‘ผังล้มเจ้า’ ผังกำมะลอ! ความรับผิดชอบทางกฎหมาย?

ประกาศนิติราษฎร์ ฉบับที่ 23 ในเว็บไซต์ www.enlightened-jurists.com โดยอาจารย์สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตคำสารภาพเรื่อง “แผนผังล้มเจ้า” ของ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบกและอดีตโฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย เป็นโจทย์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พ.อ.สรรเสริญ ซึ่งศาลได้ดำเนินการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท เมื่อนายสุธาชัยรับฟังข้อเท็จจริงจากจำเลยที่ 3 จึงไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีอีกต่อไป จึงขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3

พ.อ.สรรเสริญกล่าวต่อศาลในทำนองว่า “แผนผังล้มเจ้า” แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงเรื่องที่ ศอฉ. คิดขึ้นเองแบบทันทีทันใด โดยยังไม่มีข้อยืนยันว่ารายชื่อที่อยู่ในแผนผังคือคนที่คิด “ล้มเจ้า” หรือ “ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์” จริงๆ และกล่าวโทษสื่อมวลชนที่นำแผนผังดังกล่าวไป “ขยายความ” เองจนก่อให้เกิดความเข้าใจผิด แต่ก็แสดงความเชื่อมั่นต่อการใช้ “ดุลยพินิจและวิจารณญาณ” ของสังคมและประชาชนไทยว่าคงจะสามารถพิจารณาได้ว่าผังล้มเจ้าของ ศอฉ. หมายความว่าอย่างไรกันแน่ จึงควรตั้งเป็นข้อสังเกตและนำไปปฏิบัติหลายประการดังนี้

1. สังคมที่ร้องหาคนดี โดยไม่มีคำตำหนิต่อผู้กล่าวความเท็จ

“ประการที่ 2 ในช่วงเวลานั้นมีข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินเทอร์เน็ตกล่าวหาในลักษณะทำนองว่าท่านผู้หญิงจรุง จิตต์ (ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ) ซึ่งเป็นราชเลขาธิการในพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โทรศัพท์มาสั่งการ ศอฉ. อยู่ตลอดเวลาให้ดำเนินการนานัปการกับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งข้อเท็จจริงมิได้เป็นเช่นนั้น หมายความว่ามีความพยายามจะสร้างภาพให้สังคมเห็นว่าพระองค์ท่านมีส่วนเกี่ยว พันกับเรื่องการเมือง ซึ่งมิได้เป็นความจริง ศอฉ. ก็มีความจำเป็นที่ต้องชี้แจงข้อมูลข่าวสารให้สังคมได้รับทราบว่าความจริง เป็นเช่นไร” คำให้การช่วงหนึ่งของ พ.อ.สรรเสริญ

คำชี้แจงของอดีตโฆษก ศอฉ. ในประเด็นเรื่องความพยายามในการช่วยแก้ข้อกล่าวหาที่อาจไม่เป็นความจริงและ น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อ “ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์” นั้น อันที่จริงต้องถือเป็นเรื่องถูกต้องดีแล้วหาก ศอฉ. จะแสดงความเป็นสุภาพบุรุษหาทางชี้แจงเพื่อปกป้องบุคคลที่อาจได้รับความเสีย หายในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวพันกับการกระทำหรืออำนาจหน้าที่ของหน่วย งานตนเอง และจะยิ่งถูกต้องที่สุดถ้าความเป็นสุภาพบุรุษของ ศอฉ. เยี่ยงนี้เกิดขึ้นกับทุกคน ไม่ว่าผู้นั้นจะมียศถาเป็น “ท่านผู้หญิง” หรือเป็นเพียง “สามัญชนคนธรรมดา”

อย่างไรก็ตาม สังคมไทยไม่ควรยอมรับได้เลยหากคำชี้แจงเพื่อปกป้องบุคคลคนหนึ่งกลับกลายเป็น การกล่าวหาหรือ “เสมือนกล่าวหา” บุคคลอีกคนหรืออีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ตั้งอยู่บน “มูลความจริง” เพราะนั่นย่อมทำให้บุคคลเหล่านั้นอาจได้รับความเสียหาย หรือได้รับผลกระทบอันไม่พึงประสงค์เช่นเดียวกับท่านผู้หญิง เราย่อมไม่อาจให้อภัยได้เมื่อพบว่า “ความจำเป็นที่ต้องชี้แจงข้อมูลข่าวสารให้สังคมได้รับทราบว่าความจริงเป็น เช่นไร” อันเป็นคำชี้แจงของอดีตโฆษก ศอฉ. นั้น กลับไม่ใช่การชี้แจงข้อมูลข่าวสารที่เป็น “ความจริง” เพื่ออธิบายให้สังคม “ทราบความจริง” แต่กลายเป็นการกล่าว “ความไม่จริง” เรื่องหนึ่งเพื่ออธิบาย “ความไม่จริง” อีกเรื่องหนึ่ง คำถามก็คือเช่นนี้แล้วเมื่อไรที่สังคมไทยจะได้รับทราบ “ความจริง”

อนึ่ง ไม่ว่าในความเป็นจริงจะมีขบวนการล้มล้างสถาบันอยู่หรือไม่ หรือใครเป็นผู้คิดล้มล้าง แต่นั่นย่อมไม่ใช่ประเด็นหรือข้อแก้ตัวให้กับการกล่าวหาบุคคลใดๆโดยขาด “ข้อเท็จจริง” ที่จะมายืนยันความผิดที่ผู้ถูกใส่ความจนอาจได้รับโทษหรือถูกเกลียดชังจาก สังคม ฉะนั้น ศอฉ. จึงต้องมีความรับผิดชอบบางประการต่อเรื่องนี้ (ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป) ในขณะที่คนอื่นใดที่เพิกเฉยต่อการกระทำของ ศอฉ. โดยยกข้ออ้างทำนองว่า “แผนผังอาจไม่จริง แต่ก็ใช่ว่าขบวนการล้มเจ้าจะไม่มีอยู่จริง” ควรต้องนับว่าเป็นผู้บกพร่องทางตรรกะ วิจารณญาณ และออกจะไร้สติสัมปชัญญะอยู่มาก

นับเป็นเรื่องน่าสนใจเช่นกันเมื่อปรากฏการณ์นี้มาพร้อมกับความเงียบงัน โดยพร้อมเพรียงกันของผู้คนทั้งที่มีอาวุโสและไม่มีอาวุโสทั้งหลาย ที่มักคร่ำครวญหาผู้มีศีลธรรมความดีงามให้เข้าสู่อำนาจและทำตนเป็นแบบอย่าง เป็นหลักเป็นฐานกับบ้านเมือง เขาเหล่านี้ทำเหมือนกับว่า “การไม่กล่าวคำเท็จ การไม่พูดจาส่อเสียด หรือการไม่นำเสนอข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบ เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชน รวมทั้งการกล่าวคำที่อาจทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย” เหล่านี้ไม่ได้เป็นข้อหนึ่งที่ผู้มีธรรมควรยึดถือปฏิบัติ หรือเป็นหมุดหมายหนึ่งของคุณลักษณะแห่งการเป็น “คนดีมีศีลธรรม” บุคคลเหล่านี้คือคนที่พร้อมยกมือสนับสนุนให้จำกัดจัดการเสรีภาพของสามัญชน อย่างถึงที่สุด หากคำพูดของมันผู้นั้นทำท่าว่าจะก่อความเสียหายให้แก่อภิสิทธิ์ชน แต่กลับหดมือซุกกระเป๋าเมื่ออภิสิทธิ์ชนเป็นคนทำให้สามัญชนต้องเสื่อมเสีย

ฤาคำว่า “ศีลธรรมและความดีงาม” ของประเทศนี้ไม่ได้รวมถึงการ “ห้ามกล่าวความเท็จ”

2. บทบาทของสื่อกระแสหลัก

น่าสนใจอย่างยิ่งเมื่อสังคมไทยต้องพบว่า ณ เวลาที่ ศอฉ. แถลงข่าวต่างๆในช่วงของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน สื่อกระแสหลักทุกช่องต่างทำจ้องทำหรือต้องทำข่าวเพื่อนำเสนอต่อประชาชนทุก หมู่เหล่า ซึ่งนอกเหนือจากการถ่ายทอดสดการแถลงข่าว (อันเป็นเสมือนหน้าที่ของสื่อเหล่านั้น) แล้วยังมีการสรุปความและนำเสนอในช่วงเวลาเช้า บ่าย เย็นอีกด้วย แต่การณ์กลับปรากฏว่าสื่อกระแสหลักทุกช่อง สื่อหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อ้างว่าอยู่เคียงข้างประชาชน ต่างพร้อมใจกันเพิกเฉยและไม่ทำข่าวการสารภาพของโฆษก ศอฉ. ว่าแท้ที่จริงแล้ว “แผนผังล้มเจ้า” (ที่สำนักข่าวตนเคยนำไปขยายความเองตามคำซัดทอดของ พ.อ.สรรเสริญ) นั้น ศอฉ. มิได้พูดหรือมิได้ตั้งใจให้หมายความว่าคนซึ่งมีรายชื่อในผังนั้นมีพฤติกรรม หรือมีความคิดที่จะล้มล้างสถาบันจริงๆ คงมีเพียงสื่อทางเลือกหรือสื่อกระแสรองเพียงไม่กี่สำนักเท่านั้นที่เขียน ข่าวถึง

ไม่ว่าการ “ขยายความต่อ” จะเกิดขึ้นจากสาเหตุใด หรือจากความสมัครใจหรือไม่ แต่เมื่อปรากฏว่าสิ่งที่นำไปขยายความนั้นไม่เป็นข้อความจริง หรืออย่างน้อยที่สุดอาจทำให้ผู้คนในสังคมเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความ เป็นจริง จนอาจทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย คำถามก็คือผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อเรื่องนี้บ้างหรือไม่ การทำข่าวนำเสนอ “ความจริง” เพื่อแก้ไข “ความไม่จริง” หรือแก้ไข “ความบิดเบือน” ที่ตนเคยเสนอออกไปในอดีต มิได้เป็นสิ่งที่ควรทำหรือเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของการทำหน้าที่ของ “สื่อไทย” ฉะนั้นหรอกหรือ

ฤาว่าผู้มีรายชื่อในแผนผังกำมะลอฉบับนี้และได้รับความเสียหายจากการเสนอ ข่าวของสื่อเหล่านี้ควรต้องดำเนินการฟ้องร้องสื่อจริงๆตามคำแนะนำของ พ.อ.สรรเสริญ เพื่อสร้างบรรทัดฐานแก่สังคม พร้อมๆกับเรียกร้องจรรยาบรรณจากสื่อ

3. โปรดใช้วิจารณญาณแบบไทยๆ

“…แต่หลังจากนั้นมีสื่อมวลชนนำเรื่องราวต่างๆเหล่านี้ไปขยายผล ขยายความ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในแผนผังดังกล่าว ทำให้ได้รับความเสียหายจากมุมมองของสังคม เพราะเป็นเรื่องที่สังคมต้องตัดสิน ส่วนผู้ที่ได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจะฟ้องร้องกับผู้ที่นำไปขยายความใน ทางที่ผิดจากเจตนารมณ์ของ ศอฉ  ก็สุดแล้วแต่บุคคลเหล่านั้นจะพิจารณา…” คำให้การช่วงหนึ่งของ พ.อ.สรรเสริญ

เดือนเมษายน-กรกฎาคม 2553 สถานีวิทยุชุมชนถูกปิดจำนวน 26 แห่งในพื้นที่ 9 จังหวัด ถูกยุติการออกอากาศจำนวน 6 แห่ง ปรากฏชื่อในข่ายมีความผิด 84 แห่งในพื้นที่ 12 จังหวัด ราวเดือนเมษายน 2554 วิทยุชุมชนเสื้อแดง 13 แห่งถูกปิดหรือให้ยุติการออกอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จากการสำรวจสถิติการปิดกั้นเว็บไซต์ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงกลางปี 2553 มีเว็บเพจถูกคำสั่งศาลปิดกั้นการเข้าถึงอย่างเป็นทางการทั้งสิ้น 74,686 ยูอาร์แอล เลขหมายยูอาร์แอลดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจากหลักพันเป็นหลัก หมื่นในช่วงปี 2552 และเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวในปี 2553 ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการชุมนุมและมีเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง

ข้อเท็จจริงเบื้องต้นคือ สื่อต่างๆที่ถูกปิดกั้นช่องทางการเข้าถึงเหล่านี้ นอกจากฝ่ายรัฐบาลหรือหน่วยงานที่ปิดกั้นแล้ว ไม่มีใครมีโอกาสได้รับรู้เลยว่าเนื้อหาที่เผยแพร่อันเป็นสาเหตุของการถูกปิด กั้นนั้นเป็นอย่างไร หรือขัดต่อกฎหมายอย่างไร สื่อที่ถูกปิดกั้นบางสื่อนำเสนอเรื่องราวที่หลากหลาย มีทั้งที่อาจเข้าข่ายเป็นความผิดได้ และเรื่องทั่วๆไปที่ไม่น่าจะเป็นความผิด (เพราะเนื้อหาในลักษณะเดียวกันสามารถนำเสนอได้ในสื่ออื่นๆที่ไม่ถูกปิดกั้น) แต่ด้วยเหตุผลบางประการ “สื่อเหล่านั้น” ก็กลับถูกปิดกั้นช่องทางการเข้าถึงทั้งหมดแบบไม่เลือกเนื้อหา จำนวนตัวเลขยูอาร์แอลที่ถูกปิดกั้นโดยคำสั่งศาลจากผลการสำรวจดังกล่าวยังมิ ได้นับรวมเว็บเพจอีกจำนวนมหาศาลที่ถูกปิดกั้นโดยคำสั่งของ ศอฉ. ซึ่งไม่ได้ขอคำสั่งศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (มาตรา 20) แต่ใช้อำนาจตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และข้อเท็จจริงเบื้องต้นอีกเรื่องหนึ่งคือที่ผ่านมาแม้สื่อจำนวนมากจะโดนปิด กั้นไปแล้ว (ปัจจุบันหลายแห่งยังถูกปิดกั้นต่อไป แม้จะยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปแล้วก็ตาม) หรือห้ามไม่ให้ดำเนินการ หรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อประชาชน แต่กลับมีผู้ที่ต้องรับผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เป็นเจ้าของสื่อเหล่านั้นถูกฟ้องร้องหรือถูกศาลพิพากษา ว่าเผยแพร่สิ่งที่เป็นความผิดตามกฎหมายจริงๆในจำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนสื่อที่ถูกปิดกั้นไป จึงนำมาซึ่งข้อสงสัยว่าตกลงแล้ว “เนื้อหา” ที่ถูกปิดกั้นนั้นเป็นความผิดหรือว่าไม่ผิด

ตัวเลขสถิติ (ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ) รวมทั้งรูปแบบและวิธีในการปิดกั้นสื่อเหล่านี้ อย่างน้อยที่สุดสามารถสะท้อนได้ว่าที่ผ่านมาฝ่ายรัฐไม่ได้ต้องการให้ประชาชน รับสื่อโดยใช้วิจารณญาณส่วนบุคคลในการตัดสินความน่าเชื่อถือของเรื่องใด เรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง รัฐหาได้พยายามเปิดพื้นที่หรือให้โอกาสในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารสำหรับทุกๆ ฝ่ายไม่ ทั้งที่ข้อมูลที่หลากหลายเหล่านั้นมีความสำคัญยิ่งที่จะทำให้การคิด วิเคราะห์เปรียบเทียบเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งของประชาชนและสังคมเป็นไปได้ อย่างถูกต้องหรือไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน และด้วยสถานการณ์การไล่ล่าสื่อที่เห็นต่างจากฝ่ายรัฐดังกล่าว ประกอบกับพฤติกรรมดูถูกหรือไม่ไว้วางใจสติปัญญาของประชาชนไทยของภาครัฐ จึงนับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใจยิ่งว่าเมื่อมาถึงกรณี “แผนผังล้มเจ้า” แล้ว พ.อ.สรรเสริญกลับร้องหาและเชื่อมั่นอย่างมากในวิจารณญาณของผู้คนในสังคม

ต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ประเด็นคงมิใช่เรื่องที่ผู้เขียนอยากตัดพ้อหรือประชดประชันการใช้อำนาจรัฐ แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ประเด็นสำคัญที่อยากชี้ชวนให้ตั้งคำถามดังๆก็คือ ในท้ายที่สุดแล้วประชาชนคนไทยมีโอกาสเข้าถึงหรือได้รับข้อมูลข่าวสารอย่าง “ครบถ้วนรอบด้าน” จากทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมเสมอหน้ากันหรือไม่ อย่างไร เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจหรือใช้วิจารณญาณต่อเรื่อง “แผนผังล้มเจ้า” (รวมทั้งเรื่องอื่นๆในช่วงความวุ่นวายทางการเมืองที่ผ่านมาด้วยว่าฝ่ายใดผิด ถูก) หากพิจารณาให้ดีจะเห็นถึงความย้อนแย้งในเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน เพราะในขณะที่ ศอฉ. เรียกร้องการตัดสินใจจากสังคมโดยวิเคราะห์จากข้อมูลอื่นๆที่มีอยู่ แต่ปรากฏว่าในช่วงเวลานั้นรัฐ ศอฉ. และสื่อที่เห็นด้วยกับรัฐแทบจะเป็นฝ่ายเดียวที่มีพื้นที่ในการนำเสนอข้อมูล ข่าวสารต่อประชาชนได้อย่างเต็มที่

เช่นนี้แล้ว ศอฉ. จะต้องแปลกใจด้วยหรือ หรืออันที่จริง ศอฉ. ควรคาดหมายได้อยู่แล้วด้วยซ้ำไปว่าด้วยการใช้ “วิจารณญาณแบบไทยๆ” ผลลัพธ์ที่ออกมาต่อกรณีแผนผังล้มเจ้าของตนและพวกจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่าง ไร

4. ว่าด้วยความรับผิดชอบในทางกฎหมาย

ไม่ว่าเสธ.ไก่อู ศอฉ. หรือคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จะยอมรับหรือไม่ก็ตาม แต่ย่อมปฏิเสธได้ยากว่า “แผนผังล้มเจ้า” มีหน้าที่ “ทางการเมือง” ประการสำคัญ (ดังที่เกษียร เตชะพีระ เคยกล่าวไว้แล้ว) เพราะนอกจากผังดังกล่าวจะกลายเป็นเอกสารชิ้นหนึ่งที่ถูกอ้างอิงโดยกรมสอบสวน คดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในการดำเนินการกับกลุ่มบุคคลแล้ว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังเคยใช้ผังนี้เพื่อเป็นเครื่องมือในการอ้างอิงความชอบธรรมสำหรับการกระทำ ของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำรุนแรงต่อคนไทยด้วยกัน ในฐานะองค์กรผู้ปกป้องสถาบันสำคัญของชาติ ทั้งนี้ รายชื่อบุคคลหรือองค์กรที่ปรากฏอยู่ในแผนผังจำนวนหนึ่งคือชื่อของแกนนำแนว ร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ผู้ที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษว่ามีความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้ว ผู้ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาหรือกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินคดี รวมทั้งผู้ที่อาจยังไม่ถูกตั้งข้อหาใดๆ แต่ถูกประณามจากฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

ด้วยพลังการทำลายล้างของ “แผนผังล้มเจ้า” ไม่ว่าจะเป็นการสลายการชุมนุมจนมีประชาชนบาดเจ็บและล้มตายจำนวนมากถึงสอง ครั้งสองครา การสร้างความรู้สึกเกลียดชังให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน ตำรวจ ทหาร การดำเนินคดีกับบุคคลฝ่ายต่างๆโดยมีประเด็นที่เกี่ยวพันกับการล้มล้างสถาบัน ส่งผลให้บุคคลจำนวนไม่น้อยถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยไม่ได้รับสิทธิในการ ประกันตัว หมายรวมกระทั่งความไม่พอใจต่อสถาบันที่เริ่มแผ่ขยายไปในหมู่ประชาชนมากขึ้น อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เราจึงไม่อาจเพิกเฉยหรือไม่ตั้งคำถามใดๆต่อเรื่องนี้ได้เลย และกลุ่มบุคคลผู้เต้าแผนผังจะสามารถลอยตัวเหนือปัญหา โยนภาระให้ฝ่ายต่างๆได้อย่างง่ายดายแบบที่เป็นอยู่กระนั้นหรือ หากวิเคราะห์จากพฤติการณ์และเจตนาแล้ว การกระทำของ ศอฉ. และพวกจึงน่าจะเข้าข่ายเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายฉบับต่างๆดังต่อไป นี้เป็นอย่างน้อย

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 326, 328 กล่าวสรุปให้สั้นและง่ายสำหรับบทบัญญัติทั้ง 3 มาตรานี้ได้ว่า มาตรา 157 คือบทที่ว่าด้วย “ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ” กล่าวคือ เจ้าพนักงานของรัฐใช้อำนาจหน้าที่ของตนไปในทางมิชอบก็ดี ไปในทางทุจริตก็ดี เพียงเพื่อใส่ร้าย กลั่นแกล้ง หรือก่อให้เกิดความเสียหายในทางใดทางหนึ่งแก่ผู้หนึ่งผู้ใดก็ดี เจ้าพนักงานของรัฐเหล่านั้นจะต้องมีความรับผิดทางอาญา เช่นนี้แล้วเมื่อ ศอฉ. รู้ทั้งรู้ว่ารายชื่อที่นำมาจับโยงใยไปมาในเอกสารแล้วตั้งชื่อว่า “แผนผังเครือข่ายล้มเจ้า” เป็นเรื่องที่ยังไม่มีมูล หรือยังไม่มีข้อยืนยันได้ว่าคนเหล่านั้นคิดล้มล้างสถาบันจริงๆ แต่ยังนำมาแถลงให้เป็นข่าวใหญ่ครึกโครม แจกจ่ายเอกสารแก่สื่อมวลชน จึงย่อมมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางที่มิชอบ มุ่งแต่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่สังคม และทำให้บุคคลในแผนผังได้รับความเสียหาย

นอกจากนี้การกระทำดังกล่าวยังเข้าข่ายเป็นการ “ใส่ความ” ตามมาตรา 326 คือการกล่าวร้ายต่อบุคคลอื่นใดกับบุคคลที่สาม ในประการที่ “น่าจะ” ทำให้บุคคลที่ถูกใส่ความนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งเป็นความผิดในฐานหมิ่นประมาท บทบัญญัตินี้มีความน่าสนใจอยู่มากตรงที่ผู้ถูกใส่ความสามารถร้องขอความเป็น ธรรมจากศาลได้ แม้จะไม่ปรากฏ “ความเสียหาย” ที่เป็นรูปธรรมขึ้นจริงก็ตาม เพราะกฎหมายใช้คำว่า “น่าจะ” เท่านั้น จากกรณีนี้ย่อมชัดเจนว่าประเทศไทยและสังคมยังคงอ่อนไหวกับเรื่องราวใดๆที่ เกี่ยวพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ (พิจารณาได้จากสถานการณ์เชียร์และต้านมาตรา 112) ดังนั้น ไม่ว่าในความเป็นจริงบุคคลต่างๆที่มีรายชื่ออยู่ในแผนผังจะได้รับความเสีย หายหรือถูกใครเกลียดชังจริงหรือไม่ แต่คำว่า “ล้มเจ้า” นี้ห้วงยามปัจจุบันย่อมเป็นถ้อยที่ “น่าจะ” ทำให้บุคคลที่เกี่ยวข้องเสียหายหรือถูกเกลียดชังได้ทั้งสิ้น อนึ่ง พฤติการณ์ในการ “ใส่ความ” ดังกล่าวได้ปรากฏชัดเจนว่า ศอฉ. กระทำด้วยการแถลงต่อ “สื่อ” หรือด้วยการ “โฆษณา” ดังนั้น จึงอาจต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 328 (หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา)

อย่างไรก็ตาม จากคำรับสารภาพของ พ.อ.สรรเสริญที่ว่า

“ข้าฯได้รับมอบหมายให้นำเอกสารเหล่านั้นไปแจกแก่สื่อมวลชน ซึ่งเอกสารที่ไปแจกนั้นมิได้หมายความว่าผู้ที่มีชื่อในเอกสารเป็นผู้เกี่ยว ข้องในฐานะอยู่ในขบวนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เป็นความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ในลักษณะต่างๆ ซึ่งให้สังคมพิจารณาและวินิจฉัยเอาเอง…ซึ่งมิได้แถลงเลยว่าบุคคลทั้งปวง เหล่านั้นมีความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นผู้อยู่ในขบวนการ และมิได้ให้หมายความเช่นนั้น แต่หลังจากนั้นมีสื่อมวลชนนำเรื่องราวต่างๆเหล่านี้ไปขยายผล ขยายความ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในแผนผังดังกล่าว ทำให้ได้รับความเสียหายจากมุมมองของสังคม…”

ผู้เขียนจึงเห็นควรต้องอธิบายถึงบทที่ว่าด้วย “เจตนา” ในทางอาญาโดยสังเขปไว้เสียด้วย ทั้งนี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่า ศอฉ. ไม่อาจหลุดพ้นจากความรับผิดได้ด้วยคำแก้เกี้ยวง่ายๆดังกล่าว

ในทางกฎหมายอาญานั้น “เจตนา” ในการกระทำความผิดอันถือเป็นองค์ประกอบ (ภายใน) สำคัญที่จะตัดสินได้ว่าผู้กระทำต้องรับผิดชอบในการกระทำของตนหรือไม่นั้น มิได้มีแค่เพียง “เจตนาประสงค์ต่อผล” เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงเจตนาอีกประเภทหนึ่งที่ผู้กระทำสามารถ “คาดหมาย” หรือ “เล็งเห็น” ผลเสียหายจากการกระทำของตนด้วย หรือที่เรียกว่า “เจตนาเล็งเห็นผล” ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. ยิงปืนไปที่นาย ข. เพราะต้องการฆ่านาย ข. ให้ตาย ปรากฏว่านาย ข. ตายจริง เช่นนี้ย่อมชัดเจนว่านาย ก. มีเจตนาที่ประสงค์ต่อผลคือความตายของนาย ข. นาย ก. ต้องรับผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาประสงค์ต่อผล

แต่ในอีกกรณีหนึ่ง นาย ก. ยิงปืนไปในฝูงชนโดยมีความประสงค์แค่ต้องการ “ข่มขู่” ไม่ได้อยากให้ใครตาย แต่ในความเป็นจริงการยิงปืนไปเช่นนั้นนาย ก. ย่อมสามารถคาดหมายหรือเล็งเห็นผลได้ว่าต้องมีหรืออาจมีใครตาย ปรากฏว่านาย ข. ซึ่งยืนอยู่ในฝูงชนนั้นตายจริงๆจากลูกกระสุนของนาย ก. เช่นนี้นาย ก. จะโบ้ยใบ้ว่าไม่ได้เจตนาให้นาย ข. ตาย หรืออย่างมากก็แค่ประมาทเลินเล่อ (ซึ่งมีโทษน้อยกว่าเจตนา) มิได้ ในทางกฎหมายอาญานั้นนาย ก. ต้องรับผิดฐานฆ่านาย ข. ตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล

เมื่อนำตัวอย่างดังกล่าวมาพิจารณากับกรณี “แผนผังล้มเจ้า” จะเห็นได้ว่าด้วยห้วงยามแห่งการแถลงข่าว ด้วยความที่เป็นประเด็นอ่อนไหวอย่างมากสำหรับประเทศไทย ด้วยรายชื่อที่เกี่ยวข้อง (คนที่โดนพิพากษาว่าหมิ่นแล้ว โดนข้อหา แกนนำ นปช.) ด้วยข้อมูลอื่นที่ ศอฉ. และฝ่ายรัฐโหมเสนอต่อประชาชนก่อนหน้า ซึ่งแวดล้อมแผนผังอยู่เช่นนี้ แม้ ศอฉ. ไม่ได้กล่าวถ้อยคำด้วยตนเองตรงๆชัดๆว่า “เอกสารที่ไปแจกนั้นหมายความว่าผู้ที่มีชื่อในเอกสารเป็นผู้คิดล้มล้าง สถาบันพระมหากษัตริย์” ก็ย่อมเป็นกรณีที่ ศอฉ. สามารถเล็งเห็นผลได้ว่าสื่อและสังคมจะเข้าใจไปเช่นนั้น และเมื่อมีข้อเท็จจริงปรากฏในหลายๆกรณีว่าได้เกิดความเข้าใจไปเช่นนั้นจริงๆ ศอฉ. ย่อมมิอาจปฏิเสธความรับผิดชอบของตนได้โดยอาศัยหลักการในเรื่อง “เจตนาเล็งเห็นผล” นี้เอง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และ 423 สำหรับคนที่มีรายชื่อในแผนผังและความเสียหายได้เกิดขึ้นจริงจนอาจพิสูจน์ได้ อย่างเป็นรูปธรรมถึง “ค่า” แห่งความเสียหายนั้นน่าจะสามารถเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งได้อีกด้วย ทั้งนี้ โดยอาศัยมาตรา 420 และมาตรา 423 ในหมวดที่ว่าด้วยเรื่องละเมิดโดยทั่วไป และการหมิ่นประมาทในทางแพ่ง เพราะจากคำรับสารภาพของ พ.อ.สรรเสริญเองย่อมชัดเจนแล้วว่าเป็นการ “กล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง”

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (2) สำหรับประเด็นนี้ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าที่ผ่านมาเคยมีการนำเอกสารหรือแผนผัง ดังกล่าวไปเผยแพร่หรือนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยหน่วยงานของ ศอฉ. หรือหน่วยงานของรัฐบาลเองด้วยหรือไม่ แต่หากมีการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้น กรณีเช่นนี้ย่อมมีโอกาสเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 14 (2) ได้เช่นกัน ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ…(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน…”

ปฏิเสธได้ยากว่าข้อหา “ล้มเจ้า” ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นโดยฝ่ายรัฐ (ไม่มีฐานความผิดนี้ปรากฏอยู่ที่ใดในกฎหมาย) เป็นคำกล่าวหาที่ค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการกล่าวหานี้เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์ความวุ่นวายทาง การเมือง หรือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปไม่ทางใดก็ทาง หนึ่ง เกิดกระแสการคัดง้างกันระหว่างฝ่ายนิยมเจ้าและไม่นิยมเจ้าอยู่เนืองๆ ในขณะที่ประชาชนโดยทั่วไปก็เริ่มรู้สึกหวาดกลัวและไม่มั่นคงในเสถียรภาพ เมื่อจู่ๆหน่วยงานของรัฐ (ศอฉ.) เป็นผู้ลุกขึ้นมาปั้นแต่งว่ามีขบวนการล้มเจ้าอยู่จริง โดยทำทีชี้ชัดได้ว่ามีใครในขบวนการนี้บ้าง ย่อมต้องก่อให้เกิด “ความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ได้เป็นธรรมดา

สำหรับคำถามที่ว่าแผนผังล้มเจ้ากำมะลอฉบับนี้สามารถใช้เป็นพยานหลักฐาน ชี้ได้เลยหรือไม่ว่าฝ่ายรัฐกระทำผิดกฎหมายในการสั่งให้ทหารสลายการชุมนุมจน มีผู้คนบาดเจ็บล้มตาย หรือใช้เพื่อสั่งการให้จับกุมหน่วงเหนี่ยวกักขังบุคคลอื่นไว้โดยมิชอบ โดยความเห็นของผู้เขียนเห็นว่า ณ ปัจจุบันโดยตัวของเอกสารเองคงไม่สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อชี้ชัดเช่น นั้นได้ เว้นแต่มีเอกสาร “คำสั่ง” ชิ้นอื่นใดมาประกอบว่าการสั่งการให้มีการสลายการชุมนุมหรือการดำเนินการ ต่างๆเหล่านั้นเกิดขึ้นโดยอาศัยแผนผังนี้เป็น “ข้อหา” หลัก หรือข้อหาพื้นฐาน ไม่ใช่ข้อหาอื่นใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อหาการ “ก่อการร้าย” ที่รัฐบาลมักกล่าวถึงเสมอๆ หากในที่สุดแล้วข้อเท็จจริงยังมีแค่เพียงว่า ศอฉ. หรือฝ่ายรัฐใช้แผนผังนี้เพื่อเป็นเครื่องมือในการ “กล่อมเกลา” หรือ “ชักจูง” ให้ตำรวจ ทหารปฏิบัติการได้อย่างเต็มที่ เพราะรู้สึกว่าตนกำลังกระทำใน “สิ่งที่ถูกต้อง” หรือกำลัง “กำจัดอริราชศัตรู” การดำรงอยู่ของแผนผังนี้คงเป็นได้แค่เพียงเอกสาร “โฆษณาชวนเชื่อ” (Propaganda) ของฝ่ายรัฐหรือฝ่ายนิยมเจ้าเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ย่อมเป็นที่ชัดเจนว่าพฤติกรรมการสร้างเรื่อง แต่งผังฯ รวมทั้งการแถลงข่าวแบบเล็งเห็นผลในความเสียหายที่อาจมีต่อบุคคลอื่นได้ดัง กล่าวไปแล้วนั้น ย่อมใช้เป็น “หลักฐานประกอบ” ในประเด็นชั่งน้ำหนักความน่าเชื่อถือของคำพูดและการกระทำในช่วงที่ผ่านมาของ ฝ่ายรัฐได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่รัฐมีข้อพิพาทกับประชาชน, ปัญหาการยัดเยียดข้อกล่าวหา, การบิดเบือนคลิปภาพ เสียง หรือวิดีโอ, การกระพือข่าวการพบอาวุธหนักในที่เกิดเหตุ ฯลฯ เพราะคำสารภาพโดย ศอฉ. ครั้งนี้ย่อมเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่จะทำให้ประชาชนเกิดความสงสัยได้ว่าการ ให้ข่าวก็ดี การปฏิบัติหน้าที่ในด้านต่างๆก็ดีของฝ่ายรัฐที่ผ่านมาตั้งอยู่บนความโปร่งใส มีมูลเหตุที่ไม่สุจริต มีเป้าหมายอื่นใดแอบแฝง หรือทำไปเพื่อความสงบสุขหรือเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยรวมอย่างแท้จริงหรือ ไม่

สุดท้ายอาจกล่าวได้ว่าถ้าสื่อไทยมีจรรยาบรรณกว่านี้อีกนิด ถ้าคนไทยเปิดตากว้างกว่านี้อีกหน่อย และถ้าสังคมไทยมีวุฒิภาวะกว่านี้อีกเพียงเล็กน้อย กรณีแผนผังล้มเจ้ากำมะลอของ ศอฉ. ก็น่าจะพอมีคุณูปการได้บ้าง อย่างน้อยที่สุดก็ในฐานะที่เป็นเครื่องเตือนสติคนไทยว่าอย่างมงายหลงเชื่อ ถ้อยแถลงของฝ่ายรัฐไปเสียทุกเรื่อง

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับ 314 วันที่ 11-17 มิถุนายน 2554 พ.ศ. 2554 หน้า 5-8
คอลัมน์ : ข่าวไร้พรมแดน
โดย : สาวตรี สุขศรี


ผังล้มเจ้า ใบอนุญาตฆ่าคนบริสุทธิ์ ?

คำสารภาพของ พ.อ. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ในฐานะจำเลย ต่อศาลในคดีหมิ่นประมาท อ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ว่า ผังล้มเจ้าไม่มีจริง ไม่มีหลักฐาน ไม่มีพยาน ไม่มีมูลความจริงใดๆเลย ช็อคความรู้สึกคนไทยทั้งประเทศ (รายละเอียดข่าว)

เพราะคนไทยไม่เชื่อว่า คนระดับโฆษกกองทัพบก ในนาม ศอฉ. จะเอาเรื่องร้ายแรงอย่างนี้มาโกหกออกทีวีเป็นทางการครั้งแล้วครั้งเล่า สื่อหลักประโคมข่าวไปทั่วประเทศ ตราหน้าว่าคนเสื้อแดงเป็นพวกล้มเจ้า สร้างความเกลียดชังระหว่างคนไทยด้วยกัน

เป็นบาดแผลร้าวลึกจนยากจะประสาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงมีการชุมนุมของคนเสื้อแดงเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน เพราะรัฐบาลมาจากการอุ้มของทหาร ไม่ได้มาจากเสียงประชาชน รัฐบาลสั่งใช้กำลังทุกอย่างที่มี ใช้ตำรวจจากทั่วประเทศ ใช้ทหาร ร.อ. จำนวนนับพันนาย อาวุธเต็มพิกัด เพื่อกดดันให้คนเสื้อแดงเลิกชุมนุม

เมื่อเห็นว่าคนเสื้อแดงไม่มีทีท่าจะหยุดชุมนุม ทหารก็วางแผนสลายการชุมนุม ด้วยการตั้งหน่วยล่าสังหาร สไนเปอร์ เตรียมเก็บเสื้อแดง

แต่ทหารเหล่านี้เป็นคนไทย ไม่อยากฆ่าคนไทยด้วยกัน พ.อ.สรรเสริญ จึงสร้างเรื่องผังล้มเจ้ามาล้างสมองทหารพวกนี้ ว่าเสื้อแดงมาชุมนุมเพื่อล้มเจ้า ทั้งๆที่เขาต้องการแค่ยุบสภา

ทหารถูกล้างสมองจนเชื่อ จึงกรีธาทัพเข้าบดขยี้ผู้ชุมนุมอย่างบ้าคลั่ง ลอบยิงคนไม่มีอาวุธจากระยะไกลเหมือนล่าสัตว์ในป่า ไม่เลือกผู้หญิง ผู้ชาย คนแก่ แม้แต่พยาบาล หน่วยกู้ภัย ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ก็ไม่เว้น

คนหนีตายซมซานเข้าไปในวัดก็ยังตามไปยิงอย่างเลือดเย็น ทั้งหมดทั้งปวงเกิดจาก ผังล้มเจ้า ที่กองทัพบกโกหกคนไทยทั้งประเทศ

ผังล้มเจ้า จึงเปรียบเหมือน ใบอนุญาตฆ่าคนไทยผู้บริสุทธิ์อย่างเลือดเย็น การอ้างสถาบันเพื่อทำร้ายประชาชนเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า การขออนุญาตฆ่าประชาชนยังจะเกิดขึ้นอีกต่อไป

หยุดออกใบอนุญาตทำร้ายประชาชนด้วยครับ บาปกรรม

ที่มา : ไทยอีนิวส์ 28 พฤษภาคม 2554


คดีล้มเจ้า! เลื่อนลอยไม่มีหลักการ

เรื่องคดีล้มเจ้านี้เริ่มต้นในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2553 เมื่อ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้แถลงข่าวโดยกล่าวถึงเครือข่ายที่มีการส่อถึงการล้มสถาบันเบื้องสูง ปรากฏว่าในแผนผังของเครือข่ายกลุ่มบุคคลที่ พ.อ.สรรเสริญกล่าวถึงได้ปรากฏชื่อของผมอยู่ด้วย และทำให้พี่น้อง เพื่อนฝูงโทร.มาถามข่าวด้วยความแปลกใจ จากนั้นต่อมาในวันที่ 27 เมษายน รายการต่างๆทางวิทยุและโทรทัศน์ก็นำเอาข่าวและแผนผังนี้มาเผย และมีรายการบางรายการได้โจมตีกลุ่มบุคคลที่ปรากฏชื่อในแผนผังอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นการจงใจบิดเบือนให้ร้ายโดยไม่ไต่ถามที่มาหรือข้อเท็จจริงแต่อย่างใด ต่อมานายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก็ออกมาแถลงซ้ำว่าจะออกหมายจับบุคคลตามแผนผังนี้ด้วย

ลักษณะเครือข่ายตามแผนผังนี้จะมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นใจกลางหลัก และมีโครงข่ายต่างๆคอยแวดล้อมเชื่อมโยงอยู่ โดยหลักๆได้แก่ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) อันประกอบด้วย นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายวิสา คัญทัพ และนายก่อแก้ว พิกุลทอง นอกจากนี้ยังมีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นายอดิศร เพียงเกษ นายแพทย์เหวง โตจิราการ นายชูพงษ์ ถี่ถ้วน รวมทั้ง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และโยงผมเข้าไปด้วยในฐานะที่ปรึกษาหนังสือพิมพ์วอยซ์ ออฟ ทักษิณ และผู้ประกันดา ตอร์ปิโด

เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ผมเองในฐานะครูสอนประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยคนหนึ่งคิดว่ามีความจำเป็นที่ จะต้องปกป้องสิทธิของตนเอง ก่อนที่จะถูกลากเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องสกปรกทางการเมืองมากกว่านี้ จึงได้ออกคำแถลงมีสาระว่า ผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่าเครือข่ายที่มีพฤติกรรมล้มสถาบัน ตามที่ ศอฉ. กล่าวอ้าง แต่ที่สำคัญผมไม่เห็นว่าจะมีเครือข่ายอะไรในลักษณะเช่นนี้ นอกจากการใส่ร้ายป้ายสีที่ ศอฉ. สร้างขึ้นมาเอง เพื่อทำลายล้างทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่กำลังต่อต้านและเรียกร้องรัฐบาลให้ ยุบสภา

ดังนั้น ผมจึงต้องปกป้องสิทธิโดยการดำเนินการฟ้องร้องแก่ พ.อ.สรรเสริญและ ศอฉ. โดยจะดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่ง เพราะเหตุการณ์ทั้งหมดเป็นเพียงความพยายามของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่จะใส่ร้ายป้ายสีผู้บริสุทธิ์ ทำลายสิทธิเสรีภาพของสื่อสารมวลชน และนำเอากรณีล้มล้างสถาบันมาเป็นเครื่องมือที่จะกวาดล้างปราบปรามประชาชน ซึ่งต่อมารัฐบาลก็ได้ปราบปรามประชาชนจริง โดยก่อการเข่นฆ่าสังหารจนทำให้ประชาชนเสียชีวิต 91 คน บาดเจ็บนับพันคน

ในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ผมเสนอให้ทนายความยื่นฟ้องต่อศาลอาญา โดยฟ้องนายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1 นายสุเทพ ในฐานะ ผอ.ศอฉ. เป็นจำเลยที่ 2 และ พ.อ.สรรเสริญ เป็นจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หมิ่นประมาทโดยการโฆษณากรณี ศอฉ. เผยแพร่แผนผังเครือข่ายล้มเจ้า นอกจากนี้ยังได้ยื่นฟ้องศาลแพ่งในข้อหาละเมิดให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 300,554.80 บาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ปรากฏว่าเพียงวันที่ 10 พฤษภาคม ศาลแพ่งก็พิจารณาไม่รับฟ้อง เพราะอ้างว่าจำเลยทั้ง 3 คนกระทำในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นอกจากนี้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ก็ได้ให้อำนาจไว้ จึงถือว่าโจทย์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลพิพากษายกฟ้อง

การยกฟ้องของศาลแพ่งดังกล่าวความจริงมีข้อกังขาหลายประการ เช่น ศาลไม่ได้พิจารณาเลยว่าฝ่าย ศอฉ. ออกข่าวเรื่องเครือข่ายล้มเจ้านี้มีหลักฐานเพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่มีหลักฐานเหตุใดจึงปล่อยให้ผู้ที่มีอำนาจตามกฎหมายมาใส่ร้ายป้ายสีโดย ไม่มีความผิด และศาลแพ่งยังไม่ได้คำนึงถึงความเสียหายทางสังคมที่ผมและคนอื่นที่ถูกระบุ ชื่อในผังจะได้รับ หลังจากมีการเผยแพร่แผนผังนี้ออกไป จึงกลายเป็นว่าถ้าอยู่ในอำนาจรัฐเสียแล้ว จะแถลงอย่างไร สร้างความเสียหายต่อใคร ก็ไม่มีความผิด การอธิบายของศาลก็สามารถโต้แย้งได้ เพราะตามมาตรา 17 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเขียนว่า การใช้อำนาจตามพระราชกำหนดนี้ต้องเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ

ปัญหาคือการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยสุจริตและสมควรแก่เหตุหรือไม่ เพราะการที่จำเลยทั้งสามคือ นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศอฉ. และโฆษก ศอฉ. นำเอกสารเครือข่ายล้มเจ้ามาเผยแพร่โดยไม่ปรากฏที่มาที่ไปของเอกสารฉบับนี้ ประกอบกับข้อความในเอกสารยังเป็นที่สงสัยว่าจะเป็นความจริงเพียงไร เพราะมีชื่ออดีตนายกรัฐมนตรี อดีตผู้บัญชาการเหล่าทัพหลายคนอยู่ในเอกสาร โดยไม่ได้มีข้อมูลหรือหลักฐานที่ชัดเจน แต่รีบนำมาแถลงเพื่อหวังผลทางการเมือง ดังนั้น จึงตีความได้ด้วยซ้ำว่าทั้ง 3 คนกระทำโดยจงใจ เพื่อให้ตัวเองและพรรคพวกตนเองได้เปรียบทางการเมือง โดยไม่คำนึงข้อเท็จจริง ไม่คำนึงถึงความเสียหายของผู้ที่ถูกใส่ร้าย โดยอาศัยข้อได้เปรียบและความเคร่งครัดของกฎหมายข้างต้นมาใช้จัดการปรปักษ์ ทางการเมืองของรัฐบาล

สำหรับศาลอาญา ที่คดียังคงค้างอยู่ปรากฏว่าทางศาลขอให้มีการไกล่เกลี่ยยอมความ ได้มีการนัดไกล่เกลี่ยถึง 3 ครั้ง แต่ฝ่ายนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และ พ.อ.สรรเสริญ ไม่ได้สนใจต่อคดีเลย ได้มีการตั้งพนักงานอัยการมาเป็นทนายเพื่อแก้ต่างฝ่ายจำเลย ในที่สุดเมื่อขั้นตอนการไกล่เกลี่ยล้มเหลว เรื่องก็ได้ถูกนำขึ้นไต่สวนในศาลตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมา

แต่ปรากฏว่าศาลอาญาเองก็ไม่ต้องการให้มีการดำเนินคดี จึงยังคงพยายามเสนอทางไกล่เกลี่ย โดยรับฟังจากฝ่ายอัยการว่า การที่ พ.อ.สรรเสริญเสนอแผนผังต่อสื่อมวลชนไม่มีคำว่า “ผังล้มเจ้า” หรือ “เครือข่ายล้มสถาบัน” แต่เป็นเรื่องที่สื่อมวลชนเอาไปเติมกันเอง พ.อ.สรรเสริญยังเสนอด้วยซ้ำไปว่า แผนผังนี้เป็นเพียงข้อวิเคราะห์ ไม่ได้มุ่งจะกล่าวหาใคร ดังนั้น ดูเหมือนว่าศาลต้องการให้ฝ่ายโจทย์คือผม ถอนคดีไปเอง โดยเลิกฟ้องต่อจำเลยทั้งสาม

ในกรณีนี้ความจริงแล้ว แม้ว่าในแผนผังที่แจก พ.อ.สรรเสริญจะไม่ได้ใส่คำว่า “ผังล้มเจ้า” ลงไป แต่สาระสำคัญในการแถลงข่าวก็ต้องการเช่นนั้น ซึ่งเป็นการเปิดทางให้สื่อมวลชนนำไปโจมตีบุคคลที่ถูกระบุในเครือข่ายว่าเป็น พวกล้มเจ้า ส่วนที่อ้างว่าผังนี้เป็นเพียงข้อวิเคราะห์เพราะ พ.อ.สรรเสริญรู้ดีว่าข้อกล่าวหาเป็นเรื่องเลื่อนลอย ไม่มีหลักฐาน จึงได้ออกตัวไว้ก่อนเช่นนั้น

ดังนั้น การประนีประนอมจะเป็นไปได้โดยฝ่ายรัฐบาลหรือ พ.อ.สรรเสริญต้องแถลงว่า “ผังล้มเจ้า” ดังกล่าวเป็นเรื่องเหลวไหล เป็นเรื่องของการใส่ร้ายป้ายสีทางการเมือง และชนชั้นนำต้องเลิกนำเอาข้อหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเครื่อง มือโจมตีทางการเมืองต่อฝ่ายตรงข้าม การเมืองไทยจึงยกระดับขึ้นจากวงจรน้ำเน่าเช่นที่ผ่านมา

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 297 วันที่ 5 –  11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 หน้า 9 คอลัมน์ ถนนประชาธิปไตย โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

 


หมื่นล้าน!?

ครม.มีมติให้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินไปเรียบร้อยแล้ว

ในฐานะคนไทยคนหนึ่งก็ต้องดีใจเป็นธรรมดา รู้สึกว่าหายใจคล่องขึ้น โล่งอก ไม่อึดอัดเหมือนก่อนหน้านี้

เพราะพ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ใช้กันมายาวนาน 7-8 เดือน ผู้ที่รับประโยชน์ไปเต็มๆ คือรัฐบาล

มีโล่ป้องกันตัว มีอำนาจเหลือเฟือ

หากพูด ถึงประชาชนทั่วไป ซึ่งไม่ใช่คนเสื้อแดง ยังรู้สึกว่าไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย กลับถูกพ.ร.ก.พิเศษตัวนี้ละเมิดสิทธิเสรีภาพเสียด้วยซ้ำ!

เศรษฐกิจก็ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและอ้อม

ภาพการ บังคับใช้กฎหมายพิเศษที่แพร่ออกไปทั่วโลก ทำให้เมืองไทยไม่แตกต่างไปจากประเทศเผด็จการ ถูกมองว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนรุนแรงอันดับต้นๆ

โดยเฉพาะ 91 ศพก็เป็นผลพวงของกฎหมายพิเศษตัวนี้

การยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินไปได้ เท่ากับเป็นบุญของคนไทยทั้งประเทศ

ฉะนั้น รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ควรยกเอาเรื่องการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นความดีความชอบของตัวเอง!!

แต่ สิ่งที่ต้องจับตากันให้ดี คือผลที่จะตามมาหลังเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังศอฉ.หมดหน้าที่ รัฐบาลต้องใจกว้าง เปิดให้มีการตรวจสอบการทำงานของศอฉ.ในช่วง 7-8 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก

คืองบประมาณของศอฉ.

ความจริงหลังสลายม็อบแดงที่ราชประสงค์ไม่นาน เคยมีการเรียกร้องให้ตรวจสอบงบประมาณของศอฉ.

ตอนนั้นก็มีข่าวแว่วๆ ออกมาว่าช่วง 2-3 เดือนหลังเหตุการณ์ 19 พ.ค. น่าจะมีการใช้งบฯ ไป 4-5 พันล้านบาท!

แบ่งคร่าวๆ เป็นเบี้ยเลี้ยงทหารเกือบ 2 หมื่นนาย

ค่ายุทโธปกรณ์ พูดประสาชาวบ้านคือค่ากระสุนปืนนั่นละ ยังมีค่าน้ำมัน ค่าอาหาร ค่าจิปาถะอีกจำนวนมาก

ขนาดค่าตัวโฆษกที่ออกมานั่งแถลงข่าว ยังต้องจ่ายให้เป็นพิเศษ

แต่ตอนนี้ล่วงเลยจากเหตุการณ์ 19 พ.ค.มา 7-8 เดือนแล้ว

คาดการณ์ตัวเลขกลมๆ งบศอฉ.น่าจะเฉียดๆ หมื่นล้าน!

ตรงนี้แหละที่รัฐบาลโดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ต้องออกมาแจงสี่เบี้ย เอาตัวเลขมากางกันให้เห็นชัดๆ เอาเงินภาษีประชาชนไปใช้อะไรบ้าง

จะมัวแต่พูดว่าอยากปรองดองอย่างเดียวไม่พอ

มันต้องโปร่งใสด้วย!

ที่มา : ข่าวสดรายวัน 24 ธันวาคม 2553
คอลัมน์ : เหล็กใน

 


แดงนอนคุก

“ปล่อยคนผิดสิบคนดีกว่าจับกุมผู้บริสุทธิ์เพียงคนเดียว”

ใครเคยดูละครเปาบุ้นจิ้นคงได้ยินประโยคนี้อยู่บ่อยๆ

โดยเฉพาะตอน ‘ท่านเปา’ ยังไม่สามารถหาพยานหลักฐานมาตัดสินได้ว่าคดีที่เกิดขึ้น คนกระทำความผิดแท้จริงคือใคร ก็เลยจำเป็นต้องปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยทั้งหมดไปก่อนเพื่อไม่ให้ผู้บริสุทธิ์ต้องรับเคราะห์

เปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในประเทศไทยในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมและหลังจากนั้นเป็นต้นมา

ศอฉ.เหวี่ยงแหจับกุมประชาชนยัดใส่คุกตะรางจำนวนมาก

โดยไม่มีการสอบสวนใดๆ ให้แน่ชัดเสียก่อนว่าคนที่ติดร่างแหมานั้น มีส่วนก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงจริงหรือไม่

ผลคือมีผู้บริสุทธิ์หลายคนต้องติดคุก อีกทั้งไม่ได้รับการประกันตัวตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมปกติ

ไม่ใช่แค่วันสองวัน แต่นานถึงครึ่งปีเลยทีเดียว

ล่าสุด นายนที สรวารี นายกสมาคมสร้างสรรค์ กิจกรรมอิสรชน ซึ่งเคลื่อนไหวเรียกร้องอิสรภาพให้คนเสื้อแดงที่ถูกคุมขังอยู่ตามเรือนจําทั่วประเทศกว่า 100 คน ออกมาเผยข้อมูลศาลแขวงปทุมวัน มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา

ให้ยกฟ้องกรณี นายสมพล แวงประเสริฐ ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐจับกุมเมื่อวันที่ 16 พ.ค. ตามประกาศของศอฉ.และพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เนื่องจากการไต่สวนของศาลพบว่าเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่

การลงบันทึกจับกุมหลายประเด็นบ่งชี้ว่าเป็นการจับกุมโดยใช้อำนาจหน้าที่มิชอบและกระทำการเกินกว่าเหตุ

นายสมพล เป็นแค่คนเร่ร่อน อาชีพเก็บขยะขาย อาศัยอยู่ใต้ทางด่วนแถวๆ ปทุมวัน ช่วงชุลมุนดันไปอยู่ผิดที่ผิดทางก็เลยตกเป็นเหยื่อกวาดจับมั่วของศอฉ.

คำถามคือยังมีผู้บริสุทธิ์ที่ต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในคุกจากการกระทำอันเกินกว่าเหตุของศอฉ. ภายใต้กฎหมายเผด็จการอย่างพ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีกจำนวนเท่าไหร่?

ที่เจ็บปวดกว่านั้นคือบางคนที่ได้รับเงื่อนไขให้ประกันตัวออกมา

ยังต้องไปรายงานตัวเพื่อขอบคุณนายกฯ ที่เป็นคนสั่งการให้จับกุมอีกต่างหาก

กับหลักความยุติธรรมกลับหัวกลับหาง

จับผู้บริสุทธิ์สิบคน ดีกว่าปล่อยคนผิดหนึ่งคน

ถ้าเปาบุ้นจิ้นยังอยู่แล้วบังเอิญผ่านมาประเทศไทยในยุคนี้ คงกระอักเลือดตายก่อนได้กลับศาลไคฟง

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ 6 ธันวาคม 2553
โดย : เหล็กใน