ขายยาก

เห็นอาการของวุฒิสภาตอนประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ “กฎหมายลูก” 3 ฉบับ ก็นึกว่าจะมีการยื้อการดึงเอาไว้ แต่สุดท้ายทั้ง 3 ฉบับก็ผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาเรียบร้อย

รอส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาว่าจะมีบทบัญญัติขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือ ไม่ หากไม่มีปัญหานายกฯนำทูลเกล้าฯเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

หลังจากนั้นนายกฯคงจะทูลเกล้าฯพระราชกฤษฎีกายุบสภา รอการโปรดเกล้าฯต่อไป

ที่ถามกันมาตลอดว่า ตกลงจะมีเลือกตั้งหรือเปล่า เพราะเกิดสถานการณ์หวิวๆ ขึ้นหลายรอบหลายระลอกเหลือเกิน

ตอนนี้ก็ดูจะเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น

ถ้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ก็จะเป็นการต่อสู้ระหว่าง 2 พรรคการเมืองคู่แค้น คือ ประชาธิปัตย์ กับเพื่อไทย เป็นมวยคู่เอก

นอก นั้นเป็นการต่อสู้ของพรรคอันดับรองๆ ลงไป ตั้งแต่ ภูมิใจไทย ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ชาติไทยพัฒนา ฯลฯ และอาจจะมีพรรคใหม่ๆ งอกขึ้นตามสถานการณ์อีก 2-3 พรรค

สำหรับพรรคใหญ่ 2 พรรค กว่าจะรอดมาถึงสังเวียนเลือกตั้งได้ อยู่ในสภาพสะบักสะบอม

พรรคประชาธิปัตย์ แม้จะเป็นแกนนำรัฐบาล แต่ผลงานที่ผ่านมายังอวดอ้างได้ไม่เต็มปาก

การแก้ไขปัญหาปากท้องยังไม่เข้าตา ทั้งน้ำมันปาล์ม สินค้าราคาแพง การช่วยเหลือน้ำท่วม ตั้งแต่ภาคกลาง อีสาน ไปจนถึงภาคใต้

กรรมการพยายามกดคะแนนให้แล้ว ยังร่อแร่

ส่วนพรรคเพื่อไทย ตอนแรกทำท่ามาแรง กี่โพลๆ คะแนนนำลิ่ว

พักเดียวงานเข้า เจอมรสุมเข้าไป 3-4 ลูกติดๆ ทำเอาระส่ำระสายไปเหมือนกัน

พรรคระดับนี้ต้องเสนอคนเป็นนายกฯ แต่ควานแล้วควานอีก ไม่มีใครเอา

ทั้งโดนบล็อคบ้าง “กลัว” บ้าง

ตอนนี้ไปดึงเอา พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก จากพรรคเพื่อแผ่นดินมา

เริ่มมีเสียงเรียก “นายกฯประชา” ยังไม่รู้ว่าสักพักจะเจออะไรอีก

สถานการณ์ของ 2 พรรคใหญ่เป็นแบบนี้ ทำให้พรรครองๆ ฝันถึง “ส้มหล่น” ได้เหมือนกัน

คำว่ารองๆ อาจฟังดูไม่สำคัญ แต่ที่จริงสำคัญเอาเรื่องอยู่

เพราะถ้า 2 พรรคใหญ่ ไม่ได้เสียงเกินครึ่ง ตั้งรัฐบาลพรรคเดียวไม่ได้ ก็จะต้องหันมาใช้บริการพรรคอันดับรองๆ เหล่านี้ ตั้ง “รัฐบาลผสม”

แต่สำหรับพรรคใหญ่ รัฐบาลผสมเที่ยวนี้จะไม่ง่ายอีกแล้ว

ถ้าเพื่อไทยเข้าป้ายก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง ปชป.เข้าก็เป็นอีกปัญหา

นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ น่าจะรู้ดีกว่าใครว่าพรรคร่วมรัฐบาลเขาบ่นว่ายังไง

ถ้าจะต้องร่วมงานกันอีก อาจจะเกิดเงื่อนไขเรื่องตัวนายกฯขึ้นมาให้ผู้จัดการรัฐบาลได้ปวดหัวเล่นอีกก็ได้

เลือกตั้งครั้งนี้ จึงต้องเตรียม “นโยบาย” ไว้ขาย ไว้โฆษณาหาเสียงให้มากๆ เข้าไว้

เพราะ “ตัวบุคคล” มีแนวโน้ม “ขายยาก”

ที่มา : คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 27 เมษายน 2554
โดย : วรศักดิ์ ประยูรศุข


วรเจตน์ ภาคีรัตน์

“ทางกลุ่ม (นิติราษฎร์) จะพยายามทำงานวิชาการในลักษณะนี้ต่อไปอีก แต่ก็มีปัญหาในแวดวงวิชาการ ผมรู้สึกและประเมินว่ามีความมืดมนอยู่ ผมไม่คิดว่าข้อเสนอนี้จะได้รับการตอบรับในวงกว้าง ผมคิดว่าแวดวงวิชาการเองก็ไม่ต่างกับแวดวงอื่นๆ มันมีเครือข่าย มีผลประโยชน์ การจะให้ออกมาพูดในเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องยาก แต่อย่างน้อยก็เป็นการกระตุ้น แม้แต่การคัดค้านก็ตาม”

นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) หนึ่งในผู้ก่อตั้ง “กลุ่มนิติราษฎร์ (นิติศาสตร์เพื่อราษฎร)” และเว็บไซต์ www. enlightened-jurists.com กล่าวตอบนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังการอภิปรายเรื่อง “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งนายสมศักดิ์เป็นหนึ่งในนักวิชาการที่เคลื่อน ไหวให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นสถาบันกษัตริย์มาอย่างต่อเนื่อง เพราะเห็นว่าที่ผ่านมาสถาบันกษัตริย์เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการ เมืองอย่างแยกกันไม่ออก จึงต้องแก้ทั้งตัวบทกฎหมายในรัฐธรรมนูญและอุดมการณ์ทางความคิดไปพร้อมๆกัน เพื่อให้ “สถาบันกษัตริย์ทรงเป็นสัญลักษณ์ถึงความสามัคคีของประ-ชาชน” อย่างแท้จริง เพราะตราบใดที่ไม่สามารถหยุดการใช้อำนาจที่ล้อมรอบสถาบันกษัตริย์ได้ก็ไม่ อาจจะบรรลุเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยได้

สถาบันกับวิกฤตการเมือง

นายสมศักดิ์ได้กล่าวถึงวิกฤตการณ์บ้านเมืองที่ดึงสถาบันมาใช้เป็นเครื่อง มือทางการเมืองว่า ไม่ใช่สิ่งที่แสดงออกเรื่องการใช้สิทธิรักหรือเคารพในหลวงเลย โดยเฉพาะการเข่นฆ่ากลางเมืองเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 เช่นเดียวกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่นำสถาบันมาอ้างในการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนกลายเป็นความอัปยศและหายนะของประเทศมาจนถึงทุกวันนี้

ขณะที่คำแถลงที่มาของ “กลุ่มนิติราษฎร์” เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2553 ระบุว่า รัฐประหาร 19 กันยา-ยน 2549 ของ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เป็นรัฐประหารที่อัปยศ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันของกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆที่ประกอบอาชีพ สอนวิชากฎหมายในสถานการณ์ที่คนจำนวนมากยินดีกับรัฐประหาร ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยไม่สามารถทำอะไรได้ จึงเกิด “กลุ่มนิติราษฎร์” และตัดสินใจออกแถลงการณ์ประณามรัฐประหาร

“ภายหลังรัฐประหารสำเร็จประเทศไทยตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่กฎหมายถูกนำไป ใช้อย่างบิดเบี้ยว ทั้งการตราตัวบทกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับนิติรัฐประชาธิปไตย การใช้และการตีความกฎหมายขององค์กรผู้มีอำนาจไปในทิศทางที่ไม่สนับสนุนนิติ รัฐประชาธิปไตย และก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรม ซึ่งเราได้แสดงความเห็นผ่านแถลงการณ์สาธารณะวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์เหล่า นี้อย่างสม่ำเสมอ”

จุดยืนกลุ่มนิติราษฎร์

กลุ่มนิติราษฎร์ที่ประกอบด้วยนักวิชาการที่ประ-กอบอาชีพสอนวิชากฎหมายคือ น.ส.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา นายฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล นายธีระ สุธีวรางกูร นายประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช นายปิยบุตร แสงกนกกุล นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ และ น.ส.สาวตรี สุขศรี จึงเป็นการประกาศตัวเป็นปรปักษ์กับอำนาจเผด็จการอย่างไม่ เกรงกลัว ทั้งที่ขณะนั้น คมช. ยังมีอำนาจ และกระแสต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับพวก ยังเป็นกระแสที่รุนแรง แต่กลุ่มนิติราษฎร์ให้เหตุผลว่าหวังจะเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการสถาปนา อุดมการณ์กฎหมาย-การเมืองนิติรัฐประชาธิปไตย เพื่อให้ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” และ “มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ”

อย่างที่นายวรเจตน์ได้ประกาศใน “นิติราษฎร์ฉบับที่ 1” ว่านับตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ปฏิเสธไม่ได้ว่ากฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือช่วงชิงอำนาจและสร้างความชอบธรรม ให้กับอำนาจ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างบาดแผลที่ลึกอย่างยิ่งให้กับวงการกฎหมายและวง วิชาการนิติศาสตร์ไทย สร้างความอยุติธรรมอย่างรุนแรงให้เกิดขึ้นกับผู้คนในสังคม ขณะที่คนจำนวนหนึ่งที่มีบทบาทชี้นำสังคมและนักกฎหมายที่เป็นชนชั้นนำก็ปิด ล้อมความคิดความอ่านของผู้คนด้วยการยกเอาข้อธรรม ความเชื่อในทางจารีตประเพณี ตลอดจนบุคคลที่ถูกสร้างให้เป็นที่ยึดถือศรัทธาขึ้นเป็นกรงขังการใช้เหตุผล และสติปัญญาของผู้คน

“เพื่อจะไปให้พ้นจากสภาวะเช่นนี้ เราเห็นว่าสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการกฎหมายและวงวิชาการนิติศาสตร์จะต้องก้าวข้ามยุคมืดไป สู่ยุคแห่งความสว่างไสวทางสติปัญญา หรือที่บางท่านเรียกว่ายุคภูมิธรรมหรือยุคพุทธิปัญญา (Enlightenment; les Lumières; Aufklärung ดังที่ได้เคยเกิดมาแล้วในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคภูมิธรรมหรือพุทธิปัญญาในช่วงศตวรรษที่ 17 และ 18 ซึ่งในที่สุดแล้วเป็นรากฐานสำคัญให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมไป สู่ความเป็นประชาธิปไตย”

นายวรเจตน์ขยายความลักษณะของ Enlightenment คือการเกิดความเคลื่อนไหวทางความคิดในทุกแขนงวิชาในลักษณะการตั้งคำถาม การวิพากษ์วิจารณ์ การสงสัยต่อสิ่งที่ยอมรับเด็ดขาดเป็นยุติ ห้ามโต้แย้ง ห้ามคิดต่าง เช่น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือคำสอนทางศาสนา โดยถือว่า “เหตุผล” มีคุณค่าเท่าเทียมกับ “ความดี” การใช้สติปัญญาครุ่นคิดตรึกตรอง ไม่หลงเชื่ออะไรอย่างงมงายมีค่าเป็นคุณธรรม ซึ่งมนุษย์ทั้งหลายสามารถได้รับการฝึกฝนให้ใช้สติปัญญาและถือว่าเหตุผลเป็น เครื่องมือที่สำคัญในการรับรู้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวอย่างเท่าทัน ดังคำขวัญของ Immanuel Kant (ค.ศ. 1724-1804) นักปรัชญาผู้เรืองนามชาวเยอรมัน ที่ให้ไว้ว่า “จงกล้าที่จะใช้ปัญญาญาณแห่งตน!” (Habe Mut, dich deines eigenen Verstandes zu bedienen!)

“ยุคแห่งความสว่างไสวทางสติปัญญาคือยุคที่เสรีภาพจะเข้าแทนที่สมบูรณาญา สิทธิ์ ความเสมอภาคจะเข้าแทนที่ระบบชนชั้น เหตุผล ความรู้ วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์จะเข้าแทนที่อคติและความงมงายทั้งหลาย” นายวรเจตน์กล่าว

ถูกยัดเยียดข้อหา

ขณะที่นายปิยบุตร อาจารย์หนุ่มไฟแรงของกลุ่ม ตั้งคำถามกับสังคมการเมืองไทยแบบตรงๆในสภาวะที่สังคมแตกแยกแบ่งขั้วว่า แม้แต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในคณะนิติศาสตร์บรรยากาศยังเปลี่ยนไป ทั้งในแง่กายภาพและด้านความรู้

“การรู้จัก ความคุ้นเคย เปลี่ยนไปเยอะมาก ปฏิเสธไม่ได้ว่าตั้งแต่ 19 กันยา 2549 ทำให้คนเห็นต่างกันมากขึ้น ทะเลาะกันมากขึ้น ในทางความคิดคุยกันไม่ค่อยสนิทใจกับคนคิดต่าง แต่ผมพยายามไม่คุยเรื่องที่คุยแล้วอาจทะเลาะกัน อย่างกลุ่ม 5 อาจารย์เราก็สนทนา กัน ตั้งวงคุยกัน บรรยากาศที่เห็นต่างกัน หรือความ รู้สึกคุยกันไม่ได้เหมือนเดิมก็พอปรับตัวได้ แต่ขอข้อเดียว อันนี้เป็นความรู้สึกส่วนตัว คือผมไม่ชอบข้อหากับวิธีการยัดข้อหา การแทงข้างหลัง กล่าวร้ายกับกลุ่มพวกผมในที่ลับ ผมคิดว่าการคิดต่างน่าจะคุยกันตรงไปตรงมาได้ ยกตัวอย่างเช่น มีข่าวลือพูดกันขนาดว่าจะไล่ให้พวกผมเผาตำราทิ้งไปอยู่ดูไบหรือมอนเตเนโกร ซึ่งจริงๆถ้าไม่เห็นด้วยน่าจะแลกเปลี่ยนคุยกันตรงๆได้ในทางวิชาการ”

นักวิชาการแกะดำ

กลุ่มนิติราษฎร์ โดยเฉพาะนายวรเจตน์จึงตกเป็นเป้าที่ถูกโจมตีอย่างรุนแรงจากทั้งภาคประชาชน เสื้อเหลือง นักวิชาการ ฝ่ายการเมืองที่อยู่ตรงข้ามและมีความคิดแตกต่างว่าเป็น “นักวิชาการเสื้อแดง” หรือ “นักวิชาการแกะดำ” ทั้งที่ความเห็นหรือแถลงการณ์ต่างๆของกลุ่มนิติราษฎร์เป็นการวิเคราะห์และ วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงวิชาการชัดเจน โดยเฉพาะข้อกฎหมายและมิติในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

แต่ต้องยอมรับว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์เกือบทุกเรื่องล้วนทำ ให้ผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือกลุ่มผู้มีอำนาจนอกรัฐธรรมนูญไม่พอใจ โดยเฉพาะการชี้ให้สังคมเห็นถึงปัญหานิติรัฐและกระบวนการยุติธรรม “สองมาตรฐาน” ที่เกิดขึ้น

รัฐธรรมนูญอำพราง

อย่าง “รัฐธรรมนูญปี 2550” นายวรเจตน์ระบุว่า เมื่อพิจารณาในทางนิติศาสตร์แล้วถือเป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนขัดแย้งกันเองมาก ที่สุดฉบับหนึ่ง ซึ่งมีการซ่อนเร้นอำพรางแนวความคิดทางกฎหมายที่เป็นปรปักษ์กับหลักนิติรัฐ หรือหลักนิติธรรมอย่างชัดเจน

ส่วน “ตุลาการภิวัฒน์” เป็นหน้าฉากที่เรียกร้องให้ศาลแผ่ขยายบทบาทเข้าไปแก้ปัญหาทางการเมือง โดยอ้างอิงหลักการจากประเทศที่เป็นนิติรัฐ แต่หลังฉากคือข้อเรียกร้องให้ศาลใช้อำนาจทางกฎหมายเข้าจัดการกับปรปักษ์ทาง การเมือง โดยอ้างหลักกฎหมายจากต่างประเทศอย่างครึ่งๆกลางๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงลักษณะโครงสร้างอำนาจตุลาการของไทยเลยว่ามีพัฒนาการมา อย่างไร ตลอดจนไม่ได้คำนึงถึงโครงข่ายความสัมพันธ์ของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มผลประโยชน์ในระดับบน

“ตุลาการภิวัฒน์” (หรือบางท่านเรียกว่า ตลก. ภิวัฒน์) จึงมีความหมายเท่ากับ “การบิดเบือนการใช้อำนาจตุลาการ” ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายถือว่าเป็นความผิดอาญาเท่านั้น

ค้านคดียึดทรัพย์ “ทักษิณ”

นายวรเจตน์ยังระบุว่า จากการตัดสินคดีหลายคดีนับตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เรื่อยมาจนกระทั่งหลังการรัฐประหาร ต่อเนื่องมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน เป็นการตัดสินคดีที่องค์กรตุลาการ (ผู้พิพากษา ตุลาการ) เข้าทบทวนตรวจสอบการใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรือตรวจสอบบรรดาบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในทางการเมือง โดยสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องเป็นธรรมจริงหรือไม่ การกล่าวอ้างสิ่งที่เรียกว่า “ตุลาการภิวัฒน์” ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการให้คุณค่าในถ้อยคำดังกล่าวด้วยว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือ เป็นตัวแทนของคุณธรรมความดีงามทั้งปวง

อย่างคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินให้ ยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัว 46,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 กลุ่มคณาจารย์นิติราษฎร์ก็ออกบทวิเคราะห์คำพิพากษายึดทรัพย์ในทุกประเด็นว่า ทำไมจึง “ไม่อาจเห็นพ้องด้วยได้” เพราะเห็นว่าคำพิพากษาไม่ได้วินิจฉัยแยกแยะว่าประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการ กระทำที่เป็นการเอื้อประโยชน์แต่ละกรณีเกิดขึ้นเมื่อใด แต่วินิจฉัยว่าราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นนั้นได้เกิดขึ้นอย่างไม่สมควร นับตั้งแต่วันที่ พ.ต.ท.ทักษิณดำรงตำแหน่งนายกรัฐ-มนตรี และมีสาเหตุเพียงประการเดียวคือ เกิดจากการที่ พ.ต.ท.ทักษิณปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ จนนำไปสู่การพิพากษาให้ยึดทรัพย์สิน

ประณามสลายเสื้อแดง

ส่วนการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถาน การณ์ฉุกเฉิน และนำไปสู่การใช้กำลังทหารนับหมื่นพร้อมอาวุธสงครามสลายการชุมนุมกลุ่มคน เสื้อแดงนั้น นายวรเจตน์ได้เขียนบทความเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศ คำสั่ง และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องโดยทันทีและ ไม่มีเงื่อนไข เพราะเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง เป็นการใช้อำนาจเพื่อทำให้มาตรการที่ปรกติแล้วไม่ชอบด้วยกฎหมายในทางเนื้อหา ให้กลายเป็นมาตรการที่ชอบด้วยกฎหมายในทางรูปแบบ ซึ่งไม่ช่วยแก้ไขวิกฤตให้บรรเทาเบาบางลงแล้ว ยังเป็นตัวเร่งให้สถานการณ์ตึงเครียดและรุนแรงมากขึ้น

“วันนี้เราลืมถามประเด็นนี้ไป เพราะเราไปพูดถึงเรื่องคืนความสุข กลายเป็นว่าคนมาชุมนุมสร้างความทุกข์ คนที่คิดอย่างนี้ไม่รู้ว่าคนที่มาชุมนุมจำนวนไม่น้อยเขาทุกข์กว่าพวกคุณไม่ รู้กี่เท่า แล้วก็ไม่เคยมีความสุขอย่างที่พวกคุณมี ภายใต้โครงสร้างของสังคมที่เป็นอยู่นี้ หลายคนรู้สึกโล่งใจว่าจบสักทีหนึ่ง แต่หารู้ไม่ว่านี่คือการสร้างปัญหาใหม่ ซึ่งมันจะแก้ยากกว่าเดิม”

โดยเฉพาะการทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก รวมถึงการเผากลางเมืองนั้น รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ซึ่งเกิดหลังการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม เพราะ 2 เดือนของการชุมนุมไม่ เกิดการเผา หรืออาจบอกว่าคนเสื้อแดงคือคนที่รักษาบ้าน เมืองไว้ไม่ให้ถูกเผา แต่เมื่อรัฐบาลใช้กำลังเข้าสลายจึงทำให้เกิดการเผา คือถ้าไม่มีการใช้อาวุธหนักเข้าสลายการชุมนุมก็จะไม่มีการเผาหรือไม่มีการ เปิดโอกาสให้เผา เหมือนกรณีที่มีผู้ถูกยิงเสียชีวิตถึง 91 ศพ บอกว่าไม่รู้ใครยิง แต่กลับบอกว่าทหารไม่ได้ยิง ทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริง หากเกิดความรุนแรงแบบนี้รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองแล้ว ทั้งที่เคยพูดว่าความรับผิดชอบทางการเมืองต้องสูงกว่าหรือต้องมาก่อนความรับ ผิดชอบทางกฎหมาย

ประเด็นร้อนมาตรา 112

โดยเฉพาะการเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติม “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและยิ่งทำให้กลุ่มนิติราษฎร์ถูกต่อต้านจากฝ่ายที่ ไม่เห็นด้วยมากยิ่งขึ้นนั้น กลุ่มนิติราษฎร์ตระหนักดี โดยนายปิยบุตรยืนยันว่า เป็นข้อ เสนอที่ถือว่าประนีประนอมที่สุดแล้ว เพราะคนเราไม่ควรติดคุกด้วยคำพูด ถ้าทำได้ทั้งระบบ คือเหลือแค่โทษปรับก็น่าจะเป็นไปได้ ส่วนเรื่องข้อเสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 ไม่จำเป็นต้องคิดอะไรสลับซับซ้อน (อ่านบทความประกอบในคอลัมน์ถนนประชาธิปไตย หน้า 9)

“ผมสังเกตว่าหลังการเสวนาเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2553 ก็มีการพูดประเด็นเหล่านี้มาก ผมคิดถึงคนอย่างคุณดา ตอร์ปิโด คือคนที่เขาอยากพูดแต่พูดไม่ได้ แต่เมื่อมีคนไปส่งเสริมให้เขาพูด พอพูดแล้วก็โดนทุบอีก ภายใต้สังคมปัจจุบันไม่มีทางอื่นใดอีกเลยที่เราจะรักษาให้สามัญชนคนธรรมดา พูดเรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างสอด คล้องกับประชาธิปไตย มีทางเดียวคือปัญญาชนทั้งหลาย ต้องออกมาช่วย ไม่ต้องไปผูกผ้าเป็นแกนนำหรอก ปัญญาชนคนหนึ่งคนเดียวไม่พอ ต้องพึ่งเป็นหลักร้อยหลักพัน และต้องทำให้เป็นประเด็นสาธารณะ” นายปิยบุตรกล่าว

จุดเทียนกลางพายุ

ขณะที่นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวถึงเรื่องมาตรา 112 ว่าภาคประชาชนหลายฝ่ายออกมาเคลื่อนไหวให้ปฏิรูปหรือยกเลิกมาตั้งแต่ก่อนเกิด รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญและมีผลกระทบต่อสังคมไทย รวมทั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนพยายามจุดประเด็นนี้เมื่อหลายปีก่อน มีการนำเสนอให้ถกเถียง แลกเปลี่ยน ไม่ให้ใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองไปแอบอ้างเรื่องความจงรัก ภักดีเพื่อทำลายศัตรูทางการเมือง แต่เรื่องก็เงียบหายไป

ด้านนายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์ว่า ถือเป็นปรากฏการณ์ ใหม่ที่ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ในวงการนิติศาสตร์ เพราะ วงการนิติศาสตร์ค่อนข้างจะเป็นพวกอนุรักษ์นิยมมากกว่าเสรีนิยม จึงไม่เคยมีความคิดก้าวหน้าเช่นนี้มาก่อน แม้ยากจะเห็นเป็นรูปธรรม แต่กลุ่มนิติราษฎร์ก็เหมือน “จุดเทียนกลางพายุ” ทำได้แค่เสนอ อย่าไปคาดหวังกับฝ่ายการเมือง เพราะคงไม่มีใครกล้า กลัวจนหัวหด

อย่างไรก็ตาม นายพนัสเชื่อว่าอย่างน้อยจะปลุกกระแสวงวิชาการนิติศาสตร์รุ่นใหม่ให้เข้ามา ร่วมเป็นสมาชิกมากขึ้น ซึ่งคงไม่มากนัก แต่อาจถูกนักวิชาการสาขาอื่นออกมาโต้แย้ง อย่างในอดีตที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ออกมาโต้แย้งเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์เรื่องมาตรา 112 จึงเป็นห่วงกลุ่มนิติราษฎร์มากกว่า เพราะถูกเพ่งเล็งแน่นอน

“ผมคิดว่ากลุ่มนิติราษฎร์เป็นความหวังของคนในวงการวิชาการ อาจเรียกว่าเป็นธูปดอกเดียวที่มีประกายไฟเล็กๆจุดหนึ่งเท่านั้นเอง และเชื่อว่าจะทำให้นักวิชาการคนอื่นๆกล้าทำแบบพวกเขา โดยเฉพาะถ้าอิงกับวิชาการและหลักการจริงๆไม่น่าจะต้องกลัวอะไร เพียงแต่ว่านักวิชาการส่วนใหญ่ไม่อยากหาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัวเอง ที่สำคัญในวงการนิติศาสตร์เราจะไปหวังเฉพาะนักวิชาการอย่างเดียวไม่ได้ การจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแวดวงนิติศาสตร์จริงๆได้ต้องพวกปฏิบัติ เช่น พวกผู้พิพากษา อัยการ ไม่ต้องกล้าอะไรมาก แค่ตัดสินคดีตามหลักวิชาอย่างที่กลุ่มนิติราษฎร์เสนอก็แก้ปัญหาได้มากอยู่ แล้ว”

แสงเทียนท่ามกลางความมืดสลัว

การออกมาแสดงจุดยืนทางวิชาการของกลุ่มนิติราษฎร์จึงเป็นดั่งแสงสว่างของ เปลวเทียนเล่มเล็กๆท่ามกลางความมืดมน แต่แสงเทียนนี้จะทำให้นักวิชาการนิติศาสตร์และสาขาอื่นๆที่ปลีกวิเวก คิดแต่ความสุขส่วนตัว หรือหลบอยู่ในซอกมุมเพราะความกลัวต่ออำนาจรัฐลุกขึ้นมากล้าพูด กล้าวิจารณ์ในเชิงวิชาการตามอุดมการณ์อย่างแท้จริงได้บ้าง ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับกลุ่มนิติราษฎร์

โดยเฉพาะข้อเสนอให้แก้ไขมาตรา 112 ที่ไม่ต่างกับ “วาระแห่งชาติ” หรืออาจเรียกว่าเป็น “วาระแห่งสิทธิมนุษยชน” อย่างแท้จริง ซึ่งพรรคการเมืองต้องนำไปประกาศเป็นนโยบาย โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่ประกาศต่อสู้เพื่อประชาชนและประชาธิปไตยอย่างแท้ จริง ยกเว้นพรรคเพื่อไทยจะเป็นแค่พรรคการเมืองน้ำเน่าที่โกหกตอแหลเพียงเพื่อให้ ได้อำนาจและผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องเท่านั้น!

อย่างไรก็ตาม วันนี้ถือว่ากลุ่มนิติราษฎร์ได้จุดเทียนเพื่อให้สังคมไทยได้เห็นแสงสว่างท่ามกลางความมืดสลัวทั้งทางวิชาการและการเมือง

กลุ่มนิติราษฎร์จึงเป็นดั่ง “แสงเทียนท่ามกลางความมืดสลัว” ที่ปลุกวงการวิชาการที่กำลังหลับไหลให้ตื่นขึ้นมายอมรับความจริงและต่อสู้ เพื่อประชาชน ไม่ใช่หลับไหล ขายวิญญาณ เพื่อผล ประโยชน์ของตัวเองอย่างเช่นทุกวันนี้

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 305 วันที่ 2 – 8 เมษายน พ.ศ. 2554 หน้า 16-17 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน


ไม่ไว้วางใจของจริง

การเมืองคึกคักขึ้นมาทันที หลังจากนายกรัฐมนตรีประกาศว่า จะยุบสภาในต้นเดือนพฤษภาคมนี้

วันเลือกตั้ง จะตกประมาณปลายเดือนมิถุนายน หรือต้นเดือนกรกฎาคม

แต่ก่อนจะไปถึงวันยุบสภา นายกฯและรัฐบาลยังมีงานค้าง ที่เห็นๆ 2 เรื่องด้วยกัน

ได้แก่ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ กับการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่น่าจะมีปัญหามากนัก แม้จะมีการปล่อยข่าวว่า พรรครัฐบาลที่ไม่อยากให้ยุบสภาอาจจะเบี้ยวโหวต

ที่ต้องออกแรงหลายยกสักหน่อย คงจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่เริ่มต้นแล้วเมื่อวันอังคารที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา อภิปรายเสร็จ ลงมติในวันที่ 19 มีนาคม

วันแรกโต้โผฝ่ายค้าน นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ โชว์ฟอร์มได้ไม่เลว ที่วิเคราะห์วิจารณ์กันไว้ล่วงหน้าว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พออภิปรายจริงก็ได้เนื้อหาสาระ มีข้อมูลพอสมควร

ขณะที่นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลุกมาตอบโต้เรื่อยๆ เกือบทุกประเด็นตามฟอร์ม

เที่ยวนี้ฝ่ายค้านขอเวลาไว้ 4 วัน มีคนสงสัยเหมือนกันว่าจะเอาเนื้อหาที่ไหนมาพูด แต่ฝ่ายค้านตั้งเป้าไว้ว่าจะใช้เวทีสภาชำแหละรัฐบาล ระดมขุนพลมากหน้าหลายตา กะใช้เวลาเต็มที่ เพื่อให้เกิดผลสะเทือนไปถึงการเลือกตั้ง

รัฐบาลเองก็รู้อยู่แล้ว ก็เลยได้เห็นการลุกขึ้นตอบโต้อย่างละเอียดและไม่ลดละจากบรรดารัฐมนตรี

ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะข้อสงสัยต่างๆ ที่หยิบยกมาถามตอบ จะช่วยให้ประชาชนที่ฟังวิทยุดูทีวี อ่านหนังสือพิมพ์ ได้ความรู้ว่านักการเมืองกำลังทำอะไรกันอยู่

ถ้าไม่หกล้มหัวฟาดพื้นเสียก่อนเพราะน้ำมันปาล์ม โดน 91 ศพหลอน หรือเมาควันบุหรี่นอกตกท่อไปเสียก่อน

รัฐบาลก็คงจะผ่านการอภิปรายครั้งนี้ไปได้ เพราะพรรคร่วมรัฐบาลคงจะช่วยกันยกมือไว้วางใจ สร้างไมตรีไว้ เผื่อจะได้กลับมาใช้บริการ เป็นรัฐบาลร่วมกันอีก ถ้าไม่มีตัวเลือกอื่นที่ดีกว่า

ย้อนกลับไปที่การตอบโต้ของนายกฯ อภิสิทธิ์ กับนายมิ่งขวัญ ในการอภิปรายวันแรก เมื่อมีความเห็นต่างกันในการจัดการปัญหา

นายกฯอภิสิทธิ์เสนอว่า เมื่อต่างคนต่างมีวิธีการของตัวเอง ก็ให้ประชาชนตัดสินดีกว่า

ประชาชนชอบการแก้น้ำมันปาล์มแบบไหน ชอบการแก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบไหน ให้ไปตัดสินกันในสนามเลือกตั้ง ชาวบ้านชอบแบบของพรรคไหน หัวหน้าพรรคนั้นก็เป็นนายกฯ พรรคนั้นเป็นรัฐบาลไป

ซึ่งก็ชัดเจนดี เหมือนกัน จึงหวังว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ละพรรคเสนอทางเลือกให้ชัดๆ ไปเลยว่า เลือกพรรคนี้จะได้อะไร และจะไม่ได้อะไร

บางเรื่องบางประเด็น ประชาชนก็มีข้อสรุปอยู่ในใจอยู่แล้ว เพียงแต่รอโอกาสแสดงความเห็นเท่านั้นเอง

ฉะนั้น การลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจที่แท้จริง จึงไม่ได้อยู่ในสภา

แต่อยู่ที่สนามเลือกตั้ง

ที่มา : คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 16 มีนาคม 2554
โดย : วรศักดิ์ ประยูรศุข



ไพ่สุดท้าย‘อภิสิทธิ์’‘ยุบ’ก่อน‘ยึด’

“ให้นายอภิสิทธิ์ลาออกจากตำแหน่งเพื่อเปิด โอกาสให้บุคคลที่มีความสามารถ กล้าหาญ เข้ามาบริหารราชการแทน พิจารณาตัวเองด้วยการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ กล้าหาญ กล้าตัดสินใจในการปกป้องดินแดนและอธิปไตยของชาติ มุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในชาติให้หมดสิ้น มีวุฒิภาวะ และมีความเป็นผู้นำที่ซื่อสัตย์ต่อชาติ ต่อประชาชน ไม่โกหกหลอกลวงประชาชน มีคุณธรรม ศีลธรรม เข้ามาบริหารชาติบ้านเมืองต่อไป”

แถลงการณ์ยกระดับการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อวัน ที่ 5 กุมภาพันธ์ เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหากัมพูชาที่รุกล้ำและยึด ครองดินแดนไทย ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดและเกิดการปะทะกันจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ แทนที่จะปกป้องดินแดนและอธิปไตยของชาติ กลับกระทำการในลักษณะสมยอมจำนน หรือมีพฤติกรรมยอมรับการเข้ายึดครองและรุกล้ำดินแดนไทยของกัมพูชา

นอกจากนี้ยังระบุว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่าง ประเทศ ตลอดจนคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ล้วนมีพฤติกรรมสมคบกันทำให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรไทยต้องตกอยู่ภาย ใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา ทำลายเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของประเทศชาติและประชาชนไทย ก่อความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อชาติและแผ่นดินไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้ราชอาณาจักรไทยต้องเสียดินแดนให้แก่กัมพูชาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน

เปลี่ยนแผนเพราะม็อบเหี่ยว!

อย่างไรก็ตาม การยกระดับการเคลื่อนไหวไปยังสถานที่สำคัญต่างๆในวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ เพื่อกดดันนายอภิสิทธิ์นั้น พันธมิตรฯได้ประกาศเปลี่ยนแผนเป็นการเคลื่อนคาราวานนำสิ่งของไปมอบให้กับ ทหารในพื้นที่อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีษะเกษ หลังจากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 9-23 กุมภาพันธ์ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ 7 เขตคือ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตวัฒนา เขตราชเทวี เขตวังทองหลาง เขตปทุมวัน และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย พร้อมตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) โดยมี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นผู้อำนวยการ

“จะคลี่คลายสถานการณ์ให้เรียบร้อยให้ได้” พล.ต.อ.วิเชียรประกาศงานแรกของ ศอ.รส. โดยออกมาตรการห้ามเข้าถนนสายสำคัญรอบทำเนียบรัฐบาล และจะเจรจาให้กลุ่มพันธมิตรฯเปิดเส้นทางสัญจรตามปรกติ หากไม่ยอมจะดำเนินการเคลื่อนย้ายคนและสิ่งของออกจากพื้นที่ตามข้อบังคับใช้ กฎหมาย โดยจะใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก 20 กองร้อย เป็น 50 กองร้อย แต่หากพื้นที่ใดมีสถานการณ์ความวุ่นวายก็จะประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯเพิ่มเติม เช่น บริเวณศาลอาญา ซึ่งกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จะชุมนุมกันในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ซึ่งนายสุเทพไฟเขียวให้เพิ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เต็มที่

อย่างไรก็ตาม รายงานของฝ่ายความมั่นคงและรัฐบาลยังเชื่อว่ากลุ่มพันธมิตรฯจะมีการเคลื่อน ไหวเพื่อยกระดับกดดันรัฐบาล แต่เพราะจำนวนผู้ชุมนุมยังไม่มากพอจึงต้องปรับแผน ซึ่งอาจสร้างเงื่อนไขให้เกิดสถานการณ์ที่จะทำให้มวลชนออกมาร่วมมากขึ้น จึงต้องมีการเตรียมพร้อม 100% ทั้งกำลังตำรวจและทหาร เพราะในทางการข่าวของเจ้าหน้าที่สืบทราบว่าทางกลุ่มพันธมิตรฯจะไม่ประกาศ ชัดเจนบนเวทีว่าจะไปไหนในวันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้ แต่ได้ใช้การพูด “ปากต่อปาก” ซึ่งคาดว่าอาจมีการปิดล้อมอาคารรัฐสภาก็เป็นได้

แต่ฝ่ายพันธมิตรฯกลับมองว่าการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯเท่ากับสะท้อนถึง “ความไม่มั่นคง” ของรัฐบาล จึงจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษเพื่อให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจ “เคลียร์พื้นที่” และอ้างสถานการณ์ความมั่นคงจัดการกับผู้ชุมนุมอย่างเด็ดขาดทันทีที่ผู้ ชุมนุมมีปฏิกิริยาตอบโต้ แม้จะเสี่ยงต่อสถานการณ์ที่อาจลุกลามจนนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหาร หรือมีการใช้ “อำนาจพิเศษ” เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลอย่างแถลงการณ์ของพันธมิตรฯก็ตาม

ปูดสุมหัวรัฐประหาร!

แม้ผู้นำกองทัพจะออกมาปฏิเสธกระแสข่าวการปฏิวัติรัฐประหาร แต่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส. สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. ที่อ้างว่ามีบุคคลกลุ่มหนึ่งวางแผนรัฐประหาร โดยหารือที่จังหวัดเพชรบูรณ์และโรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และมีการหารือกันที่บ้านไฮโซเจ้าของเหมืองแร่จังหวัดภูเก็ตที่มีความใกล้ชิด กับกลุ่มอำมาตย์ ทั้งยังอ้างถึงนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เสนาธิการทหารบก พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร อดีตผู้ช่วย ผบ.ทบ. และนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ โดยมีคำขวัญในการหารือว่า “ใช้มวลชนปฏิวัติ เปลี่ยนแปลง การปกครอง”

“เหลืออย่างเดียวที่บรรดาคณะผู้วางแผนยึดอำนาจยังตกลงกันไม่ได้คือจะให้ ใครเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะกลุ่มหนึ่งสนับสนุน พล.อ.ป.ปลา ที่โหรวารินทร์เคยทำนายไว้ว่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี และกลุ่มที่สองสนับสนุนนายสุรเกียรติ์ ที่ผมออกมาพูดเรื่องนี้เพราะไม่ต้องการให้บ้านเมืองถลำลึกไปมากกว่านี้”

นายจตุพรกล่าวอีกว่า การพูดคุยเหมือนบรรยากาศที่บ้านนายปีย์ก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทั้งยังเปิดเผยภายหลังว่าก่อนการปะทะระหว่างไทยกับกัมพูชา 2 วัน มีนายทหารยศ “พันเอก” ที่เจื้อยแจ้วอยู่ในขณะนี้ไปพูดกับเพื่อนๆว่าอีก 2 วันจะยิงเขมรและเกิดเหตุปะทะขึ้นจริง จึงตั้งคำถามว่าใครเป็นคนสั่งการให้นำรถแทรกเตอร์เข้าไปบริเวณวัดแก้วสิกขา คีรีสวาระจนเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดการปะทะ เหมือนสอดรับกับการปลุกกระแสคลั่งชาติในขณะนี้ที่ต้องการจะนำไปสู่การรัฐ ประหาร

“อภิสิทธิ์” ใช้โวหารสู้!

แม้นายสุรเกียรติ์และนายสนธิจะออกมาปฏิเสธ แต่นายสนธิยังปล่อยข่าวว่าเดินทางไปคูเวตเพื่อร่วมมือกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โค่นล้มรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ซึ่งนายสนธิระบุว่า นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กับนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เป็นคนปล่อยข่าว ซึ่งนายเทพไทก็ออกมาปฏิเสธทันทีเช่นกันและให้นายสนธิแก้ข่าว ไม่เช่นนั้นอาจฟ้องนายสนธิเป็นคนแรก ทั้งที่ตั้งใจจะไม่ฟ้องใครเลย

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ก็ตั้งคำถามถึงคำพูดของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ ที่ว่าการชุมนุมของพันธมิตรฯทุกครั้งจะไม่จบด้วยดีว่า มองไม่เห็นว่าการปฏิวัติจะช่วยประเทศได้อย่างไร เพราะปฏิวัติทุกครั้งมีบาดแผลตกค้างทุกครั้ง กระบวนการเสื้อแดงก็เป็นบาดแผลที่ยังไม่จบจากครั้งที่แล้ว ลองไปถามคนที่ต้องทำงานหลังการปฏิวัติดูว่าเหนื่อยแค่ไหน จึงเข้าใจยากว่าทำไมจึงมีข้อเรียกร้องอย่างนี้

“ถึงบอกว่าถ้าไม่ชอบรัฐบาลนี้ก็อีกไม่กี่เดือนจะไปเลือกตั้งกันแล้ว แต่ถ้าไม่เชื่อในกระบวนการการเลือกตั้งอีก แล้วเชื่อประชาธิปไตยแบบไหน ถ้าไม่เชื่อประชาธิปไตยอีก ก็ถามว่าคุณจะอยู่ในโลกนี้ยุคนี้อย่างไร มีคนพูดว่ารัฐประหาร ไม่รัฐประหารอย่างไร”

จึงเห็นได้ชัดเจนว่านอกจากนายอภิสิทธิ์ไม่กลัวการกดดันของกลุ่มพันธมิตรฯ แล้ว ยังใช้ทุกโอกาส ทุกเวทีเพื่อตอบโต้และสร้างภาพการเป็นนักการเมืองที่เชื่อมั่นในระบอบ ประชาธิปไตยและพร้อมจะยุบสภา ซึ่งเหมือนการดิสเครดิตพันธมิตรฯไปโดยปริยายว่ายังมีความคิดอิงแอบอำนาจ เผด็จการ อย่างที่ พล.ต.จำลองตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า ที่ออกมาชุมนุมก็เพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 เท่านั้น ส่วนใครจะปฏิวัติหรือใครจะมาเป็นรัฐบาลไม่ได้สนใจ แต่ถ้ามาแล้วทำไม่ถูกต้อง พันธมิตรฯก็ต้องออกมาอีก

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ก็สร้างภาพเรื่องยุบสภาโดยใช้โวหารเดิมๆ อย่างในงานสัมมนา ASEAN-CLSA Forum ซึ่งมีนักการเงินการธนาคารทั้งในและต่างประเทศ โดยยืนยันว่าพร้อมให้มีการเลือกตั้งภายในช่วงครึ่งปีแรกนี้ เพราะขณะนี้เศรษฐกิจถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เหลือเพียงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะพิจารณาวาระ 3 ในวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ และต้องแน่ใจว่าการเลือกตั้งไม่มีความรุนแรง โดยก่อนหน้านี้นายอภิสิทธิ์ได้แถลงกับผู้สื่อข่าวว่าพร้อมคืนอำนาจให้ ประชาชนอยู่แล้ว ส่วนฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้วบอกว่ารัฐบาลจะทอดเวลา ยุบสภา นั้นก็อยากให้ยื่นมาเร็วๆ รีบอภิปรายให้จบๆไป จะได้ยุบสภาได้ เพราะการจัดทำงบ ประมาณกลางปี 2554 เดือนมีนาคมก็เสร็จแล้ว จึงไม่มีเงื่อนไขเรื่องการจัดทำงบประมาณปี 2555 มาเกี่ยวข้อง อย่างนั้นมันไม่จบ

แม้นายสุเทพจะออกมาพูดภายหลังว่ารัฐบาลไม่ถึงทางตัน ยังสามารถแก้ไขปัญหาได้ และหวังว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามปฏิทินที่กำหนดไว้ก็ตาม แต่นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และ ส.ส.มหาสารคาม พรรคภูมิใจไทย เชื่อว่านายอภิสิทธิ์ส่งสัญญาณว่าพร้อมยุบสภานานแล้วหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 เพราะขณะนี้ปัจจัยทุกอย่างครบหมดแล้ว โดยเชื่อว่าจะยุบสภาไม่เกินเดือนเมษายนนี้

“ปฏิวัติ” เพราะดื้อด้าน

ด้านนายประพันธ์ คูณมี หนึ่งในโฆษกการชุมนุมพันธมิตรฯ ตอบโต้นายอภิสิทธิ์ว่า ใส่ร้ายพันธมิตรฯผ่านสื่อให้เข้าใจผิดว่า พล.ต.จำลองและพันธมิตรฯเรียกร้องให้มีการปฏิวัติ ทั้งที่ พล.ต.จำลองเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกหากทำหน้าที่ไม่ได้ จึงพูดว่าจบไม่สวย แต่นายอภิสิทธิ์กลับบิดเบือนใส่ร้าย ไม่เคารพสิทธิและไม่ฟังความเห็นของประชาชน นายอภิสิทธิ์ไม่ยอมแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองและไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งที่เคยประกาศว่านักการเมืองต้องมีจิตสำนึกสูงกว่าสำนึกทางกฎหมาย ดังนั้น หากรัฐบาลถูกปฏิวัติจริงก็เป็นเพราะดื้อด้านไม่สนใจประชาชน

นอกจากนี้มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยการประเมินสถานการณ์ทางการ เมืองของแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ โดยยก 4 เหตุการณ์คือ การชุมนุมของพันธมิตรฯ การชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง กรณีพิพาทระหว่างทหารไทย-กัมพูชา และการพิจารณารัฐธรรมนูญวาระที่ 3 รวมถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นมีผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 3 อย่างคือ ยุบสภา การปฏิวัติ และนายกรัฐมนตรีลาออก ซึ่งนายอภิสิทธิ์ยืนยันว่าทางเลือกมีทางเดียวคือประกาศยุบสภาเท่านั้น ไม่เช่นนั้นจะเสี่ยงกับการเกิดการปฏิวัติ

ส่วน พล.ต.จำลองก็ยืนยันว่ารัฐบาลมี 2 ทางเลือกคือ ลาออก หรือสลายการชุมนุม แต่จะกลับมาใหม่จนกว่าจะได้ชัยชนะ ไม่ว่าจะประกาศใช้กฎหมายใดก็ตามกระแสข่าวการปฏิวัติรัฐประหารเป็นไปได้ทั้ง นั้น และตนก็เชื่อด้วย เพราะการเมืองประเทศไทยยังไม่มั่นคง ขอย้ำว่าพันธมิตรฯไม่ได้เปิดทางให้มีการปฏิวัติ แต่หากเกิดขึ้นจริงก็ไม่สามารถห้ามได้ เพราะพันธมิตรฯไม่มีอำนาจไปห้ามได้

“ขณะนี้ประเทศไทยเหมือนคนไข้ที่กำลังป่วยร้ายแรง เราไม่เลือกแพทย์แผนปัจจุบันหรือหมอฝังเข็มที่จะมารักษาเรา แต่ต้องเป็นหมอที่สามารถรักษาโรคเราได้ ทั้งในเรื่องการสูญเสียดินแดนอธิปไตย และปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ว่าจะมาจากกระบวนการใด”

ยกระดับเปิดทาง “ปฏิวัติ”!

สถานการณ์การเมืองขณะนี้ การปฏิวัติรัฐประ-หารเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะทุกฝ่ายรู้ดีว่าการปฏิวัติรัฐประหารของไทยนั้น ที่ผ่านมาในอดีตส่วนใหญ่เกิดจากการยื้อแย่งอำนาจทางการเมืองระหว่างทหารและ พลเรือน หรือเพราะทหารสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์ โดยทหารจะอ้างเรื่องความมั่นคง การปก ป้องสถาบันเบื้องสูง และการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมือง แต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นการจัดฐานอำนาจของกลุ่มอำมาตย์กับกลุ่มทุนเก่าหลังจากถูกกลุ่มทุนใหม่ แย่งชิงไป ไม่ได้เป็นไปตามอุดมการณ์การเมือง โดยอ้างเรื่องความมั่นคง และอิงแอบสถาบันเบื้องสูง ซึ่งกลุ่มพันธมิตรฯและพรรคประชาธิปัตย์รู้ดี

ดังนั้น จะเกิดการปฏิวัติรัฐประหารหรือไม่จึงอยู่ที่ว่า “อีแอบ” จะเลือกฝ่ายใดให้ขึ้นมารับใช้ และกดปุ่มไฟเขียวเมื่อไร โดยมีกองทัพเป็น “ยักษ์สีเขียว” ถือกระบอง เพราะกองทัพไทยไม่ได้ให้คำปฏิญาณว่าจะปกป้องรักษารัฐธรรมนูญ หรือให้ปฏิเสธคำสั่งของผู้บังคับบัญชา แม้คำสั่งนั้นจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดสิทธิเสรีภาพ และความเป็นมนุษย์ของประชาชน

อย่างวลีอมตะของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่ว่า “รัฐบาลเป็นแค่จ๊อกกี้ แต่ไม่ใช่เจ้าของคอกม้า” ซึ่งขัดกับหลักประชาธิปไตยอย่างชัดเจน กองทัพไทยจึงไม่ใช่กองทัพของประชาชนและรัฐบาล แต่เป็นทาสรับใช้ “เจ้าของคอกม้า”

ไล่ไปเรื่อยๆจนกว่าจะปฏิวัติ!

“การผลักดันให้ยกระดับการต่อสู้ เดือดร้อนประชาชนคนอีสานใต้นับหมื่นราย ผมนึกถึงที่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดว่า ถ้าท่านตายก็ไม่อยากตายด้วยความโง่จากสงครามที่คนอื่นก่อ นี่คือสงครามของคนที่ไม่ได้อยู่ชายแดนก่อ คนก่อคือคนอยู่เมืองหลวง ใช้การเมืองเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองร่วมกับการที่ในประเทศเองก็มีความแตก แยกมาก จนอาจนำไปสู่การปฏิวัติได้ บ้านเมืองจะยิ่งจมดิ่งไปกว่านี้”

นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหา-วิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นเรื่องชายแดน และกระแสชาตินิยมกรณีพิพาทไทย-กัมพูชา ซึ่งถูกชูขึ้นมาตั้งแต่ปี 2551 เพื่อต่อต้านและล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างเสียม โป๊ย กั๊ก แล้วใช้ประเทศเป็นข้ออ้าง ซึ่งปลุกระดมได้ง่าย

“การปลุกกระแสในขณะนี้ก็เพื่อขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ไล่ไปเรื่อยๆ ก็จะมีการยึดอำนาจ แล้วก็จะไม่มีประชาธิปไตย คนที่ไม่อยากใช้วิถีประชาธิปไตย คือคนไม่อยากเลือกตั้ง เพราะลงเลือกตั้งไปก็ไม่ได้สักที เลยรอเอาส้มหล่น ก็ไม่รู้ว่าส้มจะหล่นที่ใคร แต่เคยเห็นคนรุ่นเดียวกับผมได้ส้มหล่นไปหลายคน”

ชิงยุบสภาก่อนปฏิวัติ!

ดังนั้น นายอภิสิทธิ์จึงรู้ดีว่าถ้าไม่ชิงยุบสภาโดยเร็วก็ยิ่งเสี่ยงที่จะเกิด ปฏิวัติรัฐประหาร หรือมี “อำนาจพิเศษ” ให้ลาออก เพื่อจัดตั้ง “รัฐบาลเฉพาะกาล” ซึ่งกลุ่มผู้มีอำนาจจะอ้างเข้ามาเพื่อแก้ไขสถานการณ์บ้านเมืองเหมือนเมื่อ ครั้งกลุ่มพันธมิตรฯขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ โดยอ้างเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน ความแตกแยก และการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง

การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯจึงไม่มีอะไรซับซ้อน เพียงแต่ไม่มีใครรู้ชัดเจนว่า ขณะนี้ “อีแอบ” ที่มีอำนาจที่แท้จริงนั้นตัดสินใจอย่างไรกับการเมืองไทย ไม่ใช่ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจตามระบอบประชาธิปไตย

แม้แต่สำนักข่าวรอยเตอร์ยังรายงานว่า สาเหตุการปะทะกันระหว่างไทยกับกัมพูชายังคลุมเครือ แต่นักวิเคราะห์มองว่า สาเหตุอาจมาจากพวกนายพลสายเหยี่ยวในกองทัพไทยและกลุ่มพันธมิตรฯที่ปลุกกระแส ชาตินิยม พยายามโค่นล้มรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ หรือพยายามสร้างเงื่อนไขเพื่อให้เกิดการรัฐประหารอีกครั้ง และล้มการเลือกตั้ง

ไม่เช่นนั้นกลุ่มพันธมิตรฯคงจะไม่ประกาศยกระดับขับไล่นายอภิสิทธิ์ให้ตาย กันไปข้างหนึ่ง แม้แต่การโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. อย่างรุนแรง อาจเป็นละครฉากใหญ่ หลายฝ่ายจึงเชื่อว่ากลุ่มพันธมิตรฯกำลังสร้างเงื่อนไขเพื่อเปิดประตูสู่การ ปฏิวัติรัฐประหารมากกว่าให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งไม่มีผลดีใดๆกับกลุ่มพันธมิตรฯเลย โดยเฉพาะพรรค การเมืองใหม่ที่ไม่มีโอกาสได้ ส.ส. แม้แต่คนเดียว

อย่างแถลงการณ์ของพันธมิตรฯที่ระบุชัดเจนว่า ต้องการเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความรู้ความ สามารถ กล้าหาญ กล้าตัดสินใจที่จะปกป้องดินแดนและอธิปไตยของชาติ มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันให้หมดสิ้น มีวุฒิภาวะ และมีความเป็นผู้นำ ซื่อสัตย์ต่อชาติ ต่อประชาชน ไม่โกหกหลอกลวงประชาชน มีคุณธรรม ศีลธรรม เข้ามาบริหารชาติบ้านเมืองต่อไป

คนที่พันธมิตรฯต้องการจึงมีแค่ “พระเอกขี่ม้าขาว” ซึ่งจะโผล่ออกมาตาม “กลไกหรืออำนาจพิเศษ” จาก “มือที่มองไม่เห็น” ไม่ว่าจะผ่านทางกองทัพหรือตุลาการภิวัฒน์ก็ตาม

จากเหตุการณ์ปะทะกันที่ชายแดนไทย-กัมพูชาโดยไม่มีความชัดเจนในสาเหตุ บวกกับการเคลื่อน ย้ายกำลังและการประชุมกันในที่รโหฐานของบรรดาบิ๊กๆทั้งหลายที่ถูกปูดออกมา เป็นระลอก สอดประสานกับ “ม็อบมีเส้น” ที่แม้จะ “หะรอมหะแรม” แต่กลับมีกำลังภายในจนทำให้ “รัฐบาลเส้นใหญ่ผัดซีอิ๊ว” ฉวยโอกาสประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯคุมการชุมนุมของคนเสื้อแดงไปในคราวเดียวกัน ย่อมแสดงถึงความหวั่นไหวของนายกรัฐมนตรีเบบี๋ที่สามารถเปลี่ยนสนามการค้าให้ เป็น “สนามรบและสนามเด็กเล่น” ได้ในคราวเดียวกัน

“การยุบสภาเพื่อหนีการถูกยึดอำนาจ” จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ล้านเปอร์เซ็นต์

ยุบสภาดีกว่า โดนปฏิวัติแน่นอน

บ๊ายบาย… เบบี๋มาร์ค!!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 298 วันที่ 12 – 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 หน้า 16
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
โดย : ทีมข่าวรายวัน



โคตรเนียน!

ต้องให้รางวัลตุ๊กตาทองสำหรับ “สัตว์การเมือง” ตีบทกันสุดเนียน เล่นละครต่อรองผลประโยชน์กันแบบหน้าด้านๆยิ่งกว่า “โจรห้าร้อย”

เพราะก่อนการชูรักแร้ “เกี๊ยะเซียะ” ให้ “รัด-ทำ-มะ-นวย” ผ่านก็ออกมาอ้างสารพัดเหตุผล “รักชาติ รักประชาชน รักประชาธิปไตย” จนน้ำลายไหลเยิ้มเป็นทาง

“สภาสยาม” จึงยังมีแต่ “เกือก” มากกว่า “เกียรติ” ไม่ว่าจะเป็น “สัตว์การเมือง” รุ่นลายคราม รุ่นแตกลายงา รุ่นกระเตาะ ล้วน “เขี้ยวลากดิน”

โดยเฉพาะ “รุ่นใกล้กลับบ้านเก่า” ที่ออกมายืดอกเหี่ยวๆประกาศว่าไม่มีวันกลับลำ แต่พอ “ก๊วนสะตอ” เสนอ “ของกำนัลพิเศษ” ยัดใส่ปาก กลับกลายเป็นพวก “อัลไซเมอร์” และ “สมองทึบปัญญากระบือ”

ขณะที่บรรยากาศใน “สภาอันทรงเกือก” ก็เต็มไปด้วย “ละครน้ำเน่า” ของบรรดา “สัตว์การเมือง” ที่ไม่ละอายพฤติกรรม “เน่าๆ” ที่แท้จริงออกมา

แต่ต้องยอมรับความเหนือชั้นของ “ก๊วนสะตอ” ว่า “โคตะระเก๋า” สมกับเป็นก๊วนเก่าแก่ที่สุดจริงๆ

โดยเฉพาะ “หล่อหลักลอย” ที่เล่นบท “คนละเรื่องเดียวกัน” เข้าขากับ “เทพอมทุกข์” ได้อย่างไม่มีที่ติดและสมจริงสมจัง

แม้แต่ “ชาละวันตัวพ่อ” ก็ไม่เสียยี่ห้อ “ลูกหม้อสะตอเก่า” ที่ตีบทแตกจนคนดูหงายหลัง เหมือนการเดินสายสร้างความปรองดองที่วันนี้เงียบหายเข้าป่าช้าไปเรียบร้อย โรงเรียน “บ้านหลายเสา” แล้ว

ละครน้ำเน่า “สัตว์การเมือง” ทุกครั้งจึงจบลงที่ “โต๊ะอาหาร” ท่ามกลางเสียงเพลงและน้ำเมา เพื่อให้สื่อเอาภาพไปประจานการ “เกี๊ยะเซียะ” ที่ต้องมีภาพ “หล่อหลักลอย” กับ “หัวหน้าก๊วน” ต่างๆ

เหมือนการจัดฉากก่อนการจัดตั้ง “แก๊งโจรสลัด” กับภาพอัปยศ “กอดสยิว” ที่จะถูกบันทึกไว้ในประวัติน้ำเน่าการเมืองไทยไปตราบนานแสนนาน รวมทั้งเป็นประวัติวงศ์ตระกูลของ “หล่อหลักลอย” ที่เก็บไว้ให้ลูกหลานจดจำ

สูตร 375+125 จึงคละคลุ้งไปด้วยเสียงหัวร่อต่อกระซิกที่ชื่นมื่น เพราะละครฉากนี้ “ก๊วนห้อยยี้” และ “ก๊วนปลาไหล” ได้ทั้ง “ของขวัญ” ชิ้นโตและ “โบนัสพิเศษ”!

แต่ “ละครน้ำเน่า” ที่เล่นได้ “โคตรเนียน” ต้องยกย่องให้กับ 2 ผู้อยู่เบื้องหลังคือ “พญายี้” กับ “ปลาไหลตัวพ่อ” แล้วยังการันตีว่าหาก “หล่อหลักลอย” ไม่ถูก “เด็กเส้น” ไล่บี้จน “ตกม้าตาย” แล้ว “แก๊งโจรสลัด” และ “หล่อหลักลอย” ได้ผลาญเงินประชาชียาวจนถึงสิ้นปีกระต่ายแน่นอน

แต่ “ก๊วน” ที่อกหักซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่ใช่ “ก๊วนเพื่อแม้ว” แต่เป็น “ก๊วน 3 พี” ที่ฝันสลาย ไม่ได้เป็น “ตาอยู่” จนแล้วจนรอด!

ที่มา : โลกวันนี้ 27 มกราคม 2554
โดย : นายหัวดี