ปชป.ทำลายศาลรัฐธรรมนูญ-กกต.

นายคณิน บุญสุวรรณ อดีต ส.ส.ร. และนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่า ในเมื่อคุณรู้ว่าขาดอายุความแล้วไต่สวนต่อไปทำไมให้เสียเวลา ทำไมไม่รับเสียตั้งแต่ต้น ทำอย่างนี้เสียหายหมดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญยัน กกต. ถ้าอยากจะรับผิดชอบ กกต. ควรลาออกทั้งคณะ อ่านเหตุผลเต็มได้ดังนี้

มีตุลาการ 6 คนโมฆะหรือไม่

จริงๆแล้วองค์คณะมี 5 คน ฉะนั้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 6 คนไม่ถือว่าขัดต่อกฎหมาย แต่ที่น่าสงสัยคือทำไมมีตุลาการถอนตัวหลังจากไต่สวนคดีนี้มาเป็นเวลานาน โดยอ้างว่าไปฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่หมิ่นประมาทอะไรก็แล้วแต่ ไม่สมเหตุสมผล นอกจากนี้มีบางคนขอถอนตัวแต่ไม่ยอมให้ถอน มีอะไรหรือไม่ ซึ่งค่อนข้างพิกล ในจำนวนตุลาการทั้ง 6 คน ดูรายชื่อแล้วส่วนใหญ่เคยมีท่าทีค่อนข้างจะเป็นปรปักษ์กับกลุ่มการเมืองที่สืบเนื่องมาจากพรรคไทยรักไทย

ตุลาการคนหนึ่งเคยเป็นตุลาการในคณะตุลาการที่สั่งยุบพรรคไทยรักไทย และตุลาการอีกคนหนึ่งเคยเป็นผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม ซึ่งหลังปฏิวัติได้เข้ามาเป็นรัฐมนตรี เป็น ส.ส.ร. (สมาชิกสภาร่างรัญธรรมนูญ) เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และตัวเองก็เข้าไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตรงนี้ถือเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน ประเทศอื่นไม่ทำกัน แต่ประเทศนี้ทำกันหน้าตาเฉย และตลอดเวลาก็เป็นหนึ่งในการแสดงวาทะโจมตี วิพากษ์วิจารณ์การเมืองฝั่งตรงข้าม โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาโดยตลอด

นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของกระบวนวิธีในการพิจารณาที่ใช้เวลาค่อนข้างมาก และให้โอกาสพรรคการเมืองผู้ถูกร้องค่อนข้างมาก ถือว่าเป็นพรรคที่มีสิทธิพิเศษ แต่ประเด็นสำคัญคือศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลสูงสุด เป็นศาลเดียวที่มีคำวินิจฉัยที่เป็นที่สิ้นสุดเด็ดขาดและผูกพันทุกองค์กร ผูกพันแม้กระทั่งคำพิพากษาศาลฎีกา การที่ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาวินิจฉัยกรณีผู้ถูกร้องเป็นกลุ่มการเมืองฝ่ายตรง ข้าม คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) คือพรรคพลังประชาชน นายกรัฐมนตรี 2 คน คนแรกคือนายสมัคร สุนทรเวช ศาลรัฐธรรมนูญก็สร้างบรรทัดฐานว่าแค่เป็นลูกจ้างทำรายการทำกับข้าวโชว์ทาง โทรทัศน์ได้ค่าตอบแทน ถือเป็นลูกจ้างตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เพราะฉะนั้นคำวินิจฉัยตรงนั้นศาลรัฐธรรมนูญได้สร้างบรรทัดฐานแล้ว แต่การสร้างบรรทัดฐานครั้งนั้นถือเป็นการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ ประชาชน

บรรทัดฐานครั้งที่ 2 คือการสั่งยุบพรรคพลังประชาชนเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2551 ในขณะที่กลุ่มพันธมิตรฯยึดสนามบิน การยุบพรรคพลังประชาชนครั้งนั้นเปิดช่องให้พันธมิตรฯอ้างเหตุผลที่จะเลิก ชุมนุม เพราะเหมือนกับว่าบรรลุผลตามเป้าหมายแล้ว การยุบพรรคพลังประชาชนครั้งนั้นเป็นการสร้างบรรทัดฐานของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เพียงแค่ ส.ส. คนหนึ่งซึ่งเป็นถึงประธานสภาถูกกล่าวหาว่าซื้อเสียงโดยมีหลักฐาน และ กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ให้ใบแดงและโยงไปว่ากรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็น ดังนั้น จึงยุบพรรคพลังประชาชนและเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งทั้งหมด เท่ากับเป็นการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนครั้งที่ 2 แสดงว่าศาลรัฐธรรมนูญได้สร้างบรรทัดฐานไว้แล้ว

แต่พอถึงคราวที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องสร้างบรรทัดฐานกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ถูกร้องในข้อหานำเงิน 29 ล้านบาทของกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองของ กกต. ความจริงเงินนี้มาจากเงินงบประมาณแผ่นดิน มาจากภาษีของประชาชน ซึ่ง กกต. มีหน้าที่ปกป้องเงินกองทุนนี้ ในขณะเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่รักษาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและรักษา เจตนารมณ์ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่ระบุเอาไว้ชัดเจน ในมาตรา 93 พูดง่ายๆคือต้องช่วยกันดูแลปกป้องรักษาเงินของแผ่นดิน คือเงินภาษีของประชาชน

ตามความเป็นจริงเงื่อนไขที่ว่าผู้ร้องคือ กกต. ได้ยี่นคำร้องเกินกำหนดเวลา 15 วัน ซึ่งเป็นเหตุผลตั้งแต่ต้นที่ยื่นมา ถ้าคุณจะไม่รับก็ต้องไม่รับตั้งแต่ตอนนั้น แต่คุณปล่อยให้เขาดำเนินการไต่สวนและเกิดเรื่องกลายเป็นคลิปฉาวขึ้นมาว่ามี ตุลาการบางคนแอบพบปะกับกรรมการบริหารพรรค ซึ่งเป็นทีมกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ในคดียุบพรรค แต่พอถึงเวลาแล้วถือว่า กกต. ทำหน้าที่โดยสมบูรณ์

ในขณะเดียวกันเมื่อเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณามี 5 ประเด็น ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือศาลรัฐธรรมนูญต้องชี้และวางบรรทัดฐานไว้ว่าการนำ เงินจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองที่อยู่ในความดูแลของ กกต. และเป็นเงินของประชาชนไปใช้จ่ายผิดวัตถุประสงค์ และยังมีหลักฐานจากการไต่สวนว่ามีการทำนิติกรรมอำพราง สิ่งเหล่านี้เป็นความชั่วร้าย เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นความผิดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ แล้วความผิดขนาดนี้สมควรให้มีการเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของกรรมการบริหาร พรรคและหัวหน้าพรรคหรือไม่ แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับไม่ให้ความสำคัญในประเด็นนี้เลย ทั้งๆที่เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เช่นนั้นจะมีศาลรัฐธรรมนูญเอาไว้ทำไม

ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ศาลแขวง หรือศาลอาญา หรือศาลจังหวัด ที่สามารถเอาประเด็นเรื่องอายุความมาหักล้าง แต่นั่นมีถึง 3 ศาล ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลเดี่ยว หากมีคำวินิจฉัยก็เป็นที่สิ้นสุดเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญกับคำร้องที่ยื่นมาขาดอายุความหรือไม่ เกินกว่าเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมายหรือไม่ แต่คุณไม่สนใจเลย แสดงว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ทำหน้าที่ในฐานะผู้ปกป้องเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปกป้องเจตนารมณ์ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่สำคัญที่สุดคือคุณต้องปกป้องทรัพย์สินของประชาชนที่อยู่ในรูปของกองทุน

ขนาด กกต. ซึ่งเป็นองค์กรเบื้องต้นในการดูแลทรัพย์สินของประชาชน ในส่วนนี้เขาลงความเห็นมาแล้ว ผ่านคณะกรรมการการเลือกตั้งมาแล้ว ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะนายทะเบียนก็ดำเนินการตามมติของคณะ กรรมการการเลือกตั้ง โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเลือกตั้ง ยื่นคำร้องไปที่อัยการสูงสุดๆก็เห็นพ้องด้วย แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับชี้ว่ายื่นเกินกำหนดระยะเวลา ดังนั้น ถือว่าคำร้องตกไป แล้วทำไมไม่ตกไปเฉพาะตรงนั้น ทำไมต้องตกไปทั้งหมด แสดงว่าไม่ยอมวินิจฉัยเลย เหมือนกับนักมวย 2 คนขึ้นเวทีเขาตั้งหน้าตั้งตาจะชก แต่เขายังไม่เริ่มชกเลยคุณไปยกมืออีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าคุณชนะฟาวล์ เพราะอีกฝ่ายสวมนวมไม่ถูกต้องตามหลัก ก็ตลกดี

แต่ที่บอกว่าต้องทำเป็นบรรทัดฐานคือ ต่อจากนี้ไปพรรคการเมืองใดเอาเงินกองทุนไปใช้ผิดวัตถุประสงค์จะถูกยุบหรือ ไม่ถูกยุบ กรรมการบริหารพรรคจะถูกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ชี้ เมื่อไม่ชี้ต่อไปพรรคการเมืองใดก็แล้วแต่ โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่มีอิทธิพลรัฐอยู่ในมือ ถ้าจะเอาเงิน กกต. ไปใช้สัก 100 ล้านบาทแล้วล็อบบี้หรือเจรจากับคนใน กกต.บางคนว่าดึงๆเรื่องไว้นะ แม้จะมีคนร้องมาก็แล้วแต่ เขาอาจจะบอกว่าดึงเรื่องไว้หน่อยนะ ให้เรื่องหมดอายุความเสียก่อนแล้วค่อยร้องไป ถ้าเป็นอย่างนี้ก็พินาศหมด ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง กกต. ต้องยกเลิกไป ไม่ต้องมีแล้วประเทศนี้ กกต.แบบนี้ ทั้งขึ้นทั้งล่องเลย

เป็นไปได้หรือที่จะพลาดเรื่องเกินอายุความ

เรื่องนี้ยากที่จะอธิบาย สมมุติตัวอย่างเทียบเคียงนักมวย 2 คนขึ้นเวทีพร้อมกัน ทุกคนต้องพันผ้าสวมนวม แล้วเชือกรองเท้าไม่ผูก อย่างนี้เป็นไปได้หรือไม่ที่กรรมการจะไม่เห็น ถ้ากรรมการเห็นจะต้องท้วงติงกันตั้งแต่ตอนนั้น ยืดเวลาออกไปสักนิดก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย ดังนั้น เป็นไปไม่ได้ที่ กกต. คณะนี้จะไม่รู้ว่าถ้ายื่นคำร้องไปแล้วจะหมดอายุความ การตัดสินครั้งนี้ออกมาพังหมด ศาลรัฐธรรมนูญพังอยู่แล้ว กกต. ยิ่งพังหนักเข้าไปใหญ่ ทางออกของ กกต. ทางเดียวขณะนี้จะกล้าหรือเปล่า ถ้ากล้าก็ลาออกทั้งคณะ มีทางเดียวเท่านั้น

เพราะฉะนั้น กกต. ต้องตัดสินใจ ต้องสู้กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นั่นคือต้องกลับไปทบทวนและยื่นคำร้องใหม่ ต้องโต้แย้งศาลรัฐธรรมนูญว่าตรงนี้ไม่ใช่เนื้อหา ถ้าเป็นเนื้อหาในคดีแล้วอาจเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัย หักลบกลบหนี้กันแล้ว ไต่สวนกันทั้ง 2 ฝ่ายแล้วเห็นว่าไม่ควรยุบพรรค หรือควรยุบพรรคก็ว่าไป และคำวินิจฉัยตรงนั้นเป็นที่สิ้นสุดเด็ดขาด ทุกคนต้องยอมรับ แต่จะเป็นเมื่อไร วันไหน สามารถมองต่างกันได้ ศาลรัฐธรรมนูญมองเห็นอย่างนี้ แต่ศาลอื่นอาจมองผิดก็ได้ ต้องมีคนมาตัดสิน

ใครจะมาเป็นผู้ตัดสิน

ต้องมีคณะกรรมการจากฝ่ายตุลาการมาตัดสินว่าเรื่องเงื่อนระยะเวลาของใคร ผิดของใครถูก ไม่ใช่ปล่อยแค่นี้ เพราะ กกต. ไม่ใช่ผู้เสียหาย ดีไม่ดี กกต. อาจเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิด เพราะผู้เสียหายคือประชาชน ผู้เสียหายคือกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง ผู้เสียหายคือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ผู้เสียหายคือเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการ เมือง ที่สำคัญที่สุดผู้เสียหายคือเจ้าของงบประมาณแผ่นดิน กกต. เป็นผู้เสียหายจะทำเฉยๆ หรือใครจะด่าว่าอย่างไรก็เฉยๆ เดี๋ยวก็หยุดเอง ถ้าคิดอย่างนี้ กกต. ทั้งคณะต้องลาออก ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น แล้วให้ กกต. ชุดใหม่มาดำเนินการ

เรื่องนี้ไม่ใช่แค่หมดอายุความและเป็นที่สิ้นสุดเด็ดขาด ผมยืนยันว่าการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ในเรื่องอายุความเป็นที่ สิ้นสุดเด็ดขาดไม่ได้ เพราะว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เนื้อหาแห่งคดี การถือเอาอายุความเป็นสิ้นสุดเด็ดขาดศาลรัฐธรรมนูญต้องยกคำร้องตั้งแต่ต้น ไม่ปล่อยมายาวขนาดนี้ นี่เสียหายไปหมดทั้งบ้านทั้งเมือง ตัวศาลรัฐธรรมนูญก็เสียหาย ศาลรัฐธรรมนูญต้องลาออก

ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ประธานศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็น 1 ใน 2 ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยที่วินิจฉัยว่าพรรคมีความผิด ก็ต้องดูว่าคนระดับที่เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญเอาเนื้อหาของคดีนี้มา วินิจฉัยเพื่อให้เกิดบรรทัดฐานว่าทำอย่างนี้ผิดหรือไม่ ทำได้หรือไม่ได้ กรรมการบริหารต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ แต่อีก 4 คนไม่เอาเรื่องนี้มาพิจารณาเลย และกลายเป็นว่าไปยึดถือตามเสียง 4 คน ถามว่าถูกต้องหรือไม่

ผมยังยืนยันว่าไม่ถูกต้องแน่นอน เพราะฉะนั้นอย่ามาอ้างว่าสิ้นสุดเด็ดขาด และทุกคนต้องเคารพศาล แต่เวลาเดียวกันถามว่าทุกคนมีสิทธิที่จะปกป้องเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือ ไม่ ทุกคนมีสิทธิที่จะปกป้องเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองที่มาจากภาษีอากรของ ประชาชนหรือไม่ ทีเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดินเลยคุณยังเห็นว่าเป็นเรื่องคอขาดบาด ตายถึงขนาดต้องให้พ้นจากตำแหน่ง และให้ล้มรัฐบาลไปเลย ทำไมแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว ทีอย่างนี้เป็นเรื่องงบประมาณแผ่นดิน เป็นเรื่องภาษีอากรของประชาชน และเป็นเรื่องของหลักการประชาธิปไตยที่ต้องการเสริมสร้างระบบพรรคการเมือง ให้เข้มแข็ง ซื่อสัตย์สุจริต และเป็นประชาธิปไตย

ก่อนหน้านี้ก็หมดอายุความแต่ถูกยุบ

ต้องไปดูว่ามีหรือไม่กรณีอย่างนี้ ถ้ามีกรณีอย่างนี้ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องตอบอีกว่ายึดอะไร ก็อย่างที่บอกนับจากวันไหนมองต่างมุมกันได้ ถ้าจะบอกว่าเป็นเรื่องภายในของ กกต. คุณต้องรู้เองว่าวันไหน อย่างนี้ไม่ได้ พูดแบบกำปั้นทุบดินเกินไป ไม่เหมาะที่จะมาเป็นบรรทัดฐานกัน เวลานี้เสียหายหมดในวงการตุลาการ วงการกระบวนการยุติธรรม วงการศาล วงการสอนวิชานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ต่างงงงันกันทั้งประเทศ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่ต้องมี กกต. ไม่ต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ ลาออกทั้งหมดทั้งคณะ เขาจะได้เอาไปทำอย่างอื่น อย่างน้อยที่สุดเงินจำนวนมากมายมหาศาลอย่างนี้ถ้าเฉลี่ยให้ประชาชนไป อย่างเช่นไปช่วยเหลือน้ำท่วมยังดีกว่า ทำกันอย่างนี้ป่นปี้หมด และอย่ามาอ้างว่าต้องเคารพคำสั่งศาล อะไรต่างๆก็เห็นกันชัดๆ

หากไม่ยุบ ปชป. โอกาสจัดระเบียบประเทศจะมีมากกว่า

การที่บอกว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่สั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์จะด้วยเหตุผลอะไรก็ แล้วแต่ แล้วบอกว่านี่เป็นการจัดระบบประเทศใหม่ นี่ไม่ใช่การจัดระบบประเทศ แต่เป็นการจัดระบบอำนาจมากกว่า ดังนั้น เมื่อเป็นอย่างนี้แสดงว่าทั้งหมดคุณยังเห็นว่าต้องการให้บรรยากาศของรัฐ ประหาร19 กันยายนสืบเนื่องไปเรื่อยๆจนกว่าคุณจะสำเร็จตามความประสงค์ จะเป็นบันได 4 ขั้น 5-6 ขั้นอะไรก็แล้วแต่ จนกระทั่งสำเร็จในขั้นสุดท้าย ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าอะไรกว่าที่บันไดกี่ขั้นของคุณจะประสบความสำเร็จ เมื่อถึงเวลานั้นบ้านเมืองจะล่มสลายหมดแล้วก็ไม่รู้ ไม่ทราบว่าพวกคุณคิดอะไรกันอยู่ เรื่องนี้ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ว่าจะกองทัพก็ดี ใครก็ตามที่หนุนหลังรัฐบาลนี้อยู่ต้องร่วมกันรับผิดชอบ

ศาลรัฐธรรมนูญยังจำเป็นต่อการเมืองไทยหรือไม่

สมัยที่เรามีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เราพึ่งพาตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะว่าตุลาการรัฐธรรมนูญสมัยนั้นคนที่เป็นประธานมักจะเป็นประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นนักการเมือง เพราะฉะนั้นเมื่อถึงเวลาจะเอาเรื่องกฎหมายเข้าไปขอคำวินิจฉัยว่าขัดรัฐ ธรรมนูญหรือไม่จึงพึ่งพาไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ ส.ส.ร.ปี 40 จึงคิดว่าน่าจะให้ศาลรัฐธรรมนูญมาทำหน้าที่นี้ แต่พอมีขึ้นมาแล้วเลยเถิดไปถึงขนาดตัดสินล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญปี 50 ต้องดูที่มาว่ามาจากประชาชนหรือไม่ ซึ่งไม่ได้มาจากประชาชนเลย ส่วนใหญ่มาจากศาล

อันที่สองต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาหรือไม่ อันที่สามต้องรับผิดชอบต่อประชาชนหรือไม่ แต่คุณกลับให้มีอำนาจควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เท่ากับว่าภายใต้รัฐธรรมนูญปี 50 ตามกฎกติกาที่เขียนเอาไว้ ก็เลยไปทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นลูกไก่ในกำมือของฝ่ายตุลาการ และองค์กรอิสระที่เป็นอำนาจที่ 4 ไม่ได้รับผิดชอบต่อประชาชนแม้แต่นิดเดียว บ้านเมืองไปไม่รอดแบบนี้ โครงสร้างทางอำนาจย่อยยับหมดแล้ว บิดเบี้ยวหมดแล้ว และยังมีกองทัพฮึ่มๆอยู่ตลอดเวลา

ขณะเดียวกันก็มีนายทุน นักธุรกิจ ชอบอกชอบใจเหลือเกินบอกว่าสนุกสนาน ศาลรัฐธรรมนูญไม่สั่งยุบพรรค ถ้าเป็นต่างประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเขาหวั่นไหว ตลาดทุนพังพินาศหมดแล้ว มีอย่างที่ไหนศาลรัฐธรรมนูญไม่ชี้ความผิดว่าผิดหรือไม่ แต่ชี้ออกมาว่าไม่ต้องยุบพรรคหรอก เพราะยื่นคำร้องมาเกินกว่าอายุความ ปรากฏว่านักธุรกิจพออกพอใจ นี่คือสัญญาณร้ายของประเทศ เพราะเท่ากับว่ามีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นคนกลุ่มเล็กๆได้ประโยชน์จากการเมือง ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

ปชป. ขอให้จำหน่ายคดีเงิน 258 ล้าน

จะขอก็ขอได้ แต่ไม่มีทางเหมือนกับคดีเงิน 29 ล้านบาท คดีเงิน 258 ล้านบาทเป็นเรื่องคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับคนในพรรคประชาธิปัตย์ ระดับกรรมการบริหารพรรค และโยงใยไปเรื่องของการทุจริตในบริษัทซึ่งอยู่ในตลาด นั่นเป็นเงินมหาชนไม่ใช่เงินส่วนตัว และคดีนี้เป็นเรื่องของการใช้จ่ายเงินบริจาค มีกฎหมายอะไรต่างๆซึ่งต่างกันลิบลับกับคดี 29 ล้านบาท เพราะฉะนั้นจะมาถือโอกาสขอจำหน่ายคดีเพราะเป็นเรื่องหมดอายุความนั้นไม่ได้

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 288 วันที่ 4-10 ธันวาคม พ.ศ. 2553 หน้า 18
คอลัมน์ : ฟังจากปาก
โดย : ถนอมศรี จันทร์ทอง

 


คดีปชป.ขาดอายุความจริงหรือ?

หมายเหตุ :
นายวิชัย ตันติกุลานันท์ นักกฎหมายอิสระ อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขียนบทความทางวิชาการ เกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จากการใช้เงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง จำนวน 29 ล้าน ไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ ด้วยเหตุผลนายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่ได้เสนอความเห็นให้ยุบ และคดีขาดอายุความ ไว้ดังนี้

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2553 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยด้วยมติเสียงข้างมาก 4 ต่อ 2 ให้ยกคำร้องของนายทะเบียนฯ ที่ขอให้ยุบพรรค ปชป. โดยอ้างเหตุยกคำร้องตามมาตรา 93 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรค การเมือง พ.ศ.2550

มติตุลาการ ศาลฯ ข้างมาก 4 เสียง มีความเห็นในผลตรงกันให้ยกคำร้องแต่เหตุที่ให้ยกคำร้องนั้นให้เหตุผลต่างกัน แบ่งเป็น 2 ฝ่าย ด้วยมติ 3 ต่อ 1 ดังนี้

มติ 3 เสียง ให้เหตุผลว่า เนื่องจากเมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2553 นายทะเบียนฯ ยังไม่ได้เสนอขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยื่นคำร้องหรือคำฟ้องต่อศาลฯ สั่งยุบพรรคปชป. คำร้องขอให้ยุบพรรคดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 93 วรรคสอง ให้ยกคำร้อง

มติ 1 เสียง ให้ยกคำร้องโดยเหตุผลว่า เพราะเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2552 นายทะเบียนฯ เสนอความเห็นและได้รับความเห็นชอบจากกกต. ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฯ สั่งยุบพรรค ปชป. แล้ว แต่เพิ่งมายื่นคำร้องต่อศาลฯ เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2553 จึงล่วงเลยเกินกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ 17 ธ.ค. 2553 คดีจึงขาดอายุความ 15 วัน ตามมาตรา 93 วรรคสอง จึงให้ยกคำร้อง

มาตรา 93 วรรคสอง “เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนฯ ว่าพรรค การเมืองใดมีเหตุตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนฯ โดยความเห็นชอบของกกต. ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรม นูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียนฯ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นกับพรรคการ เมืองตามคำร้องของนายทะเบียนฯ ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรค การเมืองนั้น”

1. การยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่ง ยุบพรรคการเมืองเป็นอำนาจเฉพาะตัวของนายทะเบียนฯ ซึ่งตาม กฎหมายให้ประธาน กกต. ดำรง ตำแหน่งนายทะเบียนฯ ด้วย

2. นายทะเบียนฯ ต้องได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ก่อนจึงจะยื่นคำร้องนั้นได้

ประเด็นปัญหาข้อกฎหมายมีว่า นายทะเบียนฯ ต้องยื่นคำร้องนั้นต่อศาลภายในกำหนดเวลาใด ศาลรัฐธรรมนูญ 1 เสียง วินิจฉัยข้อกฎหมายว่า นายทะเบียนฯ จะต้องยื่นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ตามมาตรา 93 วรรคสอง และวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่านายทะเบียนฯ ได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค. 2552 แต่ยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2553 คดีจึงขาดอายุความ 15 วัน แล้ว

ข้อสังเกต ตามมาตรา 93 วรรคสอง ไม่มีข้อความใดพอที่จะตีความหรือแปลได้ว่า ให้นายทะเบียนฯ ยื่นคำร้องนั้นต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบจาก กกต.

แต่มีข้อความว่า …ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียนฯ ไม่ใช่นับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ดังนั้น ที่ศาล 1 เสียง วินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความ 15 วัน นับแต่วันที่นายทะเบียนฯ ได้รับความเห็นชอบจาก กกต. จึงน่าจะไม่สอดคล้องกับบทกฎหมายดังกล่าว ตามกฎหมายเมื่อนายทะเบียนฯ ซึ่งเป็นประธาน กกต. ตรวจพบว่าพรรคการ เมืองใดกระทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง นายทะเบียนฯ ยังไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ยุบพรรคนั้นๆ ต้องเสนอขอความเห็นชอบจาก กกต. เสียก่อน

จึงมีปัญหาข้อกฎหมายที่ควรจะพิจารณาว่านายทะเบียนฯ จะต้องเสนอขอความเห็นชอบจาก กกต. ภายในกี่วันนับแต่วันที่ทราบว่ามีการกระทำความผิดกฎหมายพรรคการเมืองเกิดขึ้น

เป็นที่น่าเสียดายที่ศาลไม่ได้วินิจฉัยประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย ที่สำคัญดังกล่าว

ตามมาตรา 93 วรรคสอง กล่าวขึ้นต้นด้วยข้อความว่า …เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนฯ ว่าพรรคการเมืองใดมีเหตุตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า มีการกระทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง ข้อความดังกล่าวสอดรับกับข้อความต่อมาว่า ..ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียนฯ…

เมื่อพิจารณาข้อความทั้งสองโดยรอบคอบแล้ว ก็น่าจะเข้าใจได้ว่า กฎหมายมีเจตนารมณ์ต้องการให้นายทะเบียนซึ่งพบว่าพรรคการเมืองใดกระทำผิด กฎหมายพรรคการเมือง ให้เสนอข้อความเห็นชอบจาก กกต. ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียนฯ

ดังนั้นข้อความ …ภายในสิบห้าวัน… จึงควรจะหมายถึง กำหนดเวลาให้นายทะเบียนฯ ต้องปฏิบัติเมื่อตรวจพบว่าพรรคการเมืองใดกระทำผิดกฎหมายพรรคการเมืองแล้ว ต้องรีบเสนอขอความเห็นชอบจาก กกต. ภายในกำหนด 15 วัน

ที่ศาล 1 เสียง วินิจฉัยว่ากำหนด 15 วัน ดังกล่าว เป็นอายุความให้นายทะเบียนฯ ยื่นคำร้องต่อศาลนั้น ด้วยความเคารพต่อคำวินิจฉัยดังกล่าว เห็นว่ากำหนดเวลาดังกล่าวน่าจะไม่ใช่เรื่องอายุความด้วยเหตุผลดังนี้

1. อายุความนั้นต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ทั้งนี้ ตามหลักประมวลกฎหมายแพ่งและมาตรา 193/12 ซึ่งบัญญัติว่า …อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป… หรือให้เริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น ไม่ใช่นับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบจาก กกต. หากตีความ เช่นนั้น ถ้าอีก 100 ปี กกต. จึงให้ความเห็นชอบอายุความก็จะยาวนานถึง 100 ปี กับ 15 วัน ซึ่งไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นเลย

2. กำหนดเวลา 15 วันดังกล่าว ไม่ใช่กำหนดเวลาให้ยื่นคำร้องหรือคำฟ้องต่อศาล เพราะไม่ใช่การใช้สิทธิอุทธรณ์/ฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น หรือศาลอุทธรณ์ซึ่งจะต้องยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ได้ฟังคำพิพากษานั้น และไม่ใช่กรณียื่นฟ้องคดีต่อศาลเพราะเหตุที่มีการโต้แย้งคำสั่งหรือคำ วินิจฉัยของเจ้าพนักงาน เช่น โต้แย้งคำสั่งของคณะกรรมการวินิจฉัยเกี่ยวกับภาษีอากรหรือกำหนดค่าเวนคืน

ตามพระราชบัญญัติพรรคการเมืองมิได้กำหนดอายุความไว้ว่าให้นายทะเบียนฯ ยื่นคำร้องขอภายในกำหนดเวลาใด จึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/9 ซึ่งบัญญัติใจความสำคัญว่า “ถ้ามิได้ใช้สิทธิฟ้องร้องบังคับคดีภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดก็เป็นอัน ขาดอายุความ” และตามมาตรา 193/30 กำหนดว่าถ้าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นให้ถือ ว่าคดีมีอายุความ 10 ปี

3. หากถือว่า 15 วัน เป็นกำหนดอายุความฟ้องร้องคดี ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าฝ่ายผู้ถูกร้องได้ยกเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้หรือไม่ หากไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องคดีไม่ได้ ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/29 ซึ่งต่างกับกรณีพนักงานสอบสวนมิได้ผัดฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวง ภายในกำหนดเวลา 48 ชั่วโมงนับแต่เวลาที่จับผู้ต้องหา กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่าห้ามมิให้ฟ้องคดีนั้นเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก อัยการสูงสุด ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวง และวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาตรา 9

กำหนดเวลาให้นายทะเบียน ยื่นคำร้องภายใน 15 วันดังกล่าว จึงน่าจะเป็นเพียงเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อต้องการให้นายทะเบียนฯ เร่งรัดดำเนินคดีกับพรรคการเมืองนั้นโดยเร็ว ซึ่งหากนายทะเบียนฯ ไม่ปฏิบัติตามบทดังกล่าวก็อาจจะถือว่าบกพร่องต่อหน้าที่ แต่ไม่น่าจะหมายถึงว่าห้ามมิให้ฟ้องร้องดำเนินคดีดังกล่าว ซึ่งกฎหมายในลักษณะดังกล่าวมีหลายมาตรา เช่น กรณีคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาซึ่งพนักงานสอบสวนจะต้องยื่นคำร้องขอ ฝากขังผู้ต้องหาภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด หากยื่นเกินกำหนดก็ไม่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาได้แต่ก็ยังยื่นฟ้องคดีนั้น ได้ภายใต้อายุความที่กฎหมายกำหนดไว้

สำหรับมติของศาลอีก 3 เสียง ที่ให้ยกคำร้องโดยวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า นายทะเบียนฯ ยังมิได้เสนอขอความเห็นชอบจาก กกต. จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรค ปชป. นั้น

มีข้อสังเกตคือ กฎหมายกำหนดให้นายทะเบียนฯ เป็นประธาน กกต. ด้วย ซึ่งเป็นคนเดียวกัน การประชุมของ กกต. ซึ่งมีนายทะเบียนเป็นประธาน กกต. อยู่ด้วย จะถือว่านายทะเบียนฯ ได้เข้าร่วมประชุมหรือไม่ จะถือว่านายทะเบียนฯ ได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ให้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ยุบพรรค การเมืองแล้วหรือไม่

ข้อวินิจฉัย ดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงซึ่งจะมีผลในข้อกฎหมายตามมา คือ หากนายทะเบียนฯ ดำเนินการเริ่มต้นใหม่โดยขอความเห็นชอบจาก กกต. แล้วจะมีอำนาจยื่นคำร้องใหม่ขอให้ศาลสั่งยุบพรรค ปชป. ได้หรือไม่ ซึ่งในทางกฎหมายเรียกว่า “จะเป็นการฟ้องซ้ำหรือไม่”

เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาล 3 เสียง ดังกล่าว มิได้ชี้ขาดข้อเท็จจริงว่า พรรค ปชป. กระทำผิดกฎหมายพรรคการ เมืองหรือไม่ ซึ่งเป็นเนื้อหาสาระสำคัญแห่งคดี การวินิจฉัยว่านายทะเบียนฯยังไม่ได้เสนอขอความเห็นชอบจาก กกต. ก็เสมือนหนึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญาโดยที่พนักงานสอบสวนยังไม่มีการ สอบสวนหรือสั่งฟ้อง ศาลจึงยก ฟ้อง ผลแห่งคำพิพากษาดังกล่าว คือ พนักงานสอบสวนสามารถดำเนินการสอบสวนใหม่ และมีคำสั่งฟ้องแล้วเสนอให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องภายในกำหนดอายุความเดิมได้ ไม่เป็นการฟ้องซ้ำ

ปัญหาดังกล่าวจะต้องรอฟังผลคำพิพากษาหรือคำ วินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งถือว่าเป็นคำวินิจฉัยส่วนกลาง หากมีข้อวินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความแล้ว นายทะเบียนฯก็ไม่สามารถ ยื่นคำร้องใหม่เพราะจะเป็นการฟ้องซ้ำตามหลักกฎหมายทั่วไป

จากคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐ ธรรมนูญครั้งนี้ทำให้เกิดข้อกังขาและข้อโต้แย้งวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะนักกฎหมายอย่างกว้างขวาง เป็นอุทาหรณ์ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีอำนาจวินิจฉัยหรือพิพากษาคดีความ ตามกฎหมาย แต่ก็ต้องวินิจฉัย ด้วยเหตุด้วยผลและตีความตามตัวบทกฎหมายอย่างรอบคอบที่สุด

ข้อเสนอแนะคือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญควรว่าจ้างเลขานุการหรือที่ปรึกษาซึ่งเป็นนักกฎหมายที่ มีความรู้ความชำนาญจริงๆ เช่น อดีตผู้พิพากษาศาลยุติธรรมที่มีประสบการณ์ในการวินิจฉัยคดีมายาวนานซึ่งเป็น ผู้ทรงคุณวุฒิและคุณค่าสมควรให้มาช่วยเหลือในการทำคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีความ ต่างๆ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างยิ่ง

สำหรับ กกต.นั้น ควรจะรีบออกประกาศกำหนดขั้นตอนวิธีการและกำหนดเวลาเกี่ยวกับนายทะเบียนฯ ซึ่งจะต้องเสนอขอความเห็นชอบจาก กกต. และกำหนดเวลาในการยื่นคำร้องขอให้ศาลยุบพรรคการเมือง ซึ่งประธาน กกต. มีอำนาจออกประกาศดังกล่าวได้ตามความในมาตรา 5 แห่งพ.ร.บ.พรรคการเมืองอยู่แล้ว

เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติมิให้เกิดข้อขัดข้องหรือผิดพลาดในภายหน้าอีก

ที่มา : ข่าวสดรายวัน 8 ธันวาคม 2553
คอลันม๊ : รายงานพิเศษ

 


ความโชคดีซ้ำซากของพรรคประชาธิปัตย์

เมื่อตอนเช้าวันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์เพื่อให้คู่กรณีแถลงปิดคดีด้วยวาจา ในกรณีที่นายทะเบียนพรรคการเมือง ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคประชาธิปัตย์ จากกรณีการใช้เงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองจำนวน 29 ล้านบาท ผิดวัตถุประสงค์ จากนั้นในตอนบ่ายสองโมง ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดฟังคำวินิจฉัยเรื่องดังกล่าว โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 4 ต่อ 2 ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากกระบวนการยื่นขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ในขณะที่เขียนบทบรรณาธิการนี้ ผมยังไม่เห็นคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการของศาลรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคน จึงยังไม่ขอให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าว แต่ผมเข้าใจว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง เนื่องมาจากคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้อง ขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์เกินระยะเวลาที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรค การเมืองกำหนด กล่าวคือ เกิดการนับวันไม่ตรงกันระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้งกับศาลรัฐธรรมนูญ โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งนับวันที่ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ฟ้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2553

และต่อมา ประธานกรรมการการเลือกตั้งก็ได้ยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2553 ซึ่งก็อยู่ภายใน 15 วัน ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญกลับถือเอาวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นวันที่ประธานกรรมการการเลือกตั้งเสนอเรื่องให้ที่ประชุมพิจารณา ดังนั้น เมื่อประธานกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2553 จึงล่วงพ้นระยะเวลา 15 วัน ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองไปแล้ว

แม้จะยังไม่ได้เห็นคำวินิจฉัยฉบับจริง แต่เมื่อได้ฟังคำวินิจฉัยและรับทราบผลคำวินิจฉัยในเรื่องการยุบพรรคประชาธิปัตย์  ในเบื้องต้น ผมมีข้อสังเกตบางอย่างเกี่ยวกับ 2 องค์กรคือ ศาลรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการการเลือกตั้งที่คงต้องนำมากล่าวถึงไว้ ณ ที่นี้ก่อน เมื่อได้อ่านคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตัวแล้ว หากมีประเด็นน่าสนใจ ก็จะได้ย้อนกลับมาพูดคุยกันอีกครั้งหนึ่งครับ

องค์กรแรกที่อยากจะกล่าวถึงก็คือศาลรัฐธรรมนูญ มีหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญที่อยากจะพูดถึง คงต้องเริ่มจากก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ มีข่าวไม่ดีไม่งามออกมามากมายที่ทำให้เกิดมุมมองในเชิงลบกับศาลรัฐธรรมนูญ และกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคน ข่าวไม่ดีไม่งามดังกล่าวมีผู้ให้ความเห็นสรุปได้เป็นสองแนวทาง แนวทางแรกคือ มี “ขบวนการ” จ้องทำลายความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญ กับแนวทางที่สองคือ ศาลรัฐธรรมนูญเองที่ทำให้องค์กรของตัวเองไม่น่าเชื่อถือ

เรื่องดังกล่าวจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีผู้ใดออกมาชี้แจงให้กระจ่าง ว่าในที่สุดแล้ว ปัญหาเกิดจากใคร และความรับผิดชอบควรตกอยู่แก่ผู้ใด แต่ในช่วงเวลาเดียวกันก็กลับมีการให้ข่าวออกมาว่า เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อกดดันศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ เพราะฉะนั้น ในปัจจุบัน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยคดียุบพรรคประชาธิปัตย์เสร็จเรียบร้อยไปแล้ว ก็ชอบที่ผู้เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวจะออกมาชี้แจงหรืออธิบายข้อเท็จจริง ที่เกิดขึ้นให้แก่สังคมทราบต่อไปว่า สรุปแล้วเกิดอะไรขึ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญครับ

เรื่องต่อมาที่ผมมีข้อสังเกตก็คือ เรื่องผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ยกคำร้องกรณียุบพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากมีการยื่นคำร้องเกินระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น ผมได้ลองตรวจสอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ดูแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีข้อใดเลยที่กล่าวถึงการตรวจสอบเรื่อง “อายุความในการร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญ”

แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีระเบียบหรือหลักเกณฑ์อื่นใด ที่กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวไว้หรือไม่ ซึ่งเมื่อเทียบเรื่องดังกล่าวกับวิธีพิจารณาคดีของศาลปกครองแล้ว ก็จะพบว่าทั้งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กับระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องมีการตรวจสอบคำฟ้องในเบื้องต้นก่อนที่จะรับไว้พิจารณา

นอกจากนี้ จากการสอบถามเรื่องดังกล่าวกับพนักงานคดีปกครองทำให้ได้ข้อมูลว่า การตรวจสอบเรื่อง “อายุความ” หรือ “ระยะเวลาในการฟ้องคดี” จะทำกันอย่างจริงจังและหลายขั้นตอน แม้กระทั่งเมื่อตุลาการหัวหน้าคณะจ่ายสำนวนคดีให้กับตุลาการเจ้าของสำนวน แล้ว ตุลาการเจ้าของสำนวนก็จะต้องตรวจสอบความสมบูรณ์ของคำฟ้องก่อนที่จะรับหรือ ไม่รับคำฟ้องนั้นไว้พิจารณา ดังนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญไม่มีกระบวนการดังกล่าว ก็ชอบที่จะพิจารณาปรับปรุงข้อกำหนดของตัวเองเสียใหม่เพื่อให้การพิจารณา วินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นของคำร้องเกิดประโยชน์ มากกว่าพิจารณากันไปตั้งชาติหนึ่งแล้วค่อยมาบอกว่ายื่นคำร้องเกินระยะเวลา ครับ !!!

นอกจากนี้ ในข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ยังได้ มีการแต่งตั้ง “ตุลาการประจำคดี” คล้าย ๆ กับ “ตุลาการเจ้าของสำนวน” ของศาลปกครองด้วย แต่จำนวนอาจแตกต่างกันเพราะของศาลรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในข้อกำหนดฯ ข้อ 25 ว่าให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญแต่งตั้งตุลาการไม่น้อยกว่า 3 คนเป็นตุลาการประจำคดี แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่ 2 กรณีซึ่งก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องการยุบพรรคประชาธิปัตย์ และก็มีข้อยกเว้นซ้อนเข้าไปอีกว่า “หรือในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ประธานศาลรัฐธรรมนูญอาจไม่แต่งตั้งตุลาการประจำคดีก็ได้” ซึ่งข้อยกเว้นหลังนี้ก็ไม่เข้าเกณฑ์กรณียุบพรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน

คำถามของผมคือ ใครเป็นตุลาการประจำคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ และตุลาการประจำคดีได้ทำหน้าที่ของตนในการตรวจสอบว่าการยื่นฟ้องกรณีดัง กล่าวเกินระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่ อย่างไร ครับ เพราะหากพิจารณาข้อกำหนดฯ ข้อ 29 ก็กล่าวไว้ชัดเจนพอสมควรว่า

“เมื่อศาลหรือตุลาการ ประจำคดี แล้วแต่กรณี มีคำสั่งรับคำร้องที่มีคู่กรณีไว้พิจารณาวินิจฉัย ให้ส่งสำเนาคำร้องแก่ผู้ถูกร้อง หรือมีคำสั่งแจ้งผู้ถูกร้องมารับสำเนาคำร้องภายในระยกเวลาที่ศาลกำหนด

เมื่อผู้ถูกร้องได้รับสำเนาคำร้อง ให้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายในสิบห้าวันนับแต่วันรับสำเนาคำร้อง หรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด

กรณีผู้ถูกร้องไม่ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายในสิบห้าวัน นับแต่วันรับสำเนาคำร้อง หรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด หรือไม่มารับสำเนาคำร้องภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป”

ผมสงสัยจริงๆ นะครับว่าใครเป็นตุลาการประจำคดีในเรื่องนี้ แล้วทำไมตุลาการประจำคดีถึงได้ไม่หยิบยกเรื่องยื่นคำร้องเกินระยะเวลาที่กำหนด มาพิจารณาตั้งแต่ต้น ปล่อยให้เสียเวลาไต่สวนข้อเท็จจริงมาถึงหลายเดือนแล้วก็มาจบลงตรงที่ว่า ยื่นคำร้องเกินระยะเวลาครับ !!!

นอกจากนี้แล้ว ผมยังมีข้อสังเกตอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับปัญหาเรื่อง “อายุความ” กับ “ประโยชน์สาธารณะ” ซึ่งในอนาคตคงต้องสร้างความชัดเจนให้มากกว่านี้ครับ ผมขอยกตัวอย่างจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 52 ที่ว่า “การฟ้องคดีปกครองที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือสถานะของบุคคล จะยื่นฟ้องเมื่อใดก็ได้”

การฟ้องคดีปกครองที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีแล้ว ถ้าศาลปกครองเห็นว่าคดีที่ยื่นฟ้องนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุ จำเป็นอื่นโดยศาลเห็นเองหรือคู่กรณีมีคำขอศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาก็ได้”

ผมคงไม่ต้องอธิบายมาตรา 52 นะครับ แต่จะขอให้ย้อนกลับไปดูกันสักหน่อยว่า การใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ซึ่งเป็นเงินที่มาจากภาษีอากรของประชาชนนั้น หากศาลจะรับไว้พิจารณาจะเป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือเป็นประโยชน์แก่ ส่วนรวมหรือไม่ครับ !!!

ผมไม่อยากโต้เถียงประเด็นนี้กับ “นักกฎหมายใหญ่” บางคนที่รีบออกมาให้ความเห็นสนับสนุนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่พิจารณา ยกคำร้องกรณียุบพรรคประชาธิปัตย์เนื่องจาก “ขาดอายุความ” ว่าเป็นหลักสากลที่ทั่วโลกทำกันคือต้องดูว่าถูกต้องตามกระบวนการตามกฎหมายหรือไม่ก่อน ซึ่งจริง ๆ แล้วในเรื่องดังกล่าว หากถามนักกฎหมายมหาชน “แท้ ๆ ” ก็จะได้คำตอบไม่ต่างกันเท่าไรนัก เพราะหัวใจสำคัญของกฎหมายมหาชนคือ การคุ้มครองประโยชน์สาธารณะซึ่งก็คือประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและ ประชาชนนั่นเอง หากศาลซึ่งมีหน้าที่ในการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะอ้างว่า กระบวนการของการยื่นคำร้องไม่ถูกต้องตามกฎหมายแล้วปฏิเสธไม่ตรวจสอบข้อเท็จ จริงที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ ศาลก็จะเป็นผู้บกพร่องต่อหน้าที่ที่ต้องคุ้มครองประโยชน์สาธารณะเสียเองครับ

ข้อสงสัยยังมีอีกว่า ข้อผิดพลาดทางเทคนิคคือการยื่นคำร้องเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จะกลายเป็น “ข้อยกเว้น” ที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่พิจารณาวินิจฉัย “ข้อเท็จจริง” ที่ถือว่าเป็นการกระทำผิดต่อแผ่นดินได้หรือไม่ครับ ซึ่งเรื่องนี้ผมก็จะขอพูดต่อไปเลยและเป็นเรื่องที่ควรจะต้องมีคำอธิบายจาก ศาลรัฐธรรมนูญก็คือ ตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ข้อ 50 ได้กล่าวไว้ว่า การพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยทุกประเด็นที่ศาลกำหนด โดยตุลาการที่เป็นองค์คณะทุกคนจะงดออกเสียงในประเด็นใดประเด็นหนึ่งตามที่ ศาลกำหนดมิได้ นั้น ในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดประเด็นเอาไว้ถึง 5 ประเด็นด้วยกัน

แต่จากการฟังการอ่านคำวินิจฉัยเมื่อบ่ายวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในประเด็นแรกเพียงประเด็นเดียวคือ กระบวนการยื่นขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นอื่นซึ่งก็เป็นประเด็นที่สำคัญมากโดยเฉพาะ ประเด็นที่เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาพรรค การเมือง เพราะเงินดังกล่าวเป็นเงินที่มาจากภาษีอากรของประชาชน ดังนั้นจึงชอบที่ประชาชนจะต้องได้รับทราบคำตอบที่ถูกต้องว่า การใช้จ่ายเงินภาษีอากรของประชาชนดังกล่าว ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร ซึ่งในเรื่องดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้วินิจฉัยทั้ง ๆ ที่ข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญเอง “บังคับ” ไว้แล้วว่า ศาลรัฐธรรมนูญต้องทำ

คำถามต่อเนื่องก็คือ จะทำอย่างไรกับการที่ศาลรัฐธรรมนูญกระทำการ “ฝ่าฝืน” ข้อกำหนดของตัวเองครับ!!!

ผมไม่แน่ใจว่า ที่ผมถามไปทั้งหมด จะได้รับทราบคำตอบที่ชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญหรือจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่ อย่างไร หรือจะเป็นเหมือนกับเรื่องอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญคือ “silence is golden” แต่ก็อยากจะขอฝากไว้ให้กับ “พลเมือง” ทุกคนให้ช่วยกัน “ผลักดัน” ให้เราได้รับคำตอบเหล่านี้ต่อไปครับ

องค์กรต่อมาที่ผมคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้คือ คณะกรรมการการเลือกตั้งครับ ปัญหาทั้งหมดของเรื่องยุบพรรคประชาธิปัตย์เกิดขึ้นจากการกระทำของนายทะเบียน พรรคการเมืองกับประธานกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นคน ๆ เดียวกันแต่ทำสองหน้าที่

คงไม่สามารถกล่าวอ้างได้ว่า เกิดความสับสนในหน้าที่ระหว่างนายทะเบียนพรรคการเมืองกับประธานกรรมการการ เลือกตั้ง หรือเกิดความสับสนในกฎหมายที่จะนำมาใช้ระหว่างกฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่ กับกฎหมายพรรคการเมืองฉบับเก่า คนที่ “สมัครใจ” เข้ามาทำงานระดับนี้ ในตำแหน่งนี้ ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนแล้วว่า ต้องรู้จริง ต้องทำงานได้ดีและไม่ผิดพลาด ตำแหน่งเหล่านี้ไม่ใช่ที่ “เรียนรู้งาน” เพราะเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญต่อระบบต่าง ๆ และต่อระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ฉะนั้น เมื่อทำงานผิด ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องไม่ควรผิด เช่นสับสนในหน้าที่หรือสับสนในกฎหมาย เราจะทำอย่างไรกันดีกับ “คนพวกนี้” ครับ !!

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากเป็นผม ผมลาออกไปแล้วครับ สง่างามกว่าอยู่ทำงานต่อไป เพราะ “พลเมือง” อย่างพวกเราคงไม่มีอะไรเป็นหลักประกันอีกแล้วว่า ในการทำงานต่อ ๆ ไปคุณจะไม่ “สับสนในหน้าที่” หรือ “สับสนในกฎหมาย” อีก

แต่ถ้าให้ผม “เดา” ผมคิดว่าคงไม่มีใครลาออกแน่  จะลาออกกันไปทำไมครับ มีตัวอย่าง ที่เห็น ๆ กันอยู่หลายเรื่อง ล่าสุดที่เคยเกิดขึ้นในศาลรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เถียงกันว่าการสอนหนังสือเป็นการรับจ้างหรือไม่ หรือกรณีล่าสุด กรณีเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญที่ทุกคนเงียบ ไม่ลาออก ไม่ชี้แจง ปล่อยให้เวลาผ่านไป ไม่ช้าเรื่องก็เงียบ ตัวเองก็มีงานทำ มีเงินใช้ มีอำนาจวาสนาบารมีต่อไปครับ !!!

ไม่ทราบว่า กรรมการการเลือกตั้งคนอื่นจะรู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้บ้างนะครับ น่าจะลองแนะนำนายทะเบียนพรรคการเมืองให้ลาออกเนื่องจากบกพร่องต่อหน้าที่ทำ ให้เกิดผลเสียตามมาหลายอย่าง รวมทั้ง “ตอกย้ำ” ความแตกแยกในสังคมให้มากยิ่งขึ้นไปด้วย

จริง ๆ แล้วประเด็นนี้ สื่อมวลชนน่าจะลองไปรื้อข้อมูลที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วในช่วงเวลาที่ผ่านมาเสนอ ต่อสาธารณะให้ทราบว่า ก่อนหน้านี้มีปัญหาเรื่องการฟ้องไม่ฟ้องมาหลายครั้งแล้ว จนกระทั่ง “เสื้อแดง” บุกไปที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องจึงออกจาก กกต. ไปที่อัยการ จำกันได้ไหมครับ !

มีข้อสงสัยสุดท้ายที่คาใจอยู่ก็คือ ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นข้อผิดพลาดที่เกิดจากความไม่รู้ หรือเป็นข้อผิดพลาดที่เกิดจากความตั้งใจครับ…..

ก่อนที่จะจบบทบรรณาธิการครั้งนี้ผมต้องขอฝากเป็นข้อสังเกตไว้ด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจากกรณีไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์เป็นปัญหาที่ “นักกฎหมาย” ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้งก็มาจากนักกฎหมายที่มีระดับ เช่น ผู้พิพากษา  อัยการซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นนักกฎหมายใหญ่ ศาลรัฐธรรมนูญเองก็มาจากนักกฎหมายและมาจากผู้พิพากษาจำนวนหนึ่ง ทำไมคนทั้งหมดซึ่งแทบจะเรียกได้ว่าอยู่ในวงการเดียวกันแต่กลับมองหรืออ่าน กฎหมายไม่เหมือนกัน เรื่องนี้คงไม่ต้องการคำตอบว่าการมองของใครถูกต้องที่สุดเพราะในเมื่อคำ วินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สุด ผูกพันทุกองค์กร อย่างไรเสียก็ต้องปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะ “คิดว่า” เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญถูกหรือผิดก็ตาม

ท้ายที่สุด ก็ต้องขอแสดงความยินดีกับพรรคประชาธิปัตย์ที่ “โชคดีซ้ำซาก” รอดพ้นจากทุกเหตุการณ์ไปได้อย่างง่ายดายครับ จริงอยู่ แม้จะมีคนออกมาตั้งข้อสงสัยในความ “โชคดีซ้ำซาก” ของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่สามารถ “สลัด” ข้อกังขาที่เป็นประเด็นให้หลุดไปได้ แต่ไม่ช้าไม่นานคนก็จะลืมกันไปเองเหมือนกับทุก ๆ เรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา และยิ่งถ้ามีข่าว “เหมือนเดิม” ออกมา เช่น ข่าวการลอบทำร้าย หรือข่าวหมิ่นต่าง ๆ คนก็จะหันไปสนใจเรื่องเหล่านั้นจนไม่สนใจว่า การ “รอด” จากการถูกยุบพรรคด้วยข้อผิดพลาดทางเทคนิคนั้น เป็นความ “สง่างาม” หรือเป็นความ “ถูกต้อง” ที่พรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศโดยควรจะ “ภูมิใจ” หรือไม่ เพราะข้อกล่าวหาว่า ใช้เงินภาษีอากรของพี่น้องประชาชนผิดประเภท ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ให้กระจ่างครับ !!!

ศ. ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


คำสอนของอาจารย์สัญญา แด่ผู้พิพากษาตุลาการทั้งหลาย

ที่มา : มติชนออนไลน์ 16 พฤศจิกายน 2553
โดย : สมลักษณ์ จัดกระบวนพล

ท่านได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นเลิศ ปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงตรง อิสระ ปราศจากอคติใดๆ ตามแนวปรัชญาที่ว่า “จงให้ความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที”

เมื่อเอ่ยชื่อ “ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์” ไม่มีบุคคลใดในประเทศไทยโดยเฉพาะนักกฎหมายจะไม่รู้จักท่าน อาจารย์เคยดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา อันเป็นตำแหน่งสูงสุดฝ่ายตุลาการ

เคยเป็นนายกรัฐมนตรี อันเป็นตำแหน่งสูงสุดทางฝ่ายบริหาร

ทั้งยังเคยเป็นรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ อันเป็นตำแหน่งสูงทางฝ่ายนิติบัญญัติ

นอกจากนั้นในทางวิชาการ ท่านเคยเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งยังเคยเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

และสิ่งสูงสุดในชีวิตของท่าน คือการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไว้วางพระราชหฤทัย โปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรี แล้วต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี และปฏิบัติหน้าที่แทบเบื้องพระยุคลบาทในตำแหน่งนี้ตราบจนถึงแก่อสัญกรรม

อาจารย์สัญญาเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขตุลาการ บิดาของท่านเป็นเนติบัณฑิต (สยาม) รุ่นแรก และรับราชการเป็นผู้พิพากษา เมื่ออาจารย์เข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษา ท่านเป็นตุลาการที่เป็นแบบอย่างที่ดีของตุลาการทั้งหลาย ทั้งในด้านความรู้ความสามารถและแนวคิด

ท่านได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นเลิศ ปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงตรง อิสระ ปราศจากอคติใดๆ ตามแนวปรัชญาที่ว่า “จงให้ความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที”

อาจารย์สัญญาเป็นผู้ริเริ่มให้มีการอบรมผู้ ช่วยผู้พิพากษา ผู้ที่ผ่านการสอบคัดเลือกเป็นผู้พิพากษาได้จึงต้องเป็นผู้ช่วยพิพากษา ผ่านการอบรมเสียก่อนจึงจะโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้พิพากษา เมื่อ 40 ปีมาแล้ว

ผู้เขียนผ่านการสอบคัดเลือกเป็นผู้พิพากษาได้ จึงต้องเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาก่อน คือ ผู้ช่วยผู้พิพากษา รุ่น 13 ผู้เขียนได้พบอาจารย์สัญญา เมื่อท่านมาให้การอบรมเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้พิพากษา ผู้เขียนจดจำคำสอนของท่านและนำมาเป็นหลักปฏิบัติตั้งแต่เป็นผู้พิพากษามาจน ถึงได้ปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ ป.ป.ช. คำสอนที่อยู่ในหัวใจของผู้เขียนก็คือ

“ผู้พิพากษาต้องเป็นผู้มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมแต่ความบริสุทธิ์ยุติธรรมนั้น ไม่ใช่เราคิดว่าตัวเรา (ผู้พิพากษา) มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่ต้องให้บุคคลทั่วไปเขาเชื่อว่าเราบริสุทธิ์ยุติธรรมจริง”

ความระแวงสงสัยในเรื่องความบริสุทธิ์ยุติธรรม หากเกิดขึ้นแก่ผู้พิพากษาตุลาการแล้ว ใช่จะทำให้สังคมนั้นปั่นป่วนหวั่นไหวเท่านั้น แม้แต่ฝ่ายผู้พิพากษาตุลาการเองก็จะเกิดความลำบากในการทำหน้าที่ด้วย

เพราะการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาตุลาการต้องขึ้นอยู่กับความศรัทธาของบุคคล หากเกิดความระแวงในความบริสุทธิ์ยุติธรรมเสียแล้ว จะวินิจฉัยสั่งการอะไรออกไป ก็ไม่เกิดความศรัทธาเชื่อถือ การทำงานของผู้พิพากษาตุลาการจะเป็นไปโดยลำบากเป็นอย่างยิ่ง หรืออาจกล่าวได้ว่าเกิด “วิกฤตศรัทธา”

โดยขออ้างอิงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเมื่อผู้เขียนดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดศาลหนึ่ง มีคหบดีของจังหวัดนั้นมาเชิญผู้เขียนและผู้พิพากษาในศาลนั้นไปร่วมงานแซยิด ของบิดาของเขาซึ่งก็จัดขึ้นทุกปี และในปีก่อนนั้นผู้เขียนและผู้พิพากษาก็เคยไปร่วมงาน

แต่ในปีดังกล่าวมีเหตุการณ์ไม่ปกติ เพราะบุตรชายของคหบดีผู้นั้นเป็นจำเลยอยู่ที่ศาลในคดีฆ่าผู้อื่น ผู้เขียนเป็นเจ้าของสำนวนคดีนี้ ระหว่างรอฟังคำพิพากษาก็ได้รับเชิญไปร่วมงาน ผู้เขียนต้องปฏิเสธการไปร่วมงาน แต่ก็อธิบายให้ผู้เชิญทราบว่า ถ้าผู้เขียนและผู้พิพากษาในศาลไปร่วมงานดังกล่าว และแม้ทั้งสองฝ่ายจะมีความบริสุทธิ์ใจเพียงใด แต่คู่ความอีกฝ่ายตลอดจนบุคคลทั่วไป เขาจะเชื่อหรือว่าเราบริสุทธิ์ยุติธรรมจริง หากเห็นว่าผู้ตัดสินคดีนี้ไปนั่งรับประทานอาหารอยู่กับฝ่ายจำเลย

คหบดีผู้นั้นก็ดีเหลือเกิน เพราะเข้าใจและไม่ได้แสดงความไม่พอใจแม้แต่น้อย คดีนั้นเป็นที่สนใจของประชาชนในจังหวัด ถึงกับมีผู้กล่าวกันว่า “จะดูซิว่า คนรวยจะมีสิทธิติดคุกหรือไม่”

ขอเรียนว่าคดีดังกล่าว ผู้เขียนและองค์คณะผู้พิพากษา พิพากษาจำคุกบุตรชายของคหบดีที่มาเชิญผู้เขียน เพราะพยานหลักฐานในสำนวนชัดเจน

อาจารย์สัญญามีคติยึดถือประจำใจว่า

“อันงานของตุลาการนั้นอะไรจะมาสำคัญกว่าจิตใจที่บริสุทธิ์ ยุติธรรมเป็นไม่มี ความรู้ความสามารถและความละเอียดรอบคอบนั้น เป็นความสำคัญอย่างมากจริงอยู่แต่ความบริสุทธิ์ยุติธรรมจากจิตใจเป็นความ สำคัญอย่างยิ่ง งานตุลาการเป็นงานอิสระใครจะมาบังคับความเห็นเราไม่ได้ ฉะนั้น งานตุลาการจึงเป็นงานต้องไว้ใจตัวเองว่าเรามีความบริสุทธิ์ยุติธรรมโดยถ่อง แท้และมั่นคง และคนเราเมื่อไว้ใจตัวของตัวเองได้แล้ว ก็ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรมใดๆ ทั้งสิ้น ดั่งนี้เขาผู้นั้นแหละย่อมเป็นตุลาการที่สมบูรณ์”

เมื่ออาจารย์สัญญา ได้รับเชิญเป็นวิทยากรอบรมผู้ช่วยผู้พิพากษา ท่านเคยให้คติเตือนใจที่มีคุณค่ายิ่งแก่ผู้ช่วยพิพากษา เพื่อยึดถือในการครองตนและประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมในการอบรมครั้งหนึ่ง อาจารย์แนะนำวิธีที่จะช่วยให้ผู้พิพากษาวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้อย่างถูกต้อง เป็นธรรมว่า

“ต้องทำจิตให้เป็นกลาง หมายความว่า ทำจิตใจให้ว่าง เวลาคิดเรื่องงานหรือนั่งบัลลังก์ จิตของเราต้องประภัสสร คือแจ่มใสสว่างจ้า ไม่มีโลภ ไม่มีโกรธ ไม่มีหลง… แต่บางทีก็มีมารมาผจญ ผมเองก็เคยถูกผจญเหมือนกัน ถูกเข้าแล้วก็คิดว่าเป็นอย่างไรก็เป็นไป ถึงจะต้องออกก็ออก เมื่อเราเห็นอย่างนี้ว่ายุติธรรรม แม้จะกระทบกับการเมือง เป็นอย่างไรก็เป็นกัน ถ้านึกได้อย่างนี้ แสดงว่าจิตว่าง การที่ผู้พิพากษามีจิตมั่นคงผ่องใส ปราศจากอคติ และไม่รวนเรไปในทางหนึ่งทางใด จะทำให้ปฏิบัติหน้าที่อิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีอย่างเป็นธรรมมากขึ้น”

นอกจากจะยึดมั่นในจริยธรรม เป็นแบบฉบับของผู้พิพากษาตุลาการ ที่สมควรยึดถือและปฏิบัติตามแล้ว ท่านยังเป็นปรมาจารย์วางหลักในการเรียบเรียงคำพิพากษา

เช่นในการวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นเจ้าพนักงานหรือไม่ อาจารย์สัญญาวางหลักไว้ว่า

“การที่จะถือว่าบุคคลใดเป็นเจ้าพนักงานนั้น จะต้องพิจารณาโดยจำกัด เพราะความเป็นเจ้าพนักงานนั้น มิใช่จะก่อให้เกิดหน้าที่ต้องรับผิดเมื่อตนกระทำผิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลอื่นอีกด้วย กล่าวคือ เมื่อบุคคลใดกระทำการบางอย่างต่อบุคคลซึ่งถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เช่น ขัดคำสั่งหรือขัดขวาง แม้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด ถ้ากระทำต่อบุคคลที่มิใช่เจ้าพนักงาน กฎหมายทางฝ่ายอาญายังบัญญัติเอาการกระทำนั้นเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ต่าง หากเป็นพิเศษด้วย ซึ่งบุคคลธรรมดาสามัญจะอ้างเอาเช่นนั้นไม่ได้ ฉะนั้น การที่จะถือว่าผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานหรือไม่นั้น จึงต้องมีความสำคัญที่จะต้องพิจารณาดูว่าผู้นั้นได้รับการแต่งตั้งให้เป็น เจ้าพนักงานตามกฎหมายหรือมิใช่ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ผู้ใดจะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ผู้นั้นจะต้องได้รับการแต่งตั้งโดยถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการแต่งตั้งข้า ราชการให้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ หรือมิฉะนั้นก็ต้องเป็นผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งหน้าที่ซึ่งมีกฎหมายระบุไว้โดย เฉพาะเจาะจงให้ถือเป็นเจ้าหน้าที่”

คำสอนของอาจารย์สัญญานี้ สำหรับผู้เขียน นอกจากจะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษาแล้ว ยังเป็นหลักที่นำมาใช้เมื่อปฏิบัติหน้าที่กรรมการ ป.ป.ช.ด้วย

ผู้เขียนเห็นว่าผู้ที่มีความรู้ด้านกฎหมายดียอดเยี่ยม ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้พิพากษาตุลาการที่ดีเสมอไป หากไม่มีความเป็นอิสระ

อาจารย์สัญญากล่าวถึงความมีอิสระของคนเป็นผู้พิพากษาตุลาการว่า

“การที่ผู้พิพากษามีจิตมั่นคง ผ่องใส ปราศจากอคติ และไม่รวนเรไปในทางหนึ่งทางใด จะทำให้ปฏิบัติหน้าที่อิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีอย่างเป็นธรรมมากขึ้น ถ้าเรามีจิตที่แข็งแกร่งอยู่ในบังคับบัญชาของเรา เป็นเหล็กกล้า เป็นจิตของตุลาการแล้ว อะไรๆ ก็ไม่สำคัญเลย คนอื่นเขาจะเห็นหรือไม่เห็น ผู้บังคับบัญชาจะยกย่องหรือไม่ยกย่อง ก.ต. ท่านจะให้ 2 ขั้นหรือไม่ให้ก็ไม่เป็นไร ความยุติธรรมไม่มีเสื่อมเสีย ติดตัวอยู่ตลอดไป อย่างน้อยที่สุดใจเรายังเบิกบานภาคภูมิใจ ไม่ต้องเกรงกลัวอะไรหรือผู้ใดทั้งสิ้น นี่ถือความเป็นอิสระ ไม่ใช่อิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีเท่านั้น แต่อิสระในใจของตน คุณลองคิดดูเป็นจริงได้ไหมหรือเพ้อฝัน ผมขอยืนยันว่าเป็นจริงได้ คุณต้องลองทำดูก่อนจึงจะเห็นจริง ถ้าจิตของคุณมั่นคงเป็นเหล็กกล้าเบิกบาน ประภัสสร ผ่องใส ว่างและมั่นคง ทุกสิ่งทุกอย่างจะมาเอง ทั้งความดี ทั้งโชคลาภ มีความสุขในครอบครัว และดูคนด้วยความเต็มหน้าเต็มตา ชีวิตทั้งชีวิตจะดีไปด้วย บรรพตุลาการของเรามีตัวอย่างให้เห็นมากมายที่ท่านทำได้อย่างนี้”

คำสอนของอาจารย์สัญญาที่ผู้เขียนเห็นว่าสุดยอดที่ผู้พิพากษาต้องจดจำอย่าได้ หลงลืมเป็นอันขาดก็คือ “ศาลยุติธรรมจะอยู่ได้ด้วยการเคารพนับถือของคนทั้งหลาย ปัจจุบันเขายังเคารพศาลอยู่ เมื่อครั้งผมเป็นรัฐบาลมีข้อกฎหมายที่เขาถกเถียงกันใหญ่โต แต่ลงท้ายมีคนบอกว่า เรื่องนี้ความจริงศาลฎีกาท่านตัดสินแล้วว่าเป็นอย่างไร ข้อถกเถียงเงียบทันที หลายคนเขายังเคารพศาลอยู่เพราะฉะนั้นพวกคุณจะต้องรักษาความดีอันนี้ไว้ให้ เขานับถือต่อไป ถ้ามีเรื่องทุจริตเกิดขึ้นมาทีไร พวกผู้พิพากษาที่เกษียณไปแล้วก็เสียอกเสียใจกันใหญ่ ไม่น่าเลยศาลจะเป็นอย่างนี้ ทำได้อย่างไร ทำลายสถาบันป่นปี้หมด นี้แหละครับไม่ใช่ความรังเกียจจะแรงเฉพาะเพื่อนคุณ ผู้บังคับบัญชา ครูบาอาจารย์ มันแรงไปทุกตุลาการแม้จะออกไปแล้ว”

เป็นที่น่าสังเกตว่า คำสอนของอาจารย์สัญญา จะกล่าวถึงตัวผู้พิพากษาตุลาการทั้งในด้านการปฏิบัติ การวางตัว แนวความคิด และจิตวิญญาณของการเป็นผู้พิพากษาตุลาการ หากพิจารณาคำสอนของอาจารย์ให้ดี จะจับหลักได้ว่าเมื่อมีเหตุวิกฤตศรัทธาเกิดขึ้นแก่ผู้พิพากษาตุลาการ

ผู้พิพากษาตุลาการต้องตรวจสอบตัวเอง ทั้งแนวความคิดและการปฏิบัติตัว ว่ามีข้อบกพร่องอย่างไร จึงทำให้สังคมเสื่อมศรัทธา

เพราะการแก้ไขตัว เราเองนั้น น่าจะทำได้ง่ายกว่าที่จะให้บุคคลอื่นเขาแก้ไขพฤติกรรมของเขา

ยกเว้นท่านจะแน่ใจว่าได้ปฏิบัติตนถูกต้องครบถ้วนตามคำสอนของอาจารย์สัญญาแล้ว แต่ก็ยังมีคนกล่าวหาท่านอยู่อีก


จาก ‘ทหารแตงโม’ ถึง ‘ศาลรธน.’

จาก ‘ทหารแตงโม’ ถึง ‘ศาลรธน.’
สัมภาษณ์พิเศษ นันทวัฒน์ บรมานันท์
ที่มา : ข่าวสดรายวัน 3 พฤศจิกายน 2553 หน้า 3

คลิปตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กำลังเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้

ทั้งกรณีคลิปบทสนทนาเกี่ยวกับคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ และคลิปฝากเด็กสอบเข้าเป็นเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ ล่าสุดซึ่งถูกปล่อยออกมาว่อนเว็บไซต์

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เห็นว่าถึงเวลาต้องสังคายนาระบบภายในของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

มองอย่างไรที่มีคลิปออกมาต่อเนื่อง

ผมไม่ได้ดูคลิปเลย เพราะไม่ต้องการรับรู้รับฟังเนื้อหาในคลิป แต่รู้ว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม

ประเด็นของผมคือการคัดเลือกคนเข้าสู่องค์กรต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผ่านกระบวนการคัดเลือกมา แต่ภายในศาลไม่รู้กระบวนการคัดเลือกเป็นอย่างไร

ตัวอย่างคือเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ เอาใครมาไม่ทราบ ไม่มีเกณฑ์การแต่งตั้ง ใครเป็นผู้รับผิดชอบ อย่างผมเอาแมวมาเลี้ยงในบ้าน แล้วบ้านมีสิบห้องให้เขาเช่า แมวผมไม่ทำลายข้าวของคนเช่าหมด ผมก็ต้องรับผิดชอบ

เหมือนกัน คนที่แต่งตั้งใครมาแล้วก็ต้องรับผิดชอบ หากปฏิบัติไม่ได้ก็เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้

การนำคนของตัวเองเข้ามาในตำแหน่งที่ปรึกษา ถามว่าการนำคนของตัวเองเข้ามาควรจะคุมคนของตัวเองให้ได้ด้วยหรือไม่

มองอีกมุมหนึ่งหน่วยงานธุรการของศาลมีอยู่แล้ว คือ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลปกครอง สำนักงานศาลยุติธรรม หน่วยงานพวกนี้มีสำนักงานอยู่แล้ว ทำไมไม่ให้สำนักงานคัดเลือกบุคคลที่ไว้ใจได้ที่สุด และเป็นกลางที่สุดเข้ามาทำหน้าที่ เข้ามาเป็นเลขานุการของตุลาการ ของผู้พิพากษา

การคัดเลือกควรมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของสำนักงาน จะได้ตัดตอนว่าตุลาการมาคนเดียวพร้อมความเก่งในสมองในตัวท่านเอง แล้วใช้ความเก่งในการพิจารณาวินิจฉัย ส่วนงานธุรการก็ให้สำนักงานรับผิดชอบไป

หากตุลาการต้องการค้นคว้าเพิ่มเติมไม่ต้องให้ที่ปรึกษา แต่มอบหมายให้สำนักงานทำแทน เพราะสำนักงานมีหน่วยงานทางวิชาการอยู่แล้ว เช่น สำนักงานศาลปกครองมีหน่วยงานทางวิชาการซึ่งแข็งมาก มีการแปล มีการจัดสัมมนา การทำงานกับต่างประเทศ บางคนเก่งกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายคน

ฉะนั้นการคัดเลือกตำแหน่งต่างๆ น่าจะให้ไปอยู่ในหน่วยธุรการศาลมากกว่า ตุลาการมาคนเดียวดีกว่า เพื่อให้ความรับผิดชอบอยู่เฉพาะตัว

ตุลาการชี้แจงเป็นการแอบถ่ายคลิปแบล็กเมล์

ไม่ว่าจัดฉากหรือแอบถ่าย กระบวนการตรวจสอบเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง อย่าหลงทาง

แต่ปัญหาอย่างแรกคือคนรับผิดชอบ ความจำเป็นต้องมีหรือไม่ตำแหน่งเลขานุการ คนที่จะมาดำรงตำแหน่งตรงนี้ต้องมีความรู้ ความสามารถสูง ไม่ใช่คนเดินถนนทั่วไป หรือไม่ต้องมีเลขาฯ ก็ได้ ก็ใช้คนของสำนักงานได้

เท่าที่อ่านข่าวมีการฝากคนเข้ามาด้วย ก่อนหน้านี้อาจมีนักการเมืองฝากเข้ามาหรือไม่ เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีมาเป็นสิบปี ผ่านตุลาการมาไม่รู้กี่สิบคน

เหมือนทหารก็ยังมีทหารแตงโม ศาลรัฐธรรมนูญก็อาจมีคนแบบนี้หรือไม่ เป็นเรื่องต้องสังคายนาองค์กรนี้ หรือองค์กรคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องเป็นองค์กรที่เป็นกลาง ไม่ควรมีเหตุการณ์แบบนี้

เป็นความรับผิดชอบต่อตัวสำนักงานที่ปล่อยให้มีเหตุการณ์แบบนี้ ไม่รู้ว่าใครจะรับผิดชอบ เลขาธิการศาลก็เพิ่งมา คนเก่าไม่อยู่แล้ว ไม่รู้จะไปดำเนินการอย่างไร

ตัวสำนักงานจึงต้องถูกสังคายนา การรับคนต้องตรวจสอบให้ละเอียดเหมือนผู้พิพากษา ต้องรื้อใหม่เลย

ประธานศาลรัฐธรรมนูญต้องรับผิดชอบที่ตั้งเลขานุการ

เวลาแต่งตั้งคนมาช่วย ไม่มีหลักเกณฑ์ดำเนินการ ต้องสร้างความรับผิดชอบ ใครแต่งตั้งต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่แค่ตั้งคณะกรรมการมาดูว่าใครเผยแพร่คลิป ใครเป็นต้นเหตุ แต่ใครเอาคนมีปัญหาเข้ามาต้องรับผิดชอบ

สำนักงานก็ต้องรับผิดชอบไม่ว่าการถ่ายคลิป หรือการฝากคนเข้ามา ตำแหน่งเจ้าหน้าที่สำนักงานฝากเข้ามาได้อย่างไร หากสาวไปไกลๆ ก็อาจมีนักการเมืองฝากมา ไว้ใจได้อย่างไร

เรื่องยุบพรรคเป็นความลับ เกี่ยวข้องกับคนระดับสูงทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ทำงานไม่เป็นกลางไม่ได้

ตุลาการที่อยู่ในคลิป ต้องแสดงความรับผิดชอบถึงขั้นลาออกหรือไม่

ผมไม่อยากใช้ถ้อยคำรุนแรงว่าอยากถามหาจริยธรรมเหมือนกัน คนที่พูดหรือไม่พูด ทำหรือไม่ทำ หรือถูกพาดพิง ย่อมรู้ตัวเองว่าตัวเองไม่ได้ทำก็สู้ต่อไป หรือหากรู้ว่าตัวเองทำ ตัวเองมีจริยธรรมหรือไม่ เป็นเรื่องที่อยู่ที่ใจ สำนึก หากอยากอยู่ต่อจนเกษียณก็อยู่ต่อไป

ผลสะท้อนจากคลิปบั่นทอนความเชื่อมั่นในการตัดสินคดีของศาลรัฐธรรมนูญต่อไปหรือไม่

มันเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจะคิด อย่างช่วงทักษิณซุกหุ้น มีข่าวเอาคนรถ แม่บ้านมาถือหุ้น ช่วงนั้นความน่าเชื่อถือถูกทำลายไปเยอะ แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ทำงานมาจนถึงวันนี้ ดังนั้น มันคงเป็นเรื่องๆ ไป ตอนซุกหุ้นภาค 2 ก็มีการเอาระเบิดไปลง เผาศาล มันก็มีทั้งคนไม่ชอบ คนชื่นชม

ตุลาการก็ต้องทำให้เด็ดขาด เป็นเรื่องของความสำนึกของบุคคล หากทำผิดพลาดไปก็ต้องรับผิดชอบ

ในฐานะเคยเป็นที่ปรึกษาศาลรัฐธรรมนูญทราบปัญหาภายในองค์กรเป็นอย่างไร

หลายองค์กรที่ตั้งตามรัฐธรรมนูญปี คนรักษาการประธานไม่ว่า ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ วัฒนธรรมองค์กรกลัวตุลาการ ตุลาการก้าวล่วงมาดูเรื่องบริหารด้วยเป็นเรื่องปกติ แต่ทางวิชาการพูดว่าไม่ต้องการให้รัฐมนตรีรักษาการ เพราะกลัวเข้ามาแทรกแซง แต่ตุลาการก็มีรักษาการ

ก็มีที่เห็นเป็นอาณาจักรของคนเดียวมานาน ไม่มีใครกล้าทำอะไร เพราะมีคนรักษาการ

การฝากคนเข้าทำงานจะจริงหรือไม่ แล้วจะต้องทำอย่างไร การฝากเป็นวัฒนธรรมเพราะระบบอุปถัมภ์มีทุกที่ ฝากคนไม่ดีก็มีปัญหา ฝากคนเก่งมาความจริงก็อาจสอบเข้ามาเองได้ แต่ปัญหาคือเรื่องคนไม่มีความรู้ความสามารถ คนไม่ดี

อย่างที่ปรึกษาตุลาการ จะเอานักการเมืองเข้ามาหรือ ก็ต้องเอาเกรดเอของประเทศ นักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์เข้ามาต้องเกรดเอ ไม่ใช่เอาคนประกอบอาชีพอื่นมา

เรื่องนี้เป็นปัญหาทางการเมืองหรือกระบวนการยุติธรรม

ผมไม่มองว่าเป็นเรื่องการเมืองหรือกระบวนการยุติธรรม แต่สิ่งที่ควรเปิดเผยกับสังคมปัจจุบัน ต้องเน้นความเสมอภาค ความเป็นกลาง หลักนิติรัฐที่นายกฯ หรือใครพูด แต่ไม่ยอมปล่อยให้เกิดขึ้น

เรื่องนี้คนข้างในองค์กรที่ถูกโดดข้ามก็จะรู้สึกดีใจที่เปิดเผยเรื่องนี้ออกมา เพื่อเป็นชนวนที่นำไปสู่การแก้ปัญหา

ผลสอบกรณีคลิปแรกพรรคประชาธิปัตย์แค่ตักเตือนนายวิรัช ร่มเย็น

เป็นเรื่องปกติ ดูอย่างโครงการทุจริตโครงการไทยเข้มแข็งก็ย้ายนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ไปเป็นเลขาธิการนายกฯ เป็นเรื่องการเมือง การตัดสินไม่ได้ดูผลทางอาญา แต่มองว่าหากคนนั้นยังทำประโยชน์ให้พรรคก็ยังเอาไว้อยู่

คลิปจะส่งผลต่อการตัดสินคดียุบพรรคอย่างไร

อาจไม่มีผลโดยตรงแต่ทางอ้อมมีอยู่แล้ว เราคิดว่าหากฝากคนได้ ก็ฝากเรื่องอื่นได้ แล้วแต่ตุลาการแต่ละท่านจะมีสำนึกต่อการตัดสินคดีอย่างไร ผมก็ตอบแทนไม่ได้ จะช่วยพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ แต่แง่ประชาชนมีส่วนหนึ่งที่ผิดหวัง คิดว่าเชื่อไม่ได้ไม่ว่าผลออกมาบวกหรือลบ

ผมแยกออกไม่ว่าจะยุบหรือไม่ยุบพรรค ผมจะดูเหตุผลคำวินิจฉัยว่าถูกต้องเหมาะสมหรือไม่

ผมมองว่าไม่เกี่ยวกัน แต่ที่เกี่ยวแน่ๆ คือทำให้ภาพลักษณ์ศาลออกมาไม่ดีเลย