ปิดวิทยุแดงอีก 2 สถานี นิติราษฎร์ชี้เลือกปฏิบัติ-2มาตรฐานชัดเจน

ตำรวจเข้าตรวจค้นยึดอุปกรณ์ออกอากาศวิทยุชุมชน คนเสื้อแดงใน กทม. เพิ่มอีก 2 สถานี เลขาธิการชมรมสื่อมวลชนเพื่อประชาธิปไตยบุกกองปราบปรามแจ้งดำเนินคดีทีมตรวจ ยึดปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ยันทุกสถานีมีใบอนุญาตทดลองออกอากาศ นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ชี้ใช้กฎหมาย 2 มาตรฐานเลือกปฏิบัติเฉพาะกลุ่ม ระบุข้ออ้างไม่มีใบอนุญาต หมิ่นสถาบันไม่ใช้กับสถานีเครือข่ายอื่นที่ไม่ได้เป็นเสื้อแดง เรียกร้องประชาชนกระจายข่าวให้สังคมรับรู้ความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นจริง จี้ปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับสื่อทั้งหมดเพื่อความชัดเจน ดีเอสไอมาแปลกแจ้งแกนนำ นปช. เลื่อนรายงานตัวคดีหมิ่นสถาบัน เพราะต้องสอบเพิ่มเพื่อความเป็นธรรม อัยการคาดสัปดาห์หน้ารู้ผลถอนประกันแกนนำกี่คน

หลังเข้าตรวจค้นและยึดอุปกรณ์ออกอากาศของสถานีวิทยุชุมชนที่เป็นแนวร่วม คนเสื้อแดงไปแล้ว 13 สถานีเมื่อวันที่ 26 เม.ย. ที่ผ่านมา ล่าสุดตำรวจได้เข้าตรวจค้นยึดอุปกรณ์และแจ้งดำเนินคดีเพิ่มอีก 2 สถานีคือ คลื่น 89.85 เมกะเฮิรตซ์ สถานีคนไทยหัวใจเดียวกัน ย่านเขตสายไหม และคลื่น 91.75 เมกะเฮิรตซ์ สถานีชมรมเสียงคนไทย เขตลาดพร้าว กทม. โดยทั้ง 2 สถานีไม่มีการขัดขวางการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ แต่มีคนเสื้อแดงไปเฝ้าสังเกตการณ์อยู่หลายคน

แจ้งเอาผิดทีมปิดวิทยุเสื้อแดง

ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) นายจุติพงษ์ พุ่มมูล เลขาธิการชมรมสื่อมวลชนเพื่อประชาธิปไตย เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และตำรวจสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ที่เข้าตรวจค้นและยึดอุปกรณ์สถานีวิทยุของคนเสื้อแดง ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามกฎหมายอาญา มาตรา 157 และรัฐธรรมนูญ มาตรา 45

เลือกปฏิบัติเฉพาะฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล

นายจุติพงษ์กล่าวว่า ที่ต้องเข้าแจ้งความดำเนินคดีเพราะเห็นว่าเป็นการเลือกปฏิบัติกับผู้ที่มี ความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาล หากเห็นว่ามีเนื้อหารายการพาดพิงให้ใครเสียหายสามารถใช้สิทธิฟ้องร้องได้ ไม่ใช่มาปิดสถานี

“เป็นการเลือกปฏิบัติที่ชัดเจน เพราะเลือกปิดเฉพาะสถานีของคนเสื้อแดง ไม่แตะสถานีอื่น ทั้งที่ผู้ดำเนินการต่างมีใบอนุญาตทดลองออกอากาศเพื่อเตรียมความพร้อมจาก กสทช. ถูกต้อง นอกจากแจ้งความดำเนินคดีแล้วจะไปยื่นเรื่องต่อศาลปกครองให้ยกเลิกคำสั่งและ การกระทำของเจ้าหน้าที่ในครั้งนี้ด้วย”

นักวิชาการชี้คุกคามสิทธิเสรีภาพ

น.ส.สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร กล่าวถึงกรณีที่เริ่มมีการปิดเว็บไซต์ต่างๆมากขึ้นอีกครั้งว่า เป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

“การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ขาดความชัดเจน แม้แต่การปิดสถานีวิทยุชุมชนก็เข้าข่ายกระทำผิดหลายอย่าง ข้ออ้างที่ใช้ปิดส่วนมากคือไม่ได้รับอนุญาตกับหมิ่นเบื้องสูง ถ้าจะเอากันตามนี้ถามว่ามีสถานีอื่นอีกมากทำไมไม่ดำเนินการ แต่กลับกระทำในสิ่งที่สังคมสงสัยว่าเลือกปฏิบัติ ใช้กฎหมายหลายมาตรฐาน หากจะใช้ข้ออ้างนี้ต้องทำกับทุกสถานีให้เท่าเทียมกันเพื่อความยุติธรรม”

ปลุกกระแสให้สังคมรับรู้กระทำมิชอบ

น.ส.สาวตรีเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันพูดถึงประเด็นนี้ให้อยู่ในกระแสไป เรื่อยๆ เพื่อให้เกิดการรับรู้ร่วมกันว่ามีการกระทำ 2 มาตรฐานเกิดขึ้นจริง ผู้เกี่ยวข้องจะได้รีบแก้ไข หากปล่อยให้เรื่องผ่านไปเฉยๆจะทำให้กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ คนใช้กฎหมายจะไม่มีประสิทธิภาพ ควรจะมีการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อใหม่ทั้งหมดเพื่อให้เกิดความ ชัดเจน

ดีเอสไอแจ้ง นปช. เลื่อนรับข้อกล่าวหา

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่แจ้งต่อแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน 18 รายที่ถูกออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาหมิ่นสถาบันจากการปราศรัยเมื่อ วันที่ 10 เม.ย. ออกไปจากนัดหมายเดิมในวันที่ 2-4 พ.ค. เนื่องจากอัยการได้สั่งให้ดีเอสไอสอบสวนเพิ่มเติมบางประการเพื่อให้เกิดความ เป็นธรรม

ด้าน พ.ต.ท.ถวัล มั่งคั่ง ผู้อำนวยการสำนักคดีอาญาพิเศษ 2 ดีเอสไอ ได้นำเอกสารถอดเทปปราศรัยของนายจตุพร พรหมพันธุ์ และแกนนำ นปช. รวม 9 คน ชุดใหม่มามอบให้อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 แล้ว หลังจากอัยการสั่งให้ถอดเทปใหม่ เนื่องจากของเดิมไม่ชัดเจน ข้อความไม่ต่อเนื่อง อาจทำให้เข้าใจความหมายผิด

สัปดาห์หน้ารู้ผลถอนประกัน

นายรุจ เขื่อนสุวรรณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 กล่าวว่า ของเดิมมีบางช่วงบางตอนขาดหายไป อาจทำให้เข้าใจความหมายที่ต้องการจะสื่อผิด จึงให้ไปถอดเทปมาใหม่ ซึ่งของใหม่ที่ส่งมาเท่าที่ดูมีเพิ่มเติมจากเดิมเล็กน้อย จากนี้จะพิจารณารายละเอียดของข้อความอีกครั้ง เพื่อดูเจตนาการปราศรัยของแกนนำ นปช. ไม่เกินสัปดาห์หน้าน่าจะมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้

อัยการชี้เจตนาให้ศาลตัดสิน

“ต้องดูภาพรวมทั้งหมดว่าที่ดีเอสไอบอกว่าร่วมกันกระทำความผิดนั้นเป็น อย่างไร เพราะบางคนอาจไม่ได้อยู่บนเวทีตลอด พูด 5 นาทีแล้วลง คนที่พูดต้องดูว่าเข้าข่ายยุยงปลุกปั่นหมิ่นสถาบันที่กระทบต่อความมั่นคง หรือไม่ หากไม่เข้าข่ายก็ไม่ถอนประกัน แต่หากเข้าข่ายผิดเงื่อนไขศาลต้องยื่นถอนประกัน ซึ่งศาลจะเป็นผู้ตัดสิน อัยการมีหน้าที่แค่ชี้ให้เห็นเจตนาของแกนนำในการปราศรัย” นายรุจกล่าวและว่า การกล่าวพาดพิงสถาบันแม้จะไม่ชัดเจนว่าพูดยุยุงให้ประชาชนเกิดความกระด้าง กระเดื่อง แต่หากกล่าวแล้วกระทบสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของชาติ ทำให้ประชาชนรู้สึกแบ่งแยกก็เข้าข่ายผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนดไว้ โดยมุ่งหมายให้เกิดความสมานฉันท์ ลดความขัดแย้งแตกแยก

“ถวัล” บ่นส่งหลักฐานเพิ่ม 3 ครั้ง

ด้าน พ.ต.ท.ถวัลกล่าวว่า การยื่นหลักฐานเพิ่มครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 น่าจะครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว เพราะเป็นหลักฐานทั้งหมดที่ได้มาจากทหาร ตำรวจ และการสอบพยานบุคคลที่ไปรับฟังการปราศรัย

ที่ดีเอสไอ นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมนเกด หรือน้องเกด อัคฮาด อาสาสมัครพยาบาล 1 ใน 6 ศพที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนารามเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่เพื่อสอบถามความคืบหน้าของคดี

แม่ “น้องเกด” ถามความคืบหน้าคดี

นางพะเยาว์กล่าวว่า ลูกสาวเสียชีวิตใกล้ครบ 1 ปีแล้วแต่คดีไม่มีความคืบหน้า ยังไม่สามารถหาตัวคนผิดมาลงโทษได้ ซึ่งเหมือนกับการตายของประชาชนอีก 89 ศพที่ไม่มีความคืบหน้าที่ครอบครัวต่างอยากรู้ข้อเท็จจริงจากการสืบสวน

พ.ต.ท.ธรณินทร์ คลังทอง พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ที่รับผิดชอบคดี 6 ศพในวัดปทุมวนาราม ชี้แจงว่า คดียังอยู่ระหว่างการสอบสวน หากมีความคืบหน้าจะเสนอให้อธิบดีดีเอสไอแถลงต่อสื่อมวลชน

ทั้งนี้ นอกจากนางพะเยาว์แล้ว รศ.ดร.วรพล พรหมิกบุตร อดีตคณบดีคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้ายื่นเรื่องสอบถามความคืบหน้าคดีผู้เสียชีวิต 89 ศพเช่นกัน

ที่มา : โลกวันนี้ 29 เมษายน 2553


วรเจตน์ ภาคีรัตน์

“ทางกลุ่ม (นิติราษฎร์) จะพยายามทำงานวิชาการในลักษณะนี้ต่อไปอีก แต่ก็มีปัญหาในแวดวงวิชาการ ผมรู้สึกและประเมินว่ามีความมืดมนอยู่ ผมไม่คิดว่าข้อเสนอนี้จะได้รับการตอบรับในวงกว้าง ผมคิดว่าแวดวงวิชาการเองก็ไม่ต่างกับแวดวงอื่นๆ มันมีเครือข่าย มีผลประโยชน์ การจะให้ออกมาพูดในเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องยาก แต่อย่างน้อยก็เป็นการกระตุ้น แม้แต่การคัดค้านก็ตาม”

นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) หนึ่งในผู้ก่อตั้ง “กลุ่มนิติราษฎร์ (นิติศาสตร์เพื่อราษฎร)” และเว็บไซต์ www. enlightened-jurists.com กล่าวตอบนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังการอภิปรายเรื่อง “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งนายสมศักดิ์เป็นหนึ่งในนักวิชาการที่เคลื่อน ไหวให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นสถาบันกษัตริย์มาอย่างต่อเนื่อง เพราะเห็นว่าที่ผ่านมาสถาบันกษัตริย์เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการ เมืองอย่างแยกกันไม่ออก จึงต้องแก้ทั้งตัวบทกฎหมายในรัฐธรรมนูญและอุดมการณ์ทางความคิดไปพร้อมๆกัน เพื่อให้ “สถาบันกษัตริย์ทรงเป็นสัญลักษณ์ถึงความสามัคคีของประ-ชาชน” อย่างแท้จริง เพราะตราบใดที่ไม่สามารถหยุดการใช้อำนาจที่ล้อมรอบสถาบันกษัตริย์ได้ก็ไม่ อาจจะบรรลุเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยได้

สถาบันกับวิกฤตการเมือง

นายสมศักดิ์ได้กล่าวถึงวิกฤตการณ์บ้านเมืองที่ดึงสถาบันมาใช้เป็นเครื่อง มือทางการเมืองว่า ไม่ใช่สิ่งที่แสดงออกเรื่องการใช้สิทธิรักหรือเคารพในหลวงเลย โดยเฉพาะการเข่นฆ่ากลางเมืองเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 เช่นเดียวกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่นำสถาบันมาอ้างในการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนกลายเป็นความอัปยศและหายนะของประเทศมาจนถึงทุกวันนี้

ขณะที่คำแถลงที่มาของ “กลุ่มนิติราษฎร์” เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2553 ระบุว่า รัฐประหาร 19 กันยา-ยน 2549 ของ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เป็นรัฐประหารที่อัปยศ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันของกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆที่ประกอบอาชีพ สอนวิชากฎหมายในสถานการณ์ที่คนจำนวนมากยินดีกับรัฐประหาร ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยไม่สามารถทำอะไรได้ จึงเกิด “กลุ่มนิติราษฎร์” และตัดสินใจออกแถลงการณ์ประณามรัฐประหาร

“ภายหลังรัฐประหารสำเร็จประเทศไทยตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่กฎหมายถูกนำไป ใช้อย่างบิดเบี้ยว ทั้งการตราตัวบทกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับนิติรัฐประชาธิปไตย การใช้และการตีความกฎหมายขององค์กรผู้มีอำนาจไปในทิศทางที่ไม่สนับสนุนนิติ รัฐประชาธิปไตย และก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรม ซึ่งเราได้แสดงความเห็นผ่านแถลงการณ์สาธารณะวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์เหล่า นี้อย่างสม่ำเสมอ”

จุดยืนกลุ่มนิติราษฎร์

กลุ่มนิติราษฎร์ที่ประกอบด้วยนักวิชาการที่ประ-กอบอาชีพสอนวิชากฎหมายคือ น.ส.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา นายฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล นายธีระ สุธีวรางกูร นายประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช นายปิยบุตร แสงกนกกุล นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ และ น.ส.สาวตรี สุขศรี จึงเป็นการประกาศตัวเป็นปรปักษ์กับอำนาจเผด็จการอย่างไม่ เกรงกลัว ทั้งที่ขณะนั้น คมช. ยังมีอำนาจ และกระแสต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับพวก ยังเป็นกระแสที่รุนแรง แต่กลุ่มนิติราษฎร์ให้เหตุผลว่าหวังจะเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการสถาปนา อุดมการณ์กฎหมาย-การเมืองนิติรัฐประชาธิปไตย เพื่อให้ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” และ “มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ”

อย่างที่นายวรเจตน์ได้ประกาศใน “นิติราษฎร์ฉบับที่ 1” ว่านับตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ปฏิเสธไม่ได้ว่ากฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือช่วงชิงอำนาจและสร้างความชอบธรรม ให้กับอำนาจ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างบาดแผลที่ลึกอย่างยิ่งให้กับวงการกฎหมายและวง วิชาการนิติศาสตร์ไทย สร้างความอยุติธรรมอย่างรุนแรงให้เกิดขึ้นกับผู้คนในสังคม ขณะที่คนจำนวนหนึ่งที่มีบทบาทชี้นำสังคมและนักกฎหมายที่เป็นชนชั้นนำก็ปิด ล้อมความคิดความอ่านของผู้คนด้วยการยกเอาข้อธรรม ความเชื่อในทางจารีตประเพณี ตลอดจนบุคคลที่ถูกสร้างให้เป็นที่ยึดถือศรัทธาขึ้นเป็นกรงขังการใช้เหตุผล และสติปัญญาของผู้คน

“เพื่อจะไปให้พ้นจากสภาวะเช่นนี้ เราเห็นว่าสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการกฎหมายและวงวิชาการนิติศาสตร์จะต้องก้าวข้ามยุคมืดไป สู่ยุคแห่งความสว่างไสวทางสติปัญญา หรือที่บางท่านเรียกว่ายุคภูมิธรรมหรือยุคพุทธิปัญญา (Enlightenment; les Lumières; Aufklärung ดังที่ได้เคยเกิดมาแล้วในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคภูมิธรรมหรือพุทธิปัญญาในช่วงศตวรรษที่ 17 และ 18 ซึ่งในที่สุดแล้วเป็นรากฐานสำคัญให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมไป สู่ความเป็นประชาธิปไตย”

นายวรเจตน์ขยายความลักษณะของ Enlightenment คือการเกิดความเคลื่อนไหวทางความคิดในทุกแขนงวิชาในลักษณะการตั้งคำถาม การวิพากษ์วิจารณ์ การสงสัยต่อสิ่งที่ยอมรับเด็ดขาดเป็นยุติ ห้ามโต้แย้ง ห้ามคิดต่าง เช่น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือคำสอนทางศาสนา โดยถือว่า “เหตุผล” มีคุณค่าเท่าเทียมกับ “ความดี” การใช้สติปัญญาครุ่นคิดตรึกตรอง ไม่หลงเชื่ออะไรอย่างงมงายมีค่าเป็นคุณธรรม ซึ่งมนุษย์ทั้งหลายสามารถได้รับการฝึกฝนให้ใช้สติปัญญาและถือว่าเหตุผลเป็น เครื่องมือที่สำคัญในการรับรู้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวอย่างเท่าทัน ดังคำขวัญของ Immanuel Kant (ค.ศ. 1724-1804) นักปรัชญาผู้เรืองนามชาวเยอรมัน ที่ให้ไว้ว่า “จงกล้าที่จะใช้ปัญญาญาณแห่งตน!” (Habe Mut, dich deines eigenen Verstandes zu bedienen!)

“ยุคแห่งความสว่างไสวทางสติปัญญาคือยุคที่เสรีภาพจะเข้าแทนที่สมบูรณาญา สิทธิ์ ความเสมอภาคจะเข้าแทนที่ระบบชนชั้น เหตุผล ความรู้ วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์จะเข้าแทนที่อคติและความงมงายทั้งหลาย” นายวรเจตน์กล่าว

ถูกยัดเยียดข้อหา

ขณะที่นายปิยบุตร อาจารย์หนุ่มไฟแรงของกลุ่ม ตั้งคำถามกับสังคมการเมืองไทยแบบตรงๆในสภาวะที่สังคมแตกแยกแบ่งขั้วว่า แม้แต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในคณะนิติศาสตร์บรรยากาศยังเปลี่ยนไป ทั้งในแง่กายภาพและด้านความรู้

“การรู้จัก ความคุ้นเคย เปลี่ยนไปเยอะมาก ปฏิเสธไม่ได้ว่าตั้งแต่ 19 กันยา 2549 ทำให้คนเห็นต่างกันมากขึ้น ทะเลาะกันมากขึ้น ในทางความคิดคุยกันไม่ค่อยสนิทใจกับคนคิดต่าง แต่ผมพยายามไม่คุยเรื่องที่คุยแล้วอาจทะเลาะกัน อย่างกลุ่ม 5 อาจารย์เราก็สนทนา กัน ตั้งวงคุยกัน บรรยากาศที่เห็นต่างกัน หรือความ รู้สึกคุยกันไม่ได้เหมือนเดิมก็พอปรับตัวได้ แต่ขอข้อเดียว อันนี้เป็นความรู้สึกส่วนตัว คือผมไม่ชอบข้อหากับวิธีการยัดข้อหา การแทงข้างหลัง กล่าวร้ายกับกลุ่มพวกผมในที่ลับ ผมคิดว่าการคิดต่างน่าจะคุยกันตรงไปตรงมาได้ ยกตัวอย่างเช่น มีข่าวลือพูดกันขนาดว่าจะไล่ให้พวกผมเผาตำราทิ้งไปอยู่ดูไบหรือมอนเตเนโกร ซึ่งจริงๆถ้าไม่เห็นด้วยน่าจะแลกเปลี่ยนคุยกันตรงๆได้ในทางวิชาการ”

นักวิชาการแกะดำ

กลุ่มนิติราษฎร์ โดยเฉพาะนายวรเจตน์จึงตกเป็นเป้าที่ถูกโจมตีอย่างรุนแรงจากทั้งภาคประชาชน เสื้อเหลือง นักวิชาการ ฝ่ายการเมืองที่อยู่ตรงข้ามและมีความคิดแตกต่างว่าเป็น “นักวิชาการเสื้อแดง” หรือ “นักวิชาการแกะดำ” ทั้งที่ความเห็นหรือแถลงการณ์ต่างๆของกลุ่มนิติราษฎร์เป็นการวิเคราะห์และ วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงวิชาการชัดเจน โดยเฉพาะข้อกฎหมายและมิติในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

แต่ต้องยอมรับว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์เกือบทุกเรื่องล้วนทำ ให้ผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือกลุ่มผู้มีอำนาจนอกรัฐธรรมนูญไม่พอใจ โดยเฉพาะการชี้ให้สังคมเห็นถึงปัญหานิติรัฐและกระบวนการยุติธรรม “สองมาตรฐาน” ที่เกิดขึ้น

รัฐธรรมนูญอำพราง

อย่าง “รัฐธรรมนูญปี 2550” นายวรเจตน์ระบุว่า เมื่อพิจารณาในทางนิติศาสตร์แล้วถือเป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนขัดแย้งกันเองมาก ที่สุดฉบับหนึ่ง ซึ่งมีการซ่อนเร้นอำพรางแนวความคิดทางกฎหมายที่เป็นปรปักษ์กับหลักนิติรัฐ หรือหลักนิติธรรมอย่างชัดเจน

ส่วน “ตุลาการภิวัฒน์” เป็นหน้าฉากที่เรียกร้องให้ศาลแผ่ขยายบทบาทเข้าไปแก้ปัญหาทางการเมือง โดยอ้างอิงหลักการจากประเทศที่เป็นนิติรัฐ แต่หลังฉากคือข้อเรียกร้องให้ศาลใช้อำนาจทางกฎหมายเข้าจัดการกับปรปักษ์ทาง การเมือง โดยอ้างหลักกฎหมายจากต่างประเทศอย่างครึ่งๆกลางๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงลักษณะโครงสร้างอำนาจตุลาการของไทยเลยว่ามีพัฒนาการมา อย่างไร ตลอดจนไม่ได้คำนึงถึงโครงข่ายความสัมพันธ์ของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มผลประโยชน์ในระดับบน

“ตุลาการภิวัฒน์” (หรือบางท่านเรียกว่า ตลก. ภิวัฒน์) จึงมีความหมายเท่ากับ “การบิดเบือนการใช้อำนาจตุลาการ” ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายถือว่าเป็นความผิดอาญาเท่านั้น

ค้านคดียึดทรัพย์ “ทักษิณ”

นายวรเจตน์ยังระบุว่า จากการตัดสินคดีหลายคดีนับตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เรื่อยมาจนกระทั่งหลังการรัฐประหาร ต่อเนื่องมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน เป็นการตัดสินคดีที่องค์กรตุลาการ (ผู้พิพากษา ตุลาการ) เข้าทบทวนตรวจสอบการใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรือตรวจสอบบรรดาบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในทางการเมือง โดยสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องเป็นธรรมจริงหรือไม่ การกล่าวอ้างสิ่งที่เรียกว่า “ตุลาการภิวัฒน์” ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการให้คุณค่าในถ้อยคำดังกล่าวด้วยว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือ เป็นตัวแทนของคุณธรรมความดีงามทั้งปวง

อย่างคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินให้ ยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัว 46,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 กลุ่มคณาจารย์นิติราษฎร์ก็ออกบทวิเคราะห์คำพิพากษายึดทรัพย์ในทุกประเด็นว่า ทำไมจึง “ไม่อาจเห็นพ้องด้วยได้” เพราะเห็นว่าคำพิพากษาไม่ได้วินิจฉัยแยกแยะว่าประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการ กระทำที่เป็นการเอื้อประโยชน์แต่ละกรณีเกิดขึ้นเมื่อใด แต่วินิจฉัยว่าราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นนั้นได้เกิดขึ้นอย่างไม่สมควร นับตั้งแต่วันที่ พ.ต.ท.ทักษิณดำรงตำแหน่งนายกรัฐ-มนตรี และมีสาเหตุเพียงประการเดียวคือ เกิดจากการที่ พ.ต.ท.ทักษิณปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ จนนำไปสู่การพิพากษาให้ยึดทรัพย์สิน

ประณามสลายเสื้อแดง

ส่วนการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถาน การณ์ฉุกเฉิน และนำไปสู่การใช้กำลังทหารนับหมื่นพร้อมอาวุธสงครามสลายการชุมนุมกลุ่มคน เสื้อแดงนั้น นายวรเจตน์ได้เขียนบทความเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศ คำสั่ง และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องโดยทันทีและ ไม่มีเงื่อนไข เพราะเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง เป็นการใช้อำนาจเพื่อทำให้มาตรการที่ปรกติแล้วไม่ชอบด้วยกฎหมายในทางเนื้อหา ให้กลายเป็นมาตรการที่ชอบด้วยกฎหมายในทางรูปแบบ ซึ่งไม่ช่วยแก้ไขวิกฤตให้บรรเทาเบาบางลงแล้ว ยังเป็นตัวเร่งให้สถานการณ์ตึงเครียดและรุนแรงมากขึ้น

“วันนี้เราลืมถามประเด็นนี้ไป เพราะเราไปพูดถึงเรื่องคืนความสุข กลายเป็นว่าคนมาชุมนุมสร้างความทุกข์ คนที่คิดอย่างนี้ไม่รู้ว่าคนที่มาชุมนุมจำนวนไม่น้อยเขาทุกข์กว่าพวกคุณไม่ รู้กี่เท่า แล้วก็ไม่เคยมีความสุขอย่างที่พวกคุณมี ภายใต้โครงสร้างของสังคมที่เป็นอยู่นี้ หลายคนรู้สึกโล่งใจว่าจบสักทีหนึ่ง แต่หารู้ไม่ว่านี่คือการสร้างปัญหาใหม่ ซึ่งมันจะแก้ยากกว่าเดิม”

โดยเฉพาะการทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก รวมถึงการเผากลางเมืองนั้น รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ซึ่งเกิดหลังการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม เพราะ 2 เดือนของการชุมนุมไม่ เกิดการเผา หรืออาจบอกว่าคนเสื้อแดงคือคนที่รักษาบ้าน เมืองไว้ไม่ให้ถูกเผา แต่เมื่อรัฐบาลใช้กำลังเข้าสลายจึงทำให้เกิดการเผา คือถ้าไม่มีการใช้อาวุธหนักเข้าสลายการชุมนุมก็จะไม่มีการเผาหรือไม่มีการ เปิดโอกาสให้เผา เหมือนกรณีที่มีผู้ถูกยิงเสียชีวิตถึง 91 ศพ บอกว่าไม่รู้ใครยิง แต่กลับบอกว่าทหารไม่ได้ยิง ทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริง หากเกิดความรุนแรงแบบนี้รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองแล้ว ทั้งที่เคยพูดว่าความรับผิดชอบทางการเมืองต้องสูงกว่าหรือต้องมาก่อนความรับ ผิดชอบทางกฎหมาย

ประเด็นร้อนมาตรา 112

โดยเฉพาะการเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติม “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและยิ่งทำให้กลุ่มนิติราษฎร์ถูกต่อต้านจากฝ่ายที่ ไม่เห็นด้วยมากยิ่งขึ้นนั้น กลุ่มนิติราษฎร์ตระหนักดี โดยนายปิยบุตรยืนยันว่า เป็นข้อ เสนอที่ถือว่าประนีประนอมที่สุดแล้ว เพราะคนเราไม่ควรติดคุกด้วยคำพูด ถ้าทำได้ทั้งระบบ คือเหลือแค่โทษปรับก็น่าจะเป็นไปได้ ส่วนเรื่องข้อเสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 ไม่จำเป็นต้องคิดอะไรสลับซับซ้อน (อ่านบทความประกอบในคอลัมน์ถนนประชาธิปไตย หน้า 9)

“ผมสังเกตว่าหลังการเสวนาเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2553 ก็มีการพูดประเด็นเหล่านี้มาก ผมคิดถึงคนอย่างคุณดา ตอร์ปิโด คือคนที่เขาอยากพูดแต่พูดไม่ได้ แต่เมื่อมีคนไปส่งเสริมให้เขาพูด พอพูดแล้วก็โดนทุบอีก ภายใต้สังคมปัจจุบันไม่มีทางอื่นใดอีกเลยที่เราจะรักษาให้สามัญชนคนธรรมดา พูดเรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างสอด คล้องกับประชาธิปไตย มีทางเดียวคือปัญญาชนทั้งหลาย ต้องออกมาช่วย ไม่ต้องไปผูกผ้าเป็นแกนนำหรอก ปัญญาชนคนหนึ่งคนเดียวไม่พอ ต้องพึ่งเป็นหลักร้อยหลักพัน และต้องทำให้เป็นประเด็นสาธารณะ” นายปิยบุตรกล่าว

จุดเทียนกลางพายุ

ขณะที่นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวถึงเรื่องมาตรา 112 ว่าภาคประชาชนหลายฝ่ายออกมาเคลื่อนไหวให้ปฏิรูปหรือยกเลิกมาตั้งแต่ก่อนเกิด รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญและมีผลกระทบต่อสังคมไทย รวมทั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนพยายามจุดประเด็นนี้เมื่อหลายปีก่อน มีการนำเสนอให้ถกเถียง แลกเปลี่ยน ไม่ให้ใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองไปแอบอ้างเรื่องความจงรัก ภักดีเพื่อทำลายศัตรูทางการเมือง แต่เรื่องก็เงียบหายไป

ด้านนายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์ว่า ถือเป็นปรากฏการณ์ ใหม่ที่ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ในวงการนิติศาสตร์ เพราะ วงการนิติศาสตร์ค่อนข้างจะเป็นพวกอนุรักษ์นิยมมากกว่าเสรีนิยม จึงไม่เคยมีความคิดก้าวหน้าเช่นนี้มาก่อน แม้ยากจะเห็นเป็นรูปธรรม แต่กลุ่มนิติราษฎร์ก็เหมือน “จุดเทียนกลางพายุ” ทำได้แค่เสนอ อย่าไปคาดหวังกับฝ่ายการเมือง เพราะคงไม่มีใครกล้า กลัวจนหัวหด

อย่างไรก็ตาม นายพนัสเชื่อว่าอย่างน้อยจะปลุกกระแสวงวิชาการนิติศาสตร์รุ่นใหม่ให้เข้ามา ร่วมเป็นสมาชิกมากขึ้น ซึ่งคงไม่มากนัก แต่อาจถูกนักวิชาการสาขาอื่นออกมาโต้แย้ง อย่างในอดีตที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ออกมาโต้แย้งเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์เรื่องมาตรา 112 จึงเป็นห่วงกลุ่มนิติราษฎร์มากกว่า เพราะถูกเพ่งเล็งแน่นอน

“ผมคิดว่ากลุ่มนิติราษฎร์เป็นความหวังของคนในวงการวิชาการ อาจเรียกว่าเป็นธูปดอกเดียวที่มีประกายไฟเล็กๆจุดหนึ่งเท่านั้นเอง และเชื่อว่าจะทำให้นักวิชาการคนอื่นๆกล้าทำแบบพวกเขา โดยเฉพาะถ้าอิงกับวิชาการและหลักการจริงๆไม่น่าจะต้องกลัวอะไร เพียงแต่ว่านักวิชาการส่วนใหญ่ไม่อยากหาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัวเอง ที่สำคัญในวงการนิติศาสตร์เราจะไปหวังเฉพาะนักวิชาการอย่างเดียวไม่ได้ การจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแวดวงนิติศาสตร์จริงๆได้ต้องพวกปฏิบัติ เช่น พวกผู้พิพากษา อัยการ ไม่ต้องกล้าอะไรมาก แค่ตัดสินคดีตามหลักวิชาอย่างที่กลุ่มนิติราษฎร์เสนอก็แก้ปัญหาได้มากอยู่ แล้ว”

แสงเทียนท่ามกลางความมืดสลัว

การออกมาแสดงจุดยืนทางวิชาการของกลุ่มนิติราษฎร์จึงเป็นดั่งแสงสว่างของ เปลวเทียนเล่มเล็กๆท่ามกลางความมืดมน แต่แสงเทียนนี้จะทำให้นักวิชาการนิติศาสตร์และสาขาอื่นๆที่ปลีกวิเวก คิดแต่ความสุขส่วนตัว หรือหลบอยู่ในซอกมุมเพราะความกลัวต่ออำนาจรัฐลุกขึ้นมากล้าพูด กล้าวิจารณ์ในเชิงวิชาการตามอุดมการณ์อย่างแท้จริงได้บ้าง ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับกลุ่มนิติราษฎร์

โดยเฉพาะข้อเสนอให้แก้ไขมาตรา 112 ที่ไม่ต่างกับ “วาระแห่งชาติ” หรืออาจเรียกว่าเป็น “วาระแห่งสิทธิมนุษยชน” อย่างแท้จริง ซึ่งพรรคการเมืองต้องนำไปประกาศเป็นนโยบาย โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่ประกาศต่อสู้เพื่อประชาชนและประชาธิปไตยอย่างแท้ จริง ยกเว้นพรรคเพื่อไทยจะเป็นแค่พรรคการเมืองน้ำเน่าที่โกหกตอแหลเพียงเพื่อให้ ได้อำนาจและผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องเท่านั้น!

อย่างไรก็ตาม วันนี้ถือว่ากลุ่มนิติราษฎร์ได้จุดเทียนเพื่อให้สังคมไทยได้เห็นแสงสว่างท่ามกลางความมืดสลัวทั้งทางวิชาการและการเมือง

กลุ่มนิติราษฎร์จึงเป็นดั่ง “แสงเทียนท่ามกลางความมืดสลัว” ที่ปลุกวงการวิชาการที่กำลังหลับไหลให้ตื่นขึ้นมายอมรับความจริงและต่อสู้ เพื่อประชาชน ไม่ใช่หลับไหล ขายวิญญาณ เพื่อผล ประโยชน์ของตัวเองอย่างเช่นทุกวันนี้

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 305 วันที่ 2 – 8 เมษายน พ.ศ. 2554 หน้า 16-17 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน


ข้อเสนอ ‘นิติราษฎร์’ แก้ม.112

เมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ตัวแทนกลุ่มนิติราษฎร์ ได้นำเสนอประเด็นในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุ ภาพ สรุปสาระสำคัญดังนี้

1.ยกเลิกมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เพราะบทบัญญัติที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้รับการบัญญัติขึ้นโดยคำสั่ง ฉบับที่ 41 ของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินปี 2519 จึงเป็นกฎหมายของคณะรัฐประหารที่ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย

2.การลงโทษจากเดิมให้จำคุก 3-15 ปี ให้เปลี่ยนเป็นไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ, ลดอัตราโทษให้เป็นจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดนี้ต่อพระมหากษัตริย์, ลดอัตราโทษให้เป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดนี้ต่อพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เหตุผลข้อนี้คือการลงโทษตามกฎหมายเดิมรุนแรงเกินไป จึงเสนอให้บทลงโทษลดลง และให้มีความต่างในการลงโทษผู้ที่หมิ่นสถานะของพระมหากษัตริย์ กับผู้ที่ละเมิดพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการ

3.เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด ให้การติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่มีความผิด เพราะตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 45 รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต จึงไม่สมควรเป็นความผิดทางอาญา

4.เพิ่มเหตุยกเว้นโทษความผิด ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ถ้าข้อที่กล่าวหาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์ หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว แล้วแต่กรณี การพิสูจน์นั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ห้ามมิให้พิสูจน์

5.ผู้มีอำนาจกล่าวโทษเปลี่ยนจากบุคคลทั่วไปเป็นสำนักราชเลขาธิการ เพื่อป้องกันมีการนำเอาข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปเป็นเครื่องมือโจมตีกัน ในทางการเมือง และให้สำนักราชเลขาธิการได้ทำหน้าที่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเต็ม ที่

อาจารย์วรเจตน์เสนอว่า ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์นี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในทางวิชาการที่จะนำมา ซึ่งการถกเถียงแลกเปลี่ยนในประเด็นนี้อย่างจริงจัง และเป็นข้อเสนอที่ประนีประนอมที่สุด แม้ว่าจะไม่ได้แก้ปัญหาให้หมดไป แต่น่าจะบรรเทาปัญหาลงได้บ้าง

หลังจากนั้นอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เสนอว่า การแก้ไขกฎหมายอย่างเดียวอาจจะไม่ใช่ทางแก้ที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรมมาก ขึ้น จะต้องดูถึงรากฐานทางอุดมการณ์ที่รองรับด้วย ดังนั้น การแก้กฎหมายจะต้องพิจารณาถึงอุดมการณ์ที่รองรับ ในเมื่ออุดมการ์ที่ดำเนินอยู่ยังเป็นอุดมการณ์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การแก้ข้อกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียวก็ไม่เป็นประโยชน์ จึงต้องรณรงค์ให้ยกเลิกอุดมการณ์นั้นด้วย เช่น การเลิกโฆษณาเกินจริง การยกเลิกสถานะพิเศษของสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นต้น จึงจะบรรลุเสรีภาพของประชาชนได้ตามระบอบประชาธิปไตย

ประเด็นของการเสนอและการถกเถียงกันในเรื่องนี้เป็นที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะสถานการณ์ของสังคมไทยหลังจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้กลายเป็นประเด็นแหลมคม จากการที่ชนชั้นนำฝ่ายอำมาตย์และองค์กรทางการเมืองฝ่ายขวาได้นำเอาข้อหา หมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการโจมตีใส่ร้ายศัตรูทาง การเมือง และทำให้ประชาชนผู้บริสิทธิ์หลายคนต้องตกเป็นเหยื่อทางการเมือง ตัวอย่างเช่น กรณีของ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ที่ถูกจำคุกโดยไม่ได้ประกัน และถูกศาลอาญาตัดสินลงโทษถึง 18 ปี

กรณีของนายบุญยืน ประเสริฐยิ่ง ถูกศาลตัดสินจำคุก 6 ปี แต่ได้รับการอภัยโทษ หลังจากติดคุกอยู่ 1 ปี 10 เดือน กรณีนายสุวิชา ท่าค้อ ถูกศาลตัดสินจำคุก 6 ปี แต่ได้รับการอภัยโทษ หลังจากถูกขังอยู่ 1 ปี 5 เดือน กรณีของนายวราวุธ ฐานังกรณ์ และ น.ส.ปภัสชนัญญ์ ฉิ่งอินทร์ ที่เผาโลงประท้วงที่นครราชสีมา และถูกดำเนินคดีอยู่ในขณะนี้

ที่น่าสนใจคือกรณีของนายอำพล ตั้งนพคุณ หรืออากง อายุ 61 ปี ถูกจับเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา ในข้อหาส่งเอสเอ็มเอสข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาให้นายกรัฐมนตรี ทั้งที่นายอำพลเป็นคนสูงอายุอยู่กับบ้านและยืนยันว่าใช้เอสเอ็มเอสไม่เป็น ขณะนี้ยังคงดำเนินคดีในชั้นศาล

นอกจากนี้ในขณะนี้ยังมีการกล่าวหาและดำเนินคดีอยู่อีกนับสิบคดี และยังมี “ผังล้มเจ้า” ที่ฝ่ายรัฐบาลเผยแพร่และกล่าวหานักการเมืองฝ่ายต่อต้านในข้อหาว่ามีการตั้ง ขบวนการล้มเจ้าเพื่อต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์

ความจริงแล้วต้องถือว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีปัญหาหลายประการ แม้กระทั่งในเชิงปรัชญาของกฎหมาย เพราะกฎหมายสมัยใหม่ในแบบประชาธิปไตยนั้นต้องเริ่มต้นด้วยความเสมอ ภาคระหว่างมนุษย์ สถานะการเป็นประมุขแห่งรัฐ เช่น ในเยอรมนีหรืออินเดีย ถือเป็นหน้าที่ชนิดหนึ่ง และจะไม่ก่อให้เกิดเอกสิทธิ์เหนือกว่าบุคคลอื่น การมีกฎหมายพิเศษมาคุ้มครองสถานะผู้นำแห่งรัฐจึงเป็นเรื่องที่ไม่เป็น ประชาธิปไตย ส่วนเรื่องอัตราการลงโทษก็เช่นกัน การถูกลงโทษถึงขั้นติดคุกหลายปีเพียงเพราะเรื่องการใช้คำพูดเป็นสิ่งที่เกิน กว่าเหตุ และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างยิ่ง

เรื่องกระบวนการพิจารณาก็มีปัญหาเช่นกัน เพราะการกล่าวหาในคดีนี้ไม่สามารถจะเปิดเผยให้ชัดเจนได้ มิฉะนั้นผู้ที่นำมาเปิดเผยจะถูกพิจารณาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปด้วย เกิดปรากฏการณ์เหลือเชื่อ ดังเช่นคดีของนายอำพล ตั้งนพคุณ ศาลตัดสินความว่าการส่งเอสเอ็มเอสเช่นนั้นเป็นความผิด เพราะเป็นข้อความที่ “กระทบต่อความรู้สึกของประชาชนและความมั่นคงของประเทศอย่างร้ายแรง” ทั้งที่ประชาชนทั่วไปไม่รู้เลยว่าข้อความที่ถูกกล่าวอ้างนั้นเป็นข้อความว่า อะไร หมิ่นพระบรมเดชานุภาพจริงหรือไม่

แต่ปัญหาสำคัญยังมาจากกระบวนการทางสังคม เพราะส่วนมากผู้ถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมักจะถูกตัดสินล่วงหน้า แล้วว่าเป็นผู้มีทรรศนะในเชิงปฏิปักษ์ต่อสถาบันตั้งแต่ก่อนที่ศาลจะตัดสิน ทั้งที่เสรีภาพทางความคิดและการนับถือบุคคลใดจะต้องถือว่าเป็นสิทธิส่วน บุคคลที่ต้องได้รับความเคารพ แต่ในสังคมไทยหาได้เป็นเช่นนั้นไม่

ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์นั้นมุ่งที่จะปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุ ภาพให้เป็นธรรมมากขึ้น แต่ความจริงแล้วการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในระยะ 5 ปีที่ผ่านมามีแต่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ตกเป็นเหยิ่อของกฎหมายนี้ โดยไม่เห็นว่าการใช้กฎหมายนี้จะมีประโยชน์แต่อย่างใด แม้กระทั่งในแนวทางที่จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ยั่งยืนสืบไป การนำกฎหมายข้อนี้มาเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำ การลงโทษประชาชนให้รุนแรงอาจจะได้แต่ความหวาดเกรง คงจะไม่สามารถทำให้เกิดความเห็นพ้องกับชนชั้นนำโดยสุจริตใจ

การยกเลิกกฎหมายข้อนี้ไปเสียเลยน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า จะทำให้ผู้บริสุทธิ์ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อต่อไป และเป็นการปิดทางสำหรับการเมืองแบบใส่ร้ายป้ายสี นอกจากนี้สังคมไทยจะได้เคลื่อนไปในทางที่เป็นประชาธิปไตยและเคารพสิทธิมนุษย ชนมากยิ่งขึ้น ส่วนอุดมการณ์แบบเก่าที่รองรับอยู่เบื้องหลังกฎหมายฉบับนี้คงจะต้องรณรงค์ใน ระยะยาวต่อไป

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 305 วันที่ 2 – 8 เมษายน พ.ศ. 2554 หน้า 9 คอลัมน์ ถนนประชาธิปไตย โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ


ปิยบุตร แสงกนกกุล: สรุป 3 ประเด็นสำคัญ รายงาน “อัมสเตอร์ดัม” ฟ้อง “มาร์ค”

วันที่ 31 มกราคม  ปิยบุตร แสงกนกกุล  อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  หนึ่งในกลุ่มนิติราษฎร์ เขียนบันทึกนี้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว

จากการอ่านรายงานของโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ที่ใช้ประกอบการเสนอคำร้องไปยังศาลอาญาระหว่างประเทศในวันนี้

ผมขอสรุปประเด็นสำคัญและความเห็นของผมในเบื้องต้น ดังนี้

ในความเห็นของผม รายงานของอัมสเตอร์ดัมทั้งหมด อาจแบ่งได้ 3  ส่วนใหญ่ๆ คือ

ส่วนแรก ความเป็นมาของการเกิดขึ้นของเสื้อแดง

ตั้งแต่รัฐประหาร 19   กันยา “ตลก”ภิวัตน์ รัฐธรรมนูญ 2550   เป็นคุณต่อพวกเอสตาบลิชเมนท์ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การคุกคามเสรีภาพ และการสลายชุมนุม

ส่วนที่สอง การสังหารหมู่เมษายน พฤษภาคม 53   เข้าองค์ประกอบความผิดอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

ส่วนนี้เป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่ปรับให้เข้ากับฐานความผิดอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ส่วนนี้ เขารวบรวมพยานหลักฐานไว้ได้ดีมาก มีพยานผู้เชี่ยวชาญชื่อ Joe Ray Witty เป็นอดีตทหารอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาวุธ และสไนเปอร์ มีพยานผู้เห็นเหตุการณ์อีกหลายคน (ดูพยานทั้งหมดที่ภาคผนวก)

ส่วนที่สาม เรื่องนี้อยู่ในเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศได้อย่างไร

ส่วนนี้เป็นเรื่องเขตอำนาจศาล อย่างที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยได้ลงนามใน Rome Statute แต่ไทยไม่ได้ให้สัตยาบัน (ราทิฟาย) Rome Statute นี้

ดังนั้นโดยปกติแล้ว ศาลอาญาระหว่างประเทศย่อมไม่สามารถรับคำร้องกรณีประเทศไทยได้

อย่างไรก็ตาม อัมสเตอร์ดัมเสนอว่ามี 2   ช่องทาง ได้แก่

ช่องทางแรก
ไอซีซี ต้องเปิดกระบวนการสืบสวนสอบสวนไต่สวนในกรณีนี้ในเบื้องต้น เพื่อรอให้วันหนึ่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติลงมติให้ไอซีซีมีเขต อำนาจในกรณีนี้ตามมาตรา 13   (บี) (เหมือนซูดาน)

ช่องทางที่สอง
ในกรณี ที่ไอซีซีไม่มีเขตอำนาจอันเนื่องมาจากรัฐไม่ให้สัตยาบัน ไอซีซีอาจมีเขตอำนาจได้ใน 2   กรณี

กรณีแรก มาตรา 12  (2 ) (เอ) ความผิดนั้นเกิดในดินแดนของรัฐภาคี ภาษากฎหมายเราเรียกว่า เขตอำนาจทางพื้นที่ (ratione loci)

กรณีที่สอง มาตรา 12  (2 ) (บี) ถ้าบุคคลผู้ถูกกล่าวหานั้นเป็นพลเมืองของรัฐภาคี ภาษากฎหมายเราเรียกว่า เขตอำนาจทางบุคคล (ratione personae)

ไอซีซีในคดีเคนยาเคยวางหลักเรื่องนี้ไว้แล้ว

กรณีไทยสามารถฟ้องอภิสิทธิ์ได้ เพราะอภิสิทธิ์เป็นพลเมืองสหราชอาณาจักรโดยการเกิด ซึ่งสหราชอาณาจักรเป็นภาคีและราทิฟายอนุสัญญากรุงโรมแล้ว(ดูรายงานหน้า 113 )

นอกจากนี้ในรายงานยังเน้นย้ำให้ไอซีซีได้ตระหนักถึงสถานการณ์เฉพาะของไทย ได้แก่ ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามักมีการนิรโทษกรรมให้คนสังหารหมู่ประชาชนเสมอ ดังเห็นได้จาก 6 ต.ค. 2519  และ พ.ค. 2535   , ความไม่เป็นกลางและอิสระของศาลไทย, กระบวนการสอบสวนของดีเอสไอ (รายงานหน้า 119  เป็นต้นไป)

ในส่วนนี้อาจารย์ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิชเคยเขียนในประกาศนิติราษฎร์ ฉบับที่ 7 ไว้ ดังนี้

“… อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า ศาลอาญาระหว่างประเทศอาจมีเขตอำนาจเหนือคดีที่รัฐนั้นมิได้เป็นภาคีศาลอาญา ระหว่างประเทศก็ได้ หากผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดอาญาร้ายแรงแม้จะมิได้เป็นคนที่มี สัญชาติของรัฐที่เป็นภาคีของศาลอาญาระหว่างประเทศก็ตาม แต่อาชญากรรมร้ายแรงได้กระทำขึ้นบนดินแดนของรัฐที่เป็นภาคีของศาลอาญา ระหว่างประเทศ ศาลอาญาระหว่างประเทศก็มีเขตอำนาจได้ หรือในกรณีกลับกัน อาชญากรรมได้กระทำโดยคนที่มีสัญชาติของรัฐที่เป็นภาคีของศาล แม้ว่าอาชญากรรมนั้นจะกระทำขึ้นบนดินแดนหรือในประเทศที่มิได้เป็นภาคีของศาล ก็ตาม ศาลอาญาระหว่างประเทศก็มีเขตอำนาจ หรือกรณีสุดท้าย ทั้งผู้กระทำความผิดก็มิได้มีสัญชาติของรัฐที่เป็นภาคีศาลอาญาหรืออาชญากรรม ร้ายแรงได้กระทำขึ้นในดินแดนที่มิได้เป็นรัฐภาคีศาลอาญา ศาลอาญาก็สามารถมีเขตอำนาจได้หากคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติเสนอ เรื่องให้อัยการสอบสวน”

ข้อสังเกตของผม

การที่ไอซีซีจะรับฟ้องหรือไม่นั้น ก็อาจสำคัญเหมือนกัน และแม้นว่าหากไอซีซีไม่เอาด้วย แต่ประเด็นทางการเมืองที่สำคัญกว่า มี 3  ข้อ

ข้อแรก การกดดันไปที่ไอซีซีว่าจะตัดสินใจทำอย่างไร อย่างน้อยจะเข้ามาไต่สวนเบื้องต้นรอไว้ก่อนมั้ย เพื่อว่าวันหนึ่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะอนุญาตให้ไอซีซีมีเขต อำนาจ (เหมือนซูดาน) แน่นอนไทยเส้นใหญ่มาก

คณะมนตรีฯคงไม่ยอม แต่อย่างน้อย การกดดันขอให้ไอซีซีเข้ามาตรวจสอบก่อนก็น่าจะเป็นการดีมาก

ข้อสอง รายงานชิ้นนี้ เป็นการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานไว้เสร็จหมดแล้ว หากไอซีซีน็อคด้วยการไม่รับเพราะอ้างว่าไม่มีเขตอำนาจเพราะไทยไม่ราทิฟาย ก็เป็นการผลักลูกบอลกลับไปที่รัฐบาลไทยให้ราทิฟายโดยเร็ว

ข้อสาม ประเด็นสังหารหมู่ถูกโหมกระพือไปทั่วโลก นับเป็นความชาญฉลาดของบ๊อบแท้ๆที่เลือกญี่ปุ่นเป็นที่แถลงข่าว ช่วยไม่ได้ไทยดันไม่ฉลาดไปห้ามเขาเข้าเมืองไทยเอง

สิ่งที่น่าจับตาต่อไป

1  . รัฐบาลไทยและอภิสิทธิ์จะว่าอย่างไร กรณีเขตอำนาจศาลไอซีซีแบบ ratione personae อภิสิทธิ์อาจปฏิเสธว่าตนไม่ได้ถือสัญชาติอังกฤษแล้ว? เพราะผมค่อนข้างมั่นใจว่า กรณีนี้อัมเสตอร์ดัมเขาเก็บความลับได้ดีมาก เพิ่งมาเปิดเอาวันนี้ รัฐบาลไทยคงมึนไปหลายวัน

2 . เอสตาบลิชเม้นท์ไทย จะทำอย่างไร? เงียบ? ล็อบบี้สหรัฐอเมริกา? ล็อบบี้คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ? หรือรัฐประหาร?

ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่
http://www.scribd.com/doc/47833346/Red-Shirts-Application-to-the-International-Criminal-Court-to-Investigate-Crimes-against-Humanity-in-Thailand

ดาวน์โหลดเอ็กเซคิวทีฟ ซัมมารี ได้ที่นี่
http://www.thaiaccountability.org/wp-content/uploads/2010/12/Executive-Summary-Final.pdf

เว็บไซต์ที่ทีมงานของอัมสเตอร์ดัมจัดทำขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ
http://www.thaiaccountability.org/

ดาวน์โหลดคำร้องฉบับภาษาไทย ได้ที่นี่
http://www.scribd.com/doc/47847337/คำร้องเพื่อขอให้มี การสอบสวน-สถานการณ์เกี่ยวกับการกระทำอันเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ-ในราช อาณาจักรไทย

หรืออ่านได้ที่
http://robertamsterdam.com/thai/

ที่มา : มติชนออนไลน์ 31 มกราคม 2554



ตุลาการภิวัตน์กับการบิดเบือนการใช้อำนาจตุลาการ

ตุลาการภิวัตน์ในความหมายที่ให้ศาลแผ่ขยาย บทบาทมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๔๙ ผู้ที่นำเสนอความคิดนี้ได้พยายามนำเอาหลักการตรวจสอบการใช้อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหารโดยองค์กรตุลาการอันเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งของการปกครองในนิติรัฐ มาอธิบายสนับสนุนบทบาทของศาลในการตัดสินคดีสำคัญๆ ซึ่งกระทบกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อันที่จริงแล้ว การที่องค์กรตุลาการทบทวนตรวจสอบการใช้อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารโดย เกณฑ์ในทาง “กฎหมาย” โดยตระหนักรู้ถึงขอบเขตแห่งอำนาจของตน ตระหนักรู้ถึงภารกิจและความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยของตนย่อมไม่ใช่เรื่อง ประหลาด การตีความกฎหมายไปในทางสร้างสรรค์ สนับสนุนสิทธิเสรีภาพของราษฎร การตีความกฎหมายให้คุณค่าต่าง ๆ ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญอันเป็นรากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยปรากฏขึ้น เป็นจริงย่อมเป็นสิ่งที่วิญญูชนได้แต่สนับสนุน

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสิ่งที่เรียกว่า ตุลาการภิวัตน์ (หรือที่บางท่านเรียกว่า ตลก.ภิวัตน์) ในประเทศไทยก็คือ…

การตัดสินคดีหลายคดีในช่วงระยะเวลานับ ตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เรื่อยมาจนกระทั่งหลังการรัฐประหาร ต่อเนื่องมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน เป็นการตัดสินคดีที่องค์กรตุลาการ (ผู้พิพากษา ตุลาการ) เข้าทบทวนตรวจสอบการใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรือตรวจสอบบรรดาบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในทางการเมืองโดยสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ ที่ถูกต้องเป็นธรรมจริงหรือไม่  การกล่าวอ้างสิ่งที่เรียกว่าตุลาการภิวัตน์ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการให้คุณค่า ในถ้อยคำดังกล่าวด้วยว่าเป็นสิ่งที่ดี หรือเป็นตัวแทนของคุณธรรมความดีงามทั้งปวง (ดังที่ภิกษุบางรูปเปรียบเทียบตุลาการภิวัตน์ว่าคือธรรมาธิปไตย) ในที่สุดแล้วจะมีผลเป็นการปิดปากผู้คนไม่ให้ตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์การใช้ อำนาจตุลาการซึ่งแสดงออกในคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยของศาลหรือไม่ ผู้ที่เสนอหรือสนับสนุนกระแสความคิดเรื่องตุลาการภิวัตน์ในบริบทของการ ต่อสู้ทางการเมืองที่มีขอบข่ายกว้างขวาง ครอบคลุมไปในทุกอณูของสังคมดังที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในประเทศไทยในขณะนี้แน่ ใจได้อย่างไรว่าการเรียกร้องให้ศาลขยายบทบาทออกไปเพื่อตอบสนองความต้องการ ทางการเมืองของตนนั้นจะไม่ทำให้ศาลใช้โอกาสนี้ปลดปล่อยตัวเองให้พ้นจากความ ผูกพันต่อกฎหมายและความยุติธรรมไปด้วย  และในที่สุดแล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่าตุลาการภิวัตน์ไม่ใช่เสื้อคลุมที่สวม ทับการบิดเบือนการใช้อำนาจตุลาการเพื่อประโยชน์ทางการเมือง

ในระบบกฎหมายไทย ประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติความผิดฐานบิดเบือนหรือบิดผันการใช้อำนาจ ตุลาการ (ตลอดจนความผิดฐานบิดเบือนกฎหมาย) เอาไว้ การบิดเบือนหรือการบิดผันการใช้อำนาจตุลาการ คือ การที่ผู้พิพากษาหรือตุลาการใช้หรือตีความกฎหมายไปในทางที่ผิดโดยเจตนา พิพากษาคดีไปในทางให้ประโยชน์แก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือให้ร้ายแก่คู่ ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การใช้หรือการตีความกฎหมายไปทางที่ผิดอย่างประสงค์จงใจดังกล่าวถือว่าเป็น อาชญากรรมอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตามพึงเข้าใจว่าการที่ผู้พิพากษาหรือตุลาการใช้หรือตีความกฎหมาย อย่างไม่ถูกต้องหรือยากที่คล้อยตามได้ยังไม่พอที่จะถือว่าผู้พิพากษาหรือ ตุลาการผู้นั้นบิดเบือนกฎหมาย มิฉะนั้นแล้วย่อมจะกระทบกับความเป็นอิสระของตุลาการ และอาจจะทำให้เกิดการฟ้องร้องผู้พิพากษาหรือตุลาการโดยง่ายอันจะทำให้ในที่ สุดแล้ว บรรดาคดีความต่าง ๆ จะหาจุดสิ้นสุดไม่ได้

การวินิจฉัยว่าผู้พิพากษาหรือตุลาการใช้อำนาจ ตุลาการอย่างบิดเบือนในทางที่เป็นประโยชน์หรือเป็นผลร้ายแก่คู่ความฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก แต่อย่างใดก็ตามการพิเคราะห์ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ตลอดจนเหตุผลที่ปรากฏในคำพิพากษาก็สามารถทำให้เรารู้ได้ว่าผู้พิพากษาหรือ ตุลาการผู้นั้นบิดเบือนกฎหมายหรือใช้อำนาจตุลาการอย่างบิดเบือนหรือไม่ กรณีที่ปรากฏในต่างประเทศ เช่น ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาเพื่อ ประโยชน์แก่บุตรสาวของตนทั้ง ๆ ที่คดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองและผู้พิพากษาผู้นั้นไม่สามารถ ตัดสินคดีได้ เนื่องจากถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดี

ในทรรศนะของผู้เขียน การบิดเบือนการใช้อำนาจตุลาการอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผู้พิพากษาหรือ ตุลาการถูกสั่งการให้พิจารณาพิพากษาคดีไปทางใดทางหนึ่ง และผู้พิพากษาหรือตุลาการยอมดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีไปตามนั้น ทั้ง ๆ ที่การปรับบทกฎหมายหรือการตีความกฎหมายเช่นนั้นเห็นได้ชัดว่าผิดพลาดอย่าง ชัดแจ้ง หรือผู้พิพากษาตุลาการมีอคติ เกิดความเกลียดชังคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งอคติหรือความเกลียดชังดังกล่าวอาจเป็นมาจากอิทธิพลหรือกระแสความรู้สึก นึกคิดของคนในสังคม หรืออิทธิพลจากสื่อมวลชนก็ได้  ภายใต้อิทธิพลหรือกระแสดังกล่าวดังกล่าวนั้น ผู้พิพากษาหรือตุลาการจึงดำเนินกระบวนพิจารณาโดยคัดเลือกเฉพาะข้อเท็จจริง หรือพยานหลักฐานที่สอดคล้องกับผลของคดีที่ตนต้องการเข้าสู่การพิจารณา ตัดข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานตลอดจนพยานบุคคลที่จะทำให้เห็นความจริงของคดี ออกไปโดยอำเภอใจ และในที่สุดแล้วจึงพิพากษาคดีไปตามที่ตนต้องการนั้น

ปัญหาหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นอยู่เสมอในการ วินิจฉัยว่าผู้พิพากษาหรือตุลาการบิดเบือนการใช้อำนาจตุลาการหรือไม่ ก็คือกรณีที่การดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาคดีนั้นกระทำในรูปขององค์คณะ และปรากฏว่าผู้พิพากษาหรือตุลาการบางท่านในองค์คณะนั้นได้ออกเสียงไปในทาง คัดค้านผู้พิพากษาหรือตุลาการฝ่ายข้างมากที่บิดเบือนกฎหมายหรือบิดเบือนการ ใช้อำนาจตุลาการ แต่ในที่สุดแล้วก็ร่วมลงชื่อในคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยนั้นด้วย ในกรณีเช่นนี้จะถือว่าผู้พิพากษาหรือตุลาการผู้นั้นบิดเบือนการใช้อำนาจ ตุลาการด้วยหรือไม่ เรื่องนี้มีความเห็นในทางตำราแตกต่างกันออกเป็นสองแนว แนวแรกเห็นว่าผู้พิพากษาหรือตุลาการที่ออกเสียงคัดค้านผู้พิพากษาหรือ ตุลาการฝ่ายข้างมากที่บิดเบือนกฎหมายหรือบิดเบือนการใช้อำนาจตุลาการไม่มี ความผิดฐานบิดเบือนกฎหมายและไม่ถือว่าเป็นผู้สนับสนุน ถึงแม้ว่าจะร่วมลงชื่อเป็นองค์คณะด้วยก็ตาม เพราะได้ออกเสียงคัดค้านไปแล้ว อีกแนวหนึ่งเห็นว่าผู้พิพากษาหรือตุลาการฝ่ายข้างน้อยดังกล่าวกระทำความผิด ฐานเป็นผู้สนับสนุนการบิดเบือนกฎหมาย แม้ว่าจะออกเสียงคัดค้านฝ่ายข้างมากไว้ก็ตาม เนื่องจากหากผู้พิพากษาหรือตุลาการฝ่ายข้างน้อยไม่ร่วมลงชื่อในคำพิพากษา หรือคำวินิจฉัยด้วยแล้ว คำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยที่บิดเบือนกฎหมายย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ผู้เขียนเห็นด้วยกับความเห็นหลัง เพราะผู้พิพากษาหรือตุลาการในองค์คณะที่เห็นการบิดเบือนกฎหมายหรือบิดเบือน การใช้อำนาจตุลาการซึ่งเป็นการกระทำความผิด ย่อมต้องมีหน้าที่ต้องปฏิเสธการกระทำความผิดนั้น (ส่วนประเด็นที่ว่าผู้พิพากษาตุลาการฝ่ายข้างน้อยดังกล่าวสมควรถูกลงโทษหรือ ไม่ เป็นอีกประเด็นหนึ่ง) อย่างไรก็ตามความผิดฐานนี้ไม่ได้รับการบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาของไทย และหากจะมีการบัญญัติเรื่องดังกล่าวขึ้นในอนาคต ก็ควรที่จะบัญญัติประเด็นที่กล่าวถึงนี้เสียให้ชัดเจน

ควรตั้งไว้เป็นข้อสังเกตด้วยว่าการป้องกันไม่ ให้ผู้พิพากษาตุลาการบิดเบือนการใช้อำนาจตุลาการนั้น ไม่ได้อยู่ที่การกำหนดความผิดฐานดังกล่าวไว้ แต่อยู่ที่การจัดการปลูกฝังอุดมการณ์ประชาธิปไตยและการจัดโครงสร้าง องค์กรตุลาการที่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐและหลักประชาธิปไตยเป็นสำคัญ การกำหนดความผิดฐานดังกล่าวย่อมจะไร้ประโยชน์ หากผู้พิพากษาตุลาการไม่ได้รับการปลูกฝังกล่อมเกลาให้เห็นในคุณค่าของการ ปกครองในระบอบประชาธิปไตย หากยังปรากฏว่าการจ่ายสำนวนเข้าองค์คณะนั้น ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนแน่นอนซึ่งกำหนดไว้ล่วงหน้า หากปรากฏว่ากลไกการคัดเลือกผู้พิพากษาตุลาการนั้นยังเป็นระบบปิด ฯลฯ ด้วยเหตุนี้การอภิปรายถึงความชอบธรรมทางประชาธิปไตยขององค์กรตุลาการจึงเป็น ความจำเป็นอย่างยิ่งในเวลานี้

การแสดงออกซึ่งอำนาจตุลาการ ไม่ว่าจะในลักษณะของการเป็นองค์กรคุ้มครองความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐ ธรรมนูญ (ศาลรัฐธรรมนูญ) องค์กรตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองหรือการคุ้มครองสิทธิ ของปัจเจกบุคคลจากการล่วงละเมิดโดยอำนาจปกครอง (ศาลปกครอง) หรือองค์กรวินิจฉัยชี้ขาดคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีอื่น (ศาลยุติธรรม) ผู้พิพากษาหรือตุลาการไม่อาจแสดงออกซึ่งอำนาจตุลาการตามอำเภอใจเพื่อตอบสนอง ข้อเรียกร้องทางการเมืองของกลุ่มผลประโยชน์ทั้งหลายทั้งปวงได้ ไม่ว่ากลุ่มผลประโยชน์นั้นจะยิ่งใหญ่สักเพียงใดก็ตาม การใช้อำนาจตุลาการพิจารณาพิพากษาคดี ผู้พิพากษาตุลาการจะต้องผูกพันตนต่อกฎหมายและความยุติธรรม และต้องสำนึกและตระหนักอยู่เสมอว่าอำนาจตุลาการที่ตนกำลังใช้อยู่นั้น โดยเนื้อแท้แล้วเป็นของประชาชน

หากข้อเสนอที่เรียกว่าตุลาการภิวัตน์ หน้าฉากคือข้อเรียกร้องให้ศาลแผ่ขยายบทบาทเข้าไปแก้ปัญหาทางการเมือง โดยอ้างอิงหลักการจากประเทศที่เป็นนิติรัฐ หลังฉากคือข้อเรียกร้องให้ศาลใช้อำนาจทางกฎหมายเข้าจัดการกับปรปักษ์ทางการ เมืองของตนโดยอ้างหลักกฎหมายจากต่างประเทศอย่างครึ่ง ๆ กลาง ๆ และไม่ได้คำนึงถึงลักษณะโครงสร้างของอำนาจตุลาการของไทยว่ามีพัฒนาการมา อย่างไร ตลอดจนไม่ได้คำนึงถึงโครงข่ายความสัมพันธ์ของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองโดย เฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองในระดับบนแล้ว คำว่า “ตุลาการภิวัตน์” คงมีความหมายเท่ากับ “การบิดเบือนการใช้อำนาจตุลาการ” ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายถือว่าเป็นความผิดอาญาเท่านั้น

ที่มา : เว็บไซต์นิติราษฎร์
โดย : วรเจตน์ ภาคีรัตน์