คำขอโทษจากอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เหตุสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 90 ราย บาดเจ็บกว่า 2,000 ราย ภายใต้การบริหารประเทศของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เขาจึงหนีความรับผิดชอบไปได้ไม่พ้น และสิ่งหนึ่งที่คนเสื้อแดง ประชาชน หรือแม้แต่นภพัฒน์จักร  อัตตนนท์ นักข่าวในเครือเนชั่นอยากรู้คือนายกรัฐมนตรีจะขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือไม่

ซึ่งคำตอบอาจไม่สำคัญเท่ากับสาเหตุและวิธีคิดของนายกรัฐมนตรีนี่เป็นบทสรุปแบบสั้นกระชับในมุมมองของนายนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ นักข่าวสายการเมือง  เครือเนชั่น  ที่เขาสรุปได้จากการพูดคุยและสัมภาษณ์นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมตรี โดยเขาเขียนบทความนี้ เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม 2553 หลังได้รับเชิญให้ไปถามคำถามนายกรัฐมนตรีผ่านรายการทางเวบไซต์ของนายกรัฐมนตรี

นภพัฒน์จักษ์ เป็นนักข่าวภาคสนามคนหนึ่งในเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง ระหว่างเดือนเมษายน ถึงพฤษภาคม 2553  เขาอยู่ในเหตุการณ์สำคัญนี้ จนถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือเรื่อง คนข้างม็อบ

ไม่เพียงแต่คนเสื้อแดง ญาติผู้เสียชีวิต หรือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุสลายการชุมนุม  นภพัฒน์จักษ์ เองก็มีคำถามในใจที่อยากรู้จากนายกรัฐมนตรี นั่นคือ “คำขอโทษ” จากปากของนายอภิสิทธิ์ ต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุม

“หลังการสลายการชุมนุม มีผู้ชุมนุมบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก เรื่องความรับผิดชอบย่อมเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม แต่ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่ปกครองประเทศ แล้วมีผู้เสียชีวิตด้วยประเด็นทางการเมือง นายกอภิสิทธิ์ต้องการจะขออภัยฝั่งผู้ชุมนุมบ้างหรือไม่?”

ข้อความนี้ เป็นคำถามที่เขาเล่าในบทความ  พร้อมกับบรรยายว่า เขาถามนายกรัฐมนตรีสองครั้ง และเฝ้ารอคำตอบด้วยใจระทึกและความคาดหวัง  ใจระทึกว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร และคาดหวังว่าเราอาจจะได้ยินคำขอโทษจากผู้นำประเทศที่ตัดสินใจผิดพลาดจาก เหตุทางการเมืองสักครั้ง

สิ่งที่ได้ยินกลับมาคือ

“คำถามนี้ไม่สามารถออกอากาศได้”

ถามว่าทำไม?

“เพราะถ้าเราขอโทษ เท่ากับว่าฝ่ายเรายอมรับว่าเป็นฝ่ายผิด”

นี่คือคำตอบเดียวที่ได้รับจากนายอภิสิทธิ์ กับความรู้สึกลึกๆจากใจที่คลาดเคลื่อนไปจากความคาดหวัง

ความคาดหวังจากนายกรัฐมนตรีที่เคยพูดว่า “ผมขอเป็นนายกรัฐมนตรีของคนไทยทั้งประเทศ”

ความคาดหวังจากนักการเมืองที่เคยพูดว่า “จะหนึ่งคนหรือแสนคนเราก็ต้องรับฟัง”

ความคาดหวังที่จะได้ยินคำว่า “ขอโทษ” เพื่อให้รับรู้ว่าท่านนายก เข้าใจถึงความผิดพลาด ในการตัดสินใจของตัวเอง

ความคาดหวังจากมาตรฐานของคนทั่วไป …

ที่ไม่ได้ต้องการจะล้มล้างรัฐบาลนายกอภิสิทธิ์ …

ที่ไม่ได้คาดหวังว่าท่านจะต้องยุบสภาหรือลาออก …

เพียงแต่คาดหวัง “คำขอโทษ”

“คำขอโทษ” ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคาดหวัง จากคนที่เราใส่ใจ ให้ความสำคัญ…. และยังพร้อมที่จะรับฟัง

และนี่คือบทความจากนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์  ผู้สื่อข่าวสายการเมือง เครือเนชั่น ที่เผยแพร่เป็นบทความครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2553 และถูกนำมาเผยแพร่ซ้ำในเวบไซต์ต่าง ๆ เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ที่มา : VoiceTV


กระสุนที่หายไป ยิงหมดหรือเอาไปไหน

มีข้อมูลอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็น เรื่องใหญ่ แต่สื่อสารมวลชนในบ้านเราไม่ค่อยจะให้ความสนใจกันสักเท่าไรนัก นั่นคือเรื่องของกระสุนปืนที่ถูกเบิกออกจากคลังกรมสรรพาวุธทหารบก เอามาใช้ในช่วงปฏิบัติการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในช่วงเดือนเมษายนและ พฤษภาคมปีที่แล้ว

เรื่องนี้ต้องให้เครดิต พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ที่ใช้เวทีคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ที่ตัวเองนั่งเป็นประธานอยู่สืบทราบข้อมูลที่น่าตกใจว่า ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เบิกกระสุนปืนชนิดต่างๆมาใช้ในช่วงสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงมากถึง 590,000 นัด

ขอย้ำตัวเลขว่า 590,000 นัด

ในจำนวนนี้เป็นกระสุนซ้อมรบ 10,000 กว่านัด ที่เหลือเป็นกระสุนจริงที่ยิงกันเจ็บตายได้จริงๆ

หลังเสร็จสิ้นปฏิบัติการที่เรียกกันอย่างสวยหรูว่าขอคืนพื้นที่ กระชับพื้นที่ มีข้อมูลการส่งคืนลูกปืนที่เบิกออกมาเพียง 400,000 กว่านัด ที่เหลืออีก 100,000 กว่านัด ซึ่งข่าวภายหลังบอกว่าประมาณ 120,000 นัด หายไปไม่ได้ส่งคืน

ที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือ พบข้อมูลว่านอกจากกระสุนปืนชนิดต่างๆที่เบิกมากมายก่ายกองแล้ว ยังมีการเบิกกระสุนปืนซุ่มยิง หรือพูดกันให้ชัดๆคือกระสุนปืนสไนเปอร์ ออกมาจากคลังอาวุธอีกประมาณ 3,000 นัด

ในจำนวนนี้หลังเสร็จสิ้นปฏิบัติการปราบปรามประชาชนแล้ว มีตัวเลขส่งคืนเพียง 480 นัด

ที่เหลืออีก 2,520 นัดหายไปไหน ไปอยู่ในหัวใครหรือไม่ ถึงไม่มีการส่งคืน

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องให้ความสำคัญและติดตาม เพราะถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้องว่ากระสุนมากมายหายไปไหน

ใช้ยิงไปหมดแล้วในปฏิบัติการปราบปรามประชาชน หรือว่ามีคนเล่นแร่แปรธาตุเปลี่ยนทรัพย์สินให้เป็นทุนไปแล้ว หรือว่าเอาเก็บไว้ใช้ปฏิบัติการอื่นๆต่อไป ไม่ว่าคำตอบไหนผู้เกี่ยวข้องต้องชี้แจงออกมาให้ชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องกระสุนปืนสไนเปอร์ยิ่งต้องชี้แจงออกมาให้ได้ว่าทำไม ต้องเบิกเอามาใช้สลายการชุมนุม เพราะขัดกันกับที่ผู้มีอำนาจทั้งหลายชี้แจงก่อนหน้านี้ว่าไม่มีการซุ่มยิง ประชาชนจากที่สูง ทั้งที่มีภาพและคลิปปรากฏเป็นหลักฐานชัดเจนว่ามีการซุ่มยิง

ใครรู้สึกอย่างไรไม่รู้ แต่ผู้เขียนตกใจกับจำนวนกระสุนปืนที่เขาเบิกเอามาใช้กันว่าทำไมถึงได้มากมายมหาศาลถึงเพียงนั้น

การควบคุมฝูงชน ควบคุมประชาชนที่แสดงออกทางการเมือง ไม่มีบ้านเมืองไหนเขาใช้กระสุนจริง แล้วยังมีหน้ามาบอกว่าทำตามหลักสากล

นี่เวลาก็ผ่านมาเกือบปีแล้ว แต่ยังไม่สามารถหาเหตุผลมาอธิบายถึงการเบิกจ่ายกระสุนได้ คงหวังว่าจะให้เรื่องเงียบหายไปเอง

มันก็เหมือนกับการใช้จ่ายงบประมาณของ ศอฉ. ที่จนถึงวันนี้ยังไม่มีการรายงานต่อรัฐสภาว่าใช้ไปกี่บาท กี่สตางค์ ทั้งที่เวลาผ่านมาครบ 1 ปีแล้ว

เรื่องที่เกี่ยวกับ ศอฉ. เรื่องเกี่ยวกับปฏิบัติการสลายการชุมนุม ทำไมช่างมีอะไรสลับซับซ้อนมากมายเหลือเกิน หาความโปร่งใสไม่ได้เลย

ถ้าชี้แจงไม่ได้ก็ไม่ต้องมาเรียกร้องหาความปรองดอง ความสามัคคี

ปัดโธ่! ใครเขาจะอยากปรองดองกับคนที่ถือปืนออกมาไล่ยิง

ที่มา : โลกวันนี้ 25 มีนาคม 2554
โดย : ลอย ลมบน

 


พี่สาว “ช่างภาพอิตาเลียน” เหตุสลายเสื้อแดง ประณามทางการไทย ใช้เงิน “ปิดปาก” หลังผลสืบสวนไม่คืบ

“เราเชื่อว่านี่เป็นความพยายามอย่างชัดเจนในการปิดปากของเรา และตอบแทนศักดิ์ศรีให้กับฟาบิโอของเราด้วยเงินเพียงเล็กน้อย”

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า พี่สาวของช่างภาพชาวอิตาเลี่ยน ซึ่งเสียชีวิตในเหตุการณ์ความวุ่นวายในกรุงเทพฯเมื่อช่วงเดือน เมษายน-พฤษภาคม ที่ผ่านมา กล่าวหาทางการไทยต่อความพยายามในการ “ยัดเยียดเงิน” เพื่อ “ปิดปาก” ตนเอง ในจดหมายซึ่งมีการเปิดเผยในวันนี้ (3 ธ.ค.)

น.ส.เอลิซาเบทต้า โปเลนกี พี่สาวของนายฟาบิโอ โปเลนกี ซึ่งเป็นช่างภาพอิสระ ที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา จากเหตุการสลายการชุมนุมของกลุ่ม “คนเสื้อแดง”ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เขียนในจดหมายฉบับดังกล่าวว่า

“แน่นอนที่สุด สถาบันต่างๆในประเทศไทยได้เสนอเงินช่วยเหลือเราอย่างที่ทุกคนรู้กัน” นส.เอลิซาเบทต้า กล่าวในจดหมายซึ่งจ่าหน้าถึงนายสมศักดิ์ สุริยวงศ์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโรม โดยเธออธิบายเพิ่มเติมว่า คนเหล่านั้นได้เสนอเงินให้เธอ “อย่างไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง”และกล่าวว่า “เราเชื่อว่านี่เป็นความพยายามอย่างชัดเจนในการปิดปากของเรา และตอบแทนศักดิ์ศรีให้กับฟาบิโอของเราด้วยเงินเพียงเล็กน้อย”

นายฟาบิโอ โปเลนชี ถูก ยิงเสียชีวิตระหว่างทำงานในฐานะช่างภาพอิสระ ในระหว่างการชุมนุมประท้วงโดยกลุ่ม “คนเสื้อแดง” ในย่านใจกลางกรุงเทพมหานคร ซึ่งกินเวลานานถึง 2 เดือน ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 90 ราย และบาดเจ็บอีกเกือบ 1,900 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือน

โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้กล่าวว่า กองทัพน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของประชาชนจำนวน 13 ราย ซึ่งรวมถึงนายฮิโร มุราโมโตะ ช่างภาพจากสำนักข่าวรอยเตอร์ แต่รายละเอียดเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตรายอื่นๆยังคงมีข้อมูลที่ไม่เพียงพอ

จดหมายของนส.เอลิซาเบทต้า โปเลนชี ซึ่งถูกส่งไปยังสถานทูตไทยในกรุงโรม หลังที่เธอได้รับจดหมายเชิญให้เข้าร่วมงานเฉลิมฉลองเนื่องในวันคล้ายวันพระ ราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในประเทศไทย กล่าวในตอนหนึ่งว่า ทางการไทย “ไม่แม้แต่เพียงนิดเดียวที่จะตระหนักถึงความร้ายแรงของสถานการณ์” ที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของเธอ

“หลังจากผ่านมามากกว่า 6 เดือน เราก็ยังคงไม่ทราบถึงเหตุการณ์การเสียชีวิตของฟาบิโอ และผลการสืบสวนโดยทางการไทยแต่อย่างใด”

“ความพยายามของทางการไทย ในความรู้สึกของฉัน ยังไม่นับว่าเป็นที่น่าพอใจ และละเอียดถี่ถ้วนพอ” นส.เอลิซาเบทต้ากล่าว

อย่างไรก็ตาม เธอได้ถวายพระพรแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในโอกาสเนื่องในวันที่ 5 ธันวาคมด้วย

ที่มา : เฟซบุค อินไซด์ ไทยแลนด์
http://www.facebook.com/note.php?note_id=182300605116791


รัฐบาลกับการเยียวยาผู้ชุมนุม

ที่มา : ข่าวสดรายวัน 9 พ.ย. 2553

หมายเหตุ – ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเวทีสมัชชาสุขภาพย่อย เรื่อง “ฝ่าวิกฤตความไม่เป็นธรรมสู่สุขภาวะ : ผลกระทบและการเยียวยาผู้เสียหายจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง” ที่ห้องประชุมสารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 8 พ.ย.

1. กฤตยา อาชวนิจกุล
ผู้แทนศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายชุมนุม เม.ย.-พ.ค.2553 (ศปช.)

การเยียวยาของภาครัฐในขณะนี้ ดูเหมือนว่าเป็นการให้เงินแก่ผู้ได้รับความเสียหาย คล้ายกับการทำสังคมสงเคราะห์

ทั้งนี้ ขอตั้งข้อสังเกต ถ้าจะมีการคุยเรื่องการเยียวยาต่อไป โปรดอย่าลืมหาความจริงในส่วนของความยุติธรรมก่อน ไม่เช่นนั้น ปัญหาทุกอย่างจะไม่จบ

เรื่องนี้เรามีบทเรียนมาแล้ว โดยเฉพาะกรณีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าไม่มีความยุติธรรม ปัญหาก็ไม่มีทางจบ ถ้าไม่มีความยุติธรรม เป้าหมายที่ทุกคนอยากจะเห็นคือความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ ก็จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้

กรณีแสวงหาความจริง ยอมรับว่าอาจต้องใช้เวลา อย่างเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 อยากให้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้มาเปิดเผยความจริงแก่สาธารณชน

รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถือว่าเป็นรัฐ บาลแรกที่มาจากพลเรือนในประวัติศาสตร์การ เมืองสมัยใหม่ประเทศไทย ที่ทำให้เกิดการฆ่าฟันกันกลางเมืองและยังสามารถอยู่ในอำนาจต่อไปได้ และรัฐบาลชุดนี้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบความจริงจำนวนมาก เช่น คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ชุดนายอานันท์ ปันยารชุน คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ชุดที่มีน.พ. ประเวศ วะสี เป็นประธาน หรือคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความ ปรองดองแห่งชาติ ของนายคณิต ณ นคร

คณะทั้งหมดนี้ตั้งโดยคณะรัฐบาล และเป้าประสงค์ของนายคณิต ประกาศอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการหาผู้กระทำความผิด ดังนั้น การเดินหน้า ในส่วนของการหาความจริงต่อกรณีที่เกิดขึ้น จึงเป็นไปได้ยาก

ส่วนสิทธิการชุมนุมนั้น จะเห็นได้ว่าแนวคิดของรัฐไทยที่ผ่านมา มีแต่ความคิดที่จะกระชับพื้นที่ กระชับสิทธิ์ให้น้อยลง ภายใต้เงื่อนไขการใช้กฎหมาย พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งที่สิทธิการชุมนุม เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาธิปไตย

แต่การใช้กำลังเกินกว่าเหตุนั้น ความจริงเป็นเรื่องไม่ยากที่เราจะแสวงหาข้อเท็จจริง ถ้าฝ่าย ผู้คุมกำลังยอมให้ข้อมูลความจริง ทั้งเรื่องจำนวน รถถัง จำนวนปืน จำนวนทหาร ที่มาจัดการกับการชุมนุมเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 ว่ามีจำนวนเท่าใด มีความจำเป็นขนาดไหนที่จะใช้อาวุธขนาดนั้นมาสลายการชุมนุม

ที่ผ่านมารัฐบาลบอกมาโดยตลอดว่า การสลายการชุมนุมจะใช้วิธีจากเบาไปหาหนัก แต่เหตุ การณ์ เดือนเม.ย.-พ.ค. ไม่ใช่เหตุการณ์จากเบาไปหาหนัก มันมีแต่หนัก และหนักมาก และเราเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีป้ายติดว่าเขตพื้นที่ใช้อาวุธจริง แต่พอรู้ตัวก็นำป้ายออก

2. ญาดา หัตถธรรมนูญ
ผู้แทนเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

ทางศูนย์เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุ การณ์การชุมนุมทั้งหมด 78 เรื่อง ผู้ที่มาร้องเรียนส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ถูกยิง

และส่วนใหญ่ ที่มาร้องเรียนมักไม่ใช่กลุ่มผู้ชุมนุม แต่ถูกลูกหลง ทั้งที่เดินผ่านเข้ามาภายในพื้นที่ชุมนุม รวมถึงคนที่อยู่ในบริเวณบ้านแต่ถูกลูกหลงเช่นกัน

นอกจากนี้ ผู้เสียหายยังได้รับผลกระทบเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

มีผู้เสียหายรายหนึ่ง ต้องไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง โดยเสียค่ารักษาพยาบาลไป 1 แสน 6 หมื่นบาท อยู่เพียงแค่ 3 วัน

จากการสอบถามว่าได้รับการเยียวยาเป็นค่ารักษาพยาบาล จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) หรือไม่ ทราบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น สามารถ ชดเชยให้ได้แค่เพียง 1 หมื่นบาทเท่านั้น เทียบไม่ได้กับจำนวนเงินค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายไป

รวมทั้งยังมีกรณีที่รักษาตัวอย่างต่อเนื่องก็ต้องใช้เงินเช่นกัน เช่น ต้องผ่าตัดต่อเนื่อง ต้องทำกายภาพบำบัด

ส่วนกรณีค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา โดยเฉพาะผู้ไม่มีส่วนในการกระทำความผิดในคดีอาญามีสิทธิ์ได้รับค่าตอบแทน ได้มาร้องเรียนกับเรา ซึ่งเราได้มีการทำหนังสือไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีการตอบกลับ

ทางเครือข่ายจะพยายามทวงถามเรื่องนี้ต่อไป

3. ปรีดา ทองชุมนุม
ผู้แทนมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

กรณีผู้ต้องขังในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเป็นผู้ก่อการร้ายนั้น ส่วนตัวคิดว่าเป็นข้อหาที่ค่อนข้างหนัก ถ้าเป็นเพียงคนที่เห็นต่างก็อาจจะตกเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้ก็ได้

ในทางภาคใต้ก็เจออย่างกรณีเช่นเดียวกันนี้ ซึ่งถือว่าอย่างหนักหนาสาหัส และข้อหาดังกล่าว สิทธิในการประกันตัวจะเกิดขึ้นค่อนข้างยาก

อย่างไรก็ตาม เราได้หารือกันภายใน รวมทั้งส่งจดหมายไปถึงกระบวนการยุติ ธรรมโดยให้เหตุผลว่า การประกันตัวนั้นใช้จำนวนเงินที่สูงมาก ผู้ชุมนุมหรือผู้ที่ถูกจับกุมโดยเฉพาะคนต่างจังหวัดไม่มีเงินจำนวนมากในการ ประกันตัว

ดังนั้น ทางมูลนิธิจะเดินหน้าเรียกร้องให้ลดวงเงินการประกันตัวต่อไป

4. นฤมล ทับจุมพล
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การเยียวยาที่ผ่านมา ทางภาครัฐจะให้ความสำคัญกับการเยียวยาในส่วนของทรัพย์สินมากกว่า เพราะเข้าใจว่าทรัพย์สินเยียวยาได้ง่ายกว่าการเยียวยากรณีการเสียชีวิต

ขณะที่การจับกุมในต่างจังหวัดนั้น คนที่ถูกจับ เช่น คดีลอบวางเพลิง คดีลอบเผาศาลากลางจังหวัด ซึ่งไม่ รู้ว่าใครทำ มีเพียงแต่ภาพถ่าย ก็นำ ตัวมากักกันไว้ มาก กว่า ที่จะแสวงหาความจริง

สถานการณ์ตอนนี้ จึงไม่มีการค้นหาความจริงที่เกิดขึ้นว่าเป็นเพราะอะไร ใครเกี่ยวข้องบ้าง มีเพียงการเดาสุ่ม ซึ่งกระทำการเช่นนี้ เจตนาที่จะทำให้เกิดความปรองดองนั้น คงเป็นไปได้ยาก

ส่วนความเป็นธรรมจากเหตุการณ์นี้ มักมีการพูดถึงเฉพาะความเป็นธรรมในด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะรัฐมองความยุติธรรมเพียงประเด็นเดียวคือ กฎหมาย ซึ่งถือเป็นการตัดตอนที่มาของปัญหา

ขณะที่การขอประกันตัว ทำได้ค่อนข้างยาก ถ้าภาครัฐไม่แน่ใจ ควรทำเป็นกรณีเฉพาะ ไม่ใช่ทำแบบที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้เพราะผิดหลักการในระบบกระบวนการยุติธรรม เกิดการผิดฝาผิดตัว



ปรองดองแค่ลมปาก

คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ
เรื่อง : ปรองดองแค่ลมปาก
ที่มา หนังสือพิมพ์โลกวันนี้ ปีที่ 11 ฉบับที่ 2818
14 มิถุนายน 2553

ต้องยอมรับว่านายอภิสิทธิ์เป็นนักการเมืองที่สามารถสร้างภาพพจน์ตัวเองได้อย่างเหลือเชื่อ แม้เพิ่งผ่านเรื่องเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์การเมือง ซึ่งนายอภิสิทธิ์เป็นผู้สั่งการสูงสุดจนทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 ศพ และบาดเจ็บเกือบ 2,000 คน

แต่นายอภิสิทธิ์ก็สามารถนั่งบริหารบ้านเมืองเหมือนไม่มีเหตุการณ์เลวร้ายใดๆ แถมยังมีสำนวนโวหารที่นุ่มนวลและพูดจาฉะฉานชัดเจนว่าเป็นนักการเมืองที่รักประชาธิปไตยและรักประชาชนทุกกลุ่มทุกสี

นายอภิสิทธิ์อ่านจดหมายที่เขียนด้วยลายมือตัวเองเพื่อเชิญชวนให้ร่วมกันปฏิรูปประเทศไทย โดยระบุว่า เหตุการณ์เลวร้ายที่สร้างความสะเทือนใจและบอบช้ำกับประเทศชาติและประชาชนอย่างรุนแรงทั้งหมดนั้น ล้วนแล้วแต่มาจากการกระทำของคนไทยด้วยกันเองทั้งสิ้น

“วันนี้ประเทศต้องเดินหน้า แต่ความโกรธ ความเคียดแค้นและชิงชังไม่สามารถสร้างอนาคตให้กับประเทศและลูกหลานไทยได้ ถึงเวลาแล้วที่เราจะปรองดอง เพื่อปฏิรูปประเทศไทย รวมใจเป็นหนึ่งเพื่อปกป้องสถาบันหลักของชาติ สร้างความเสมอภาค สื่อสารถึงกันอย่างสร้างสรรค์ ค้นหาและยอมรับความจริง โดยมีการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย มีประสิทธิภาพและโปร่งใส”

เป็นคำพูดที่สวยหรูและนุ่มนวลจากปากของนายกรัฐมนตรีที่รูปหล่อ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ออกมาสนับสนุน เหมือนครั้งที่นายอภิสิทธิ์เคยประกาศขับเคลื่อนแผนปรองดอง 5 ข้อ ครั้งที่ยื่นข้อเสนอให้กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน สลายการชุมนุม

สุดท้ายก็จบลงด้วยความรุนแรงและความตาย แต่นายอภิสิทธิ์ก็ยังพร่ำแต่คำว่าปรองดอง แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังกล่าวหาใส่ร้ายและจับกุมคนเสื้อแดงและฝ่ายตรงข้าม โดยมี พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเครื่องมือ เช่นเดียวกับการปฏิรูปประเทศครั้งนี้ นายอภิสิทธิ์พูดชัดเจนว่าจำเป็นต้องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

การปรองดองและการปฏิรูปประเทศของนายอภิสิทธิ์จึงไม่ต่างกับการ “ขอพื้นที่คืน” และการ “กระชับล้อม” ที่ใช้กับคนเสื้อแดง เพราะเป็นการมัดมือชกให้คนทั้งประเทศต้องยอมรับแผนปรองดองและปฏิรูปของรัฐบาล โดยใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อแก้ปัญหาการเมืองให้กับตนเองและพวกพ้อง

ขณะที่ประชาชนจำนวนหนึ่งเห็นว่านายอภิสิทธิ์หมดความชอบธรรมที่จะบริหารบ้านเมืองต่อไปแล้ว และต้องแสดงความรับผิดชอบกับการสั่งให้ใช้กำลังจนมีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 ราย และบาดเจ็บเกือบ 2,000 ราย