9 ข้อสงสัย ทำไมต้องแก้ไขมาตรา 112!

นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกประกาศ “นิติราษฎร์ฉบับ 19” ในเว็บไซต์ “นิติราษฎร์ (นิติศาสตร์เพื่อราษฎร์) www.enlightened-jurists.com โต้ข้ออ้างกลุ่มที่สนับสนุนให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังจากกลุ่มนิติราษฎร์เสนอให้ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน

“แม้ผู้ประเสริฐที่สุดภายหลังจากเขาตายแล้วเขายังไม่อาจได้รับการสรรเสริญเกียรติคุณ จนกว่าทุกเรื่องราวที่บรรดาปิศาจกล่าวโจมตีเขานั้นจะเป็นที่รับรู้โดยทั่วกัน และได้รับการพิจารณาวินิจฉัยเสียก่อน”

John Stuart Mill, On Liberty, 1859

1. ท่ามกลางข้อเสนอให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วย ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เรามักพบเห็นข้ออ้างของฝ่ายที่สนับสนุนให้คงมาตรา 112 ไว้ดังเดิม ข้าพเจ้าพอจะรวบรวมข้ออ้างเหล่านั้นได้ 9 ประการ และขออนุญาตโต้ข้ออ้างทั้ง 9 ดังนี้

ข้ออ้างที่ 1 มาตรา 112 ไม่ใช่เรื่องแปลก ประเทศอื่นๆที่เป็นประชาธิปไตยก็มีกฎหมายลักษณะเดียวกันนี้

กฎหมายว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทประมุขของรัฐมีอยู่จริงในหลายประเทศ สำหรับประเทศที่เป็นสาธารณรัฐก็มีความผิดฐานหมิ่นประมาทประธานาธิบดี สำหรับประเทศที่มีประมุขเป็นกษัตริย์ก็มีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ แต่กฎหมายของประเทศเหล่านั้นแตกต่างจากมาตรา 112 อย่างสิ้นเชิง บางประเทศมีกฎหมายความผิดเกี่ยวกับหมิ่นประมาทกษัตริย์แต่ไม่เคยนำมาใช้ หรือไม่นำมาใช้นานแล้ว บางประเทศอาจนำมาใช้เป็นครั้งคราว แต่ก็เพียงลงโทษปรับ และทุกประเทศที่มีกฎหมายลักษณะนี้ล้วนแล้วแต่กำหนดโทษต่ำกว่ามาตรา 112 มาก

ข้ออ้างที่ 2 นำมาตรา 112 ไปเปรียบเทียบกับกฎหมายต่างประเทศไม่ได้ เพราะสถาบันกษัตริย์ของเรามีบารมีและลักษณะพิเศษ

คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้อาจเห็นว่าสถาบันกษัตริย์ไทยได้รับความเคารพอย่าง สูง เปี่ยมด้วยบารมี เมตตา และคุณธรรม มีพระราชกรณียกิจและพระราชจริยวัตรที่ดีงาม และพสกนิกรชาวไทยล้วนแล้วแต่จงรักภักดี คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้จึงยืนยันว่าสถาบันกษัตริย์ไทยมีลักษณะพิเศษ ไม่อาจนำไปเปรียบเทียบกับสถาบันกษัตริย์ของประเทศอื่นได้ ต่อให้เรายอมรับว่าจริง แต่ความพิเศษเช่นว่าไม่อาจนำมาเป็นเหตุให้กำหนดโทษสูงในความผิดฐานหมิ่น ประมาทกษัตริย์ หรือนำกฎหมายนี้มาใช้เพื่อทำลายล้างกัน นอกจากนี้ในเมื่อยืนยันว่าสถาบันกษัตริย์ไทยได้รับความเคารพอย่างสูง และคนไทยจงรักภักดีอย่างถึงที่สุดจนยากจะหาที่ใดมาเสมอเหมือนแล้วละก็ กฎหมายแบบมาตรา 112 ยิ่งไม่มีความจำเป็น

ข้ออ้างที่ 3 บุคคลทั่วไปมีกฎหมายความผิดฐานหมิ่นประมาทคุ้มครองเกียรติยศและชื่อเสียง แล้วจะไม่ให้กษัตริย์มีกฎหมายคุ้มครองเช่นนี้บ้างหรือ?

ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใคร ดำรงตำแหน่งใด ย่อมมีสิทธิในการปกป้องรักษาเกียรติยศและชื่อเสียงของตน แน่นอนว่าต้องมีกฎหมายความผิดฐานหมิ่นประมาทเพื่อคุ้มครองเกียรติยศและชื่อ เสียงของกษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ แต่กฎหมายเช่นว่านั้นต้องไม่มีความพิเศษหรือแตกต่างจากกฎหมายความผิดฐาน หมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา หรือหากจะแตกต่างต้องไม่แตกต่างมากจนเกินไป แต่กรณีมาตรา 112 ลักษณะของความผิด (พูดทำให้ผู้อื่นเสียหาย) ไม่ได้สัดส่วนกับโทษ (จำคุก 3 ปีถึง 15 ปี) อยู่ในลักษณะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ไม่มีเหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษ

ข้ออ้างที่ 4 ต่อให้มีบุคคลใดถูกลงโทษตาม 112 แต่ก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษอยู่ดี

มีหลายคดีที่จำเลยรับโทษจำคุก ต่อมาได้ขอพระราชทานอภัยโทษ และในท้ายที่สุดก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ แต่มีอีกหลายคดีที่จำเลยไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ หรือได้รับพระราชทานอภัยโทษเมื่อเวลาล่วงผ่านไปนานแล้ว เคยมีข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเป็นชาวต่างชาติและขอพระราชทานอภัยโทษ เวลาผ่านไปไม่นานนักก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ (เช่น กรณีนายโอลิเวอร์ จูเฟอร์ และนายแฮร์รี่ นิโคไลดส์) แต่กรณีอื่นๆต้องใช้เวลานานพอสมควรถึงจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ (เช่น กรณีนายสุวิชา ท่าค้อ) ซึ่งอาจให้เหตุผลได้ว่าแต่ละกรณีมีข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันไป แต่ถึงกระนั้นนั่นก็หมายความว่าจำเลยจะได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ไม่ใช่ เรื่องแน่นอนและเสมอกันทุกกรณี ยิ่งไปกว่านั้นการที่จำเลยถูกตัดสินว่าไม่มีความผิด, การที่จำเลยถูกตัดสินว่าผิด ต้องโทษจำคุก แต่รอลงอาญา, การที่จำเลยถูกตัดสินว่าผิดและต้องโทษจำคุก ต่อมาได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ทั้ง 3 กรณีนี้มีผลทางกฎหมายไม่เหมือนกัน

นอกจากนี้นักวิชาการยังได้หยิบยกสถิติจำนวนคดีแล้วสรุปว่าจำนวนคดีเกี่ยว กับความผิดตามมาตรา 112 มีน้อยว่า “ตั้งแต่มีกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2451 มาจนถึงการใช้ประมวลกฎหมายอาญาฉบับปัจจุบัน ตลอดเวลากว่า 100 ปี มีคำพิพากษาศาลฎีกาเพียง 4 เรื่อง” 2 ข้อสรุปนี้ก็ไม่ถูกต้อง เพราะตัวเลขนั้นเป็นจำนวนคดีที่ศาลฎีกาตัดสิน ต้องเข้าใจว่าคดีเกี่ยวกับความผิดตามมาตรา 112 นี้ ในหลายกรณีจำเลยไม่ต้องการต่อสู้คดี เพราะประเมินว่าสู้ไปจนถึงชั้นศาลฎีกาผลของคดีคงไม่ต่างกัน จำเลยจึงตัดสินใจยอมรับโทษตั้งแต่คำพิพากษาศาลชั้นต้น เพื่อให้คำพิพากษาถึงที่สุด และขอพระราชทานอภัยโทษต่อไป ด้วยเหตุนี้จำนวนคดีเกี่ยวกับความผิดตามมาตรา 112 ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาจึงมีจำนวนน้อย แต่หากลงไปตรวจสอบจำนวนคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ หรือจำนวนคดีที่อยู่ในชั้นตำรวจหรืออัยการ หรือจำนวนผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยถูกจับกุมคุมขังเพื่อรอการพิพากษาของศาล แล้ว จะเห็นได้ว่ามีจำนวนมาก และมีมากขึ้นนับแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ข้ออ้างที่ 5 ความผิดตามมาตรา 112 เกี่ยวพันกับความมั่นคงของรัฐ

โดยลักษณะของความผิดตามมาตรา 112 ไม่มีสภาพร้ายแรงถึงขนาดกระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ บูรณภาพ และความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความผิดตามมาตรา 112 เป็นกรณีที่เกิดจากการพูดแล้วทำให้กษัตริย์เสียหาย ไม่ได้กระทบกระเทือนถึงการดำรงอยู่ของกษัตริย์ ไม่ใช่กรณีประทุษร้ายหรือปลงพระชนม์กษัตริย์ และไม่ใช่การเปลี่ยนรูปแบบของราชอาณาจักร ความผิดตามมาตรา 112 จึงไม่เกี่ยวพันกับความมั่นคงของรัฐ

ข้ออ้างที่ 6 ในเมื่อรู้ผลร้ายของการกระทำความผิดตามมาตรา 112 แล้วก็จงหลีกเลี่ยงไม่ทำความผิด หรือไม่เสี่ยงไปพูดถึงกษัตริย์เสียก็สิ้นเรื่อง

เมื่อกฎหมายเกี่ยวกับความผิดตามมาตรา 112 นี้เป็นกฎหมายที่มีปัญหาในตัวมันเอง ทั้งในทางตัวบทและการบังคับใช้เป็นกฎหมายที่ละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิด เห็นอย่างยิ่งก็ต้องยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ไม่ใช่เห็นว่ามาตรา 112 มีโทษร้ายแรงก็จงอย่าไปเสี่ยง เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง ข้ออ้างแบบนี้ไม่ต่างอะไรกับการบอกว่าไฟนั้นร้อน อาจลวกมือได้ จงอย่าใช้ไฟนั้น

ข้ออ้างที่ 7 ในทุกประเทศล้วนแล้วแต่มีเรื่องต้องห้าม เรื่องอ่อนไหวที่ห้ามพูดถึงหรือไม่ควรพูดถึง ซึ่งเรื่องต้องห้ามนั้นก็แตกต่างกันไป ของไทยก็คือเรื่องสถาบันกษัตริย์

จริงอยู่ที่แต่ละประเทศก็มีเรื่องต้องห้าม แต่หากสำรวจเรื่องต้องห้ามในประเทศเสรีประชาธิปไตยทั้งหลายแล้วจะเห็นได้ว่า เรื่องต้องห้ามเหล่านั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ เช่น กรณีในเยอรมนีและหลายประเทศในยุโรปบุคคลไม่อาจพูดหรือแสดงความเห็นไปในทิศ ทางสนับสนุนฮิตเลอร์หรือนาซี หรือให้ความชอบธรรมแก่การกระทำของนาซีได้มากนัก กรณีหลายประเทศบุคคลไม่อาจพูดหรือแสดงความเห็นไปในทางเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ เหยียดศาสนาได้ แต่กรณีของไทย เรื่องห้ามพูดคือกรณีสถาบันกษัตริย์ วิญญูชนโปรดพิจารณาว่าเป็นเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือไม่

ข้ออ้างที่ 8 ความผิดตามมาตรา 112 เป็นเรื่องอ่อนไหว กระทบจิตใจของคนไทยทั้งชาติ สมควรให้กระบวนการยุติธรรมจัดการดีกว่า หากไม่มีกระบวนการยุติธรรมจัดการแล้วอาจส่งผลให้คนในสังคมลงโทษกันเอง

หากจะมีการประชาทัณฑ์หรือสังคมลงโทษอย่างรุนแรงก็เป็นหน้าที่ของกระบวน การยุติธรรมที่ต้องเข้าไปป้องกันและจัดการให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ใช่เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 112 จะโดนรุมประชาทัณฑ์เลยช่วยเอาผู้ถูกกล่าวหาไปขังคุกแทน

ข้ออ้างที่ 9 มาตรา 112 สัมพันธ์กับมาตรา 8 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

มาตรา 8 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” บทบัญญัติในลักษณะดังกล่าวปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญหลายประเทศ เป็นบทบัญญัติในลักษณะประกาศ (declarative) เพื่อให้สอดรับกับหลัก The King can do no wrong ไม่ใช่เป็นบทบัญญัติในลักษณะวางกฎเกณฑ์ปทัสถาน (normative) การอ่านมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ต้องอ่านแบบประชาธิปไตย ไม่ใช่อ่านแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หากอ่านแบบประชาธิปไตยจะเข้าใจได้ทันทีว่ามาตรา 8 มีเพื่อเทิดกษัตริย์ไว้เป็นประมุขของรัฐ ซึ่งไม่ทำอะไรผิด เพราะไม่ได้ทำอะไรเลย เมื่อไม่ได้ทำผิดและไม่ได้ทำอะไรเลยจึงไม่มีใครมาละเมิดได้ คำว่า “เคารพสักการะ” ก็เป็นการเขียนเชิงประกาศเท่านั้น ไม่ได้ส่งผลทางกฎหมายในลักษณะมีโทษแต่อย่างใด

นอกจากนี้ในระบอบประชาธิปไตย เอกสิทธิ์และความคุ้มกันต่างๆที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆมอบให้แก่กษัตริย์ ก็เป็นการมอบให้แก่กษัตริย์ในฐานะตำแหน่งกษัตริย์ที่เป็นประมุขของรัฐ ไม่ได้มอบให้แก่บุคคลที่มาเป็นกษัตริย์ หากกษัตริย์ปฏิบัติหน้าที่นอกกรอบของรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยเอกสิทธิ์และ ความคุ้มกันต่างๆก็ต้องหมดไป

การแก้ไขมาตรา 112 ให้โทษต่ำลงก็ดี การกำหนดเหตุยกเว้นความผิดตามมาตรา 112 ก็ดี การกำหนดเหตุยกเว้นโทษตามมาตรา 112 ก็ดี ไม่ได้ขัดหรือแย้งกับมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญ การแก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้ทำให้กษัตริย์ไม่เป็นที่เคารพสักการะ กฎหมายแบบมาตรา 112 ยังคงมีอยู่ เพียงแต่ปรับปรุงให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสังคมประชาธิปไตยเท่านั้น และหากสมมุติว่ามีการยกเลิกมาตรา 112 จริง หากมีผู้ใดหมิ่นประมาทกษัตริย์ก็ยังมีกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาให้ใช้ ได้

ณ เวลานี้มีความเข้าใจผิดกันในหมู่ผู้สนับสนุนมาตรา 112 และผู้เลื่อมใสอุดมการณ์กษัตริย์นิยมว่าการรณรงค์เสนอให้มีการแก้ไขหรือยก เลิกมาตรา 112 เป็นการกระทำที่มีความผิดฐาน “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” และเป็นพวก “ล้มเจ้า” ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าการรณรงค์เช่นว่าไม่มีความผิดใดเลย เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับมาตรา 112 ไม่ต่างอะไรกับการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐ ธรรมนูญ กฎหมายความมั่นคง กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือกฎหมายอื่นใด มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมาย มิใช่สถาบันกษัตริย์ สมมุติว่ามาตรา 112 ถูกแก้ไขหรือยกเลิกจริง สถาบันกษัตริย์ก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไป ไม่ได้ถูกยกเลิกตามมาตรา 112 ไปด้วย

หากความเห็นของข้าพเจ้าไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ข้าพเจ้าขอยกเอาความเห็นของข้าราชการผู้หนึ่ง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เขาผู้นี้เคยให้ความเห็นไว้ ณ ห้องแอลที 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2552 ในการเสวนาหัวข้อ “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับความมั่นคงของรัฐ” ว่า “ในเรื่องการแสดงความเห็นหรือรณรงค์อะไร ผมคิดว่าทำได้นะ แต่ก็ต้องอยู่ในกรอบที่จะไม่ไปผิดกฎหมายด้วย คงขึ้นอยู่กับวิธีการนำเสนอและรายละเอียดของการรณรงค์ว่ามีความเห็นให้เลิก มาตรา 112 เพราะอะไร ถ้าเป็นความเห็นที่ไม่ได้เป็นความผิดตามมาตรา 112 เสียอีกก็ทำได้” นอกจากนี้นายธาริตคนเดียวกันนี้ยังอภิปรายในงานเดียวกันว่า “…ขณะนี้มาตรา 112 ได้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งขอเสนอต่อจาก อ.วรเจตน์ว่าต้องจัดการพวกที่เยินยอเกินเหตุนั้น ซึ่งต้องต่อท้ายด้วยว่าหาประโยชน์จากการเยินยอโดยการไปใส่ร้ายฝ่ายตรงข้าม ผมไม่ทราบว่าจะตั้งบทบัญญัติอย่างไร แต่เรารับรู้และรู้สึกได้ว่าพวกนี้แอบอ้างสถาบัน แล้วใช้เป็นเครื่องมือหรือเพื่อประโยชน์ทางการเมืองในการจัดการฝ่ายตรงข้าม พวกนี้จะต้องรับผิด เพราะโดยเจตนาส่วนลึกแล้วก็คือการทำลายสถาบันนั่นเอง…”

2. ช่วงเวลาที่ผ่านมาคำว่า “ความยุติธรรม” ตลบอบอวลอยู่ในสังคมไทยอย่างยิ่ง คนเสื้อแดงก็เรียกร้องหาความยุติธรรม คนเสื้อเหลืองก็เรียกร้องหาความยุติธรรม คนที่ไม่เอาสีไหนเลยก็เรียกร้องหาความยุติธรรม

ข้าพเจ้าประกอบสัมมาชีพหาเลี้ยงตนด้วยงานบรรยายวิชากฎหมายในมหาวิทยาลัย บางครั้งก็รับเชิญไปบรรยายตามที่ต่างๆ บ่อยครั้งที่ข้าพเจ้าถูกร้องขอให้อธิบายถึง “ความยุติธรรม” อันว่าความยุติธรรมนี้มีปรัชญาเมธีจำนวนมากที่อธิบายความได้อย่างน่าสนใจ มีทั้งเห็นคล้อยและเห็นค้านกัน สำหรับข้าพเจ้าแล้วเมื่อต้องพูดถึงความยุติธรรมข้าพเจ้ามักไม่ตอบเอง แต่จะยกความคิดของปรัชญาเมธี 2 ท่านเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ฟัง-ผู้อ่านได้ไปคิดต่อ Immanuel Kant ท่านหนึ่ง กับ John Rawls อีกท่านหนึ่ง

Immanuel Kant ได้สร้างกฎจริยศาสตร์ไว้ 2 ข้อ ข้อแรก “จงกระทำในสิ่งที่สามารถทำให้เป็นกฎสากลได้” และข้อสอง “จงปฏิบัติต่อผู้อื่นในฐานะที่เขาเป็นจุดหมายในตัวเอง และไม่ใช่เป็นวิถีไปสู่เป้าหมายใดๆ”

ในข้อแรก Kant เห็นว่าการกระทำที่ถูกต้องคือการกระทำที่ผู้กระทำสามารถทำให้เป็นกฎสากลได้ (universalizable) นั่นคือเป็นการกระทำที่ทุกคนสามารถปรารถนาอย่างมีเหตุผลให้ผู้อื่นเลือก กระทำได้ เช่น การขอยืมเงินผู้อื่นโดยให้สัญญาว่าเราจะคืนเงินที่ยืมให้เขา โดยผู้ที่ยืมรู้ดีว่าไม่สามารถคืนเงินนั้นได้ หากพิจารณาการกระทำดังกล่าวตามหลักการของ Kant การผิดสัญญาเป็นการกระทำที่ไม่สามารถทำให้เป็นกฎสากลได้ เนื่องจากเป็นการกระทำที่ทุกคนไม่สามารถจงใจอย่างมีเหตุผลให้ผู้อื่นเลือก กระทำได้ หากการกระทำนี้เป็นกฎสากล คือทุกคนเลือกที่จะผิดสัญญา การทำสัญญาก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากจะไม่มีใครยอมทำสัญญากับใคร เพราะทุกคนจะตระหนักถึงความเป็นไปได้ที่ว่าหากทำสัญญาก็จะถูกละเมิดสัญญา เหมือนกับที่ตนเองตั้งใจจะผิดสัญญา การกระทำดังกล่าวจึงเกิดปัญหาความขัดแย้งในตัวเองขึ้น ดังนั้น การผิดสัญญาจึงเป็นการกระทำที่ผู้กระทำต้องการให้ตนเองทำได้เพียงคนเดียว หรือต้องการให้ตนเป็นผู้ได้รับการยกเว้นจากการทำตามคำสั่งทางศีลธรรม เป้าหมายของ Kant ในการยืนยันหลักการข้อนี้คือเพื่อหลีกเลี่ยงอคติในการตัดสินเลือกกระทำ และเพื่อที่กฎศีลธรรมจะมีลักษณะเป็นกฎสากล

ในข้อที่สองกำหนดให้มนุษย์ต้องปฏิบัติต่อมนุษย์ผู้อื่นในฐานะมนุษย์ที่มี เกียรติศักดิ์ศรีและมีคุณค่าในตัวเอง มิใช่ปฏิบัติต่อมนุษย์ในฐานะเขาเป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ และไม่ปฏิบัติต่อมนุษย์ในฐานะเป็นเครื่องมือไปสู่เป้าหมายใด รวมทั้งผู้กระทำมีหน้าที่ปฏิบัติต่อตนเองในฐานะจุดหมายด้วย เพราะ Kant เห็นว่ามนุษย์ทุกคนมีคุณค่าในตัวเอง เนื่องจากมนุษย์มีเหตุผลในการตัดสินเลือกกระทำและมีเป้าหมายเป็นของตนเอง

John Rawls ได้สร้างทฤษฎีความยุติธรรมไว้ในฐานะที่ความยุติธรรมเป็น Faireness Rawls สมมุติจินตภาพขึ้นมาอันหนึ่ง ซึ่งเขาเรียกว่า “Veil of Ignorance” (ม่านแห่งความเขลา) หากต้องการทราบว่าความยุติธรรมคืออะไรก็ให้สมมุตินำมนุษย์เข้าไปอยู่ใน Veil of Ignorance เมื่อเข้าไปอยู่ในนั้นแล้วมนุษย์ก็จะไม่ทราบว่าตนเองดำรงตำแหน่งสถานะใด ไม่รู้ถึงความสามารถ ไม่รู้ถึงคุณงามความดี ไม่รู้ถึงยุคสมัยที่ตนเองสังกัดอยู่ มนุษย์รู้เพียงแต่ว่าตนดำรงอยู่ภายใต้ Circumstance of Justice

ในสภาวะนี้เองมนุษย์จะตอบได้ว่าความยุติธรรมที่ Faireness คืออะไร เพราะมนุษย์เป็นอิสระอย่างแท้จริง ปลอดซึ่งค่านิยม คุณค่า สถานะ ความคิดเห็นต่างๆ เมื่อมนุษย์ต้องตอบว่าอะไรคือความยุติธรรมเขาก็จะประเมินอย่างระมัดระวัง รอบคอบ เพื่อให้ “ความยุติธรรม” ที่จะเกิดขึ้นนั้นสามารถเอื้อให้เขาดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัยและสำเร็จ ไม่ว่าวันนี้ วันหน้า วันไหน เขาจะดำรงตำแหน่งสถานะใด เขาจะรวย เขาจะจน เขาจะเป็นเจ้า เขาจะเป็นไพร่ เขาก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

จากการสร้าง Veil of Ignorance อันแสนจะเป็นนามธรรมนี้ Rawls แปลงสภาพให้กลายเป็นรูปธรรมได้ ดังนี้ เพื่อให้มนุษย์รู้ได้ว่าความยุติธรรมคืออะไร มนุษย์จะสร้างความยุติธรรมให้เป็นแบบใด จำเป็นต้อง 1.มนุษย์มีสิทธิเท่าเทียมกันในเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ได้แก่ มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพทางการเมือง กรรมสิทธิ์ ฯลฯ 2.มนุษย์ต้องมีความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม ความไม่เสมอภาคจะมีได้ก็ต่อเมื่อเป็นประโยชน์มากที่สุดต่อคนที่ด้อยโอกาสที่ สุด

สำหรับข้าพเจ้าหากต้องการพูดเรื่องความยุติธรรมจำเป็นต้องมีสนามที่ Free และ Fair เสียก่อน และสนามนั้นจะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ถกเถียงว่าความยุติธรรมคืออะไร จะแบ่งสันปันส่วนให้ยุติธรรมได้อย่างไร ตราบใดที่ยังไม่มีสนามที่ Free และ Fair หรือสนามนั้นถูกครอบงำโดยกลุ่มบุคคล ความยุติธรรมที่ว่าก็จะเป็นความยุติธรรมในทรรศนะของกลุ่มบุคคลที่ครอบงำเท่า นั้น

ดังนั้น ยามใดก็ตามที่ท่านพูดถึง “ความยุติธรรม” โปรดพิจารณาดูก่อนว่า “ความยุติธรรม” ที่ท่านพูดกันนั้นมีลักษณะเช่นไร เพราะ “ความยุติธรรม” มีคุณค่ามากกว่าเป็นเพียงถ้อยคำใหญ่โตเพื่ออ้างความชอบธรรม

3.นอกจากนี้นายปิยบุตรยังแนะบทความ 3 ชิ้นที่ถือเป็นบทความของคนรุ่นใหม่และนักศึกษาผู้มีความคิดก้าวหน้า ยังนำสำนวนภาษาฝรั่งเศสสำนวนหนึ่งมาบอกเล่าคือ

“Après moi, le déluge” แปลตรงตัวได้ว่า “พ้นจากข้าพเจ้า น้ำท่วม”

ที่มาของสำนวนนี้มีอยู่ 2 สมมุติฐาน สมมุติฐานแรก พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 และมาดามปอมปาดูร์ สนมเอกของพระองค์ ตรัสประโยคนี้กับปุโรหิต หลังจากปุโรหิตกราบทูลว่าจะเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่หลังจากดาวหางโคจรเคลื่อน ผ่าน สมมุติฐานที่สอง พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ตรัสถึงรัชทายาทในเชิงดูแคลนว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากพระองค์จากไป

คำว่า “le déluge” ไม่ใช่น้ำท่วมธรรมดา แต่เป็นอุทกภัยขนาดมหึมาที่พัดพาทุกสิ่งทุกอย่างให้พังภินท์ ปรากฏอยู่ในเรื่องเรือโนอาห์ในพระธรรมปฐมกาลบทที่ 6 ที่พระเจ้าดำริให้กวาดล้างมนุษย์ไปเสียจากแผ่นดินโลก ทั้งมนุษย์ สัตว์เลื้อยคลาน และนก แต่ด้วยเห็นว่าโนอาห์เป็นที่โปรดปรานในสายตาของพระเจ้า พระเจ้าจึงบอกให้โนอาห์ทราบ พร้อมทั้งมอบแผนผังรูปแบบเรือที่ใช้ในการช่วยชีวิตของโนอาห์ให้รอดพ้นจากการ ถูกน้ำท่วมล้างโลกเมื่อถึงกำหนดของพระเจ้า โนอาห์ก็ขึ้นไปอยู่บนเรือพร้อมสิ่งมีชีวิตอย่างละคู่ และบันดาลให้ฝนตก 40 วัน 40 คืนติดต่อกันจนน้ำท่วมโลก ผู้คน สัตว์ และพืชทุกชนิดที่อาศัยบนโลกก็เสียชีวิตไปทั้งสิ้น และให้น้ำท่วมโลกอยู่เป็นเวลาถึง 150 วัน

ปัจจุบันสำนวน “Après moi, le déluge” ใช้ในความหมายที่ว่า หากตนเองตายไปหรือพ้นจากตำแหน่งไป อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ตนไม่สนใจ เพราะไม่เกี่ยวกับตนแล้ว ในบางครั้งมีการนำสำนวนนี้ไปใช้กับกรณีบุคคลที่ครองอำนาจยาวนาน และไม่ได้คิดตรึกตรองถึงอนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากตนไม่อยู่ในตำแหน่งแล้ว เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าบุคคลนั้นเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ ไม่รับผิดชอบใดๆต่ออนาคต

ยกตัวอย่างเช่น ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งใหญ่ยิ่งมากด้วยอำนาจบารมี ครอบครองทรัพย์ศฤงคารมากมาย และเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างรวมศูนย์เข้าสู่ตัวข้าพเจ้าทั้งหมด ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่บางคนอาจคาดหมายว่าหากข้าพเจ้าไม่อยู่เสียแล้ว สถานการณ์วันข้างหน้าคงสับสนวุ่นวาย ที่ปรึกษาข้าพเจ้าจึงถามข้าพเจ้าว่า หากข้าพเจ้าพ้นจากตำแหน่งหรือตายไปวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ข้าพเจ้าได้คิดการณ์ล่วงหน้าไว้หรือไม่ ข้าพเจ้าตอบว่า “Après moi, le déluge”

นั่นหมายความว่า…ข้าพเจ้าไม่สนใจเรื่องใดๆ นอกจากตัวข้าพเจ้า และหากข้าพเจ้าต้องตายไป ความฉิบหายจะเกิดอย่างไรข้าพเจ้าก็ไม่อนาทรร้อนใจ เพราะข้าพเจ้าได้ตายไปแล้ว

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 307 วันที่ 23-29 เมษายน พ.ศ. 2554 หน้า 5-7 คอลัมน์ ข่าวไร้พรมแดน  โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล


ข้อเสนอ ‘นิติราษฎร์’ แก้ม.112

เมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ตัวแทนกลุ่มนิติราษฎร์ ได้นำเสนอประเด็นในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุ ภาพ สรุปสาระสำคัญดังนี้

1.ยกเลิกมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เพราะบทบัญญัติที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้รับการบัญญัติขึ้นโดยคำสั่ง ฉบับที่ 41 ของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินปี 2519 จึงเป็นกฎหมายของคณะรัฐประหารที่ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย

2.การลงโทษจากเดิมให้จำคุก 3-15 ปี ให้เปลี่ยนเป็นไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ, ลดอัตราโทษให้เป็นจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดนี้ต่อพระมหากษัตริย์, ลดอัตราโทษให้เป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดนี้ต่อพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เหตุผลข้อนี้คือการลงโทษตามกฎหมายเดิมรุนแรงเกินไป จึงเสนอให้บทลงโทษลดลง และให้มีความต่างในการลงโทษผู้ที่หมิ่นสถานะของพระมหากษัตริย์ กับผู้ที่ละเมิดพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการ

3.เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด ให้การติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่มีความผิด เพราะตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 45 รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต จึงไม่สมควรเป็นความผิดทางอาญา

4.เพิ่มเหตุยกเว้นโทษความผิด ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ถ้าข้อที่กล่าวหาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์ หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว แล้วแต่กรณี การพิสูจน์นั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ห้ามมิให้พิสูจน์

5.ผู้มีอำนาจกล่าวโทษเปลี่ยนจากบุคคลทั่วไปเป็นสำนักราชเลขาธิการ เพื่อป้องกันมีการนำเอาข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปเป็นเครื่องมือโจมตีกัน ในทางการเมือง และให้สำนักราชเลขาธิการได้ทำหน้าที่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเต็ม ที่

อาจารย์วรเจตน์เสนอว่า ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์นี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในทางวิชาการที่จะนำมา ซึ่งการถกเถียงแลกเปลี่ยนในประเด็นนี้อย่างจริงจัง และเป็นข้อเสนอที่ประนีประนอมที่สุด แม้ว่าจะไม่ได้แก้ปัญหาให้หมดไป แต่น่าจะบรรเทาปัญหาลงได้บ้าง

หลังจากนั้นอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เสนอว่า การแก้ไขกฎหมายอย่างเดียวอาจจะไม่ใช่ทางแก้ที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรมมาก ขึ้น จะต้องดูถึงรากฐานทางอุดมการณ์ที่รองรับด้วย ดังนั้น การแก้กฎหมายจะต้องพิจารณาถึงอุดมการณ์ที่รองรับ ในเมื่ออุดมการ์ที่ดำเนินอยู่ยังเป็นอุดมการณ์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การแก้ข้อกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียวก็ไม่เป็นประโยชน์ จึงต้องรณรงค์ให้ยกเลิกอุดมการณ์นั้นด้วย เช่น การเลิกโฆษณาเกินจริง การยกเลิกสถานะพิเศษของสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นต้น จึงจะบรรลุเสรีภาพของประชาชนได้ตามระบอบประชาธิปไตย

ประเด็นของการเสนอและการถกเถียงกันในเรื่องนี้เป็นที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะสถานการณ์ของสังคมไทยหลังจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้กลายเป็นประเด็นแหลมคม จากการที่ชนชั้นนำฝ่ายอำมาตย์และองค์กรทางการเมืองฝ่ายขวาได้นำเอาข้อหา หมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการโจมตีใส่ร้ายศัตรูทาง การเมือง และทำให้ประชาชนผู้บริสิทธิ์หลายคนต้องตกเป็นเหยื่อทางการเมือง ตัวอย่างเช่น กรณีของ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ที่ถูกจำคุกโดยไม่ได้ประกัน และถูกศาลอาญาตัดสินลงโทษถึง 18 ปี

กรณีของนายบุญยืน ประเสริฐยิ่ง ถูกศาลตัดสินจำคุก 6 ปี แต่ได้รับการอภัยโทษ หลังจากติดคุกอยู่ 1 ปี 10 เดือน กรณีนายสุวิชา ท่าค้อ ถูกศาลตัดสินจำคุก 6 ปี แต่ได้รับการอภัยโทษ หลังจากถูกขังอยู่ 1 ปี 5 เดือน กรณีของนายวราวุธ ฐานังกรณ์ และ น.ส.ปภัสชนัญญ์ ฉิ่งอินทร์ ที่เผาโลงประท้วงที่นครราชสีมา และถูกดำเนินคดีอยู่ในขณะนี้

ที่น่าสนใจคือกรณีของนายอำพล ตั้งนพคุณ หรืออากง อายุ 61 ปี ถูกจับเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา ในข้อหาส่งเอสเอ็มเอสข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาให้นายกรัฐมนตรี ทั้งที่นายอำพลเป็นคนสูงอายุอยู่กับบ้านและยืนยันว่าใช้เอสเอ็มเอสไม่เป็น ขณะนี้ยังคงดำเนินคดีในชั้นศาล

นอกจากนี้ในขณะนี้ยังมีการกล่าวหาและดำเนินคดีอยู่อีกนับสิบคดี และยังมี “ผังล้มเจ้า” ที่ฝ่ายรัฐบาลเผยแพร่และกล่าวหานักการเมืองฝ่ายต่อต้านในข้อหาว่ามีการตั้ง ขบวนการล้มเจ้าเพื่อต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์

ความจริงแล้วต้องถือว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีปัญหาหลายประการ แม้กระทั่งในเชิงปรัชญาของกฎหมาย เพราะกฎหมายสมัยใหม่ในแบบประชาธิปไตยนั้นต้องเริ่มต้นด้วยความเสมอ ภาคระหว่างมนุษย์ สถานะการเป็นประมุขแห่งรัฐ เช่น ในเยอรมนีหรืออินเดีย ถือเป็นหน้าที่ชนิดหนึ่ง และจะไม่ก่อให้เกิดเอกสิทธิ์เหนือกว่าบุคคลอื่น การมีกฎหมายพิเศษมาคุ้มครองสถานะผู้นำแห่งรัฐจึงเป็นเรื่องที่ไม่เป็น ประชาธิปไตย ส่วนเรื่องอัตราการลงโทษก็เช่นกัน การถูกลงโทษถึงขั้นติดคุกหลายปีเพียงเพราะเรื่องการใช้คำพูดเป็นสิ่งที่เกิน กว่าเหตุ และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างยิ่ง

เรื่องกระบวนการพิจารณาก็มีปัญหาเช่นกัน เพราะการกล่าวหาในคดีนี้ไม่สามารถจะเปิดเผยให้ชัดเจนได้ มิฉะนั้นผู้ที่นำมาเปิดเผยจะถูกพิจารณาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปด้วย เกิดปรากฏการณ์เหลือเชื่อ ดังเช่นคดีของนายอำพล ตั้งนพคุณ ศาลตัดสินความว่าการส่งเอสเอ็มเอสเช่นนั้นเป็นความผิด เพราะเป็นข้อความที่ “กระทบต่อความรู้สึกของประชาชนและความมั่นคงของประเทศอย่างร้ายแรง” ทั้งที่ประชาชนทั่วไปไม่รู้เลยว่าข้อความที่ถูกกล่าวอ้างนั้นเป็นข้อความว่า อะไร หมิ่นพระบรมเดชานุภาพจริงหรือไม่

แต่ปัญหาสำคัญยังมาจากกระบวนการทางสังคม เพราะส่วนมากผู้ถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมักจะถูกตัดสินล่วงหน้า แล้วว่าเป็นผู้มีทรรศนะในเชิงปฏิปักษ์ต่อสถาบันตั้งแต่ก่อนที่ศาลจะตัดสิน ทั้งที่เสรีภาพทางความคิดและการนับถือบุคคลใดจะต้องถือว่าเป็นสิทธิส่วน บุคคลที่ต้องได้รับความเคารพ แต่ในสังคมไทยหาได้เป็นเช่นนั้นไม่

ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์นั้นมุ่งที่จะปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุ ภาพให้เป็นธรรมมากขึ้น แต่ความจริงแล้วการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในระยะ 5 ปีที่ผ่านมามีแต่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ตกเป็นเหยิ่อของกฎหมายนี้ โดยไม่เห็นว่าการใช้กฎหมายนี้จะมีประโยชน์แต่อย่างใด แม้กระทั่งในแนวทางที่จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ยั่งยืนสืบไป การนำกฎหมายข้อนี้มาเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำ การลงโทษประชาชนให้รุนแรงอาจจะได้แต่ความหวาดเกรง คงจะไม่สามารถทำให้เกิดความเห็นพ้องกับชนชั้นนำโดยสุจริตใจ

การยกเลิกกฎหมายข้อนี้ไปเสียเลยน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า จะทำให้ผู้บริสุทธิ์ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อต่อไป และเป็นการปิดทางสำหรับการเมืองแบบใส่ร้ายป้ายสี นอกจากนี้สังคมไทยจะได้เคลื่อนไปในทางที่เป็นประชาธิปไตยและเคารพสิทธิมนุษย ชนมากยิ่งขึ้น ส่วนอุดมการณ์แบบเก่าที่รองรับอยู่เบื้องหลังกฎหมายฉบับนี้คงจะต้องรณรงค์ใน ระยะยาวต่อไป

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 305 วันที่ 2 – 8 เมษายน พ.ศ. 2554 หน้า 9 คอลัมน์ ถนนประชาธิปไตย โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ


ไม่อาว..ไม่พูด “112”

“การมีบทบัญญัติคุ้มครองเกียรติของบุคคลใน ตำแหน่งประมุขของรัฐไว้เป็นพิเศษยิ่งกว่าบุคคลธรรมดาก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด ปรกติแต่อย่างใด บทบัญญัติที่คุ้มครองประมุขของรัฐไว้เป็นพิเศษนี้มีปรากฏเช่นกันแม้ในประเทศ ที่มีรูปของรัฐเป็นสาธารณรัฐ ซึ่งประมุขของรัฐเป็นประธานาธิบดี อย่างไรก็ตาม การบัญญัติคุ้มครองพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้เท่ากับประมุขของรัฐ ทั้งๆที่บุคคลในตำแหน่งดังกล่าวไม่ใช่ประมุขของรัฐ และได้รับความคุ้มครองตามหลักทั่วไปอยู่แล้ว ย่อมหาเหตุผลรองรับได้ยาก”

แถลงการณ์นิติราษฎร์ ฉบับที่ 16 ในเว็บไซต์ “นิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร” โดยนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้เหตุผลถึง “ปัญหาของกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” ซึ่งกลุ่มนิติราษฎร์จะมีการจัดอภิปรายเรื่อง “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ในวันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม เวลา 13.00-15.00 น. ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากมีเหตุจำเป็นต้องเลื่อนและเปลี่ยนวิทยากรที่จะมาเสวนาเป็นนักวิชาการ ของกลุ่มนิติราษฎร์ทั้งหมดคือ นายวรเจตน์ นายธีระ สุธีวรางกูร นายปิยบุตร แสงกนกกุล และนางสาวสาวตรี สุขศรี

การจัดเสวนาดังกล่าวจะมีแถลงการณ์ของกลุ่มนิติราษฎร์ที่เป็นข้อเสนอแก้ไข เพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น รณรงค์เพื่อให้ประชาชนมีความตื่นรู้ในกฎหมายหมิ่นฯด้วย

อัตราโทษสูงเกินไป

นายวรเจตน์กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องพูดถึงมาตรา 112 ว่าเพราะในห้วงเวลาที่ผ่านมาดูเหมือนว่าความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เริ่มได้รับความสนใจจากสาธารณชนในวงกว้าง ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงเพราะสถิติการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความ ผิดฐานนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และในหลายกรณีผู้ที่ถูกกล่าวหาเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาเท่านั้น แต่เพราะความลึกลับของการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในลักษณะเช่นนี้ ประกอบกับความพยายามของหน่วยงานของรัฐที่เริ่มให้ความหมายใหม่ของความผิดฐาน นี้ว่าเป็นความผิดฐานล้มเจ้าด้วย จึงทำให้สาธารณชนที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ออกมาเคลื่อนไหวรณรงค์ให้ยกเลิก หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เริ่มอึกทึกกึกก้องดำเนินคู่ขนานไปกับความเงียบงันของ แวดวงวิชาการนิติศาสตร์ เหมือนกับเรื่องครึกโครมอื้อฉาวอีกหลายเรื่องของกระบวนการยุติธรรมในห้วง เวลาที่ผ่านมา

โดยเฉพาะปัญหาอัตราโทษของมาตรา 112 ที่ปัจจุบันกำหนดโทษจำคุก 3-15 ปี ซึ่งเป็นโทษที่ได้รับการกำหนดขึ้นโดยขาดความชอบธรรมในทางประชาธิปไตย เพราะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาโดยคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครอง แผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 23 ตุลาคม 2519 (หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา) เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามพระราชกำหนด ลักษณะหมิ่นประมาทด้วย การพูดหรือเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ ร.ศ. 118 มาตรา 4 อันเป็นกฎหมายที่บัญญัติในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว พบว่าโทษหมิ่นประมาทพระผู้เป็นเจ้าซึ่งดำรงสยาม รัฐมณฑลนั้นมีโทษจำคุกไม่เกินกว่า 3 ปี หรือให้ปรับเป็นเงินไม่เกินกว่า 1,500 บาท หรือทั้งจำและปรับ

แม้แต่ในประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2500 โทษตามมาตรา 112 คือโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และไม่มีการกำหนดโทษขั้นต่ำไว้ จึงกล่าวได้ว่าอัตราโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายปัจจุบันขาดความสอดคล้องกับหลัก ความพอสมควรแก่เหตุอย่างสิ้นเชิง

ตำนานปรีดี พนมยงค์

“นักปรัชญาชายขอบ” เขียนบทความ “ม.112 ขัดต่อหลักความยุติธรรมอย่างไร?” ในเว็บไซต์ประชาไท ตั้งประเด็นว่า “มองจากหลักความยุติธรรมตามระบอบประชาธิปไตยหรือหลักการ “พระมหากษัตริย์ทรงทศพิธราชธรรม” มาตรา 112 และรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 ย่อมสมควรถูกยกเลิกหรือแก้ไขปรับปรุงให้ไปกันได้กับหลักเสรีภาพและความเสมอ ภาค” แม้เรื่องสถาบันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในสังคมไทย แต่ต้องยอมรับว่าวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา มาตรา 112 ได้ถูกนำไปเป็นข้ออ้างหรือเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง โดยไม่คำนึงว่าจะกระทบ กระเทือนต่อสถาบันและสิทธิเสรีภาพที่ขัดกับหลักประชาธิปไตยอย่างไร

บทความได้ยกข้อเขียนชื่อ “พลิกตำนาน-เบื้องลึก รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์” โดยอ้างถึงคำพูดของ “ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล” ทายาทลำดับที่ 5 จากทั้งหมด 6 คนของ “ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์” ที่ระบุว่า

“ดุษฎี” เริ่มน้ำตาคลอเมื่อต้องพูดถึงความรู้สึกของผู้เป็นพ่อหลังเกิดกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ว่า

“ทุกคนชอบถาม แต่คุณพ่อไม่เคยบอกอะไรกับลูก หรือแม้แต่คุณแม่ คุณพ่อเคยพูดกับนักเรียนไทยในอังกฤษบอกว่า ประวัติศาสตร์เมื่อถึงเวลาแล้วประวัติศาสตร์จะบอกเองว่าได้เกิดอะไร นี่คุณพ่อพูดแค่นี้ คุณพ่อมีความดีอยู่อย่างคือไม่เคยใส่ร้ายใคร คุณพ่อเป็นนักวิทยาศาสตร์สังคม และเป็นคนไม่พูดเรื่อยเปื่อยโดยไม่มีหลักฐาน ยืนยันไม่ใส่ร้ายใคร”

ยิ่งหากให้สรุปถึงเหตุการณ์ที่ “รัฐบุรุษอาวุโส” เคยเสียใจที่สุดนั้น “ดุษฎี” พูดด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า

“คุณพ่อไม่ได้พูด…แต่พวกเราพูด แต่ละไว้ จุด จุด จุด บอกแล้วว่าไม่พูดย้อนหลัง พูดแต่ข้างหน้า”

สิทธิความเป็นมนุษย์!

บทความดังกล่าวยังถามต่อ “ความเป็นมนุษย์” ในแง่ที่ว่าทุกคนควรมีเสรีภาพในการพูดความจริงเพื่อปลดเปลื้องตนเองจากการ เข้าใจผิดของสังคม หรือจากการถูกลงโทษทางสังคม ฯลฯ ที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่?

เพราะหากมองในมิติทางสังคมและการเมืองในสังคมเสรีประชาธิปไตยแล้ว สังคมที่ยอมรับกฎหมายที่ขัดต่อหลักความยุติธรรมย่อมเป็นสังคมที่ยอมรับระบบ อยุติธรรมต่อความเป็นมนุษย์นั่นเอง เพราะสังคมเสรีประชาธิปไตย กฎหมายต้องบัญญัติบนหลักความยุติธรรมพื้นฐาน 2 ประการคือ หลักเสรีภาพและหลักความเสมอภาค ไม่ว่าจะเป็นระหว่างชนชั้นปกครองกับประชาชน หรือประชาชนกับประชาชน

“นักปรัชญาชายขอบ” จึงเห็นด้วยที่คนเสื้อแดงจะรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 รวมทั้งต้องการให้พรรคการเมืองที่คนเสื้อแดงสนับสนุนมีวาระที่ชัดเจนในการ รณรงค์เรื่องนี้ด้วย

กรณีกษัตริย์สเปน

การเคลื่อนไหวให้ยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ยิ่งมีมากขึ้น หลังจากเมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมาศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้วินิจฉัยคดี Otegi Mondragon v. Spain ซึ่งศาลยืนยันว่าการที่ศาลภายในแห่งรัฐสเปนพิพากษาลงโทษบุคคลในความผิดฐาน หมิ่น ประมาทกษัตริย์ฆวน คาร์ลอส แห่งสเปนนั้นเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามที่อนุสัญญาสิทธิ มนุษยชนยุโรปรับรองไว้ในมาตรา 10 ของอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรปวรรคแรกที่บัญญัติว่า

“บุคคลมีสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก สิทธินี้ประกอบด้วย เสรีภาพในความคิดเห็น เสรีภาพในการรับหรือสื่อสารข้อมูลข่าวสาร หรือความคิดโดยปราศจากการแทรกแซงของเจ้าหน้าที่รัฐ…” และวรรคสองบัญญัติว่า “การใช้เสรีภาพดังกล่าวซึ่งต้องประกอบด้วยหน้าที่และความรับผิดอาจอยู่ภาย ใต้รูปแบบ เงื่อน ไข ข้อจำกัด หรือการลงโทษตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งต้องเป็นมาตรการจำเป็นในสังคมประชาธิปไตย เพื่อความมั่นคงแห่งชาติ การบูรณาการดินแดน ความปลอดภัยสาธารณะ การรักษาระเบียบ การป้องกันอาชญากรรม การคุ้มครองสุขภาพและศีลธรรม การคุ้มครองชื่อเสียงหรือสิทธิของบุคคลอื่น เพื่อมิให้มีการเปิดเผยข้อมูลลับ หรือเพื่อประกันอำนาจหน้าที่และความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ”

โดยคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2547 เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสเปนขอหมายศาลเพื่อบุกเข้าไปสำนักงานของหนังสือพิมพ์ Euskaldunon Egunkaria เพื่อตรวจค้นและสั่งปิดหนังสือพิมพ์ เนื่องจากมีหลักฐานว่าหนังสือพิมพ์นี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับกลุ่มแบ่ง แยกดินแดนบาสก์ (ETA) นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังจับกุมกรรมการบริหารและบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ อีก 10 คน หลังการคุมขังโดยลับผ่านไป 5 วัน มีการร้องเรียนจากผู้เกี่ยวข้องกับผู้ถูกคุมขังว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อผู้ ถูกคุมขังทั้ง 10 อย่างทารุณ

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ กษัตริย์สเปนได้รับการเชื้อเชิญและต้อนรับจากหัวหน้ารัฐบาลของประชาคมปกครอง ตนเองบาสก์ในพิธีเปิดโรงไฟฟ้า ณ เมือง Biscaye ในวันเดียวกันนั้น นาย Arnaldo Otegi Mondragon โฆษกของกลุ่มชาตินิยมบาสก์ Sozialista Abertzaleak ในสภาผู้แทนราษฎร ได้แถลงข่าวว่าการเสด็จของกษัตริย์ฆวน คาร์ลอส นั้นน่าเวทนาและน่าสลดใจ เขาเห็นว่าการที่หัวหน้ารัฐบาลของแคว้น บาสก์ไปร่วมงานเปิดโรงไฟฟ้ากับกษัตริย์สเปนนั้นเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างยิ่ง นับเป็น “นโยบายอันน่าละอายอย่างแท้จริง” และ “ภาพๆเดียวแทนคำพูดนับพัน”

นาย Otegi Mondragon ยังกล่าวถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่บุกเข้าไปปิดสำนักพิมพ์ของหนังสือพิมพ์ Eu-skaldunon Egunkaria และจับกุมผู้ต้องหา 10 รายว่า “ผู้รับผิดชอบการทรมานผู้ต้องหา คือกษัตริย์นี่แหละ ที่ปกป้องการทรมาน และระบอบราชาธิปไตยของกษัตริย์ ได้บังคับประชาชนด้วยวิธีการทรมานและรุนแรง”

นาย Otegi Mondragon จึงถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ต่อมาศาลฎีกาพิพากษาว่านาย Otegi Mondragon มีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 490 วรรคสาม ต้องรับโทษจำคุก 1 ปี นาย Otegi Mondragon จึงใช้ช่องทางร้องทุกข์ต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไปแต่ไม่สำเร็จ เขายังไม่ยอมแพ้และเดินหน้าร้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป จนมีคำตัดสินดังกล่าวว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตามอนุสัญญาสิทธิมนุษยชน

อนาคตกษัตริย์ในยุโรป?

นายปิยบุตร แสงกนกกุล ให้ความเห็นถึงคำวินิจฉัยที่ว่ากฎหมายที่กำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาท กษัตริย์ขัดกับเสรีภาพในการแสดงออก แต่รัฐธรรมนูญสเปนกำหนดให้กษัตริย์ไม่ต้องรับผิด และไม่อาจถูกละเมิด ไม่อาจกีดขวางการวิจารณ์กษัตริย์ เช่นนี้แล้วในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น สเปนจะมีการผลักดันให้แก้ไขหรือยกเลิกความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์หรือไม่ ประเทศอื่นๆในยุโรปที่เป็นประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขจะดำเนินการ แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์หรือไม่

เพราะคดีนาย Otegi Mondragon มีความสำคัญต่อระบบกฎหมายและระบอบการเมืองการปกครองของประเทศในยุโรป โดยเฉพาะประเทศที่ประมุขของรัฐเป็นกษัตริย์ ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญ หมุดหมายของประวัติศาสตร์ เนื่องจากศาลสิทธิมนุษยชนยอมรับว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ไม่ได้แตก ต่างไปกว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป

ที่สำคัญคำวินิจฉัยอาจส่งผลสะเทือนถึงระบบรัฐธรรมนูญของประเทศ ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขในยุโรปว่าในอนาคตบทบัญญัติเกี่ยวกับการ คุ้มครองเป็นพิเศษแก่กษัตริย์จะเอาอย่างไรต่อไป คงเดิม ลดความเข้มข้น หรือยกเลิก?

อิงแอบสถาบัน?

โดยเฉพาะวิกฤตการเมืองไทยตั้งแต่ปลายปี 2548 จนถึงปัจจุบันพบว่ามีการดึงเอาสถาบันไปเกี่ยวโยงอย่างชัดเจน อย่างเอกสารของ “วิกิลีกส์” ที่เปิดเผยโทรเลขของนายอีริค จี. จอห์น เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ที่ส่งรายงานไปยังกรุงวอชิงตัน ฉบับลงวันที่ 20 กันยายน 2549, 1 ตุลาคม 2551, 6 พฤศจิกายน 2551, 25 มกราคม 2553 และมีการเสนอผ่านหนังสือพิมพ์ “เดอะการ์เดี้ยน” ของอังกฤษเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2553 ซึ่งระบุชื่อบุคคลสำคัญคือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา องคมนตรี และนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ทำให้การเมืองไทยสั่นสะเทือนอย่างมาก เพราะมีเนื้อหาที่สำคัญและน่าสนใจอย่างยิ่งเกี่ยวกับการเมืองไทยทั้งก่อนและ หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 รวมถึงการยึดโยงไปถึงสถาบันเบื้องสูงที่ถูกดึงมาใช้เป็นเครื่องมือและ เงื่อนไขทางการเมืองเพื่อโค่นล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และประชาชนที่มีความคิดเห็นตรงข้ามกับกลุ่มชนชั้นสูง

แม้แต่รายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission : AHCR) ยังได้กล่าวถึงการละมิดสิทธิมนุษยชนในไทยในช่วงการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วม ประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ว่าศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่มีอำนาจเยี่ยง “รัฐทหาร” ได้ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินกล่าวหาและจับกุมแกนนำ นปช. และคนเสื้อแดงในข้อหาก่อการร้ายและล้มเจ้า โดยอ้างแผนผังที่ทำขึ้นมา และเหยื่อหนึ่งในนั้นคือ “ดา ตอร์ปิโด” หรือ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ที่ถูกตัดสินจำคุก 18 ปี

ขณะที่ผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯก็มีอีกหลายคน แม้แต่ชาวต่างชาติ รวมทั้งล่าสุดคือกรณีนายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล ผู้ออกแบบเว็บไซต์ นปช.ยูเอสเอ ที่ถูกตัดสินให้จำคุก 13 ปี (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ถนนประชาธิปไตย หน้า 9)

รณรงค์ไม่เอา 112

เช่นเดียวกับเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับนายสุรชัย แซ่ด่าน หรือนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ แกนนำกลุ่มแดงสยาม ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งนายสุรชัยประกาศว่าจะรณรงค์ให้ยกเลิกมาตรา 112 เพื่อเปลี่ยนแปลงสถาบันเบื้องสูงให้พ้นวังวนการเมือง

คำพูดของนายสุรชัยจึงเหมือนการปลุกกระแสให้กลุ่มที่เคลื่อนไหวยกเลิก มาตรา 112 กลับมาแพร่หลายอีกครั้ง ซึ่งไม่ใช่แค่กลุ่ม “ไม่เอา 112” ที่แพร่กระจายในสื่อออนไลน์เท่านั้น แต่ยังทำให้วงการนักวิชาการตื่นตัวและรณรงค์เคลื่อนไหวอย่างมากเช่นกัน

เนื่องจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีการใช้สถาบันเบื้องสูงเป็นเครื่องมือทำลายล้างฝ่ายปฏิปักษ์ทางการเมืองมา ตลอด ตั้งแต่รัฐประหารพฤศจิกายน 2490 ที่นายปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ใส่ความ พ.อ. ณรงค์ กิตติขจร บุตรชายจอมพลถนอม กิตติขจร มักใหญ่ใฝ่สูงจะเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศไทย เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ใส่ความนักศึกษาเล่นละครดูหมิ่นองค์รัชทายาท หรือรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็อ้าง พ.ต.ท.ทักษิณจาบจ้วงและคิดล้มล้างสถาบัน (หาอ่านได้จากหนังสือ “ขบวนการลิ้มเจ้า” โดยทีมข่าวโลกวันนี้ ที่เคยเปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองที่มีความพยายาม อิงแอบ แนบชิด และบิดเบือน) และเอาสถาบันเบื้องสูงมาใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามโดยใช้วาทกรรมบิดเบือนต่างๆ

ไม่เอา…ไม่พูด!

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงไม่เคยแยกออกจากการเมืองไทยเลย แล้วยังทำให้ประชาชนที่มีความคิดเห็นต่างในเรื่องสิทธิเสรีภาพและความ ยุติธรรมต้องปิดปากเหมือนคนเป็นใบ้ เพราะการครอบงำทางวัฒนธรรมอุดมการณ์ที่ทำให้ทุกคนห้ามวิพากษ์วิจารณ์ แม้จะถูกนำมาเป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของคนบางกลุ่มก็ตาม

โดยเฉพาะบุคคลทั้งปวงที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งนายวรเจตน์ระบุว่าจะต้องตีความให้สอด คล้องกับอุดมการณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ใช้และตีความเพื่อรับใช้อุดมการณ์ของการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิ ราชย์ซึ่งพ้นสมัยไปแล้ว

การรณรงค์ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงต้องยกเลิกตัวบทในปัจจุบันเพื่อสร้างตัวบทใหม่ที่สอดคล้องกับหลักการใน ทางรัฐธรรมนูญและในทางกฎหมายอาญา ทั้งต้องยกเลิกอุดมการณ์ในการตีความตัวบทมาตรา 112 ที่ผ่านมาด้วย ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอภิปรายถึงสถานะของพระมหากษัตริย์ในทางรัฐ ธรรมนูญ วิเคราะห์แยกแยะส่วนที่สอดคล้องและส่วนที่ขัดแย้งกับการปกครองระบอบ ประชาธิปไตย บังคับใช้ส่วนที่สอดคล้อง แก้ไขส่วนที่ขัดแย้ง และกำหนดกฎเกณฑ์ให้สอดรับกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

การเปิดโลกทัศน์ให้มองเห็นความเป็นจริงในสังคม จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องมีการ “พูด” และ “สื่อสาร” ออกไปให้เห็น “ความจริง”

การ “ไม่พูด” หรือ “พูดไม่ได้” นอกจากจะเป็นอุปสรรคแล้ว อาจก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยจนสร้างความเข้าใจผิดมาแทน หรือเกิดความเชื่อใหม่ๆจากข้อมูลที่ผ่านวิธี“กระซิบ” อย่างคลุมเครือ

นิสัยคนไทยขนานแท้…ถ้าเริ่มต้นด้วยประโยค “เรื่องนี้พูดไม่ได้…ห้ามพูด…อย่าไปบอกใคร?” นั่นหมายความว่าเรื่องนั้นจะกลายเป็นหัวข้อฮิตในสังคมนินทา ที่กระจายไปอย่างรวดเร็วกว่าเชื้อโรคหรือกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ระเบิดเสียอีก

การพูดเรื่อง “112” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงวิชาการ จึงเป็นเรื่องที่สร้างคุณูปการต่อการดำรงอยู่ของทุกสถาบัน

“ชาติ” ประกอบด้วยสรรพสิ่ง หากขาดซึ่ง “ประชาชน” ย่อมมิอาจดำรงเป็นชาติได้ การเปิดปากเปิดใจของประชาชนในชาติจึงเป็นสิ่งที่ควรเปิดหูเปิดตารับรู้ และควรสนับสนุนมากกว่าปิดกั้น

“ตาสว่าง” ไม่จำเป็นต้อง “ปากสว่าง”

แต่จำเป็นต้อง “ใจสว่าง”…เพื่อเปิดทางรับแสงสว่างแห่งประชาธิปไตยที่สาดฉายไปในทุกแผ่นดิน!!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 304 วันที่ 26 มีนาคม – 1 เมษายน พ.ศ. 2554 หน้า 16 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน


ว่าด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

วันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมานี้ นายวรวุฒิ วิชัยดิษฐ์ รักษาการโฆษกกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้นำคณะจำนวนหนึ่งไปยื่นหนังสือขอให้ดำเนินคดี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา องคมนตรี และนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ข้อหาหมิ่นเหม่ต่อสถาบันเบื้องสูงและดูหมิ่นองค์รัชทายาท โดยอ้างอิงถึงข้อมูลจากเว็บไซต์ “วิกิลีกส์” ที่ได้เผยแพร่เนื้อหาโทรเลขของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐที่ส่งไปยังกระทรวง ต่างประเทศของประเทศสหรัฐ ซึ่งเป็นบทสนทนาระหว่างบุคคลทั้งสามกับนายอีริค จี. จอห์น อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐ โดยมีความจงใจพาดพิงต่อองค์รัชยาท ซึ่งเข้าข่ายความผิดร้ายแรง

หลังจากนั้นได้มีแถลงการณ์ของสมัชชาสังคมก้าวหน้าแสดงการคัดค้าน โดยเสนอให้ นปช. ทบทวนและยุติการใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในการกล่าวร้ายคนอื่น โดยเสนอว่าแม้ในระยะเวลาที่ผ่านมาขบวนการ นปช. ต้องตกเป็นฝ่ายถูกกระทำ โดยถูกกล่าวร้ายในเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและล้มเจ้า แต่ไม่มีความจำเป็นใดที่ฝ่าย นปช. จะใช้ข้อหาเดียวกันมาเล่นงานฝ่ายตรงข้าม ในเมื่อข้อหาเช่นนี้เป็นเครื่องมือที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และฝ่ายสมัชชาสังคมก้าวหน้าเสนอว่า นปช. ไม่ควรเคลื่อนไหวด้วยการใช้วิธีการอะไรก็ได้ เพียงแต่ขอให้ได้รับชัยชนะเป็นพอ โดยไม่คำนึงถึงหลักการประชาธิปไตย

โดยความเป็นมาข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีสาระสำคัญว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

แต่ปัญหาสำคัญอยู่ที่การใช้ข้อหาตามนัยมาตรานี้เป็นเครื่องมือในการทำลาย ศัตรูทางการเมือง ซึ่งก่อให้เกิดการใส่ร้ายป้ายสีและสร้างความเสียหายอย่างมากแก่การเมืองใน แบบประชาธิปไตย ดังจะเห็นได้จากในประวัติศาสตร์เมื่อเกิดการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 คณะรัฐประหารร่วมมือกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมใส่ร้ายนายปรีดี พนมยงค์ ว่าอยู่เบี้องหลังกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 และนำเรื่องนี้ไปสร้างความชอบธรรมให้แก่คณะรัฐประหาร สร้างภาพจนนายปรีดีกลายเป็นปิศาจร้าย ทั้งที่นายปรีดีเคยสร้างคุณประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองมากมาย ผลของการใส่ร้ายป้ายสีทำให้มีมหาดเล็กผู้บริสุทธิ์ 3 คนถูกศาลตัดสินประหารชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2498 ซึ่งกลายเป็นจุดด่างในประวัติศาสตร์ของขบวนการตุลาการไทย และเรื่องนี้ยังทำให้นายปรีดีต้องลี้ภัยในต่างประเทศ ไม่ได้กลับประเทศไทยเลย

ต่อมากรณี 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 กลุ่มอนุรักษ์นิยมก็ก่อเรื่องใส่ร้ายป้ายสีขบวนการนักศึกษาว่าหมิ่นพระบรมเด ชานุภาพองค์รัชทายาท แต่ก่อนจะมีการนำตัวนักศึกษาที่ถูกกล่าวหามาดำเนินคดีตามมาตรา 112 กลับนำประเด็นนี้มาเป็นเครื่องมือสร้างกระแสปราบปรามนักศึกษา ประชาชน จนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก จากนั้นได้สนับสนุนให้คณะทหารก่อการยึดอำนาจ สถาปนาระบอบเผด็จการ โดยให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร มาเป็นนายกรัฐมนตรี เพียงแต่ระบอบเผด็จการนั้นอยู่ได้เพียงปีเดียวก็ถูกคณะทหารโค่นแล้วนำมาสู่ การฟื้นฟูประชาธิปไตย

ในกรณี 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 คณะทหาร รสช. นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ได้อ้างเหตุเรื่องกรณีปลงพระชนม์เบื้องสูงมาใส่ร้ายรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งกลายเป็นเรื่องไร้สาระที่สุด เพราะกรณีนี้สืบเนื่องมาจาก พล.ต.มนูญ รูปขจร ถูกกล่าวหากรณีลอบปลงพระชนม์ โดยมีเป้าหมายที่บุคคลเบื้องสูง ทั้งที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อน พล.อ.ชาติชายจะรับตำแหน่งรัฐมนตรี และไม่มีหลักฐานใดเลยว่า พล.อ.ชาติชายจะไปเกี่ยวข้องด้วย อย่างไรก็ตาม คณะทหารใช้โอกาสอันคลุมเครือก่อการรัฐประหารล้มล้างระบอบประชาธิปไตยแล้วนำ คณะทหารมาสู่อำนาจ แต่ในที่สุดก็เหตุการณ์พฤษภาประชาธรรมใน พ.ศ. 2535 แม้ว่าพลังอำนาจของฝ่ายประชาชนจะโค่นเผด็จการของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ได้แต่ก็แลกด้วยการบาดเจ็บล้มตายของประชาชนจำนวนมากเช่นกัน

ดังนั้น จะเห็นได้ว่ามีการใช้ข้ออ้างเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์มาเป็นเครื่องมือทางการ เมืองเพื่อทำลายระบอบประชาธิปไตยครั้งแล้วครั้งเล่า และในกรณีบุคคลก็มี เช่น นายวีระ มุสิกพงศ์ ได้กล่าวในการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2529 ก็ถูกฝ่ายทหารอนุรักษ์นิยมไปฟ้องศาลว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และทำให้นายวีระต้องถูกตัดสินลงโทษ

พรรคประชาธิปัตย์เองก็เคยตกเป็นเหยื่อในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กรรมการพรรค นำพระราชดำรัสมาพิมพ์เป็นข้อความหาเสียงเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2548 ปรากฏว่าคุณหญิงกัลยาและคณะ 5 คนถูกฟ้องดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งแทบจะเป็นเรื่องเหลือเชื่อ

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ได้มีการใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้เป็นประโยชน์ในการใส่ร้ายป้ายสีทางการเมืองแล้ว ยังก่อให้เกิดการรัฐประหารทำลายประชาธิปไตยหลายครั้ง จนกระทั่งครั้งล่าสุดคือ รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ก็มีการใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อเล่น งานฝ่ายประชาชนเสื้อแดง หรือกลุ่มที่ต่อต้านการทำรัฐประหารหลายสิบคดี ที่ทราบกันดี เช่น คดี “ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล” หรือ “ดา ตอร์ปิโด” กล่าวที่สนามหลวงในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 โจมตีนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ชอบอ้างอิงพระบรมเดชานุภาพมาเป็นเครื่องมือในการใส่ร้ายป้ายสีทางการเมือง ซึ่งนายสนธิได้นำข้อความนั้นมาเผยแพร่ต่อทางสื่อมวลชนให้แพร่หลายไปทั่ว ประเทศ ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก “ดา ตอร์ปิโด” ถึง 18 ปี และขณะนี้คดียังอยู่ในขั้นศาลอุทธรณ์

บางคดีก็เป็นเรื่องของการตีความอันเหลือเชื่อ เช่น คดี “ปภัสชนัญญ์ ฉิ่งอินทร์” หรือ “เจ๊แดง” แกนนำกลุ่มคนของแผ่นดินลูกหลานย่าโม ถูกฟ้องสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2552 ได้นำกลุ่มเสื้อแดงโคราชไปประท้วงที่บริเวณลานข้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี โดยมีการเผาโลงศพจำลองระบุข้อความข้างโลงศพที่มีคำว่า “พระองค์ท่าน” รวมทั้งชื่อของ พล.อ.เปรม พันธมิตรฯ และรัฐบาลโจร โดยมีภาพใบหน้า พล.อ.เปรมและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี อยู่ข้างโลงศพจำลอง โดยคำฟ้องข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตีความคำว่า “พระองค์ท่าน” หมายถึงเบื้องสูง ซึ่งศาลชั้นต้นนครราชสีมาตัดสินให้ “ปภัสชนัญญ์” มีความผิดจริงตามการตีความ

นอกจากนี้ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมารัฐบาลอภิสิทธิ์โดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้เผยแพร่แผนผังล้มเจ้ากล่าวร้ายว่ามีเครือข่ายขบวนการล้มเจ้าอย่างเป็น ระบบ ซึ่งมีชื่อทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สมาชิกพรรคเพื่อไทย และ นปช. เพื่อให้การใส่ร้ายป้ายสีกลายเป็นความชอบธรรม

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกลายเป็นเครื่องมือในการหาเหตุควบคุม และลงโทษประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายอำมาตย์และต่อต้านรัฐบาลปัจจุบัน การที่ฝ่าย นปช. ยื่นให้ดำเนินคดี พล.อ.เปรม พล.อ.อ.สิทธิ และนายอานันท์คงจะไม่ประสบผลในทางปฏิบัติ แต่จะเป็นการย้ำถึงลักษณะ “สองมาตรฐาน” ในสังคมไทยอีกครั้งหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประชาชนทั่วไปอย่าง “ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล” หรือ “ปภัสชนัญญ์ ฉิ่งอินทร์” ที่ต้องถูกดำเนินคดี แต่บุคคลทั้ง 3 ท่านจะถูกดำเนินคดีหรือไม่?

ดังนั้น ในกรณีนี้ผู้เขียนเห็นด้วยกับฝ่ายสมัชชาสังคมก้าวหน้าว่าถ้าหากข้อหาตาม มาตรา 112 เป็นเครื่องมือของชนชั้นนำที่สร้างความชั่วช้าในสังคม ฝ่ายประชาชนคนเสื้อแดงก็ไม่ควรที่จะใช้เครื่องมืออันเดียวกัน ในทางตรงข้ามคนเสื้อแดงควรจะร่วมรณรงค์ให้เลิกการใช้ข้อหาดังกล่าวและคืนสิทธิมนุษยชนอันสมบูรณ์แก่ประชาชนจะดีกว่า

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 294 วันที่ 14-20  มกราคม พ.ศ. 2554 หน้า 9 คอลัมน์ ถนนประชาธิปไตย โดย สุธาชัย



Put Some Pressure on Thailand

Put Some Pressure on Thailand
Robert Amsterdam

From my latest on Huffington Post:

It has been particularly heartening to see Germany’s decision to halt the sale of of military equipment – in the specific instance, engines that power Ukrainian-made armored personnel carriers – to the Royal Thai Army, citing EU rules which prohibit the sale of arms to “governments that systematically use violence to suppress or deny the rights of their citizens.” Thailand is finally beginning to be treated like the violent authoritarian state and serial human rights abuser that it is, rather than the sunny, smiling illusion once held in much of the West.

Until other major allies such as the United States, Japan, and other European states make it clear to the Thai elites that there are consequences for these open breaches of international law and indiscriminate use of state violence against citizens, they will see no incentive for change. Of course, one assumption is that international isolation is a price that the Thai elites are prepared to pay in order to maintain their grip on power. The potential ramifications of such a strategy are very worrying and the window for the international community to act before more state violence is unleashed may be tiny.

What is becoming clearer is that with Thailand’s internal opposition being rapidly degraded by the ongoing repression, fewer checks and balances remain on the excessive actions of the Thai regime. The international community, and bodies such as Amnesty International (whose tacit acceptance of lese majeste imprisonments is problematic), need to implement a coherent campaign where it is made clear that the Thai regime will be held to account should they continue on their path of violence and oppression.

Faced with a regime that “cling[s] to power through corruption and deceit and the silencing of dissent,” as President Obama put it in his inaugural address, the rest of the world has an obligation not to “extend a hand” until the Thai government decides to unclench its fist.