“มาร์ค” กลัวเปียก

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญเสียแล้ว สำหรับข้อกล่าวของพรรคเพื่อไทยเรื่องการทำงานที่ล่าช้าของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ล่าสุดเกิดภัยพิบัติขึ้น 2 เหตุการณ์ใหญ่ๆ ในไทย

เหตุการณ์แรกแผ่นดินไหวเขย่าภาคเหนือจนเกิดความเสียหายในหลายจังหวัดเมื่อคืนวันพฤหัสฯที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา ตามติดๆ ด้วยเหตุการณ์ฝนถล่มจนเกิดน้ำท่วมใหญ่(อีกครั้ง)ใน 12 จังหวัดภาคใต้

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทยวิพากษ์การทำงานของนายอภิสิทธิ์ที่นิ่งดูดาย ไม่ใส่ใจความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โจมตีว่าเป็นนายกฯเทวดา กลัวตาย กลัวเปียก

ที่ว่าล่าช้าก็มีมูลจริงๆ เพราะว่าทั้ง 2 เหตุการณ์ล่วงเลยมา 3-4 วันแล้ว ชาวบ้านไม่เคยเห็นนายอภิสิทธิ์ลงพื้นที่ดูความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวเลย

จนมองกันว่าเพราะกลัวอาฟเตอร์ช็อกหรือเปล่า !?

ส่วนน้ำท่วมใหญ่และโคลนถล่ม ทั้งที่จ.นครศรีธรรม ราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร พัทลุง ตรัง ฯลฯ สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินมหาศาล ผ่านมาแล้ว 3-4 วัน พี่น้องชาวปักษ์ใต้ก็ไม่เห็นเงานายอภิสิทธิ์ลงไปดูแล

ทั้งที่เป็นพื้นที่ฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์แท้ๆ

ความจริงเรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นแล้ว นายอภิสิทธิ์โดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในการแก้ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ทั่วประเทศเมื่อปีก่อน ความอืดอาดล่าช้าเป็นที่ประจักษ์กันอยู่แล้ว กว่าจะยอมลุยน้ำเข้าไปเยี่ยมผู้ประสบภัยก็ปล่อยให้ล่วงเลยกันจนน้ำใกล้แห้ง

พิธีกรรายการทีวีอย่างนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ยังได้รับยกย่องมากกว่านายกรัฐมนตรี ในการออกไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในครั้งนั้น

หลังน้ำลดลงแล้ว นโยบายการช่วยเหลือของรัฐบาลก็ยังช้ายิ่งกว่าเรือเกลือ เงินเยียวยากว่าจะถึงมือชาวบ้านก็ต้องทวงแล้วทวงอีก ยิ่งการป้องกันอุทกภัยก็ถือว่าล้มเหลว ไม่มีการเตรียมการรับมือให้เป็นรูปธรรม ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กรมอุตุนิยมวิทยาเคยประกาศเตือนแล้วว่า ในปีนี้จะมีพายุดีเปรสชันเข้าถล่มไทยถึง 5 ลูกใหญ่

แค่พายุลูกแรกก็อ่วมไปทั้งภาคใต้

ไม่อยากย้ำจริงๆ ว่านี่คือผลพวงของนายกฯบ่มแก๊ส

เจียดเวลาขึ้นโพเดียมปาฐกถาไปดูความทุกข์ยากของประชาชนบ้าง จะเป็นประโยชน์มากกว่านี้อีกเยอะ

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ 30 มีนาคม 2554
คอลัมน์ : เหล็กใน


แก้ไม่เป็น

ที่มา : ข่าวสด 8 พฤศจิกายน 2553 หน้า 6
โดย : เหล็กใน

น้ำท่วมหนักในพื้นที่ 30 จังหวัดถือเป็นปัญหาใหญ่ เป็นมรสุมที่โหมกระหน่ำใส่คนไทยทั้งประเทศ เพราะกระทบต่อคนส่วนใหญ่ ส่งผลโดยตรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

ยอดผู้เสียชีวิตนับว่าไม่น้อยเลย แค่ช่วง 2-3 สัปดาห์มีผู้ประสบภัยน้ำท่วมเสียชีวิตไปแล้วเกือบ 150 ศพ

ยังมีตัวเลขความเสียหายประเมินกันคร่าวๆ หลายหมื่นล้านบาททีเดียว

เป็นความสูญเสียที่ต้องเร่งเยียวยา

แต่การแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทั้งเรื่องความพร้อมในการรับมือ การป้องกัน และการช่วยเหลือเยียวยา

จริงอยู่ภัยธรรมชาติไม่มีใครคาดการณ์ได้ล่วงหน้า แต่รัฐบาลสามารถเตรียมความพร้อมในการป้องกันไว้ก่อน จะได้ผ่อนหนักเป็นเบา และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้วก็ต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือให้ทันท่วงที

จุดนี้รัฐบาลถูกมองว่าแก้ปัญหาล่าช้ากว่าภาคเอกชนเสียอีก

หลัง เกิดน้ำท่วมที่ภาคอีสานและภาคกลางใหม่ๆ รัฐบาลก็ไม่ได้มีการตั้งศูนย์แก้ปัญหาขึ้นมาทันที ปล่อยให้ล่วงเลยไปหลายวันถึงจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจขึ้นมา

ตรงนี้ถือว่าล่าช้าอย่างมาก

ตัวนายกฯมาร์คเองเวลาไปตรวจน้ำท่วมใหม่ๆ ก็สวมเชิ้ตขาวผูกเนกไท นั่งเรือนั่งรถ โบกมือโบกไม้ให้ชาวบ้าน

ไม่ยอมย่ำน้ำว่างั้นเถอะ

พอโดนวิพากษ์วิจารณ์ก็รีบเปลี่ยนท่าที เป็นนุ่งกางเกงยีนส์สวมบู๊ตลุยน้ำ

เรื่องแบบนี้อย่าไปมองว่าสร้างภาพ

การเข้าถึงชาวบ้านให้ได้ มัดใจประชาชนให้อยู่

อย่างแรกต้องแสดงออกอย่าง “จริงใจ” ไม่ใช่กล้าๆ กลัวๆ แบบนี้

นายกฯ มาร์ค ต้องไม่ลืมว่าการแก้ปัญหาระดับชาติที่ผ่านมายังถือว่าล้มเหลวอยู่

มรสุมลูกเดิมยังไม่ผ่านพ้นไป

เรื่องความขัดแย้งของคนในชาติยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย

ประเด็นอยู่ที่ว่ารัฐบาลยังมองกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยเป็นศัตรู ยังมองคนเสื้อแดงเป็นฝ่ายค้าน คิดเพียงว่ารัฐบาลจะมั่นคงได้ ต้องคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้อย่างนี้

ล่าสุด “บิ๊กจิ๋ว”พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ออกมาเตือนสตินายกฯมาร์คว่า

“หากนายอภิสิทธิ์อยากจะแก้ปัญหาความขัดแย้งในชาติ อย่างแรกเลยต้องมีหัวใจของผู้นำ หัวใจของนายกฯ ไม่มองคนอื่นเป็นอริ ไม่มองเป็นคู่ขัดแย้ง แต่ต้องเป็นพี่น้องคนไทยด้วยกัน”

บิ๊กจิ๋วยังหยิบยกปัญหาความขัดแย้งในอดีตขึ้นมาเป็นตัวอย่าง สอนนายกฯมาร์ค

ปัญหาคอมมิวนิสต์ที่ผ่านมาลุล่วงได้ดี เพราะยึดหลักเสรีภาพ-เสมอภาค

สถานการณ์ตอนนี้ไม่แตกต่างไปจากอดีต

คนเสื้อแดงถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย โดนไล่ล่าจนต้องลงใต้ดิน

หากนายกฯมาร์คจะแก้ปัญหาคนเสื้อแดงก็ต้องจริงใจ เลิก 2 มาตรฐาน เคารพความเห็นต่าง คืนความเสมอภาคให้คนเสื้อแดง

ปัญหาก็จะเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีแน่นอน

 


น้ำท่วมศาล

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข 6 – 12 พฤศจิกายน 2553 หน้า 18-19
คอลัมน์ เรื่องจากปก
โดย ทีมข่าวรายวัน

“คณะกรรมการได้สรุปไปด้วยว่านายวิรัชมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ทำไม่ถูกไม่ควร ไปพบกับนายพสิษฐ์ และที่เขาถามนำก็ไม่ควรตอบให้เกี่ยวพันโยงใยถึงขนาดนั้น เพราะรู้อยู่แล้วว่านายพสิษฐ์เป็นเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่ตัวเองเป็นทีมกฎหมายของพรรคยิ่งไม่ควรไป เพราะผูกโยงกันอยู่ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเกิดผลกระทบต่อพรรค ทำให้คนรู้สึกคลางแคลงใจสับสนในพรรคว่าเป็นอย่างไรกันแน่ ส่วนบทลงโทษจะกระทบต่อตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคของนายวิรัชหรือไม่นั้นอยู่ ที่ดุลยพินิจของหัวหน้าพรรคที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับพรรคข้อที่ 79 คือการตักเตือนหรือภาคทัณฑ์”

นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.ตาก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีนายวิรัช ร่มเย็น ส.ส.ระนอง ปรากฏตัวในคลิป และหารือกับนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยจะให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายก-รัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตัดสินใจดำเนินการต่อ

ขณะที่ นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ อ้างว่าเป็นกระบวนการทำลายความน่าเชื่อถือของ ศาลรัฐธรรมนูญ และกล่าวหาว่าพรรคเพื่อไทยพยายามสร้างกระแสว่าหากไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ เช่นเดียวกับพรรคการเมืองอื่นที่ถูกยุบไปก่อนหน้านี้จะเป็น 2 มาตรฐาน โดยเฉพาะนายจาตุรนต์ ฉายแสง ที่ออกมาแสดงจุดยืนสอดรับว่ามีการพิจารณา 2 มาตรฐาน และเรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลาออกทั้งคณะ เพื่อสร้างกระแสสังคมให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ความจริงในมุมมืด?

ผลการสอบสวนของพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่ได้ทำให้คนทั่วไปแปลกใจที่ระบุว่า นายวิรัชไม่ผิดและมีโทษ เบาหวิว ทั้งที่คำพูดในคลิปเชื่อมโยงถึงคดียุบพรรคประชาธิปัตย์โดยตรง และนายวิรัชยอมรับว่าได้พบกับนายพสิษฐ์หลายครั้งก่อนหน้านี้

เช่นเดียวกับผลการสอบสวนของศาลรัฐธรรมนูญที่มีนายสนิท จรอนันต์ ที่ปรึกษาสำนัก งานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีคลิปการหารือของคณะตุลาการศาลรัฐ ธรรมนูญในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์หลุดออกไปเผยแพร่ต่อสาธารณชน เปิดเผยว่า จะสรุปผลการสอบให้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป คณะกรรมการทำได้แค่การประมวลเรื่องราวว่ามีใครเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง หากมีเจ้าหน้าที่ของศาลเข้าไปเกี่ยวข้องต้องดำเนินการภายในตามกระบวนการทาง วินัย ส่วนทางตำรวจก็สอบสวนหาว่าใครเป็นคนทำคลิปและนำไปเผยแพร่ แม้แต่นายพสิษฐ์ยังสรุปไม่ได้ว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่

ดังนั้น ผลการสอบสวนคลิปฉาวของพรรคประชาธิปัตย์และศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้ตอบข้อ กังขาหรือข้อสงสัยของสังคมว่ามีการพยายามใช้อำนาจทางการเมืองแทรกแซงศาลรัฐ ธรรมนูญหรือไม่ และตุลาการศาล รัฐธรรมนูญยังเป็นองค์กรที่มีความสุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่

เพราะคลิปที่ถูกเผยแพร่ 2 ชุดคือ ชุดแรก 5 ตอน เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม และชุดที่สอง 3 ตอน เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม กลายเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่อาจทำลายศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันตุลาการให้หมดความ น่าเชื่อถือจากประชาชน โดยเฉพาะคลิปชุดที่ 2 ยิ่งตอกย้ำความขัดแย้งและพฤติกรรมไม่เหมาะสมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะจริงหรือเท็จอยู่ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า “จะทำความจริงให้ปรากฏ” หรือปกปิดความจริง และปล่อยให้เรื่องเงียบหายไปเอง โดยเพิกเฉยต่อความเชื่อถือและศรัทธาของประชาชน

ปฏิรูปหรือยุบทิ้ง?

เสียงที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปศาลทั้งระบบจึงดังมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญที่มีการเสนอให้ยุบทิ้งเพื่อไม่ให้ศาลต้องถูกครหาว่า เป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมือง แม้แต่ตุลาการจำนวนไม่น้อยต้องการให้ดึงศาลกลับมา เพราะไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง หรือศาลฎีกาแผนกคดี อาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทาง การเมือง ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือเกี่ยวข้องกับการเมืองได้ เพราะรัฐ ธรรมนูญบัญญัติให้ใช้อำนาจหน้าที่กับองค์กรของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ยังมีผลไปถึงเรื่องสิทธิ เสรีภาพของประชาชนและการควบคุมตรวจสอบต่างๆ

โดยเฉพาะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สุดและเด็ดขาด มีผลผูกพันบุคคล องค์กร และหน่วยงานของรัฐทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ จึงต้องยอมรับผลกระทบจากทุกฝ่าย

ตุลาการจึงต้องมีจรรยาบรรณ โดยเฉพาะความสุจริตเที่ยงธรรม ต้องไม่มีแม้แต่ความอคติ หรือความชอบ ความเกลียดชังส่วนตัว เพื่อยืนหยัดในความถูกต้อง ต้องพร้อมถูกตรวจสอบและถูกยื่นถอดถอนจากวุฒิสภา

วิกฤตศาลรัฐรรมนูญขณะนี้จึงส่งผลกระทบต่อตุลาการทั้งระบบ หลังจากก่อนหน้านี้มีการวิพากษ์วิจารณ์ “ตุลาการภิวัฒน์” ที่กล่าวหา 2 ประมุขศาลว่าเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทำให้บ้านเมืองวิกฤตและกลายเป็น “ตุลาการวิบัติ” ขณะนี้

ชาวเน็ตจวกเละ

วิกฤตหรือความเสื่อมที่เกิดขึ้นกับศาลรัฐธรรมนูญยังดูได้จากกระแสสังคม ชาวเน็ตที่แห่เข้าชมคลิปฉาว 3 ตอนใหม่หลังจากถูกเผยแพร่ไม่กี่วัน ปรากฏว่ามียอดเข้าชมหลายหมื่นครั้ง แถมโพสต์จวกเละว่าถ้าบทสนทนาเป็นความจริงก็ถือเป็นความเสื่อมเสียอย่างยิ่ง กับกระบวนการยุติธรรม บางคนเชื่อว่าตุลาการไม่มีอิสระ ถูกอำนาจมืดแทรกแซง และเรียกร้องให้ลาออก แต่มีบางกลุ่มโพสต์ให้กำลังใจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและนายอภิสิทธิ์ให้ทำงาน ต่อไป

อย่างผู้ใช้นาม TheFlukemon ระบุว่า “ผมไม่สนใครถ่ายคลิป ใครปล่อยคลิป ผมสนใจแต่ที่เขาพูดในคลิป 3 คลิปนี้ไม่จัดฉาก ถามเองตอบเองแน่ ฟังเขาพูดก็รู้แล้ว” bestbuysiam ระบุว่า “โดนเต็มๆ บอกตรงๆ เลยว่าควรปลดได้แล้ว ถ้าไม่ปลดแสดงว่าสมรู้ร่วมคิดกัน เผด็จการมันเป็นแบบนี้นี่เอง” genotype1000 ระบุว่า “วันนี้สื่อกระแสหลักไม่ใช่สื่อที่เป็นกลางอีกต่อไป สื่อที่เห็นแก่ผลประโยชน์ไม่สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ ยุคนี้สื่อซื้อได้ถ้ามีเงินและปืน” kazilong ระบุว่า “ศาลประเทศนี้เป็นอย่างนี้นี่เอง สงสารประ- เทศนี้จริงๆ” DonXedoza ระบุว่า “นี่เพียงแค่ซ้อมละครเรื่อง “น้ำท่วมฟ้า ปลากินดาวเท่านั้นแหละ”

songthai ระบุว่า “มันชัดเจนแล้วว่าพวกมันเป็นพวกเดียวกันหมดอย่างที่เขาว่ากันจริงๆด้วย นี่แหละหนอมือที่มองไม่เห็นที่คอยบงการประเทศไทยที่คุณสมัครว่าไว้ อำมาตย์ครอบงำชาติหมด แล้ว” และข้อความว่า “เป็นกลางยังไง คนทั่วประเทศตาสว่างแล้ว พูดมาได้พวกมัน!!! อย่างโน้นอย่างนี้ เรียกฝ่ายโจทก์คือพรรคเพื่อไทยว่าพวกมัน เรียก ส.ส.เพื่อไทยว่าไอ้ตู่!! เหอๆ แถมยังเตรียมอีกเพียบ แต่แหกหมดแล้วครับ เจอแฉไปอีกรอบ!!! นี่แหละคนที่ คมช. ตั้งขึ้นมา” bundit1180 ระบุว่า “พระบิดาแห่งกฎหมายไทยเคยสอนไว้ว่า เอ็งกินเหล้าเมายาไม่ว่าหรอก…แต่อย่ากินสินบาทคาดสินบน ลืมหรือยังท่านระพีฯสอนไว้น่ะ”

ถามหาความรับผิดชอบ

แม้วันนี้จะมีเสียงเรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลาออกทั้งคณะ แต่พรรคประชาธิปัตย์ที่มีนายอภิ-สิทธิ์เป็นหัวหน้าไม่อาจปฏิเสธความรับผิด ชอบได้เช่นกัน หาก “ความจริง” ในคลิปไม่ปรากฏหรือยังคลุมเครือ แค่การตำหนินายวิรัชมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมเท่านั้น ทั้งที่นายวิรัชเป็นฝ่ายกฎหมายของพรรคและเป็น ส.ส. หลายสมัย จึงมีวุฒิภาวะมากพอที่จะรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก ก่อนหน้านี้มีกรณีนายทศพล เพ็งส้ม ส.ส.นนทบุรี พรรค ประชาธิปัตย์ ที่เป็นทีมกฎหมายของพรรคไปรับเอกสารจากเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญนอกสถานที่ ว่ามีเบื้องหลังอะไรหรือไม่ แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้คือความไม่เหมาะสม

กรณีคลิปฉาวคดียุบพรรคประชาธิปัตย์จึงอาจมองได้ทุกแง่มุม ไม่ใช่จะระบุทันทีว่าเป็นพรรคการ เมืองฝ่ายตรงข้าม แต่ไม่ว่าจะเป็นฝีมือของฝ่ายใด ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่าไม่ได้เป็น “โสเภณี” ที่ใครจะซื้อหรืออยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่มใดที่จะสั่งได้

ขณะเดียวกันมีเสียงเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์แสดงความรับผิดชอบด้วยการยุบ สภาและเลือกตั้งใหม่ เพราะไม่ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ออกมา อย่างไรก็มีข้อกังขาและถูกโจมตีทั้งจากฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยแน่นอน

หากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตัดสินไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์จะมีกระแสการเมือง และกระแสสังคมกดดันศาลรัฐธรรมนูญจนอาจมีคนบางกลุ่มถือโอกาสสร้างสถานการณ์ ให้ลุกลามบานปลาย และนำไปสู่ข้ออ้างให้กองทัพทำรัฐประหารได้

รัฐบาลเน่า-ผู้นำหมดสภาพ?

โดยเฉพาะการโจมตีถึงภาวะความเป็นผู้นำของนายอภิสิทธิ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นหลายครั้งว่ามีภาวะความเป็นผู้นำที่จะบริหารบ้านเมืองหรือ ไม่ ไม่ใช่แค่เชื่องช้าและไม่เด็ดขาด แต่ยังเต็มไปด้วยข่าวการทุจริตคอร์รัปชันมากมาย ปัญหายาเสพติดและแก๊งมาเฟียก็เต็มบ้านเต็มเมือง แม้แต่ปัญหาสลากขายเกินราคาและเจ้ามือหวยเถื่อนที่เคยประกาศจะกวาดล้างอย่าง เด็ดขาดก็แก้ไม่ได้ ทั้งยังมอมเมาประชาชนโดยให้พิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาลเพิ่มอีกถึง 18 ล้านฉบับ จึงเหมือนการส่งเสริมมาเฟียกองสลากและเจ้ามือหวยเถื่อนที่มีเงินหมุนเวียน นอกระบบนับหมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนมีสีและนักการเมือง

อย่างที่ พล.ต.ต.วิสุทธิ์ วานิชบุตร รองผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี เปิดโปงการโยกย้ายนายตำรวจที่ไม่เป็นธรรม เพราะตนไปขัดแย้งกับเจ้ามือหวยเถื่อน บ่อนการพนัน และการค้าน้ำมันเถื่อน รวมถึงนักการเมืองใกล้ชิดนายกรัฐมนตรีชื่อ “สระอิ สระอา” จึงถูกกลั่นแกล้ง ทั้งยังโจมตีคนใกล้ชิดนายอภิสิทธิ์ว่าเป็น “วอลเปเปอร์เน่า” ที่ทำให้คนในบ้านติดโรค ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งคณะกรรมการตรวจสอบด้านวินัยกับ พล.ต.ต.วิสุทธิ์ นอกจากนี้นายศิริโชคยังเตรียมฟ้อง พล.ต.ต.วิสุทธิ์อีกด้วย

การออกมาพูดความเน่าเฟะในระบบราชการและ การเมืองจึงอาจทำให้ พล.ต.ต.วิสุทธิ์ตายเหมือน “จ่าเพียร” (พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา) ที่ก่อนหน้านี้ก็ออกมาร้องขอความเป็นธรรมกับนายอภิสิทธิ์แต่ถูกเพิกเฉยจน เสียชีวิตในที่สุด

ความจริงกับโจร?

บ้านเมืองขณะนี้จึงเหมือนอยู่ภายใต้แดนสนธยาที่ไม่ใช่แค่ 2 มาตรฐาน แต่หลายมาตรฐาน เพราะแม้แต่กระบวนการยุติธรรมที่ตุลาการเคยเป็นเสาหลักยังสั่นคลอน และถูกตั้งคำถามถึงความสุจริตเที่ยงธรรม

ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องตรวจสอบเพื่อค้นหา “ความจริง” มาพิสูจน์ต่อประชาชน ไม่ใช่พยายามปิดบังข้อมูลและเบี่ยงเบนประเด็นไปที่ผู้เผยแพร่คลิป ซึ่งมีแต่จะทำให้สังคมกังขาและไม่เชื่อมั่น

อย่างที่นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่าต้องทำความจริงให้ปรากฏเท่านั้นจึงจะยุติวิกฤตและเรียกความเชื่อ มั่นของศาลรัฐธรรมนูญกลับคืนมาได้

ไม่ใช่แค่จับผู้เผยแพร่คลิปเท่านั้น แต่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเนื้อหาในคลิปนั้นจริงหรือเท็จ ไม่ใช่ใช้คำพูดหักล้างและกล่าวหาใครเป็น “โจร” หรือ “คนผิด” แต่ทั้งหมดอยู่ที่ “ความจริง” ที่จะให้ความยุติธรรมอย่างแท้จริง

“ตุลาการ” วันนี้กำลังอยู่ท่ามกลางพายุและอุทกภัยที่โหมกระหน่ำ…กำลังจะจมแหล่มิจมแหล่…

ธรรมชาตินั้นช่างโหดร้ายในยามที่เกิดภัยพิบัติ แต่เมื่อสืบสาวราวเรื่องย้อนกลับไปก็จะพบว่า “มนุษย์” นั่นเองที่โหดร้ายกับธรรมชาติ ทำลาย “สมดุล” ของธรรมชาติ จึงถูกธรรมชาติ “เอาคืน”

“กฎแห่งกรรม” โดยแท้… บุ๋ง…บุ๋ง…บุ๋ง…!!

 


น้ำท่วม-ตอผุด

น้ำท่วม-ตอผุด
ที่มา
: มติชนออนไลน์ 26 ตุลาคม 2553
โดย : นิธิ เอียวศรีวงศ์

หายนภัยน้ำท่วมครั้งนี้สร้างความเสียหายมโหฬาร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แถลงว่ามีพื้นที่การเกษตรเสียหายไปแล้ว 4 ล้านไร่ ยังมีพื้นที่เขตเมืองที่ถูกน้ำท่วมอย่างหนักอีกหลายแห่ง ที่กล่าวขวัญกันมากคือโคราชจมน้ำไปทั้งเมือง (และจะตามมาด้วยเมืองอื่นตามลำน้ำมูล กว่าที่น้ำจะไหลลงแม่น้ำโขงได้) เมืองใหญ่ในลุ่มเจ้าพระยาได้สร้างพนังกั้นน้ำไว้แล้ว จึงอาจไม่จมทั้งเมืองอย่างโคราช แต่ชนบทที่รายรอบเมือง รวมทั้งเมืองเล็กที่ไม่มีพนังกั้นน้ำ ก็จะเผชิญกับการเอ่อล้นของแม่น้ำเจ้าพระยาในอนาคตอันใกล้นี้

คำอธิบายภัยธรรมชาติครั้งนี้คือ ปรากฏการณ์ลานิญามาเร็วกว่าที่เคย ทำให้ปลายฤดูฝนกลับมีฝนตกชุกอย่างที่ไม่เคยเป็นมา ผลก็คือน้ำบนภูเขาทะลักลงมาอย่างรวดเร็วเกินกว่าจะรับมือทัน

คำอธิบายนี้คงไม่ผิดในตัวเอง แต่ไม่ได้ตอบปัญหาความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพราะฝนมากและถี่อย่างเดียวไม่เพียงพอจะอธิบายได้ ส่วนใหญ่ของความเสียหายเกิดจากการจัดการ ไม่ใช่เกิดจากน้ำ ความล้มเหลวในการจัดการนั้นไม่เฉพาะแต่การจัดการน้ำเท่านั้น แต่รวมถึงการจัดการอื่นๆ ที่ไม่ใช่น้ำอีกมากมายหลายอย่าง

ที่พูดกันมากก็คือ น้ำท่วมเกิดจากความสูญเสียพื้นที่ป่า ซึ่งจะสามารถซับน้ำให้ไหลลงจากภูเขาช้าลง (ข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ของป่าในแง่นี้ยังถกเถียงกันอยู่ในวงวิชาการ เพราะมีบางทรรศนะที่เห็นว่าป่าไม่สามารถทำหน้าที่ซับน้ำในลักษณะนี้ได้เลย) แต่การสูญเสียพื้นที่ป่า ไม่ได้เกิดจากผู้คน (ทั้งนายทุนและชาวบ้าน) เข้าไปบุกรุกป่าเท่านั้น แท้จริงแล้วดูจะเป็นนโยบายของรัฐที่จะส่งเสริมโดยทางอ้อมให้เกิดขึ้นด้วย

พืชเศรษฐกิจซึ่งทำเงินหล่อเลี้ยงการพัฒนาในระยะต้นนั้น จำเป็นต้องเปิดพื้นที่ป่าและจำนวนมากเป็นพื้นที่ “ชายขอบ” ของการเกษตร เพราะกำไรจากการปลูกพืชเศรษฐกิจมีน้อยมาก จนเกินกว่าใครอยากจะลงทุนกับปัจจัยการผลิตคือที่ดินมากนัก ฉะนั้นผู้คนจึงบุกรุกเข้าไปในพื้นที่ “ป่า” โดยจับจองหรือซื้อต่อจากรายอื่นในราคาไม่แพงนัก ในที่สุดก็สูญเสียที่ดินนั้นไปให้แก่ผู้อื่น เพราะความผันผวนของราคาพืชผล และการถูกเอาเปรียบในทางเศรษฐกิจอย่างหนัก ทำให้ไม่สามารถตั้งตัวกับพืชเศรษฐกิจได้ บ้างก็รุกป่าต่อไป บ้างก็หันเข้าเมืองเพื่อหาอาชีพรับจ้าง

นโยบายของรัฐในระยะหลังคือ การปลูกพืชเศรษฐกิจที่คาดว่าสามารถทำกำไรได้ดี โดยเฉพาะยางพารา ผลคือพื้นที่ไร่ซึ่งโค่นถางป่าจนเรียบราบไปแล้ว ถูกเปลี่ยนมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวกันมากขึ้น แม้เป็นไม้ใหญ่ แต่พืชเชิงเดี่ยวที่หยั่งรากลงดินในระดับเดียวกัน ทำให้เกิดดานที่ราบเรียบเสมอกันใต้พื้นดิน เมื่อโดนฝนกระหน่ำลงเป็นเวลานาน ดินผิวหน้าก็เลื่อนไหลลงจากดานกลายเป็นดินถล่ม สร้างความเสียหายแก่พื้นที่เบื้องล่าง ซึ่งมักเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยอย่างหนัก

ในขณะเดียวกัน รัฐก็ปล่อยให้การถือครองที่ดินเป็นการเก็งกำไรทางเศรษฐกิจที่มั่นคงปลอดภัย และคุ้มทุนที่สุด ทำให้คนมีทรัพย์นิยมที่จะลงทุนถือครองที่ดิน อาจใช้ประโยชน์ในธุรกิจท่องเที่ยว หรือถึงไม่ทำอะไรเลย ก็คาดหวังได้ว่าจะทำกำไรในตอนขายได้มาก

ตราบเท่าที่นโยบายการเกษตรและการจัดการที่ดินยังเหมือนเดิม ป่าก็ต้องสูญเสียพื้นที่ต่อไป ไม่ว่าจะกวดขันให้เจ้าหน้าที่ที่ดินและป่าไม้เข้มงวดสักเพียงไร และปรากฏการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง, ภาคกลางและภาคอีสานก็จะเกิดขึ้นเป็นประจำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อตอนจะสร้างก็มักให้เหตุผลไว้ข้อหนึ่งว่า ป้องกันน้ำท่วม แต่น้ำท่วมทุกครั้งรวมทั้งครั้งนี้ พิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า เขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ ในครั้งนี้ เขื่อนหลายต่อหลายแห่งต้องรีบปล่อยน้ำลงมาซ้ำเติม เพราะเสี่ยงที่จะเกิดเขื่อนแตก (และเขื่อนเอกชนของสนามกอล์ฟแห่งหนึ่งก็แตกจริงๆ ด้วย ก่อความเสียหายแก่ชาวบ้านอย่างหนัก แต่จนบัดนี้ยังไม่สามารถเอาเจ้าของเขื่อนมารับผิดชอบได้) บางท่านอาจจะกล่าวว่า เพราะเขื่อนไม่รีบพร่องน้ำไว้ก่อน ทำให้ไม่สามารถรองรับน้ำฝนหนักในปลายฤดูได้ แต่กระบวนการตัดสินใจพร่องน้ำ พร่องมากน้อยเพียงไร พร่องช่วงไหน ฯลฯ นั้น เป็นอย่างไร มีข้อมูลหรือประสิทธิภาพเพียงใด ไม่มีใครทราบ แต่ที่แน่นอนก็คือขาดการประสานความรู้ของหน่วยงานต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง

อันที่จริง เขื่อนจำนวนมาก ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อจัดการน้ำ แต่สร้างขึ้นเพื่อกำเนิดพลังงาน ส่วนใหญ่ไม่ได้มีประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานเท่ากับที่อ้างไว้ในแผน เขื่อนเหล่านี้นอกจากสร้างความเสียหายให้แก่ระบบนิเวศอย่างหนัก จนทำให้ไม่คุ้มทุนในการก่อสร้าง ยังเป็นตัวระบายน้ำลงมาซ้ำเติมในขณะที่เกิดฝนชุกอีกด้วย บางครั้งก็เพิ่มพลังการผลิตโดยไม่แจ้งล่วงหน้าแก่ประชาชนท้ายเขื่อน

แต่เขื่อน – ไม่ว่าจะสร้างเพื่อจัดการน้ำ หรือกำเนิดพลังงาน – เป็นโครงการที่ทุจริตได้ง่ายที่สุด ฉะนั้นจึงมีเสน่ห์ดึงดูดให้นักการเมืองและข้าราชการร่วมมือกันผลักดันการ สร้างเขื่อนอยู่ตลอดมา หมดพื้นที่ในประเทศไทยที่จะสร้าง ก็ย้ายไปสร้างในประเทศเพื่อนบ้านคือลำน้ำสาละวินและโขง

นโยบายจัดการน้ำและพลังงานที่มุ่งจะป้อนน้ำและพลังงานให้แก่ภาคอุตสาหกรรมต่างหาก ที่ทำให้น้ำท่วมหนัก

อีกด้านหนึ่งของความเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งสื่อบางชนิดเฝ้าติดตามมาอย่างต่อเนื่อง คือระบบเตือนภัย แม้ว่าน้ำท่วมครั้งนี้ไม่ได้เกิดภัยพิบัติอย่างหนักถึงขั้น “ตายหมู่” แต่ระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพก็สามารถบรรเทาความเสียหายที่เกิดแก่ชาว บ้านได้ รวมทั้งหลีกเลี่ยงความทุลักทุเลของหน่วยงานบางแห่ง เช่น โรงพยาบาล เป็นต้น

หลายชุมชนทั้งในเมืองและนอกเมืองประสบภัยน้ำท่วมครั้งนี้ อย่างแทบไม่รู้เนื้อรู้ตัว บางชุมชนถูกตัดขาดโดยสิ้นเชิงเพราะอพยพหลบภัยไม่ทัน

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกี่ยวข้องและสื่อ มักจะมองความไร้ประสิทธิภาพของระบบเตือนภัยที่เทคโนโลยี สิ่งนั้นขาด สิ่งนี้ขาด หากมีเครื่องมือพร้อม ทุกอย่างก็จะดำเนินไปได้ด้วยดี

แต่ความบกพร่องของระบบเตือนภัยไม่ได้ อยู่ที่เทคโนโลยียังไม่พร้อม ที่สำคัญกว่านั้นคือการจัดการต่างหาก เช่นเดียวกับการจัดการทุกอย่างในประเทศไทย ระบบเตือนภัยธรรมชาติของเรามีลักษณะรวมศูนย์เช่นเดียวกัน แม้มีการตั้งมิสเตอร์เตือนภัยขึ้นในบางชุมชนที่ถือว่าเป็นชุมชนเสี่ยง แต่การประสานงานภายในชุมชนเองกลับไม่ช่วยให้มิสเตอร์ทำงานอย่างได้ผล เพราะชุมชนไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นในการจัดระบบเตือนภัยของตนเอง เป็นความคิดและจัดการของราชการฝ่ายเดียว

ยิ่งกว่านี้ หากพิจารณากรณีน้ำท่วม ย่อมเห็นได้ว่าเป็นภัยธรรมชาติที่ระบบเตือนภัยควรมีเครือข่าย กล่าวคือแจ้งเตือนกล่วงหน้าแก่ชุมชนอื่นๆ ได้ตลอดเส้นทางน้ำ เครือข่ายเช่นนี้เกิดขึ้นได้จากการจัดการของชาวบ้านเอง ไม่ใช่คำสั่งของราชการ

ระบบบริหารรัฐกิจของไทย ไม่เฉพาะแต่เรื่องของภัยธรรมชาติ แต่ทุกเรื่อง มีลักษณะรวมศูนย์อย่างแทบจะหาประเทศใดมาเทียบได้ยาก ระบบเช่นนี้เป็นระบบที่ไร้ประสิทธิภาพ และเอื้อต่อการทุจริตฉ้อฉลในทุกรูปแบบ น้ำจะท่วมเมืองไทยไม่เลิก ตราบเท่าที่เรายังรวมศูนย์การบริหารเช่นนี้

มองให้เลยไกลไป จากน้ำ ก็จะเห็นความบกพร่องของระบบที่แฝงอยู่เบื้องหลัง ภัยธรรมชาติทำความเสียหายให้แก่ผู้คนได้ระดับหนึ่ง แต่ภัยสังคมต่างหากที่ทำให้ความเสียหายนั้นขยายตัวอย่างไร้ขีดจำกัด และบั่นทอนพลังของสังคมที่จะฟื้นตัวได้ในเวลาอันสมควร

จำเป็นต้องกล่าวด้วยว่า สื่อมีส่วนอย่างมากในการทำให้สังคมไทยไม่มองน้ำท่วมมากไปกว่าน้ำ, ลานิญา และพายุฝน ดังนั้น เมื่อน้ำลด “ตอ” ซึ่งคือตัวความบกพร่องของระบบก็กลับจะจมหายลึกลงไปในความไม่ใส่ใจของสังคม รอน้ำระลอกใหม่ที่จะไหลลงมาท่วมท้น จนทำให้สื่อไม่ต้องสนใจ “ตอ” อีกตามเดิม

ไม่มีสังคมใดในโลกที่ไม่เคยผิดพลาด แต่ทุกสังคมควรมีสมรรถภาพที่จะแก้ไขตัวเองได้ ส่วนหนึ่งที่สังคมไทยไร้สมรรถภาพในแง่นี้ ก็เพราะเรามีสื่ออย่างที่เรามีอยู่ในขณะนี้

 


น้ำท่วมใหญ่ปีนี้ “ธรรมชาติลงโทษ” หรือ “มีการสั่งการจงใจให้เกิดเช่นนี้”

น้ำท่วมใหญ่ปีนี้ “ธรรมชาติลงโทษ” หรือ “มีการสั่งการจงใจให้เกิดเช่นนี้”
โดย : ณัฐวุฒิ รักพระเจ้า

ข่าวน้ำท่วมซึ่งในนั้นข่าว ปรากฏภาพของ ประชาชนที่เดือดร้อน แต่ส่วนหนึ่งก็พยายามร่วมแรงร่วมใจ หาทางช่วยเหลือ นับเป็นวัฒนธรรมที่เกื้อกูลกันของคนไทย ที่นับว่าเป็นเรื่องดีเป็นอย่างมาก ไม่ว่าสถานการณ์ หรือเหตุการณ์บ้านเมืองจะอยู่ในภาวะใด ต่างฝ่ายต่างก็ออกมาช่วยกันไว้ก่อน เรื่องตีรันฟันแทงกันก็เอาไว้ทีหลัง

ปีนี้น้ำท่วมในหลายพื้นที่ เท่าที่ได้ทราบมานั้นหลายที่ก็ประสบความเสียหายเป็นอย่างมาก นาข้าวหลายร้อยพันไร่ล่มจมอยู่ใต้น้ำ ทั้งที่ปีนี้ผลผลิตดีกว่าหลายปีที่ผ่านมา ก็ได้ทราบมาอีกว่าชาวนาหลายคนแทบจะฆ่าตัวตายเพราะอุทกภัยครั้งนี้ ซึ่งในขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีกลับออกมากล่าวว่า “ให้ทำใจรับสภาพ” ซึ่งหากพยายามมองในแง่ดี (แบบที่ฝ่ายเชียร์ทำกัน) ก็คงต้องลงความเห็นว่า “นี่เป็นภัยธรรมชาติ” แต่ไม่รู้ว่าใครจะคิดหรือไม่ว่า หากอุทกภัยในครั้งนี้ ไม่ได้มาจากธรรมชาติจริง แต่เป็นการยิมมือธรรมชาติทำให้มันเกิดขึ้น เพื่อเหตุผลบางประการ

เมื่อปลายปีที่ผ่านมานั้น เราต่างได้ทราบจากการรายงานว่าเราจะประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก แต่เมื่อเอาเข้าจริงมันกลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะปีนี้ปรากฏว่ามีฝนมากเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ โดยปกติแล้วการเก็บกักน้ำไว้ใช้นั้น เขื่อนแต่ล่ะเขื่อนจะมีระยะและช่วงเวลาที่ต้องทำการเก็บกักน้ำเพื่อสำรองไว้ ใช้ในช่วงที่ฝนทิ้งช่วงคือ ฤดูหนาวต่อฤดูแล้ง คือช่วง ประมาณ พฤศจิกายน ถึง พฤษภาคม  นั่นหมายถึงมันจะคาบเกี่ยวและพอดีกับช่วงมรสุมที่จะเกิดขึ้น และส่งผลกระทบต่อปริมาณฝนที่ตกหนักในช่วง ปลายกันยายน และตุลาคม ของทุกปี ดังนั้น ในช่วงต้นฤดูฝน คือ พฤษภาคม ถึงมิถุนายน เขื่อนต่างๆ ก็จะไม่มีการเก็บกักน้ำไว้ หากมีปริมาณเพิ่มก็จะปล่อยน้ำออก และคงปริมาณไว้เพื่อที่จะรับน้ำได้อย่างเต็มที่ช่วงเดือนตุลาคมนั่นเอง

ในปีนี้มีการพยากรณ์อากาศไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ไตรมาสที่สองของเดือนแล้วว่า ฤดูฝนปีนี้จะตกชุก (ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับพระโคเลือกกินอะไร หรือพญาแรกนาเลือกผ้านุ่งกี่คืบ) อีกทั้งมรุสมที่จะคืบคลานเข้ามาสู่ภูมิภาค นี้ซึ่งจะส่งอิทธิพลทำให้ช่วงปลายฝนจะมีฝนตกหนักต่อเนื่อง อันมีผลมาจากปรากฏการณ์ เอลนิลโย และลานิลยา และทำให้ฝนที่ตกมีปริมาณมากและต่อเนื่องยาวกว่าปกติ  ซึ่งเรื่องเหล่านี้ กรมชลประทาน และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตซึ่งทั้งสองหน่วยงานนี้รับผิดชอบดูแลทรัพยากรณ์น้ำต่างรู้ ดี เพราะต้องคอยติดตามความเป็นไปของสภาวะอากาศที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำ แม้ว่าต้นปี 53 เกิดภาวะแล้ง และน้ำในเขื่อนลดลงจนน่าใจหาย แต่ปริมาณน้ำจากฝนตก มันก็กลับมาอย่างที่เราได้เห็นกันอยู่

อย่างที่กล่าวไปแล้วในเบื้องแรก คือเขื่อนต่างๆ ที่ทำการเก็บกักน้ำนั้น จะเริ่มเก็บกักน้ำอย่างจริงจังในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงฝนชุกเพราะอิทธิพลมรสุม แต่ช่วงปกตินั้น ก็จะปล่อยน้ำออกมา โดยให้คงระดับน้ำเหนือเขื่อนไว้เท่าที่จะรองรับน้ำได้ในช่วงปลาย เว้นแต่ว่าเกิดอิทธิพลน้ำทะเลหนุนหรือฝนตกหนักมากกว่าปกติ ซึ่งมีผลทำให้ปริมาณน้ำบริเวณปลายทางหรือน้ำหน้าเขื่อนเกิดสูงขึ้น การเก็บกักน้ำ หรือการลดการระบายน้ำออกมาจากเขื่อนจึงจะเกิดขึ้น หากว่าไม่มีเหตุการณ์ใดๆ หรือปัจจัยเช่นที่ว่านี้ ก็จะไม่มีการเก็บกักน้ำอย่างเด็ดขาดเช่นนี้

แต่อย่างไม่คาดคิดก็คือ ในปีนี้กลับมีการเก็บกักน้ำไว้ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา ซึ่งทั้งหมดเป็นคำสั่งโดยตรงจากผู้ยิ่งใหญ่ และคนในรัฐบาลบางคนสั่งการให้ทำอย่างนั้น และอ้างเหตุผลว่า ปีนี้ฝนทิ้งช่วงยาวนานกว่าปกติ สืบเนื่องมาจากภัยแล้งเมื่อต้นปี (ซึ่งมันคนล่ะเรื่อง)  เรื่องนี้เจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานและ กฝผ. ต่างคัดค้านเพราะข้อมูลของทั้งสองหน่วยงานต่างยืนยันตรงกันว่า ปีนี้ระยะฝนที่ทิ้งช่วงจะไม่ได้เป็นอย่างที่อ้าง และปริมาณน้ำฝนจะมากเพราะปรากฏการณ์ เอลนิลโย และลานิลยา และการที่จะเก็บกักในช่วงเดือนท้ายๆของฤดู ก็จะมีเพียงพอ และใช้ได้ถึงฤดูฝนปีหน้า

จากการสั่งการครั้งนั้นทำให้ปริมาณน้ำมีมากจนเกินความจำเป็นในช่วงนี้ และอาจจะทำให้เขื่อนพังลงได้ ทำให้ต้องระบายน้ำอย่างเร่งด่วน ผลก็คือน้ำที่ท่วมพื้นที่หลายจังหวัด และสร้างความเสียหายอย่างมากมาย อย่างที่เราได้เห็นกัน ทั้งที่ทุกฝ่ายก็ทราบดีแล้วว่าปริมาณฝนในปีนี้นั้นมากมายเพียงใด และระยะการการเก็บกักน้ำนั้นจะต้องดำเนินในช่วงไหน แต่ทำไมจึงมีการสั่งการให้เก็บน้ำไว้ยาวนานจนกระทั่งเจอสภาวะฝนชุกและมรสุม ทำให้น้ำล้นเขื่อนแล้วก็ต้องระบายออกมามากมายอย่างนี้

เรื่องทั้งหมดเป็นการ บริหารงานแบบไร้ประสิทธิภาพ รัฐบาลนี้ของรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมชลประทาน ที่ไม่ได้เอาใจใส่เรื่องนี้อย่างจริงๆจัง

แต่จากแหล่งข่าวที่เชื่อถือ ได้ในกรมชลประทานนั้น ต่างอึดอัดในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะได้คัดค้านทัดทาน อีกทั้งให้ข้อมูลไปแล้วว่าทำอย่างนี้ไม่ได้ มันจะเดือดร้อน  ดังนั้นเราจึงต้องพิจารณาว่า ไร้ประสิทธิภาพ หรือ จงใจให้เป็น ประเด็นมันอยู่ที่ว่า เรื่องนี้มีความเป็นไปได้แค่ไหนอย่างไร เพราะคนที่สั่งการที่เป็นผู้ยิ่งใหญ่ และไม่สนใจคำท้วงติง สั่งให้เก็บกักน้ำต่อเนื่องทั้งที่ปริมาณน้ำเพียงพอ เพียงเพื่อต้องการให้เกิดวิกฤติ เพื่อที่จะได้

1) เบี่ยงเบนความสนใจของประชาชน ในเรื่องราวต่างที่ผ่านมาเมื่อเดือนเมษา ต่อเนื่องพฤษภา

2) เบิกใช้งบประมาณในกรณีที่ต้องแก้ปัญหาภัยภิบัติ จากอุทกภัยในครั้งนี้

3) ล้างภาพลักษณ์ของทหารที่เสียหายไปเมื่อเกิดวิกฤติการทางการเมืองที่ผ่านมา ด้วยการให้ทหารออกมาระดมกำลัช่วยเหลือชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง เพราะอย่างไรก็ตาม ทหารนั้นมีศักยาภาพมากกว่าหน่วยงานช่วยเหลืออื่นๆอยู่แล้ว ทั้งยุทธภัณฑ์ต่างๆ ที่มีก็เอื้อแก่การที่จะเข้าถึงพื้นที่ยากๆ และสามารถที่จะทำการปฏิบัติการจิตวิทยาได้เป็นอย่างดี

ถ้าลอง ย้อนกลับไปเมื่อหลังการยึดอำนาจเมื่อปี  2549 ในช่วงเดียวกันนี้เองก็มีเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดภาคกลาง ซึ่งก็มีผลทำให้ข่าวต่างๆในช่วงนั้น เน้นไปที่เรื่องน้ำท่วม และการเข้าช่วยเหลือบรรเทาความเสียหายของประชาชน แม้ว่าจำไม่มากเท่าครัง้นี้ แต่ก็สามารถ “กลบกระแส” เรื่องการยึดอำนาจแบบไม่เข้าท่าในเดือนกันยายนได้เป็นอย่างดี

การที่ ผู้ยิ่งใหญ่ ไม่สนใจคำคัดค้านของคนที่ปฏิบัติงานในกรมชลประทาน นั้น มีก็น่าจะที่เป็นไปได้ที่จะเป็นการ “จงใจ” เพื่อที่จะให้เกิดสิ่งที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และมีผลทำให้เรื่องราวที่เคยเกิดขึ้น “โดนกลบ” และ “เบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนไปที่น้ำท่วมเท่านั้น” การที่ดูเหมือนว่า กรมชลประทาน หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ จะไม่สนใจหรือเลินเล่อ มันก็ไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะไม่น่าที่จะตกข่าวเรื่องสภาพอากาศโลกอย่างง่ายๆ แบบนี้ และหากทราบก็ไม่น่าที่จะนิ่งเฉย และปล่อยจนเกิดเรื่องแบบนี้ได้ และหากเรื่องที่มีการสั่งการนั้นเป็นจริง คนสั่งการ ก็ต้องเป็นคนที่มีอำนาจเพียงพอ ดังที่กล่าวไว้แล้วว่า “ผู้ยิ่งใหญ่” เป็นคนสั่งให้ทำ

ก่อนหน้านี้ไม่นาน มีหลายคนออกมาพูดว่า น้ำท่วมนี่เป็นการวางแผนโดยฝ่ายหนึ่ง ซึ่งก็ได้รับการทัดทานว่า “คิดมากไป” และ “ไม่น่าที่จะเป็นไปได้” แต่เมื่อพิจารณาตามมูลเหตุ และข้อมูลสนับสนุน นั่นคือ การสั่งการให้เก็บน้ำไว้ก่อนที่จะมีฝนหนักจนปล่อยให้ท่วมในช่วงนี้นั่นเอง มันเหมือนเป็นไปไม่ได้เลย แต่ทว่ามันมีเรื่องอย่างนี้มาให้เห็นแล้ว ไอ้ที่บอกว่า ท่วมเพราะฝนตกหนักนั้น ก็ต้องดูเลยว่า ปริมาณฝนในแต่ล่ะวันนั้น เป็นอย่างไร มีเพียงพอที่จะทำให้ท่วมได้หรือไม่ และหากว่าเขื่อนมันเก็บน้ำได้เพียงพอ มันจะท่วมได้ไหม

อันที่จริง ผมเองก็เห็นการคาดคะเนเรื่องน้ำท่วมในลักษณะเช่นที่ว่านี้มาจากหลายที่ ซึ่งก็มีทั้งคนที่เห็นด้วย และเห็นต่าง จนแม้กระทั่งมีการวิพากษ์ การคาดคะเนเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เพ้อเจ้อ และมองในมุมที่ Negative และคิดมากเกินไป ซึ่งผมเองก็เห็นเป็นเช่นนั้นในทีแรกเหมือนกัน แต่หลังจากที่ได้รับข้อมูลเรื่องที่มีการสั่งการให้เก็บกักน้ำไว้โดยไม่มี การสนใจการท้วงติงแล้วก็ต้องกลับมาคิดใหม่จริงๆ ผมเองไม่อยากที่จะกล่าวหาอะไรเลื่อนลอยแบบนี้ เพราะมันอาจจะเป็นการทำงานแบบ โง่เง่า ของคนบางคนทำให้เกิดเรื่องนี้ก็เป็นได้ แต่ครั้นเมื่อพิจารณาผ่านเหตุการณ์ และข้อมูลที่ได้มาเข้าด้วยกัน ก็ปรากฎว่าไม่สามารถที่จะมองข้ามประเด็นนี้ไปได้เลย เพราะแรงจูงใจของเรื่องนี้มีอยู่

เมื่อพิจารณาปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา ที่โคราช แล้วก็ยิ่งคิดหนักเข้าไปอีก เพราะมันเป็นไปได้ยากมากๆ เพราะมัน ไม่น่าที่จะเป็นไปได้เลยในทางทฤษฎีและเชิงสถิติ ที่จะทำให้น้ำท่วมได้ขนาดนี้ หากว่าไม่มีการปล่อยน้ำออกมาจากเขื่อนพร้อมๆกัน อีกทั้งก็ทราบมาอีกเช่นกันว่า เขื่อนใหญ่บางเขื่อนยังมีศักยภาพรับน้ำได้อีกไม่น้อยกว่า 30%

ดังนั้น เหตุแห่งน้ำท่วมที่แท้จริงนั้น แน่นอนว่าเป็นเพราะฝนตกหนักแน่นอน อันนี้ถูกต้อง ซึ่งแต่ถ้าหากมีการระบายน้ำอย่างถูกต้อง และกักเก็บน้ำได้พอเหมาะกับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา ความน่าจะเป็นเรื่องน้ำท่วมจึงไม่สามารถเป็นไปได้อย่างที่เห็นเลย เท่าที่ผมได้ข้อมูลเรื่องการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนด้วยเหตุผลที่ว่า น้ำล้นเขื่อนนั้น ก็มีหลักฐานอ้างอิงจากข่าวที่ออกมาว่า ต้องปล่อยออกมาไม่เช่นนั้นเขื่อนมันจะแตก แต่กลับมีการออกมาปฏิเสธซ้ำอีกว่า ไม่มีการปล่อยน้ำออกมาให้ท่วม ที่ท่วมเป็นเพราะฝนตกอย่างเดียว เรื่องนี้ก็เลยทำให้ผมเชื่อหนักเข้าไปอีกว่า มีการกระทำเช่นที่ว่าจริงๆ

และการที่กล่าวกันว่า เป็นเพราะการบริหารจัดการน้ำในครั้งนี้นั้น ผิดพลาด และรัฐบาลไมได้ให้ความสนใจ ก็เป็นข้อสังเกตุที่ถูกต้องเช่นกัน แต่ก็อย่าลืมว่า ทำไมจึงมีการปล่อยปละละเลยอย่างนี้อีกส่วนหนึ่งด้วย เพราะเอาเข้าจริงๆแล้วมันไม่น่าที่จะไง่บ้าเซ่อได้ขนาดนี้

อีกเหตุปัจจัยหนึ่งที่มีบางท่าน(ที่ผมไปอ่านเจอ) ให้ความเห็นไว้อย่างน่าฟังว่า ทั้งหมดเป็นความไม่เข้าท่าของคนในรัฐบาลที่มัวแต่ทะเลาะกัน เลยไม่สนใจหรือใส่ใจกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ทั้งที่จริงข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะรับมืออย่างไรเมื่อเกิดวิกฤติ น้ำในลักษณะนี้ ซึ่งก็คงไม่แปลกหากมีการสั่งการ ให้ทำ หรือไม่ให้ทำ อะไร เพื่อทำลายหรือสนองความต้องการของใครสักคนหนึ่ง แต่ทั้งหมดที่ผมว่ามา มันไม่ได้เป็นเพราะธรรมชาติที่ทำกับประชาชน แต่กลับเป็นคนที่ใช้ธรรมชาติทำร้ายประชาชนนั่นเอง

ผมอยากให้ลองอภิปรายกันในเรื่องนี้ดูว่า มันมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งผมเองก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเชื่อหรือยืนยันแนวคิดของผมว่ามันถูกหมด แต่ผมเรียนครับว่า ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ก็มาจากพื้นฐานข้อมูลดิบที่ได้มาว่า “มีการสั่งการให้เก็บน้ำไว้ใม่ให้ระบายออกมา จนมันล้นเขื่อนเมื่อน้ำก้อนใหญ่มาเยือนนั้นเอง”