รัฐบาลต้องกล้า..ปลด ‘ผบ.ทบ.’

“นักวิชาการหลายคนรู้ทุกเรื่อง รู้เรื่องรบ เรื่องชายแดน เรื่องทหาร นี่ ฮ. ตกยังรู้อีก เป็นคนเดิมที่ออกมาพูด ผมถามกลับไปว่ารับผิดชอบอะไรหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ใครจะรับผิดชอบ กองทัพบกเสียหาย ประชาชนและสังคมเข้าใจผิด กำลังพลกองทัพบกเสียขวัญใครจะรับผิดชอบ ถามว่าคนที่ออกมาพูดรับผิดชอบหรือไม่ หนังสือพิมพ์บางฉบับ ทีวี. บางช่อง นักวิชาการบางคน ผมไม่อยากพูด แต่ทำให้ผมกดดัน แล้วเราและประเทศชาติจะอยู่อย่างไรถ้าท่านไม่มีเหตุผลเลย อยากพูดอะไรก็พูด อยากทำอะไรก็ทำ เว็บไซต์เฟซบุ๊คของวาสนา นาน่วม เขียนเสียหายมาก ผมเรียนตรงนี้เลย หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และหนังสือพิมพ์บางฉบับอีกหลายเรื่อง ทีวี.เอเอสทีวี. ทีวี.แดง บ้านเมืองเสียหาย ผมจำเป็นต้องออกมาพูด ถ้าประเทศไทยหรือคนไทยไม่เรียนรู้ว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไรก็อย่าอยู่กันเลย เสียเวลาเปล่า ดังนั้น ต้องมีกติกา กฎหมาย ช่วยกันแก้ไขปัญหาบ้านเมืองให้เดินไปข้างหน้าให้ได้ กอง ทัพบกต้องอยู่ ผมจะอยู่หรือไม่ผมไม่สนใจ แต่กองทัพบกต้องอยู่ด้วยชื่อเสียง เกียรติยศ กองทัพบกกำหนดแล้วว่าจะต้องเดินหน้าไปอย่างไร กองทัพ บกมีพันธกิจ 4 ประการที่ต้องดำเนินการ อยากให้ การเสียชีวิตเป็นบทเรียนที่คุ้มค่า แล้วเราพร้อมเรียนรู้ สังคมว่าอย่างไร แต่ขอวิพากษ์วิจารณ์ให้ถูกต้อง มีหลักเกณฑ์ ทำอย่างไรจะทำให้ผู้เสียชีวิตไม่เสียเปล่า คือการรักษาแผ่นดินไทยไว้ให้ลูกหลาน สิ่ง ที่กองทัพบกคิดเสมอคือการรักษาทรัพยากรให้ลูกหลาน ในอนาคต ถ้าไม่ทำวันนี้ วันหน้าก็อยู่ไม่ได้”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) แสดงความไม่พอใจอย่างมากกับการวิพากษ์วิจารณ์กรณีเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบก ประสบอุบัติเหตุตก 3 ลำในเวลาไม่ถึง 10 วัน ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 17 คน โดยเฉพาะการตั้งข้อสังเกตเรื่องการจัดซื้อจัดหาว่าอาจไม่โปร่งใส

“ไม่ใช่ ผบ.ทบ. ดูแลทุกเรื่อง ตั้งแต่ชิ้นส่วน อะไหล่เฮลิคอปเตอร์ หรือการจัดซื้อจัดหา มันไม่ใช่ เพราะมีองค์กรในการดำเนินการอยู่ ในทางปฏิบัติมีศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 1-4 และการจัดซื้อจัดหามีกรมฝ่ายเสนาธิการกำหนดความต้องการ ฝ่ายยุทธการเป็นผู้จัดซื้อจัดหา และมีสำนักงานตรวจ สอบภายในตรวจสอบว่าผิดหรือถูก ถ้าผิดจะถูกร้องเรียนไปที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถือเป็นระบบ จะบอกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้มาจาก การทุจริตในการจัดซื้อจัดหาถือเป็นคนละประเด็น อย่าวิจารณ์อย่างนั้น เพราะถ้าวิจารณ์ต้องวิจารณ์ทุกระบบของกองทัพบก แม้แต่ระบบของประเทศไทยก็ต้องผิดทั้งหมด ยืนยันว่าถ้าเป็นอย่างนั้นก็ผิดทั้งหมด”

“ประยุทธ์” วอนอย่าตำหนิทหาร

การให้สัมภาษณ์อย่างดุดันของ พล.อ.ประยุทธ์ยิ่งทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าฝ่ายใดกันแน่ที่ไม่ยอมรับความ จริง หรือเอาข้อมูลหลักฐานมาพูดชี้แจงกับ ประชาชน เพราะประชาชนทุกคนก็เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของทหารหรือประชาชน คนตายย่อมสำคัญกว่าเครื่องบินหรือยุทโธปกรณ์ (เช่นเดียวกับ 91 ศพที่เสียชีวิตครั้งเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ก็มีค่ามากกว่าตึกที่ถูกเผา) ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้แสดงความเสียใจในวันต่อมาว่า

“วันนี้อย่าเพิ่งติติงทหารนักเลย เราพร้อมจะทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ขอให้กำลังใจทหารมากๆ แม้บางทีเห็นผมในทีวี.หน้าตาจะดุดันไปหน่อยก็เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องของบทบาทที่เป็นผู้นำองค์กรก็ต้องเป็นอย่างนี้ ผมต้องรักษาชื่อเสียงเกียรติยศของกองทัพบกไว้ยิ่งกว่าชีวิต เป็นสิ่งที่เราปลูกฝังกันมา กองทัพบกใครจะมาแตะต้องไม่ได้ ผมถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องปกป้อง จึงต้องขออภัยหากว่าดุเดือดไปนิดหนึ่ง แต่ปรกติแล้วผมเป็นคนใจดี ไม่มีอะไร”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การวิจารณ์สามารถทำได้ แต่ต้องเอาหลักข้อเท็จจริงมาพูด ต้องให้ความเป็นธรรมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจเกิดจาก 1.อุบัติเหตุ 2.สุดวิสัย และ 3.เครื่องยนต์ขัดข้อง แต่ทหารท้อแท้ไม่ได้ เราเผชิญสถานการณ์อย่างนี้หลายครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้ส่งผลกระทบมาก “ทุกครั้งที่ ฮ. ตก กองทัพบกเสียใจทุกครั้ง กองทัพบกไม่รู้จะทำอย่าง ไร เพราะเราไม่ได้ผลิตเครื่องบินเอง เราซื้อเข้ามา”

ปัญหาการจัดซื้อจัดหา

เหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกไม่มีใครตำหนิทหาร แต่ต้องการให้กองทัพชี้แจงถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นตามข้อมูลและหลักฐาน อย่างตรงไปตรงมา เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดเหตุเศร้าสลดเช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในเรื่องความไม่โปร่งใสในกรรมวิธีการจัดซื้อ ทั้งแบบพิเศษหรือมีคณะกรรมการก็มักมีข่าวทางลบเรื่องนายหน้าและคอมมิชชั่น ตลอดเวลา

โดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณมหาศาล อย่างปี 2553 ได้รับงบประมาณ 154,000 ล้านบาท และปี 2554 ได้รับงบประมาณถึง 220,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่สูงที่สุด แต่การจัดซื้อจัดหากลับ เต็มไปด้วยข่าวความไม่โปร่งใส ทั้งยังไม่มีการตรวจ สอบใดๆหรือชี้แจงกับประชาชน อย่างกรณีเครื่องบินขับไล่กริพเพนจำนวน 1 ฝูงบิน เครื่องจีที 200 ที่ถูกเปรียบเหมือนไม้ล้างป่าช้า เรือเหาะตรวจการณ์ ที่ใช้การไม่ได้ และรถถัง Oplot จากยูเครน เพื่อทดแทนรถถัง M-41 ไม่นับรวมอาวุธประจำการประเภทปืนทราโว่ที่มีการทยอยจัดเข้าประจำการอย่างต่อ เนื่อง เสื้อเกราะและงบลับที่ไม่เปิดเผย เป็นต้น

ดังนั้น การวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการหรือประชาชนกรณีการจัดซื้อจัดหาของกองทัพจึง ไม่ใช่เรื่อง ความไม่เป็นธรรมหรือคิดร้ายกับกองทัพ แต่กองทัพทุกเหล่าทัพต้องตระหนักว่างบประมาณที่จัดซื้อจัดหามาจากเงินภาษี ของประชาชน และกองทัพก็เป็นของ ประชาชน ประชาชนทุกคนจึงต้องการเห็นกองทัพมีความแข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ แต่ยอมรับไม่ได้ที่จะให้มีการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ไม่คุ้มค่ามา ใช้ หรือมีการทุจริตคอร์รัปชัน แถมยังไม่สามารถ เข้าไปตรวจสอบได้อีก กองทัพต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา มีหลายโครงการที่เป็น “โบนัส” ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนปลดเกษียณให้ “บิ๊กทหาร” หลายคนเกษียณไปพร้อมกับทรัพย์สินร้อยล้านพันล้าน ไม่ต่างกับข้าราชการระดับสูงจำนวนมากที่ร่ำรวยมหาศาล ทั้งที่หากนำเงินเดือนตลอดชีวิตการทำงานโดยไม่ใช้เลยมารวมกันก็มีเพียงไม่ กี่ล้านบาทเท่านั้น

ความจริงคือภูมิคุ้มกันกองทัพ

พล.อ.ประยุทธ์จึงต้องพร้อมให้สังคมตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดหาของกอง ทัพอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่ใช่แค่การยอมรับการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพเท่านั้น แต่ยังต้องทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในกองทัพ โดยเฉพาะความเข้าใจและความรัก ความสามัคคี อย่างที่ให้สัมภาษณ์ว่า

“ประเทศไทยต้องก้าวไปข้างหน้า ไม่ใช่เฉพาะทหาร พลเรือน แต่เราต้องไปด้วยกันทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม และประชาชน ต้องไปด้วยกันทั้งหมดในการที่จะขับเคลื่อนประเทศชาติไปข้างหน้า ผมอยากให้สิ่งเหล่านี้ทำเป็นกิจกรรมประจำปี โดยการจัดหางบประมาณขึ้นมา เพราะเป็นการเริ่มต้นสร้างเซลล์หรือภูมิคุ้มกันให้กับสถาบันได้ในอนาคต”

กองทัพกับการเมือง

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับความจริงว่าปัจจุบันกองทัพ โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกยังมีบทบาทและอำนาจที่จะเป็นตัวแปรทางการ เมืองอย่างมาก ซึ่งทุกฝ่ายยอมรับว่าไม่เป็นผลดีกับการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเลย เพราะตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา ทหารทำการรัฐประหารถึง 12 ครั้ง ฉีกรัฐธรรมนูญและทำลายประชาธิปไตยครั้งแล้วครั้งเล่า

โดยเฉพาะการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ยิ่งทำให้กองทัพมีบทบาทและอำนาจในทางการเมือง อย่างมาก เพราะวันนี้รัฐบาลแทบไม่มีบทบาทเข้า ไปเกี่ยวข้องหรือโยกย้ายภายในกองทัพได้เลย ขณะที่ในอดีตรัฐบาลสามารถแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารได้ทุกระดับ แต่ก็ถูกกล่าวหาว่าแทรกแซงกองทัพ ทั้งที่รัฐบาลในอดีตส่วนใหญ่มาจากทหารหรือมีกอง ทัพหนุนหลังทั้งสิ้น อย่างรัฐบาลสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ปลด พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก จากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งหนังสือพิมพ์หัวเขียวให้ความสำคัญด้วยการพาดหัวข่าวใหญ่ถึงครึ่งหน้า ถือเป็นข่าวฮือฮาเทียบเท่าการรัฐประหารมาแล้ว

จับยักษ์กลับที่เดิมยาก

ปัจจุบันทั้งรัฐบาลและนักการเมืองกลัวทหาร จะทำการปฏิวัติรัฐประหาร หรือกลัว “อำนาจพิเศษ ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” อย่างที่ ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า บทบาทของกองทัพภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ยังเป็นปัจจัยและตัวแปรสำคัญต่อการเมืองไทยขณะนี้ ต้องยอมรับว่าหลังรัฐประหาร 2549 กองทัพมีบทบาทในการฟื้นฟูและขยายอำนาจเข้าไปในการเมืองอย่างมาก

“เรียกว่าทุกวันแทบจะทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ สื่อมวลชนจะต้องไปถามผู้นำกองทัพว่าคิดเห็น อย่างไร รวมถึงผลประโยชน์ของกองทัพที่เพิ่มขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณทางทหารที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล การใช้งบประมาณซื้ออาวุธ แม้จะมีปัญหามากมาย แต่ไม่มีการตรวจสอบ เพราะอำนาจที่ล้นฟ้าของกองทัพ”

ดร.พวงทองยังชี้ถึงจุดยืนของกองทัพกับพรรคเพื่อไทยที่จะเป็นรัฐบาลว่า ดูได้จากคำพูดของ พล.อ. ประยุทธ์ก็รู้ว่าชอบหรือไม่ชอบ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์เป็นตัวแปรสำคัญที่รัฐบาลใหม่ต้องระวัง เพราะแม้แต่การจะแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรัฐบาลชุดใหม่ยังไม่มีความเป็นอิสระเลย ต้องฟังเสียงของกองทัพว่าพอใจหรือไม่ ขณะเดียวกันต้องจับตาความขัดแย้งในกองทัพด้วย ซึ่งจะเป็นอีกตัวแปรที่ทำ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือความรุนแรงที่คาดไม่ถึงได้

“กองทัพเปรียบเหมือนยักษ์ที่ถูกกักกันให้อยู่ในพื้นที่ของตัวเองมาเป็น ระยะเวลานานนับแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 แต่วันหนึ่งพอเกิดรัฐประหาร 2549 เราก็ปล่อยให้ยักษ์ตัวนี้ออกมาโลดแล่นในเวทีการเมืองอย่างมีอิสระและมีผล ประโยชน์ รวมทั้งมีอำนาจเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย การจะทำให้ยักษ์ ตัวนี้กลับไปอยู่ในที่เดิมอีกครั้งจึงเป็นสิ่งที่ยากมาก”

อำนาจแค่หัวโขน

ดร.สุดสงวน สุธีสร อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นถึงบทบาทของกองทัพและการแสดงออกของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ดุดันว่า ส่วนหนึ่งมาจากการกดดันของสังคมที่ต่างชี้ว่าผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดชอบ กรณีเฮลิคอปเตอร์ตก จึงไม่แปลกใจที่ พล.อ.ประยุทธ์จะพูดจนดูน่ากลัวเหมือนไม่มีมนุษยสัมพันธ์เลย แต่ต้องยอมรับว่ากองทัพเป็นสถาบันที่อยู่คู่กับสังคมไทย จึงมองตัวเองว่ามีความสำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุด จนอาจทำให้ผู้ใหญ่ในกองทัพบางคนลืมตัวและมองว่าอยู่สูงกว่าคนอื่นๆ ซึ่งเป็นจุดที่อันตรายมาก วันนี้จึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้กองทัพเปลี่ยนมุมมอง รวมถึงการเลือกผู้นำ

ขณะที่นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ หนึ่งในบ้านเลขที่ 111 ชี้ว่า การแสดงออกของ พล.อ.ประยุทธ์เป็นภาพ ที่ขัดกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง เพราะ ผบ.ทบ. เป็นข้าราชการประจำ และต้อง อยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน คือทำงานให้กับประเทศชาติ และประชาชน ไม่มีหน้าที่ให้สัมภาษณ์ใดๆที่จะทำ ให้เกิดการบิดเบือนในหลักการประชาธิปไตยทั้งสิ้น ยกเว้นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางทหารเท่านั้น

“แม้ ผบ.ทบ. จะนั่งในตำแหน่งสูงสุดของกองทัพ มีอำนาจมากที่สุดในประเทศ เพราะมีทั้งกำลังพลและอาวุธ แต่ต้องไม่ลืมว่าอำนาจที่นั่งอยู่นั้นก็คือหัวโขนเท่านั้น การใช้อำนาจที่ดีจึงต้องใช้อย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่ใช้อำนาจเพื่อออกมาปกป้องตัวเอง”

ด้านนายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำแกนนอน มองว่า ทหารไม่อดทนต่อการถูกวิจารณ์และไม่ต้องการให้ใครมาตรวจสอบ ทั้งที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นคนส่วนใหญ่เห็นใจทหาร แต่ ผบ.ทบ. กลับออกมาพูดในทำนองว่าคนทั่วไปหรือนักวิชาการบังอาจมาวิพากษ์วิจารณ์กองทัพ ทั้งๆที่ทุกคนอยากได้ความจริงว่าเกิดอะไรขึ้น ผบ.ทบ. ต้องไม่ลืมว่าในระบอบประชาธิปไตยนั้นทุกคนมีสิทธิในการคิด การพูด และการแสดงความคิดเห็น ส่วน ผบ.ทบ. ต้องพูดความจริงและมีความอดทน ไม่ใช่คิดว่าเป็น ผบ.ทบ. แล้วใครก็แตะต้องไม่ได้

ทหารต้องอยู่ภายใต้รัฐบาล

ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงบทบาทของกองทัพไทยตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ว่ามีบทบาทในสังคม อย่างกว้างขวางมาก จนกระทั่งพูดว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากกอง ทัพก็อยู่ไม่ได้ ทั้งที่ควรตั้งคำถามว่ากองทัพเข้ามามีบทบาทสูงเช่นนี้ดีหรือไม่ดี จะเกิดผลพวงต่อพัฒนาการของสังคมและแนวโน้มในอนาคตอย่างไร โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายที่ก่อนปี 2549 นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้พิจารณาและเสนอให้ทรงลงพระปรมาภิไธย แต่นับตั้งแต่ปี 2551 กลับต้องผ่าน พ.ร.บ. กระทรวงกลาโหม ทำให้โผทหารประจำปีอยู่ในกำกับ ของคณะกรรมการที่มีผู้นำกองทัพเป็นเสียงข้างมาก

ดร.ผาสุกยังชี้ว่า ไม่มีประชาธิปไตยที่ไหนในโลกที่ตำแหน่งสำคัญในกองทัพรัฐบาลแทบจะไม่มีบทบาท เข้าไปเกี่ยวข้อง และในระบอบประชาธิปไตยทั่วไปบทบาทของผู้นำฝ่ายทหารมีจำกัด แต่ผู้นำกองทัพไทยกลับมีบทบาทหลายสถานะ ใส่หมวกหลายใบ ทั้งยังออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อบ่อยครั้ง ทั้งเรื่องนโยบายต่างประเทศและการเมือง โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์และประชาธิปไตย ซึ่งเหมือนดูดีแต่ต้องยอมรับว่าเป็นไปอย่างมีนัย

กล้าปลด ผบ.ทบ.?

รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย จึงไม่สามารถมองข้ามบทบาทและอำนาจของกองทัพในปัจจุบันได้เลย โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก หากไม่มีการ “ปฏิรูปกองทัพ” เพื่อดึงกองทัพกลับเข้าไปอยู่ในระบบเพื่อทำหน้าที่ด้านความมั่นคงอย่างนานา ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยก็ไม่มีใครเชื่อว่าประเทศไทยจะไม่เกิด การปฏิวัติรัฐประหารอีก แม้เป็นเรื่องยากที่ จะทำให้ทหารเป็นฝ่ายปฏิรูปภายในเอง เพราะกองทัพไทยอยู่ในลักษณะรวมศูนย์ที่อำนาจที่แท้จริงอยู่ที่ผู้บัญชาการ ทหารบก ไม่ใช่ 5 เสือกองทัพอย่างที่พูดกัน

การปฏิรูปการเมืองจึงมีความสำคัญเช่นเดียวกับการปฏิรูปกองทัพที่ฝ่ายการ เมืองและกองทัพจะต้องก้าวไปด้วยกัน แต่กองทัพยังคิดว่าตัวเองใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุด แม้แต่คำว่าประชาธิปไตยก็ต้องอยู่ภายใต้กองทัพ

เพราะฉะนั้นหากต้องการให้ประชาธิปไตยมีความมั่นคงอย่างแท้จริง ฝ่ายการเมืองคือรัฐบาลต้อง กล้าปฏิรูปกองทัพไปพร้อมกับการปฏิรูปการเมือง เพราะบ้านเมืองจะไปได้นั้นไม่ใช่แค่ได้ข้าราชการดีเท่านั้น แต่ต้องมีกองทัพที่ดีและ “ทหารดี” ด้วย

จึงเป็นเรื่องปรกติในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิที่จะเลือกตัวแทน ของเขามาเป็นรัฐบาล เพื่อมีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ และสามารถตรวจสอบการใช้เงินภาษีของประชาชนได้

กองทัพที่ดีและทหารดีต้องเคารพเสียงของประชาชน และเป็นสถาบันที่โปร่งใส พร้อมจะให้ตรวจสอบได้ เช่นเดียวกับข้าราชการและนักการเมือง

ไม่แน่…นอกเหนือจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยจะบันทึกว่า “เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง” แล้ว

บางที…อาจ “เป็นครั้งแรกที่ ผบ.ทบ. ถูกปลดออกจากตำแหน่งในช่วงที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง” ก็ได้

เพราะประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลที่มีอำนาจตามกฎหมาย โดยมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ถ้าเห็นว่า ผบ.ทบ. ไม่เคารพเสียงของประชาชน รัฐบาลต้องกล้าที่จะเปลื่ยน โยกย้าย หรือปลด ผบ.ทบ.

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับที่ 321 วันที่ 30 กรกฎาคม – 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554 หน้า 16 – 17
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
โดย : ทีมข่าวรายวัน


ครม.‘ปู1’เขย่าลงตัว‘ณัฐวุฒิ’โผล่นั่งรัฐมนตรีสำนักนายกฯ

ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเลือกประธานและรองประธาน สภาผ่านฉลุย คาดไม่เกินวันที่ 5 ส.ค. ประชุมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ส่วนคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเริ่มต้นทำงานได้ภายในวันที่ 8 ส.ค. รายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆลงตัวหมดแล้ว “วิชิต” นั่งควบรองนายกฯ รมว.คลัง “ชัจช์” รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง “สุรพงษ์” คุมไอซีที “ยุทธศักดิ์” นั่งว่าการกลาโหม “เฉลิม” กระทรวงยุติธรรม “วรวัจน์” รมว.ศึกษาธิการ “บุญทรง” ดูแลกระทรวงทรัพยากรฯ “วิกรม” ว่าการต่างประเทศ “อนุดิษฐ์” พัฒนาสังคมฯ “วิชาญ-อุดมเดช” ชิงคุมสาธารณสุข “อุไรวรรณ” รัฐมนตรีวัฒนธรรม “จารุพงศ์” ดูแรงงาน “ณัฐวุฒิ” ชื่อโผล่รัฐมนตรีสำนักนายกฯ เพื่อไทยตั้ง “วิทยา” ประธานวิปประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล “หมอชลน่าน” เป็นกระบอกเสียงในทำเนียบ

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรกเมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมาเพื่อเลือกประธานและรองประธานสภาใช้เวลาเพียงแค่ประมาณ 10 นาทีทุกอย่างก็เสร็จสิ้น เนื่องจากแต่ละตำแหน่งมีผู้เสนอชื่อให้เข้าดำรงตำแหน่งเพียงคนเดียวจึงไม่ ต้องมีการลงคะแนนเลือก แค่ใช้จำนวน ส.ส. 20 คนขึ้นไปรับรองรายชื่อที่ถูกเสนอเท่านั้น

คาดวันที่ 5 ส.ค. โหวตเลือกนายกฯ

สำหรับรายชื่อที่ถูกเสนอเป็นไปตามมติพรรคเพื่อไทยคือ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ส.ส.ขอนแก่น ถูกเสนอให้เป็นประธานสภา นายเจริญ จรรย์โกมล ส.ส.ชัยภูมิ เป็นรองประธานสภาคนที่ 1 และนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา เป็นรองประธานสภาคนที่ 2 ขั้นตอนหลังจากนี้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะทำเรื่องกราบบังคมทูล เพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้งต่อไป เมื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้งประธานและรองประธานสภาแล้วจะมีการประชุมสภาเพื่อ เลือกนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าน่าจะภายในวันที่ 4 หรือ 5 ส.ค. นี้

นายสมศักดิ์เปิดเผยหลังการประชุมสภาว่า ตั้งใจแก้ปัญหาสภาล่ม (องค์ประชุมไม่ครบ) ที่เกิดขึ้นบ่อยในสภาชุดที่แล้ว เชื่อว่าจะได้รับความร่วมมือจาก ส.ส. ด้วยดี เพราะการที่ไม่มีการเสนอชื่อแข่งชิงตำแหน่งถือเป็นการส่งสัญญาณว่าทุกคนต้อง การให้เกิดความปรองดอง

“ปู” อยากสรุปรายชื่อ ครม. ให้เร็วที่สุด

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ว่าที่นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่านายวิสุทธิ์จะไม่มีปัญหาในการทำหน้าที่รองประธานสภา แม้จะมีส่วนพัวพันกับคดีระเบิดแมนชั่นที่บางบัวทอง ซึ่งเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง เพราะถือเป็นคนละส่วน

ว่าที่นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการจัดทำรายชื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าเสร็จสิ้นแล้วประมาณ 50% แต่ยังไม่นิ่ง ส่วนตัวอยากเข้าทำหน้าที่ให้เร็วที่สุดเพื่อทำงานให้ประชาชน

“เรื่องคณะรัฐมนตรีเมื่อเข้ารับตำแหน่งนายกฯอย่างเป็นทางการแล้วจะสรุปให้เร็วที่สุด”
ตั้ง “วิทยา” ประธานวิปรัฐบาล

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า พรรคได้เลือกผู้ที่จะทำหน้าที่ในคณะกรรมการประสานงาน (วิป) สภาผู้แทนราษฎรพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว โดยเลือกนายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา เป็นประธานวิปรัฐบาล

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ยังไม่ได้รับการทาบทามจากผู้ใหญ่ในพรรคเรื่องตำแหน่งรัฐมนตรี เข้าใจว่าต้องรอการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการก่อน

“ผมอาจไม่ได้เลยสักตำแหน่งก็ได้ พูดอย่างนี้ไม่ได้น้อยใจเพราะผมเป็นแค่ตัวเล็กๆในพรรค คนข้างนอกอาจจะมองว่าผมมีบทบาทช่วยเหลือพรรคมากในการปราศรัยหาเสียงเลือก ตั้ง แต่คนในพรรคเขามองว่าเป็นแค่สีสันของการหาเสียงเท่านั้น”

เพื่อไทยจอง 30 ตำแหน่ง

สำหรับความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการจัดทำรายชื่อคณะรัฐมนตรี มีรายงานว่า พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลจะได้โควตาทั้งหมด 30 ตำแหน่ง พรรคร่วมรัฐบาลได้ 5 ตำแหน่ง

ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกวางตัวไว้ที่ค่อนข้างลงตัวแล้วในส่วนของพรรคเพื่อไทยประกอบด้วย นายวิชิต สุรพงษ์ชัย เป็นรองนายกรัฐมนตรีควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีด้านสังคม, พล.ต.ท.ชัจช์ กุลดิลก รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง

ส่ง “เฉลิม” คุมกระทรวงยุติธรรม

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอทีซี, พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นางบุญรื่น ศรีธเรศ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายวิกรม คุ้มไพโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, นายต่อพงษ์ ไชยสานต์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ

“ณัฐวุฒิ” โผล่นั่งรมต.สำนักนายกฯ

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, นายวิชาญ มีนชัยนันท์ หรือนายอุดมเดช รัตนเสถียร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นางอุไรวรรณ เทียนทอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม, นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ หรือนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำเสื้อแดง เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

“ชลน่าน” ได้เก้าอี้โฆษกรัฐบาล

ส่วนผู้ที่จะได้รับตำแหน่งค่อนข้างแน่นอนแต่ยังไม่ลงตัวว่าจะอยู่ที่ กระทรวงใด ประกอบด้วย นายศักดา กงเพชร ส.ส.ร้อยเอ็ด นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ประธานภาคอีสาน นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ คนสนิท ร.ต.อ.เฉลิม และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว จะได้เป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล พรรคชาติไทยพัฒนาจะได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และรองนายกรัฐมนตรี พรรคพลังชลได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ส่วนพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินได้ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง

สำหรับรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะมีการนำขึ้นทูลเกล้าฯหลังมีพระบรมราช โองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแล้ว คาดว่าภายในวันที่ 8 ส.ค. นี้

ที่มา : โลกวันนี้ 3 สิงหาคม 2554


คนส่วนใหญ่รับไม่ได้ แต่..

คนไทยส่วนใหญ๋รับไม่ได้กับทักษิณที่มีส่วนในหุ้นชิน แต่รับได้กับมาร์คทีมีลุงนั่งกรรมการ True มีพ่อนั่งกรรมการ CP แล้ว True ได้ทำ 3G ไปแบบผู้บริหาร TOT ลาออกไปครึ่ง อีกทั้งคนไทยกลับรับได้ที่กรณ์มีญาตินั่งกรรมการ Loxley ในขณะที่ตัวเองออกมาปั่นหุ้นหวยออนไลน์

คนไทยรับไม่ได้กับแม้วที่ซื้อขายที่ดินรัชดา แต่กลับรับได้กับสุรยุทธ์ที่เอาที่ดินเขายายเที่ยงไปฟรีๆแค่คืนก็จบโดยไม่ คิดคุกอะไรเลย ถ้าคนตำแหน่งขนาดนั้นอ้างว่าไม่รู้ ผมว่าแม้วก็อ้างได้ครับว่าไม่รู้ หรือแม้กระทั้งเทพเทือกกับลูกชาย ฮุบเขาเป็นลูกๆ คนไทยก็รับได้

คนไทยรับไม่ได้ที่ดาวเทียมไทยคมตัวสำรองดีกว่าตัวหลัก แต่คนไทยรับได้ที่กรณ์อออกมาปั่นหุ้นโดยบอกว่าเรื่องนี้ผิด ดาวเทียมสำรองต้องห่วยเท่าตัวเดิม ดีกว่าตัวเดิมไม่ได้ พอปั่นหุ้นกันจนอิ่มแล้วเรื่องก็เงียบไป ที่สำคัญตอนรํฐบาลสุรยุทธ์เป็นนายก สิริโชค โสภาบอกเองว่าเอากลับไม่ได้ พอตัวเองเป็นรัฐบาล เล่นข่าวว่าจะเอากลับมาเป็นของคนไทยซะงั้น

คนไทยรับไม่ได้กับพวกเผาบ้านเผาเมือง แต่กลับเพิกเฉยต่อคำให้การของทีมนักดับเพลิงและทีมงานของห้าง Central world ที่ออกมาบอกว่าพวกคนในเครืองแบบกันไม่ให้เข้าไปดับเพลิง

คนไทยรับไม่ได้กับพสิษฐ์ที่ออกมาปล่อยคลิปทนาย ปชป เข้าพบศาลรัฐธรรมนูญ แต่กลับรับได้ที่ทนายปชปมีการนัดพบคุยกันกับศาล รธน ก่อนตัดสินยุบพรรค ปชป ที่สำคัญคนไทยรับได้ถ้าจะเปิดพจนานุกรมเพื่อสนองเจตนารมณ์ของกฎหมายในการเอา ผิดสมัคร แต่รับไม่ได้ถ้าจะอ้างเจตนารมณ์ของกฎหมายในการยุบ ปชป

คนไทยรับไม่ได้ที่ corruption ของแม้วสูงมาก แต่คนไทยกลับรับได้ว่าช่วงยุคมาร์ค corruption index สูงกว่าช่วงแม้วเป็นนายก แถมบางเรื่องของกองทัพมันชัดเจน แต่คนไทยก็ยังรับได้ เช่น CTX คนไทยบอกว่าทักษิณโกงต้องลงโทษ แต่ GT200, รถถังหุ้มเกราะ รถดับเพลิง กทม ไม่เป็นไร โกงแบบนี้รับได้

คนไทยรับไม่ได้ที่จะใช้กฎหมายย้อนหลังเอาผิด ปชป ในกรณี ปรส หรือสปก 4-01 แต่คนไทยรับได้ที่จะออกกฎหมายย้อนหลังเอาผิดแม้ว

คนไทยรับไม่ได้ที่คนไทยจำนวนมากจะเลือกเพื่อไทยมานิรโทษกรรมแม้ว แต่คนไทยรับได้ถ้าทหารจะปฏิวิติเข้ามาแล้วนิรโทษกรรมตัวเอง

คนไทยรับไม่ได้ที่ต้องใช้น้ำมันแพงในยุคแม้วซึ่งขณะนั้นราคาน้ำมันดิบโลก 140 USD/Barrel แต่คนไทยรับได้ที่จะใช้น้ำมันราคาเดียวกันในยุคมาร์คในขณะที่ราคาน้ำมันดิบ โลกอยู่ที 100 USD/Barrel รับได้ที่มาร์คโกหกว่าจะยกเลิกกองทุนน้ำมันใน 90 วัน

คนไทยรับไม่ได้กับประชานิยมแม้ว แต่กลับรับได้กับประชานิยมมาร์คซึ่งทำเยอะกว่าแม้วอีก เข้ามาเป็นรัฐบาลก็แจกเงินก่อนเลยสองพันที่สำคัญคือแจกคนมีอันจะกินที่มีใน รายชื่อประกันสังคม ทั้งยังช่วยแก้หนี้บัตร credit ก่อนยุบสภาให้คนมีอันจะกินอีกทำ KTB, KTC หุ้นร่วงเลย

ผมอยากจะบอกแค่ว่ามันไม่มีใครดีใครเลวไปซะทั้งหมด คนไทยอยากได้ใครก็เลือกเอา แต่การที่กรณ์หาเสียงโดยการ discredit คนอื่นโดยที่ไม่พยายามชูนโยบายที่ซื้อใจคน ผมว่าไม่แมนเท่าไหร่ครับ

กับตำแหน่งขุนคลังโลก ผมยังเฉยๆครับ ถ้าตราบใดยังแก้ปัญหาเศรษฐกิจในบ้านตัวเองไม่ได้ ตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีในประเทศ ภาคเอกชนเค้าก็ดิ้นรนกันเองล้วนๆ ไม่เห็นนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาลชุดนี้ในการเปิดตลาดใหม่ๆให้กับภาคเอกชนเลย

ข้อความจากคุณเชิงชาย รัตนพลแสนย์


ถ้อยคำจาก ′หมู่บ้านแดง′

หนังสือพิมพ์มติชนรายวันหยิบยืมบทรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่ตีแผ่หมู่บ้านคนเสื้อแดงที่หนองหูลิง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

หลังจากนั้นก็พบว่าหมู่บ้านคนเสื้อแดงมีอยู่ทุกที่ทุกทาง จึงถือโอกาสที่ข่าวคราวกำลังน่าสนใจ ขอความช่วยเหลือจากผู้สื่อข่าวที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลเข้าไปถามไถ่

ทำไมจึงเป็นหมู่บ้านคนเสื้อแดง

คำตอบที่ได้รับมาจากปากคำของชาวบ้าน น่าบันทึกไว้

ร.ต.ต.กมลศิลป์ สิงหสุริยะ ประธานกลุ่มเสื้อแดงอุดรธานี ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงแห่งแรกในประเทศไทย บอกว่า “หมู่บ้านเสื้อแดง” เกิดขึ้นจากการที่กลุ่มคนเสื้อแดงที่ไปรวมตัวเรียกร้องประชาธิปไตยที่ กรุงเทพฯ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียุบสภา แต่นายกฯไม่ยุบ คนที่ชุมนุมถูกปราบปราม

เขาให้สัมภาษณ์แบบนี้ แม้รัฐบาลจะบอกว่าไม่ได้ปราบปราม แต่เขารู้สึกว่าถูกปราบปราม

พอยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แกนนำถูกจับ ชาวบ้านที่เหลือมาคุยกัน และตั้งให้ ร.ต.ต.กมลศิลป์เป็นประธาน

เกิดความคิดไปสำรวจหาหมู่บ้าน พบมีคนเสื้อแดงอยู่ 60-70 เปอร์เซ็นต์ แล้วมาจัดทำกิจกรรมตั้งเป็นหมู่บ้านเสื้อแดงขึ้น

วันที่ 15 ธันวาคม 2553 ไปทำกิจกรรมที่บ้านหนองหูลิง อำเภอเมืองอุดรธานี และถือโอกาสปักป้ายหมู่บ้านเสื้อแดง

การรวมตัวของคนเสื้อแดง มีจุดยืน 3 ข้อ

1. เรียกร้องประชาธิปไตยที่ถูกต้องและเต็มใบ

2. ขอความเป็นธรรมให้ปล่อยแนวแนวร่วมที่ถูกคุมขังอยู่ทั่วประเทศ

3. ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับมาบริหารประเทศ

หลังจากนั้นผู้สื่อข่าวได้ติดตามต่อไปโดยพบว่าหมู่บ้านเสื้อแดงมีอยู่ในหลายๆ จังหวัด

ที่จังหวัดขอนแก่น นายชัชวาล ต้นกันยา ชาวบ้านหมู่บ้านเสื้อแดง บอกว่า คนในหมู่บ้านมีทั้งสิ้น 300 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่เป็นคนเสื้อแดง

สมาชิกกลุ่มคนเสื้อแดงมีมาตรฐานเดียว รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ช่วยเหลือคนในชนบท สามารถจับต้องได้ ขณะที่รัฐบาลปัจจุบันเป็นแบบสองมาตรฐาน

ที่จังหวัดมหาสารคาม นายพงษ์ศักดิ์ แก่นสุวรรณ ผู้ใหญ่บ้านหนึ่งใน 3 หมู่บ้านเสื้อแดง เล่าว่า หมู่บ้านเสื้อแดงเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มคนที่มี อุดมการณ์ทางการเมืองเหมือนกัน

ถือเป็นสิทธิของแต่ละคนหรือกลุ่มบุคคลมากกว่า

เช่นเดียวกับนายผจญศักดิ์ ศรีเพียวงศ์ รองนายก อบต.หัวขวาง อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ที่บอกว่า หมู่บ้านเสื้อแดงเป็นเพียงสัญลักษณ์ความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง

เป็นความเคลื่อนไหวที่มีจุดประสงค์เดียวกับหมู่บ้านที่หนองหูลิง อุดรธานี

อ่านดูอย่างผิวเผินอาจไปหลงติดอยู่กับตัวคน คือ คุณทักษิณ

แต่ลองอ่านความคิดชาวบ้านที่มีต่อคุณทักษิณดูสิครับ

รัฐบาลทักษิณช่วยคนชนบท สามารถจับต้องได้

ช่วยคนจน คนชนบท รัฐบาลอภิสิทธิ์เขาก็บอกว่าทำอยู่

แต่ “สามารถจับต้องได้” นี่เป็นความรู้สึกครับ

เป็นความรู้สึกที่สร้างขึ้นมาไม่ได้ง่ายๆ

แต่พอสร้างขึ้นมาได้แล้ว ก็ยากจะลบเลือน

ถ้อยคำจาก “หมู่บ้านแดง” พอจะทำให้พรรคการเมืองและนักการเมืองมีแรงบันดาลใจอะไรบ้างไหม?

ที่มา : มติชนรายวัน 14 มิถุนายน 2554
โดย : นฤตย์ เสกธีระ

 


ธาตุแท้

เชื่อว่าประชาชนจำนวนมากคงรู้สึกเบื่อหน่ายและ อึดอัดกับพฤติกรรมของหลายพรรคการเมืองขณะนี้ที่วนเวียนอยู่กับเรื่องของ อำนาจและผลประโยชน์ว่าพรรคใดจะได้เป็นรัฐบาล และพรรคใดจะได้ร่วมรัฐบาล แทนที่จะเอานโยบายมาเสนอประชาชนให้ชัดเจนไปเลยว่าหากเป็นรัฐบาลจะทำอะไรก่อน และหลังบ้าง หากทำไม่ได้ก็ประกาศให้ชัดเจนไปเลยว่าจะแสดงสปิริตทางการเมือง ไม่ว่าจะลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองหรือยุบสภาเลือกตั้งใหม่ตามระบอบ ประชาธิปไตย

โดยเฉพาะการหาเสียงในลักษณะใส่ร้ายป้ายสีต่างๆ รวมถึงการออกมาเคลื่อนไหวของเครือข่ายพลเมืองคัดค้านนิรโทษกรรมคอรัปชั่น ทักษิณ (คนท.) ที่นำโดยนายแก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน (กลุ่มคนเสื้อหลากสี) นำข้อมูลเข้าร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และอัยการ เพื่อให้สอบสวนคุณสมบัติ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 พรรคเพื่อไทย ว่าแจ้งเท็จต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้การเท็จต่อ คตส. และเบิกความเท็จต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 46,000 ล้านบาท ซึ่งหลังศาลมีคำพิพากษายังไม่มีหน่วยงานใดเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนิน การ

อย่างไรก็ตาม คนจำนวนไม่น้อยตั้งคำถามว่าทำไมนายแก้วสรรและพวกจึงออกมาเคลื่อนไหวในขณะนี้ แม้นายแก้วสรรจะอ้างว่าเป็นการกระทำเพื่อแผ่นดิน ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็ยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับพรรคประชาธิปัตย์ แต่มีคำถามว่าทำไม คนท. จึงสอดรับกับพรรคประชาธิปัตย์ที่โจมตี น.ส.ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยเรื่องการนิรโทษกรรมและแผนบันได 4 ขั้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณเตรียมฟ้องร้องพรรคประชาธิปัตย์ว่านำข้อมูลเท็จมาใส่ร้ายป้ายสี เช่นกัน

เช่นเดียวกับนายอภิสิทธิ์ที่เขียนบันทึกเผยแพร่ทางเฟซบุ๊คว่า เกือบ 20 ปีบนเส้นทางการเมืองยึดมั่นในอุดมการณ์การเมืองระบอบประชาธิปไตย จึงเคารพเสียงของประชาชนที่จะตัดสินใจว่าต้องการให้ประเทศไปทางไหน และพรรคใดเป็นรัฐบาล

จึงมีคำถามถึงนายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ว่า แล้วทำไมจึงประกาศจะจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคเพื่อไทย แม้พรรคประชาธิปัตย์ได้จำนวน ส.ส. เป็นอันดับ 2 ก็ตาม โดยอ้างรัฐธรรมนูญที่ให้ถือเสียงข้างมากในสภานั้น เท่ากับพรรคประชาธิปัตย์และนายอภิสิทธิ์ไม่เคารพเสียงของประชาชนหรือไม่ หากยึดตามเสียงข้างมากของประชาชนที่ต้องถือว่ามีเจตจำนงให้พรรคการเมืองที่ ได้อันดับ 1 เป็นรัฐบาล แม้จะชนะไม่เกินกึ่งหนึ่งก็ตาม ซึ่งนายอภิสิทธิ์น่าจะตอบได้ดีว่าระหว่างเสียงของนักการเมืองกับเสียงของ ประชาชนนั้นใครมีความชอบธรรมกว่ากัน

ที่มา : โลกวันนี้รายวัน 8 มิถุนายน 2554