ความจริง.. บนโลกไซเบอร์

“ยุทธศาสตร์ 2 ขา 5 เขต เราเพิ่มเขตที่ 5 คือเขตที่อยู่ในโลกไซเบอร์…พี่น้องต้องเข้าไปต่อสู้ในเขตนี้ด้วย”

นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน ปราศรัยกับคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2554 ที่ครบรอบ 1 ปีของการชุมนุมใหญ่ “นปช. แดงทั้งแผ่นดิน” ที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนตามยุทธศาสตร์ 2 ขา 5 เขต คือขาหนึ่งต่อสู้ในสภา อีกขาอยู่ในถนนต่อสู้กับคนเสื้อแดง ส่วน 5 เขตคือ 1.ในชนบท 2.ในเมือง 3.ในกรุงเทพฯ 4.ในต่างประเทศ และ 5.ในโลกไซเบอร์

แต่อุปสรรคสำคัญคือระบอบที่ล้าหลังอย่าง “ระบอบอำมาตย์” ทั้งๆที่เศรษฐกิจไทยเป็นทุนนิยมแล้ว แต่เมื่อศูนย์อำนาจการเมืองการปกครองและศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจอยู่ในกรุงเทพฯ ดังนั้น สนามการต่อสู้ที่จริงจังและแตกหักจึงอยู่ในกรุงเทพฯ คนเสื้อแดงจึงต้องปักหลักต่อสู้ในเขตกรุงเทพฯ

“ตาสว่าง” ไม่ต้อง “ปากสว่าง”

ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน กล่าวถึงยุทธวิธีเคลื่อนไหวของ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน โดยขึ้นกล่าวปราศรัยเป็นครั้งแรกหลังจากถูกจองจำกว่า 9 เดือนว่า ต้องสอดรับกับสถานการณ์ โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น นปช. แดงทั้งแผ่นดิน ทุกคนต้องทำตัวเป็นผู้ปฏิบัติงานในสนามเลือกตั้งของฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ใช่หัวคะแนนเหมือนในอดีต โดยคนเสื้อแดงจะปูพรมทั่วทุกอณูพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อไปอธิบายหลักการ แนวคิดเรื่องประชาธิปไตย ไปติดอาวุธทางความคิด ติดอาวุธทางปัญญาให้ประชาชน จนประชาชนเกิดความเข้าใจว่าทำไมต้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

“สิ่งที่ผมได้ยินตอนอยู่ในเรือนจำคือคำว่าตาสว่าง ไม่รู้ใครเขาพูดกัน แต่ผมได้ยินพี่น้องบอกว่าตาสว่างๆๆ ถามว่าพี่น้องตาสว่างแล้วผมสว่างไหม ผมก็สว่าง เมื่อประชาชนตาสว่างก็จะไม่มีใครสามารถซ่อนตัวอยู่ในมุมมืดได้อีกต่อไป ประเด็นคือเมื่อตาสว่างแล้วเราจะทำอย่างไรต่อ พี่น้องที่เคารพครับ สำหรับผมที่จะพูดคุยกับพี่น้องในฐานะที่เราเดินต่อสู้ในเวทีกลางแจ้ง เราต่อสู้อย่างเปิดเผย เราต่อสู้อย่างตรงไปตรงมาตลอดแบบนี้ ผมอยากจะบอกกับพี่น้องว่า ตาสว่างแต่บางทีปากไม่ต้อง สว่างก็ได้ครับ ตาสว่างไม่จำเป็นว่าปากต้องสว่าง ในบางสถานการณ์เสียงกระซิบมันได้ผลกว่าเสียงตะโกนครับ”

สงครามข่าวสาร

นายณัฐวุฒิยอมรับว่าเจ็บปวดที่ถูกขัง 9 เดือน แต่เทียบไม่ได้กับการบาดเจ็บล้มตายของพี่น้องเสื้อแดงที่วันนี้ยังถูกกล่าว หาเป็นผู้ก่อการร้ายและล้มสถาบัน กรณีโลกอาหรับก็ทำให้วันนี้สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงโบกพัดให้คนเสื้อแดงที่ เจ็บปวดจากการต่อสู้มีความรู้สึกสดชื่นตื่นตัวขึ้นมาอีกครั้ง เฉกเช่นคนทั่วโลกที่กำลังต่อสู้กับอำนาจเผด็จการเพื่อให้ได้ประชาธิปไตย แม้ในลิเบียยังลูกผีลูกคน

“ท่านเห็นไหมว่าสถานการณ์การต่อสู้ของเราอยู่ในระนาบใกล้เคียงกับ สถานการณ์ของเขาเหมือนกัน แล้วเดาไม่ถูกว่าประชาชนประเทศไหนจะถึงเส้นชัยแห่งประชาธิปไตยก่อนกัน แต่สิ่งที่ผมมั่นใจได้ก็คือ ไม่มีประชาชนในประเทศใดๆจะยอมศิโรราบต่ออำนาจของผู้เผด็จการอีกแล้ว นี่คือสิ่งที่ผมมั่นใจ”

อย่างไรก็ตาม นายณัฐวุฒิยืนยันว่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดงจะเป็นไปอย่างสันติวิธี แม้จะต้องต่อสู้ทั้ง “มือที่มองไม่เห็น” อำนาจพิเศษ และอำนาจมืดต่างๆที่พูดไม่ได้ แต่คนเสื้อแดงต้อง “ตาสว่าง” รู้แจ้งเห็นจริงเพื่อต่อสู้ให้ได้ชัยชนะ

โดยเฉพาะในโลกไซเบอร์ที่นางธิดาให้พี่น้องคนเสื้อแดงเข้าไปต่อสู้ในเขต นี้ด้วย เพราะวันนี้โลกไซเบอร์กลายเป็นสนามต่อสู้สำคัญของคนทั้งโลกที่ใช้ทวงอำนาจ จากคนส่วนน้อยคืน อย่างกระแสประชาธิปไตยในโลกอาหรับที่เกิดจากโลกไซเบอร์ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊คหรือทวิตเตอร์

เช่นเดียวกับขบวนการเสื้อแดงจะต้องสู้ต่อไปเรื่อยๆ มีการชุมนุมเดือนละ 2 ครั้งจนกว่าจะได้รับความยุติธรรมและมีผู้รับผิดชอบ 91 ศพที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” การรณรงค์ของกลุ่ม “ไม่เอา 112” เพื่อไม่ให้นำกฎหมายหมิ่นเบื้องสูงมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือกรณี “วิกิลีกส์” ที่นำข้อเท็จจริงและเบื้องหลังสถานการณ์ต่างๆในโลกและประเทศไทยออกมาเปิดเผย

ความจริงเผาบ้านเผาเมือง

โดยเฉพาะเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ที่วันนี้ยังไม่มีคำตอบว่าใครเป็น “ฆาตกร” หรือ “ใครสั่งฆ่าประชาชน” รวมทั้งใครที่เผาบ้านเผาเมือง แต่ในโลกไซเบอร์นั้นกลับสามารถค้นหาทั้งภาพถ่าย คลิปวิดีโอ ข่าว และความคิดเห็นทุกแง่ทุกมุมได้ แม้จะถูกปิดกั้นจากอำนาจรัฐหรือผู้นำเผด็จการก็ตาม

โลกไซเบอร์จึงเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด โดยเฉพาะการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและประชาธิปไตยซึ่งไม่มีใครปิดกั้นได้ ประชาธิปไตยจึงถูกส่งผ่านทางโลกไซเบอร์ ซึ่งมีพลานุภาพน่ากลัวไม่น้อยไปกว่าสึนามิถล่มประเทศญี่ปุ่น

อย่างกรณีเผาเซ็นทรัลเวิลด์ที่อภิปรายอย่างดุเดือดในสภานั้น หลักฐานมากมายก็นำมาจากโลกไซ-เบอร์ที่มีการนำไปเผยแพร่ ซึ่งสื่อกระแสหลักหรือสื่อทั่วไปไม่นำเสนอหรือไม่กล้านำเสนอ อย่างการชี้แจงของตัวแทนผู้บริหารของเซ็นทรัลเวิลด์ต่อคณะกรรม-การติดตาม สถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา ที่มีนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ เป็นประธานว่า มีคนกลุ่มหนึ่งพยายามลอบเผาห้างหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากมีหน่วยรักษาความปลอดภัยคอยป้องกันเหตุจำนวนหลายร้อยคน หลังจากคนเสื้อแดงมอบตัวแล้วกลุ่มคนดังกล่าวพร้อมอาวุธครบมือได้เข้ามาภายใน เซ็นทรัลเวิลด์จนสามารถบีบให้หน่วยรักษาความปลอด ภัยยอมจำนนและสามารถเผาได้สำเร็จ โดยมีวิดีโอบันทึกภาพกลุ่มคนที่วางเพลิงไว้ด้วย

สอดคล้องกับนายสุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ ประ-ธานกรรมการบริหารบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล ที่ให้สัมภาษณ์หลังเกิดการเผาห้างไม่ถึง 2 เดือนว่า ห้างมีวอร์รูมตั้งแต่เดินขบวนที่มีเจ้าหน้าที่ประจำตลอด 24 ชั่วโมง มีผู้บริหารระดับหนึ่งประจำอยู่เพื่อประเมินสถานการณ์ก่อนรายงานตรงถึงผู้ บริหารระดับสูงได้ตลอดเวลา วอร์รูมจึงมีข้อความถึงผู้บริหารตลอดทุก 10 นาที หรือทุกครึ่งชั่วโมงแล้วแต่ความเคลื่อนไหว

ซักฟอกผ่านโลกไซเบอร์

แม้แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ 9 รัฐมนตรี ก็ยังมีการตอบโต้ผ่านโลกไซเบอร์ โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ตอบโต้นายอภิสิทธิ์ที่ชี้แจงนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ในฐานะหัวหน้าทีมอภิปราย ฝ่ายค้าน เรื่องหนี้สาธารณะว่ารัฐบาลต้องกู้เงินมาฟื้นฟูเศรษฐกิจที่พรรคเพื่อไทยก่อ เอาไว้ และยืนยันว่ามีหนี้น้อยกว่ายุค พ.ต.ท.ทักษิณ โดย พ.ต.ท.ทักษิณทวิตว่า

“ได้ฟังคุณอภิสิทธิ์ตอบคุณมิ่งขวัญในสภาแล้วรู้สึกว่าน้องยังเด็กเหลือเกิน นักการเมืองที่ดีต้องพูดความจริงต่อประชาชนครับ ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน”

พ.ต.ท.ทักษิณยังทวิตต่อว่า สมัยตนรับหนี้มาจากรัฐบาลประชาธิปัตย์ 2 ก้อนใหญ่ๆคือ 1.หนี้กองทุนฟื้นฟูที่เกิดจากการขายทรัพย์ที่เอามาจากสถาบันการเงินล้มแบบ โง่ๆให้กับโกลด์แมน ซาคส์, เลห์แมน บราเธอร์ส และจีอี แคปปิตอล ที่ได้ราคาไม่ถึง 20% ของต้นทุนทรัพย์สิน แถมยังช่วยไม่ให้ฝรั่งเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีก หนี้ก้อนนี้ประมาณ 700,000 ล้านบาท หนี้ก้อนที่ 2 กู้มาจากโครงการมิยาซาวา, ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี), ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประมาณ 600,000 กว่าล้านบาท ซึ่งหนี้ไอเอ็มเอฟประมาณ 400,000 ล้านบาท ใช้ไปหมดแล้ว รัฐบาลนายอภิสิทธิ์เข้ามาจึงถือโอกาสกู้เงินเพื่อหวังผลทางการเมืองและมีการ คอร์รัปชัน ทำให้หนี้สูงขึ้นเป็นลำดับ

“ขอแนะนำว่าให้ยอมรับและบอกว่าจะให้ความสนใจเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น จะใช้เงินที่กู้มาให้เกิดประโยชน์กว่านี้ จะปล่อยให้โกงน้อยลง จะไม่ให้เกิดการกักตุนสินค้าและตามมาด้วยการขึ้นราคาแบบนี้อีก ผมว่าดูจะเป็นผู้ใหญ่กว่า ได้รับความเห็นใจกว่า บอกประชาชนไปเลยครับว่าผมกำลังเรียนรู้งานอยู่ อีกหน่อยผมก็เก่งเองครับ”

“จาตุรนต์” ทวิตถล่มซ้ำ

เช่นเดียวกับนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย ในฐานะทีมวอร์รูมติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งมีแกนนำพรรคและสมาชิกบ้านเลขที่ 111 คอยประเมินผลการอภิปราย ก็ทวิตข้อความตอบ โต้นายอภิสิทธิ์เรื่องหนี้ว่า พรรคไทยรักไทยทำให้หนี้ที่พรรคประชาธิปัตย์สร้างไว้ลดลงอย่างมากและรวดเร็ว

“คุณอภิสิทธิ์ไปเอาตัวเลขหนี้สาธารณะมาจากไหน และยังตัดตอนประวัติศาสตร์มาพูด ลักไก่เอาแบบไม่น่าเชื่อ เรื่องตัวเลขหนี้สาธารณะเป็นอย่างไรก็เรื่องหนึ่ง แต่หนี้ตอนไหนมากกว่าตอนไหนไม่ใช่ประเด็น จะจับให้มั่นคั้นให้ตายต้องรวบรวมเรื่องใหญ่ๆที่คุณอภิสิทธิ์ไม่ตอบหรือตอบ ไม่ได้มาแสดงให้เห็น แล้วจะพบว่าคุณอภิสิทธิ์สอบตกแน่ แต่ผมขอไม่ทำเองนะครับ เรื่องหนี้สาธารณะคุณอภิสิทธิ์คิดผิดถนัดที่มาคุยว่าหนี้สมัยตัวเองน้อยกว่า สมัยคุณทักษิณ ทั้งๆที่เรื่องนี้เป็นจุดแข็งที่สุดของคุณทักษิณ และเป็นจุดอ่อนที่สุดของคุณอภิสิทธิ์”

ปชป. รัวทวิตแจงประชาชน

ในวันเดียวกันทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ได้เขียน ข้อความลงทวิตเตอร์ โดยใช้ชื่อว่า “@democratTH” สรุปประเด็นการชี้แจงของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นข้อความสั้นๆอย่างต่อเนื่อง ทวิตเตอร์ไทยคู่ฟ้า “Thaikhufa” ของรัฐบาลก็โพสต์ข้อความรวมถึงรายงานความเคลื่อนไหวต่างๆของนายอภิสิทธิ์และ รัฐมนตรีที่ชี้แจงในการอภิปรายทันทีในแต่ละประเด็นแบบนาทีต่อนาทีทีเดียว

วอร์รูมกองทัพ

แม้แต่กองทัพบกก็ตั้งวอร์รูม โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เปิดเผยว่า วอร์รูมเป็นแค่การติดตามสถานการณ์ทางทหาร ซึ่งกองทัพบกมีงานทุกวันอยู่แล้ว มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบติดตามสถานการณ์รอบประเทศ 24 ชั่วโมง มี 7 กองกำลังทำงาน แต่หากมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับทหารถามเข้ามาก็ตอบไปเท่านั้น เพราะการทำงานของทหารเป็นผู้ปฏิบัติเท่านั้น

อย่างเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่กองทัพเข้าไปรับผิดชอบก็ทำตามคนที่สั่งการโดยชอบตามกฎหมายคือรัฐบาล ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายอภิสิทธิ์ที่ระบุว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ฝ่าฝืน บทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายสั่งการทหารเข่นฆ่าประชาชนนั้น เรื่องการใช้กำลังทหารไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง ประชาชนต้องแยกให้ออก เพราะเจ้าหน้าที่ทหารเลี่ยงคำสั่งไม่ได้ กฎหมายคือกฎหมาย ความรับผิดชอบมีอยู่แล้ว ถ้าสั่งการมาแล้วชอบด้วยกฎหมายก็ต้องปฏิบัติ จะปฏิบัติอย่างไรให้เกิดความปลอดภัยต้องใช้ความระมัดระวัง โดยยืนยันว่าช่วงกระชับพื้นที่ทหารทำตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาล ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ กลุ่มเสื้อแดงมีสิทธิเลี่ยงพื้นที่อันตรายได้แต่กลับหันมาสู้กับกฎหมาย

การเมืองบนโลกไซเบอร์

โลกไซเบอร์จึงกลายเป็นพื้นที่การตอบโต้การอภิปรายไม่ไว้วางใจระหว่างฝ่าย ค้านกับรัฐบาลที่ดุเดือดไม่น้อยกว่าในสภา และยังอาจได้ข้อเท็จจริงหรือข้อมูลที่ชัดเจนกว่าการอภิปรายในสภา เพราะไม่ถูกขัดจังหวะจากบรรดาองครักษ์พิทักษ์นาย หรือเป็นข้อมูลจากผู้รู้จริง ซึ่งทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยก็มีการตั้งวอร์รูมขึ้นมาต่อสู้กัน

วันนี้โลกไซเบอร์จึงมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆในเวทีการเมืองและการ เคลื่อนไหวต่างๆของภาคประชาชน แม้แต่การก่ออาชญากรรมและก่อการร้ายต่างๆ เหมือนทีวี.ออนไลน์ที่ขณะนี้คนไทยหลายสิบล้านคนเลือกดูแทนทีวี.เสรีหรือสื่อ หลักที่มีการนำเสนอที่อยู่ในกรอบและมอมเมา

อาชญากรรมหรือการเมือง

นิตยสาร The Economist ฉบับวันที่ 2 กรก-ฎาคม 2552 ได้เคยวิเคราะห์การเมืองบนโลกไซเบอร์ของไทยว่าเหมือนกับจีน เพราะทั้ง 2 ประเทศคอยอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย แต่โลกไซเบอร์ในจีนกลับเป็นสมรภูมิระหว่างเสรีภาพในการพูดและการเซ็นเซอร์ เช่นเดียวกับไทยที่แม้จะมีเสรีมากกว่าสื่อกระแสหลักที่ขาดความกล้า แต่การตรวจสอบก็ทำมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้สกัดกั้นเว็บไซต์มากกว่า 8,300 เว็บ โดยอ้างว่าผิดกฎหมายหมิ่นเบื้องสูง สำนักงานตำรวจแห่งชาติปิดเว็บเพจมากกว่า 32,000 หน้า ด้วยข้อหาต่างๆกันเมื่อปี 2550 แม้แต่ยูทูบยังโดนปิดกั้นเป็นเวลานานหลายเดือนหากเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ถูกใจ ผู้มีอำนาจ

The Economist ยังกล่าวถึงขบวนการ “ไล่ล่าแม่มด” บนโลกไซเบอร์ว่า เบื้องหลังคือการเมืองที่เป็น กลุ่มต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณจนกระทั่งเกิดการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งเหมือนการปล้นอำนาจโดยฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มีกองทัพ ตุลาการ และชนชั้นสูงอยู่เบื้องหลัง โดยใช้กลุ่มเสื้อเหลืองออกหน้าการขับไล่ โดยอ้างว่า พ.ต.ท.ทักษิณและพวกพยายามทำลายสถาบันเบื้องสูง จนในที่สุดนายอภิสิทธิ์ก็ได้เป็นรัฐบาล พร้อมตั้งคำถามว่าเรื่องนี้เป็นการเมืองหรืออาชญากรรม

“ทักษิณ” ใช้โลกไซเบอร์สู้

อย่างไรก็ตาม หลังจากต้องพ่ายแพ้ด้วยโลกไซเบอร์จากการส่งต่อข่าวอย่างเป็นระบบจากกลุ่มต่อ ต้าน โดยไม่สนว่าข่าวนั้นจะจริงหรือเท็จอย่างไร พ.ต.ท.ทักษิณ ก็พลิกกลับมาใช้โลกไซเบอร์เป็นจุดแข็งมาโดยตลอดในการต่อสู้เพื่อเรียกร้อง ความยุติธรรมให้กับตนเองเช่นกันนับตั้งแต่ต้องออกไปอยู่นอกประเทศ ซึ่งต้องยอมรับว่าการวิดีโอลิ้งค์หรือโฟนอินหรือทวิตข้อความของ พ.ต.ท.ทักษิณเข้ามายังคนเสื้อแดงหรือในเหตุการณ์สำคัญๆหลายครั้งนั้นมีผลต่อ สังคมไทยไม่น้อย

ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวหาและโจมตีของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์หรือกลุ่ม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ต.ท.ทักษิณก็จะใช้โลกไซเบอร์คอยตอบโต้ ทำให้ยังอยู่ในกระแสข่าวทั้งในประเทศไทยและการเมืองโลก

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ก็วางยุทธศาสตร์ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งใหม่ ผ่านโลกไซเบอร์มานานแล้ว รวมทั้งเว็บไซต์ของนายอภิสิทธิ์และนายกรณ์ที่ถือเป็นฐานเสียงสำคัญที่สร้าง ภาพและคะแนนนิยมของนายอภิสิทธิ์และนายกรณ์ให้กับคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ไม่ เคยรู้ข่าวจากแหล่งอื่นเพราะรับข่าวสารจากโลกไซเบอร์อย่างเดียวเท่านั้น

โลกไซเบอร์กับประชาธิปไตย

นายยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในการเสวนาเปิดตัวหนังสือ “สื่อออนไลน์ BORN TO BE DEMOCRACY” ว่าแม้ไม่แน่ ใจว่าสื่อออนไลน์จะเป็นประชาธิปไตยโดยตัวเอง แต่ก็น่าจะเป็นเครื่องมือนำไปสู่ประชาธิปไตยมากกว่า หรือเรียกว่า born to become democracy

นอกจากนี้ยังมีคำถามเกี่ยวกับสื่อออนไลน์ ซึ่งผู้คนมักมองเห็นพลังและแง่บวกในการสร้าง “พื้นที่สาธารณะ” อย่างไร้พรมแดน ถึงที่สุดก็ไม่ได้ต่างอะไรกับโลกออฟไลน์ พรมแดนทางออนไลน์ที่ยังมีเรื่องของภาษาหรือกฎกติกาในเว็บต่างๆที่คนจะมีส่วน ร่วมกำหนดกฎเกณฑ์ในสังคมออนไลน์ได้อย่างไร และไม่ให้รัฐก้าวล่วงมาได้มากน้อยแค่ไหน

สื่อออนไลน์หรือโลกไซเบอร์จึงต้องมีความเท่าเทียม เป็นของกระฎุมพีที่ขยายพื้นที่เพื่อสื่อสารทาง การเมือง ช่วยให้คนฉุกคิด เข้าใจถึงการสื่อสารอื่นๆในโลกความจริง ซึ่งต้องสร้างสังคมประชาธิปไตยในโลกออฟไลน์ให้เป็นจริงขึ้นมาเพื่อจะได้ ประชาธิปไตยในโลกออนไลน์ เพราะพื้นที่ออนไลน์กับออฟไลน์มันเกี่ยวกัน อย่างรัฐก้าวล่วงเข้ามาในพื้นที่ออนไลน์ก็ทำให้คนอึดอัด

ขณะที่นายสมบัติ บุญงามอนงค์ บ.ก.ลายจุด แกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง กล่าวถึงระยะแรกเริ่มของพฤติกรรมคนที่แสดงออกมาทางอินเทอร์เน็ตว่า เหมือนคนที่ออกมาจากคุก จนวันนี้คนก็ยังพูดเรื่องนี้ อินเทอร์เน็ตหรือโลกไซเบอร์จึงให้สิทธิคนอื่นๆในการด่าคนในที่สาธารณะได้ นอกเหนือจากนักข่าว นักเขียน ซึ่งสื่อหนังสือพิมพ์อายุสั้นแค่วันเดียว รายสัปดาห์ก็ 1 สัปดาห์ แต่อินเทอร์เน็ตอยู่นานได้

ดังนั้น วันนี้โลกไซเบอร์จึงเหมือนโลกของประชาธิปไตย ซึ่งปัญหาและเรื่องราวมากมายนั้นสื่อออฟไลน์เสนอไม่ได้หรือไม่กล้านำเสนอ อย่างกรณีวิกิลีกส์ที่สื่อกระแสหลักของไทยจำใจเซ็นเซอร์ตัวเอง แต่คนไทยกลับสามารถรับรู้ชนิด “คำต่อคำ” ผ่านทางโลกไซเบอร์หรืออินเทอร์เน็ตได้

โลกไซเบอร์จึงทำให้คนจำนวนมากได้ “ตาสว่าง” รู้ว่าอะไรจริง อะไรเท็จ ใครทำดี ใครทำชั่ว ใครเป็นฆาตกร ใครเป็นผู้บริสุทธิ์?

แม้ในสภาจะเต็มไปด้วยน้ำลายที่มีแต่การโกหกตอแหล แต่ก็ไม่อาจปกปิด “ความจริง” ในโลกไซเบอร์ได้ว่า ใครคือฆาตกรสังหารโหด 91 ศพและไอ้โม่งตัวจริงที่เผาบ้านเผาเมือง

“กรรมออนไลน์” บนโลกไซเบอร์ จึงรวดเร็วทันใจกว่า “กรรมติดจรวด”

ใครก่อกรรมอะไรไว้…ได้เวลาชดใช้กรรมในชาตินี้…ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 303 วันที่ 19-25 มีนาคม พ.ศ. 2554 หน้า 16-17 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน



วาทกรรมก่อการร้ายรัฐไทย ใช้ไม่ได้ในความรู้สึกของนานาชาติ

สถานการณ์ทางการเมืองของไทยมีความสัมพันธ์กับ ปัญหาขีดความสามารถของรัฐบาลที่ถูกเลือกสรรจากผู้มีอำนาจตัวจริงตามโครง สร้างอำนาจของรัฐไทยให้นั่งบริหารบ้านเมือง ดูเหมือนว่าสถานการณ์ทางสากลจะไม่เอื้ออำนวยให้รัฐเผด็จการในประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะสามารถรักษาอำนาจของตนไว้เช่นที่เกิดในตะวันออกกลาง

กรณีของไทยยิ่งกว่านั้น เพราะเผด็จการเหล่านั้นไม่ยอมรับว่าตนเป็นเผด็จการ แต่อาศัยฉาบหน้าความเป็นประชาธิปไตยอ้างว่ารัฐบาลนี้มาจากสภา แต่มีปัญหาเรื่องความชอบธรรมและการสังหารราษฎรที่มีความเห็นตรงข้าม รวมถึงได้สร้างวาทกรรมกล่าวหาราษฎรกลุ่มดังกล่าวว่าเป็นผู้ก่อการร้าย

ท้ายที่สุดปรากฏการณ์เรื่องการไร้ความสามารถในการบริหารบ้านเมือง ประกอบกับสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้นกำลังทำให้กลุ่มผู้มีอำนาจรวมถึงรัฐบาล นี้ต้องเริ่มคิดใหม่

การที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล้าประกาศจะยุบสภาในต้นเดือนพฤษภาคมและจะจัดให้มีการเลือกตั้งต่อไปย่อม แสดงให้เห็นว่า ด้านหนึ่งรัฐบาลนี้ รวมทั้งกลุ่มอำนาจ เริ่มรู้สึกแล้วว่าสิ่งที่กระทำลงไป โดยเฉพาะการสังหารราษฎรที่มีความเห็นตรงกันข้ามนั้น เป็นเรื่องที่ไม่อาจจะถูกยอมรับได้ทั้งระดับสากลและภายในประเทศเอง ดังนั้น ควรจะมามองในแง่มุมของกฎหมายที่รัฐไทยใช้สร้างวาทกรรมเพื่อหาความชอบธรรมใน การสังหารประชาชนว่ามีข้ออ่อนอยู่ที่ใดบ้าง

อันที่จริงแล้วเคยมีชาวต่างชาติชื่อ Martin Scheinin ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของ UN ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องการก่อการร้าย ได้ทำการวิจารณ์ปัญหากฎหมายก่อการร้ายของไทย โดยได้ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ไปเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งในเนื้อหาได้อรรถาธิบายว่า กฎหมายก่อการร้ายของไทยออกจะขยายขอบเขตมากเกินไปหรือไปไกลเกินไป

ผู้เขียนเห็นว่าปรกติแล้วกฎหมายอาญาของไทยที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการ ป้องกันเรื่องอาชญากรรมนั้น ได้ถูกขยายความเพิ่มเติมให้ครอบคลุมเรื่องปัญหาก่อการร้ายมาตั้งแต่ พ.ศ. 2546 อย่างไรก็ตาม ปัญหาของกฎหมายนี้คือมิได้มีการระบุถึงลักษณะการกระทำอันใดที่จะเรียกว่า เป็นการก่อการร้าย เช่น ที่จริงแล้วถ้าจะให้ครอบคลุมจะต้องบอกว่า คณะบุคคลที่ประกอบกันเป็นการก่อการร้ายต้องมีสาระสำคัญคือ

ประการแรก มีการรวมตัวเป็นกลุ่มอย่างชัดเจน มีวัตถุประสงค์ของกลุ่มซึ่งจะต้องแสดงออกด้วยว่ามีวัตถุประสงค์ที่จะขัดแย้ง กับรัฐหรือต่อต้าน เปลี่ยนแปลง และอุดมการณ์ของกลุ่มนี้ก็ควรจะชัดเจนและถูกประกาศ ถูกนำไปปฏิบัติ จนเห็นผลหรือเป็นที่รับทราบกันทั่วไปคือ จะต้องเป็นกลุ่มที่มีอุดมการณ์ขัดแย้งกับรัฐและมุ่งใช้ความรุนแรงอย่าง ชัดเจน

ประการต่อมา ต้องมีการรวมตัวกัน และบรรดาสมาชิกมีเจตจำนงร่วมกัน มีลักษณะความเป็นองค์กร รวมถึงมีระยะเวลาดำเนินงานที่ต่อเนื่อง แต่กฎหมายของไทยที่กล่าวถึงเรื่องก่อการร้าย โดยเฉพาะในมาตรา 135 ที่ได้ขยายความประมวลกฎหมายอาญาให้ครอบคลุมการก่อการร้ายนั้น ไม่ได้นิยามเรื่องลักษณะดังที่กล่าวข้างต้นไว้

ผู้เขียนเห็นว่าคำว่า “ก่อการร้าย” ก็มีปัญหาในตัวของมันเองเช่นกัน เพราะในเชิงการเมือง นักทฤษฎีการเมืองหลายคนก็ถกแถลงกันว่า ปรกติอาชญากรนั้นเข้าใจง่าย เพราะผู้ประกอบอาชญากรรมจะมีการกระทำที่ใช้ความรุนแรง มีวัตถุประสงค์เพื่อกระทำหรืองดเว้นกระทำให้บรรลุความต้องการของตนเอง อันอาจเป็นความประสงค์ต่อทรัพย์ การข่มขู่บังคับหรืออื่นๆ และแรงจูงใจของอาชญากรก็สามารถมองได้ว่าเป็นเรื่องของความต้องการทางวัตถุ หรือนามธรรมในระดับต้นๆ แต่ปัญหาเรื่องการก่อการร้ายมักจะถูกถกแถลงและมองในลักษณะต่างกันไป เช่น สำหรับเป้าประสงค์หรืออุดมการณ์ของคนที่จะทำการก่อการร้าย บางส่วนเป็นลักษณะการกระทำตามแรงจูงใจอันมีพื้นฐานมาจากความรักในหมู่คณะ เช่น เป็นชนกลุ่มน้อยแล้วถูกกดดันจากดินแดนที่ตนเองไปอยู่อาศัย ชนกลุ่มใหญ่ในดินแดนนั้นมีการกระทำที่เป็นการลำเอียง หรือเลือกปฏิบัติ หรือไม่ยอมรับในสถานภาพความเป็นชนกลุ่มน้อย

ดังนั้น หากชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ต่อสู้ จะเห็นว่าการต่อสู้เหล่านี้มีมิติทางการเมือง การจะตีความว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการก่อการร้ายหรือไม่จึงต้องดูที่ลักษณะ ของการกระทำ แต่ในเชิงของเป้าประสงค์มักจะถกเถียงกัน ไม่มีใครแพ้ใครชนะ

ในกรณีนี้ Martin มีความเห็นว่า ที่จริงแล้วผู้ต้องสงสัยเรื่องการก่อการร้ายจะต้องถูกหรือได้รับการปฏิบัติ ทำนองเดียวกับผู้ที่ทำความผิดปรกติ เพราะการก่อการร้ายไม่ใช่สงคราม ไม่ใช่การขัดแย้งทางทหาร ไม่ใช่สภาพของภาวะฉุกเฉิน แต่เป็นเรื่องของความผิดที่ร้ายแรง ดังนั้น ผู้ต้องหาเหล่านี้จะต้องถูกสอบสวน ฟ้องร้อง และพิจารณาอย่างเป็นธรรมเช่นคดีปรกติธรรมดา ไม่จำเป็นต้องเป็นคดีพิเศษ ต้องเป็นเพียงอาชญากรรมที่ร้ายแรงเท่านั้น ไม่เห็นจำเป็นต้องกำหนดอะไรเป็นพิเศษ

ที่สำคัญ Martin ยังเห็นว่าลักษณะการกระทำที่ก่อให้เกิดความรุนแรงต่อชีวิตมนุษย์จำนวนมาก การสะพรึงกลัวหรือส่งผลให้เกิดการบังคับให้รัฐบาลกระทำบางสิ่งบางอย่าง หรือความร้ายแรงอื่นใดที่มุ่งต่อประชาชนทั้งหมดหรือบางส่วน จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะพิจารณาได้ว่าการกระทำนั้นเป็นการก่อการร้ายหรือไม่ ดังนั้น การนิยามการก่อการร้ายของไทยจึงกว้างเกินไป

ถ้าดูตามมาตรา 135/1 วรรค 3 ของกฎหมายไทยก็จะเข้าใจได้เองว่า จริงๆแล้วการประท้วงของกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นการกระทำผิดฐานก่อการร้าย ส่วนความรุนแรงอันเกิดจากชายเสื้อดำก็จะถือได้ว่าเป็นเพียงอาชญากรรมร้ายแรง ของคนกลุ่มนั้นเท่านั้น เนื่องจากคนกลุ่มดังกล่าวไม่ได้มีการรวมตัวกันประกาศตัวเป็นองค์กร ประกาศอุดมการณ์ หรือมีบริบทอื่นใดที่จะเรียกว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย

ดังนั้น รัฐบาลจะมามั่วนิ่มว่าคนเสื้อดำเป็นผู้ก่อการร้าย แล้วเผอิญคนเสื้อดำไปยืนอยู่ในพื้นที่การประท้วงแล้วจะมาหาว่าคนเสื้อแดง เป็นเจ้าของปฏิบัติการของคนเสื้อดำ เท่ากับเป็นผู้ก่อการร้ายไปด้วยนั้น ถือเป็นการมั่วนิ่มและหาเหตุเพื่อทำการปราบปราม

ที่สำคัญหากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่ารัฐไทย โดยเฉพาะรัฐบาลที่สั่งปราบประชาชน กลัวว่างานนี้จะทำให้ตนเองต้องขึ้นสู่ศาลอาชญากรระหว่างประเทศและอื่นๆ จึงพยายามสร้างความชอบธรรมเพื่ออ้างว่ารัฐได้ทำการปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย เหมือนกับจะบอกว่าตนเองไม่ได้สังหารหมู่ประชาชน แต่ข้อเท็จจริงเหล่านี้กำลังถูกเปิดเผยออกมาเป็นระยะๆ แม้แต่ชาวต่างชาติยังเห็นเลยว่ากฎหมายก่อการร้ายของไทยกว้างขวางมากเกินไป เท่ากับว่าการกระทำของรัฐบาลเป็นการสังหารประชาชนอย่างชัดเจน

เห็นทีรัฐจะเอาตัวไม่รอดเสียแล้ว!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 303 วันที่ 19 – 25  มีนาคม พ.ศ. 2554 หน้า 10 คอลัมน์ ทหารใหม่วันนี้ โดย ชายชาติ ชื่นประชา


เลือกปฏิบัติชัด

เลือกปฏิบัติชัด
คอลัมน์ เหล็กใน
credit to Sahanut Maneekul

เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลืองแปลงร่าง อ้างรักชาติ และอยากได้ปราสาทพระวิหาร นำโดยพล.ต.จำลอง ศรีเมือง ไปชุมนุมท้าทาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง อีกกลุ่ม นำโดยนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ และนายวีระ สมความคิด นำม็อบไปท้าทายศอฉ.ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล

การชุมนุมในวันดังกล่าวของกลุ่มพันธมิตร ลงเอยแบบไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายและไม่ถูกดำเนินคดี พิสูจน์ให้เห็นว่าม็อบมีเส้นของจริง

โดยเฉพาะการชุมนุมที่ดินแดงนั้น ได้รับเกียรติจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ถึงขนาดทิ้งการทิ้งงาน กลับจากหัวหินมาขึ้นเวทีด้วยตัวเอง นายอภิสิทธิ์ทำอะไร พูดอะไรในวันนั้น คนทั้งประเทศเห็นกันเต็มตา

การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร นอกจากจะไม่ถูกขัดขวางแล้ว ยังได้รับการดูแลจากรัฐบาลเป็นอย่างดี ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เหมือนสลับบทกันเล่นละคร

ล่าสุด ม็อบที่นำโดยนายไชยวัฒน์และนายวีระ ประมาณ 100 คน กลับมาปักหลักชุมนุมค้างคืนที่หน้าสภาท้าทาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีกครั้ง อ้างว่าไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง แต่เป็นการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ

ผิดกับการชุมนุมของนายสมบัติ บุญงามอนงค์ และนายนที สรวารี ที่ราชประสงค์

ต่างจากกรณีนักศึกษาและ นักเรียนชั้นม.5 ที่ จ.เชียงราย

ต่างกันโดยสิ้นเชิงกับการชุมนุมของ กลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ สั่งระดมสรรพกำลังทหาร ยุทโธปกรณ์ รถสายพานหุ้มเกราะ เพื่อขอคืนพื้นที่ ผลก็คือมีคนถูกยิงล้มตายไปกว่า 20 ศพ บาดเจ็บอีกเกือบพัน หนึ่งในจำนวนนี้ เป็นนักข่าวชาวต่างประเทศรวมอยู่ด้วย

คดีนี้พยานให้การยืนยันว่า เป็นการยิงมาจากแนวทหาร ต่างจากผู้ชุมนุมที่ราชประสงค์ ในวันที่ 19 พ.ค.ที่ถูกตัดน้ำ ตัดไฟ ตัดสัญญาณโทรศัพท์ รวมถึงถูกตัดเสบียงอาหาร อย่างไร้มนุษยธรรม

ก่อนจะส่งกำลังเข้าล้อมกระชับพื้นที่อย่างเหี้ยมโหด

มีผู้ถูกยิงตาย ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก อีกนับร้อยถูกจับ กุมด้วยจับมัดมือไพล่หลังเอาผ้าปิดตานำไปกักขัง พระสงฆ์องค์เจ้าก็ไม่เว้น แต่ที่สะเทือนใจอย่างยิ่งก็กรณียิงอย่างเลือดเย็น 6 ศพในวัดปทุมวนาราม เขตอภัยทาน ที่พยานและคลิปวิดีโอยืนยันว่าเป็นการยิงมาจากรางรถไฟฟ้าบีทีเอส

คดีเกี่ยวกับม็อบเสื้อแดงนั้น อัยการรับลูกจากกรมสอบสวนคดีพิเศษสั่งฟ้องแล้ว

นั่นคือแกนนำเสื้อแดง 19 คน เป็นผู้ก่อการร้าย ส่วนคนตาย 91 ศพนั้น เป็นการฆ่ากันเอง แต่คดีที่เกี่ยวพันธมิตร ยังเดินไปแบบช้าๆ ซึ่งไม่ใช่แค่สองมาตรฐานเท่านั้น

แต่เป็นเจตนาเลือกปฏิบัติชัดเจน


“อภิสิทธิ์”ยังอยู่ในตำแหน่งจะปรองดองอย่างไร?

“อภิสิทธิ์”ยังอยู่ในตำแหน่งจะปรองดองอย่างไร?

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 5  ฉบับ 266 วันที่ วันที่ 3 – 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553  หน้า 16
คอลัมน์ : ฟังจากปาก
โดย : ถนอมศรี จันทร์ทอง

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทยและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และยังเคยเป็นผู้พิพากษา จึงทำให้มีความเห็นหลากหลายต่อการปรองดองของรัฐบาลขณะนี้ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ และประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไรโดยที่รัฐบาลไม่ฆ่าประชาชนเหมือนที่ ผ่านมาอีก

การตั้งคณะกรรมการปฎิรูป

ในช่วงที่ผ่านมามองว่าประเทศไทยเกิดความแตกแยกทางความคิด เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ซึ่งรุนแรงมาก ในชีวิตผมยังไม่เคยเห็นขนาดนี้ เป็นความแตกแยกลงไปลึกมากและลงไปทุกหัวระแหง ไม่ว่าจะเป็นระดับองค์กรต่างๆ ชุมชน สังคม หรือแม้แต่ระดับครอบครัว ความแตกแยกตรงนี้ไม่ใช่ความแตกต่างกันธรรมดา มีความรู้สึกเป็นปรปักษ์ต่อกัน กรณีอย่างนี้สังคมยากจะสงบสันติได้

นอกจากนี้ยังมีการแบ่งฝ่ายเข้าไปถึงองค์กรต่างๆที่ใช้อำนาจรัฐ ซึ่งจะต้องทำหน้าที่อย่างเป็นกลางก็มีพวกพ้องเกิดขึ้นหลายมาตรฐาน พูดง่ายๆว่าสังคมอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง จะต้องแก้ไขเรื่องนี้ให้ลุล่วงโดยเร็วที่สุด

หากรัฐบาลอภิสิทธิ์ดำเนินการแก้ไขจะประสบความสำเร็จหรือเปล่า จุดแรกเริ่มเมื่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ดำเนินการแก้ไข ถามว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหาอย่างนี้ แน่นอนว่ารัฐบาลต้องเป็นส่วนสำคัญ หากรัฐบาลจะแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ ประการแรก รัฐบาลต้องมีความจริงใจมากๆ ไม่ใช่แก้ไขประโยชน์ของรัฐบาลเอง แต่ต้องแก้ไขโดยยึดถือประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก รัฐบาลต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจ

ถามว่าประชาชนส่วนใหญ่เชื่อหรือไม่ว่ารัฐบาลนี้มีความมุ่งมั่นตั้งใจ ผมยังคิดว่าคนส่วนใหญ่คงยากจะเชื่อ โดยเฉพาะจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สิ่งที่รัฐบาลทำในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ไม่ว่าจะเป็นการใช้กำลังทหารติดอาวุธสงครามกับประชาชน หรือพยายามกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ซึ่งร้ายแรงมาก การกระทำอย่างนั้นจะมาบอกว่าฉันต้องการให้เกิดความปรองดอง ดูแล้วจะให้คนเชื่อหรือศรัทธาคงยาก

ประการที่ 2 แม้รัฐบาลมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำให้สำเร็จ ก็ต้องได้รับการยอมรับและความร่วมมือจากประชาชน แต่สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ทำไปนั้น ผมคิดว่าคงไม่ได้ความร่วมมือเท่าที่ควร เพราะคนจำนวนมากรับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ตรงนี้เป็นส่วนที่ผมเป็นห่วงแทน ผลงานของคณะปฏิรูปชุดที่ตั้งขึ้นมานั้น รัฐบาลชุดนี้เต็มที่มีอายุอีกปีครึ่ง หากอยู่ครบวาระ 4 ปี ถามว่าการทำงานของท่านอานันท์ ปันยารชุน คือคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง และชุดของท่านอาจารย์ประเวศ วะสี ชุดคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย ใช้เวลาทำงานเท่าไร ใช้เวลา 3 ปี 3 ปีมันผ่านต่อไปอีกรัฐบาลหนึ่ง สิ่งที่ได้คงเป็นข้อเสนอของคณะกรรมการชุดนี้อาจจะมีคุณค่า แต่ต้องดูว่ารัฐบาลชุดต่อไปจะนำไปใช้ประโยชน์อะไรหรือไม่

ผมมองว่าความปรองดองนั้นจำเป็นต้องรีบทำ แต่ผลงานของคณะกรรมการอีก 3 ปี ไม่ช้าไปหน่อยหรือ ผมคิดว่าปัญหารุนแรงอย่างนี้หากรอคงจะสูญเสียโอกาสมากมาย เนื่องจากความร่วมมือและการยอมรับของประชาชนไม่มากเท่าที่ควร ผลงานที่ออกมาจะสามารถตอบโจทย์ตรงขนาดไหน

ฝ่ายการเมืองไม่แทรกแซงคณะกรรมการปฏิรูปเป็นไปได้หรือไม่

โดยปรกติการตั้งกลไกในการเลือกคนมีอยู่แล้ว แต่จะเป็นที่น่าเชื่อถือหรือไม่ ถ้ากลไกน่าเชื่อถือก็จะเป็นที่ยอมรับ สมมุติว่าผมมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เกิดขึ้น แล้วให้ผมเป็นคนตั้งกรรมการมาทำนั่นทำนี่ ถามว่าจะมีใครเชื่อล่ะ แม้ว่าคนที่ผมพยายามสรรหามาดูแล้วน่าจะใช้ได้ ถามว่าใครจะเชื่อถือศรัทธาร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องมีคนคิดว่าเลือกคนให้เข้ามาช่วย แม้คนที่เลือกจะหน้าตาดีอย่างไรก็ตาม นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปรกติของมนุษย์ที่จะต้องคิดอย่างนี้

โมเดลการปรองดองเป็นรูปธรรมควรเป็นอย่างไร

ผมมองว่าการปรองดองมีสาเหตุหลายอย่างที่ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมไทย สาเหตุเพราะความคิดเห็นแตกต่างกัน แล้วเอาคนที่มีความเห็นแตกต่างกันเข้าพัวพันกับการกระทำความผิด เป็นความผิดทางเทคนิคอะไรต่างๆจำนวนหลายแสนคน คนเหล่านี้ก็เหมือนมีชนักติดหลังอยู่ตลอดเวลา สามารถถูกคนขุดคุ้ยเอาเรื่องเมื่อไรก็ได้ เจาะจงเฉพาะคนนี้ก็ได้ ซึ่งจะเกิดความรู้สึกว่า นี่มาเจาะจงเอาฉันคนเดียว หรือเฉพาะสีฉัน ทำไมไม่เอาสีอื่น เมื่อมีคนเข้ามาเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดที่เกิดจากความเห็นแตกต่างกันมากมายขณะนี้ สังคมก็ยากจะกลับไปสู่ความสันติได้ถ้าไม่ปล่อยคนเหล่านี้ออกจากชนักที่ติดหลัง

ทำไมต้องเป็น นพ.ประเวศและนายอานันท์เกือบทุกครั้ง

ความจริงในเมืองไทยมีคนที่มีความสามารถต่างๆอีกมากมาย ไม่ได้จำกัดเพียงแค่สองสามคนเท่านั้น แต่ต้องยอมรับว่าจำนวนหนึ่งอาจไม่เป็นที่รู้จักของสังคมทั่วไป เพราะเขายังไม่มีโอกาสแสดงบทบาท หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งอาจมีเหตุผลที่ไม่เลือกก็ได้ ยอมรับว่าที่ผ่านมาเคยถามผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องสำคัญที่ต้องมีกลไกสอบข้อเท็จจริง ถามว่าใครจะมาเป็นประธานที่สังคมไทยไม่ต้องยอมรับร้อยเปอร์เซ็นต์ เอาแค่ 80 เปอร์เซ็นต์ก็พอ ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย คือคนนั้นต้องมีความเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใด สามารถทำหน้าที่ได้อย่างตรงไปตรงมา และต้องไม่หวั่นไหว ไม่ว่าคนที่พยายามเขย่าจะใหญ่มาจากไหนก็ตาม ผมว่าหาได้ไม่ง่ายนักในสังคมไทย

ทำไมนักวิชาการฝ่ายเสื้อแดงไม่เข้าร่วม

กรรมการบางชุด คนที่เป็นประธานอาจจะเห็นบางสิ่งที่ท่านแสดงออกมาว่าจุดยืนอยู่ตรงไหนหลัง เป็นประธานกรรมการแล้ว คนจะยิ่งเห็นว่าอาจไม่ได้มาทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง เพราะฉะนั้นทุกคนมีสิทธิจะเรียกร้องเพื่อให้เห็นความชัดเจนในเรื่องนี้

เหมือนความเป็นธรรมกับคนบางกลุ่ม

คือมี 2 มาตรฐาน แต่ 2 มาตรฐานที่ว่านั้น คนหนึ่งตอนนี้เหมือนพวกมีอภิสิทธิ์ แต่ไม่ได้หมายความว่าชนักเขาหลุดไป เหมือนสมัยหนึ่งเราเคยจัดการกับพวกก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ แต่ท้ายที่สุดเราก็บอกให้เขากลับเข้ามาเป็นพลเมืองของสังคม มาเริ่มต้นชีวิตใหม่ ปัจจุบันนี้หลายคนก็ประกอบการงาน เป็นนักธุรกิจ สร้างความเจริญและหารายได้ให้ประเทศจำนวนมาก หลายคนอยู่ในวงราชการ บางคนเป็นนักการเมือง มีตำแหน่งสำคัญๆเป็นรัฐมนตรี คนเหล่านี้คือคนซึ่งในอดีตเราเคยบอกว่าเป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์

ดังนั้น ผมไม่เห็นความแตกต่างกับกรณีขณะนี้ ถ้าเราไม่ให้เขาเริ่มต้นชีวิตใหม่แล้วบ้านเมืองจะสงบสุขได้อย่างไร บ้านเมืองเรามีกฎหมาย แต่กฎหมายก็ต้องมีเหตุผล ไม่ใช่กฎหมายที่ออกมาโดยไม่เป็นธรรมและนำไปใช้จนทำให้คนอื่นเดือดร้อน เมื่อออกกฎหมายแล้วต้องใช้บังคับอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม ให้ทุกคนรู้ว่าที่ผ่านมาให้มันแล้วกันไป เว้นแต่ความผิดที่ร้ายแรงมากก็ดำเนินการเฉพาะเจาะจง แต่กรณีคนทั่วไปที่ไปร่วมชุมนุมไม่ว่าจะสีใดก็ตามต้องทำให้เขารู้สึกว่าเขาบริสุทธิ์ สามารถทำอะไรได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งสามารถทำได้โดยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมจะทำให้เรามาเริ่มกันใหม่ได้ หากไม่เริ่มกันใหม่คงทะเลาะกันไปเรื่อยๆไม่มีจบ ถามว่าเราทะเลาะกันอยู่อย่างนี้ประเทศจะเดินไปได้อย่างไร

ทำอย่างไรให้การปรองดองเกิดขึ้นจริง

รัฐบาลมีบทบาทและมีส่วนสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้ ถามว่าคนที่ประสบกับเหตุการณ์ตอนสลายการชุมนุมนั้น คุณอภิสิทธิ์จะไม่รับผิดชอบอะไรเลยหรือ ถ้าคุณอภิสิทธิ์แสดงความรับผิดชอบแล้วให้สภาหาคนมาทำหน้าที่แทน ผมเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นใครหรือพรรคไหนก็ตามต้องได้รับความร่วมมือเมื่อมีการผลักดันกระบวนการปรองดอง ดีกว่าคุณอภิสิทธิ์ยังอยู่ในตำแหน่งแล้วมาผลักดัน

ประชาธิปไตยของไทยถึงทางตันหรือไม่

ประชาธิปไตยจริงๆไม่ตัน มันมีกลไกที่จะแก้ปัญหาของเองได้ สุดท้ายต้องถามประชาชน ให้ประชาชนตัดสินว่าจะไปทางไหน ไม่ใช่ถามคนอื่นที่ไม่ใช่ประชาชน ตรงนั้นจะยิ่งสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น สุดท้ายก็กลับมาที่การยึดอำนาจจะยิ่งสร้างปัญหา

ปัญหาที่บางฝ่ายไม่ยอมรับเสียงส่วนใหญ่จากการเลือกตั้ง

กรณีเสียงส่วนใหญ่ถูกละเลยและถูกปฏิเสธมีการใช้กลไกต่างๆที่ไม่ใช่กลไก ทางการเมือง กลไกขององค์กรอิสระหรือระบบตุลาการเข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่ยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นการทำลายสถาบันหลายสถาบัน อย่างสถาบันตุลาการเดิมเคยใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งได้ แต่พอสถาบันเหล่านั้นเข้าไปทำหน้าที่อย่างที่ไม่เคยทำมาก็ทำให้เกิดความขัดแย้ง

ดังนั้น ประเทศไทยต้องกลับมาสร้างกระบวนการต่างๆในกระบวนการยุติธรรมให้ทำหน้าที่ อย่างที่ควรจะเป็นตามระบบสากล เพื่อดึงความเชื่อมั่นกลับคืนมาให้ได้ เพราะการปรองดองจะต้องแก้ไขหลายๆจุดพร้อมๆกัน แต่กลไกสำคัญคือรัฐบาล แต่ไม่ใช่รัฐบาลนี้ รัฐบาลที่ผมคิดว่าจะทำหน้าที่นี้ได้ดีที่สุดคือรัฐบาลที่ประชาชนเลือกจากการเลือกตั้งใหม่ ดังนั้นต้องมีการเลือกตั้งใหม่โดยเร็วที่สุด ยิ่งเร็วยิ่งเป็นประโยชน์ เป็นรัฐบาลได้รับฉันทานุมัติจากประชาชน

คิดว่าการปรองดองจะสำเร็จหรือไม่

ผมคิดว่าเกิดขึ้นได้ แต่จะบาดเจ็บล้มตายอีกเท่าไรล่ะ เหมือนบางประเทศที่ต่อสู้กันมายาวนานจนทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก สุดท้ายก็ต้องสงบศึก สังคมไทยหรือสังคมใดก็ตามต่อสู้กัน เพราะมีคน 2 ฝ่ายนั้นไม่ใช่จำนวนน้อยๆ จึงไม่มีทางจะขจัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปได้ ความขัดแย้งก็จะมีต่อไป จนกระทั่งถึงจุดๆหนึ่งที่จะเรียนรู้ว่าหากยังเป็นอย่างนี้ก็ป่วยการ ท้ายที่สุดจะต้องมาเจรจากัน กระบวนการปรองดองจึงเป็นเรื่องที่ดี หากเป็นการยอมรับและรับฟังความเห็นกันอย่างถ้วนหน้า

มองนายอภิสิทธิ์ในตำแหน่งนายกฯอย่างไร

คุณอภิสิทธิ์เข้าใจดีว่าที่ผ่านมาตัวเองเข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายบริหารนั้น พูดออกมาเองว่าถ้าเลือกได้คงไม่มาทำอย่างนี้ในสถานการณ์อย่างนี้ คงรู้ดีอยู่เต็มอกว่าการเข้ามาสู่ตำแหน่งที่ไม่ได้เป็นไปตามรูปแบบประชาธิปไตยปรกติ ซึ่งที่ผ่านมาผมยังแปลกใจกับการกระชับพื้นที่เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ทั้งที่วันที่ 18 พฤษภาคม ส.ว. พยายามหาทางยุติและหาทางลงโดยการเจรจาแล้ว แม้แต่วันที่ 19 พฤษภาคมยังมีคนพยายามเจรจา ซึ่งทางแกนนำ นปช. ก็ประกาศยุติการชุมนุมแล้วเข้ามอบตัว แสดงว่ามีการเจรจากันอยู่ แต่ผมแปลกใจว่าวันที่ 19 พฤษภาคมนั้นทำไมยังให้ทหารบุกเข้ามายิง ทำให้มีคนตายจำนวนมาก

ถามว่าตอนนั้นถ้าให้เวลาคุยกันอีกวันสองวันผมว่าไม่เห็นจะเสียหายอะไร ผมมองว่าในฐานะผู้นำที่มีวิจารณญาณที่ดีไม่น่าจะทำอย่างนั้น

ต่อไปจะเป็นบรรทัดฐานผู้นำไม่แสดงความรับผิดชอบหรือไม่

ผมลองเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ตอนที่พันธมิตรฯไปหน้าสภาเมื่อเดือนตุลาคม 2551 และ ป.ป.ช. ชี้มูลว่านายกฯขณะนั้นกับ ผบ.ตร. มีความผิด เนื่องจากให้มีการยิงแก๊สน้ำตาอะไรทำนองนั้น ถ้าใช้มาตรฐานเดียวกัน ถามว่ากรณีรัฐบาลสลายการชุมนุมเมื่อเดือนเมษายน จนมีคนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากนั้น ป.ป.ช. จะชี้มูลความผิดอย่างไร เป็นมาตรฐานเดียวกันกับรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์หรือไม่ ถ้าผิดก็หนักกว่าเยอะเลยถ้าใช้มาตรฐานอย่างเดียวกัน เพราะไม่มีรัฐบาลใดในอนาคตจะเอาปืนเอ็ม 16 พร้อมกระสุนจริงให้ทหารมายิงประชาชน

ส่วนจะกลายเป็นบรรทัดฐานให้นายกฯคนต่อไปปฏิบัติอย่างคุณอภิสิทธิ์หรือไม่นั้น เนื่องจากรัฐบาลสมชายและรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ก็ทำอย่างนี้จะมีอีกมาตรฐานหนึ่งเกิดขึ้น คิดว่าสังคมคงไม่เพิกเฉย เพราะส่วนหนึ่งเขารู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่วันนี้เขาถูก พ.ร.ก.ฉุกเฉินกดไว้

นอกจากนี้ยังมีการให้ข้อมูลบิดเบือน ให้ข้อมูลด้านเดียวต่อประชาชน สื่อมวลชนจำนวนมากที่เป็นสื่อของรัฐคิดว่ามีผู้ก่อการร้าย และคนที่ตายก็ถูกผู้ก่อการร้ายยิง ถ้าเป็นอย่างนั้นใครเขาจะบอกว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบล่ะ แต่จะบอกว่าทำไมไม่จับผู้ก่อการร้ายมาลงโทษให้ได้

ทีนี้ข้อมูลที่ประชาชนได้รับนั้นเขาก็เชื่อจากสื่อ ทั้งคนถูกยิง ภาพที่ออกมา หรือวิดีโอ เห็นชัดๆขณะถูกยิงล้มลง ถามว่าคนเหล่านั้นมีมือเปล่าทั้งหมดใช่หรือไม่ ที่เห็นภาพเด็กผู้หญิงล้มลง เรายังไม่เห็นคนที่ถูกยิงมีอาวุธอะไร โดยเฉพาะอาวุธร้ายแรงไม่เห็นเลย เห็นแต่คนมือเปล่าถูกยิง ผมก็ไปเยี่ยมมาหลายคน เขาเล่าให้ฟังว่าหลายคนเป็นป่อเต๊กตึ๊งช่วยคนที่ถูกยิง บางคนบ้านอยู่บ่อนไก่ออกมาก็ถูกยิง นักข่าวที่อยู่แถวนั้นบอกว่าเจ้าหน้าที่รัฐคือทหารเป็นคนยิง นี่คือข้อเท็จจริง

เสื้อแดงจะกลับขึ้นมาเหมือนเดิมหรือไม่

การเรียกร้องประชาธิปไตยซึ่งเป็นการเรียกร้องที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมหรือตามกระแสโลก แม้จะถูกกดไว้กระแสนี้ก็จะไม่หายไปไหน แต่จะยิ่งทำให้เขาเห็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าเขาต้องกลับมาเรียกร้องในสิ่งที่ถูกต้องให้แก่ประเทศให้แก่ตัวเขา ให้แก่คนไทยที่เหลือ และชนรุ่นหลัง

คิดว่าผู้มีอำนาจรัฐบาลนี้จะฟังเสียงคนเสื้อแดงหรือไม่

ไม่ได้หวัง เพราะถ้าฟังเขาคงจะฟังนานแล้ว และคงไม่เกิดการบาดเจ็บล้มตายเหมือนเดือนพฤษภาคม

การตั้งมูลนิธิ 111 มีวัตถุประสงค์อะไร

การตั้งมูลนิธิไม่ใช่เพื่อต้องการปูทางทางการเมือง ตอนตั้งพวกที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองมีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถที่จะทำประโยชน์ให้สังคม นอกจากจะลงสมัครรับเลือกตั้งและรับตำแหน่งทางการเมือง ตอนแรกผมรับเป็นประธาน ตอนหลังมีชุด 109 ผมเห็นว่าควรรวบรวมบุคคลจากส่วนนี้ด้วยเพื่อให้การดำเนินงานเดินต่อไปได้ ผมก็ลาออกจากประธานมูลนิธิ ตอนหลังเป็นนายกฯสมชาย วงค์สวัสดิ์

สำหรับทุนที่ใช้ทางมูลนิธิช่วยกันออก นอกจากนี้ยังมีผู้มีจิตศรัทธาช่วยด้วย และมีการจัดกิจกรรมหาทุน เช่น จัดการแข่งขันกอล์ฟก็ไม่ได้ใช้เงินอะไรมากมาย ต้องใช้อย่างประหยัดที่สุด มีการจัดอบรมนักประชาธิปไตยหลายรุ่น ทำให้ได้คนที่เข้าใจหลักการประชาธิปไตย เข้าใจระบบของประเทศและการบริหารจัดการประเทศว่าเป็นอย่างไร และเป็นผู้มีศักยภาพที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในอนาคต


ธาตุแท้ “อภิสิทธิ์-ชนชั้นสูง” ปัญหาประชาธิปไตยไทย!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 5 ฉบับ 265 วันที่ 26 มิถุนายน-2 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 หน้า 7
คอลัมน์ : ทหารใหม่วันนี้ โดย ชายชาติ ชื่นประชา

สังคมไทยในวันนี้มีความแตกแยกอย่างชัดเจน อันมีพื้นฐานมาจากปัญหาความแตกต่างในเชิงการถือครองอำนาจด้านเศรษฐกิจ ที่คนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในฐานะยากจน ส่วนในทางการเมืองนั้น ตรรกะเชิงโครงสร้างอำนาจก็เห็นชัดเจนแล้วว่าฝ่ายที่ยึดกุมเศรษฐกิจได้ยึด ครองอำนาจทางการเมืองมายาวนาน แต่ต่อมาเกิดข้อขัดแย้งระหว่างทุนใหม่กับทุนเก่าที่ไปร่วมมือกับกลุ่มอีลิต แล้วขับไล่ทุนใหม่

ปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้จะเป็นเรื่องปรกติและธรรมดาหากฝ่ายที่ได้เปรียบถือครอง อำนาจรัฐอยู่ ไม่เลยเถิดลงไปใช้กำลังทางทหารปราบปรามประชาชนกลุ่มคนยากจนที่เรียกร้องทางการเมืองโดยบริสุทธิ์

รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะผู้ชนะในยุทธวิธีการปราบปรามประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร กำลังลิงโลดใจกับชัยชนะระยะสั้น แต่ไม่เคยมีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาอย่างตรงไปตรงมา ในทางตรงข้ามกลับยิ่งใช้มาตรการทางกฎหมายและเครื่องมือของรัฐ กดดันและปราบปรามประชาชนอย่างต่อเนื่องหลายมิติ เช่น ยังคงอำนาจพิเศษของ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างต่อเนื่อง โดยไม่คิดถึงผลกระทบว่าเป็นเหตุที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่เดินทางมา เมืองไทยในช่วงเวลานี้ เพราะบริษัทประกันต่างๆจะไม่รับผิดชอบรับประกันใดๆ ที่เกิดขึ้นหากนักท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน

สื่อของคนเสื้อแดงหรือที่ออกอากาศอย่างเป็นกลางก็ยังคงถูกปิดกั้นต่อไป ตรงกันข้ามกับสื่อของรัฐได้รับอนุญาตให้โฆษณาชวนเชื่อเพื่อหวังทำลายกลุ่มคนเสื้อแดงอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดกลไกกฎหมายหลายระดับก็ยังติดตามตรวจสอบขึ้นบัญชีการทำธุรกรรมทาง การเงินของนิติบุคคลและบุคคลต่างๆ 83 ราย เพื่อเรียกมาสอบสวนกรณีเงินหรือทำธุรกรรมต่างๆว่าอาจมีความเกี่ยวข้องกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงอย่างไร

แต่เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่เคยเกิดกับคนเสื้อเหลือง ขณะที่รัฐบาลประกาศหรือเรียกร้องหาความสมานฉันท์ ซึ่งในทางปฏิบัติก็เหมือนการใช้ความได้เปรียบที่มีเหนือกว่าคู่กรณีหรือฝ่าย ตรงข้ามที่มีความขัดแย้ง แล้วรัฐบาลแสร้งออกมาแสดงท่าทีเรียกร้องหาความสมานฉันท์

อีกกรณีหนึ่งการที่รัฐบาลพยายามตั้งบุคคลต่างๆขึ้นเป็นคณะกรรมการเพื่อสร้างความปรองดองและความสมานฉันท์ทั้งที่มีปัญหาทั้งด้านแนวความคิดและตัวบุคคล ตั้งแต่เริ่มต้น เช่นกรรมการปฏิรูปประเทศไทยชุดที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานร่วมกับนายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ก็มีเรื่องพฤติกรรมของตัวบุคคลที่ผ่านมา ตลอดจนถึงวิธีคิดและลงไปถึงจิตสำนึก

นายอานันท์ก็รู้กันดีว่ามีความถนัดที่จะเข้ามีอำนาจทางการเมืองโดยไม่ผ่านการเลือกตั้งอย่างไร เช่น เป็นนายกรัฐมนตรีให้กับคณะรัฐประหารปี 2535 ซึ่งถ้ามองเพียงแค่นี้ยังอาจมีคนกังขา เพราะการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีของนายอานันท์ได้สร้างความยอมรับให้เกิดขึ้นในสังคมระดับหนึ่ง แต่หากย้อนไปในอดีต คนที่จดจำการเมืองไทยได้ดี จะต้องรู้ว่าตัวตนของนายอานันท์ที่แท้จริงเป็นผู้มีความถนัดกับการได้รับประโยชน์ของผู้มีอำนาจพิเศษจริงๆ

เดิมทีนายอานันท์ได้รับการสนับสนุนให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วจนถึงขั้นเป็นระดับปลัดกระทรวงการต่างประเทศในวัยหนุ่ม เพราะอดีตนั้นตอนเป็นเจ้าหน้าที่ทูตระดับเด็ก (อาจจะเป็นชั้นตรีหรือโท) ได้มาทำหน้าที่เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของนายถนัด คอมันตร์ ซึ่งยุคนั้นเป็นยุคเผด็จการทหารสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ข้าราชการคนใดที่มีโอกาสมาทำหน้าที่การเมืองได้ก็จะทำให้ได้รับการเลื่อนขั้นแบบก้าวกระโดดหน้าตาเฉย

คนอย่างนายอานันท์นี่แหละที่เป็นคนมักได้ประโยชน์และทำงานให้กับพวกคณะรัฐประหาร ที่สำคัญวิธีคิดและจิตสำนึกของนายอานันท์มักจะมองการเมืองและให้ทรรศนะเหมือนว่าตนเองเป็นชนชั้นสูง ส่วนการเมืองโดยเฉพาะการเลือกตั้งนั้นสกปรก

นายอานันท์จึงไม่นิยมเข้าสู่วงการการเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตยหรือตามระบอบการเลือกตั้ง ทรรศนะอย่างนี้ที่จริงแล้วโดยส่วนตัวจึงไม่สมควรจะวิจารณ์การเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งไม่ได้ผิดอะไร แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าจะหาวิธีแก้ไขปัญหาการเมืองของไทยให้ถูกต้องตรงประเด็นอย่างไร

ทำไปทำมาแล้วพวกชนชั้นสูงของรัฐไทยมักจะมองปรากฏการณ์แต่ปัญหาด้านการเมือง ซึ่งพอวิเคราะห์จริงๆแล้วก็มักจะคิดว่าปัญหาทางการเมืองน่าจะมีรากฐานด้านพฤติกรรมของตัวบุคคลในด้านจิตสำนึก ความบริสุทธิ์สะอาด ไม่คดโกง และต้องมีการศึกษาที่ดี มีชาติตระกูลดี เพราะคนชั้นสูงเหล่านี้เชื่อว่ากลุ่มพวกเหล่านี้นี่แหละเป็นทางเลือกของการเมืองไทย เพราะคนรวยแล้วไม่น่าจะเป็นคนโกง ขณะเดียวกันก็มักจะรังเกียจการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในลักษณะก่อความวุ่นวาย (เช่นการเรียกร้องของพวกเสื้อแดง)

ชนชั้นสูงเหล่านี้มองไม่เห็นปัญหาความขัดแย้งของสังคมอันมีผลพวงจากปัญหาระดับโครงสร้างอำนาจที่ว่า อำนาจเศรษฐกิจและการเมืองมีอิทธิพลส่งผลซึ่งกันและกัน เพราะโดยแท้จริงแล้วการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจไว้ได้ก็ทำให้ได้อำนาจการเมืองไปครอง

การแก้ไขที่ถูกต้องจึงต้องแก้ที่โครงสร้างอำนาจให้กระจายตัวมากกว่าการแก้ไขที่ตัวบุคคล หรือมัวไล่ล่าสังหาร พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นอัตบุคคล

คนอย่างหมอประเวศก็มีลักษณะวิธีคิดที่สับสนเหมือนชนชั้นสูง หมอประเวศให้ความเห็นในการทำหน้าที่ของท่านเพื่อแก้ปัญหาปัจจุบันว่า ต้องเพิ่มอำนาจให้คนรากหญ้า ซึ่งเป็นประโยคทองของท่าน และเป็นการพูดที่ซ้ำซากน่าเบื่อหน่าย เพราะเรื่องที่ว่าต้องเพิ่มอำนาจให้คนรากหญ้า พูดอีกก็ถูกอีก แต่หากมองลึกกรณีเฉพาะอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ถนนราชดำเนินและสี่แยกราชประสงค์นั้น คนรากหญ้าไม่ได้ขออำนาจเพิ่ม เพียงแต่พวกเขามาขอให้กลุ่มอีลิตที่สนับสนุนรัฐบาลอยู่ให้ช่วยคืนอำนาจการตัดสินใจกลับคืนให้กับประชาชน โดยรัฐบาลลาออกและเปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่เท่านั้น

คนรากหญ้าไม่ต้องการเพิ่มอำนาจให้ตนเอง พวกเขาขอเพียงให้รัฐไทยอยู่ในกรอบในการใช้ธรรมรัฐให้มีความยุติธรรม ไม่ 2 มาตรฐานเท่านั้น

วันนี้กลุ่มคนเสื้อแดงถูกตั้งข้อหาเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้ายในขณะที่คนเสื้อเหลืองไม่โดนข้อหารุนแรงอะไร แม้แต่คดียึดสนามบินที่ในความเป็นจริงแล้วถือเป็นการกระทำการก่อการร้ายสากลเพราะไปยึดอากาศยานและควบคุมชาวต่างชาติเอาไว้ด้วย แต่กลับได้รับการปฏิบัติแบบเลือกปฏิบัติ ทั้งหมดนี้หมอประเวศมีสติปัญญาที่จะคิดถึงบ้างหรือไม่

แค่ตัวอย่างการแต่งตั้งคน 2 คนเพื่อจะเข้ามาสร้างความปรองดองและสมานฉันท์หรือเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ ก็รู้ได้เลยว่าประเทศนี้ต้องมีปัญหาต่อไปอีก เพราะคนที่ได้รับการแต่งตั้งก็มีปัญหาในตัวเองตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว

ส่วนรัฐบาลก็เอาตัวรอดและเริ่มส่อแววทำชั่วเหมือนทุนสามานย์ (ที่เขากล่าวหา) เช่นกรณีวาทกรรมซื้อคืนดาวเทียมไทยคม แต่ท้ายที่สุดเมื่อถูกวิจารณ์อย่างฉาวโฉ่ว่าเป็นลักษณะอินไซด์ปั่นหุ้น หรือมีผลประโยชน์แฝงเหมือนทุนสามานย์นั้น สมมุติว่ามีการปั่นหุ้นจริงจะสามานย์เหมือนพวกทุนสามานย์หรือไม่?