วาทกรรมตอแหลฉบับออนไลน์

“ถ้าผมจะมีความผิดก็คงมีแค่ประการเดียวคือ ผมเป็นนายกฯในระบบสภาคนแรกหลัง ปี 2550 ที่คุณทักษิณสั่งไม่ได้”

ข้อความสรุปท้ายของบันทึก “จากใจอภิสิทธิ์ถึงคนไทยทั้งประเทศ” ตอนที่ 1 “การเมืองสลับขั้ว : สู่เส้นทางนายกรัฐมนตรี” ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการใช้เฟซบุ๊คหรือสังคมออนไลน์ในทางการเมืองที่ได้ รับการตอบรับดีเกินคาด ไม่ว่าจะในแง่บวกหรือแง่ลบ เช่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ใช้ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊คในการต่อสู้ทางการเมืองตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา

แต่บันทึกของนายอภิสิทธิ์ที่เขียน 3 ตอนนั้นไม่ใช่แค่สะท้อนให้เห็นความรู้สึกและตัวตนที่แท้จริงของนายอภิสิทธิ์ เท่านั้น ยังสะท้อนให้เห็นความ จริงทางการเมืองที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางการเมือง การจับขั้วทางการเมืองโดย “อำนาจพิเศษ” และเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต”

พายเรือให้โจรนั่ง!

อย่างบันทึกตอนที่ 1 กล่าวถึงการจับขั้วตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร และการกล่าวหานายอภิสิทธิ์ “อยากเป็นนายกรัฐมนตรีจนสามารถร่วมงานกับพรรคอะไรก็ได้” และ “พายเรือให้โจรนั่ง” ว่าเข้าใจความรู้สึกของพี่น้องจำนวนไม่น้อยที่แสลงใจกับภาพที่นายเนวิน ชิดชอบ เข้ามาโอบกอด แต่ต้องให้ความเป็นธรรมนายเนวินที่ตัดสินใจย้ายขั้วทิ้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งวันนั้นตนเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่านายเนวินตัดสินใจทางการเมืองเพื่อให้ ประเทศเดินหน้าได้

ส่วนข้อกล่าวหาจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารนั้น นายอภิสิทธิ์ยืนยันว่าไม่ได้ไปปล้นอำนาจใคร แต่ทุกอย่างเป็นเรื่องของสภา ทั้งไม่เคยติดต่อกับทหารคนใด และเชื่อว่าไม่มีใครบังคับ ส.ส. ได้

ตุลาการ “วิบัติ”!

ในบันทึกตอนที่ 1 นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงช่วงก่อนการยุบพรรคพลังประชาชนว่า นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ติดต่อผ่าน ส.ส. คนหนึ่งเพื่อขอพบตน เพราะมีธุระอยากพูดคุยด้วย และได้ไปพบกันที่ร้านอาหารใกล้พรรคประชาธิปัตย์

“คุณพสิษฐ์บอกผมว่าพรรคพลังประชาชนจะถูกยุบนะ ผมก็เพียงแต่รับฟัง คุณพสิษฐ์บอกกับผมว่าที่เล่าให้ฟังเพราะคิดว่าจะเป็นประโยชน์กับพรรคประชาธิ ปัตย์ ซึ่งผมตอบกลับไปว่าการยุบพรรคพลังประชาชนหรือไม่เป็นเรื่องของเนื้อคดีและ ดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ”

นายพสิษฐ์ออกมาตอบโต้นายอภิสิทธิ์ว่าไม่พูดความจริงทั้งหมด เพราะตนไม่ได้เป็นผู้นัดหมาย แต่ได้รับคำสั่งให้ไปพบนายอภิสิทธิ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้นำฝ่ายค้าน โดยทราบก่อนเวลานัดไม่ถึง 1 ชั่วโมง และได้พูดเรื่องยุบพรรคพลังประชาชนจริง โดยนายอภิสิทธิ์พูดว่า

“แม้ยุบพรรคพลังประชาชนพรรคเดียวก็ไม่ มีประโยชน์ เพราะเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลยังคง จับมือกันร่วมรัฐบาลต่อไป ซึ่งเป็นข้อความเดียวกับที่นายอภิสิทธิ์โพสต์ในเฟซบุ๊ค หลังจากผมรับฟังจากท่านผู้นำฝ่ายค้านแล้ว ผมบอกว่าจะนำความกลับไปบอกผู้ใหญ่ให้ทราบถึงเป้าประสงค์ต่อไป”

นอกจากคำพูดของนายอภิสิทธิ์จะไม่ตรงกับนายพสิษฐ์แล้ว ยังทำให้เห็นชัดเจนว่ามี “ผู้ใหญ่” ที่ ไม่ได้เอ่ยนามเกี่ยวข้องกับการยุบพรรคพลังประชาชนและพรรคอื่นๆตามมาอีกหลาย พรรคหลังจากนั้น ซึ่งขณะนั้นคำว่า “ตุลาการภิวัฒน์” มีการพูดถึง อย่างมากมายเพื่อให้นำมาใช้แก้ปัญหาทางการเมือง

แต่วันนี้ “ตุลาการภิวัฒน์” กลับกลายเป็น “ตุลาการวิบัติ” ซึ่งหลายฝ่ายเรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ พร้อมๆกับปฏิรูปการเมือง เพื่อหยุดปัญหา 2 มาตรฐานและการดึงสถาบันตุลาการมาเกี่ยวข้องกับการเมือง

อำนาจพิเศษ!

ส่วนบันทึกของนายอภิสิทธิ์ตอนที่ 2 “กฎเหล็ก 9 ข้อ : สู่บรรทัดฐานใหม่ทางการเมือง” ก็ถูกนายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ตอบโต้ว่านายอภิสิทธิ์ “เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่ผู้อื่น” และไม่ให้เกียรติพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งยังแฉหมดเปลือกว่าหากการตั้งรัฐบาลไม่มี “พลังที่ไม่สามารถเลี่ยงได้” บีบบังคับก็จะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์แน่นอน ซึ่งนายอภิสิทธิ์อ้างในบันทึกว่าไม่สามารถสกัดกั้นการทุจริตได้ 100% เพราะต้องทำงานร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิมที่ไม่สามารถเปลี่ยนผู้เล่นได้ “ผมต้องจัดทีมจากผู้เล่นที่มี และดูแลให้ผู้เล่นเหล่านั้นเดินตามกติกาที่ผมวางไว้”

คำพูดของนายชุมพลจึงไม่เพียงตอกหน้านาย อภิสิทธิ์ว่าโกหก ยังยืนยันว่าการตั้งรัฐบาลมี “อำนาจพิเศษ” หรือ “มือที่มองไม่เห็น” อยู่เบื้องหลังจริงๆ แม้นายอภิสิทธิ์จะตอบกลับว่าไม่จำเป็นต้องชี้แจงหรือทำความเข้าใจกับนายชุม พล เพราะอีกไม่นานคงทราบว่าการเขียนของตนคืออะไร ทั้งจะไม่หยุดเขียน เพราะต้องการบันทึกความจริงเอาไว้

ถูกยัดเยียดฆ่าประชาชน

อย่างไรก็ตาม บันทึกทั้ง 2 ตอนไม่ฮือฮาเท่าบันทึกตอนที่ 3 โดยนายอภิสิทธิ์ระบุว่า “ขอเสนอความจริง” เหตุการณ์เดือนเมษายน 2553 โดยระบุชนวนเหตุการณ์ปี 2553 มาจากศาลฎีกาแผนก คดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษายึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ 46,000 ล้านบาท พ.ต.ท.ทักษิณไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมของไทย และกล่าวหาว่าศาลตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง จึงใช้วาทกรรม “2 มาตรฐาน” ปลุกปั่นคนเสื้อแดงให้เข้าใจว่าถูกกลั่นแกล้งโดยอำมาตย์

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ยืนยันว่าพยายามประนีประนอม โดยยึดหลักกฎหมายและความถูกต้อง ยอมนั่งเจรจากับแกนนำคนเสื้อแดงถึง 2 วัน 6 ชั่วโมง และเสนอทางออกจะยุบสภาช่วงปลายปี เพื่อให้เศรษฐกิจมั่นคงและการเมืองเป็นไปตามกติกา เพื่อไม่ให้เป็นแบบอย่างเอามวลชนมากดดันไม่จบไม่สิ้น แต่ก็เกิดความรุนแรงเดือน “เมษา-พฤษภา” ซึ่งนายอภิสิทธิ์ระบุว่าเพราะกองกำลังติดอาวุธ

นายอภิสิทธิ์ระบุอีกว่ามีการวางแผนเป็นขั้นตอนตั้งแต่เหตุการณ์เมษายน 2552 ที่เอามวลชนมาล้มการประชุมอาเซียนที่พัทยา และไล่ล่านายอภิสิทธิ์ที่กระทรวงมหาดไทย รวมถึงก่อจลาจลในช่วงสงกรานต์ ทั้งมีการเผยแพร่คลิปตัดต่อเสียงจากรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์เพื่อให้เข้าใจว่าตน “สั่งฆ่าประชาชน” จึงไม่ยอม รับวิธีการแก้ปัญหาด้วยการเมืองอย่างสันติ เช่นเดียวกับเหตุการณ์เมษา-พฤษภา

“หากแกนนำคนเสื้อแดงและคุณทักษิณมีจุดประสงค์เพียงแค่ต้องการให้ยุบสภา ไม่เกี่ยวกับการล้างความผิดให้คุณทักษิณ ย่อมไม่มีความตาย 91 ศพเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แกนนำคนเสื้อแดงสามารถหยุดยั้งไม่ให้เกิดศพเพิ่มได้ แต่พวกเขากลับเลือกแนวทางสร้างศพเพิ่ม เพื่อยัดเยียดข้อหาฆ่าประชาชนให้ผม”

วาทกรรมตอแหล!

ข้อเขียนของนายอภิสิทธิ์จึงไม่ได้ต่างจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่วันนี้ยังกล่าวหา “ไอ้โม่งชุดดำ” เป็นผู้ก่อการร้ายและเผาบ้านเผาเมือง ทั้งยังระบุว่ามีหลักฐานชัดเจนว่ามีการฝึกอาวุธที่บริเวณแนวชายแดนบ้าง ท้องสนามหลวงบ้าง แต่จนถึงวันนี้ยังจับกุม “ไอ้โม่งชุดดำ” ไม่ได้เลย นอกจากการกล่าวหาและใส่ร้ายป้ายสีคนเสื้อแดง รวมถึง “ผังล้มเจ้า” แม้จะกลายเป็น “ผังกำมะลอ” ไปแล้ว แต่ยังใช้มาตรา 112 กล่าวหาและจับกุมคุมขังคนเสื้อแดงนับร้อยชีวิต

จนมีคำถามว่า “ไอ้โม่งชุดดำ” เป็นคนของฝ่ายใดกันแน่ เป็นกองกำลังติดอาวุธที่ชอบซื้ออาวุธหรือไม่? ขณะที่นายอภิสิทธิ์ก็ “ดีแต่พูด” สร้างภาพด้วยวาทกรรมปรองดองและประนีประนอม แต่กลับไม่แสดงความรับผิดชอบทาง การเมืองใดๆกับ 91 ศพ ทั้งที่นายอภิสิทธิ์เคยพูดสั่งสอนนายกรัฐมนตรีในขณะที่ตนเป็นฝ่ายค้านว่า

“การเมืองในวิถีทางประชาธิปไตยไม่มีที่ไหนในโลกที่ประชาชนถูกทำร้ายจากภาครัฐแล้วรัฐบาลที่มาจากประชาชนไม่แสดงความรับผิดชอบ”

แม้แต่การหาเสียงเลือกตั้งนายอภิสิทธิ์ก็มักจะอ้างแนวทางการปรองดอง แต่กลับโจมตีว่าหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี สิ่งแรกที่จะทำคือการนิรโทษกรรมให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ประกาศชัดเจนว่าสิ่งแรกที่จะทำคือแก้ปัญหาเศรษกิจและปัญหาปาก ท้องของประชาชน

ขณะที่นายสุเทพให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. ต่ำกว่า 170 เสียงจะรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งเหมือนที่นายอภิสิทธิ์ประกาศ เพราะมั่นใจว่าได้มากกว่า 170 เสียงแน่นอน แต่ถ้าแพ้ยับต้องยกบ้านยกเมืองให้กับคนเผาบ้านเผาเมืองไป กล่าวหาอีกฝ่ายเป็นคนเผาบ้านเผาเมือง แต่กลับไม่สามารถจับคนเผา ผู้ก่อการร้าย คนชุดดำได้แม้แต่คนเดียว ทั้งที่ใช้กำลังแทบจะทั้งกองทัพ

เรยาการเมือง?

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เย้ยนายอภิสิทธิ์ว่าควรเปลี่ยนชื่อบันทึกเป็น “ลากไส้อภิสิทธิ์ถึงคนไทยทั้งประเทศ” มากกว่า เพราะเป็นการอธิบายตัวตนและที่มาของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ได้เป็นอย่างดี ทั้งยังตั้งฉายา “เรยาการเมือง” เพราะไม่จริงใจสร้างความปรองดอง เอาประเด็น พ.ต.ท.ทักษิณที่เป็นส่วนเล็กของปัญหามาทำให้เกิดความขัดแย้งใหญ่ ทั้งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประกาศจุดยืนชัดเจนว่า “แก้ไข ไม่ใช่แก้แค้น”

โดยเฉพาะบันทึกตอนที่ 3 นายณัฐวุฒิได้โพสต์ข้อความ 13 ประเด็นผ่านเฟซบุ๊คตอบโต้บทความของนายอภิสิทธิ์ตั้งแต่ความรุนแรงปี 2552 ที่พัทยาว่านายอภิสิทธิ์จงใจไม่กล่าวถึงกลุ่มคนเสื้อสีน้ำเงินที่เป็นชาย ฉกรรจ์ผมสั้นเกรียน ซึ่งมีทั้งปืน มีด และไม้เป็นอาวุธ ดักทำร้ายคนเสื้อแดงระหว่างทางกลับจากการยื่นหนังสือจนบาดเจ็บหลายราย หรือกรณีชาวบ้านนางเลิ้ง 2 คนที่เสียชีวิตเพราะเป็นเหยื่อของการชุมนุมนั้น ผ่านมากว่า 2 ปี คดีคืบหน้าไปถึงไหน ได้คนทำความผิดหรือยัง และทำไมไม่พูดถึงคนเสื้อแดง 2 คนที่กลายเป็นศพถูกมัดมือไพล่หลังลอยน้ำเจ้าพระยา

ภาพปิศาจ “ทักษิณ”

ส่วนการยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น นายณัฐวุฒิระบุว่า เป็นเพราะนายอภิสิทธิ์ยังคงเวียนว่ายตายเกิดกับการวาดภาพปิศาจใส่ฝ่ายตรง ข้ามเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ทั้งที่การยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณไม่มีผลใดๆเลยกับการต่อสู้ของ นปช. ในปี 2553 ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและระบบยุติธรรม 2 มาตรฐาน

โดยเฉพาะเหตุการณ์ 10 เมษายนนั้นไม่ใช่การสลายการชุมนุมตามหลักสากล เพราะใช้เฮลิคอปเตอร์โยนแก๊สน้ำตาลงกลางเวทีที่มีทั้งผู้หญิงและคนแก่จำนวน มาก มีคนถูกยิงตายรายแรกราว 16.00-17.00 น. ซึ่งโทรทัศน์ช่องไทยพีบีเอสยังสัมภาษณ์หมอคนหนึ่งที่บอกว่าไม่ใช่การขอคืน พื้นที่ แต่เป็นการปราบปรามประชาชน ทั้งมีข่าวรายงานว่านายทหารใหญ่ให้สัมภาษณ์ว่า “ต้องให้จบในคืนนั้น” ไม่มีตรงไหนเลยที่อธิบายว่านายอภิสิทธิ์พยายามยุติปฏิบัติการ

“การอ้างว่าพยายามอย่างที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงในปี 2553 เป็นคำพูดเอาแต่ได้ เพราะข้อเรียกร้องของประชาชนคือการยุบสภา ซึ่งคุณอภิสิทธิ์ไม่มีความชอบธรรมจะดำรงตำแหน่งนายกฯตั้งแต่ต้น คำยืนยันของคุณชุมพล ศิลปอาชา เรื่องพลังที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือใบเสร็จเรื่องนี้ การอ้างว่าอยู่เพื่อแก้ปัญหา วันนี้ก็ชัดแล้วว่าทุกปัญหาร้ายแรงกว่าเก่า ยอมรับเถิดว่าการฆ่าไม่สามารถทำให้ชนะได้”

นายณัฐวุฒิยืนยันว่า นปช. ไม่มีกองกำลังติดอาวุธ และอยากเห็นว่าเป็นใคร หรือคนที่รัฐบาลจับนั้นเอาไปขังไว้ที่ไหน คนตายทั้งทหารและประชาชน 20 กว่าชีวิต ระบุได้ว่าคนไหนเป็นทหาร แต่ไม่มีใครระบุได้ว่าใครคือชายชุดดำ ใครคือผู้ก่อการร้าย เพราะทุกคนที่ตายไม่มีอาวุธ และ มีหลักแหล่งครอบครัวชัดเจน ทุกคนมีญาติพี่น้องมาร่ำไห้ที่เวที จนวันนี้ยังไม่มีคำอธิบายจากรัฐบาล

“คุณอภิสิทธิ์บอกว่าช็อกกับสิ่งที่เกิดขึ้น และในคืนนั้นไม่อาจหลับตาลงได้แม้แต่นาทีเดียว แล้วรู้ไหมครับว่าทุกชีวิตที่ตายไม่มีใครตาหลับเลยจนถึงวันนี้ เพราะเขาไม่มีทางเข้าใจว่าทำไมต้องตาย ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากระสุนสไนเปอร์เหล่านั้นมาจากทางทิศไหน และตายไปแล้วดวงวิญญาณยังมองไม่เห็นความยุติธรรมจะปรากฏ”

นายณัฐวุฒิยืนยันว่า แกนนำคนเสื้อแดงไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบ หากผิดจริงในคดีก่อการร้ายก็มีโทษสูงสุดคือประหารชีวิต แต่นายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ คิดว่าต้องรับผิดชอบต่อเรื่องนี้บ้างไหมที่มีทหารอาวุธครบมือ แล้วประชาชนถูกยิงตายกลางเมืองหลวงเกือบ 100 ศพ

“คุณอภิสิทธิ์บอกว่าจะเขียนอีก ผมก็จะร่วมเขียนด้วยอีก อยากบอกคุณอภิสิทธิ์ว่าบางทีการพูดความจริงอาจทำให้ตัวเองเจ็บปวด แต่ถ้าเราเป็นผู้นำแล้วไม่พูดความจริงจะทำให้ประชาชนเจ็บปวด เวลาพูดสบตาประชาชนบ้างนะครับ”

มารยาร้อยเล่มเกวียน

ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย ทวีตข้อความตอบโต้นายอภิสิทธิ์เกี่ยวกับการสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงว่า จะโยนเรื่องทั้งหมดไปให้คนชุดดำนั้นไม่ตรงกับความเป็นจริง และไม่อาจกลบเกลื่อนความผิดของรัฐบาลและศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 10 เมษายนก็เกินพอที่ทำให้นายอภิสิทธิ์หมดความชอบธรรมแล้ว ส่วนความเสียหายหลังจากนั้นย่อมไม่พ้นความรับผิดชอบของรัฐบาลเช่นกัน

โดยเฉพาะการใช้วาทกรรมสวยหรูว่า “ขอคืนพื้นที่” และ “กระชับพื้นที่” หรือ “คืนความสุขให้ คนกรุงเทพฯ” และ “คืนความสงบให้บ้านเมือง” ไม่สามารถลบล้างภาพความรุนแรงที่เกิดจากการล้อม ปราบประชาชนด้วยกระสุนจริงและสไนเปอร์ได้

ข้อหา “ฆาตกรฆ่าประชาชน” ที่นายอภิสิทธิ์ระบุว่าเป็นการยัดเยียดให้กับตนนั้นแตกต่างจากที่นาย อภิสิทธิ์และ ศอฉ. โยนความผิดทั้งหมดให้ “ไอ้โม่งชุดดำ” ซึ่งวันนี้ยังจับไม่ได้แม้แต่คนเดียว ขณะที่คนที่ถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยมทั้ง 91 ศพนั้นมีตัวตนชัดเจน คนบาดเจ็บเกือบ 2,000 คน มีจำนวนมากที่ยังนอนอยู่ในโรงพยาบาล หลายคนต้องพิการ และยังมีผู้บริสุทธิ์อีกหลายร้อยคนถูกจับคุมขังโดยไร้หลักนิติธรรม

บันทึก “จากใจอภิสิทธิ์ถึงคนไทยทั้งประเทศ” จึงยิ่งทำให้คนไทยทั้งประเทศ “ตาสว่าง” และเป็นการประจานตัวตนที่แท้จริงของนายอภิสิทธิ์ที่ไม่เพียงอ้างข้อมูลที่ “ขัดแย้ง” และ “บิดเบือนข้อเท็จจริง” เท่านั้น ยังเป็นการ “พูดเองเออเอง” เพราะขี้ขลาดและกลัวความจริงจะถูกเปิดเผย

Facebook ของนายอภิสิทธิ์จึง เป็นแค่ Fakebook ไร้คุณค่า ด้วยวาทกรรมตอแหล “ดีแต่แก้ตัว” ฉบับออนไลน์เท่านั้นเอง!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับ 315 วันที่ 18 – 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554 หน้า 16 – 17
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
โดย : ทีมข่าวรายวัน


ไม่อาว..ไม่พูด “112”

“การมีบทบัญญัติคุ้มครองเกียรติของบุคคลใน ตำแหน่งประมุขของรัฐไว้เป็นพิเศษยิ่งกว่าบุคคลธรรมดาก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด ปรกติแต่อย่างใด บทบัญญัติที่คุ้มครองประมุขของรัฐไว้เป็นพิเศษนี้มีปรากฏเช่นกันแม้ในประเทศ ที่มีรูปของรัฐเป็นสาธารณรัฐ ซึ่งประมุขของรัฐเป็นประธานาธิบดี อย่างไรก็ตาม การบัญญัติคุ้มครองพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้เท่ากับประมุขของรัฐ ทั้งๆที่บุคคลในตำแหน่งดังกล่าวไม่ใช่ประมุขของรัฐ และได้รับความคุ้มครองตามหลักทั่วไปอยู่แล้ว ย่อมหาเหตุผลรองรับได้ยาก”

แถลงการณ์นิติราษฎร์ ฉบับที่ 16 ในเว็บไซต์ “นิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร” โดยนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้เหตุผลถึง “ปัญหาของกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” ซึ่งกลุ่มนิติราษฎร์จะมีการจัดอภิปรายเรื่อง “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ในวันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม เวลา 13.00-15.00 น. ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากมีเหตุจำเป็นต้องเลื่อนและเปลี่ยนวิทยากรที่จะมาเสวนาเป็นนักวิชาการ ของกลุ่มนิติราษฎร์ทั้งหมดคือ นายวรเจตน์ นายธีระ สุธีวรางกูร นายปิยบุตร แสงกนกกุล และนางสาวสาวตรี สุขศรี

การจัดเสวนาดังกล่าวจะมีแถลงการณ์ของกลุ่มนิติราษฎร์ที่เป็นข้อเสนอแก้ไข เพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น รณรงค์เพื่อให้ประชาชนมีความตื่นรู้ในกฎหมายหมิ่นฯด้วย

อัตราโทษสูงเกินไป

นายวรเจตน์กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องพูดถึงมาตรา 112 ว่าเพราะในห้วงเวลาที่ผ่านมาดูเหมือนว่าความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เริ่มได้รับความสนใจจากสาธารณชนในวงกว้าง ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงเพราะสถิติการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความ ผิดฐานนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และในหลายกรณีผู้ที่ถูกกล่าวหาเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาเท่านั้น แต่เพราะความลึกลับของการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในลักษณะเช่นนี้ ประกอบกับความพยายามของหน่วยงานของรัฐที่เริ่มให้ความหมายใหม่ของความผิดฐาน นี้ว่าเป็นความผิดฐานล้มเจ้าด้วย จึงทำให้สาธารณชนที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ออกมาเคลื่อนไหวรณรงค์ให้ยกเลิก หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เริ่มอึกทึกกึกก้องดำเนินคู่ขนานไปกับความเงียบงันของ แวดวงวิชาการนิติศาสตร์ เหมือนกับเรื่องครึกโครมอื้อฉาวอีกหลายเรื่องของกระบวนการยุติธรรมในห้วง เวลาที่ผ่านมา

โดยเฉพาะปัญหาอัตราโทษของมาตรา 112 ที่ปัจจุบันกำหนดโทษจำคุก 3-15 ปี ซึ่งเป็นโทษที่ได้รับการกำหนดขึ้นโดยขาดความชอบธรรมในทางประชาธิปไตย เพราะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาโดยคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครอง แผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 23 ตุลาคม 2519 (หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา) เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามพระราชกำหนด ลักษณะหมิ่นประมาทด้วย การพูดหรือเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ ร.ศ. 118 มาตรา 4 อันเป็นกฎหมายที่บัญญัติในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว พบว่าโทษหมิ่นประมาทพระผู้เป็นเจ้าซึ่งดำรงสยาม รัฐมณฑลนั้นมีโทษจำคุกไม่เกินกว่า 3 ปี หรือให้ปรับเป็นเงินไม่เกินกว่า 1,500 บาท หรือทั้งจำและปรับ

แม้แต่ในประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2500 โทษตามมาตรา 112 คือโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และไม่มีการกำหนดโทษขั้นต่ำไว้ จึงกล่าวได้ว่าอัตราโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายปัจจุบันขาดความสอดคล้องกับหลัก ความพอสมควรแก่เหตุอย่างสิ้นเชิง

ตำนานปรีดี พนมยงค์

“นักปรัชญาชายขอบ” เขียนบทความ “ม.112 ขัดต่อหลักความยุติธรรมอย่างไร?” ในเว็บไซต์ประชาไท ตั้งประเด็นว่า “มองจากหลักความยุติธรรมตามระบอบประชาธิปไตยหรือหลักการ “พระมหากษัตริย์ทรงทศพิธราชธรรม” มาตรา 112 และรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 ย่อมสมควรถูกยกเลิกหรือแก้ไขปรับปรุงให้ไปกันได้กับหลักเสรีภาพและความเสมอ ภาค” แม้เรื่องสถาบันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในสังคมไทย แต่ต้องยอมรับว่าวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา มาตรา 112 ได้ถูกนำไปเป็นข้ออ้างหรือเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง โดยไม่คำนึงว่าจะกระทบ กระเทือนต่อสถาบันและสิทธิเสรีภาพที่ขัดกับหลักประชาธิปไตยอย่างไร

บทความได้ยกข้อเขียนชื่อ “พลิกตำนาน-เบื้องลึก รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์” โดยอ้างถึงคำพูดของ “ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล” ทายาทลำดับที่ 5 จากทั้งหมด 6 คนของ “ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์” ที่ระบุว่า

“ดุษฎี” เริ่มน้ำตาคลอเมื่อต้องพูดถึงความรู้สึกของผู้เป็นพ่อหลังเกิดกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ว่า

“ทุกคนชอบถาม แต่คุณพ่อไม่เคยบอกอะไรกับลูก หรือแม้แต่คุณแม่ คุณพ่อเคยพูดกับนักเรียนไทยในอังกฤษบอกว่า ประวัติศาสตร์เมื่อถึงเวลาแล้วประวัติศาสตร์จะบอกเองว่าได้เกิดอะไร นี่คุณพ่อพูดแค่นี้ คุณพ่อมีความดีอยู่อย่างคือไม่เคยใส่ร้ายใคร คุณพ่อเป็นนักวิทยาศาสตร์สังคม และเป็นคนไม่พูดเรื่อยเปื่อยโดยไม่มีหลักฐาน ยืนยันไม่ใส่ร้ายใคร”

ยิ่งหากให้สรุปถึงเหตุการณ์ที่ “รัฐบุรุษอาวุโส” เคยเสียใจที่สุดนั้น “ดุษฎี” พูดด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า

“คุณพ่อไม่ได้พูด…แต่พวกเราพูด แต่ละไว้ จุด จุด จุด บอกแล้วว่าไม่พูดย้อนหลัง พูดแต่ข้างหน้า”

สิทธิความเป็นมนุษย์!

บทความดังกล่าวยังถามต่อ “ความเป็นมนุษย์” ในแง่ที่ว่าทุกคนควรมีเสรีภาพในการพูดความจริงเพื่อปลดเปลื้องตนเองจากการ เข้าใจผิดของสังคม หรือจากการถูกลงโทษทางสังคม ฯลฯ ที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่?

เพราะหากมองในมิติทางสังคมและการเมืองในสังคมเสรีประชาธิปไตยแล้ว สังคมที่ยอมรับกฎหมายที่ขัดต่อหลักความยุติธรรมย่อมเป็นสังคมที่ยอมรับระบบ อยุติธรรมต่อความเป็นมนุษย์นั่นเอง เพราะสังคมเสรีประชาธิปไตย กฎหมายต้องบัญญัติบนหลักความยุติธรรมพื้นฐาน 2 ประการคือ หลักเสรีภาพและหลักความเสมอภาค ไม่ว่าจะเป็นระหว่างชนชั้นปกครองกับประชาชน หรือประชาชนกับประชาชน

“นักปรัชญาชายขอบ” จึงเห็นด้วยที่คนเสื้อแดงจะรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 รวมทั้งต้องการให้พรรคการเมืองที่คนเสื้อแดงสนับสนุนมีวาระที่ชัดเจนในการ รณรงค์เรื่องนี้ด้วย

กรณีกษัตริย์สเปน

การเคลื่อนไหวให้ยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ยิ่งมีมากขึ้น หลังจากเมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมาศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้วินิจฉัยคดี Otegi Mondragon v. Spain ซึ่งศาลยืนยันว่าการที่ศาลภายในแห่งรัฐสเปนพิพากษาลงโทษบุคคลในความผิดฐาน หมิ่น ประมาทกษัตริย์ฆวน คาร์ลอส แห่งสเปนนั้นเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามที่อนุสัญญาสิทธิ มนุษยชนยุโรปรับรองไว้ในมาตรา 10 ของอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรปวรรคแรกที่บัญญัติว่า

“บุคคลมีสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก สิทธินี้ประกอบด้วย เสรีภาพในความคิดเห็น เสรีภาพในการรับหรือสื่อสารข้อมูลข่าวสาร หรือความคิดโดยปราศจากการแทรกแซงของเจ้าหน้าที่รัฐ…” และวรรคสองบัญญัติว่า “การใช้เสรีภาพดังกล่าวซึ่งต้องประกอบด้วยหน้าที่และความรับผิดอาจอยู่ภาย ใต้รูปแบบ เงื่อน ไข ข้อจำกัด หรือการลงโทษตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งต้องเป็นมาตรการจำเป็นในสังคมประชาธิปไตย เพื่อความมั่นคงแห่งชาติ การบูรณาการดินแดน ความปลอดภัยสาธารณะ การรักษาระเบียบ การป้องกันอาชญากรรม การคุ้มครองสุขภาพและศีลธรรม การคุ้มครองชื่อเสียงหรือสิทธิของบุคคลอื่น เพื่อมิให้มีการเปิดเผยข้อมูลลับ หรือเพื่อประกันอำนาจหน้าที่และความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ”

โดยคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2547 เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสเปนขอหมายศาลเพื่อบุกเข้าไปสำนักงานของหนังสือพิมพ์ Euskaldunon Egunkaria เพื่อตรวจค้นและสั่งปิดหนังสือพิมพ์ เนื่องจากมีหลักฐานว่าหนังสือพิมพ์นี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับกลุ่มแบ่ง แยกดินแดนบาสก์ (ETA) นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังจับกุมกรรมการบริหารและบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ อีก 10 คน หลังการคุมขังโดยลับผ่านไป 5 วัน มีการร้องเรียนจากผู้เกี่ยวข้องกับผู้ถูกคุมขังว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อผู้ ถูกคุมขังทั้ง 10 อย่างทารุณ

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ กษัตริย์สเปนได้รับการเชื้อเชิญและต้อนรับจากหัวหน้ารัฐบาลของประชาคมปกครอง ตนเองบาสก์ในพิธีเปิดโรงไฟฟ้า ณ เมือง Biscaye ในวันเดียวกันนั้น นาย Arnaldo Otegi Mondragon โฆษกของกลุ่มชาตินิยมบาสก์ Sozialista Abertzaleak ในสภาผู้แทนราษฎร ได้แถลงข่าวว่าการเสด็จของกษัตริย์ฆวน คาร์ลอส นั้นน่าเวทนาและน่าสลดใจ เขาเห็นว่าการที่หัวหน้ารัฐบาลของแคว้น บาสก์ไปร่วมงานเปิดโรงไฟฟ้ากับกษัตริย์สเปนนั้นเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างยิ่ง นับเป็น “นโยบายอันน่าละอายอย่างแท้จริง” และ “ภาพๆเดียวแทนคำพูดนับพัน”

นาย Otegi Mondragon ยังกล่าวถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่บุกเข้าไปปิดสำนักพิมพ์ของหนังสือพิมพ์ Eu-skaldunon Egunkaria และจับกุมผู้ต้องหา 10 รายว่า “ผู้รับผิดชอบการทรมานผู้ต้องหา คือกษัตริย์นี่แหละ ที่ปกป้องการทรมาน และระบอบราชาธิปไตยของกษัตริย์ ได้บังคับประชาชนด้วยวิธีการทรมานและรุนแรง”

นาย Otegi Mondragon จึงถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ต่อมาศาลฎีกาพิพากษาว่านาย Otegi Mondragon มีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 490 วรรคสาม ต้องรับโทษจำคุก 1 ปี นาย Otegi Mondragon จึงใช้ช่องทางร้องทุกข์ต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไปแต่ไม่สำเร็จ เขายังไม่ยอมแพ้และเดินหน้าร้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป จนมีคำตัดสินดังกล่าวว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตามอนุสัญญาสิทธิมนุษยชน

อนาคตกษัตริย์ในยุโรป?

นายปิยบุตร แสงกนกกุล ให้ความเห็นถึงคำวินิจฉัยที่ว่ากฎหมายที่กำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาท กษัตริย์ขัดกับเสรีภาพในการแสดงออก แต่รัฐธรรมนูญสเปนกำหนดให้กษัตริย์ไม่ต้องรับผิด และไม่อาจถูกละเมิด ไม่อาจกีดขวางการวิจารณ์กษัตริย์ เช่นนี้แล้วในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น สเปนจะมีการผลักดันให้แก้ไขหรือยกเลิกความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์หรือไม่ ประเทศอื่นๆในยุโรปที่เป็นประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขจะดำเนินการ แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์หรือไม่

เพราะคดีนาย Otegi Mondragon มีความสำคัญต่อระบบกฎหมายและระบอบการเมืองการปกครองของประเทศในยุโรป โดยเฉพาะประเทศที่ประมุขของรัฐเป็นกษัตริย์ ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญ หมุดหมายของประวัติศาสตร์ เนื่องจากศาลสิทธิมนุษยชนยอมรับว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ไม่ได้แตก ต่างไปกว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป

ที่สำคัญคำวินิจฉัยอาจส่งผลสะเทือนถึงระบบรัฐธรรมนูญของประเทศ ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขในยุโรปว่าในอนาคตบทบัญญัติเกี่ยวกับการ คุ้มครองเป็นพิเศษแก่กษัตริย์จะเอาอย่างไรต่อไป คงเดิม ลดความเข้มข้น หรือยกเลิก?

อิงแอบสถาบัน?

โดยเฉพาะวิกฤตการเมืองไทยตั้งแต่ปลายปี 2548 จนถึงปัจจุบันพบว่ามีการดึงเอาสถาบันไปเกี่ยวโยงอย่างชัดเจน อย่างเอกสารของ “วิกิลีกส์” ที่เปิดเผยโทรเลขของนายอีริค จี. จอห์น เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ที่ส่งรายงานไปยังกรุงวอชิงตัน ฉบับลงวันที่ 20 กันยายน 2549, 1 ตุลาคม 2551, 6 พฤศจิกายน 2551, 25 มกราคม 2553 และมีการเสนอผ่านหนังสือพิมพ์ “เดอะการ์เดี้ยน” ของอังกฤษเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2553 ซึ่งระบุชื่อบุคคลสำคัญคือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา องคมนตรี และนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ทำให้การเมืองไทยสั่นสะเทือนอย่างมาก เพราะมีเนื้อหาที่สำคัญและน่าสนใจอย่างยิ่งเกี่ยวกับการเมืองไทยทั้งก่อนและ หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 รวมถึงการยึดโยงไปถึงสถาบันเบื้องสูงที่ถูกดึงมาใช้เป็นเครื่องมือและ เงื่อนไขทางการเมืองเพื่อโค่นล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และประชาชนที่มีความคิดเห็นตรงข้ามกับกลุ่มชนชั้นสูง

แม้แต่รายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission : AHCR) ยังได้กล่าวถึงการละมิดสิทธิมนุษยชนในไทยในช่วงการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วม ประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ว่าศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่มีอำนาจเยี่ยง “รัฐทหาร” ได้ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินกล่าวหาและจับกุมแกนนำ นปช. และคนเสื้อแดงในข้อหาก่อการร้ายและล้มเจ้า โดยอ้างแผนผังที่ทำขึ้นมา และเหยื่อหนึ่งในนั้นคือ “ดา ตอร์ปิโด” หรือ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ที่ถูกตัดสินจำคุก 18 ปี

ขณะที่ผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯก็มีอีกหลายคน แม้แต่ชาวต่างชาติ รวมทั้งล่าสุดคือกรณีนายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล ผู้ออกแบบเว็บไซต์ นปช.ยูเอสเอ ที่ถูกตัดสินให้จำคุก 13 ปี (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ถนนประชาธิปไตย หน้า 9)

รณรงค์ไม่เอา 112

เช่นเดียวกับเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับนายสุรชัย แซ่ด่าน หรือนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ แกนนำกลุ่มแดงสยาม ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งนายสุรชัยประกาศว่าจะรณรงค์ให้ยกเลิกมาตรา 112 เพื่อเปลี่ยนแปลงสถาบันเบื้องสูงให้พ้นวังวนการเมือง

คำพูดของนายสุรชัยจึงเหมือนการปลุกกระแสให้กลุ่มที่เคลื่อนไหวยกเลิก มาตรา 112 กลับมาแพร่หลายอีกครั้ง ซึ่งไม่ใช่แค่กลุ่ม “ไม่เอา 112” ที่แพร่กระจายในสื่อออนไลน์เท่านั้น แต่ยังทำให้วงการนักวิชาการตื่นตัวและรณรงค์เคลื่อนไหวอย่างมากเช่นกัน

เนื่องจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีการใช้สถาบันเบื้องสูงเป็นเครื่องมือทำลายล้างฝ่ายปฏิปักษ์ทางการเมืองมา ตลอด ตั้งแต่รัฐประหารพฤศจิกายน 2490 ที่นายปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ใส่ความ พ.อ. ณรงค์ กิตติขจร บุตรชายจอมพลถนอม กิตติขจร มักใหญ่ใฝ่สูงจะเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศไทย เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ใส่ความนักศึกษาเล่นละครดูหมิ่นองค์รัชทายาท หรือรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็อ้าง พ.ต.ท.ทักษิณจาบจ้วงและคิดล้มล้างสถาบัน (หาอ่านได้จากหนังสือ “ขบวนการลิ้มเจ้า” โดยทีมข่าวโลกวันนี้ ที่เคยเปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองที่มีความพยายาม อิงแอบ แนบชิด และบิดเบือน) และเอาสถาบันเบื้องสูงมาใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามโดยใช้วาทกรรมบิดเบือนต่างๆ

ไม่เอา…ไม่พูด!

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงไม่เคยแยกออกจากการเมืองไทยเลย แล้วยังทำให้ประชาชนที่มีความคิดเห็นต่างในเรื่องสิทธิเสรีภาพและความ ยุติธรรมต้องปิดปากเหมือนคนเป็นใบ้ เพราะการครอบงำทางวัฒนธรรมอุดมการณ์ที่ทำให้ทุกคนห้ามวิพากษ์วิจารณ์ แม้จะถูกนำมาเป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของคนบางกลุ่มก็ตาม

โดยเฉพาะบุคคลทั้งปวงที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งนายวรเจตน์ระบุว่าจะต้องตีความให้สอด คล้องกับอุดมการณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ใช้และตีความเพื่อรับใช้อุดมการณ์ของการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิ ราชย์ซึ่งพ้นสมัยไปแล้ว

การรณรงค์ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงต้องยกเลิกตัวบทในปัจจุบันเพื่อสร้างตัวบทใหม่ที่สอดคล้องกับหลักการใน ทางรัฐธรรมนูญและในทางกฎหมายอาญา ทั้งต้องยกเลิกอุดมการณ์ในการตีความตัวบทมาตรา 112 ที่ผ่านมาด้วย ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอภิปรายถึงสถานะของพระมหากษัตริย์ในทางรัฐ ธรรมนูญ วิเคราะห์แยกแยะส่วนที่สอดคล้องและส่วนที่ขัดแย้งกับการปกครองระบอบ ประชาธิปไตย บังคับใช้ส่วนที่สอดคล้อง แก้ไขส่วนที่ขัดแย้ง และกำหนดกฎเกณฑ์ให้สอดรับกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

การเปิดโลกทัศน์ให้มองเห็นความเป็นจริงในสังคม จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องมีการ “พูด” และ “สื่อสาร” ออกไปให้เห็น “ความจริง”

การ “ไม่พูด” หรือ “พูดไม่ได้” นอกจากจะเป็นอุปสรรคแล้ว อาจก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยจนสร้างความเข้าใจผิดมาแทน หรือเกิดความเชื่อใหม่ๆจากข้อมูลที่ผ่านวิธี“กระซิบ” อย่างคลุมเครือ

นิสัยคนไทยขนานแท้…ถ้าเริ่มต้นด้วยประโยค “เรื่องนี้พูดไม่ได้…ห้ามพูด…อย่าไปบอกใคร?” นั่นหมายความว่าเรื่องนั้นจะกลายเป็นหัวข้อฮิตในสังคมนินทา ที่กระจายไปอย่างรวดเร็วกว่าเชื้อโรคหรือกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ระเบิดเสียอีก

การพูดเรื่อง “112” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงวิชาการ จึงเป็นเรื่องที่สร้างคุณูปการต่อการดำรงอยู่ของทุกสถาบัน

“ชาติ” ประกอบด้วยสรรพสิ่ง หากขาดซึ่ง “ประชาชน” ย่อมมิอาจดำรงเป็นชาติได้ การเปิดปากเปิดใจของประชาชนในชาติจึงเป็นสิ่งที่ควรเปิดหูเปิดตารับรู้ และควรสนับสนุนมากกว่าปิดกั้น

“ตาสว่าง” ไม่จำเป็นต้อง “ปากสว่าง”

แต่จำเป็นต้อง “ใจสว่าง”…เพื่อเปิดทางรับแสงสว่างแห่งประชาธิปไตยที่สาดฉายไปในทุกแผ่นดิน!!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 304 วันที่ 26 มีนาคม – 1 เมษายน พ.ศ. 2554 หน้า 16 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน


จับไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ปฏิบัติการเชือดไก่ให้ใครดู

เกิดมาเป็นคนไทยที่มีลมหายใจอยู่ในยุคนี้ พ.ศ. นี้ถือว่าโชคดีมหาศาล เพราะได้เห็นอะไรหลายอย่าง ที่ทำให้เราได้รู้ว่าไส้ในของประเทศนี้เป็นอย่างไร

เป็นประเทศเสรีประชาธิปไตยจริงหรือไม่

กระบวนการยุติธรรมมีมาตรฐานพอให้ยอมรับได้หรือไม่

อำนาจหน้าฉากกับคนบอกบทหลังฉากมีจริงหรือเปล่า

ที่ผ่านมาเชื่อว่าทุกท่านคงได้เห็นอะไรไปบ้างแล้วไม่มากก็น้อย

ทนๆนั่งดูกันไปอีกหน่อยคงจะได้เห็นอะไรๆมากขึ้นเรื่อยๆอย่างแน่นอน และไม่แน่ว่าคนไทยส่วนใหญ่อาจถึงขั้นหมดความอดทน เลิกนั่งดูฝ่ายคุมอำนาจเล่นเกมบริหารอำนาจกันต่อไป จนต้องออกมารวมพลังเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ควรจะเป็น

วันนี้ความสัมพันธ์ระหว่างทหาร (บางกลุ่ม) กับพันธมิตรฯเสื้อเหลือง พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มอำนาจพิเศษ กำลังไม่เหมือนเดิม

พันธมิตรฯถูกตัดหางและถูกสั่งสอนจากผู้คุมอำนาจไปบ้างแล้ว ดังจะเห็นได้จากกรณีชุมนุมขับไล่รัฐบาลของเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ ที่คอพับคออ่อน ปลุกเท่าไรก็ไม่ขึ้นทั้งที่ประเด็นเคลื่อนไหวเป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ

การชุมนุมของทัพใหญ่วันที่ 25 ม.ค. จึงหลับตานึกภาพได้ว่าจะมีคนมากี่มากน้อย

ฝ่ายคุมอำนาจส่งสัญญาณออกมาแล้วว่า แม้จะเป็นวัวเคยขา ม้าเคยขี่ แต่อย่าล้ำเส้น อย่าขัดใจ จึงจัดการเชือดไก่ให้ลิงดูด้วยการจับตัวนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำเครื่องข่ายประชาชนไทยฯ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เดินสวนกันไปสวนกันมากับตำรวจก็ไม่เคยคิดจับกุม แม้จะมีหมายจับคดีปิดสนามบินออกมาพักใหญ่แล้ว

การจับนายไชยวัฒน์เหมือนเป็นการส่งสัญญาณถึงนายสนธิ ลิ้มทองกุล พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสมศักดิ์ โกศัยสุข และใครต่อใครอีกหลายคนที่เคยคิดว่าตัวเองใหญ่เสียเต็มประดาบนผืนแผ่นดินนี้ ให้เจียมตัว

ฝ่ายคุมอำนาจจัดการเป่าให้ตัวพองได้ก็ปล่อยลมออกให้ตัวแฟบได้เหมือนกัน

พันธมิตรฯจึงฝ่อไม่มีพอง มีแต่ยุบอย่างที่เห็น เพราะทุกคนยังอยากสูดลมหายใจอยู่นอกคุกมากกว่าที่จะเข้าไปนอนในเรือนจำ

การจับนายไชยวัฒน์จึงเงียบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีใครออกมาโวยวายเพื่อปกป้องพวกเดียวกันเอง

แต่ก็อย่าประมาทคนอย่างนายสนธิ นายสมศักดิ์ และใครต่อไปอีกหลายคน เพราะหากถึงจุดที่ไม่มีอะไรจะเสีย หลังพิงฝา ขาชนกำแพง อาจออกอาวุธโต้ลากไส้พวกเดียวกันออกมาแฉอย่างเจ็บแสบได้

ถึงได้บอกตั้งแต่ตอนต้นว่าทนๆนั่งดูไปอีกหน่อย ของดีกำลังจะมีให้ดูเร็วๆนี้

หรือหากไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็ทำให้เราได้เห็นอีกมุมประหนึ่งว่า “ผัวเมียเคลียร์กันได้” ต่อหน้าคนอื่นจะทะเลาะเบาะแว้งตบตีกันอย่างไร แต่ยามเมื่ออยู่ในมุ้งก็กระหนุงกระหนิงสมยอมกันได้

ไม่ว่าจุดจบของเรื่องจะเป็นมุมไหนก็ทำให้คนไทยตาสว่างขึ้นมาอีกเยอะ

ที่มา : โลกวันนี้ 19 มกราคม 2554
โดย : ลอย ลมบน


ฟังคลิปสุนัยอินชิคาโก้ ตาสว่างพรึบทั่วโลก

ผู้สื่อข่าวพิเศษไทยอีนิวส์ ประจำนครชิคาโก้ มลรัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา รายงานรบรรยากาศเสวนาตาสว่างกลางอเมิกา ที่ชิคาโก้เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า กิจกรรมสำเร็จลงอย่างงดงาม ประกอบไปด้วยความบันเทิง และกิจกรรมทางการเมืองที่สมบูรณ์ ต่อจากนั้นในวันที่ 10 มกราคม ศูนย์ศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสันได้เชิญส.ส.ดร.สุนัย จุลพงศธรไปบรรยายสถานการณ์การเมืองไทย มีนักศึกษาและแวดวงวิชาการมารับฟังจำนวนมากและพากันตาสว่างไปตามๆกัน

สำหรับกิจกรรมตาสว่างในชิคาโก้นั้น มวลมหาประชาชนคนเสื้อแดงที่เมืองชิคาโก มลรัฐอิลินอยส์ ได้พากันฝ่าดงหิมะ อากาศติดลบ 14องศา มาฟังส.ส.ดร.สุนัย กันแน่นขนัดห้องจัดงาน อากาศข้างนอกที่ว่าหนาวจนสุดขั้วหัวใจ กลับอบอุ่นเมื่อทุกคนพากันมาอยู่ในห้องที่อบอวลไปด้วยมิตรไมตรีจิต ตั้งอกตั้งใจฟังการพูดคุยบรรยาย แบบเรียกว่าลืมหายใจ ไม่มีใครยอมลุกจากเก้าอี้

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 9 มกราคม ที่ผ่านมา ชมรมผู้รักประชาธิปไตย แห่งรัฐอิลลินอยส์ ได้จัดงานส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ที่ร้าน มณีไทย ชิคาโก เวลา 17:00 โดยได้จัดให้มีการบรรยายพิเศษ โดย ดร.สุนัย จุลพงศธร ส.ส พรรคเพื่อไทย จังหวัดนครสวรรค์ ในหัวข้อ “ความจริงประเทศไทย” โดยมีชาวไทยในชิคาโก และรัฐใกล้เคียง ได้ให้ความสนใจ และได้ไปลงทะเบียนก่อนเวลา และเมื่อถึงเวลา17:30 ห้องประชุม ก็เต็มไปด้วย พี่น้องคนไทย ที่รักความเป็นธรรม ร่วมร้อยคน

ส.ส.ดร.สุนัย ได้ บรรยายถึง วิกฤตการเมืองไทย โดยลําดับท้าวความมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี จนถึงรัตนโกสินทร์ ทําให้เราได้เห็น วิวัฒนาการของการเมืองไทยว่า ประชาธิปไตย และระบบการเมืองไทย นั้น มีอำนาจนอกระบบ แทรกแซงอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาได้อย่างที่ควรจะเป็น มีการปฏิวัติ รัฐประหารมากที่สุด มีการใช้กฏหมายสองมาตรฐาน อย่างเห็นได้ชัดเจน

แต่ผลจากความเจริญทางด้านเทคโนโลยี และ ระบบสื่อสาร ทำให้ประชาชน ได้รับข้อมูลข่าวสาร และตื่นตัว ที่จะเรียกร้อง เพื่อให้ได้ ประชาธิปไตยที่แท้จริง เหมือนอารยะประเทศอื่นๆ หากเรายังปล่อยให้คนไทยมีความแตกแยกอย่างนี้ ประวัติศาสตร์อาจจะซ้ำรอย เหมือนเมื่อตอนที่เราเสียกรุงก็ได้

ส.ส.ดร.สุนัยยังได้เปิดเผย เบื้องหลังเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 2553 และเปิดเอกสารว่าใครสังหารเสธ.แดงด้วย พร้อมเสนอทางออกบ้านเมืองว่าต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่เหนือการเมือง เป็นสถาบันที่ทันสมัยแบบอังกฤษ ญี่ปุ่น สแกนดิเนเวีย

การบรรยายจบลง ด้วยการตอบคำถามจากผู้เข้าฟังและมีการเสนอแนวคิด เกี่ยวกับบทบาทของคนไทยในต่างแดน ในการหาทางออกแก่วิกฤติประเทศไทย โดยเรียกร้องให้ คนไทยทุกคน ทุกสีเสื้อ ขอให้มองทุกอย่างด้วยความเป็นธรรม เคารพในกฏกติกาที่ถูกต้อง เพราะคนเราสามารถที่จะคิดต่างกัน แต่ก็อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข โดยเคารพใน สิทธิ เสรีภาพของผู้อื่น

ทางชมรมผู้รักประชาธิปไตยแห่งรัฐอิลลินอยส์ ก็ได้ยืนยันบทบาท และเจตจำนงค์ ที่จะต่อต้านรัฐประหารทุกรูปแบบ ต่อต้านระบบสองมาตรฐาน และ เรียกร้องให้คืนประชาธิปไตยแก่ประเทศไทยต่อไป และเชื่อแน่ว่าเมื่อส.ส.ดร.สุนัยเดินทางกลับประเทศไทยจะมีเรื่องราวอันตื่น ตาตื่นใจจากอเมริกาไปฝากพี่น้องหญิงชายของเราผู้รักในเสรีภาพและประชาธิปไตย

ทั้งนี้ ส.ส.ดร.สุนัย จุลพงศธร อยู่ระหว่างเดินสายทัวร์ให้ความรู้ กับชาวเสื้อแดงไทยในอเมริกา

ที่มา : ไทยอีนิวส์ 13 มกราคม 2554


เริ่มเน่า

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ 11 พ.ย. 2553
โดย : เหล็กใน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แสดงความภูมิอกภูมิใจ อ้างว่าประชาชนเลือกให้มาเป็นนายกฯตั้งแต่อายุ 46 ปี ประกาศจะบริหารบ้านเมืองด้วยความโปร่งใสถึงขนาดบัญญัติกฎเหล็ก 9 ข้อสำหรับรัฐมนตรี

ไปๆ มาๆ ก็ทำท่าจะไม่ขาวใสต่อไปอีกแล้ว

ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ทั้งกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ การบริหารงานในส่วนของกระทรวงต่างๆ มีกลิ่นโชยออกมาเป็นระยะๆ

ล่าสุดก็คือการหากินบนคราบน้ำตา ความทุกข์ยาก สิ้นเนื้อประดาตัวของประชาชน กรณีหักหัวคิวการช่วยเหลือน้ำท่วม

นายอภิสิทธิ์ได้แค่ทำขึงขัง ท้าให้ส่งหลักฐานมาจะตรวจสอบให้ แต่เอาเข้าจริงๆ ภาวะผู้นำของนายอภิสิทธิ์มีจริงหรือ

ความฉับไวต่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมก็เห็นได้ชัดว่ามีฝีมือหรือไม่

มิต้องพูดถึงคำประกาศกร้าวให้รัฐมนตรีที่หลุดเก้าอี้ส.ส.ให้ลาออกก่อน ถ้าจะลงสมัครเลือกตั้ง

ถูกพรรคร่วมย้อนและท้าทายรายวัน นายอภิสิทธิ์ทำอะไรได้ กล้าหือหรือไม่

ขาดนายสุเทพ เทือกสุบรรณไปคนเดียว นายอภิสิทธิ์ถึงกับซวนเซ เพราะไม่มีคนคอยออกรับแทน

ล่าสุด กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งส.ส.สุราษฎร์ธานีแล้ว นายสุเทพคงจะได้กลับมายึดเก้าอี้เดิมอีกครั้ง

การกลับมาของนายสุเทพจะช่วยประคับประคองรัฐบาลอยู่ต่อได้หรือไม่

ปฏิกิริยากรณีศูนย์วิจัยกรุงเทพโพล สำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง”ความเชื่อมั่นต่อนายกฯ อภิสิทธิ์ ในการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น” ที่เก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,136 คน ระหว่างวันที่ 2-4 พ.ย.ผ่านมา อาจทำให้นายอภิสิทธิ์คิดหนัก

เมื่อผลโพลพบว่ามีประชาชนถึงร้อยละ 93.1 เห็นว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นในปัจจุบันเป็นปัญหาที่รุนแรงถึงรุนแรงมาก

การทุจริตคอร์รัปชั่นที่คิดว่าเป็นปัญหารุนแรงมากที่สุดขณะนี้ คือ การใช้อิทธิพลทางการเมืองแสวงหาผลประโยชน์ (ร้อยละ 40.8)

รองลงมาคือ การจัดซื้อจัดจ้าง การฮั้วประมูล (ร้อยละ 16.4) และการใช้นโยบายและใช้กฎหมาย แบบ 2 มาตรฐาน (ร้อยละ 13.0)

ส่วนนักการเมืองที่มีภาพลักษณ์ของความซื่อสัตย์สุจริตน้อยที่สุด ปรากฏว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ (ร้อยละ 39.2) นายเนวิน ชิดชอบ (ร้อยละ 24.2) และนายโสภณ ซารัมย์ (ร้อยละ 8.3) ตามลำดับ

เป็นที่น่าสังเกตว่าผลการสำรวจครั้งนี้ มีประเด็นกรณีการใช้นโยบายและกฎหมายแบบ 2 มาตรฐานด้วย

การสั่งใช้กำลังสลายการชุมนุมจนมีคนตาย 91 ศพ บาดเจ็บอีกกว่า 2 พันชีวิต อีกหลายร้อยคนถูกตามไล่ล่าจับกุม คุมขัง ด้วยข้อหาก่อการร้าย

รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ลุแก่อำนาจหรือไม่

สังคมเริ่มได้สติและตาสว่างบ้างแล้ว