ยุคมาร์คไม่มี

หลังจากที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 เข้ามาบริหารประเทศเต็มตัว เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นทันที 2 เรื่อง

อาจบอกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในแง่บวก

เรื่องแรกปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชามีแนวโน้มดีขึ้นทันที

นายกฯฮุนเซน ส่งสารแสดงความยินดีกับนายกฯยิ่งลักษณ์ทันทีที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ

ระบุว่าความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศจะดีขึ้น และกัมพูชามั่นใจว่ารัฐบาลเพื่อไทยจะแก้ปัญหาข้อขัดแย้งตามแนวชายแดนได้ โดยยืนยันว่าทั้ง 2 ประเทศจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดต่อไป

พล.อ.เตีย บัน รองนายกฯและรมว.กลาโหมกัมพูชา ติดต่อกลาโหมไทยขอให้รีบจัดประชุมร่วม “จีบีซี” เพื่อแก้ปัญหาชายแดน

ท่าทีของกัมพูชาในเวลานี้ อาจจะมองเป็นเรื่องน่าประหลาดใจก็ได้

เพราะไม่เคยเกิดขึ้นเลยในช่วง 2 ปีที่ไทยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี มีนายกษิต ภิรมย์ เป็นรมว.ต่างประเทศ

อีกเรื่องที่เกิดความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

เมื่อคณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือคอป. โดยนายสมชาย หอมละออ ทำรายงานถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ระบุว่ามีการเหวี่ยงแหจับคนเสื้อแดงขังเป็นจำนวนมาก

มีคนเสื้อแดงที่ยังถูกจองจำอยู่ถึง 53 คนถูกตั้งข้อหา “เกินเลยจากความเป็นจริง” ทั้งก่อการร้ายและวางเพลิง ซึ่งมีโทษถึงประหารชีวิต

นายสมชายยังระบุว่าจากการตรวจสอบพนักงานสอบสวนดีเอสไอและอัยการ พบว่าการตั้งข้อหารุนแรงดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจาก “แรงกดดันของผู้บริหารระดับนโยบาย”

อีกส่วนมาจากแรงกดดันทางการเมือง !?

ความจริงคอป.เคยเสนอแผนเยียวยาคนเสื้อแดงต่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์มาแล้ว

เสนอให้ปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของครอบครัว

แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากนายอภิสิทธิ์เลย !?

คอป.จึงจำเป็นต้องนำเสนอแผนเยียวยานี้ต่อรัฐบาลใหม่

ถึงตรงนี้ก็คงรู้ชัดเจนแล้วว่าทำไมคดี 91 ศพถึงอืดอาดล่าช้ามานับปี

ทำไมคนเสื้อแดงจึงรู้สึกว่าเป็นแค่พลเมืองชั้น 2 ในยุครัฐบาลที่แล้ว

แต่จากนี้ไปเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นแล้ว

และมีแนวโน้มจะออกมาในทางที่ดีขึ้น

ความหวังที่จะทวงความยุติธรรม 91 ศพคงจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้

คนสั่งการจนเกิดความรุนแรงต่อประชาชนต้องได้รับโทษทัณฑ์

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ 15 สิงหาคม 2554
คอลัมน์ : เหล็กใน


เปิดรายชื่อ 35 รัฐมนตรี “ครม.ยิ่งลักษณ์1” ยงยุทธ มท.1 ยุทธศักดิ์ กลาโหม “กิตติรัตน์-ธีระชัย” คุมศก.

แล้วรายชื่อคณะรัฐมนตรีจากมือของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ถูกส่งให้สำนักราชเลขาธิการ  เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวแล้ว

นี่คือ คำยืนยันของ นายอำพน กิตติอำพล เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในช่วงเที่ยงวันที่ 9 สิงหาคม 2554

ก่อนหน้านี้ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย  ได้แสดงเจตนา ขอถอนตัวไม่รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี  โดยบอกว่าได้โทรศัพท์แจ้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ช่วงเช้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นั่นแสดงว่า โผครม. ยิ่งลักษณ์ เวอร์ชั่น 100 % คลอดแล้ว

โผครม. 35 ตำแหน่ง มีการเปลี่ยนแปลงไปจากโผก่อนหน้านี้หลายตำแหน่ง ไม่มีชื่อ ดร. วิชิต สุรพงษ์ชัย  ไม่มีชื่อ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ไม่มีชื่อ  ดร.สุชาติ ธาดาธํารงเวช ไม่มีนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ และไม่มีชื่อแกนนำเสื้อแดง

ล่าสุด เว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรีได้เผยแพร่ ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ดังนี้

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี

ประกาศ
แต่งตั้งรัฐมนตรี

————————–
(พระปรมาภิไธย) ภูมิพลอดุลยเดช ปร.

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 5 สิงหาคม พุทธศักราช 2554 แล้ว นั้น

บัดนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เลือกสรรผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดินสืบไปแล้ว

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 171 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง เป็นรองนายกรัฐมนตรี

พลตำรวจเอก โกวิท วัฒนะ เป็นรองนายกรัฐมนตรี

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

นายชุมพล ศิลปอาชา เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

นายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นางสาวกฤษณา สีหลักษณ์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

พลเอก ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

นายธีระชัย ภูวนาทนรานุบาล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

นายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

นายธีระ วงศ์สมุทร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

พลอากาศเอก สุกำพล สุวรรณทัต เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

พลตำรวจโท ชัชจ์ กุลดิลก เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

นายกิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

นายภูมิ สาระผล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

นายชูชาติ หาญสวัสดิ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

นายฐานิสร์ เทียนทอง เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

นางสุกุมล คุณปลื้ม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

นายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

นางบุญรื่น ศรีธเรศ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

นายสุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

นายวิทยา บุรณศิริ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 9 สิงหาคม พุทธศักราช 2554 เป็นปีที่ 66 ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นายกรัฐมนตรี

 ที่มา : มติชนออนไลน์ 9 สิงหาคม 2554


รัฐบาลต้องกล้า..ปลด ‘ผบ.ทบ.’

“นักวิชาการหลายคนรู้ทุกเรื่อง รู้เรื่องรบ เรื่องชายแดน เรื่องทหาร นี่ ฮ. ตกยังรู้อีก เป็นคนเดิมที่ออกมาพูด ผมถามกลับไปว่ารับผิดชอบอะไรหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ใครจะรับผิดชอบ กองทัพบกเสียหาย ประชาชนและสังคมเข้าใจผิด กำลังพลกองทัพบกเสียขวัญใครจะรับผิดชอบ ถามว่าคนที่ออกมาพูดรับผิดชอบหรือไม่ หนังสือพิมพ์บางฉบับ ทีวี. บางช่อง นักวิชาการบางคน ผมไม่อยากพูด แต่ทำให้ผมกดดัน แล้วเราและประเทศชาติจะอยู่อย่างไรถ้าท่านไม่มีเหตุผลเลย อยากพูดอะไรก็พูด อยากทำอะไรก็ทำ เว็บไซต์เฟซบุ๊คของวาสนา นาน่วม เขียนเสียหายมาก ผมเรียนตรงนี้เลย หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และหนังสือพิมพ์บางฉบับอีกหลายเรื่อง ทีวี.เอเอสทีวี. ทีวี.แดง บ้านเมืองเสียหาย ผมจำเป็นต้องออกมาพูด ถ้าประเทศไทยหรือคนไทยไม่เรียนรู้ว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไรก็อย่าอยู่กันเลย เสียเวลาเปล่า ดังนั้น ต้องมีกติกา กฎหมาย ช่วยกันแก้ไขปัญหาบ้านเมืองให้เดินไปข้างหน้าให้ได้ กอง ทัพบกต้องอยู่ ผมจะอยู่หรือไม่ผมไม่สนใจ แต่กองทัพบกต้องอยู่ด้วยชื่อเสียง เกียรติยศ กองทัพบกกำหนดแล้วว่าจะต้องเดินหน้าไปอย่างไร กองทัพ บกมีพันธกิจ 4 ประการที่ต้องดำเนินการ อยากให้ การเสียชีวิตเป็นบทเรียนที่คุ้มค่า แล้วเราพร้อมเรียนรู้ สังคมว่าอย่างไร แต่ขอวิพากษ์วิจารณ์ให้ถูกต้อง มีหลักเกณฑ์ ทำอย่างไรจะทำให้ผู้เสียชีวิตไม่เสียเปล่า คือการรักษาแผ่นดินไทยไว้ให้ลูกหลาน สิ่ง ที่กองทัพบกคิดเสมอคือการรักษาทรัพยากรให้ลูกหลาน ในอนาคต ถ้าไม่ทำวันนี้ วันหน้าก็อยู่ไม่ได้”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) แสดงความไม่พอใจอย่างมากกับการวิพากษ์วิจารณ์กรณีเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบก ประสบอุบัติเหตุตก 3 ลำในเวลาไม่ถึง 10 วัน ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 17 คน โดยเฉพาะการตั้งข้อสังเกตเรื่องการจัดซื้อจัดหาว่าอาจไม่โปร่งใส

“ไม่ใช่ ผบ.ทบ. ดูแลทุกเรื่อง ตั้งแต่ชิ้นส่วน อะไหล่เฮลิคอปเตอร์ หรือการจัดซื้อจัดหา มันไม่ใช่ เพราะมีองค์กรในการดำเนินการอยู่ ในทางปฏิบัติมีศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 1-4 และการจัดซื้อจัดหามีกรมฝ่ายเสนาธิการกำหนดความต้องการ ฝ่ายยุทธการเป็นผู้จัดซื้อจัดหา และมีสำนักงานตรวจ สอบภายในตรวจสอบว่าผิดหรือถูก ถ้าผิดจะถูกร้องเรียนไปที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถือเป็นระบบ จะบอกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้มาจาก การทุจริตในการจัดซื้อจัดหาถือเป็นคนละประเด็น อย่าวิจารณ์อย่างนั้น เพราะถ้าวิจารณ์ต้องวิจารณ์ทุกระบบของกองทัพบก แม้แต่ระบบของประเทศไทยก็ต้องผิดทั้งหมด ยืนยันว่าถ้าเป็นอย่างนั้นก็ผิดทั้งหมด”

“ประยุทธ์” วอนอย่าตำหนิทหาร

การให้สัมภาษณ์อย่างดุดันของ พล.อ.ประยุทธ์ยิ่งทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าฝ่ายใดกันแน่ที่ไม่ยอมรับความ จริง หรือเอาข้อมูลหลักฐานมาพูดชี้แจงกับ ประชาชน เพราะประชาชนทุกคนก็เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของทหารหรือประชาชน คนตายย่อมสำคัญกว่าเครื่องบินหรือยุทโธปกรณ์ (เช่นเดียวกับ 91 ศพที่เสียชีวิตครั้งเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ก็มีค่ามากกว่าตึกที่ถูกเผา) ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้แสดงความเสียใจในวันต่อมาว่า

“วันนี้อย่าเพิ่งติติงทหารนักเลย เราพร้อมจะทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ขอให้กำลังใจทหารมากๆ แม้บางทีเห็นผมในทีวี.หน้าตาจะดุดันไปหน่อยก็เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องของบทบาทที่เป็นผู้นำองค์กรก็ต้องเป็นอย่างนี้ ผมต้องรักษาชื่อเสียงเกียรติยศของกองทัพบกไว้ยิ่งกว่าชีวิต เป็นสิ่งที่เราปลูกฝังกันมา กองทัพบกใครจะมาแตะต้องไม่ได้ ผมถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องปกป้อง จึงต้องขออภัยหากว่าดุเดือดไปนิดหนึ่ง แต่ปรกติแล้วผมเป็นคนใจดี ไม่มีอะไร”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การวิจารณ์สามารถทำได้ แต่ต้องเอาหลักข้อเท็จจริงมาพูด ต้องให้ความเป็นธรรมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจเกิดจาก 1.อุบัติเหตุ 2.สุดวิสัย และ 3.เครื่องยนต์ขัดข้อง แต่ทหารท้อแท้ไม่ได้ เราเผชิญสถานการณ์อย่างนี้หลายครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้ส่งผลกระทบมาก “ทุกครั้งที่ ฮ. ตก กองทัพบกเสียใจทุกครั้ง กองทัพบกไม่รู้จะทำอย่าง ไร เพราะเราไม่ได้ผลิตเครื่องบินเอง เราซื้อเข้ามา”

ปัญหาการจัดซื้อจัดหา

เหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกไม่มีใครตำหนิทหาร แต่ต้องการให้กองทัพชี้แจงถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นตามข้อมูลและหลักฐาน อย่างตรงไปตรงมา เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดเหตุเศร้าสลดเช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในเรื่องความไม่โปร่งใสในกรรมวิธีการจัดซื้อ ทั้งแบบพิเศษหรือมีคณะกรรมการก็มักมีข่าวทางลบเรื่องนายหน้าและคอมมิชชั่น ตลอดเวลา

โดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณมหาศาล อย่างปี 2553 ได้รับงบประมาณ 154,000 ล้านบาท และปี 2554 ได้รับงบประมาณถึง 220,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่สูงที่สุด แต่การจัดซื้อจัดหากลับ เต็มไปด้วยข่าวความไม่โปร่งใส ทั้งยังไม่มีการตรวจ สอบใดๆหรือชี้แจงกับประชาชน อย่างกรณีเครื่องบินขับไล่กริพเพนจำนวน 1 ฝูงบิน เครื่องจีที 200 ที่ถูกเปรียบเหมือนไม้ล้างป่าช้า เรือเหาะตรวจการณ์ ที่ใช้การไม่ได้ และรถถัง Oplot จากยูเครน เพื่อทดแทนรถถัง M-41 ไม่นับรวมอาวุธประจำการประเภทปืนทราโว่ที่มีการทยอยจัดเข้าประจำการอย่างต่อ เนื่อง เสื้อเกราะและงบลับที่ไม่เปิดเผย เป็นต้น

ดังนั้น การวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการหรือประชาชนกรณีการจัดซื้อจัดหาของกองทัพจึง ไม่ใช่เรื่อง ความไม่เป็นธรรมหรือคิดร้ายกับกองทัพ แต่กองทัพทุกเหล่าทัพต้องตระหนักว่างบประมาณที่จัดซื้อจัดหามาจากเงินภาษี ของประชาชน และกองทัพก็เป็นของ ประชาชน ประชาชนทุกคนจึงต้องการเห็นกองทัพมีความแข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ แต่ยอมรับไม่ได้ที่จะให้มีการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ไม่คุ้มค่ามา ใช้ หรือมีการทุจริตคอร์รัปชัน แถมยังไม่สามารถ เข้าไปตรวจสอบได้อีก กองทัพต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา มีหลายโครงการที่เป็น “โบนัส” ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนปลดเกษียณให้ “บิ๊กทหาร” หลายคนเกษียณไปพร้อมกับทรัพย์สินร้อยล้านพันล้าน ไม่ต่างกับข้าราชการระดับสูงจำนวนมากที่ร่ำรวยมหาศาล ทั้งที่หากนำเงินเดือนตลอดชีวิตการทำงานโดยไม่ใช้เลยมารวมกันก็มีเพียงไม่ กี่ล้านบาทเท่านั้น

ความจริงคือภูมิคุ้มกันกองทัพ

พล.อ.ประยุทธ์จึงต้องพร้อมให้สังคมตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดหาของกอง ทัพอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่ใช่แค่การยอมรับการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพเท่านั้น แต่ยังต้องทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในกองทัพ โดยเฉพาะความเข้าใจและความรัก ความสามัคคี อย่างที่ให้สัมภาษณ์ว่า

“ประเทศไทยต้องก้าวไปข้างหน้า ไม่ใช่เฉพาะทหาร พลเรือน แต่เราต้องไปด้วยกันทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม และประชาชน ต้องไปด้วยกันทั้งหมดในการที่จะขับเคลื่อนประเทศชาติไปข้างหน้า ผมอยากให้สิ่งเหล่านี้ทำเป็นกิจกรรมประจำปี โดยการจัดหางบประมาณขึ้นมา เพราะเป็นการเริ่มต้นสร้างเซลล์หรือภูมิคุ้มกันให้กับสถาบันได้ในอนาคต”

กองทัพกับการเมือง

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับความจริงว่าปัจจุบันกองทัพ โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกยังมีบทบาทและอำนาจที่จะเป็นตัวแปรทางการ เมืองอย่างมาก ซึ่งทุกฝ่ายยอมรับว่าไม่เป็นผลดีกับการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเลย เพราะตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา ทหารทำการรัฐประหารถึง 12 ครั้ง ฉีกรัฐธรรมนูญและทำลายประชาธิปไตยครั้งแล้วครั้งเล่า

โดยเฉพาะการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ยิ่งทำให้กองทัพมีบทบาทและอำนาจในทางการเมือง อย่างมาก เพราะวันนี้รัฐบาลแทบไม่มีบทบาทเข้า ไปเกี่ยวข้องหรือโยกย้ายภายในกองทัพได้เลย ขณะที่ในอดีตรัฐบาลสามารถแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารได้ทุกระดับ แต่ก็ถูกกล่าวหาว่าแทรกแซงกองทัพ ทั้งที่รัฐบาลในอดีตส่วนใหญ่มาจากทหารหรือมีกอง ทัพหนุนหลังทั้งสิ้น อย่างรัฐบาลสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ปลด พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก จากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งหนังสือพิมพ์หัวเขียวให้ความสำคัญด้วยการพาดหัวข่าวใหญ่ถึงครึ่งหน้า ถือเป็นข่าวฮือฮาเทียบเท่าการรัฐประหารมาแล้ว

จับยักษ์กลับที่เดิมยาก

ปัจจุบันทั้งรัฐบาลและนักการเมืองกลัวทหาร จะทำการปฏิวัติรัฐประหาร หรือกลัว “อำนาจพิเศษ ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” อย่างที่ ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า บทบาทของกองทัพภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ยังเป็นปัจจัยและตัวแปรสำคัญต่อการเมืองไทยขณะนี้ ต้องยอมรับว่าหลังรัฐประหาร 2549 กองทัพมีบทบาทในการฟื้นฟูและขยายอำนาจเข้าไปในการเมืองอย่างมาก

“เรียกว่าทุกวันแทบจะทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ สื่อมวลชนจะต้องไปถามผู้นำกองทัพว่าคิดเห็น อย่างไร รวมถึงผลประโยชน์ของกองทัพที่เพิ่มขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณทางทหารที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล การใช้งบประมาณซื้ออาวุธ แม้จะมีปัญหามากมาย แต่ไม่มีการตรวจสอบ เพราะอำนาจที่ล้นฟ้าของกองทัพ”

ดร.พวงทองยังชี้ถึงจุดยืนของกองทัพกับพรรคเพื่อไทยที่จะเป็นรัฐบาลว่า ดูได้จากคำพูดของ พล.อ. ประยุทธ์ก็รู้ว่าชอบหรือไม่ชอบ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์เป็นตัวแปรสำคัญที่รัฐบาลใหม่ต้องระวัง เพราะแม้แต่การจะแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรัฐบาลชุดใหม่ยังไม่มีความเป็นอิสระเลย ต้องฟังเสียงของกองทัพว่าพอใจหรือไม่ ขณะเดียวกันต้องจับตาความขัดแย้งในกองทัพด้วย ซึ่งจะเป็นอีกตัวแปรที่ทำ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือความรุนแรงที่คาดไม่ถึงได้

“กองทัพเปรียบเหมือนยักษ์ที่ถูกกักกันให้อยู่ในพื้นที่ของตัวเองมาเป็น ระยะเวลานานนับแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 แต่วันหนึ่งพอเกิดรัฐประหาร 2549 เราก็ปล่อยให้ยักษ์ตัวนี้ออกมาโลดแล่นในเวทีการเมืองอย่างมีอิสระและมีผล ประโยชน์ รวมทั้งมีอำนาจเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย การจะทำให้ยักษ์ ตัวนี้กลับไปอยู่ในที่เดิมอีกครั้งจึงเป็นสิ่งที่ยากมาก”

อำนาจแค่หัวโขน

ดร.สุดสงวน สุธีสร อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นถึงบทบาทของกองทัพและการแสดงออกของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ดุดันว่า ส่วนหนึ่งมาจากการกดดันของสังคมที่ต่างชี้ว่าผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดชอบ กรณีเฮลิคอปเตอร์ตก จึงไม่แปลกใจที่ พล.อ.ประยุทธ์จะพูดจนดูน่ากลัวเหมือนไม่มีมนุษยสัมพันธ์เลย แต่ต้องยอมรับว่ากองทัพเป็นสถาบันที่อยู่คู่กับสังคมไทย จึงมองตัวเองว่ามีความสำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุด จนอาจทำให้ผู้ใหญ่ในกองทัพบางคนลืมตัวและมองว่าอยู่สูงกว่าคนอื่นๆ ซึ่งเป็นจุดที่อันตรายมาก วันนี้จึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้กองทัพเปลี่ยนมุมมอง รวมถึงการเลือกผู้นำ

ขณะที่นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ หนึ่งในบ้านเลขที่ 111 ชี้ว่า การแสดงออกของ พล.อ.ประยุทธ์เป็นภาพ ที่ขัดกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง เพราะ ผบ.ทบ. เป็นข้าราชการประจำ และต้อง อยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน คือทำงานให้กับประเทศชาติ และประชาชน ไม่มีหน้าที่ให้สัมภาษณ์ใดๆที่จะทำ ให้เกิดการบิดเบือนในหลักการประชาธิปไตยทั้งสิ้น ยกเว้นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางทหารเท่านั้น

“แม้ ผบ.ทบ. จะนั่งในตำแหน่งสูงสุดของกองทัพ มีอำนาจมากที่สุดในประเทศ เพราะมีทั้งกำลังพลและอาวุธ แต่ต้องไม่ลืมว่าอำนาจที่นั่งอยู่นั้นก็คือหัวโขนเท่านั้น การใช้อำนาจที่ดีจึงต้องใช้อย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่ใช้อำนาจเพื่อออกมาปกป้องตัวเอง”

ด้านนายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำแกนนอน มองว่า ทหารไม่อดทนต่อการถูกวิจารณ์และไม่ต้องการให้ใครมาตรวจสอบ ทั้งที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นคนส่วนใหญ่เห็นใจทหาร แต่ ผบ.ทบ. กลับออกมาพูดในทำนองว่าคนทั่วไปหรือนักวิชาการบังอาจมาวิพากษ์วิจารณ์กองทัพ ทั้งๆที่ทุกคนอยากได้ความจริงว่าเกิดอะไรขึ้น ผบ.ทบ. ต้องไม่ลืมว่าในระบอบประชาธิปไตยนั้นทุกคนมีสิทธิในการคิด การพูด และการแสดงความคิดเห็น ส่วน ผบ.ทบ. ต้องพูดความจริงและมีความอดทน ไม่ใช่คิดว่าเป็น ผบ.ทบ. แล้วใครก็แตะต้องไม่ได้

ทหารต้องอยู่ภายใต้รัฐบาล

ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงบทบาทของกองทัพไทยตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ว่ามีบทบาทในสังคม อย่างกว้างขวางมาก จนกระทั่งพูดว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากกอง ทัพก็อยู่ไม่ได้ ทั้งที่ควรตั้งคำถามว่ากองทัพเข้ามามีบทบาทสูงเช่นนี้ดีหรือไม่ดี จะเกิดผลพวงต่อพัฒนาการของสังคมและแนวโน้มในอนาคตอย่างไร โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายที่ก่อนปี 2549 นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้พิจารณาและเสนอให้ทรงลงพระปรมาภิไธย แต่นับตั้งแต่ปี 2551 กลับต้องผ่าน พ.ร.บ. กระทรวงกลาโหม ทำให้โผทหารประจำปีอยู่ในกำกับ ของคณะกรรมการที่มีผู้นำกองทัพเป็นเสียงข้างมาก

ดร.ผาสุกยังชี้ว่า ไม่มีประชาธิปไตยที่ไหนในโลกที่ตำแหน่งสำคัญในกองทัพรัฐบาลแทบจะไม่มีบทบาท เข้าไปเกี่ยวข้อง และในระบอบประชาธิปไตยทั่วไปบทบาทของผู้นำฝ่ายทหารมีจำกัด แต่ผู้นำกองทัพไทยกลับมีบทบาทหลายสถานะ ใส่หมวกหลายใบ ทั้งยังออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อบ่อยครั้ง ทั้งเรื่องนโยบายต่างประเทศและการเมือง โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์และประชาธิปไตย ซึ่งเหมือนดูดีแต่ต้องยอมรับว่าเป็นไปอย่างมีนัย

กล้าปลด ผบ.ทบ.?

รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย จึงไม่สามารถมองข้ามบทบาทและอำนาจของกองทัพในปัจจุบันได้เลย โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก หากไม่มีการ “ปฏิรูปกองทัพ” เพื่อดึงกองทัพกลับเข้าไปอยู่ในระบบเพื่อทำหน้าที่ด้านความมั่นคงอย่างนานา ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยก็ไม่มีใครเชื่อว่าประเทศไทยจะไม่เกิด การปฏิวัติรัฐประหารอีก แม้เป็นเรื่องยากที่ จะทำให้ทหารเป็นฝ่ายปฏิรูปภายในเอง เพราะกองทัพไทยอยู่ในลักษณะรวมศูนย์ที่อำนาจที่แท้จริงอยู่ที่ผู้บัญชาการ ทหารบก ไม่ใช่ 5 เสือกองทัพอย่างที่พูดกัน

การปฏิรูปการเมืองจึงมีความสำคัญเช่นเดียวกับการปฏิรูปกองทัพที่ฝ่ายการ เมืองและกองทัพจะต้องก้าวไปด้วยกัน แต่กองทัพยังคิดว่าตัวเองใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุด แม้แต่คำว่าประชาธิปไตยก็ต้องอยู่ภายใต้กองทัพ

เพราะฉะนั้นหากต้องการให้ประชาธิปไตยมีความมั่นคงอย่างแท้จริง ฝ่ายการเมืองคือรัฐบาลต้อง กล้าปฏิรูปกองทัพไปพร้อมกับการปฏิรูปการเมือง เพราะบ้านเมืองจะไปได้นั้นไม่ใช่แค่ได้ข้าราชการดีเท่านั้น แต่ต้องมีกองทัพที่ดีและ “ทหารดี” ด้วย

จึงเป็นเรื่องปรกติในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิที่จะเลือกตัวแทน ของเขามาเป็นรัฐบาล เพื่อมีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ และสามารถตรวจสอบการใช้เงินภาษีของประชาชนได้

กองทัพที่ดีและทหารดีต้องเคารพเสียงของประชาชน และเป็นสถาบันที่โปร่งใส พร้อมจะให้ตรวจสอบได้ เช่นเดียวกับข้าราชการและนักการเมือง

ไม่แน่…นอกเหนือจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยจะบันทึกว่า “เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง” แล้ว

บางที…อาจ “เป็นครั้งแรกที่ ผบ.ทบ. ถูกปลดออกจากตำแหน่งในช่วงที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง” ก็ได้

เพราะประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลที่มีอำนาจตามกฎหมาย โดยมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ถ้าเห็นว่า ผบ.ทบ. ไม่เคารพเสียงของประชาชน รัฐบาลต้องกล้าที่จะเปลื่ยน โยกย้าย หรือปลด ผบ.ทบ.

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับที่ 321 วันที่ 30 กรกฎาคม – 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554 หน้า 16 – 17
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
โดย : ทีมข่าวรายวัน


300 บาทชาติไม่ล่มจม!

ก่อนเข้าบทความมีชาวบ้านจากอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ได้เคยเรียกร้องขอความเมตตาจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่จะให้มีการตั้งสาขาธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่ธาตุพนม จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีความก้าวหน้า ทำให้ชาวธาตุพนมขาดโอกาสที่จะกู้เงินซื้อบ้านหลังแรกในอัตราดอกเบี้ย 0% ส่งผลกระทบให้นโยบายของรัฐบาลดังกล่าวช่วยเหลือเฉพาะคนรวยที่อยู่ในเขตเมือง ที่มีสาขา ธอส. เท่านั้น คนจนต่างจังหวัดที่อยู่ในอำเภอหมดสิทธิ เพราะไม่มีเงินพอที่จะเสียค่ารถเดินทางไปในจังหวัดใหญ่ๆที่มีสาขา

อย่างไรก็ตาม อำเภอธาตุพนมเป็นศูนย์กลางระหว่างจังหวัดนครพนมกับจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งถ้ามีการตั้งสาขาธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่ธาตุพนมจะทำให้ชาวบ้านแถวนั้น มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป็นการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมด้วย

ดังนั้น ชาวธาตุพนมจึงฝากความหวังกับว่าที่นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เคยหาเสียงไว้ที่อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ว่าจะแก้ปัญหาความยากจน ขอให้ท่านรักษาคำพูดด้วย และตอนนี้ชาวบ้านอยากหายจน โดยให้มีการตั้งสาขาธนาคารอาคารสงเคราะห์ขึ้นที่ธาตุพนม ขอให้ว่าที่นายกฯยิ่งลักษณ์ช่วยที ชาวบ้านรอคอย

พรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง หวังจูงใจผู้ใช้แรงงาน ซึ่งปรากฏว่าได้ผล เพราะคะแนนเสียงที่ได้รับอย่างถล่มทลายนั้นส่วนหนึ่งมาจากลูกจ้างผู้ใช้แรงงาน โดยหวังว่าหากพรรคนี้เป็นรัฐบาล ค่าแรงที่ได้รับจะมีการปรับเป็นวันละ 300 บาทอย่างที่หาเสียงไว้จริง

หากเมื่อพรรคเพื่อไทยจะได้เป็นรัฐบาลแล้วกลับมีกระแสที่ออกมาบั่นทอนความมั่นใจของผู้ใช้แรงงานทั้งหลายจากฟากฝั่งของทั้งพรรคการเมืองอื่นๆและผู้ประกอบการเอง ในประเด็นที่ว่าหากมีการขึ้นค่าแรงถึง 300 บาทจริง จะเกิดปัญหาตามมาอย่างมากมาย โดยธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจะเป็นธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น กลุ่มเอสเอ็มอีและกลุ่มโอท็อป ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมจะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร สิ่งทอ อัญมณี เฟอร์นิเจอร์ และรองเท้า โดยผู้ประกอบการในกลุ่มสมาคมต่างๆถึงกับเปรยว่ามีแผนปรับลดแรงงานลงถึงร้อย ละ 15

ขณะที่นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องแรงงานทั้งหลายต่างออกมาขานรับนโยบายนี้ ว่าสามารถกระทำได้ และเมื่อประสานเสียงกันมากเข้า กิจการขนาดใหญ่หลายกิจการก็เริ่มมีเสียงอ้อมแอ้มตอบรับว่าอาจจะกระทำได้ แต่รัฐบาลจะต้องมีนโยบายรองรับเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยให้ชัดเจน

แน่นอนว่าผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนการปรับขึ้นค่าแรงให้กับผู้ใช้ แรงงาน เพราะในการรับรู้ของคนทั่วไป ผู้ใช้แรงงานมีเพียงกลุ่มเดียว คือคนที่ทำงานในบริษัทนั้น ในโรงงานนั้น แล้วรับเงินจากโรงงานหรือบริษัทนั้น แต่ในความเป็นจริงแต่ละโรงงาน แต่ละบริษัท ยังมีการจ้างงานย่อยลงไปอีก เพราะงานหลายอย่างโรงงานไม่สามารถดำเนินการเองได้ จึงมีการจ้างงานแบบ Sub Contract หรือรับเหมาช่วง ที่รับงานไปทำเป็นงวดๆ ค่าแรงจะคิดเป็นรายวัน และการใช้บริษัท Outsource ที่ภาษากฎหมายเรียกว่า นายจ้างรับถือ คือให้มาดำเนินการให้ อย่างเช่น แม่บ้าน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และผู้ดูแลสวน คนกลุ่มหลังนี้ต้องรับเงินจากบริษัทของตนเอง คือบริษัท Outsource จึงไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการจากบริษัทหรือโรงงานผู้จ้าง

จากการได้มีโอกาสพูดคุยกับทั้งพนักงานและอดีตพนักงานของโรงงานหลายแห่ง จึงขอยกตัวอย่างสภาพการจ้างงานของพนักงาน Sub Contract และพนักงาน Outsource ในโรงงานแถวภาคตะวันออกมาแลกเปลี่ยนเล่าสู่กันฟังบ้าง

“ถ้าอยู่ทำงานเพิ่ม ที่โรงงานให้ค่าจ้างเป็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำบวกกับค่าเบี้ยขยัน คิดเป็นรายชั่วโมงๆละ 14 บาท อย่าง 196+14 = 210 บาท ส่วนสวัสดิการอื่นๆก็เหมือนกับพนักงานประจำ ประกันสังคม เงินชดเชย ค่าล่วงเวลาโอที”

“ค่าจ้างตอนแรกได้ 6,000 บาท ค่ารถ 500 บาท เบี้ยขยัน 500 บาท ค่าโทรศัพท์ 500 บาท พอทำไปได้สัก 10 วัน เขาก็บอกว่าไม่ผ่านทดลองงาน ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม เขาก็เลยเปลี่ยนไปให้วันละ 200 บาท เปลี่ยนจากจ้างรายเดือนเป็นรายวันแทน วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ก็หักออก แต่ถ้าเป็นรายเดือนจะนับเสาร์-อาทิตย์ด้วย”

“พวก Outsource บอกว่าไม่พอใช้ ต้องทำโอทีได้ชั่วโมงละ 37 บาท จาก 5 โมงเย็น คูณ 1.5 ก็จะได้ 37 บาท ถ้าไม่มีโอทีก็อยู่ได้แต่จะลำบากหน่อย คือถ้าเราคนเดียวยังพอได้ แต่ยังมีพ่อแม่พี่น้องอีก คนที่มีครอบครัวจะลำบาก”

“เงินเดือนเดือนแรกยังพอมีให้ทางบ้าน 1,000-2,000 บาท ถือว่าเป็นเคล็ดอย่างที่เขาบอก ให้ได้แค่นั้น จากนั้นก็ไม่ได้ให้ เพราะแทบไม่พอใช้แล้ว อนาคตอยากได้เพิ่มมากกว่านี้ พวกสวัสดิการ การคุ้มครองแรงงานอะไรด้วย ก็รู้สึกท้อนะ เพราะมาทำงานเหมือนกัน เหมือนกับพี่ทั่วไป (หมายถึงพนักงานประจำ) แต่ได้เงินน้อย เหมือนแค่ทำงานไปวันๆ”

“ที่บริษัทจ่ายค่าแรงพนักงาน Outsource เป็นรายเดือน แต่ไม่มาก็โดนตัดเงิน คือตั้งเป็นเพดานเงินเดือนไว้เลยว่าเดือนหนึ่งได้กี่บาท ถ้าขาดงานก็จะลดไปเป็นวัน จะไปหักลบในเงินเดือน อย่างเช่น เดือนหนึ่งได้ 7,000 บาท มี 21 วัน ถ้าขาดหนึ่งวันก็จะลดเหลือ 20 วัน 7,000 บาทก็จะถูกลดไป เอา 7,000 หารด้วย 30 วัน คือค่าแรงในหนึ่งวัน”

จะเห็นว่าพนักงาน Outsource อยู่ในสถานะต่ำสุด รองจากพนักงานประจำและพนักงาน Sub Contract เพราะพนักงาน Outsource ได้รับเงินเดือนจากบริษัทของตนเองที่ไปรับงานบริษัทผู้จ้างมาจ่ายให้ตาม อัตราค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐบาลกำหนดเท่านั้น บางบริษัทยังมีการหักหัวคิวด้วย นอกจากนั้นยังไม่มีสิทธิในการจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อเรียกร้องสิทธิของตน เพราะกฎหมายไม่เปิดโอกาส

ถ้ารัฐบาลจะประกาศเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทจริง พนักงาน Outsource จะได้มีโอกาสลืมตาอ้าปากบ้าง มีกำลังใจในการทำงาน ไม่เวียนเข้าเวียนออกกันคนละหลายบริษัทเพียงเพื่อขอให้ได้เงินพอเลี้ยงครอบครัวเท่านั้น ขณะที่เจ้าของและผู้ประกอบการทั้งหลายเปลี่ยนรถขับราคาคันละเจ็ดหลักขึ้นเป็นว่าเล่น

ดังนั้น การที่ผู้ประกอบการทั้งหลายรีบออกมาตีฆ้องตั้งแต่แรกว่าหากขึ้นเงินเดือนให้ กับผู้ใช้แรงงานถึง 300 บาท แล้วจะมีผลกระทบกับธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทยนั้น เป็นเพียงทำให้ผลประกอบการมีกำไรน้อยลง ที่เรียกว่าขาดทุนกำไรเท่านั้น ยังไม่นับว่าเป็นการขาดทุนที่แท้จริงแต่อย่างใด

หากรัฐบาลต้องการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานจริง มิใช่เพียงการหาเสียงเพื่อให้ได้รับเลือกตั้ง ควรพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงและดูแลสวัสดิการผู้ใช้แรงงานให้ดีด้วย เพราะคนกลุ่มนี้ถือเป็นฐานกำลังสำคัญในกิจการต่างๆของประเทศที่ไม่สามารถมอง ข้ามไปได้ บริษัททั้งหลายอาจมีผู้บริหารใช้สมองคิดในการวางแผนต่างๆ แต่จำเป็นต้องอาศัยกลุ่มผู้ใช้แรงงานในการขับเคลื่อนให้นโยบายและการดำเนิน งานเป็นจริงได้ ดังนั้น ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จึงให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงานอย่างมาก

เราใช้นโยบายเน้นการส่งออกมานานแล้ว ทำให้รัฐบาลหลายสมัยมุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการต่างชาติจนละเลย คนในชาติด้วยกัน ถึงเวลาหันกลับมาใช้นโยบายชาตินิยมทางเศรษฐกิจที่ไม่ปิดกั้นประเทศกันได้ แล้ว เรื่องนี้นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายน่าจะให้คำตอบได้

หากประเทศไทยต้องการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วจริงๆ ผู้บริหารควรเสียสละผลประโยชน์ของตนลงบ้างเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม

เงิน 300 บาท ไม่ได้ทำให้คุณจนลงหรอกครับ

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับ 321 วันที่ 30 กรกฏาคม – 5 สิงหาคม 2554  พ.ศ. 2554 หน้า 12
คอลัมน์ : หอคอยความคิด
โดย : วิษณุ บุญมารัตน์


นักเลงเขาไม่ทำกัน!

“พอเธอ (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ตัดสินใจมาเล่นการเมืองแบบ นี้ มันมีความเสี่ยงติดหลังอยู่เยอะ และเป็นปัญหาใน อนาคตได้ เมื่อตัดสินใจแล้วต้องพร้อมรับผิดชอบ ในซีกของผู้มีอำนาจ คุณมีเวลาที่จะดำเนินคดีตั้งเป็นปี คุณก็ไม่ทำอะไร ถ้าคุณขืนมาทำตอนนี้ ผมขอเตือน คุณอย่าทำ มันจะเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง มันอธิบายไม่ได้ มันเฉยมาเป็นปี พอลงสมัครแล้วก็มากล่าวโทษเขาอะไรต่ออะไรพวกนี้ มาใช้อำนาจ อย่างนี้มันไม่ได้ พูดตรงๆ นักเลงเขาไม่ทำกัน”

นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2554 โดยให้ความเห็นเรื่องคุณสมบัติของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับที่ 1 พรรคเพื่อไทย เพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งยังเน้นคำว่า “เป็นไปไม่ได้” ที่จะนำเรื่องนี้มาเล่นงานกันทางการเมือง

กกต. ฟันธง “ยิ่งลักษณ์” ไม่ผิด

ขณะที่นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยืนยันว่า คดียึดทรัพย์ไม่กระทบคุณสมบัติของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะเรื่องยึดทรัพย์ไม่ใช่คดีอาญา แต่ถ้าถูกจำคุกมีผลแน่ ส่วนการให้การเท็จแล้วมีการดำเนินการเป็นคดีอาญาขึ้นมา ถ้าศาลพิพากษาให้จำคุกก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวถึงคุณสมบัติของตนว่า ทำตามกฎกติกาทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย “ก็อยากขอโอกาสดิฉันกับทีมพรรคเพื่อไทยได้เข้ามาแก้ปัญหาให้พี่น้อง ซึ่งเป็นปัญหาปากท้องที่เราอยากจะเห็น รวมถึงการสร้างรายได้ให้พี่น้องในระยะยาว”

ยอมรับเป็น “ขาประจำ”?

แต่เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน นายแก้วสรร อติโพธิ และ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน (กลุ่มคนเสื้อหลากสี) กลับออกมาเคลื่อนไหวในนามของ “เครือข่ายพลเมืองคัดค้านนิรโทษกรรมคอรัปชั่นทักษิณ (คนท.)” ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ขอให้ติดตามการทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อัยการสูงสุด (อสส.) และคณะกรรมการกำกับหลัก ทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมทั้งจะเข้าร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อให้สอบสวนคุณสมบัติ น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่าแจ้งเท็จต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้การเท็จต่อ คตส. และเบิกความเท็จต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

นายแก้วสรรอ้างถึงเหตุผลที่ออกมาเคลื่อน ไหวในขณะนี้ว่าไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้ง แต่ผู้สมัครถูกพาดพิงในช่วงการเลือกตั้งถือเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่การใส่ร้ายป้ายสี ไม่ใช่การรังแก น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยอ้างว่าที่ก่อนหน้านี้ไม่ยื่นเรื่องเพราะยังไม่ทราบว่าพรรคเพื่อไทยจะเสนอใครเป็น นายกรัฐมนตรี ทั้งยังมองไปถึงจุดการเลือกตั้งว่าเป็นขั้นหนึ่งของประชามติที่จะกลายมาเป็น กฎหมู่ของตระกูลชินวัตร หากได้เสียงข้างมากก็จะผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสู่สภา เมื่อ มีความชัดเจนว่าเดินหน้าแผนหนึ่ง เราก็กล่าวโทษทันที เพื่อสกัดไม่ให้ใครมาออกกฎหมายนิรโทษกรรม เรื่องแบบนี้ไม่ต้องรอให้เลือกตั้งเสร็จ

นายแก้วสรรยอมรับว่าเป็น “ขาประจำ” ที่จะต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณประกาศ มาตลอดว่าจะพาตัวเองกลับบ้านภายใน 6 เดือน แต่หากจะนิรโทษกรรมให้คนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์นั้น สามารถทำได้ เพื่อให้บ้านเมืองสงบและมีความปรองดอง

เช่นเดียวกับ นพ.ตุลย์ที่ยอมรับว่าเป็น “ขาประจำ” เพราะถือว่ากำลังล้างส้วมให้สะอาด จึงต้องมีคนลงมือทำ หากกลัวว่าจะโดนด่าแล้วไม่ทำก็ต้องเข้าห้องน้ำที่สกปรกต่อไป จึงยินดีจะทำ ใครจะด่าก็ด่าไป

“สนธิ” ชี้ผลงาน ปชป.

อย่างไรก็ตาม คำพูดของนายแก้วสรรกลับเป็นการประจานตัวเองว่าสับปลับ ปลิ้นปล้อน หรือ “เขียนด้วยมือลบด้วยเท้า” เพราะวันที่ 20 พฤษภาคม พูดอย่างหนึ่งว่านักเลงเขาไม่ทำกัน แต่วันที่ 7 มิถุนายนกลับพูดอีกอย่างหนึ่งว่าต้องทำเพื่อบ้านเมือง จนมีการตั้งคำถามว่ามีเบื้องหลังหรือทำเพื่อฝ่ายใดพรรคใดหรือไม่

ขนาดที่ว่านายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ยังกล่าวว่า ไม่แปลกใจที่นายแก้วสรร นพ.ตุลย์ รวมถึงนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านพรรคเพื่อไทยและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยอ้างเรื่องการนิรโทษกรรม เพราะล้วนเป็นผลงานของพรรคประชาธิปัตย์

แต่นายแก้วสรรตอบโต้ว่า เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลโดยสิ้นเชิง ไม่ได้เป็นการเคลื่อนไหวให้กับพรรคประชาธิปัตย์ แต่ทำในฐานะประชาชนของแผ่นดิน ในฐานะที่ทำคดีมากับมือจึงรู้ว่าจริงหรือเท็จ มีความจริงมากมายที่พูดไม่ได้ “บอกได้เพียงว่าหากเขากลับมาฉิบหายแน่” ทั้งย้อนถาม นายสนธิว่าเหตุใดจึงผูกขาดว่าต้องเป็นพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นจึงจะไม่เห็น ด้วยกับพรรคเพื่อไทย ส่วนที่ออกมาเคลื่อนไหวเพราะไม่เชื่อว่าพรรค ประชาธิปัตย์สามารถทำได้ หากพรรคประชาธิปัตย์กล้าทำจริงเรื่องคงไม่บานปลายมาถึงวันนี้

ปชป. ไล่บี้ “สนธิ”?

ด้านนายอภิสิทธิ์ออกมาปฏิเสธคำกล่าวหาของนายสนธิว่า ไม่ได้อยู่เบื้องหลังการเคลื่อน ไหวของนายแก้วสรรและ นพ.ตุลย์ พร้อมถามกลับนายสนธิว่า “คิดแบบนี้เดี๋ยวคนก็ถามคุณสนธิบ้างว่ากลับไปอยู่กับคุณทักษิณแล้วหรือเปล่า ถึงพยายามให้คนที่ไม่เอาคุณทักษิณแล้วโหวตโน ถ้าเกิดถามก็วุ่นวายไปกันใหญ่ อย่าจินตนาการมากไปเลยครับ”

แต่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กลับสนับสนุนนายแก้วสรรและ นพ.ตุลย์ว่าเป็นสิทธิของประชาชน ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้นายสนธิชี้แจงประชาชนด้วยว่าอยู่ดีๆทำไมจึงกลับลำ ไปสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะเมื่อก่อนชวนคนมาต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณและระบอบทักษิณ แต่วันนี้มาพูดเข้าข้าง น.ส.ยิ่งลักษณ์เพราะมีอะไรหรือไม่ คนที่เดินตามหลังนายสนธิก็ต้องสงสัย แต่ตนไม่สงสัยอะไรและไม่อยากยุ่งกับนายสนธิ

การเรียงหน้าออกมาตอบโต้นายสนธิของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพไม่ใช่เรื่อง แปลก แต่จะทำให้คนทั่วไปเชื่อหรือไม่ว่าการออกมาเคลื่อนไหวของ นายแก้วสรรและ นพ.ตุลย์ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ก็ยอมรับว่ารู้จักทั้ง 2 คนดี

ขณะที่โพลต่างๆก็ระบุว่ากระแสของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ยังนำหน้านายอภิสิทธิ์ และกระแสตอบ รับยังแรงไม่ตก ไม่ว่าจะเป็นด้านนโยบายของพรรค หรือภาพลักษณ์ที่หาเสียงกับประชาชน ส่วนนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรข่าวช่อง 3 ได้นำภาพที่ตีพิมพ์ในสื่อแต่ละฉบับมาเปรียบเทียบกันและสรุปความเห็นว่าภาพ ลักษณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ดูดีหรือดีกว่านายอภิสิทธิ์ แม้นายอภิสิทธิ์จะลงทุนดำนา แต่ภาพลูกชาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ป้อนอาหารให้แม่ก็ให้ความรู้สึกประทับใจมากกว่า

สื่อนอกชี้บทบาทกองทัพ?

ขณะที่มุมมองและการวิเคราะห์ของสื่อต่างประเทศอย่างสำนักข่าวบีบีซีก็ ตั้งคำถามว่าทหารจะยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ พร้อมสรุปว่าอาจคาดเดายากว่าทหารคิดอะไรอยู่ แต่ที่แน่ๆผลงานที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเดิมพันของกองทัพขึ้นอยู่กับ อะไร ซึ่งตั้งแต่การรัฐประหารกองทัพได้งบประมาณเพิ่มขึ้น 50% นอกจากนี้ยังนำกฎหมายความมั่นคงภายในกลับมาใช้อย่างสม่ำเสมอ กองทัพจึงได้กลับมาอยู่ในศูนย์กลางอำนาจการเมืองไทยอีกครั้ง และคงจะไม่ออกไปในระยะเวลาอันใกล้

ด้านนิตยสารอีโคโนมิสต์ลงบทความวิเคราะห์ว่า การเลือกตั้ง 3 กรกฎาคมถือเป็น “ศึกสุดท้ายของทักษิณ” โดยระบุว่ากองทัพย่อมไม่สบายใจแน่ หาก พ.ต.ท.ทักษิณชนะการเลือกตั้ง เพราะแกนนำเสื้อแดงหลายคนต้องการให้เอาผิดกับบุคคลที่สั่งและดำเนินการปราบ ปรามคนเสื้อแดง ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณแม้จะอยู่ในต่างประเทศอย่างสุขสบาย แต่ก็ต้องการกลับประเทศมากที่สุด

ส่วนสำนักข่าวรอยเตอร์ทำรายงานพิเศษในพื้นที่อีสาน ซึ่งถือเป็น 1 ใน 3 ของทั้งประเทศ ปรากฏว่ากว่า 300 หมู่บ้านติดธงแดงที่ “นิยมทักษิณ” ซึ่งวันนี้เป็นฐานที่มั่นสำคัญของพรรคเพื่อไทย และส่วนใหญ่เป็นคนรายได้ต่ำ การเลือกตั้ง 3 กรกฎาคมจึงถือว่าเป็นการต่อสู้ของคนเสื้อแดงเพื่อให้ได้ความยุติธรรมและ ประชาธิปไตย อย่างกลุ่มเสื้อแดงมหาสารคามจะปล่อยโคมแดงจากทุกหมู่บ้านในวันที่ 2 กรกฎาคม เพื่อประกาศให้รู้ว่าถึงเวลาแล้วที่ปิศาจแดงจะออกอาละวาด พร้อมใจกันออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. อย่างพร้อมเพรียง

ขณะที่นายอันโนนิโอ แอล รัปปา หัวหน้าฝ่ายศึกษาด้านความมั่นคงและการจัดการแห่ง UniSim Business School ของสิงคโปร์ วิเคราะห์การเลือกตั้งครั้งนี้ว่าอาจจะเกิดการเปลี่ยน “ดุลอำนาจ” และโครงสร้างทางการเมืองใหม่ เพราะไม่ว่าพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์ชนะก็จะมีผลต่อปัจจัยหลายด้าน เช่น การประท้วง เศรษฐกิจ และช่องว่างระหว่างกลุ่มคนร่ำรวยและยากจน ซึ่งอาจจบลงด้วยการประท้วงบนท้องถนนและความรุนแรงในอนาคต ขณะที่กองทัพก็ยังจับตามองอย่างใกล้ชิด

วาทกรรมถนัดของ ปชป.

ดังนั้น ยิ่งการหาเสียงเข้าใกล้โค้งสุดท้าย พรรคประชาธิปัตย์ก็ยิ่งต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้คะแนนนิยมกลับมา หรือทำลายความนิยมหรือความน่าเชื่อถือของพรรคเพื่อไทยให้ได้มากที่สุด ซึ่งมีอยู่จุดเดียวในขณะนี้คือการทำลายความน่าเชื่อถือของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยพุ่งไปที่การนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ แม้จะเป็นการสร้างข่าวขึ้นมาเองก็ตาม เพราะการขุดคุ้ยเรื่องครอบครัวก็ล้มเหลวตั้งแต่ยกแรกแล้ว ทั้งยังทำให้คะแนน น.ส.ยิ่งลักษณ์พุ่งกระฉูดอีก ขณะเดียวกันกลับส่งผลกระทบถึงแกนนำพรรคประชาธิปัตย์หลายคน โดยเฉพาะนายชวน หลีกภัย ที่เจอโพสต์ในโลกไซเบอร์จนกระหน่ำกรณีคุณแม่ของสุรบถ

ด้านนโยบายหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ก็ถูกวิจารณ์ว่าสู้พรรคเพื่อไทยไม่ ได้ ไม่มีอะไรใหม่และไม่โดนใจเท่าพรรคเพื่อไทย การโจมตี น.ส.ยิ่งลักษณ์โดยดึง พ.ต.ท.ทักษิณให้อยู่ในเกมจึงเป็นยุทธวิธีที่ได้ผลมากที่สุด รวมถึงการตอกย้ำกล่าวหาคนเสื้อแดงว่าเป็นพวกป่วนเมืองและเผาบ้านเผาเมือง

การออกมาเคลื่อนไหวของนายแก้วสรรและ นพ.ตุลย์จึงสอดรับอย่างดีกับกระแสของพรรคประชาธิปัตย์ที่กำลังลดลง โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ที่ส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางและถูกปั่นหัวจนเกลียดทักษิณเข้ากระดูกดำจะออก มาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์มากขึ้นและไม่ “โหวตโน” ซึ่งหากพรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. ในกรุงเทพฯอย่างน้อย 25 คนขึ้นไป หรือชนะอย่างถล่มทลาย โอกาสที่จะจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคเพื่อไทยก็มีสูง แม้โพลต่างๆยังระบุว่าพรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส. มากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็ตาม แต่จะขาดลอยหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่กรุงเทพฯด้วย

อย่างที่นายคณวัฒน์ วศินสังวร ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย รองหัวหน้าพรรค เพื่อไทย เปิดเผยหลังผู้ช่วยทูตฝ่ายการเมืองสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐเข้าพบเพื่อหารือ ถึงสถานการณ์การเลือกตั้งและประเมินว่าพรรคเพื่อไทยมีโอกาสชนะเลือกตั้งแบบ แลนด์สไลด์มากน้อยแค่ไหนก็อยู่ที่พื้นที่กรุงเทพฯ หากได้ 15-22 ที่นั่ง โอกาสที่จะชนะแบบถล่มทลายก็มีมาก

กลับไปนุ่งกระโปรง

การออกมาเคลื่อนไหวของนายแก้วสรรในช่วงใกล้วันเลือกตั้ง 3 กรกฎาคมอาจเป็นจุดสำคัญทางการเมืองได้หากมีการขานรับจากกลุ่มผู้มีอำนาจรัฐ เป็นลูกโซ่ อย่างกรณีตุลาการภิวัฒน์ ที่ทำให้พรรคไทยรักไทยถูกยุบ ขณะที่นายแก้วสรรก็ยอมรับว่าต้องการดักทางไม่ให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ แม้ผลการเลือก ตั้งประชาชนจะเลือกพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลก็ตาม โดยวันที่ 18 มิถุนายนจะล่ารายชื่อประชาชนเพื่อกล่าวโทษ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก่อนจะยื่นให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษในวันที่ 21 มิถุนายน

ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณโพสต์ข้อความทางวอยซ์ทีวีว่า ไม่แปลกใจที่นายแก้วสรร นพ.ตุลย์ และนายเจิมศักดิ์ ตั้ง คนท. โดยบอกว่า “เขาเรียก กันว่าขาประจำครับ พวกนี้ไม่ต้องการให้บ้านเมืองปรองดอง เพราะได้รับประโยชน์และมีความสำคัญจากการขัดแย้ง โดยไม่คำนึงถึงส่วนรวม”

ดังนั้น พฤติกรรมและคำพูดของนายแก้วสรร จึงบ่งบอกตัวตนที่แท้จริงได้ดีว่าเป็นคนประเภทใด และมีแรงจูงใจหรือเบื้องหลังอย่างไร โดยเฉพาะฉวยโอกาส “กล่าวหาใส่ร้ายผู้หญิง” ซึ่งมีความกล้าเดินเข้าสู่การเมืองตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาชนตัดสินว่าควรจะเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทยมาแก้ ปัญหาบ้านเมืองหรือไม่

ซึ่ง ร.ต.ท.เชาวรินธร์ ลัทธศักย์ศิริ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประณามพวกจ้องทำลาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยยกคำของพระพยอม กัลยาโณ มาเปรียบเทียบว่าเป็นพวก “สมองหมา ปัญญาควาย” สมองหมาคือพวกคนบ้า ไม่มีเหตุผล ปัญญาควายคือพวกคนโง่ เมื่อมีทั้งสมองหมาปัญญาควายรวมกันยิ่งน่ากลัวต่อประเทศไทย

นายแก้วสรรน่าจะตอบตัวเองได้ดีที่สุดว่าวันนี้ยังมีศักดิ์ศรีและจริยธรรมความเป็นนักวิชาการ (ไม่ขายวิญญาณ) อีกหรือไม่?

ไม่รู้ว่านายแก้วสรรเป็นใครกันแน่?

ระหว่าง “สุภาพบุรุษใจนักเลง” กับ “แก้วหน้าม้าใส่ผ้าถุง”

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับ 314 วันที่ 11-17 มิถุนายน 2554 พ.ศ. 2554 หน้า 18
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
โดย : ทีมข่าวรายวัน