รัฐบาลสั่งทหารฆ่าประชาชน

วันนี้เมื่อช้างเท้าหน้าต้องถูกคุมขังด้วยข้อ หาก่อการร้าย ถึงเวลาแล้วที่ช้างเท้าหลังอย่าง ผศ.ธิดา ถาวรเศรษฐ์ ภรรยา นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ต้องรับหน้าที่รักษาการประธาน นปช.แดงทั้งแผ่นดิน เพื่อเดินหน้าเรียกร้องความยุติธรรมและเปิดเผยความจริงว่าใครกันแน่ที่ฆ่า ประชาชน

การต่อสู้ของแกนนำ นปช.ชุดใหม่

การเคลื่อนไหวต่อสู้ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดินภายใต้การนำของคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ยอมรับว่าทำได้ลำบาก เพราะแกนนำและแนวร่วม นปช. ส่วนใหญ่ถูกคุมขังหรือหลบหนีไปต่างประเทศ แต่คณะกรรมการชุดนี้ต่อเนื่องมาจากชุดก่อน และประกาศจุดยืนว่าเรามีภาระหน้าที่สำคัญในการต่อสู้ 4 ข้อคือ

1.การรณรงค์เพื่อให้ปล่อยตัวแกนนำ มวลชนคนเสื้อแดงทุกระดับ และผู้ถูกจับกุมคุมขังโดยมิชอบให้ได้รับการประกันตัวเพื่อดำเนินคดีอย่างรัฐ ที่มีนิติรัฐ นิติธรรม 2.การช่วยเยียวยาผู้ถูกกระทำและครอบครัว ตลอดจนการประกันตัวและต่อสู้คดี 3.การเรียกร้องความยุติธรรมและการใช้กฎหมายตามหลักนิติรัฐ นิติธรรมด้วยมาตรฐานเดียวกัน โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และ 4.การยกระดับการต่อสู้ของประชาชนให้สูงขึ้นด้วยองค์ความรู้ ไม่ให้ลื่นไถลไปในความคิดสุ่มเสี่ยงหรือความคิดยอมจำนนอย่างไร้หลักการ

แนวทางการต่อสู้มีทั้งโครงการระยะสั้นและระยะยาว แต่การต่อสู้เฉพาะหน้าที่สำคัญคือภารกิจข้อ 1 และข้อ 2 ตรงนี้ถือเป็นความสำคัญเฉพาะหน้าที่ต้องทำ ถ้าถามถึงความคืบหน้าคือการรณรงค์ ก่อนหน้านี้เราทำลักษณะติดต่อผ่านทางสื่อต่างๆ เพื่อเป็นตัวเชื่อมระหว่างเรากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะเรายื่นประกันตัวแล้วแต่ไม่ได้สักที ทำให้คิดว่าต้องมีอะไรผิดปรกติ เพราะเรารู้ว่าข้อหาก่อการร้ายไม่ใช่ เราไม่ได้ทำอย่างนั้น

ที่เห็นชัดเจนคือ ปรกติ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะขังได้ 30 วัน พอพ้น 30 วัน หากหลักฐานในการรวบรวมไม่พอเขาต้องปล่อย แต่ในความเป็นจริงเขาไม่ปล่อย กลับเอาข้อหาที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน ไม่มีการพิสูจน์หลักฐาน ไม่สืบสวนสอบสวนใดๆทั้งสิ้นนำส่งฟ้องศาล เพื่อหวังผลประการเดียวคือขังต่อยาวได้ ตรงนี้ชัดเจนว่าเป็นธงสำคัญ หลังจากนั้นเราดำเนินการขอประกันอีก ปรากฏว่าไม่ได้อีก ด้วยข้อคิดเห็นเหมือนเดิมคือคดีนี้เป็นคดีร้ายแรง มีโทษถึงประหารชีวิต กลัวการหลบหนี หรือกลัวจะมายุ่งกับพยานหลักฐานอะไรต่างๆ

รัฐบาลพูดอะไรซ้ำๆซากๆแบบนี้ ทั้งๆที่ความจริงแล้วข้อหาก่อการร้ายยังไม่ได้รับการพิสูจน์อย่างชัดเจน ไม่มี อย่างที่เรารู้กัน พวกเราได้หารือกัน มีการต่อรองก่อนจะเลิกการชุมนุมด้วยซ้ำ ข้อหาก่อการร้ายเราไม่ขอนิรโทษกรรม คือหลายคนมองตรงนี้ รัฐบาลหาว่าเราเป็นผู้ก่อการร้ายได้อย่างไร ฉะนั้นจึงบอกว่าไม่ต้องนิรโทษกรรมด้วยความเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ใจของตัว เอง และความเป็นจริงคนเหล่านี้ก็มอบตัวทั้งหมด จะหนีทำไม ถ้าหนีก็หนีไปได้แล้ว แต่เขาไม่หนี เขามอบตัว มันก็อยู่อย่างนี้ คือไม่ได้รับการประกันตัว

จำเป็นต้องปรับองค์กร นปช. ใหม่

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ มีความจำเป็นต้องมาคุยกันว่า ต้องมีการจัดองค์กรใหม่ เพราะประชาชนและขบวนการไม่สามารถรอคอยว่านิติรัฐ นิติธรรม จะเกิดขึ้นได้เมื่อไร เพราะเท่าที่ดูแล้วไม่มีความหวัง จึงต้องปรับองค์กรเพื่อที่จะทำงาน ด้านหนึ่งคือการดูแลช่วยเหลือมวลชนคนเสื้อแดง รวมทั้งขบวนการให้สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างไม่เป็นอนาธิปไตย คือไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างคิด และต่างคนต่างขึ้นมาเป็นแกนนำ ประเภทที่เรียกว่าอาจทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เกิดความเสียหายขึ้นได้ จึงจำเป็นต้องมีองค์กรขึ้นมา

อีกด้านหนึ่งต้องรณรงค์ต่อสู้เพื่อให้ประเทศนี้มีนิติรัฐ นิติธรรมให้ได้ ถ้าไม่มีถามว่าสังคมจะมีอะไรเกิดขึ้น คุณมีภาพของสังคมไทยอย่างไร ภาพหนึ่งเป็นภาพที่มีการแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง อีกภาพหนึ่งมีการแก้ปัญหาอย่างไม่ถูกต้อง คุณเลือกการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ หรือแก้ปัญหาแบบประเทศชาติย่อยยับ ก็ไม่รู้ว่าเขาจะเลือกการแก้ปัญหาประเภทไหน เพราะดูมานานแล้วยังไม่เห็นว่าเขาจะแก้ปัญหาแบบสร้างสรรค์ แต่เลือกแก้ปัญหาแบบย่อยยับเหมือนกับทฤษฎีเกม ก็คือบวกลบเป็นศูนย์ ความจริงทฤษฎีนี้เป็นวิธีคิดของคนโบราณ นั่นก็คือฆ่ากันตายไปข้างหนึ่งเพื่อที่จะชนะ ถ้าเป็นวิธีคิดของพวกเสรีนิยม โดยเฉพาะทฤษฎีเกมที่ให้มันวินๆทั้งคู่ คือคุณไม่จำเป็นต้องได้สุดยอดปรารถนาเพียงคนเดียว

แต่ความจริงความหมายก็คือ พวกจารีตนิยมใช้วิธีแก้ปัญหาต้องฆ่ากันตาย ชนะเป็นเจ้า แพ้ก็เจ็ดชั่วโคตร ต้องกวาดล้าง พวกเราก็คล้ายๆสมุนกบฏ เมื่อเป็นเช่นนั้นเราต้องโดนฆ่าเจ็ดชั่วโคตร โดยให้ชั่วโคตรหนึ่งอยู่ในคุกแบบทำนองอย่างนี้ ดังนั้น เราไม่สามารถรอคอยให้เป็นฝ่ายถูกกระทำที่ยับเยินยิ่งกว่านี้ จึงจำเป็นต้องปรับองค์กร และดำเนินการต่อสู้ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงเท่าที่จะทำได้ แม้จะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ที่รัฐบาลจะนำมาใช้หลังยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เราก็ยังสามารถต่อสู้ได้ อย่างที่เห็นว่าครั้งหลัง นปช. ก็นำการต่อสู้เองเมื่อวันรัฐธรรมนูญ วันที่ 10 ธ.ค. หรือการชุมนุมในวันที่ 19 ธ.ค. หลังจากก่อนหน้านี้เราก็สนับสนุน เพียงแต่ยังไม่มีการตั้งองค์กรในการต่อสู้เพื่อเป็นตัวแทนในการเจรจาต่างๆ

วางยุทธศาสตร์ต่อสู้อย่างไร

ยืนยันว่าเราจะนำพาการต่อสู้ในระบบเหมือนเดิม อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เราก็ยังจะต้องทำตามนี้ จะต้องปรับให้สอดคล้องกับความเป็นจริง นี่คือการรณรงค์ในการต่อสู้ อีกด้านหนึ่งคือไปสู่การเจรจา อย่างที่เราเดินทางไปพบ ดร.คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ด้านหนึ่งไปขอบคุณที่ได้บอกรัฐบาลว่า อย่าตีตรวนแกนนำเลย แต่รัฐบาลก็ไม่ทำตาม หรือ คอป. บอกให้ประกันตัวแกนนำ รัฐบาลก็ไม่ทำตามอีก เราต้องขอบคุณ คอป. ในแง่นี้ เพราะสิ่งที่เขาทำนับว่ากล้าหาญพอควร

เราอยากให้ คอป. ทำต่อไม่ควรหยุดแค่นี้ ให้ช่วยกันผลักดันให้การประกันตัวแกนนำและแนวร่วมคนเสื้อแดงเกิดขึ้นได้จริง อย่างเป็นรูปธรรม และเรายังให้กำลังใจ คอป.ว่า องค์กรแบบของท่านในประเทศอื่นๆก็สามารถทำงานได้ เช่น ชิลี อาร์เจนตินา ก็ทำงานได้ผล แม้ว่าในช่วงแรกๆคนจะไม่เชื่อ จึงบอก คอป. ว่าในฐานะเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์มีโอกาสดีที่จะทำให้การดำรงอยู่ของคุณมี คุณค่า หรือคุณไม่ทำ เลือกที่จะถูกประณาม เป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจ แต่เราอยากให้เขาทำอย่างมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สิ่งที่เราทำ แปลว่าด้านหนึ่งเราเจรจาควบคู่ไปกับการต่อสู้

เรายังเรียกร้องให้ คอป. กล้าที่จะเปิดเผยความจริง สร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นให้ได้ กล้าที่จะบอกความจริงว่าอำนาจรัฐกระทำต่อประชาชนอย่างไร เพื่อให้สังคมไม่เกิดเหตุการณ์เช่นที่แล้วมาอีก ในอดีตเรามี 6 ตุลา มีพฤษภาทมิฬ แต่ถามว่าถ้าคุณไม่เปิดเผยข้อมูลเหมือนเหตุการณ์ในอดีตถึงได้เกิด 14 ตุลา คุณก็ไม่เปิดเผยข้อมูลว่ารัฐทำอย่างไรก็เกิด 6 ตุลา เพราะคน 6 ตุลาเขาไม่กลัว หรือ 14 ตุลาไม่เห็นมีใครรู้เลย ไม่ถูกลงโทษ ขนาดว่าชนะ 6 ตุลาก็ไม่มีใครเปิดเผย ขึ้นศาลเห็นท่าไม่ดีก็นิรโทษกรรมทั้งหมด

จากนั้นก็เก็บข้อมูลไว้เป็นความลับ พอเหตุการณ์พฤษภาข้อมูลก็เก็บเป็นความลับอีก ต่อไปนี้จึงไม่ควรเก็บเป็นความลับ โดยเฉพาะเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 เพื่อให้สังคมได้เรียนรู้ มีศัพท์คำหนึ่งในต่างประเทศต้องการที่จะพูดตรงๆว่าไม่ต้องการให้อำนาจรัฐ เป็นรัฐทหารแบบนี้อีก ดังนั้น มีอย่างเดียวคือรัฐบาลต้องเปิดเผยขั้นตอนการทำงาน และตารางเวลา รวมทั้งนำไปสู่การทำเอกสารเผยแพร่ให้ประชาชนรู้ แล้วเอาไปใช้ในการไต่สวนด้วย ซึ่งคอป. ก็ขานรับด้วยดี ต้องติดตามดูว่า คอป. จะทำความจริงให้ปรากฏได้หรือไม่

รัฐกล้าเปิดเผยความจริงหรือไม่

คงไม่ใช่กล้าหรือไม่กล้า เพราะเท่าที่ประเมินรัฐบาลคงไม่ทำอะไร ยกเว้นความเป็นจริงในเหตุการณ์นองเลือดเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. จะแดงขึ้นจนไม่สามารถปิดบังได้ แต่เชื่อว่ารัฐบาลก็ยังปฏิเสธอยู่ดี ดังนั้น ความจริงที่ว่ารัฐบาลสั่งทหารฆ่าประชาชน คงจะเปิดเผยเองเป็นไปไม่ได้ ต้องเกิดจากการที่ประชาชนต่อสู้และสามารถไปล่วงรู้ข้อมูล นี่แหละเราต้องการความสามัคคี คนบางคนไม่ต้องเป็นเสื้อแดง คุณมาทำให้ความจริงปรากฏในสังคม และความยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคมไทยพอแล้ว แค่นี้คุณก็คือพวกเราแล้ว

ความคืบหน้าเรื่องคดีความ

ขณะนี้เราทำหลายอย่าง ด้านหนึ่งทางญาติพี่น้องของผู้สูญเสียหรือได้รับผลกระทบก็ฟ้องร้องโดยตรง และส่วนหนึ่งถ้าศาลไทยมีปัญหาไม่เชื่อมั่นในบางส่วนก็ต้องอาศัยศาลระหว่าง ประเทศ เช่น มร.โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ทำงานได้ดี นอกจากนี้องค์กรสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศก็ดำเนินการเอง เพราะเขาสนใจว่าปัญหานี้เกิดขึ้นได้ในไทย แม้บรรดานักวิชาการทั้งหลายจะออกมาบอกว่าโอกาสที่จะฟ้องศาลโลกหรือศาลอาญา ระหว่างประเทศเพื่อเอาผิดกับคนที่สั่งทหารฆ่าประชาชนมีน้อย แต่ไม่เป็นไร ทำได้เท่าไรก็ทำแค่นั้น

การฟ้องศาลโลกหรือสังคมโลกสำคัญมาก เพราะทำให้คุณไปที่ไหนเขาก็รังเกียจคุณ เช่น กรณีที่นายกรัฐมนตรีของอังกฤษไม่กล้ามาเยือนไทยเพราะกลัวถูกด่า หรือเวลา พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี ไปต่างประเทศมีใครอยากคุยด้วยบ้าง อายหรือไม่ เขาไม่ว่าอะไรคุณแต่เขาไม่อยากคบคุณ น่าสมเพช แล้วเอาไปทำไมอำนาจรัฐแบบนี้ เป็นอำนาจรัฐที่ไม่มีเกียรติยศศักดิ์ศรี แล้วทำเพื่อใคร ทำเพื่ออะไร ไม่คิดหรือว่าสังคมต้องขยับไปข้างหน้า จะให้สังคมหยุดนิ่งถอยหลังเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนหรือ มันต้องก้าวไปข้างหน้าให้ประชาชนตัดสิน

อนาคตของเสื้อแดง

แม้การต่อสู้ของ นปช. จะมีปัญหาและอุปสรรคตรงที่รัฐบาลต้องการครอบครองอำนาจรัฐและกลไกรัฐเอาไว้ ไม่ยอมคืนอำนาจให้ประชาชน และกล่าวหาว่าพวกคุณยังโง่เง่า ถูกเงินซื้อได้ พวกคุณเป็นสมุนทักษิณ แต่ต้องตั้งคำถามว่า แล้วทำไมเสื้อแดงกลับเติบใหญ่ คนมากขึ้น มีทั้งปริมาณและคุณภาพสูงขึ้น ก็มาตั้งข้อหาล้มเจ้าบ้าง อะไรบ้างเพื่อที่จะทำลาย ซึ่งตรงกันข้าม ยิ่งตั้งข้อหา ยิ่งเล่นงานหนัก เรายิ่งเติบใหญ่ คนยิ่งสงสัยทำไมต้องมาเล่นงานมาก ความยุติธรรมอยู่ตรงไหน คนชั้นกลางก็กำลังสงสัย คนชั้นล่างก็ยิ่งเชื่อมั่นว่าความยุติธรรมไม่มี ความเจ็บแค้นเจ็บใจก็มีมากขึ้นตามลำดับ

ความต้องการประชาธิปไตยที่แท้จริงของประชาชนจะยิ่งสูงขึ้น และตั้งคำถามต่อกลไกอำนาจรัฐมากขึ้น สิ่งนี้เขายิ่งกลับแปลเป็นว่าเป็นความไม่มั่นคง ก็ยิ่งบีบอีก พอบีบก็ถูกแรงต้าน คนก็ยิ่งเพิ่มเข้ามาอีก เพราะฉะนั้นรัฐบาลเข้าใจผิด กลายเป็นว่าการที่เขาใช้ความรุนแรงในการปราบปราม การที่เขาไม่ให้ความยุติธรรมในการดำเนินคดี การจับกุมคุมขัง ทำให้เสื้อแดงมากขึ้น ขอเตือนไปยังรัฐบาลให้ระวังว่าคนเจ็บแค้นมากขึ้น ดังนั้น อยู่ที่ว่าเขาจะเอาประเทศไทยไปทางไหน จะแก้ปัญหาแบบสร้างสรรค์หรือแก้ปัญหาแบบย่อยยับอย่างที่กล่าวมาข้างต้น

แต่ดูแล้วถ้ารัฐบาลมีทฤษฎีที่ไม่ยอมคืนอำนาจให้กับประชาชนตราบเท่าที่ ประชาชนยังไม่เชื่อฟัง ไม่อยู่ในโอวาท ไม่ทำตามเขา ก็คือคุณต้องเลือกพรรคของเราซิ ไม่ใช่พรรคของคุณ เมื่อเป็นเช่นนั้นเขาก็ยิ่งกระทำกับประชาชนหนักขึ้น ประชาชนก็จะยิ่งต่อสู้มากขึ้น แต่ลืมไปว่าคนไทยไม่ได้อ่อนแออย่างที่คิด คืออ่อนนอกแต่แข็งใน ยามที่มีปัญหาขึ้นมาในเวลาวิกฤตเขาสู้ตาย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม เพราะความยุติธรรมเท่านั้นที่จะช่วยยุติปัญหาได้ ถ้าคุณไม่ทำให้เกิดความยุติธรรม ก็จะเร่งเร้าให้เกิดปัญหาที่รุนแรงขึ้น แปลว่ารัฐบาลกำลังทำให้สังคมไทยล่มสลายมากขึ้น

ขอฝากถึงคนไทยผู้รักประชาธิปไตยและรักความยุติธรรมทั้งหลายว่าต้องสู้ แต่ต้องสู้อย่างเข้าใจ อย่ากระหน่ำซ้ำเติมเหตุการณ์ ต้องมีเหตุผล เคลื่อนไหวต้องได้ประโยชน์ แล้วรู้ว่าทำได้แค่ไหน สะสมชัยชนะไปเรื่อยๆ เราต้องการแค่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน โดยแสดงออกอย่างน้อยคือมีการเลือกตั้ง อย่ามาฉีกรัฐธรรมนูญอีก และเราต้องเปิดโปงสิ่งที่ไม่ถูกต้องถูกเปิดเผยออกมา แม้รัฐบาลจะไม่ยอมรับความจริงที่มีการตายเกิดขึ้นว่าเป็นการกระทำของอำนาจ รัฐ โดยทหารหรือเจ้าหน้าที่ที่เขาจัดการมา ทั้งๆที่โลกรู้ นี่คืออิทธิพลของโลกาภิวัตน์ คุณจะปิดประเทศ ปิดประตูตีแมวเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว

หน้าที่ของประชาชนก็คือ ต้องออกมาต่อสู้ นี่คือศักดิ์ศรีของคนไทย คุณจะอยู่กันแบบเชื่องๆให้เขาทำอะไรก็ได้ตามใจชอบได้อย่างไร ต้องแสดงให้รู้ว่าเราไม่ยอมก้มหัวให้กับอำนาจเผด็จการทหารหรืออำนาจอื่นใด ที่ไม่ชอบธรรม ไม่สอดคล้องกับโลกที่ศิวิไลซ์ ไม่เช่นนั้นนานาชาติจะมองเห็นคนไทยเป็นอะไรสักอย่างหนึ่งที่ยอมก้มหัวให้ ดังนั้น เชื่อว่าคนไทยคงไม่ยอม เป็นเรื่องที่ต้องบอกว่าคนไทยต้องสู้

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 290 วันที่ 18-24 ธันวาคม พ.ศ. 2553 หน้า  18 คอลัมน์ ฟังจากปาก โดย กิตติพิชญ์ ยิ่งวรการสุข
http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=9038


ใครเผา? ใครยิง? ความจริง.. กำลังไล่ล่า…

ใครเผา?…

ภาพที่แพร่สะพัดในเฟซ บุ๊คนับร้อยภาพที่ระบุว่าเป็นบันทึกเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 2553 เพื่อยืนยันว่าเจ้าหน้าที่เข้าคุมสถานการณ์ในห้างเซ็นทรัลเวิลด์ไว้ได้ก่อนจะมีการเผาห้าง โดยก่อนหน้านี้นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็อ้างว่ามีหลักฐานเป็นภาพถ่ายว่าทหารได้ยิงไล่เจ้า ของร้านค้า พนักงาน และยามรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ที่อยู่ภายในห้างให้ออกจากพื้นที่ทั้งหมดก่อนเกิดเหตุเพลิงไหม้

ทหารแค่ถือปืน

แม้ภาพในเฟซบุ๊คไม่สามารถยืนยันว่าเป็นภาพชุดเดียวกันกับที่นายจตุพรอ้างถึงหรือไม่ แต่ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ก็ออกมาปฏิเสธ และชี้แจงว่าภาพทหารที่อยู่ในเหตุการณ์ก่อนเกิดเหตุเผาห้าง เซ็นทรัลเวิลด์ไม่ใช่ภาพใหม่ แต่อาจนำเสนอภาพถ่ายจากอีกมุมหนึ่งมาเผยแพร่ ซึ่งที่ผ่านมามีการนำเสนอหลายครั้งแล้ว และ ศอฉ. ได้ชี้แจงการทำงานของเจ้าหน้าที่ไปแล้วว่าทำอะไร อยู่ที่ไหน ใช้อาวุธลักษณะอย่างไร จึงไม่ต้องตรวจสอบอะไรอีก ส่วนการโพสต์รูปดังกล่าวคงไม่ถือว่าผิดกฎหมาย และเชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบต่อ ศอฉ.

ส่วนภาพที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่ไล่ยิงคนภายในห้างจนบาดเจ็บนั้น พ.อ.สรรเสริญชี้แจงว่า เท่าที่ดูจากภาพไม่พบว่าเจ้าหน้าที่ไล่ยิงอย่างที่เป็นข่าว มีเพียงเจ้าหน้าที่ยืนถือปืนเท่านั้น ซึ่ง ศอฉ. ไม่ปฏิเสธว่าทหารถืออาวุธปฏิบัติภารกิจอยู่ในช่วงนั้น

ทหารคุมห้างก่อนถูกเผา

อย่างไรก็ตาม นายจตุพรได้นำ 4 รปภ. ที่อยู่ภาย ในห้างเซ็นทรัลเวิลด์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมคือ นายเอ (นามสมมุติ) นายเวียน (นามสมมุติ) นายเทียน (นามสมมุติ) และนายพง (นามสมมุติ) มาแถลงยืนยันว่าถูกทหารคุมตัวออกจากห้างก่อนถูกเผา ซึ่งห้างได้จ้างบริษัทรักษาความปลอดภัย 2 แห่งดูแลพื้นที่คือ บริษัท อาร์ทีเอสการ์ด จำกัด ดูแลพื้นที่ด้านนอก ลานจอดรถ และรอบห้างทั้งหมด กับบริษัท จีโฟร์เอส การ์ด จำกัด ดูแลเฉพาะส่วนภายในอาคารทั้งหมด

รปภ. ทั้ง 4 คนระบุสอดคล้องกันว่า ในช่วงเช้าไม่มีเหตุการณ์รุนแรงอะไร แต่หลังจากเวลา 13.00 น. มีเสียงปืนและเสียงระเบิดดังขึ้นเป็นระยะๆ จึงมีคำสั่งให้ รปภ. รอบบริเวณห้างทั้งหมดลงไปอยู่ด้านล่างเพื่อความปลอดภัย โดยปิดล็อกประตูทางเข้าออกห้างทั้งหมด จนเวลา 16.30 น. มีกลุ่มทหารพร้อมอาวุธปืนบุกเข้ามาเคลียร์ในพื้นที่ห้าง สั่งให้นอนหมอบกับพื้น และให้ รปภ. ทุกคนติดบัตรก่อนปล่อยตัวออกไปจากพื้นที่

สตช. ดึงคดีเอาใจรัฐบาล

แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือบันทึกการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนเพิ่มเติมกรณีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมระหว่างวันที่ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งรัฐบาลและกองทัพปฏิเสธมาตลอดว่าไม่ได้ทำร้ายประชาชนและปฏิเสธความรับผิดชอบต่อผู้สูญเสียชีวิต โดยเฉพาะ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก ที่ท้าว่าถ้ามีหลักฐานว่าทหารทำ ร้ายประชาชนก็จะรับผิดชอบนั้น

นายจตุพรระบุว่า ได้รับข้อมูลจากนายตำรวจแตงโมที่รักความเป็นธรรม และทนไม่ได้ที่นายตำรวจใหญ่ระดับนายพลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่รับผิดชอบสำนวนการสืบสวนสอบสวนจากดีเอสไอ เข้าข้างรัฐบาลและกองทัพเพื่อ หวังความก้าวหน้าในชีวิตราชการ ดึงการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพให้ล่าช้า ซึ่ง สตช. ได้รับสำนวนจากดีเอสไอตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 แต่ยังไม่เชิญพนักงานอัยการเข้าร่วมตามที่กฎหมายกำหนด และมีข่าวว่าจะส่งเรื่องกลับมาดีเอสไอใหม่ แทนที่จะส่งเรื่องให้ศาลไต่สวนถึงสาเหตุการตายและผู้ที่ทำให้ตายตามที่กฎหมายกำหนด

ถ้าดึงเรื่องจะทยอยเปิด

นายจตุพรเตือน สตช. ว่าหากยังดึงเรื่องอีกจะทยอยเปิดเผยความจริงถึงสาเหตุการตายในอีกหลายๆ เรื่อง โดยยืนยันว่า ดีเอสไอรู้กระทั่งว่าเจ้าหน้าที่หน่วยใดและนายใดได้รับคำสั่งให้สลายการชุมนุมในพื้นใด ใช้อาวุธประเภทใด ขนาดกระสุนเป็นอย่างไร ซึ่งฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ยอมรับว่าเป็นผู้ใช้อาวุธประจำกายในวันเกิดเหตุจริง มีการเก็บหลักฐานปลอกกระสุนปืน หัวกระสุนปืน รวมทั้งเศษกระสุนปืนในตัวผู้ตายที่เจ้าหน้าที่เบิกจากหน่วยมาใช้คือ หัวกระสุนสีเขียว ซึ่งไม่มีใครใช้กระสุนเช่นนี้ พยานบุคคลที่สอบสวนก็ยืนยันว่าเห็นเจ้าหน้าที่เป็นผู้ยิง แต่เมื่อมีความพยายามถ่วงเวลาจึงขอเปิดเผยข้อมูลบางส่วนที่ได้มา 4 กรณีคือ 1.การตายของประชาชนในวัดปทุมวนารามฯ 2.การตาย ของผู้สื่อข่าวญี่ปุ่น 3.การตายของเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ ดุสิต 4.การตายของพลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ

จนท. ชุดปฏิบัติการวัดปทุมฯ

แม้ข้อมูลของนายจตุพรไม่ได้นำฉบับเต็มมาเปิดเผย แต่ได้สรุปจากสำนวนการสอบสวนของดีเอสไอ ซึ่งนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ก็ยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนสอบสวนจริง แต่เป็นเพียงบางส่วนในสำนวนเท่านั้น ซึ่งดีเอสไอก็ทำงานอย่างตรงไปตรงมาตามหลักฐาน แต่ถ้าทางทหารจะโกรธเคืองก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร โดยข้อมูลของผู้เสียชีวิตที่วัดปทุมฯระบุว่าเสียชีวิตวันที่ 19 พฤษภาคม เวลาประมาณ 18.30 น. บริเวณวัดปทุมฯ ถนนพระราม 1 สาเหตุการตายถูกยิงด้วยอาวุธปืนความเร็วสูง โดยเวลาประมาณ 18.00 น. เจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยได้เข้าปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ (สลายการชุมนุม) บริเวณพื้นที่สี่แยกราชประสงค์ ถนนพระราม 1 หน้าวัดปทุมฯ และบริเวณใกล้เคียง เจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนยิง เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บและมีผู้ถึงแก่ความตายที่บริเวณวัดปทุมฯ ได้แก่ 1.นายรพ สุขสถิตย์ 2.นายอัฐชัย ชุมจันทร์ 3.น.ส.กมนเกด อัคฮาด 4.นายมงคล เข็มทอง 5.นายสุวัน ศรีรักษา และ 6.นายอัครเดช ขันแก้ว

เจ้าหน้าที่ที่เข้าปฏิบัติการมี 2 ชุดคือ เจ้าหน้าที่จากกองพันทหารราบในภาคกลาง เป็นหน่วยกำลังที่รับผิดชอบบริเวณด้านล่างบนถนนพระราม 1 กับเจ้าหน้าที่จากกองพันรบพิเศษหน่วยหนึ่ง นำโดยนายทหารยศ พ.ต. เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการ นำกำลังจำนวน 4 ชุด ปฏิบัติการบนรางรถไฟฟ้าตั้งแต่สถานีสนามกีฬาเพื่อคุ้มกันชุดแรก

รายชื่อเจ้าหน้าที่ทหารที่ใช้อาวุธปืน M16A2 กระสุนปืนขนาด 5.56 มม. เป็นชนิดเอ็ม 855 (M855) หัวกระสุนจะเป็นหัว “สีเขียว” มีรายชื่อดังนี้ 1.จ.ส.อ. (ส) รองหัวหน้าชุดปฏิบัติการ 2.ส.อ. (ภ) 3.ส.อ. (ก) 4.ส.อ. (ช) และ 5.ส.อ. (ว) ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้งห้ายอมรับว่าใช้อาวุธปืนประจำกายยิงเข้าไปในวัดปทุมฯ จริง แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา มีการขออนุมัติเบิกอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนจากหน่วยรบแห่งหนึ่ง ได้แก่ เอ็ม 16 เอ 2 (M16A2) ใช้กระสุนขนาด .223 (5.56 มม.) เป็นกระสุนปืนเอ็ม 855 (M855)

พยานนับสิบเห็นฆ่าโหด

เหตุการณ์ในวัดปทุมฯที่ถือเป็นเขตอภัยทานนั้น มีพยานบุคคลหลายสิบปากเห็นเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธปืนยิงเข้ามาในบริเวณวัด รวมทั้งยิงเข้าไปในเต็นท์พยาบาลขณะที่ยุติการชุมนุมแล้ว ซึ่งเจ้าอาวาสก็ไม่คิดว่าจะมีการฆ่ากันในวัด เพราะได้ทำหนังสือขอชีวิตให้ประชาชนอาศัยวัดเป็นบริเวณที่หลบภัยแล้ว

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานจากพยานบุคคลหลายปากยืนยันว่า เวลา 17.00 น. เศษ มีเสียงปืนดังติดต่อกันหลายนัดมาจากสถานีรถไฟฟ้าสยาม อันเป็นที่ตั้งของหน่วยงานหนึ่งใน กทม. ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและมีผู้ถ่ายภาพไว้ ซึ่งมีการช่วยเหลือบุคคลที่บาดเจ็บคือ นายอัฐชัย ชุมจันทร์ แต่ได้ถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา โดยมีผู้ถ่ายภาพไว้เวลา 17.50 น. วันที่ 19 พฤษภาคม

ขณะที่อาสาพยาบาลช่วยเหลือนายอัฐชัยที่ได้ถ่ายภาพไว้ ในภาพยังมีภาพนายมงคล เข็มทอง อาสาป่อเต็กตึ๊ง ที่เข้ามาช่วยเหลือนายอัฐชัย แต่ไม่นานนายมงคลก็ถูกยิงตายเช่นกัน และต่อมา น.ส.กมนเกด อัคฮาด ก็ถูกกระสุนปืนถึงแก่ความตายในเต็นท์พยาบาล ขณะที่ น.ส.กมนเกดถูกกระสุนนั้น นายอัครเดช ขันแก้ว อาสาพยาบาลอีกคน ได้เข้าไปช่วย แต่ก็ถูกยิงตายในเต็นท์พยาบาลเช่นเดียวกัน

ทุกศพพบหัวกระสุนสีเขียว?

ส่วนนายรพ สุขสถิตย์ และนายสุวัน ศรีรักษา จากการชันสูตรพลิกศพทั้งสองพบเป็นวิถีกระสุนลักษณะ “บนลงล่าง” คือยิงจากรางรถไฟฟ้ามายังด้านล่าง นอกจากนี้ยังพบเศษของกระสุนหัวสีเขียวในศพผู้ตาย ซึ่งปรากฏตามรายงานการตรวจพิสูจน์ของกองพิสูจน์หลักฐานกลางเป็นกระสุนปืน ขนาด .223 (5.56 มม.) เช่นเดียวกับที่พบในศพของนายมงคลที่เข้าช่วยเหลือนายอัฐชัยก็มีวิถีกระสุน ยิงจาก “บนลงล่าง” จากกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) หัวกระสุนสีเขียวเช่นเดียวกัน

สำหรับศพ น.ส.กมนเกดและนายอัครเดช ตามรายงานการตรวจพิสูจน์ของกองพิสูจน์หลักฐานกลางเป็นหัวกระสุนสีเขียวขนาด .223 (5.56 มม.) เช่นกัน โดยมีพยานบุคคลยืนยันว่าเห็นเป็นการยิงจากบนรางรถไฟฟ้าในเวลาประมาณ 18.00 น.

ที่สำคัญคือคำให้การของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ขึ้นไปบนตึกสูงเพื่อถ่ายภาพ ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ขณะถูกเพลิงไหม้นั้นได้ถ่ายภาพเจ้าหน้าที่ของรัฐพร้อม อาวุธปืนยาว อยู่บนรางรถไฟฟ้า ซึ่งมีเสียงปืนดังมาจากทิศทางที่เจ้าหน้าที่ประจำอยู่ และเมื่อประมวลประกอบกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่มาจากหน่วยรบแห่งหนึ่งก็ยอมรับ ว่าหน่วยคุ้มกันแนวราบได้ใช้อาวุธประจำกายยิงเข้ามาในวัดปทุมฯจริง เป็นอาวุธปืนเอ็ม 16 เอ 2 (M16A2) ใช้กระสุนขนาด .223 (5.56 มม.) เป็นกระสุนปืนเอ็ม 855 (M855) ที่มีหัวสีเขียว

ดังนั้น การตาย 6 ศพในวัดปทุมฯจึงยืนยันว่าเจ้าหน้าที่หน่วยดังกล่าวเป็นผู้ยิง มิใช่ผู้ก่อการร้าย

ผลสอบคดียิงผู้สื่อข่าวญี่ปุ่น

สำหรับกรณีนายฮิโรยูกิ มูราโมโต ผู้สื่อข่าวญี่ปุ่นประจำสำนักข่าวรอยเตอร์ ที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เมษายน เวลาประมาณ 21.00 น. บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ ระบุสาเหตุการตายว่ามาจากกระสุนปืนความเร็วสูงไม่ทราบขนาด ยิงเข้าบริเวณหน้าอกซ้ายทะลุกล้ามเนื้อใต้รักแร้ออกต้นแขนขวาด้านหลัง ขณะที่นายฮิโรยูกิกำลังรายงานข่าวอยู่ระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่

คดีนี้มีพยานบุคคลสำคัญคือ นายดาบตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่นอกเครื่องแบบ อยู่ห่างจากนายฮิโรยูกิเพียงประมาณ 1 เมตร และเป็นผู้เข้าไปช่วยประคองตัวนายฮิโรยูกิไว้บนตัก ทำให้เลือดของนายฮิโรยูกิเปื้อนกางเกงยีนส์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจรายนี้ยืนยันทิศทางกระสุนปืนว่าไม่ได้มาจากทางกลุ่มผู้ ชุมนุม ขณะที่พยานสำคัญอีกคนหนึ่งยืนยันว่าเห็นแสงไฟจากปากกระบอกปืนมาจากทางเจ้า หน้าที่ ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารภาพวิดีโอคลิปจากกล้องของนายฮิโรยูกิที่ถ่ายก่อนถูก ยิงเสียชีวิตเวลาประมาณ 20.57 น.

ภาพถ่ายของนายฮิโรยูกิจึงเป็นพยานหลักฐานสำคัญ ซึ่งมีอยู่จำนวน 2 ภาพที่เห็นกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่บริเวณเดียวกัน โดยถ่ายเห็นด้านข้าง ซึ่งจะต้องหันหน้าไปในทิศทางของเจ้าหน้าที่เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ชุมนุม ทิศทางดังกล่าวจึงสอดคล้องกับบาดแผลของผู้ตายตามรายงานการตรวจศพของแพทย์

สำหรับเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่บริเวณถนนดินสอเป็นเจ้าหน้าที่ จากหน่วยงานชายแดนภาคตะวันออก มีนายทหารยศ พ.อ. ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ร่วมปฏิบัติสลายการชุมนุม มีกำลังประมาณ 4 กองร้อย

ศพเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ฝีมือทหาร

เช่นเดียวกับกรณีเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ดุสิตชื่อ นายมานะ อาจราญ เสียชีวิตวันที่ 10 เมษายน เวลาประมาณ 23.30 น. บริเวณสวนสัตว์ดุสิต ในวันเกิดเหตุได้เข้าเวรร่วมกับนายบุญมี แก้วไทรท้วม เฝ้าดูแลที่กรงเต่า หลังออกเวรถูกยิงบริเวณหน้าบ่อเต่า โดยนายบุญมีเป็นผู้เห็นเหตุการณ์และตะโกนให้ช่วยเหลือนายมานะ แต่ขณะวิ่งตะโกนเห็นเจ้าหน้าที่นอนหมอบราบกับพื้นแล้วตะโกนว่า “ถอยออกไป อยากตายหรือไง”

นอกจากนี้ยังมีพยานจากเจ้าหน้าที่ในบริเวณสวน สัตว์ดุสิตเห็นเจ้าหน้าที่ทหารถือปืน โล่ และกระบอง โดยมีเสียงยิงมาจากฝั่งรัฐสภาเป็นระยะ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งให้ข้อเท็จจริงว่า เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการคือกำลังจากจังหวัดนครราชสีมาที่มีนายทหารยศ ร.ท. เป็นผู้ปฏิบัติการ ซึ่งหลักฐานที่พบคือ ปลอกกระสุนปืนเอ็ม 16 จำนวน 2 ปลอก โล่ปราบจลาจลจำนวน 2 อัน กระบองปราบจลาจลจำนวน 3 อัน เสื้อลายพรางระบุชื่อที่อกเสื้อ “บารมี ชีพไธสง” จำนวน 1 ตัว ขณะ ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้ตรวจร่องรอยวิถีกระสุนปรากฏว่าตรงกับลักษณะการถูกยิงของนายมานะ

ตายเพราะพวกเดียวกัน

ส่วนกรณีพลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ ที่เสียชีวิตวันที่ 28 เมษายน เวลา 15.30 น. บริเวณใต้ทางขึ้นโทลล์เวย์ ใกล้อนุสรณ์สถานแห่งชาติ โดยพลทหารณรงค์ฤทธิ์นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า สีแดง ทะเบียน กยษ กจ 683 ถูกยิงที่ศีรษะข้างซ้าย หางคิ้วผ่านทะลุกะโหลกศีรษะ จากรายงานการตรวจศพพบเศษลูกกระสุนปืนในศีรษะเป็นเศษของลูกกระสุนปืนและเศษ แกนลูกกระสุนปืนขนาดประมาณ .223 (5.56 มม.) ที่ใช้กับปืนกลเล็กเอ็ม 16 หรือปืนเอชเค 33 ซึ่งเจ้าหน้าที่เป็นผู้ใช้เท่านั้น

แต่กรณีพลทหารณรงค์ฤทธิ์นั้นที่ผ่านมาฝ่ายทหารปฏิเสธมาโดยตลอด โดยเฉพาะ พ.อ.สรรเสริญพยายามให้ข่าวว่าผู้ก่อการร้ายลอบยิง แต่จากการสืบสวนสอบสวนทั้งตำรวจและทหารในที่เกิดเหตุที่มีอาวุธประจำกายเป็น เอ็ม 16 หรือปืนเอชเค 33 ตั้งเป็นแนวเขตเจ้าหน้าที่นั้น มีพยานบุคคลเห็นเจ้าหน้าที่ผูกผ้าพันคอสีฟ้าจำนวน 2-3 นาย ยืนอยู่บนแนวปืนที่กั้นระหว่างถนนคู่ขนานกับถนนด้านใน นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังยืนยันว่าเสียงปืนที่ยิงพลทหารณรงค์-ฤทธิ์ถึง แก่ความตายมาจากกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่อยู่ทางถนนวิภาวดีรังสิตขาออกด้านคู่ขนาน

จับกุมแบบเหวี่ยงแห

ขณะที่ก่อนหน้านี้คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ได้เปิดเผยถึงการรับคำร้องเรียนการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และจากการเข้าเยี่ยมผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังหรือกักขังจำนวน 422 คน โดยถูกกล่าวหาคดีต่างๆ ได้แก่ วางเพลิงเผาทรัพย์ ร่วมกันพยายามวางเพลิงเผาทรัพย์ ร่วมกันก่อการร้าย ร่วมกันชุมนุมหรือมั่วสุมฝ่าฝืนข้อกำหนดฯ ฯลฯ พบว่าระยะแรกการควบคุมตัวไม่อนุญาตให้มีการติดต่อสื่อสาร ไม่มีโอกาสได้ปรึกษาหารือกับทนายความหรือนำเสนอข้อเท็จจริงในกระบวนการยุติธรรม แต่เป็นการกล่าวหาตั้งข้อสงสัยฝ่ายเดียว

ขณะที่เยาวชนที่เป็นนักศึกษาในเรือนจำคลองเปรมยืนยันว่า ในคืนที่จับกุมเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงขู่ให้รับสารภาพพร้อมของกลางที่จัด ฉากไว้ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตเข้าจับกุมตามภาพถ่าย หรืออาศัยภาพถ่ายในการชุมนุมก่อนหน้านั้น ซึ่งเป็นการจับกุมแบบเหวี่ยงแหโดยไม่แยกระหว่างผู้ร่วมชุมนุมกับผู้ที่ใช้ ความรุนแรง ทั้งยังตั้งข้อหาร้ายแรงตามอำเภอใจอีกด้วย

คำพูดเป็นนาย!

การใช้อำนาจเยี่ยงเผด็จการและหลักฐานการชันสูตรศพส่วนหนึ่งจากจำนวน 91 ศพนั้นระบุชัดเจนว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลและ ศอฉ. ต่างพยายามให้ข่าวและยืนยันตลอดเวลาว่าทหารไม่ฆ่าประชาชน ทั้งยังระบุว่าผู้ที่เสียชีวิตส่วนหนึ่งเกิดจาก “ไอ้โม่งชุดดำ” ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังไม่สามารถจับตัวมาดำเนินคดีได้ แต่กลับกล่าวหาและคุมขังแกนนำเสื้อแดงและคนเสื้อแดงโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมตามปรกติมานานกว่า 6 เดือนแล้ว และยังมีการไล่ล่าและข่มขู่คนเสื้อแดงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

โดยเฉพาะ พล.อ.อนุพงษ์ที่เคยประกาศว่าถ้ามีหลักฐานว่าทหารฆ่าประชาชนก็จะรับผิดชอบ หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ศอฉ. ที่ยืนยันหลายครั้งว่าทหารไม่ได้ฆ่าประชาชนและท้าให้เอาหลักฐานมายืนยัน วันนี้คงต้องถามทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ และ พล.อ.อนุพงษ์ จะยังยืนยันว่า “ไม่ผิด ไม่ได้ทำ ไม่ได้สั่ง” อีกนานแค่ไหน?

เพราะกว่า 6 เดือนที่ผ่านมานายอภิสิทธิ์และผู้เกี่ยวข้องใน ศอฉ. ก็ไม่มีแม้แต่คำ “ขอโทษ” โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ที่เคยเรียกร้องให้รัฐบาลและนักการเมืองต้องมีความรับผิดชอบหรือมีสำนึกทางการเมืองสูงกว่าคนธรรมดา แม้แค่บกพร่องหรือผิดพลาดต่อหน้าที่ ก็ต้องพิจารณาตัวเองโดยไม่ต้องรอให้กฎหมายจัดการ

แต่เหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” มีคนถูกยิงตายถึง 91 ศพ และบาดเจ็บ พิการเกือบ 2,000 คน แต่กลับใส่ร้ายป้ายสีคนเสื้อแดงเป็น “ฆาตกร”

“ความจริงวันนั้น” ได้เริ่มปรากฏชัดขึ้นใน “วันนี้”

ทุกคำถามที่ไม่มีคำตอบจะกลายเป็น “ข้อสงสัย” ที่พุ่งใส่อำนาจรัฐ

“ใครยิงประชาชนผู้บริสุทธิ์?” กำลังถูกเปิดโปงด้วยตำรวจและทหาร “แตงโม”

“ใครเผาเซ็นทรัลเวิลด์?” กำลังถูกขบวนการอำมหิตไล่ล่าทำลายหลักฐานวิดีโอเทปจากกล้องวงจรปิดที่บันทึก ไว้ตลอด 24 ชั่วโมงใช่หรือไม่? การยอมจ่ายเงินประกันภัยด้วยเงื่อนไขว่าต้องยอมรับว่า “เป็นการก่อการร้าย” เท่านั้นเพื่อให้สอดรับกับข้อกล่าวหาว่าเสื้อแดงเป็นผู้ก่อการร้ายคืออภิมหา แบล็กเมล์ใช่หรือไม่?

“กฎหมาย” มีวันหมดอายุความ…แต่ “กฎแห่งกรรม” กำลังไล่ล่า “เงาอำมหิต” ที่มิอาจหนี “สัจธรรม” หรือ “ความจริง” ได้พ้น”

ตราบใดที่ “คนสั่งยังลอยหน้า คนฆ่ายังลอยนวล” ถึงจะนอนตาหลับได้ แต่คงต้องนอนสะดุ้ง เพราะ “ฝันร้าย” ในโสตประสาทจวบจนสิ้นอายุขัย!

เพราะใครๆเริ่มสงสัยแล้วว่า “ใครทำ?”

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6  ฉบับ 289 วันที่ 11 – 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553 หน้า 16-17 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน



โลกประณาม

คดีสลายม็อบแดง 91 ศพคงหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วที่จะนำขึ้นสู่เวทีโลก

ล่าสุดคณะกรรมาธิการ ด้านความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (ซีเอสซีอี) องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนชั้นนำของสหรัฐ ได้เชิญพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไปพูดถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย โดยเฉพาะการสลายม็อบแดงใน เดือนเม.ย.และพ.ค.

ก่อนหน้านี้ก็มีการเคลื่อนไหวจากองค์กรนานาชาติหลายแห่ง องค์กรนิรโทษกรรมสากลเรียกร้องให้รัฐบาลนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เปิดเผยผลการสอบสวนให้โปร่งใส ยูเอ็นก็พยายามส่งเจ้า หน้าที่มาร่วมตรวจสอบ

ยังมี นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความดัง ทำราย งานเสนอศาลอาญาโลกให้สอบสวนเอาผิดนายอภิสิทธิ์ในข้อหาอาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ฉะนั้นการเข้าไปให้ข้อมูลต่อซีเอสซีอีของพ.ต.ท.ทักษิณจึงเป็นการตอกย้ำการละเมิดสิทธิเสรีภาพในไทย

จึงเป็นธรรมดาที่รัฐบาลต้องต่อต้าน ทำทุกวิถีทางที่จะไม่ให้พ.ต.ท.ทักษิณไปปรากฏตัวที่กรุงวอชิงตันในวันที่ 16 ธ.ค.

งัดออกมาหมดสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ข้อตกลงการเจรจาลับ หวังให้สหรัฐล็อกตัวส่งกลับไทย รับโทษคดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ แต่ยิ่งนายอภิสิทธิ์กระเสือกกระสนต่อต้านเท่าไหร่ก็ยิ่งถูกชาวโลกจับจ้องมากขึ้น

การที่ พ.ต.ท.ทักษิณหนีคดีทุจริตจากเมืองไทยก็เป็นเรื่องหนึ่ง การไปเปิดเผยข้อมูลการปราบประชาชนมีคนล้มตายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

จะเอามารวมกันไม่ได้

นายอภิสิทธิ์ต้องไม่ลืมว่าทุกวันนี้กระบวนการสอบสวนคดี 91 ศพของไทยไร้หวังแล้ว ล่วงเลยมา 7 เดือน 91 ศพก็ยังตายฟรี มีผู้บริสุทธิ์ยังถูกขังฟรีอีกนับร้อย

อย่าว่าแต่คนไทยเลย นักข่าวต่างชาติที่เสียชีวิต รัฐบาลก็ยังตอบญาติพี่น้องคนเหล่านั้นไม่ได้

พี่สาวของนายฟาบิโอ โปเลนกี ช่างภาพชาวอิตาลีที่ถูกยิงตาย แถลงตบหน้ารัฐบาลไทยฉาดใหญ่ ระบุว่ายัดเยียดเงินหวังปิดปาก ไม่เคยตระหนักถึงความร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของเธอ

เช่นเดียว กับคดีนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพรอยเตอร์ ที่ถูกฆ่า รัฐบาลญี่ปุ่นจี้คดีหลายหน แต่ทางการไทยก็ไม่ได้ให้คำตอบอะไร

นายอภิสิทธิ์ อาจเอาตัวรอดไปวันๆได้ในเมืองไทย

โยนคดีกันไปมา เยื้อเวลา รักษาอำนาจ

แต่เมื่อไหร่ที่คดี 91 ศพขึ้นสู่เวทีโลก มันคนละเรื่องกันแน่

นานาชาติให้ความสำคัญต่อการละเมิดสิทธิ์

พอถึงวันนั้น มันอาจสายเกินไปแล้วสำหรับนายอภิสิทธิ์

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ 10 ธันวาคม 2553
คอลัมน์ : เหล็กใน

 


ลำดับเหตุการณ์กรณี 6 ตุลาคม 2519 (ตอนที่ 3)

ลำดับเหตุการณ์กรณี 6 ตุลาคม 2519 (ตอนที่ 3)
credit to Sahanut Maneekul

5 ตุลาคม 2519

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ชุดใหม่ โดยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกฯ

นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เริ่มเคลื่อนขบวนมุ่งสู่ธรรมศาสตร์ มีการประกาศงดสอบทุกสถาบัน ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวใหญ่ที่ทำพร้อมกันทั่วประเทศ ตกเย็น จำนวนผู้ร่วมชุมนุมเพิ่มมากขึ้นนับหมื่นคน จึงย้ายการชุมนุมจากบริเวณลานโพธิ์มายังสนามฟุตบอล

มหาวิทยาลัยรามคำแหงประกาศงดการสอบไล่โดยไม่มีกำหนด

ในตอนเช้า หนังสือพิมพ์ดาวสยาม และบางกอกโพสต์ เผยแพร่ภาพการแสดงล้อการแขวนคอของนักศึกษาที่ลานโพธิ์ โดยพาดหัวข่าวเป็นเชิงว่าการแสดงดังกล่าวเป็นการ “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”

นางนงเยาว์ สุวรรณสมบูรณ์ เข้าแจ้งความต่อนายร้อยเวรสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ให้จับกุมผู้แสดงละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพองค์สยามมกุฎราชกุมาร

9.30 น. ที่ประชุมสหภาพแรงงาน 43 แห่ง มีมติจะเข้าพบ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เพื่อยื่นข้อเสนอให้พระถนอมออกนอกประเทศ และสภาแรงงานจะนัดหยุดงานทั่วประเทศภายในวันที่ 11 ตุลาคม

10.00 น. สถานีวิทยุยานเกราะเปิดรายการพิเศษ เสียงของ พ.ท.อุทาร สนิทวงศ์ กล่าวเน้นเป็นระยะว่า “เดี๋ยวนี้การชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ไม่ใช่เป็นเรื่องต่อต้านพระถนอมแล้ว หากแต่เป็นเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”

13.30 น. นักศึกษารามคำแหงเตรียมออกเดินทางไปสมทบที่ธรรมศาสตร์ 25 คันรถ

15.30 น. นักศึกษารามคำแหงที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมคัดค้านพระถนอม ยื่นหนังสือถึงรองอธิการบดีให้มีการสอบไล่ต่อไป

17.30 น. พ.อ.อุทาร ออกประกาศให้คณะกรรมการชมรมวิทยุเสรี และผู้ร่วมก่อตั้งไปร่วมประชุมที่สถานีวิทยุยานเกราะเป็นการด่วน

19.00 น. ประธานรุ่นลูกเสือชาวบ้าน เขตกรุงเทพฯ ได้ประชุมที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โดยมี พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน และอาคม มกรานนท์ เป็นผู้กล่าวในที่ประชุมว่า จะต่อต้าน ศนท. และบุคคลที่อยู่ในธรรมศาสตร์

20.35 น. ชมรมวิทยุเสรี ออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่งว่า “ขณะนี้มีกลุ่มคนก่อความไม่สงบ ได้ดำเนินการไปในทางที่จะทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในกรณีต่างๆ ดังต่อไปนี้ มีการนำธงชาติคลุมตัวละครแสดงเป็นคนตายที่ข้างถนนหน้ารัฐสภา มีการใช้สื่อมวลชนที่มีแนวโน้มเอียงเช่นเดียวกับผู้ก่อความไม่สงบ  ลงบทความ หรือเขียนข่าวไปในทำนองที่จะทำให้เกิดช่องว่างในบวรพุทธศาสนา มีนักศึกษาผู้หนึ่งทำเป็นผู้ถูกแขวนคอ โดยผู้ก่อความไม่สงบที่มีใบหน้าคล้ายกับพระราชวงศ์ชั้นสูงองค์หนึ่ง พยายามแต่งใบหน้าเพิ่มเติมให้เหมือน” ทั้งนี้พยายามจะแสดงให้เห็น ว่า กรณีพระถนอมและผู้ที่ถูกแขวนคอเป็นเพียงข้ออ้างในการชุมนุมก่อความไม่สงบเท่านั้น แต่ความจริงต้องการทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นับเป็นครั้งแรกที่สถานีวิทยุยานเกราะ และชมรมวิทยุเสรี เรียกกลุ่มนักศึกษาประชาชนที่ธรรมศาสตร์ว่า “ผู้ก่อความไม่สงบ” ซึ่งแถลงการณ์ได้กล่าวต่อไปอีกว่า “ชมรมวิทยุเสรีคัดค้านการกระทำดังกล่าวในทุกๆ กรณี ขอให้รัฐบาลจัดการกับผู้ทรยศเหล่านี้โดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการนองเลือดอันอาจจะเกิดขึ้น หากให้ประชาชนชุมนุมกันแล้วอาจมีการนองเลือดขึ้นก็ได้” นับเป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่สถานีวิทยุยานเกราะและชมรมวิทยุเสรีกล่าวคำว่า “อาจมีการนองเลือดขึ้น”

21.00 น. พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ สั่งให้ประธานลูกเสือชาวบ้าน (ลส.ชบ.) แจ้งแก่บรรดา ลส.ชบ.ที่ชุมนุมกันอยู่ ณ บริเวณพระบรมรูปทรงม้าว่า ให้ฟังสถานีวิทยุยานเกราะและชมรมวิทยุเสรีก่อนการเคลื่อนไหว

21.30 น. นายประยูร อัครบวร รองเลขาธิการฝ่ายการเมืองของ ศนท.ได้แถลงที่ อมธ. พร้อมกับนำ นายอภินันท์ บัวหภักดี นักศึกษาปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ และนายวิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ นักศึกษาปีที่ 4 คณะศิลปศาสตร์ สมาชิกชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาแสดงความบริสุทธิ์ใจ และกล่าวว่าการแสดงดังกล่าวก็เพื่อแสดงให้เห็นความทารุณโหดร้ายอันเนื่องมา จากการฆ่าแขวนคอที่นครปฐม โดยมีการแต่งหน้าให้เหมือนสภาพศพ และการที่เลือกเอาบุคคลทั้งสองก็เพราะเป็นนักแสดงในมหาวิทยาลัย อีกทั้งตัวเล็กมีน้ำหนักเบา ไม่ทำให้กิ่งไม้หักง่าย การแสดงแขวนคอใช้วิธีผูกผ้าขาวม้ารัดรอบอกและผูกเชือกด้านหลังห้อยกับกิ่งไม้ จึงต้องใส่เสื้อทหารซึ่งมีตัวใหญ่เพื่อบังร่องรอยผ้าขาวม้าให้ดูสมจริง นายประยูรกล่าวว่า “ทางนักศึกษาไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมสถานีวิทยุยานเกราะและหนังสือพิมพ์ดาวสยามจึงให้ร้ายป้ายสีบิดเบือนให้เป็นอย่างอื่นโดยดึงเอาสถาบันที่เคารพมาเกี่ยวข้อง…”

21.40 น. รัฐบาลเสนีย์ออกแถลงการณ์ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 แจ้งว่า “ตามที่ได้มีการแสดงละครที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ศกนี้ มีลักษณะเป็นการหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์รัชทายาท รัฐบาลได้สั่งให้กรมตำรวจดำเนินการสอบสวนกรณีนี้โดยด่วนแล้ว” สถานีวิทยุยานเกราะและชมรมวิทยุเสรีออกอากาศตลอดคืนเรียกร้องให้ประชาชน และลูกเสือชาวบ้านไปชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการจับกุมผู้กระทำการหมิ่นองค์สยามมกุฎราชกุมารมาลงโทษ

24.00 น. กรมตำรวจประชุมเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ประกอบด้วย พล.ต.อ.ศรีสุข มหินทรเทพ พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ พล.ต.ท.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น พล.ต.ท.ณรงค์ มหานนท์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่อีกหลายนาย

6 ตุลาคม 2519

สถานีวิทยุยานเกราะออกอากาศว่า พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นคำขาดต่อ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลดำเนินการตามกฎหมายต่อ ศนท. ที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างเด็ดขาด หากมีรัฐมนตรีหรือนักการเมืองคนใดเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ก็ให้จับกุมและลงโทษตามกฎหมายทันที

สุธรรม แสงประทุม กับกรรมการ ศนท. และตัวแทนชุมนุมนาฏศิลป์ฯ เดินทางไปขอพบนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ

01.40 น. กลุ่มคนประมาณ 100 คนได้บุกเข้าไปเผาแผ่นโปสเตอร์หน้าประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้านสนามหลวง กลุ่มคนที่อออยู่หน้าประตูพยายามจะบุกปีนรั้วเข้าไป มีเสียงปืนนัดแรกดังขึ้นและมีการยิงตอบโต้ประปรายแต่ไม่มีใครบาดเจ็บ

02.00 น. กลุ่มนวพลในนาม “ศูนย์ประสานงานเยาวชน” มีแถลงการณ์ความว่า “ขอให้รัฐบาลจับกุมกรรมการ ศนท. ภายใน 72 ชั่วโมง หากรัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติได้ นวพลจะดำเนินการขั้นเด็ดขาด”

03.00 น. สถานีวิทยุยานเกราะยังคงออกรายการ “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ตลอดทั้งคืน ส่วนภายในธรรมศาสตร์ยังมีการอภิปรายและแสดงดนตรีต่อไป แม้จะมีผู้พยายามบุกเข้ามหาวิทยาลัยและมีเสียงปืนดังขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ของ ศนท. ขึ้นอภิปรายบนเวทีขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ใช้อาวุธ ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น เจ้าหน้าที่หน่วยปราบจราจลยกกำลังมากั้นทางออกด้านสนามหลวง

05.00 น. กลุ่มคนที่ยืนอออยู่หน้าประตูมหาวิทยาลัยพยายามจะบุกปีนเข้าไปอีกครั้ง ยังคงมีการยิงตอบโต้ด้วยปืนพกประปราย

07.00 น. กลุ่มคนที่อออยู่หน้าประตูมหาวิทยาลัยตั้งแต่ตอนตีหนึ่งพยายามบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยโดยใช้รถบัสสองคันขับพุ่งเข้าชนประตู ต่อมาก็มีเสียงระเบิดดังขึ้น

07.50 น. ตำรวจหน่วยคอมมานโด หน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) และตำรวจท้องที่ ล้อมอยู่โดยรอบมหาวิทยาลัย โดยมี พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ พล.ต.ต.เสน่ห์ สิทธิพันธ์ และพล.ต.ต.ยุทธนา วรรณโกวิท มาถึงที่เกิดเหตุและเข้าร่วมบัญชาการ

08.10 น. พล.ต.ต.เสน่ห์ สิทธิพันธ์ บัญชาการให้ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) อาวุธครบมือบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตชด.มีอาวุธสงครามใช้ทุกชนิด ตั้งแต่เครื่องยิงระเบิด ปืนต่อสู้รถถัง ปืนเอ็ม 79 ปืนเอ็ม 16 ปืนเอช.เค. และปืนคาร์บิน ตำรวจบางคนมีระเบิดมือห้อยอยู่ครบเต็มอัตราศึก เสียงปืนดังรุนแรงตลอดเวลา ตำรวจประกาศให้นักศึกษายอมจำนน นักศึกษาหลายคนพยายามวิ่งออกมาข้างนอก จึงถูกประชาชนที่อยู่ภายนอกรุมประชาทัณฑ์ นักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมอยู่ข้างในแตกกระจัดกระจายหลบหนีกระสุน

08.18 น. ตชด.เข้าประจำการแทนตำรวจท้องที่ และมีกำลังใหม่เข้ามาเสริมอีก 2 คันรถ

08.25 น. ตชด.บุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยหลายจุด พร้อมกับยิงกระสุนวิถีโค้ง และยิงกราดเข้าไปยังกลุ่มนักศึกษาซึ่งมีอยู่จำนวนมาก มีนักศึกษาถูกยิงบาดเจ็บและเสียชีวิตทันทีหลายคน (ไทยรัฐ 7 ตุลาคม 2519)

08.30-10.00 น. นักศึกษาและประชาชนที่อยู่ในมหาวิทยาลัยตลอดคืนต่างแตกตื่นวิ่งหนีวิถีกระสุนที่ ตชด.  และกลุ่มคนที่เข้าก่อเหตุได้ยิงเข้าใส่ฝูงชนอย่างไม่ยั้ง ทั้งๆ ที่หน่วยรักษาความปลอดภัยของนักศึกษามีปืนพกเพียงไม่กี่กระบอก นักศึกษาประชาชนที่แตกตื่นวิ่งหนีออกไปทางหน้าประตูมหาวิทยาลัยในจำนวน นี้มีมากกว่า 20 คนถูกรุมตีรุมกระทืบ บางคนถูกทำร้ายบาดเจ็บสาหัส แต่ยังไม่สิ้นใจ ได้ถูกลากออกไปแขวนคอ และแสดงท่าทางเยาะเย้ยศพต่างๆ นานา นักศึกษาหญิงคนหนึ่งถูกรุมตีจนสิ้นชีวิต แล้วถูกเปลือยผ้าประจาน  โดยมีชายคนหนึ่งซึ่งเข้าก่อเหตุ  รูดซิปกางเกงออกมาแสดงท่าเหมือนจะข่มขืนหญิงผู้เคราะห์ร้ายนั้น ให้พวกพ้องที่โห่ร้องอยู่ใกล้ๆ ดู   มีประชาชนบางส่วนเมื่อเห็นเหตุการณ์ชวนสังเวช  ก็จะเดินเลี่ยงไปด้วยน้ำตาคลอ

ประชาชนที่ชุมนุมอยู่หน้าประตูมหาวิทยาลัย ลากศพนักศึกษาที่ถูกทิ้งอยู่เกลื่อนกลาดข้างหอประชุมใหญ่ 3 คนออกมาเผากลางถนนราชดำเนิน ตรงข้ามอนุสาวรีย์พระแม่ธรณีบีบมวยผม ใกล้ๆ กับบริเวณแผงขายหนังสือสนามหลวง โดยเอายางรถยนต์ทับแล้วราดน้ำมันเบนซิน จุดไฟเผา ศพนักศึกษาอีก 1 ศพถูกนำไปแขวนคอไว้กับต้นมะขามแล้วถูกตีจนร่างเละ

เหตุการณ์ในและนอกธรรมศาสตร์ช่วงนี้มีรายละเอียดมากมาย ดังปรากฏจากคำพูดของผู้ประสบเหตุการณ์คนหนึ่งในวันนั้น ดังต่อไปนี้

…ในเช้าวันที่ 6 ตุลา ขณะที่ฉันนอนอยู่ตรงบันไดตึกวารสารฯ ก็ได้ยินเสียงระเบิดดังขึ้น ฉันและเพื่อน 2 คนเดินออกมาดูเหตุการณ์ยังสนามฟุตบอล จึงทราบว่าพวกตำรวจได้ยิง เอ็ม 79 เข้ามาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้มีคนตายและบาดเจ็บหลายคน เพื่อความปลอดภัย โฆษกบนเวทีประกาศให้ประชาชนหลบเข้าข้างตึก ฉันและเพื่อนยืนฟังอยู่พักหนึ่ง พวกทหารก็เริ่มระดมยิงเข้ามาในธรรมศาสตร์ทุกด้านเป็นเวลานาน ฉันกับเพื่อนจึงหมอบอยู่บริเวณข้างตึกโดมข้างๆ เวที ภาพที่เห็นข้างหน้าคือ บริเวณหน้าหอประชุมใหญ่มีควันตลบไปหมด พวกมันระดมยิงถล่มมายังหน้าหอใหญ่เป็นเวลานาน พวกเราหลายคนถึงกับร้องไห้ด้วยความเคียดแค้น และเป็นห่วงเพื่อนๆ ของเราที่รักษาความปลอดภัยอยู่บริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ ซึ่งมีอยู่ไม่กี่คน แต่พวกตำรวจระดมยิงเข้ามาเหมือนจะทำลายคนจำนวนพันคน ตำรวจยิงเข้ามาพักหนึ่ง เมื่อแน่ใจว่าพวกเราที่หน้าหอใหญ่ตายหมดแล้ว มันจึงกล้าเอารถเมล์วิ่งพังประตูเข้ามาในธรรมศาสตร์

เมื่อเห็นว่าเหตุการณ์รุนแรงมากขึ้น พวกเราจึงช่วยกันพังประตูตึกโดมเข้าไป ตอนแรกคิดว่าอยู่ในตึกคงปลอดภัย แต่เมื่อเห็นว่าพวกมันยังยิงเข้ามาไม่หยุดและเคลื่อนกำลังเข้ามามากขึ้น จึงตัดสินใจกระโดดลงจากตึกโดมแล้ววิ่งไปตึกศิลปศาสตร์และลงแม่น้ำเจ้าพระยา ฉันและเพื่อนๆ ได้ขึ้นฝั่งที่ท่าพระจันทร์ ปรากฏว่าพวกตำรวจตรึงกำลังอยู่บริเวณดังกล่าว และปิดถนนถึงท่าช้าง ประชาชนบริเวณท่าพระจันทร์ปิดประตูหน้าต่างกันหมด พวกเราเดินเลาะไปตามริมน้ำ พอมาระยะหนึ่งไม่มีทางไป เพื่อนบางส่วนพอวิ่งออกไปถนนก็ถูกตำรวจจับ ฉันและเพื่อนจึงตัดสินใจเคาะประตูบ้านประชาชนบริเวณนั้น มีหลายบ้านเปิดให้พวกเราเข้าไปหลบด้วยความเต็มใจ เนื่องจากจำนวนคนมีมากเหลือเกิน เพื่อนของเราบางส่วนยอมเสียสละให้ผู้หญิงและประชาชนเข้าไปหลบในบ้านประชาชน ในบ้านที่ฉันเข้าไปหลบอยู่มีคนประมาณ 30 คนอยู่ด้วย เจ้าของบ้านต้มข้าวต้มให้พวกเรากิน ฉันนั่งฟังเสียงปืนที่พวกมันยิงถล่มธรรมศาสตร์อยู่ประมาณชั่วโมงเศษ มีทหารและตำรวจ 2 คนมาเคาะประตูบ้าน มันขู่ว่าถ้าไม่เปิดจะยิงเข้ามา เจ้าของบ้านจึงต้องไปเปิดให้พวกตำรวจเข้ามาตรวจค้นบ้านทุกชั้น ทุกห้องตามความต้องการ

พวกเราถูกตำรวจไล่ให้มารวมกับคนอื่นๆ ที่ถูกจับอยู่ก่อนแล้วที่ถนนข้างวัดมหาธาตุ นอนกันเป็นแถวยาวมาก ตำรวจสั่งให้ผู้ชายถอดเสื้อ ทุกคนต้องนอนอยู่นิ่งๆ ห้ามเงยหัวขึ้นมา พวกเราต้องนอนอยู่เช่นนี้เป็นเวลาหลายชั่วโมง ต้องทนตากแดดอยู่กลางถนน และยังมีกระทิงแดงและลูกเสือชาวบ้านที่ร้ายกาจหลายคนเดินด่าว่าพวกเราอย่างหยาบคาย ทั้งพูดท้าทายและข่มขู่อยู่ตลอดเวลา เราต้องเผชิญกับการสร้างสถานการณ์ข่มขู่ทำลายขวัญของพวกตำรวจ โดยสั่งให้พวกเรานอนคว่ำหน้าและไล่ประชาชนออกจากบริเวณนั้น แล้วยิงปืนรัวสนั่นจนพอใจจึงหยุด ฉันนอนอยู่ริมๆ แถวรู้สึกว่ากระสุนวิ่งไปมาบนถนน ไม่ห่างไกลจากเท้าฉันนัก บางครั้งก็มีเศษหินเศษอิฐกระเด็นมาถูกตามตัวพวกเรา แทนที่พวกตำรวจจะทำลายขวัญพวกเราสำเร็จ กลับเสริมความเคียดแค้นให้กับพวกเราทุกคน เหมือนฉันได้ผ่านเตาหลอมที่ได้ทดสอบความเข้มแข็งและจิตใจที่ไม่สะทกสะท้านต่อการข่มขู่ บางคนรู้สึกกลัว พวกเราก็คอยปลอบใจ ไม่ให้กลัวการข่มขู่ พวกมันทำเช่นนี้อยู่หลายครั้งจนพอใจ จึงสั่งให้พวกเราคลานไป สักพักหนึ่งมันก็ตะคอกสั่งให้หมอบลง จนถึงรถเมล์ที่จอดอยู่ใกล้ๆ ก็ให้ลุกขึ้นเข้าแถวทยอยกันขึ้นรถ

พวกเรานั่งกันเต็มรถทั้งที่นั่งและพื้นรถ ตำรวจสั่งให้พวกเราเอามือไว้บนหัวและต้องก้มหัวลงต่ำๆ  พอรถแล่นออกมายังสนามหลวงผ่านราชดำเนินจะมีกระทิงแดงและลูกเสือชาวบ้านตั้งแถวรออยู่ พอรถมาถึงมันก็ขว้างก้อนอิฐก้อนหินและโห่ร้องด้วยความชอบใจ พวกเราในรถหลายคนหัวแตก บางคนถูกหน้าผากเลือดไหลเต็มหน้า พวกตำรวจที่คุมมาก็คอยพูดจาเยาะเย้ยถากถางและตะคอกด่าพวกเรามาตลอดทางจนถึงบางเขน พอรถเลี้ยวเข้ามาบางเขนก็มีตำรวจเอาเศษแก้วขว้างเข้ามาในรถ แต่โชคดีที่ไม่ถูกใครเข้า เมื่อรถวิ่งเข้ามาจอดที่เรือนจำก็มีตำรวจกลุ่มหนึ่งวิ่งเข้ามาล้อมรถไว้ บางส่วนกรูเข้าในรถ ทั้งด่า ทั้งเตะ ซ้อมคนในรถตามชอบใจ คนไหนใส่แว่นมันยิ่งซ้อมหนัก บางคนถูกมันกระชากเอาแว่นไปด้วย พวกมันสั่งให้ทุกคนถอดนาฬิกาและสร้อยคอให้หมด ผู้ชายต้องถอดเข็มขัดออก มันอ้างว่าเดี๋ยวพวกเราจะเอาไปผูกคอตายในคุก คนไหนไม่ทำตามมันก็เอาท้ายปืนตี มันทำตัวยิ่งกว่าโจร ยิ่งกว่าสัตว์ป่าอีกด้วย

ฉันและเพื่อนหญิงประมาณ 400 คน ถูกขังอยู่ชั้น 2 ของเรือนจำ มีอยู่ 2 ห้อง ห้องหนึ่งจุคน 200 กว่าคน สภาพในคุกทั้งสกปรก ทั้งคับแคบ ต้องนอนเบียดเสียดกัน น้ำก็ไม่มีให้ใช้ ในระยะแรกน้ำก็ไม่มีให้กิน พวกเราทุกคนที่อยู่ในคุกได้จัดตั้งกันเป็นกลุ่มๆ ตามแต่ละองค์กรเพื่อช่วยเหลือกัน จัดให้มีการพูดคุยปรึกษาหารือ เช่น เล่าแลกเปลี่ยนเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลา ที่แต่ละคนได้พบเห็นความทารุณโหดร้ายของ ตชด. ตำรวจ กระทิงแดง และลูกเสือชาวบ้าน ที่ร่วมกันเข่นฆ่าเพื่อนๆ และพี่น้องประชาชนอย่างโหดเหี้ยม….

เหตุการณ์น่าสังเวชที่มีรายละเอียดยังมีอีกมาก ดังส่วนหนึ่งกระจายเป็นข่าวไปทั่วโลก ดังเช่น

นีล ยูลิวิค ผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่อยู่ในเหตุการณ์ได้รายงานตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ เดอะ รียิสเตอร์ วันที่ 8 ตุลาคม 2519 ว่า “ด้วยความชำนาญในการสื่อข่าวการรบในอินโดจีนแล้ว ข้าพเจ้าสามารถบอกได้ว่าเสียงปืนที่ได้ยินนั้น 90% ยิงไปในทิศทางเดียวกัน คือยิงใส่นักศึกษา บางครั้งจึงจะมีกระสุนปืนยิงตอบมาสักนัดหนึ่ง”

เลวิส เอ็ม ไซมอนส์ รายงานข่าวในหนังสือพิมพ์ ซานฟรานซิสโก ครอนิเกิล วันที่ 7 ตุลาคม 2519 ว่า “หน่วยปราบปรามพิเศษต่างก็กราดปืนกลใส่ตัวอาคารและส่วนอื่นๆ ของมหาวิทยาลัย พวกแม่นปืนที่ได้รับการฝึกมาเป็นพิเศษใช้ปืนไรเฟิลแรงสูงยิงเก็บเป็นรายตัว ตำรวจพลร่มกลุ่มหนึ่งสวมหมวกเบเร่ต์ดำ เสื้อแจ๊คเก็ตดำคลุมทับชุดพรางตาสีเขียวได้ยิงไปที่อาคารต่างๆ ด้วยปืนไร้แรงสะท้อนยาว 8 ฟุต ซึ่งปกติเป็นอาวุธต่อสู้รถถัง ส่วนตำรวจคนอื่นๆ ก็ยิงลูกระเบิดจากเครื่องยิงประทับไหล่ ไม่มีเวลาใดเลยที่ตำรวจจะพยายามให้นักศึกษาออกมาจากที่ซ่อนด้วยแก๊สน้ำตา หรือเครื่องควบคุมฝูงชนแบบมาตรฐานอื่นๆ” ไซมอนส์ได้อ้างคำพูดของช่างภาพตะวันตกคนหนึ่งที่ชาญสนามมา 4 ปีในสงครามเวียดนาม ซึ่งกล่าวว่า “พวกตำรวจกระหายเลือด มันเป็นการยิงที่เลวร้ายที่สุดที่ข้าพเจ้าเคยเห็นมา”

สำนัก ข่าวเอพี (แอสโซซิเอเต็ด เพรส) รายงานจากผู้สื่อข่าวประจำประเทศไทยว่า นักศึกษาที่ชุมนุมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ถูกล้อมยิงและถูกบุกทำร้าย จากพวกฝ่ายขวาประมาณ 10,000 คน ตำรวจระดมยิงด้วยปืนกลใส่นักศึกษาที่ถูกหาว่าเป็นฝ่ายซ้าย นักศึกษา 2 คนถูกแขวนคอและถูกตีด้วยท่อนไม้ ถูกควักลูกตา และถูกเชือดคอ

นาย จี แซ่จู ช่างภาพของเอพี กล่าวว่า เขาเห็นนักศึกษา 4 คนถูกลากออกไปจากประตูธรรมศาสตร์ถึงถนนใกล้ๆ แล้วถูกซ้อม ถูกราดน้ำมันเบนซินแล้วเผา

หนังสือพิมพ์ลอสแองเจลิส ไทมส์ วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ตีพิมพ์รายงานจากผู้สื่อข่าวของตนในกรุงเทพฯ ว่า กระแสคลื่นตำรวจ 1,500 คนได้ใช้ปืนกลระดมยิงนักศึกษาในธรรมศาสตร์ พวกฝ่ายขวาแขวนคอนักศึกษา 2 คน จุดไฟเผา ตีด้วยท่อนไม้ ควักลูกตา เชือดคอ บางศพนอนกลิ้งกลางสนามโดยไม่มีหัว

หนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทมส์ วันที่ 6 ตุลาคม 2519 รายงานว่ามีนักศึกษาอย่างน้อย 4 คนพยายามหลบรอดออกมาข้างนอกมหาวิทยาลัย แต่แล้วก็ถูกล้อมกรอบด้วยพวกตำรวจ และพวกสนับสนุนฝ่ายขวาเข้ากลุ้มรุมซ้อมและทุบด้วยท่อนไม้จนถึงแก่ความตาย นักศึกษาบางคนมีเลือดไหลโชกศีรษะและแขน เดินโซเซออกมาจากมหาวิทยาลัยแล้วก็ล้มฮวบลง

สำนักข่าว อินเตอร์นิวส์ ผู้พิมพ์วารสารอินเตอร์เนชั่นแนล บุลเลทิน รายงานว่าตำรวจได้ใช้ปืนกล ลูกระเบิดมือ ปืนไร้แรงสะท้อน ระดมยิงนักศึกษาในมหาวิทยาลัย นักศึกษาหลายคนถูกจับตัวและถูกราดน้ำมันเบนซินแล้วจุดไฟเผา คนอื่นๆ บ้างก็ถูกซ้อม บ้างก็ถูกยิงตาย “ผู้อยู่ในธรรมศาสตร์ขอร้องให้ตำรวจ หยุดยิง ตำรวจก็ไม่หยุด ขอให้หยุดชั่วคราวเพื่อให้ผู้หญิงที่อยู่ในมหาวิทยาลัยมีโอกาสหนีออกไป ตำรวจก็ไม่ฟัง”

11.00 น. หลังจากตำรวจบุกยึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แล้ว นักศึกษาประชาชนถูกสั่งให้นอนคว่ำ แล้วควบคุมตัวไว้ทยอยลำเลียงขึ้นรถเมล์และรถสองแถวส่งไปขังตามสถานีตำรวจ ต่างๆ (มี 3 แหล่งใหญ่ๆ ได้แก่ นครปฐม ชลบุรี และร.ร.ตำรวจนครบาลบางเขน) มากกว่า 3,000 คน ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวอยู่นั้น นักศึกษาชายและหญิงถูกบังคับให้ถอดเสื้อ นักศึกษาหญิงเหลือแต่เสื้อชั้นใน ถูกสั่งให้เอามือกุมหัว นอนคว่ำคลานไปตามพื้น ระหว่างที่คลานไปตามพื้นก็ถูกเตะถีบจากตำรวจ ระหว่างขึ้นรถก็ถูกด่าทออย่างหยาบคายและถูกขว้างปาเตะถีบจากตำรวจและอันธพาล กระทิงแดง ลส.ชบ. ระหว่างลงจากรถไปยังที่คุมขังก็ถูกตำรวจปล้นชิงทรัพย์สินและของมีค่าไป

กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้กำชับการอยู่เวรยาม ให้เจ้าหน้าที่สื่อสารคอยรับฟังข่าวจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และสดับตรับฟังข่าวในเขตจังหวัด ป้องกันการก่อวินาศกรรมสถานที่ราชการ และหาทางยับยั้งอย่าให้นักเรียนนิสิตนักศึกษาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ

กทม. สั่งปิดโรงเรียนในสังกัดโดยไม่มีกำหนด กระทรวงศึกษาธิการสั่งปิดโรงเรียนในสังกัดถึงวันที่ 11 ตุลาคม 2519 กระทรวงยุติธรรมสั่งหยุดศาลต่างๆ 1 วัน

11.50 น. สำนักนายกรัฐมนตรีแถลงว่า นายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้ตั้งกองบัญชาการรักษาความสงบเรียบร้อยขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล

12.00 น. รัฐบาลออกแถลงการณ์สรุปได้ว่า

  1. เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพสยามมกุฎราชกุมารได้ แล้ว 6 คน จะดำเนินการส่งฟ้องศาลโดยเร็ว
  2. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าควบคุมสถานการณ์การปะทะกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แล้ว
  3. รัฐบาลได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายโดยเด็ดขาด

12.30 น. กลุ่มลูกเสือชาวบ้านและประชาชนจำนวนหลายหมื่นคนชุมนุมอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า มีการพูดกลางที่ชุมนุม โดยนายอุทิศ นาคสวัสดิ์ ให้ปลดรัฐมนตรี 4 คน คือนายสุรินทร์ มาศดิตถ์ นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ นายชวน หลีกภัย และนายวีระ มุสิกพงศ์ โดยแต่งตั้งให้นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมบุญ ศิริธร อยู่ในตำแหน่งเดิมต่อไป ในที่ชุมนุมมีการเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการกับผู้ที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ องค์สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างเฉียบขาด

นิสิตจุฬาฯ ประมาณ 3,000 คน ชุมนุมกันภายในบริเวณมหาวิทยาลัย นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ชี้แจงถึงเหตุการณ์จราจลที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ

  1. เรียกร้องให้นิสิตจุฬาฯ ออกชี้แจงกับประชาชนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
  2. เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเรื่องที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด
  3. ยืนยันว่าหากเกิดรัฐประหาร พวกตนจะต่อสู้ถึงที่สุด
  4. ยืนหยัดในการขับพระถนอมออกนอกประเทศ

บ่ายวันนั้นมีการประชุม ครม.นัดพิเศษ พล.ต.อ.ศรีสุข มหินทรเทพ และพล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดีกรมตำรวจ เข้าชี้แจงเหตุการณ์ต่อที่ประชุม ครม.

14.20 น. ประชาชนและลูกเสือชาวบ้านที่ชุมนุมอยู่ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าส่วนหนึ่ง ประมาณ 4,000 คน เคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล และส่งตัวแทน 5 คนเข้าพบนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ปรับปรุง ครม. และดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องกับการแสดงละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นายกรัฐมนตรีรับปากว่าจะพิจารณาดำเนินการ

17.00 น. ประชาชนและลูกเสือชาวบ้านที่ชุมนุมอยู่สลายตัว

18.00 น. พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ประกาศยึดอำนาจ ความว่า “ขณะนี้ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 6 ตุลาคม เป็นต้นไป และสถานการณ์ทั้งหลายตกอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน…” โดยมีเหตุผลในการยึดอำนาจการปกครอง คือ “…คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้ประจักษ์แจ้งถึงภัยที่ได้เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ กล่าวคือ ได้มีกลุ่มบุคคลซึ่งประกอบด้วยนิสิตนักศึกษาบางกลุ่ม ได้กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยมีเจตจำนงทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนของคอมมิวนิสต์ที่จะเข้ายึดครองประเทศไทย เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการเข้าจับกุมก็ได้ต่อสู้ด้วยอาวุธร้ายแรงที่ใช้ในราชการ สงคราม โดยร่วมมือกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ชาวเวียดนาม ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก”

สรุปความเสียหายจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ตามตัวเลขทางการระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 39 คน บาดเจ็บ 145 คน (ในจำนวนนี้เป็นตำรวจเสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 23 คน) นักศึกษาประชาชนถูกจับกุม 3,094 คน เป็นชาย 2,432 คน หญิง 662 คน ขณะที่แหล่งข่าวอ้างอิงจากการเก็บศพของเจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญู ประมาณว่ามีนักศึกษาประชาชนเสียชีวิต 530 คน ส่วนทรัพย์สิน (จากการสำรวจของคณะกรรมการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) มีครุภัณฑ์และวัสดุของคณะต่างๆ เสียหายเป็นมูลค่า 50 กว่าล้านบาท ร้านสหกรณ์มีสินค้าและทรัพย์สินเสียหาย 1 ล้าน 3 แสนบาท สิ่งของมีค่าหายสาบสูญ อาทิ โทรทัศน์ เครื่องพิมพ์ดีด กล้องถ่ายรูป เทปบันทึกเสียง เครื่องเย็บกระดาษ เสื้อผ้า เงินสด รายงานแจ้งว่า “หน้าต่างถูกทุบและโดนลูกกระสุนเสียหาย โต๊ะเก้าอี้พัง ห้องพักอาจารย์ถูกรื้อค้นกระจัดกระจาย”

24 สิงหาคม 2520

อัยการศาลทหารกรุงเทพฯ พิจารณาสำนวนสอบสวนแล้ว มีคำสั่งฟ้องนักศึกษาและประชาชนเป็นผู้ต้องหาจำนวน 18 คน

16 กันยายน 2521

ผู้ ต้องหาคดี 6 ตุลา ทั้ง 18 คน ได้รับการนิรโทษกรรม พร้อมกับผู้ต้องหาในศาลอาญาอีก 1 คน คือนายบุญชาติ เสถียรธรรมมณี ทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ

18 กันยายน 2521

สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สมธ.) ร่วมกับสโมสรนักศึกษา 8 แห่ง จัดงานรับขวัญ “ผู้บริสุทธิ์ 6 ตุลา” ที่ลานโพธิ์

ที่มา :

(1) คัดลอกและเรียบเรียงจาก จุลสาร “พิสุทธ์” เนื่องในงานรำลึกวีรชนเดือนตุลา จัดพิมพ์โดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย

(2) จุลสาร “ตุลา สานต่อเจตนาวีรชน” จัดพิมพ์โดย พรรคสัจจธรรม มหาวิทยาลัยรามคำแหง

(3) หนังสือ “รอยยิ้มในวันนี้” คณะกรรมการบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2522



ลำดับเหตุการณ์กรณี 6 ตุลาคม 2519 (ตอนที่ 2)

ลำดับเหตุการณ์กรณี 6 ตุลาคม 2519 (ตอนที่ 2)
credit to Sahanut Maneekul

20 กันยายน 2519

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ได้เชิญหัวหน้าพรรคชาติไทย ธรรมสังคม สังคมชาตินิยม และนายเสวต เปี่ยมพงศ์สานต์ เข้าพบเพื่อปรึกษาหารือ และมีข้อสรุปว่า

  1. จอมพลถนอมเข้ามาบวชตามที่ขอรัฐบาลไว้แล้ว
  2. ในฐานะที่จอมพลถนอมเป็นทั้งจอมพลและภิกษุจึงน่าจะพิจารณาตัวเองได้หากมี ความไม่สงบเกิดขึ้น

มีปฏิกิริยาและความเคลื่อนไหวจากหลายฝ่ายตลอดวันนี้ เช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เสนอให้ออกกฎหมายพิเศษขับพระถนอมออกนอกประเทศ นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ เสนอให้พระถนอมออกไปจำวัดที่ต่างแดน ทหารออกมาประกาศว่าจะไม่เข้าไปยุ่งและจะไม่ปฏิวัติ พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร กล่าวว่าถ้าพระถนอมเข้ามาถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ จะผิดได้อย่างไร ก็นักศึกษาสู้เพื่อรัฐธรรมนูญไม่ใช่หรือ พระกิตติวุฒโฑ กล่าวว่านักศึกษาต้องการขับไล่พระ มีแต่คอมมิวนิสต์เท่านั้นที่ไล่พระ สถานีวิทยุยานเกราะและ น.ส.พ.ดาวสยาม ออกข่าวโจมตี ศนท. ไม่ให้ประชาชนไปร่วมชุมนุม ฯลฯ

ศนท.ใช้วิธีเคาะประตูบ้านแทน การชุมนุม โดยให้นิสิตนักศึกษาออกไปตามบ้านประชาชนในเขต กทม. เพื่อสอบถามความรู้สึกถึงเรื่องพระถนอม ปรากฏว่าสามารถสร้างความเข้าใจและความตื่นตัวได้อย่างดียิ่ง

21 กันยายน 2519

เกิดเหตุปาระเบิดบริษัททัวร์ ที เอส ที ซึ่งบริษัทนี้ถูกสถานีวิทยุยานเกราะออกข่าวว่าเป็นของ ศนท. แต่ปฏิบัติการดังกล่าวพลาดไปถูกร้านตัดเสื้อข้างเคียง มีผู้บาดเจ็บ 5 คน

นักเรียนอาชีวะยกพวกตีกัน ระหว่างช่างกลสยาม (ซึ่งมีนายวีรศักดิ์ ทองประเสริฐ เลขาธิการศูนย์นักเรียนอาชีวะฯ ในขณะนั้นเรียนอยู่) กับช่างกลอุตสาหกรรม มีการปรากฏตัวของกลุ่มกระทิงแดงในที่เกิดเหตุ และมีการปาระเบิดสังหารชนิด เอ็ม 26 ส่งผลให้นักเรียนช่างกลสยามตาย 5 ศพ บาดเจ็บจำนวนมาก และถูกจับอีกประมาณ 200 คน ในขณะที่ช่างกลอุตสาหกรรมไม่โดนจับเลย เพียงแต่สอบสวนแล้วปล่อยตัวไป กรณีนี้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมตำรวจท้องที่กับอาจารย์ในโรงเรียนจึงไม่ ยับยั้งนักเรียนช่างกลสยาม และการจับนักเรียนช่างกลสยามไปเท่ากับตัดกำลังหน่วยรักษาความปลอดภัยของแนว ร่วมอาชีวศึกษาเพื่อประชาธิปไตย ที่ประกาศต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกับ ศนท. ออกไปส่วนหนึ่ง

นายอำนวย สุวรรณคีรี แถลงว่า ครม.มีมติแต่งตั้งกรรมการ 2 ชุด

  • ชุดที่ 1 ไปเจรจากับพระถนอม
  • ชุดที่ 2 ออกแถลงการณ์กรณีพระถนอมเข้ามาในประเทศไทย

นาย สุรินทร์ มาศดิตถ์ แถลงว่า ครม.มีมติจะให้พระถนอมออกไปนอกประเทศโดยเร็ว รัฐบาลออกแถลงการณ์ขอความร่วมมือประชาชนในการรักษาความสงบของบ้านเมือง

22 กันยายน 2519

แนวร่วมยุวสงฆ์แห่งประทศไทย และสหพันธ์พุทธศาสนิกแห่งประเทศไทย มีหนังสือมาถึงมหาเถรสมาคมให้พิจารณาการบวชของพระถนอมว่าผิดวินัยหรือไม่

พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ จัดกำลังตำรวจเข้าอารักขาวัดบวรนิเวศฯ เนื่องจากทางวัดเกรงว่ากลุ่มต่อต้านพระถนอมจะเผาวัด

คณะอาจารย์รามคำแหงยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลนำพระถนอมออกนอกประเทศ

ศนท. แนวร่วมต่อต้านเผด็จการฯ สภาแรงงานฯ ศูนย์กลางนักเรียนฯ ศูนย์นักศึกษาครูฯ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 8 แห่ง แถลงว่า ไม่พอใจที่แถลงการณ์ของรัฐบาลไม่ชัดเจน ดังนั้นทุกองค์กรจะร่วมมือกันคัดค้านพระถนอมต่อไป

แนวร่วมนักเรียน นักศึกษา ประชาชน จังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ สหพันธ์นักศึกษาอีสาน แนวร่วมต่อต้านเผด็จการฯ ออกติดโปสเตอร์ต่อต้านพระถนอมตามสถานที่ต่างๆ

ตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีมติให้ส่งนักศึกษาออกชี้แจง ประชาชนว่าการกลับมาของพระถนอมทำให้ศาสนาเสื่อม

23 กันยายน 2519

ส.ส. 4 ราย คือ นายชุมพล มณีเนตร นายแคล้ว นรปติ นายมานะ พิทยาภรณ์ และนายไพฑูรย์ วงศ์วานิช ยื่นกระทู้ด่วนเรื่องการกลับมาของจอมพลถนอม ผลการอภิปรายทำให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ประกาศลาออกกลางสภาผู้แทน เนื่องจากไม่อาจเสนอพระราชบัญญัติจำกัดถิ่นที่อยู่ของบุคคลบางประเภท ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 47 อีกทั้งยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์บ้านเมืองได้ ลูกพรรคก็ขัดแย้งโต้เถียงในสภาฯ แบ่งเป็นซ้ายเป็นขวา ส.ส.บางคนก็อภิปรายในลักษณะไม่ไว้วางใจรัฐบาล

กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ มีคำสั่งเตรียมพร้อมในที่ตั้งเต็มอัตราศึก

สถานีวิทยุยานเกราะออกอากาศให้ตำรวจจับกุมนักศึกษาที่ออกติดโปสเตอร์

24 กันยายน 2519

01.00 น. รถจี๊ปและรถสองแถวบรรทุกคนประมาณ 20 คน ไปที่ประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้านท่าพระจันทร์ ทำลายป้ายที่ปิดประกาศขับไล่ถนอม

นายเสถียร สุนทรจำเนียร นิสิตจุฬาฯ ถูกตีที่ศีรษะและถูกแทงลำตัว ในขณะที่ออกติดโปสเตอร์พร้อมกับเพื่อนอีก 2 คน ซึ่งถูกทำร้ายและถูกรูดทรัพย์ไปโดยฝีมือชายฉกรรจ์ 20 คนในรถกระบะสีเขียว

นายวิชัย เกษศรีพงษา และนายชุมพร ทุมไมย พนักงานการไฟฟ้านครปฐม และเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ถูกซ้อมตายระหว่างออกติดโปสเตอร์ประท้วงต่อต้านพระถนอม และถูกนำศพไปแขวนคอที่ประตูทางเข้าที่จัดสรรบริเวณหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ ต.พระประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม พบมีรอยมัดมือและรอยถูกรัดคอด้วยเชือกไนล่อน ตำรวจสืบสวนบิดเบือนสาเหตุว่า มาจากการผิดใจกับคนในที่ทำงานและติดสินบนนักข่าวท้องถิ่นให้เงียบ แต่มีผู้รักความเป็นธรรมนำรูปประมาณ 20 กว่ารูปพร้อมเอกสารการฆาตกรรมมาให้ ศนท. ในวันที่ 25 กันยายนตอนเช้า

(ในวันที่ 6 ตุลาคม มีตำรวจ 5 คนถูกจับในข้อหาสมคบฆ่าแขวนคอสองพนักงานการไฟฟ้า ได้แก่ ส.ต.อ. ชลิต ใจอารีย์ ส.ต.ท.ยุทธ ตุ้มพระเนียร ส.ต.ท.ธเนศ ลัดดากล ส.ต.ท.แสงหมึก แสงประเสริฐ พลฯ สมศักดิ์ แสงขำ แต่ทั้งหมดถูกปล่อยตัวอย่างเงียบๆ หลังจากนั้น)

25 กันยายน 2519

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี (อีกครั้งหลังจากลาออกไปเมื่อ 2 วันก่อน)

ศนท.โดย สุธรรม แสงประทุม และชัชวาลย์ ปทุมวิทย์ ผู้ประสานงานแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ชี้แจงกับสื่อมวลชนกรณีฆ่าแขวนคอที่นครปฐม มีการชุมนุมที่จุฬาฯ  และตั้งตัวแทนยื่นหนังสือเรียกร้องต่อรัฐบาลให้

  1. จัดการให้พระถนอมออกจากประเทศไทยโดยเร็วที่สุด
  2. ให้เร่งจับกุมฆาตกรฆ่าแขวนคอที่นครปฐม

สภาแรงงานฯ โดยนายไพศาล ธวัชชัยนันท์ ขอเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเพื่อยื่นหนังสือ แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเฝ้า

ดร.คลุ้ม วัชโรบล นำลูกเสือชาวบ้านประมาณ 200 คน ไปวัดบวรนิเวศฯ เพื่ออาสาป้องกันการเผาวัด

26 กันยายน 2519

กิตติวุฒโฑภิกขุ และนายวัฒนา เขียววิมล แกนนำกลุ่มนวพล ไปเยี่ยมพระถนอมที่วัดบวรฯ เวลา 22.30 น. อ้างว่ามาสนทนาธรรม และว่าการเข้ามาบวชของพระถนอมนั้นบริสุทธิ์

27 กันยายน 2519

ศนท. สภาแรงงานแห่งประเทศไทย แนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ และตัวแทนจากกลุ่มพลังต่างๆ ประชุมกันและมีมติให้รัฐบาลขับพระถนอมออกนอกประเทศ และให้จัดการจับฆาตกรสังหารโหดฆ่าแขวนคอที่นครปฐม

ช่วงวันที่ 26-27 กันยายน มีการเคลื่อนไหวย้ายกำลังพลในเขตกรุงเทพฯ ด้วยคำอ้างว่าจะมีการเดินสวนสนามเพื่อสาบานตนต่อธงชัยเฉลิมพล (ปกติจะกระทำในวันที่ 25 มกราคมของทุกปี)

28 กันยายน 2519

ศนท.แถลงว่าจะจัดชุมนุมที่สนามหลวงในวันที่ 29 กันยายน เพื่อเร่งรัฐบาลให้ดำเนินการตามที่ยื่นหนังสือเรียกร้อง

29 กันยายน 2519

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประกาศเลื่อนพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรออกไปโดยไม่มีกำหนด

ศนท. และกลุ่มพลังต่างๆ นัดชุมนุมประท้วงพระถนอมที่สนามหลวง โดยเป็นการชุมนุมอย่างสงบตามสิทธิแห่งรัฐธรรมนูญ สุธรรม แสงประทุม กล่าวกับประชาชนว่า การชุมนุมครั้งนี้ได้แจ้งให้นายกฯ ทราบแล้ว และนายกฯ รับปากว่าจะให้กำลังตำรวจคุ้มครองผู้ชุมนุม มีประชาชนมาร่วมชุมนุมประมาณสองหมื่นคน

ระหว่างการชุมนุม มีผู้อ้างตัวว่ารักชาติมาตั้งเครื่องขยายเสียงกล่าวโจมตี ศนท.อย่างหยาบคาย จนตำรวจต้องไปขอร้องให้เลิกและกลับไปเสีย กลุ่มรักชาติพวกนี้จึงยอมกลับไป นอกจากนั้นยังมีการปล่อยงูพิษกลางที่ชุมนุมที่หาดใหญ่ และมีการยิงปืนใส่ที่ชุมนุมก่อนสลายตัว (การชุมนุมจัดโดยมหาวิทยาลัยสงขลาฯ นายจเร ดิษฐแก้ว ถูกยิงที่กกหูบาดเจ็บ นายสมชัย เกตุอำพรชัย นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคภาคใต้ถูกตีศีรษะและถูกยิงที่มือซ้าย)

ศนท.ได้ส่งคนเข้าพบนายกฯ เพื่อขอฟังผลตามข้อเรียกร้องที่เคยยื่นหนังสือไว้ แต่เลขานุการนายกฯ ไม่ให้เข้าพบ กระทั่งเวลาสามทุ่มเศษ นายสุธรรมและคณะจึงกลับมาที่ชุมนุมพร้อมกับกล่าวว่าได้รับความผิดหวังมาก แต่ยืนยันว่าจะสู้ต่อไป และจะให้เวลารัฐบาลถึงเที่ยงวันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม ถ้ารัฐบาลยังไม่ตัดสินใจแก้ปัญหานี้ ก็จะเคลื่อนไหวทั้งใน กทม.และต่างจังหวัดพร้อมกัน ที่ชุมนุมประกาศสลายตัวเมื่อเวลา 21.45 น.

กลุ่มกระทิงแดงและลูกเสือชาวบ้านจำนวนหนึ่งอ้างตัวเข้าอารักขาพระถนอมที่วัดบวรฯ

ในช่วงนี้ นักศึกษาสถาบันต่างๆ เริ่มเคลื่อนไหวโดยรับมติของ ศนท.ไปปฏิบัติ

30 กันยายน 2519

รัฐบาลส่งนายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ดร.นิพนธ์ ศศิธร และนายดำรง ลัทธพิพัฒน์ เป็นตัวแทนไปนิมนต์พระถนอมออกนอกประเทศ แต่พระถนอมปฏิเสธ

สมเด็จพระญาณสังวร และคณะสงฆ์ผู้ใหญ่ แจ้งให้ตัวแทนรัฐบาลทราบว่า พระบวชใหม่จะไปไหนตามลำพังระหว่างพรรษาไม่ได้ และกำหนดพรรษาจะสิ้นสุดลงในวันที่ 8 ตุลาคม 2519

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ยืนยันว่า ข้อเรียกร้องให้พระถนอมออกนอกประเทศนั้น รัฐบาลทำไม่ได้ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ

1 ตุลาคม 2519

มีการชุมนุมที่สนามหลวง แต่เป็นการชุมนุมที่ไม่ยืดเยื้อ เพียงสามทุ่มกว่าๆ ก็เลิกและประกาศให้ประชาชนมาฟังคำตอบรัฐบาลในวันที่ 4 ตุลาคม เวลา 15.30 น.

ตัวแทนญาติวีรชน 14 ตุลา จำนวน 5 คน อดอาหารประท้วงที่หน้าทำเนียบรัฐบาล จนกว่ารัฐบาลจะให้คำตอบแน่ชัดว่าจะให้พระถนอมออกจากประเทศไทย

นายสมศักดิ์ ขวัญมงคล หัวหน้ากลุ่มกระทิงแดง กล่าวว่า หากมีการเดินขบวนไปวัดบวรนิเวศฯ กระทิงแดงจะอารักขาวัดบวรฯ และขอให้ ศนท.ยุติการเคลื่อนไหว

ขบวนการปฏิรูปแห่งชาติ และกลุ่มพลัง 12 กลุ่ม ร่วมกันออกแถลงการณ์ว่า ศนท.ถือเอากรณีพระถนอมเป็นเครื่องมือก่อความไม่สงบ

2 ตุลาคม 2519

สมาชิกกลุ่มนวพลทั่วประเทศเดินทางเข้ามาที่วัดพระแก้ว และปฏิญาณตนต่อหน้าพระแก้วมรกตเพื่อปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แล้วไปชุมนุมกันที่บริเวณสนามไชย นายวัฒนา เขียววิมล ได้นำกลุ่มนวพลไปวัดบวรฯ อวยพรวันเกิดสมเด็จพระญาณสังวร แล้วกลับไปชุมนุมที่สนามไชยอีกครั้ง เนื้อหาการอภิปรายมุ่งต่อต้านคอมมิวนิสต์ จากนั้นก็เลิกราเดินทางกลับภูมิลำเนา

กลางดึกคืนวันนี้มีคนร้ายยิงปืน เอ็ม 79 เข้าไปยังสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดยไทยรัฐฉบับวันที่ 3 ตุลาคม หน้า 4 คอลัมน์ “ไต้ฝุ่น” เขียนว่า “หาก เมืองไทยจะมีนายกรัฐมนตรีใหม่อีก ทำนายทายทักกันได้ว่าจะไม่ใช่คนในสกุลปราโมชอีกแล้ว อาจจะเป็นหนึ่งในสามของคนวัย 52 เล็งกันไว้จากสภาปฏิรูป ดร.เชาวน์ ณ ศีลวันต์ เกษม จาติกวณิช หรือประภาศน์ อวยชัย คนนี้ซินแสดูโหงวเฮ้งแล้วบอกว่าฮ้อ”

ทางด้านธรรมศาสตร์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์เป็นคณะแรกที่หยุดสอบประท้วง ส่วนนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลแก้ไขกรณีพระถนอมโดยด่วน

ศนท.พร้อมด้วย ตัวแทนกลุ่มพลังอื่นๆ จำนวน 10 คนเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อขอคำตอบตามที่ยื่นข้อเรียกร้องไว้ จากนั้นนายสุธรรม แสงประทุม แถลงว่า ได้รับคำตอบไม่ชัดเจน จึงประกาศเคลื่อนไหวคัดค้านต่อไป โดยจะนัดชุมนุมประชาชนทั่วประเทศที่สนามหลวงในวันที่ 4 ตุลาคม

3 ตุลาคม 2519

ญาติวีรชนที่อดข้าวประท้วงอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล ย้ายมาประท้วงต่อที่ลานโพธิ์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องจากสถานการณ์ไม่อำนวย ตกเย็นกลุ่มประชาชนรักชาตินำเครื่องขยายเสียงมาโจมตี ศนท.ว่าเป็นคอมมิวนิสต์

นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ชุมนุมคัดค้านพระถนอม ขณะที่ตัวแทนกลุ่มนวพลจากจังหวัดต่างๆ ชุมนุมกันที่สนามไชย

4 ตุลาคม 2519

ม.ร.ว. เสนีย์ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ ยอมรับว่ามีตำรวจกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ลงมือฆ่าโหดที่นครปฐม ขณะที่พล.อ.อ.กมล เดชะตุงคะ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่าไม่มีมูลเพียงพอที่จะฟ้องสามทรราช กรณี 14 ตุลา

ตอนเที่ยงมีการชุมนุมที่ลานโพธิ์ นักศึกษาธรรมศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่เข้าสอบ ดร.ป๋วยให้นักศึกษาเลิกชุมนุมและเข้าห้องสอบแต่นักศึกษาไม่ยอม มีการอภิปรายและการแสดงละครเกี่ยวกับกรณีฆ่าแขวนคอพนักงานการไฟฟ้านครปฐม จัดโดยชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สถานีวิทยุยานเกราะออกข่าวว่านักศึกษาที่แสดงละครมีใบหน้าคล้ายเจ้าฟ้าชายถูกแขวนคอ

15.30 น. ศนท. และแนวร่วมต่อต้านเผด็จการฯ ชุมนุมประชาชนอีกครั้งที่สนามหลวง

17.30 น. มีการก่อกวนจากกลุ่มกระทิงแดง นักเรียนอาชีวะ และกลุ่มประชาชนรักชาติประมาณ 50 คน ติดเครื่องขยายเสียงพูดโจมตี ศนท.โดยนายสมศักดิ์ มาลาดี จนกระทั่งถูกตำรวจจับ (หลัง 6 ตุลา นายสมศักดิ์ได้ไปออกรายการที่สถานีวิทยุยานเกราะ) กระทิงแดงสลายตัวเมื่อเวลาประมาณ 20.15 น.

18.30 น. ฝนตกหนัก แต่ท้องสนามหลวงยังมีคนชุมนุมอยู่นับหมื่น

19.30 น. เพื่อความปลอดภัยจึงย้ายการชุมนุมเข้าธรรมศาสตร์อย่างสงบ พร้อมกับประกาศว่าจะไม่สลายตัวจนกว่าพระถนอมจะออกจากประเทศไทย

21.00 น. ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์  อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยความเห็นชอบของนายกสภามหาวิทยาลัยฯ (ดร.ประกอบ หุตะสิงห์) ออกแถลงการณ์สั่งปิดมหาวิทยาลัย

นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประมาณ 700 คน เดินขบวนต่อต้านพระถนอม แล้วไปชุมนุมที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัด ส่วนที่อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา มีนักศึกษาเปิดอภิปรายต่อต้านพระถนอม ที่จังหวัดขอนแก่น นักศึกษาเปิดอภิปรายต่อต้านพระถนอมและมีการเผาหุ่นพระถนอม