ลืมหน้าที่

กําลังสนุกสนานอยู่กับการ ‘ตบเท้า’

จู่ๆ ก็ ‘งานเข้า’ แบบไม่ทันตั้งตัว เมื่อเกิดเหตุการณ์ทหารไทยปะทะกับทหารกัมพูชา ตามแนวชายแดนบริเวณปราสาทตาควาย และปราสาทตาเมือนธม อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์

เป็นการปะทะระลอกล่าสุดนับตั้งแต่เกิดการสู้รบด้านชายแดน จ.ศรีสะเกษ ใกล้ปราสาทเขาพระวิหาร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ตามข่าวว่าทหารสองฝ่ายยิงถล่มกันด้วยกระสุนปืนใหญ่นับร้อยนัด

นอกจากพื้นที่ จ.สุรินทร์ อันเป็นศูนย์กลางการปะทะ กระสุนปืนใหญ่จากฝ่ายกัมพูชายังปลิวมาตกในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ติดกันอีกด้วย

ทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ต้องเร่งอพยพประชาชนหลายหมื่นคนออกจากพื้นที่ ให้พ้นจากรัศมีปืนใหญ่

เบื้องต้นผลจากการปะทะ 2 รอบเมื่อเช้าวันศุกร์ต่อเนื่องวันเสาร์ ทหารไทยพลีชีพแล้วอย่างน้อย 4 นาย และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก

ยังไม่มีใครรู้ว่าการปะทะหนนี้จะกินเวลากี่วัน

แต่ถ้ายุติเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น เพื่อไม่ให้ความสูญเสียของทั้งสองฝ่ายเพิ่มเติมมากไปกว่าที่เกิดขึ้นแล้ว

จากภาคอีสานย้ายลงมาที่ภาคใต้ ช่วงเวลาใกล้กันเกิดเหตุกลุ่มโจรใต้ลอบวางระเบิดถล่มรถปิกอัพทหาร ขณะออกลาดตระเวนในพื้นที่ อ.รามัน จ.ยะลา

ใช้อาวุธปืนสงครามกราดยิงซ้ำทำให้ทหารยศสิบเอก พลีชีพไป 1 นาย บาดเจ็บอีก 4 นาย

กรณีของสิบเอกภาคใต้ได้รับการนำเสนอเป็นข่าวแต่ไม่ใหญ่นัก อาจเพราะเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นรายวัน จนคนไทยไม่ว่าภาคไหนๆ ล้วนชาชิน

เพราะตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ไฟใต้ปะทุตั้งแต่ต้นปี 2547

8 ปีเต็มกับงบประมาณกว่า 1.45 แสนล้านบาท แต่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น เกิดความรุนแรงสรุปรวมแล้วเกือบ 12,000 ครั้ง

มีผู้เสียชีวิตไปแล้วประมาณ 4,500 ราย

ในจำนวนนี้เป็นทหารราว 300 ราย ตำรวจในจำนวนใกล้เคียงกัน ส่วนที่เหลือเกือบ 4,000 ชีวิตเป็นของประชาชนในพื้นที่

ไม่มีใครรู้เช่นกันว่าตัวเลขสถิติความสูญเสียนี้จะจบลงตรงไหนและเมื่อไหร่

ในขณะที่ผู้รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหามัวเอาเวลาไปแสดงออกทางการเมือง

ละเลยหน้าที่แท้จริงของตนเอง

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ 25 เมษายน 2554
คอลัมน์ : เหล็กใน


7 คนไทยกับกระแสชาตินิยม!

การเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกและสังคมไทยใน ปัจจุบัน ประเด็นของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีอิทธิพลและส่งผลต่อการเปลี่ยน แปลงอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตแล้วทำงานอย่างได้ผล เช่น การปลุกกระแสเรื่องความรักชาติ อาจจะไม่ได้ผลในปัจจุบัน เพราะความรวดเร็วของเทคโนโลยีในวันนี้ทำให้ผู้คนมีความรับรู้ในข้อเท็จจริง รวมถึงแสดงความคิดเห็นออกมาได้อย่างตรงไปตรงมาและรวดเร็ว

ผู้เขียนหมายถึงสิ่งที่กลุ่มอีลิตและคณะพยายามจะใช้กรณี 7 คนไทยที่ถูกรัฐบาลกัมพูชาจับกุมมาเป็นประเด็นเพื่อปลุกกระแสชาตินิยมโดยหวัง ผลต่อวิถีทางการควบคุมอำนาจเบ็ดเสร็จให้ยืนยาวต่อไปนั้นเป็นไปไม่ได้ใน ปัจจุบันแล้ว หรือกลายเป็นกรณี “กระสุนด้าน”

กรณี 7 คนไทยนี้ ผู้เขียนจงใจจะไม่เขียนถึงมานานแล้วตั้งแต่เกิดเหตุ เพราะเกรงจะเป็นปัญหาเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ แต่วันนี้ปรากฏการณ์ต่างๆเริ่มชัดเจน จึงอยากวิเคราะห์เฉพาะส่วนที่เป็นข้อคิดเห็นบางประเด็นคือ โดยนิสัยของฝ่ายการเมืองที่คุมอำนาจรัฐในบริบทสังคมการเมืองไทยแล้ว นักการเมืองไทยมักขี้เบ่ง จะไปไหนต้องมีการแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่ให้มายืนกุมเป้ากางเกง ล้อมหน้าล้อมหลัง ดังนั้น จึงไม่น่าเชื่อว่า 7 คนไทยที่ถูกจับกุมจะลงพื้นที่ไปล่วงหน้าก่อนที่เจ้าหน้าที่รัฐจะมาพินอบ พิเทา เท่ากับผิดวิสัยหรือค้านกับปรากฏการณ์รูปธรรมหรือข้อเท็จจริงทางสังคมการ เมืองไทย

นอกจากนั้นพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นเหมือนเขตที่ตกลงกันไม่ได้ ซึ่งมีหลายแห่งในประเทศไทย คล้ายกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-มาเลเซีย ซึ่ง พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ก็ไม่ได้คิดที่จะไปแบ่งแยกหรือทะเลาะกับมาเลเซียว่าดินแดนของไทยอยู่ตรงไหน คนที่ฉลาดอย่างอดีตนายกฯชาติชายจึงคิดบวก ชวนเพื่อนบ้านหาประโยชน์ร่วมกัน หรือร่วมกันทำให้พื้นที่มีปัญหาเป็นเขตพัฒนาร่วม (Joint Development Area) ท้ายที่สุดไทย-มาเลเซียทำการขุดเจาะและนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน แบ่งสรรความมั่งคั่งกันอย่างพอใจทั้งสองฝ่าย

กรณีพื้นที่ระหว่างไทย-กัมพูชา รัฐบาลทั้งสองต่างสงวนไว้ในความรู้สึกที่ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของตนเอง ทั้งคู่ เมื่อไรที่จะคิดทำให้สมประสงค์ฝ่ายเดียวก็จะเป็นข้อขัดแย้งและไม่มีใครยอม ใคร ในอดีตรัฐไทยจึงทำได้แค่เพียงรอเวลาการเจรจา ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาทั้งคู่ก็จะต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพื้นที่บนสำนึกที่ ว่าเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาแบบ no mans land ซึ่งในทางปฏิบัติหากคนของฝั่งใดฝั่งหนึ่งจะเข้าไปในพื้นที่นั้นก็จะแจ้งเจ้า หน้าที่ของฝั่งตรงข้ามที่เป็นคู่เจรจาและดูแลพื้นที่ดังกล่าวอยู่ ได้ยินหลายครั้งแล้วว่ามีข้าราชการระดับสูงหรือผู้ที่เกี่ยวข้องของไทยแวะ เวียนเข้าออกไปดูพื้นที่เป็นประจำ แต่มีการประสานกันล่วงหน้าจึงไม่เคยเกิดเหตุการณ์พิสดารเหล่านี้

ดังนั้น กรณี 7 คนไทยที่รวมถึงนักการเมืองขี้เบ่งเดินเข้าไปให้เขาจับจึงน่าสังเกต โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามของกลุ่มเครือข่ายทางการเมืองที่พยายามอ้างว่า ดินแดนฝั่งนั้นเป็นพื้นที่ของไทยจึงไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย

คำกล่าวเช่นนี้มีแต่สร้างความขัดแย้งระหว่างประเทศ เพราะมีคนพูดมาก่อนหน้านี้กว่า 30 ปีแล้ว และเห็นว่าไม่มีประโยชน์ จึงปล่อยให้เป็นการทำงานระดับรัฐที่ต้องเจรจา และภาระของรัฐบาลชุดต่างๆที่พยายามกระทำต่อกันอย่างละมุนละม่อม ยกตัวอย่างเทียบเคียงกันก็ต้องยกให้กรณีพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียน่าจะ เป็นหนทางสว่างของวิธีการแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนหรือมีปัญหาระหว่างประเทศ

สรุปแล้ว 7 คนไทยถูกรัฐบาลกัมพูชาจับกุมจึงไม่สามารถก่อให้เกิดกระแสชาตินิยมตามที่กลุ่มอีลิตวาดฝันไว้ อย่างไรก็ตาม คำกล่าวนี้ดูเหมือนจะให้ร้ายกลุ่มอีลิต แต่เมื่อพิจารณาบริบททางการเมืองที่กลุ่มอีลิตเผชิญอยู่ และเลือกใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยเครื่องมือต่างๆมาตลอดนั้น จะพบว่ายิ่งแก้ยิ่งถึงทางตัน แรกเริ่มจากการชิงสุกก่อนห่าม ดื้อรั้นแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยการทำปฏิวัติเมื่อปี 2549 แล้วดันไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่ไปเลือกคนซื่อ สูงอายุ และไร้ความสามารถมาบริหาร เมื่อเปิดให้มีเลือกตั้งจึงพ่ายแพ้กลุ่มเก่า

ดังนั้น เครื่องมือใหม่ที่ดูคล้ายจะมีอารยะก็เข้ามาสู่วงจรทำงาน เช่น ระบบตุลาการวิบัติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญ ล้วนแล้วแต่ทำท่าคล้ายจะเป็นอารยะช่วยกลุ่มอีลิตทำงาน ท้ายที่สุดก็ใช้เครื่องมือของกลุ่มติดอาวุธบีบบังคับให้เกิดการจัดตั้ง รัฐบาลลูกชนชั้นสูงเรียนดี แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือ เด็กคนนี้ทำอะไรไม่เป็น ไร้ความสามารถ แถมต้องพึ่งพิงกลุ่มโจรทางการเมืองที่คอร์รัปชันมากกว่ากลุ่มทักษิณเสียอีก นี่จึงเป็นสถานการณ์ทางตันของกลุ่มอีลิต

ครั้นจะเปิดให้มีการเลือกตั้งก็ประมาทไม่ได้ว่า คนไทยสมัยนี้ฉลาดแล้ว เขาจับได้ไล่ทัน และการลงคะแนนเสียงที่เลือกกลุ่มทุนเดิมก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงินซื้อเสียง อีกต่อไป หากแต่ขึ้นอยู่กับความแค้นฝังใจที่ได้รับการปฏิบัติแบบสองมาตรฐานซ้ำแล้วซ้ำ เล่า

ดังนั้น กลุ่มอีลิตจึงเห็นลางความวิบัติ ทางออกเดียวที่เหลืออยู่สำหรับการครองอำนาจให้ยืดยาวคือ ปลุกกระแสต่างๆ ตั้งแต่กล่าวหาฝ่ายตรงข้ามจะล้มสถาบันและเรื่องคอร์รัปชัน ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพทั้งสองประเด็น ท้ายที่สุดเลยลองปลุกกระแสชาตินิยมดูว่าจะให้เกิดความรุนแรงระหว่างไทยและ กัมพูชา เพื่อเป็นข้ออ้างการกระชับอำนาจไปสู่การปกครองด้วยวิธีนอกระบบ… แต่ก็เป็นกระสุนด้านอีก

อันที่จริงแล้วเหตุการณ์ทางการเมืองของไทยวันนี้ใกล้เคียงกับเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นในประเทศตูนิเซีย ซึ่งประชาชนออกมาประท้วงประธานาธิบดีซีน อัล-อาบิดีน เบน อาลี เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจและการว่างงาน แต่ประธานาธิบดีกลับแก้ปัญหาผู้ประท้วงด้วยการใช้ความรุนแรง ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 50 ราย การกล่าวหายังคล้ายกันคือ ประธานาธิบดีพยายามอ้างว่าผู้ประท้วงมีพฤติกรรมคล้ายผู้ก่อการร้าย ผลสุดท้ายคือ การประท้วงรุนแรงมากขึ้นจนกระทั่งฝ่ายรัฐพ่ายแพ้ ประธานาธิบดีประกาศยุบสภาและลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ

สำหรับเหตุการณ์เมืองไทยวันนั้น แม้จะยังมาไม่ถึง แต่จากความรับรู้ของประชาชน และระบบบาปบุญคุณโทษหรือเวรกรรมที่มีจริง กำลังจะทำให้เคราะห์กรรมต่างๆที่กลุ่มอีลิตและสมุนบริวารสร้างกรรมเอาไว้ ต้องได้รับผลกรรมที่ตัวเองทำไว้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคตอันใกล้นี้  ไม่เชื่อก็ดูแล้วกัน!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 295 วันที่ 22-28 มกราคม พ.ศ. 2554 หน้า 10 คอลัมน์ ทหารใหม่วันนี้ โดย ชายชาติ ชื่นประชา


กู้ชาติติงต๊อง

หลายคนอ่านข่าวคำกล่าวปราศรัยของ นายกฯ ฮุนเซน แล้วมีความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่า ปฏิบัติการรัฐบาลไทยในการ ‘ขอคืน’ ตัวนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ และคณะ 7 คนไทยจากฝ่ายกัมพูชานั้น ใครเคยคิดว่าเป็นเรื่องง่าย เห็นทีต้องเปลี่ยนความคิดใหม่

โดยเฉพาะท่าทีแข็งกร้าวของนายกฯ ฮุนเซน ที่ระบุตอนนี้เรื่องทั้งหมดอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นกรุงพนมเปญแล้ว

“ไม่มีใครเรียกร้องให้ปล่อยตัวได้”

ไม่ว่าส.ส.พรรคเพื่อไทย เกลอเก่าอย่างทักษิณ หรือแม้แต่องค์การนานาชาติ

นายกฯ กัมพูชายังเตือนรัฐบาลไทยและกลุ่มคนไทยที่กำลังเคลื่อนไหวออกแถลงการณ์โจมตีกัมพูชา ให้หยุดการกระทำดังกล่าวเสียถ้าไม่อยากให้สถานการณ์ในภายภาคหน้ายุ่งยากไปกว่านี้ และขอให้เคารพกระบวนการศาลของกัมพูชา

“อย่ามาพูดข่มขู่ว่าให้ปล่อยทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข”

ประโยคหลังนี้เข้าใจว่านายกฯ ฮุนเซน ต้องการสื่อไปถึงนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยตรง

เพราะถ้ายังจำกันได้ นายกฯ อภิสิทธิ์ เป็นคนประกาศกร้าวใส่ทางกัมพูชาก่อนในตอนแรกว่า จะต้องปล่อยตัว 7 คนไทยโดยไม่มีเงื่อนไข

เชื่อว่าตอนนั้นนายกฯ อภิสิทธิ์ ไม่ทันได้รอบคอบ รู้คิด ว่าตนเองกำลังตกเป็นเหยื่อให้คนไทยบางกลุ่มที่วางแผนไว้ตั้งแต่แรก

ต้องการนำเรื่องนี้มาขยายผลจุดชนวนกระแสคลั่งชาติบ้าๆ บอๆ อย่างที่เคยทำมาตลอดในประเด็นปราสาทเขาพระวิหาร โดยไม่สนใจว่าพฤติกรรมการยุยงให้รัฐบาลที่ตนเองมีส่วนปลุกปั้นขึ้นมา นำพาประเทศชาติเข้าสู่สมรภูมิการสู้รบกับเพื่อนบ้านนั้น จะสร้างความเดือดร้อนเสียหายให้ประชาชนโดย เฉพาะที่อยู่อาศัยตามแนวชายแดนอย่างไรบ้าง

ยังดีที่สังคมไทยมีเหตุมีผลเพียงพอ รู้จักรักชาติรักแผ่นดินในทางที่ถูกต้อง กระแสกู้ชาติติงต๊องก็เลยปลุกไม่ขึ้น

แล้วถ้าหากใครจะควานหาความมีสติของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่ยังพอมีหลงเหลืออยู่บ้าง หลังผ่านเหตุการณ์สลายม็อบเสื้อแดงจนมือเปื้อนเปรอะไปหมด ก็จะพบว่ารัฐบาลยัง ‘บ้องตื้น’ ไม่พอที่จะเห็นดีเห็นงามกับคำยุยงให้รบเช้ารบเย็นของคนกลุ่มนี้

ส่วนคนกลุ่มนี้จะใช่กลุ่มที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มพันธมิตรหรือไม่ คงไม่ต้องบอก

ที่มา : ข่าวสด 13 มกราคม 2553
คอลัมน์ : เหล็กใน

 


โดน 2 เด้ง

การชุมนุมรำลึกครบรอบ 10 เดือนเหตุการณ์ฆ่าหมู่ 10 เม.ย. 2553 ของคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา เป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ครั้งแรกของนปช. หลังประกาศยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

คนเสื้อแดงกว่า 3-4 หมื่นคนชุมนุมกันแน่นราชประสงค์

มีนัยยะสำคัญ !

เพราะเป็นการแสดงพลังให้เห็นว่าคนเสื้อแดงไม่ได้”ฝ่อ”เหมือนกับที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้

แสดงให้เห็นด้วยว่านโยบายประชาวิวัฒน์ หรือ 9 ของขวัญปีใหม่ที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประเคนให้นั้น ไม่ได้มีผลทำให้คนเสื้อแดงลืมเลือนการสังหารหมู่ 91 ศพ ได้เลยแม้แต่น้อย

ประเด็นหลักของการชุมนุมครั้งนี้ ต้องการให้รัฐบาลรับผิดชอบการฆ่าหมู่ 91 ศพ และให้รัฐบาลปล่อยนักโทษการเมืองหลายร้อยคน

เสียงเรียกร้องดังกระหึ่มไปทั่วราชประสงค์ !

เชื่อว่าต่อจากนี้ไปจะมีการเคลื่อนไหวที่หนักหน่วงยิ่งกว่าเดิม ไม่ได้หมายความว่าคนเสื้อแดงจะเพิ่มดีกรีความรุนแรงขึ้น

แต่จะหนักหน่วงในด้าน “ข้อมูลและข้อเท็จจริง” ยิ่งขึ้น

การเปิดข้อมูลเอกสารลับต่างๆ เกี่ยวกับคดีคนเสื้อแดงจะมีมากขึ้น ขุดคุ้ยว่าใครอยู่เบื้องหลังคำสั่งสังหารหมู่ !?

และยิ่งตอกย้ำความ 2 มาตรฐานของรัฐบาลไปพร้อมๆ กัน

ที่สำคัญการทวงความยุติธรรมจะเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นในเวทีนานาชาติ การแสดงพลังของคนเสื้อแดงครั้งล่าสุดเป็นการฟ้องต่อสายตาชาวโลก ยืนยันว่ายังมีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นกับนักโทษเสื้อแดง

รัฐบาลยังคงลิดรอนสิทธิเสรีภาพของคนเสื้อแดง

เชื่อว่าในเร็ววันนี้จะเห็นองค์กรโลกหันมาให้ความสนใจเรื่องนี้ยิ่งขึ้น

แต่ที่จะเห็นผลชัดเจนที่สุดน่าจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล หลังมีการเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนฯในวันที่21 ม.ค. นี้

นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช. ในฐานะส.ส. พรรคเพื่อไทย ประกาศชัดว่าคดีความทุกอย่างจะเอาไว้พูดในที่ประชุมรัฐสภา เพราะพรรคเพื่อไทยให้อภิปรายได้แบบไม่จำกัดเวลา

เมื่อถึงตอนนั้นสังคมก็จะได้รู้ความจริงทั้งหมด

น่าหนักใจแทนนายอภิสิทธิ์ เพราะปัญหา 7 คนไทยถูกขังในเรือนจำเขมรยังหนักอกหนักใจอยู่เลย พลาดพลั้งให้นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ทะเล่อทะล่าเข้าไปให้ทหารเขมรจับกุม จนโดนม็อบที่เพิ่งผิดใจกันอัดเละว่าขายชาติ

ต้องมาเผชิญปัญหาถูกฝ่ายค้านเตรียมขย่มซ้ำในสภาเข้าไปอีก

แบบนี้เรียกว่าโดน 2 เด้ง!?

ที่มา : ข่าวสด 12 มกราคม 2554
คอลัมน์ : เหล็กใน

 


“ดร.โกร่ง” คนเดินตรอก เขียนถึง “กรณีเขาพระวิหาร” ย้อนเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2505 ทำไมโอกาสไทยแพ้มากกว่าชนะ?

กรณีเขาพระวิหาร
โดย : วีรพงษ์ รามางกูร
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่16-18 สิงหาคม 2553

เมื่อปี พ.ศ. 2505 ขณะ นั้นยังเป็นนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดูจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ออกปราศรัยทางโทรทัศน์เรื่อง คำพิพากษาของศาลโลก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พูดไปควักผ้าเช็ดหน้าออกมาเช็ดน้ำตา ว่าเราจำเป็นต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา ของศาลโลกโดยการถอนกำลังออกจากพระวิหาร และต้องคืนโบราณวัตถุกลับไปให้กัมพูชา พร้อมกันนั้นก็ประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับกัมพูชาและมอบหมายให้สหภาพพม่า เป็นผู้ดูแลทรัพย์สินของทางราชการไทยในพนมเปญและที่เมืองอื่น ๆ

ทางรถไฟที่ทอดยาวจากหัวลำโพงไปถึงกรุงพนมเปญก็เป็นอันต้องหยุด ประเทศไทยประกาศปิดชายแดน ตั้งแต่นั้นมาทั้ง 2 ประเทศก็หมดความเป็นมิตรต่อกัน แต่ประชาชนของทั้ง 2 ประเทศตามชายแดน ซึ่งเป็นญาติพี่น้องกันต่างก็ยังไปมาหาสู่ติดต่อค้าขายกันตามปกติ จนนายพลลอนนอลรัฐประหารขับไล่ สมเด็จพระเจ้าสีหนุออกไปร่วมกับฝ่ายเขมรแดง เราจึงรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศกัมพูชาขึ้นมาใหม่ แล้วข่าวคราวเรื่องเขาพระวิหารก็เงียบหายไป

เมื่อปี 2506 พวกเรานิสิตรัฐศาสตร์ วิชาการปกครอง ต้องเรียนวิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 และบรรพ 6 ว่า ด้วยครอบครัวและมรดกกับท่านศาสตราจารย์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งท่านเป็นคนไทยคนหนึ่งที่ร่วมอยู่ในคณะทนายของฝ่ายไทย หัวหน้าคณะทนายความของไทยเป็นฝรั่งเข้าใจว่าเป็นอเมริกัน ส่วนหัวหน้าทนายความของฝ่ายกัมพูชาเป็นชาวฝรั่งเศส

พวกเราก็กราบเรียนถามท่าน อาจารย์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ว่า ประเด็นที่ต่อสู้กันนั้นว่าอย่างไร ท่านก็บอกให้พวกเรากลับไปอ่านคำพิพากษาของศาลโลกเสียก่อน แล้วท่านจะอธิบายให้ฟัง

เมื่ออ่านจบแล้วเราก็เข้าใจขึ้นเป็นอันมาก เพราะคำพิพากษาเขียนเหตุผลไว้อย่างละเอียด ทั้งคำฟ้องร้องของกัมพูชาและคำแก้คดีของฝ่ายไทย รวมทั้งเอกสารสนธิสัญญาแผนที่แนบท้ายสัญญา ลายพระหัตถ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงมีไปถึงข้าหลวงฝรั่งเศสประจำกัมพูชา เรื่องขออนุญาตเสด็จไปเยี่ยมชมเขาพระวิหาร ภาพถ่ายสมเด็จกับ ม.จ.พูนพิศมัยพระธิดาเสด็จเขาพระวิหาร

ประเด็นที่ต่อสู้กันก็คือ แผนที่แนบท้ายสนธิสัญญาฉบับปี 1904 ที่ให้เอาสันปันน้ำเป็นเขตแดน แต่แผนที่แนบท้ายใช้มาตราส่วน 1 : 200,000 ขีดมาตามสันปันน้ำ แล้วมาวกเอาปราสาทเขาวิหารไปเป็นของกัมพูชา แล้วจึงวกกลับมาบนสันปันน้ำอีกทีหนึ่ง

เรารู้ว่าแผนที่นั้นผิด ไม่ตรงกับตัวหนังสือในสนธิสัญญาปักปันเขตแดน ค.ศ. 1904 อีก ทั้งไทยไม่เคยยอมรับแผนที่ที่ฝรั่งเศสทำฝ่ายเดียวแล้วส่งมาให้ไทย ไทยรับรองให้ความเห็นชอบเพราะฝ่ายไทยไม่ได้ส่งตัวแทนไปร่วมคณะปักปันเขตแดนตามที่ระบุไว้ในสนธิสัญญา

แต่ในที่สุดศาลโลกตัดสินว่าปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา เพราะแผนที่แนบท้าย ค.ศ. 1904 เป็นส่วนหนึ่งของ สนธิสัญญาทั้งในแง่เอกสารและข้อเท็จจริงที่ทางไทยไม่ได้ทักท้วงภายใน 10 ปี อีกทั้งหัวหน้าคณะปักปันเขตแดนของฝ่ายไทยจะเสด็จเยี่ยมปราสาทพระวิหารก็ ทรงมีลายพระหัตถ์ขออนุญาตข้าหลวงฝรั่งเศส ข้าหลวงฝรั่งเศสก็ออกมารับเสด็จพร้อมกับชักธงชาติฝรั่งเศสขึ้นสู่ยอดเสา มีการถ่ายรูปร่วมกัน

อาจารย์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ท่านเล่าให้พวกเราลูกศิษย์ฟังว่า ท่านรู้แต่แรกแล้วว่าเราคงจะแพ้คดี แต่โดยหน้าที่ที่เป็นคนไทย และจรรยาบรรณของทนายความ ก็ต้องทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างถึงที่สุด

ท่านเล่าว่าทางที่ถูก เราไม่ควรตกลงให้กัมพูชานำคดีขึ้นศาลโลก เพราะคดีที่จะขึ้นสู่ศาลโลกได้ ทั้งสองฝ่ายต้องยินยอมให้ศาลโลกพิจารณา

แต่จอมพลสฤษดิ์ท่านต้องการรักษาเกียรติภูมิของชาติว่าเราเป็นชาติอารยะ เป็นสมาชิกที่ดีขององค์การสหประชาชาติ และทนายฝรั่งเชื่อว่าฝ่ายเราจะเป็นฝ่ายชนะ อาจารย์ ม.ร.ว.เสนีย์ท่านเป็นเสียงข้างน้อย เมื่อนายกรัฐมนตรีตัดสินใจแล้วท่านก็ต้องทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ในฐานะที่มีอาชีพทนายความและเป็นคนไทย

เมื่อฝ่ายเราแพ้คดีแล้ว ก็แปลว่าเราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องยอมรับว่า แผนที่แนบท้ายสนธิสัญญาเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญา มีผลบังคับใช้เหมือนกับกรณีเจดีย์สามองค์ ที่ด่านเจดีย์สามองค์ที่อังกฤษขีดวกเข้ามาทางฝ่ายไทยเป็นปากนกแก้วให้เป็นของพม่า

ปัญหาก็คือ ความชัดเจนว่าขอบเขตปราสาทพระวิหารนั้นกินขอบเขตพื้นที่ไปถึงไหน เพราะแผนที่ที่ฝรั่งเศสส่งมาให้ไทยเรารับรองหรือทักท้วงนั้นใช้มาตราส่วนย่อมาก ดูได้ไม่ชัด

คณะรัฐมนตรีในสมัยจอมพลสฤษดิ์จึง ตีความคำพิพากษาว่าขอบเขตของปราสาทพระวิหาร หรือ ′The Temple of Pra Vihar′ (สื่อมวลชนไทย สะกดภาษาอังกฤษตามสำเนียงเขมรว่า The Temple of Preach Vihear ซึ่งไม่ควรสะกดอย่างฝรั่ง ควรสะกดตามสำเนียงไทย หรือสำเนียงแขกเจ้าของภาษาสันสกฤตว่า The Temple of Pra Vihar อาจจะเพราะความไม่รู้หรือไม่ก็เพราะเห่อฝรั่ง) มีขอบเขตแค่ไหน

ทางฝ่ายกัมพูชาก็ว่า ′สระตาล′ห่างออก มาไกลสองสระที่เป็นที่สรงน้ำของกษัตริย์ขอมข้างหนึ่ง และเป็นที่อาบน้ำชำระร่างกายของพราหมณ์ข้างหนึ่งก่อนขึ้นไปเฝ้าพระอิศวรที่ปราสาท เป็นส่วนหนึ่งของเทวสถานแห่งนี้

นอกจากนั้น ไกลออกมาถึงสถูปคู่ ซึ่งคงจะหมายถึงประตูทางเข้าพระวิหาร ซึ่งไกลออกมาถึง 2 ก.ม. เป็นเครื่องหมายแสดงขอบเขตของพระวิหาร

รวมทั้งหมดจึงจะเป็น เทวสถาน หรือ พระวิหารแห่งพระอิศวรเจ้าที่สมบูรณ์ เหมือนกับอาณาเขตของวัดคงไม่ใช่เฉพาะพระอุโบสถภายในเขตที่ลงลูกนิมิตและใบเสมา คงเริ่มจากซุ้มประตูภายในกำแพงทั้งหมด ซึ่งอาจจะมีศาลาราย วิหารคต ศาลา กุฏิพระ ฯลฯ ด้วยประกอบเข้าจึงเป็นวัด หรือ ′พุทธสถาน′ หรือ ′พระวิหาร′

ทางเราก็ตีความว่า คำพิพากษาหมายถึงเฉพาะตัวพระวิหารสิ้นสุดที่บันไดขึ้นวิหารเท่านั้น ดังนั้นพื้นที่รอบพระวิหาร 4.6 ตาราง กิโลเมตรจึงยังเป็นของไทย เขมรบอกไม่ใช่ของไทย กัมพูชาไม่เคยรับรู้ ดังนั้นต่างคนต่างอ้างอธิปไตยเหนือพื้นที่ดังกล่าว จนทางฝ่ายกัมพูชาต้องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ทางยูเนสโกจึงขอให้เขมรเจรจากับไทยว่าจะร่วมกันพัฒนาอย่างไรให้เป็นเทวสถาน ที่สมบูรณ์ เพราะทางขึ้นอยู่ทางฝั่งไทย

หนังสือช่วยจำที่ลงนามโดย รมต. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ปี 2543 ก็ถูกต้องแล้ว หนังสือช่วยจำลงนามโดย รมต.นพดล ปัทมะ ที่ทำให้เขมรยอมรับว่าพื้นที่ 4.6 ตร.ก.ม เป็นพื้นที่ทับซ้อนก็ถูกต้อง หนังสือของ รมต. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เพื่อปูทางไปในการปักปันเขตแดน ส่วนของ รมต.นพดล ปัทมะ ก็เพื่อนำไปสู่การขึ้นทะเบียนมรดกโลก และร่วมกันพัฒนาให้เป็นมรดกโลก ทั้ง 2 บันทึกมีประโยชน์กับทั้ง 2 ประเทศและของโลกในแง่สันติภาพและวัฒนธรรมร่วมกัน

ปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นเพราะนักการเมืองที่ไม่รับผิดชอบ ใช้ประเด็นความขัดแย้งกับเพื่อนบ้าน มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองใช้ประหัตประหารกันทางการเมือง โดยอ้างว่าเพื่อประโยชน์ของชาติ แท้จริงแล้วก็เพื่อประโยชน์ของตนเอง เมื่อฝ่ายหนึ่งทำเรื่องให้ง่ายให้เป็นประโยชน์ร่วมกัน อีกฝ่ายต้องการให้เป็นเรื่องยากให้เป็นโทษกับประเทศชาติ อีกฝ่ายหนึ่งก็เป็นนักการเมืองเหมือนกัน มีพรรคฝ่ายค้านเหมือนกัน ก็ใช้กรณีนี้เล่นงานผู้นำของตน เอาอย่างประเทศไทย เรื่องก็เลยทำท่าจะบานปลายไปกันใหญ่

ดีที่ทหารทั้ง 2 ฝ่ายมีความเป็นอารยะพอ ไม่เถื่อนกระโจนไปตามการเมือง ซึ่งต้องชมเชยกองทัพของทั้ง 2 ประเทศ มิฉะนั้นก็ต้องรบกัน พาลูกหลานชาวบ้านไปตายโดยเปล่าประโยชน์

สื่อมวลชนของทั้ง 2 ประเทศ ก็พลอยไปเล่นการเมืองกับเขาด้วย ไม่ทำหน้าที่อย่างสร้างสรรค์ ไม่เคยศึกษา ไม่อ่านบันทึกของอาจารย์ ดร.บวรศักดิ์ ดร.ชาญวิทย์ คำพิพากษาของศาลโลกก็คงไม่อ่านอยู่แล้ว

ถ้าเรื่องไปถึงคณะมนตรีความมั่นคง คณะมนตรีความมั่นคงไม่มีทางเลือกต้องกลับไปที่ศาลโลกให้ตัดสินให้ชัดเจนว่า พื้นที่ 4.6 ตร.ก.ม.เป็นส่วนหนึ่งของปราสาทหรือไม่ เราก็ไม่มีทางเลือกเพราะได้เคยตกลงให้ศาลโลกพิจารณามาแล้ว

คิดอย่างสามัญสำนึก โอกาสที่เราจะแพ้น่าจะสูงกว่าโอกาสที่จะชนะ ทางที่ดีปล่อยให้คลุมเครือดีกว่าให้ศาลโลกตัดสินอีกครั้ง โดยถือว่าเป็นประโยชน์ร่วมกัน น่าเสียใจ ที่เราไปเล่นการเมืองกันจนวิถีทางการแก้ปัญหาที่พัฒนามาด้วยดีนั้น กำลังพังทลายลง พอรัฐบาลจะลงก็ต้องหาบันไดลง

แต่ก็มีคนกำลังจะชักบันไดออกไม่ให้ลง