สกัดไม่อยู่

เป็นความพยายามอีกครั้งของ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ต้องการลากตัว นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช.เข้าคุกเข้าตะรางให้ได้

ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนการปล่อยตัวชั่วคราวนายจตุพร 1 ในจำเลยคดีก่อการร้าย

ให้เหตุผลว่าทำผิดสัญญาประกันใน 3 เรื่อง

1.     เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน

2.     กระทำความผิดเพิ่มเติมในการก่อเหตุร้าย

3.     กระทำตัวเป็นอุปสรรคขัดขวางการทำหน้าที่ของพนักงานสอบสวนดีเอสไอ

ในข้อสุดท้ายนายธาริตระบุว่านายจตุพรเปิดเผยสำนวนการสอบสวนของดีเอสไอในคดี 6 ศพวัดปทุมฯ และฆ่านักข่าวญี่ปุ่น

กล่าวหาว่าบิดเบือนผลการชันสูตรพลิกศพ ผลสรุปคดีทั้ง 2 คดี ทั้งที่ ดีเอสไอไม่เคยสรุปว่าทหารฆ่าประชาชน!!

ดูจากเหตุผลตรงนี้ก็รู้สึกแปลกใจ เพราะหากนายจตุพรนำเอกสารเท็จมาเปิดเผย หรือไปแก้ไขสำนวนการสอบสวนของดีเอสไอ นายธาริตก็ต้องแจ้งความดำเนินคดีนายจตุพร เพื่อจะได้ไปพิสูจน์กันในชั้นศาลว่าเอกสารที่นายจตุพรกล่าวอ้างนั้นเป็นของปลอม

กลับกันนายจตุพรจะได้มีโอกาสพิสูจน์ตัวเอง ว่าเอกสารที่อ้างว่าคัดลอกมาจากสำนวนการสอบสวนนั้นตรงกับสำนวนจริง

ถึงเวลานั้นจะได้รู้ว่าใครผิดใครถูก

และจะได้รู้ว่า พ.ต. “น.” หัวหน้าชุดที่ปฏิบัติหน้าที่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส ให้การไว้ว่าอย่างไรบ้าง

จ.ส.อ. “ส.” ยิงไปกี่นัด

ส.อ. “ด.” ใช้ปืนเอ็ม 16 เอ 2 หรือเปล่า

ส.อ. “ภ.” ใช้กระสุนปืนพิเศษชนิดหัวสีเขียวหรือไม่

ส.อ. “ช.” ใช้ปืนยิงขึ้นฟ้าไปกี่นัดกันแน่

ตรงกับที่นายจตุพรกล่าวอ้างหรือไม่

ถ้าตรงกัน นายธาริตก็ต้องแจ้งจับนายจตุพรในข้อหานำเอกสารราชการมาเปิดเผย หากไม่ตรงกัน ก็ต้องดำเนินคดีในข้อหาปลอมแปลงเอกสาร

แล้วทั้งหมดนี้ มันเกี่ยวอะไรกับการถอนประกันตัว !?

หรือนายธาริตต้องการแค่สกัดไม่ให้นายจตุพรมีโอกาสเปิดเอกสารลับชุดอื่นๆ อีก

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้นายจตุพรโดนถอนประกัน ต้องระเห็จเข้าเรือนจำ ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของคนเสื้อแดง เพราะยังมีตัวตายตัวแทน

นปช.วางตัวคนเปิดโปงเอกสารลับอีกชุดไว้เรียบร้อยแล้ว

และเมื่อเปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 21 ม.ค. 2554 ถึงเวลานั้น นายจตุพรก็อาจได้เอกสิทธิ์คุ้มครอง อาจได้ออกจากเรือนจำ (ถ้าถูกจับเข้าเรือนจำจริงๆ)

ฉะนั้น ต้องจับตาศึกซักฟอกรัฐบาลในตอนนั้นให้ดี

เอกสารต่างๆ คงทะลักออกมาเป็นกุรุสๆ

และตอนนั้น นายจตุพรก็มีเอกสิทธิ์ส.ส.คุ้มครอง

รับรองเปิดโปง-ตีแผ่กันมันหยดแน่ๆ

ที่มา : ข่าวสด 29 ธันวาคม 2553
คอลัมน์ : เหล็กใน



พะเยาว์ อัคฮาด คนไทยแห่งปี

“ขนาดแค่ลูกเดินหายไปพ้นจากสายตาไม่กี่ก้าว นายอภิสิทธิ์ยังตกใจ แต่ดิฉันต้องสูญเสียลูกสาวไปไม่มีวันได้คืน มันต่างกันหรือไม่ จึงอยากฝากไปถึงนายอภิสิทธิ์ให้คิดถึงหัว อกคนเป็นแม่ที่ต้องสูญเสียลูกไป คิดถึงญาติพี่น้องของ 91 ศพที่ตายไป เขาจะรู้สึกอย่างไร คิดบ้างไหม”


ความรู้สึกของนางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด “น้องเกด” อายุแค่ 25 ปี 1 ในเหยื่อ 6 ศพวัดปทุมวนาราม หลังจากมีรายงานข่าวว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมนางพิมพ์เพ็ญ ภริยา และ น.ส.ปราง เวชชาชีวะ “น้องปราง” บุตรสาว ไปใช้สิทธิเลือกตั้งซ่อมเขต 2 กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา แต่ “น้องปราง” หลบหนีกล้องผู้สื่อข่าวหลังจากใช้สิทธิเลือกตั้งแล้ว ขณะที่นายอภิสิทธิ์อยู่ในวงล้อม ผู้สื่อข่าวแต่สีหน้าตื่นตระหนกเมื่อไม่เห็นบุตรสาวและหันไปถามนางพิมพ์เพ็ญว่า “ลูกล่ะ” ซึ่งตอบว่า “ลูกหายไปไหนไม่รู้”

นายอภิสิทธิ์จึงหันมาพูดเสียงดังลั่นว่า “ลูกสาวผมหาย” ก่อนแหวกวงล้อมออกไปตามหาและพบหน้าบุตรสาวที่ยืนรออยู่ด้านหน้า ก่อนจะถอนหายใจและเปลี่ยนสีหน้าเป็นยิ้มร่าเดินเข้าไปโอบไหล่บุตรสาวขึ้นรถออกไปทันที ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนถึงหัวอกคนเป็นพ่อแม่ที่มีความรักต่อลูก แต่กรณีนางพะเยาว์ไม่ใช่ลูกหาย แต่ถูกยิงอย่างโหดเหี้ยม ทั้งที่ทำหน้าที่เป็นพยาบาลอาสาช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์

7 เดือนยังเงียบเชียบ

แต่กว่า 7 เดือนที่ผ่านมากลับไม่มีความคืบหน้าของคดีเลย นางพะเยาว์จึงต้องต่อสู้ร่วมกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่ง ชาติ (นปช.) และญาติของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” รวมทั้งสิ้น 91 ศพ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม ซึ่งนายอภิสิทธิ์และผู้เกี่ยวข้องในศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้

แม้การต่อสู้จะถูกอิทธิพลต่างๆขัดขวางและข่มขู่ แต่นางพะเยาว์และคนเสื้อแดงก็ไม่เคยหมดหวังกับการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับ 91 ศพ โดยเฉพาะนางพะเยาว์ที่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมทุกวันอาทิตย์ หรือการจัดงานรำลึกวาระต่างๆในเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” รวมทั้งการต่อสู้ทางคดีทั้งในประเทศและศาลอาญาระหว่างประเทศ การให้ข้อมูลกับประชาคมโลกทั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนและสื่อต่างๆ

ต่อสู้จนกว่าได้ความยุติธรรม

“ยกเลิกหรือไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องคดี เรื่องการฆ่าคนอย่างโหดเหี้ยม เพราะยังมี พ.ร.บ.ความมั่นคงมาครอบไว้อยู่ดี เราได้คุยในกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ทุกคนเห็นด้วยที่จะตั้งองค์กรเพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องความยุติธรรมและ ต่อสู้ทางคดีต่อไป เราไม่เคยเชื่อรัฐบาล เพราะวันนี้เขามีอำนาจมากเหลือเกิน เรามองไม่เห็นกลไกอะไรไปต่อสู้เขาได้ แม้แต่กระบวนการยุติธรรมในประเทศ เราจึงจะยื่นหนังสือกับทุกสถานทูตและศาลระหว่างประเทศ”

นางพะเยาว์ให้ความเห็นหลังรัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ไม่เชื่อว่าการสอบสวนและชันสูตร 91 ศพจะคืบหน้า เพราะกว่า 7 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลพยายามปกปิดหรือบิดเบือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ทั้งยังใช้อำนาจขัดขวางและข่มขู่ผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องความ ยุติธรรม แม้แต่นางพะเยาว์เองก็ถูกโทร.มาขู่ให้หยุดความเคลื่อนไหว ไม่เช่นนั้นอาจจะเสี่ยงกับชีวิต

แต่นายณัทพัช อัคฮาด น้องชายของ “น้องเกด” ได้ตอบกลับผู้โทรศัพท์มาขู่ว่า ถ้าเป็นลูกหรือญาติพี่น้องของคนโทรศัพท์เข้ามาจะอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรเลยหรือไม่ แต่ไม่มีเสียงตอบ จึงยืนยันไปว่าจะไม่หยุดและไม่กลัว แต่จะเคลื่อนไหวหนักและมากกว่าเดิมอีก

สภาพศพ “น้องเกด”

ที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวของนางพะเยาว์จึงมีความสำคัญยิ่งกับการเรียกร้อง ความยุติธรรม เพราะการสังหารโหด 6 ศพในวัดปทุมวนารามเป็นข่าวที่สร้างความ สะเทือนใจคนไทยอย่างยิ่ง เพราะอยู่ในเขตวัดและประกาศเป็นเขตอภัยทานแล้ว โดยเฉพาะการชันสูตรพลิกศพ “น้องเกด” ของสถาบันนิติเวชวิทยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อต้นเดือนมิถุนายน พบว่ามีบาดแผลยิงทะลุผิวหนังมากถึง 10 แห่ง โดยบาดแผลที่ 1 กระสุนยิงที่หลังผ่านขึ้นด้านบน ผ่านแนวลำคอหลังทะลุผ่านกะโหลกศีรษะซีกซ้าย ทะลุสมองน้อยและสมองใหญ่ พบชิ้นส่วนโลหะคล้ายหัวกระสุนหุ้มทองแดง 1 ชิ้นค้างที่กะโหลกด้านขวา ทิศทางจากล่างขึ้นบน หลังไปหน้า ขวาไปซ้ายเล็กน้อย ลักษณะหมอบลงกับพื้น หน้าหันลงพื้นดิน บาดแผลที่ 2-4 ถูกยิงเข้าบริเวณอก บาดแผลที่ 5-10 ถูกยิงบริเวณแขนและขา ลักษณะถูกระดมยิง

สาเหตุการตาย กระสุนทะลุหลังเข้าไปทำลายสมอง แม้แพทย์ผู้ตรวจไม่สามารถระบุได้ว่าถูกยิงจากบนลงล่างหรือไม่ แต่จากการสันนิษฐานเชื่อว่า “น้องเกด” หลบหน้าแนบพื้นก่อนถูกระดมยิงจากด้านหลัง ซึ่งการตรวจสอบที่แน่ชัดต้องมีพยานที่อยู่ในที่เกิดเหตุมาประกอบด้วย เพราะการจำลองใช้เลเซอร์มาวางแนว วิถีกระสุนทำไม่ได้ เนื่องจากหัวกระสุนไปถูกกระดูกและกระดอนไปมา ทำให้ร่างกายเสียหายมากจนไม่สามารถจำลองแนวการยิงได้อย่างแน่ชัด

ส่วนรายละเอียดผลการชันสูตรอีก 5 ศพก็โหดเหี้ยมไม่แตกต่างกันนักคือ นายรพ สุขสถิตย์ อายุ 66 ปี นายอัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี นายมงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี นายสุวัน ศรีรักษา อายุ 31 ปี และนายอัครเดช ขันแก้ว อายุ 22 ปี (ผู้ช่วยพยาบาลอาสา) ทั้งหมดถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูงและมีบาดแผลทำลายจุดสำคัญของร่างกายจน เสียชีวิต

หลักฐานทหารยิง?

ยิ่งล่าสุดที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย แกนนำ นปช. อ้างบันทึกการสอบสวนและการชันสูตรศพของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ใน 4 เหตุการณ์คือ 1.การตายของประชาชนในวัดปทุมวนาราม 2.การตายของนายฮิโรยูกิ มูราโมโต ช่างภาพชาวญี่ปุ่นประจำสำนักข่าวรอยเตอร์ 3.การตายของเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ดุสิต 4.การตายของพลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ ว่าเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติการเกี่ยวข้อง ซึ่ง รายงานการตรวจพิสูจน์ของกองพิสูจน์หลักฐานกลางพบกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) หัวกระสุนสีเขียวเช่นเดียวกันเกือบทุกศพ โดยเฉพาะ 6 ศพในวัดปทุมวนาราม มีทั้งหลักฐานภาพถ่าย พยานบุคคลหลาย สิบปาก และคำสารภาพของเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติการเองว่าได้ใช้อาวุธปืนยิงเข้ามา ในบริเวณวัด รวมทั้งยิงเข้าไปในเต็นท์พยาบาลขณะที่ยุติการชุมนุมแล้ว

ข้อมูลดังกล่าวตรงข้ามกับที่นายนายอภิสิทธิ์และดีเอสไอเคยชี้แจงในการ อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่าผลการชันสูตรศพผู้เสียชีวิต 4 ใน 6 รายในวัดปทุมวนารามเกิดจากวิถีกระสุนแนวราบ ทั้งยังยืนยันคำพูดของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการ ศอฉ. ในขณะนั้นว่าไม่มีกำลังทหารอยู่บริเวณรางรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสยามสแควร์ ซึ่งขัดแย้งกับหลักฐานที่ดีเอสไอตรวจพบปลอกกระสุนปืน

“น้องเกด” ไม่ตายฟรี

นางพะเยาว์จึงยืนยันว่าจะเดินหน้าค้นหาความจริงให้ปรากฏ ไม่ว่าหน่วยงานไหนจะเกรงกลัวอิทธิพลของรัฐบาลก็จะเสนอความจริงให้ปรากฏให้จงได้ ไม่ว่ารัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหน ต้องมีสักรัฐบาลที่ค้นหาความจริงให้ปรากฏ น้องเกดจะไม่ตายฟรีหรือเปล่าประโยชน์ เพราะยังมีแม่และเพื่อนร่วมงานที่พร้อมจะต่อสู้จนกว่าจะได้ตัวผู้กระทำความผิดยิงประชาชนและคนสั่งการมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม

ขณะเดียวกันครอบครัว “น้องเกด” ยังเตรียมสร้างหุ่นขี้ผึ้งรูป “น้องเกด” สูงเท่าตัวจริง เพื่อนำไปตั้งบริเวณที่น้องเกดเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม ซึ่งยังไม่ทราบว่าต้องใช้ค่าใช้จ่ายเท่าใด แต่หากใครต้องการร่วมทำบุญบริจาคก็ยินดี เมื่อสร้างหุ่นขี้ผึ้งเสร็จแล้วจะไปพบนายอภิสิทธิ์เพื่อขออนุญาตตั้งหุ่นขี้ ผึ้งน้องเกดภายในวัด สาเหตุที่ไปพบนายกฯเนื่องจากเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด

ตั้งองค์กรญาติผู้เสียชีวิตกดดัน

นอกจากนางพะเยาว์จะประกาศรวบรวม 5,000-10,000 รายชื่อ เพื่อยื่นให้สำนักนายกรัฐมนตรีปลดนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ออกจากตำแหน่งแล้ว ยังจะจัดตั้งองค์กรญาติผู้เสียชีวิตเป็นองค์กรที่อิสระ เคลื่อนไหวเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บอย่างเป็นทางการประมาณต้นเดือนมกราคม 2554 ซึ่งได้ติดต่อญาติของนายฮิโรยูกิและญาติของนายฟาบิโอ โปเลนกี ช่างภาพอิสระชาวอิตาลีที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม มาร่วมกันเคลื่อนไหวด้วย จากนั้นจะเดินสายชี้แจงข้อเท็จจริงไปตามสถานทูตต่างๆ และเคลื่อนไหวกดดันให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ออกมารับผิดชอบต่อการใช้ความรุนแรง กับประชาชน

“คดี 91 ศพนี้นายธาริตก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ ศอฉ. และร่วมเซ็นลงนามในการสั่งฆ่าประชาชนเช่นกัน เมื่อโอนคดีเข้ามาอยู่ในดีเอสไอ การสืบสวนสอบสวนต่างๆ ผลประโยชน์ก็ตกอยู่กับฝ่ายรัฐบาลอย่างเดียว ไม่ใช่ตกอยู่ที่ประชาชน เท่ากับว่าทั้ง 91 ศพตายฟรี และ คนที่ร่วมกระทำผิดแต่กลับมาสืบสวนคดีเป็นเรื่องตลก”

แม้แต่นิตยสารไทม์ยังจัดให้การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงติดอันดับ 10 ข่าวใหญ่ของโลก ส่วนนายเดวิด เชลสซิงเกอร์ หัวหน้ากองบรรณาธิการสำนักข่าวรอยเตอร์ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลแถลงผลการสอบสวน ฉบับเต็มในกรณีของนายฮิโรยูกิว่าโศกนาฏกรรมครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และใครเป็นผู้รับผิดชอบที่แท้จริง เพราะทางการไทยตกเป็นหนี้ครอบครัวของนายฮิโรยูกิ

ฆาตกรรมโหดแห่งปี

เหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” จึงตอกย้ำว่าเป็น “การฆาตกรรมโหดแห่งปี” และยังประจานการใช้อำนาจรัฐไทยและกลุ่มอำนาจนอกระบบว่าไม่ต่างกับ “รัฐทหาร” อย่างที่องค์การสิทธิมนุษยชนเอเชียระบุ การละเมิดสิทธิมนุษยชนจึงเกิดขึ้นอย่างหน้าตาเฉยโดยผู้มีอำนาจและกองทัพไม่ รู้สึกผิดแปลกอะไร ทั้งที่ประเทศไทยเป็นประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แต่กลับถูกประชาคมโลกประณามว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

ทำให้ประชาคมตั้งคำถามกับสหประชาชาติว่าทำไมจึงไม่มีการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และในปี 2554 ประเทศไทยจะส่งรายงานเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างไร ขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆและกลุ่มภาคประชาชนได้ทำรายงานว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทยอย่างชัดเจน รวมทั้งการฟ้องศาลอาญาระหว่างประเทศการสังหารโหด 91 ศพ

แม้รัฐบาลและกองทัพจะพยายามบิดเบือนและโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ แต่ในที่สุด “ความจริง” ก็ต้องปรากฏมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่ใช่แค่นางพะเยาว์และคนเสื้อแดงที่ประกาศเอาชีวิตเข้าแลกเท่านั้น องค์กรสิทธิมนุษยชนทั่วโลกย่อมไม่ปล่อยให้เรื่องนี้หายไปโดยไม่มีผู้กระทำ ผิดมารับผิดชอบ โดยเฉพาะการฆ่าโหดในเขตอภัยทานกลางกรุงเทพฯ

คนไทยแห่งปีของ “โลกวันนี้”

นางพะเยาว์ อัคฮาด จึงเปรียบเสมือน “แกนนำภาคประชาชนผู้บริสุทธิ์” หรือสัญลักษณ์ของผู้เสียชีวิต ไปโดยปริยาย ทีมข่าว “โลกวันนี้” จึงมีมติยกย่องให้ “นางพะเยาว์ อัคฮาด” มารดาของ “น้องเกด” เป็น “คนไทยแห่งปี” ของประเทศไทยในพุทธศักราชนี้

ในวาระเดียวกัน ทีมข่าว “โลกวันนี้” ยังมีมติยก ย่อง “จูเลียน พอล แอสแซงจ์” ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ “วิกิลีกส์” เป็น “บุคคลแห่งปี” ของโลก ที่ทำให้รัฐบาลและ องค์กรต่างๆทั่วโลกต้องหวาดผวากับเอกสารและข้อมูลลับที่จะถูกแฉพฤติกรรมและ นโยบายฉาวต่างๆที่คนทั่วโลกแทบไม่มีใครเชื่อว่าจะเกิดขึ้น

ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย “วิกิลีกส์” ก็ทำให้ผู้มีอำนาจและผู้อาวุโสหลายคนต้องหัวหดและปิดปากสนิท ไม่ว่าจะเป็นกรณี “วิคเตอร์ บูท” หรือรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่สื่อและคนไทยทั้งแผ่นดินมีสภาพเหมือน “น้ำท่วมปาก” พูดอะไรไม่ได้ ขณะที่รัฐบาลไทยก็ใช้อำนาจ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปิดกั้นเว็บไซต์ www.wikileaks.org ในประเทศไทย โดยอ้างความมั่นคง แต่ทั่วโลกกลับประณามว่าใช้อำนาจเยี่ยงรัฐบาลเผด็จการหรือ “รัฐทหาร” (อ่านบทความประกอบ “จับกระแสการเมือง” หน้า 8 )

ด้วยเลือดและน้ำตา…หัวอกของคนเป็น “แม่”… “พะเยาว์ อัคฮาด”…มารดาของ “น้องเกด”

เธอคือ “คนไทยแห่งปี” โดยทีมข่าว “โลกวันนี้” และเชื่อว่าเธอคือ “บุคคลแห่งปี” ที่กำลังสะท้อนสะเทือน อารมณ์ของหัวอกคน เป็น “พ่อ-แม่” ที่ผู้ที่ มีจิตใจปรกติ… หาใช่ “ผีห่าซาตาน” ที่ไหน ก็มิอาจปฏิเสธได้!

*********************

ลูกฉันตาย ในครอบครัวฉัน..

เหลืออยู่ 4 ชีวิต คุณจะฆ่าฉันก็เอา!

“รู้สึกช็อกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะส่วนหนึ่งเวลาที่น้องเกดเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มผู้ชุมนุมเพราะเห็นว่ามี เด็กและคนแก่จำนวนมาก เขาจึงอยากเข้าไปช่วยเหลือ โดยขอแม่ไป ซึ่งฉันก็อนุญาต เราก็เข้าใจ ไม่ห้ามอะไร เพราะคิดว่าเขาโตแล้วและมีความคิดในสิ่งที่ดี และเขาก็เอาเงินเดือนของตัวเองไปอยู่ตรงนั้นหมด เขาพูดเสมอว่าเขาจะไม่เป็นอะไร เพราะเชื่อว่าทหารจะยกเว้นตรงนี้ เขาจะต้องปลอดภัย เราก็เชื่อในคำพูดตรงนั้น จนมารู้ในวันที่น้องเกดเสีย เรามีความรู้สึกว่าตอนนั้นเรายังตั้งตัวไม่ได้ คิดอยู่ตลอดเวลาว่าทำไมลูกเราต้องมาตาย ตอนนั้นใครๆก็ไม่กล้าพูดว่าใครเป็นคนยิง โดยเฉพาะไม่มีใครกล้าพูดว่าทหารยิง แต่เราก็มั่นใจว่าคนที่ยิงไม่มีใครนอกจากทหาร”

นางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด หรือน้องเกด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนารามในเหตุการณ์สลายการชุมนุมคน เสื้อแดงเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 กล่าวถึงความรู้สึกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อนจะถามนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ว่าขนาด 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความรุนแรงอย่างมากรัฐบาลยังไม่กล้าเรียกเป็น “ผู้ก่อการร้าย” แต่กลับกล่าวหาคนเสื้อแดงว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย” แล้วยังบอกว่าโจรยิงหรือผู้ก่อการร้ายยิงอีก

“บอกตรงๆว่า ณ เวลานั้นหมดศรัทธานายอภิสิทธิ์ ฉันไม่ได้เรียกนายกรัฐมนตรี ไม่เคยเรียก เพราะถือว่าฉันไม่ได้เลือกมาเป็นนายกรัฐมนตรี ฉันก็เรียกนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ เวลานี้ฉันมองว่าพวกเขาไม่สมควรอยู่ในตำแหน่งในรัฐบาลนี้แล้ว เพราะคุณสั่งฆ่าประชาชนได้โดยไม่นึกถึงว่านี่คือคนไทยเหมือนกัน และทหารที่ลั่นไกส่วนหนึ่งเขาทำตามคำสั่ง นายสั่งมา เขาต้องยิง”

นางพะเยาว์ยืนยันว่าออกมาต่อสู้เพื่อหาคนผิดและเรียกร้องความยุติธรรม

“เราลุกขึ้นมาสู้โดยไม่เกรงกลัวว่าคุณจะเป็นใคร คุณกับฉันก็มนุษย์เดินดิน แม้กระทั่งนายอภิสิทธิ์ ฉันก็บอกไปว่าคุณไปเลือกตั้ง คุณไปพร้อมครอบครัว ลูกคุณหายละไปจากสายตาคุณยังกระวนกระวาย แต่ลูกฉันตายไปจากชีวิตฉัน ทำไมไม่ถามว่าฉันรู้สึกอย่างไร”

นางพะเยาว์ย้ำว่า ไม่คาดหวังกับกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย เพราะกลไกในประเทศตอนนี้มันนิ่ง ต่อให้ทำถูกกฎหมายทุกอย่างก็ผิดอยู่ดี วันนี้จึงต้องเดินหน้าอย่างเดียวคือการจัดตั้งองค์กรของญาติผู้เสียชีวิตจาก การสลายการชุมนุม ไปขอความช่วยเหลือและชี้แจงต่อนานาประเทศ

“เขาฆ่าคน เขายังอยู่ได้ หน้าตายิ้มแย้ม มีความสุข จึงต้องเรียกร้องตรงนี้ เพราะสิทธิมนุษยชนของไทยเราเรียกร้องไม่ได้ เขานิ่งเงียบเป็นเป่าสาก แต่พอจิ๊บ ไผ่เขียว โดนวิสามัญฆาตกรรม ออกมาใหญ่เลย ขอถามว่า 91 ศพมันต่างกันอย่างไร แสดงว่ากลไกภายในประเทศใช้ไม่ได้…ขณะนี้พวกเราต้องช่วยกันเอง เราจะนิ่งไม่ได้ ถ้าเรานิ่ง รัฐบาลยิ่งชอบเลย ตายฟรี ฉันคิดว่าประเทศไทยอยู่ในรัฐเผด็จการทหาร แต่ฉันไม่ได้ เกรงกลัวอำนาจของเขาถึงต้องลุกขึ้นมาสู้ ลูกฉันตาย ในครอบครัวฉันเหลืออยู่ 4 ชีวิต คุณจะฆ่าฉันก็เอา”

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6  ฉบับ 291 วันที่ 25-31 ธันวาคม พ.ศ. 2553 หน้า 16-17 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน


ใครเผา? ใครยิง? ความจริง.. กำลังไล่ล่า…

ใครเผา?…

ภาพที่แพร่สะพัดในเฟซ บุ๊คนับร้อยภาพที่ระบุว่าเป็นบันทึกเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 2553 เพื่อยืนยันว่าเจ้าหน้าที่เข้าคุมสถานการณ์ในห้างเซ็นทรัลเวิลด์ไว้ได้ก่อนจะมีการเผาห้าง โดยก่อนหน้านี้นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็อ้างว่ามีหลักฐานเป็นภาพถ่ายว่าทหารได้ยิงไล่เจ้า ของร้านค้า พนักงาน และยามรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ที่อยู่ภายในห้างให้ออกจากพื้นที่ทั้งหมดก่อนเกิดเหตุเพลิงไหม้

ทหารแค่ถือปืน

แม้ภาพในเฟซบุ๊คไม่สามารถยืนยันว่าเป็นภาพชุดเดียวกันกับที่นายจตุพรอ้างถึงหรือไม่ แต่ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ก็ออกมาปฏิเสธ และชี้แจงว่าภาพทหารที่อยู่ในเหตุการณ์ก่อนเกิดเหตุเผาห้าง เซ็นทรัลเวิลด์ไม่ใช่ภาพใหม่ แต่อาจนำเสนอภาพถ่ายจากอีกมุมหนึ่งมาเผยแพร่ ซึ่งที่ผ่านมามีการนำเสนอหลายครั้งแล้ว และ ศอฉ. ได้ชี้แจงการทำงานของเจ้าหน้าที่ไปแล้วว่าทำอะไร อยู่ที่ไหน ใช้อาวุธลักษณะอย่างไร จึงไม่ต้องตรวจสอบอะไรอีก ส่วนการโพสต์รูปดังกล่าวคงไม่ถือว่าผิดกฎหมาย และเชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบต่อ ศอฉ.

ส่วนภาพที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่ไล่ยิงคนภายในห้างจนบาดเจ็บนั้น พ.อ.สรรเสริญชี้แจงว่า เท่าที่ดูจากภาพไม่พบว่าเจ้าหน้าที่ไล่ยิงอย่างที่เป็นข่าว มีเพียงเจ้าหน้าที่ยืนถือปืนเท่านั้น ซึ่ง ศอฉ. ไม่ปฏิเสธว่าทหารถืออาวุธปฏิบัติภารกิจอยู่ในช่วงนั้น

ทหารคุมห้างก่อนถูกเผา

อย่างไรก็ตาม นายจตุพรได้นำ 4 รปภ. ที่อยู่ภาย ในห้างเซ็นทรัลเวิลด์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมคือ นายเอ (นามสมมุติ) นายเวียน (นามสมมุติ) นายเทียน (นามสมมุติ) และนายพง (นามสมมุติ) มาแถลงยืนยันว่าถูกทหารคุมตัวออกจากห้างก่อนถูกเผา ซึ่งห้างได้จ้างบริษัทรักษาความปลอดภัย 2 แห่งดูแลพื้นที่คือ บริษัท อาร์ทีเอสการ์ด จำกัด ดูแลพื้นที่ด้านนอก ลานจอดรถ และรอบห้างทั้งหมด กับบริษัท จีโฟร์เอส การ์ด จำกัด ดูแลเฉพาะส่วนภายในอาคารทั้งหมด

รปภ. ทั้ง 4 คนระบุสอดคล้องกันว่า ในช่วงเช้าไม่มีเหตุการณ์รุนแรงอะไร แต่หลังจากเวลา 13.00 น. มีเสียงปืนและเสียงระเบิดดังขึ้นเป็นระยะๆ จึงมีคำสั่งให้ รปภ. รอบบริเวณห้างทั้งหมดลงไปอยู่ด้านล่างเพื่อความปลอดภัย โดยปิดล็อกประตูทางเข้าออกห้างทั้งหมด จนเวลา 16.30 น. มีกลุ่มทหารพร้อมอาวุธปืนบุกเข้ามาเคลียร์ในพื้นที่ห้าง สั่งให้นอนหมอบกับพื้น และให้ รปภ. ทุกคนติดบัตรก่อนปล่อยตัวออกไปจากพื้นที่

สตช. ดึงคดีเอาใจรัฐบาล

แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือบันทึกการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนเพิ่มเติมกรณีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมระหว่างวันที่ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งรัฐบาลและกองทัพปฏิเสธมาตลอดว่าไม่ได้ทำร้ายประชาชนและปฏิเสธความรับผิดชอบต่อผู้สูญเสียชีวิต โดยเฉพาะ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก ที่ท้าว่าถ้ามีหลักฐานว่าทหารทำ ร้ายประชาชนก็จะรับผิดชอบนั้น

นายจตุพรระบุว่า ได้รับข้อมูลจากนายตำรวจแตงโมที่รักความเป็นธรรม และทนไม่ได้ที่นายตำรวจใหญ่ระดับนายพลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่รับผิดชอบสำนวนการสืบสวนสอบสวนจากดีเอสไอ เข้าข้างรัฐบาลและกองทัพเพื่อ หวังความก้าวหน้าในชีวิตราชการ ดึงการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพให้ล่าช้า ซึ่ง สตช. ได้รับสำนวนจากดีเอสไอตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 แต่ยังไม่เชิญพนักงานอัยการเข้าร่วมตามที่กฎหมายกำหนด และมีข่าวว่าจะส่งเรื่องกลับมาดีเอสไอใหม่ แทนที่จะส่งเรื่องให้ศาลไต่สวนถึงสาเหตุการตายและผู้ที่ทำให้ตายตามที่กฎหมายกำหนด

ถ้าดึงเรื่องจะทยอยเปิด

นายจตุพรเตือน สตช. ว่าหากยังดึงเรื่องอีกจะทยอยเปิดเผยความจริงถึงสาเหตุการตายในอีกหลายๆ เรื่อง โดยยืนยันว่า ดีเอสไอรู้กระทั่งว่าเจ้าหน้าที่หน่วยใดและนายใดได้รับคำสั่งให้สลายการชุมนุมในพื้นใด ใช้อาวุธประเภทใด ขนาดกระสุนเป็นอย่างไร ซึ่งฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ยอมรับว่าเป็นผู้ใช้อาวุธประจำกายในวันเกิดเหตุจริง มีการเก็บหลักฐานปลอกกระสุนปืน หัวกระสุนปืน รวมทั้งเศษกระสุนปืนในตัวผู้ตายที่เจ้าหน้าที่เบิกจากหน่วยมาใช้คือ หัวกระสุนสีเขียว ซึ่งไม่มีใครใช้กระสุนเช่นนี้ พยานบุคคลที่สอบสวนก็ยืนยันว่าเห็นเจ้าหน้าที่เป็นผู้ยิง แต่เมื่อมีความพยายามถ่วงเวลาจึงขอเปิดเผยข้อมูลบางส่วนที่ได้มา 4 กรณีคือ 1.การตายของประชาชนในวัดปทุมวนารามฯ 2.การตาย ของผู้สื่อข่าวญี่ปุ่น 3.การตายของเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ ดุสิต 4.การตายของพลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ

จนท. ชุดปฏิบัติการวัดปทุมฯ

แม้ข้อมูลของนายจตุพรไม่ได้นำฉบับเต็มมาเปิดเผย แต่ได้สรุปจากสำนวนการสอบสวนของดีเอสไอ ซึ่งนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ก็ยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนสอบสวนจริง แต่เป็นเพียงบางส่วนในสำนวนเท่านั้น ซึ่งดีเอสไอก็ทำงานอย่างตรงไปตรงมาตามหลักฐาน แต่ถ้าทางทหารจะโกรธเคืองก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร โดยข้อมูลของผู้เสียชีวิตที่วัดปทุมฯระบุว่าเสียชีวิตวันที่ 19 พฤษภาคม เวลาประมาณ 18.30 น. บริเวณวัดปทุมฯ ถนนพระราม 1 สาเหตุการตายถูกยิงด้วยอาวุธปืนความเร็วสูง โดยเวลาประมาณ 18.00 น. เจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยได้เข้าปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ (สลายการชุมนุม) บริเวณพื้นที่สี่แยกราชประสงค์ ถนนพระราม 1 หน้าวัดปทุมฯ และบริเวณใกล้เคียง เจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนยิง เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บและมีผู้ถึงแก่ความตายที่บริเวณวัดปทุมฯ ได้แก่ 1.นายรพ สุขสถิตย์ 2.นายอัฐชัย ชุมจันทร์ 3.น.ส.กมนเกด อัคฮาด 4.นายมงคล เข็มทอง 5.นายสุวัน ศรีรักษา และ 6.นายอัครเดช ขันแก้ว

เจ้าหน้าที่ที่เข้าปฏิบัติการมี 2 ชุดคือ เจ้าหน้าที่จากกองพันทหารราบในภาคกลาง เป็นหน่วยกำลังที่รับผิดชอบบริเวณด้านล่างบนถนนพระราม 1 กับเจ้าหน้าที่จากกองพันรบพิเศษหน่วยหนึ่ง นำโดยนายทหารยศ พ.ต. เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการ นำกำลังจำนวน 4 ชุด ปฏิบัติการบนรางรถไฟฟ้าตั้งแต่สถานีสนามกีฬาเพื่อคุ้มกันชุดแรก

รายชื่อเจ้าหน้าที่ทหารที่ใช้อาวุธปืน M16A2 กระสุนปืนขนาด 5.56 มม. เป็นชนิดเอ็ม 855 (M855) หัวกระสุนจะเป็นหัว “สีเขียว” มีรายชื่อดังนี้ 1.จ.ส.อ. (ส) รองหัวหน้าชุดปฏิบัติการ 2.ส.อ. (ภ) 3.ส.อ. (ก) 4.ส.อ. (ช) และ 5.ส.อ. (ว) ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้งห้ายอมรับว่าใช้อาวุธปืนประจำกายยิงเข้าไปในวัดปทุมฯ จริง แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา มีการขออนุมัติเบิกอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนจากหน่วยรบแห่งหนึ่ง ได้แก่ เอ็ม 16 เอ 2 (M16A2) ใช้กระสุนขนาด .223 (5.56 มม.) เป็นกระสุนปืนเอ็ม 855 (M855)

พยานนับสิบเห็นฆ่าโหด

เหตุการณ์ในวัดปทุมฯที่ถือเป็นเขตอภัยทานนั้น มีพยานบุคคลหลายสิบปากเห็นเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธปืนยิงเข้ามาในบริเวณวัด รวมทั้งยิงเข้าไปในเต็นท์พยาบาลขณะที่ยุติการชุมนุมแล้ว ซึ่งเจ้าอาวาสก็ไม่คิดว่าจะมีการฆ่ากันในวัด เพราะได้ทำหนังสือขอชีวิตให้ประชาชนอาศัยวัดเป็นบริเวณที่หลบภัยแล้ว

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานจากพยานบุคคลหลายปากยืนยันว่า เวลา 17.00 น. เศษ มีเสียงปืนดังติดต่อกันหลายนัดมาจากสถานีรถไฟฟ้าสยาม อันเป็นที่ตั้งของหน่วยงานหนึ่งใน กทม. ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและมีผู้ถ่ายภาพไว้ ซึ่งมีการช่วยเหลือบุคคลที่บาดเจ็บคือ นายอัฐชัย ชุมจันทร์ แต่ได้ถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา โดยมีผู้ถ่ายภาพไว้เวลา 17.50 น. วันที่ 19 พฤษภาคม

ขณะที่อาสาพยาบาลช่วยเหลือนายอัฐชัยที่ได้ถ่ายภาพไว้ ในภาพยังมีภาพนายมงคล เข็มทอง อาสาป่อเต็กตึ๊ง ที่เข้ามาช่วยเหลือนายอัฐชัย แต่ไม่นานนายมงคลก็ถูกยิงตายเช่นกัน และต่อมา น.ส.กมนเกด อัคฮาด ก็ถูกกระสุนปืนถึงแก่ความตายในเต็นท์พยาบาล ขณะที่ น.ส.กมนเกดถูกกระสุนนั้น นายอัครเดช ขันแก้ว อาสาพยาบาลอีกคน ได้เข้าไปช่วย แต่ก็ถูกยิงตายในเต็นท์พยาบาลเช่นเดียวกัน

ทุกศพพบหัวกระสุนสีเขียว?

ส่วนนายรพ สุขสถิตย์ และนายสุวัน ศรีรักษา จากการชันสูตรพลิกศพทั้งสองพบเป็นวิถีกระสุนลักษณะ “บนลงล่าง” คือยิงจากรางรถไฟฟ้ามายังด้านล่าง นอกจากนี้ยังพบเศษของกระสุนหัวสีเขียวในศพผู้ตาย ซึ่งปรากฏตามรายงานการตรวจพิสูจน์ของกองพิสูจน์หลักฐานกลางเป็นกระสุนปืน ขนาด .223 (5.56 มม.) เช่นเดียวกับที่พบในศพของนายมงคลที่เข้าช่วยเหลือนายอัฐชัยก็มีวิถีกระสุน ยิงจาก “บนลงล่าง” จากกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) หัวกระสุนสีเขียวเช่นเดียวกัน

สำหรับศพ น.ส.กมนเกดและนายอัครเดช ตามรายงานการตรวจพิสูจน์ของกองพิสูจน์หลักฐานกลางเป็นหัวกระสุนสีเขียวขนาด .223 (5.56 มม.) เช่นกัน โดยมีพยานบุคคลยืนยันว่าเห็นเป็นการยิงจากบนรางรถไฟฟ้าในเวลาประมาณ 18.00 น.

ที่สำคัญคือคำให้การของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ขึ้นไปบนตึกสูงเพื่อถ่ายภาพ ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ขณะถูกเพลิงไหม้นั้นได้ถ่ายภาพเจ้าหน้าที่ของรัฐพร้อม อาวุธปืนยาว อยู่บนรางรถไฟฟ้า ซึ่งมีเสียงปืนดังมาจากทิศทางที่เจ้าหน้าที่ประจำอยู่ และเมื่อประมวลประกอบกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่มาจากหน่วยรบแห่งหนึ่งก็ยอมรับ ว่าหน่วยคุ้มกันแนวราบได้ใช้อาวุธประจำกายยิงเข้ามาในวัดปทุมฯจริง เป็นอาวุธปืนเอ็ม 16 เอ 2 (M16A2) ใช้กระสุนขนาด .223 (5.56 มม.) เป็นกระสุนปืนเอ็ม 855 (M855) ที่มีหัวสีเขียว

ดังนั้น การตาย 6 ศพในวัดปทุมฯจึงยืนยันว่าเจ้าหน้าที่หน่วยดังกล่าวเป็นผู้ยิง มิใช่ผู้ก่อการร้าย

ผลสอบคดียิงผู้สื่อข่าวญี่ปุ่น

สำหรับกรณีนายฮิโรยูกิ มูราโมโต ผู้สื่อข่าวญี่ปุ่นประจำสำนักข่าวรอยเตอร์ ที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เมษายน เวลาประมาณ 21.00 น. บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ ระบุสาเหตุการตายว่ามาจากกระสุนปืนความเร็วสูงไม่ทราบขนาด ยิงเข้าบริเวณหน้าอกซ้ายทะลุกล้ามเนื้อใต้รักแร้ออกต้นแขนขวาด้านหลัง ขณะที่นายฮิโรยูกิกำลังรายงานข่าวอยู่ระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่

คดีนี้มีพยานบุคคลสำคัญคือ นายดาบตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่นอกเครื่องแบบ อยู่ห่างจากนายฮิโรยูกิเพียงประมาณ 1 เมตร และเป็นผู้เข้าไปช่วยประคองตัวนายฮิโรยูกิไว้บนตัก ทำให้เลือดของนายฮิโรยูกิเปื้อนกางเกงยีนส์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจรายนี้ยืนยันทิศทางกระสุนปืนว่าไม่ได้มาจากทางกลุ่มผู้ ชุมนุม ขณะที่พยานสำคัญอีกคนหนึ่งยืนยันว่าเห็นแสงไฟจากปากกระบอกปืนมาจากทางเจ้า หน้าที่ ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารภาพวิดีโอคลิปจากกล้องของนายฮิโรยูกิที่ถ่ายก่อนถูก ยิงเสียชีวิตเวลาประมาณ 20.57 น.

ภาพถ่ายของนายฮิโรยูกิจึงเป็นพยานหลักฐานสำคัญ ซึ่งมีอยู่จำนวน 2 ภาพที่เห็นกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่บริเวณเดียวกัน โดยถ่ายเห็นด้านข้าง ซึ่งจะต้องหันหน้าไปในทิศทางของเจ้าหน้าที่เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ชุมนุม ทิศทางดังกล่าวจึงสอดคล้องกับบาดแผลของผู้ตายตามรายงานการตรวจศพของแพทย์

สำหรับเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่บริเวณถนนดินสอเป็นเจ้าหน้าที่ จากหน่วยงานชายแดนภาคตะวันออก มีนายทหารยศ พ.อ. ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ร่วมปฏิบัติสลายการชุมนุม มีกำลังประมาณ 4 กองร้อย

ศพเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ฝีมือทหาร

เช่นเดียวกับกรณีเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ดุสิตชื่อ นายมานะ อาจราญ เสียชีวิตวันที่ 10 เมษายน เวลาประมาณ 23.30 น. บริเวณสวนสัตว์ดุสิต ในวันเกิดเหตุได้เข้าเวรร่วมกับนายบุญมี แก้วไทรท้วม เฝ้าดูแลที่กรงเต่า หลังออกเวรถูกยิงบริเวณหน้าบ่อเต่า โดยนายบุญมีเป็นผู้เห็นเหตุการณ์และตะโกนให้ช่วยเหลือนายมานะ แต่ขณะวิ่งตะโกนเห็นเจ้าหน้าที่นอนหมอบราบกับพื้นแล้วตะโกนว่า “ถอยออกไป อยากตายหรือไง”

นอกจากนี้ยังมีพยานจากเจ้าหน้าที่ในบริเวณสวน สัตว์ดุสิตเห็นเจ้าหน้าที่ทหารถือปืน โล่ และกระบอง โดยมีเสียงยิงมาจากฝั่งรัฐสภาเป็นระยะ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งให้ข้อเท็จจริงว่า เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการคือกำลังจากจังหวัดนครราชสีมาที่มีนายทหารยศ ร.ท. เป็นผู้ปฏิบัติการ ซึ่งหลักฐานที่พบคือ ปลอกกระสุนปืนเอ็ม 16 จำนวน 2 ปลอก โล่ปราบจลาจลจำนวน 2 อัน กระบองปราบจลาจลจำนวน 3 อัน เสื้อลายพรางระบุชื่อที่อกเสื้อ “บารมี ชีพไธสง” จำนวน 1 ตัว ขณะ ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้ตรวจร่องรอยวิถีกระสุนปรากฏว่าตรงกับลักษณะการถูกยิงของนายมานะ

ตายเพราะพวกเดียวกัน

ส่วนกรณีพลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ ที่เสียชีวิตวันที่ 28 เมษายน เวลา 15.30 น. บริเวณใต้ทางขึ้นโทลล์เวย์ ใกล้อนุสรณ์สถานแห่งชาติ โดยพลทหารณรงค์ฤทธิ์นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า สีแดง ทะเบียน กยษ กจ 683 ถูกยิงที่ศีรษะข้างซ้าย หางคิ้วผ่านทะลุกะโหลกศีรษะ จากรายงานการตรวจศพพบเศษลูกกระสุนปืนในศีรษะเป็นเศษของลูกกระสุนปืนและเศษ แกนลูกกระสุนปืนขนาดประมาณ .223 (5.56 มม.) ที่ใช้กับปืนกลเล็กเอ็ม 16 หรือปืนเอชเค 33 ซึ่งเจ้าหน้าที่เป็นผู้ใช้เท่านั้น

แต่กรณีพลทหารณรงค์ฤทธิ์นั้นที่ผ่านมาฝ่ายทหารปฏิเสธมาโดยตลอด โดยเฉพาะ พ.อ.สรรเสริญพยายามให้ข่าวว่าผู้ก่อการร้ายลอบยิง แต่จากการสืบสวนสอบสวนทั้งตำรวจและทหารในที่เกิดเหตุที่มีอาวุธประจำกายเป็น เอ็ม 16 หรือปืนเอชเค 33 ตั้งเป็นแนวเขตเจ้าหน้าที่นั้น มีพยานบุคคลเห็นเจ้าหน้าที่ผูกผ้าพันคอสีฟ้าจำนวน 2-3 นาย ยืนอยู่บนแนวปืนที่กั้นระหว่างถนนคู่ขนานกับถนนด้านใน นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังยืนยันว่าเสียงปืนที่ยิงพลทหารณรงค์-ฤทธิ์ถึง แก่ความตายมาจากกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่อยู่ทางถนนวิภาวดีรังสิตขาออกด้านคู่ขนาน

จับกุมแบบเหวี่ยงแห

ขณะที่ก่อนหน้านี้คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ได้เปิดเผยถึงการรับคำร้องเรียนการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และจากการเข้าเยี่ยมผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังหรือกักขังจำนวน 422 คน โดยถูกกล่าวหาคดีต่างๆ ได้แก่ วางเพลิงเผาทรัพย์ ร่วมกันพยายามวางเพลิงเผาทรัพย์ ร่วมกันก่อการร้าย ร่วมกันชุมนุมหรือมั่วสุมฝ่าฝืนข้อกำหนดฯ ฯลฯ พบว่าระยะแรกการควบคุมตัวไม่อนุญาตให้มีการติดต่อสื่อสาร ไม่มีโอกาสได้ปรึกษาหารือกับทนายความหรือนำเสนอข้อเท็จจริงในกระบวนการยุติธรรม แต่เป็นการกล่าวหาตั้งข้อสงสัยฝ่ายเดียว

ขณะที่เยาวชนที่เป็นนักศึกษาในเรือนจำคลองเปรมยืนยันว่า ในคืนที่จับกุมเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงขู่ให้รับสารภาพพร้อมของกลางที่จัด ฉากไว้ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตเข้าจับกุมตามภาพถ่าย หรืออาศัยภาพถ่ายในการชุมนุมก่อนหน้านั้น ซึ่งเป็นการจับกุมแบบเหวี่ยงแหโดยไม่แยกระหว่างผู้ร่วมชุมนุมกับผู้ที่ใช้ ความรุนแรง ทั้งยังตั้งข้อหาร้ายแรงตามอำเภอใจอีกด้วย

คำพูดเป็นนาย!

การใช้อำนาจเยี่ยงเผด็จการและหลักฐานการชันสูตรศพส่วนหนึ่งจากจำนวน 91 ศพนั้นระบุชัดเจนว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลและ ศอฉ. ต่างพยายามให้ข่าวและยืนยันตลอดเวลาว่าทหารไม่ฆ่าประชาชน ทั้งยังระบุว่าผู้ที่เสียชีวิตส่วนหนึ่งเกิดจาก “ไอ้โม่งชุดดำ” ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังไม่สามารถจับตัวมาดำเนินคดีได้ แต่กลับกล่าวหาและคุมขังแกนนำเสื้อแดงและคนเสื้อแดงโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมตามปรกติมานานกว่า 6 เดือนแล้ว และยังมีการไล่ล่าและข่มขู่คนเสื้อแดงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

โดยเฉพาะ พล.อ.อนุพงษ์ที่เคยประกาศว่าถ้ามีหลักฐานว่าทหารฆ่าประชาชนก็จะรับผิดชอบ หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ศอฉ. ที่ยืนยันหลายครั้งว่าทหารไม่ได้ฆ่าประชาชนและท้าให้เอาหลักฐานมายืนยัน วันนี้คงต้องถามทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ และ พล.อ.อนุพงษ์ จะยังยืนยันว่า “ไม่ผิด ไม่ได้ทำ ไม่ได้สั่ง” อีกนานแค่ไหน?

เพราะกว่า 6 เดือนที่ผ่านมานายอภิสิทธิ์และผู้เกี่ยวข้องใน ศอฉ. ก็ไม่มีแม้แต่คำ “ขอโทษ” โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ที่เคยเรียกร้องให้รัฐบาลและนักการเมืองต้องมีความรับผิดชอบหรือมีสำนึกทางการเมืองสูงกว่าคนธรรมดา แม้แค่บกพร่องหรือผิดพลาดต่อหน้าที่ ก็ต้องพิจารณาตัวเองโดยไม่ต้องรอให้กฎหมายจัดการ

แต่เหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” มีคนถูกยิงตายถึง 91 ศพ และบาดเจ็บ พิการเกือบ 2,000 คน แต่กลับใส่ร้ายป้ายสีคนเสื้อแดงเป็น “ฆาตกร”

“ความจริงวันนั้น” ได้เริ่มปรากฏชัดขึ้นใน “วันนี้”

ทุกคำถามที่ไม่มีคำตอบจะกลายเป็น “ข้อสงสัย” ที่พุ่งใส่อำนาจรัฐ

“ใครยิงประชาชนผู้บริสุทธิ์?” กำลังถูกเปิดโปงด้วยตำรวจและทหาร “แตงโม”

“ใครเผาเซ็นทรัลเวิลด์?” กำลังถูกขบวนการอำมหิตไล่ล่าทำลายหลักฐานวิดีโอเทปจากกล้องวงจรปิดที่บันทึก ไว้ตลอด 24 ชั่วโมงใช่หรือไม่? การยอมจ่ายเงินประกันภัยด้วยเงื่อนไขว่าต้องยอมรับว่า “เป็นการก่อการร้าย” เท่านั้นเพื่อให้สอดรับกับข้อกล่าวหาว่าเสื้อแดงเป็นผู้ก่อการร้ายคืออภิมหา แบล็กเมล์ใช่หรือไม่?

“กฎหมาย” มีวันหมดอายุความ…แต่ “กฎแห่งกรรม” กำลังไล่ล่า “เงาอำมหิต” ที่มิอาจหนี “สัจธรรม” หรือ “ความจริง” ได้พ้น”

ตราบใดที่ “คนสั่งยังลอยหน้า คนฆ่ายังลอยนวล” ถึงจะนอนตาหลับได้ แต่คงต้องนอนสะดุ้ง เพราะ “ฝันร้าย” ในโสตประสาทจวบจนสิ้นอายุขัย!

เพราะใครๆเริ่มสงสัยแล้วว่า “ใครทำ?”

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6  ฉบับ 289 วันที่ 11 – 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553 หน้า 16-17 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน



รายงานเอ็กซ์คลูซีฟจากรอยเตอร์: หลักฐานบ่งชี้ว่าทหารไทยมีส่วนเกี่ยวข้องในความตายของพลเรือน

กรุงเทพฯ (รอยเตอร์) – รอยเตอร์ได้เห็นเอกสารทางการไทยที่รั่วไหลออกมา ซึ่งชี้ให้เห็นว่า กองทัพไทยมีส่วนเกี่ยวข้องในการสังหารชีวิตพลเรือนระหว่างเกิดความไม่สงบทาง การเมืองในกรุงเทพฯ เมื่อกลางปีนี้ ถึงแม้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐไทยไม่ยอมรับก็ตาม

การสอบสวนเบื้องต้น ของรัฐต่อความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม ได้ข้อสรุปว่า กองกำลังพิเศษของไทย ซึ่งวางกำลังอยู่บนรางรถไฟฟ้ายกระดับ ได้ยิงลงไปในบริเวณวัดที่มีผู้ประท้วงหลายพันคนเข้าไปหลบภัยในวันที่ 19 พฤษภาคม

การสอบสวนนี้พบว่า ประชาชน 3 ใน 6 คนที่ถูกยิงตายในวัดน่าจะเสียชีวิตจากกระสุนของกองทหาร ซึ่งขัดแย้งโดยตรงกับแถลงการณ์ของกองทัพไทย ซึ่งออกมาปฏิเสธว่าทหารไม่มีส่วนรับผิดชอบในการสังหารที่วัด

รายงานนี้กล่าวว่า ยังไม่มีหลักฐานมากเพียงพอที่จะสรุปว่า ใครคือผู้รับผิดชอบต่อความตายของประชาชนอีกสามคนในวัดนั้น แต่รายงานระบุว่า เหยื่อทั้งหกรายถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูง

“มีข้อเท็จจริง หลักฐานและปากคำพยานมากเพียงพอที่จะเชื่อได้ว่า การเสียชีวิต (ทั้งสามราย) เป็นผลมาจากปฏิบัติการของกองกำลังด้านความมั่นคงที่กำลังปฏิบัติหน้าที่” ผู้สอบสวนระบุไว้เช่นนี้ โดยแนะนำให้ตำรวจสืบสวนเกี่ยวกับการเสียชีวิตต่อไป

เมื่อรอยเตอร์ตั้งคำถามเกี่ยวกับเอกสารที่รั่วไหลออกมานี้ นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะไม่ได้ปฏิเสธว่าเอกสารนี้ไม่ใช่เอกสารจริง แต่กล่าวว่า การสอบสวนยังไม่สมบูรณ์และกำลังพยายามเร่งรัดกระบวนการให้รวดเร็วขึ้น

“ขั้นตอนต่อไปจะเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางศาล ดังนั้น เราจึงไม่ควรตื่นตูมไปกับข้อมูลที่ยังไม่สมบูรณ์” เขากล่าว

ผลการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษของไทย (ดีเอสไอ) น่าจะยิ่งกระตุ้นขบวนประท้วงต่อต้านรัฐบาลของ “คนเสื้อแดง” ที่ท้าทายความชอบธรรมของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งออกมากล่าวโทษเมื่อเดือนมิถุนายนว่า การเสียชีวิตในวัดเกิดจากกลุ่มคนติดอาวุธในหมู่ผู้ประท้วงด้วยกันเอง

วัดปทุมวนาราม ซึ่งเป็นวัดพุทธศาสนา ถูกประกาศให้เป็น “เขตอภัยทาน” สำหรับผู้หญิง เด็ก คนชราและผู้พิการ ประชาชนหลายพันคนหนีเข้าไปหลบในวัดในวันที่ 19 พฤษภาคม เมื่อกองทัพใช้กำลังเข้าสลายผู้ประท้วงที่ยึดพื้นที่ในย่านการค้าใกล้เคียง

จากการสอบสวนของดีเอสไอ พยานหลายคนรายงานถึงสภาพปั่นป่วนนอกวัด เมื่อเสียงปืนดังรัวขึ้นและพลเรือนพากันหนีออกจากย่านช้อปปิ้ง

พยานคนหนึ่งกล่าวว่า เขาเห็นทหารยิงลงมาจากรางรถไฟฟ้าด้านบน และยิงลงไปในเต๊นท์พยาบาลภายในบริเวณวัด ซึ่งพยาบาลอาสากำลังดูแลพลเรือนที่ได้รับบาดเจ็บ มีพยาบาลอาสาสองคนเสียชีวิต

มีประชาชนถูกฆ่าตาย 91 ราย และมีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 1,800 ราย ระหว่างเกิดความไม่สงบในเดือนเมษายนและพฤษภาคม อาคารกว่า 30 แห่งถูกไฟไหม้ นี่เป็นความรุนแรงทางการเมืองที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่

รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า ช่างภาพของรอยเตอร์น่าจะถูกทหารยิงเสียชีวิต

ดีเอสไอกำลังสอบสวนการตายทั้งหมด 89 รายที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น แต่รัฐบาลไทยยังไม่ยอมเปิดเผยผลการสอบสวนใด ๆ ต่อสาธารณะ แม้จะมีแรงกดดันจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนก็ตาม

ผลการสอบสวนที่ตกมาถึงรอย เตอร์มีอยู่ในรายงานสองฉบับของดีเอสไอ ฉบับหนึ่งเกี่ยวกับการยิงที่วัดและอีกฉบับเกี่ยวกับการตายของช่างภาพรอย เตอร์ นายฮิโระ มุราโมโตะ ในเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน

มุราโมโตะ ชาวญี่ปุ่นวัย 43 ปีผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในโตเกียว ถูกสังหารด้วยกระสุนความเร็วสูงยิงเข้าที่หน้าอก ขณะกำลังทำข่าวการประท้วงในย่านเมืองเก่าของกรุงเทพฯ

รายงานอ้างพยาน คนหนึ่งซึ่งกล่าวว่า มุราโมโตะล้มลงพร้อมกับกระสุนที่ยิงมาจากทิศทางของทหาร รัฐบาลไทยยังไม่ยอมเปิดเผยรายงานเกี่ยวกับการตายของเขาต่อสาธารณะ ถึงแม้มีแรงกดดันทางการทูตจากญี่ปุ่นอย่างมาก

หัวหน้าบรรณาธิการของรอยเตอร์ นายเดวิด ชเลซิงเงอร์ เรียกร้องให้เผยแพร่รายงานฉบับเต็มต่อสาธารณะทันที

“รัฐบาลไทยยังติดค้างครอบครัวของฮิโระ รัฐบาลไทยต้องเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาว่า โศกนาฏกรรมครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างไรและใครคือผู้รับผิดชอบ” ชเลซิงเงอร์กล่าวในแถลงการณ์

รายละเอียดของเหตุการณ์ที่ทหารยิงใส่ พลเรือนอาจกระพือความโกรธแค้นของประชาชน และกระตุ้นกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเคยได้รับเลือกตั้งถึงสองครั้งและปัจจุบันต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ ทักษิณ ชินวัตรเรียกร้องให้นานาชาติเข้าไปสอบสวนความรุนแรงในเดือนเมษายน-พฤษภาคม รวมทั้งความตายอันน่ากังขาในวัดด้วย

พยานคนหนึ่ง ซึ่งซ่อนอยู่ใต้รถยนต์ที่วัด ให้การว่า เขาถูกระดมยิงถึง 4 หรือ 5 ครั้งจากกลุ่มชายในชุดลายพราง ซึ่งยืนอยู่บนรางรถไฟฟ้ายกระดับ

เขาถูกยิงนัดหนึ่งและได้รับความช่วยเหลือจากพระสงฆ์รูปหนึ่ง การชันสูตรพลิกศพพบว่า กระสุนที่พบในศพ 4 รายจาก 6 รายในวัด เป็นลูกกระสุนชนิดเดียวกับที่ทหารบนรางรถไฟฟ้าให้การว่าใช้เป็นอาวุธ มีประชาชนได้รับบาดเจ็บที่วัดเป็นจำนวนที่ไม่ทราบแน่นอน

“ความลับของทางการ”

คำให้การของทหารที่อ้างในรายงานของดีเอสไอระบุว่า พวกเขายิงเตือนไปที่วัดและถูกยิงตอบโต้จากกลุ่มชายชุดดำที่อยู่ข้างล่างและ จากผู้มีอาวุธปืนอีกคนหนึ่งในวัด ทหารกล่าวว่า พวกเขายิงคุ้มกันให้กองทหารบนพื้นดิน ซึ่งร้องขอกำลังสนับสนุน

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ดีเอสไอได้สรุปผลการสอบสวนเบื้องต้นและส่งต่อผลการสอบสวนนี้ให้กรมตำรวจ แต่ยังไม่ได้เปิดเผยเนื้อหาต่อสาธารณชน

“รายงานการสอบสวนนี้เป็น ประเด็นที่อ่อนไหวต่อการถกเถียงหรือการยืนยันความถูกต้อง” เขากล่าว “มันเป็นความลับของทางการ การยืนยันความถูกต้องของรายงานที่ส่งไปถึงกรมตำรวจอาจมีผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนที่มีรายชื่ออยู่ในนั้น”

เขาไม่ยืนยันหรือปฏิเสธความถูกต้อง ของเอกสารสองฉบับที่ตกมาถึงรอยเตอร์ แต่กล่าวว่า จากนี้ตำรวจจะสอบสวนคดีของประชาชนสามรายที่เชื่อว่าถูกทหารฆ่าตายในวัด รวมทั้งประชาชนคนอื่นอีกสามรายที่มีความเป็นไปได้ว่าถูกทหารยิงเสียชีวิต ซึ่งรวมถึงนายมุราโมโตะด้วย

ผลการสอบสวนของกรมตำรวจจะถูกส่งไปให้ดีเอสไอและสำนักงานอัยการ

ถ้าการสอบสวนพบว่าทหารมีส่วนรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของพลเรือน ครอบครัวของผู้เสียชีวิตสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ แต่รัฐบาลก็สามารถอ้างได้ว่า การยิงนั้นเกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่

(รายงานข่าวเพิ่มเติมโดย Andrew Marshall จากสิงคโปร์; บรรณาธิกรณ์โดย Andrew Marshall และ John Chalmers)

ภัควดี ไม่มีนามสกุล แปลจาก Jason Szep and Ambika Ahuja, “Exclusive: Probe reveals Thai troops’ role in civilian deaths,” Reuters;
http://www.reuters.com/article/idUSTRE6B90OR20101210?pageNumber=1
ที่มา : ประชาไท
11 ธันวาคม 2553

หมายเหตุผู้แปล: ขอขอบคุณเพื่อน ๆ ในเฟซบุ๊กที่แนะนำข่าวนี้

 


มัวแต่ลั้ลลา

มัวแต่ลั้ลลา
ที่มา : ข่าวสดรายวัน วันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553
คอลัมน์ : เหล็กใน

จนถึงวันนี้ความสูญเสีย 91 ศพจากเหตุการณ์สลายม็อบแดงยังไม่มีอะไรชัดเจน ทั้งที่ล่วงเลยมานาน 5 เดือนแล้ว

การแถลงของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบ สวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อสัปดาห์ก่อน ก็เป็นเพียงแค่แอ๊กชั่นเล็กๆ น้อยๆ เพื่อกลบกระแสความอืดอาดล่าช้าของคดีเท่านั้น

ดีเอสไอบอกว่าตั้งคณะทำงานขึ้นมา 12 ชุด ขึ้นมาทำคดี 89 ศพภายใน 45 วัน แปลกใจจริงๆ ทำไมเพิ่งตั้งคณะทำงาน แล้วเวลาที่ผ่านมา 4-5 เดือน มัวไปทำอะไรกันอยู่

คดีใหญ่ๆ ทั้งเรื่อง 6 ศพวัดปทุมวนาราม คดีฆ่านักข่าวญี่ปุ่น และนักข่าวอิตาลี เป็นคดีที่ทั่วโลกจับตามอง เพราะต้องการให้การสืบสวนสอบสวนเป็นไปด้วยความโปร่งใส

พยานหลักฐานก็มีครบถ้วนอยู่แล้ว คนที่อยู่ในเหตุการณ์ หน่วยกู้ภัยกู้ชีพที่เห็นเหตุการณ์กับตา คลิปต่างๆ แต่ดีเอสไอกลับบอกว่าไม่มีความคืบหน้า ไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นคนยิง รู้เพียงว่าศพถูกยิงที่จุดไหน กระสุนอะไร

วันก่อนพรรคฝ่ายค้านตั้งกระทู้ถามกลางสภาเรื่องคดี 91 ศพ

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง ในฐานะผอ.ศอฉ. กลับชี้แจงว่า พยานแต่ละคนไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นคนทำให้บุคคลเหล่านี้ตาย และไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่

แล้วพวกคลิป-ภาพถ่ายที่เห็นกันทนโท่อยู่ ใครถือปืนอยู่บนรางบีทีเอส เหยื่อโดนกระสุนเข้าที่ตรงไหน วิถียิงมาจากทิศทางใด คลิปพวกนี้ไม่ได้บอกอะไรกับดีเอสไอหรือรัฐบาลเลยหรือ

ความล่าช้าของคดี 91 ศพ แม้แต่นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งเป็นคนที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาเอง ยังออกมาตำหนิติติงว่า

“หน่วยงานของรัฐให้ความร่วมมือล่าช้า ขอข้อมูลไปยังรัฐบาล แต่ยังไม่ได้รับข้อมูลเลย โดยเฉพาะกรณีการสลายการชุมนุมในวันที่ 19 พ.ค. แม้แต่รายชื่อผู้เสียชีวิตทั้ง 91 ศพก็ยังไม่ได้รับข้อมูล”

ต้องย้ำกับรัฐบาลว่าการเสียชีวิตทั้ง 91 ศพ เป็นการสูญเสียที่ใหญ่หลวงจริงๆ

อีก 2 พันคนที่บาดเจ็บจากลูกปืนสไนเปอร์ยิ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นเลย

ทุกวันนี้ รัฐบาลชุดนี้นอกจากจะปฏิเสธที่จะรับผิดชอบแล้วโยนไปโยนมาเหมือนเล่นขายของ

ซื้อเวลาไปวันๆ ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

เมื่อ 2-3 วันก่อน เห็นนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั่งร้องเพลงออกทีวี ชีวิตช่างลั้ลลาอะไรอย่างนี้

ไม่รู้ว่าญาติพี่น้องเหยื่อทั้ง 91 ศพ และผู้บาดเจ็บอีกนับพันคนจะรู้สึกยังไงบ้าง

แต่คงไม่ลั้ลลาไปกับนายกฯด้วยแน่ๆ