ตาย ที่ไม่ตาย

ความร้ายแรงของแผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่น ทำให้คนตายกว่าหมื่น สูญหายจำนวนพอๆ กัน, เกิดวิกฤตการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์, มีผู้ประสบภัยต้องได้รับการเยียวยาทั้งทางใจ กาย และฟื้นฟูประเทศขนานใหญ่

น่าจะทำให้ทุกองคาพยพของ “ญี่ปุ่น” จดจ่อ หมกมุ่นอยู่กับเรื่องดังกล่าว

ไม่น่าจะมีสมาธิ หรือสนใจปัญหาอื่น

กระนั้น 31 มีนาคม 2554 เราก็ได้เห็นภาพ “โนบุเอกิ อิโตะ” อัครราชทูตฝ่ายการเมืองญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย เข้าพบนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อทวงถามความคืบหน้าการเสียชีวิตของฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ “อีกครั้ง”

เป็น “อีกครั้ง” ในหลายๆ ครั้งที่ทางการญี่ปุ่นวนเวียนขอคำตอบ เหตุที่ทำให้คนญี่ปุ่นเสียชีวิตจากเหตุการณ์นองเลือด 10 เมษายน 2553 ที่สี่แยกคอกวัว

เวลาผ่านไปครบหนึ่งปี ก็ยังทำเช่นนั้นอยู่

แสดงว่าไม่มีอะไรคืบหน้า

ซึ่งทางการญี่ปุ่นก็ไม่ลดละ

ชัดเจนยิ่งว่า “หมื่นๆ” ชีวิตญี่ปุ่นที่สูญเสียไปกับสึนามิ ไม่ได้ทำให้ “หนึ่ง” ชีวิตญี่ปุ่นที่สูญเสียไปในเมืองไทย “ถูกลืม”

ถามว่าความมุ่งมั่นนี้เป็นเพราะ “โนบุเอกิ อิโตะ” อัครราชทูตฝ่ายการเมืองญี่ปุ่น โน้มเอียงไปทาง “คนเสื้อแดง” หรือไม่

ถึงวอแวไม่เลิก คอยตามจี้ตามไช ให้เป็นประเด็นข่าวตลอดเวลาเช่นนี้

ตอบแทนอย่างไม่ลังเลเลย ว่า “ไม่ใช่”

ต้องไม่ลืมว่า เหตุการณ์ “ขอคืนพื้นที่” ที่บริเวณสี่แยกคอกวัว เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 “เพียงเหตุการณ์เดียว”

มีผู้เสียชีวิต 27 ศพ

เป็นพลเรือน 21 คน รวมถึงฮิโรยูกิ มูราโมโตะ

เป็นทหาร 6 นาย รวมถึง พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม นายทหารระดับสูงของกองทัพบก

มีผู้บาดเจ็บร่วม 1,400 คน

เป็นเหตุรุนแรงทางการเมืองที่ถือว่า “ใหญ่มาก”

“ใหญ่มาก” จนไม่อาจซุกเอาไว้ที่ไหนก็ได้

จำเป็นจะต้องมีคำตอบว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากใคร อะไร อย่างไร และใครควรจะรับผิดชอบ

“นิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม” ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ให้สัมภาษณ์ “มติชน” เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2554 ในโอกาสจะครบรอบ 1 ปี แห่งการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ว่า

“ดิฉัน ไม่ยอมรับการปรองดองกับคนผิด ยังรอคอยและเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมที่จะดำเนินการกับคดีของพี่ ร่มเกล้าและผู้เสียชีวิตทุกราย คนผิดก็ต้องได้รับโทษหากเขาทำผิด หากเขายังต้องการได้รับสิทธิในการเป็นพลเมืองของสังคม เขาต้องยอมอยู่ภายใต้กรอบ กติกา กฎหมาย และบรรทัดฐานของสังคม เพื่อให้สังคมโดยรวมอยู่ในสภาพเรียบร้อย ไม่ใช่เป็นสังคมไร้ระเบียบ”

“นิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม” ไม่ใช่เสื้อแดงแน่นอน

และถ้าหากให้ญาติของคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตพูด

เขาก็คงพูดไม่แตกต่างไปจากภรรยาของ พ.อ.ร่มเกล้า

พูดไม่แตกต่างกับสิ่งที่ทางการญี่ปุ่นพูด

นั่นคือคำตอบเรื่อง “ความจริง”

ความจริงที่ “คนทำผิด” ต้องได้รับโทษ คนที่เสียหายต้องได้รับการเยียวยา

แล้วใครจะอำนวยให้ “ความจริง” บังเกิดขึ้นมา

นี่ย่อมเป็นคำถามที่ย้อนไปหานายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในฐานะผู้กำกับดูแลทหาร ตำรวจ ดีเอสไอ

น่าเสียดายที่เวลาผ่านไป 1 ปี ความหวังที่ได้รับความจริงเลือนรางอย่างยิ่ง

มิหนำซ้ำต่างฝ่ายต่างชี้นิ้วกล่าวโทษกัน

แต่ละฝ่าย “เลือก” ที่จะ “เชื่อ” ตามที่ตนเองเชื่อ

และยังใช้ “ความเชื่อ” นั้นหาประโยชน์ทางการเมือง โดยเฉพาะในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นอีก

ทำให้นอกเหนือจะไม่ได้ความจริงแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความบาดหมางให้ร้าวลึกขึ้นไปอีก

สังคมไทย ไม่มีวันหา “ความจริง” ได้?


ความจริง.. บนโลกไซเบอร์

“ยุทธศาสตร์ 2 ขา 5 เขต เราเพิ่มเขตที่ 5 คือเขตที่อยู่ในโลกไซเบอร์…พี่น้องต้องเข้าไปต่อสู้ในเขตนี้ด้วย”

นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน ปราศรัยกับคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2554 ที่ครบรอบ 1 ปีของการชุมนุมใหญ่ “นปช. แดงทั้งแผ่นดิน” ที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนตามยุทธศาสตร์ 2 ขา 5 เขต คือขาหนึ่งต่อสู้ในสภา อีกขาอยู่ในถนนต่อสู้กับคนเสื้อแดง ส่วน 5 เขตคือ 1.ในชนบท 2.ในเมือง 3.ในกรุงเทพฯ 4.ในต่างประเทศ และ 5.ในโลกไซเบอร์

แต่อุปสรรคสำคัญคือระบอบที่ล้าหลังอย่าง “ระบอบอำมาตย์” ทั้งๆที่เศรษฐกิจไทยเป็นทุนนิยมแล้ว แต่เมื่อศูนย์อำนาจการเมืองการปกครองและศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจอยู่ในกรุงเทพฯ ดังนั้น สนามการต่อสู้ที่จริงจังและแตกหักจึงอยู่ในกรุงเทพฯ คนเสื้อแดงจึงต้องปักหลักต่อสู้ในเขตกรุงเทพฯ

“ตาสว่าง” ไม่ต้อง “ปากสว่าง”

ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน กล่าวถึงยุทธวิธีเคลื่อนไหวของ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน โดยขึ้นกล่าวปราศรัยเป็นครั้งแรกหลังจากถูกจองจำกว่า 9 เดือนว่า ต้องสอดรับกับสถานการณ์ โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น นปช. แดงทั้งแผ่นดิน ทุกคนต้องทำตัวเป็นผู้ปฏิบัติงานในสนามเลือกตั้งของฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ใช่หัวคะแนนเหมือนในอดีต โดยคนเสื้อแดงจะปูพรมทั่วทุกอณูพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อไปอธิบายหลักการ แนวคิดเรื่องประชาธิปไตย ไปติดอาวุธทางความคิด ติดอาวุธทางปัญญาให้ประชาชน จนประชาชนเกิดความเข้าใจว่าทำไมต้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

“สิ่งที่ผมได้ยินตอนอยู่ในเรือนจำคือคำว่าตาสว่าง ไม่รู้ใครเขาพูดกัน แต่ผมได้ยินพี่น้องบอกว่าตาสว่างๆๆ ถามว่าพี่น้องตาสว่างแล้วผมสว่างไหม ผมก็สว่าง เมื่อประชาชนตาสว่างก็จะไม่มีใครสามารถซ่อนตัวอยู่ในมุมมืดได้อีกต่อไป ประเด็นคือเมื่อตาสว่างแล้วเราจะทำอย่างไรต่อ พี่น้องที่เคารพครับ สำหรับผมที่จะพูดคุยกับพี่น้องในฐานะที่เราเดินต่อสู้ในเวทีกลางแจ้ง เราต่อสู้อย่างเปิดเผย เราต่อสู้อย่างตรงไปตรงมาตลอดแบบนี้ ผมอยากจะบอกกับพี่น้องว่า ตาสว่างแต่บางทีปากไม่ต้อง สว่างก็ได้ครับ ตาสว่างไม่จำเป็นว่าปากต้องสว่าง ในบางสถานการณ์เสียงกระซิบมันได้ผลกว่าเสียงตะโกนครับ”

สงครามข่าวสาร

นายณัฐวุฒิยอมรับว่าเจ็บปวดที่ถูกขัง 9 เดือน แต่เทียบไม่ได้กับการบาดเจ็บล้มตายของพี่น้องเสื้อแดงที่วันนี้ยังถูกกล่าว หาเป็นผู้ก่อการร้ายและล้มสถาบัน กรณีโลกอาหรับก็ทำให้วันนี้สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงโบกพัดให้คนเสื้อแดงที่ เจ็บปวดจากการต่อสู้มีความรู้สึกสดชื่นตื่นตัวขึ้นมาอีกครั้ง เฉกเช่นคนทั่วโลกที่กำลังต่อสู้กับอำนาจเผด็จการเพื่อให้ได้ประชาธิปไตย แม้ในลิเบียยังลูกผีลูกคน

“ท่านเห็นไหมว่าสถานการณ์การต่อสู้ของเราอยู่ในระนาบใกล้เคียงกับ สถานการณ์ของเขาเหมือนกัน แล้วเดาไม่ถูกว่าประชาชนประเทศไหนจะถึงเส้นชัยแห่งประชาธิปไตยก่อนกัน แต่สิ่งที่ผมมั่นใจได้ก็คือ ไม่มีประชาชนในประเทศใดๆจะยอมศิโรราบต่ออำนาจของผู้เผด็จการอีกแล้ว นี่คือสิ่งที่ผมมั่นใจ”

อย่างไรก็ตาม นายณัฐวุฒิยืนยันว่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดงจะเป็นไปอย่างสันติวิธี แม้จะต้องต่อสู้ทั้ง “มือที่มองไม่เห็น” อำนาจพิเศษ และอำนาจมืดต่างๆที่พูดไม่ได้ แต่คนเสื้อแดงต้อง “ตาสว่าง” รู้แจ้งเห็นจริงเพื่อต่อสู้ให้ได้ชัยชนะ

โดยเฉพาะในโลกไซเบอร์ที่นางธิดาให้พี่น้องคนเสื้อแดงเข้าไปต่อสู้ในเขต นี้ด้วย เพราะวันนี้โลกไซเบอร์กลายเป็นสนามต่อสู้สำคัญของคนทั้งโลกที่ใช้ทวงอำนาจ จากคนส่วนน้อยคืน อย่างกระแสประชาธิปไตยในโลกอาหรับที่เกิดจากโลกไซเบอร์ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊คหรือทวิตเตอร์

เช่นเดียวกับขบวนการเสื้อแดงจะต้องสู้ต่อไปเรื่อยๆ มีการชุมนุมเดือนละ 2 ครั้งจนกว่าจะได้รับความยุติธรรมและมีผู้รับผิดชอบ 91 ศพที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” การรณรงค์ของกลุ่ม “ไม่เอา 112” เพื่อไม่ให้นำกฎหมายหมิ่นเบื้องสูงมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือกรณี “วิกิลีกส์” ที่นำข้อเท็จจริงและเบื้องหลังสถานการณ์ต่างๆในโลกและประเทศไทยออกมาเปิดเผย

ความจริงเผาบ้านเผาเมือง

โดยเฉพาะเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ที่วันนี้ยังไม่มีคำตอบว่าใครเป็น “ฆาตกร” หรือ “ใครสั่งฆ่าประชาชน” รวมทั้งใครที่เผาบ้านเผาเมือง แต่ในโลกไซเบอร์นั้นกลับสามารถค้นหาทั้งภาพถ่าย คลิปวิดีโอ ข่าว และความคิดเห็นทุกแง่ทุกมุมได้ แม้จะถูกปิดกั้นจากอำนาจรัฐหรือผู้นำเผด็จการก็ตาม

โลกไซเบอร์จึงเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด โดยเฉพาะการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและประชาธิปไตยซึ่งไม่มีใครปิดกั้นได้ ประชาธิปไตยจึงถูกส่งผ่านทางโลกไซเบอร์ ซึ่งมีพลานุภาพน่ากลัวไม่น้อยไปกว่าสึนามิถล่มประเทศญี่ปุ่น

อย่างกรณีเผาเซ็นทรัลเวิลด์ที่อภิปรายอย่างดุเดือดในสภานั้น หลักฐานมากมายก็นำมาจากโลกไซ-เบอร์ที่มีการนำไปเผยแพร่ ซึ่งสื่อกระแสหลักหรือสื่อทั่วไปไม่นำเสนอหรือไม่กล้านำเสนอ อย่างการชี้แจงของตัวแทนผู้บริหารของเซ็นทรัลเวิลด์ต่อคณะกรรม-การติดตาม สถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา ที่มีนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ เป็นประธานว่า มีคนกลุ่มหนึ่งพยายามลอบเผาห้างหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากมีหน่วยรักษาความปลอดภัยคอยป้องกันเหตุจำนวนหลายร้อยคน หลังจากคนเสื้อแดงมอบตัวแล้วกลุ่มคนดังกล่าวพร้อมอาวุธครบมือได้เข้ามาภายใน เซ็นทรัลเวิลด์จนสามารถบีบให้หน่วยรักษาความปลอด ภัยยอมจำนนและสามารถเผาได้สำเร็จ โดยมีวิดีโอบันทึกภาพกลุ่มคนที่วางเพลิงไว้ด้วย

สอดคล้องกับนายสุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ ประ-ธานกรรมการบริหารบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล ที่ให้สัมภาษณ์หลังเกิดการเผาห้างไม่ถึง 2 เดือนว่า ห้างมีวอร์รูมตั้งแต่เดินขบวนที่มีเจ้าหน้าที่ประจำตลอด 24 ชั่วโมง มีผู้บริหารระดับหนึ่งประจำอยู่เพื่อประเมินสถานการณ์ก่อนรายงานตรงถึงผู้ บริหารระดับสูงได้ตลอดเวลา วอร์รูมจึงมีข้อความถึงผู้บริหารตลอดทุก 10 นาที หรือทุกครึ่งชั่วโมงแล้วแต่ความเคลื่อนไหว

ซักฟอกผ่านโลกไซเบอร์

แม้แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ 9 รัฐมนตรี ก็ยังมีการตอบโต้ผ่านโลกไซเบอร์ โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ตอบโต้นายอภิสิทธิ์ที่ชี้แจงนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ในฐานะหัวหน้าทีมอภิปราย ฝ่ายค้าน เรื่องหนี้สาธารณะว่ารัฐบาลต้องกู้เงินมาฟื้นฟูเศรษฐกิจที่พรรคเพื่อไทยก่อ เอาไว้ และยืนยันว่ามีหนี้น้อยกว่ายุค พ.ต.ท.ทักษิณ โดย พ.ต.ท.ทักษิณทวิตว่า

“ได้ฟังคุณอภิสิทธิ์ตอบคุณมิ่งขวัญในสภาแล้วรู้สึกว่าน้องยังเด็กเหลือเกิน นักการเมืองที่ดีต้องพูดความจริงต่อประชาชนครับ ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน”

พ.ต.ท.ทักษิณยังทวิตต่อว่า สมัยตนรับหนี้มาจากรัฐบาลประชาธิปัตย์ 2 ก้อนใหญ่ๆคือ 1.หนี้กองทุนฟื้นฟูที่เกิดจากการขายทรัพย์ที่เอามาจากสถาบันการเงินล้มแบบ โง่ๆให้กับโกลด์แมน ซาคส์, เลห์แมน บราเธอร์ส และจีอี แคปปิตอล ที่ได้ราคาไม่ถึง 20% ของต้นทุนทรัพย์สิน แถมยังช่วยไม่ให้ฝรั่งเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีก หนี้ก้อนนี้ประมาณ 700,000 ล้านบาท หนี้ก้อนที่ 2 กู้มาจากโครงการมิยาซาวา, ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี), ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประมาณ 600,000 กว่าล้านบาท ซึ่งหนี้ไอเอ็มเอฟประมาณ 400,000 ล้านบาท ใช้ไปหมดแล้ว รัฐบาลนายอภิสิทธิ์เข้ามาจึงถือโอกาสกู้เงินเพื่อหวังผลทางการเมืองและมีการ คอร์รัปชัน ทำให้หนี้สูงขึ้นเป็นลำดับ

“ขอแนะนำว่าให้ยอมรับและบอกว่าจะให้ความสนใจเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น จะใช้เงินที่กู้มาให้เกิดประโยชน์กว่านี้ จะปล่อยให้โกงน้อยลง จะไม่ให้เกิดการกักตุนสินค้าและตามมาด้วยการขึ้นราคาแบบนี้อีก ผมว่าดูจะเป็นผู้ใหญ่กว่า ได้รับความเห็นใจกว่า บอกประชาชนไปเลยครับว่าผมกำลังเรียนรู้งานอยู่ อีกหน่อยผมก็เก่งเองครับ”

“จาตุรนต์” ทวิตถล่มซ้ำ

เช่นเดียวกับนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย ในฐานะทีมวอร์รูมติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งมีแกนนำพรรคและสมาชิกบ้านเลขที่ 111 คอยประเมินผลการอภิปราย ก็ทวิตข้อความตอบ โต้นายอภิสิทธิ์เรื่องหนี้ว่า พรรคไทยรักไทยทำให้หนี้ที่พรรคประชาธิปัตย์สร้างไว้ลดลงอย่างมากและรวดเร็ว

“คุณอภิสิทธิ์ไปเอาตัวเลขหนี้สาธารณะมาจากไหน และยังตัดตอนประวัติศาสตร์มาพูด ลักไก่เอาแบบไม่น่าเชื่อ เรื่องตัวเลขหนี้สาธารณะเป็นอย่างไรก็เรื่องหนึ่ง แต่หนี้ตอนไหนมากกว่าตอนไหนไม่ใช่ประเด็น จะจับให้มั่นคั้นให้ตายต้องรวบรวมเรื่องใหญ่ๆที่คุณอภิสิทธิ์ไม่ตอบหรือตอบ ไม่ได้มาแสดงให้เห็น แล้วจะพบว่าคุณอภิสิทธิ์สอบตกแน่ แต่ผมขอไม่ทำเองนะครับ เรื่องหนี้สาธารณะคุณอภิสิทธิ์คิดผิดถนัดที่มาคุยว่าหนี้สมัยตัวเองน้อยกว่า สมัยคุณทักษิณ ทั้งๆที่เรื่องนี้เป็นจุดแข็งที่สุดของคุณทักษิณ และเป็นจุดอ่อนที่สุดของคุณอภิสิทธิ์”

ปชป. รัวทวิตแจงประชาชน

ในวันเดียวกันทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ได้เขียน ข้อความลงทวิตเตอร์ โดยใช้ชื่อว่า “@democratTH” สรุปประเด็นการชี้แจงของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นข้อความสั้นๆอย่างต่อเนื่อง ทวิตเตอร์ไทยคู่ฟ้า “Thaikhufa” ของรัฐบาลก็โพสต์ข้อความรวมถึงรายงานความเคลื่อนไหวต่างๆของนายอภิสิทธิ์และ รัฐมนตรีที่ชี้แจงในการอภิปรายทันทีในแต่ละประเด็นแบบนาทีต่อนาทีทีเดียว

วอร์รูมกองทัพ

แม้แต่กองทัพบกก็ตั้งวอร์รูม โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เปิดเผยว่า วอร์รูมเป็นแค่การติดตามสถานการณ์ทางทหาร ซึ่งกองทัพบกมีงานทุกวันอยู่แล้ว มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบติดตามสถานการณ์รอบประเทศ 24 ชั่วโมง มี 7 กองกำลังทำงาน แต่หากมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับทหารถามเข้ามาก็ตอบไปเท่านั้น เพราะการทำงานของทหารเป็นผู้ปฏิบัติเท่านั้น

อย่างเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่กองทัพเข้าไปรับผิดชอบก็ทำตามคนที่สั่งการโดยชอบตามกฎหมายคือรัฐบาล ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายอภิสิทธิ์ที่ระบุว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ฝ่าฝืน บทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายสั่งการทหารเข่นฆ่าประชาชนนั้น เรื่องการใช้กำลังทหารไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง ประชาชนต้องแยกให้ออก เพราะเจ้าหน้าที่ทหารเลี่ยงคำสั่งไม่ได้ กฎหมายคือกฎหมาย ความรับผิดชอบมีอยู่แล้ว ถ้าสั่งการมาแล้วชอบด้วยกฎหมายก็ต้องปฏิบัติ จะปฏิบัติอย่างไรให้เกิดความปลอดภัยต้องใช้ความระมัดระวัง โดยยืนยันว่าช่วงกระชับพื้นที่ทหารทำตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาล ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ กลุ่มเสื้อแดงมีสิทธิเลี่ยงพื้นที่อันตรายได้แต่กลับหันมาสู้กับกฎหมาย

การเมืองบนโลกไซเบอร์

โลกไซเบอร์จึงกลายเป็นพื้นที่การตอบโต้การอภิปรายไม่ไว้วางใจระหว่างฝ่าย ค้านกับรัฐบาลที่ดุเดือดไม่น้อยกว่าในสภา และยังอาจได้ข้อเท็จจริงหรือข้อมูลที่ชัดเจนกว่าการอภิปรายในสภา เพราะไม่ถูกขัดจังหวะจากบรรดาองครักษ์พิทักษ์นาย หรือเป็นข้อมูลจากผู้รู้จริง ซึ่งทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยก็มีการตั้งวอร์รูมขึ้นมาต่อสู้กัน

วันนี้โลกไซเบอร์จึงมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆในเวทีการเมืองและการ เคลื่อนไหวต่างๆของภาคประชาชน แม้แต่การก่ออาชญากรรมและก่อการร้ายต่างๆ เหมือนทีวี.ออนไลน์ที่ขณะนี้คนไทยหลายสิบล้านคนเลือกดูแทนทีวี.เสรีหรือสื่อ หลักที่มีการนำเสนอที่อยู่ในกรอบและมอมเมา

อาชญากรรมหรือการเมือง

นิตยสาร The Economist ฉบับวันที่ 2 กรก-ฎาคม 2552 ได้เคยวิเคราะห์การเมืองบนโลกไซเบอร์ของไทยว่าเหมือนกับจีน เพราะทั้ง 2 ประเทศคอยอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย แต่โลกไซเบอร์ในจีนกลับเป็นสมรภูมิระหว่างเสรีภาพในการพูดและการเซ็นเซอร์ เช่นเดียวกับไทยที่แม้จะมีเสรีมากกว่าสื่อกระแสหลักที่ขาดความกล้า แต่การตรวจสอบก็ทำมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้สกัดกั้นเว็บไซต์มากกว่า 8,300 เว็บ โดยอ้างว่าผิดกฎหมายหมิ่นเบื้องสูง สำนักงานตำรวจแห่งชาติปิดเว็บเพจมากกว่า 32,000 หน้า ด้วยข้อหาต่างๆกันเมื่อปี 2550 แม้แต่ยูทูบยังโดนปิดกั้นเป็นเวลานานหลายเดือนหากเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ถูกใจ ผู้มีอำนาจ

The Economist ยังกล่าวถึงขบวนการ “ไล่ล่าแม่มด” บนโลกไซเบอร์ว่า เบื้องหลังคือการเมืองที่เป็น กลุ่มต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณจนกระทั่งเกิดการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งเหมือนการปล้นอำนาจโดยฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มีกองทัพ ตุลาการ และชนชั้นสูงอยู่เบื้องหลัง โดยใช้กลุ่มเสื้อเหลืองออกหน้าการขับไล่ โดยอ้างว่า พ.ต.ท.ทักษิณและพวกพยายามทำลายสถาบันเบื้องสูง จนในที่สุดนายอภิสิทธิ์ก็ได้เป็นรัฐบาล พร้อมตั้งคำถามว่าเรื่องนี้เป็นการเมืองหรืออาชญากรรม

“ทักษิณ” ใช้โลกไซเบอร์สู้

อย่างไรก็ตาม หลังจากต้องพ่ายแพ้ด้วยโลกไซเบอร์จากการส่งต่อข่าวอย่างเป็นระบบจากกลุ่มต่อ ต้าน โดยไม่สนว่าข่าวนั้นจะจริงหรือเท็จอย่างไร พ.ต.ท.ทักษิณ ก็พลิกกลับมาใช้โลกไซเบอร์เป็นจุดแข็งมาโดยตลอดในการต่อสู้เพื่อเรียกร้อง ความยุติธรรมให้กับตนเองเช่นกันนับตั้งแต่ต้องออกไปอยู่นอกประเทศ ซึ่งต้องยอมรับว่าการวิดีโอลิ้งค์หรือโฟนอินหรือทวิตข้อความของ พ.ต.ท.ทักษิณเข้ามายังคนเสื้อแดงหรือในเหตุการณ์สำคัญๆหลายครั้งนั้นมีผลต่อ สังคมไทยไม่น้อย

ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวหาและโจมตีของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์หรือกลุ่ม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ต.ท.ทักษิณก็จะใช้โลกไซเบอร์คอยตอบโต้ ทำให้ยังอยู่ในกระแสข่าวทั้งในประเทศไทยและการเมืองโลก

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ก็วางยุทธศาสตร์ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งใหม่ ผ่านโลกไซเบอร์มานานแล้ว รวมทั้งเว็บไซต์ของนายอภิสิทธิ์และนายกรณ์ที่ถือเป็นฐานเสียงสำคัญที่สร้าง ภาพและคะแนนนิยมของนายอภิสิทธิ์และนายกรณ์ให้กับคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ไม่ เคยรู้ข่าวจากแหล่งอื่นเพราะรับข่าวสารจากโลกไซเบอร์อย่างเดียวเท่านั้น

โลกไซเบอร์กับประชาธิปไตย

นายยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในการเสวนาเปิดตัวหนังสือ “สื่อออนไลน์ BORN TO BE DEMOCRACY” ว่าแม้ไม่แน่ ใจว่าสื่อออนไลน์จะเป็นประชาธิปไตยโดยตัวเอง แต่ก็น่าจะเป็นเครื่องมือนำไปสู่ประชาธิปไตยมากกว่า หรือเรียกว่า born to become democracy

นอกจากนี้ยังมีคำถามเกี่ยวกับสื่อออนไลน์ ซึ่งผู้คนมักมองเห็นพลังและแง่บวกในการสร้าง “พื้นที่สาธารณะ” อย่างไร้พรมแดน ถึงที่สุดก็ไม่ได้ต่างอะไรกับโลกออฟไลน์ พรมแดนทางออนไลน์ที่ยังมีเรื่องของภาษาหรือกฎกติกาในเว็บต่างๆที่คนจะมีส่วน ร่วมกำหนดกฎเกณฑ์ในสังคมออนไลน์ได้อย่างไร และไม่ให้รัฐก้าวล่วงมาได้มากน้อยแค่ไหน

สื่อออนไลน์หรือโลกไซเบอร์จึงต้องมีความเท่าเทียม เป็นของกระฎุมพีที่ขยายพื้นที่เพื่อสื่อสารทาง การเมือง ช่วยให้คนฉุกคิด เข้าใจถึงการสื่อสารอื่นๆในโลกความจริง ซึ่งต้องสร้างสังคมประชาธิปไตยในโลกออฟไลน์ให้เป็นจริงขึ้นมาเพื่อจะได้ ประชาธิปไตยในโลกออนไลน์ เพราะพื้นที่ออนไลน์กับออฟไลน์มันเกี่ยวกัน อย่างรัฐก้าวล่วงเข้ามาในพื้นที่ออนไลน์ก็ทำให้คนอึดอัด

ขณะที่นายสมบัติ บุญงามอนงค์ บ.ก.ลายจุด แกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง กล่าวถึงระยะแรกเริ่มของพฤติกรรมคนที่แสดงออกมาทางอินเทอร์เน็ตว่า เหมือนคนที่ออกมาจากคุก จนวันนี้คนก็ยังพูดเรื่องนี้ อินเทอร์เน็ตหรือโลกไซเบอร์จึงให้สิทธิคนอื่นๆในการด่าคนในที่สาธารณะได้ นอกเหนือจากนักข่าว นักเขียน ซึ่งสื่อหนังสือพิมพ์อายุสั้นแค่วันเดียว รายสัปดาห์ก็ 1 สัปดาห์ แต่อินเทอร์เน็ตอยู่นานได้

ดังนั้น วันนี้โลกไซเบอร์จึงเหมือนโลกของประชาธิปไตย ซึ่งปัญหาและเรื่องราวมากมายนั้นสื่อออฟไลน์เสนอไม่ได้หรือไม่กล้านำเสนอ อย่างกรณีวิกิลีกส์ที่สื่อกระแสหลักของไทยจำใจเซ็นเซอร์ตัวเอง แต่คนไทยกลับสามารถรับรู้ชนิด “คำต่อคำ” ผ่านทางโลกไซเบอร์หรืออินเทอร์เน็ตได้

โลกไซเบอร์จึงทำให้คนจำนวนมากได้ “ตาสว่าง” รู้ว่าอะไรจริง อะไรเท็จ ใครทำดี ใครทำชั่ว ใครเป็นฆาตกร ใครเป็นผู้บริสุทธิ์?

แม้ในสภาจะเต็มไปด้วยน้ำลายที่มีแต่การโกหกตอแหล แต่ก็ไม่อาจปกปิด “ความจริง” ในโลกไซเบอร์ได้ว่า ใครคือฆาตกรสังหารโหด 91 ศพและไอ้โม่งตัวจริงที่เผาบ้านเผาเมือง

“กรรมออนไลน์” บนโลกไซเบอร์ จึงรวดเร็วทันใจกว่า “กรรมติดจรวด”

ใครก่อกรรมอะไรไว้…ได้เวลาชดใช้กรรมในชาตินี้…ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 303 วันที่ 19-25 มีนาคม พ.ศ. 2554 หน้า 16-17 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน



ค้นหาความจริง

การสังหารโหด 91 ศพ และมีผู้บาดเจ็บพิการเกือบ 2,000 คน ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ผ่านมาแล้วเกือบ 1 ปีแล้ว กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็ยังไม่มีผลการสอบสวนอะไรคืบหน้านอกจากออกมาแถลงให้ดูเป็นพิธี แต่ที่น่าผิดหวังและน่าวิตกอย่างยิ่ง คือการแถลงหลักฐานใหม่ในคดีการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโต ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่น ว่าอาจเกิดจากกระสุนปืนอาก้า ซึ่งไม่มีใช้ในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่

แต่กรณีของช่างภาพญี่ปุ่นก็เป็นเพียงแค่คนเดียวในจำนวน 91 ศพที่ยังถูกแช่แข็ง ซึ่งประชาคมโลกต่างเฝ้าติดตามว่าในที่สุดผลการสอบสวนจะออกมาอย่างไร และสามารถนำคนผิดมาลงโทษได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม กรณีนายมูราโมโตได้สะท้อนให้เห็นปัญหาของเจ้าหน้าที่รัฐและกระบวนการ ยุติธรรมในไทยที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบและถูกประณามไปทั่วโลกว่าประเทศ ไทยยังมีสภาพเหมือนรัฐทหาร ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

การค้นหาความจริงเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” จึงเป็นไปได้น้อยมาก หากรัฐบาลและกองทัพที่เป็นคู่กรณียังมีอำนาจและไม่ยอมให้คณะกรรมการอิสระ ระหว่างประเทศเข้ามาสอบสวน แม้ที่ผ่านมาคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่ง ชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน จะมีความคืบหน้าไม่น้อยและออกมาเคลื่อนไหวต่างๆ แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายรัฐและกองทัพในการตรวจสอบค้นหาความจริง

ที่สำคัญ คอป. และสังคมไทยต่างรู้ความจริงว่าใครเป็น “ฆาตกร” แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เหมือนบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป มีกฎหมายก็เลือกปฏิบัติและ 2 มาตรฐาน สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่กลัวความจริงและพร้อมจะปิดหูปิดตาเพื่อให้ตัวเอง ได้อยู่อย่างสุขสบาย แม้พี่น้องร่วมชาติจะถูกย่ำยีและเข่นฆ่าอย่างอำมหิตและเลือดเย็นก็ตาม

แม้ในที่สุดเหตุการณ์ครั้งนี้จะไปยุติที่การนิรโทษกรรมก็ตาม แต่ต้องไม่ปิดบังหรือบิดเบือนความจริง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์อำมหิตโหดเหี้ยมเช่นนี้ขึ้นอีก เพราะวันนี้ประชาชนที่บริสุทธิ์ก็ยังถูกกล่าวหา กลั่นแกล้ง และไล่ล่าจากผู้มีอำนาจรัฐ เพราะฆาตกรและพวกพ้องกลัวว่าสังคมจะรู้ความจริงและถูกลงโทษตามกฎหมาย ซึ่งมีโทษถึงประหารชีวิต

เหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” จึงไม่ใช่เป็นแค่ประวัติศาสตร์ แต่ต้องทำให้ทุกฝ่ายนำไปเป็นบทเรียนและอุทธาหรณ์ที่จะไม่ให้เหตุการณ์เล้ว ร้ายเช่นนี้เกิดขึ้นอีก เหมือนการปฏิวัติรัฐประหารที่จะต้องหมดสิ้นไปจากสังคมไทยได้แล้ว โดยคนผิดจะต้องถูกลงโทษไม่ว่าจะสีอะไรก็ตาม

ที่มา : โลกวันนี้ 4 มีนาคม 2554


ใครเผา? ใครยิง? ความจริง.. กำลังไล่ล่า…

ใครเผา?…

ภาพที่แพร่สะพัดในเฟซ บุ๊คนับร้อยภาพที่ระบุว่าเป็นบันทึกเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 2553 เพื่อยืนยันว่าเจ้าหน้าที่เข้าคุมสถานการณ์ในห้างเซ็นทรัลเวิลด์ไว้ได้ก่อนจะมีการเผาห้าง โดยก่อนหน้านี้นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็อ้างว่ามีหลักฐานเป็นภาพถ่ายว่าทหารได้ยิงไล่เจ้า ของร้านค้า พนักงาน และยามรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ที่อยู่ภายในห้างให้ออกจากพื้นที่ทั้งหมดก่อนเกิดเหตุเพลิงไหม้

ทหารแค่ถือปืน

แม้ภาพในเฟซบุ๊คไม่สามารถยืนยันว่าเป็นภาพชุดเดียวกันกับที่นายจตุพรอ้างถึงหรือไม่ แต่ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ก็ออกมาปฏิเสธ และชี้แจงว่าภาพทหารที่อยู่ในเหตุการณ์ก่อนเกิดเหตุเผาห้าง เซ็นทรัลเวิลด์ไม่ใช่ภาพใหม่ แต่อาจนำเสนอภาพถ่ายจากอีกมุมหนึ่งมาเผยแพร่ ซึ่งที่ผ่านมามีการนำเสนอหลายครั้งแล้ว และ ศอฉ. ได้ชี้แจงการทำงานของเจ้าหน้าที่ไปแล้วว่าทำอะไร อยู่ที่ไหน ใช้อาวุธลักษณะอย่างไร จึงไม่ต้องตรวจสอบอะไรอีก ส่วนการโพสต์รูปดังกล่าวคงไม่ถือว่าผิดกฎหมาย และเชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบต่อ ศอฉ.

ส่วนภาพที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่ไล่ยิงคนภายในห้างจนบาดเจ็บนั้น พ.อ.สรรเสริญชี้แจงว่า เท่าที่ดูจากภาพไม่พบว่าเจ้าหน้าที่ไล่ยิงอย่างที่เป็นข่าว มีเพียงเจ้าหน้าที่ยืนถือปืนเท่านั้น ซึ่ง ศอฉ. ไม่ปฏิเสธว่าทหารถืออาวุธปฏิบัติภารกิจอยู่ในช่วงนั้น

ทหารคุมห้างก่อนถูกเผา

อย่างไรก็ตาม นายจตุพรได้นำ 4 รปภ. ที่อยู่ภาย ในห้างเซ็นทรัลเวิลด์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมคือ นายเอ (นามสมมุติ) นายเวียน (นามสมมุติ) นายเทียน (นามสมมุติ) และนายพง (นามสมมุติ) มาแถลงยืนยันว่าถูกทหารคุมตัวออกจากห้างก่อนถูกเผา ซึ่งห้างได้จ้างบริษัทรักษาความปลอดภัย 2 แห่งดูแลพื้นที่คือ บริษัท อาร์ทีเอสการ์ด จำกัด ดูแลพื้นที่ด้านนอก ลานจอดรถ และรอบห้างทั้งหมด กับบริษัท จีโฟร์เอส การ์ด จำกัด ดูแลเฉพาะส่วนภายในอาคารทั้งหมด

รปภ. ทั้ง 4 คนระบุสอดคล้องกันว่า ในช่วงเช้าไม่มีเหตุการณ์รุนแรงอะไร แต่หลังจากเวลา 13.00 น. มีเสียงปืนและเสียงระเบิดดังขึ้นเป็นระยะๆ จึงมีคำสั่งให้ รปภ. รอบบริเวณห้างทั้งหมดลงไปอยู่ด้านล่างเพื่อความปลอดภัย โดยปิดล็อกประตูทางเข้าออกห้างทั้งหมด จนเวลา 16.30 น. มีกลุ่มทหารพร้อมอาวุธปืนบุกเข้ามาเคลียร์ในพื้นที่ห้าง สั่งให้นอนหมอบกับพื้น และให้ รปภ. ทุกคนติดบัตรก่อนปล่อยตัวออกไปจากพื้นที่

สตช. ดึงคดีเอาใจรัฐบาล

แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือบันทึกการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนเพิ่มเติมกรณีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมระหว่างวันที่ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งรัฐบาลและกองทัพปฏิเสธมาตลอดว่าไม่ได้ทำร้ายประชาชนและปฏิเสธความรับผิดชอบต่อผู้สูญเสียชีวิต โดยเฉพาะ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก ที่ท้าว่าถ้ามีหลักฐานว่าทหารทำ ร้ายประชาชนก็จะรับผิดชอบนั้น

นายจตุพรระบุว่า ได้รับข้อมูลจากนายตำรวจแตงโมที่รักความเป็นธรรม และทนไม่ได้ที่นายตำรวจใหญ่ระดับนายพลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่รับผิดชอบสำนวนการสืบสวนสอบสวนจากดีเอสไอ เข้าข้างรัฐบาลและกองทัพเพื่อ หวังความก้าวหน้าในชีวิตราชการ ดึงการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพให้ล่าช้า ซึ่ง สตช. ได้รับสำนวนจากดีเอสไอตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 แต่ยังไม่เชิญพนักงานอัยการเข้าร่วมตามที่กฎหมายกำหนด และมีข่าวว่าจะส่งเรื่องกลับมาดีเอสไอใหม่ แทนที่จะส่งเรื่องให้ศาลไต่สวนถึงสาเหตุการตายและผู้ที่ทำให้ตายตามที่กฎหมายกำหนด

ถ้าดึงเรื่องจะทยอยเปิด

นายจตุพรเตือน สตช. ว่าหากยังดึงเรื่องอีกจะทยอยเปิดเผยความจริงถึงสาเหตุการตายในอีกหลายๆ เรื่อง โดยยืนยันว่า ดีเอสไอรู้กระทั่งว่าเจ้าหน้าที่หน่วยใดและนายใดได้รับคำสั่งให้สลายการชุมนุมในพื้นใด ใช้อาวุธประเภทใด ขนาดกระสุนเป็นอย่างไร ซึ่งฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ยอมรับว่าเป็นผู้ใช้อาวุธประจำกายในวันเกิดเหตุจริง มีการเก็บหลักฐานปลอกกระสุนปืน หัวกระสุนปืน รวมทั้งเศษกระสุนปืนในตัวผู้ตายที่เจ้าหน้าที่เบิกจากหน่วยมาใช้คือ หัวกระสุนสีเขียว ซึ่งไม่มีใครใช้กระสุนเช่นนี้ พยานบุคคลที่สอบสวนก็ยืนยันว่าเห็นเจ้าหน้าที่เป็นผู้ยิง แต่เมื่อมีความพยายามถ่วงเวลาจึงขอเปิดเผยข้อมูลบางส่วนที่ได้มา 4 กรณีคือ 1.การตายของประชาชนในวัดปทุมวนารามฯ 2.การตาย ของผู้สื่อข่าวญี่ปุ่น 3.การตายของเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ ดุสิต 4.การตายของพลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ

จนท. ชุดปฏิบัติการวัดปทุมฯ

แม้ข้อมูลของนายจตุพรไม่ได้นำฉบับเต็มมาเปิดเผย แต่ได้สรุปจากสำนวนการสอบสวนของดีเอสไอ ซึ่งนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ก็ยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนสอบสวนจริง แต่เป็นเพียงบางส่วนในสำนวนเท่านั้น ซึ่งดีเอสไอก็ทำงานอย่างตรงไปตรงมาตามหลักฐาน แต่ถ้าทางทหารจะโกรธเคืองก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร โดยข้อมูลของผู้เสียชีวิตที่วัดปทุมฯระบุว่าเสียชีวิตวันที่ 19 พฤษภาคม เวลาประมาณ 18.30 น. บริเวณวัดปทุมฯ ถนนพระราม 1 สาเหตุการตายถูกยิงด้วยอาวุธปืนความเร็วสูง โดยเวลาประมาณ 18.00 น. เจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยได้เข้าปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ (สลายการชุมนุม) บริเวณพื้นที่สี่แยกราชประสงค์ ถนนพระราม 1 หน้าวัดปทุมฯ และบริเวณใกล้เคียง เจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนยิง เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บและมีผู้ถึงแก่ความตายที่บริเวณวัดปทุมฯ ได้แก่ 1.นายรพ สุขสถิตย์ 2.นายอัฐชัย ชุมจันทร์ 3.น.ส.กมนเกด อัคฮาด 4.นายมงคล เข็มทอง 5.นายสุวัน ศรีรักษา และ 6.นายอัครเดช ขันแก้ว

เจ้าหน้าที่ที่เข้าปฏิบัติการมี 2 ชุดคือ เจ้าหน้าที่จากกองพันทหารราบในภาคกลาง เป็นหน่วยกำลังที่รับผิดชอบบริเวณด้านล่างบนถนนพระราม 1 กับเจ้าหน้าที่จากกองพันรบพิเศษหน่วยหนึ่ง นำโดยนายทหารยศ พ.ต. เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการ นำกำลังจำนวน 4 ชุด ปฏิบัติการบนรางรถไฟฟ้าตั้งแต่สถานีสนามกีฬาเพื่อคุ้มกันชุดแรก

รายชื่อเจ้าหน้าที่ทหารที่ใช้อาวุธปืน M16A2 กระสุนปืนขนาด 5.56 มม. เป็นชนิดเอ็ม 855 (M855) หัวกระสุนจะเป็นหัว “สีเขียว” มีรายชื่อดังนี้ 1.จ.ส.อ. (ส) รองหัวหน้าชุดปฏิบัติการ 2.ส.อ. (ภ) 3.ส.อ. (ก) 4.ส.อ. (ช) และ 5.ส.อ. (ว) ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้งห้ายอมรับว่าใช้อาวุธปืนประจำกายยิงเข้าไปในวัดปทุมฯ จริง แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา มีการขออนุมัติเบิกอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนจากหน่วยรบแห่งหนึ่ง ได้แก่ เอ็ม 16 เอ 2 (M16A2) ใช้กระสุนขนาด .223 (5.56 มม.) เป็นกระสุนปืนเอ็ม 855 (M855)

พยานนับสิบเห็นฆ่าโหด

เหตุการณ์ในวัดปทุมฯที่ถือเป็นเขตอภัยทานนั้น มีพยานบุคคลหลายสิบปากเห็นเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธปืนยิงเข้ามาในบริเวณวัด รวมทั้งยิงเข้าไปในเต็นท์พยาบาลขณะที่ยุติการชุมนุมแล้ว ซึ่งเจ้าอาวาสก็ไม่คิดว่าจะมีการฆ่ากันในวัด เพราะได้ทำหนังสือขอชีวิตให้ประชาชนอาศัยวัดเป็นบริเวณที่หลบภัยแล้ว

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานจากพยานบุคคลหลายปากยืนยันว่า เวลา 17.00 น. เศษ มีเสียงปืนดังติดต่อกันหลายนัดมาจากสถานีรถไฟฟ้าสยาม อันเป็นที่ตั้งของหน่วยงานหนึ่งใน กทม. ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและมีผู้ถ่ายภาพไว้ ซึ่งมีการช่วยเหลือบุคคลที่บาดเจ็บคือ นายอัฐชัย ชุมจันทร์ แต่ได้ถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา โดยมีผู้ถ่ายภาพไว้เวลา 17.50 น. วันที่ 19 พฤษภาคม

ขณะที่อาสาพยาบาลช่วยเหลือนายอัฐชัยที่ได้ถ่ายภาพไว้ ในภาพยังมีภาพนายมงคล เข็มทอง อาสาป่อเต็กตึ๊ง ที่เข้ามาช่วยเหลือนายอัฐชัย แต่ไม่นานนายมงคลก็ถูกยิงตายเช่นกัน และต่อมา น.ส.กมนเกด อัคฮาด ก็ถูกกระสุนปืนถึงแก่ความตายในเต็นท์พยาบาล ขณะที่ น.ส.กมนเกดถูกกระสุนนั้น นายอัครเดช ขันแก้ว อาสาพยาบาลอีกคน ได้เข้าไปช่วย แต่ก็ถูกยิงตายในเต็นท์พยาบาลเช่นเดียวกัน

ทุกศพพบหัวกระสุนสีเขียว?

ส่วนนายรพ สุขสถิตย์ และนายสุวัน ศรีรักษา จากการชันสูตรพลิกศพทั้งสองพบเป็นวิถีกระสุนลักษณะ “บนลงล่าง” คือยิงจากรางรถไฟฟ้ามายังด้านล่าง นอกจากนี้ยังพบเศษของกระสุนหัวสีเขียวในศพผู้ตาย ซึ่งปรากฏตามรายงานการตรวจพิสูจน์ของกองพิสูจน์หลักฐานกลางเป็นกระสุนปืน ขนาด .223 (5.56 มม.) เช่นเดียวกับที่พบในศพของนายมงคลที่เข้าช่วยเหลือนายอัฐชัยก็มีวิถีกระสุน ยิงจาก “บนลงล่าง” จากกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) หัวกระสุนสีเขียวเช่นเดียวกัน

สำหรับศพ น.ส.กมนเกดและนายอัครเดช ตามรายงานการตรวจพิสูจน์ของกองพิสูจน์หลักฐานกลางเป็นหัวกระสุนสีเขียวขนาด .223 (5.56 มม.) เช่นกัน โดยมีพยานบุคคลยืนยันว่าเห็นเป็นการยิงจากบนรางรถไฟฟ้าในเวลาประมาณ 18.00 น.

ที่สำคัญคือคำให้การของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ขึ้นไปบนตึกสูงเพื่อถ่ายภาพ ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ขณะถูกเพลิงไหม้นั้นได้ถ่ายภาพเจ้าหน้าที่ของรัฐพร้อม อาวุธปืนยาว อยู่บนรางรถไฟฟ้า ซึ่งมีเสียงปืนดังมาจากทิศทางที่เจ้าหน้าที่ประจำอยู่ และเมื่อประมวลประกอบกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่มาจากหน่วยรบแห่งหนึ่งก็ยอมรับ ว่าหน่วยคุ้มกันแนวราบได้ใช้อาวุธประจำกายยิงเข้ามาในวัดปทุมฯจริง เป็นอาวุธปืนเอ็ม 16 เอ 2 (M16A2) ใช้กระสุนขนาด .223 (5.56 มม.) เป็นกระสุนปืนเอ็ม 855 (M855) ที่มีหัวสีเขียว

ดังนั้น การตาย 6 ศพในวัดปทุมฯจึงยืนยันว่าเจ้าหน้าที่หน่วยดังกล่าวเป็นผู้ยิง มิใช่ผู้ก่อการร้าย

ผลสอบคดียิงผู้สื่อข่าวญี่ปุ่น

สำหรับกรณีนายฮิโรยูกิ มูราโมโต ผู้สื่อข่าวญี่ปุ่นประจำสำนักข่าวรอยเตอร์ ที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เมษายน เวลาประมาณ 21.00 น. บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ ระบุสาเหตุการตายว่ามาจากกระสุนปืนความเร็วสูงไม่ทราบขนาด ยิงเข้าบริเวณหน้าอกซ้ายทะลุกล้ามเนื้อใต้รักแร้ออกต้นแขนขวาด้านหลัง ขณะที่นายฮิโรยูกิกำลังรายงานข่าวอยู่ระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่

คดีนี้มีพยานบุคคลสำคัญคือ นายดาบตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่นอกเครื่องแบบ อยู่ห่างจากนายฮิโรยูกิเพียงประมาณ 1 เมตร และเป็นผู้เข้าไปช่วยประคองตัวนายฮิโรยูกิไว้บนตัก ทำให้เลือดของนายฮิโรยูกิเปื้อนกางเกงยีนส์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจรายนี้ยืนยันทิศทางกระสุนปืนว่าไม่ได้มาจากทางกลุ่มผู้ ชุมนุม ขณะที่พยานสำคัญอีกคนหนึ่งยืนยันว่าเห็นแสงไฟจากปากกระบอกปืนมาจากทางเจ้า หน้าที่ ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารภาพวิดีโอคลิปจากกล้องของนายฮิโรยูกิที่ถ่ายก่อนถูก ยิงเสียชีวิตเวลาประมาณ 20.57 น.

ภาพถ่ายของนายฮิโรยูกิจึงเป็นพยานหลักฐานสำคัญ ซึ่งมีอยู่จำนวน 2 ภาพที่เห็นกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่บริเวณเดียวกัน โดยถ่ายเห็นด้านข้าง ซึ่งจะต้องหันหน้าไปในทิศทางของเจ้าหน้าที่เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ชุมนุม ทิศทางดังกล่าวจึงสอดคล้องกับบาดแผลของผู้ตายตามรายงานการตรวจศพของแพทย์

สำหรับเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่บริเวณถนนดินสอเป็นเจ้าหน้าที่ จากหน่วยงานชายแดนภาคตะวันออก มีนายทหารยศ พ.อ. ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ร่วมปฏิบัติสลายการชุมนุม มีกำลังประมาณ 4 กองร้อย

ศพเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ฝีมือทหาร

เช่นเดียวกับกรณีเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ดุสิตชื่อ นายมานะ อาจราญ เสียชีวิตวันที่ 10 เมษายน เวลาประมาณ 23.30 น. บริเวณสวนสัตว์ดุสิต ในวันเกิดเหตุได้เข้าเวรร่วมกับนายบุญมี แก้วไทรท้วม เฝ้าดูแลที่กรงเต่า หลังออกเวรถูกยิงบริเวณหน้าบ่อเต่า โดยนายบุญมีเป็นผู้เห็นเหตุการณ์และตะโกนให้ช่วยเหลือนายมานะ แต่ขณะวิ่งตะโกนเห็นเจ้าหน้าที่นอนหมอบราบกับพื้นแล้วตะโกนว่า “ถอยออกไป อยากตายหรือไง”

นอกจากนี้ยังมีพยานจากเจ้าหน้าที่ในบริเวณสวน สัตว์ดุสิตเห็นเจ้าหน้าที่ทหารถือปืน โล่ และกระบอง โดยมีเสียงยิงมาจากฝั่งรัฐสภาเป็นระยะ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งให้ข้อเท็จจริงว่า เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการคือกำลังจากจังหวัดนครราชสีมาที่มีนายทหารยศ ร.ท. เป็นผู้ปฏิบัติการ ซึ่งหลักฐานที่พบคือ ปลอกกระสุนปืนเอ็ม 16 จำนวน 2 ปลอก โล่ปราบจลาจลจำนวน 2 อัน กระบองปราบจลาจลจำนวน 3 อัน เสื้อลายพรางระบุชื่อที่อกเสื้อ “บารมี ชีพไธสง” จำนวน 1 ตัว ขณะ ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้ตรวจร่องรอยวิถีกระสุนปรากฏว่าตรงกับลักษณะการถูกยิงของนายมานะ

ตายเพราะพวกเดียวกัน

ส่วนกรณีพลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ ที่เสียชีวิตวันที่ 28 เมษายน เวลา 15.30 น. บริเวณใต้ทางขึ้นโทลล์เวย์ ใกล้อนุสรณ์สถานแห่งชาติ โดยพลทหารณรงค์ฤทธิ์นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า สีแดง ทะเบียน กยษ กจ 683 ถูกยิงที่ศีรษะข้างซ้าย หางคิ้วผ่านทะลุกะโหลกศีรษะ จากรายงานการตรวจศพพบเศษลูกกระสุนปืนในศีรษะเป็นเศษของลูกกระสุนปืนและเศษ แกนลูกกระสุนปืนขนาดประมาณ .223 (5.56 มม.) ที่ใช้กับปืนกลเล็กเอ็ม 16 หรือปืนเอชเค 33 ซึ่งเจ้าหน้าที่เป็นผู้ใช้เท่านั้น

แต่กรณีพลทหารณรงค์ฤทธิ์นั้นที่ผ่านมาฝ่ายทหารปฏิเสธมาโดยตลอด โดยเฉพาะ พ.อ.สรรเสริญพยายามให้ข่าวว่าผู้ก่อการร้ายลอบยิง แต่จากการสืบสวนสอบสวนทั้งตำรวจและทหารในที่เกิดเหตุที่มีอาวุธประจำกายเป็น เอ็ม 16 หรือปืนเอชเค 33 ตั้งเป็นแนวเขตเจ้าหน้าที่นั้น มีพยานบุคคลเห็นเจ้าหน้าที่ผูกผ้าพันคอสีฟ้าจำนวน 2-3 นาย ยืนอยู่บนแนวปืนที่กั้นระหว่างถนนคู่ขนานกับถนนด้านใน นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังยืนยันว่าเสียงปืนที่ยิงพลทหารณรงค์-ฤทธิ์ถึง แก่ความตายมาจากกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่อยู่ทางถนนวิภาวดีรังสิตขาออกด้านคู่ขนาน

จับกุมแบบเหวี่ยงแห

ขณะที่ก่อนหน้านี้คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ได้เปิดเผยถึงการรับคำร้องเรียนการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และจากการเข้าเยี่ยมผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังหรือกักขังจำนวน 422 คน โดยถูกกล่าวหาคดีต่างๆ ได้แก่ วางเพลิงเผาทรัพย์ ร่วมกันพยายามวางเพลิงเผาทรัพย์ ร่วมกันก่อการร้าย ร่วมกันชุมนุมหรือมั่วสุมฝ่าฝืนข้อกำหนดฯ ฯลฯ พบว่าระยะแรกการควบคุมตัวไม่อนุญาตให้มีการติดต่อสื่อสาร ไม่มีโอกาสได้ปรึกษาหารือกับทนายความหรือนำเสนอข้อเท็จจริงในกระบวนการยุติธรรม แต่เป็นการกล่าวหาตั้งข้อสงสัยฝ่ายเดียว

ขณะที่เยาวชนที่เป็นนักศึกษาในเรือนจำคลองเปรมยืนยันว่า ในคืนที่จับกุมเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงขู่ให้รับสารภาพพร้อมของกลางที่จัด ฉากไว้ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตเข้าจับกุมตามภาพถ่าย หรืออาศัยภาพถ่ายในการชุมนุมก่อนหน้านั้น ซึ่งเป็นการจับกุมแบบเหวี่ยงแหโดยไม่แยกระหว่างผู้ร่วมชุมนุมกับผู้ที่ใช้ ความรุนแรง ทั้งยังตั้งข้อหาร้ายแรงตามอำเภอใจอีกด้วย

คำพูดเป็นนาย!

การใช้อำนาจเยี่ยงเผด็จการและหลักฐานการชันสูตรศพส่วนหนึ่งจากจำนวน 91 ศพนั้นระบุชัดเจนว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลและ ศอฉ. ต่างพยายามให้ข่าวและยืนยันตลอดเวลาว่าทหารไม่ฆ่าประชาชน ทั้งยังระบุว่าผู้ที่เสียชีวิตส่วนหนึ่งเกิดจาก “ไอ้โม่งชุดดำ” ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังไม่สามารถจับตัวมาดำเนินคดีได้ แต่กลับกล่าวหาและคุมขังแกนนำเสื้อแดงและคนเสื้อแดงโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมตามปรกติมานานกว่า 6 เดือนแล้ว และยังมีการไล่ล่าและข่มขู่คนเสื้อแดงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

โดยเฉพาะ พล.อ.อนุพงษ์ที่เคยประกาศว่าถ้ามีหลักฐานว่าทหารฆ่าประชาชนก็จะรับผิดชอบ หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ศอฉ. ที่ยืนยันหลายครั้งว่าทหารไม่ได้ฆ่าประชาชนและท้าให้เอาหลักฐานมายืนยัน วันนี้คงต้องถามทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ และ พล.อ.อนุพงษ์ จะยังยืนยันว่า “ไม่ผิด ไม่ได้ทำ ไม่ได้สั่ง” อีกนานแค่ไหน?

เพราะกว่า 6 เดือนที่ผ่านมานายอภิสิทธิ์และผู้เกี่ยวข้องใน ศอฉ. ก็ไม่มีแม้แต่คำ “ขอโทษ” โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ที่เคยเรียกร้องให้รัฐบาลและนักการเมืองต้องมีความรับผิดชอบหรือมีสำนึกทางการเมืองสูงกว่าคนธรรมดา แม้แค่บกพร่องหรือผิดพลาดต่อหน้าที่ ก็ต้องพิจารณาตัวเองโดยไม่ต้องรอให้กฎหมายจัดการ

แต่เหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” มีคนถูกยิงตายถึง 91 ศพ และบาดเจ็บ พิการเกือบ 2,000 คน แต่กลับใส่ร้ายป้ายสีคนเสื้อแดงเป็น “ฆาตกร”

“ความจริงวันนั้น” ได้เริ่มปรากฏชัดขึ้นใน “วันนี้”

ทุกคำถามที่ไม่มีคำตอบจะกลายเป็น “ข้อสงสัย” ที่พุ่งใส่อำนาจรัฐ

“ใครยิงประชาชนผู้บริสุทธิ์?” กำลังถูกเปิดโปงด้วยตำรวจและทหาร “แตงโม”

“ใครเผาเซ็นทรัลเวิลด์?” กำลังถูกขบวนการอำมหิตไล่ล่าทำลายหลักฐานวิดีโอเทปจากกล้องวงจรปิดที่บันทึก ไว้ตลอด 24 ชั่วโมงใช่หรือไม่? การยอมจ่ายเงินประกันภัยด้วยเงื่อนไขว่าต้องยอมรับว่า “เป็นการก่อการร้าย” เท่านั้นเพื่อให้สอดรับกับข้อกล่าวหาว่าเสื้อแดงเป็นผู้ก่อการร้ายคืออภิมหา แบล็กเมล์ใช่หรือไม่?

“กฎหมาย” มีวันหมดอายุความ…แต่ “กฎแห่งกรรม” กำลังไล่ล่า “เงาอำมหิต” ที่มิอาจหนี “สัจธรรม” หรือ “ความจริง” ได้พ้น”

ตราบใดที่ “คนสั่งยังลอยหน้า คนฆ่ายังลอยนวล” ถึงจะนอนตาหลับได้ แต่คงต้องนอนสะดุ้ง เพราะ “ฝันร้าย” ในโสตประสาทจวบจนสิ้นอายุขัย!

เพราะใครๆเริ่มสงสัยแล้วว่า “ใครทำ?”

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6  ฉบับ 289 วันที่ 11 – 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553 หน้า 16-17 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน



อย่าให้เรื่อง ‘อื้อฉาว’ เงียบหายไป

ที่มา : หนังสือพิมพ์โลกวันนี้ 5 พฤศจิกายน 2553
โดย : ด๊อกเตอร์ทอง

วันนี้ดูเหมือนเรื่องน้ำท่วมจะเข้ามากลบเรื่อง “อื้อฉาว” ต่างๆไปอย่างสนิท ทั้งเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องของการเลือกตั้งใหม่ที่คนถูกแขวนยัง “คิดนาน” ให้คำตอบแก่สังคมไม่ชัดเจนว่าจะลงเลือกตั้งใหม่หรือไม่ อย่างไร ทั้งที่เป็นเรื่องง่ายมากหากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในสังคมที่เจริญแล้ว

ดูเหมือนว่า “มาตรฐานว่าด้วยจริยธรรม คุณธรรม” ของคนในสังคมของเราแม้จะป่วยการพูดกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าได้เลยเวลาของการ ทบทวนแก้ไขอะไรให้ดีขึ้นมาเนิ่นนานเต็มที แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าเราจะสามารถปรับเปลี่ยนนิสัยใจคอของคนของเราให้ เกิดความมีจิตสำนึกต่อสาธารณะได้ทัดเทียมคนอื่นเขาได้เมื่อไร

ทำให้เห็นว่าหนทางที่เหลืออยู่เพียงประการเดียวในขณะนี้ เพื่อช่วยกันทำให้สังคมของเรายืนหยัดอยู่ต่อไปได้ ก็ต้องทำให้เรื่องที่ต้องควานหาคนผิดมาลงโทษหลายเรื่องที่เคยดังกระหึ่มก่อนหน้านี้ ไม่ให้เงียบหายไปจากความทรงจำของ คนในสังคม

เพราะหลายครั้งที่คนไทยถูกกล่าวหาว่า “ลืมง่าย” ทั้งที่เชื่อว่าลึกๆแล้วคนไทยไม่ใช่ว่าลืมง่าย แต่คนไทย “ให้อภัยคนง่าย” และไม่คิดผูกใจเจ็บกับใครถ้าไม่จำเป็น ตรงนี้มีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง หากเราให้อภัยและเมตตาคนที่ควรให้อภัย สังคมก็จะผาสุก ดำรงชีวิตกันอย่างปลอดภัยไร้ปัญหา

แต่การผ่อนปรนหรือประนีประนอมกับคนที่ยากต่อการแก้ไข ปรับเปลี่ยนให้เป็นคนดีของสังคมบางกลุ่ม บางพวก ย่อมไม่เกิดผลดีหรือจะเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมดีขึ้นมาได้ เพราะขนาดมีกฎบัตรกฎหมายกันอย่างชัดเจนคนเหล่านี้ก็ไม่เคยกลัวเกรง เพราะเชื่อมั่นในฤทธิ์เดชแห่งอำนาจที่ตัวเองถือครองอยู่เป็นหลักใหญ่

ถึงวันนี้เราอาจต้องนับหนึ่งกับหลายองค์กรที่อาจจำเป็นต้องทบทวนบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบว่าสมควรที่จะต้องทุ่มเทเงินทองงบประมาณเพื่ออุดหนุนเจือจานกันต่อไปหรือไม่ ด้วยเงินงบประมาณแผ่นดินซึ่งเป็นเงินของประชาชน ไม่ใช่ว่าจะมอบให้ใครหรือผู้หนึ่งผู้ใดนำไปใช้จ่ายได้อย่างไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ตอบแทนอย่างคุ้มค่าได้

หากเรายังมีองค์กรที่ต้องปรับเปลี่ยนหรือเคลื่อนย้ายถ่ายเทให้ถูกต้อง เหมาะสมอย่างไรก็จำเป็นต้องทำ และคนในองค์กรเองก็ต้องเข้าใจและยอมรับได้ จะต้องไม่คิดว่าการโยกย้ายเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องผิดปรกติ เพราะความเป็นข้าราชการเป็นเรื่องปรกติที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนได้อย่าง เหมาะสมอยู่เสมอ

ความจริงองค์กรอิสระหลากหลายองค์กรที่จะต้องได้รับการทบทวนบทบาทหน้าที่ ส่วนมากเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบคนอื่น แต่ปรากฏว่ามักเกิดคำถามที่น่าสนใจตลอดเวลาว่า “ใครกันจะเป็นคนทำหน้าที่ตรวจสอบองค์กรเหล่านั้น (who guards the guardian)”

นั่นคือสิ่งที่น่ากังวล เพราะทุกวันนี้เรามอบอำนาจให้องค์กรอิสระหลายองค์กรมีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากล้นกระทั่งทำให้คนในองค์กรเองอาจเข้าใจผิดคิดว่าอำนาจนั้นคือสิ่งที่ผูกติดกับองค์กร หรือมีความอิสระกระทั่งไม่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมคนรอบข้าง

สิ่งเหล่านี้ถือว่าอันตรายอย่างยิ่งต่อการพัฒนาองค์กรอิสระหลายองค์กรใน ระยะยาว เพราะปัญหาเกี่ยวกับ “ทัศนคติ” มุมมองความเชื่อเมื่อลองได้หยั่งรากลึกจะสร้างปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “วัฒนธรรมองค์กร” ที่เราคงได้เห็นบางองค์กรที่เกิดปัญหาคล้ายๆกัน เช่น “องค์กรตำรวจ” ที่คนในองค์กรยึดติดกับอำนาจอย่างเคยตัว โดยเฉพาะคนที่มีอำนาจในองค์กร นี่เพียงแค่องค์กรเดียวก็ทำให้สังคมสับสนวุ่นวายพอแล้ว

“พอเถิดครับ ขอให้เชื่อว่าหากทุกคนรู้จักพอ ก็จะช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมทางสังคมและการบริหารจัดการให้ดีขึ้นมาได้”