ผังล้มเจ้า

หากไม่มีการฟ้องร้อง ประชาชนก็คงไม่ได้ความจริง และอาจตกเป็นเหยื่อของขบวนการแบ่งแยกแผ่นดินที่ต้องการให้คนไทยเกิดความ เกลียดชังและเข่นฆ่ากันเองไปอีกนาน โดยเฉพาะการนำสถาบันเบื้องสูงมาเป็นเครื่องมือ ซึ่ง 5 ปีที่ผ่านมามีผู้ถูกกล่าวหาและจับกุมเรื่องสถาบันหลายร้อยคน สื่อต่างๆถูกปิดนับไม่ถ้วน

เช่นเดียวกับนายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา และเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้ถอนฟ้อง พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ในฐานะโฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในคดี “ผังขบวนการล้มเจ้า”

หลังจากศาลได้ดำเนินการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท โดย พ.อ.สรรเสริญได้ลงนามยอมความ แถลงยอมรับต่อศาลว่า ผังขบวนการล้มเจ้าเป็นแค่การโยงบุคคลต่างๆแต่ละคนเกี่ยวข้องกันในฐานะอะไร เช่น เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในฐานะญาติพี่น้อง เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในฐานะผู้ทำธุรกิจร่วมกัน อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งขณะนั้น (วันที่ 26 เมษายน 2553) พ.อ.สรรเสริญยืนยันว่า มิได้แถลงว่าบุคคลทั้งปวงที่ปรากฏในผังมีความสัมพันธ์ในฐานะขบวนการล้มเจ้า แต่ศอฉ. ในขณะนั้นเชื่อมั่นว่ามีขบวนการที่จ้องจะล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์จริง

ส่วนเอกสารที่แจกแก่สื่อมวลชนก็เพื่อให้สังคมพิจารณาและวินิจฉัยเอาเอง ซึ่งมีรายละเอียดอยู่ในเอกสารว่าแต่ละคนเกี่ยวข้องกันในฐานะอะไร แต่สื่อมวลชนนำเรื่องราวต่างๆไปขยายผล ขยายความ ซึ่งอาจส่งผลต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในแผนผังให้ได้รับความเสียหายจากมุมมองของ สังคม ผู้ที่ได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ต้องไปฟ้องร้องกับผู้ที่นำไปขยายความ ในทางที่ผิดจากเจตนารมณ์ของ ศอฉ. เอง

คำแถลงเป็นลายลักษณ์อักษรของ พ.อ.สรรเสริญดังกล่าว จึงทำให้สังคมได้รู้ความจริงว่าผังขบวนการล้มเจ้าที่ถูกนำมากล่าวหาใส่ร้าย ป้ายสีกันมานานนับปีนั้น เป็นแค่ความเชื่อของ ศอฉ. จากสถานการณ์ในขณะนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากหลักฐานและข้อมูลที่เป็นจริง แต่ผลที่ตามมานั้น ศอฉ. และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเกิดผลกระทบต่อสังคมโดย รวมอย่างกว้างขวาง

โดยเฉพาะประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ถูกคนบางกลุ่มนำมาขยายผลในทางการเมือง เพื่อผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง แม้แต่รัฐบาลเองก็มีการนำเรื่องนี้มาตอกย้ำหลายครั้งหลายหน อาทิ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่นำมาพูดในลักษณะว่ามีการเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งวันนี้แกนนำและประชาชนนับร้อยถูกดำเนินคดีในเรื่องเกี่ยวกับสถาบัน ทั้งที่เรียกร้องประชาธิปไตยและความยุติธรรม

ที่มา : โลกวันนี้ รายวัน 27 พฤษภาคม 2554


“เสียงคนเสื้อแดง” ขานรับอิสรภาพของ “แกนนำนปช.” พร้อมสู้ต่อ!!

นับตั้งแต่แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ แห่งชาติ(นปช.) หรือ กลุ่มคนเสื้อแดง ถูกคุมขังในเรือนจำหลังจากที่ประกาศยุติการชุมนุมและเข้ามอบตัวในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553  นับได้เวลากว่า 9 เดือน ที่บรรดาแกนนำถุกจองจำ โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงคอยชุมนุมประท้วงเรียกร้องความยุติธรรมให้ ปล่อยตัวแกนนำ จนในที่สุดศาลอาญาได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ในปีถัดมา

การได้คืนอิสรภาพของแกนนำเสื้อแดงในครั้งนี้ ครอบครัว ญาติพี่น้อง ที่ตั้งตารอคอย “พ่อ สามี” กลับบ้านต่างดีอกดีใจเป็นการใหญ่ หลังจากศาลคำสั่งให้ประกันตัวได้ ทุกคนเฝ้ารอประตูเรือนจำเปิดออก ไม่ต่างกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่เฝ้ารอตั้งแต่หน้าศาลจนถึงหน้าเรือนจำพิเศษ กรุงเทพมหานคร ทำตัวเสมือนเป็นญาติผู้ใหญ่น้องผู้เล็กไปตั้งแถวรอรับแกนนำของพวกเขาตั้งแต่ บ่ายจนกระทั่งค่ำมืดก็ไม่ไม่ถอนยังคงปักหลักรอ ในมือกำดอกกุหลาบสีแดงแน่น

ภายหลังจากที่แกนนำผ่านประตูเรือนจำออกมา เสียงโห่ร้องแสดงความดีใจกึกก้องเรือนจำ มวลมหาประชาชนพากันกรูเข้ามาเพื่อจะได้ใกล้ชิดแกนนำ กองทัพนักข่าว-ช่างภาพ ตะเกียกตะกายฝ่าด่านการ์ดที่ห้อมล้อมแกนนำเพื่อถ่ายภาพและรายงานข่าว สภาพทุลักทุเล แต่ก็ยังไม่เท่ากับบรรดาแฟนพันธุ์แท้ของแกนนำ ที่เสมือนหนึ่งญาติคนสำคัญในครอบครัวได้รับอิสรภาพ จนน้ำตาไหลพราก และมีแต่เสียงโห่ร้องแสดงความยินดี สภาพแบบนี้ถ้าใครไม่ได้มาเห็นกับตาก็คง ไม่อยากจะเชื่อ

ในสภาพแออัด ยัดเยียด คนเสื้อแดงยังคงเฝ้ารอ เดินตามขบวนแกนนำ แม้ว่าโอกาสจะได้จับมือ มอบดอกไม้ แทบจะไม่มี แต่พวกเขาก็เฝ้ารอ เพื่อความมั่นใจว่าได้เห็นแกนนำออกมาจากเรือนจำจริงๆ

กลุ่มผู้ชุมนุมที่เดินทางมาเรือนจำในครั้งนี้ แทบจะไม่ได้มีการนัดหมายอย่างเป็นทางการ ภายหลังคำสั่งศาลออกมาผู้คนก็แห่มาเรือนจำอย่างทะลักล้น หลายคนกล่าวว่า อยากมาแสดงความยินดีด้วยตัวเองเพราะพวกเขาเฝ้ารอวันนี้มาร่วม 9 เดือน และจากนี้ต่อไปจะร่วมต่อสู้ยืนเคียงข้างแกนนำเพื่อเรียกร้องทวงความยุติธรรม คืนให้กับผู้ต้องขังอีกนับร้อย ตลอดจนผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตในเหตุการณ์เดือนเมษายน ถึง เดือนพฤษภาคม

ผู้ชุมนุมบางคนออกมาว่าจากนี้พวกเขาจะไม่ไปที่ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครอีกแล้ว

นั่นหมายความว่า เรือนจำอื่นๆ จะเป็นคิวต่อไปหรือไม่ อันนี้ต้องคอยลุ้น!!

ที่มา : มติชนออนไลน์  23 กุมภาพันธ์ 2554

 


นิติธรรมร่ำไห้ แม้ศาลอุทธรณ์ชี้ขาดไม่มีโทษติดตัว แต่ไม่ให้ประกัน ไม่ปรานี คดีประหลาดดา ตอร์ปิโด

นายประเวศ ประภานุกูล ทนายความของดา ตอร์ปิโด-น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล เปิดเผยว่า วันนี้พี่ชายดา ตอร์ปิโด(นายกิตติชัย ชาญเชิงศิลปกุล)ได้ไปยื่นคำร้องขอประกันตัวดา โดยใช้หลักประกันเป็นเงินสด 1,000,000 บาท (จากการช่วยเหลือของผู้บริจาคที่เห็นแก่มนุษยธรรม)

นายกมล คำเพ็ญ ผู้พิพากษาศาลอาญามีคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ความผิดตามฟ้องมีอัตราโทษสูง ตามพฤติการณ์แห่งคดีและลักษณะการกระทำนำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระ มหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ ประกอบกับศาลอาญาและศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมาแล้ว ทุกครั้งโดยให้เหตุผลไว้ชัดแจ้ง ในชั้นนี้เห็นว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยอาจหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง แจ้งคำสั่งศาลให้จำเลยและผู้ขอประกันทราบ”

นายประเวศเปิดเผยว่า ผมจะอุทธรณ์คำสั่ง โดยมีเวลาอุทธรณ์ภายใน 1 เดือน

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณณ์ ที่พนักงานอัยการเป็นโจกย์ยื่นฟ้องน.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ในข้อหาดูหมิ่นและหมิ่นประมาท องค์พระมหากษัตริย์ พระราชชินี หรือองค์รัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยในคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 18 ปี ต่อมาจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่่ศาลชั้นต้น สั่งพิจารณาคดีลับตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 โดยไม่รอการพิจารณาพิพากษาไว้ก่อน เมื่่อจำเลยขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ป.วิอาญา มาตรา 177 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า การวินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งกรณีที่ว่าป.วิอาญา มาตรา 177 ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็ไม่เคยมีคำวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญมาก่อน จึงมีคำสั่งให้ส่งศาลรัธรรมนูญวินิจฉัยกฎหมายดังกล่าว ส่วนที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยนั้น ให้ยก โดยให้รอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้วให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่แล้วแต่กรณี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวนี้แล้ว ทำให้จำเลยไม่มีโทษจำคุกติดตัวในคดีนี้ ซึ่งหากจำเลยจะต้องการประกันตัวจะต้องยื่นหลักทรัพย์เพื่อประกันตัวใหม่ ส่วนจะได้รับการปล่อยตัวหรือไม่ในระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ต้องเป็นดุลยพินิจของศาลอาญา

“เมื่อศาลอุทธรณ์ตัดสินออกมาตามนี้แล้ว ก็ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งจะเป็น2ทาง ทางแรกหากตัดสินว่าขัดรัฐธรรมนูญก็ต้องไปเริ่มต้นนับหนึ่งที่ศาลชั้นต้นใหม่ ทางที่สองหากตีความว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญก็ต้องไปตัดสินคดีใหม่ อย่างไรก็ตามคุณดายังไม่ได้พ้นโทษ ต้องไปขอยื่นประกันตัวอีกที ต้องใช้หลักทรัพย์เป็นล้าน และยังไม่แน่ใจว่าจะได้ประกันหรือไม่ เนื่องจากเคยยื่นประกันไปหลายครั้งแล้ว ไม่เคยได้รับประกันเลย”นายประเวศ ประภานุกูล ทนายความของดา ตอปิโด กล่างแสดงความเห็นเมื่อวันที่ 9 ก.พ. ซึ่งที่สุดก็เป็นไปตามคาดการณ์

 


ความยุติธรรมไม่มืดมน!

นายฮันส์-พีเทอร์ โคล รองประธานลำดับที่ 2 ศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่มาร่วมประชุมเกี่ยวกับเรื่อง “The Protection of Human Rights through the International Criminal Court as a Contribution to Constitutionalization and Nation-Building” เมื่อวันที่ 23 มกราคม ซึ่งจัดโดย German-Southeast Asian Center of Excellence for Public Policy and Good Governance (CPG) และสถานทูตเยอรมนี กล่าวถึงกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เตรียมนำคดี 91 ศพในเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศว่า จะทำได้ต่อเมื่อประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นภาคีของศาลอาญาระหว่างประเทศ ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ได้เป็นภาคี เพียงแต่ลงนามในธรรมนูญกรุงโรมเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2545 เท่านั้น ยังไม่มีการให้สัตยาบัน

แม้ประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีแล้วก็ตาม หากประเทศภาคีมีการดำเนินการไต่สวนตามกระบวนการยุติธรรมแล้วศาลอาญาระหว่าง ประเทศก็จะไม่เข้าไปก้าวล่วง ซึ่งนายโคลชี้แจงกับแกนนำ นปช. ที่เข้าพบแล้วว่ามีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับขอบเขตอำนาจของศาลอาญาระหว่าง ประเทศ

แต่มีกรณีประเทศที่ไม่ได้เป็นภาคีแล้วถูกตัดสินโทษโดยศาลอาญาระหว่าง ประเทศ เช่น กรณีประเทศซูดาน ซึ่งศาลอาญาระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาคดีโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 13 (ข) ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งให้อำนาจพิจารณาคดีได้ในกรณีที่คดีอาชญากรรมนั้นได้รับการเสนอต่ออัยการ โดยคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ภายใต้หมวด 7 ของกฎบัตรสหประชาชาติ

อย่างไรก็ตาม นายโคลยังตั้งข้อสังเกตกรณีประเทศไทยยังไม่ให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรมอาจ เป็นเพราะสหรัฐทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ จึงทำให้ประเทศต่างๆที่ได้รับความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจและทางทหารจาก สหรัฐไม่ให้สัญญาณ เพราะกลัวสหรัฐจะงดหรือลดความช่วยเหลือดังกล่าว

โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐ เหมือนกรณีตัดสินใจส่งนายวิคเตอร์ บูท นักค้าอาวุธชาวรัสเซีย ไปดำเนินคดีที่สหรัฐ จนรัฐบาลรัสเซียไม่พอใจและกล่าวหาว่าเป็นการแลกผลประโยชน์ระหว่างประเทศไทย กับสหรัฐ ซึ่งภายหลังเว็บไซต์วิกิลีกส์ได้นำเอกสารลับมาเปิดเผยว่าสหรัฐพยายามใช้ อิทธิพลอย่างไรในเรื่องนี้

ดังนั้น ข่าวการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงที่จะยื่นเรื่องต่อคนของศาลอาญาระหว่าง ประเทศจึงถือว่าหมดความหวังไปโดยปริยาย เพราะตามข้อเท็จจริงตามกฎบัตรของศาลอาญาระหว่างประเทศจะเข้ามาพิจารณาคดีได้ ใน 3 กรณีเท่านั้นคือ 1.ประเทศนั้นให้สัตยาบันต่อ Rome Staue แล้ว 2.ประเทศนั้นยังไม่ได้ให้สัตยาบันต่อ Rome Staue แต่ลงนามรับอำนาจศาล และ 3.มติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติขอให้ศาลมีอำนาจในการพิจารณาคดีใน ประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งประเทศไทยไม่ได้เข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่งใน 3 นี้ข้อเลย

แม้จะมีประเทศหรือคณะมนตรีความมั่นคงส่งเรื่องนี้เข้าไปก็เป็นไปได้ยาก อีกเช่นกัน เพราะเชื่อว่าสหรัฐจะออกมาคัดค้าน กรณีเสื้อแดงจึงอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่มีการส่งตัวนายวิคเตอร์ บูท ไปสหรัฐก็เป็นได้

ส่วนกรณีให้อัยการยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ยื่นฟ้องไปตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 ก็คงตกไปในที่สุด เหมือนที่นายโคลให้ความเห็นว่าคนเสื้อแดงต้องเลิกความหวังแบบลมๆแล้งๆ เพราะไม่อยู่ในขอบเขตของศาลอาญาระหว่างประเทศ

เรื่องนี้นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ให้ความเห็นเช่นเดียวกับนายโคลว่าประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบัน แม้แต่กรณีนักข่าวชาวญี่ปุ่นและนักข่าวชาวอิตาลีจะนำไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ระหว่างประเทศก็ต้องมีความผิดใน 4 ฐานความผิด ได้แก่ 1.มีความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 2.มีความผิดต่อมนุษยชาติ เช่น กรณีเขมรแดง 3.มีความผิดเป็นอาชญากรสงคราม และ 4.มีความผิดฐานเข้าไปรุกราน เช่น กรณีสหรัฐเข้าไปรุกรานอิรัก ซึ่งสหรัฐไม่ได้มีมติเห็นชอบธรรมนูญกรุงโรมจึงไม่เข้าข่าย

กรณี 91 ศพจึงไม่เข้าทั้ง 4 ฐานความผิดที่จะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศได้ จึงเหลือทางเดียวคือต้องต่อสู้ตามกระบวนการกฎหมายภายในประเทศ แม้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจะคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐในการ ปฏิบัติหน้าที่ไว้เกือบทุกด้านก็ตาม

แม้รัฐบาลอภิสิทธิ์จะอ้างว่าการชุมนุมของ นปช. เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย เพราะมีการชุมนุมปิดกั้นในทางสาธารณะ มีกลุ่มผู้ก่อการร้ายแฝงตัว แต่การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและใช้อำนาจสั่งการให้กองทัพดำเนินการปราบปรามผู้ชุมนุมอย่าง เบ็ดเสร็จเด็ดขาด หรือที่เรียกว่ากฎหมาย “พญาแร้ง” นั้นต้องไปต่อสู้กันทางกฎหมายว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

หากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นไปโดยไม่ชอบก็เท่ากับกระบวนการสั่งใช้กฎหมายเป็นโมฆะ การสั่งการให้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมโดยใช้อาวุธยิ่งเป็นการใช้อำนาจโดย ไม่ชอบ ซึ่งเท่ากับนายอภิสิทธิ์และผู้เกี่ยวข้องในศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุก เฉิน (ศอฉ.) ขณะนั้นถือว่ากระทำผิดกฎหมายทางอาญาทั้งสิ้น ถือเป็นตัวการในการกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) มีโทษประหารชีวิตสถานเดียว

นอกจากนี้ยังมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 296 และมาตรา 298 ซึ่งมีโทษจำคุกและปรับเช่นกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีและ ศอฉ. ไม่สามารถอ้างอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้

เช่นเดียวกับคณะรัฐมนตรีต้องร่วมรับผิดในเรื่องนี้ด้วย เพราะสั่งให้ประกาศใช้ พ.ร.ก. ดังกล่าวเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในสหรัฐอเมริกาจะใช้คำว่า Do Process ในกระบวนการกฎหมายและการบริหารของฝ่ายบริหารของรัฐ รวมทั้งกระบวนการยุติธรรมนั้นจะต้องมีการดำเนินการมาจากกฎหมายที่ใช้โดยชอบ

ดังนั้น เมื่อรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นกฎหมายโดยไม่ชอบแล้ว กระบวนการทั้งหมดที่อ้างว่าเป็นกระบวนการยุติธรรมและการใช้กำลังและอาวุธ สงครามสลายการชุมนุมจึงไม่มีภูมิคุ้มกันจากกฎหมายที่ไม่ชอบที่ประกาศ

โทษในทางอาญาที่มีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติโดยชัดแจ้ง แม้ขณะนี้รัฐบาลจะอยู่ในอำนาจและกระบวนการยุติธรรมยังไม่อาจดำเนินการเพื่อ ดำเนินคดีได้ก็ตาม แต่เมื่อรัฐบาลนี้พ้นจากตำแหน่งไป ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องเตรียมใจที่จะต้องถูก ดำเนินคดีในข้อหาร้ายแรง ซึ่งมีอายุความ 20 ปี

คนเสื้อแดงที่เรียกร้องความยุติธรรมจึงไม่ใช่จะมืดมนหรือหมดความหวัง อย่างสิ้นเชิง แม้วันนี้นายอภิสิทธิ์อาจรู้สึกว่าสิ่งเลวร้ายต่างๆหมดไปแล้ว แต่ในความเป็นจริงยากจะลบความจริงที่เกิดขึ้นและฝังอยู่ในใจไปตลอดชีวิตว่า เป็น “นายกฯร้อยศพ”

อย่างที่คำพูดของ “ฮิบราฮัม ลินคอนส์” ประธานาธิบดีของสหรัฐ ที่ว่า

“ประชาธิปไตยคือระบบการปกครองของประชาชนโดยประชาชนและเพื่อประชาชน โดยที่คุณอาจจะสามารถโกหกคนทุกคนได้บางเวลา คุณอาจสามารถโกหกคนบางคนได้ตลอดเวลา แต่คุณไม่สามารถที่จะโกหกคนทุกคนได้ตลอดเวลา”

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 296 วันที่ 29 มกราคม –  4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 หน้า 14 คอลัมน์ สามแยกสามแพร่ง โดย คุณศรี สามแยก


โลกแบน!

อยู่ “ไทยแลนด์” ไม่ว่าจะ “ยิ้ม” หรือ “แยกเขี้ยว” ก็ต้องทำใจ “เชื่อ” ทุกสิ่งที่ “ผู้มีอำนาจ” พูด เพราะมิฉะนั้นอาจกลายเป็นพวก “ไม่รักชาติ ไม่รักสถาบัน”

ข้อหาเป็นพวกนอกคอก ป่วนเมือง หรือก่อการร้าย จึงอยู่ที่ “ผู้มีอำนาจ” จะประเคนหรือยัดเยียดให้ เหมือน “ไพร่ไม่มีเส้น” ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยและความยุติธรรม กลับกลายเป็นพวกก่อการร้ายและล้มสถาบัน

เพราะ “ศูนย์อับเฉา” มีอำนาจตาม “พ.ร.ก.ฉกฉวย” จะเรียกใคร จะกล่าวหาใคร จะระงับยับยั้งไม่ให้ใครเดินทาง ไม่ให้ใครใช้เงิน ก็ทำได้ แค่ “คิดว่า” หรือ “สงสัย” ว่าใครก็ตามที่เข้าข่ายเป็น “ภัย” กับความมั่นคง “ของกูและพวกกู”

อยู่ “ไทยแลนด์” จึงต้องเชื่อว่า “โลกแบน” อย่างพาดปก “โลกวันนี้วันสุข”!

ใครอยู่ประเทศนี้หากบังอาจเชื่อว่า “โลกกลม” ก็เท่ากับทำตัวเป็น “ภัย” กับความมั่นคง เป็นพวกไม่รักชาติ ไม่รักสถาบัน!

จึงไม่แปลกที่ “บิ๊กดีแต่ไอ” คิดจะเปลี่ยนข้อหา “ไพร่กลุ่มฮาร์ดคอร์” จากความผิด “พ.ร.ก.ฉกฉวย” ที่ติดคุกแค่ 2 ปี เป็น “ผู้ก่อการร้าย” ที่มีโทษถึงประหารชีวิต แค่เพราะจะเลิกใช้ “พ.ร.ก.ฉกฉวย” และกลัว “คนไม่ได้ฆ่าคน ไม่ได้ทำร้ายคน” จะลอยนวล!

แต่ “บิ๊กดีแต่ไอ” กลับทำเหมือนคนตาบอดหูหนวกปล่อยให้ “คนสั่งฆ่าลอยหน้า คนฆ่าลอยนวล”

ถ้าบ้านเมืองที่มี “เสาหลักปักคอนกรีต” ไม่ได้เป็น “เสาหลักปักขี้เลน” ก็ต้อง “งง” เป็น “ไก่ตาแตก” ถึงอำนาจที่ล้นฟ้าคับแผ่นดิน จะกล่าวหา ใส่ร้าย ให้ “ใครเป็น-ใครตาย” ก็ได้ในพริบตา

ทำเหมือนบ้านเมืองมีแต่ “ศาลพระภูมิ”!

“ผู้มีอำนาจ” ใน “ไทยแลนด์” จึงเปรียบเหมือน “เทวดา” ที่อยู่เหนือ “มนุษย์ขี้เหม็น”

ดังนั้น พวกหัวแดง หัวดำ หัวทอง ตาตี่ ตาโต ถ้าเข้ามาอยู่บนแผ่นดิน “ไทยแลนด์” จึงต้องท่องจำ “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม” จะทำอะไรอย่างที่เคยอยู่บ้านเกิดเมืองนอนตัวเองไม่ได้

อย่างที่ “เทพอมสาก”แสดงบารมี “ใหญ่คับแผ่นดิน” เตือน “บิ๊กอาทิตย์อุทัย” อย่าคิดเป็น “มหาอำนาจ” แล้วจะเอาอะไรให้ได้ดังใจทุกอย่าง!

แค่ “ตายคนเดียว” จะโวยวายไปทำไม เพราะเพิ่งผ่านไปแค่ 6 เดือนจะเอาหลักฐาน “กระสุน” ว่ายิงจากทิศทางไหน ชนิดอะไร และยิงจากอาวุธอะไร?

ขนาด “6 ตุลาคม 2519” คนตายเป็นเบือ ผ่านมากว่า 34 ปีทุกคนที่อยู่ “ไทยแลนด์” ยังยิ้มและหน้าชื่นตาบาน ไม่มีใครสนใจว่า “มีคนตายเท่าไร”

เพราะ “ศาลพระภูมิ” ไม่ได้บอกว่าใครผิด ใครสั่งฆ่า และใครฆ่า?

เพราะที่นี่คือ “ไทยแลนด์” ทุกคนต้องเชื่อว่า “โลกแบน” และต้องยอมรับว่า “กฎหมาย” ที่นี่ไม่มี “ย.ยักษ์”

อยู่ที่นี่…จึงต้องเคารพ “กฎหมา (ย)” และ “ศาลพระภูมิ”!

ที่มา : โลกวันนี้ 17 ธันวาคม 2553