โลกแบน!

อยู่ “ไทยแลนด์” ไม่ว่าจะ “ยิ้ม” หรือ “แยกเขี้ยว” ก็ต้องทำใจ “เชื่อ” ทุกสิ่งที่ “ผู้มีอำนาจ” พูด เพราะมิฉะนั้นอาจกลายเป็นพวก “ไม่รักชาติ ไม่รักสถาบัน”

ข้อหาเป็นพวกนอกคอก ป่วนเมือง หรือก่อการร้าย จึงอยู่ที่ “ผู้มีอำนาจ” จะประเคนหรือยัดเยียดให้ เหมือน “ไพร่ไม่มีเส้น” ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยและความยุติธรรม กลับกลายเป็นพวกก่อการร้ายและล้มสถาบัน

เพราะ “ศูนย์อับเฉา” มีอำนาจตาม “พ.ร.ก.ฉกฉวย” จะเรียกใคร จะกล่าวหาใคร จะระงับยับยั้งไม่ให้ใครเดินทาง ไม่ให้ใครใช้เงิน ก็ทำได้ แค่ “คิดว่า” หรือ “สงสัย” ว่าใครก็ตามที่เข้าข่ายเป็น “ภัย” กับความมั่นคง “ของกูและพวกกู”

อยู่ “ไทยแลนด์” จึงต้องเชื่อว่า “โลกแบน” อย่างพาดปก “โลกวันนี้วันสุข”!

ใครอยู่ประเทศนี้หากบังอาจเชื่อว่า “โลกกลม” ก็เท่ากับทำตัวเป็น “ภัย” กับความมั่นคง เป็นพวกไม่รักชาติ ไม่รักสถาบัน!

จึงไม่แปลกที่ “บิ๊กดีแต่ไอ” คิดจะเปลี่ยนข้อหา “ไพร่กลุ่มฮาร์ดคอร์” จากความผิด “พ.ร.ก.ฉกฉวย” ที่ติดคุกแค่ 2 ปี เป็น “ผู้ก่อการร้าย” ที่มีโทษถึงประหารชีวิต แค่เพราะจะเลิกใช้ “พ.ร.ก.ฉกฉวย” และกลัว “คนไม่ได้ฆ่าคน ไม่ได้ทำร้ายคน” จะลอยนวล!

แต่ “บิ๊กดีแต่ไอ” กลับทำเหมือนคนตาบอดหูหนวกปล่อยให้ “คนสั่งฆ่าลอยหน้า คนฆ่าลอยนวล”

ถ้าบ้านเมืองที่มี “เสาหลักปักคอนกรีต” ไม่ได้เป็น “เสาหลักปักขี้เลน” ก็ต้อง “งง” เป็น “ไก่ตาแตก” ถึงอำนาจที่ล้นฟ้าคับแผ่นดิน จะกล่าวหา ใส่ร้าย ให้ “ใครเป็น-ใครตาย” ก็ได้ในพริบตา

ทำเหมือนบ้านเมืองมีแต่ “ศาลพระภูมิ”!

“ผู้มีอำนาจ” ใน “ไทยแลนด์” จึงเปรียบเหมือน “เทวดา” ที่อยู่เหนือ “มนุษย์ขี้เหม็น”

ดังนั้น พวกหัวแดง หัวดำ หัวทอง ตาตี่ ตาโต ถ้าเข้ามาอยู่บนแผ่นดิน “ไทยแลนด์” จึงต้องท่องจำ “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม” จะทำอะไรอย่างที่เคยอยู่บ้านเกิดเมืองนอนตัวเองไม่ได้

อย่างที่ “เทพอมสาก”แสดงบารมี “ใหญ่คับแผ่นดิน” เตือน “บิ๊กอาทิตย์อุทัย” อย่าคิดเป็น “มหาอำนาจ” แล้วจะเอาอะไรให้ได้ดังใจทุกอย่าง!

แค่ “ตายคนเดียว” จะโวยวายไปทำไม เพราะเพิ่งผ่านไปแค่ 6 เดือนจะเอาหลักฐาน “กระสุน” ว่ายิงจากทิศทางไหน ชนิดอะไร และยิงจากอาวุธอะไร?

ขนาด “6 ตุลาคม 2519” คนตายเป็นเบือ ผ่านมากว่า 34 ปีทุกคนที่อยู่ “ไทยแลนด์” ยังยิ้มและหน้าชื่นตาบาน ไม่มีใครสนใจว่า “มีคนตายเท่าไร”

เพราะ “ศาลพระภูมิ” ไม่ได้บอกว่าใครผิด ใครสั่งฆ่า และใครฆ่า?

เพราะที่นี่คือ “ไทยแลนด์” ทุกคนต้องเชื่อว่า “โลกแบน” และต้องยอมรับว่า “กฎหมาย” ที่นี่ไม่มี “ย.ยักษ์”

อยู่ที่นี่…จึงต้องเคารพ “กฎหมา (ย)” และ “ศาลพระภูมิ”!

ที่มา : โลกวันนี้ 17 ธันวาคม 2553

 


คำเตือน!! ควรบริโภคก่อนวันหมดอายุ

“แม้ว่าต่อมาวันที่ 21 เมษายน 2553 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะมีมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุมครั้งที่ 43/2553 เห็นชอบให้ผู้ร้องในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรค การเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 93 กระบวนการดังกล่าวข้างต้นเป็นการตรวจสอบภายในองค์กร และเป็นเพียงการยืนยันการปรับบทบังคับใช้กฎ หมายให้ชัดเจนภายในองค์กรที่ยังคงต้องอยู่ภายในบังคับตามระยะเวลาที่ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 93 วรรค 2 กำหนดว่าต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2552 อันเป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเสียงข้างมากในการพิจารณารายงาน ของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนชุดที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติแต่งตั้งนาย อิสระ หลิมศิริวงศ์ เป็นประธานในครั้งแรก และถือว่าเป็นวันที่ความปรากฏต่อผู้ร้องในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองด้วย

เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ในวันที่ 26 เมษายน 2553 จึงพ้นระยะเวลา 15 วันตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคของผู้ถูกร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ชอบที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาวินิจฉัยคำร้องในประเด็นอื่นอีกต่อไป ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยโดยเสียงข้างมาก 4 ต่อ 2 ว่ากระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีนี้จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในกรณีอื่นอีกต่อไป ให้ยกคำร้อง”

ทันทีที่มีคำวินิจฉัยของตุลาการศาลธรรมนูญก็เกิดการวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ในแง่มุมต่างๆ เพราะคดียุบพรรคประชาธิปัตย์กรณีใช้เงินกองทุน 29 ล้านบาทผิดวัตถุประสงค์ถือเป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะอาจทำให้กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ 2 ชุดต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี รวมทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

ข้อกฎหมายกับข้อเท็จจริง

แม้ตามหลักกฎหมายสากลการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ผิดที่ พิจารณากระบวนการอันได้มาซึ่งข้อเท็จจริง การสอบสวนและการยื่นคำร้องว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เมื่อวินิจฉัยแล้วเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายและยกคำร้องจึงไม่มีการวินิจฉัยใน แง่ของข้อเท็จจริง

แต่นางสดศรี สัตยธรรม กกต. ยืนยันว่าไม่ได้ละเลยเรื่องกำหนดเวลาแต่อย่างใด แต่มีการตีความเรื่องหมดอายุความ โดยเห็นว่านายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. ที่ออกความเห็นในการประชุมครั้งแรกให้ยกคำร้องในคดีดังกล่าวนั้น ที่ประชุมได้สอบถามว่าเป็นความเห็นในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองหรือไม่ ซึ่งนายอภิชาตยืนยันว่าเป็นการออกความเห็นในฐานะประธาน กกต. จึงให้ตั้งคณะกรรมการสอบเพิ่มในกรณีนี้ และใช้เวลาในการสอบ 3 เดือน จนถึงวันที่ 12 เมษายน 2553 จึงสอบเสร็จและเสนอกลับมาว่าสมควรฟ้องร้องให้มีการยุบพรรค ซึ่งนายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญจึงเสนอให้มีการลงมติร่วม กันของ กกต.

การนับอายุความจึงไม่ใช่วันที่ 17 ธันวาคม 2552 อย่างที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทั้ง กกต. ยึดบรรทัดฐานจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้คำวินิจฉัยที่ 18-19 และ 22/2550 เรื่องยุบพรรคธัมมาธิปไตย พลังธรรม และพรรคธรรมชาติ เรื่องการใช้เงินกองทุนสนับสนุนพรรคการเมืองผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งศาลวินิจฉัยประเด็น 15 วันตามมาตรา 65 วรรค 2 พ.ร.บ.พรรคการเมือง 2541 ที่ว่าคำว่า “ความปรากฏต่อนายทะเบียน” หมายถึงอะไ

เช่นเดียวกับนายธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการ กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง ยืนยันว่า กกต. ยึดหลักข้อกฎหมายและคำวินิจฉัยที่ผ่านมา 3 ครั้งของศาลรัฐธรรมนูญ จึงเห็นว่าความผิดปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองคือ วันที่ 12 เมษายน 2553 นายทะเบียนจึงมีความเห็นและลงมติให้ยื่นคำร้องต่อศาล

“เรื่องเงื่อนไข 15 วันเรารู้มาโดยตลอด ไม่ใช่ไม่รู้ อีกทั้งยังได้ยึดหลักคำวินิจฉัยของศาลเป็นแนวทางมาโดยตลอด และคดีนี้ถือว่ายังไม่ขาดอายุความถ้าตามแนวปฏิบัติเดิมที่ศาลเคยวินิจฉัยไว้ อีกทั้งเรื่องนี้มีเพียงตุลาการท่านเดียวที่เห็นว่าคดีหมดอายุความเกินเวลา 15 วันตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนตุลาการอีก 3 คนเห็นในประเด็นอื่นที่เราถือว่ายอมรับได้ ยืนยันว่าทำอย่างถูกต้อง รอบคอบ และเต็มที่ ไม่รู้สึกถอดใจหรือหมดกำลังใจ”

อ่านคำวินิจฉัยส่วนตัว

ด้านนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กลับไม่ต้องการโต้แย้งกับ กกต. เรื่องอายุความ เพราะถือว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ทำคำวินิจฉัยไปแล้ว และจะเป็นการตอบโต้กันไม่รู้จักจบ แต่จะเปิดโอกาสให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์ได้ ในฐานะเป็นคนตัดสินคดีจำเป็นต้องรับฟังและนำไปวิเคราะห์วิจัยกันต่อไป ไม่ใช่ออกมาโต้เถียงกันทุกเรื่อง แต่หากข้อมูลคลาดเคลื่อนก็จำเป็นจะต้องออกมาชี้แจง

นายจรัญระบุว่า หากสังคมต้องการฟังความคิดเห็นขององค์คณะอยากแนะนำให้ไปอ่านในคำวินิจฉัย ส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะข้อมูลที่ออกมาคลาดเคลื่อนมาก คณะตุลาการทั้ง 6 คนทำการบ้านมาทุกประเด็น ไม่มีใครรู้ธงคำตอบของตุลาการแต่ละคนมาก่อนล่วงหน้า เมื่อลงมติทีละประเด็น และเมื่อประเด็นข้อกฎหมายไม่ผ่าน การลงมติในข้ออื่นๆจึงไม่ทำ

กองทัพหนุน

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการและนักกฎหมายตั้งข้อสงสัยเรื่องอายุความคล้ายกันว่า หากคำร้องตกไปเพราะยื่นเกินกำหนด 15 วัน ทำไมศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่ชี้ขาดเรื่องนี้ตั้งแต่แรก ทำไมปล่อยให้มีการต่อสู้คดีและนำสืบนานนับปี

ขณะที่สำนักข่าวบีบีซีวิเคราะห์ทำนองเดียวกันว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการยื่นคำร้องไม่ถูกต้องแล้วทำไมต้องมีการไต่สวน คดีนานหลายเดือน ประเด็นนี้จึงอาจทำให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลโกรธแค้นได้

ด้านสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า คำตัดสินดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายเคลือบแคลงใจ โดยเฉพาะฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลที่เชื่อว่ามี 2 มาตรฐาน แต่มีบางฝ่ายเชื่อว่าคนในกองทัพที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์คงไม่ยอมให้มี การยุบพรรคแน่นอน

ส่วนสำนักข่าวเอพีเห็นว่า แม้พรรคประชาธิปัตย์และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะรอดพ้นจากวิบากกรรมครั้งนี้ แต่จะนำไปสู่แรงกดดันต่อศาลรัฐธรรมนูญมากขึ้น โดยเฉพาะคดีเงินบริจาค 258 ล้านบาท เช่นเดียวกับสำนักข่าวรอยเตอร์วิเคราะห์ว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์มีกองทัพสนับสนุน แม้จะมีปัญหาด้านเสถียรภาพก็ตาม

2 มาตรฐาน

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แม้จะยังสงสัยเรื่องนายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องเรื่องนี้เกินเวลา 15 วัน แต่ยังขาดคำอธิบายว่าทำไมถึงนับแบบนี้ และมีผลให้คำร้องตกไปยิ่งต้องอธิบาย อย่างไรก็ตาม เห็นว่าข้อบกพร่องในกระบวนการไม่น่าจะส่งผลให้เรื่องเป็นโมฆะหรือตกไปทุก เรื่อง

เช่นเดียวกับนายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า กรณีคดีมหาชน คดีปกครอง คดีศาลรัฐธรรมนูญ และคดีการเมือง หากเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนไม่ควรเคร่งครัดหรือนำมาบังคับใช้เรื่องอายุความ เหมือนกรณีศาลปกครองรับคดีที่ชาวบ้านฟ้องจำนวนมาก ซึ่งพ้นอายุความแล้ว แต่เพื่อประโยชน์ของสังคมและสาธารณชนศาลก็รับฟ้อง

นายเจษฎ์ โทณะวณิก อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า หากศาลรัฐธรรมนูญชี้แจงเรื่อง 15 วันไม่ชัดเจนก็เหมือนกับการเลี่ยงเนื้อหา และทำให้เกิดคำถามตามมาว่าทำไมกรณีนี้ไม่ผิด ทำไมกรณีนี้เลินเล่อได้ แล้วทำไมตอนพิจารณาคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่เป็นแบบนี้ ทำให้มีการนำไปเทียบกับพรรคอื่นๆก่อนหน้านี้ที่ถูกตัดสินยุบพรรค ซึ่งล้วนพิจารณาโดยเนื้อหาทั้งหมด

นายอัษฎางค์ ปาณิกบุตร นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ กลับรู้สึกกลัวนักกฎหมาย เพราะสามารถหาทางออกได้แทบทุกประเด็น ขนาดยังไม่ได้พิจารณาเลยว่าถูกหรือผิด แต่กลับหาช่องทางและวินิจฉัยได้เก่ง จึงต้องดูว่าต่อไปสังคมจะมองอย่างไร

คำวินิจฉัยโมฆะ

แต่ที่น่าสนใจคือความเห็นของนายจุมพล ณ สงขลา อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่าองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหลือเพียง 6 คนนั้นตัดสินคดีนี้ไม่ได้ เพราะการตัดสินต้องมีเสียงชี้ขาด เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้องค์คณะมี 15 คน หรือ 9 คน เพื่อให้องค์คณะตัดสินเป็นเอกฉันท์ หาเสียงข้างมากได้

“รู้ได้อย่างไร ยังไม่ฟังคำแถลงการณ์ ยังไม่พิจารณาคดี คุณหาเสียงข้างมากได้อย่างไร ขอย้ำว่าองค์คณะตุลาการต้องมีเสียงชี้ขาดเด็ดขาด”

นายจุมพลฟันธงว่า ถ้าพิจารณาในแง่กฎหมายจริงๆ การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ต้องถือเป็นโมฆะ ใช้ไม่ได้

เพื่อไทยยื่นถอดถอน

การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้จึงไม่เพียงสร้างความเคลือบแคลง สงสัยให้แก่ประชาชนทั่วไป ยังอาจทำให้เห็นว่าสังคมไทยทำอะไรผิดแต่ไม่ถูกลงโทษ หากสามารถนำเทคนิคทางกฎหมายมาใช้ ถ้าเป็นความผิดทั่วไปไม่อาจปฏิเสธว่ามีเรื่องอำนาจและการวิ่งเต้นที่ไม่ชอบ ด้วยกฎหมายมากมาย แต่ไม่ควรเกิดกับคดีที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของบ้านเมือง คดีปกครอง หรือคดีการเมือง

ด้านนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เห็นว่าการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ถือว่าทำผิดอย่างมาก เพราะต้องชี้ประเด็นสาระของเนื้อหาว่าผิดหรือไม่ผิดแล้วค่อยยกฟ้องเนื่องจาก คดีหมดอายุความ เพื่อทำให้ประชาชนไม่มีข้อกังขา ยิ่งมีคลิปวิดีโอแพร่ออกมายิ่งทำให้มีคนเชื่อว่าศาลยืนข้างพรรคประชาธิปัตย์ แต่มีอคติกับพรรคเพื่อไทยและ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้นไปอีก

ขณะที่พรรคเพื่อไทยเตรียมหารือกันจะฟ้องร้องเพื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐ ธรรมนูญทั้ง 6 คน เช่นเดียวกลุ่ม 24 มิถุนาเพื่อประชาธิปไตยประกาศจะเข้าแจ้งความกับกองปราบปรามให้ดำเนินคดีกับ กกต. ตามมาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเตรียมรวบรวมรายชื่อประชาชน 20,000 รายชื่อเพื่อยื่นถอดถอน กกต. และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เห็นว่า คำวินิจฉัยทำให้กระทบกระเทือนต่อระบบมากกว่าคำตัดสินยุบพรรคประชาธิปัตย์ เสียอีก และยังเป็นการทิ้งปมปัญหาให้กับ กกต. เรื่องความน่าเชื่อถืออีกด้วย จึงคิดว่าจากนี้ไปผู้คนจำนวนไม่น้อยอาจจะไม่หวังพึ่งระบบของประเทศอีก และอาจเกิดวิกฤตทางการเมืองอย่างรุนแรง เกิดความขัดแย้งวุ่นวายมากขึ้น

ขณะเดียวกันสังคมต้องออกมาเรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งคณะลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบ เนื่องจากไม่มีความชอบธรรมในการพิจารณาคดี 258 ล้านบาท หรือคดีอื่นๆอีกแม้แต่น้อย ศาลรัฐธรรมนูญมีผลต่อการล้มรัฐบาล ปลดนายกรัฐมนตรีโดยการเปิดพจนานุกรมยุบพรรคการเมือง ทั้งยังมีกรณีคลิปฉาวที่คนในสังคมยังเคลือบแคลงสงสัยอีก

“ขอย้ำว่าหากในระยะยาวจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรแก้เรื่องที่มาของ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ถูกต้องกว่านี้ และสามารถตรวจสอบได้มากกว่าปัจจุบัน วันนี้คงไม่มีใครคิดใช้ความรุนแรงต่อศาล หรือทำร้ายศาล ซึ่งผมก็ไม่เห็นด้วย แต่ต้องเปิดโอกาสให้มีการวิพากษ์วิจารณ์และโต้แย้งทางความคิด”

ยุคมืดองค์กรอิสระ

กรณีศาลรัฐธรรมนูญและ กกต. จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามีผลกระทบต่อองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอย่างหลีกเลี่ยง ไม่ได้ เพราะองค์กรอิสระถือเป็นองค์กรของรัฐที่มีสถานะพิเศษ ซึ่งได้รับหลักประกันให้สามารถปฏิบัติภารกิจหน้าที่ได้โดยอิสระ ปลอดพ้นจากการแทรกแซงขององค์กรรัฐอื่น หรือสถาบันการเมืองอื่น รวมทั้งอยู่เหนือกระแสและการกดดันใดๆที่เกิดขึ้นภายในสังคมในช่วงเวลาใดเวลา หนึ่ง

องค์กรอิสระจึงเป็นองค์กรตรวจสอบสำคัญในระบอบประชาธิปไตย ผู้เข้ามาสู่อำนาจจึงต้องไม่ฝักใฝ่ทางการเมืองฝ่ายใด ไม่มีอคติ ไม่ลำเอียงเพราะรัก โลภ โกรธ หลง กลัว ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรมและชอบธรรม

ปรากฏว่านับตั้งแต่มีการตั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญปี 2540 องค์กรอิสระหลายองค์กรถูกวิพากษ์ วิจารณ์ว่าถูกแทรกแซงโดยผู้มีอำนาจทางการเมืองและผู้มีอำนาจรัฐ โดยเฉพาะองค์กรอิสระที่มีอำนาจ เช่น กกต. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งยังมีปัญหาการทุจริตต่อหน้าที่จนศาลตัดสินลงโทษ เช่น ป.ป.ช. และ กกต. บางชุด

การแทรกแซงองค์กรอิสระจึงมีตั้งแต่กระบวนการสรรหาผู้จะเข้าสู่อำนาจ ซึ่งพรรคการเมืองและกลุ่มอำนาจต่างๆจะส่งคนของตนเข้ามา หลังจากนั้นจะมีการล็อบบี้กรรมการสรรหาจนถึงขั้นตอนของวุฒิสภา เมื่อได้เป็นกรรมการหรือตุลาการในองค์กรอิสระแล้วก็ใช้อำนาจเงินและอำนาจรัฐ ให้วินิจฉัยตามที่ต้องการโดยการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ต่างๆ

ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร องค์กรอิสระถูกกล่าวหาว่ารัฐบาลใช้อำนาจรัฐแทรกแซงและไม่มีความยุติธรรม จนกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นหนึ่งในข้ออ้างการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

แต่องค์กรอิสระหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกมองว่าเป็นร่างทรงของเผด็จการหรือสืบทอดอำนาจเผด็จการ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างเลวร้ายกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 เพราะมีการตั้งพวกพ้องเข้ามาคุม นอกจากนี้ยังใช้อำนาจคณะรัฐประหารกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งยาวนานกว่าปรกติ โดยอาศัยบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 299 เช่น กกต. ให้ดำรงตำแหน่งไปอีก 5 ปี ป.ป.ช. ให้ดำรงตำแหน่งเกือบ 6 ปี

เปลี่ยนขาวเป็นดำได้

“ถ้าคนรู้กฎหมายจริงจะรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ถ้าต้องไปช่วยคนอื่นแล้วไม่ถูก ซึ่งทำได้ กฎหมายสามารถทำให้ขาวเป็นดำ ดำเป็นขาวได้ ถ้าคนไม่มีคุณธรรม อันนี้ต้องระวัง”

คำพูดของนายอักขราทร จุฬารัตน อดีตประธานศาลปกครองสูงสุด สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่ากระบวนการยุติธรรมนั้นเป็นอันตรายอย่างไร หากศาลหรือตุลาการไม่สุจริตเที่ยงธรรม หรือถูกนำไปเป็นเครื่องมือสำคัญของฝ่ายการเมืองและกลุ่มอำนาจต่างๆใช้ทำลาย ล้างฝ่ายตรงข้ามได้

อย่างคำว่า “ตุลาการภิวัฒน์” ที่ทำให้ศาลถูกดึงเข้ามาแก้ปัญหาการเมืองเพื่อทำให้สังคมเกิดความยุติธรรม และเสมอภาคกันอย่างแท้จริง แต่ที่ผ่านมากลับมีการนำกระบวนการยุติธรรมไปบิดเบือนเพื่อเป็นเครื่องมือของ ผู้มีอำนาจทางการเมือง จนเกิดวิกฤตศรัทธากับฝ่ายตุลาการอย่างร้ายแรง จน “ตุลาการภิวัฒน์” กลายเป็น “ตุลาการพิบัติ”

เหมือนกรณีศาลรัฐธรรมนูญที่กำลังถูกท้าทายทั้งเรื่องของ “คลิปฉาว” และการวินิจฉัยคดีต่างๆ โดยเฉพาะคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถูกถามถึงจริยธรรม และคุณธรรม เพราะประชาชนชักไม่แน่ใจว่าอะไรขาว อะไรดำ อะไรผิด อะไรถูก อะไรดี อะไรชั่ว คำว่า “คนดี” ดีจริงหรือไม่ อย่างไร? หรือเป็น “คนดี” สำหรับใคร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือตุลาการไหนๆ ใครจะกล้ารับประกันว่าเป็น “คนดี” กว่าปุถุชนจริงหรือไม่?

แม้แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเองยังไม่มีคำตอบ มีแต่เหตุผลทางข้อกฎหมายที่คลุมเครือว่ายึดอะไรเป็นบรรทัดฐาน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยในประเด็นเดียวกันแต่กลับ วินิจฉัยอีกแบบหนึ่ง จนมีคำถามว่าเป็นการใช้เทคนิคทางกฎหมาย หรือใช้การวินิจฉัยอย่างสุจริตเที่ยงธรรมตามหลักกฎหมาย

เพราะหากกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถตัดสินชี้ขาดได้ว่าใครเป็นคนดี ใครเป็นคนชั่ว ใครทำผิด ใครทำถูก ก็เท่ากับเป็นยุคมืดของบ้านเมือง เหมือนรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า อำนาจประชาธิปไตยเป็นของประชาชน แต่กลับถูกกลุ่มเผด็จการและนักการเมืองฉ้อฉลแย่งอำนาจไป แล้วอ้างอำนาจเผด็จการเป็นอำนาจที่ชอบธรรม ซึ่งเหมือนเป็นการดูถูกและตบหน้าประชาชน

แต่วันนี้ประชาชนไม่ได้กินหญ้า จึงเริ่ม “ตาสว่าง” และรู้ดีว่าอะไรขาว อะไรดำ อะไรถูก อะไรผิด ใครเป็นคนดี ใครเป็นคนชั่ว ใครเป็นผู้บริสุทธิ์ ใครเป็นฆาตกร

ความจริงที่หนีไม่พ้นก็คือ ไม่มีผู้มีอำนาจใดหรือรัฐบาลใดอยู่ได้หากประชาชนไม่ต้องการ!

ไม่ใช่มีแต่ “คดี” เท่านั้นที่มีวันหมดอายุ!

“สรรพสิ่ง” ล้วนมีวันหมดอายุ…“คน” ก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่ายากดีมีจนหรือชนชั้นใด…ล้วนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น

..เพียงแต่มิได้ระบุ “วันหมดอายุ” ล่วงหน้าไว้ข้างกล่อง (ใส่ศพ) เท่านั้น!!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 288 วันที่ 4-10 ธันวาคม พ.ศ. 2553 หน้า 16 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน


ปากกาอยู่ที่มัน

นิติราษฎร์ชวนอ่าน บทความของ สถิตย์ ไพเราะ ผู้พิพากษาอาวุโส อยุธยา ที่เคยเขียนไว้เมื่อกลางปีนี้ ใน รพี สมัยที่ 61 สิงหาคม 2553 สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

นักศึกษาหลายท่านมาถามผมเสมอๆ ว่า เหตุใดศาลจึงมีคำวินิจฉัยอย่างนั้นอย่างนี้  เป็นการวินิจฉัยสองมาตรฐานหรือไม่มีมาตรฐาน  ข้อนี้ตอบแบบกำปั้นทุบดิน  ก็ต้องตอบว่าเรื่องของความเห็นเป็นเรื่องยากที่จะชี้ลงไปได้ว่าใครถูกใครผิด  ยิ่งคนธรรมไม่เสมอกันแล้วไม่มีทางจะเห็นตรงกันได้

เรื่องการวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาของศาลนั้นไม่ใช่เพิ่งมีในขณะนี้  มีมาแต่โบราณกาลแล้วในหนังสือมูลบทบรรพกิจ  ซึ่งเป็นตำราเรียนในสมัยก่อนเขียนวิจารณ์ศาลไว้ว่า

คดีที่มีคู่ (ความ) คือไก่หมูเจ้าสุภา
เอาไก่เอาหมูมา (ให้) เจ้าสุภาก็ว่าดี
ที่แพ้แก้ (ให้) ชนะไม่ถือพระประเวณี
ขี้ฉ้อก็ ได้ดีไล่ด่าตีมีอาญา

และวิจารณ์พระภิกษุไว้ว่า

ภิกษุสมณะหรือก็ละพระสธรรม
คาถาว่าลำนำไปเร่รำทำเฉโก

เมื่อครั้งผมเป็นนักศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  อาจารย์ผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายเล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนกฎหมายและวิธี พิจารณาในศาลยุ่งเหยิง  ไม่มีมาตรฐานเป็นเหตุให้เซอร์ยอน เบราลิ่ง ผู้แทนรัฐบาลอังกฤษไม่ยอมรับอำนาจกฎหมายและศาลไทยและท่านได้เล่านิทานให้ฟังว่า

ครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีเจ๊กมาจากเมืองจีนถือหลักตามที่พระพุทธเจ้าสอนว่า  อุตฐาตา วินธเต  ธนัง  แปลว่า ผู้หมั่นย่อมหาทรัพย์ได้จึงทำงาน ๘ วันในหนึ่งสัปดาห์  แม้จะเคยมีเสื่อผืนหมอนใบ  ต่อมาก็ร่ำรวยเป็นเจ้าสัวได้

ส่วนคนไทยรำพึงว่า  เช้าหนอ  สายหนอ  ร้อนหนอ  บ่ายหนอ  แล้วก็ไม่ทำงาน และอ้างเหตุว่าพระสอนว่าคนเราเกิดมาตัวเปล่าตายก็เปล่า  เอาทรัพย์อะไรไปไม่ได้  จะไปทำมาหาทรัพย์ไว้ทำไม

นอกจากนั้นคนไทยยังมีคุณสมบัติ ๔ ข้อ คือ ขี้โม้  ขี้อิจฉา ขี้โกง และขี้เกียจ  โดยเฉพาะคุณสมบัติข้อสุดท้าย  ทำให้คนไทยยากจน  แต่บังเอิญบ้านคนไทยปลูกติดอยู่กับบ้านเจ๊ก  คนไทยขี้อิจฉาคนนั้นหมั่นไส้ว่าเจ๊กรวย  วันดีคืนดี (ความจริงวันร้ายคืนร้าย) ก็ย่องเอาก้อนอิฐไปปาบ้านเจ๊ก  เจ๊กจึงไปแจ้งความ  เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสอบสวนแล้วก็ส่งเรื่องให้ขุนประเคนคดี  พนักงานอัยการฟ้องศาลซึ่งมีหลวงสันทัดกรณีเป็นผู้พิพากษา

หลวงสันทัดกรณีสืบพยานฟังข้อเท็จจริงแล้ว  พิพากษาว่า

ไทยปาเรือนเจ๊ก
ไม่ถูกลูกเด็ก
ท่านว่าไม่เป็นไร
ให้ ยกฟ้อง

เจ๊กกลับบ้านไปด้วยความผิดหวังและรำพึงว่า  เมื่อศาลไม่มีจะฟ้องร้องก็ต้องประลองฝีมือกัน  วันดีคืนดี (ความจริงวันร้ายคืนร้าย) เจ๊กก็เอาก้อนอิฐไปปาบ้านไทย  คนไทยก็ไปแจ้งความ  และขุนประเคนคดี พนักงานอัยการ  ก็นำคดีไปฟ้องศาลซึ่งมีหลวงสันทัดกรณีเป็นผู้พิพากษา  หลวงสันทัดกรณีสืบพยานฟังข้อเท็จริงแล้วพิพากษาว่า

เจ๊กปาเรือนไทย
แม้ไม่ถูกใคร
แต่ผีเรือนตกใจ
ให้ ไหมสามตำลึง

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  การมีผีเรือนทำให้ชนะคดีได้

อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องประสบการณ์ในชีวิตของผมเอง

เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๑๓ ผมไปรับราชการเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครราชสีมา  ผมประจำอยู่ที่บัลลังก์ ๑๔ ซึ่งอยู่

ทางปีกด้านตะวันออกของอาคารศาล  จากห้องพักผู้พิพากษาต้องเดินผ่านระเบียงระยะทางประมาณ ๓๐ – ๔๐ เมตร

วันหนึ่งผมมีสำนวนที่จะต้องพิจารณา ๔ – ๕ สำนวน ผมก็ออกไปที่บัลลังก์ ๑๔ ตามปกติ

คดีเรื่องแรกเป็นคดีแพ่ง  ทนายโจทก์แถลงว่า  เอกสารที่โจทก์ขอให้ศาลออกคำสั่งเรียกไปยังธนาคาร  ธนาคารยังไม่ส่งมาให้  โจทก์มีความจำเป็นต้องใช้เอกสารดังกล่าวถามพยานให้รับรองข้อความ  ไม่อาจสืบพยานโจทก์ไปในวันนี้ได้  ขอเลื่อน  ศาลสอบจำเลยแล้วไม่ค้าน  ศาลให้เลื่อนไปได้

คดีที่สองเป็นคดีอาญา  โจทก์แถลงว่า  พยานมาศาลหนึ่งปากพร้อมจะสืบได้  จำเลยแถลงคัดค้านว่า  พยานที่มาศาลวันนี้เป็นพยานคู่กับพยานที่ไม่มาศาล หากสืบไม่พร้อมกันจำเลยจะเสียเปรียบเพราะไม่ได้ถามค้านพยานในวันเดียวกัน  ขอให้เลื่อนไปเพื่อสืบพยานคู่ดังกล่าวในวันเดียวกัน  ศาลสอบโจทก์แล้วไม่ค้าน  ศาลอนุญาตให้เลื่อนคดีไป

คดีที่เหลือก็ต้องเลื่อนไปด้วยเหตุต่าง ๆ จนหมด  เมื่อผมจดรายงานกระบวนพิจารณาเลื่อนคดีไปหมดแล้ว  ก็ลงจากบัลลังก์เดินไปตามระเบียงเพื่อจะกลับห้องพัก  ก็ปรากฎว่าเดินไปเกือบจะทันคู่ความคดีแรก  ห่างกันพอได้ยินคำสนทนา  ตัวความถามทนายว่า

“คุณทนาย คดีของผมนี่จะแพ้หรือชนะ”

ทนายความตอบว่า “ผมไม่ทราบหรอกเพราะปากกาอยู่ที่มัน”

คำว่ามันตามคำพูดของทนายความ  หมายถึง ผม

ผมได้ยินดังนั้นก็เดินช้าลงเพื่อไม่ให้ทนายท่านนั้นทราบว่าผมได้ยินคำพูด ของท่านและเพื่อไม่ให้เสียความรู้สึกของทั้งสองฝ่าย

คำตอบของทนายความท่านนั้นยังก้องอยู่ในหูผมจนถึงทุกวันนี้  เวลาผมจะเขียนคำพิพากษาไม่ว่าอยู่ในศาลใด  ผมคำนึงถึงคำพูดของทนายท่านนั้นอยู่เสมอ

และหากผมจะใช้คำตอบของทนายความตอบนักศึกษา คงทำให้นักศึกษาเข้าใจมากกว่าคำตอบทางวิชาการ

ที่มา : เว็บไซต์นิติราษฎร์
โดย : สถิตย์ ไพเราะ



ศาลที่เคารพ ถึงเวลาที่จะต้องตั้งหลัก ตั้งลำกันแล้ว

โดย : ยิ่งยศ สุขวงศ์
ที่มา : มติชนออนไลน์ 17 พ.ย. 2553

ติดตามอ่านข่าว คลิปฉาว เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์มาตลอด แล้วก็ยิ่งเห็นการหลงทางเละเทะของคนที่ตกเป็นข่าว ออกมาแก้ตัวให้เป็นขี้ปากว่า “เป็นการตากหน้ามาแถลงข่าว” เป็นการ “ออกหน้าแทนเพื่อน”

อ่านแล้วใจหนึ่งก็ปลงว่าถึงคราวซวย อีกใจก็อดสงสารไม่ได้ในความสัมพันธ์ที่ผู้เขียนมีส่วนรู้จักกับตุลาการศาล นี้บางคน (ไม่ใช่คนที่เป็นข่าว) ในฐานะ “น้อง” ที่ตุลาการรุ่นพี่เพื่อนซี้กันเขาพาออกงานฝากฝัง “น้องเล็ก” ตอนที่เป็นผู้พิพากษาฝึกหัด ให้ได้ร่วมวงเล่นเทนนิสด้วยกัน

ในสนามเทนนิสที่ผู้เขียนเป็นนายสนามอยู่นั้น มีผู้พิพากษาทุกศาลทั้งแพ่ง อุทธรณ์ ฎีกา มาร่วมวงคับคั่ง เพราะเราเลือกเอาวันหยุดราชการเสาร์ อาทิตย์ วันนักขัตฤกษ์ เป็นวันนัด จากเช้ามืดถึงเที่ยงวัน เป็นที่สนุกสนานครื้นเครงเป็นอันดี แถมมีนายทหารใหญ่ นายตำรวจใหญ่มาร่วมวง กลายเป็นวงเสวนาที่มีความน่ารัก น่านับถือ เมื่อระดับ “บิ๊กๆ” เขาคุยกัน ให้เกียรตินอบน้อมถ่อมตนให้แก่กัน

ติดตาติดใจในความนอบน้อมถ่อมตนของเหล่าท่านตุลาการนั้นๆ ตลอดมา และให้ความเอ็นดูแก่ผู้พิพากษาที่อ่อนอาวุโสกว่า ที่เขาจะยกยอให้เรียกขานว่า “พี่”

แล้วพี่คนนี้ก็เป็นคนพูดจาโผงผาง จนเป็นที่เกรงใจในความเสียงดัง ที่พวกน้องๆ เขาจะแปลความหมาย “เดี๋ยวพี่เขาด่าเข้าให้”

สิ่งที่เตือนเหล่าน้องๆ เป็นสำคัญ ก็คือ…”อย่าไปเล่นกอล์ฟเป็นอันขาด” ให้อรรถาธิบายว่า “กอล์ฟมันประกบติดตัว พูดคุยกันได้เป็นชั่วโมง แล้วค่ากรีนมันก็แพงกว่าค่าสนามเทนนิสเป็น 1,000 กว่าบาท โดยนิสัยของคนไทยเรา เมื่อได้คบหามีไมตรีต่อกัน ช่วยเหลือเจือจานออกค่ากรีนให้เป็นประจำ แถมยังมีการเลี้ยงจากเดิมพันที่ได้ในการพนันแต่ละหลุม แกล้งแพ้ให้มีเงินติดกระเป๋ากลับบ้านกระชับชิดถึงปานนี้ มีหรือที่จะคงความเป็นไม้บรรทัดอยู่ได้

ใครบางคนจะซึม ซับ…เสียใจกลายเป็นปลาสวยในตู้ที่เลี้ยงไว้อวดโชว์บารมี มีปลาราคาแพงที่ผู้เลี้ยงมีสิทธิที่จะขายต่อ เมื่อผู้ซื้อทุ่มไม่อั้น…ใครบางคนจะกลับตัวเลิกเป็นปลาสวยในตู้ก็ยังไม่ สายนะเออ

จำได้ว่าเคยเขียนบทความเตือนเรื่อง “สองมาตรฐาน” ที่เป็นคำพูดยอดฮิต ที่ปลุกระดมให้ชุมนุม ให้เกลียดชังล้มล้างรัฐบาล ให้มีการเลือกตั้งใหม่ ว่าให้ใช้หลักกฎหมายในการโต้แย้ง

นั่นก็คือ “ผู้กล่าวหาต้องเป็นผู้พิสูจน์” แล้วก็ไม่เห็นมีใครทำตาม ทำเหมือนคนมีแผล วัวสันหลังหวะ กลัวความจริงจะไปเปิดเผยในชั้นการให้การในศาล ทำเสียตอนแรกๆ คำนี้ก็ไม่มีใครพล่อยๆ พูดเป็นคำตลาด

มาคราวนี้มันหนักหนาสาหัสถึง ขนาดไม่ขี่ม้าเลียบค่ายให้เสียเวลา

ปล่อยหมัดเด็ดกันตรงๆ เพื่อดิสเครดิตศาล ให้เห็นว่ามีการวิ่งเต้น แทรกแซงศาล

ทำไมไม่ทำให้ เห็นว่า “เป็นการละเมิดอำนาจศาล”

สั่งให้ผู้กล่าวหาพิสูจน์ออกมาว่า “คลิปดังกล่าวมีอยู่จริง เป็นของจริง ไม่ใช่ของปลอม ตัดต่อ มันก็หนีไม่พ้นอยู่ดี ที่จะต้องมีการไล่บี้ไปถึงต้นตอตัวจริง… “มีอยู่จริง” จากนั้นก็มาพิสูจน์ว่า “เป็นของจริง” ไม่มีการตัดต่อทำเสียอย่างนี้ก็จะไม่ถูกเหน็บแนม ตากหน้า ออกหน้า เพราะมันจะเป็นการบังคับให้ต้องไปหามา ไม่ใช่โยนหน้าที่ให้ ตามที่กล่าวหากัน

เว็บต่างๆ ในอินเตอร์เน็ตนั้น ใครก็ทำขึ้นมาได้ แพร่หลายกว่าหนังสือพิมพ์หมื่นเท่าพันทวี

 


คำสอนของอาจารย์สัญญา แด่ผู้พิพากษาตุลาการทั้งหลาย

ที่มา : มติชนออนไลน์ 16 พฤศจิกายน 2553
โดย : สมลักษณ์ จัดกระบวนพล

ท่านได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นเลิศ ปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงตรง อิสระ ปราศจากอคติใดๆ ตามแนวปรัชญาที่ว่า “จงให้ความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที”

เมื่อเอ่ยชื่อ “ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์” ไม่มีบุคคลใดในประเทศไทยโดยเฉพาะนักกฎหมายจะไม่รู้จักท่าน อาจารย์เคยดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา อันเป็นตำแหน่งสูงสุดฝ่ายตุลาการ

เคยเป็นนายกรัฐมนตรี อันเป็นตำแหน่งสูงสุดทางฝ่ายบริหาร

ทั้งยังเคยเป็นรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ อันเป็นตำแหน่งสูงทางฝ่ายนิติบัญญัติ

นอกจากนั้นในทางวิชาการ ท่านเคยเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งยังเคยเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

และสิ่งสูงสุดในชีวิตของท่าน คือการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไว้วางพระราชหฤทัย โปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรี แล้วต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี และปฏิบัติหน้าที่แทบเบื้องพระยุคลบาทในตำแหน่งนี้ตราบจนถึงแก่อสัญกรรม

อาจารย์สัญญาเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขตุลาการ บิดาของท่านเป็นเนติบัณฑิต (สยาม) รุ่นแรก และรับราชการเป็นผู้พิพากษา เมื่ออาจารย์เข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษา ท่านเป็นตุลาการที่เป็นแบบอย่างที่ดีของตุลาการทั้งหลาย ทั้งในด้านความรู้ความสามารถและแนวคิด

ท่านได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นเลิศ ปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงตรง อิสระ ปราศจากอคติใดๆ ตามแนวปรัชญาที่ว่า “จงให้ความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที”

อาจารย์สัญญาเป็นผู้ริเริ่มให้มีการอบรมผู้ ช่วยผู้พิพากษา ผู้ที่ผ่านการสอบคัดเลือกเป็นผู้พิพากษาได้จึงต้องเป็นผู้ช่วยพิพากษา ผ่านการอบรมเสียก่อนจึงจะโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้พิพากษา เมื่อ 40 ปีมาแล้ว

ผู้เขียนผ่านการสอบคัดเลือกเป็นผู้พิพากษาได้ จึงต้องเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาก่อน คือ ผู้ช่วยผู้พิพากษา รุ่น 13 ผู้เขียนได้พบอาจารย์สัญญา เมื่อท่านมาให้การอบรมเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้พิพากษา ผู้เขียนจดจำคำสอนของท่านและนำมาเป็นหลักปฏิบัติตั้งแต่เป็นผู้พิพากษามาจน ถึงได้ปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ ป.ป.ช. คำสอนที่อยู่ในหัวใจของผู้เขียนก็คือ

“ผู้พิพากษาต้องเป็นผู้มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมแต่ความบริสุทธิ์ยุติธรรมนั้น ไม่ใช่เราคิดว่าตัวเรา (ผู้พิพากษา) มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่ต้องให้บุคคลทั่วไปเขาเชื่อว่าเราบริสุทธิ์ยุติธรรมจริง”

ความระแวงสงสัยในเรื่องความบริสุทธิ์ยุติธรรม หากเกิดขึ้นแก่ผู้พิพากษาตุลาการแล้ว ใช่จะทำให้สังคมนั้นปั่นป่วนหวั่นไหวเท่านั้น แม้แต่ฝ่ายผู้พิพากษาตุลาการเองก็จะเกิดความลำบากในการทำหน้าที่ด้วย

เพราะการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาตุลาการต้องขึ้นอยู่กับความศรัทธาของบุคคล หากเกิดความระแวงในความบริสุทธิ์ยุติธรรมเสียแล้ว จะวินิจฉัยสั่งการอะไรออกไป ก็ไม่เกิดความศรัทธาเชื่อถือ การทำงานของผู้พิพากษาตุลาการจะเป็นไปโดยลำบากเป็นอย่างยิ่ง หรืออาจกล่าวได้ว่าเกิด “วิกฤตศรัทธา”

โดยขออ้างอิงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเมื่อผู้เขียนดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดศาลหนึ่ง มีคหบดีของจังหวัดนั้นมาเชิญผู้เขียนและผู้พิพากษาในศาลนั้นไปร่วมงานแซยิด ของบิดาของเขาซึ่งก็จัดขึ้นทุกปี และในปีก่อนนั้นผู้เขียนและผู้พิพากษาก็เคยไปร่วมงาน

แต่ในปีดังกล่าวมีเหตุการณ์ไม่ปกติ เพราะบุตรชายของคหบดีผู้นั้นเป็นจำเลยอยู่ที่ศาลในคดีฆ่าผู้อื่น ผู้เขียนเป็นเจ้าของสำนวนคดีนี้ ระหว่างรอฟังคำพิพากษาก็ได้รับเชิญไปร่วมงาน ผู้เขียนต้องปฏิเสธการไปร่วมงาน แต่ก็อธิบายให้ผู้เชิญทราบว่า ถ้าผู้เขียนและผู้พิพากษาในศาลไปร่วมงานดังกล่าว และแม้ทั้งสองฝ่ายจะมีความบริสุทธิ์ใจเพียงใด แต่คู่ความอีกฝ่ายตลอดจนบุคคลทั่วไป เขาจะเชื่อหรือว่าเราบริสุทธิ์ยุติธรรมจริง หากเห็นว่าผู้ตัดสินคดีนี้ไปนั่งรับประทานอาหารอยู่กับฝ่ายจำเลย

คหบดีผู้นั้นก็ดีเหลือเกิน เพราะเข้าใจและไม่ได้แสดงความไม่พอใจแม้แต่น้อย คดีนั้นเป็นที่สนใจของประชาชนในจังหวัด ถึงกับมีผู้กล่าวกันว่า “จะดูซิว่า คนรวยจะมีสิทธิติดคุกหรือไม่”

ขอเรียนว่าคดีดังกล่าว ผู้เขียนและองค์คณะผู้พิพากษา พิพากษาจำคุกบุตรชายของคหบดีที่มาเชิญผู้เขียน เพราะพยานหลักฐานในสำนวนชัดเจน

อาจารย์สัญญามีคติยึดถือประจำใจว่า

“อันงานของตุลาการนั้นอะไรจะมาสำคัญกว่าจิตใจที่บริสุทธิ์ ยุติธรรมเป็นไม่มี ความรู้ความสามารถและความละเอียดรอบคอบนั้น เป็นความสำคัญอย่างมากจริงอยู่แต่ความบริสุทธิ์ยุติธรรมจากจิตใจเป็นความ สำคัญอย่างยิ่ง งานตุลาการเป็นงานอิสระใครจะมาบังคับความเห็นเราไม่ได้ ฉะนั้น งานตุลาการจึงเป็นงานต้องไว้ใจตัวเองว่าเรามีความบริสุทธิ์ยุติธรรมโดยถ่อง แท้และมั่นคง และคนเราเมื่อไว้ใจตัวของตัวเองได้แล้ว ก็ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรมใดๆ ทั้งสิ้น ดั่งนี้เขาผู้นั้นแหละย่อมเป็นตุลาการที่สมบูรณ์”

เมื่ออาจารย์สัญญา ได้รับเชิญเป็นวิทยากรอบรมผู้ช่วยผู้พิพากษา ท่านเคยให้คติเตือนใจที่มีคุณค่ายิ่งแก่ผู้ช่วยพิพากษา เพื่อยึดถือในการครองตนและประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมในการอบรมครั้งหนึ่ง อาจารย์แนะนำวิธีที่จะช่วยให้ผู้พิพากษาวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้อย่างถูกต้อง เป็นธรรมว่า

“ต้องทำจิตให้เป็นกลาง หมายความว่า ทำจิตใจให้ว่าง เวลาคิดเรื่องงานหรือนั่งบัลลังก์ จิตของเราต้องประภัสสร คือแจ่มใสสว่างจ้า ไม่มีโลภ ไม่มีโกรธ ไม่มีหลง… แต่บางทีก็มีมารมาผจญ ผมเองก็เคยถูกผจญเหมือนกัน ถูกเข้าแล้วก็คิดว่าเป็นอย่างไรก็เป็นไป ถึงจะต้องออกก็ออก เมื่อเราเห็นอย่างนี้ว่ายุติธรรรม แม้จะกระทบกับการเมือง เป็นอย่างไรก็เป็นกัน ถ้านึกได้อย่างนี้ แสดงว่าจิตว่าง การที่ผู้พิพากษามีจิตมั่นคงผ่องใส ปราศจากอคติ และไม่รวนเรไปในทางหนึ่งทางใด จะทำให้ปฏิบัติหน้าที่อิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีอย่างเป็นธรรมมากขึ้น”

นอกจากจะยึดมั่นในจริยธรรม เป็นแบบฉบับของผู้พิพากษาตุลาการ ที่สมควรยึดถือและปฏิบัติตามแล้ว ท่านยังเป็นปรมาจารย์วางหลักในการเรียบเรียงคำพิพากษา

เช่นในการวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นเจ้าพนักงานหรือไม่ อาจารย์สัญญาวางหลักไว้ว่า

“การที่จะถือว่าบุคคลใดเป็นเจ้าพนักงานนั้น จะต้องพิจารณาโดยจำกัด เพราะความเป็นเจ้าพนักงานนั้น มิใช่จะก่อให้เกิดหน้าที่ต้องรับผิดเมื่อตนกระทำผิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลอื่นอีกด้วย กล่าวคือ เมื่อบุคคลใดกระทำการบางอย่างต่อบุคคลซึ่งถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เช่น ขัดคำสั่งหรือขัดขวาง แม้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด ถ้ากระทำต่อบุคคลที่มิใช่เจ้าพนักงาน กฎหมายทางฝ่ายอาญายังบัญญัติเอาการกระทำนั้นเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ต่าง หากเป็นพิเศษด้วย ซึ่งบุคคลธรรมดาสามัญจะอ้างเอาเช่นนั้นไม่ได้ ฉะนั้น การที่จะถือว่าผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานหรือไม่นั้น จึงต้องมีความสำคัญที่จะต้องพิจารณาดูว่าผู้นั้นได้รับการแต่งตั้งให้เป็น เจ้าพนักงานตามกฎหมายหรือมิใช่ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ผู้ใดจะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ผู้นั้นจะต้องได้รับการแต่งตั้งโดยถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการแต่งตั้งข้า ราชการให้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ หรือมิฉะนั้นก็ต้องเป็นผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งหน้าที่ซึ่งมีกฎหมายระบุไว้โดย เฉพาะเจาะจงให้ถือเป็นเจ้าหน้าที่”

คำสอนของอาจารย์สัญญานี้ สำหรับผู้เขียน นอกจากจะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษาแล้ว ยังเป็นหลักที่นำมาใช้เมื่อปฏิบัติหน้าที่กรรมการ ป.ป.ช.ด้วย

ผู้เขียนเห็นว่าผู้ที่มีความรู้ด้านกฎหมายดียอดเยี่ยม ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้พิพากษาตุลาการที่ดีเสมอไป หากไม่มีความเป็นอิสระ

อาจารย์สัญญากล่าวถึงความมีอิสระของคนเป็นผู้พิพากษาตุลาการว่า

“การที่ผู้พิพากษามีจิตมั่นคง ผ่องใส ปราศจากอคติ และไม่รวนเรไปในทางหนึ่งทางใด จะทำให้ปฏิบัติหน้าที่อิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีอย่างเป็นธรรมมากขึ้น ถ้าเรามีจิตที่แข็งแกร่งอยู่ในบังคับบัญชาของเรา เป็นเหล็กกล้า เป็นจิตของตุลาการแล้ว อะไรๆ ก็ไม่สำคัญเลย คนอื่นเขาจะเห็นหรือไม่เห็น ผู้บังคับบัญชาจะยกย่องหรือไม่ยกย่อง ก.ต. ท่านจะให้ 2 ขั้นหรือไม่ให้ก็ไม่เป็นไร ความยุติธรรมไม่มีเสื่อมเสีย ติดตัวอยู่ตลอดไป อย่างน้อยที่สุดใจเรายังเบิกบานภาคภูมิใจ ไม่ต้องเกรงกลัวอะไรหรือผู้ใดทั้งสิ้น นี่ถือความเป็นอิสระ ไม่ใช่อิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีเท่านั้น แต่อิสระในใจของตน คุณลองคิดดูเป็นจริงได้ไหมหรือเพ้อฝัน ผมขอยืนยันว่าเป็นจริงได้ คุณต้องลองทำดูก่อนจึงจะเห็นจริง ถ้าจิตของคุณมั่นคงเป็นเหล็กกล้าเบิกบาน ประภัสสร ผ่องใส ว่างและมั่นคง ทุกสิ่งทุกอย่างจะมาเอง ทั้งความดี ทั้งโชคลาภ มีความสุขในครอบครัว และดูคนด้วยความเต็มหน้าเต็มตา ชีวิตทั้งชีวิตจะดีไปด้วย บรรพตุลาการของเรามีตัวอย่างให้เห็นมากมายที่ท่านทำได้อย่างนี้”

คำสอนของอาจารย์สัญญาที่ผู้เขียนเห็นว่าสุดยอดที่ผู้พิพากษาต้องจดจำอย่าได้ หลงลืมเป็นอันขาดก็คือ “ศาลยุติธรรมจะอยู่ได้ด้วยการเคารพนับถือของคนทั้งหลาย ปัจจุบันเขายังเคารพศาลอยู่ เมื่อครั้งผมเป็นรัฐบาลมีข้อกฎหมายที่เขาถกเถียงกันใหญ่โต แต่ลงท้ายมีคนบอกว่า เรื่องนี้ความจริงศาลฎีกาท่านตัดสินแล้วว่าเป็นอย่างไร ข้อถกเถียงเงียบทันที หลายคนเขายังเคารพศาลอยู่เพราะฉะนั้นพวกคุณจะต้องรักษาความดีอันนี้ไว้ให้ เขานับถือต่อไป ถ้ามีเรื่องทุจริตเกิดขึ้นมาทีไร พวกผู้พิพากษาที่เกษียณไปแล้วก็เสียอกเสียใจกันใหญ่ ไม่น่าเลยศาลจะเป็นอย่างนี้ ทำได้อย่างไร ทำลายสถาบันป่นปี้หมด นี้แหละครับไม่ใช่ความรังเกียจจะแรงเฉพาะเพื่อนคุณ ผู้บังคับบัญชา ครูบาอาจารย์ มันแรงไปทุกตุลาการแม้จะออกไปแล้ว”

เป็นที่น่าสังเกตว่า คำสอนของอาจารย์สัญญา จะกล่าวถึงตัวผู้พิพากษาตุลาการทั้งในด้านการปฏิบัติ การวางตัว แนวความคิด และจิตวิญญาณของการเป็นผู้พิพากษาตุลาการ หากพิจารณาคำสอนของอาจารย์ให้ดี จะจับหลักได้ว่าเมื่อมีเหตุวิกฤตศรัทธาเกิดขึ้นแก่ผู้พิพากษาตุลาการ

ผู้พิพากษาตุลาการต้องตรวจสอบตัวเอง ทั้งแนวความคิดและการปฏิบัติตัว ว่ามีข้อบกพร่องอย่างไร จึงทำให้สังคมเสื่อมศรัทธา

เพราะการแก้ไขตัว เราเองนั้น น่าจะทำได้ง่ายกว่าที่จะให้บุคคลอื่นเขาแก้ไขพฤติกรรมของเขา

ยกเว้นท่านจะแน่ใจว่าได้ปฏิบัติตนถูกต้องครบถ้วนตามคำสอนของอาจารย์สัญญาแล้ว แต่ก็ยังมีคนกล่าวหาท่านอยู่อีก