ความจริงจากข่าวสด เปิดปูมบันทึกพฤษภา ‘53 ความตาย 90ศพ

ความจริงจากข่าวสด เปิดปูมบันทึกพฤษภา ‘53 ความตาย 90ศพ
ที่มา: ข่าวสดรายวันวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7144

ปฏิบัติการสลายคนเสื้อแดง 19 พฤษภาคม 2553 เป็นบาดแผลใหญที่รอการชำระสะสาง

“ข่าวสด” ได้ตีแผ่ความจริง จากโศกนาฏกรรมครั้งนี้ เพื่อแสวงหาความเป็นธรรมและผู้รับผิดชอบต่อการสูญเสีย สรุปบทเรียน ป้องกันมิให้เกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต

“บันทึกพฤษภา”53 ความจริงจากข่าวสด ความตาย 90 ศพ” จึงเกิดขึ้น ด้วยความเชื่อว่า ความจริงไม่มีวันตาย และต้องเปิดเผย ออกมาในวันใดวันหนึ่ง!

เชื้อปะทุความขัดแย้งต่างสี

“บันทึกพฤษภา”53 ความจริงจากข่าวสดฯ” เปิดขบวนด้วยบทเกริ่นนำ “เชื้อปะทุแห่งความขัดแย้งต่างสี”

ไล่เรียง “พัฒนาการ” ความขัดแย้งทางการเมืองของไทย

นับตั้งแต่คณะ คมช.ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งไปร่วมประชุมสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

สถานการณ์เขม็งเกลียวยิ่งขึ้นตามลำดับ ภายหลังบ้านเมืองแบ่งแยกเป็น “สี” เสื้อเหลือง-เสื้อแดงอย่างชัดเจน

เมื่อ เกิดคดียุบพรรคไทยรักไทย ประกอบกับพ.ต.ท.ทักษิณ-เครือข่ายพลิกข้างไปอยู่ในสถานะ “ผู้ถูกไล่ล่า” อีกทั้ง “คะแนนเสียง” ของประชาชนผู้สนับสนุนพรรคการเมืองในปีกพ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้รับการสนใจจากผู้กุมอำนาจ เค้าลางแห่งหายนะจึงเริ่มคืบคลานมาเยือนสังคมไทย

คู่ขัดแย้งแต่ละ ฝ่ายต่างจัดตั้ง “มวลชน” ของตนขึ้นมาเป็นพลังสร้างความชอบธรรม

ขณะที่ฝ่าย “เสื้อแดง” เดินหน้าตั้งคำถามถึงพฤติกรรม “2 มาตรฐาน” ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า กระทั่งนำไปสู่การระดมพลจัดชุมนุมใหญ่ทดสอบกระแสกันหลายต่อหลายครั้ง

รวม ถึงจุดเริ่มต้นการชุมนุม “แดงทั้งแผ่นดิน” ในวันที่ 12 มี.ค.2553 ณ เวทีผ่านฟ้าลีลาศ ถ.ราชดำเนิน กทม. มีคนเสื้อแดงจากต่างจังหวัดหลั่งไหลเข้าร่วมเรือนแสน

และจบลงอย่างเจ็บปวดในที่สุด เมื่อวันที่ 19 พฤษภาฯ

ลำดับสถานการณ์วันต่อวัน

เนื้อหาต่อมาในบันทึกพฤษภา”53 ได้แก่ การรวบรวม-ไล่เรียงความเคลื่อนไหวสำคัญๆ

นับตั้งแต่แกนนำแนวร่วม ประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เริ่มจัดตั้งม็อบแดงในกทม. ตั้งแต่เดือนมีนาคมไปจนถึงพฤษภาคม 2553

เหตุการณ์ในแต่ละวันของแต่ละเดือน เกิดอะไรขึ้นบ้าง จะมีข้อมูลนำเสนอแบบรวบรัด เข้าใจง่าย เช่น มีนาคม นปช.ประกาศยุทธศาสตร์แดงทั้งแผ่นดิน ระดมคนจากเหนือ-อีสานเข้าเมืองกรุง หวังกดดันให้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา จัดเลือกตั้งใหม่ตามระบอบประชาธิปไตย

นอกจากนั้น แกนนำ นปช.ยังลากดึงเอาพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เข้ามากลายเป็น “คู่ขัดแย้ง” กับม็อบแดงโดยเปิดเผย ภายใต้ข้อกล่าวหาเป็นผู้นำระบอบอำมาตยาธิปไตย หนุนหลังค้ำยันรัฐบาลอภิสิทธิ์ชน

31 มีนาฯ พ.ต.ท.ทักษิณวิดีโอลิงก์ขึ้นจอภาพเวทีผ่านฟ้าฯ ปลุกม็อบให้รวมพลังสู้ครั้งใหญ่ 3 เมษาฯ เพื่อกดดันให้รัฐบาลยุบสภา และย้ำว่า การต่อสู้ต้องจบลงก่อนสงกรานต์!

แต่การต่อสู้ก็ไม่ได้จบลงในเดือนเมษาฯ เหมือนดังที่คิด แม้รัฐบาลจะปรับท่าทีอ่อนลง โดยเฉพาะเมื่อม็อบแยกตัวเข้าสู่แยกธุรกิจ “ราชประสงค์” ฝ่ายกุมอำนาจก็ตัดสินใจส่ง “ทหาร” เข้ามาประจันหน้ากับผู้ชุมนุมอย่างแข็งกร้าว พร้อมๆ กับสั่งปิด “สื่อกระบอกเสียงเสื้อแดง” ปลุกเร้าให้ความขัดแย้งเพิ่มดีกรีคุกรุ่น และเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นในวันที่ 10 เมษาฯ เมื่อนายอภิสิทธิ์เดินหน้าปฏิบัติการ “ขอคืนพื้นที่” ผ่านฟ้าฯ ทำให้มวลชน เสื้อแดงปะทะเดือดกับทหารบริเวณ ถ.ราชดำเนิน

มี “กลุ่มคนชุดดำ” หรือกองกำลังไม่ทราบฝ่าย ออกปฏิบัติการยิงปืน-ระเบิดใส่นายทหารระดับบัญชาการในวันนั้นเจ็บตายไปหลายราย

ส่วนประชาชนก็บาดเจ็บสูญเสียร่วมพันคน

พอเข้าสู่เดือนพฤษภาฯ เลือด..

แม้นายอภิสิทธิ์จะแสดงจุดยืนประหนึ่งว่า “ยอมถอย” พร้อมจัดเลือกตั้งปลายปี แต่การเจรจาลำดับต่อๆ มา ทั้งทางเปิดและทางลับ กลับล่มไม่เป็นท่า

ต่อมา เมื่อ “เสธ.แดง”พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล แนวร่วมเสื้อแดงฮาร์ดคอร์ ถูก “สไนเปอร์” ยิงดับ เหตุ “จลาจล” ก็ลุกลามไปทั่วกทม. ควันไฟดำทะมึนลอยปกคลุมผืนฟ้าเมืองฟ้าอมร กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก

สรรพเสียงแห่ง “สันติวิธี” ค่อยๆ แผ่วเบาหายไปจากปากโฆษกฝ่ายกุมอำนาจ ซึ่งขู่ใช้มาตรการเด็ดขาดกับผู้ชุมนุมตลอด 24 ชั่วโมง

เสียงกระสุนปืน ระเบิด และการบดขยี้ของรถหุ้มเกราะกลับดังระงมแทนที่!

นอกจากให้รายละเอียดความเคลื่อนไหวแบบวันต่อวันแล้ว เนื้อหาหลักอีกส่วนในบันทึกพฤษภา ’53 ยังประมวล 10 เหตุการณ์สำคัญ ที่เกิดขึ้นระหว่างเดือนมีนาฯ ถึงพฤษภาฯ 53 ไล่ตามลำดับเวลา

พร้อมกับตีพิมพ์ภาพชุดสี่สีประกอบทุกหน้า นั่นคือ
1. เหตุเทเลือด “แดง” ประท้วงที่ทำเนียบรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ และบ้านนายอภิสิทธิ์
2. แกน นำนปช.เปลี่ยนยุทธศาสตร์แยกทัพเป็น 2 สาย เข้ายึดแยกราชประสงค์ ถนนเศรษฐกิจสำคัญของกทม.
3. กรณีคนเสื้อแดงบุกสถานีดาวเทียมไทยคม ลาดหลุมแก้ว วันที่ 9 เมษาฯ
4. เหตุ 10 เมษาฯ เลือด กลุ่มชุดดำยิงเอ็ม-79 ถล่มนายทหารสายบูรพาพยัคฆ์ ขณะที่คนเสื้อแดงปะทะกับทหารอย่างไร้ความหวาดกลัว
5. การเผชิญหน้ากัน ระหว่างมวลชนเสื้อแดง-เสื้อชมพู-เสื้อหลากสี ซึ่งพัฒนารุนแรงถึงขีดสุด เมื่อเกิดเหตุมือมืดยิงระเบิดเอ็ม-79 ถึง 5 ลูกซ้อน เข้าใส่จุดชุมนุมของคนเสื้อชมพู-หลากสีในถนนสีลม มีคนตายเจ็บเกือบร้อยราย
6. การ ปะทะกันบริเวณอนุสรณ์สถาน ดอนเมือง ซึ่งทหารใช้ “อาวุธจริง” ปราบปรามคนเสื้อแดง จนแกนนำต้องสั่งมวลชนถอยร่นกลับเวทีราชประสงค์
7.เหตุ แกนนำนปช.นำคนบุกค้นโรงพยาบาลจุฬาฯ บริเวณแยกศาลาแดง ด่านตั้งบังเกอร์ของการ์ดนปช. เนื่องจากเชื่อว่ามี “ทหารพลแม่นปืน” ประจำการอยู่ข้างใน เพื่อเด็ดหัวแกนนำนปช.
8.นายกฯ อภิสิทธิ์ประกาศโรดแม็ปปรองดอง ยอมจัดเลือกตั้ง แต่สุดท้ายแผนการนี้กลับล่มภายในเวลาแค่ไม่กี่วัน
9.กรณี “ตำรวจ” ตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มมือที่สามอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก แถบสวนลุมพินี ใกล้จุดชุมนุมเสื้อแดงราชประสงค์
10.คดีสไนเปอร์ลั่นไกยิงหัว “เสธ.แดง” ล้มทั้งยืนต่อหน้าต่อตานักข่าวต่างประเทศ ที่ยืนสัมภาษณ์กันอยู่แถวๆ แยกศาลาแดง

จากนั้นจึงเข้าสู่นาทีระทึก ไล่เรียงข้อมูล “กระชับวงล้อม” สลายผู้ชุมนุมเสื้อแดง 19 พฤษภาฯ หลายแง่มุม ทั้งการเคลื่อนพล, นายทหารคุมปฏิบัติการ, ความสูญเสีย, พระเพลิงเผาวอดศาลากลางต่างจังหวัด, ปากคำนักข่าวไทย-เทศ, การไล่ล่าแกนนำนปช.

รวมถึงบทความสัมภาษณ์วิชาการชั้นนำ วิพากษ์แผนผัง “เครือข่ายล้มเจ้า” ของศอฉ.

คืน มรณะ”วัดปทุมวนาราม”

นอกเหนือจากรายละเอียดเจาะลึกข้างต้นแล้ว ประเด็นที่บันทึกพฤษภา ‘53 ต้องการตีแผ่ต่อสังคมไทยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ก็คือ โศกนาฏกรรมการเสียชีวิตของประชาชน-อาสาพยาบาล-อาสากู้ภัย รวม 6 ศพในวัดปทุมวนาราม ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น!

เพราะก่อนเกิดเหตุ นายโคทม อารียา ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล เพิ่งไปเจรจากับรัฐบาล ขอให้ใช้ “พระอารามหลวง” แห่งนี้เป็น “เขตอภัยทาน” เพื่อให้ผู้ชุมนุมทั้งเด็ก ผู้หญิง ผู้สูงอายุ ผู้บาดเจ็บ เจ็บป่วย เข้ามาพักหลบภัยชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม น่าสลดใจที่ความจริงกลับมิได้เป็นเช่นนั้นเลย… เพราะหลังรัฐบาลส่ง ทหารกระชับวงล้อม-สลายผู้ชุมนุมราชประสงค์ ปรากฏว่า มวลชนเสื้อแดง ที่มีแค่มือเปล่าๆ เป็นชาวบ้านธรรมดาๆ ถูกห่ากระสุน-แก๊สน้ำตายิงเข้าใส่ ตั้งแต่เย็นวันที่ 19 พฤษภาฯ ไปจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น

ปากคำนักข่าวต่างชาติ และประชาชนในวัดปทุมฯ ล้วนยืนยันออกมาในทิศทางตรงกัน…

ตรงกันว่า “คนแต่งกายคล้ายทหาร” บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส ตรงข้ามวัด คือผู้ลั่นไก เป็นเหตุให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. และแกนนำรัฐบาล ต่างประสานเสียงยืนยันปฏิเสธ ไม่มีทหารยิงเข้าไปฆ่าประชาชนโดยเด็ด ขาด!?

เนื้อหาส่วน “เปิดใจ” เหยื่อวัดปทุมฯ นับสิบคน รวมทั้งปากคำพ่อแม่ญาติพี่น้องเหยื่อกระสุนลึกลับ ในบันทึกพฤษภา ‘53 จะทำหน้าที่รายงาน “ความจริง” ตรงจุดนี้ให้กับคนที่อยากค้นหาข้อเท็จจริงอย่างละเอียด ชัดเจน กระจ่างแจ้ง ตรงไปตรงมา

แน่นอนว่าอาจเป็น “ความจริง” ที่รัฐบาล-ผู้กุมอำนาจบ้านเมือง ณ ปัจจุบันไม่อยากอ่าน เบือนหน้าหนี

แต่ประวัติศาสตร์ทุกยุคทุกสมัยได้พิสูจน์มาแล้วนักต่อนักว่า ความจริงเป็นสิ่งไม่มีวันตาย และต้องเปิดเผยออกมาไม่วันใดก็วันหนึ่ง!