จากคันธุลีถึงเขาพระวิหาร ‘ไทย-กัมพูชา’ เหยื่อประวัติศาสตร์

จากคันธุลีถึงเขาพระวิหาร ‘ไทย-กัมพูชา’ เหยื่อประวัติศาสตร์
ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 273 วันที่ 21-27 สิงหาคม พ.ศ. 2553 หน้า 11
คอลัมน์ : คิดทวนเข็มนาฬิกา
โดย : ดร.นิเลอมาน นิตา

ภายใต้สถานการณ์ที่ล่อแหลมและตึงเครียด เกี่ยวกับความขัดแย้งกรณีปราสาทพระวิหารตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ยังมีเรื่องที่น่ายินดีอยู่ไม่น้อย… เพราะเริ่มมีนักวิชาการทางประวัติศาสตร์ตั้งต้นที่จะพูดถึงบริบทของความขัดแย้งนอกเหนือไปจากข้อมูลซึ่งตอบโต้กันไปมาอยู่บนพื้นที่ของสื่อ โดยเฉพาะแนวคิด “คลั่งชาติกระหายสงคราม” ที่ไม่น่ามีประโยชน์อะไรกับใคร?

ส่วนใหญ่มีการพูดถึงซึ่งเกี่ยวเนื่อง และเห็นได้ว่าในการอ้างสิทธิเหนือดินแดนของคนไทยปัจจุบันเหนือพระวิหาร เป็นการใช้สภาพภูมิศาสตร์สร้างบรรทัดฐานอ้างความชอบธรรมในการปักปันเขตแดนระหว่างประเทศ แต่คงต้องระลึกไว้เช่นกันว่าข้อพิจารณาว่าด้วยชาติพันธุ์และภาษาก็ถือเป็นเกณฑ์สำคัญในเรื่องนี้ด้วย…

จึงเป็นอีกมุมมองที่ควรนำมาทบทวนเพื่อมิให้ความเข้าใจทุกอย่างต้องไปเบ็ดเสร็จ เพื่อโต้เถียงเฉพาะเรื่องของ “เขตแดน” การนำข้อมูลทางประวัติศาสตร์มาเน้นน้ำหนักเพิ่มขึ้นน่าจะเป็นอีกข้อพิจารณาที่โต้แย้ง “ประวัติศาสตร์บาดแผลฉบับนักล่าอาณานิคมตะวันตกที่กำลังย้อนกลับให้ลดดีกรีของความบาดหมางและเข้าใจคลาดเคลื่อนให้บางเบา”

สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนไว้ว่า “…ในอีสานบริเวณลุ่มแม่น้ำมูล ทิวเขาพนมดงเร็ก ตั้งแต่จังหวัดนครราชสีมา, บุรีรัมย์, สุรินทร์, ศรีษะเกษ จนถึงอุบลฯ เต็มไปด้วยพยานหลักฐานว่าเป็นหลักแหล่งของชาติพันธุ์ในตระกูลมอญ-เขมร โดยเฉพาะที่พิมาย-พนมรุ้งเป็นถิ่นบรรพชนของกษัตริย์กัมพูชาที่สถาปนาอาณาจักรกัมพูชาขึ้นบริเวณทะเลสาบ หรือรู้จักกันทั่วไปในทุกวันนี้ว่านครวัด-นครธม…ในภาคกลางลุ่มแม่น้ำเจ้า พระยาวงศากษัตริย์ที่สถาปนากรุงศรีอยุธยา มีเชื้อสายเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกับวงศ์กษัตริย์ละโว้และเมืองพระนครหลวง (นครธม) เชื่อมโยงถึงวงศ์กษัตริย์กรุงสุโขทัยด้วย ด้วยเหตุนี้เองในราชสำนักกรุงศรีอยุธยาจึงพูดภาษาเขมร ยังมีร่องรอยสำคัญให้เห็นถึงปัจจุบันที่ยกย่องภาษาเขมรเป็น “ราชาศัพท์”…” (มติชน : 13 สิงหาคม 2553)

นั่นเป็นทรรศนะของสุจิตต์ วงษ์เทศ ที่ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ในรุ่นบรรพบุรุษของกัมพูชาและไทย… อาจยกอีกตัวอย่างจากข้อเขียนของ “กิเลน ประลองเชิง” (ไทยรัฐ : 10-11 สิงหาคม 2553) เขาได้ยกผลงานในอดีตของ “ขจร สุขพานิช” นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงอีกคน ซึ่งเคยเขียนลงในหนังสือชุมนุมจุฬาฯเมื่อปี 2503 ไว้ว่า…

“…จารึกต่างๆสมัยแรกเริ่มตั้งกัมพูชา ดินแดนเขาพระวิหารปรากฏนาม “พิณสวัณครามวดี” เจ้านายสตรีที่ครองดินแดนนี้อยู่ บุตรหลานไม่มีนามสกุลเป็นสันสกฤต มีชื่อแต่เด็กๆว่าพง พัน อั๋น อ้าย (แสดงว่าเป็นไทย) วันหนึ่งมีเจ้าชายจากดินแดนจำปาศักดิ์ (สตรึงเตร็ง) มาสู่ขอธิดาของพระนางพิณสวัณครามวดีเพื่ออภิเษกเป็นมเหสี แล้วก็คุมทัพลงไปแย่งดินแดนข้างทะเลสาบ สร้างกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 1345 ทั้ง 2 พระองค์ขึ้นเถลิงกรุงกัมพูชาทรงพระนามว่า “เจ้าชายวรมเทพ” กับ “พระนางกัมพูชาลักษมี” ตั้งแต่นั้นมาชื่อพระนางก็นับเป็นต้นวงศ์กัมพูชา… กระทั่งต่อมาพระญาติใน พระวงศ์ของพระนางก็ครองแผ่นดินอีกหลายองค์ เช่น “พระเจ้าอินทรวรมันที่ 1” และพระราชโอรสคือ “พระเจ้ายะโสธรวรมันที่ 1” จนถึง “พระเจ้าหรรษาวรมันที่ 3”

ราชวงศ์นี้ก็คือ “วงศ์ยะโสธร” ตามชื่อเมืองยะโสธรดั้งเดิมในจังหวัดอุบลราชธานี สร้างกรุงยะโสธรนครธมขึ้นเป็นราชธานี เป็นราชวงศ์ที่ปกครองกัมพูชาในราว 200 ปี…ราชวงศ์ยะโสธรนี้แหละที่สร้างปราสาทพระวิหาร ขจร สุขพานิช จึงตั้งคำถามว่าโดยข้อเท็จจริงที่พอรับฟังได้ บรรพบุรุษของกัมพูชาได้สร้างปราสาทพระวิหารไว้จริง แต่ท่านเป็นบรรพบุรุษเฉพาะกัมพูชาเท่านั้นหรือ?

โดยสรุปสำหรับข้อมูลตรงนี้คือ “ตระกูลพิณสวัณครามวดี” ย่อมถือเป็นบรรพบุรุษในฝ่ายแม่ของคนทั้งด้านกรุงกัมพูชาหรือกรุงสยาม.. นอก จากนั้นในงานของขจร สุขพานิช ยังได้กล่าวถึงราชวงศ์ที่ครองกัมพูชาต่อจากวงศ์ยะโสธรคือ “ราชวงศ์พิมาย” นับตั้งแต่ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” จนถึง “พระเจ้าชัยวรมันที่ 8” นั่นเป็นเหตุการณ์ระหว่าง พ.ศ. 1623-1838

มีข้อน่าสังเกตประการหนึ่งที่แทรกเป็นยาดำเข้าไปบรรเทาเบาบาง “ประวัติศาสตร์บาดแผล” คือมีหลายข้อมูลที่อ้างอิงถึงความเกี่ยวพันในด้านชาติพันธุ์เมื่อยุคโบราณระหว่างไทย-กัมพูชา แม้จะมีการอ้างอิงที่แตกต่าง ไม่มีความชัดเจนไปในข้อมูลเหมือนกันทั้งหมด แต่ทุกๆ หลักฐานต่างล้วนสนับสนุนให้เห็นถึงความมีที่มาที่ไปของหลักแหล่งชาติพันธุ์ซึ่งแยกแยะกันไม่ได้ แม้แต่ยอร์ช เซเดส์ เองยังเคยระบุไว้ว่า “ผู้สร้างเขาพระวิหาร พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ก็เป็นเชื้อสายกษัตริย์ไปจากนครศรีธรรมราช สืบเนื่องมาจากการพบข้อมูลในศิลาจารึกวัดเสมาเมือง อันเป็นจารึกเมื่อ พ.ศ. 1318 โดยพระเจ้าวิษณุที่ 2 หรือพระเจ้าศรีวิชเยนทรราชา..

โดยเหตุโดยผลเท่าที่ควรจะเป็นไปในประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับกัมพูชา มีความซับซ้อนมากกว่าที่เราเคยเข้าใจกันมาก่อน ถ้าหากค้นคว้าศึกษากันจริงจังคงมีข้อมูลจำนวนไม่น้อยที่สามารถเอามาเชื่อมโยงและหาคำตอบได้ว่า “บรรพบุรุษทั้งไทยและกัมพูชาคือใครกันแน่?” แม้แต่ “ผู้ใดเป็นคนสร้างปราสาทพระวิหาร?” ตลอดจนคำตอบเกี่ยวกับ “ขอมคือใครกันแน่?”…

ในงานค้นคว้าของผู้เขียนอาจนำเสนอข้อมูลที่แตกต่างออกไป แต่ไม่ได้แตกต่างไปจากนักวิชาการท่านอื่นๆ เพราะนำไปสู่ความจริงอย่างเดียวกัน ที่ชี้ให้เห็นคำตอบด้านชาติพันธุ์กับภาษาของรุ่นบรรพบุรุษไทย-กัมพูชาที่ร่วมรากและร่วมประวัติศาสตร์ ร่วมบรรพชนมาจากแหล่งเดียวกัน…

มีหลักฐานตั้งแต่ พ.ศ. 977 เมื่อเจ้าชายศรีนเรนทรกับเจ้าชายศรีธนูรักษ์ พระราชโอรสของมหาราชาจันทร์พาณิชแห่งแคว้นเวียงจันทน์ อาณาจักรอ้ายลาว ซึ่งอยู่ในดินแดนของสหราชอาณาจักรคีรีรัฐ ได้ส่งกองทัพเข้าทำสงครามขับไล่ทมิฬโจฬะ ให้ออกไปจากอาณาจักรคามลังกา เจ้าชายศรีนเรนทรนี้เองที่อภิเษกกับเจ้าหญิงแห่งแคว้นอินทปัต (เชื้อสายราชวงศ์ขอม-ทมิฬ) แล้วมีพระราชโอรสที่สำคัญ 2 พระองค์คือ เจ้าชายหิรัญยะ-เจ้าชายศรีราทิตย์ ทั้ง 2 คนนี้คือผู้สร้างปราสาทพนมรุ้งและเกี่ยวกับปราสาทพิมาย ศิลาจารึกหลักที่ K-384 พบในจังหวัดนครราชสีมา จารึกโดยหิรัญยะ ก็มีข้อความสรรเสริญพระราชบิดาของตัวเองได้แก่ “ศรีนเรนทราทิตย์”

กระทั่งต่อมาเจ้าชายศรีราทิตย์ได้นำไพร่พลอพยพไปสร้างปราสาทพระวิหาร ใช้เป็นเมืองนครหลวงชั่วคราวของอาณาจักรคามลังกาใน พ.ศ. 1051 เพราะถูกอาณาจักรอีสานปุระ (ที่นักประวัติศาสตร์สายตะวันตกเรียกเป็น “เจนละ”) ยกทัพใหญ่เข้าโจมตีแคว้นพนมรุ้ง… และมหาราชาศรีทราทิตย์ผู้นี้ก็คือพระราชบิดาของ “มหาอุปราชเจ้าศรีสุริยะ” ซึ่งก็คือสุริยวรมันที่ 1… ข้อมูลตรงนี้จึงเชื่อมต่อไปได้ถึง “คันธุลี” ของสหราชอาณาจักรคีรีรัฐ ที่มีหลายหลักฐาน รวมทั้งหลักฐานจดหมายเหตุของจีนสมัยฮ่องเต้เฮียวหวูเมื่อ พ.ศ. 997 ได้ระบุถึงคันธุลีและพูดถึงพระนามของมหาจักรพรรดิท้าวศรีนเรนทร ที่ส่งคณะราชทูตนำเครื่องราชบรรณาการไปถวาย มีการระบุชื่อราชทูตคือ “คุนเหลียวโต” ซึ่งน่าจะเป็นขุนหลวงโต…

ทั้งหมดนี้จึงเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสหราชอาณาจักรคีรีรัฐ จากลุ่มน้ำตาปีไปจนถึงเขาพระวิหาร และบอกถึงความเกี่ยวข้องของฟูนันที่แม่น้ำโขง กับฟูนันในภาคใต้ตอนบนยุคนั้น… นี่เป็นอีกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ควรค้นคว้ากันต่อไป? ซึ่งยังมีข้อมูลหลักฐานอื่นๆที่มากมายยิ่งกว่านี้?



Leave a comment