วิกฤตการเมืองไทยกับบทบาทของกองทัพ

วิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้มีความยุ่งยากมาก ประการหนึ่ง เพราะปฏิกิริยาของฝ่ายอนุรักษนิยม หรือกลุ่มผู้ต้องการรักษาระเบียบสังคมและการเมืองแบบเดิม สามารถอิงสัญลักษณ์อำนาจจากสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีอำนาจด้านกายภาพจากกองทัพ บวกแรงสนับสนุนจากบางส่วนของสังคมและชนชั้นกลางเมืองเป็นตัวหนุนช่วย

ยุทธศาสตร์หนึ่งที่ฝ่ายอนุรักษนิยมใช้ คือ ทำให้ขบวนการทางการเมืองของฝ่ายตรงกันข้าม ที่ต้องการระเบียบใหม่ ไร้ความชอบธรรม เช่น สร้างวาทกรรมว่า ไร้การศึกษา คิดเองไม่เป็น ถูกชักจูงหรือถูกซื้อได้ง่ายๆ

แต่มีงานวิจัยเชิงประจักษ์หลายชิ้น เช่น จากกลุ่มอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จุฬาฯ ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ที่ญี่ปุ่น และที่สหรัฐอเมริกา ที่ชี้ให้เห็นว่าประชาชนต่างจังหวัด และที่อพยพมาทำงานในเมือง มีความตื่นรู้ทางการเมืองที่เป็นระบบ ความตื่นรู้นี้ได้บังเกิดและสะสมมาเป็นเวลานานแล้ว โดยเฉพาะนับตั้งแต่หลัง 14 ตุลา 2516 พวกเขาสามารถคิดเอง ทำเองได้ หาทางเข้าถึงข่าวสารข้อมูลต่างๆ หลายรูปแบบด้วยตัวเองด้วย ดังนั้น พวกเขาจึงรู้เรื่องเมืองไทย และรายละเอียดเกี่ยวกับชนชั้นกลางในเมือง มากกว่าที่ชนชั้นกลางในเมืองจะรู้เกี่ยวกับพวกเขาเสียอีก ประชาชนที่ตื่นรู้เหล่านี้ ต้องการเปลี่ยนระเบียบสังคมและการเมืองเสียใหม่ ให้เป็นประชาธิปไตย และให้พวกเขาได้รับการยอมรับอย่างมีศักดิ์ศรีในฐานะเป็นพลเมืองไทยที่ทัด เทียมกับชนชั้นกลางในเมือง

นักวิชาการชาวญี่ปุ่นรายหนึ่ง หลังจากศึกษาประวัติศาสตร์และสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน จึงมีข้อสรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ความยุ่งเหยิงทางการเมืองปัจจุบัน เป็นขั้นตอนหนึ่งของพัฒนาการประชาธิปไตยของสังคมไทย ประเทศไทยกำลังประสบกับความเจ็บปวดของการเกิดใหม่ เมื่อระบบการเมืองของไทยพร้อมที่จะก้าวขั้นต่อไปข้างหน้า”

แต่เมืองไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้ลำบาก ถ้าไม่มีการยอมรับว่าสังคมเปลี่ยนไปแล้ว และสถาบันต่างๆ ต้องปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงด้วย

สถาบันหนึ่งที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และยังมีบทบาททำให้การก้าวไปข้างหน้า หยุดชะงักได้ด้วยการทำรัฐประหาร การใช้ความรุนแรง และการต่อต้านหลายรูปแบบ ก็คือ สถาบันกองทัพ

นับจากรัฐประหาร 2549 ห้าปีผ่านมานี้แล้ว กองทัพไทยได้ขยายบทบาทในสังคมมากขึ้นมาก จนกล่าวกันหนาหูว่า ถ้ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากกองทัพจะอยู่ไม่ได้

แต่กระนั้น ก็ไม่มีใครถกเถียง หรือตั้งคำถามว่า การที่ทหารมีบทบาทสูงขึ้นดีหรือไม่ดี ? มีผลพวงต่อพัฒนาการของสังคมและการเมืองอย่างไร? และแนวโน้มในอนาคตคืออะไร ?

ที่ว่ากองทัพมีบทบาทสูงขึ้นและขยายขอบเขตนั้น มีอะไรเป็นรูปธรรม ?

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนประการหนึ่ง คือ งบประมาณกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ระหว่างปี 2550 ถึงปี 2552

หากเปรียบเทียบระหว่างประเทศต่างๆ โดยดูสัดส่วนของงบทหารเป็นร้อยละของ GDP สหรัฐในฐานะพี่ใหญ่ของโลก สูงถึงร้อยละ 4 ไทยก็สูงคือร้อยละ 1.8 เทียบเคียงได้กับจีนที่ร้อยละ 2.0 มากกว่าเยอรมนีพี่ใหญ่ของ EU ที่เพียงร้อยละ 1.3 อินโดนีเซียที่ร้อยละ 1.0 และญี่ปุ่นที่เพียงร้อยละ 0.9

หากดูอัตราส่วนของจำนวนทหาร 1 คน ต่อประชากร 1,000 คน (ตัวเลขรวมทหารนอกประจำการและกลุ่มไม่เป็นทางการที่เรียกว่า militia) ของสหรัฐ คือ ทหาร 7.9 คนต่อประชากร 1,000 คน สหราชอาณาจักร 6 คน เยอรมนี 5 คน อินโดนีเซีย 4.1 คน ญี่ปุ่น 2.2 คน

แต่ของไทย ทหาร 10 คน ต่อประชากร 1,000 คน นับว่าสูงมาก จำเป็นอะไรหนักหนาที่จะต้องมีอัตราส่วนทหารถึง 10 คน ต่อประชากร 1,000 คน ?

ประการต่อมา มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญหลังปี 2549 เรื่องกระบวนการโยกย้ายภายในเหล่ากองทัพ ก่อนปี 2549 โผทหารจะถูกพิจารณาโดยนายกรัฐมนตรีก่อนเสนอให้ทรงลงพระปรมาภิไธย นับจากปี 2551 พ.ร.บ. กระทรวงกลาโหมมีการแก้ไข ทำให้โผทหารประจำปี อยู่ในกำกับของกองทัพอย่างสิ้นเชิง บทบาทของนายกฯกระทำผ่าน รมต.กลาโหม ซึ่งถ้า รมต.กลาโหมมาจากฝ่ายทหาร (เช่น อดีตนายพล) หมายความว่าการแต่งตั้งโยกย้ายประจำปี รวมทั้งการแต่งตั้ง ผบทบ. เหล่าทัพต่างๆ จะเป็นเรื่องภายในของกองทัพทั้งสิ้น โดยเป็นเอกเทศจากรัฐบาลพลเรือนอย่างแท้จริง

อดีตนายพลท่านหนึ่งอธิบายว่า นายกฯจะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้สนองพระบรมราชโองการเท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยสวนทางกับแนวโน้มของประเทศประชาธิปไตยพัฒนา แล้วอย่างสิ้นเชิง ที่รัฐบาลจะเป็นผู้กำกับโผทหาร

ประการต่อมา ในประเทศประชาธิปไตยทั่วไป บทบาทของผู้นำฝ่ายทหารมีจำกัด แต่ของไทยผู้นำฝ่ายทหารมีบทบาทสูง และใส่หมวกหลายใบ

มีรายงานในหน้าหนังสือพิมพ์ตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วง 4-5 อาทิตย์ที่ผ่านมา ผบ.ทบ. แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อบ่อยมากในหลายเรื่อง (The Nation, April 24, 2011) เช่น เสนอความเห็นว่ารัฐบาลควรมีนโยบายต่างประเทศเกี่ยวกับกัมพูชา ไปทางไหน

ให้คำแนะนำแก่ผู้ออกเสียงเลือกตั้งว่า เลือกตั้งเพื่อปกป้องพระมหากษัตริย์ และออกมาเลือกตั้งมากๆ จะช่วยปกป้องพระมหากษัตริย์และประชาธิปไตย

ออกคำสั่งให้มีการปิดเว็บไซต์เพิ่มขึ้นด้วยเหตุผลทางการเมือง รวมทั้งให้ทหารในสังกัดแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

เมื่อวันที่ 16 พ.ค. นี้เอง ผบ.ทบ.ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอ.รมน. เสนอให้ยกระดับ กอ.รมน. เป็นทบวงด้านความมั่นคงภายในเหมือนกับ Homeland security department ที่สหรัฐ ที่ตั้งขึ้นมาหลังเหตุการณ์ 9/11 เพื่อต่อต้านการก่อการร้าย (Bangkok Post, May 16, 2011) ซึ่งเมื่อดำเนินการไปในขณะนี้กำลังถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าใช้งบฯมากเกินความ จำเป็น ในการแสวงหาข้อมูล หรือดำเนินการเพื่อป้องกันการก่อการร้าย ได้ใช้วิธีการขัดกับหลักการปกป้องเสรีภาพส่วนบุคคลในรัฐธรรมนูญ แม้กระทั่ง อาจเปิดจดหมายของใครก็ได้ ด้วยเหตุผลของความมั่นคง

ในรายงานกล่าวว่า ผบ.ทบ.ไทยต้องการขยายขอบข่ายงานของ กอ.รมน.ทั้งบุคลากร และงบประมาณด้วย เพื่อจัดการกับการที่ประเทศถูกคุกคามแบบใหม่ๆ และทบวงนี้จะดูแลปัญหาด้านภัยพิบัติจากธรรมชาติ ปัญหาภาคใต้ และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

ผบ.ทบ.ได้เสนอความคิดเห็นนี้กับอดีตนายกฯ (อภิสิทธิ์) แล้ว และอดีตนายกฯก็แสดงความเห็นชอบ

ผบ.ทบ.จึงสั่งการให้มีคณะทำงานเพื่อศึกษาวางแผน และเตรียมเสนอโครงการนี้กับรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง

ทำไมจึงจะต้องขยาย กอ.รมน. รวมทั้งบุคลากร และงบประมาณ ถึงขนาดจะตั้งเป็นทบวงใหม่ ซึ่งขณะนี้งบฯทหารเองก็มากเกินความจำเป็นแล้ว ประชาชนผู้เสียภาษีควรจะมีบทบาทรับรู้และอภิปรายเรื่องนี้ จะมาตกลงกันระหว่าง ผบ.ทบ. และอดีตนายกฯแบบนี้ใช้ได้หรือ ?

เป็นที่ชัดเจนว่าทหารเป็นองค์ประกอบของผู้รักษาระเบียบเก่า ได้ประโยชน์จากระเบียบเก่า อีกทั้งยังเป็นองค์ประกอบของความยุ่งยากในการแสวงหาทางออกให้กับความขัดแย้ง ทางการเมืองโดยสันติวิธี

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมไทยจะต้องมีการอภิปรายกันถึงการขยายบทบาทของ ทหารในสังคมไทยว่าดีหรือไม่ดี ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างไร ? อำนาจของ ผบ.ทบ. ที่ดูเหมือนล้นฟ้าขณะนี้ควรถูกจำกัดให้อยู่ระดับใด?

ที่มา : มติชนออนไลน์ 1 มิถุนายน 2554
โดย : ผาสุก พงษ์ไพจิตร


ปลดใครกันแน่

แม้ไม่ตรงเป้านัก แต่ข้อเรียกร้องของ ส.ส.ประชาธิปัตย์จากสามจังหวัดภาคใต้ต่อปฏิบัติการทางทหารของกองทัพ (จนถึงกับให้ปลด ผบ.ทบ.) ก็เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ที่ ส.ส.เห็นเป็นหน้าที่ของตน ในการตรวจสอบและเสนอแนะปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่นี้…ต่อสาธารณชน

ส.ส. อาจเคยทำเช่นนี้มาแล้วเป็นการภายใน เช่นเจรจากับหัวหน้าพรรคในฐานะนายกรัฐมนตรี แต่ ส.ส.ในฐานะบุคคลจะมีพลังได้สักเท่าไร หากไม่มีสาธารณชนหนุนหลัง ดังนั้นไม่ว่าข้อเสนอของ ส.ส.จะเป็นอย่างไร นโยบายของรัฐในการจัดการกับความไม่สงบในภาคใต้จึงเหมือนเดิมตลอดมา กล่าวคือ ยกเรื่องทั้งหมดให้กองทัพเป็นผู้จัดการแต่ผู้เดียว

ปัญหาในสามจังหวัดภาคใต้ไม่ใช่ปัญหาทางทหาร แม้ว่าจำเป็นต้องใช้กำลังทหารจัดการในบางมิติของปัญหา แต่ทหารไม่มีทั้งความชำนาญหรือความสามารถจะจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้

ปัญหาหลักของภาคใต้คือการแข็งข้อต่ออำนาจรัฐของประชาชนส่วนหนึ่ง โดยใช้วิธีการทางทหารในการต่อสู้กับรัฐ ก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมาก

ในท่าม กลางความวุ่นวายของสถานการณ์ ปัญหาที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ก็เข้าผสมโรง โดยใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือมากขึ้น เช่น ปัญหายาเสพติด, การค้าของเถื่อน และการแย่งชิงทรัพยากร ทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐเอง ทั้งนี้เพราะอำนาจรัฐอ่อนแอลง และเพราะความระแวงระหว่างต่อกันย่อมมีสูงในทุกฝ่าย

แต่การแข็งข้อต่อ อำนาจรัฐนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะมีคนหัวรุนแรงกลุ่มหนึ่งก่อความไม่สงบขึ้น แต่เป็นเพราะมีเงื่อนไขอีกหลายอย่าง ทั้งทางวัฒนธรรม, การเมือง, เศรษฐกิจ และการปกครองที่ทำให้คนกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จ ตราบเท่าที่ไม่จัดการกับเงื่อนไขดังกล่าว ถึงจะใช้กำลังทหารสักเท่าไร ก็ไม่สามารถนำความสงบกลับคืนมาได้

ยิ่งไปกว่านี้ อาจยิ่งทำให้สถานการณ์ความรุนแรงบานปลายมากขึ้นไปอีก เพราะในสถานการณ์ที่ไม่ชัดแจ้งว่าศัตรูคือใคร วิธีการทางทหารกลับยิ่งเพาะศัตรูให้กล้าแข็งมากขึ้น แนวร่วมที่อยู่ห่างๆ ก็จำเป็นต้องเข้าไปขอความคุ้มครองกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ราษฎรธรรมดากลัวภัยจากการปราบปรามก็เช่นเดียวกัน รวมถึงคนที่ได้เห็นญาติมิตรของตนถูก “ปฏิบัติการ” อย่างไม่เป็นธรรม ย่อมมีใจเอนเอียงไปสนับสนุนผู้ก่อความไม่สงบ

ในขณะที่เงื่อนไขต่างๆ ซึ่งควรได้รับการแก้ไขก็ไม่ได้ถูกแก้ไข

นับตั้งแต่เกิดความไม่สงบระลอกใหม่เมื่อต้นปี 2547 เป็นต้นมา ไม่มีรัฐบาลชุดใดคิดถึงการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนสักรัฐบาลเดียว ฉะนั้น นโยบายหลักของทุกรัฐบาลจึงเหมือนกัน นั่นก็คือปฏิบัติการทางทหาร ซึ่งอาจทำโดยตำรวจหรือทหารก็ตาม

รัฐบาลทักษิณเคยตั้งคณะกรรมการ สมานฉันท์ฯ ซึ่งได้ศึกษาถึงเงื่อนไขที่รัฐไทยสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น และได้เสนอทางแก้หลายอย่าง แต่รัฐบาลทักษิณแทบไม่ได้นำเอาข้อเสนอใดไปปฏิบัติอย่างจริงจังเลย

ข้อเสนอเหล่านี้ล้วนเป็นข้อเสนอที่ทำได้ยากในทางการเมือง เช่นการเข้าไปแทรกแซงให้มีการจัดสรรทรัพยากรท้องถิ่นอย่างเป็นธรรม โดยไม่ปล่อยให้ทุนเข้าไปแย่งชิงจับจอง โดยอาศัยอำนาจรัฐเพียงฝ่ายเดียว หรือใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมในกรณีกล่าวหาว่าราษฎรบุกรุก อุทยาน, ป่า หรือชายฝั่ง โดยไม่ยอมให้มีการพิสูจน์สิทธิกันด้วยกระบวนการซึ่งเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

จะผลักดันให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้ ต้องมีเจตนารมณ์ทางการเมืองอย่างแรงกล้า ที่จะโน้มน้าวสาธารณชนให้คล้อยตาม จึงจะทำให้รัฐบาลมีพลังต่อสู้กับระบบราชการซึ่งไม่ต้องการสูญเสียอำนาจ และต่อสู้กับทุนซึ่งต้องการใช้ช่องโหว่ในการหากำไรกับทรัพยากรท้องถิ่น

แม้แต่รัฐบาลทักษิณซึ่งสามารถกุมคะแนนเสียงในสภาได้อย่างท่วมท้น ก็ไม่กล้ามีเจตนารมณ์ทางการเมืองที่จะขจัดเงื่อนไขต่างๆ อันเป็นเหตุให้ผู้ก่อความไม่สงบจะใช้เพื่อแสวงหาความสนับสนุนจากประชาชน

รัฐบาลประชาธิปัตย์ซึ่งไม่เคยเปลี่ยนแปลงมาหลายยุคหลายสมัย ยิ่งไม่กล้าจะมีเจตนารมณ์ทางการเมืองใดๆ คงปล่อยให้การจัดการปัญหาด้วยวิธีการทางทหารต่อไป ซ้ำยังเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับการทำงานของกองทัพขึ้นไปอีก เพราะตัวได้อำนาจมาจากการแทรกแซงของกองทัพ ไม่ว่าทหารจะเรียกร้องอะไร นับตั้งแต่งบประมาณ, อาวุธยุทโธปกรณ์ หรืออำนาจที่ไม่ต้องตรวจสอบจากกฎหมายใดๆ ก็พร้อมจะยกให้หมด

หลายปีที่ผ่านมา เกิดประโยชน์ปลูกฝังขึ้นแก่กองทัพในนโยบายปล่อยทหารให้จัดการแต่ผู้เดียวนี้

เคยมีความพยายามของคนบางกลุ่มในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ ที่จะถ่วงดุลอำนาจจัดการของทหารในภาคใต้ ด้วยการตั้งหน่วยงานผสมระหว่างพลเรือนและทหารขึ้น เป็นผู้อำนวยการแก้ปัญหาภาคใต้ แต่หน่วยงานดังกล่าวแม้จะถูกตั้งขึ้นตามกฎหมายในภายหลัง ก็ไม่มีอำนาจหรือความพร้อมใดๆ ที่จะปฏิบัติงานดังกล่าวได้

ทุกบาททุกสตางค์ที่ทุ่มลงไปเพื่อแก้ปัญหาภาคใต้ จึงทุ่มลงไปแก่ปฏิบัติการทางทหารโดยสิ้นเชิง

ผลของการแก้ปัญหาด้วยการ “ปราบ” ท่าเดียวนี้เป็นอย่างไร?

ความไม่สงบก็ยังดำเนินต่อไปเป็นรายวันเหมือนเดิม เพียงแต่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเป็นสัญญาณบางอย่าง ซึ่งแปลว่าสถานการณ์ดีขึ้น หรือเลวลงก็ไม่ทราบได้

เช่นเจ้าหน้าที่ บ้านเมือง สามารถบอกได้ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น เป็นฝีมือของอาร์เคเคกลุ่มใด มีใครเป็นแกนนำ การที่เจ้าหน้าที่สามารถบอกได้เช่นนี้ อย่างน้อยก็แปลว่าเจ้าหน้าที่มีความรู้เกี่ยวกับศัตรูมากขึ้น แต่ไม่จำเป็นว่าสิ่งที่เจ้าหน้าที่บอกนั้นจะเป็นจริง การทำบัญชีรายชื่อผู้ต้องสงสัยนั้น หน่วยงานฝ่ายความมั่นคงของรัฐรู้จักทำมานานแล้ว และหลายครั้งด้วยกันก็มักจะผูกชื่อในบัญชีนี้เข้ากับการละเมิดกฎหมายที่จับ ผู้กระทำผิดไม่ได้อยู่เสมอ

ในกรณีภาคใต้ปัจจุบัน ไม่รู้ชัดว่าการจับ “แพะ” ตามบัญชีรายชื่อยังทำอยู่หรือไม่ ควรที่จะมีการตรวจสอบคดีในศาลว่าผู้ถูกกล่าวหาเหล่านี้ได้รับการยกฟ้องเป็น สัดส่วนเท่าไร อีกประการหนึ่งที่ต้องเข้าใจด้วยก็คือ ผู้ถูกจับเหล่านี้จำนวนมากถูกจับภายใต้กฎอัยการศึกหรือ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ชะตากรรมของเขาจึงน่าอเนจอนาถยิ่งกว่าผู้ต้องหาธรรมดา เพราะอาจถูกลงโทษไปแล้วโดยยังไม่ได้ขึ้นศาล (เช่นถูกบังคับให้เข้าค่ายอบรม) และหากมีคำสารภาพก็น่าสงสัยว่าจะเชื่อถือได้มากน้อยเพียงไร

สรุปก็คือ ไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่า การที่เจ้าหน้าที่สามารถระบุตัวบุคคลได้ เมื่อเกิดเหตุก่อการร้าย นับเป็นความสามารถที่สูงขึ้นด้านการข่าวใช่หรือไม่

บางคนกล่าวว่า ความถี่ในการก่อการร้ายลดลง แต่กลับมีความรุนแรงมากขึ้นในแต่ละกรณี ข้อที่น่ารู้มากกว่า ไม่ใช่ความร้ายแรงของปฏิบัติการเท่ากับการวิเคราะห์เพื่อดูว่า ปฏิบัติการของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบนั้น ต้องการการจัดองค์กรที่ขยายตัวและสลับซับซ้อนขึ้นมากน้อยเพียงไร หากพวกเขาปฏิบัติการถี่น้อยลง แต่กลับมีความสามารถในการจัดองค์กรได้ดีขึ้นกว่าเดิม สถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้น่าวิตกมากขึ้นอย่างแน่นอน

แม้แต่สมมุติให้การทหารสามารถแก้ปัญหาความไม่สงบได้ เชื้อของการเคลื่อนไหวเพื่อลดอำนาจรัฐไทยก็ยังอยู่เหมือนเดิม แล้ววันหนึ่งก็จะเกิดความไม่สงบขึ้นอีกอย่างไม่ต้องสงสัย

การที่ ส.ส.ประชาธิปัตย์ในสามจังหวัดภาคใต้กล้าออกมาเสนอความเห็นให้ปลด ผบ.ทบ.นั้น เป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะแสดงว่าพวกเขาให้ความสนใจกับสถานการณ์ที่ประชาชนในพื้นที่ต้องเผชิญ อยู่ แต่ที่จริงแล้ว นอกจากข้อเสนอนี้ ส.ส.ยังได้เสนอทางแก้หรือปัญหาที่ไม่ได้แก้ในพื้นที่อีกหลายอย่าง ซึ่งกลับไม่เป็นที่สนใจของสื่อมากนัก การที่พวกเขาไม่พูดเรื่องนี้ในพรรคเสียก่อน ก็เพราะเป็นเรื่องใหญ่เสียจนต้องได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชน มิฉะนั้นการเคลื่อนไหวของเขาก็ไม่บังเกิดผล พรรคประชาธิปัตย์น่าจะกลับมาทบทวนตนเองว่า เหตุใด “พรรค” ซึ่งควรเป็นกลไกการต่อรองด้านนโยบายที่มีพลังมากกว่า ส.ส.ในฐานะเอกบุคคล จึงไม่สามารถทำหน้าที่ของตนได้ และไม่ถูกเลือกใช้มาแต่ต้น

อย่างไรก็ตาม ความล้มเหลวของกองทัพในการแก้ปัญหาที่กองทัพไม่มีสมรรถนะจะแก้ได้นี้ ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ไกลเกินคาด ถึงจะเปลี่ยน ผบ.ทบ.คนใหม่อย่างไร กองทัพก็จะยังล้มเหลวเหมือนเดิม สิ่งที่ ส.ส.น่าจะเรียกร้อง จึงน่าจะเป็นการเรียกร้องให้ปลดนายกฯมากกว่า เพราะนายกฯเท่านั้นที่จะแก้ไขปรับปรุงเงื่อนไขทางการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม, กระบวนการยุติธรรม ฯลฯ ในภาคใต้ได้ นายกฯคนใดที่สัมปทานให้กองทัพไปทำสิ่งเหล่านี้แต่ผู้เดียว ไม่ควรจะดำรงตำแหน่งต่อไป

ที่มา : มติชนออนไลน์
โดย : นิธิ เอียวศรีวงศ์

 


“ปิดล้อม-ซ้อม-วิสามัญฯ” … “ผมยอมแล้ว ทำไมมาทำผมอีก” แม่ทัพ 4 ลั่น อย่าแค่กล่าวหา

เปิดศักราช 2554 มาได้ 2 เดือน   มีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่เกิดขึ้นหลายครั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุการณ์ที่ทำให้ฝ่ายความมั่นคง “เสียหาย” และ “เสียหน้า” มากที่สุด คือเหตุคนร้ายบุกโจมตีฐานปฏิบัติการกองร้อยทหารราบที่ 15121 ( ร้อย ร.15121) หรือฐานพระองค์ดำ ที่ ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อค่ำวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา

เพราะนอกจากจะทำให้กำลังพลต้องพลีชีพไปถึง 4 นาย รวมทั้งนายทหารระดับผู้บังคับกองร้อย ร.อ.กฤช คัมภีรญาณ แล้ว คนร้ายยังปล้นชิงอาวุธปืนไปได้อีกจำนวนหนึ่งด้วย

การปล่อยให้อาวุธปืนไปอยู่ในมือของคนร้าย เท่ากับเสียหาย “สองเด้ง” เพราะนอกจากฝ่ายทหารจะต้องสูญเสียทรัพย์สินของทางราชการแล้ว อาวุธร้ายแรงยังไปตกอยู่ในมือของฝ่ายตรงข้าม สามารถนำกลับมาประหัตประหารทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้อีก นับครั้งไม่ถ้วน

อย่างไรก็ดี ความเสียหายที่ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงกันมากนัก เพราะเป็นข่าวลับๆ และไม่ค่อยมีคนอยากพูดถึงเท่าไหร่ โดยเฉพาะในยุคที่ “อำนาจทหาร” แผ่ปกคลุมอย่างกว้างขวางในประเทศนี้ก็คือ ผลสะเทือนจากการใช้ปฏิบัติการ “ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม” เพื่อติดตามไล่ล่ากลุ่มคนร้ายที่ก่อเหตุอุกอาจในลักษณะ “เหยียบจมูก” กองทัพ ด้วยการบุกโจมตีฐานทหาร

เพราะผลแห่งปฏิบัติการที่มีอยู่ 3 ประการ คือ 1.จับกุมผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยได้ 2.เกิดการยิงปะทะกันและฝ่ายผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยเสียชีวิตในที่เกิด เหตุ ที่เรียกว่า “วิสามัญฆาตกรรม” และ 3.มีเรื่องร้องเรียนซ้อมทรมานผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมหรือควบ คุมตัว ได้ทำให้เกิดผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งในพื้นที่ โดยเฉพาะในข้อ 2 และข้อ 3

เพราะแม้แต่ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 เองก็เคยพูดเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า การก่อเหตุของคนร้ายมีเป้าหมายเพื่อยั่วยุให้ฝ่ายความมั่นคงใช้ปฏิบัติการ โต้กลับอย่างรุนแรงและนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน ฉะนั้นจะไม่มีการกระทำใดๆ ที่ผิดกฎหมายเพื่อตอบโต้ฝ่ายคนร้ายอย่างเด็ดขาด

แต่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในห้วงเดือนเศษที่ผ่านมา น่าสนใจว่ารัฐโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงกำลังเดินสู่ “หลุมพราง” ที่ฝ่ายคนร้ายขุดล่อเอาไว้ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจหรือไม่?

วิสามัญฆาตกรรม…ผล สะท้อนกลับร้ายแรงเกินคาด

หลังเหตุการณ์คนร้ายบุกโจมตีฐานพระองค์ดำ สังหารกำลังพล และปล้นอาวุธปืนไปจำนวนหนึ่ง เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2554 ต้องยอมรับว่าฝ่ายความมั่นคงได้จัดกำลังรุกไล่ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมแบบถี่ยิบ

หลายๆ ครั้งมีเหตุการณ์ยิงปะทะ และการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยตามมา

เท่าที่ปรากฏเป็นข่าวในทางเปิด รวบรวมได้อย่างน้อย 3 เหตุการณ์ วิสามัญฆาตกรรมรวม 4 ศพ ได้แก่

26 ก.พ. หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 33 จัดกำลังเข้าติดตามจับกุมบุคคลเป้าหมาย บริเวณพื้นที่บ้านโคกแมแน หมู่ 3 ต.มะนังตายอ อ.เมือง จ.นราธิวาส และได้ยิงปะทะกับกลุ่มผู้ต้องสงสัยเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบ ผลการปะทะฝ่ายผู้ต้องสงสัยเสียชีวิต 2 ราย ซึ่งจากการตรวจสอบประวัติของเจ้าหน้าที่ พบว่าทั้งคู่มีหมายจับในคดีความมั่นคง

11 ก.พ. หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 ได้สนธิกำลังกับทหารพราน ออกลาดตระเวนเพื่อพิสูจน์ทราบพื้นที่เขตรอยต่อ ต.สุวารี อ.รือเสาะ กับ ต.ตะปอเยาะ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส หลังได้รับแจ้งข่าวสารว่ากลุ่มก่อความไม่สงบได้เคลื่อนไหวอยู่ในบริเวณดัง กล่าว และได้เกิดการยิงปะทะกับกลุ่มผู้ต้องสงสัยที่บ้านสุไหงบาตู หมู่ 5 ต.ลูโบะสาวอ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ทำให้ฝ่ายผู้ต้องสงสัยเสียชีวิต 1 ราย ยึดปืนที่สูยหายไปจากฐานพระองค์ดำได้ 2 กระบอก

11 ก.พ.เช่นกัน หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 30 สนธิกำลังทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง เข้าปิดล้อมตรวจค้นและพิสูจน์ทราบแหล่งพักพิงของกลุ่มก่อความไม่สงบ บริเวณสวนยางพาราบ้านบือแนรายอ หมู่ 5 ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และเกิดการยิงปะทะกับกลุ่มผู้ต้องสงสัย ทำให้ฝ่ายผู้ต้องสงสัยเสียชีวิต 1 ราย พร้อมยึดอาวุธปืนเอ็ม 16 ที่ถูกปล้นจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 ได้ 1 กระบอก

ทั้งนี้ไม่นับปฏิบัติการที่ไม่มีความสูญเสีย แต่สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยและผู้ต้องหาได้อีกหลายสิบคน

ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญก็คือ “การวิสามัญฆาตกรรม” ไม่ใช่ปฏิบัติการที่ถูกกฎหมาย แม้จะมีการยิงต่อสู้จากฝ่ายผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหา หรือจะเรียกว่า “คนร้าย” ก็ตาม เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 150 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ต้องให้พนักงานอัยการเข้ามาทำสำนวนไต่สวนการตายเพื่อให้ศาลมีคำสั่งในเบื้อง ต้นก่อน เพื่อถ่วงดุลการทำสำนวนของพนักงานสอบสวนปกติ ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งโดยสภาพมักอยู่ร่วมปฏิบัติการด้วย

เฉพาะกรณีที่พิสูจน์ได้ว่าการตายเกิดจากการ “ป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย” หรือ “มิได้กระทำการรุนแรงเกินกว่าเหตุ” เท่านั้น เจ้าหน้าที่ที่กระทำการ “วิสามัญฆาตกรรม” จึงไม่มีความผิด หรือไม่ต้องรับโทษ

แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานความมั่นคงมักมีท่าทีหรือส่งสัญญาณสนับสนุนให้ มีการวิสามัญฆาตกรรม เพราะบางหน่วยงานได้นำมานับรวมเป็น “ผลงาน” ของหน่วยด้วย เช่น คำให้สัมภาษณ์ของผู้บังคับบัญชาระดับสูงนายหนึ่งระบุว่า “ยอดจับกุมผู้ต้องหา จับได้ทั้งหมด 4,866 หมาย เป็นหมาย ป.วิอาญา 1,625 หมาย พ.ร.ก. 3,235 หมาย จับตาย (วิสามัญฆาตกรรม หรือเสียชีวิตจากการปะทะ) 133 ราย 364 หมาย…”

ขณะที่การวิสามัญฆาตกรรมที่ไม่ชัดเจนว่าเป็นการป้องกันตัวโดยชอบ หรือกระทำการพอสมควรแก่เหตุหรือไม่ ได้กลายเป็น “เงื่อนไข” ให้ฝ่ายก่อความไม่สงบใช้ในการสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์เพื่อแก้แค้น เห็นได้จากการทิ้งใบปลิวหลังการฆ่า ซึ่งก็มีหลายต่อหลายครั้งที่ปรากฏเหตุการณ์ดังว่านี้

แม่ทัพภาคที่ 4 เองก็เพิ่งเปิดแถลงข่าวหลังเหตุการณ์ไล่ฆ่าชาวบ้านไทยพุทธอย่างต่อเนื่องใน ช่วงเดือนที่ผ่านมาว่า “สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะเป็นความต่อเนื่องจากการที่เจ้าหน้าที่ได้วิสามัญ ฆาตกรรมผู้ที่ก่อคดีหลายคดีในพื้นที่เมื่อ 2-3 วันก่อนหน้า ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นกลุ่มเดียวกัน เป็นการกลับมาแก้แค้น เอาคืน” (แถลงเมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ค่ายสิรินธร)

นี่คือความน่ากลัวของการ “วิสามัญฆาตกรรม” ที่หาใช่ความสำเร็จไม่ แม้จะเข้าใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานว่าต้องเสี่ยงอันตราย แต่ทุกๆ ปฏิบัติการจำเป็นต้องยึดหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในพื้นที่อ่อนไหวเช่นนี้ เพื่อป้องกันการสร้าง “เงื่อนไข” อื่นๆ ตามมา ซึ่งหลายๆ ครั้งส่งผลร้ายแรงเกินคาด

ร้องเรียน “ปิดล้อม-ซ้อมทรมาน” ระวังได้ไม่คุ้มเสีย!

ดังที่เกริ่นเอาไว้ในตอนต้นว่า ปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมของเจ้าหน้าที่ สามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยได้เป็นจำนวนมาก และผลสะเทือนระลอกใหม่ที่ตามมาก็คือ ข้อร้องเรียนเรื่องซ้อมทรมาน

จากรายงานขององค์กรภาคประชาสังคมหลายองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ในพื้นที่ ระบุตรงกันว่า ได้รับการร้องเรียนจากญาติผู้เสียหายและผู้เสียหายเองว่า ในระหว่างถูกควบคุมตัวเบื้องต้นในฐานะ “ผู้ต้องสงสัย” ตามกฎหมายพิเศษ ได้แก่ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) มีการกระทำในลักษณะซ้อมทรมานเพื่อให้ยอมรับสารภาพหลายกรณี

ข้อมูลที่เป็น “เรื่องร้องเรียน” สรุปได้ดังนี้

1.มีการเปิดฐานปฏิบัติการบางแห่งเป็นสถานที่ควบคุมตัวเบื้องต้นก่อน ส่งต่อตามขั้นตอน และในสถานที่ดังกล่าวมีการร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่บางรายปฏิบัติการในลักษณะ ละเมิดสิทธิมนุษยชน

2.การจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยบางรายเป็นผลมาจากคำซัดทอดของบุคคลที่ เจ้าหน้าที่จับกุมตัวมาก่อนหน้านี้ โดยไม่มีหลักฐานอื่นใดประกอบ และสุ่มเสี่ยงว่าจะเป็นการซัดทอดเพราะถูกข่มขู่

3.ญาติไม่สามารถเข้าเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวได้ทันที โดยเฉพาะช่วง 2-3 วันแรกของการควบคุมตัว โดยมีญาติของผู้ถูกควบคุมตัว 4 รายยืนยันข้อมูลนี้

4.เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ญาติเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวแบบส่วนตัว แต่ระหว่างการเยี่ยมจะมีเจ้าหน้าที่นั่งเฝ้าด้วยตลอด

5.มีข้อร้องเรียนว่ามีการทำร้ายร่างกายและละเมิดสิทธิมนุษยชนรูปแบบ ต่างๆ เพื่อให้ผู้ถูกควบคุมตัวยอมรับสารภาพ หลายรายได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระแล้ว แต่อีกหลายรายยังถูกควบคุมตัวอยู่

6.การเข้าตรวจค้นจับกุมมีพฤติการณ์ใช้ความรุนแรง เช่น พังประตูบ้าน หรือใช้วาจาข่มขู่ญาติผู้ถูกควบคุมตัว เป็นต้น

7.เมื่อมีเรื่องร้องเรียนถึงผู้บังคับบัญชาระดับสูงผ่านองค์กรภาค ประชาสังคม ซึ่งบางกรณีปรากฏเป็นข่าวในสื่อทางเลือกหลายแขนง ปรากฏว่ามีความพยายามของเจ้าหน้าที่บางส่วนเพื่อขอโทษผู้เสียหาย และขอให้เรื่องจบ

แหล่งข่าวซึ่งเป็นบุคคลที่ทำงานในภาคประชาสังคมและได้รับเรื่องร้อง เรียนจากชาวบ้านโดยตรง กล่าวว่า ได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวบางราย ได้ยินคำพูดที่ว่า “ผมยอมแล้ว ทำไมมาทำผมอีก” ซึ่งคำพูดนี้หมายความว่ายอมให้จับแล้วทำไม่มาทำร้ายเขาอีก

“เรื่องนี้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงหลายท่านก็ทราบดีว่ามีเหตุการณ์ เกิดขึ้นจริง และให้เหตุผลว่าเจ้าหน้าที่โมโหหรือบันดาลโทสะเนื่องจากสูญเสียเพื่อนไป (จากเหตุการณ์โจมตีฐานทหาร) แต่ปัญหาคือเมื่อยอมรับแล้วจะมีมาตรการอย่างไรต่อไปเพื่อป้องกันไม่ให้เกิด กรณีเช่นนี้อีก เพราะผลที่ตามมาคือการสร้างเงื่อนไขในพื้นที่อย่างไม่รู้จบ” แหล่งข่าวระบุ

แม่ทัพ 4 ลั่นขอให้บอก อย่าแค่กล่าวหา

ด้าน พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ถ้ามีการซ้อมทรมานเกิดขึ้นจริงให้บอกมาว่าคนไหนที่โดน และที่บอกว่าญาติไปร้องเรียนกับองค์กรภาคประชาสังคมนั้น อยากขอให้ญาติมาหาและบอกกับตนเลยว่าคนไหนที่กระทำการ รับรองว่าจะจัดการให้อย่างเด็ดขาด เพราะที่ผ่านมายืนยันว่าได้ทำตามนโยบายอย่างเคร่งครัด

“ขอให้บอกมา แล้วจะดำเนินการอย่างเด็ดขาดแน่นอน แต่เมื่อมาบอกเช่นนี้ว่ามีการร้องเรียนแต่ไม่รู้คนไหน ก็ถือว่าแย่และภาพพจน์เจ้าหน้าที่ก็เสียหาย” พล.ท.อุดมชัย ระบุ

ขณะที่ พ.ต.อ.สุชาติ อัศวจินดารัตน์ ผู้กำกับการ สภ.ระแงะ จ.นราธิวาส กล่าวว่า ไม่ทราบเรื่องที่มีการร้องเรียนเลยจริงๆ และส่วนตัวมั่นใจว่าไม่น่าจะมีการซ้อมทรมานเกิดขึ้น เพราะทุกหน่วยดูแลผู้ถูกควบคุมตัวอย่างดีและเคร่งครัดตามนโยบายมาตลอด

ทั้งหมดนี้คือ ความเคลื่อนไหวหลังคนร้ายบุกโจมตีฐานทหาร ซึ่งดูเหมือนทางการจะยังหนีไม่พ้น “กับดัก” แบบเดิมๆ

ที่มา : มติชนออนไลน์ 2 มีนาคม 2554
โดย : ทีมข่าวอิศรา

 


อย่านอกหน้าที่

การเมืองไทยเดินมาถึงจุดเขม็งเกลียวมากขึ้น

นักวิเคราะห์การเมืองที่เคยมั่นใจว่าประเทศไทยหมดยุคสมัยที่จะมีการปฏิวัติ อีก หรือถ้ามีก็ไม่น่าจะในเร็ววันนี้

ที่เชื่อเช่นนั้นเพราะ ประเทศไทยเพิ่งได้รับบทเรียนมาหมาดๆ

ว่าการปฏิวัติเมื่อ 19 กันยาฯ 2549 สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติมากขนาดไหน

ถึงตอนนี้พิษสงของปฏิบัติการลับ-ลวง-พราง ก็ยังถูกชำระล้างออกไปไม่หมด

แม้เศรษฐกิจจะได้รับการฟื้นฟูจนเริ่มมีเรี่ยวแรงขึ้นมาบ้าง แต่ก็ยังเติบโตได้ไม่เท่าเดิม

ด้านการเมืองไม่ต้องพูดถึง ไล่”ทักษิณ”ออกไปแล้วได้อะไรมาแทน?

ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นมากขึ้นหรือน้อยลงอย่างไรคงเห็นกันอยู่

ขณะที่ด้านสังคม ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ พ่อค้า นักธุรกิจ นักศึกษา ครูอาจารย์ พระสงฆ์ หมอ ฯลฯ ประชาชนเกิดความแตกแยกแบ่งฝ่ายอย่างลึกซึ้ง

บาดแผลจากเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 คือหลักฐานประจานความเลวร้ายไปทั่วโลก และยังไม่เห็นหนทางว่าจะเยียวยาปรองดองกันอย่างไร

แต่ปรากฏว่ามาตอนนี้หลายคนที่เคยเชื่อว่าไม่น่าจะมีการปฏิวัติอีกแล้วเสียง เริ่มเปลี่ยนไป

ความมั่นใจกลายเป็นความลังเล เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง

ด้วยเหตุเพราะมีปัจจัยแทรกซ้อนขึ้นมาใหม่ๆ หลายประการ

ไม่อยากเชื่อ แต่ก็ยอมรับว่าเคลิ้มไปเหมือนกันกับข้อมูลจาก “นายทหารแตงโม” ที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช. ปล่อยออกมา

ทั้งพลเอก “ป” พลเอก “ด” ที่ไปร่วมหารือจัดวางกำลังกันในเซฟเฮาส์

หรือล่าสุดกรณีอดีตนายทหาร “น.ต.” ที่ไม่ใช่ทหารม้า แต่ดอดไปร่วมงานวันทหารม้า ที่ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งมี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เดินทางไปร่วมงาน

บวกกับปฏิกิริยาบิ๊กๆ ในกองทัพหลายคนที่ออกมาปฏิเสธข่าวปฏิวัติด้วยท่าทีแข็งกร้าว เหมือนเด็กขโมยของแล้วถูกจับได้ เลยแกล้งทำเป็นโมโหกลบเกลื่อน

อะไรต่อมิอะไรเลยดูเข้าเค้าไปหมด

สรุปดื้อๆ เลยแล้วกันว่าปัญหาไฟใต้ที่ปะทุรุนแรงต่อเนื่องช่วงนี้ หรืออย่างกรณีปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ที่อุณหภูมิพุ่งสูงใกล้ถึงจุดเดือดอยู่รอมร่อ

เป็นหน้าที่โดยตรงของกองทัพที่จะต้องเป็นหลักในการหาทางคลี่คลาย

ส่วนเรื่องการเมืองปล่อยให้นักการเมืองเขาแก้ปัญหากันเองตามวิถีทางประชาธิปไตย

จะดีกว่ามั้ย

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์  3 กุมภาพันธ์ 2554
คอลัมน์ : เหล็กใน

 


เปิดคำให้การผู้เชี่ยวชาญด้านทหาร พยานคดี”เม.ย.-พ.ค.53″

หมายเหตุ : โจ เรย์ วิทตี้ พยานผู้เชี่ยวชาญ ให้การเกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงเดือนเม.ย. และพ.ค. 2553 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำร้อง ที่สำนักงานทนายความ อัมสเตอร์ดัม แอนด์ พีรอฟฟ์ ในนามตัวแทนกลุ่มนปช. ยื่นต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ ขอให้อัยการเปิดสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าว

โจ เรย์ วิทตี้ อ้างประสบการณ์ เป็นจ่าสิบโท (เกษียณ) พลซุ่มยิงและผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธระเบิด หน่วยรบพิเศษของกองทัพบกสหรัฐ เคยฝึกซ้อมรบกับทางกองทัพบกไทย, อยู่หน่วยสวาท (อาวุธและกลยุทธ์พิเศษ) และเป็นครูฝึกให้กับกรมตำรวจนครลอสแองเจลิส (LAPD) ด้านการควบคุมฝูงชน พร้อมอ้างอิงประสบการณ์ภาคสนาม ความรู้เรื่องอาวุธ

ได้ตรวจสอบและประเมินเหตุการณ์จากภาพวิดีโอ ภาพถ่าย คำให้การพยาน สัมภาษณ์ และตรวจสอบจากสถานที่เกิดเหตุในกรุงเทพฯ จนได้ข้อสรุปและข้อคิดเห็น มีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้

วันที่ 10 เม.ย. 2553

ไม่ได้ปฏิบัติการจัดการฝูงชนอย่างสมควรแก่เหตุ แต่จงใจปิดล้อมทางออก ต้อนผู้ชุมนุมให้อยู่ในพื้นที่จำกัด และกระทำการอันผิดกฎหมายที่หมายยั่วยุให้ฝูงชนใช้ความรุนแรง เพื่ออ้างเหตุผลใช้ความรุนแรง

โดยใช้พลซุ่มยิงที่มีความเชี่ยวชาญสูง มาซุ่มยิงผู้ชุมนุมโดยที่ไม่มีการยั่วยุ ใช้อาวุธทางการทหาร รวมถึงปืนไรเฟิล M-16 และอาวุธปืนอัติโนมัติบรรจุกระสุนจริงยิงตรงไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมที่รวมตัวกันอยู่อย่างหนาแน่น

จงใจให้เกิดระเบิดในระยะประชิดของกองทหาร เป็นรูปแบบ “การยิงจากพวกเดียวกัน” เพื่อสร้างความเข้าใจผิดว่าทหารถูกกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าโจมตี

เป็นปฏิบัติการทางทหารโดยแท้จริง ไม่ได้สอดคล้องกับมาตรฐานของการจัดการฝูงชนที่เป็นที่ยอมรับทั่วไป

การชุมนุม 10 เม.ย. 2553 ทหารเตรียมพร้อมในชุดป้องกันการปะทะการจลาจล ที่ออกแบบมาสำหรับสวมใส่ในสถาน การณ์ที่ต้องมีการการจัดการฝูงชน ได้แก่ หมวกกันน็อก ที่กั้นใบหน้า ที่กันกระแทกหน้าอก หัวไหล่ ท่อนแขนบน ปลายแขน ข้อศอก มือ และหน้าแข้ง

บางคนใส่หน้ากากป้องกันแก๊ส ที่ใช้ในการปฏิบัติการโดยใช้แก๊สน้ำตา

ทหารหลายนายติดอาวุธปืนไรเฟิล M-16 สวมอุปกรณ์ป้องกันการจัดการฝูงชน การสวมอุปกรณ์ป้องกันพร้อมติดอาวุธผิดการจัดการฝูงชน

ตามคำให้การพยาน วิดีโอและหลักฐานทางวัตถุ มีทหารยิงด้วยกระสุนยาง เตือนก่อน อาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บทางร่างกายรุนแรงได้ การใช้กระสุนแบบนี้ขัดต่อระเบียบปฏิบัติในการจัดการฝูงชนที่เป็นที่ยอมรับ

ปลอกกระสุนของปืนลูกซองขนาด 12-gauge ที่เก็บได้จากบริเวณชุมนุม แสดงว่ามีทหารบางนายบรรจุและใช้กระสุนจริงยิง

ทหารส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสวมใส่เครื่องป้องกัน และติดอาวุธปืนไรเฟิลจู่โจมอัตโนมัติรุ่น Tarov-21 หรือ M-16 แสดงว่าคำสั่งต้องการให้สู้รบมากกว่าจะจัดการฝูงชนอย่างเข้มงวด

ช่วงกลางวันวันที่ 10 เม.ย. จากการฟังคลิปเสียงมีการยิงโดยใช้อาวุธแบบอัตโนมัติ 3 ชุด ทหารหลายนายที่ยิงปืนทำมุมขึ้นเหนือฝูงชนใช้กระสุนจริง เพราะไม่มีการติดตั้ง “ปลอกทวีแรงถอย” (BFA)

ปลอกทองเหลืองที่เก็บกู้ได้จากรอบบริเวณที่ชุมนุม มาจากกระสุนจริง เพราะไม่จีบรอบหัวกระสุนเหมือนกับที่พบในหัวกระสุนของลูกเปล่า

การยิงลูกกระสุนจริงขึ้นฟ้าอันตรายมาก ตามคู่มือกองทัพสหรัฐ FM 3-22.9 (M16/ไรเฟิล A2) ช่วงระยะยิงสูงสุดคือ 3,600 เมตร การยิงขึ้นฟ้าอาจทำอันตรายใครก็ได้ที่อยู่ในรัศมี

การตรวจสอบวิดีโอหลายรายการ เชื่อว่ารัฐบาลไทยกระทำการที่ไม่เหมาะสมในการจัดกำลังพลในการจัดการฝูงชน มีทหารหลายนายสวมอุปกรณ์ป้องกันควบคู่กับการติดไรเฟิลจู่โจม ผู้ที่สมควรได้รับหน้าที่ในการปฏิบัติภารกิจในการจัดการฝูงชน ควรเป็นเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายที่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้วเป็นอย่างดี แต่นี่กลับเป็นกำลังพลทหารที่ปฏิบัติภารกิจ

การจัดการฝูงชน การตั้งแนวป้องกันต้องเห็นได้ชัดและเข้าถึงพื้นที่ มีทางออกหลักอย่างน้อยหนึ่งทางให้ฝูงชน ผู้นำใช้ระบบกระจายเสียงประกาศคำสั่งสลายฝูงชนและแจ้งทางออก ให้เวลาฝูงชนทำตามคำสั่ง

ตั้งแถวเดินตรงไปยังฝูงชนช้าๆ แจ้งขั้นตอนต่างๆ ให้กับฝูงชน อาจใช้รถฉีดน้ำเพื่อให้ฝูงชนสลายตัวเร็วขึ้น และอาวุธที่ไม่เป็นอันตรายร้ายแรงจนถึงชีวิตอาจนำมาใช้ได้เฉพาะผู้ฝ่าฝืน มาตรการเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้

ตอนบ่ายของวันที่ 10 เม.ย. มีการกระชับพื้นที่บริเวณสี่แยกคอกวัว มีรถหุ้มเกราะติดอาวุธปืนอัตโนมัติขนาดใหญ่พร้อมสายกระสุนขนาด.50 และพลยิงสนับสนุน 3 คัน

กำลังพลใส่อุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดการฝูงชน บางรายติดอาวุธปืนไรเฟิลจู่โจม ด้านหลังมีกำลังพลประมาณ 100 กองพล สวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน เจตนาการปฏิบัติภารกิจไม่ใช่สลายการชุมนุมแต่เป็นการคุกคามพลเมืองที่ ปราศจากอาวุธ

ตรวจสอบหลักฐานภาพถ่ายของพลซุ่มยิง ที่ยิงปืนไรเฟิลจากบนระเบียงชั้น 3 บนอาคารสำนักงานสีขาวที่อยู่ตรงหัวมุมของถนนตะนาวและถนนราชดำเนิน (กองสลากกินแบ่งรัฐบาล) แสดงให้เห็นที่ซ่อนของพลซุ่มยิงในเมือง โดยพลซุ่มยิงที่ได้รับการฝึกทางทหาร

ช่วงกลางคืน หยุดใช้อาวุธจู่โจม M-16 เจ้าหน้าที่บางนายปฏิบัติการอยู่บนถนนดินสอยิงกระสุนวิถีขึ้นสูงเหนือศีรษะ ฝูงชนที่รวมตัวกันอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เจ้าหน้าที่หลายนายยิงเข้าใส่ฝูงชนโดยตรง โดยไม่มีการติดตั้งปลอกทวีแรงถอย แปลว่าใช้กระสุนจริงยิงใส่ฝูงชน

อาวุธปืนกลหนัก (.50 caliber) ที่ติดตั้งบนพลหุ้มเกราะคันหนึ่งที่ยิงโดยตั้งระบบอัตโนมัติ ลำกล้องอยู่ในระดับสายตา ไม่ติดปลอกทวีแรงถอย ปืนกลประเภทนี้มักใช้ในสมรภูมิรบ ใช้ยิงทำลายยานพาหนะฝ่ายตรงข้าม บางครั้งใช้ในการยิงต่อต้านยานอากาศ ให้ผลทำลายล้างที่รุนแรงมาก มีการยิงตรงไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งมีผู้ชุมนุมหลายพันคน

ก่อนเวลา 19.15 น. ไม่กี่นาที เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณถนนดินสอเปิดฉากยิงด้วยอาวุธ เห็นเงาทหารที่ยกแขนขึ้นด้านบนซ้ำๆ กัน เป็นการออกคำสั่งให้ทหารเพิ่มการยิงให้มากขึ้น การยิงที่ถี่ขึ้นก็สอดคล้องกับท่าของเงานั้น

เจ้าหน้าที่ที่ยืนอยู่ บนพลหุ้มเกราะในมือถือปืนกึ่งอัตโนมัติ ตอบโต้กลุ่มผู้ประท้วงที่ขว้างขวดน้ำพลาสติกด้วยการยิงปืนขึ้นฟ้าหลายนัด ติดต่อกัน ซึ่งเป็นกระสุนจริง เพราะลูกกระสุนเปล่าจากปืนพกกึ่งอัตโนมัติจะไม่ทำให้ปืนมีแรงดันมากพอที่จะ ทำให้ปืนบรรจุกระสุนชุดใหม่เข้าไปได้เอง

ช่วงเวลาเดียวกัน มีการยิงหลอดไฟถนนตรงบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ชวนให้คิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนการสร้างความสับสน และ/หรือการปกปิด

ตรวจสอบวิดีโอการระเบิดที่สังหารทหารในกองทัพบกหลายนาย บนถนนดินสอ เวลา 19.15 น. แน่ใจว่าการระเบิดครั้งนี้มีสาเหตุมาจากวัตถุระเบิดที่ใช้ในระดับทหาร ซึ่งน่าจะเป็นระเบิดมือ

สะเก็ดระเบิดที่ได้นั้นได้สัดส่วนกันมาก แสดงว่าเผาไหม้ในอัตราคงที่ แต่สะเก็ดจากระเบิดแสวงเครื่องมักไม่ได้สัดส่วนที่เท่าหรือใกล้เคียงกัน เนื่องจากไม่มีทางที่จะประกอบระเบิดได้สมบูรณ์แบบ เพราะไม่ได้ผลิตในโรงงานผลิตระเบิดเพื่อใช้ในระดับทหาร

ประกายไฟจากการระเบิดเป็นชิ้นส่วนของโลหะเหลว เป็นลักษณะของระเบิดทางการทหารที่ออกแบบมาเพื่อให้กระจาย เป็นการระเบิดประสิทธิภาพสูง และทหารที่กระเด็นจากแรงระเบิดก็สอดคล้องกับผลที่จะได้จากระเบิดมือ

การระเบิดสอดคล้องกับการใช้ระเบิดมือแบบขว้าง M 67 ซึ่งนิยมใช้ในกองทัพบกไทย

หลังระเบิดครั้งแรก 34 วินาที ได้ยินเสียงระเบิดลูกที่สองบนถนนดินสอ แม้จะไม่เห็นภาพแต่ก็ไม่พบความแตกต่างที่ชัดเจนของเสียงและจังหวะเสียงระเบิด

หลักฐานจากวิดีโอและจากการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุด้วยตนเอง สรุปได้ว่า ระเบิดครั้งแรกไม่น่าจะมาจากทางฝั่งคนเสื้อแดง เพราะต้องขว้างมาจากระยะทางอย่างน้อย 70 หลา พลทหารทั่วๆ ไปสามารถขว้างระเบิดมือแบบขว้างน้ำหนัก 14 ออนซ์ ได้ในระยะที่น้อยกว่านั้นครึ่งหนึ่ง คือแค่ประมาณ 30 หลา

เมื่อคำนึงถึงระยะโคจรของขวดน้ำที่ถูกขว้างมาจากฝั่งคนเสื้อแดงตรงมายังทางฝั่งทหาร เป็นเรื่องที่แปลกมากที่ทหารจะไม่ทันสังเกตเห็น และกรณีที่มีการยิงระเบิดเข้ามา หรือมีวัตถุที่คล้ายระเบิดแม้อยู่ในระยะไกล ทหารทุกนายได้รับการฝึกในกรณีนี้เป็นพิเศษว่าให้ตะโกนเตือนว่า “ระเบิด” และรีบหาที่กำบัง หรือหมอบราบลงบนพื้น วิดีโอปรากฏชัดเจนว่าทหารไม่ได้มีปฏิกิริยาตอบสนองก่อนที่จะเกิดระเบิดเลย

การปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายที่ถูกต้องภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ต้องเรียกร้องให้ติดตั้งกล้องวิดีโอในพื้นที่ เข้าใจว่ารัฐบาลไทยไม่สามารถหาวิดีโอใดๆ ที่บันทึกภาพบุคคลจากฝั่งคนเสื้อแดงขณะ กำลังขว้างระเบิดได้

นายโจ เรย์ วิทตี้ เห็นว่า มีการทิ้งหรือกลิ้งระเบิดมือมากับพื้น โดยบุคคลที่อยู่ภายในรัศมีใกล้เคียงกับจุดที่มีการระเบิด ระเบิดมือ M67 จุดฉนวนภายในเวลา 5 วินาที มีเวลามากพอที่จะแอบทิ้งระเบิดมือ และไปหลบอยู่ข้างหลังพลหุ้มเกราะที่อยู่ไม่ไกล

ได้ยินมาว่ารัฐบาลได้อ้าง “ชายชุดดำ” หรือบุคคลนิรนามอื่นๆ ที่รัฐบาลเชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับคนเสื้อแดงเป็นผู้ใช้ระเบิดโจมตีเมื่อ วันที่ 10 เม.ย. บนถนนดินสอ ไม่มีการนิรนัยใดๆ ที่สมเหตุสมผล และการที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติภารกิจอยู่บนถนนดินสอด้วยความเด็ดขาด น่าจะช่วยป้องกันไม่ให้มีชายชุดดำ หรือใครเข้ามาใกล้พื้นที่ได้เลย

หลังเจ้าหน้าที่ถอยร่นยังคงยิงเข้าใส่ฝูงชน มีกรณีตัวอย่างหนึ่งที่พิสูจน์คำกล่าวนี้ ชายหนุ่มถือธงที่มีสัญลักษณ์คนเสื้อแดงกำลังเดินข้ามถนนดินสอ ถูกยิงเข้าที่ศีรษะสมองกระจายลงบนพื้นถนน บาดแผลไม่ได้มีสาเหตุมาจากกระสุนขนาด 5.56 ม.ม. ที่ยิงออกมาจากปืนไรเฟิล M-16 ทั่วไป รอยแตกของบาดแผลเป็นรอยแตกที่มีสาเหตุมาจากกระสุนปืนขนาด .50 caliber หรืออย่างน้อยก็ขนาด 7.62 ม.ม. อย่างไม่ต้องสงสัย

ชายผู้นี้ถูกยิงโดยพลซุ่มยิงที่ใช้ปืนไรเฟิล Remington M24 ที่ยิงด้วยกระสุนขนาด 7.62 ม.ม. หรือไม่ก็ใช้ปืนไรเฟิล Barrett พร้อมกระสุนขนาด .50 caliber ปืนทั้งสองประเภทนี้มีอยู่ในคลังเก็บอาวุธของกองทัพ

อีกตัวอย่างหนึ่งของการยิงโดยที่ไม่มีการยั่วยุให้เกิดเหตุอันควร ทหารนายหนึ่งได้รับบาดเจ็บนอนอยู่ตรงขอบถนน สาเหตุที่บาดเจ็บในวิดีโอเห็นไม่ชัด เป็นไปได้ที่อาจเกิดจากการระเบิด หรือจากกระสุนปืนที่ยิงอย่างสะเปะสะปะ พยานปากที่ 15 เข้ามาหาทหารที่บาดเจ็บพร้อมกล่องปฐมพยาบาลที่มีเครื่องหมายกาชาด มีเสียงปืนดังขึ้น 2 นัด พยาบาลอาสาผู้นี้ได้รับบาดเจ็บที่เท้า

วันที่ 13- 19 พ.ค. 2553

หลังเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. รัฐบาลไทยออกแถลงการณ์คำสั่งแก้ไขกฎการใช้กำลังที่ออกมาก่อนหน้านี้ อนุญาตให้มีการใช้กระสุนจริง และอนุญาตให้ใช้ปืนลูกซองต่อกลุ่มคนที่มีอาวุธ และกลุ่มคนที่เข้าข่ายเป็นผู้ก่อการร้ายที่เข้าใกล้เจ้าหน้าที่ โดยให้เล็งเป้ายิงที่ต่ำกว่าระดับหัวเข่า และให้ใช้แก๊สน้ำตาเพื่อรักษาระยะห่างระหว่างเจ้าหน้าที่และกลุ่มผู้ประท้วงที่มีอาวุธได้

ซึ่งโดยหลักการไม่สามารถใช้อาวุธที่มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตต่อกลุ่มผู้ ประท้วงที่ปราศจากอาวุธ และไม่ว่าจะในกรณีใดๆ ห้ามมิให้มีการใช้อาวุธรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก

คำให้การของพยานปากที่ 22, 48 และ 52 เข้าใจว่าช่วงต้นพ.ค. เจ้าหน้าที่ย่านบ่อนไก่ ดินแดงและราชปรารภ ได้รับคำสั่งให้ยิงเป้าเคลื่อนที่ได้ภายในรัศมีที่รับผิดชอบ ซึ่งมีคลิปวิดีโอที่ถ่ายจากด้านหลังเจ้าหน้าที่ซึ่งที่ประจำในที่สูง ว่ามีการทำตามคำสั่งที่ได้รับในการยิงเป้าเคลื่อนที่ในเขตใช้กระสุนจริง และเข้าใจได้ว่าได้รับคำสั่งไม่ให้มีหลักฐานเป็นภาพถ่าย ที่ปรากฏภาพฆ่าประชาชน และป้องกันไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายศพ ส่งผลให้มีการใช้ความรุนแรงต่อบุคคลที่มีภาพถ่าย หรือให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ

คำให้การของพยานปากที่ 22 ย่อหน้า 56-57 เข้าใจว่า การฝ่าแนวกั้นเสื้อแดงรอบราชประสงค์วันที่ 19 พ.ค. มีคำสั่งให้ยิงบุคคลต้องสงสัยว่ามีอาวุธ โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าพกพาอาวุธจริงหรือไม่ คำสั่งระบุไว้ชัดเจนว่าการถือหนังสติ๊กก็ถือว่ามีอาวุธไว้ในครอบครองและเป็นอันตราย

ปฏิบัติการกวาดล้างในวันที่ 19 พ.ค. ไม่ใช่การปฏิบัติการเพื่อควบคุมฝูงชนที่เป็นพลเมือง แต่เป็นการปฏิบัติเสมือนเป็นฝ่ายตรงข้ามในสมรภูมิรบ

ที่มา : ข่าวสดรายวัน 1 กุมภาพันธ์ 2554
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ