เปลี่ยนคู่ต่อสู้

สงสัยกันไปทั่วว่า ทุกวันนี้นายกฯ อภิสิทธิ์ และรองนายกฯ เทพเทือก ตอบโต้คดี 91 ศพด้วยการปลุกกระแส “เผาบ้านเผาเมือง” อยู่ทุกวี่ทุกวัน ร่ายยาวในเฟซบุ๊กอีกต่างหาก

แต่กระแสก็ไม่ขึ้น

ความหวังที่จะปลุกให้คนกรุงเทพฯ รำลึกถึงภาพอาคารศูนย์การค้าถูกเผาไหม้ เพื่อหวาดกลัวเสื้อแดงและเพื่อไทย

ทำมาตั้งนานไม่เห็นจะได้ผล

แล้วทำไมจึงคิดว่า การเปิดเวทีปราศรัยที่แยกราชประสงค์แค่วันเดียว จะพลิกกระแสได้!

พูดทุกวัน สัมภาษณ์ทุกวัน เฟซบุ๊กก็เอา กลายเป็นมุขแป๊ก แล้วการปราศรัยไม่กี่ชั่วโมง จะทำอะไรได้

จึงนำมาสู่ข้อสงสัยว่า มีใครคิดอะไรซ่อนเร้นกับพื้นที่ราชประสงค์หรือไม่!?

นักวิเคราะห์การเมือง เขากาปฏิทินเอาไว้ 2 วัน

วันที่ 21 มิ.ย. บรรดา 4 เสือกกต.ที่จู่ๆ ขยันไปดูงานต่างประเทศ จะกลับตามกำหนดหรือไม่

เพราะจากนั้นอีก 4-5 วัน ต้องจัดเลือกตั้งล่วงหน้าแล้ว

วันที่ 23 มิ.ย. การเปิดปราศรัยใหญ่ที่แยกราชประสงค์ จะนำไปสู่สถานการณ์อะไรหรือไม่

ไม่ว่ามองมุมไหน ไม่เห็นว่าการปราศรัยราชประสงค์นั้น จะหวังผลเรื่อง “เนื้อหา” ได้

ในเมื่อเนื้อหานั้น พร่ำพูดอยู่ทุกวันแล้ว แต่ไม่ได้ผล หรือต้องการอะไรอยู่ลึกๆ เห็นจะต้องติดตามกันต่อไป

จึงนับเป็น 2 วัน ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษในช่วงโค้งสุดท้าย

มีนักวิชาการจำนวนมาก แสดงความเห็นต่อยุทธศาสตร์ยุทธวิธีในช่วงสุดท้ายของประชาธิปปัตย์ ที่เล่นแต่เรื่องเผาบ้านเผาเมืองลูกเดียวว่า ไม่ใช่การเมืองที่สร้างสรรค์อย่างชัดแจ้ง

การประกาศตัวจะเข้ามาบริหารบ้านเมือง ต้องชูเน้นนโยบาย มาตรการแก้ไขทุกด้าน แต่นี่ทุ่มเทแตกหักกับสงครามเสื้อแดง

อาจารย์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ นักรัฐศาสตร์รุ่นใหม่บอกว่า นี่เท่ากับเป็นการลดระดับนายกฯอภิสิทธิ์

คือ ลดจากที่สู้กับยิ่งลักษณ์เพื่อชิงตำแหน่งนายกฯ กลับลงมาสู้กับณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แทน

เป็นมุมมองที่ต้องยกนิ้วให้ แต่พูดกันตรงๆ สู้เรื่อง 91 ศพกับณัฐวุฒินั้นก็ลำบาก

นายกฯ อยากไปพูดที่ราชประสงค์ ทั้งที่ตอนเกิดเหตุอยู่ในราบ 11 ขณะที่ณัฐวุฒิเขากินนอนอยู่ตรงนี้จริงๆ!!

แล้วที่นายกฯอ้างอิงการรักษาบ้านเมืองเอาไว้ให้ได้นั้น มีคำตอบที่ดีกว่าจากณัฐวุฒิ

“ไม่มีผู้ปกครองคนใดจะรักษากฎหมายด้วยการทำลายชีวิตประชาชน”

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ 21 มิถุนายน 2554
คอลัมน์ : ชกไม่มีมุม
โดย : วงค์ ตาวัน


ถ้อยคำจาก ′หมู่บ้านแดง′

หนังสือพิมพ์มติชนรายวันหยิบยืมบทรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่ตีแผ่หมู่บ้านคนเสื้อแดงที่หนองหูลิง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

หลังจากนั้นก็พบว่าหมู่บ้านคนเสื้อแดงมีอยู่ทุกที่ทุกทาง จึงถือโอกาสที่ข่าวคราวกำลังน่าสนใจ ขอความช่วยเหลือจากผู้สื่อข่าวที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลเข้าไปถามไถ่

ทำไมจึงเป็นหมู่บ้านคนเสื้อแดง

คำตอบที่ได้รับมาจากปากคำของชาวบ้าน น่าบันทึกไว้

ร.ต.ต.กมลศิลป์ สิงหสุริยะ ประธานกลุ่มเสื้อแดงอุดรธานี ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงแห่งแรกในประเทศไทย บอกว่า “หมู่บ้านเสื้อแดง” เกิดขึ้นจากการที่กลุ่มคนเสื้อแดงที่ไปรวมตัวเรียกร้องประชาธิปไตยที่ กรุงเทพฯ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียุบสภา แต่นายกฯไม่ยุบ คนที่ชุมนุมถูกปราบปราม

เขาให้สัมภาษณ์แบบนี้ แม้รัฐบาลจะบอกว่าไม่ได้ปราบปราม แต่เขารู้สึกว่าถูกปราบปราม

พอยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แกนนำถูกจับ ชาวบ้านที่เหลือมาคุยกัน และตั้งให้ ร.ต.ต.กมลศิลป์เป็นประธาน

เกิดความคิดไปสำรวจหาหมู่บ้าน พบมีคนเสื้อแดงอยู่ 60-70 เปอร์เซ็นต์ แล้วมาจัดทำกิจกรรมตั้งเป็นหมู่บ้านเสื้อแดงขึ้น

วันที่ 15 ธันวาคม 2553 ไปทำกิจกรรมที่บ้านหนองหูลิง อำเภอเมืองอุดรธานี และถือโอกาสปักป้ายหมู่บ้านเสื้อแดง

การรวมตัวของคนเสื้อแดง มีจุดยืน 3 ข้อ

1. เรียกร้องประชาธิปไตยที่ถูกต้องและเต็มใบ

2. ขอความเป็นธรรมให้ปล่อยแนวแนวร่วมที่ถูกคุมขังอยู่ทั่วประเทศ

3. ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับมาบริหารประเทศ

หลังจากนั้นผู้สื่อข่าวได้ติดตามต่อไปโดยพบว่าหมู่บ้านเสื้อแดงมีอยู่ในหลายๆ จังหวัด

ที่จังหวัดขอนแก่น นายชัชวาล ต้นกันยา ชาวบ้านหมู่บ้านเสื้อแดง บอกว่า คนในหมู่บ้านมีทั้งสิ้น 300 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่เป็นคนเสื้อแดง

สมาชิกกลุ่มคนเสื้อแดงมีมาตรฐานเดียว รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ช่วยเหลือคนในชนบท สามารถจับต้องได้ ขณะที่รัฐบาลปัจจุบันเป็นแบบสองมาตรฐาน

ที่จังหวัดมหาสารคาม นายพงษ์ศักดิ์ แก่นสุวรรณ ผู้ใหญ่บ้านหนึ่งใน 3 หมู่บ้านเสื้อแดง เล่าว่า หมู่บ้านเสื้อแดงเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มคนที่มี อุดมการณ์ทางการเมืองเหมือนกัน

ถือเป็นสิทธิของแต่ละคนหรือกลุ่มบุคคลมากกว่า

เช่นเดียวกับนายผจญศักดิ์ ศรีเพียวงศ์ รองนายก อบต.หัวขวาง อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ที่บอกว่า หมู่บ้านเสื้อแดงเป็นเพียงสัญลักษณ์ความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง

เป็นความเคลื่อนไหวที่มีจุดประสงค์เดียวกับหมู่บ้านที่หนองหูลิง อุดรธานี

อ่านดูอย่างผิวเผินอาจไปหลงติดอยู่กับตัวคน คือ คุณทักษิณ

แต่ลองอ่านความคิดชาวบ้านที่มีต่อคุณทักษิณดูสิครับ

รัฐบาลทักษิณช่วยคนชนบท สามารถจับต้องได้

ช่วยคนจน คนชนบท รัฐบาลอภิสิทธิ์เขาก็บอกว่าทำอยู่

แต่ “สามารถจับต้องได้” นี่เป็นความรู้สึกครับ

เป็นความรู้สึกที่สร้างขึ้นมาไม่ได้ง่ายๆ

แต่พอสร้างขึ้นมาได้แล้ว ก็ยากจะลบเลือน

ถ้อยคำจาก “หมู่บ้านแดง” พอจะทำให้พรรคการเมืองและนักการเมืองมีแรงบันดาลใจอะไรบ้างไหม?

ที่มา : มติชนรายวัน 14 มิถุนายน 2554
โดย : นฤตย์ เสกธีระ

 


ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ “ไพร่” ตัวพ่อ

เป็นข่าวร้อนฉ่าตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้าถึงการปะทะคารม กันผ่านทางเฟซบุ๊ก เมื่อ “อำมาตย์ชาย+อำมาตย์หญิง” กับ “ไพร่” ที่บังเอิญไปใช้บริการร้านอาหารเดียวกัน แม้จะไม่ได้ปะหน้ากันตรงๆ ก็ตาม

แต่แล้วเครื่องดื่มขวดเดียวก็ทำให้เรื่องไม่น่าจะเป็นเรื่องกลับเป็นเรื่องขึ้นมาจนได้

มติชน “อาทิตย์สุขสรรค์” มีโอกาสได้เป็นแขกรับเชิญที่บ้านเศรษฐสิริ ย่านสนามบินน้ำ เจ้าของบ้านไม่ใช่ใครอื่น คือ “ไพร่” ตัวพ่อ ที่กล่าวได้ว่ามีแม่ยกมากที่สุดในบรรดานักพูดเสื้อแดง

…ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หรือ เต้น

เป็น คนอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2518 เป็นลูกชายคนเล็กของนายสำเนา และนางปรียา ใสยเกื้อ มีพี่ชาย 1 คน ชื่อ นายเจตนันท์ สมรสกับ (แก้ม) สิริสกุล ใสยเกื้อ อดีตนางฟ้าสายการบินแห่งหนึ่ง มีทายาทเป็นชายหนึ่ง คือ ด.ช.นปก หรือ น้องช้างน้อย และหญิงหนึ่งคือ ด.ญ.ชาดอาภรณ์ หรือ น้องตราตรึง

ชีวิตตั้งแต่เด็กเติบโตมาในครอบครัวผู้นำท้องถิ่น ที่มีปู่และตาเป็นผู้ใหญ่บ้าน พออายุได้ไม่กี่เดือนพ่อแม่ก็แยกทางกัน เด็กชายเต้นจึงไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายแม่

จบชั้นประถมจากโรงเรียนวัด พระมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช แล้วมาเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศนครศรีธรรมราช ซึ่งที่โรงเรียนนี้เองที่เป็นสถานเพาะบ่มเด็กผู้ชายคนหนึ่งให้กลายเป็นดาว เด่นคว้าแชมป์บนเวทีโต้คารมมัธยมศึกษา ซึ่งถือว่าเป็นรายการที่โด่งดังมากในขณะนั้น

สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ คณะนิเทศศาสตร์ ปริญญาโทจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ความที่เป็นนักกิจกรรม นักโต้วาทีเก่า ทำให้เขามีวาจาเป็นเสมือนมนตราเรียกคะแนนความรักจากบรรดาแม่ยกได้อย่างท่วมท้น

เขาย้อนอดีตเมื่อวันวาน ที่มาของความมุ่งมั่นที่อยากจะเข้าไปเป็นผู้แทนราษฎรในสภาว่า…

“ผม เป็นหลานผู้ใหญ่บ้าน เวลามีการทำถนนในหมู่บ้าน พวกคนขับรถดั๊มพ์ คนขับรถแทร็กเตอร์ก็จะกินมานอนที่บ้านผู้ใหญ่ มันกลายเป็นภาพที่ผมซึมซับมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วก็เข้าใจว่าคนอยู่กับสังคมชนบท อยู่อย่างชาวบ้านอยู่อย่างไร

…ที่บ้านผมก็เป็นครอบครัวที่เป็นนักสู้ ไม่ยอมให้ใครมารังแกง่ายๆ ผมผ่านประสบการณ์ตรงนั้นมา ได้เผชิญหน้ากับอิทธิพล อำนาจมืดมาสารพัดรูปแบบ”

เขาสมัคร ส.ส.สองครั้งสองคราวเพราะชอบการเมือง ได้เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์สมใจ แต่เป็นได้แค่ 7 วัน

และนี่เป็นอีกครั้งของการสมัครเป็นแคนดิเดต ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคเพื่อไทย

ค่ำวันหนึ่ง ณัฐวุฒิ สวมชุดเสื้อยืดคอกลมสีขาวกางเกงขาสั้น ลายสก๊อตแบบสบายๆ ผายมือเชื้อเชิญให้เข้าไปนั่งคุยแบบสบายๆ ภายในบ้าน พร้อมกับแนะนำให้รู้จักกับภรรยาสุดที่รักและแก้วตาดวงใจทั้งสอง

ตามเข้ามารู้จักกับเรื่องราวของเขา…ผู้ชายที่ประกาศกับใครๆ ว่า เขาคือ ไพร่ ตัวจริง

– เป็นนักโต้วาทีตั้งแต่ยังอยู่ชั้นมัธยม?

ผมเป็นนักกิจกรรม เวลาในโรงเรียนมีงานอะไรผมจะทำหน้าที่เป็นโฆษกมาตั้งแต่เด็กๆ สมัยนั้นผมเกเรมาก กินเหล้า สูบบุหรี่ ตั้งแต่ ม.1 พอขึ้น ม.3 ก็ไปตีกับเด็ก ม.6 เป็นขาใหญ่ตั้งแต่อยู่ ม.4 แล้ว

อย่างตอนที่โรงเรียนจัดกิจกรรมปีใหม่ ผมก็บอกเพื่อนที่ห้องเอากระดาษหนังสือพิมพ์ไปปิดช่องหน้าต่างให้มืด แล้วเอาไฟมาติด เครื่องเสียงมาตั้ง เปิดเป็นดิสโก้เธคเต้นดื่มกันสนุกสนาน มีเพื่อนๆ มากันกว่า 300 คน สนุกกันมาก แต่เด็กผู้หญิงไม่เอาด้วยเพราะเหม็นควันบุหรี่ ออกไปร้องไห้หน้าห้องจนครูทราบเรื่อง ต้องเชิญผู้ปกครองมาพบครู ตอนนั้นผมพาแม่ไป แม่ผมร้องไห้เสียใจไม่คิดว่าให้ลูกมาโรงเรียนแล้วจะมาเป็นแบบนี้ ผมเลยได้คิดว่า ผมทำให้น้ำตาลูกผู้หญิงคนหนึ่งที่รักเรายิ่งกว่าชีวิตไหล

หลังจากนั้นเริ่มคิดใหม่ทำใหม่ ลดกิจกรรมโลดโผน แล้วหันไปเริ่มสนใจกิจกรรมการเมืองในโรงเรียน พอมีการเลือกตั้งประธานนักเรียน ผมทำหน้าที่เป็นประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ ช่วยหาเสียง ช่วยปราศรัยให้กับพรรคๆ หนึ่ง จนชนะได้เป็นกรรมการนักเรียน คราวนี้พอมีรายการโต้วาที อาจารย์จึงส่งไปแข่ง ตอนนั้นโต้วาทีดังมาก มีนักเรียนหญิงวิทยาลัยต่างๆ ขอเพลงให้ฟังทุกคืน รายการวิทยุดังๆ เชิญผมไปสัมภาษณ์ มีจดหมายจากทั่วประเทศเขียนมาถึงเป็นลังๆ

– มีครูสอนโต้คารม?

มี อาจารย์ที่โรงเรียนช่วยสอนบ้าง เช่น อาจารย์ทวี แดงหวาน แต่จริงๆ แล้วผมสั่งสมประสบการณ์ในการพูดมาจากการปราศรัยช่วยน้าชายหาเสียงตอนสมัคร ส.จ.ที่อำเภอสิชล ตอนนั้นผมอายุ 16 ปี ยังพูดไม่ค่อยเป็น แต่ก็มีคนมาฟังกันมากคงเพราะบอกกันปากต่อปากว่ามีเด็กมาพูด ปรากฏว่า น้าชายผมชนะเลือกตั้ง

– ได้สัมผัสกับการเมืองเต็มๆ ด้วยตนเองครั้งแรกเมื่อไหร่?

ตอนอายุครบ 25 ปี ในปี 2544 รัฐธรรมนูญกำหนดให้คนอายุ 25 ปีลงสมัครเลือกตั้งได้ แบบลงเขตเดียวเบอร์เดียวจึงตัดสินใจลงสมัคร ส.ส.สังกัดพรรคชาติพัฒนาโดยมี กร ทัพพะรังสี เป็นหัวหน้าพรรค

ตอนนั้นซื้อรถเก๋งมือสอง ยี่ห้อฮอนด้า แอคคอร์ด ขับลงไปที่บ้านเปิดเวทีปราศรัยอย่างเดียว มีคนฟังเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ มีคู่ต่อสู้คือ มาโนชย์ วิชัยกุล ของพรรคประชาธิปัตย์เป็น ส.ส.มาหลายสมัย ผมแพ้ได้คะแนนเป็นลำดับที่สอง แต่ได้คะแนนมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของพรรคชาติพัฒนาในภาคใต้

– สอบตกส.ส.แล้วกลับไปทำอะไรต่อ?

พอสอบตกก็หมดตัว เหลือรถคันเดียวหมดไปหลายแสนบาท กลับมาบ้าน ตั้งหลักอยู่พักหนึ่ง ก็เริ่มมีงานทอล์คโชว์เข้ามา มีรายการโทรทัศน์ติดต่อเข้ามา อีกรายการรัฐบาลหุ่น ให้เลียนแบบเสียงของ ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี พอทำไปๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน มีบางส่วนถอนตัว แล้วผมเข้าไปทำหน้าที่แทนเขียนบทล้อการเมือง รายการเริ่มดัง เงินก็เข้ามามาก เริ่มไปเรียนต่อปริญญาโท คณะรัฐประศาสนศาสตร์ ที่นิด้า คิดว่ายังไงก็ควรจะมีฐานทางการศึกษาเพิ่มเติม เพราะว่าจะอย่างไรก็ตามผมก็ต้องกลับไปการเมืองอีก และงานที่ผมทำเป็นนักพูด นักบรรยายก็จำเป็นจะต้องมีวิชาความรู้อะไรพอสมควร

ปี 2548 ผมก็ลงสมัคร ส.ส.อีกครั้งในนามพรรคไทยรักไทย เขต 4 จ.นครศรีธรรมราช มีคนสมัคร 4-5 คน มีการทำโพล ผมคะแนนดีกว่าเพื่อน แต่ก็แพ้อีกได้คะแนน 28,000 คะแนน หมดตัวอีกรอบ แถมยังเป็นหนี้อีก ผมหมกตัวอยู่ในคอนโดฯไม่ออกไปไหนเลยไม่มีเงิน ได้กินข้าววันละ 2 กล่องที่แฟนซื้อมาให้ เป็นอย่างนี้ประมาณครึ่งเดือน ตัดสินใจนำสร้อยทอง ที่มีคุณค่ากับผมมากที่สุดไปขาย เป็นสร้อยที่ได้มาตอนเป็นแชมป์โต้คารมจากสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนมัธยม

– เลิกสนใจการเมือง ?

ไม่ครับ จากนั้นเริ่มมีคนติดต่อให้ไปพูดอีก เริ่มมีรายได้ ผมเริ่มสนิทกับพี่ตู่-จตุพร พรหมพันธุ์ (พ.ศ.2548) พี่ตู่มักจะโทร.มาชวนไปนั่งกินข้าวด้วยกัน จากนั้นก็เริ่มคบกันมาอยู่ด้วยกันตลอด จนมีการตั้งรัฐบาล

มาคิดทำ โทรทัศน์ช่องเอ็มวี 1 โดยนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี มาจัดรายการก่อนที่จะเป็นเอ็มวี 1 ก็มีผมกับพี่ตู่ ไปจัดรายการทางยูบีซี 9 ชื่อรายการ “คุยข่าวมันวันอาทิตย์” ทำสักพัก ก็ไปทำเอ็มวี 1 โทรทัศน์ดาวเทียม

จากนั้นวันที่ 2 เมษายน 2549 ได้เป็นผู้แทนสมใจ หลังสมัครลงปาร์ตี้ลิสต์ อยู่ลำดับดีมากคือ 98 ส่วนพี่ตู่ลำดับ 97 เข้าไปรายงานตัว ได้บัตรผู้แทนราษฎร แต่การเลือกตั้งครั้งประกาศเป็นโมฆะ เป็น ส.ส.ได้เพียง 7 วัน

จนมาถึงวันที่ 20 กันยายน 2549 หลังเกิดการปฏิวัติ ผมกับพี่ตู่ โทร.หาพี่วีระ (วีระ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช.) พี่วีระก็บอกให้ไปเจอกันที่พรรคไทยรักไทยเปิดแถลงข่าวสู้ว่าไม่ยอมรับการปฏิวัติ

ก็ไปที่พรรคไทยรักไทย ผมไม่รู้เรื่องไม่เคยสู้กับคณะปฏิวัติ ผมนึกไม่ออกเลย ผมอยากเป็นผู้แทนฯเฉยๆ จะสู้อย่างไรกับการปฏิวัติ แต่ผมเคยเป็นผู้ชุมนุมตอนเดือนพฤษภา สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช มีการตั้งเวทีขับไล่เผด็จการ ไม่รู้จักแกนนำ และคิดอยู่ในใจแล้วว่าผมไม่เอาการรัฐประหารตั้งแต่พฤษภาคม ปี 2535

– พอการต่อสู้ดุเดือดขึ้นกลัวบ้างหรือเปล่า?

ผมเป็นคนไม่กลัวคน ผมเป็นคนสนุกสนานเฮฮา ถ้าพูดเอาฮาก็พูดได้ทั้งวันทั้งคืน แต่ว่าข่มเหงกันไม่ได้รังแกกันไม่ได้ ไม่กลัว ไม่เคยวิตกกังวลกับเรื่องว่าเขาจะเอาไปขังหรือไปฆ่าเวลาสู้

เพราะถ้าสู้แล้วมันคิดเรื่องนั้นไม่ได้ ถ้าคิดเรื่องนั้นก็ไม่ต้องสู้ แต่ไม่ใช่มุทะลุจนไม่รอบคอบ พรรคพวกก็บอกว่าผมได้ทั้งบุ๋นทั้งบู๊ ผมว่าจริงๆ ไม่ใช่ แต่ว่ามันอยู่ที่สถานการณ์ไหนควรทำอย่างไรจะไม่บู๊เพราะอารมณ์ โมโห แต่จะบู๊เพราะจำเป็นเท่านั้น และต้องให้ชนะเท่านั้น รวมทั้งต้องมีวิธีการที่ปลอดภัยที่สุด สมัยเด็กผมไม่เคยตีใครด้วยความโมโห ผมตีให้เพื่อนทั้งนั้นจริงๆ

– ในช่วงการต่อสู้ที่รุนแรง คิดถึงลูก?

ห่วง คิดว่าลูกไม่ควรมารับผิดชอบหรือเผชิญอะไรกับสิ่งที่เราสู้ ไม่แฟร์ เพราะว่าลูกควรจะมีชีวิตที่สะดวกสบายไม่ควรมีชีวิตผ่านความทุกข์และความกด ดัน แต่ว่าเมื่อเราออกมาสู้ลูกก็หลีกเลี่ยงผลกระทบพวกนี้ไม่พ้น ตอนถูกขังก็เป็นห่วง ห่วงมากเข้าก็เลยปรับวิธีคิดใหม่ ถ้าคิดว่าสามคนเป็นแค่ลูกเมีย มันห่วงไม่จบ ผมก็เลยคิดว่าเขาสามคนเป็นเสื้อแดง เมื่อสามคนเป็นคนเสื้อแดงเขาจะต้องสู้เขาก็ต้องผ่านความเจ็บปวดพวกนี้มาให้ ได้ เพราะครอบครัวเสื้อแดงหลายครอบครัว เจ็บปวดกว่านี้อีกคนที่เขารักตาย พิการ บาดเจ็บ ผมแค่ถูกขังก็มีวันออก เห็นหน้ากันได้ทุกวันเวลาไปเยี่ยม

– เข้าไปอยู่ในคุกได้อะไรบ้าง?

ผมอ่านหนังสือเป็นลังๆ มีญาติพี่น้องส่งให้ คิดว่าอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่ปี 2475 ถึงปัจจุบันจนหมดและประวัติศาสตร์การต่อสู้ของมหาตมะ คานธี เหมา เจ๋อ ตุง ดร.ซุน ยัด เซ็น การปฏิวัติ ชนชั้นนายทุนในอังกฤษการปฏิวัติฝรั่งเศส การต่อสู้ในปากีสถาน การต่อสู้ของโฮจิมินห์ ฯลฯ

อ่านแล้วเอามาเทียบ เคียงกับการต่อสู้ของเราจะเห็นมิติของการตัดสินใจมิติการประเมินสถานการณ์ ผลกระทบที่เกิดขึ้น บางเรื่องเทียบเคียงกันได้เลยบางเรื่องเป็นความแตกต่างที่เราเก็บไว้ในคลัง ของความรู้เผื่อว่าจะเจอเหตุการณ์แบบนี้ เผื่อว่าสถานการณ์การต่อสู้ของประชาชนมันมีลักษณะคล้ายคลึงกันเทียบเคียงกัน มันอยู่ที่เราจะจับอะไรมาพูด

– ทำไมจึงหยิบคำว่า “ไพร่” มาใช้ในการต่อสู้?

ผมเพียงแค่ต้องการสื่อสารกับคนทั้งสังคม ที่ผมเรียกตัวเองว่า “ไพร่” เพื่อจะสื่อว่าที่พวกคุณทำกับเราทุกอย่างเพราะไม่ได้เห็นเราเป็นประชาชนใช่ หรือไม่ เพราะเห็นเราเป็นไพร่ใช่ไหม จึงทำกับเราแบบนี้ ถ้าเห็นเราเป็นประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพ แต่ถ้าเห็นเราเป็นไพร่จะจิกหัวใช้ยังไงก็ได้ จะรังแกจะกดขี่ทำอะไรก็ได้

ความหมายของคำว่า “ไพร่” ของผมคือ ไม่ได้ต้องการจะบอกว่าคนจน-คนรวย เรื่องสูง-เรื่องต่ำ แต่เป็นเรื่องของคนที่ถูกกดขี่ ถูกลดทอนความเป็นประชาชน ผมต้องการสื่อสารสิ่งนี้

คำว่า “ไพร่” ไม่ใช่ว่าผมเพิ่งบัญญัติขึ้นมีการใช้มาชั่วนาตาปี แต่ผมต้องการจับคู่คำ จะเรียกว่า “ขี้ข้า” (หัวเราะ) มันก็ดูจะไม่เข้าเท่าไร ครั้นจะไปเรียกว่า “พี่น้องขี้ข้าทั้งหลาย” มันก็ไม่ได้ หาอยู่หลายคำ จนกระทั่งสุดท้ายมาใช้คำว่า “ไพร่” นำมาสร้างเรื่องราวเป็นสนามการต่อสู้ระหว่างอะไรกับอะไร ไม่เชิงประชดแต่ต้องการจะทิ่มแทงไปตรงใจกลางของปัญหา ส่วนคำว่าอำมาตย์ก็มาจากอำมาตยาธิปไตย ไม่ได้มีอะไรสลับซับซ้อน

ผมเชื่อว่าปัญหาทางชนชั้นของประเทศนี้มีจริง แล้วนายกรณ์ ก็ได้ยืนยันอีกครั้งว่ามีจริง ผมไม่คิดว่าปี 2554 จะมีคนคิดแบบนี้ได้ แต่ก็เป็นเรื่องที่สังคมได้เห็นแล้ว

– วางอนาคตของครอบครัวไว้อย่างไร?

ผมว่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดงอีก 3-5 ปีน่าจะได้ข้อยุติและหลังจากนั้นผมจะอยู่ในฐานะใดไม่ใช่เรื่องที่ต้องวิตก กังวล ผมก็ดูแลครอบครัวให้เติบโตเป็นชีวิตที่มีความสุขที่เขาต้องการเท่านั้น

คือทำบ้านเมืองให้น่าอยู่เสียก่อน แล้วค่อยทำบ้านเราให้น่าอยู่สำหรับลูกเมียของเราเอง ถ้าไม่ทำบ้านเมืองให้น่าอยู่สำหรับทุกคน มันหันมามองลูกเมียข้างหลังมันหันมองไม่เต็มตา เพราะหันไปมองข้างหน้ามันยังมีความเจ็บปวดมันยังมีการกดขี่เอารัดเอาเปรียบกันอยู่แบบนี้

ที่มา : มติชน 22 พฤษภาคม 2554
โดย : ตวงศักดิ์ ชื่นสินธุ


1 ปี พฤษภาอำมหิต-“ณัฐวุฒิ” เตือนขบวนเสื้อแดงไม่ใช่แค่ “รวมกันเฉพาะกิจ”

ผ่านไปแล้ว 1 ปีในเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นใจกลางเมือง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก หลังจากเจ้าหน้าที่้้เข้าปฏิบัติการกระชับพื้นที่ ซึ่งมีกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงมารวมตัวกันปักหลักอยู่ที่สี่แยกราชประสงค์

นับจำนวนศพผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น ตั้งแต่คนแรกจนถึงคนสุดท้ายที่สิ้นใจ รวม 93 ศพ อีก 2 พันกว่าคนบาดเจ็บ ถูกจองจำนับร้อย หลบลี้หนีหลายสิบคน และอีกนับหมื่นต้องบอบช้ำทางจิตใจ

มีการจัดกิจกรรมรำลึกถึงเหตุการณ์จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ครบรอบ 1 เดือน จนกระทั่งครบ 1 ปี  แม้คนตายไม่อาจฟื้นมาร่วมได้ แต่คนเป็นไม่ว่าจะญาติพี่น้องพ่อแม่ลูก กลายเป็นตัวแทนเข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง ขึ้นมาปรากฏตัวอยู่แถวหน้าของเวที ร่วมต่อสู้เรียกร้องเพื่อคนตาย

การต่อสู้ของคนเสื้อแดงจึงเริ่มเข้มข้นและเข็มแข็งขึ้นโดยภาคประชาชน ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงให้หลุดพ้นจากวังวนความรุนแรง ซึ่งเป็นบทเรียนที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่เหมือนไม่มีใครจำได้

ภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 53  ที่ปรากฏแก่สายตาของผู้ที่ได้เผชิญกับตัวเอง ถึงนาทีนี้ก็คงลืมไม่ลง แม้เจ็บปางตาย ถูกกักขังในเรือนจำ แต่คนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยยังคงหยัดยืนลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องกับ ขบวนการประชาชนอีกครั้ง

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ถูกกวาดต้อนให้กลับบ้าน ท่ามกลางเสียงปืน เสียงระเบิด ร่างคนเจ็บคนตายทยอยผ่านเข้ามาศพแล้วศพเล่า จนแกนนำบางคนไม่อาจจะยืนหยัดต่อสู้ขึ้นปราศรัยกับผู้ชุมนุมได้อีกต่อไป หายตัวไปตั้งแต่เมื่อไร ไม่มีใครทราบได้   และมีเพียงแกนนำไม่กี่คนที่กล้าขึ้นเวทีไปกล่าวอำลาเวทีประกาศยุติการชุมนุม ในขณะที่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่พร้อมจะสู้ แต่เมื่อหัวสั่งถอยหางก็ต้องยอมถอน แม้จะไม่เต็มใจนัก

เหตุการณ์ในครั้งนั้น “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” คือ แกนนำคนสุดท้ายที่ยังสามารถขึ้นเวทีกล่าวกับผู้ชุมนุมให้ล่าถอยกลับบ้าน เมื่อประเมินกำลังดูแล้วว่าไม่อาจต้านทานฝ่ายที่เหนือกว่าด้วยประการทั้งปวง ได้ “ณัฐวุฒิ ” ให้เล่าถึงวินาทีประกาศยุติการชุมนุม ขอให้คนเสื้อแดงกลับบ้านในวันที่  19 พ.ค.ว่า

คนสูญเสียมากและเราเห็นว่าเขาพร้อมจะฆ่า คนเป็นพันคน เราไม่อยากให้มีความสูญเสียอะไรอีก ทั้งที่สูญเสียมาแล้ว เห็นชัดเจนว่าเขาไม่เสียดายชีวิตประชาชน เราก็ต้องหยุด  ต้องเอาตัวไปให้เขาขัง ถึงจะเป็นการหยุด ถ้าหยุดแล้วโดยหลบไปหมด มันก็คือไม่หยุด แต่ถ้าหยุด คือ การเอาไปคุมขัง ส่วนหนึ่งเห็นว่าต้องหนีก็หลบไปไม่ว่ากัน

**แกนนำทิ้งมวลชนไว้ข้างหลังจึงเข้ามอบตัวเพราะกลัวโดนสไนเปอร์

“ที่เสี่ยงตาย มันเสี่ยงกว่าวันนั้นหลายครั้ง ผมหลบออกไปเจรจาในวันที่มืดหมดทั้งกรุงเทพฯก็ทำมาแล้ว กลับเข้ามาก็เสี่ยงออกไปเจรจาก็เสี่ยง  ทีแรกคุยกับ ส.ว.ค่ำวันที่ 18 พ.ค. จะหยุดอยู่แล้ว เพราะบอกว่าจะมีการเจรจาวันที่ 19 พ.ค. แต่กลับไม่มีการเจรจาจริง พอไม่ใช่อย่างนั้นกลายเป็นการฆ่ากันอย่างรุนแรง มันมีการสูญเสียมากขึ้นๆ กว่าจะมาถึงแกนนำคนไม่รู้ต้องตายอีกเท่าไร มันจึงต้องยุติ เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสีย เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องเอาชีวิตมาแลกกับความอำมหิต ไม่รู้ต้องแลกอีกเท่าไร”

**แกนนำหนีเอาตัวรอดหรือเปล่า

“ไม่ครับ ถ้าพวกผมไม่เข้ามอบตัว เขาจะมองว่า สถานการณ์ไม่หยุดลง จะลุกล่า เข้ามาเพื่อจับตัวแกนนำ เพราะมันก็เกิดขึ้นตลอดทั้งวันนั้น ขนาดมอบตัวยังยิงเพิ่มอีก 6 ศพในวัด ถ้ากำลังเจ้าหน้าที่เพิ่มเข้ามา พวกผมหายไปหมดแล้ว มวลชนก็ ไม่รู้อะไรแล้วจะให้ขึ้นไปประกาศได้อย่างไรว่า ” พี่น้องผมหนีก่อน”  ถ้าหลบไปเลยมวลชนก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น  นึกว่าแกนนำถูกอุ้มไปแล้ว มวลชนก็ต้องไปปะทะกับทหารมากขึ้นไปอีก พอตายกันมากๆก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร สุดท้ายจะเกิดการฆ่ากันมหาศาล เพราะเขาไม่คิดว่า นั่นเป็นการหยุด เพราะพวกผมยังไม่ยุติ”

**การมอบตัวคิดว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุด

คือประกาศว่า หยุดแล้ว เดินเข้าไปตารางเพื่ออธิบายว่าเราได้ยุติแล้ัว ถูกขัง 6 เดือน ยังไม่รู้เลยว่าไปมอบตัวแล้วจะเจออะไรบ้าง ไม่รู้ว่าจะเอาไปขังหรือไปยิง ในสถานการณ์แบบนั้นที่เสธ.แดง(พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล) ถูกยิงหัวกลางถนน จะมั่นใจหรือว่าคืนนั้นจะปลอดภัย ไม่มีอะไรอธิบายเรื่องความปลอดภัยได้เลยในตอนนั้น

**ขบวนการต่อสู้ของมวลชนเสื้อแดงระหว่างการเลือกตั้ง ?

มวลชนเสื้อแดงก็จะต่อสู้ให้ชนะการเลือก ต้ั้ง เพราะเขาเห็นแล้วว่า มีแต่รัฐบาลของประชาชนเท่านั้นที่จะให้ความเป็นธรรมและให้ความจริง ต่อสังคมกับเรื่องที่เกิดขึ้น ที่จะเยียวยาผู้บาดเจ็บล้มตายที่เกิดขึ้น ตราบใดที่รัฐบาลไม่ได้เป็นของประชาชนก็เป็นปัญหานี้มาตลอด

“ขบวนประชาชนเติบโตตลอดเวลา วันหนึ่งประชาชนอาจจะเห็นว่าเราเล็กเกินไป กว่าที่จะยืนอยู่ข้างหน้า แต่ผมก็จะเข้าไปในขบวน เพราะมันไม่ใช่การต่อสู้ของผม มันเป็นการต่อสู้ของประชาชน หน้าที่ ของผม คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ประชาชนเติบโตและได้ชัยชนะ  ถ้าเขาชนะ ผมก็ชนะด้วย ในวันที่เขาชนะ ผมอยู่ตรงไหน ไม่ใช่ปัญหาของเรา ปัญหาของเราวันนี้ คือ มีการลิดลอนสิทธิเสรีภาพ มีความไม่เสมอภาคเท่าเทียม”

**มีความพยายามจะช่วยคนที่ยังติดอยู่ในคุกมั้ย

“ยื่นประกันไปแล้ว ที่จังหวัดอุบลราชธานียกมือไหว้ศาลกันกลางบัลลังก์ศาลก็ทำมาแล้วบอกว่าพี่ น้องผมที่นั่งอยู่ 20 กว่าคน พวกเขาไม่ใช่อาชญากรแต่เป็นผู้ถูกกระทำทางการเมือง จึงต้องออกมาต่อสู้ ถ้าไม่มีเหตุบ้านการเมือง คนพวกนี้เป็นชาวไร่ ชาวนา ชาวบ้าน คนธรรมดา แต่สถานการณ์บีบบังคับให้เขาต้องมาสู้ ไปยื่นก็หลายครั้งไม่รู้จะทำยังไงแล้ว

ชาวบ้านหัวใจยิ่งใหญ่มาก การต่อสู้เป็นการต่อสู้ที่แท้จริง ผม ไม่รู้ว่าฝ่ายเผด็จการในประเทศนี้ประเมินขบวนการเสื้อแดงไว้อย่างไร แต่ผมอยากจะบอกว่า คุณกำลังเจอของจริง เจอคู่ต่อสู้ที่ไม่เคยเจอมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 6 ตุลาคม  และ14ตุลาคม   เป็นขบวนการต่อสู้รวมกันเฉพาะกิจ แต่ครั้งนี้ไม่ใช่แค่นักศึกษา มันลึกลงไปถึงระดับตำบล หมู่บ้าน แล้ววันนี้คนเสื้อแดงนั่งรถรถโรลส์รอยซ์ คนไม่มีรองเท้าใส่ก็มี แต่คนพวกนี้ใส่เสื้อสีเดียวกันแล้ว มีจิตวิญญาณต่อสู้กัน”

วันนี้สถานการณ์มันเดินไปถึงขั้นที่ว่า รู้ไหมว่าวันนี้ประชาชนต่อสู้กับใคร   ขบวน การนี้มันค่อยๆเติบโต วันหนึ่งอาจเติบโตจนไม่ต้องการใครมายืนแถวหน้าอีกต่อไป แต่ต้องการคนที่เดินร่วมกันไปเป็นขบวนแล้วนำพาไปสู่ชัยชนะได้ การเยียวยา แน่นอนว่าถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล  ต้องเรียกร้องกันต่อ เสนอว่ามอบเงินเยียวยาให้แก่ผู้เสียชีวิตรายละ 10 ล้าน รวม 91 ชีวิต เป็นเงิน 900 กว่าล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับงบประมาณใช้ในการจัดการกับผู้ชุมนุมใช้เงินไปกว่า 6 พันล้านบาท มันไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำไป

“วันนี้ประเทศจะให้ตกอยู่ในฝันร้าย แล้วเป็นฝันดีของประชาชนไม่ได้  ฝันร้ายของประชาชนคือ เมื่อไหร่ก็ตามที่ประชาชนออกมาต่อสู้จะตายทุกที กลายเป็นบาดแผลในประวัติศาสตร์ รบกันทีมาร้องไห้ทีก็จบ  ฉะนั้นเราต้องนำพาประเทศไทยให้พ้นจากสถานการณ์นี้ ต้องหยุดการฆ่า ด้วยการทำความจริงให้ปรากฏ ไม่เช่นนั้นจะตายกันอีก”

ไม่ได้บอกว่าต้องอาฆาตแค้นไล่ล่ากันตลอด ชีวิต ถ้าไม่รับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่อธิบาย สังคมมันจะกลายเป็นแผลอักเสบ ไม่มีวันรักษา คนถูกฆ่าตายกลางเมืองหลวงเกือบร้อยคน คิดว่าจะไม่เกิดอะไรขึ้นหรือ มันไม่ใช่สมัยโบราณที่ใครชนะเป็นคนเขียนประวัติศาสตร์  ถ้าคิดว่าประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยผู้ชนะขอให้คิดใหม่ วันนี้ประวัติศาสตร์ของผู้แพ้อยู่ในเฟซบุ๊ค อยู่ในเว็บไซต์  ทีวีดาวเทียม วีซีดี และอื่นๆอีกมากมาย ถ้าจะมาอธิบายว่า ฆ่าไปก่อนแล้วค่อยมาเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ วันนี้ประวัติศาสตร์ของผู้แพ้กำลังไล่ล่าความอำมหิตของผู้ชนะอยู่เหมือนกัน

วันนี้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีไม่สำคัญเท่ากับเป็นนายกรัฐมนตรีของไทย ระหว่างของประชาชนกับอำมาตย์ ฝ่ายอำมาตย์ได้กวาดต้อนพรรคการเมืองหมดแล้ว เหลือพรรคเพื่อไทยเพียงพรรคเดียว  “ผมไม่มีทางเลือกอื่น” ณัฐวุฒิกล่าวทิ้งท้ายถึงการเดินเข้าสู่สนามเลือกตั้ง

ที่มา : มติชนออนไลน์ 19 พฤษภาคม 2554
โดย : ชฎา ไอยคุปต์


โลกประณาม

ไม่แปลกใจเลยกับการจัดอันดับเสรีภาพสื่อไทยที่ถูกลดชั้นจากกลุ่ม “กึ่งเสรี” ไปอยู่ในกลุ่ม “ไม่เสรี”

กลุ่มฟรีดอมเฮาส์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นองค์กรติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก

เปิดเผยรายงานผลสำรวจเสรีภาพสื่อมวลชน ใน 196 ประเทศประจำปี 2554 เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกเมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา

ระบุว่าเสรีภาพสื่อในประเทศไทยปีนี้ร่วงตกไปอยู่อันดับ 138

อยู่โซนเดียวกับ พม่า อิรัก เกาหลีเหนือ คิวบา โซมาเลีย และอัฟกานิสถาน

เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ไทยถูกประณามว่าเป็นกลุ่มประเทศไร้เสรีภาพด้านสื่อ

เพราะผลจากการที่รัฐบาลยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปิดกั้นสื่อประเภทออนไลน์

และผลกระทบจากเหตุไม่สงบทางการเมือง โดยการสลายม็อบแดงเดือนพ.ค.ปีที่แล้วจนมีผู้เสียชีวิต 91 ศพ บาดเจ็บกว่า 2 พันคน

นาย เดวิด เจ. เครเมอร์ ผอ.ฟรีดอมเฮาส์ ระบุว่า “มีสิ่งน่าเป็นห่วงในปีนี้ หลังจากสถานการณ์ปิดกั้นเสรีภาพสื่อในประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่ หรือชาติที่ประชาธิปไตยเปราะบางอย่างเม็กซิโก ฮังการี และไทยลดลงไปมาก”

ความจริงการคุกคามเสรีภาพสื่อมวลชนในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมาก็ปรากฏต่อสายตาคนไทยด้วยกันอยู่แล้ว

ยกตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุดคือการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพรอยเตอร์ชาวญี่ปุน และนายฟาบิโอ โปเลนกิ ช่างภาพอิสระชาวอิตาลี

ที่ตกเป็นเหยื่อการกระชับพื้นที่ของรัฐบาลด้วยกระสุนจริง

และยังมีนายไชยวัฒน์ พุ่มพวง ช่างภาพชาวไทยที่ถูกกระสุนปืนทาโวร์ยิงขาจนได้รับบาดเจ็บสาหัส

การคุกคามเสรีภาพในไทยในช่วงเวลานั้นไม่ได้ครอบคลุมแค่สื่อเท่านั้น

ประชาชนก็โดนลิดรอนเสรีภาพด้วยเช่นกัน

นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือบ.ก.ลายจุด โดนจับ ขังเพราะไปผูกผ้าแดงที่แยกราชประสงค์

นายนที สรวารี ก็โดนจับเพียงเพราะไปยืนตะโกนที่แยกราชประสงค์ว่า “ที่นี่มีคนตาย”

นักเรียนชั้น ม.5 ที่เชียงรายถูกตำรวจดำเนินคดี เพราะไปถือป้ายประท้วงว่า “ผมเห็นคนตายที่ราชประสงค์”

แม่ค้าโดนจับดำเนินคดีเพราะขายรองเท้ามีรูปใบ หน้ามาร์ค-เทือก

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประชาชนที่ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ

ฉะนั้น ไม่ประหลาดใจเลยว่า ทำไมทั่วโลกถึงประณามรัฐบาลนี้

ที่มา : ข่าวสด 6 พ.ค. 2554
คอลัมน์ : เหล็กใน