ยุคมาร์คไม่มี

หลังจากที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 เข้ามาบริหารประเทศเต็มตัว เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นทันที 2 เรื่อง

อาจบอกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในแง่บวก

เรื่องแรกปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชามีแนวโน้มดีขึ้นทันที

นายกฯฮุนเซน ส่งสารแสดงความยินดีกับนายกฯยิ่งลักษณ์ทันทีที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ

ระบุว่าความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศจะดีขึ้น และกัมพูชามั่นใจว่ารัฐบาลเพื่อไทยจะแก้ปัญหาข้อขัดแย้งตามแนวชายแดนได้ โดยยืนยันว่าทั้ง 2 ประเทศจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดต่อไป

พล.อ.เตีย บัน รองนายกฯและรมว.กลาโหมกัมพูชา ติดต่อกลาโหมไทยขอให้รีบจัดประชุมร่วม “จีบีซี” เพื่อแก้ปัญหาชายแดน

ท่าทีของกัมพูชาในเวลานี้ อาจจะมองเป็นเรื่องน่าประหลาดใจก็ได้

เพราะไม่เคยเกิดขึ้นเลยในช่วง 2 ปีที่ไทยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี มีนายกษิต ภิรมย์ เป็นรมว.ต่างประเทศ

อีกเรื่องที่เกิดความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

เมื่อคณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือคอป. โดยนายสมชาย หอมละออ ทำรายงานถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ระบุว่ามีการเหวี่ยงแหจับคนเสื้อแดงขังเป็นจำนวนมาก

มีคนเสื้อแดงที่ยังถูกจองจำอยู่ถึง 53 คนถูกตั้งข้อหา “เกินเลยจากความเป็นจริง” ทั้งก่อการร้ายและวางเพลิง ซึ่งมีโทษถึงประหารชีวิต

นายสมชายยังระบุว่าจากการตรวจสอบพนักงานสอบสวนดีเอสไอและอัยการ พบว่าการตั้งข้อหารุนแรงดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจาก “แรงกดดันของผู้บริหารระดับนโยบาย”

อีกส่วนมาจากแรงกดดันทางการเมือง !?

ความจริงคอป.เคยเสนอแผนเยียวยาคนเสื้อแดงต่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์มาแล้ว

เสนอให้ปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของครอบครัว

แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากนายอภิสิทธิ์เลย !?

คอป.จึงจำเป็นต้องนำเสนอแผนเยียวยานี้ต่อรัฐบาลใหม่

ถึงตรงนี้ก็คงรู้ชัดเจนแล้วว่าทำไมคดี 91 ศพถึงอืดอาดล่าช้ามานับปี

ทำไมคนเสื้อแดงจึงรู้สึกว่าเป็นแค่พลเมืองชั้น 2 ในยุครัฐบาลที่แล้ว

แต่จากนี้ไปเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นแล้ว

และมีแนวโน้มจะออกมาในทางที่ดีขึ้น

ความหวังที่จะทวงความยุติธรรม 91 ศพคงจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้

คนสั่งการจนเกิดความรุนแรงต่อประชาชนต้องได้รับโทษทัณฑ์

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ 15 สิงหาคม 2554
คอลัมน์ : เหล็กใน


ฝีมือ ‘คนดีที่ผมเชียร์’

ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาคงไม่จบลงง่ายๆ ตราบใดที่ประเทศไทยยังมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำรัฐบาล

ตราบใดที่ยังมีนายกรัฐมนตรีชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ชื่อ นายกษิต ภิรมย์

เนื่องจากจะทำให้ไทยกับกัมพูชาไม่ได้มีปัญหาเรื่องเขตแดนกันอย่างเดียว แต่จะมีปัญหาเรื่องตัวบุคคลมาเกี่ยวข้องด้วย

หากยังเป็นอย่างนี้อยู่ต่อไปก็จะมีการปะทะกันเกิดขึ้นเรื่อยๆ จะมีคนเจ็บ คนตาย คนที่เดือดร้อนจากการยิงกันมากขึ้น ทั้งประชาชนคนไทยและคนกัมพูชา

นี่คือผลร้ายของสงคราม

แน่นอนว่าการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการ “เจรจา” แต่เมื่อคนที่มีหน้าที่เจรจาไม่ชอบหน้ากัน ก็ไม่รู้ว่าการเจรจาที่ทำกันตามบทบาทหน้าที่จะประสบความสำเร็จได้อย่างไร

หน้ายังไม่อยากจะมอง แล้วจะนั่งคุยกันได้หรือ

หากประเทศไทยมีการเลือกตั้งตามที่หลายฝ่ายออกมารับรอง แล้วนายอภิสิทธิ์ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก

นายกษิตได้กลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอีก

ปัญหาระหว่างไทยกับกัมพูชาก็จะยืดเยื้อเรื้อรังต่อไป คลำหาทางออกกันไม่เจอ

นี่จึงเป็นการบ้านข้อใหญ่อีกข้อของพวกมือที่มองไม่เห็นว่าจะเอาอย่างไร กับบ้านเมือง จะยังใช้บริการพรรคประชาธิปัตย์และนายอภิสิทธิ์อีกต่อไปหรือไม่หลังการเลือก ตั้ง

เพราะ “คนดีที่ผมเชียร์” นั้นได้แสดงศักยภาพในการบริหารประเทศให้เห็นแล้วว่าเป็นอย่างไร

ปัญหาในประเทศเป็นอย่างไร ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบเป็นอย่างไร ไม่ต้องพูดถึงสถานะของไทยในเวทีโลกที่ตกต่ำดำดิ่งสุดขีดตั้งแต่มีรัฐบาลนี้ เข้ามาบริหารประเทศ

สวนทางกับสถานะของประเทศช่วงก่อนปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ที่ไทยเราโดดเด่นเป็นอย่างยิ่งบนเวทีโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคที่ใครๆก็ให้การยอมรับ

ฝากเอาไว้แค่นี้แหละ หากเห็นแก่ชาติบ้านเมืองมากกว่าอำนาจและประโยชน์ส่วนตนก็ต้องมองหา “คนดีที่ผมเชียร์” เสียใหม่ อย่าได้ซ้ำเติมบ้านเมืองอีก

แต่หากเห็นแก่ประโยชน์เฉพาะตน เฉพาะกลุ่ม ก็เชิญใช้บริการ “คนดีที่ผมเชียร์” นี้ต่อไป ประเทศจะได้บรรลัยไวขึ้น

ที่มา : โลกวันนี้ 25 เมษายน 2554
คอลัมน์ : โลกพระจันทร์


7 คนไทยกับกระแสชาตินิยม!

การเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกและสังคมไทยใน ปัจจุบัน ประเด็นของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีอิทธิพลและส่งผลต่อการเปลี่ยน แปลงอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตแล้วทำงานอย่างได้ผล เช่น การปลุกกระแสเรื่องความรักชาติ อาจจะไม่ได้ผลในปัจจุบัน เพราะความรวดเร็วของเทคโนโลยีในวันนี้ทำให้ผู้คนมีความรับรู้ในข้อเท็จจริง รวมถึงแสดงความคิดเห็นออกมาได้อย่างตรงไปตรงมาและรวดเร็ว

ผู้เขียนหมายถึงสิ่งที่กลุ่มอีลิตและคณะพยายามจะใช้กรณี 7 คนไทยที่ถูกรัฐบาลกัมพูชาจับกุมมาเป็นประเด็นเพื่อปลุกกระแสชาตินิยมโดยหวัง ผลต่อวิถีทางการควบคุมอำนาจเบ็ดเสร็จให้ยืนยาวต่อไปนั้นเป็นไปไม่ได้ใน ปัจจุบันแล้ว หรือกลายเป็นกรณี “กระสุนด้าน”

กรณี 7 คนไทยนี้ ผู้เขียนจงใจจะไม่เขียนถึงมานานแล้วตั้งแต่เกิดเหตุ เพราะเกรงจะเป็นปัญหาเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ แต่วันนี้ปรากฏการณ์ต่างๆเริ่มชัดเจน จึงอยากวิเคราะห์เฉพาะส่วนที่เป็นข้อคิดเห็นบางประเด็นคือ โดยนิสัยของฝ่ายการเมืองที่คุมอำนาจรัฐในบริบทสังคมการเมืองไทยแล้ว นักการเมืองไทยมักขี้เบ่ง จะไปไหนต้องมีการแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่ให้มายืนกุมเป้ากางเกง ล้อมหน้าล้อมหลัง ดังนั้น จึงไม่น่าเชื่อว่า 7 คนไทยที่ถูกจับกุมจะลงพื้นที่ไปล่วงหน้าก่อนที่เจ้าหน้าที่รัฐจะมาพินอบ พิเทา เท่ากับผิดวิสัยหรือค้านกับปรากฏการณ์รูปธรรมหรือข้อเท็จจริงทางสังคมการ เมืองไทย

นอกจากนั้นพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นเหมือนเขตที่ตกลงกันไม่ได้ ซึ่งมีหลายแห่งในประเทศไทย คล้ายกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-มาเลเซีย ซึ่ง พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ก็ไม่ได้คิดที่จะไปแบ่งแยกหรือทะเลาะกับมาเลเซียว่าดินแดนของไทยอยู่ตรงไหน คนที่ฉลาดอย่างอดีตนายกฯชาติชายจึงคิดบวก ชวนเพื่อนบ้านหาประโยชน์ร่วมกัน หรือร่วมกันทำให้พื้นที่มีปัญหาเป็นเขตพัฒนาร่วม (Joint Development Area) ท้ายที่สุดไทย-มาเลเซียทำการขุดเจาะและนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน แบ่งสรรความมั่งคั่งกันอย่างพอใจทั้งสองฝ่าย

กรณีพื้นที่ระหว่างไทย-กัมพูชา รัฐบาลทั้งสองต่างสงวนไว้ในความรู้สึกที่ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของตนเอง ทั้งคู่ เมื่อไรที่จะคิดทำให้สมประสงค์ฝ่ายเดียวก็จะเป็นข้อขัดแย้งและไม่มีใครยอม ใคร ในอดีตรัฐไทยจึงทำได้แค่เพียงรอเวลาการเจรจา ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาทั้งคู่ก็จะต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพื้นที่บนสำนึกที่ ว่าเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาแบบ no mans land ซึ่งในทางปฏิบัติหากคนของฝั่งใดฝั่งหนึ่งจะเข้าไปในพื้นที่นั้นก็จะแจ้งเจ้า หน้าที่ของฝั่งตรงข้ามที่เป็นคู่เจรจาและดูแลพื้นที่ดังกล่าวอยู่ ได้ยินหลายครั้งแล้วว่ามีข้าราชการระดับสูงหรือผู้ที่เกี่ยวข้องของไทยแวะ เวียนเข้าออกไปดูพื้นที่เป็นประจำ แต่มีการประสานกันล่วงหน้าจึงไม่เคยเกิดเหตุการณ์พิสดารเหล่านี้

ดังนั้น กรณี 7 คนไทยที่รวมถึงนักการเมืองขี้เบ่งเดินเข้าไปให้เขาจับจึงน่าสังเกต โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามของกลุ่มเครือข่ายทางการเมืองที่พยายามอ้างว่า ดินแดนฝั่งนั้นเป็นพื้นที่ของไทยจึงไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย

คำกล่าวเช่นนี้มีแต่สร้างความขัดแย้งระหว่างประเทศ เพราะมีคนพูดมาก่อนหน้านี้กว่า 30 ปีแล้ว และเห็นว่าไม่มีประโยชน์ จึงปล่อยให้เป็นการทำงานระดับรัฐที่ต้องเจรจา และภาระของรัฐบาลชุดต่างๆที่พยายามกระทำต่อกันอย่างละมุนละม่อม ยกตัวอย่างเทียบเคียงกันก็ต้องยกให้กรณีพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียน่าจะ เป็นหนทางสว่างของวิธีการแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนหรือมีปัญหาระหว่างประเทศ

สรุปแล้ว 7 คนไทยถูกรัฐบาลกัมพูชาจับกุมจึงไม่สามารถก่อให้เกิดกระแสชาตินิยมตามที่กลุ่มอีลิตวาดฝันไว้ อย่างไรก็ตาม คำกล่าวนี้ดูเหมือนจะให้ร้ายกลุ่มอีลิต แต่เมื่อพิจารณาบริบททางการเมืองที่กลุ่มอีลิตเผชิญอยู่ และเลือกใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยเครื่องมือต่างๆมาตลอดนั้น จะพบว่ายิ่งแก้ยิ่งถึงทางตัน แรกเริ่มจากการชิงสุกก่อนห่าม ดื้อรั้นแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยการทำปฏิวัติเมื่อปี 2549 แล้วดันไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่ไปเลือกคนซื่อ สูงอายุ และไร้ความสามารถมาบริหาร เมื่อเปิดให้มีเลือกตั้งจึงพ่ายแพ้กลุ่มเก่า

ดังนั้น เครื่องมือใหม่ที่ดูคล้ายจะมีอารยะก็เข้ามาสู่วงจรทำงาน เช่น ระบบตุลาการวิบัติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญ ล้วนแล้วแต่ทำท่าคล้ายจะเป็นอารยะช่วยกลุ่มอีลิตทำงาน ท้ายที่สุดก็ใช้เครื่องมือของกลุ่มติดอาวุธบีบบังคับให้เกิดการจัดตั้ง รัฐบาลลูกชนชั้นสูงเรียนดี แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือ เด็กคนนี้ทำอะไรไม่เป็น ไร้ความสามารถ แถมต้องพึ่งพิงกลุ่มโจรทางการเมืองที่คอร์รัปชันมากกว่ากลุ่มทักษิณเสียอีก นี่จึงเป็นสถานการณ์ทางตันของกลุ่มอีลิต

ครั้นจะเปิดให้มีการเลือกตั้งก็ประมาทไม่ได้ว่า คนไทยสมัยนี้ฉลาดแล้ว เขาจับได้ไล่ทัน และการลงคะแนนเสียงที่เลือกกลุ่มทุนเดิมก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงินซื้อเสียง อีกต่อไป หากแต่ขึ้นอยู่กับความแค้นฝังใจที่ได้รับการปฏิบัติแบบสองมาตรฐานซ้ำแล้วซ้ำ เล่า

ดังนั้น กลุ่มอีลิตจึงเห็นลางความวิบัติ ทางออกเดียวที่เหลืออยู่สำหรับการครองอำนาจให้ยืดยาวคือ ปลุกกระแสต่างๆ ตั้งแต่กล่าวหาฝ่ายตรงข้ามจะล้มสถาบันและเรื่องคอร์รัปชัน ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพทั้งสองประเด็น ท้ายที่สุดเลยลองปลุกกระแสชาตินิยมดูว่าจะให้เกิดความรุนแรงระหว่างไทยและ กัมพูชา เพื่อเป็นข้ออ้างการกระชับอำนาจไปสู่การปกครองด้วยวิธีนอกระบบ… แต่ก็เป็นกระสุนด้านอีก

อันที่จริงแล้วเหตุการณ์ทางการเมืองของไทยวันนี้ใกล้เคียงกับเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นในประเทศตูนิเซีย ซึ่งประชาชนออกมาประท้วงประธานาธิบดีซีน อัล-อาบิดีน เบน อาลี เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจและการว่างงาน แต่ประธานาธิบดีกลับแก้ปัญหาผู้ประท้วงด้วยการใช้ความรุนแรง ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 50 ราย การกล่าวหายังคล้ายกันคือ ประธานาธิบดีพยายามอ้างว่าผู้ประท้วงมีพฤติกรรมคล้ายผู้ก่อการร้าย ผลสุดท้ายคือ การประท้วงรุนแรงมากขึ้นจนกระทั่งฝ่ายรัฐพ่ายแพ้ ประธานาธิบดีประกาศยุบสภาและลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ

สำหรับเหตุการณ์เมืองไทยวันนั้น แม้จะยังมาไม่ถึง แต่จากความรับรู้ของประชาชน และระบบบาปบุญคุณโทษหรือเวรกรรมที่มีจริง กำลังจะทำให้เคราะห์กรรมต่างๆที่กลุ่มอีลิตและสมุนบริวารสร้างกรรมเอาไว้ ต้องได้รับผลกรรมที่ตัวเองทำไว้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคตอันใกล้นี้  ไม่เชื่อก็ดูแล้วกัน!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 295 วันที่ 22-28 มกราคม พ.ศ. 2554 หน้า 10 คอลัมน์ ทหารใหม่วันนี้ โดย ชายชาติ ชื่นประชา


โดน 2 เด้ง

การชุมนุมรำลึกครบรอบ 10 เดือนเหตุการณ์ฆ่าหมู่ 10 เม.ย. 2553 ของคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา เป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ครั้งแรกของนปช. หลังประกาศยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

คนเสื้อแดงกว่า 3-4 หมื่นคนชุมนุมกันแน่นราชประสงค์

มีนัยยะสำคัญ !

เพราะเป็นการแสดงพลังให้เห็นว่าคนเสื้อแดงไม่ได้”ฝ่อ”เหมือนกับที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้

แสดงให้เห็นด้วยว่านโยบายประชาวิวัฒน์ หรือ 9 ของขวัญปีใหม่ที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประเคนให้นั้น ไม่ได้มีผลทำให้คนเสื้อแดงลืมเลือนการสังหารหมู่ 91 ศพ ได้เลยแม้แต่น้อย

ประเด็นหลักของการชุมนุมครั้งนี้ ต้องการให้รัฐบาลรับผิดชอบการฆ่าหมู่ 91 ศพ และให้รัฐบาลปล่อยนักโทษการเมืองหลายร้อยคน

เสียงเรียกร้องดังกระหึ่มไปทั่วราชประสงค์ !

เชื่อว่าต่อจากนี้ไปจะมีการเคลื่อนไหวที่หนักหน่วงยิ่งกว่าเดิม ไม่ได้หมายความว่าคนเสื้อแดงจะเพิ่มดีกรีความรุนแรงขึ้น

แต่จะหนักหน่วงในด้าน “ข้อมูลและข้อเท็จจริง” ยิ่งขึ้น

การเปิดข้อมูลเอกสารลับต่างๆ เกี่ยวกับคดีคนเสื้อแดงจะมีมากขึ้น ขุดคุ้ยว่าใครอยู่เบื้องหลังคำสั่งสังหารหมู่ !?

และยิ่งตอกย้ำความ 2 มาตรฐานของรัฐบาลไปพร้อมๆ กัน

ที่สำคัญการทวงความยุติธรรมจะเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นในเวทีนานาชาติ การแสดงพลังของคนเสื้อแดงครั้งล่าสุดเป็นการฟ้องต่อสายตาชาวโลก ยืนยันว่ายังมีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นกับนักโทษเสื้อแดง

รัฐบาลยังคงลิดรอนสิทธิเสรีภาพของคนเสื้อแดง

เชื่อว่าในเร็ววันนี้จะเห็นองค์กรโลกหันมาให้ความสนใจเรื่องนี้ยิ่งขึ้น

แต่ที่จะเห็นผลชัดเจนที่สุดน่าจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล หลังมีการเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนฯในวันที่21 ม.ค. นี้

นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช. ในฐานะส.ส. พรรคเพื่อไทย ประกาศชัดว่าคดีความทุกอย่างจะเอาไว้พูดในที่ประชุมรัฐสภา เพราะพรรคเพื่อไทยให้อภิปรายได้แบบไม่จำกัดเวลา

เมื่อถึงตอนนั้นสังคมก็จะได้รู้ความจริงทั้งหมด

น่าหนักใจแทนนายอภิสิทธิ์ เพราะปัญหา 7 คนไทยถูกขังในเรือนจำเขมรยังหนักอกหนักใจอยู่เลย พลาดพลั้งให้นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ทะเล่อทะล่าเข้าไปให้ทหารเขมรจับกุม จนโดนม็อบที่เพิ่งผิดใจกันอัดเละว่าขายชาติ

ต้องมาเผชิญปัญหาถูกฝ่ายค้านเตรียมขย่มซ้ำในสภาเข้าไปอีก

แบบนี้เรียกว่าโดน 2 เด้ง!?

ที่มา : ข่าวสด 12 มกราคม 2554
คอลัมน์ : เหล็กใน

 


สัญญาณเข้มจาก ‘ป๋าเปรม’ ‘อภิสิทธิ์’ ได้ต่อตั๋วอำนาจ

เปลี่ยน พ.ศ. ใหม่แต่การเมืองไม่เปลี่ยน หลังสิ้นเสียงนับถอยหลัง 10-0 ก้าวเข้าสู่ปีใหม่ หลายเรื่องประเดประดังเข้าหารัฐบาล โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวขบวน

ความกดดันที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลหากจะนับนิ้วดูก็มีหลายเรื่อง

หนึ่งคือเรื่องที่คนไทย 7 คน ถูกทหารกัมพูชาจับตัวไปขึ้นศาลข้อหาบุกรุกดินแดน เข้าพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ชื่อนายพนิช วิกิตเศรษฐ์

ช็อตเด็ดในคลิปวิดีโอที่นายพนิชพูดผ่านกล้อง “อย่าให้ใครรู้ เรื่องนี้นายกฯรู้คนเดียว” ทำให้นายอภิสิทธิ์จำนนด้วยข้อเท็จจริง ต้องยอมรับว่ารับรู้การเดินทางไปชายแดนของนายพนิช

เรื่องคนไทย 7 คนถูกจับมีการตั้งคำถามเกิดขึ้นหลายประเด็น เพราะถูกนำไปผูกโยงกับการนัดชุมนุมใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อ ประชาธิปไตยในวันที่ 25 มกราคมนี้ เพื่อกดดันให้รัฐบาลยกเลิกเอ็มโอยูที่ทำไว้กับเขมร ซึ่งเป็นการชุมนุมแบบค้างคืน ไม่ชนะไม่เลิก

มีคนตั้งคำถามว่างานนี้ใครหลอกใครให้ไปถูกจับ เพราะคณะของนายพนิชประกอบไปด้วยคนของพันธมิตรฯที่แปลงร่างไปเป็นกลุ่มคนไทย หัวใจรักชาติ และคนของสำนักสันติอโศกที่แนบแน่นอยู่กับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ

มุมหนึ่งก็อย่างที่นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ ออกมาโวยวายว่ามีนายทหารวางแผนหลอกให้นายวีระ สมความคิด หนึ่งในแกนนำกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ ถูกทหารเขมรจับ เพราะรู้ว่างานนี้ต้องติดคุกแน่ เนื่องจากไม่ใช่การถูกจับข้อหารุกล้ำดินแดนเป็นครั้งแรก

หลอกไปถูกจับเพื่อลดทอนกำลังการชุมนุมในวันที่ 25 มกราคม เพราะถ้านายพนิชเดินทางไปดูปัญหาที่ดินจากข้อเรียกของประชาชนจริงอย่างที่ฝ่ายรัฐบาลกล่าวอ้าง ทำไมไม่นำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปด้วย และทำไมต้องเป็นนายพนิชที่มีสถานะเป็นแค่ ส.ส.กทม. ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่อะไรเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาโดยตรง

มุมหนึ่งคนฟากรัฐบาลมองว่างานนี้หลงเหลี่ยมพันธมิตรฯ เพราะคลิปวิดีโอที่บันทึกเอาไว้ตลอดการเดินทางเป็นการจงใจเอามาเปิดเผยเพื่อดิสเครดิตนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะประโยคเด็ดที่ว่า “นายกฯรู้คนเดียว” เป็นการทำเพื่อปั่นกระแสการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 25 มกราคม

เรื่องนี้กว่าหนังสือจะมาอยู่ในมือท่านก็คงรู้ผลแล้ว และหากผลออกมาอย่างที่เป็นข่าวคือนายพนิชจะรอดกลับมาประเทศไทยคนเดียวก็ยิ่ง เข้าทางพันธมิตรฯ

ประเด็นร้อนที่สองที่รัฐบาลต้องเจอคือ แรงกดดันต่อคนเสื้อแดงที่นัดชุมนุมใหญ่กันในวันที่ 9 มกราคม ที่จะมากันมากขึ้นหลังจากศาลปฏิเสธการประกันตัว สวนกับที่รัฐบาลพยายามบอกสังคมว่าต้องการให้มีการประกันตัวเพื่อสร้างความ ปรองดอง

การยื่นประกันตัวครั้งนี้เป็นความพยายามครั้งที่ 3 หลังจากที่แกนนำถูกจับกุม ครั้งแรกศาลยกคำร้อง อุทธรณ์คำสั่งก็ยืนยันยกคำร้อง รอจนรัฐบาลเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เอาความเห็นของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่ง ชาติ (คอป.) ไปยื่นขอประกันตัวใหม่ก็ยังไม่ได้รับอนุญาต แม้แต่ นพ.เหวง โตจิราการ กับนายก่อแก้ว พิกุลทอง 2 แกนนำที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไม่ได้คัดค้านการประกันตัวศาลก็ยังไม่อนุญาต

การชุมนุมในวันที่ 9 มกราคมคงเข้มข้นขึ้น เพราะคนเสื้อแดงมีข้อสงสัยว่าทำไมคนที่ถูกจับในข้อหาเดียวกันอย่างนายวีระ มุสิกพงศ์ จึงได้รับอนุญาตประกันตัวอยู่คนเดียว ทำไมนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำอีกคน จึงไม่ถูกถอนประกันตัวทั้งที่ดีเอสไอยื่นถอนประกันแล้วหลายครั้ง

อะไรคือมาตรฐานการพิจารณาให้หรือไม่ให้ประกันตัว

เรื่องร้อนอีกประเด็นหนึ่งคือ เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง โดยเฉพาะเรื่องระบบเลือกตั้ง เมื่อพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคการเมืองอื่นไม่เห็นชอบกับข้อเสนอลด ส.ส.เขต จาก 400 คน เหลือ 375 คน เพิ่ม ส.ส.บัญชีรายชื่อจาก 80 คน เป็น 125 คน มีเพียงพรรคประชาธิปัตย์ที่ยืนกระต่ายขาเดียวเห็นด้วยกับเรื่องนี้ เมื่อถึงเวลายกมือกันในสภาอาจถึงขั้นแตกหัก โหวตกันคนละทิศละทางจนสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลได้

แต่เดชะบุญในช่วงที่สารพัดปัญหารุมเร้าก็มีตัวช่วยออกมาค้ำยันขาเก้าอี้ให้นายอภิสิทธิ์

คอการเมืองรู้ดีว่าภาพที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ออกมาต้อนรับนายอภิสิทธิ์ถึงบันไดประตูหน้าบ้านและยืนคุยกันอยู่นานสองนาน เพื่อให้ช่างภาพหนังสือพิมพ์ ช่างภาพทีวี.บันทึกภาพมีนัยทางการเมืองอย่างลึกซึ้ง เพราะช่วงที่ผ่านมาไม่ว่าใครไปพบมักไม่มีภาพปรากฏตามสื่อ

เซียนการเมืองฟันธงว่านี่คือการส่งสัญญาณว่ายังให้การสนับสนุนนาย อภิสิทธิ์อยู่ ใครก็ตามที่คิดจะล้มนายอภิสิทธิ์ไม่ว่าด้วยวิธีการใดให้คิดเสียใหม่

เชื่อว่าหลังภาพเข้าพบป๋าปรากฏ พรรคร่วมรัฐบาลคงเสียงอ่อยลงไปเยอะ ขณะที่พันธมิตรฯและทหารบางกลุ่มที่คิดจะทำอะไรกันคงต้องทบทวนท่าที

“อภิสิทธิ์” ก็รอดไปได้ตามเคย

แหม…ช่าง “อภิสิทธิ์” จริงๆ

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6  ฉบับ 293 วันที่ 8-14 มกราคม พ.ศ. 2554 หน้า 8 คอลัมน์ จับกระแสการเมือง โดย ลอย ลมบน