ธิดาเขียน “จากใจคนไทยถึงอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตอนที่1 นกน้อยในกรงทอง

นายแพทย์สลักธรรม โตจิราการ เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกของนางธิดา ถาวรเศรษฐ มารดา ที่เขียนถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยใช้ชื่อจดหมายว่า “จากใจคนไทย ถึง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตอนที่ 1 นกน้อยในกรงทอง ” ซึ่งเป็นการเขียนหลังจากที่ นางธิดา อ่านบันทึกเปิดใจฉบับต่าง ๆ ของนายอภิสิทธิ์ โดยระบุว่า จากบันทึก 4 ฉบับ ทำให้เข้าใจลักษณะนิสัยของนายอภิสิทธิ์ ได้ดีมากยิ่งขึ้น

นี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่เขียนจดหมายถึงคนคนเดียว แต่ขอเขียนแทนประชาชนคนไทยจำนวนหนึ่ง(เป็นจำนวนมาก) อ่านจดหมายสื่อสารของ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เขียนจากใจถึงคนไทยทั้งประเทศ ฉบับที่ 1 ถึงฉบับที่ 4 ขอให้เขียนต่อไปให้มากๆ คนไทยจะยิ่งรู้จักธาตุแท้ของท่านมากยิ่งขึ้น

ความจริงไม่ใช่ความผิดของคุณอภิสิทธิ์ทั้งหมด เพราะคุณอภิสิทธิ์ เป็นตัวแสดงที่ถูกทำให้มารับหน้าที่ นายกรัฐมนตรีในเวลานี้ อันเป็นตัวละครสำคัญ ในช่วงเวลาที่สังคมไทยกำลังเกิดการขัดแย้งรุนแรง ระหว่างชนชั้นนำในระบอบอำมาตยาธิปไตยกับประชาชนไทย พรรคการเมืองตัวแทนฝ่ายอนุรักษ์นิยมจึงต้องเป็นรัฐบาลให้ได้ และเป็นให้ยาวนานที่สุด เพื่อรักษาอำนาจในการปกครองไว้ในมือของชนชั้นนำในระบอบอำมาตยาธิปไตย โดยกองทัพของชนชั้นนำในระบอบอำมาตยาธิปไตยเช่นกัน

และเมื่อพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีหัวหน้าพรรคชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ถูกดึงขึ้นมาต่อสู้เทียบเคียงกับทักษิณ ชินวัตร โดยเชื่อว่า สดกว่า หนุ่มกว่า มีการศึกษาสูงแบบผู้ดีอังกฤษ คุณอภิสิทธิ์ จึงกลายเป็นตัวเอกของเวทีรัฐสภาและมีบทบาทเป็นนายกรัฐมนตรีในฐานะตัวแทน ชนชั้นนำ ในระบอบอำมาตยาธิปไตย ที่เขาคิดว่าเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดแล้ว เช่นเดียวกับเหตุการณ์การตั้งนายกฯสุรยุทธ จุลานนท์

จากภูมิหลังของครอบครัวที่จัดเป็นคนชั้นสูงในสังคม โดยฐานะทางชนชั้น การศึกษาตามแบบฉบับชั้นดีเลิศของอังกฤษ ผ่านโรงเรียนและมหาวิทยาลัยของชนชั้นสูงอังกฤษ การมีสภาวะแวดล้อมของกลุ่มอนุรักษ์นิยม สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจสังคมไทยในมิติอื่น ยกเว้นมิติของกลุ่มคนในหมู่พวกและชนชั้นตนเท่านั้น

ตามที่คุณอภิสิทธิ์ อ้างถึงคนที่เชียร์ให้กำลังใจคุณอภิสิทธิ์ให้(ทน)อยู่ในฐานะนายกฯต่อไป และไม่พอใจถ้าคุณอภิสิทธิ์ไปเจรจากับคนเสื้อแดง หรือดูเหมือนอ่อนข้อเมื่อประกาศจะยุบสภาก่อนเวลาสิ้นสุดแท้จริง เช่น “อย่าเสียใจ อย่ายุบสภา อย่าลาออก ท่านนายกฯทำดีที่สุดแล้ว” หรือ “อย่าลาออก พวกมันยิงกันเอง” คุณอภิสิทธิ์อ้างว่า “ได้รับกำลังใจจากประชาชนจำนวนมาก ที่ส่งข้อความเข้าโทรศัพท์มือถือของผม เป็นแรงใจให้ผมมีความเข้มแข็ง ยืนหยัดต่อสู้เพื่อบ้านเมืองของเรากลับสู่ความสงบให้ได้และข้อความอีกมากมาย ที่ส่งมาให้กำลังใจ เป็นเสมือนน้ำทิพย์ชโลมใจที่อ่อนล้าของผม ให้กลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง”

หรือบางตอนที่เขียนว่า “ผมท้อไม่ได้ และผมไม่มีสิทธิ์ถอย เพราะถ้าทำอย่างนั้นก็เท่ากับว่าผมทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน”

ปัญหาของคุณอภิสิทธิ์ก็คือ การอยู่ในสภาวะแวดล้อม ในแวดวงของประชาชนกลุ่มที่จำกัด แวดวงบริเวณยอดของรูปปิรามิด แห่งสังคมไทย ไม่ได้สัมผัสกับประชาชนแห่งฐานปิรามิดที่เป็นรากหญ้า รากฐานของสังคม ในอดีตแม้จะเป็นนักการเมืองที่ลงหาเสียงในกรุงเทพมหานครฯ แต่ก็เป็นการหาเสียงกับคนเมืองเฉพาะส่วนเท่านั้น ทั้งเป็นเวลาที่อ่อนวัยและไม่มีความรับผิดชอบใดๆ การสัมผัสประชาชน จึงเป็นคนละบรรยากาศกับในปัจจุบันที่เป็นนายกรัฐมนตรีท่ามกลางกลุ่มคาว เลือด ศพ ของประชาชนมือเปล่าที่ถูกฆ่า และเสียงตะโกนจากคุกที่คุมขังประชาชน โดยใช้เพียงการตั้งข้อหารุนแรงปราศจากหลักฐานใดๆ

เมื่อต้องลงสู่ท้องถนน เพราะต้องออกหาเสียงช่วยลูกพรรคทั่วราชอาณาจักร ได้สัมผัสกับประชาชนทั่วไปในสถานการณ์ใหม่ หลังการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง จึงต้องเผชิญความจริงที่ว่า มีประชาชนเคืองแค้น ถามหาความรับผิดชอบในเหตุการณ์ปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนในปีที่ผ่านมา หรือมีแววตาแสดงออกถึงความเกลียดชัง มีการถือป้าย “ดีแต่พูด” แสดงออกเช่นนี้อยู่ทั่วไป แม้แกนนำ นปช. ไม่ว่าจะเป็นคุณณัฐวุฒิ หรือดิฉันเอง ได้ขอร้องมวลชนคนเสื้อแดงว่าไม่ควรขัดขวางการหาเสียง แต่ก็มีสิทธิอันชอบธรรมในการทวงถามความยุติธรรมและความรับผิดชอบในฐานะที่คุณเป็นนายกรัฐมนตรี

ด้านหนึ่งก็คงจะกระทบกระเทือนจิตใจของคุณอภิสิทธิ์พอสมควร จึงเขียนในเฟซบุ๊ค จากใจอภิสิทธิ์ถึงคนไทยทั้งประเทศ อีกด้านหนึ่งก็แสดงการเคืองแค้นอย่างรุนแรงของคุณอภิสิทธิ์ที่โต้เถียงประชาชนไม่ลดละ

ยุทธศาสตร์การหาเสียงด้วยการเสนอนโยบายที่ลอกจากพรรคอื่นๆ ก็เปลี่ยนมาเป็นการโจมตีคนเสื้อแดง และรุกไล่โจมตีผู้สมัครหมายเลข 1 เพื่อไทย ในข้อหาเชื่อมโยงกับคุณทักษิณ ชินวัตร ท่วงทำนองนี้คล้ายกับตอนจัดการคุณทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลของพรรคพลังประชาชน คือเป็นท่วงทำนองของผู้เป็นรอง รุกไล่โจมตีผู้มีพลังมากกว่า นี่แสดงถึงความวิตกจริตอย่างหนักของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเอง วาทกรรม “เผาบ้านเผาเมือง” จึงถูกนำมาใช้เป็นหลักในการกล่าวอ้างกับประชาชนว่าคนเสื้อแดงที่เป็นผู้ สมัครในพรรคคู่แข่ง คือผู้เผาบ้านเผาเมือง หลังจากวาทกรรม ล้มเจ้า ที่นำมากล่าวหาคนเสื้อแดง ถูกเยาะเย้ยด้วยผังล้มเจ้าเหลวไหล ที่เอามาอ้างเป็นเหตุให้จัดเป็นคดีพิเศษจัดการกับคนส่วนต่างๆ และแกนนำคนเสื้อแดง การแสดงออกของจดหมายจากใจอภิสิทธิ์ถึงคนไทยทั้งประเทศ ที่เขียนออกมาจนถึงปัจจุบัน(21มิ.ย. 54 ) จำนวน 5 ฉบับแล้วนั้น ล้วนแสดงออกถึงการพยายามแก้ตัวในสถานการณ์ต่าง ๆ กัน

ในฉบับแรก ตอนที่1 การเมืองสลับขั้ว สู่เส้นทางนายกรัฐมนตรี ก็จะเป็นการแก้ตัวเรื่องที่มาของรัฐบาลที่จัดตั้งในค่ายทหาร

ตอนที่ 2 กฏเหล็ก 9 ข้อ สู่บรรทัดฐานใหม่ทางการเมือง ก็บรรยายในลักษณะอวดตัวและเหยียบย่ำพรรคร่วม แนวทาง 9 ข้อ ก็อ้างพระบรมราโชวาท เพื่อนำมาใช้อวดตัวในด้านความซื่อสัตย์สุจริต และความล้ำเลิศอื่นๆ

ฉบับที่ 3 ก็แก้ตัวในเหตุการณ์ 10เมษายน 2553 และฉบับที่ 4 แก้ตัวเรื่อง 91ศพ สังเวยความต้องการใคร

ทั้ง 4 ฉบับ ลักษณะร่วมกันคือ เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น การเลือกพูดเอาเหตุผลที่เข้าข้างตน โจมตีคนอื่นด้วยวาทกรรมที่มาจากข้อมูลที่ไม่ใช่เรื่องจริง การแก้ตัว ปฏิเสธความรับผิดชอบ และกล่าวโทษผู้เป็นคู่ต่อสู้ทางการเมือง โดยอาศัยการพูดที่ไม่คำนึงถึงหลักฐานข้อเท็จจริงทั้งปวง ที่จริงเป็นการทำลายคุณอภิสิทธิ์ ทำลายพรรคประชาธิปัตย์เอง เพราะเวลา1ปีที่ผ่านมา หลักฐานข้อมุลที่ชัดเจนได้ปรากฏในสังคม ประชาชนรับรู้ และพิพากษาไปแล้ว นี่ก็จะไปจัดปราศรัยใหญ่ที่สี่แยกราชประสงค์ในวันที่ 23 มิย 54.นี้ ก็ทำไม่ไม่จัดเอาในวันที่ 19 มิย 54 ไปเสียเลย จะได้เป็นการจัดงานรำลึกฉลองการปราบปรามประชาชนครบรอบ 1 ปี 1เดือน ถือเป็นการกล่าวกับวิญญาญวีรชนว่า เห็นไหม พวกแกตายฟรี ๆ พวกข้ายังอยู่ดี เป็นนายกรัฐมนตรีจนถึงบัดนี้”

โดย ธิดา ถาวรเศรษฐ ใน ไทยอีนิวส์
22 มิถุนายน 2554


วิกฤตการเมืองไทยกับบทบาทของกองทัพ

วิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้มีความยุ่งยากมาก ประการหนึ่ง เพราะปฏิกิริยาของฝ่ายอนุรักษนิยม หรือกลุ่มผู้ต้องการรักษาระเบียบสังคมและการเมืองแบบเดิม สามารถอิงสัญลักษณ์อำนาจจากสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีอำนาจด้านกายภาพจากกองทัพ บวกแรงสนับสนุนจากบางส่วนของสังคมและชนชั้นกลางเมืองเป็นตัวหนุนช่วย

ยุทธศาสตร์หนึ่งที่ฝ่ายอนุรักษนิยมใช้ คือ ทำให้ขบวนการทางการเมืองของฝ่ายตรงกันข้าม ที่ต้องการระเบียบใหม่ ไร้ความชอบธรรม เช่น สร้างวาทกรรมว่า ไร้การศึกษา คิดเองไม่เป็น ถูกชักจูงหรือถูกซื้อได้ง่ายๆ

แต่มีงานวิจัยเชิงประจักษ์หลายชิ้น เช่น จากกลุ่มอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จุฬาฯ ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ที่ญี่ปุ่น และที่สหรัฐอเมริกา ที่ชี้ให้เห็นว่าประชาชนต่างจังหวัด และที่อพยพมาทำงานในเมือง มีความตื่นรู้ทางการเมืองที่เป็นระบบ ความตื่นรู้นี้ได้บังเกิดและสะสมมาเป็นเวลานานแล้ว โดยเฉพาะนับตั้งแต่หลัง 14 ตุลา 2516 พวกเขาสามารถคิดเอง ทำเองได้ หาทางเข้าถึงข่าวสารข้อมูลต่างๆ หลายรูปแบบด้วยตัวเองด้วย ดังนั้น พวกเขาจึงรู้เรื่องเมืองไทย และรายละเอียดเกี่ยวกับชนชั้นกลางในเมือง มากกว่าที่ชนชั้นกลางในเมืองจะรู้เกี่ยวกับพวกเขาเสียอีก ประชาชนที่ตื่นรู้เหล่านี้ ต้องการเปลี่ยนระเบียบสังคมและการเมืองเสียใหม่ ให้เป็นประชาธิปไตย และให้พวกเขาได้รับการยอมรับอย่างมีศักดิ์ศรีในฐานะเป็นพลเมืองไทยที่ทัด เทียมกับชนชั้นกลางในเมือง

นักวิชาการชาวญี่ปุ่นรายหนึ่ง หลังจากศึกษาประวัติศาสตร์และสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน จึงมีข้อสรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ความยุ่งเหยิงทางการเมืองปัจจุบัน เป็นขั้นตอนหนึ่งของพัฒนาการประชาธิปไตยของสังคมไทย ประเทศไทยกำลังประสบกับความเจ็บปวดของการเกิดใหม่ เมื่อระบบการเมืองของไทยพร้อมที่จะก้าวขั้นต่อไปข้างหน้า”

แต่เมืองไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้ลำบาก ถ้าไม่มีการยอมรับว่าสังคมเปลี่ยนไปแล้ว และสถาบันต่างๆ ต้องปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงด้วย

สถาบันหนึ่งที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และยังมีบทบาททำให้การก้าวไปข้างหน้า หยุดชะงักได้ด้วยการทำรัฐประหาร การใช้ความรุนแรง และการต่อต้านหลายรูปแบบ ก็คือ สถาบันกองทัพ

นับจากรัฐประหาร 2549 ห้าปีผ่านมานี้แล้ว กองทัพไทยได้ขยายบทบาทในสังคมมากขึ้นมาก จนกล่าวกันหนาหูว่า ถ้ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากกองทัพจะอยู่ไม่ได้

แต่กระนั้น ก็ไม่มีใครถกเถียง หรือตั้งคำถามว่า การที่ทหารมีบทบาทสูงขึ้นดีหรือไม่ดี ? มีผลพวงต่อพัฒนาการของสังคมและการเมืองอย่างไร? และแนวโน้มในอนาคตคืออะไร ?

ที่ว่ากองทัพมีบทบาทสูงขึ้นและขยายขอบเขตนั้น มีอะไรเป็นรูปธรรม ?

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนประการหนึ่ง คือ งบประมาณกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ระหว่างปี 2550 ถึงปี 2552

หากเปรียบเทียบระหว่างประเทศต่างๆ โดยดูสัดส่วนของงบทหารเป็นร้อยละของ GDP สหรัฐในฐานะพี่ใหญ่ของโลก สูงถึงร้อยละ 4 ไทยก็สูงคือร้อยละ 1.8 เทียบเคียงได้กับจีนที่ร้อยละ 2.0 มากกว่าเยอรมนีพี่ใหญ่ของ EU ที่เพียงร้อยละ 1.3 อินโดนีเซียที่ร้อยละ 1.0 และญี่ปุ่นที่เพียงร้อยละ 0.9

หากดูอัตราส่วนของจำนวนทหาร 1 คน ต่อประชากร 1,000 คน (ตัวเลขรวมทหารนอกประจำการและกลุ่มไม่เป็นทางการที่เรียกว่า militia) ของสหรัฐ คือ ทหาร 7.9 คนต่อประชากร 1,000 คน สหราชอาณาจักร 6 คน เยอรมนี 5 คน อินโดนีเซีย 4.1 คน ญี่ปุ่น 2.2 คน

แต่ของไทย ทหาร 10 คน ต่อประชากร 1,000 คน นับว่าสูงมาก จำเป็นอะไรหนักหนาที่จะต้องมีอัตราส่วนทหารถึง 10 คน ต่อประชากร 1,000 คน ?

ประการต่อมา มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญหลังปี 2549 เรื่องกระบวนการโยกย้ายภายในเหล่ากองทัพ ก่อนปี 2549 โผทหารจะถูกพิจารณาโดยนายกรัฐมนตรีก่อนเสนอให้ทรงลงพระปรมาภิไธย นับจากปี 2551 พ.ร.บ. กระทรวงกลาโหมมีการแก้ไข ทำให้โผทหารประจำปี อยู่ในกำกับของกองทัพอย่างสิ้นเชิง บทบาทของนายกฯกระทำผ่าน รมต.กลาโหม ซึ่งถ้า รมต.กลาโหมมาจากฝ่ายทหาร (เช่น อดีตนายพล) หมายความว่าการแต่งตั้งโยกย้ายประจำปี รวมทั้งการแต่งตั้ง ผบทบ. เหล่าทัพต่างๆ จะเป็นเรื่องภายในของกองทัพทั้งสิ้น โดยเป็นเอกเทศจากรัฐบาลพลเรือนอย่างแท้จริง

อดีตนายพลท่านหนึ่งอธิบายว่า นายกฯจะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้สนองพระบรมราชโองการเท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยสวนทางกับแนวโน้มของประเทศประชาธิปไตยพัฒนา แล้วอย่างสิ้นเชิง ที่รัฐบาลจะเป็นผู้กำกับโผทหาร

ประการต่อมา ในประเทศประชาธิปไตยทั่วไป บทบาทของผู้นำฝ่ายทหารมีจำกัด แต่ของไทยผู้นำฝ่ายทหารมีบทบาทสูง และใส่หมวกหลายใบ

มีรายงานในหน้าหนังสือพิมพ์ตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วง 4-5 อาทิตย์ที่ผ่านมา ผบ.ทบ. แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อบ่อยมากในหลายเรื่อง (The Nation, April 24, 2011) เช่น เสนอความเห็นว่ารัฐบาลควรมีนโยบายต่างประเทศเกี่ยวกับกัมพูชา ไปทางไหน

ให้คำแนะนำแก่ผู้ออกเสียงเลือกตั้งว่า เลือกตั้งเพื่อปกป้องพระมหากษัตริย์ และออกมาเลือกตั้งมากๆ จะช่วยปกป้องพระมหากษัตริย์และประชาธิปไตย

ออกคำสั่งให้มีการปิดเว็บไซต์เพิ่มขึ้นด้วยเหตุผลทางการเมือง รวมทั้งให้ทหารในสังกัดแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

เมื่อวันที่ 16 พ.ค. นี้เอง ผบ.ทบ.ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอ.รมน. เสนอให้ยกระดับ กอ.รมน. เป็นทบวงด้านความมั่นคงภายในเหมือนกับ Homeland security department ที่สหรัฐ ที่ตั้งขึ้นมาหลังเหตุการณ์ 9/11 เพื่อต่อต้านการก่อการร้าย (Bangkok Post, May 16, 2011) ซึ่งเมื่อดำเนินการไปในขณะนี้กำลังถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าใช้งบฯมากเกินความ จำเป็น ในการแสวงหาข้อมูล หรือดำเนินการเพื่อป้องกันการก่อการร้าย ได้ใช้วิธีการขัดกับหลักการปกป้องเสรีภาพส่วนบุคคลในรัฐธรรมนูญ แม้กระทั่ง อาจเปิดจดหมายของใครก็ได้ ด้วยเหตุผลของความมั่นคง

ในรายงานกล่าวว่า ผบ.ทบ.ไทยต้องการขยายขอบข่ายงานของ กอ.รมน.ทั้งบุคลากร และงบประมาณด้วย เพื่อจัดการกับการที่ประเทศถูกคุกคามแบบใหม่ๆ และทบวงนี้จะดูแลปัญหาด้านภัยพิบัติจากธรรมชาติ ปัญหาภาคใต้ และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

ผบ.ทบ.ได้เสนอความคิดเห็นนี้กับอดีตนายกฯ (อภิสิทธิ์) แล้ว และอดีตนายกฯก็แสดงความเห็นชอบ

ผบ.ทบ.จึงสั่งการให้มีคณะทำงานเพื่อศึกษาวางแผน และเตรียมเสนอโครงการนี้กับรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง

ทำไมจึงจะต้องขยาย กอ.รมน. รวมทั้งบุคลากร และงบประมาณ ถึงขนาดจะตั้งเป็นทบวงใหม่ ซึ่งขณะนี้งบฯทหารเองก็มากเกินความจำเป็นแล้ว ประชาชนผู้เสียภาษีควรจะมีบทบาทรับรู้และอภิปรายเรื่องนี้ จะมาตกลงกันระหว่าง ผบ.ทบ. และอดีตนายกฯแบบนี้ใช้ได้หรือ ?

เป็นที่ชัดเจนว่าทหารเป็นองค์ประกอบของผู้รักษาระเบียบเก่า ได้ประโยชน์จากระเบียบเก่า อีกทั้งยังเป็นองค์ประกอบของความยุ่งยากในการแสวงหาทางออกให้กับความขัดแย้ง ทางการเมืองโดยสันติวิธี

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมไทยจะต้องมีการอภิปรายกันถึงการขยายบทบาทของ ทหารในสังคมไทยว่าดีหรือไม่ดี ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างไร ? อำนาจของ ผบ.ทบ. ที่ดูเหมือนล้นฟ้าขณะนี้ควรถูกจำกัดให้อยู่ระดับใด?

ที่มา : มติชนออนไลน์ 1 มิถุนายน 2554
โดย : ผาสุก พงษ์ไพจิตร


เลือกตั้ง-ไม่เลือกตั้ง?

ถือเป็นคำถามยอดฮิตในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นบนเวทีสัมมนา หลังเวที ตามท้องถนน และในสภากาแฟตามหัวมุมต่างๆ ผมโดนประจำ เดินซื้อของอยู่ดีๆยังมีคนเข้ามาทัก ทั้งตัวเองก็ตกหลุมตามกระแสไปกับเขาด้วย เริ่มถามเองและถามกลับเมื่อถูกถามว่า “แล้วคิดว่าจะมีเลือกตั้งหรือไม่?” และ “เขาจะปฏิวัติกันเมื่อไหร่?”

ซึ่งเมื่อถามหรือตอบไปตามความรู้สึกของ ตัวเอง ก็รู้สึกผิดปกติอย่างไรไม่ทราบ เพราะในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ ไม่ใช่ “ประชาธิปไตยอำนาจแฝง” แบบไทย คงไม่มีใครถามคำถามนี้ ด้วยเส้นทางสู่อำนาจในประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีเส้นทางเดียว คือผ่านการเลือกตั้ง เพราะอำนาจนั้นเป็นของปวงชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญที่ถูกฉีกทิ้งประจำอย่าง บ้านเรา

มีคนไทยหลายรุ่นตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยน แปลงการปกครองปี 2475 จนถึงปัจจุบัน ไปร่ำเรียนต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นประชาธิปไตย “ต้นแบบ” อย่างอังกฤษหรืออเมริกาจำนวนมาก และกลับมาทำงานประสบความสำเร็จในหลากหลายแวดวง และที่รับราชการทั้งพลเรือนและทหาร ตลอดจนเป็นนักการเมือง นักวิชาการ น่าจะมีจำนวนไม่น้อยกว่าประเทศอื่นๆหากเทียบตามสัดส่วนประชากร

ประชาชนคนไทยเองได้รับการศึกษาที่ดี ขึ้น และมีความตื่นตัวทางการเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ล้วนแล้วแต่เห็นว่าระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้จะสับสนวุ่นวายบ้างเนื่องจากเป็นเรื่องของความต้องการที่ไม่เหมือนกัน ของคนจำนวนมาก แต่ถือว่าเป็นระบอบที่ดีที่สุดเพราะพื้นฐานการเคารพความเท่าเทียมกันและ ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

แต่ทั้งหมด (รวมตัวผมเอง) ไม่วายที่จะตกเป็นเหยื่อของข่าว ที่มีคนกลุ่มหนึ่ง “ปล่อย” อาจเป็นเพราะคนกลุ่มนั้นคิดจะทำการ “รัฐประหาร” จริง หรือได้ประโยชน์จากการที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยอ่อนแอ อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนอำนาจด้วยวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำการรัฐประหารใช้อำนาจจากปากกระบอกปืนข่มขวัญประชาชน แต่ปากใช้เหตุผลสวยหรูว่าจะเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆนานา ไม่ว่าจะเป็น คอรัปชั่น การใช้อำนาจในทางที่ผิด หรือการแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าจะเข้ามาปกป้องจากขบวนการ “ล้มเจ้า” ฯลฯ

ซึ่งสะท้อนว่าประเทศไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง!!

แน่นอนเท่าที่ถามๆดูหลายคนอาจจะ “เบื่อ” กับนักการเมืองที่โกงกิน หรือรัฐบาลที่ไม่ได้เรื่อง แต่ในที่สุดแล้วประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็ได้พิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า รัฐประหารเสร็จใช่ว่าผู้นำใหม่จะเป็น “พระเอกขี่ม้าขาว” จริง ส่วนใหญ่อยู่ๆไป “บ้าอำนาจ” ไม่แพ้กันแถมอาจจะมากกว่าด้วย เพราะไม่ต้องยึดโยงกับประชาชน ไม่ต้องห่วงว่าคนเดินถนนจะคิดอย่างไรด้วยไม่ได้มาจากประชาชน ไม่ต้องไปขอคะแนนเสียงเขา ไม่เป็น “หนี้บุญคุณ” ประชาชนก็ไม่ต้องตอบแทนทำนองนั้น

เอาใจกันแต่ผู้มีอำนาจเพราะเป็นพวกที่ จะปลดตนได้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มก้อนเช่นทหารรุ่นเดียวกันหรือผู้มีอิทธิพลทางผลประโยชน์ ประชาชนจะเอาออกจากอำนาจก็แสนลำบาก ต้องเสียเลือดเสียเนื้อ ล้มตายกันไปหลายครั้งหลายหน

ประเทศไทยเดินหลงทางตั้งแต่ครั้งรัฐ ประหาร 19 กันยายน 2549 และยังผิดซ้ำซากแม้มีการเลือกตั้งเมื่อปี 2550 เพราะในที่สุดการยึดสนามบิน การจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร การสลายการชุมนุมที่ทำให้มีคนไทยต้องเสียชีวิตกลางเมืองหลวงร่วม 90 คน ล้วนแล้วแต่การตัดสินใจของกลุ่มคนที่พาประเทศ “เลี้ยวผิดทาง” แทนที่จะกลับขึ้นมาวิ่งบนถนน หันหัวลงโคลนตมไม่จบสิ้น

แล้วยังจะมาคิดทำรัฐประหาร ทำแบบเดิมไม่ได้เพราะเกรงคาถา “ตูนีเซีย อียิปต์ ลิเบีย” ที่ นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ นำมาร้องและท่องจนติดหูติดตาติดใจ ก็คิดจินตนาการไปถึงรัฐประหารแบบ “ไม่เปิดเพลง (มาร์ช)” ใช้กฎหมายเป็นเงื่อนไขให้ถึงทางตัน เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญ จะเรียกว่าเป็น “coup by law” ก็ว่าได้ ไม่รู้นักกฎหมายที่เก่งๆในเมืองไทยทั้งหลายจะคิดอย่างไร

เลิกคิดเถอะครับ เห็นแก่ประเทศชาติ ช่วยกันผลักดันให้มีการเลือกตั้ง และช่วยกันทำให้การเลือกตั้งโปร่งใสที่สุดเท่าที่จะทำได้ ใครชนะก็ให้เข้ามาบริหารประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย หรือ พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดิมหรือคนใหม่ ให้ทำงานไป ทำไม่ได้ ไม่ลาออกก็ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนอีก

ในที่สุดทุกอย่างจะตกผลึกลงตัว ต่อสู้กันระบบรัฐสภา ใครออกนอกกติกาให้ว่าไปตามกระบวนการของกฎหมาย ใครรัฐประหารก็ออกมาต่อต้าน ลงโทษผู้กบฏโดยไม่มีนิรโทษกรรม!!

โดย สุรนันทน์ เวชชาชีวะ
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่
30 มีนาคม 2554

 


ประเด็นฝากให้คิด? ถ้าคิดจะรัฐประหารอีกสักรอบ?

ความจริงวันนี้เป็นวันวาเลนไทน์ แต่นึกไม่ออกที่จะเขียนอะไรให้เป็นความสดชื่นหรือดูดดื่มด้วยความสุขในโอกาส เช่นนี้?

สภาพแวดล้อมทั่วไปของบ้านเมืองคงต้องยอมรับถึงความตึงเครียดและคำถามข้อสงสัยซึ่งกังวลใจโดยมุ่งไปที่ “ข่าวรัฐประหาร” มีสื่อมวลชนจำนวนไม่น้อยรวมทั้งแหล่งข่าวทั้งวงการเมืองกับการทหารต่างเห็นสอดรับไปในทางเดียวกันว่า  “ปีกระต่ายทอง 2554 นี้ รับรองเห็นทีที่ประเทศไทยเราคงหนีไม่พ้นสถานการณ์ปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจ กลายเป็นวงจรที่จะเพิ่มวิกฤตให้หนักหน่วงรุนแรงเข้าไปอีกระดับ” ยังมีบางคนซึ่งแทบหมดหวังกับความเป็นจริงในระบบอำนาจแห่งการผูกขาดทางการเมืองและผลประโยชน์ของชนชั้นนำ หมดหวังต่อการแก้ไขสถานการณ์บ้านเมืองให้เป็นไปตามหลักการและระบบ จึงคล้ายเกิดอาการแดกดันทางการเมืองไปเสียเลย

ผู้คนเหล่านี้มีความรู้สึกและทรรศนะประการหนึ่งที่น่าสนใจสรุปได้ว่า “ใครจะรัฐประหาร ยึดอำนาจ หรือกวาดล้างครั้งใหญ่ในแผ่นดินนี้ก็ขอให้จัดการทำไปเลย จะได้รู้แล้วรู้รอดกันไปเสียที ชาติบ้านเมืองคงได้เห็นหน้าเห็นหลังถึงอนาคตกับความเป็นไป จะขึ้นสวรรค์หรือลงนรก จะสงบราบคาบหรือกลายเป็นกลียุคคงได้รู้ในรอบนี้”

ข้อเขียนที่ผมจะกล่าวถึงคงมิใช่เป็นการให้กำลังใจ คือให้กำลังใจว่า “เขาคงไม่รัฐประหารกันหรอก” เพราะคนพวกนี้ถ้าคิดจะทำอะไรเห็นทีไม่มีใครไปห้ามหรือขวางกั้นอะไรได้ ฉะนั้นเราคงต้องวางเฉยต่อการคิดหรือตัดสินใจของพวกเขา… “พวกท่านจะทำอะไรก็ทำไปเลยครับ?” เพียงแต่อยากจะฝากให้คิดสักนิดถึงการก้าวถลำเป็นครั้งสุดท้ายของบ้านเมือง?

ท่านจะทำรัฐประหารในลักษณะไหน? เอากันถึงขั้น “ปิดประเทศ” ติดตามกวาดล้างจับกุมกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย ทั้งล่าสังหารสัก 100,000 รายกระนั้นหรือ?

ผมไม่ค่อยเชื่อสำหรับการใช้แสนยานุภาพที่จะบดขยี้ได้เป็นหมื่นเป็นแสนโดย ปราศจากปฏิกิริยาทั้งของประชาชนทุกฝ่าย รวมทั้งแรงสะท้อนกดดันจากนานาชาติ แม้กระทั่งมหาอำนาจขี้เท่ออย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งว่ากันว่า “อิงอยู่กับอำนาจนิยมในประเทศไทย” ก็คงจำยอมรับสภาพไม่ได้ ถ้าเหตุการณ์เป็นไปอย่างนั้นรับรองต้องมีการตัดสินใจด้วยระบบความคิดชุด ใหม่?

สูตรการคิดและทฤษฎีที่เอา “กลุ่มรับใช้เป็นเหยื่อ” สำหรับวิธีคิดเช่นนี้ผมว่ามหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาก็คงจะคิดได้ไม่แพ้ “ชนชั้นนำไทย” เราอาจยกตัวอย่างที่เห็นได้ถ้า “เกิดการรัฐประหารรอบใหม่” สิ่งที่ต้องเซ่นสังเวยให้แก่วิถีทางของอำนาจก็คงหนีไม่พ้นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งดูเหมือนสถานะของเขากำลังอยู่ใกล้ความเสี่ยงในการเป็น “อดีตนายกรัฐมนตรี”

มันเป็นเหตุผลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับการเคลื่อนขบวนรัฐประหารโดย ปราศจากเหยื่อ แล้วบทนี้หนุ่มมาร์ครูปหล่ออาจต้องรับไปเต็มๆ?

มองเกมข้างหน้าไปอย่างไรสำหรับสูตรรัฐประหาร มิใช่เพียงคนเสื้อแดงหรือฝ่ายประชาธิปไตยเท่านั้นที่ตกเป็นเหยื่อและเป้า หมาย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คงมีโอกาสสูงสำหรับการเป็นเหยื่อตัวใหญ่ที่สุด ลองพิจารณาว่าหากการรัฐประหารเกิดไปสัมพันธ์กับม็อบที่ชุมนุมขับไล่ สมมุติว่าม็อบนั้นจุดไฟติด? ชะตากรรมของนายอภิสิทธิ์จะเลวร้ายเพียงใด? เป็นไปได้ที่จะถูกขับไล่ออกนอกประเทศ กลายเป็นคนพลัดที่นาคาที่อยู่จนต้องร้องเพลง “นกน้อยคล้อยบินมาเดียวดาย” ทฤษฎีและความเป็นเหยื่อเกี่ยวกับการรัฐประหารใครบอกว่าจะจำกัดขอบเขตที่ต้อง ทำลายเฉพาะอภิสิทธิ์

เป็นไปได้เช่นกันที่ผลแห่งการกระแทกทางอำนาจในเที่ยวนี้อาจส่งผลเข้าสู่ ความมีชีวิตที่โลดถลาของพรรคประชาธิปัตย์ไปอย่างช่วยไม่ได้เหมือนกัน? แล้วถึงที่สุดแหล่งหยัดยืนของพรรคการเมืองนี้จะเหลือพื้นที่อยู่ตรงไหน? เหยื่อจากรัฐประหารจึงมีเพียบ!

ในด้านของนายอภิสิทธิ์ ถ้าจะต้องเกิดการรัฐประหารล้มรัฐบาลขึ้นมาจริงๆ สิ่งสำคัญอีกประการในการตัดสินใจของ “กลุ่มอำนาจจำบัง” ผมเล็งถึงความสัมพันธ์ที่โยงเข้าไปเกี่ยวข้องกับ “สถานการณ์สลายการชุมนุมที่มีคนตาย 91 ศพ และบาดเจ็บร่วม 2,000 คน” เกมตรงนี้มันยั้งไม่หยุดอยู่แล้ว

ลงท้ายพลันกลายเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีที่ต้องลี้ภัย ข้อหา “สั่งฆาตกรรมของนายอภิสิทธิ์ต้องมีขึ้นแน่นอน” กลุ่มชนชั้นนำย่อมต้องหาเหยื่อเพื่อรับชะตากรรมเรื่องนี้ เบี่ยงเบนความเป็นจำเลยร่วมโยนทับถมเข้าใส่นายอภิสิทธิ์ ซึ่งก็มีความสมเหตุสมผล ปิดจ๊อบอภิสิทธิ์จึงเป็นเรื่องเดียวกันได้กับปิดจ๊อบ 91 ศพ?

เหยื่อจากการรัฐประหารยังมีผลเกี่ยวเนื่องอีกหลายอย่างนัก กระทั่ง “พวกแกนนำม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” กลุ่มนี้เห็นจะตกต้องชะตากรรมที่วิถีแห่งอำนาจ “จำเป็นต้องจัดการ” มีอยู่หลายเหตุผลซึ่งต้องอธิบายให้ลึกกว่า “เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล” ตั้งแต่การรู้ความลับตื้นลึกหนาบางเกินไป ด้วยหนทางเช่นนี้ “ถ้าอ่อนและต่อรองไม่ได้เมื่อไหร่โอกาสที่จะถูกทุบทิ้งเป็นไปได้”

ผลข้างเคียงของการรัฐประหารปิดประเทศยังมีอีกมาก อาจจะกดหัวใช้อำนาจเลียนแบบพม่าไปได้สักพัก สุดท้ายคนไทยทนไม่ได้หรอก ถึงตอนนั้นคงเละยิ่งกว่าตูนิเซีย, อียิปต์, เยเมน… จุดนั้นเขาเรียกให้เป็นการเปลี่ยนผ่านที่แท้จริง? ใครจะรัฐประหารห้ามไม่ได้? แต่ผมยังอยากเขียนให้เอาไปคิด คิดผิดคิดใหม่ได้?

ที่มา : โลกวันนี้ 14 กุมภาพันธ์ 2554
โดย : เรืองยศ จันทรคีรี


รัฐประหารในไทย..ทำง่ายนิดเดียว? เปิด 10 ขั้นตอนในการทำ “coup d’etat”

แม้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.จะออกมากล่าวถึงกระแสข่าวยึดรัฐประหาร (coup d’etat) ที่ถูกเปิดเผยมาโดยคนชื่อ “ตู่” เช่นกัน อย่างจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย (พท.) แกนนำคนเสื้อแดง ว่า “ยังไม่เห็นใครคิด ใครจะไปทำอะไร เพื่ออะไร ให้ใคร ผมไม่มีเวลาให้กับเรื่องไร้สาระนี้”

แต่เป็นที่น่า สังเกตว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เคยตอบตรงๆ กับคำถามที่ว่า ยืนยันได้หรือไม่ว่าจะไม่ปฎิวัติ? โดยผู้สื่อข่าวสายทหารถามเรื่องนี้กับเจ้าตัว 2 ครั้ง นับแต่เข้ารับตำแหน่งผบ.ทบ.เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2553

จากครั้งแรก วันที่ 29 พ.ย.2553 “ผมไม่พูดว่าจะปฏิวัติหรือไม่ปฏิวัติ แต่ประชาชนต้องไม่ตีกัน”

มาถึงครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2554 “ผมไม่มีเวลาคิดเรื่องนี้ ไม่เห็นต้องยืนยัน”

คล้ายกับ “เปิดช่อง” ไว้ หากเกิดเหตุจำเป็นในอนาคต..อย่าลืมว่า ในอดีต แม้แต่ผบ.ทบ.ที่ยืนยันต่อสาธารณชนว่าจะไม่

รัฐประหาร และจะไม่รับตำแหน่งทางการเมือง ท้ายที่สุด ก็ยอม “เสียสัตย์เพื่อชาติ”

อาศัย “โมเดล” การรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 จะเห็นได้ว่าการ “ยึดอำนาจ” ไม่ใช่เรื่องยาก ขอเพียงมีเงื่อนไข ปัจจัย และช่วงเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น 1

ถ้ามี “ปรากฎการณ์” ดังที่จะกล่าวบรรทัดต่อไปนี้ ขอให้รู้ไว้ว่า “ท.ทหารกำลังมาแล้ว”!!

10ขั้นตอนในการทำรัฐประหาร

1. ชักชวน ผบ.ทบ.เข้าร่วม หรือให้เป็นผู้นำในการก่อการให้ได้ เพราะจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา ไม่เคยมีความพยายามในการรัฐประหารครั้งใด ที่ผบ.ทบ.ไม่เข้าร่วมแล้วจะประสบความสำเร็จ

2. หา “เซฟเฮ้าส์” ไว้ประชุมลับ เพื่อวางแผน-เตรียมบท-กำหนดคน จะเป็นบ้านพักผบ.ทบ.แยกเกษะโกมลเหมือนที่ “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน อดีตผบ.ทบ.ใช้ หรือจะเป็นร้านเคเอฟซีสักสาขา เหมือน “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา สมัยเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ไปวางแผน  หรือจะใช้บ้านพักในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) ถนนวิภาวดีรังสิต ที่ “2 ป.” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม และพล.อ.ประยุทธ์ พำนักอยู่ในปัจจุบันก็ไม่เลว

3.นำแผนที่กรมยุทธการ ทหารบกเคยจัดเตรียมไว้รักษาความสงบเรียบร้อยใน กทม.หรือ เรียกง่ายๆว่า “แผนปราบม็อบ” ไม่ว่าจะชื่อ “แผนปฐพี 149” หรือในชื่ออื่นๆ เอามากาง เพื่อปรับใช้

4.รอจังหวะที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อป้องกันการตอบโต้

5.เมื่อ พร้อมก็ให้ส่งสัญญาณ นำกำลัง “ยึดอำนาจ” ทันที โดยช่วงเวลาที่เหมาะสม จะอยู่ในช่วงค่ำ นับตั้งแต่ 21.00 น.-24.00 น. ป้องกันรถติด จนทำให้เข้าถึงที่หมายบางจุดล่าช้า

6.ระลอกแรก ให้ส่งกำลังจากหน่วยในกทม.รวมทั้งกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร.31 รอ.) จ.ลพบุรี เข้าปฏิบัติการต่อจุดศูนย์ดุล (ทำเนียบรัฐบาล, ถนนพิษณุโลก ,ถนนศรีอยุธยา, ถนนราชดำเนินนอก, ลานพระบรมรูปทรงม้า, วังปารุสกวัน, สำนักข่าวกรองแห่งชาติ)โดยให้นำรถถังจากกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พัน 4 รอ.) เกียกกาย และกำลังจากกองพันสารวัตรทหารที่ 11 (พัน สห.11) ถนนศรีอยุธยา ปิดล้อมสถานที่สำคัญ โดยให้ ผบ.ม.พัน 4 รอ.เป็นบก.ควบคุม

นำ กำลังจาก ร.1 รอ.กระจายวางกำลังตามเส้นทางสำคัญที่เข้าสู่จุดศูนย์ดุล ดูแลเขตพระราชฐาน รปภ.สถานที่สำคัญ สถานีวิทยุโทรทัศน์ ระบบสาธารณูปโภค และระบบการสื่อสาร

ส่วนกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) บางเขน รับผิดชอบพื้นที่สาธารณะ อาทิ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สนามม้านางเลิ้ง และบ้านพิษณุโลก

ให้กองพลปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน (พล.ปตอ.) เกียกกาย และหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก วางกำลังสกัดกั้น บก.สส., กสช. และสถานีไทยคม และให้ดูแลสะพานพระราม 7 ร่วมกับกองพันทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (ม.พัน 2 รอ.) สนามเป้า เพื่อป้องกันการตอบโต้จากฝ่ายตรงข้าม
7.ระลอกที่สอง ส่งกำลังจากต่างจังหวัด ประกอบด้วยกองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร.9) จ.กาญจนบุรี ดูแลพื้นที่กทม.ฝั่งตะวันตก ตั้งแต่พุทธมณฑล มาจนถึงสนามหลวง ถนนพระอาทิตย์ ถนนราชดำเนินกลาง ศาลาว่าการกทม. กระทรวงกลาโหม และกระทรวงมหาดไทย และให้กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) จ.ปราจีนบุรี ดูแลพื้นที่กทม.ฝั่งตะวันออก ทั้งเส้นทางรังสิต-องครักษ์, มอเตอร์เวย์ และบางนา-สุวรรณภูมิ

8.ระลอก ที่สาม ให้กำลังจากกองทัพภาคที่ 2 กองทัพภาคที่ 3 และหน่วยขึ้นตรงต่อกองทัพบก เข้ามาเสริม เพื่อป้องกันการตอบโต้ และเป็นกองหนุน เฝ้าระวัง และคลี่คลาย สถานการณ์ในพื้นที่รอบนอก

9.อย่า ลืมส่งกำลังเข้า ปิดล้อมสถานีโทรทัศน์ช่องสำคัญๆ ทั้ง 3, 5, 7, โมเดิร์นไนน์ทีวีและเอ็นบีที โดยให้หน่วยที่จะเข้ายึดสถานีโทรทัศน์แต่ละช่อง ศึกษาเส้นทางก่อนล่วงหน้า จะได้ไม่เกิดเหตุการณ์หน้าแตก เหมือนเหตุการณ์ 19 กันยาฯ ที่ปล่อยให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออนแอร์ออกคำสั่งปลดผบ.ทบ.ผ่านโมเดิร์นไนท์ทีวีได้ เพราะทหารที่จะต้องเข้าไปยึดไปผิดตึก!

10.ร่างเหตุผลที่จะแถลงต่อ ประชาชนถึงการ รัฐประหารครั้งนี้ ถ้าไปศึกษาแถลงการณ์ฉบับแรกของทั้งรสช.ในปีพ.ศ.2534 หรือคปค.ในปีพ.ศ.2549 เหตุผลพื้นฐานที่จะต้องอ้างคือ รัฐบาล “คอร์รัปชั่น” ตามด้วยแทรกแซง “ข้าราชการ-องค์กรอิสระ” ทำให้ประชาชนเกิดความแตกแยก ที่สำคัญ จะต้องปิดท้ายด้วย “มีการกระทำที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์”

จาก นั้นให้เรียกมือกฎหมาย-เนติบริกร “ขาประจำ” มาทำหน้าที่ร่างแถลงการณ์ ประกาศ หรือคำสั่ง ที่จะออกต่อไป ยกตัวอย่าง คำสั่งเรียกตัว “นาย ส.” อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ “นาย น.” แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลสำคัญให้มารายงานตัว

เมื่อมั่นใจว่าควบคุมสถานการณ์ทั้งหมดไว้ได้แล้ว ให้ออกแถลงการณ์ “ฉบับแรก” เพื่อประกาศชื่อคณะรัฐประหาร  พร้อมแจกแจงเหตุผล

———————————————————————————–
ล้อมกรอบ 1

“ทหารจะถูกกระชับวงล้อม”

นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักคิด นักเขียน และนักประวัติศาสตร์

กอง ทัพเป็นตัวละครหนึ่ง ซึ่งมีผลประโยชน์, ความต้องการ, ความใฝ่ฝัน ฯลฯ ที่เป็นของตัวเอง แต่ตัวละครตัวเดียวนี้ไม่สามารถปฏิบัติการทางการเมืองแต่ลำพังได้ ต้องเชื่อมโยงกับอำนาจอื่นๆ ทั้งที่อยู่ในระบบ, นอกระบบ, และปริ่มๆ ระบบ โดยหลายครั้งก็สถานการณ์ชักจูงไป

ประโยชน์ของการเข้ามามีอำนาจและ บทบาททางการเมือง 1.เป็นหลักประกันว่าจะได้งบประมาณจำนวนมาก 2.คงทรัพยากรทั้งที่ดินและคลื่นความถี่ไว้ในมือ ทั้งนี้ ไม่รวมผลประโยชน์อุดมการณ์ เช่นได้พิทักษ์ราชบัลลังก์ หรือคงความเป็นไทยไว้

นอก จากกองทัพแล้ว หุ้นส่วนการเมืองไทยปัจจุบัน ประกอบด้วย 1.อำนาจนอกระบบ 2.ทุน 3.ข้าราชการพลเรือนหรือเทคโนแครต 4.เทคโนแครตนอกระบบราชการ ในตลาดหุ้น ในมหาวิทยาลัย หรือในเอกชน 5.ชนชั้นกลาง และ 6.สื่อ

ความเปลี่ยนแปลงในสังคม จะทำให้หุ้นส่วนข้างต้น ขยับความสัมพันธ์กับกองทัพไปด้วย

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวละครต่างๆ จะทำให้กองทัพอยู่ในฐานะลำบากพอสมควร เพราะกลุ่มที่เอาจริงเอาจัง

ด้วย มีเพียงชนชั้นกลางระดับบน ส่วนหุ้นส่วนอื่นๆ ทั้งทุน, สื่อ, ปัญญาชน, เทคโนแครต ข้าราชการพลเรือน ฯลฯ ล้วนวางใจไม่ได้ อย่างดีก็ให้กองทัพมีส่วนแบ่งทางการเมืองเท่าเดิม ไม่มากไปกว่านี้ หรืออาจทำให้น้อยกว่านี้ด้วยซ้ำ

“เพราะภาวะผู้นำทางการเมืองที่กองทัพแสดงนั้นดูไร้เดียงสาเกินไป”

———————————————————————————–

ล้อมกรอบ 2

“จอมพลสฤษดิ์ 2 เกิดยาก”

สุรชาติ บำรุงสุข   คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์การทหาร

ที่ ผ่านมากองทัพไทยมักใช้ข้ออ้างพิทักษ์ราชบัลลังก์ เพื่อเข้ามาแทรกแซงการเมืองไทย โดยมีสาเหตุมาจากประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจจากรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐบาลของคณะราษฎรชุดสุดท้าย เมื่อปี พ.ศ.2490

หลังจากนั้น บรรดานายพลก็อาศัยเล่นการเมืองแบบนี้ โดยเฉพาะยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกฯ ระหว่างปี พ.ศ.2501-2506 มีการรื้อฟื้นราชประเพณีโบราณสำคัญหลายอย่าง อาทิ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีการเริ่มต้นพิธีถวายสัตย์ปฎิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ รวมทั้งการเปลี่ยนวันชาติจากเดิม 24 มิ.ย.ไปเป็นวันที่ 5 ธ.ค. ขณะเดียวกัน ก็มีการเผยแพร่แนวคิดว่าทหารเป็น “เทศบาลการเมือง” เมื่อใดก็ตาม ที่การเมืองอุดตัน ทหารจะต้องออกมาช่วยล้างท่อ

กองทัพจะยังเข้ามายุ่งกับการเมืองไทยต่อไป เพราะที่ผ่านมาพัวพันมากเกินไป จนถอนตัวออกไปลำบากมาก อาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี

เหตุการณ์ 19 กันยาฯ ทำให้ประเทศเสียต้นทุนไปมาก หากเป็นบริษัทก็ต้องบอกว่าตัวเลขติดลบ ทว่ารูปแบบการรัฐประหารในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป คือมีทั้งรัฐประหาร “ดัง” เคลื่อนรถถังยึดสถานที่สำคัญ กับรัฐประหาร “เงียบ” เช่น ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร

“ผมตอบไม่ได้ว่าจะมีการรัฐประหารอีกครั้งหรือ ไม่ แต่มองว่าการเลือกตั้งในปีพ.ศ.2554 นี้ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น เพราะหวยมันล็อคไว้หมดแล้ว ถ้าฝ่ายค้านแพ้ก็ง่ายหน่อย แต่ถ้าฝ่ายค้านชนะ ก็จะมีวิธีที่ทำให้จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ แต่ใครก็ตามที่หวังจะเป็นสฤษดิ์ 2 หรือสฤษดิ์น้อย ขอเตือนไว้เลยว่า ไม่ง่าย”

ที่มา : มติชนออนไลน์ 6 กุมภาพันธ์ 2554
โดย : พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฎิรูปประเทศไทย สถาบันอิศรา