้วยเหตุผลทางกฎหมาย และเชื่ออีกว่าหลังจากนี้กระแสสังคม กระแสของชาวบ้านคงจะวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องนี้กันพอสมควร

ตั้งแต่เกิดมา 60 ปี อาตมายังไม่เคยได้ยินใครกล้าแตะต้องศาลเท่ายุคนี้ อาจเป็นเพราะกฎหมายเปิดทางให้สามารถวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญได้จึงมีคนออกมา วิจารณ์กันมาก ถึงขนาดนายชวน หลีกภัย กรีดว่า “แปลก กล้าสอนตุลาการ” คงเป็นเพราะมีคนอึดอัดกับคดีนี้ เพราะคิดในมุมเดิมอยู่ตลอดว่า “ทำไมพวกนี้ทำอะไรก็ไม่ผิด พวกเราทำอะไรก็ผิด”

สมมุติว่าหลังจากนี้สักเดือนสองเดือนเกิดมีเหตุให้ศาลสั่งยุบพรรคเพื่อ ไทยและดองกรรมการบริหารพรรค 5 ปี เชื่อว่าหลายคนคงออกอาการบอกไม่ถูก และคงต้องมีคนอารมณ์ค้าง ปากกล้าออกมาวิจารณ์กระบวนยุติธรรมกันให้วุ่น ถึงแม้จะมีมูลความผิดจริงก็ตาม

ทุกวันนี้แม้แต่ญาติโยมที่มาทำบุญมักบ่นกันเรื่องการพิจารณาของศาลรัฐ ธรรมนูญ ดูแล้วเหมือนกับว่าเก็บอาการไม่อยู่ เพราะหลายครั้งพูดจาผรุสวาทออกมา มีการล่วงล้ำเกินไปจนถึงอะไรต่อมิอะไร

อาตมาฟังแล้วยังรู้สึกหนาวปนหวาดหวั่น เป็นห่วงว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไรต่อไป และพอได้ยินว่ารัฐบาลอาจพิจารณายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชาวบ้านคงไม่อยากจะเชื่อ ดูท่าว่าตอนนี้ความวุ่นวายกำลังคุกรุ่นและพร้อมจะลุกเป็นไฟได้ทุกเมื่อ เพราะอารมณ์ของคนที่สนับสนุนฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลดูจะแย่เอามากๆ เนื่องจากผิดหวังกับกระบวนการยุติธรรมที่พวกเขามองว่าถูกเอาเปรียบ

แม้ประเทศไทยเคยมีคดียุบพรรคเกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว แต่ทุกครั้งไม่เคยสร้างอารมณ์ให้กับคนในสังคมเท่ายุคนี้ ยิ่งคนไทยมีลักษณะนิสัยชอบเชียร์มวยรองบ่อน ฝ่ายไหนที่ถูกกระทำมากๆมักชอบเชียร์ สอดคล้องกับคำพูดของนักวิชาการท่านหนึ่งที่ออกมาพูดถึงอดีตนายกฯหลายๆท่าน ที่ต้องลงจากอำนาจเพราะถูกปฏิวัติมักหายหน้าหายตาไปเลย ยกเว้นคุณทักษิณมีข่าวอยู่ตลอด และหลายครั้งเป็นข่าวประเภทถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง จึงทำให้มีกระแสสังคมหันกลับมาสงสารคุณทักษิณ ทำให้คุณทักษิณเคลื่อนไหวได้เรื่อยๆ

เวลาอาตมาไปบิณฑบาตได้ยินชาวบ้านภาวนาขอให้คุณทักษิณกลับประเทศไวๆ ซึ่งแปลกดี แต่อาตมาคิดว่าถ้ากลับมาตอนนี้คงยุ่งกันใหญ่ เพราะพวกที่เกลียดยังมีอีกเยอะ แล้วอย่างนี้จะสามารถลงล็อก ลงตัว ร่วมมือร่วมใจกันได้อย่างไร

กรณีไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นสิ่งที่เข้าทางฝ่ายที่ไม่ชื่นชมรัฐบาล นำมาใช้โจมตีเรื่องมาตรฐานทางกฎหมายอยู่เรื่อยๆ อย่างนี้ไม่รู้ว่าเมื่อไรบ้านเมืองถึงจะมีความสุขกันเสียที เมื่อไรถึงจะกินนอนกันได้อย่างไม่ต้องหวาดผวา

ที่มา : โลกวันนี้ 10 ธันวาคม 2553

 


ปชป.ทำลายศาลรัฐธรรมนูญ-กกต.

นายคณิน บุญสุวรรณ อดีต ส.ส.ร. และนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่า ในเมื่อคุณรู้ว่าขาดอายุความแล้วไต่สวนต่อไปทำไมให้เสียเวลา ทำไมไม่รับเสียตั้งแต่ต้น ทำอย่างนี้เสียหายหมดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญยัน กกต. ถ้าอยากจะรับผิดชอบ กกต. ควรลาออกทั้งคณะ อ่านเหตุผลเต็มได้ดังนี้

มีตุลาการ 6 คนโมฆะหรือไม่

จริงๆแล้วองค์คณะมี 5 คน ฉะนั้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 6 คนไม่ถือว่าขัดต่อกฎหมาย แต่ที่น่าสงสัยคือทำไมมีตุลาการถอนตัวหลังจากไต่สวนคดีนี้มาเป็นเวลานาน โดยอ้างว่าไปฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่หมิ่นประมาทอะไรก็แล้วแต่ ไม่สมเหตุสมผล นอกจากนี้มีบางคนขอถอนตัวแต่ไม่ยอมให้ถอน มีอะไรหรือไม่ ซึ่งค่อนข้างพิกล ในจำนวนตุลาการทั้ง 6 คน ดูรายชื่อแล้วส่วนใหญ่เคยมีท่าทีค่อนข้างจะเป็นปรปักษ์กับกลุ่มการเมืองที่สืบเนื่องมาจากพรรคไทยรักไทย

ตุลาการคนหนึ่งเคยเป็นตุลาการในคณะตุลาการที่สั่งยุบพรรคไทยรักไทย และตุลาการอีกคนหนึ่งเคยเป็นผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม ซึ่งหลังปฏิวัติได้เข้ามาเป็นรัฐมนตรี เป็น ส.ส.ร. (สมาชิกสภาร่างรัญธรรมนูญ) เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และตัวเองก็เข้าไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตรงนี้ถือเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน ประเทศอื่นไม่ทำกัน แต่ประเทศนี้ทำกันหน้าตาเฉย และตลอดเวลาก็เป็นหนึ่งในการแสดงวาทะโจมตี วิพากษ์วิจารณ์การเมืองฝั่งตรงข้าม โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาโดยตลอด

นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของกระบวนวิธีในการพิจารณาที่ใช้เวลาค่อนข้างมาก และให้โอกาสพรรคการเมืองผู้ถูกร้องค่อนข้างมาก ถือว่าเป็นพรรคที่มีสิทธิพิเศษ แต่ประเด็นสำคัญคือศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลสูงสุด เป็นศาลเดียวที่มีคำวินิจฉัยที่เป็นที่สิ้นสุดเด็ดขาดและผูกพันทุกองค์กร ผูกพันแม้กระทั่งคำพิพากษาศาลฎีกา การที่ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาวินิจฉัยกรณีผู้ถูกร้องเป็นกลุ่มการเมืองฝ่ายตรง ข้าม คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) คือพรรคพลังประชาชน นายกรัฐมนตรี 2 คน คนแรกคือนายสมัคร สุนทรเวช ศาลรัฐธรรมนูญก็สร้างบรรทัดฐานว่าแค่เป็นลูกจ้างทำรายการทำกับข้าวโชว์ทาง โทรทัศน์ได้ค่าตอบแทน ถือเป็นลูกจ้างตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เพราะฉะนั้นคำวินิจฉัยตรงนั้นศาลรัฐธรรมนูญได้สร้างบรรทัดฐานแล้ว แต่การสร้างบรรทัดฐานครั้งนั้นถือเป็นการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ ประชาชน

บรรทัดฐานครั้งที่ 2 คือการสั่งยุบพรรคพลังประชาชนเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2551 ในขณะที่กลุ่มพันธมิตรฯยึดสนามบิน การยุบพรรคพลังประชาชนครั้งนั้นเปิดช่องให้พันธมิตรฯอ้างเหตุผลที่จะเลิก ชุมนุม เพราะเหมือนกับว่าบรรลุผลตามเป้าหมายแล้ว การยุบพรรคพลังประชาชนครั้งนั้นเป็นการสร้างบรรทัดฐานของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เพียงแค่ ส.ส. คนหนึ่งซึ่งเป็นถึงประธานสภาถูกกล่าวหาว่าซื้อเสียงโดยมีหลักฐาน และ กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ให้ใบแดงและโยงไปว่ากรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็น ดังนั้น จึงยุบพรรคพลังประชาชนและเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งทั้งหมด เท่ากับเป็นการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนครั้งที่ 2 แสดงว่าศาลรัฐธรรมนูญได้สร้างบรรทัดฐานไว้แล้ว

แต่พอถึงคราวที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องสร้างบรรทัดฐานกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ถูกร้องในข้อหานำเงิน 29 ล้านบาทของกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองของ กกต. ความจริงเงินนี้มาจากเงินงบประมาณแผ่นดิน มาจากภาษีของประชาชน ซึ่ง กกต. มีหน้าที่ปกป้องเงินกองทุนนี้ ในขณะเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่รักษาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและรักษา เจตนารมณ์ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่ระบุเอาไว้ชัดเจน ในมาตรา 93 พูดง่ายๆคือต้องช่วยกันดูแลปกป้องรักษาเงินของแผ่นดิน คือเงินภาษีของประชาชน

ตามความเป็นจริงเงื่อนไขที่ว่าผู้ร้องคือ กกต. ได้ยี่นคำร้องเกินกำหนดเวลา 15 วัน ซึ่งเป็นเหตุผลตั้งแต่ต้นที่ยื่นมา ถ้าคุณจะไม่รับก็ต้องไม่รับตั้งแต่ตอนนั้น แต่คุณปล่อยให้เขาดำเนินการไต่สวนและเกิดเรื่องกลายเป็นคลิปฉาวขึ้นมาว่ามี ตุลาการบางคนแอบพบปะกับกรรมการบริหารพรรค ซึ่งเป็นทีมกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ในคดียุบพรรค แต่พอถึงเวลาแล้วถือว่า กกต. ทำหน้าที่โดยสมบูรณ์

ในขณะเดียวกันเมื่อเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณามี 5 ประเด็น ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือศาลรัฐธรรมนูญต้องชี้และวางบรรทัดฐานไว้ว่าการนำ เงินจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองที่อยู่ในความดูแลของ กกต. และเป็นเงินของประชาชนไปใช้จ่ายผิดวัตถุประสงค์ และยังมีหลักฐานจากการไต่สวนว่ามีการทำนิติกรรมอำพราง สิ่งเหล่านี้เป็นความชั่วร้าย เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นความผิดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ แล้วความผิดขนาดนี้สมควรให้มีการเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของกรรมการบริหาร พรรคและหัวหน้าพรรคหรือไม่ แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับไม่ให้ความสำคัญในประเด็นนี้เลย ทั้งๆที่เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เช่นนั้นจะมีศาลรัฐธรรมนูญเอาไว้ทำไม

ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ศาลแขวง หรือศาลอาญา หรือศาลจังหวัด ที่สามารถเอาประเด็นเรื่องอายุความมาหักล้าง แต่นั่นมีถึง 3 ศาล ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลเดี่ยว หากมีคำวินิจฉัยก็เป็นที่สิ้นสุดเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญกับคำร้องที่ยื่นมาขาดอายุความหรือไม่ เกินกว่าเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมายหรือไม่ แต่คุณไม่สนใจเลย แสดงว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ทำหน้าที่ในฐานะผู้ปกป้องเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปกป้องเจตนารมณ์ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่สำคัญที่สุดคือคุณต้องปกป้องทรัพย์สินของประชาชนที่อยู่ในรูปของกองทุน

ขนาด กกต. ซึ่งเป็นองค์กรเบื้องต้นในการดูแลทรัพย์สินของประชาชน ในส่วนนี้เขาลงความเห็นมาแล้ว ผ่านคณะกรรมการการเลือกตั้งมาแล้ว ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะนายทะเบียนก็ดำเนินการตามมติของคณะ กรรมการการเลือกตั้ง โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเลือกตั้ง ยื่นคำร้องไปที่อัยการสูงสุดๆก็เห็นพ้องด้วย แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับชี้ว่ายื่นเกินกำหนดระยะเวลา ดังนั้น ถือว่าคำร้องตกไป แล้วทำไมไม่ตกไปเฉพาะตรงนั้น ทำไมต้องตกไปทั้งหมด แสดงว่าไม่ยอมวินิจฉัยเลย เหมือนกับนักมวย 2 คนขึ้นเวทีเขาตั้งหน้าตั้งตาจะชก แต่เขายังไม่เริ่มชกเลยคุณไปยกมืออีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าคุณชนะฟาวล์ เพราะอีกฝ่ายสวมนวมไม่ถูกต้องตามหลัก ก็ตลกดี

แต่ที่บอกว่าต้องทำเป็นบรรทัดฐานคือ ต่อจากนี้ไปพรรคการเมืองใดเอาเงินกองทุนไปใช้ผิดวัตถุประสงค์จะถูกยุบหรือ ไม่ถูกยุบ กรรมการบริหารพรรคจะถูกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ชี้ เมื่อไม่ชี้ต่อไปพรรคการเมืองใดก็แล้วแต่ โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่มีอิทธิพลรัฐอยู่ในมือ ถ้าจะเอาเงิน กกต. ไปใช้สัก 100 ล้านบาทแล้วล็อบบี้หรือเจรจากับคนใน กกต.บางคนว่าดึงๆเรื่องไว้นะ แม้จะมีคนร้องมาก็แล้วแต่ เขาอาจจะบอกว่าดึงเรื่องไว้หน่อยนะ ให้เรื่องหมดอายุความเสียก่อนแล้วค่อยร้องไป ถ้าเป็นอย่างนี้ก็พินาศหมด ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง กกต. ต้องยกเลิกไป ไม่ต้องมีแล้วประเทศนี้ กกต.แบบนี้ ทั้งขึ้นทั้งล่องเลย

เป็นไปได้หรือที่จะพลาดเรื่องเกินอายุความ

เรื่องนี้ยากที่จะอธิบาย สมมุติตัวอย่างเทียบเคียงนักมวย 2 คนขึ้นเวทีพร้อมกัน ทุกคนต้องพันผ้าสวมนวม แล้วเชือกรองเท้าไม่ผูก อย่างนี้เป็นไปได้หรือไม่ที่กรรมการจะไม่เห็น ถ้ากรรมการเห็นจะต้องท้วงติงกันตั้งแต่ตอนนั้น ยืดเวลาออกไปสักนิดก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย ดังนั้น เป็นไปไม่ได้ที่ กกต. คณะนี้จะไม่รู้ว่าถ้ายื่นคำร้องไปแล้วจะหมดอายุความ การตัดสินครั้งนี้ออกมาพังหมด ศาลรัฐธรรมนูญพังอยู่แล้ว กกต. ยิ่งพังหนักเข้าไปใหญ่ ทางออกของ กกต. ทางเดียวขณะนี้จะกล้าหรือเปล่า ถ้ากล้าก็ลาออกทั้งคณะ มีทางเดียวเท่านั้น

เพราะฉะนั้น กกต. ต้องตัดสินใจ ต้องสู้กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นั่นคือต้องกลับไปทบทวนและยื่นคำร้องใหม่ ต้องโต้แย้งศาลรัฐธรรมนูญว่าตรงนี้ไม่ใช่เนื้อหา ถ้าเป็นเนื้อหาในคดีแล้วอาจเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัย หักลบกลบหนี้กันแล้ว ไต่สวนกันทั้ง 2 ฝ่ายแล้วเห็นว่าไม่ควรยุบพรรค หรือควรยุบพรรคก็ว่าไป และคำวินิจฉัยตรงนั้นเป็นที่สิ้นสุดเด็ดขาด ทุกคนต้องยอมรับ แต่จะเป็นเมื่อไร วันไหน สามารถมองต่างกันได้ ศาลรัฐธรรมนูญมองเห็นอย่างนี้ แต่ศาลอื่นอาจมองผิดก็ได้ ต้องมีคนมาตัดสิน

ใครจะมาเป็นผู้ตัดสิน

ต้องมีคณะกรรมการจากฝ่ายตุลาการมาตัดสินว่าเรื่องเงื่อนระยะเวลาของใคร ผิดของใครถูก ไม่ใช่ปล่อยแค่นี้ เพราะ กกต. ไม่ใช่ผู้เสียหาย ดีไม่ดี กกต. อาจเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิด เพราะผู้เสียหายคือประชาชน ผู้เสียหายคือกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง ผู้เสียหายคือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ผู้เสียหายคือเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการ เมือง ที่สำคัญที่สุดผู้เสียหายคือเจ้าของงบประมาณแผ่นดิน กกต. เป็นผู้เสียหายจะทำเฉยๆ หรือใครจะด่าว่าอย่างไรก็เฉยๆ เดี๋ยวก็หยุดเอง ถ้าคิดอย่างนี้ กกต. ทั้งคณะต้องลาออก ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น แล้วให้ กกต. ชุดใหม่มาดำเนินการ

เรื่องนี้ไม่ใช่แค่หมดอายุความและเป็นที่สิ้นสุดเด็ดขาด ผมยืนยันว่าการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ในเรื่องอายุความเป็นที่ สิ้นสุดเด็ดขาดไม่ได้ เพราะว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เนื้อหาแห่งคดี การถือเอาอายุความเป็นสิ้นสุดเด็ดขาดศาลรัฐธรรมนูญต้องยกคำร้องตั้งแต่ต้น ไม่ปล่อยมายาวขนาดนี้ นี่เสียหายไปหมดทั้งบ้านทั้งเมือง ตัวศาลรัฐธรรมนูญก็เสียหาย ศาลรัฐธรรมนูญต้องลาออก

ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ประธานศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็น 1 ใน 2 ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยที่วินิจฉัยว่าพรรคมีความผิด ก็ต้องดูว่าคนระดับที่เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญเอาเนื้อหาของคดีนี้มา วินิจฉัยเพื่อให้เกิดบรรทัดฐานว่าทำอย่างนี้ผิดหรือไม่ ทำได้หรือไม่ได้ กรรมการบริหารต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ แต่อีก 4 คนไม่เอาเรื่องนี้มาพิจารณาเลย และกลายเป็นว่าไปยึดถือตามเสียง 4 คน ถามว่าถูกต้องหรือไม่

ผมยังยืนยันว่าไม่ถูกต้องแน่นอน เพราะฉะนั้นอย่ามาอ้างว่าสิ้นสุดเด็ดขาด และทุกคนต้องเคารพศาล แต่เวลาเดียวกันถามว่าทุกคนมีสิทธิที่จะปกป้องเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือ ไม่ ทุกคนมีสิทธิที่จะปกป้องเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองที่มาจากภาษีอากรของ ประชาชนหรือไม่ ทีเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดินเลยคุณยังเห็นว่าเป็นเรื่องคอขาดบาด ตายถึงขนาดต้องให้พ้นจากตำแหน่ง และให้ล้มรัฐบาลไปเลย ทำไมแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว ทีอย่างนี้เป็นเรื่องงบประมาณแผ่นดิน เป็นเรื่องภาษีอากรของประชาชน และเป็นเรื่องของหลักการประชาธิปไตยที่ต้องการเสริมสร้างระบบพรรคการเมือง ให้เข้มแข็ง ซื่อสัตย์สุจริต และเป็นประชาธิปไตย

ก่อนหน้านี้ก็หมดอายุความแต่ถูกยุบ

ต้องไปดูว่ามีหรือไม่กรณีอย่างนี้ ถ้ามีกรณีอย่างนี้ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องตอบอีกว่ายึดอะไร ก็อย่างที่บอกนับจากวันไหนมองต่างมุมกันได้ ถ้าจะบอกว่าเป็นเรื่องภายในของ กกต. คุณต้องรู้เองว่าวันไหน อย่างนี้ไม่ได้ พูดแบบกำปั้นทุบดินเกินไป ไม่เหมาะที่จะมาเป็นบรรทัดฐานกัน เวลานี้เสียหายหมดในวงการตุลาการ วงการกระบวนการยุติธรรม วงการศาล วงการสอนวิชานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ต่างงงงันกันทั้งประเทศ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่ต้องมี กกต. ไม่ต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ ลาออกทั้งหมดทั้งคณะ เขาจะได้เอาไปทำอย่างอื่น อย่างน้อยที่สุดเงินจำนวนมากมายมหาศาลอย่างนี้ถ้าเฉลี่ยให้ประชาชนไป อย่างเช่นไปช่วยเหลือน้ำท่วมยังดีกว่า ทำกันอย่างนี้ป่นปี้หมด และอย่ามาอ้างว่าต้องเคารพคำสั่งศาล อะไรต่างๆก็เห็นกันชัดๆ

หากไม่ยุบ ปชป. โอกาสจัดระเบียบประเทศจะมีมากกว่า

การที่บอกว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่สั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์จะด้วยเหตุผลอะไรก็ แล้วแต่ แล้วบอกว่านี่เป็นการจัดระบบประเทศใหม่ นี่ไม่ใช่การจัดระบบประเทศ แต่เป็นการจัดระบบอำนาจมากกว่า ดังนั้น เมื่อเป็นอย่างนี้แสดงว่าทั้งหมดคุณยังเห็นว่าต้องการให้บรรยากาศของรัฐ ประหาร19 กันยายนสืบเนื่องไปเรื่อยๆจนกว่าคุณจะสำเร็จตามความประสงค์ จะเป็นบันได 4 ขั้น 5-6 ขั้นอะไรก็แล้วแต่ จนกระทั่งสำเร็จในขั้นสุดท้าย ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าอะไรกว่าที่บันไดกี่ขั้นของคุณจะประสบความสำเร็จ เมื่อถึงเวลานั้นบ้านเมืองจะล่มสลายหมดแล้วก็ไม่รู้ ไม่ทราบว่าพวกคุณคิดอะไรกันอยู่ เรื่องนี้ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ว่าจะกองทัพก็ดี ใครก็ตามที่หนุนหลังรัฐบาลนี้อยู่ต้องร่วมกันรับผิดชอบ

ศาลรัฐธรรมนูญยังจำเป็นต่อการเมืองไทยหรือไม่

สมัยที่เรามีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เราพึ่งพาตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะว่าตุลาการรัฐธรรมนูญสมัยนั้นคนที่เป็นประธานมักจะเป็นประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นนักการเมือง เพราะฉะนั้นเมื่อถึงเวลาจะเอาเรื่องกฎหมายเข้าไปขอคำวินิจฉัยว่าขัดรัฐ ธรรมนูญหรือไม่จึงพึ่งพาไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ ส.ส.ร.ปี 40 จึงคิดว่าน่าจะให้ศาลรัฐธรรมนูญมาทำหน้าที่นี้ แต่พอมีขึ้นมาแล้วเลยเถิดไปถึงขนาดตัดสินล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญปี 50 ต้องดูที่มาว่ามาจากประชาชนหรือไม่ ซึ่งไม่ได้มาจากประชาชนเลย ส่วนใหญ่มาจากศาล

อันที่สองต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาหรือไม่ อันที่สามต้องรับผิดชอบต่อประชาชนหรือไม่ แต่คุณกลับให้มีอำนาจควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เท่ากับว่าภายใต้รัฐธรรมนูญปี 50 ตามกฎกติกาที่เขียนเอาไว้ ก็เลยไปทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นลูกไก่ในกำมือของฝ่ายตุลาการ และองค์กรอิสระที่เป็นอำนาจที่ 4 ไม่ได้รับผิดชอบต่อประชาชนแม้แต่นิดเดียว บ้านเมืองไปไม่รอดแบบนี้ โครงสร้างทางอำนาจย่อยยับหมดแล้ว บิดเบี้ยวหมดแล้ว และยังมีกองทัพฮึ่มๆอยู่ตลอดเวลา

ขณะเดียวกันก็มีนายทุน นักธุรกิจ ชอบอกชอบใจเหลือเกินบอกว่าสนุกสนาน ศาลรัฐธรรมนูญไม่สั่งยุบพรรค ถ้าเป็นต่างประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเขาหวั่นไหว ตลาดทุนพังพินาศหมดแล้ว มีอย่างที่ไหนศาลรัฐธรรมนูญไม่ชี้ความผิดว่าผิดหรือไม่ แต่ชี้ออกมาว่าไม่ต้องยุบพรรคหรอก เพราะยื่นคำร้องมาเกินกว่าอายุความ ปรากฏว่านักธุรกิจพออกพอใจ นี่คือสัญญาณร้ายของประเทศ เพราะเท่ากับว่ามีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นคนกลุ่มเล็กๆได้ประโยชน์จากการเมือง ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

ปชป. ขอให้จำหน่ายคดีเงิน 258 ล้าน

จะขอก็ขอได้ แต่ไม่มีทางเหมือนกับคดีเงิน 29 ล้านบาท คดีเงิน 258 ล้านบาทเป็นเรื่องคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับคนในพรรคประชาธิปัตย์ ระดับกรรมการบริหารพรรค และโยงใยไปเรื่องของการทุจริตในบริษัทซึ่งอยู่ในตลาด นั่นเป็นเงินมหาชนไม่ใช่เงินส่วนตัว และคดีนี้เป็นเรื่องของการใช้จ่ายเงินบริจาค มีกฎหมายอะไรต่างๆซึ่งต่างกันลิบลับกับคดี 29 ล้านบาท เพราะฉะนั้นจะมาถือโอกาสขอจำหน่ายคดีเพราะเป็นเรื่องหมดอายุความนั้นไม่ได้

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 288 วันที่ 4-10 ธันวาคม พ.ศ. 2553 หน้า 18
คอลัมน์ : ฟังจากปาก
โดย : ถนอมศรี จันทร์ทอง

 


คดีปชป.ขาดอายุความจริงหรือ?

หมายเหตุ :
นายวิชัย ตันติกุลานันท์ นักกฎหมายอิสระ อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขียนบทความทางวิชาการ เกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จากการใช้เงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง จำนวน 29 ล้าน ไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ ด้วยเหตุผลนายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่ได้เสนอความเห็นให้ยุบ และคดีขาดอายุความ ไว้ดังนี้

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2553 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยด้วยมติเสียงข้างมาก 4 ต่อ 2 ให้ยกคำร้องของนายทะเบียนฯ ที่ขอให้ยุบพรรค ปชป. โดยอ้างเหตุยกคำร้องตามมาตรา 93 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรค การเมือง พ.ศ.2550

มติตุลาการ ศาลฯ ข้างมาก 4 เสียง มีความเห็นในผลตรงกันให้ยกคำร้องแต่เหตุที่ให้ยกคำร้องนั้นให้เหตุผลต่างกัน แบ่งเป็น 2 ฝ่าย ด้วยมติ 3 ต่อ 1 ดังนี้

มติ 3 เสียง ให้เหตุผลว่า เนื่องจากเมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2553 นายทะเบียนฯ ยังไม่ได้เสนอขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยื่นคำร้องหรือคำฟ้องต่อศาลฯ สั่งยุบพรรคปชป. คำร้องขอให้ยุบพรรคดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 93 วรรคสอง ให้ยกคำร้อง

มติ 1 เสียง ให้ยกคำร้องโดยเหตุผลว่า เพราะเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2552 นายทะเบียนฯ เสนอความเห็นและได้รับความเห็นชอบจากกกต. ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฯ สั่งยุบพรรค ปชป. แล้ว แต่เพิ่งมายื่นคำร้องต่อศาลฯ เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2553 จึงล่วงเลยเกินกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ 17 ธ.ค. 2553 คดีจึงขาดอายุความ 15 วัน ตามมาตรา 93 วรรคสอง จึงให้ยกคำร้อง

มาตรา 93 วรรคสอง “เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนฯ ว่าพรรค การเมืองใดมีเหตุตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนฯ โดยความเห็นชอบของกกต. ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรม นูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียนฯ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นกับพรรคการ เมืองตามคำร้องของนายทะเบียนฯ ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรค การเมืองนั้น”

1. การยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่ง ยุบพรรคการเมืองเป็นอำนาจเฉพาะตัวของนายทะเบียนฯ ซึ่งตาม กฎหมายให้ประธาน กกต. ดำรง ตำแหน่งนายทะเบียนฯ ด้วย

2. นายทะเบียนฯ ต้องได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ก่อนจึงจะยื่นคำร้องนั้นได้

ประเด็นปัญหาข้อกฎหมายมีว่า นายทะเบียนฯ ต้องยื่นคำร้องนั้นต่อศาลภายในกำหนดเวลาใด ศาลรัฐธรรมนูญ 1 เสียง วินิจฉัยข้อกฎหมายว่า นายทะเบียนฯ จะต้องยื่นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ตามมาตรา 93 วรรคสอง และวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่านายทะเบียนฯ ได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค. 2552 แต่ยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2553 คดีจึงขาดอายุความ 15 วัน แล้ว

ข้อสังเกต ตามมาตรา 93 วรรคสอง ไม่มีข้อความใดพอที่จะตีความหรือแปลได้ว่า ให้นายทะเบียนฯ ยื่นคำร้องนั้นต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบจาก กกต.

แต่มีข้อความว่า …ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียนฯ ไม่ใช่นับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ดังนั้น ที่ศาล 1 เสียง วินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความ 15 วัน นับแต่วันที่นายทะเบียนฯ ได้รับความเห็นชอบจาก กกต. จึงน่าจะไม่สอดคล้องกับบทกฎหมายดังกล่าว ตามกฎหมายเมื่อนายทะเบียนฯ ซึ่งเป็นประธาน กกต. ตรวจพบว่าพรรคการ เมืองใดกระทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง นายทะเบียนฯ ยังไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ยุบพรรคนั้นๆ ต้องเสนอขอความเห็นชอบจาก กกต. เสียก่อน

จึงมีปัญหาข้อกฎหมายที่ควรจะพิจารณาว่านายทะเบียนฯ จะต้องเสนอขอความเห็นชอบจาก กกต. ภายในกี่วันนับแต่วันที่ทราบว่ามีการกระทำความผิดกฎหมายพรรคการเมืองเกิดขึ้น

เป็นที่น่าเสียดายที่ศาลไม่ได้วินิจฉัยประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย ที่สำคัญดังกล่าว

ตามมาตรา 93 วรรคสอง กล่าวขึ้นต้นด้วยข้อความว่า …เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนฯ ว่าพรรคการเมืองใดมีเหตุตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า มีการกระทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง ข้อความดังกล่าวสอดรับกับข้อความต่อมาว่า ..ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียนฯ…

เมื่อพิจารณาข้อความทั้งสองโดยรอบคอบแล้ว ก็น่าจะเข้าใจได้ว่า กฎหมายมีเจตนารมณ์ต้องการให้นายทะเบียนซึ่งพบว่าพรรคการเมืองใดกระทำผิด กฎหมายพรรคการเมือง ให้เสนอข้อความเห็นชอบจาก กกต. ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียนฯ

ดังนั้นข้อความ …ภายในสิบห้าวัน… จึงควรจะหมายถึง กำหนดเวลาให้นายทะเบียนฯ ต้องปฏิบัติเมื่อตรวจพบว่าพรรคการเมืองใดกระทำผิดกฎหมายพรรคการเมืองแล้ว ต้องรีบเสนอขอความเห็นชอบจาก กกต. ภายในกำหนด 15 วัน

ที่ศาล 1 เสียง วินิจฉัยว่ากำหนด 15 วัน ดังกล่าว เป็นอายุความให้นายทะเบียนฯ ยื่นคำร้องต่อศาลนั้น ด้วยความเคารพต่อคำวินิจฉัยดังกล่าว เห็นว่ากำหนดเวลาดังกล่าวน่าจะไม่ใช่เรื่องอายุความด้วยเหตุผลดังนี้

1. อายุความนั้นต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ทั้งนี้ ตามหลักประมวลกฎหมายแพ่งและมาตรา 193/12 ซึ่งบัญญัติว่า …อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป… หรือให้เริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น ไม่ใช่นับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบจาก กกต. หากตีความ เช่นนั้น ถ้าอีก 100 ปี กกต. จึงให้ความเห็นชอบอายุความก็จะยาวนานถึง 100 ปี กับ 15 วัน ซึ่งไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นเลย

2. กำหนดเวลา 15 วันดังกล่าว ไม่ใช่กำหนดเวลาให้ยื่นคำร้องหรือคำฟ้องต่อศาล เพราะไม่ใช่การใช้สิทธิอุทธรณ์/ฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น หรือศาลอุทธรณ์ซึ่งจะต้องยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ได้ฟังคำพิพากษานั้น และไม่ใช่กรณียื่นฟ้องคดีต่อศาลเพราะเหตุที่มีการโต้แย้งคำสั่งหรือคำ วินิจฉัยของเจ้าพนักงาน เช่น โต้แย้งคำสั่งของคณะกรรมการวินิจฉัยเกี่ยวกับภาษีอากรหรือกำหนดค่าเวนคืน

ตามพระราชบัญญัติพรรคการเมืองมิได้กำหนดอายุความไว้ว่าให้นายทะเบียนฯ ยื่นคำร้องขอภายในกำหนดเวลาใด จึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/9 ซึ่งบัญญัติใจความสำคัญว่า “ถ้ามิได้ใช้สิทธิฟ้องร้องบังคับคดีภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดก็เป็นอัน ขาดอายุความ” และตามมาตรา 193/30 กำหนดว่าถ้าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นให้ถือ ว่าคดีมีอายุความ 10 ปี

3. หากถือว่า 15 วัน เป็นกำหนดอายุความฟ้องร้องคดี ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าฝ่ายผู้ถูกร้องได้ยกเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้หรือไม่ หากไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องคดีไม่ได้ ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/29 ซึ่งต่างกับกรณีพนักงานสอบสวนมิได้ผัดฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวง ภายในกำหนดเวลา 48 ชั่วโมงนับแต่เวลาที่จับผู้ต้องหา กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่าห้ามมิให้ฟ้องคดีนั้นเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก อัยการสูงสุด ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวง และวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาตรา 9

กำหนดเวลาให้นายทะเบียน ยื่นคำร้องภายใน 15 วันดังกล่าว จึงน่าจะเป็นเพียงเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อต้องการให้นายทะเบียนฯ เร่งรัดดำเนินคดีกับพรรคการเมืองนั้นโดยเร็ว ซึ่งหากนายทะเบียนฯ ไม่ปฏิบัติตามบทดังกล่าวก็อาจจะถือว่าบกพร่องต่อหน้าที่ แต่ไม่น่าจะหมายถึงว่าห้ามมิให้ฟ้องร้องดำเนินคดีดังกล่าว ซึ่งกฎหมายในลักษณะดังกล่าวมีหลายมาตรา เช่น กรณีคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาซึ่งพนักงานสอบสวนจะต้องยื่นคำร้องขอ ฝากขังผู้ต้องหาภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด หากยื่นเกินกำหนดก็ไม่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาได้แต่ก็ยังยื่นฟ้องคดีนั้น ได้ภายใต้อายุความที่กฎหมายกำหนดไว้

สำหรับมติของศาลอีก 3 เสียง ที่ให้ยกคำร้องโดยวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า นายทะเบียนฯ ยังมิได้เสนอขอความเห็นชอบจาก กกต. จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรค ปชป. นั้น

มีข้อสังเกตคือ กฎหมายกำหนดให้นายทะเบียนฯ เป็นประธาน กกต. ด้วย ซึ่งเป็นคนเดียวกัน การประชุมของ กกต. ซึ่งมีนายทะเบียนเป็นประธาน กกต. อยู่ด้วย จะถือว่านายทะเบียนฯ ได้เข้าร่วมประชุมหรือไม่ จะถือว่านายทะเบียนฯ ได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ให้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ยุบพรรค การเมืองแล้วหรือไม่

ข้อวินิจฉัย ดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงซึ่งจะมีผลในข้อกฎหมายตามมา คือ หากนายทะเบียนฯ ดำเนินการเริ่มต้นใหม่โดยขอความเห็นชอบจาก กกต. แล้วจะมีอำนาจยื่นคำร้องใหม่ขอให้ศาลสั่งยุบพรรค ปชป. ได้หรือไม่ ซึ่งในทางกฎหมายเรียกว่า “จะเป็นการฟ้องซ้ำหรือไม่”

เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาล 3 เสียง ดังกล่าว มิได้ชี้ขาดข้อเท็จจริงว่า พรรค ปชป. กระทำผิดกฎหมายพรรคการ เมืองหรือไม่ ซึ่งเป็นเนื้อหาสาระสำคัญแห่งคดี การวินิจฉัยว่านายทะเบียนฯยังไม่ได้เสนอขอความเห็นชอบจาก กกต. ก็เสมือนหนึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญาโดยที่พนักงานสอบสวนยังไม่มีการ สอบสวนหรือสั่งฟ้อง ศาลจึงยก ฟ้อง ผลแห่งคำพิพากษาดังกล่าว คือ พนักงานสอบสวนสามารถดำเนินการสอบสวนใหม่ และมีคำสั่งฟ้องแล้วเสนอให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องภายในกำหนดอายุความเดิมได้ ไม่เป็นการฟ้องซ้ำ

ปัญหาดังกล่าวจะต้องรอฟังผลคำพิพากษาหรือคำ วินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งถือว่าเป็นคำวินิจฉัยส่วนกลาง หากมีข้อวินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความแล้ว นายทะเบียนฯก็ไม่สามารถ ยื่นคำร้องใหม่เพราะจะเป็นการฟ้องซ้ำตามหลักกฎหมายทั่วไป

จากคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐ ธรรมนูญครั้งนี้ทำให้เกิดข้อกังขาและข้อโต้แย้งวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะนักกฎหมายอย่างกว้างขวาง เป็นอุทาหรณ์ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีอำนาจวินิจฉัยหรือพิพากษาคดีความ ตามกฎหมาย แต่ก็ต้องวินิจฉัย ด้วยเหตุด้วยผลและตีความตามตัวบทกฎหมายอย่างรอบคอบที่สุด

ข้อเสนอแนะคือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญควรว่าจ้างเลขานุการหรือที่ปรึกษาซึ่งเป็นนักกฎหมายที่ มีความรู้ความชำนาญจริงๆ เช่น อดีตผู้พิพากษาศาลยุติธรรมที่มีประสบการณ์ในการวินิจฉัยคดีมายาวนานซึ่งเป็น ผู้ทรงคุณวุฒิและคุณค่าสมควรให้มาช่วยเหลือในการทำคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีความ ต่างๆ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างยิ่ง

สำหรับ กกต.นั้น ควรจะรีบออกประกาศกำหนดขั้นตอนวิธีการและกำหนดเวลาเกี่ยวกับนายทะเบียนฯ ซึ่งจะต้องเสนอขอความเห็นชอบจาก กกต. และกำหนดเวลาในการยื่นคำร้องขอให้ศาลยุบพรรคการเมือง ซึ่งประธาน กกต. มีอำนาจออกประกาศดังกล่าวได้ตามความในมาตรา 5 แห่งพ.ร.บ.พรรคการเมืองอยู่แล้ว

เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติมิให้เกิดข้อขัดข้องหรือผิดพลาดในภายหน้าอีก

ที่มา : ข่าวสดรายวัน 8 ธันวาคม 2553
คอลันม๊ : รายงานพิเศษ

 


ความโชคดีซ้ำซากของพรรคประชาธิปัตย์

เมื่อตอนเช้าวันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์เพื่อให้คู่กรณีแถลงปิดคดีด้วยวาจา ในกรณีที่นายทะเบียนพรรคการเมือง ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคประชาธิปัตย์ จากกรณีการใช้เงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองจำนวน 29 ล้านบาท ผิดวัตถุประสงค์ จากนั้นในตอนบ่ายสองโมง ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดฟังคำวินิจฉัยเรื่องดังกล่าว โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 4 ต่อ 2 ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากกระบวนการยื่นขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ในขณะที่เขียนบทบรรณาธิการนี้ ผมยังไม่เห็นคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการของศาลรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคน จึงยังไม่ขอให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าว แต่ผมเข้าใจว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง เนื่องมาจากคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้อง ขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์เกินระยะเวลาที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรค การเมืองกำหนด กล่าวคือ เกิดการนับวันไม่ตรงกันระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้งกับศาลรัฐธรรมนูญ โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งนับวันที่ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ฟ้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2553

และต่อมา ประธานกรรมการการเลือกตั้งก็ได้ยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2553 ซึ่งก็อยู่ภายใน 15 วัน ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญกลับถือเอาวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นวันที่ประธานกรรมการการเลือกตั้งเสนอเรื่องให้ที่ประชุมพิจารณา ดังนั้น เมื่อประธานกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2553 จึงล่วงพ้นระยะเวลา 15 วัน ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองไปแล้ว

แม้จะยังไม่ได้เห็นคำวินิจฉัยฉบับจริง แต่เมื่อได้ฟังคำวินิจฉัยและรับทราบผลคำวินิจฉัยในเรื่องการยุบพรรคประชาธิปัตย์  ในเบื้องต้น ผมมีข้อสังเกตบางอย่างเกี่ยวกับ 2 องค์กรคือ ศาลรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการการเลือกตั้งที่คงต้องนำมากล่าวถึงไว้ ณ ที่นี้ก่อน เมื่อได้อ่านคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตัวแล้ว หากมีประเด็นน่าสนใจ ก็จะได้ย้อนกลับมาพูดคุยกันอีกครั้งหนึ่งครับ

องค์กรแรกที่อยากจะกล่าวถึงก็คือศาลรัฐธรรมนูญ มีหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญที่อยากจะพูดถึง คงต้องเริ่มจากก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ มีข่าวไม่ดีไม่งามออกมามากมายที่ทำให้เกิดมุมมองในเชิงลบกับศาลรัฐธรรมนูญ และกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคน ข่าวไม่ดีไม่งามดังกล่าวมีผู้ให้ความเห็นสรุปได้เป็นสองแนวทาง แนวทางแรกคือ มี “ขบวนการ” จ้องทำลายความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญ กับแนวทางที่สองคือ ศาลรัฐธรรมนูญเองที่ทำให้องค์กรของตัวเองไม่น่าเชื่อถือ

เรื่องดังกล่าวจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีผู้ใดออกมาชี้แจงให้กระจ่าง ว่าในที่สุดแล้ว ปัญหาเกิดจากใคร และความรับผิดชอบควรตกอยู่แก่ผู้ใด แต่ในช่วงเวลาเดียวกันก็กลับมีการให้ข่าวออกมาว่า เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อกดดันศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ เพราะฉะนั้น ในปัจจุบัน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยคดียุบพรรคประชาธิปัตย์เสร็จเรียบร้อยไปแล้ว ก็ชอบที่ผู้เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวจะออกมาชี้แจงหรืออธิบายข้อเท็จจริง ที่เกิดขึ้นให้แก่สังคมทราบต่อไปว่า สรุปแล้วเกิดอะไรขึ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญครับ

เรื่องต่อมาที่ผมมีข้อสังเกตก็คือ เรื่องผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ยกคำร้องกรณียุบพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากมีการยื่นคำร้องเกินระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น ผมได้ลองตรวจสอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ดูแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีข้อใดเลยที่กล่าวถึงการตรวจสอบเรื่อง “อายุความในการร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญ”

แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีระเบียบหรือหลักเกณฑ์อื่นใด ที่กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวไว้หรือไม่ ซึ่งเมื่อเทียบเรื่องดังกล่าวกับวิธีพิจารณาคดีของศาลปกครองแล้ว ก็จะพบว่าทั้งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กับระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องมีการตรวจสอบคำฟ้องในเบื้องต้นก่อนที่จะรับไว้พิจารณา

นอกจากนี้ จากการสอบถามเรื่องดังกล่าวกับพนักงานคดีปกครองทำให้ได้ข้อมูลว่า การตรวจสอบเรื่อง “อายุความ” หรือ “ระยะเวลาในการฟ้องคดี” จะทำกันอย่างจริงจังและหลายขั้นตอน แม้กระทั่งเมื่อตุลาการหัวหน้าคณะจ่ายสำนวนคดีให้กับตุลาการเจ้าของสำนวน แล้ว ตุลาการเจ้าของสำนวนก็จะต้องตรวจสอบความสมบูรณ์ของคำฟ้องก่อนที่จะรับหรือ ไม่รับคำฟ้องนั้นไว้พิจารณา ดังนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญไม่มีกระบวนการดังกล่าว ก็ชอบที่จะพิจารณาปรับปรุงข้อกำหนดของตัวเองเสียใหม่เพื่อให้การพิจารณา วินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นของคำร้องเกิดประโยชน์ มากกว่าพิจารณากันไปตั้งชาติหนึ่งแล้วค่อยมาบอกว่ายื่นคำร้องเกินระยะเวลา ครับ !!!

นอกจากนี้ ในข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ยังได้ มีการแต่งตั้ง “ตุลาการประจำคดี” คล้าย ๆ กับ “ตุลาการเจ้าของสำนวน” ของศาลปกครองด้วย แต่จำนวนอาจแตกต่างกันเพราะของศาลรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในข้อกำหนดฯ ข้อ 25 ว่าให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญแต่งตั้งตุลาการไม่น้อยกว่า 3 คนเป็นตุลาการประจำคดี แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่ 2 กรณีซึ่งก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องการยุบพรรคประชาธิปัตย์ และก็มีข้อยกเว้นซ้อนเข้าไปอีกว่า “หรือในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ประธานศาลรัฐธรรมนูญอาจไม่แต่งตั้งตุลาการประจำคดีก็ได้” ซึ่งข้อยกเว้นหลังนี้ก็ไม่เข้าเกณฑ์กรณียุบพรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน

คำถามของผมคือ ใครเป็นตุลาการประจำคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ และตุลาการประจำคดีได้ทำหน้าที่ของตนในการตรวจสอบว่าการยื่นฟ้องกรณีดัง กล่าวเกินระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่ อย่างไร ครับ เพราะหากพิจารณาข้อกำหนดฯ ข้อ 29 ก็กล่าวไว้ชัดเจนพอสมควรว่า

“เมื่อศาลหรือตุลาการ ประจำคดี แล้วแต่กรณี มีคำสั่งรับคำร้องที่มีคู่กรณีไว้พิจารณาวินิจฉัย ให้ส่งสำเนาคำร้องแก่ผู้ถูกร้อง หรือมีคำสั่งแจ้งผู้ถูกร้องมารับสำเนาคำร้องภายในระยกเวลาที่ศาลกำหนด

เมื่อผู้ถูกร้องได้รับสำเนาคำร้อง ให้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายในสิบห้าวันนับแต่วันรับสำเนาคำร้อง หรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด

กรณีผู้ถูกร้องไม่ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายในสิบห้าวัน นับแต่วันรับสำเนาคำร้อง หรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด หรือไม่มารับสำเนาคำร้องภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป”

ผมสงสัยจริงๆ นะครับว่าใครเป็นตุลาการประจำคดีในเรื่องนี้ แล้วทำไมตุลาการประจำคดีถึงได้ไม่หยิบยกเรื่องยื่นคำร้องเกินระยะเวลาที่กำหนด มาพิจารณาตั้งแต่ต้น ปล่อยให้เสียเวลาไต่สวนข้อเท็จจริงมาถึงหลายเดือนแล้วก็มาจบลงตรงที่ว่า ยื่นคำร้องเกินระยะเวลาครับ !!!

นอกจากนี้แล้ว ผมยังมีข้อสังเกตอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับปัญหาเรื่อง “อายุความ” กับ “ประโยชน์สาธารณะ” ซึ่งในอนาคตคงต้องสร้างความชัดเจนให้มากกว่านี้ครับ ผมขอยกตัวอย่างจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 52 ที่ว่า “การฟ้องคดีปกครองที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือสถานะของบุคคล จะยื่นฟ้องเมื่อใดก็ได้”

การฟ้องคดีปกครองที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีแล้ว ถ้าศาลปกครองเห็นว่าคดีที่ยื่นฟ้องนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุ จำเป็นอื่นโดยศาลเห็นเองหรือคู่กรณีมีคำขอศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาก็ได้”

ผมคงไม่ต้องอธิบายมาตรา 52 นะครับ แต่จะขอให้ย้อนกลับไปดูกันสักหน่อยว่า การใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ซึ่งเป็นเงินที่มาจากภาษีอากรของประชาชนนั้น หากศาลจะรับไว้พิจารณาจะเป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือเป็นประโยชน์แก่ ส่วนรวมหรือไม่ครับ !!!

ผมไม่อยากโต้เถียงประเด็นนี้กับ “นักกฎหมายใหญ่” บางคนที่รีบออกมาให้ความเห็นสนับสนุนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่พิจารณา ยกคำร้องกรณียุบพรรคประชาธิปัตย์เนื่องจาก “ขาดอายุความ” ว่าเป็นหลักสากลที่ทั่วโลกทำกันคือต้องดูว่าถูกต้องตามกระบวนการตามกฎหมายหรือไม่ก่อน ซึ่งจริง ๆ แล้วในเรื่องดังกล่าว หากถามนักกฎหมายมหาชน “แท้ ๆ ” ก็จะได้คำตอบไม่ต่างกันเท่าไรนัก เพราะหัวใจสำคัญของกฎหมายมหาชนคือ การคุ้มครองประโยชน์สาธารณะซึ่งก็คือประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและ ประชาชนนั่นเอง หากศาลซึ่งมีหน้าที่ในการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะอ้างว่า กระบวนการของการยื่นคำร้องไม่ถูกต้องตามกฎหมายแล้วปฏิเสธไม่ตรวจสอบข้อเท็จ จริงที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ ศาลก็จะเป็นผู้บกพร่องต่อหน้าที่ที่ต้องคุ้มครองประโยชน์สาธารณะเสียเองครับ

ข้อสงสัยยังมีอีกว่า ข้อผิดพลาดทางเทคนิคคือการยื่นคำร้องเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จะกลายเป็น “ข้อยกเว้น” ที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่พิจารณาวินิจฉัย “ข้อเท็จจริง” ที่ถือว่าเป็นการกระทำผิดต่อแผ่นดินได้หรือไม่ครับ ซึ่งเรื่องนี้ผมก็จะขอพูดต่อไปเลยและเป็นเรื่องที่ควรจะต้องมีคำอธิบายจาก ศาลรัฐธรรมนูญก็คือ ตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ข้อ 50 ได้กล่าวไว้ว่า การพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยทุกประเด็นที่ศาลกำหนด โดยตุลาการที่เป็นองค์คณะทุกคนจะงดออกเสียงในประเด็นใดประเด็นหนึ่งตามที่ ศาลกำหนดมิได้ นั้น ในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดประเด็นเอาไว้ถึง 5 ประเด็นด้วยกัน

แต่จากการฟังการอ่านคำวินิจฉัยเมื่อบ่ายวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในประเด็นแรกเพียงประเด็นเดียวคือ กระบวนการยื่นขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นอื่นซึ่งก็เป็นประเด็นที่สำคัญมากโดยเฉพาะ ประเด็นที่เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาพรรค การเมือง เพราะเงินดังกล่าวเป็นเงินที่มาจากภาษีอากรของประชาชน ดังนั้นจึงชอบที่ประชาชนจะต้องได้รับทราบคำตอบที่ถูกต้องว่า การใช้จ่ายเงินภาษีอากรของประชาชนดังกล่าว ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร ซึ่งในเรื่องดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้วินิจฉัยทั้ง ๆ ที่ข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญเอง “บังคับ” ไว้แล้วว่า ศาลรัฐธรรมนูญต้องทำ

คำถามต่อเนื่องก็คือ จะทำอย่างไรกับการที่ศาลรัฐธรรมนูญกระทำการ “ฝ่าฝืน” ข้อกำหนดของตัวเองครับ!!!

ผมไม่แน่ใจว่า ที่ผมถามไปทั้งหมด จะได้รับทราบคำตอบที่ชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญหรือจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่ อย่างไร หรือจะเป็นเหมือนกับเรื่องอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญคือ “silence is golden” แต่ก็อยากจะขอฝากไว้ให้กับ “พลเมือง” ทุกคนให้ช่วยกัน “ผลักดัน” ให้เราได้รับคำตอบเหล่านี้ต่อไปครับ

องค์กรต่อมาที่ผมคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้คือ คณะกรรมการการเลือกตั้งครับ ปัญหาทั้งหมดของเรื่องยุบพรรคประชาธิปัตย์เกิดขึ้นจากการกระทำของนายทะเบียน พรรคการเมืองกับประธานกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นคน ๆ เดียวกันแต่ทำสองหน้าที่

คงไม่สามารถกล่าวอ้างได้ว่า เกิดความสับสนในหน้าที่ระหว่างนายทะเบียนพรรคการเมืองกับประธานกรรมการการ เลือกตั้ง หรือเกิดความสับสนในกฎหมายที่จะนำมาใช้ระหว่างกฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่ กับกฎหมายพรรคการเมืองฉบับเก่า คนที่ “สมัครใจ” เข้ามาทำงานระดับนี้ ในตำแหน่งนี้ ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนแล้วว่า ต้องรู้จริง ต้องทำงานได้ดีและไม่ผิดพลาด ตำแหน่งเหล่านี้ไม่ใช่ที่ “เรียนรู้งาน” เพราะเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญต่อระบบต่าง ๆ และต่อระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ฉะนั้น เมื่อทำงานผิด ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องไม่ควรผิด เช่นสับสนในหน้าที่หรือสับสนในกฎหมาย เราจะทำอย่างไรกันดีกับ “คนพวกนี้” ครับ !!

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากเป็นผม ผมลาออกไปแล้วครับ สง่างามกว่าอยู่ทำงานต่อไป เพราะ “พลเมือง” อย่างพวกเราคงไม่มีอะไรเป็นหลักประกันอีกแล้วว่า ในการทำงานต่อ ๆ ไปคุณจะไม่ “สับสนในหน้าที่” หรือ “สับสนในกฎหมาย” อีก

แต่ถ้าให้ผม “เดา” ผมคิดว่าคงไม่มีใครลาออกแน่  จะลาออกกันไปทำไมครับ มีตัวอย่าง ที่เห็น ๆ กันอยู่หลายเรื่อง ล่าสุดที่เคยเกิดขึ้นในศาลรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เถียงกันว่าการสอนหนังสือเป็นการรับจ้างหรือไม่ หรือกรณีล่าสุด กรณีเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญที่ทุกคนเงียบ ไม่ลาออก ไม่ชี้แจง ปล่อยให้เวลาผ่านไป ไม่ช้าเรื่องก็เงียบ ตัวเองก็มีงานทำ มีเงินใช้ มีอำนาจวาสนาบารมีต่อไปครับ !!!

ไม่ทราบว่า กรรมการการเลือกตั้งคนอื่นจะรู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้บ้างนะครับ น่าจะลองแนะนำนายทะเบียนพรรคการเมืองให้ลาออกเนื่องจากบกพร่องต่อหน้าที่ทำ ให้เกิดผลเสียตามมาหลายอย่าง รวมทั้ง “ตอกย้ำ” ความแตกแยกในสังคมให้มากยิ่งขึ้นไปด้วย

จริง ๆ แล้วประเด็นนี้ สื่อมวลชนน่าจะลองไปรื้อข้อมูลที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วในช่วงเวลาที่ผ่านมาเสนอ ต่อสาธารณะให้ทราบว่า ก่อนหน้านี้มีปัญหาเรื่องการฟ้องไม่ฟ้องมาหลายครั้งแล้ว จนกระทั่ง “เสื้อแดง” บุกไปที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องจึงออกจาก กกต. ไปที่อัยการ จำกันได้ไหมครับ !

มีข้อสงสัยสุดท้ายที่คาใจอยู่ก็คือ ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นข้อผิดพลาดที่เกิดจากความไม่รู้ หรือเป็นข้อผิดพลาดที่เกิดจากความตั้งใจครับ…..

ก่อนที่จะจบบทบรรณาธิการครั้งนี้ผมต้องขอฝากเป็นข้อสังเกตไว้ด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจากกรณีไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์เป็นปัญหาที่ “นักกฎหมาย” ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้งก็มาจากนักกฎหมายที่มีระดับ เช่น ผู้พิพากษา  อัยการซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นนักกฎหมายใหญ่ ศาลรัฐธรรมนูญเองก็มาจากนักกฎหมายและมาจากผู้พิพากษาจำนวนหนึ่ง ทำไมคนทั้งหมดซึ่งแทบจะเรียกได้ว่าอยู่ในวงการเดียวกันแต่กลับมองหรืออ่าน กฎหมายไม่เหมือนกัน เรื่องนี้คงไม่ต้องการคำตอบว่าการมองของใครถูกต้องที่สุดเพราะในเมื่อคำ วินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สุด ผูกพันทุกองค์กร อย่างไรเสียก็ต้องปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะ “คิดว่า” เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญถูกหรือผิดก็ตาม

ท้ายที่สุด ก็ต้องขอแสดงความยินดีกับพรรคประชาธิปัตย์ที่ “โชคดีซ้ำซาก” รอดพ้นจากทุกเหตุการณ์ไปได้อย่างง่ายดายครับ จริงอยู่ แม้จะมีคนออกมาตั้งข้อสงสัยในความ “โชคดีซ้ำซาก” ของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่สามารถ “สลัด” ข้อกังขาที่เป็นประเด็นให้หลุดไปได้ แต่ไม่ช้าไม่นานคนก็จะลืมกันไปเองเหมือนกับทุก ๆ เรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา และยิ่งถ้ามีข่าว “เหมือนเดิม” ออกมา เช่น ข่าวการลอบทำร้าย หรือข่าวหมิ่นต่าง ๆ คนก็จะหันไปสนใจเรื่องเหล่านั้นจนไม่สนใจว่า การ “รอด” จากการถูกยุบพรรคด้วยข้อผิดพลาดทางเทคนิคนั้น เป็นความ “สง่างาม” หรือเป็นความ “ถูกต้อง” ที่พรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศโดยควรจะ “ภูมิใจ” หรือไม่ เพราะข้อกล่าวหาว่า ใช้เงินภาษีอากรของพี่น้องประชาชนผิดประเภท ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ให้กระจ่างครับ !!!

ศ. ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์