ไม่ไว้วางใจของจริง

การเมืองคึกคักขึ้นมาทันที หลังจากนายกรัฐมนตรีประกาศว่า จะยุบสภาในต้นเดือนพฤษภาคมนี้

วันเลือกตั้ง จะตกประมาณปลายเดือนมิถุนายน หรือต้นเดือนกรกฎาคม

แต่ก่อนจะไปถึงวันยุบสภา นายกฯและรัฐบาลยังมีงานค้าง ที่เห็นๆ 2 เรื่องด้วยกัน

ได้แก่ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ กับการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่น่าจะมีปัญหามากนัก แม้จะมีการปล่อยข่าวว่า พรรครัฐบาลที่ไม่อยากให้ยุบสภาอาจจะเบี้ยวโหวต

ที่ต้องออกแรงหลายยกสักหน่อย คงจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่เริ่มต้นแล้วเมื่อวันอังคารที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา อภิปรายเสร็จ ลงมติในวันที่ 19 มีนาคม

วันแรกโต้โผฝ่ายค้าน นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ โชว์ฟอร์มได้ไม่เลว ที่วิเคราะห์วิจารณ์กันไว้ล่วงหน้าว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พออภิปรายจริงก็ได้เนื้อหาสาระ มีข้อมูลพอสมควร

ขณะที่นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลุกมาตอบโต้เรื่อยๆ เกือบทุกประเด็นตามฟอร์ม

เที่ยวนี้ฝ่ายค้านขอเวลาไว้ 4 วัน มีคนสงสัยเหมือนกันว่าจะเอาเนื้อหาที่ไหนมาพูด แต่ฝ่ายค้านตั้งเป้าไว้ว่าจะใช้เวทีสภาชำแหละรัฐบาล ระดมขุนพลมากหน้าหลายตา กะใช้เวลาเต็มที่ เพื่อให้เกิดผลสะเทือนไปถึงการเลือกตั้ง

รัฐบาลเองก็รู้อยู่แล้ว ก็เลยได้เห็นการลุกขึ้นตอบโต้อย่างละเอียดและไม่ลดละจากบรรดารัฐมนตรี

ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะข้อสงสัยต่างๆ ที่หยิบยกมาถามตอบ จะช่วยให้ประชาชนที่ฟังวิทยุดูทีวี อ่านหนังสือพิมพ์ ได้ความรู้ว่านักการเมืองกำลังทำอะไรกันอยู่

ถ้าไม่หกล้มหัวฟาดพื้นเสียก่อนเพราะน้ำมันปาล์ม โดน 91 ศพหลอน หรือเมาควันบุหรี่นอกตกท่อไปเสียก่อน

รัฐบาลก็คงจะผ่านการอภิปรายครั้งนี้ไปได้ เพราะพรรคร่วมรัฐบาลคงจะช่วยกันยกมือไว้วางใจ สร้างไมตรีไว้ เผื่อจะได้กลับมาใช้บริการ เป็นรัฐบาลร่วมกันอีก ถ้าไม่มีตัวเลือกอื่นที่ดีกว่า

ย้อนกลับไปที่การตอบโต้ของนายกฯ อภิสิทธิ์ กับนายมิ่งขวัญ ในการอภิปรายวันแรก เมื่อมีความเห็นต่างกันในการจัดการปัญหา

นายกฯอภิสิทธิ์เสนอว่า เมื่อต่างคนต่างมีวิธีการของตัวเอง ก็ให้ประชาชนตัดสินดีกว่า

ประชาชนชอบการแก้น้ำมันปาล์มแบบไหน ชอบการแก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบไหน ให้ไปตัดสินกันในสนามเลือกตั้ง ชาวบ้านชอบแบบของพรรคไหน หัวหน้าพรรคนั้นก็เป็นนายกฯ พรรคนั้นเป็นรัฐบาลไป

ซึ่งก็ชัดเจนดี เหมือนกัน จึงหวังว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ละพรรคเสนอทางเลือกให้ชัดๆ ไปเลยว่า เลือกพรรคนี้จะได้อะไร และจะไม่ได้อะไร

บางเรื่องบางประเด็น ประชาชนก็มีข้อสรุปอยู่ในใจอยู่แล้ว เพียงแต่รอโอกาสแสดงความเห็นเท่านั้นเอง

ฉะนั้น การลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจที่แท้จริง จึงไม่ได้อยู่ในสภา

แต่อยู่ที่สนามเลือกตั้ง

ที่มา : คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 16 มีนาคม 2554
โดย : วรศักดิ์ ประยูรศุข



ต้องมีคนรับผิดชอบ

สัปดาห์ที่แล้วใครติดตามข่าวสารอาชญากรรมแล้วอาจสงสัยว่าประเทศไทยของเราเป็นสนามรบไปตั้งแต่เมื่อใด

วันนี้ มีข่าวระเบิดรถนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ตกดึกมีข่าวว่าคนร้ายบุกยิงนายกเทศมนตรี

ก่อนหน้านี้เสี่ยทำกาแฟไป ออกกำลังกายในสวนสาธารณะ ถูกคนร้ายลอบยิงตาย

ต่อมามีข่าวประธานสภาจังหวัดเจอกระหน่ำ

ปลายสัปดาห์ค่ายทหารทำอาวุธสงครามหาย

ทั้งปืนเอ็ม 16 ลูกกระสุนปืนเอ็ม 79 และเครื่องยิงลูกระเบิด

เข้าสู่วันหยุด พระบิณฑบาตในพื้นที่ภาคใต้ถูกคนร้ายลอบยิง

ตกดึกคืนวันนั้น ตั้งแต่ 5 ทุ่มจนถึงเช้า เกิดเหตุยิงตรงนั้นยิงตรงนี้ไปทั่วเมืองปัตตานี

ไม่รู้ว่าบ้านนี้เมืองนี้อยู่กันได้อย่างไร?

บ้านเมืองที่อาศัยรายได้จากการท่องเที่ยว ทั้งนักท่องเที่ยวในประเทศ และนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

แต่กลับมีอาชญากรรมเกิดขึ้นเกือบทุกวัน มีคนตายเพราะถูกยิง คนเจ็บเพราะถูกอาวุธกันบ่อยๆ

เหมือนกับว่าอาวุธสงคราม และอาวุธปืน หาซื้อกันได้ง่ายๆ

เหมือนกับว่าทุกคนในผืนแผ่นดินนี้อาจจะตายจากเหตุ ถูกลอบยิงถูกลอบฆ่ากันได้ง่ายๆ

ไม่มีใครสนใจ!

เช่นเดียวกับเหตุการณ์รุนแรงที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ตกอยู่ในสภาพเลวลง

ความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

จากเดิมที่คนร้ายก่อเหตุเฉพาะเจ้าหน้าที่ เลือกเป้าหมาย ตอนนี้คนร้ายเริ่มหันมาทำร้ายพระขณะออกบิณฑบาต

และ กำลังเริ่มต้นทำร้ายสุจริตชนเพื่อนร่วมโลก

วันนี้ความรู้สึกของคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขวัญหนีดีฝ่อ

เรื่องความปลอดภัยในชีวิตและ ทรัพย์สินและความมั่นคงอยู่ในมือของคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง

เพราะคุณสุเทพ ดูแลฝ่ายความมั่นคง

คุณสุเทพ ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ฝ่าย ความมั่นคง มีหน้าที่เกี่ยวกับความมั่นคง และความมั่นคงก็ไม่ได้มีนิยามเฉพาะแต่เรื่องของม็อบคนเสื้อแดง ม็อบคนเสื้อเหลือง

เช่นเดียวกัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหน้าที่หลักคือเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

คุณสุเทพที่ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องมีหน้าที่ที่มากกว่าแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ

หากแต่ต้องรับผิดชอบต่อผลการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย

ดังนั้น การที่พรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี รวมถึงคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ด้วยนั้นสมควรแล้ว

ในทางการเมืองอาจจะมองว่า ไปเปิดทางให้คุณสุเทพพูด ทำให้โน้มน้าวใจคนได้

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง จากพรรคเพื่อไทยบอกว่า คุณสุเทพพูดจากแก้วแบนเป็นแก้วกลมได้ อย่าไปยุ่งอย่าไปแตะ

แต่หาก พรรคฝ่ายค้านไม่แตะต้องคุณสุเทพก็แย่ละครับ

ยิ่งมาทราบว่า คุณสุเทพเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง แต่ไปดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ในช่วงที่น้ำมันปาล์มขาดแคลน และแพงเป็นประวัติการณ์

ยิ่งสมควรจะต้องอภิปรายไม่ไว้วางใจคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ

เพราะปัญหาที่ เกิดขึ้น ต้องมีคนรับผิดชอบ

ที่มา : คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 7 มีนาคม 2554
โดย : นฤตย์ เสกธีระ max@matichon.co.th


ครม. มะเร็ง

ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่จะระเบิดขึ้นวันที่ 15-18 มีนาคม

ระหว่างนี้เริ่มมีการทยอยฉายหนังตัวอย่างเรียกน้ำย่อย เรียกเสียงซี้ดซ้าดจากบรรดาคอการเมืองได้พอสมควร

อย่างเหตุการณ์เผาห้าง ‘เซ็นทรัลเวิลด์’ ที่พรรคฝ่ายค้านบรรจุไว้ในหัวข้ออภิปรายเรื่องการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งคาดว่าจะเป็นผู้อภิปรายหลักเรื่องนี้ ยืนยันมีหลักฐานภาพถ่ายวิดีโอมัดแน่นหนา

เห็นหน้าค่าตากันจะจะว่าใครคือมือเผา

ขณะที่แกนนำรัฐบาลพยายามให้สัมภาษณ์ทำลายเครดิตทำนองว่า หากฝ่ายค้านจะ ‘ตัดต่อ’ ภาพหลักฐานอะไรมาก็เชิญ รัฐบาลพร้อมตอบคำถามชี้แจงทุกประเด็น

ก็ต้องรอดูกันตอนหนังลงโรงฉายจริง จะตื่นเต้นระทึกขวัญเหมือนหนังตัวอย่างที่โหมโรงกันไว้ล่วงหน้าหรือไม่

กับอีกประเด็นที่ทำท่าเป็นหนังม้ามืดมาแรง เรื่องนี้ฝ่ายค้านบรรจุไว้ในญัตติถอดถอนนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ด้วย

คือเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่แทรกแซงกรมสรรพากร และองค์กรในกระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทางอาญา

กรณีบริษัทฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทนำเข้าสินค้าบุหรี่ต่างประเทศ สำแดงการนำเข้าเท็จเพื่อเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร ทำให้รัฐเสียประโยชน์กว่า 68,000 ล้านบาท!

ประเด็นนี้พรรคฝ่ายค้านนำมาอ้างว่าคือสาเหตุแท้จริง ทำให้ฤกษ์ระเบิดศึกอภิปรายต้องเลื่อนออกไปอีก 1 สัปดาห์

เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลประมาท นึกว่าฝ่ายค้านจะมุ่งอภิปรายเรื่องสลายม็อบเสื้อแดง และเรื่องน้ำมันปาล์ม เป็นหลัก

แต่เมื่อเห็นรายละเอียดในญัตติถอดถอนเรื่องปมภาษีบุหรี่ เลยตกใจ เพราะเป็นเรื่องคาดไม่ถึง

เลยส่งสัญญาณให้ท่านประธานสภา ชัย ชิดชอบ เลื่อนเปิดอภิปรายไปก่อน โดยอ้างเหตุผลขั้นตอนการตรวจสอบหลักฐานและรายชื่อสมาชิกผู้รับรองญัตติ ว่าถูกต้องตามระเบียบหรือไม่

สำหรับตัวละครเอกของเรื่อง ฝ่ายค้านแย้มออกมาเป็นนักการเมืองคนใกล้ชิดนายกฯ ชื่อย่อ ‘ก.ไก่’

ที่อ้างบัญชานายกฯ เรียกอัยการสูงสุด อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมสรรพากร และผู้เกี่ยวข้องมาประชุมหารือช่วยเหลือบริษัทบุหรี่รายดังกล่าว

ก่อนหน้านี้มีฉายาครม.สวาปาล์ม คราวนี้เป็นคิว ‘ครม.มะเร็ง’ กันบ้าง

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ 7 มีนาคม 2554
คอลัมน์ : เหล็กใน



ใครสวาปาล์ม? แก้จนพุงปลิ้น!

ปัญหาการขาดแคลนน้ำมันปาล์มบริโภคที่ใช้สำหรับ การปรุงอาหาร นอกจากจะเป็นการประจานความอ่อนด้อยในเรื่องเศรษฐกิจของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แล้ว สิ่งที่ประชาชนอยากจะรู้มากที่สุดคือ การขาดแคลนครั้งนี้เป็นไปตามธรรมชาติ อันเกี่ยวกับฝนฟ้าอากาศที่แล้งบ้าง น้ำท่วมบ้าง เป็นไปตามกลไกตลาดหรือไม่?

หรือว่ามีใครจงใจทำให้มันขาดแคลนเพื่อที่จะปั่นราคา

ผู้ที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงน้ำมันปาล์มกางตัวเลขให้ดูว่า ในปี 2553 มีปริมาณผลปาล์มดิบออกสู่ตลาดประมาณ 8.2 ล้านตัน สามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันปาล์มดิบได้ 1.4 ล้านตัน รวมกับของเก่าที่ค้างสต็อกมาจากปี 2552 อีก 130,000 ตัน รวมปริมาณน้ำมันปาล์มดิบได้ 1.53 ล้านตัน

ขณะที่ความต้องการบริโภคน้ำมันปาล์มในประเทศปี 2553 อยู่ที่ 9.24 ล้านตัน ความต้องการในการใช้ทำไบโอดีเซลอยู่ที่ 470,000 ตัน ความต้องการใช้รวมอยู่ที่ 1.39 ล้านตัน ปริมาณการส่งออกอยู่ที่ 230,000 ตัน รวมความต้องการใช้ทั้งปีอยู่ที่ 1.61 ล้านตัน

เมื่อหักลบกลบหนี้กับจำนวนน้ำมันปาล์มที่มี 1.53 ล้านตัน จะเห็นว่าปริมาณน้ำมันน้อยกว่าความต้องการใช้อยู่เพียงประมาณ 8,000 ตัน
สรุปก็คือปัญหาการขาดแคลนไม่น่าจะถึงขั้นวิกฤตอย่างที่เห็นในปัจจุบันที่ ประชาชนต้องเข้าแถวแย่งกันซื้อและราคาแพงขึ้นกว่าเดิม

คำถามคือรัฐบาลรับรู้หรือไม่ว่าน้ำมันปาล์มจะขาดตลาด ไม่พอต่อความต้องการใช้ในประเทศ

คำตอบคือ “รู้” แต่ไม่ทำอะไร เหมือนมีคนจงใจอยากจะให้มันขาดแคลนเพื่อปั่นราคา

กลางปี 2553 เริ่มมีสัญญาณของการขาดแคลนเมื่อผลผลิตปาล์มดิบออกสู่ตลาดน้อยลงจากปัญหาภัย แล้งช่วงต้นปี ทำให้ราคาปาล์มดิบขยับขึ้นจากกิโลกรัมละ 4 บาท เป็นประมาณ 6 บาท ซึ่งราคาในตลาดโลกก็ขยับตามขึ้นด้วยเพราะผลผลิตออกน้อยลงทั่วโลก

เมื่อต้นทางสินค้าขึ้นราคา โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบก็ขยับราคา มาถึงโรงกลั่น โรงบรรจุขวดก็ขอขยับราคาขาย จากราคาควบคุมขวดละ 38 บาท เป็น 46-48 บาท แต่กระทรวงพาณิชย์ไม่ให้ปรับ

เมื่อไม่ให้ปรับราคาผู้ค้าก็หันไปส่งออกมากขึ้นเพราะราคาตลาดโลกดีกว่า และเริ่มมีการกักตุนเอาไว้ทั้งระบบ ตั้งแต่โรงสกัด โรงกลั่น โรงบรรจุขวด เพราะรู้ว่าถึงอย่างไรก็อั้นไม่อยู่ ต้องยอมให้ปรับราคา

ผลคือสินค้าหายไปจากตลาด

เมื่อสินค้าหายไปจากตลาดในขณะที่ความต้องการเท่าเดิมหรือมากขึ้น ราคาขายจึงปรับพุ่งพรวด แม้กระทรวงพาณิชย์จะยอมให้ปรับราคาภายหลังเป็นขวดละ 48 บาท แต่ราคาซื้อขายจริงในตลาดก็ปาเข้าไปขวดละ 60-70 บาทแล้ว

ประเด็นคำถามคือ

1.กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้คุมสต็อกสินค้า เมื่อรู้ว่าของจะขาดทำไมไม่ห้ามหรือลดการส่งออก ปล่อยให้ส่งออกเสรีเพื่อให้สินค้าขาดตลาดมากขึ้นเพื่ออะไร ต้องการปั่นราคาหรือไม่

2.คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นั่งเป็นประธานอยู่นั้น ทำไมนั่งดูเฉยๆ ไม่แก้ปัญหาก่อนที่ปัญหาจะบานปลาย

3.โง่เพราะไม่มีฝีมือ บริหารจัดการไม่เป็น หรือแกล้งโง่เพื่อปั่นราคา

4.ใครได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ ใช่โรงสกัดกว่า 60 โรงที่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่ชุมพรลงไป ซึ่งเป็นพื้นที่ฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ที่บรรดาเจ้าของโรงงานส่วนมาก ล้วนสนิทสนมกับนักการเมืองในพื้นที่ หรือบางทีก็เป็นเครือญาติของนักการเมืองหรือไม่?

5.กระแสข่าวเรื่องกิน 3 เด้งคือ ขอ 10% จากบริษัทนำเข้า ขอขวดละ 1 บาทจากโรงงานบรรจุขวด และส่วนต่างของราคาที่กักตุนสินค้าเอาไว้ เป็นจริงหรือไม่?

หากจริงถือเป็นการทุจริตเชิงนโยบายที่เข้าขั้นอำมหิตเลือดเย็นอย่างที่ สุด เพราะหากินบนความเดือดร้อนของประชาชน

ถ้าจะถามว่าใครได้ประโยชน์ก็ขอให้ดูที่ตัวละครว่ามีใครเกี่ยวข้องกับ เรื่องนี้บ้าง

งานนี้แก้ปัญหากันจนพุงปลิ้นเลยก็แล้วกัน

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 300 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ – 4 มีนาคม พ.ศ. 2554 หน้า 8
คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
โดย : ลอย ลมบน

 


แม่ปูสอนลูก

นิทานอีสปเรื่อง “แม่ปูสอนลูกปู” ได้พูดถึงแม่ปูที่พาลูกๆออกไปหากินที่ชายหาด แต่เห็นลูกๆเดินคดเคี้ยวเซไปเซมา จึงกล่าวว่า…”ทำไมลูกไม่เดินให้ตรงๆทางล่ะจ๊ะ”

ลูกปูจึงตอบว่า “ถ้าเช่นนั้น แม่ลองเดินตรงๆให้ลูกดูหน่อยซิจ๊ะ ลูกจะได้ทำตาม”

แน่นอนว่าแม่ปูเองก็ทำไม่ได้ เดินคดเคี้ยวเซไปเซมาเช่นเดียวกัน แต่แม่ปูไม่รู้ตัวเอง

นิทานอีสปเรื่อง “แม่ปูสอนลูกปู” จึงสอนให้รู้ว่า “การพูดอย่างเดียวนั้นไม่อาจสอนได้ดีเท่ากับการทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง” เหมือนที่ผู้ใหญ่มากมายออกมาสั่งสอนเด็กให้เป็นคนดี ซื่อสัตย์สุจริต แต่ผู้ใหญ่กลับไม่ประพฤติเป็นแบบอย่าง แถมบางคนยังประพฤติชั่ว และทุจริตโกงกินอีกด้วย

นิทานอีสปจึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก เพราะไม่ได้ให้แค่ความเพลิดเพลินและจินตนาการแก่เด็ก แต่ยังเปี่ยมด้วยข้อคิดและเชาวน์ปัญญาที่นำมาประยุกต์ใช้ได้กับทุกยุคทุก สมัย แม้จะเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยอาณาจักรกรีกโบราณก็ตาม

อย่างวันเสาร์แรกของเดือนมกราคม ประเทศไทยจะถือเป็น “วันเด็กแห่งชาติ” ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะมีคำขวัญวันเด็กเพื่อให้เด็กประพฤติปฏิบัติในทางที่ชอบ เป็นคนดีและมีน้ำใจ เพื่อเป็นกำลังในอนาคตของชาติ เช่นเดียวกับปี 2554 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้มอบคำขวัญวันเด็กว่า “รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ” เพื่อให้เด็กไทยให้ความสำคัญกับสถานการณ์ความเป็นจริงของโลก จะได้เติบโตอย่างมีคุณภาพในโลกปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคของข้อมูลข่าวสารและการแข่งขัน

นายอภิสิทธิ์ยังให้ความหมาย “มีจิตสาธารณะ” ว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้นรุนแรง แต่ละคนคิดถึงแต่ตัวเองก็จะอยู่ในสังคมที่มีแต่ความเห็นแก่ตัว สังคมและบ้านเมืองจะถูกละเลยและไม่มีความสุข เพราะคนในสังคมขาดน้ำใจไมตรีและไม่มีคุณภาพ สังคมจะมีแต่การแก่งแย่งและความเลวร้าย

คำขวัญวันเด็กของนายอภิสิทธิ์จึงเป็นสิ่งที่ดี เช่นเดียวกับที่ให้เด็กดำรงรักษาคุณความดี คุณธรรม จริยธรรม มีความกตัญญู ขยันหมั่นเพียร ตั้งใจเรียนรู้ ปฏิบัติตนเป็นคนดีนั้น คงไม่แตกต่างจากนิทานอีสปเรื่อง “แม่ปูสอนลูกปู” ซึ่งผู้ใหญ่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก ไม่ใช่หน้าไหว้หลังหลอก หรือมือถือสากปากถือศีล

โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ที่เป็นผู้ปกครองสูงสุด ยิ่งต้องมีสำนึกความรับผิดชอบทั้งทางการเมืองและทางสังคมมากเป็นทวีคูณ เป็นคนดีที่ไม่ใช่แค่ซื่อสัตย์สุจริต แต่ต้องมีคุณธรรมและศีลธรรมทั้งกายและใจ และต้องพร้อมเสียสละชีวิตเพื่อชาติ ไม่ใช่โกหกตอแหลสร้างภาพและรักษาอำนาจให้อยู่ได้นานที่สุด

เพราะแม้แต่ “ลูกเสือ” ที่เป็นเด็กและเยาวชนยังยึดมั่นในคำขวัญ “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” แต่ผู้มีอำนาจและนักการเมืองไทยกลับมีแต่ข่าวการทุจริตคอร์รัปชัน แย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์กันอย่างไม่ละอาย

ที่มา : โลกวันนี้ 7 มกราคม 2554
คแลัมน์ : บทบรรณาธิการ