วิกฤตการเมืองไทยกับบทบาทของกองทัพ

วิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้มีความยุ่งยากมาก ประการหนึ่ง เพราะปฏิกิริยาของฝ่ายอนุรักษนิยม หรือกลุ่มผู้ต้องการรักษาระเบียบสังคมและการเมืองแบบเดิม สามารถอิงสัญลักษณ์อำนาจจากสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีอำนาจด้านกายภาพจากกองทัพ บวกแรงสนับสนุนจากบางส่วนของสังคมและชนชั้นกลางเมืองเป็นตัวหนุนช่วย

ยุทธศาสตร์หนึ่งที่ฝ่ายอนุรักษนิยมใช้ คือ ทำให้ขบวนการทางการเมืองของฝ่ายตรงกันข้าม ที่ต้องการระเบียบใหม่ ไร้ความชอบธรรม เช่น สร้างวาทกรรมว่า ไร้การศึกษา คิดเองไม่เป็น ถูกชักจูงหรือถูกซื้อได้ง่ายๆ

แต่มีงานวิจัยเชิงประจักษ์หลายชิ้น เช่น จากกลุ่มอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จุฬาฯ ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ที่ญี่ปุ่น และที่สหรัฐอเมริกา ที่ชี้ให้เห็นว่าประชาชนต่างจังหวัด และที่อพยพมาทำงานในเมือง มีความตื่นรู้ทางการเมืองที่เป็นระบบ ความตื่นรู้นี้ได้บังเกิดและสะสมมาเป็นเวลานานแล้ว โดยเฉพาะนับตั้งแต่หลัง 14 ตุลา 2516 พวกเขาสามารถคิดเอง ทำเองได้ หาทางเข้าถึงข่าวสารข้อมูลต่างๆ หลายรูปแบบด้วยตัวเองด้วย ดังนั้น พวกเขาจึงรู้เรื่องเมืองไทย และรายละเอียดเกี่ยวกับชนชั้นกลางในเมือง มากกว่าที่ชนชั้นกลางในเมืองจะรู้เกี่ยวกับพวกเขาเสียอีก ประชาชนที่ตื่นรู้เหล่านี้ ต้องการเปลี่ยนระเบียบสังคมและการเมืองเสียใหม่ ให้เป็นประชาธิปไตย และให้พวกเขาได้รับการยอมรับอย่างมีศักดิ์ศรีในฐานะเป็นพลเมืองไทยที่ทัด เทียมกับชนชั้นกลางในเมือง

นักวิชาการชาวญี่ปุ่นรายหนึ่ง หลังจากศึกษาประวัติศาสตร์และสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน จึงมีข้อสรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ความยุ่งเหยิงทางการเมืองปัจจุบัน เป็นขั้นตอนหนึ่งของพัฒนาการประชาธิปไตยของสังคมไทย ประเทศไทยกำลังประสบกับความเจ็บปวดของการเกิดใหม่ เมื่อระบบการเมืองของไทยพร้อมที่จะก้าวขั้นต่อไปข้างหน้า”

แต่เมืองไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้ลำบาก ถ้าไม่มีการยอมรับว่าสังคมเปลี่ยนไปแล้ว และสถาบันต่างๆ ต้องปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงด้วย

สถาบันหนึ่งที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และยังมีบทบาททำให้การก้าวไปข้างหน้า หยุดชะงักได้ด้วยการทำรัฐประหาร การใช้ความรุนแรง และการต่อต้านหลายรูปแบบ ก็คือ สถาบันกองทัพ

นับจากรัฐประหาร 2549 ห้าปีผ่านมานี้แล้ว กองทัพไทยได้ขยายบทบาทในสังคมมากขึ้นมาก จนกล่าวกันหนาหูว่า ถ้ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากกองทัพจะอยู่ไม่ได้

แต่กระนั้น ก็ไม่มีใครถกเถียง หรือตั้งคำถามว่า การที่ทหารมีบทบาทสูงขึ้นดีหรือไม่ดี ? มีผลพวงต่อพัฒนาการของสังคมและการเมืองอย่างไร? และแนวโน้มในอนาคตคืออะไร ?

ที่ว่ากองทัพมีบทบาทสูงขึ้นและขยายขอบเขตนั้น มีอะไรเป็นรูปธรรม ?

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนประการหนึ่ง คือ งบประมาณกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ระหว่างปี 2550 ถึงปี 2552

หากเปรียบเทียบระหว่างประเทศต่างๆ โดยดูสัดส่วนของงบทหารเป็นร้อยละของ GDP สหรัฐในฐานะพี่ใหญ่ของโลก สูงถึงร้อยละ 4 ไทยก็สูงคือร้อยละ 1.8 เทียบเคียงได้กับจีนที่ร้อยละ 2.0 มากกว่าเยอรมนีพี่ใหญ่ของ EU ที่เพียงร้อยละ 1.3 อินโดนีเซียที่ร้อยละ 1.0 และญี่ปุ่นที่เพียงร้อยละ 0.9

หากดูอัตราส่วนของจำนวนทหาร 1 คน ต่อประชากร 1,000 คน (ตัวเลขรวมทหารนอกประจำการและกลุ่มไม่เป็นทางการที่เรียกว่า militia) ของสหรัฐ คือ ทหาร 7.9 คนต่อประชากร 1,000 คน สหราชอาณาจักร 6 คน เยอรมนี 5 คน อินโดนีเซีย 4.1 คน ญี่ปุ่น 2.2 คน

แต่ของไทย ทหาร 10 คน ต่อประชากร 1,000 คน นับว่าสูงมาก จำเป็นอะไรหนักหนาที่จะต้องมีอัตราส่วนทหารถึง 10 คน ต่อประชากร 1,000 คน ?

ประการต่อมา มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญหลังปี 2549 เรื่องกระบวนการโยกย้ายภายในเหล่ากองทัพ ก่อนปี 2549 โผทหารจะถูกพิจารณาโดยนายกรัฐมนตรีก่อนเสนอให้ทรงลงพระปรมาภิไธย นับจากปี 2551 พ.ร.บ. กระทรวงกลาโหมมีการแก้ไข ทำให้โผทหารประจำปี อยู่ในกำกับของกองทัพอย่างสิ้นเชิง บทบาทของนายกฯกระทำผ่าน รมต.กลาโหม ซึ่งถ้า รมต.กลาโหมมาจากฝ่ายทหาร (เช่น อดีตนายพล) หมายความว่าการแต่งตั้งโยกย้ายประจำปี รวมทั้งการแต่งตั้ง ผบทบ. เหล่าทัพต่างๆ จะเป็นเรื่องภายในของกองทัพทั้งสิ้น โดยเป็นเอกเทศจากรัฐบาลพลเรือนอย่างแท้จริง

อดีตนายพลท่านหนึ่งอธิบายว่า นายกฯจะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้สนองพระบรมราชโองการเท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยสวนทางกับแนวโน้มของประเทศประชาธิปไตยพัฒนา แล้วอย่างสิ้นเชิง ที่รัฐบาลจะเป็นผู้กำกับโผทหาร

ประการต่อมา ในประเทศประชาธิปไตยทั่วไป บทบาทของผู้นำฝ่ายทหารมีจำกัด แต่ของไทยผู้นำฝ่ายทหารมีบทบาทสูง และใส่หมวกหลายใบ

มีรายงานในหน้าหนังสือพิมพ์ตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วง 4-5 อาทิตย์ที่ผ่านมา ผบ.ทบ. แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อบ่อยมากในหลายเรื่อง (The Nation, April 24, 2011) เช่น เสนอความเห็นว่ารัฐบาลควรมีนโยบายต่างประเทศเกี่ยวกับกัมพูชา ไปทางไหน

ให้คำแนะนำแก่ผู้ออกเสียงเลือกตั้งว่า เลือกตั้งเพื่อปกป้องพระมหากษัตริย์ และออกมาเลือกตั้งมากๆ จะช่วยปกป้องพระมหากษัตริย์และประชาธิปไตย

ออกคำสั่งให้มีการปิดเว็บไซต์เพิ่มขึ้นด้วยเหตุผลทางการเมือง รวมทั้งให้ทหารในสังกัดแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

เมื่อวันที่ 16 พ.ค. นี้เอง ผบ.ทบ.ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอ.รมน. เสนอให้ยกระดับ กอ.รมน. เป็นทบวงด้านความมั่นคงภายในเหมือนกับ Homeland security department ที่สหรัฐ ที่ตั้งขึ้นมาหลังเหตุการณ์ 9/11 เพื่อต่อต้านการก่อการร้าย (Bangkok Post, May 16, 2011) ซึ่งเมื่อดำเนินการไปในขณะนี้กำลังถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าใช้งบฯมากเกินความ จำเป็น ในการแสวงหาข้อมูล หรือดำเนินการเพื่อป้องกันการก่อการร้าย ได้ใช้วิธีการขัดกับหลักการปกป้องเสรีภาพส่วนบุคคลในรัฐธรรมนูญ แม้กระทั่ง อาจเปิดจดหมายของใครก็ได้ ด้วยเหตุผลของความมั่นคง

ในรายงานกล่าวว่า ผบ.ทบ.ไทยต้องการขยายขอบข่ายงานของ กอ.รมน.ทั้งบุคลากร และงบประมาณด้วย เพื่อจัดการกับการที่ประเทศถูกคุกคามแบบใหม่ๆ และทบวงนี้จะดูแลปัญหาด้านภัยพิบัติจากธรรมชาติ ปัญหาภาคใต้ และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

ผบ.ทบ.ได้เสนอความคิดเห็นนี้กับอดีตนายกฯ (อภิสิทธิ์) แล้ว และอดีตนายกฯก็แสดงความเห็นชอบ

ผบ.ทบ.จึงสั่งการให้มีคณะทำงานเพื่อศึกษาวางแผน และเตรียมเสนอโครงการนี้กับรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง

ทำไมจึงจะต้องขยาย กอ.รมน. รวมทั้งบุคลากร และงบประมาณ ถึงขนาดจะตั้งเป็นทบวงใหม่ ซึ่งขณะนี้งบฯทหารเองก็มากเกินความจำเป็นแล้ว ประชาชนผู้เสียภาษีควรจะมีบทบาทรับรู้และอภิปรายเรื่องนี้ จะมาตกลงกันระหว่าง ผบ.ทบ. และอดีตนายกฯแบบนี้ใช้ได้หรือ ?

เป็นที่ชัดเจนว่าทหารเป็นองค์ประกอบของผู้รักษาระเบียบเก่า ได้ประโยชน์จากระเบียบเก่า อีกทั้งยังเป็นองค์ประกอบของความยุ่งยากในการแสวงหาทางออกให้กับความขัดแย้ง ทางการเมืองโดยสันติวิธี

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมไทยจะต้องมีการอภิปรายกันถึงการขยายบทบาทของ ทหารในสังคมไทยว่าดีหรือไม่ดี ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างไร ? อำนาจของ ผบ.ทบ. ที่ดูเหมือนล้นฟ้าขณะนี้ควรถูกจำกัดให้อยู่ระดับใด?

ที่มา : มติชนออนไลน์ 1 มิถุนายน 2554
โดย : ผาสุก พงษ์ไพจิตร


ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ “ไพร่” ตัวพ่อ

เป็นข่าวร้อนฉ่าตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้าถึงการปะทะคารม กันผ่านทางเฟซบุ๊ก เมื่อ “อำมาตย์ชาย+อำมาตย์หญิง” กับ “ไพร่” ที่บังเอิญไปใช้บริการร้านอาหารเดียวกัน แม้จะไม่ได้ปะหน้ากันตรงๆ ก็ตาม

แต่แล้วเครื่องดื่มขวดเดียวก็ทำให้เรื่องไม่น่าจะเป็นเรื่องกลับเป็นเรื่องขึ้นมาจนได้

มติชน “อาทิตย์สุขสรรค์” มีโอกาสได้เป็นแขกรับเชิญที่บ้านเศรษฐสิริ ย่านสนามบินน้ำ เจ้าของบ้านไม่ใช่ใครอื่น คือ “ไพร่” ตัวพ่อ ที่กล่าวได้ว่ามีแม่ยกมากที่สุดในบรรดานักพูดเสื้อแดง

…ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หรือ เต้น

เป็น คนอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2518 เป็นลูกชายคนเล็กของนายสำเนา และนางปรียา ใสยเกื้อ มีพี่ชาย 1 คน ชื่อ นายเจตนันท์ สมรสกับ (แก้ม) สิริสกุล ใสยเกื้อ อดีตนางฟ้าสายการบินแห่งหนึ่ง มีทายาทเป็นชายหนึ่ง คือ ด.ช.นปก หรือ น้องช้างน้อย และหญิงหนึ่งคือ ด.ญ.ชาดอาภรณ์ หรือ น้องตราตรึง

ชีวิตตั้งแต่เด็กเติบโตมาในครอบครัวผู้นำท้องถิ่น ที่มีปู่และตาเป็นผู้ใหญ่บ้าน พออายุได้ไม่กี่เดือนพ่อแม่ก็แยกทางกัน เด็กชายเต้นจึงไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายแม่

จบชั้นประถมจากโรงเรียนวัด พระมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช แล้วมาเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศนครศรีธรรมราช ซึ่งที่โรงเรียนนี้เองที่เป็นสถานเพาะบ่มเด็กผู้ชายคนหนึ่งให้กลายเป็นดาว เด่นคว้าแชมป์บนเวทีโต้คารมมัธยมศึกษา ซึ่งถือว่าเป็นรายการที่โด่งดังมากในขณะนั้น

สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ คณะนิเทศศาสตร์ ปริญญาโทจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ความที่เป็นนักกิจกรรม นักโต้วาทีเก่า ทำให้เขามีวาจาเป็นเสมือนมนตราเรียกคะแนนความรักจากบรรดาแม่ยกได้อย่างท่วมท้น

เขาย้อนอดีตเมื่อวันวาน ที่มาของความมุ่งมั่นที่อยากจะเข้าไปเป็นผู้แทนราษฎรในสภาว่า…

“ผม เป็นหลานผู้ใหญ่บ้าน เวลามีการทำถนนในหมู่บ้าน พวกคนขับรถดั๊มพ์ คนขับรถแทร็กเตอร์ก็จะกินมานอนที่บ้านผู้ใหญ่ มันกลายเป็นภาพที่ผมซึมซับมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วก็เข้าใจว่าคนอยู่กับสังคมชนบท อยู่อย่างชาวบ้านอยู่อย่างไร

…ที่บ้านผมก็เป็นครอบครัวที่เป็นนักสู้ ไม่ยอมให้ใครมารังแกง่ายๆ ผมผ่านประสบการณ์ตรงนั้นมา ได้เผชิญหน้ากับอิทธิพล อำนาจมืดมาสารพัดรูปแบบ”

เขาสมัคร ส.ส.สองครั้งสองคราวเพราะชอบการเมือง ได้เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์สมใจ แต่เป็นได้แค่ 7 วัน

และนี่เป็นอีกครั้งของการสมัครเป็นแคนดิเดต ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคเพื่อไทย

ค่ำวันหนึ่ง ณัฐวุฒิ สวมชุดเสื้อยืดคอกลมสีขาวกางเกงขาสั้น ลายสก๊อตแบบสบายๆ ผายมือเชื้อเชิญให้เข้าไปนั่งคุยแบบสบายๆ ภายในบ้าน พร้อมกับแนะนำให้รู้จักกับภรรยาสุดที่รักและแก้วตาดวงใจทั้งสอง

ตามเข้ามารู้จักกับเรื่องราวของเขา…ผู้ชายที่ประกาศกับใครๆ ว่า เขาคือ ไพร่ ตัวจริง

– เป็นนักโต้วาทีตั้งแต่ยังอยู่ชั้นมัธยม?

ผมเป็นนักกิจกรรม เวลาในโรงเรียนมีงานอะไรผมจะทำหน้าที่เป็นโฆษกมาตั้งแต่เด็กๆ สมัยนั้นผมเกเรมาก กินเหล้า สูบบุหรี่ ตั้งแต่ ม.1 พอขึ้น ม.3 ก็ไปตีกับเด็ก ม.6 เป็นขาใหญ่ตั้งแต่อยู่ ม.4 แล้ว

อย่างตอนที่โรงเรียนจัดกิจกรรมปีใหม่ ผมก็บอกเพื่อนที่ห้องเอากระดาษหนังสือพิมพ์ไปปิดช่องหน้าต่างให้มืด แล้วเอาไฟมาติด เครื่องเสียงมาตั้ง เปิดเป็นดิสโก้เธคเต้นดื่มกันสนุกสนาน มีเพื่อนๆ มากันกว่า 300 คน สนุกกันมาก แต่เด็กผู้หญิงไม่เอาด้วยเพราะเหม็นควันบุหรี่ ออกไปร้องไห้หน้าห้องจนครูทราบเรื่อง ต้องเชิญผู้ปกครองมาพบครู ตอนนั้นผมพาแม่ไป แม่ผมร้องไห้เสียใจไม่คิดว่าให้ลูกมาโรงเรียนแล้วจะมาเป็นแบบนี้ ผมเลยได้คิดว่า ผมทำให้น้ำตาลูกผู้หญิงคนหนึ่งที่รักเรายิ่งกว่าชีวิตไหล

หลังจากนั้นเริ่มคิดใหม่ทำใหม่ ลดกิจกรรมโลดโผน แล้วหันไปเริ่มสนใจกิจกรรมการเมืองในโรงเรียน พอมีการเลือกตั้งประธานนักเรียน ผมทำหน้าที่เป็นประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ ช่วยหาเสียง ช่วยปราศรัยให้กับพรรคๆ หนึ่ง จนชนะได้เป็นกรรมการนักเรียน คราวนี้พอมีรายการโต้วาที อาจารย์จึงส่งไปแข่ง ตอนนั้นโต้วาทีดังมาก มีนักเรียนหญิงวิทยาลัยต่างๆ ขอเพลงให้ฟังทุกคืน รายการวิทยุดังๆ เชิญผมไปสัมภาษณ์ มีจดหมายจากทั่วประเทศเขียนมาถึงเป็นลังๆ

– มีครูสอนโต้คารม?

มี อาจารย์ที่โรงเรียนช่วยสอนบ้าง เช่น อาจารย์ทวี แดงหวาน แต่จริงๆ แล้วผมสั่งสมประสบการณ์ในการพูดมาจากการปราศรัยช่วยน้าชายหาเสียงตอนสมัคร ส.จ.ที่อำเภอสิชล ตอนนั้นผมอายุ 16 ปี ยังพูดไม่ค่อยเป็น แต่ก็มีคนมาฟังกันมากคงเพราะบอกกันปากต่อปากว่ามีเด็กมาพูด ปรากฏว่า น้าชายผมชนะเลือกตั้ง

– ได้สัมผัสกับการเมืองเต็มๆ ด้วยตนเองครั้งแรกเมื่อไหร่?

ตอนอายุครบ 25 ปี ในปี 2544 รัฐธรรมนูญกำหนดให้คนอายุ 25 ปีลงสมัครเลือกตั้งได้ แบบลงเขตเดียวเบอร์เดียวจึงตัดสินใจลงสมัคร ส.ส.สังกัดพรรคชาติพัฒนาโดยมี กร ทัพพะรังสี เป็นหัวหน้าพรรค

ตอนนั้นซื้อรถเก๋งมือสอง ยี่ห้อฮอนด้า แอคคอร์ด ขับลงไปที่บ้านเปิดเวทีปราศรัยอย่างเดียว มีคนฟังเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ มีคู่ต่อสู้คือ มาโนชย์ วิชัยกุล ของพรรคประชาธิปัตย์เป็น ส.ส.มาหลายสมัย ผมแพ้ได้คะแนนเป็นลำดับที่สอง แต่ได้คะแนนมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของพรรคชาติพัฒนาในภาคใต้

– สอบตกส.ส.แล้วกลับไปทำอะไรต่อ?

พอสอบตกก็หมดตัว เหลือรถคันเดียวหมดไปหลายแสนบาท กลับมาบ้าน ตั้งหลักอยู่พักหนึ่ง ก็เริ่มมีงานทอล์คโชว์เข้ามา มีรายการโทรทัศน์ติดต่อเข้ามา อีกรายการรัฐบาลหุ่น ให้เลียนแบบเสียงของ ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี พอทำไปๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน มีบางส่วนถอนตัว แล้วผมเข้าไปทำหน้าที่แทนเขียนบทล้อการเมือง รายการเริ่มดัง เงินก็เข้ามามาก เริ่มไปเรียนต่อปริญญาโท คณะรัฐประศาสนศาสตร์ ที่นิด้า คิดว่ายังไงก็ควรจะมีฐานทางการศึกษาเพิ่มเติม เพราะว่าจะอย่างไรก็ตามผมก็ต้องกลับไปการเมืองอีก และงานที่ผมทำเป็นนักพูด นักบรรยายก็จำเป็นจะต้องมีวิชาความรู้อะไรพอสมควร

ปี 2548 ผมก็ลงสมัคร ส.ส.อีกครั้งในนามพรรคไทยรักไทย เขต 4 จ.นครศรีธรรมราช มีคนสมัคร 4-5 คน มีการทำโพล ผมคะแนนดีกว่าเพื่อน แต่ก็แพ้อีกได้คะแนน 28,000 คะแนน หมดตัวอีกรอบ แถมยังเป็นหนี้อีก ผมหมกตัวอยู่ในคอนโดฯไม่ออกไปไหนเลยไม่มีเงิน ได้กินข้าววันละ 2 กล่องที่แฟนซื้อมาให้ เป็นอย่างนี้ประมาณครึ่งเดือน ตัดสินใจนำสร้อยทอง ที่มีคุณค่ากับผมมากที่สุดไปขาย เป็นสร้อยที่ได้มาตอนเป็นแชมป์โต้คารมจากสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนมัธยม

– เลิกสนใจการเมือง ?

ไม่ครับ จากนั้นเริ่มมีคนติดต่อให้ไปพูดอีก เริ่มมีรายได้ ผมเริ่มสนิทกับพี่ตู่-จตุพร พรหมพันธุ์ (พ.ศ.2548) พี่ตู่มักจะโทร.มาชวนไปนั่งกินข้าวด้วยกัน จากนั้นก็เริ่มคบกันมาอยู่ด้วยกันตลอด จนมีการตั้งรัฐบาล

มาคิดทำ โทรทัศน์ช่องเอ็มวี 1 โดยนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี มาจัดรายการก่อนที่จะเป็นเอ็มวี 1 ก็มีผมกับพี่ตู่ ไปจัดรายการทางยูบีซี 9 ชื่อรายการ “คุยข่าวมันวันอาทิตย์” ทำสักพัก ก็ไปทำเอ็มวี 1 โทรทัศน์ดาวเทียม

จากนั้นวันที่ 2 เมษายน 2549 ได้เป็นผู้แทนสมใจ หลังสมัครลงปาร์ตี้ลิสต์ อยู่ลำดับดีมากคือ 98 ส่วนพี่ตู่ลำดับ 97 เข้าไปรายงานตัว ได้บัตรผู้แทนราษฎร แต่การเลือกตั้งครั้งประกาศเป็นโมฆะ เป็น ส.ส.ได้เพียง 7 วัน

จนมาถึงวันที่ 20 กันยายน 2549 หลังเกิดการปฏิวัติ ผมกับพี่ตู่ โทร.หาพี่วีระ (วีระ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช.) พี่วีระก็บอกให้ไปเจอกันที่พรรคไทยรักไทยเปิดแถลงข่าวสู้ว่าไม่ยอมรับการปฏิวัติ

ก็ไปที่พรรคไทยรักไทย ผมไม่รู้เรื่องไม่เคยสู้กับคณะปฏิวัติ ผมนึกไม่ออกเลย ผมอยากเป็นผู้แทนฯเฉยๆ จะสู้อย่างไรกับการปฏิวัติ แต่ผมเคยเป็นผู้ชุมนุมตอนเดือนพฤษภา สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช มีการตั้งเวทีขับไล่เผด็จการ ไม่รู้จักแกนนำ และคิดอยู่ในใจแล้วว่าผมไม่เอาการรัฐประหารตั้งแต่พฤษภาคม ปี 2535

– พอการต่อสู้ดุเดือดขึ้นกลัวบ้างหรือเปล่า?

ผมเป็นคนไม่กลัวคน ผมเป็นคนสนุกสนานเฮฮา ถ้าพูดเอาฮาก็พูดได้ทั้งวันทั้งคืน แต่ว่าข่มเหงกันไม่ได้รังแกกันไม่ได้ ไม่กลัว ไม่เคยวิตกกังวลกับเรื่องว่าเขาจะเอาไปขังหรือไปฆ่าเวลาสู้

เพราะถ้าสู้แล้วมันคิดเรื่องนั้นไม่ได้ ถ้าคิดเรื่องนั้นก็ไม่ต้องสู้ แต่ไม่ใช่มุทะลุจนไม่รอบคอบ พรรคพวกก็บอกว่าผมได้ทั้งบุ๋นทั้งบู๊ ผมว่าจริงๆ ไม่ใช่ แต่ว่ามันอยู่ที่สถานการณ์ไหนควรทำอย่างไรจะไม่บู๊เพราะอารมณ์ โมโห แต่จะบู๊เพราะจำเป็นเท่านั้น และต้องให้ชนะเท่านั้น รวมทั้งต้องมีวิธีการที่ปลอดภัยที่สุด สมัยเด็กผมไม่เคยตีใครด้วยความโมโห ผมตีให้เพื่อนทั้งนั้นจริงๆ

– ในช่วงการต่อสู้ที่รุนแรง คิดถึงลูก?

ห่วง คิดว่าลูกไม่ควรมารับผิดชอบหรือเผชิญอะไรกับสิ่งที่เราสู้ ไม่แฟร์ เพราะว่าลูกควรจะมีชีวิตที่สะดวกสบายไม่ควรมีชีวิตผ่านความทุกข์และความกด ดัน แต่ว่าเมื่อเราออกมาสู้ลูกก็หลีกเลี่ยงผลกระทบพวกนี้ไม่พ้น ตอนถูกขังก็เป็นห่วง ห่วงมากเข้าก็เลยปรับวิธีคิดใหม่ ถ้าคิดว่าสามคนเป็นแค่ลูกเมีย มันห่วงไม่จบ ผมก็เลยคิดว่าเขาสามคนเป็นเสื้อแดง เมื่อสามคนเป็นคนเสื้อแดงเขาจะต้องสู้เขาก็ต้องผ่านความเจ็บปวดพวกนี้มาให้ ได้ เพราะครอบครัวเสื้อแดงหลายครอบครัว เจ็บปวดกว่านี้อีกคนที่เขารักตาย พิการ บาดเจ็บ ผมแค่ถูกขังก็มีวันออก เห็นหน้ากันได้ทุกวันเวลาไปเยี่ยม

– เข้าไปอยู่ในคุกได้อะไรบ้าง?

ผมอ่านหนังสือเป็นลังๆ มีญาติพี่น้องส่งให้ คิดว่าอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่ปี 2475 ถึงปัจจุบันจนหมดและประวัติศาสตร์การต่อสู้ของมหาตมะ คานธี เหมา เจ๋อ ตุง ดร.ซุน ยัด เซ็น การปฏิวัติ ชนชั้นนายทุนในอังกฤษการปฏิวัติฝรั่งเศส การต่อสู้ในปากีสถาน การต่อสู้ของโฮจิมินห์ ฯลฯ

อ่านแล้วเอามาเทียบ เคียงกับการต่อสู้ของเราจะเห็นมิติของการตัดสินใจมิติการประเมินสถานการณ์ ผลกระทบที่เกิดขึ้น บางเรื่องเทียบเคียงกันได้เลยบางเรื่องเป็นความแตกต่างที่เราเก็บไว้ในคลัง ของความรู้เผื่อว่าจะเจอเหตุการณ์แบบนี้ เผื่อว่าสถานการณ์การต่อสู้ของประชาชนมันมีลักษณะคล้ายคลึงกันเทียบเคียงกัน มันอยู่ที่เราจะจับอะไรมาพูด

– ทำไมจึงหยิบคำว่า “ไพร่” มาใช้ในการต่อสู้?

ผมเพียงแค่ต้องการสื่อสารกับคนทั้งสังคม ที่ผมเรียกตัวเองว่า “ไพร่” เพื่อจะสื่อว่าที่พวกคุณทำกับเราทุกอย่างเพราะไม่ได้เห็นเราเป็นประชาชนใช่ หรือไม่ เพราะเห็นเราเป็นไพร่ใช่ไหม จึงทำกับเราแบบนี้ ถ้าเห็นเราเป็นประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพ แต่ถ้าเห็นเราเป็นไพร่จะจิกหัวใช้ยังไงก็ได้ จะรังแกจะกดขี่ทำอะไรก็ได้

ความหมายของคำว่า “ไพร่” ของผมคือ ไม่ได้ต้องการจะบอกว่าคนจน-คนรวย เรื่องสูง-เรื่องต่ำ แต่เป็นเรื่องของคนที่ถูกกดขี่ ถูกลดทอนความเป็นประชาชน ผมต้องการสื่อสารสิ่งนี้

คำว่า “ไพร่” ไม่ใช่ว่าผมเพิ่งบัญญัติขึ้นมีการใช้มาชั่วนาตาปี แต่ผมต้องการจับคู่คำ จะเรียกว่า “ขี้ข้า” (หัวเราะ) มันก็ดูจะไม่เข้าเท่าไร ครั้นจะไปเรียกว่า “พี่น้องขี้ข้าทั้งหลาย” มันก็ไม่ได้ หาอยู่หลายคำ จนกระทั่งสุดท้ายมาใช้คำว่า “ไพร่” นำมาสร้างเรื่องราวเป็นสนามการต่อสู้ระหว่างอะไรกับอะไร ไม่เชิงประชดแต่ต้องการจะทิ่มแทงไปตรงใจกลางของปัญหา ส่วนคำว่าอำมาตย์ก็มาจากอำมาตยาธิปไตย ไม่ได้มีอะไรสลับซับซ้อน

ผมเชื่อว่าปัญหาทางชนชั้นของประเทศนี้มีจริง แล้วนายกรณ์ ก็ได้ยืนยันอีกครั้งว่ามีจริง ผมไม่คิดว่าปี 2554 จะมีคนคิดแบบนี้ได้ แต่ก็เป็นเรื่องที่สังคมได้เห็นแล้ว

– วางอนาคตของครอบครัวไว้อย่างไร?

ผมว่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดงอีก 3-5 ปีน่าจะได้ข้อยุติและหลังจากนั้นผมจะอยู่ในฐานะใดไม่ใช่เรื่องที่ต้องวิตก กังวล ผมก็ดูแลครอบครัวให้เติบโตเป็นชีวิตที่มีความสุขที่เขาต้องการเท่านั้น

คือทำบ้านเมืองให้น่าอยู่เสียก่อน แล้วค่อยทำบ้านเราให้น่าอยู่สำหรับลูกเมียของเราเอง ถ้าไม่ทำบ้านเมืองให้น่าอยู่สำหรับทุกคน มันหันมามองลูกเมียข้างหลังมันหันมองไม่เต็มตา เพราะหันไปมองข้างหน้ามันยังมีความเจ็บปวดมันยังมีการกดขี่เอารัดเอาเปรียบกันอยู่แบบนี้

ที่มา : มติชน 22 พฤษภาคม 2554
โดย : ตวงศักดิ์ ชื่นสินธุ


มืดจัง

มืดจัง
โดย สุรนันทน์ เวชชาชีวะ
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 16 กันยายน 2553

ตามกันมาติดๆ หลังการปิด “แท่นพิมพ์” ของโรงพิมพ์ที่รับผลิตนิตยสาร “เรด พาว์เวอร์” ด้วยข้อหาผิด พรบ. อาคาร คราวนี้เป็นกระทรวงวัฒนธรรม ที่ประกาศให้นิตยสาร “ฟ้าเดียวกัน” เป็น นิตยสาร “เถื่อน” ด้วย “ออกมาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่ยอมยื่นจดแจ้งการพิมพ์ ถือว่ามีความผิดตาม พรบ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550”

โดยข่าวใน “มติชนรายวัน” แจ้งว่า นางวิลาวัลย์ ทรัพย์พันแสน ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ได้แจ้งความกับกองบัญชาการตำรวจสันติบาลให้ดำเนินคดี “ทั้งกรณีไม่จดแจ้งการพิมพ์ รวมทั้งให้ตรวจสอบเนื้อหาที่อาจเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูงด้วย” ซึ่งในเรื่องนี้ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้ “รายงาน” ด้วยวาจาต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว

ทั้งนี้ในข่าวยังปรากฏการกล่าวอ้างถึงคำให้สัมภาษณ์กับ เว็บไซด์ “ประชาไท” ของ นายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณานิตยสารฟ้าเดียวกัน ว่า “การแจ้งความดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อการขายและการผลิตแต่อย่างใด ที่ผ่านมาร้านหนังสือใหญ่ๆไม่ขายก็ไม่มีผลอะไร เป็นความจงใจที่จะไม่ยื่นจดแจ้งเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับ พรบ.ดังกล่าว เพราะคิดว่าเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพในการพิมพ์ ไม่ได้อยู่ที่กฎระเบียบ และคนอ่านเนื้อหาไม่ได้อ่านว่าจดทะเบียนหรือไม่”

นายธนาพล ยังกล่าวด้วยว่า “กรณีนี้เป็นพียงเรื่องการเมือง เนื่องจากยังมีวารสารและสิ่งพิมพ์จำนวนมากที่ไม่จดทะเบียนตาม พรบ. แต่ไม่ถูกดำเนินการใดๆ”

อ่านแล้ว “สะใจ” ดี!!

เพราะวันนี้รัฐบาลได้ “เล่นแร่แปรธาตุ” ใช้ข้อกฎหมายต่างๆ นานัปการเพื่อละเมิดสิทธิเสรีภาพในการพูด คิด ขีด เขียน และพิมพ์ โดยพยายามหลีกเลี่ยงการบังคับกฎหมายใช้ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการใน สถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อที่จะพูดได้ว่า “ทุกอย่างให้เป็นไปตามกฎหมาย” และ “ไม่มีการใช้อำนาจพิเศษ” และ “ไม่มีการเมืองเข้าไปแทรกแซงสื่อ”

เสมือนเป็นการชี้ว่าเขา “ผิด” เพราะ “ทำผิด” กันไปเอง!!

นิตยสารทั้งสองฉบับถูก “เพ่งเล็ง” มานานมากแล้ว โดยเฉพาะ “ฟ้าเดียวกัน” ที่มีจุดยืนในการนำเสนอเรื่องต่างๆอย่างชัดเจน มีหลักฐานอ้างอิง มีลักษณะเป็นวิชาการ ไม่ใช่หนังสือ “การเมือง” ทั่วไป เนื้อหาอาจจะ “ล่อแหลม” ในใจของคนบางคน แต่โดยทั่วไปแล้วต้องถือว่าได้ให้ข้อคิดและมุมมองที่น่าสนใจและสะท้อนความ เป็นจริง อย่างไม่กลัวใคร “แสลงใจ”

สำหรับ “เรด พาว์เวอร์” นั้นเป็นนิตยสาร “การเมือง” อย่างชัดเจน และยืนข้าง “กลุ่มคนเสื้อแดง” ด้วยบทความที่เข้มข้น ไม่ว่าจะก่อนถูกปิดหลังเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม และการจับกุม นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการ และหลังจากที่เปิดใหม่ เมื่อมีการปล่อยตัว นายสมยศ แล้ว ทั้งในเนื้อหายังมีการวิเคราะห์พาดพิงไปถึงผู้บัญชาการเหล่าทัพ หรือเปิดเผยเอกสารทางการในเรื่องต่างๆอยู่เนืองๆ

ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นหลังที่ทำให้ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ “ศอฉ.” ถึงกับต้องประชุมและให้โฆษก “ไก่อู” พันเอกสรรเสริญ แก้วกำเนิด ออกมาขู่จนเป็นข่าวไปแล้วรอบหนึ่ง ไม่รู้เป็นเพราะมีเสียงทักท้วงจากสื่อและสาธารณชนหรือไม่ จึงทำให้ต้องไปควานหา “กฎหมาย” และ “ช่องโหว่” ที่ผู้ประกอบการทำ “ผิด” เพื่อมาดำเนินการตามที่ตั้งใจไว้

ผมว่าก่อนจะ “ปฏิรูป” อะไร ใครช่วยถาม “คำจำกัดความ” ของคำว่า “ประชาธิปไตย” จากคนในรัฐบาลและ ศอฉ. ก่อนได้ไหม เพราะหากสะท้อนออกมาในลักษณะนี้ ผมว่าไม่ใครก็ใครคงต้องกลับไปเรียนหนังสือใหม่ โดยเฉพาะพวกที่ได้เรียน “ปรัชญา-การเมือง-เศรษฐศาสตร์” มาและนั่งบริหารประเทศอยู่ทุกวันนี้

เพราะประชาธิปไตยคือการเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่าง เสรี เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็ถกเถียงกันไป หากข้อความนั้นไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ก็ฟ้องร้องดำเนินคดีกันไป ให้กระบวนการยุติธรรมและศาลเป็นผู้ตัดสินข้อเท็จจริง

แน่นอนผู้ถูกวิพากษ์ย่อมไม่พอใจ และทุกรัฐบาลก็จะหาวิธีที่จะเปลี่ยนความเห็นนั้น ด้วยวิธีการต่างๆนานา แต่ส่วนใหญ่ก็จะต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมาย และทัศนคติที่ต้องยอมรับถึงเสรีภาพที่ได้รับประกันอันเป็นสิทธิพื้นฐานของคน ไทยทุกคน ในการเมืองยุคใหม่โดยเฉพาะในช่วงหลังเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ ปี 2535” และภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 จึงไม่เคยปรากฏเหตุการณ์อย่างที่เป็นอยู่อย่างทุกวันนี้

ยุคนี้ยุค “ฟ้าเดียวกัน” แต่ทำไมฟ้ามัน “มืดจัง”!!


เหลือเชื่อ ไอ้ตัวซวย!..

โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
ภาพประกอบ บอร์ดประชาไท
5 กรกฎาคม 2553

อาจเป็นไปได้ว่าความอัปมงคลเข้าตัวมาก หลังสั่งการเข่นฆ่าประชาชน ทำให้เสียงสาปแช่งเต็มบ้านเต็มเมือง ความซวยเลยครอบงำนายกฯระบอบหุ่นเชิดอำมาตย์ แต่ที่แย่กว่านั้นคือนายอภิสิทธิ์ได้ลากเอาทีมฟุตบอลเต็งจ๋าระดับโลกซวยตามไปด้วย แค่เขาเชียร์ทีมไหน เห็นผลทันตา คือแพ้เรียบ แพ้กระจุยแบบไม่น่าเชื่อ

ล่าสุดอภิสิทธิ์ได้ประกาศเลิกเชียร์ทีมในฟุตบอลโลกคู่ 4 ทีมสุดท้ายแล้ว อ้างว่ากลัวแฟนบอลเดือดร้อนเสียกำลังใจไปกับความซวยของเขา

กลายเป็นข่าวฮือฮาว่า “ตัวซวย” มีจริง เพราะเมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกปากเชียร์ฟุตบอลทีมไหน ความซวยก็มาเยือนทีมนั้นไปทุกทีมชนิดเหลือเชื่อ จนทำให้ล่าสุดได้ประกาศยุติการให้สัมภาษณ์แล้วว่าเชียร์ทีมไหน เพราะกลัวทีมนั้นจะเดือดร้อน

ก่อนนี้นายอภิสิทธิ์ออกปากให้สัมภาษณ์นักข่าวเชียร์ทีมอังกฤษ โปรตุเกส บราซิล และอาร์เจนติน่า ปรากฎว่าแพ้เรียบ

นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ว่าเชียร์ทีมชาติอังกฤษ แต่อังกฤษ ก็ตกรอบ 2 เพราะพ่ายเยอรมนี ต่อด้วยการเชียร์โปรตุเกส โดยเยาะเย้ยสเปนคู่แข่งขันว่า”สเปนมีดีอะไร..”ผลปรากฎว่าโปรตุเกสก็ตกรอบ 2 ด้วยฝีมือสเปนไปอีกทีม

จากนั้นหันมาเชียร์บราซิล เต็งจ๋าแชมป์โลก ก็โดนฮอลแลนด์เขี่ยตกรอบ และล่าสุดนายกฯการันตีว่า อาร์เจนติน่าจะเอาชนะเยอรมนีพร้อมกับทะลุเข้าไปคว้าแชมป์โลกมาครอง แต่กลับกลายเป็นว่าเมื่อคืนที่ผ่านมาเยอรมนีถล่มเอาชนะอาร์เจนติน่าไปขาดลอย 4-0

“ต่อไปผมจะให้สัมภาษณ์ได้ทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องฟุตบอล” นักข่าวถามว่าทำไมไม่ทำนายต่อหละ? นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า “ไม่มีแล้วครับ ไม่พูดแล้วครับ เลิกแล้วครับ คนเราพอผิดแล้วก็ต้องยอมรับผิด ไม่อุทธรณ์ ไม่ฏีกา เมื่อถามว่าไม่เชียร์ทีมเยอรมนีต่อไป เขาไม่ให้ผมเชียร์ใครแล้ว ตอนนี้แฟนๆ เขาเดือนร้อน”

ทั้งนี้นายกฯ เป็นแฟนบอลทีมนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด และมาเชียร์ออกหน้าออกตาตอนได้เป็นนายกฯ ผลก็คือเมื่อ 2 ฤดูกาลที่แล้วทีมนี้ตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก ก่อนจะกลับขึ้นมาเล่นในพรีเมียร์ลีก ได้อีกครั้งในฤดูกาลที่กำลังจะเปิดฉากขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ โดยมีเสียงเตือนว่าอย่ามาเชียร์อีกจะได้ไหม..

6 วัน 63 ล้านเสียงด่าไล่มาร์คไปตายซะ


โรคจิตอยากโดนด่า

เปิดรับสายวันแรกโครงการ6วัน63ล้านความคิด เจอชาวบ้านไล่ไปลงนรก เปิดรับสายวันที่สองชาวบ้านไล่ให้ยุบสภา เปิดสายวันที่สามชาวบ้านถามหาความยุติธรรมมาตรฐานเดียว ก่อนหน้านั้นไปเดินหาเสียงที่โรงพยาบาลโดนชาวบ้านด่าเต็มหู”ไอ้เหี้ย”(ดูข่าว)ส่วน”ไก่ อู”มาช่วยรับสายเจอด่า”ไอ้สัตว์ ฆ่าประชาชน”เต็มๆ(ดูข่าว) ล่าสุดวิลลี่-เสนาหอยมาช่วยรับสายบอกโดนด่าหูชา ไล่ให้รัฐบาลไปตายซะ

เกจิได้แนะนำมาร์คว่า หากแค่อยากโดนด่าฟรี ให้โทรไปรายการวิทยุของอาจารย์วีระ ธีรภัทร ทางFM96.5MHzช่วงบ่ายๆจ้นทร์-ศุกร์ก็ได้ ไม่ต้องเปลืองงบประมาณภาษีประชาชน


ธงชัย วินิจจะกูล: “ระบอบอภิสิทธิ์” คืออะไร? มาร์ค = มาร์คอส?

ที่มา : มติชนออนไลน์ วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553

หมายเหตุ ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ได้เขียนบทความชิ้นนี้และนำเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ประชาไทเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา มติชนออนไลน์เห็นว่าบทความดังกล่าวมีเนื้อหาน่าสนใจ จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้

สัญญาณหลายอย่างเผยตัวออกมาชัดเจนขึ้นทุกทีว่า “ระบอบ อภิสิทธิ์” คืออะไร?

รัฐบาลนี้ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จแบบไม่สนใจรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่ฝ่ายตนร่างขึ้นมาเอง ในทางปฏิบัติ คือการงดใช้รัฐธรรมนูญตามใจชอบ และทำให้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นกฎหมายสูงสุดยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ ควบคุมข่าวสารเด็ดขาด กวาดล้างจับกุมคุมขังผู้คนโดยไม่ต้องสนใจกระบวนการยุติธรรมหรือสิทธิของผู้ คน ข่มขู่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองไม่ต่างกับ (หรือยิ่งกว่า) เผด็จการทหาร โดยเฉพาะในต่างจังหวัดและชนบทที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล

รัฐบาลนี้เป็นเผด็จการมากถึงขนาดที่พูดข้างเดียวฟังพวกเดียวไม่แยแส ว่าสิ่งที่ตนพูดจะสมเหตุสมผลหรือไม่ โกหกก็ไม่ต้องแคร์ ถูๆ ไถๆ ข้างๆ คูๆ ก็ได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะน่าเชื่อหรือไม่ อาศัยอำนาจ (ปืนและสื่อ) ยัดเยียดประเด็นและคำอธิบายของตนให้แก่สังคม ทำมากๆ เข้าจนความเท็จกลายเป็นความจริง เรื่องไม่มีมูลกลายเป็นประเด็น

หลังประหัตประหารผู้คนเสร็จ ในขณะที่ทำการกวาดล้างจับกุมคุมขังฝ่ายตรงข้ามอย่างหนัก ก็ปรึกษาพวกเดียวกันว่าจะ “ปรองดอง” คือทำยังไงไม่ให้มวลชนลุกฮือต่อต้านอีก

ความอยุติธรรมแบบ  “สองมาตรฐาน” ยิ่งหนักกว่าเดิม แถมทำกันอย่างโจ๋งครึ่มโดยไม่ต้องปฏิเสธหรือแก้ตัวอีกต่อไปแล้ว

ทั้งผีทักษิณและผู้ก่อการร้ายเป็นการหาเหตุเพื่อการปราบปราม แต่จะยังคงอยู่ต่อไปอีกนาน เพื่อหาเหตุให้คงรักษาพ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไป โดยเฉพาะในต่างจังหวัดและชนบทที่เป็นฐานของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล

ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อความสงบหลังปราบปรามการชุมนุมเสื้อแดงเท่านั้น แต่เพื่อทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมือง สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าเพื่อรักษาอำนาจของระบอบอภิสิทธิ์ด้วย

ระบอบอภิสิทธิ์คืออะไร? คือระบอบค้ำจุน อภิชน ภายใต้รูปโฉมประชาธิปไตยอาศัยการเลือกตั้งและนิติรัฐเป็นความชอบธรรม อาศัยปืนและตุลาการเป็นอำนาจที่แท้จริง อาศัยประชาสังคมของอภิสิทธิชนเป็นฐานมวลชนโดยมีสื่อหลักๆ และนักเคลื่อนไหวภาคประชาชนคนสำคัญๆ เป็นผู้ปฏิบัติงานทางการเมืองในประชาสังคมนั้น

ครั้นถูกต่อต้าน ระบอบอภิสิทธิ์ก็เผยตัวตนที่แท้จริงว่าเป็นประชาธิปไตยแบบหนา ด้านได้อายอด เอาทั้งเล่ห์กล มนต์คาถา (โฆษณาชวนเชื่อ) สื่อเส้นหนาของอภิสิทธิชนประเภทต่างๆ (ปัญญาชน รัฐบาล และเหนือรัฐบาล) กฎหมายอัปลักษณ์ทั้งหลาย (กม.หมิ่นฯ,  พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นต้น) และนักสิทธิมนุษยชนกำมะลอ  มาช่วยกันยัดเยียดให้ประชาชนต้องทนรับ

พวกเขาพยายามมาแล้วครั้งหนึ่งในปี 2550 แต่ไม่สำเร็จ คราวนี้จึงต้องโหดกว่าเดิม เด็ดขาดกว่าเดิม เหวี่ยงแหกว่าเดิม ภายใต้ข้ออ้างเดิมๆ ว่าเพื่อต่อสู้กับการซื้อเสียงและผีทักษิณ

เนื้อแท้ของระบอบอภิสิทธิ์คืออำนาจนิยมโดยอาศัย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎหมายอื่นๆ ที่ให้อำนาจแก่รัฐบาลของอภิชนเหนือกว่ารัฐธรรมนูญใดๆ จะให้ได้ นี่แหละคือประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่พวกเขาพยายามสร้างขึ้นหลังการรัฐประหาร 2549 ทว่ายังไม่สำเร็จสักที

หากการเลือกตั้งคราวหน้า ยังไม่สามารถรับประกันชัยชนะของระบอบอภิสิทธิ์ได้ เขาก็จะอ้างความไม่สงบเรียบร้อยในการเลือกตั้งเป็นเหตุเพื่อ บิดเบือนผลการเลือกตั้งหรือเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจนกว่าจะชนะแน่ๆ เสียก่อน

นี่ไม่ใช่เส้นทางแบบพม่าดังที่มักกล่าวกัน แต่ตัวอย่างของอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จของพลเรือนคือ “ระบอบมาร์คอส” ของฟิลิปปินส์

มาร์คอสไต่เต้าสู่อำนาจด้วยการเลือกตั้ง แต่รักษาอำนาจด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉินและอำนาจกองทัพ โดยอ้างว่าต้องรักษาความสงบต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ เขาอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก. เหนือรัฐธรรมนูญ เข้ากวาดล้างจับกุมทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมืองอย่างเด็ดขาดโหดร้าย แต่ความสำเร็จทางเศรษฐกิจในระยะแรกทำให้ระบอบมาร์คอสได้รับความสนับสนุนจาก สาธารณชนโดยเฉพาะคนเมืองผู้มีอันจะกินอย่างมาก

ครั้นใกล้หมดเทอมของตน เขาก็แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดโอกาสให้ระบอบของเขามีอำนาจต่อไปได้ ด้วยการอ้างผู้ก่อการร้ายเช่นเคย

มาร์คกับมาร์คอส  คือชื่อเดียวกัน ในคนละภาษาเท่านั้นเอง

ประเด็นสำคัญ มิได้อยู่ที่ระบอบอภิสิทธิ์ใกล้เคียงหรือต่างกับระบอบมาร์คอสมากน้อยแค่ไหน เพราะแต่ละประเทศย่อมมีเงื่อนไขแตกต่างกันออกไปตัวอย่างเช่น ลัทธิบูชาบุคคลของระบอบมาร์คอสบูชาตัวมาร์คอสเอง แต่นายมาร์คเป็นเพียงผู้รับใช้คนหนึ่งเท่านั้น

ประเด็นน่าคิดก็คือ ถ้าอภิสิทธ์ชนของไทยหน้ามืดตามัวถึง ขนาดเลือกทางเดินเดียวกับระบอบมาร์คอส เพื่อต่ออายุอำนาจของตนไว้ในระยะใกล้ น่าคิดว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ (หรือฟิลิปปินส์ๆ) จะเป็นรถไฟขบวนสุดท้ายของอภิชนาธิปไตยไทยจริงๆ

ปัญญาชน นักวิชาการ บรรณาธิการผู้ทรงอิทธิพล  ผู้ประกาศข่าว อันมีชื่อเสียงทั้งหลาย  จงช่วยกันเร่งฟืน เพิ่มความร้อนแรงของรถขบวนสุดท้ายนี้เข้าไปเถิด แล้วอย่ามาร้องหาความยุติธรรมในวันที่รถไฟตกรางก็แล้วกัน

เพราะรถไฟสายอภิชนกำลังวิ่งสวนทางกับรถไฟสาย “ความ เปลี่ยนแปลง”และไม่มีทางหยุดยั้งความเปลี่ยนแปลงที่ออกจากสถานีมาแล้ว

เพราะพวกท่านทำให้สังคมมืดบอดกันไปหมดอันจะทำให้รถไฟอภิชน ตกรางอย่างรุนแรงพวกท่านขาดสติยั้งคิดถึงอนาคตเสียจนท่านเองเป็นผู้ทำร้าย สิ่งที่พวกท่านบูชา

เพราะ “ระบอบอภิสิทธิ์” จะกัดกร่อนทำลายอภิชนเองในที่สุด..