อภิสิทธิ์ – พรรคประชาธิปัตย์ กับเวทีปราศรัยที่ราชประสงค์

ส่วนที่คุณอภิสิทธิ์บอกว่าร้องไห้ทั้งคืน ในวันที่ 10 เมษายน 2553 นั้น ไม่ทราบว่าร้องไห้ด้วยเหตุผลอะไรแน่ แต่คุณอภิสิทธิ์ควรทราบด้วยว่ามีประชาชนอีกมากมายที่ร้องไห้ไปอีกนานกว่าคุณอภิสิทธิ์

สวัสดีทุกท่านครับ วุ่นเสีย 2-3 วัน ไม่ได้แวะเข้ามาเลย

ได้ติดตามข่าวการปราศรัยของพรรคประชาธิปัตย์ที่ราชประสงค์แล้ว และดูความเห็นของสำนักข่าวต่างประเทศบางแห่งก็พอเห็นแล้วว่า นี่ไม่ใช่จุดพลิกผันของการหาเสียงแน่

ที่ไม่สามารถเป็นจุดพลิกผันได้ เพราะเนื้อหาที่นำเสนอทั้งหมดเป็นเรื่องที่เคยพูดกับประชาชนมาหมดแล้ว รวมทั้งประเด็นกล่าวหาในช่วงหาเสียงครั้งนี้

สิ่งที่เพิ่มเติมคือ การพยายามทำเรื่องนี้ให้สะเทือนใจด้วยการเล่าว่าคุณอภิสิทธิ์ร้องไห้ทั้งคืน ในวันที่ 10 เมษายน 2553 และการร้องไห้บนเวทีของนายสุเทพ

นอกจากนั้นก็มีการเสนอวาทกรรมที่ว่า มาช่วยกันถอนพิษทักษิณ ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะเป็นประเด็นที่จุดขึ้น เพราะคนได้ทำความเข้าใจเชิงเหตุผลกันมามากแล้ว

จุดอ่อนที่สำคัญๆของการปราศรัยครั้งนี้ของพรรคประชาธิปัตย์  อันดับแรกคือ การเลือกสถานที่ที่ผิด เพราะในเชิงสัญลักษณ์เท่ากับต้องการท้าทาย  ตอกย้ำและยั่วยุให้เกิดความขัดแย้ง รวมทั้งทำให้เกิดความเกลียดชังระหว่างคนในชาติ

ส่วนการแก้ต่างให้กับตนเองและพวกที่เพิ่มเติมขึ้นมาเช่น “ที่ราชประสงค์ไม่มีคนตาย” คนมีวิจารณญาณทั้งหลายก็ย่อมรับไม่ได้ ในขณะที่ผู้บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิตย่อมโกรธมากขึ้น

การพูดแบบที่เคยพูดมาแล้วหลายครั้งว่า ประชาชนและทหารถูกคนชุดดำฆ่าตายทั้งนั้น ไม่มีใครเชื่อแน่ เพราะขัดกับข้อเท็จจริงอีกมากมายที่หลายฝ่ายนำเสนอไปแล้ว

ส่วนที่คุณอภิสิทธิ์บอกว่าร้องไห้ทั้งคืน ในวันที่ 10 เมษายน 2553 นั้น ไม่ทราบว่าร้องไห้ด้วยเหตุผลอะไรแน่ แต่คุณอภิสิทธิ์ควรทราบด้วยว่ามีประชาชนอีกมากมายที่ร้องไห้ไปอีกนานกว่าคุณอภิสิทธิ์

และผมจำเป็นต้องย้ำว่า ถ้าวันนั้นรัฐบาลไม่สั่งให้ยึดพื้นที่คืนให้ได้ ไม่สั่งให้นำอาวุธร้ายแรงนานาชนิดรวมทั้งรถหุ้มเกราะเข้าไปในบริเวณที่ ชุมนุม และไม่ดันทุรังที่จะสลายการชุมนุมให้ได้ทั้งๆ ที่มืดแล้ว ก็คงไม่มีใครต้องร้องไห้

ต้นเหตุของความผิดพลาดของคุณอภิสิทธิ์ที่สำคัญ  อยู่ที่การตั้งโจทย์เริ่มต้นรับมือกับการชุมนุมเรียกร้องของประชาชนว่าคน เหล่านี้ถูกจ้างมา ถูกกะเกณฑ์มา เป็นพวกคิดร้ายทำลายชาติ เมื่อมีการเสียชีวิตแล้วก็พยายามสร้างภาพอย่างเป็นระบบว่า ประชาชนเป็นพวกก่อการร้ายและล้มเจ้า

คุณอภิสิทธิ์กับพวกได้ถลำเข้าไปสู่จุดที่ต้องแพ้กันไปข้าง หนึ่ง คือ ถ้าประชาชนไม่เป็นพวกก่อการร้ายและล้มเจ้า คุณอภิสิทธิ์กับพวกก็ต้องเป็นฆาตกร

เรื่องทั้งหมดแก้ยากมาก เพราะคู่กรณีฝ่ายหนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ที่มีหน้าที่ต้องทำให้เกิดความยุติธรรม  ยิ่งคุณอภิสิทธิ์แก้ต่างให้กับตนเองมากเท่าไรก็ยิ่งทำให้การพิสูจน์ความจริง เป็นไปได้ยากเท่านั้น

น่าเสียดายที่คุณอภิสิทธิ์ไม่ฟังคำทักท้วงของใครๆ และยังคงไปปราศรัยที่ราชประสงค์  ด้วยเนื้อหาที่แย่กว่าที่ผ่านๆ มาเสียอีกด้วย จึงยิ่งทำให้การแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติแก้ยากยิ่งขึ้นไปอีก

น่าเสียดายที่การแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติถูกทำให้แก้ ยากยิ่งขึ้นเพียงเพราะความต้องการให้เกิดการพลิกผันในการหาเสียงเลือกตั้ง ของคุณอภิสิทธิ์กับพรรคประชาธิปัตย์

ผมประเมินว่าความพยายามจะพลิกกระแสของพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้จะล้มเหลว ในเวลาสั้นๆ คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร  เข้าใจว่าคุณอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ทำอะไร

และเมื่อเป็นที่ชัดเจนว่าการปราศรัยที่ราชประสงค์ไม่ประสบความสำเร็จดังคาด  มิหนำซ้ำยังอาจเป็นผลลบในหมู่ผู้ที่ทำงานด้านปรองดองและผู้ที่การให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า ถึงเวลานั้นผู้ที่จะรู้สึกเสียดายที่สุดก็คงจะเป็นคุณอภิสิทธิ์นั่นเอง

สำหรับวาทกรรม “แก้พิษทักษิณ” หรือ “ถอนพิษทักษิณ” ผมเชื่อว่าจุดไม่ติดแน่  ปัญหา ของประเทศที่ต้องสูญเสียประชาธิปไตยกันไป สูญเสียระบบยุติธรรมและสูญเสียการมีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ มีเสถียรภาพไป ต้นเหตุสำคัญอันหนึ่งก็มาจากการจัดการกับ “ทักษิณ”  ทำลายทักษิณ ไม่ใช่หรือ?

การจัดการกับทักษิณ ได้ทำให้บ้านเมืองเสียหายไปมาก และฝ่ายที่จ้องทำลายทักษิณก็เสื่อมลงไปมาก ในขณะที่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นที่ชัดเจนกว่าครั้งที่แล้วเสียอีกว่า เป็นการแข่งขันกันระหว่างฝ่ายจัดการกับทักษิณกับฝ่ายทักษิณ ซึ่งก็หมายความว่าต่างฝ่ายต่างก็ไม่มีอะไรปิดบังอำพราง และผลจากโพลทั้งหลายก็กำลังบอกว่าฝ่ายที่จ้องทำลายทักษิณกำลังจะแพ้อย่างหมดรูป การมาชูประเด็นถอนพิษทักษิณจึงไม่มีทางจุดขึ้น

ที่ปลุกให้คนแก้พิษทักษิณหรือถอนพิษทักษิณนั้น จึงมีเรื่องน่าคิดว่า ถ้ามุขนี้แป้กและฝ่ายทักษิณชนะถล่มทลาย พวกที่จ้องทำลายทักษิณจะสรุปกันยังไง

ที่มา : มติชนออนไลน์ 24 มิถุนายน 2554
โดย : จาตุรนต์ ฉายแสง http://จาตุรนต์.ฉายแสง.th/


เปลี่ยนคู่ต่อสู้

สงสัยกันไปทั่วว่า ทุกวันนี้นายกฯ อภิสิทธิ์ และรองนายกฯ เทพเทือก ตอบโต้คดี 91 ศพด้วยการปลุกกระแส “เผาบ้านเผาเมือง” อยู่ทุกวี่ทุกวัน ร่ายยาวในเฟซบุ๊กอีกต่างหาก

แต่กระแสก็ไม่ขึ้น

ความหวังที่จะปลุกให้คนกรุงเทพฯ รำลึกถึงภาพอาคารศูนย์การค้าถูกเผาไหม้ เพื่อหวาดกลัวเสื้อแดงและเพื่อไทย

ทำมาตั้งนานไม่เห็นจะได้ผล

แล้วทำไมจึงคิดว่า การเปิดเวทีปราศรัยที่แยกราชประสงค์แค่วันเดียว จะพลิกกระแสได้!

พูดทุกวัน สัมภาษณ์ทุกวัน เฟซบุ๊กก็เอา กลายเป็นมุขแป๊ก แล้วการปราศรัยไม่กี่ชั่วโมง จะทำอะไรได้

จึงนำมาสู่ข้อสงสัยว่า มีใครคิดอะไรซ่อนเร้นกับพื้นที่ราชประสงค์หรือไม่!?

นักวิเคราะห์การเมือง เขากาปฏิทินเอาไว้ 2 วัน

วันที่ 21 มิ.ย. บรรดา 4 เสือกกต.ที่จู่ๆ ขยันไปดูงานต่างประเทศ จะกลับตามกำหนดหรือไม่

เพราะจากนั้นอีก 4-5 วัน ต้องจัดเลือกตั้งล่วงหน้าแล้ว

วันที่ 23 มิ.ย. การเปิดปราศรัยใหญ่ที่แยกราชประสงค์ จะนำไปสู่สถานการณ์อะไรหรือไม่

ไม่ว่ามองมุมไหน ไม่เห็นว่าการปราศรัยราชประสงค์นั้น จะหวังผลเรื่อง “เนื้อหา” ได้

ในเมื่อเนื้อหานั้น พร่ำพูดอยู่ทุกวันแล้ว แต่ไม่ได้ผล หรือต้องการอะไรอยู่ลึกๆ เห็นจะต้องติดตามกันต่อไป

จึงนับเป็น 2 วัน ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษในช่วงโค้งสุดท้าย

มีนักวิชาการจำนวนมาก แสดงความเห็นต่อยุทธศาสตร์ยุทธวิธีในช่วงสุดท้ายของประชาธิปปัตย์ ที่เล่นแต่เรื่องเผาบ้านเผาเมืองลูกเดียวว่า ไม่ใช่การเมืองที่สร้างสรรค์อย่างชัดแจ้ง

การประกาศตัวจะเข้ามาบริหารบ้านเมือง ต้องชูเน้นนโยบาย มาตรการแก้ไขทุกด้าน แต่นี่ทุ่มเทแตกหักกับสงครามเสื้อแดง

อาจารย์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ นักรัฐศาสตร์รุ่นใหม่บอกว่า นี่เท่ากับเป็นการลดระดับนายกฯอภิสิทธิ์

คือ ลดจากที่สู้กับยิ่งลักษณ์เพื่อชิงตำแหน่งนายกฯ กลับลงมาสู้กับณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แทน

เป็นมุมมองที่ต้องยกนิ้วให้ แต่พูดกันตรงๆ สู้เรื่อง 91 ศพกับณัฐวุฒินั้นก็ลำบาก

นายกฯ อยากไปพูดที่ราชประสงค์ ทั้งที่ตอนเกิดเหตุอยู่ในราบ 11 ขณะที่ณัฐวุฒิเขากินนอนอยู่ตรงนี้จริงๆ!!

แล้วที่นายกฯอ้างอิงการรักษาบ้านเมืองเอาไว้ให้ได้นั้น มีคำตอบที่ดีกว่าจากณัฐวุฒิ

“ไม่มีผู้ปกครองคนใดจะรักษากฎหมายด้วยการทำลายชีวิตประชาชน”

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ 21 มิถุนายน 2554
คอลัมน์ : ชกไม่มีมุม
โดย : วงค์ ตาวัน


ความจริงบนฝาผนัง

“การสืบสวนสอบสวนคดีผู้ชุมนุมเสียชีวิตเมื่อ เดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 เป็นไปอย่างล่าช้า แม้จะมีรายงานหลุดออกมาค่อนข้างแน่ชัดว่าการเสียชีวิตของประชาชนบางส่วนเป็น น้ำมือของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ผู้เกี่ยวข้องไม่ได้ดำเนินการต่อให้เกิดความชัดเจน ทั้งนี้ เรื่องนี้ควรเป็นคดีพิเศษที่พนักงานสอบสวนต้องร่วมกับอัยการดำเนินการให้ แล้วเสร็จภายใน 60 วัน แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทำงานมานานกว่า 6 เดือนแล้ว และยังดำเนินการผิดขั้นตอน เพราะส่งเรื่องกลับไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไม่ได้ส่งเรื่องให้อัยการตามที่กฎหมายระบุ”

ดร.จารุพรรณ กุลดิลก นักวิชาการอิสระ ยืนยันว่า ดีเอสไอทำผิดขั้นตอนกระบวนการสอบสวน และยังเข้าข่ายขัดขวางกระบวนการยุติธรรมอีกด้วย เพราะพฤติกรรมของดีเอสไอและรัฐบาลดูเหมือนมีเจตนาที่จะไม่ให้การสังหารโหด 91 ศพเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คนเสื้อแดงจึงต้องหาช่องทางต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทางคณะกรรมการสิทธิมนุษย ชนของสหประชาชาติ หรือนำเรื่องฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ

ต้นแบบยุติธรรมสองมาตรฐาน

ดร.จารุพรรณระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยถือว่าล้าหลังมาก ถูกตีตราว่าเป็นรัฐทหาร เนื่องจากที่ผ่านมามีการใช้กฎหมายหลายมาตราที่อนุญาตให้ทหารเอาอาวุธสงคราม ออกมาบนถนนในการไล่ล่าสังหารประชาชน เมื่อเทียบกับชาติอื่นๆ หากเราหันกลับไปเป็นรัฐทหารจะยิ่งทำให้ประเทศล้าหลังมากขึ้น ประชาชนจะไม่มีสิทธิมีเสียงและถูกปิดกั้นในทุกเรื่อง กองทัพจะเข้ามามีบทบาทเหนือรัฐบาล ทำให้ต่างชาติขาดความเชื่อมั่นมากขึ้นไปอีก

“ทุกวันนี้ต่างชาติมองว่าเราเป็นประเทศต้นแบบของกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน ซึ่งในวงการวิชาการต่างประเทศนำเรื่องในประเทศไทยไปเป็นกรณีศึกษา ทั้งเรื่องการใช้อำนาจของกองทัพ เรื่องรัฐบาลบริหารผิดพลาดล้มเหลวแต่ยังอยู่ในอำนาจได้ เรื่องการสังหารหมู่ประชาชนโดยไม่ต้องมีคนรับผิดชอบ และเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่ไร้มาตรฐาน เรื่องนี้นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ในยุโรปและอเมริกาต่างนำไปเป็นกรณีศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอับอาย”

ฮิวแมนไรท์วอทช์เตรียมเปิดรายงาน

ด้านนายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหรือฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำประเทศ ไทย กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำรายงานประจำปี 2554 ของฮิวแมนไรท์วอทช์ โดยเฉพาะการตรวจสอบการสลายการชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ว่าขณะนี้รายงานคืบหน้ากว่าร้อยละ 80 โดยสำนักงานใหญ่ที่สหรัฐอยู่ระหว่างการเขียนรายงาน คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ใกล้เคียงกับรายงานชั่วคราวของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ยังมุ่งเน้นการตรวจสอบปัญหาความรุนแรงทางการเมืองไม่ว่า ฝ่ายไหนจะเป็นผู้กระทำ

“เนื้อหาของรายงานเท่าที่เสร็จมีความตรงไปตรงมา โดยจะไล่ไปตามเงื่อนเวลาของแต่ละเหตุการณ์ ตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน การกระทำของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงไม่ว่าจะเป็นทหารหรือตำรวจ รวมถึงการกระทำของคนชุดดำ ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มถูกพูดถึงทั้งสิ้น”

ในรายงานยังพูดถึงการพยายามหาทางอย่างสันติวิธีแต่ล้มเหลว โดยได้วิเคราะห์ว่าความล้มเหลวเกิดจากอะไรกันแน่ รวมทั้งบทบาทและการเสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง รวมทั้งการใช้อำนาจของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ใครเป็นผู้มีอำนาจสั่งการ ซึ่งจะทำให้เห็นความชัดเจนในหลายเรื่อง

ชี้ชัดใครต้องรับผิดชอบอย่างไร

นายสุนัยกล่าวว่า รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ชี้ให้เห็นว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นความรับผิด ชอบของทุกฝ่าย ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเพียงฝ่ายเดียว เพื่อให้ทุกฝ่ายมีสำนึกและตระหนักในสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่ชี้หน้าคนอื่นว่าต้องเป็นผู้รับผิดชอบ โดยต้องมีการดำเนินคดีทั้ง 3 กลุ่ม ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ ผู้กำหนดนโยบาย และฝ่ายคนเสื้อแดงกลุ่มไหน หรือคนชุดดำที่แท้จริงเป็นใคร ต้องเปิดโปงออกมา ทุกกลุ่มต้องถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อให้มีการดำเนินคดีอย่าง เหมาะสมและตรงไปตรงมา ไม่ให้เกิดข้อครหาได้

“ถ้าแต่ละฝ่ายยังไม่รับผิดก็ไม่มีทางเกิดความสมานฉันท์ปรองดองได้ ดังนั้น แต่ละฝ่ายต้องยอมรับก่อนว่าฝ่ายตัวเองมีคนผิดด้วย ประเด็นนี้มีความสำคัญในแง่การจะเปลี่ยนทัศนคติของสังคม เพราะที่ผ่านมาสังคมไทยมีปัญหาอย่างหนึ่งคือความผิดของตัวเองจะไม่รับ จะโทษคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ทัศนคติอย่างนี้ทำให้ความขัดแย้งไม่สิ้นสุด เพราะฝ่ายตัวเองทำอะไรก็ได้ไม่ผิด แต่ฝ่ายตรงข้ามต้องเอาให้ตายไปข้างหนึ่ง เช่น ปล่อยให้ติดคุกยาวนานไปเลย ดังนั้น การแก้ปัญหาความขัดแย้งจะต้องเปลี่ยนทัศนคติตรงนี้ให้ได้”

ดีเอสไอยังหมกเม็ดเดิมๆ

ดังนั้น กรณีที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ จะแถลงข่าวความคืบหน้าการสรุปสำนวนคดี 89 ศพ ซึ่งขยายเวลาการสอบสวนที่ต้องแล้วเสร็จตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2553 โดยอ้างว่าต้องการสอบสวนข้อเท็จจริงให้ละเอียดรอบคอบมากที่สุด แม้ทุกฝ่ายจะใจจดใจจ่อว่าผลการสอบสวนจะออกมาอย่างไร แต่ก็ผิดหวังตั้งแต่ยังไม่แถลง เพราะนายธาริตออกตัวว่าในเบื้องต้นดีเอสไอยังไม่สามารถชี้ชัดว่าอาวุธปืนที่ ใช้เป็นของฝ่ายใด เนื่องจากขณะที่มีเหตุปะทะนั้นทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีอาวุธในลักษณะเดียวกัน จึงยากที่จะระบุว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐหรือคนเสื้อแดง แต่อาวุธที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้นำออกมาใช้ปฏิบัติการแน่นอนคือระเบิดเอ็ม 79 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากระเบิดเอ็ม 79 หลายราย

ขณะที่ พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน พนักงานสอบ สวนคดีก่อการร้าย ดีเอสไอ ได้ตอบข้อซักถามของคณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา โดยเฉพาะการตาย 13 รายนั้น พอเชื่อได้ว่าเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งในจำนวนนั้น 3 ศพอยู่ในวัดปทุมฯ ผู้เสียชีวิตที่เขาดิน 1 ศพ ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละ และช่างภาพชาวญี่ปุ่น นอกจาก 13 ศพซึ่งไม่พบปลอกกระสุน จึงสรุปว่าน่าจะเสียชีวิตจากกระสุนความเร็วสูงเจาะเข้าที่ร่างกาย

“การตายของชาวญี่ปุ่นแม้จะระบุว่าน่าเชื่อว่าเป็นการกระทำจากทหาร แต่ก็ยังไม่ทราบว่าใครเป็นคนยิง ส่วนที่พบปลอกกระสุนหัวเขียวตกอยู่ในวัดปทุมฯ จากการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานบนสกายวอล์ก มีทหาร 5 นายยอมรับว่ายิงเข้ามาในวัดปทุมฯจริง แต่ยังหาไม่ได้ว่า 1 ใน 5 ใครเป็นคนยิง ขณะนี้อยู่ในขั้นการพิสูจน์และสอบสวน”

ส่วนข้อสงสัยว่าทำไมไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 150 วรรค 3 มาแต่ต้น พ.ต.ท.พเยาว์ชี้แจงว่า เพราะมีปัญหาในข้อกฎหมายซึ่งไม่ให้อัยการสั่งฟ้องคดีอาญาหากการชันสูตรพลิกศพไม่เสร็จ จึงต้องย้ายเรื่องส่งไปให้ตำรวจชันสูตรพลิกศพหรือสอบสวนหาหลักฐานเพิ่มเพื่อให้ส่งอัยการจึงจะสามารถสั่งฟ้องได้

มาตรฐานคณะกรรมการสิทธิฯ

ดังนั้น คนเสื้อแดงจึงแทบไม่มีความหวังที่จะได้ความยุติธรรมหรือความจริงเพื่อเอาตัว “ฆาตกร” ไม่ว่าจะเป็น “คนสั่งฆ่า” หรือ “คนฆ่า” มาลงโทษ เพราะแนวโน้มผลการสอบสวนของดีเอสไอหรือตำรวจก็ยังลักปิดลักเปิด การต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมในประเทศก็ดูมืดมน นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธาน นปช. จึงเตรียมยกระดับการต่อสู้ในคดี 91 ศพ โดยจะฟ้องไปยังศาลระหว่างประเทศในวันที่ 31 มกราคมนี้ รวมทั้งจะประสานกับญาติช่างภาพชาวญี่ปุ่นให้มาร่วมฟ้องร้องด้วย

เพราะแม้แต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมการเคารพและการ ปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน ผ่านมากว่า 9 เดือนก็ยังเพิกเฉยกับผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” แต่กรณี 7 คนไทยที่ถูกกัมพูชาจับกุม คณะกรรมการสิทธิฯได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการอย่างรอบคอบและ ปกป้องสิทธิและเสรีภาพของคนไทยทั้ง 7 คนตามหลักสิทธิมนุษยชน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองอย่างเคร่ง ครัด ทั้งจะดำเนินการติดตาม ตรวจสอบข้อเท็จจริงและความคืบหน้าในการดำเนินการของรัฐบาลและหน่วยงานที่ เกี่ยวข้อง พร้อมรายงานให้สาธารณชนทราบเป็นระยะๆ

แต่เหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ที่รัฐบาลสั่งให้ทหารใช้อาวุธสงครามครบมือและปรากฏภาพมือปืนซุ่มยิงประชาชน ที่เรียกร้องประชาธิปไตยจนมีผู้เสียชีวิตถึง 91 ศพ และบาดเจ็บ พิการเกือบ 2,000 คน ยังไม่นับรวมผู้ที่หายสาบสูญนั้น คณะกรรมการสิทธิฯ กลับเงียบเป็นเป่าสาก ซึ่งแสดงถึง “สองมาตรฐาน” และเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน

ดินแดนที่ “เกือบไม่มี” เสรีภาพ

เช่นเดียวกับเมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมาที่องค์กร Freedom House จัดอันดับ “เสรีภาพในโลก” ปรากฏว่าประเทศไทยยังคงถูกจัดอยู่ในประเภทของ “ประเทศที่มีเสรีภาพเพียงบางส่วน” ติดต่อกันเป็นเวลา 4 ปี ส่วนสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพของประชาชนยังอยู่ในลำดับเดิม ซึ่ง Freedom House ระบุว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เสรีภาพของพลเรือนลดลงอย่างต่อเนื่อง ในหลายปีที่ผ่านมา แต่ Freedom House ไม่ได้ประณามรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และการกระทำอย่างรุนแรงของกองทัพ

เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า Freedom House มีความใกล้ชิดเป็นพิเศษกับรัฐบาลสหรัฐ การจัดอันดับเรื่องประชาธิปไตยและเสรีภาพจึงมักถูกมองว่ายังมีอคติ หรือพยายามไม่ประณามประเทศที่เป็นมิตรกับสหรัฐ แม้จะปกครองด้วยระบอบเผด็จการหรือมีผู้นำทรราชในคราบประชาธิปไตยก็ตาม

อย่างที่ Kenneth Bollen นักรัฐศาสตร์ ได้วิจารณ์ Freedom House ว่ามักจะผ่อนปรนกับเผด็จการที่เป็นมิตรกับรัฐบาลสหรัฐ โดยให้ดูการจัดลำดับเสรีภาพในเวเนซุเอลาว่าหากประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ สังหารผู้ชุมนุมกว่า 90 รายบนท้องถนนกรุงคารากัส หรือใช้กฎหมายฉุกเฉินอย่าง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินแบบรัฐบาลไทย ผู้นำเวเนซุเอลาคงถูกสหรัฐถล่มยับเยินแน่นอน เพราะที่ผ่านมาแม้เวเนซุเอลาไม่มีการสังหารโหดอย่าง “เหตุการณ์เมษา-พฤษภา” ไม่มีการไล่ล่าและกดขี่ข่มเหงประชาชน แต่ยังถูกลดความน่าเชื่อถือโดย Freedom House และถูกโจมตีโดยสื่อต่างๆภายใต้อิทธิพลของรัฐบาลสหรัฐอย่างต่อเนื่อง

ทั้งที่ก่อนหน้านี้องค์กรสื่อไร้พรมแดนได้ทำรายงานระบุว่าประเทศไทย ปัจจุบันไม่ต่างกับ “รัฐทหาร” และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนจัดลำดับเรื่อง “สิทธิทางการเมือง” อยู่ในลำดับเดียวกับประเทศบูร์กินาฟาโซ, บุรุนดี, สาธารณรัฐแอฟริกากลาง, แกมเบีย, ยูกันดา, กินี, อิรัก, โคโซโว, คีร์กีซสถาน, เลบานอน ฯลฯ

ส่วนเรื่อง “สิทธิพลเรือน” อยู่ในลำดับเดียวกับประเทศอาร์เมเนีย, บังกลาเทศ, โคลอมเบีย, คอโมโรส, ติมอร์ตะวันออก, ฟิจิ, กัวเตมาลา, กินีบิสเซา, ฮอนดูรัส, โคโซโว, ไลบีเรีย, มาดากัสการ์, มาลาวี, ยูกันดา และแซมเบีย ฯลฯ

ระบอบประชาธิปไตยของไทยจึงเป็นแค่ “ประชาธิปไตยจอมปลอม” ที่น่าอับอายอย่างยิ่งในสายตาประชาคมโลก

ความจริงที่ถูกปิดกั้น

ดังนั้น รัฐบาลอภิสิทธิ์ภายใต้กองทัพและกลุ่มอำมาตย์จึงต้องพยายามปิดกั้นข่าวสารของ คนเสื้อแดงเพื่อจะบอกความจริงกับประชาชนและประชาคมโลก แม้แต่การแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์แค่เดือนละครั้งที่แยกราชประสงค์ก็ยังมี ความพยายามไม่ให้คนเสื้อแดงปิดกั้นใช้พื้นที่ในการชุมนุมเรียกร้องความ ยุติธรรม เพราะทุกครั้งที่มีการชุมนุมก็จะเป็นข่าวไปทั่วโลกว่าประเทศไทยยังหมกเม็ด และแช่แข็งเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต”

แน่นอนว่าคนเสื้อแดงจำนวนมากที่มาชุมนุมย่อมทำให้ผู้ประกอบธุรกิจในย่าน ราชประสงค์เดือดร้อนและน่าเห็นใจจนต้องเรียกร้องขอความเป็นธรรมเช่นกัน แต่ไม่ใช่ออกมาเพราะมีเลศนัยหรือใบสั่งให้ทำ เพราะคนไทยทุกคนก็ต้องยอมรับความจริงว่าหากไม่มีคนตายถึง 91 ศพ และบาดเจ็บ พิการเกือบ 2,000 คน ก็ไม่มีการกลับมาชุมนุมที่แยกราชประสงค์ หากบ้านเมืองมีความยุติธรรมก็ไม่มีการชุมนุมของคนเสื้อแดง

ในทางตรงข้ามผู้ประกอบธุรกิจย่านราชประสงค์ควรหันมาสนับสนุนคนเสื้อแดง เพื่อให้ความจริงปรากฏว่าใครกันแน่ที่เผาบ้านเผาเมือง คนฆ่าคนเผาเป็นคนเดียวกันกับคนที่เข้าไปกระชับพื้นที่จนเป็นที่เรียบร้อย แล้วหรือเปล่า?

เพราะกว่า 9 เดือนที่ผ่านมาการชันสูตรพลิกศพ 91 ศพก็ยังถูกแช่แข็ง ขณะที่ดีเอสไอก็แถลงแต่วลีเดิมๆ ไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นคนฆ่า ทั้งที่ผลการชันสูตรพลิกศพมีรายละเอียดทั้งวิถีกระสุนและลักษณะของกระสุน การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ หลักฐานภาพถ่าย คลิปวิดีโอ และพยานบุคคลมากมาย แต่กลับกล่าวหาว่าคนเสื้อแดงฆ่ากันเอง และยัดเยียดข้อหา “ก่อการร้าย” ให้อีก

เมื่อเทียบเคียงกรณี “กัปตันการบินไทย” ที่ถูกยิงบนทางด่วนเพียงแค่เรื่องของแสงไฟหน้ารถ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความรุนแรงที่น่าตกใจของสังคมไทย แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เวลาเพียงไม่กี่วันก็สามารถรู้คนกระทำผิด เช่นเดียวกับกรณี “สาวซีวิคอายุ 17 ปี นามสกุลดัง” ที่ขับชนรถตู้บนทางด่วนโทลล์เวย์จนมีคนตายถึง 9 ราย หากผู้เสียชีวิตไม่ใช่คนระดับดอกเตอร์ที่เป็นมันสมองของชาติและนักศึกษา สถาบันมีชื่อเสียงก็คงไม่เป็นข่าวใหญ่ให้กระแสสังคมและ Social Net-work กระแสสังคมออนไลน์ กดดันให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งทำคดีอย่างรวดเร็วและยุติธรรม

และเมื่อหันมามองเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ที่มีการใช้กำลังทหารนับหมื่นพร้อมอาวุธสงครามปราบปรามและสังหารคนเสื้อ แดงอย่างเลือดเย็น จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า และยังใช้อำนาจรัฐพยายามปิดกั้นเพื่อไม่ให้เป็นข่าวอีก

ถึงขนาดที่สถานทูตญี่ปุ่นต้องนำรัฐมนตรีของญี่ปุ่นและญาติช่างภาพญี่ปุ่น มาประท้วงและเรียกร้องความยุติธรรมอย่างสุภาพ หรือกรณีน้องสาวช่างภาพอิตาลีที่ถูกยิงตายที่กล้าปฏิเสธคำเชิญของรัฐบาลไทย ไม่สนใจที่จะมาร่วมงานเทศกาลเฉลิมฉลองสำคัญในประเทศไทย โดยผู้มีอำนาจของไทยได้กระทำเพียงเพื่อพยายามสร้างภาพ แต่แท้จริงคือการกลบเกลื่อนและปิดกั้นรายละเอียดการสังหารโหดซึ่งข่าวถูก ประจานไปทั่วโลก แต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์และดีเอสไอที่รับผิดชอบคดีกลับทำเหมือนคนหูหนวกเป็น ใบ้ ไม่มีคำตอบใดๆ

ความจริงบนฝาผนัง

จึงไม่แปลกที่การเคลื่อนไหวเรียกร้องความยุติธรรมของคนเสื้อแดงจะถูกปิด กั้นทุกวิถีทาง รวมทั้งหลักฐานต่างๆจะถูกเก็บกวาดจนเกือบไม่เหลือให้เป็นหลักฐานที่จะระบุ ว่าใครเป็นฆาตกร แต่ที่สุดแล้วเชื่อว่าไม่มีใครหนีความจริงและกฎแห่งกรรมได้

แม้ความจริงจะไม่ปรากฏในสื่อต่างๆในประเทศไทย แต่ก็ปรากฏตามสื่อต่างๆไปทั่วโลกอย่างชัดเจนว่า “ใครเป็นฆาตกร”

ในขณะที่เครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) ที่ถือเป็นแหล่งข้อมูลที่มิอาจปิดกั้นและหยุดยั้งได้ ได้เข้ามาทำหน้าที่แทนสื่อกระแสหลัก (ปักขี้เลน) ของไทยที่มิอาจเสนอความจริงได้ หรือทำได้แบบปิดตาข้างหนึ่ง

ขณะเดียวกันสื่อสาธารณะที่คาดไม่ถึง อย่างเช่นตามฝาผนังห้องน้ำสาธารณะ กำแพงรั้ว เสาไฟฟ้า ตอม่อ ตึกร้าง ก็ปรากฏข้อความที่อ่านแล้วต้องสะอึก!

สิทธิเสรีภาพในการพูด อ่าน เขียน และแสดงออกถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับ แต่ถูกสอดไส้ด้วยกฎหมายสารพัดที่ปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน

วันนี้สื่อไทยจึงทำได้เพียงสะท้อนภาพจิตรกรรมจากฝาผนังโบสถ์ ซึ่งปรากฏภาพ “โดเรมอน” “โนบิตะ” หรือแม้แต่ “หลินปิง” สอดแทรกไว้กับพุทธประวัติให้เป็นที่ครึกโครม

ศิลปินสะท้อนสังคม ซ่อนจินตนาการและความรู้สึกสอดแทรกไว้ตามผนังโบสถ์ได้

คนเสื้อแดงหรือผู้ได้รับการกดขี่ด้วยความยุติธรรม 2 มาตรฐานย่อมมีสิทธิแสดงออกผ่านสื่อสาธารณะที่มิอาจควบคุมได้

“โดเรมอน” เป็นแค่การ์ตูนจากจินตนาการ

“หลินปิง” เป็นเพียงเดรัจฉานน่ารัก

แต่สื่อไทยโดยเฉพาะโทรทัศน์ยังพร้อมนำเสนอให้เป็นที่ครึกโครมมากกว่าข่าวคนเสื้อแดง
หรือสื่อไทยมองเห็นคนเสื้อแดงเป็น “ไพร่” ต่ำต้อยไร้ค่ากว่าตัวการ์ตูนและสัตว์เดรัจฉาน?

เกือบ 100 ศพที่ต้องสังเวยชีวิตบนถนนราชดำเนินและราชประสงค์ รวมถึงเกือบ 2,000 ชีวิตที่พิการ บาดเจ็บจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิต กำลังถูกอำนาจอำมหิตปิดข่าวและบิดเบือนให้เลือนลืม…เหมือนเหตุการณ์มากมาย ในประวัติศาสตร์ที่จางหายไปกับลมหายใจที่หยุดนิ่ง…

นับแต่บัดนี้อย่าได้แปลกใจหาก จิตรกรรมฝาผนังมิได้มีเพียงแต่ในวัดในโบสถ์…อาจปรากฏไปทั่วทั้งแผ่นดิน จะทำเป็นลืมไม่ได้อีกแล้ว!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6  ฉบับ 295 วันที่ 22-28 มกราคม พ.ศ. 2554 หน้า 16-17 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน

 


รายงาน ความจริงหลังลูกกรง: หลังยกเลิกใช้พรก. ยังมีนักโทษพรก.ฉุกเฉินจองจำในคุกอยู่

ตอนที่ถูกตัดสินจำคุก 1 ปี เหตุการณ์มันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก เขาไม่มีเวลาคิดอะไรเลย ไม่มีทนายความ ไม่มีโอกาสคุยกับญาติพี่น้อง แต่ในความโชคร้ายนั้น ก็มีความโชคดีอยู่บ้างที่ เขาบอกว่า เขายังมีชีวิตอยู่ และเขายืนยันว่า หากมีโอกาสเขาจะเข้าร่วมชุมนุมแน่นอน

โดย สมัชชาสังคมก้าวหน้า
18 มกราคม 2554

แม้ว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะประกาศยกเลิกการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯใน กรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ ให้กับประชาชน ในปี 2554 ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯผู้ซึ่งไม่มีวาจาสัตย์ ได้ลั่นวาจาไว้

แต่การยกเลิกการประกาศใช้พรก.ฉุกเฉินเป็นเรื่องเดียว ตลอดระยะเวลาเกือบ 2ปี ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่นายอภิสิทธิ์ ได้กระทำตามที่ตนเองพูดแล้วก็ตาม

แต่เมื่อสำรวจสภาพความเป็นจริงที่ เกิดขึ้นหลังการประกาศยกเลิกการใช้พรก.ฉุกเฉิน กลุ่มสมัชชาสังคมก้าวหน้าและ ศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายการชุมนุมเม.ย.- พ.ค.2553 (ศปช.) พบว่า ในความเป็นจริง ยังคงมีชาวเสื้อแดงที่ติดคุกเพราะการประกาศใช้พรก.ฉุกเฉินของรัฐบาลอยู่อีก จำนวนหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำคลองเปรม แดน 8

ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ได้มีความจริงใจในการยกเลิกการใช้พรก.ฉุกเฉิน อย่างแท้จริง นักโทษเสื้อแดงที่ติดคุกอยู่ข้างใน เขามีความเห็นว่า หากรัฐบาลจริงใจต่อประชาชนแล้ว หลังยกเลิก การประกาศใช้พรก.ฉุกเฉิน รัฐบาลจะต้องปล่อยนักโทษในข้อหาฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉินทันที หรือรัฐบาลจะต้องไม่ดำเนินคดีต่อประชาชน ในข้อหา กระทำการฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉิน

อภิวัฒน์ เกิดนอก เป็นหนึ่ง ในตัวอย่างของ ข้อเท็จจริงข้างต้นนี้ เขาอายุ 29 ปี รูปร่างสันทัด ผิว ดำแดง เป็นชาวอำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น เกิดและเติบโตอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น มีอาชีพ ทำนา และหากมีเวลาว่าง เขาก็จะไปตระเวณแข่ง ชกมวย ตามงานวัดต่างๆเพื่อหาเงิน

เขาเล่าให้คณะของเราฟังว่า เขาติดตามข่าวสารของเสื้อแดงมานาน และ ก่อนหน้าวันที่ 17 พฤษภาคม 2553 เขาไม่เคยมาร่วมชุมนุมกับเสื้อแดงที่กรุงเทพฯเลย

เขาเล่าถึงสาเหตุที่เขามาร่วมชุมนุมว่า ก่อนหน้าวันที่ 17 พฤษภาคม 2553เขาอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ได้ยินข่าวทางโทรทัศน์และวิทยุ ประกาศว่า คนเสื้อแดง เป็นผู้ก่อการร้าย และครอบครองอาวุธ กับพยายามทำลายความสงบของบ้านเมือง ข่าวสารที่ได้รับฟัง จากทีวีและวิทยุ แตกต่างจากชาวเสื้อแดงแถวบ้านที่ไปร่วมชุมนุมแล้วกลับมาเล่าให้เขาฟังที่หมู่บ้าน และเขาก็มีความรู้สึกว่าฝ่ายรัฐบาลใส่ร้ายป้ายสี เสื้อแดงมาก ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องทำให้เขาไม่สามารถอยู่บ้านเฉยๆ ได้

ในเช้าวันที่ 17 พฤษภาคม 2553 เขาจึงเดินทางออกจากหมู่บ้าน มุ่งหน้าไปยัง ศาลากลางจังหวัดขอนแก่นโดยยืมเงินค่ารถคนในหมู่บ้าน จำนวน 100 บาท เขาเดินทางมาถึง ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ในช่วงสายๆๆ และเมื่อเดินทางมา เขาเห็นกลุ่มคนเสื้อแดงขนาดย่อมจำนวนประมาณ 200 กว่า มายืนชุมุนมกันที่ หน้าศาลากลางจังหวัด และทุกคนต่างร้อนรนกังวลถึงสถานการณ์ที่ได้ยินข่าวจากทางกรุงเทพฯ บริเวณนั้น มีการพูดโทรโข่งเป็นครั้งคราว ส่วนมากก็จับกลุ่มกัน พูดกันถึงสถานการณ์ทางกรุงเทพฯ

เขาไปนั่งฟังการชุมนุมย่อย และฟังข่าวลือต่างๆนานา อาทิเช่น ทางทหารตั้งด่านสกัดไม่ให้ชาวเสื้อแดงเข้ากรุงเทพฯ และหากฝ่าฝืนทหารจะจับ

อภิวัฒน์เองต้องการไปช่วยเสื้อแดงที่ราชประสงค์ เขาหวังเพียงอย่างเดียวว่า ถ้าคนไปเยอะๆ อาจจะช่วยอะไรได้บ้าง เขาจึงตัดสินใจที่จะเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อไปช่วยเสื้อแดงที่ราชประสงค์ ซึ่งเมื่อมีคนรู้ว่าเขาจะไป ก็มีคนบริจาคค่ารถให้เขา 500 บาท

ตอนเวลาประมาณ 2 ทุ่มกว่าของคืนวันที่17 พฤษภาคม 2553 อภิวัฒน์ พร้อมกับชาวเสื้อแดงคนอื่นๆที่เขาไม่เคยรู้จักกันเลย รวม 4 คน จึงนั่งรถโดยสารปรับอากาศเดินทางออกจากขอนแก่น โดยมีจุดมุ่งหมายคือ ต้องเข้าไปช่วยคนที่ราชประสงค์ให้ได้

เขาเล่าติดตลกว่า สุดท้ายที่เขาอยากไปกลับไม่ได้มีโอกาสเข้าไป แต่ที่เขาไม่ต้องการ กลับได้ไป ระหว่างการเดินทาง เขาและเสื้อแดงที่มาด้วยกัน ได้คุยกันไม่มาก ไถ่ถามกันแต่เพียงว่า มาจากอำเภออะไร และเมื่อไปถึงจะพากันไปช่วยกันทำอะไร

คณะของเขาเดินทางมาถึงหมอชิตใหม่ตอนราวๆตี 3- 4 ของวันที่ 18 พฤษภาคม 2553 และเรียกแท็กซี่ไปส่งที่แยกราชประสงค์ คนขับรถแท็กซี่ ขับมาถึงตรงแยกสามเหลี่ยมดินแดง แจ้งต่อคณะของเขาว่าไปได้สุดทางแค่ สามเหลี่ยมดินแดง เนื่องจากทหารซุ่มยิงเต็มไปหมด

ทั้งหมดจึงพากันอยู่แถวสามเหลี่ยมดินแดง ซึ่งขณะนั้นมีกลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนประมาณ 100 กว่าคน รวมตัวกันเขาจำได้เลาๆ ว่า ที่นั่นมีเวที ปราศรัย ขนาดย่อยด้วย และคนแถวนั้นไม่ใส่เสื้อสีแดงเลย

เขาและคณะที่มาด้วยกันต่างแยกย้ายกันหาที่นอนที่นั่งแถวๆ นั้น ตอนเช้าเวลาประมาณ 6 โมงกว่า เขาจึงว่าจ้างวินมอเตอร์ไซค์ให้ไปส่งที่ราชประสงค์ ส่วนเสื้อแดงที่มาด้วยกันนั้นมีคนหนึ่งได้เรียกมอเตอร์ไซค์เข้าไปก่อนหน้าเขา โดยคันของเขา ขี่ตามกันไปติดๆ

เขาจำได้ว่า คันข้างหน้านั้น คนที่เข้าไปก่อน เข้าไปได้ ส่วนตัวของเขานั้น เมื่อเข้าไปในซอยรางน้ำ ก็เจอด่านทหารตั้งอยู่ ทหารก็เรียกให้เขาหยุด เขาก็ลงจากรถมอเตอร์ไซค์ ๆก็ขี่ออกไป มีทหารนายหนึ่ง เรียกเขามาถาม และก็ค้นตัวเขา ทหารค้นเจอแต่บัตรประชาชน กับบัตรนปช. แดงทั้งแผ่นดิน

อภิวัฒน์ เล่าต่อไปว่า ทหารที่ค้นตัวเขา ไม่ได้ซ้อมและทำร้ายร่างกายแต่อย่างใด ทหารถามเขาว่าจะเขาไปไหน เขาบอกว่า จะเข้าไปหาเสื้อแดงที่ราชประสงค์ ทหารก็ถามเขาว่าจะเข้าไปทำไม เขาก็บอกว่า เขาจะเข้าไปชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ทหารก็ให้เขานั่งรออยู่แถวนั้น และมีการประสานกันระหว่างทหารว่า จะทำอย่างไรกับกรณีของเขา สักครู่ก็มีทหารมาแจ้งเขาว่าให้รอไปก่อน และบอกกับเขาอีกว่า จะส่งเขากลับบ้านที่ต่างจังหวัด

อภิวัฒน์ บอกว่า หลังจากที่ทหารบอกว่าจะส่งเขากลับบ้านเขาก็รอคอยต่อไป เขาจำได้ว่ารอนานพอสมควร เขาไม่ทราบว่าระหว่างประสานงานกันเกิดปัญหาอะไรขึ้นไม่อาจรู้ได้ อีกสักพักใหญ่ ทหารจึงควบคุมตัวเขาไปที่สน.พญาไท เขาถูกขังที่ สน.พญาไท 1 คืน ตำรวจแจ้งข้อหาเขาและเขาก็รับสารภาพ และต่อมาเช้าวันที่19 พฤษภาคม 2553 ตำรวจก็ส่งเขาไปที่ศาลแขวงดุสิต

เมื่อมาถึงศาลแขวงดุสิต ผู้พิพากษาก็อ่านคำฟ้องให้เขาฟัง บอกว่าพนักงานอัยการ กล่าวหาเขาว่า “ฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่มีอำนาจ ซึ่งห้ามบุคคล ซึ่งมีพฤติการณ์หรือน่าเชื่อว่าเข้ามามีส่วนร่วมในการชุมนุม เพื่อกระทำการกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยของประชาชน เข้ามาในพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง” ซึ่งคำฟ้องของพนักงานอัยการมีข้อความว่า

“เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2553 จำเลยนี้ได้ร่วมกันบังอาจจะเข้าไปร่วมชุมนุมที่แยกราชประสงค์ อันเป็นเขตพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ตั้งด่านตรวจ ห้ามบุคคลเข้าร่วมชุมนุม จำเลยได้เดินอยู่ในซอยรางน้ำมุ่งไปเข้าถนนราชปรารภ จึงเรียกให้หยุดแล้วตรวจค้นพบบัตรประจำตัว นปช.แดงทั้งแผ่นดิน จำนวน 1ใบ และยอมรับว่าจะไปร่วมชุมนุมที่แยกสามเหลี่ยมดินแดงและแยกราชประสงค์จริง จึงจับกุมตัวจำเลยนี้ไว้ได้ การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจ ซึ่งห้ามบุคคลใดซึ่งมีพฤติการณ์หรือน่าเชื่อว่าเข้ามามีส่วนร่วมในการชุมนุม เพื่อกระทำการกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยของประชาชนเข้ามาใน พื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย”

นอกจากนี้ ศาลยังได้อธิบายให้เขาฟังด้วยว่า เจ้าพนักงานจับจำเลยนี้ได้พร้อมด้วย 1.หนังสติ๊ก 1 อัน 2.ลูกแก้ว 8 ลูก ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด เป็นของกลาง

เมื่อผู้พิพากษาอ่านให้เขาฟังและถามเขาว่าจะรับสารภาพหรือปฎิเสธ เขาก็บอกว่ารับสารภาพครับ เขาเล่าให้ คณะของเราในภายหลังทราบว่า ที่เขารับสารภาพ ก็เพราะว่า ก็เขาตั้งใจจะเข้าไปแยกราชประสงค์จริงๆ จึงไม่ประสงค์ต่อสู้คดี อย่างมากก็แค่รอลงอาญา เพราะเขาไม่เคยทำผิดมาก่อน อีกทั้งคดีของเขานั้นแค่ฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉิน เท่านั้น

แต่การณ์กลับไม่เป็นอย่างที่เขาคิดไว้ โดยคดีนี้ ศาลพิพากษาว่า เขามีความผิดตามฟ้อง การกระทำความผิดของเขาในขณะที่บ้านเมืองมีความวุ่นวายเกิดเหตุจลาจล อันเป็นการส่อแสดงว่า จำเลยไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง ทั้งเป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีต่อประชาชนทั่วไป เป็นการทำลายความสงบสุขของประเทศ จึงเห็นควรลงโทษสถานหนัก จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กี่งหนึ่งคงจำคุก 1 ปี

อภิวัฒน์ ยืนยันว่า เขามีบัตรนปช.แดงทั้งแผ่นดินจริง แต่เขาไม่มีหนังสติ๊กและลูกแก้ว ตามที่อัยการกล่าวหาเขา

เขาเล่าว่าตอนที่เขาถูกตัดสินจำ คุก 1 ปี เหตุการณ์มันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก เขาไม่มีเวลาคิดอะไรเลย ไม่มีทนายความ ไม่มีโอกาสคุยกับญาติพี่น้อง แต่ในความโชคร้ายนั้น ก็มีความโชคดีอยู่บ้างที่ เขาบอกว่า เขายังมีชีวิตอยู่ และเขายืนยันว่า หากมีโอกาสเขาจะเข้าร่วมชุมนุมแน่นอน

หลังจากนั้น เขาก็ถูกส่งมาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และต่อมาเขาก็ถูกย้ายมาที่เรือนจำคลองเปรม ตอนที่อยู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ฯเขาบอกว่ามีชาวเสื้อแดงติดคุกอยู่หลายคน และพอย้ายมาที่เรือนจำคลองเปรม เขาก็เจอชาวเสื้อแดงที่ติดคุกอยู่ด้วยจำนวนมาก

อภิวัฒน์ เล่าอีกว่า เมื่อตอนที่เขามาอยู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯใหม่ๆนั้น มีคนเอาเอกสารใบแต่งทนายความ มาให้เขาลงชื่อแต่งตั้ง เขาก็ได้เซ็นใบแต่งทนายความให้ แต่เขาไม่เคยพบเห็นทนายความเลย คดีของเขาไม่มีการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ดังนั้นคดีของเขาจึงถึงที่สุดแล้ว แต่เขาไม่ทราบว่าเหตุใดจึงไม่มีการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาทั้งๆที่เขาได้ซ็นใบ แต่งตั้งทนายความให้แล้ว

นี่คือเรื่องราวชีวิตของนักโทษการเมืองคนหนึ่ง ที่ชื่อ นายอภิวัฒน์ เกิดนอก ชาวเสื้อแดงจากจังหวัดขอนแก่น ที่มาติดคุกอยู่ในกรุงเทพมหานคร ห่างไกลจากญาติพี่น้องของเขา ขณะนี้ ถูกขังอยู่ที่ เรือนจำคลองเปรม แดน 8 มาเป็นระยะเกือบ 8 เดือนเต็ม

เขาถูกขังกับเพื่อนๆ ชาวเสื้อแดงอีก 8 คน ทางสมัชชาสังคมก้าวหน้า ขอเชิญชวนพี่น้องชาวเสื้อแดง เขียนจดหมายให้กำลังใจการต่อสู้ของเพื่อนๆที่ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ และหากชาวเสื้อแดงคนใดจะสิ่งของใดๆไปให้ทางไปรษณีย์ ไม่ต้องส่งไปเนื่องจากทางเรือนจำให้ส่งได้ เฉพาะธนาณัติธรรมดาเท่านั้น โดยส่งไปที่

1. นายกฤษณะ ธัญชยพงศ์ (แดน 8 ) จำคุก 1ปี ขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ แต่ศาลไม่อนุญาต
2. นายแสวง กงกันยา (แดน 8 ) จำคุก 1 ปี 12 เดือน คดีถึงที่สุดแล้ว
3. นายสุระชัย พริ้งพงษ์ (แดน 8 ) จำคุก 1 ปี ขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ แต่ศาลไม่อนุญาต
4. นายสุรชัย เพ็ชรพลอย ( แดน 8 ) จำคุก 1 ปี คดีถึงที่สุดแล้ว
5. นายอภิวัฒน์ เกิดนอก (แดน 8 ) จำคุกคุก 1 ปี คดีถึงที่สุดแล้ว
6. นายอำนวย ชัยเสนสุข (แดน 8 ) จำคุก 1 ปี คดีถึงที่สุดแล้ว
7. นายเอกสิทธิ์ แม่นงาม (แดน 8 ) จำคุก 1 ปี คดีถึงที่สุดแล้ว
8. นายจีระวัช แซ่วี (แดน 4 ) ติดคุก 1 ปี คดีถึงที่สุดแล้ว

ส่ง ไปที่ เรือนจำกลางคลองเปรม 33/2 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900



โดน 2 เด้ง

การชุมนุมรำลึกครบรอบ 10 เดือนเหตุการณ์ฆ่าหมู่ 10 เม.ย. 2553 ของคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา เป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ครั้งแรกของนปช. หลังประกาศยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

คนเสื้อแดงกว่า 3-4 หมื่นคนชุมนุมกันแน่นราชประสงค์

มีนัยยะสำคัญ !

เพราะเป็นการแสดงพลังให้เห็นว่าคนเสื้อแดงไม่ได้”ฝ่อ”เหมือนกับที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้

แสดงให้เห็นด้วยว่านโยบายประชาวิวัฒน์ หรือ 9 ของขวัญปีใหม่ที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประเคนให้นั้น ไม่ได้มีผลทำให้คนเสื้อแดงลืมเลือนการสังหารหมู่ 91 ศพ ได้เลยแม้แต่น้อย

ประเด็นหลักของการชุมนุมครั้งนี้ ต้องการให้รัฐบาลรับผิดชอบการฆ่าหมู่ 91 ศพ และให้รัฐบาลปล่อยนักโทษการเมืองหลายร้อยคน

เสียงเรียกร้องดังกระหึ่มไปทั่วราชประสงค์ !

เชื่อว่าต่อจากนี้ไปจะมีการเคลื่อนไหวที่หนักหน่วงยิ่งกว่าเดิม ไม่ได้หมายความว่าคนเสื้อแดงจะเพิ่มดีกรีความรุนแรงขึ้น

แต่จะหนักหน่วงในด้าน “ข้อมูลและข้อเท็จจริง” ยิ่งขึ้น

การเปิดข้อมูลเอกสารลับต่างๆ เกี่ยวกับคดีคนเสื้อแดงจะมีมากขึ้น ขุดคุ้ยว่าใครอยู่เบื้องหลังคำสั่งสังหารหมู่ !?

และยิ่งตอกย้ำความ 2 มาตรฐานของรัฐบาลไปพร้อมๆ กัน

ที่สำคัญการทวงความยุติธรรมจะเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นในเวทีนานาชาติ การแสดงพลังของคนเสื้อแดงครั้งล่าสุดเป็นการฟ้องต่อสายตาชาวโลก ยืนยันว่ายังมีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นกับนักโทษเสื้อแดง

รัฐบาลยังคงลิดรอนสิทธิเสรีภาพของคนเสื้อแดง

เชื่อว่าในเร็ววันนี้จะเห็นองค์กรโลกหันมาให้ความสนใจเรื่องนี้ยิ่งขึ้น

แต่ที่จะเห็นผลชัดเจนที่สุดน่าจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล หลังมีการเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนฯในวันที่21 ม.ค. นี้

นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช. ในฐานะส.ส. พรรคเพื่อไทย ประกาศชัดว่าคดีความทุกอย่างจะเอาไว้พูดในที่ประชุมรัฐสภา เพราะพรรคเพื่อไทยให้อภิปรายได้แบบไม่จำกัดเวลา

เมื่อถึงตอนนั้นสังคมก็จะได้รู้ความจริงทั้งหมด

น่าหนักใจแทนนายอภิสิทธิ์ เพราะปัญหา 7 คนไทยถูกขังในเรือนจำเขมรยังหนักอกหนักใจอยู่เลย พลาดพลั้งให้นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ทะเล่อทะล่าเข้าไปให้ทหารเขมรจับกุม จนโดนม็อบที่เพิ่งผิดใจกันอัดเละว่าขายชาติ

ต้องมาเผชิญปัญหาถูกฝ่ายค้านเตรียมขย่มซ้ำในสภาเข้าไปอีก

แบบนี้เรียกว่าโดน 2 เด้ง!?

ที่มา : ข่าวสด 12 มกราคม 2554
คอลัมน์ : เหล็กใน